พิธีกรรมเกี่ยวกับการปลูกสร้างเรือน

พิธีกรรมบางประการเกี่ยวกับลำดับการปลูกสร้างเรือน
จากการค้นคว้าเรื่องพิธีกรรมในการสร้างเรือนจากแหล่งเอกสารเท่าที่หาได้พอสรุปเป็นขั้นตอนเคร่าๆ ได้ดังนี้
๑) การเข้าป่าตัดไม้มาทำเสาและเครื่องเรือนในตำราแผนโบราณ จะบ่งบอกถึงเดือนที่เป็นมงคล ที่สมควร จะเข้าป่าเอาไว้ เมื่อตัดไม้แล้วหากไม้ล้มไปฟาดกับไม้ต้นอื่น ไม้ต้นนั้นไม่ควรนำเอามาสร้างเรือน หากล้มไปทิศต่างๆ ก็จะมีข้อความทำนายเอาไว้ว่าควรนำไม้ที่ล้ม หรือฟันไม้ให้ล้มไปทางทิศใดมาสร้างจึงจะอยู่สุขสบาย สัตว์เลี้ยงไม่มีโรคภัย
๒) ฤกษ์ที่เหมาะสม ในภาษาทางเหนือเรียกว่า “มื้อจั๋นวันดี” โดยที่ตำราจะแบ่งไว้ดังนี้ วันเสียประจำเดือน ว่าแต่ละเดือนมีวันใดบ้างที่เป็นวันเสีย วันจมวันฟู วันจม เป็นวันที่ควรเว้น วันฟูเป็นวันดีในตำราจะบอกวันจมวันฟู ของแต่ละวันเอาไว้
การหา “วันฟ้าตี๋แส่ง” โดยให้เอาจุลศักราชตั้งเอา ๑๐๘ หารเอาเศษที่ได้มาตั้งเอาเกณฑ์เดือน (ในตำราจะบอกเกณฑ์เดือนแต่ละเดือนไว้) เข้าบวกเอาดิถีวันที่เราต้องการบวกเอา ๕ คูณ ๗ ลบ เอา ๙ หาร ถ้ามีเศษเท่าใดให้ถือว่าวันนั้น “ฟ้าตี๋แส่ง” เท่านั้น และเศษแต่ละเศษที่ได้จะมีข้อกำหนด และทำนายเหตุการณ์ดีร้ายเอาไว้
นอกจากได้วันที่เหมาะสมด้วยวิธีการต่างๆ ที่กล่าวไว้แล้ว ยังต้องเอาอายุผัวและเมียของผู้ต้องการจะปลูกบ้านมารวมกันแล้วจัด “ออก ๘ แล ๘” (มีความหมายว่าหารด้วย ๘) เหลือเศษเท่าใดก็ให้ดูข้อทำนายร้ายดีจากตำรา
๓) พิธีเสี่ยงทายหาบริเวณจะสร้างบ้านว่าบริเวณใด ในที่ดินทั้งหมดที่จะสร้างเรือนเป็นที่เหมาะสม เมื่อสร้างแล้ว จะเกิดมงคลแก่ผู้อาศัย โดยได้กำหนดพิธีกรรมเอาไว้ให้หาใบฝาแป้งมา ๘ ใบ แล้วเอาใบฝาแป้งนี้ห่อขี้ดินใบหนึ่ง ห่อเปลือกไม้ใบหนึ่ง ห่อเปลือกไข่ไก่ใบหนึ่ง ห่อดอกไม้หอมใบหนึ่ง ห่อถ่านไฟใบหนึ่ง ห่อลูกหินใบหนึ่ง ห่อข้าวเปลือก ใบหนึ่ง ห่อผมยุ่งใบหนึ่ง เมื่อห่อเสร็จแล้วให้จัดพานข้าวตอกดอกไม้ใส่ธูป ๕ คู่ เท่ยน ๕ คู่แล้วเอาห่อเหล่านั้นใส่พานพร้อมกับเงินตามที่กำหนดไว้ แล้วจึงให้ผู้ประกอบพิธีอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดนุ่งห่มผ้าใหม่ นำพานไปยังบริเวณที่จะปลูกเรือน พอไปถึงให้นั่งคุกเข่าหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ยกพานขึ้นเหนือหัวพร้อมกับกล่าวคำอธิษฐานแล้วอาราธนาอัญเชิญพระอินทร์ พระพรหม เทวดา แม่นางธรณี เจ้าที่ รุกขเทวดา ฯลฯ แล้วอธิษฐานว่าผู้สร้างบ้านและครอบครัวจักปลูกสร้างบ้านในบริเวณที่นี้ หากบริเวณส่วนใดไม่ดี ก็ขอให้จับได้ห่อที่ไม่ดี แล้วว่าคาถาตามที่กำหนด ๓ คาบ หลับตาจับเอาห่อสิ่งของนั้น ๑ ห่อแล้วเอามาเปิดดู ถ้าได้ห่อดินกระทำการอันใดสัมฤทธิ์ทุกอย่าง ถ้าได้ห่อเปลือกไม้มักมีโรคภัยเบียดเบียนมิขาด ได้ห่อข้าวเปลือกจักมีสุขสวัสดี ได้ห่อลูกหินจะอยู่ดีมีสุขมีหลักฐานมั่นคง ได้ห่อเปลือกไข่การทำมาหากินไม่เจริญ ได้ดอกไม้จักมีชื่อเสียงได้ยศได้เกียรติ ได้เป็นใหญ่ ได้ห่อผมยุ่งจักอายุสั้นจักฉิบหายทั้งครอบครัว ได้ถ่านไฟจักถูกภัยพิบัติฉิบหายทั้งคนและสัตว์เลี้ยง เมื่อทำพิธีในบริเวณใดจับได้ห่อไม่ดีก็ให้ย้ายไปที่อื่นให้ห่างจากเดิมไปประมาณ ๓ วา จนกว่าจะจับได้ห่อดีจึงใช้บริเวณส่วนนั้นเป็นที่ปลูกบ้าน
๔) พิธีขุดหลุมเสา ผู้สร้างบ้านจะต้องถามหมอดู หรืออาจารย์เสียก่อนว่าจะขุดหลุมทางทิศใดก่อนและควรเอามูลดินที่ขุดได้จากหลุมกองไว้ทางทิศใดของหลุม เอาปลายเสาไปทางทิศใด ตามวัน และเดือนที่ตำราบ่งไว้
๕) พิธีขอที่ดินกับพญานาค โดยก่อนที่จะขุดหลุมเสาเรือนนั้นต้องวัดจากมุมทั้ง ๔ ของบริเวณที่จะปลูกสร้าง เพื่อจะหาจุดศูนย์กลาง แล้วขุดหลุมอีก ๑ คืบ กว้าง ๑ คืบ เตรียมเครื่องสังเวยตามตำรา ถัดจากนั้นอาจารย์หรือหมอจะอ่านโองการขอที่ดินจากพญานาค โดยเชื่อว่าเป็นผู้รักษาแผ่นดินให้ขึ้นมารับเครื่องสังเวยเพื่อให้ผู้อยู่อาศัยมีโชคชัย ลาภสักการ เมื่อว่าโองการเสร็จ ๓ คาบแล้วให้เอาผ้าขาวรองพื้นหลุมเสามงคล เอาน้ำหอมประพรมลงไป เองสะตวง (กระทงกาบกล้วยใส่เครื่องสังเวย) ไปส่ง (ไปทิ้ง) ทางทิศตะวันออก
๖) พิธีข่มนางไม้ บ้านทุกบ้านต้องมี “เสามงคล” (บางแห่งโดยเฉพาะเมืองน่าน เรียกว่า “เสาพญา”) และเสานางอันเป็นเสารองจากเสามงคล ก่อนจะทำพิธียกเสามงคล และเสานาง ช่างไม้ต้องการให้ทั้ง ๒ เสานี้มีอาถรรพ์และศักดิ์สิทธิ์และกันมิให้ตกมัน ช่างจะต้องทำพิธีศาสตรเภท คือ แก้เสนียดจัญไรโดยช่างไม้ระดับหัวหน้าจะเสกขวานหรือมีดที่จะเกลาเสามาถากพร้อมกับเสกคาถากำกับไปด้วยเพื่อ “ข่ม นางไม้” เมื่อถากเสร็จก็เป็นอันว่าล้างเสนียดในเสาทั้ง ๒ ได้
๗) พิธีเอาใบไม้ผูกเสามงคลและเสานาง โดยเอาใบของนางพญาไม้มาผูกกับเสาตามวัน วัน ๑ (อาทิตย์) ไม้บง ไม้ซางเป็นพญาไม้ (ให้เอาใบไม้ดังกล่าวมาผูก) วันที่ ๒ ไม้ เดื๋อเกี้ยงเป็นพญา วันที่ ๓ ไม้กุ่มเป็นพญาไม้ วันที่ ๔ ไม้ แงะเป็นพญา วันที่ ๕ ไม้ม่วงเป็นพญา วัน ๖ ไม้ทัน (พุดซา) เป็นพญา วันที่ ๗ ไม้ฝาแป้งเป็นพญาไม้แล นอกจาก นี้แต่ละเดือนก็ยังมีพญาไม้เช่นกัน คือ เดือน ๑๑-๑๒ เดือน เกี๋ยงไม้ลมแล้งเป็นพญาไม้ เดือนยี่ ๓-๔ ไม้บัวลาเป็นพญา เดือน ๕-๖-๗ ไม้ชมพูเป็นพญา เดือน ๘-๙-๑o ไม้ขี้เหล็กดำ ไม้ขนุนเทศเป็นพญา (การนับเดือนของลานนาเร็วกว่าภาคกลาง ๒ เดือน)
๘) พิธียกเสามงคลและเสานาง เพื่อให้เสามีมงคล และเกิดสุข สวัสดี แก่เจ้าของชาวบ้านจะต้องหาเพื่อนบ้านที่มีชื่อว่า แก้ว คำ เงิน ทอง มั่น แก่น มาเป็นคนช่วยหามและยกเสาลงหลุม ก่อนจะยกเสาลงหลุมและฝังเสานั้นจะต้องไปหาใบเต้า ใบหนุน (ขนุน) ใบดอกแก้ว ใบตัน (พุทรา) มารองก้นหลุมเสาเพื่อเป็นคติว่า จะได้มาช่วยค้ำหนุนจุน เจือ ให้เรือนหลังนั้นมั่นคง และผู้อยู่อาศัย ก็มีฐานะมั่นคง และ เจริญรุ่งเรืองในการดำเนินชีวิต เป็นที่น่าสังเกตว่า ชาวบ้านถือเอาชื่อที่ตรงกับความหมายของชีวิตในทางที่ดีมาเป็นเกณฑ์ ในการประกอบพิธี
ที่มาโดย:วิวัฒน์  เตมียพันธ์