ความเชื่อเรื่องวางผังหันทิศของตัวบ้านของชาวลานนา

Socail Like & Share

คติความเชื่อบางประการของลำดับการสร้างบ้านจากเรือนไม้ปั่วไปสู่เรือนไม้จริง
จากคำเวนตานและคำหื้อปอน (คำให้พร) (พิธีอ่านโองการพร่ำพรรณาเหตุการณ์และอานิสงส์) ขึ้นบ้านใหม่ของชาวเหนือนั้น พบว่าก่อนที่ชาวบ้านจะสร้างเรือนไม้จริงนั้น เขาจำต้องอยู่อาศัย “ตูบ” หรือ กระต๊อบหลังเล็กๆ ไปพลางก่อน อีกทั้งยังต้องเก็บหอมรอมริบเงินทองและวัสดุก่อสร้างมาจนครบ ซึ่งจะกินเวลานานพอสมควรจึงจะสามารถสร้างเรือนไม้จริงขึ้นมาได้ แม้ในตำราโลกสมมุติราชอันเป็นตำรากล่าวถึงความเชื่อ และการปฏิบัติเกี่ยวกับการปลูกเรือนของลานนาก็กล่าวไว้ว่า เมื่อบุคคลแยกเรือนออกจากเรือนพ่อแม่ไปนั้น ครั้งแรกควร สร้างเรือนขนาดเล็กประเภทเสา จ้ำดิน (เสาเตี้ยติดพื้น) ชนิดตูบไปพลางก่อนแล้วค่อยขยับขยายให้ใหญ่ขึ้นจนกระทั่งเป็นเรือนไม้จริงในชั้นหลัง หากไม่ทำตามลำดับขั้นตอนดังว่านี้ถือว่า “ขึด” แก่ผู้อาศัย ดัง ข้อความดังนี้ “ทีนี้จักกล่าวห้องคนทั้งหลายควรสร้างแปงเรือนอยู่นั้น บุคคลลงจากเรือนพ่อแม่หัวที (ตอนแรก) นั้น ก็ควรแปงเรือนเสาดั้งจ้ำดินก่อนแล หลังจากนั้นก็ควรแปงเรือนมัดขื่อมัดแป หลังจากนั้นแม้นจักแปงเรือนประการดัง ฤาก็ควรแลบุคคลผู้แปงเรือนสุบขื่อสุบแปเป็นจามะขันยศอันใหญ่แล้ว” และครั้นเมื่ออยู่เรือนสุบขื่อสุบแปมีฐานะสูงแล้ว ก็ไม่ควรมาสร้างเรือนแบบเสาดั้งจ้ำดินอาศัยอีก ส่วนว่าเมื่อสร้างเรือนเสาดั้งจ้ำดินอยู่นั้นก็ควรพำนักอาศัยอยู่เพียง ๓ ปี เป็นอย่างมาก แสดงว่าชาวบ้านเกือบทุกครอบครัว หากเตรียมของสร้างเรือนใหม่จะใช้เวลาเตรียมของให้พร้อมและครบได้ในเวลา ๓ ปี
คติความเชื่อเกี่ยวกับการหันทิศของตัวบ้านและการวางผังอาคารทิศที่ควรหันหัวนอน
ความเชื่อในเรื่องทิศของชาวลานนานั้นเชื่อว่าทิศที่เป็นมงคล ได้แก่ ทิศเหนือและตะวันออกเพราะเป็นทิศที่ให้ความเจริญงอกงามและพละกำลัง ส่วนทิศใต้และทิศตะวันตก หมายถึงความตายและความเสื่อม ฉะนั้นวัดวาอารามของภาคเหนือมักนิยมหันหน้าไปทางเหนือหรือตะวันออกเป็นส่วนมาก ส่วนบ้านเรือนนั้นกลับหันหน้าไปทางทิศเหนือ หรือใต้โดยวางขื่อไว้ตามแนวตะวันออก-ตะวันตก (ด้านขื่อ เป็นด้านสกัดของบ้าน ขื่อจึงอยู่ทางทิศเหนือและใต้)

มิฉะนั้นจะเรียกว่า “วางแปขวางเมือง”๑ เพราะเมืองเหนือนั้นการวางตัวเมืองจะวางด้านสะกัดหรือด้านกว้างไว้ทิศเหนือ และใต้ เรียกว่า “ขื่อเมือง” ส่วนยาวของเมืองนั้นไว้ในทิศตะวันออก-ตะวันตกเรียกว่า “แปเมือง” การวางกำแพงเมือง เชียงใหม่ในสมัยพระเจ้าเม็งรายก็วางผังกำแพงในทิศทางเช่นนี้ ฉะนั้นแกนของตัวเรือนลานนาจึงวางแกนไปตามแนวตะวันออก-ตะวันตก ซึ่งภาษาช่างเรียกว่า “วางเรือนขวาง
ตะวัน” โดยหันด้านสะกัดซึ่งเป็นด้านหน้าจั่วไว้ทางทิศเหนือ และใต้เอาด้านสะกัดเป็นหน้าเรือน ผิดกับการวางแกนและตัวเรือนของภาคกลางที่วางแกนไปตามทิศตะวันออกหรือ ตะวันตก หรือวางตามตะวันและใช้ด้านยาวเป็นด้านหน้าเรือน เหตุที่เรือนลานนาวางเรือนแบบนี้จนถือเป็นกฎเกณฑ์ของสังคม อาจจะสันนิษฐานว่าได้วิวัฒนาการมาจากคติดั้งเดิม เนื่องจากเดิมชาวเหนือเดิมอาศัยอยู่ในดินแดนแถบหนาว จึงวางตัวเรือนให้ขวางตะวันรับแสงแดด เพื่อให้ความอบอุ่นแก่ตัวเรือน ดังที่ศาสตราจารย์ อัน นิมมานเหมินท์ ได้กล่าวว่าตัวท่านเองได้ยินผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟังว่า เชียงใหม่สมัยโบราณครั้งที่ยังมีป่าไม้หนาแน่น ดินฟ้าอากาศเย็นสบายกว่าปัจจุบันนี้ แม้เมื่อประมาณ ๔๐ ปีมาแล้วยังมีเรือนบางหลังที่สร้างห่างจากตัวเมืองออกไปยังมีการวางเตาไฟ อยู่ในห้องนอนใหญ่ ครั้นการขยายบริเวณเพาะปลูกกสิกรรม ทำนาอย่างกว้างขวาง เป็นสาเหตุทำให้ดินฟ้าอากาศแปรปรวนแห้งแล้งร้อนอบอ้าวยิ่งขึ้น เตาไฟจึงมีเพื่อการปรุงอาหารแต่อย่างเดียว ฉะนั้นจึงแยกให้เตาไฟอยู่ในเรือนครัวอีกหลังหนึ่ง ออกจากเรือนใหญ่โดยชานระเบียง (ชานฮ่อม) การแยกเตาไฟ ออกจากส่วนพักอาศัยนี้นับว่าเป็นวิวัฒนาการ ครั้งสำคัญยิ่งของเรือนไทย ส่วนตัวเรือน ยังคงวางขวางตะวันอยู่เช่นเดิม แสดงว่าได้คงลักษณะเรือนแบบดั้งเดิม สมัยแรกเริ่มครั้งบรรพบุรุษได้ปลูกอยู่ในดินแดนที่หนาวเย็น เอาไว้อย่างไม่เปลี่ยนแปลง
ทิศที่สำหรับหันหัวนอน นั้นถือไปอีกแบบหนึ่ง ต่างกับการวางตัวเรือนในตำราแผนโบราณพื้นเมืองกล่าวถึงลักษณะการผินหัวนอนไว้ว่า ลักษณะการนอนต้องนอนให้ถูกทิศทางจึงจะดี ควรเลือกดังนี้ นอนผินหัวไปทางทิศตะวันออกมีความสุขความเจริญมีปัญญาดีปราศจากภัยร้ายทั้งมวล นอนผินหัวไปทางทิศใต้มีอายุมั่นขวัญยืน นอนผินหัวไปทางทิศตะวันตกจักมีแต่ความเดือดเนื้อร้อนใจ ผินหัวไปทางทิศเหนือมักมีโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียนเสียข้าวเสียของไม่ดีแล ฯ ความเชื่อเรื่องทิศหันหัวนอนนี้ต่างกับทิศของการผังวัด แต่เท่าที่สำรวจมาแล้วพบว่าการผินหัวนอน ส่วนมากแทบทุกบ้านจะหันหัวไปทางทิศตะวันออกไปทาง หิ้งพระในเรือนเพราะทุกบ้านทำหิ้งไว้ตรงฝาตะวันออกของเรือนและหันหน้าหิ้งมาทางหัวนอน สรุปความได้ว่า ทิศตะวันออกนั้นเป็นทิศที่เป็นมงคลอย่างเดียว ทิศตะวันตกเป็นทิศอัปมงคลอย่างเดียว ส่วนทิศเหนือ และใต้นั้นไม่แน่นอน เป็นได้ทั้งมงคลและไม่มงคล แล้วแต่เงื่อนไขที่ตำราจะบ่งบอกไว้หาได้ตายตัวเช่นทิศตะวันออกและตะวันตกไม่
ที่มาโดย:วิวัฒน์  เตมียพันธ์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *