ข้อห้ามการสร้างบ้านไม้จริงของชาวล้านนา

ข้อห้ามบางประการของการสร้างบ้านไม้จริงของชาวบ้านธรรมดา
มีประเพณีถือกันมาว่าเรือนไม้จริงนั้นสร้างได้เฉพาะเรือนของเจ้าและท้าวพญาที่เป็นชนชั้นสูงเท่านั้น หากชาวบ้านธรรมดาจะสร้างบ้างก็ได้แต่มีข้อห้ามว่าไม่ให้สร้างด้วยไม้จริงหมดทั้งหลัง โครงสร้างและเสาต่างๆ เป็นไม้จริงหมด ส่วนพื้นนั้นต้องปูฟากบางส่วน ฝาบางส่วนจะต้องเป็นฝาไม้ไผ่ขัดแตะหรือภาษาถิ่นเรียกว่า “ฝาขี้ล่าย” ที่เป็นเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า การสร้างเรือนไม้จริงทั้งหลังเป็นงานใหญ่ต้องอาศัยแรงงานมากกว่าเรือนไม้ปัว ผู้ที่สามารถจะสร้างได้ต้องอาศัยกำลังคนเป็นจำนวนมาก ซึ่งคนระดับเจ้าและท้าวพญานั้น ไม่มีปัญหาในเรื่องนี้เพราะสามารถเกณฑ์แรงงานได้จาก “พวกไพร่” ที่ขึ้นสังกัดกับตนมาใช้งานได้ การทำงานจะต้องเริ่มตัดไม้จากป่า เลือกโค่นไม้ต้นใหญ่ๆ เพื่อมาทำเสา ฝา และพื้น ตลอดจนคานและตง การลำเลียงมาสู่เมือง หรือ บริเวณปลูกสร้าง ย่อมเป็นไปอย่างยากลำบากต้องอาศัยเวลา และแรงงานมาก ขณะก่อสร้างการยกเสา คาน และตัวไม้ โครงสร้างต่างๆ เข้าประกอบเป็นตัวเรือนก็ต้องอาศัยกำลังคนหลายคน นอกจากนี้การเตรียมการตั้งแต่เลื่อยหรือถากเสา ฝากระดาน ขื่อ แป คาน ตง ก็ต้องเสียเวลาหลายเดือนกว่าจะได้ตัวไม้ เครื่องเรือนครบบริบูรณ์ ทำให้ชาวบ้านจะเสียเวลาทำมาหากินในช่วงเมื่อถึงฤดูทำนาอันเป็นอาชีพหลักของคนในสังคมกสิกรรมไปเสีย เพราะการปลูกสร้างบ้านเรือนั้นมักจะเริ่มเตรียมการหลังจากฤดูเก็บเกี่ยวผ่านพ้นไปแล้ว หากชาวบ้านซึ่งเป็นชาวนาส่วนใหญ่และไม่มีฐานะทางการเงินที่จะว่าจ้างค่าแรงและจ้างช่างมาปลูกสร้างก็ย่อมเป็นการยากเกินกว่าฐานะที่ตนจะทำได้นั่นเอง ผู้ใดฝืนทำย่อมตกในฐานะผู้ล่มจม และต้องความเป็นอัปมงคลแก่ตนโดยแท้ ซึ่งชาวบ้านทั่วไปถือว่าขึดแก่ตัวผู้สร้างเองโดยถ่ายเดียว ครั้นต่อมาเมื่อเจ้านายทางภาคเหนือหันไปนิยมสรางอาคารพักอาศัยแบบสมัยนิยม คติข้อห้ามนี้จึงได้เลิกราไปโดยปริยาย และชาวบ้านที่มีฐานะจึงสามารถใช้ไม้กระดานสร้างเรือนไม้จริงได้ทั้งหลัง
ที่มาโดย:วิวัฒน์  เตมียพันธ์