ความเชื่อเกี่ยวกับที่พักอาศัยของล้านนา

Socail Like & Share

ความเชื่อบางอย่างเกี่ยวกับเรือนพักอาศัยของลานนา
ลักษณะทางกายภาพของการตั้งถิ่นฐานเดิมของลานนา ย่อมมีลักษณะเช่นเดียวกับท้องถิ่นอื่นๆ ของสังคมเกษตรกรรม คือ แบ่งได้เป็นการตั้งถิ่นฐานระดับเมืองและชนบท ชุมชนระดับเมืองนั้นประกอบด้วยบริเวณที่เป็นเมืองโดยเฉพาะได้แก่ส่วนที่มีกำแพงล้อมรอบ และหมู่บ้านที่รายล้อมบริเวณกำแพงเมืองออกไป ภายในตัวกำแพงเมือง เรียกว่า “ในเวียง” ประกอบด้วยที่พำนักของเจ้าเมือง หรือคุ้มหลวง ติดกับคุ้มหลวงจะมีสนามกว้างเรียกว่า “ข่วง” บริเวณใกล้กับข่วงจะมีวัดชื่อ “วัดหัวข่วง” เสมอ นอกจากนี้จะเป็นย่านพำนักอาศัยของพวกขุนนางและผู้มีฐานะซึ่งจะเป็นเจ้าของที่ดินหรือที่นาจำนวนมากในชนบทรอบๆ ตัวเมือง หมู่บ้านภายในตัวเมืองมีหลายหมู่บ้าน ศูนย์กลางของหมู่บ้านมีถนนหลักและถนนซอยเชื่อมโยงหมู่บ้านต่างๆ เข้าด้วยกัน ถนนหลักจะ ตัดเป็นเส้นตรงตัดตั้งแกกัน ส่วนถนนซอยจะมีลักษณะเป็นเส้นตรงบ้างคดเคี้ยวบ้างไม่แน่นอน เมืองบางเมืองโดยเฉพาะเมืองเชียงใหม่ จะมี หนองนาใหญ่ๆ ภายในกำแพงเมืองใกล้ๆ กับกลุ่มวัดบางกลุ่มเป็นส่วนที่คอยรับน้ำฝนที่เอ่อนองในตัวเมืองจากลำเหมืองระบายน้ำแล้วระบาย ต่อลงยังคูเมือง และธารน้ำนอกเมืองลงสู่ลำน้ำใหญ่ต่อไป
ถัดจากชุมชนเมืองออกไปจะเป็นทุ่งนารายล้อมหมู่บ้านรอบเมืองเอาไว้ มีหมู่บ้านของชาวนาในชนบทกระจายตัวอยู่ท่ามกลางทุ่งนาข้าว หมู่บ้านมีสองลักษณะคือหมู่บ้านแบบเกาะกลุ่มแน่นเป็นกระจุกบนที่ดอน หรือเรียงรายเป็นลักษณะเส้นแถบตามสันพนังของลำน้ำใหญ่ๆ และลำห้วย หรือลำเหมืองที่ไหลรวมลงสู่ลำน้ำ
จากโคลงเรื่องท้าวฮุ่งท้าวเจืองที่ได้ยกมาแต่แรก ทำให้ทราบชัดว่าได้มีการแบ่งขนาดลักษณะของเรือนพักอาศัยตามลำดับช่วงชั้นของสังคม โดยแบ่งช่วงชั้นออกเป็น ๒ ระดับอย่างกว้างๆ คือ ระดีบบริหารและระดับชาวบ้านซึ่งมีอาชีพส่วนใหญ่เป็นชาวนาที่กล่าวมานี้กล่าวถึงรูปแบบของชุมชนก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารมาเป็นแบบสมัยปัจจุบัน โดยที่ชนชั้นระดับบริหารจะอยู่เรือนไม้ขนาดใหญ่ ชาวบ้านหรือชาวนาที่มีฐานะจะอยู่เรือนไม้ขนาดธรรมดาและชาวนาทั่วๆ ไปที่มีฐานะค่อนข้างยากจนจะอยู่เรือนไม้ไผ่

เรือนพักอาศัยของเจ้าผู้ครองนคร หรือกษัตริย์นั้น อาคารพักอาศัยมีลักษณะแตกต่างกับเรือนขุนนางและเรือนชาวบ้าน อาคารจะประดับด้วยช่อฟ้าป้านลมปิดทองอย่างงดงามเรียกว่า “หอคำ” บ้านของขุนนางระดับท้าวพญาหรือชนชั้นสูงเป็นเรือนไม้ขนาดใหญ่ ลักษณะเป็นเรือนหมู่ยกพื้นสูงส่วนมากจะเป็นเรือนแฝดติดกันตั้งแต่สองหลังขึ้นไป หาก แฝดสองหลังภาษาท้องถิ่นก็เรียกว่า “เรือนสองหลังร่วมพื้น” บางหลังอาจจะเพิ่มเรือนครัวขึ้นอีกหนึ่งเป็น “สามหลังร่วมพื้น” ก็มี หลังคามุงดินขอ (กระเบื้อง) หรือ แป้นเกร็ด (กระเบื้องไม้) เคยได้ยินว่าแม้บ้านเจ้านายที่ฐานะไม่ใช่เจ้าผู้ครองนครก็เป็นเรือนหมู่เช่นกันแต่มีหลายหลังร่วมพื้นเดียวกัน เช่น บ้านเจ้าหัวเมืองแก้วซึ่งมีตำแหน่งทางการว่า เจ้าบุรีรัตน์องค์ที่อยู่ที่บ้านประตูเชียงใหม่ในตัวเวียงเชียงใหม่ ในสมัย ๖๐ ปีมาแล้ว มีถึง “เจ็ดหลังร่วมพื้น” ทีเดียว ส่วนบ้านคนมีฐานะมักเป็นเรือนไม้มีลักษณะคล้ายกับเรือนท้าวพญา ซึ่งอย่างมากจะมี ๔ หลังร่วมพื้น อย่างน้อย ๒ หลังร่วมพื้นซึ่งมีทั้งในตัวเมืองและชนบท สำหรับบ้านพักอาศัยของชาวบ้านที่ไม่ค่อยมีฐานะจะเป็นเรือนไม้ไผ่ผสมไม้เนื้อแข็งหรือไม้ไผ่ทั้งหมดหลังคามุงแฝกหรือใบตองตึง (ใบพลวง) เสาส่วนใหญ่เป็นเสาไม้เนื้อแข็งขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕ นิ้วใหญ่ไม่เกิน ๖ นิ้ว พื้นบางส่วนเป็นฟากบางส่วนเป็นไม้กระดาน ฝาเป็นฝาไม้ไผ่ขัดแตะ เรือนยกใต้ถุนสูงเช่นกัน
สันนิษฐานว่าเรือนไม้ไผ่เป็นเรือนพักอาศัยดั้งเดิมของชาวลานนาโดยทั่วไป ครั้นเมื่อเทคนิควิทยาและเครื่องมือพัฒนาขึ้นจึงวิวัฒนาการเป็นเรือนไม้กระดานอีกชั้นหนึ่ง เรือนพักอาศัยแบบเรือนไม้ไผ่ส่วนใหญ่การยืดตัวโครงสร้าง และส่วนประกอบต่างๆ ของเรือนนั้นด้วยการผูกและมัดด้วยหวายและตอก ซึ่งภาษาทางภาคกลางเรียกว่า “เรือนเครื่องผูก” เรือนแบบนี้เป็นเรือนขนาดเล็ก ทั้งขนาดและตัวไม้โครงสร้าง เสาขื่อแปมีขนาดเล็กพอที่บุคคลเพียงคนเดียวหรือสองคนยก หรือแบกหามได้สะดวก และชาวบ้านทุกคนโดยเฉพาะผู้ชาย สามารถปลูกสร้างกันเองได้โดยไม่ต้องอาศัยช่างผู้ชำนาญ อีกทั้งสามารถสร้างเสร็จภาย ในหนึ่งวัน หากเตรียมเครื่องเรือนต่างๆ ไว้พร้อมและอาจจะอาศัยชาวบ้านใกล้เคียงมาช่วยกันปลูกสร้างหรือลงแขก บางท้องถิ่นในภาคเหนือเรียกว่า “มาช่วยเอามือหรือเอาแรง” กัน
ฉะนั้นจึงพอสรุปได้ว่า “เรือนลานนา” ยกเว้น “หอคำ” ของเจ้าเมืองนั้นแบ่งออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ ตามช่วงชั้นของสังคมคือ ชาวบ้านธรรมดาและผู้บริหารได้แก่ “เรือนเครื่องผูก” และ “เรือนเครื่องสับ” (เรือนไม้กระดาน) ตามภาษาทั่วไปของท้องถิ่นภาคเหนือเรียกว่า “เรือนไม้ปัว” (ไม้ปัว-ไม้ไผ่) และ “เรือนไม้จริง” แต่ภาษาโบราณเรียก “เรือนไม้ปัว” ว่า “เรือนมัดขื่อมัดแป” และ “เรือนไม้จริง” ว่า “เรือนสุบขื่อสุบแป”
เรือนไม้จริงของผู้มีฐานะระดับชาวบ้านจะมีขนาดใหญ่กว่าเรือนเครื่องผูก ลักษณะการวางผังนั้น ก็มีระบบเดียวกันกับเรือนเครื่องผูก เรือนพวกนี้ส่วนมากจะอาศัย ช่างผู้ชำนาญที่ชาวลานนาเรียกว่า “สล่า” เป็นผู้ปลูกสร้างโดยมีหน้าที่กะขนาดตัดบากตัวไม้ซึ่งต้องอาศัยฝีมือความชำนาญ และเครื่องมือช่างพิเศษกว่าเครื่องมือของชาวบ้านโดยทั่วไป
ที่มาโดย:วิวัฒน์  เตมียพันธ์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *