การเลือกที่ตั้งหมู่บ้านตามตำราโบราณของล้านนา

การเลือกที่ตั้งของหมู่บ้าน และลักษณะบริเวณบ้าน ตามตำราแผนโบราณ
ความรู้จากตำราดังกล่าวนี้โดยทั่วไปแล้วมิใช่วิสัยของชาวบ้านโดยทั่วไปจะทราบ หากแต่ชาวบ้านจะต้องพึ่งความรู้จากพระที่ท่านมีความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากผู้รู้รุ่นก่อนๆ และมีสมุดข่อยบันทึกความรู้ไว้เป็นตำราโดยเฉพาะ หรือไม่ ก็ได้แก่พวกชาวบ้านที่ทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรมให้แก่ชุมชน ซึ่งในแต่ละหมู่บ้านของภาคเหนือแม้ในปัจจุบันนี้จะมีอย่างน้อย ๑ คน ซึ่งมักเป็น “อาจารย์วัด” ของวัด ประจำหมู่บ้าน (อาจารย์วัด คือ ฆราวาสที่เป็นผู้นำการทำพิธีเกี่ยวกับสงฆ์ในวันพระ หรือวันสำคัญทางศาสนาของวัดประจำหมู่บ้านมีตำแหน่งคล้ายมรรคทายกในภาคกลาง) ในที่นี้จะยกมาบางตำราโดยเฉพาะตำราจากสมุดข่อยของครูบาโน อดีตเจ้าอาวาสวัดปงสนุก จังหวัดลำปางซึ่งชาวลำปางในสมัยก่อนถือว่าท่านเป็นผู้รู้ที่สำคัญคนหนึ่งในตำราได้กล่าวถึงการเลือกรูปแบบลักษณะพื้นที่ดินอันเป็นทำเลที่ เหมาะสำหรับสร้างบ้านสร้างเมืองไว้ดังนี้ “จักรอมบ้านแปงขบวนบ้านดังนี้ ดีและร้ายจุ่งพ่อและพิจารณาเต้อะ
(ที่ดินมีลักษณะ) มนดังตาวันมักฉิบหาย และบ่ดี
(ที่ดินมีลักษณะ) เป็นสามแจ่ง (สามเหลี่ยม) ดังนี้อุดมดีแล
(ที่ดินมีลักษณะ) เป็นขบวนดั่งก๋งธนู บ่ดีฉิบหายแล
(ที่ดินมีลักษณะ) (ต้นฉบับชำรุด) มีดบ่ดีฉิบหาย
(ที่ดินมีลักษณะ) ขบวนเป็นสี่แจ่งดังนี้ บรมวลด้วยข้าวของแล
(ที่ดินมีลักษณะ) เป็นดั่งหน้าราหูและหน้าพรหมดังนี้ ฤทธิ์มากแล
(ที่ดินมีลักษณะ) เป็นแปงขบวนยาวดั่งขัว (สะพาน) คนไต่ สมติถีจุอัน
(ที่ดินมีลักษณะ) เป็นขบวนเป็นดั่งวงกดดังนี้ แป้ เจ้าเรือนมักฉิบหาย
(ที่ดินมีลักษณะ) เป็นขบวนเป็นสะเปา (สำเภา) เหงี่ยง (เอียง) มักฉิบหายแล
(ที่ดินมีลักษณะ) เป็นขบวนบ้านเป็นดั่งสะเปาคว่ำ สมฤทธิ์ด้วยข้าวของจุอัน
(ที่ดินมีลักษณะ) เป็นขบวนเป็นดั่งเต่ามักฉิบหายแล
(ที่ดินมีลักษณะ) เป็นขบวนเป็นดั่งราชสีห์ดังนี้มักฉิบหายและวายของ
ผิว่าจักแปงขบวนบ้าน ขบวนเมืองและขบวนวัดวาอารามหื้อพิจารณาผ่อดูขบวนนเต้อะ ขบวนบ้านดีก็ดี ขบวน บ่ดีก็ย่อมหื้อบังเกิดเป็นภัย
ลักษณะของที่ดินที่จะปลูกสร้างบ้านจากตำรา “โลก สมมุติราช” ซึ่งนายผดุง รุ่งเรืองศรี อดีตครูประชาบาลตำบลบ้านแม อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ได้ยืมมาจากวัดในละแวกบ้านนั้นได้กล่าวถึงลักษณะหาที่ทำเรือนและปลูกบ้านว่า “ประการหนึ่งจักอาศัยเซิ่งฐานะที่ใดหือเล็งดูฐานะที่นั้นก่อนเถอะ
ผิว่าสูงทักขิณะต่ำอิสาณ ชื่อสิทธิลักขณะ อยู่ดี
ผิว่าสูงปัจฉิมะ ต่ำปุพพะ ชื่อติรัตนรัสสรถี อยู่ดี
ผิว่าสูงทักขิณะ ต่ำอาคไน ชื่อธนูลักขณะ อยู่ดี
ท่ามกลางสูงรอดชุมื้อ ชื่อ สักคะราชดีนักแล
ผิว่าปุพพะต่ำ และใต้ต่ำ และอาคไนสูงชื่อชรา บริบูรณ์ ดีนักแล
ผิว่าสูงทักขิณะแห่งอื่นต่ำชื่อสุวัณณะดี
ผิว่าสูงปัจฉิมะ ชื่อ ธรณีสาร ดีนักแล”
ที่มาโดย:วิวัฒน์  เตมียพันธ์

ขอบเขตและอาคารพักอาศัยลานนา

ขอบเขตของลานนา และอาคารพักอาศัยลานนา
อาณาเขตของลานนา ได้แก่ พื้นที่อันเป็นที่อยู่อาศัยของคนไทยในภาคเหนือซึ่งเป็นคนไทยที่มีลักษณะทางอนุวัฒนธรรมแตกต่างไปจากคนไทยภาคอื่นๆ หากจำแนกตามพื้นที่ทางวัฒนธรรม (Culture Area) แล้วย่อมได้แก่ ประชาชนที่อยู่ในจังหวัดเชียงราย (พะเยา) เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน และประชาชนบางท้องที่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน จํงหวัดตาก สุโขทัย กำแพงเพชร และอุตรดิตถ์ มีศูนย์วัฒนธรรมอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ภาษาทางราชการเรียกว่าไทยเหนือ แต่ทางชาติพันธุ์วิทยาเรียกว่า ไทยยวน ซึ่งพวกไทยใหญ่ก็เรียกเช่นเดียวกัน คือ เรียกว่า ไทยยวนหรือไตโยนตามสำเนียงของชาวไทยใหญ่ที่เพี้ยนไป และเนื่องจากพวกไทยเหนือหรือไทยยวนนั้นแต่เดิมคงมีการไว้ทรงผมพิเศษกว่าคนไทยเผ่าอื่นๆ จนเผ่าใกล้เคียงโดยเฉพาะเผ่าไทยลื้อจึงได้ขนานนามว่า “ยวน หัวธาตุ” (ยวนศรีษะเจดีย์) ซึ่งปัจจุบันคนไทยยวนนั้นกลับเรียกตนเองว่าคนเมือง ซึ่งจะเรียกมาแต่ครั้งไหนนั้นไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดได้ค้นคว้าไว้แต่พวกไทยยวนเมืองเชียงแสนที่ถูกกวาดต้อนมาอยู่แถบตำบลเสาไห้ในจังหวัดสระบุรีสมัยตอนต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งสืบต่อเชื้อสายมาจนสมัยปัจจุบันยังคงเรียกตนเองว่าเป็น “ยวน” อยู่ เพราะผู้เขียนเคยพบปะพูดคุยกับภิกษุที่เป็นพวกไทยยวนที่อาศัยอยู่ที่จังหวัดสระบุรี เรียกตัวเองว่าเป็นพวก “ยวน” และสำเนียงที่พูดก็ยังคงใช้ภาษา สำเนียงของไทยเหนือ หากมองในแง่ของความต่อเนื่องทาง ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมแล้ว คำว่า “ลานนา” ได้แก่วัฒนธรรมของคนเมืองตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์อันเริ่มแต่สมัยที่คนเมือง (ไทยยวน) มีอาณาจักรของตนเองเป็นอิสระ เรียกว่า อาณาจักรลานนา ซึ่งพระเจ้าเม็งรายเป็นผู้ทรงสถาปนาขึ้นในราวๆ พุทธศตวรรษที่ ๑๘ จนกระทั่งรวมเป็นอาณาจักรของไทยในสมัยปัจจุบัน ซึ่งแบ่งเป็นจังหวัดต่างๆ ตามที่ได้กล่าวแล้ว
ฉะนั้นคำจำกัดความของ “อาคารพักอาศัยลานนา” ในหัวข้อของการศึกษานี้จึงได้แก่อาคารหรือเรือนของประชาชนที่อาศัยอยู่ในท้องที่ต่างๆ ที่ได้กล่าวถึง เป็นอาคารพักอาศัยประเภทสถาปัตยกรรมพื้นบ้านที่แสดงให้เห๊นถึงความต่อเนื่องของรูปแบบทางกายภาพจากรูปแบบดั้งเดิม ในที่นี้จะขอจำกัดว่าในช่วงก่อนได้รับอิทธิพลและแนวความคิดสมัยใหม่
ข้อสังเกตุบางประการเกี่ยวกับรูปแบบของการตั้งถิ่นฐานลานนา และคติความเชื่อบางประการตามแนวของพงศาวดาร และตำนาน
ลักษณะภูมิศาสตร์กายภาพของบริเวณอันเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของพวกไทยยวนที่เป็นเจ้าของของวัฒนธรรมลานนานั้น มีลักษณะเป็นหุบเขา หรือแอ่งระหว่างเขา (intermontane Basins) เป็นที่ราบสูงชัน พื้นที่มีความลาดชันมากและไม่เสมอกัน ประกอบด้วยแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ไหลมารวมกันจนเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณลุ่มน้ำตอนต้นๆ นี้ถึงแม้จะมีเนื้อที่เล็กๆ ไม่กว้างขวาง ลักษณะเป็นที่ราบระหว่างหุบเขาแต่ประกอบด้วยดินที่อุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยปุ๋ยอินทรีย์ที่น้ำพัดพามาจากบริเวณที่สูงโดยรอบ จึงเป็นแหล่งที่มีคนมาตั้งบ้านเรือนทำการเพาะปลูกพืชผลต่างๆ และก่อตัวเป็นชุมชนระดับเมืองมาก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๘ แล้วต่อมาสถาปนาเป็นอาณาจักรเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๘ โดยไทยยวนและในช่วงกลางของพุทธศตวรรษที่ ๑๙ นั้น พระเจ้าเม็งรายแห่งเชียงแสนได้เข้าครอบครองที่ราบลุ่มเชียงราย เมืองฝาง และเมืองอีกหลายเมืองในที่ราบระหว่างหุบเขาของสายน้ำที่ไหลลงน้ำโขง ซึ่งต่อมาได้เข้าครอบครองที่ราบลุ่มลำปิง ซึ่งเป็นต้น้ำสาขาตอนเหนือของแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจัยสำคัญของการก่อตัวเป็นบ้านเมือง จนกระทั่งเป็นอาณาจักรขึ้นได้ก็เนื่องจากผลของการปฏิวัติหรือการพัฒนาการเกษตรจากการปลูกข้าวแบบเลื่อนลอยหรือข้าว
ไร่มาสู่การเพาะปลูกข้าวแบบ Wet Rice Cultivation คือ การทำนาข้าวซึ่งต้องอาศัยน้ำท่วมเพื่อหล่อเลี้ยง เพราะการปลูกข้าวแบบนี้อาจจะได้ ผลเก็บเกี่ยวปีละครั้งหรือสองครั้งสลับด้วยการปลูกในฤดูแล้งโดยอาศัยพื้นดินที่ได้เลือกในบริเวณลุ่มแม่น้ำสำคัญๆ ต่างๆ ซึ่งได้แก่บริเวณต่างๆ ที่ได้ปุ๋ยธรรมชาติจากแม่น้ำเป็นประจำทุกปี ฉะนั้นดินแดนราบลุ่มจึงเป็นที่ที่เหมาะสมในการตั้งหลักแหล่งของชุมชนเกษตรกรรม ซึ่งสามารถเพิ่มจำนวนพลเมืองโดยอาศัยการปรับปรุงคุณภาพของดินต่อเนื่องกันไป นอกจากนั้นความจำเป็นต้องทำการระบายน้ำและการชลประทานซึ่งเป็นงานที่มีลักษณะต้องทำร่วมกัน เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันได้เป็นเครื่องช่วยให้พลเมืองกลุ่มต่างๆ สามารถก่อตัวรวมกันเข้า โดยมีอำนาจเป็นแกนกลางอันเป็นลักษณะเบื้องแรกที่ทำให้เกิดมีรัฐ (เมือง) ที่มีระเบียบขึ้นนั่นเอง กระบวนการดังกล่าวถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงจากระดับ สังคมและวัฒนธรรมไปสู่อีกระดับหนึ่งอันเป็นวัฒนธรรมที่เด่นชัดและสำคัญของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมแบบที่ราบลุ่ม  อีกทั้งเป็นลักษณะของการก่อเกิดลักษณะรูปแบบของตั้งถิ่นฐานแบบเมืองในระยะแรกเริ่ม อันเป็นผลจากเงื่อนไขทางสภาพแวดล้อมและการพัฒนาการทางเทคนิควิทยา ก็การก่อตัวเป็นชุมชนระดับเมืองของลานนาไทยขึ้นมาได้นั้นแสดงให้เห็นว่าคนไทยยวนได้พัฒนาการ เพาะปลูกข้าวในระบบนี้มาก่อนพระเจ้าเม็งรายแล้ว และอันลักษณะเมืองของชาวไทยในที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ระหว่างหุบเขาทางภูมิภาคของยุนนานตอนใต้ ลาว และเวียดนามในแดนพม่านั้น จากรายงานการค้นคว้าของ Tamusugi และ Tanabe นั้น กล่าวว่าลักษณะของเมืองเหล่านี้มักเป็นบริเวณที่พำนักอาศัยของเจ้านายที่เป็นเจ้าของที่ดินและหัวหน้า (ผู้บริหาร) หรืออาณาเขตการบริหาร ประกอบด้วยเมืองเล็กๆ เป็นบริวารและมีหมู่บ้านที่ชาวนาเช่าที่นาของเจ้านายทำ การเพาะปลูกข้าวในนาที่รายล้อมหมู่บ้านต่างๆ เหล่านั้น ที่นาทั้งหมด
เป็นของเจ้าเมือง  ซึ่งลักษณะของเมืองของลานนาไทยเดิมก็มีลักษณะเช่นว่านี้เช่นกัน โดยแบ่งเขตการปกครองออกเป็นพันนา และเรียกอาณาจักรของตนว่า “ล้านนา” มาแต่เดิมมาเพี้ยนเป็น “ลานนา” ในระยะหลังเพราะปรากฏในจารึกของพระไชยเชษฐา พ.ศ. ๒๐๙๖ ได้ใช้ คำว่าล้านนา หาใช่ลานนาไม่ (ในจารึกอ้างว่าพระองค์ได้เป็นกษัตริย์แห่งล้านนา และล้านช้างอยู่ ดังมีข้อความว่า “สมเด็จบรมบพิตรตนสถิตเสวยราชพิภพทั้งสองแผ่นดินล้านช้างล้านนา” จารึกหลักนี้สันนิษฐานว่าเดิมอยู่แถวเชียงรายเชียงแสน) ตำแหน่งของเมืองในอาณาจักรล้านนานั้นจะตั้งอยู่ในระหว่างกลางของที่ดินที่อุดมสมบูรณ์ทางเกษตรกรรมซึ่งตามทฤษฎีของการตั้งถิ่นฐานของเมืองเรียกตำแหน่งที่ตั้งของเมืองแบบนี้ว่า “central Situation” ซึ่งการก่อตัวและการเจริญเติบโตของเมืองจะเกิดขึ้นในบริเวณศูนย์กลางของที่ดินเกษตรกรรม เป็นหลักตัวเมืองมีคูเมืองและกำแพงล้อมรอบอย่างแข็งแรง ประกอบด้วยประสาทราชวังอันเป็นที่ประทับของเจ้าผู้ครอง นครดังตัวอย่างจากโคลงในเรื่องท้าวฮุ่งท้าวเจืองได้พรรณนาเมืองของขุนเจื่องผู้เป็นบรรพบุรุษของพระเจ้าเม็งรายว่า
คูจอดล้อมเป็นเขื่อน    ขนงเมือง
โงงๆ เสียงผ่านพิน    พานส้าง
โฮงฮาชถ้องสาวถ่าว    ถนอมพู
บุรีเท้าเมืองเม็ง        มนุสสโลก
หอช่อฟ้าเฮืองลิ้ว        เฮื่อคำ
เฮืองเฮื่อช้างงาซ้อง    หยู่โฮง
เนื่องจากบริเวณที่ราบลุ่มระหว่างหุบเขามีขนาดจำกัดเมื่อที่ดิน ทำกินไม่พอกับประชากรที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจำต้องขยายอาณา¬เขตเมืองออกไป บางครั้งต้องโยกย้ายไปตั้งยังหุบหรือแอ่งเขาอีกแห่งหนึ่งโดยเจ้าผู้ครองนครจะมอบหมายให้บุตรหลานเกณฑ์ไพร่พลออกไปจัดตั้งชุมชนใหม่ขึ้นดังตัวอย่างจาก ตำนานสิงหนวัติกุมารก็ได้กล่าวถึงการตั้งชุมชนขึ้นใหม่ในลักษณะนี้
การเลือกทำเลและตำแหน่งจะตั้งเมืองนั้น ชนชาวโยนก หรือไทยยวนโบราณย่อมมีวิชาที่จะสังเกตลักษณะบริเวณที่เป็นชัยภูมิอันเป็นคติความเชื่ออำนาจเหนือธรรมชาติ และการถือโชคลาง คตินี้เป็นคติที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมานานแล้ว แม้กระทั่งอินเดียโบราณการจะเลือกตำแหน่งที่ตั้งของเมืองก็จำต้องอาศัยผู้ชำนาญในการดูทำเลที่จะตั้งเพื่อให้เกิดศิริมงคล และความอยู่เย็นเป็นสุขของชุมชนและเชื่อว่าสามารถป้องกันการรุกราน จากข้าศึกศัตรูที่จะมารุกรานได้ ซึ่งตาม คัมภีร์ อรรถกถาปัญจปสูทนี เรียกบุคคลที่ชำนาญการเลือกทำเลที่
ตั้งเมืองว่า “วัตถุวิชาจารย์” คือ อาจารย์ผู้สอนวิชาว่าด้วยพื้นที่ วัตถุวิชาจารย์นั้นไปดูพื้นที่ที่จะสร้างเมือง พิจารณาให้ละเอียดแล้ว ก็ชี้ตำแหน่ง ของที่ตั้งของเมืองแก่พวกราชตระกูล  และการเลือกบริเวณสร้างเมืองเชียงใหม่ครั้งพระเจ้าเม็งรายนั้น การจะย้ายเมืองจากเวียงกุมกามมาสร้างใหม่นั้นก็ถือนิมิตในการเลือกชัยภูมิโดยที่พระองค์ทรงช้าง มงคลแวดล้อมด้ยบริวารประพาสยังเชิงดอยสุเทพ และให้พรานป่าทั้งหลายไปไล่เนื้อแถบเชิงเขาจนกระทั่งพระองค์ไปพบ “ลอมคา,’ ที่หนึ่งที่พระองค์เห็นว่าเป็นอัศจรรย์เพราะสุนัขไล่เนื้อของนายพรานได้ไล่ฟาน (อีเก้ง) ๒ ตัว แม่ลูก เมื่อฟานทั้ง ๒ หลบเข้าสู่บริเวณลอมคานั้นแล้ว สุนัขไล่เนื้อไม่สามารถบุกเข้าไปได้ มิหนำซ้ำฟาน ๒ แม่ลูกก็เกิดความ กล้าวิ่งออกมาต่อสู้กับหมาล่าเนื้ออีกด้วย พระเจ้าเม็งรายเห็นดังนั้นถึงกับรำพึงว่า “กูมาแอ่วหาที่อันจักตั้งเวียงก็หลายแห่งแล้ว บ่พบสักแห่งจึงมาพบที่นี้เป็นชัยภูมิควรสร้างเวียงกวมที่นี้ หื้อเป็นชัยนครควรแลในลอมคานี้ กูจัดตั้งคุ้มวังมณเฑียรหอนอนได้อยู่หื้อทรงหื้อเป็นสุขสวัสดีแลว่าอั้น”  ลักษณะของชัยภูมิที่พระเจ้าเม็งรายทรงเลือกนั้นนอกจากพระเจ้าเม็งรายเห็นนิมิตอันกล้าหาญของฟาน ๒ แม่ลูกแล้ว ลักษณะลอมคานั่นเองมีลักษณะพิเศษ ที่ถือเอาเป็นนิมิตหมายของที่ มั่นคงได้กล่าวคือ “ภายนอกแห่งลอมคา เป็นอันหมดใส เป็นทุ่งราบเพียงยิ่งนัก พระยาเหลือบไปก็ซ้ำหันลอมคาอันน้อยหนึ่งอยู่ภายในที่นั้นเล่า ถัดลอมคาน้อยนั้นออกมาเป็นคุ้มหนามใหญ่น้อยเป็นถ้อยเป็นชั้นแน่นหนายิ่งนัก ในท่ามกลางลอมคานั้น เป็นช่วงราบเพียง ประกอบด้วยหยุงมวย คำม่าน (ภาษาพม่า) คำไทยว่า หญ้ามุงกระต่าย เกี้ยว แวดล้อมกกกล้าทุกฝ่ายดังนี้ ดังนั้นพระเจ้าเม็งรายได้ทรงนำลักษณะที่พระองค์ได้เห็นมานั้นไปปรึกษากับผู้ชำนาญในการดูทำเล ของชัยภูมิ ซึ่งตำนานเรียกว่า “แสนเฒ่าเค้าเมือง” ซึ่งคงจะคล้ายกับตำแหน่ง “วัตถุวิชาจารย์” ของอินเดียโบราณนั่นเองซึ่งในตำนานกล่าวว่ามีหลายคนอาจจะเป็นพวกขุนนางที่ดี อันเรียกว่า “ขุนธรรม” ผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติต่างๆ หลายประการ เช่น มีความรู้ดีทางคดีโลก คดีธรรมและประเพณีต่างๆ ด้วย นอกจากการเลือกชัยภูมิแล้วคติเรื่องโหราศาสตร์ก็มีส่วนเข้ามามีบทบาทเพื่อใช้เป็นฤกษ์ในการสร้างเมือง ดังเช่น การโยกย้ายเข้าไปตั้ง ณ ที่ ชัยภูมินั้นพระเจ้าเม็งรายเลือกเอาวัน “พฤหัสบดีเดือน ๗ (เหนือ) (ตรงกับเดือนห้าของภาคกลาง) ขึ้น ๘ ค่ำ ดิถี ๘ ตัว (นาที) อินทาดิถี ๓๐ ตัว พระจันทร์เสวยนักขัตฤกษ์กัด (กรกฏ) ตัวถ้วน ๗ ชื่อบุณณรวสุอุตตรภัททอาโปราษียาม แถรรุ่ง ๓ ลูกอินทาปลาย ๒ บาตรนํ้าไว้ลัดนาในมีนอาโปราษี ยามศักราชขึ้นวันพญาวันศักราชขึ้นแถมตัวหนึ่งเป็น ๖๕๔ ปีเต่าสีแล
คติการเลือกชัยภูมิโดยศึกษาจากสภาพทางกายภาพที่มีลักษณะพิเศษ และช่วงเวลาของการโยกย้ายเข้าอยู่อาศัยโดยถือเอาฤกษ์ทางโหราศาสตร์นั้น หากพิจารณาดูจากตำนานแล้วมิใช่ว่าเพิ่งมีแต่สมัยพระเจ้าเม็งรายเท่านั้น การเลือกตั้งเมืองโดยเลือกดูทำเลที่ต้องด้วยลักษณะของชัยภูมินั้นได้ดำเนินมาก่อนหน้านั้นแล้ว แม้สมัยขุนจอมธรรมเชื้อสายลาว จังกราชอันเป็นต้นตระกูลของพระเจ้าเม็งราย ครั้งเมื่อลาวเงินผู้บิดาแบ่งราชสมบัติให้ขุนจอมธรรม โยกย้ายไปสร้างเมืองใหม่โดยพาพลโยธาพาหนะออกจากเมืองนครเงินยาง เข้าสู่แคว้นภูกามยาวนั้น พ่อขุนจอมธรรมก็ทรงเลือกสถานที่ๆ มีลักษณะเป็นชัยภูมิโดยให้อำมาตย์ราชครูโหราเข้าไปตรวจดูภูมิสถานเมืองภูกามยาว (พะเยา) ว่าถูกต้องตามศุภนิมิตชัยมงคลสถานควรจะตั้งเมืองหรือไม่เช่นกัน จึงนับว่าเป็นคติเก่าแก่โบราณของลานนาที่วิวัฒนาการมาจากความคิด จากอินเดีย ผสมผสานกับคติดั้งเดิมก่อเป็นความรู้เฉพาะตัวขึ้น
นอกจากลักษณะลอมคาอันถือเป็นชัยภูมิและใช้เป็นเกณฑ์ตัดสินใจในการสร้างนครเชียงใหม่ของพระเจ้าเม็งรายแล้ว พระเจ้าเม็งรายยังเชิญพระร่วงและพระยางำเมือง อันเป็นพระสหายมาช่วยปรึกษา ปรากฏว่าขณะที่ไปสู่บริเวณชัยภูมินั้นมีหนูเผือกตัวเท่าดุมเกวียนมีบริวาร ๔ ตัวแล่นตามกันออกมาจากชัยภูมิไปหนบูรพาแล้วไปหนอาคเนย์ ไปลงรูแห่งหนึ่งภายใต้ต้นไม้ “พกเรือก” คือ ไม้นิโครธ หรือไทร พระยาทั้งสามจึงเอาเครื่องสักการะข้าวตอกดอกไม้ ธูปเทียน ไปบูชาไม้นิโครธต้นนั้น ถือว่าเป็นไม้ ‘‘ศรีหลวงเจนเมือง” (ไม้เสื้อเมือง หรือ ไม้ศรีเมือง) และได้ถือเอาบริเวณดังกล่าว เป็นศูนย์กลางเมือง (สะดือเมือง) และเป็นเสื้อเมืองด้วย คติถือสะดือเมืองเป็นศูนย์กลางเมืองนี้มีมาเดิมก่อนพระเจ้าเม็งรายแล้วเพราะเดิมบริเวณที่ราบลุ่มน้ำปิงบริเวณเมืองเชียงใหม่ จากตำนานกล่าวว่าเคยเป็นเมืองนพบุรีของพวกลัวะมาก่อน จากตำนานสุวรรณคำแดงกล่าวว่า พวกลัวะได้สร้างเสาหลักเมืองตรงบริเวณสะดือเมือง เพื่อเป็นศูนย์กลางหลักชัยของบ้านเมืองเรียกว่า “เสาอินทขีล” (เพราะเป็นเสาที่พระอินทร์ประทาน) เสานี้เป็นเสาที่มีอานุภาพมากเพราะจากตำนาน อินทขีลกล่าวว่า เนื่องจากมีเสาอินทขีลนี่เอง ข้าศึกที่ยกทัพมาชิงเมืองไม่สามารถช่วงชิงเอาเมืองได้โดยอิทธิฤทธิของเสาหลักเมืองได้บันดาลให้ข้าศึกกลับกลายเป็นพ่อค้าไปทั้งสิ้น และเสาหลักเมืองก็สามารถบันดาลให้พวกที่มาสักการะและ อธิษฐานขอเอาแก้วแหวนเงินทองก็ได้ตามปรารถนาตามที่ได้อธิษฐานขอไว้จากเสาหลักเมือง อันเป็นนิยายปรัมปรา (Myth) เล่าสืบต่อๆ กันมาและชนลานนารุ่นหลังได้ยึดเอาไปปฏิบัติ คือ เมื่อสร้างเมืองต้องปักเสาหลักเมืองเสมอ แต่จากตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวถึงสมัยที่ พระเจ้าเม็งรายสร้างเมืองนั้นไมได้กล่าวถึงว่าพระองค์ได้ทรงสร้างเสาหลัก-เมืองแต่ประการใด คงจะใช้ไม้ศรีเมืองนั้นเองเป็นหลักของเมือง แต่ในพงศาวดารโยนกกล่าวว่าพระเจ้าเม็งรายและพระสหาย คือ พระร่วงและพระยางำเมืองตั้งพิธีกลปบาท “ฝังนิมิตหลักเมืองในเวลาพิชัยฤกษ์ พร้อมกันกับขุดคูเมือง และสร้างนิเวศน์ ตลอดจนตั้งภาค (ตลาด) เสาหลักเมืองคงอยู่ตรงบริเวณเดียวกันกับต้นไม้ศรีเมือง และไม้ศรีเมืองนี้ถูกโค่นตัดลงโดยพระพุกามมังลุงหลวงภิกษุชาวพม่าเพราะถือเป็น “นิโครธนามเมือง” เพื่อทำลายกำลังเมืองในสมัย พระเจ้าติโลกราช และตามพงศาวดารโยนกที่พระเจ้าเม็งราย ทรงวางนิมิตหลักเมืองขึ้นก็คงอาศัยนิยายปรัมปราของชาวลัวะนั้นเองเป็นมูลเหตุของการสร้างเสาหลักเมือง ซึ่งคตินี้ยังสืบต่อถ่ายทอดมาสู่ชาวไทยยวน ก่อนหน้าสมัยพระเจ้าเม็งรายแล้ว โดยอาศัยจากพงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสนกล่าวถึงลาวเคียงผู้สืบเชื้อสายมาจากลาวจังกราชมารำพึงว่า บ้านใด เมืองใดไม่มีรั้วบ้านกำแพงเมืองแน่นหนานั้นหาเป็นราชธานีใหญ่ไม่ ดังนั้นเจ้าลาวเคียงจึงลงมือสร้างเมืองโดยเกณฑ์ราษฎรทั้งหลายมาปรับที่ให้ราบเสมอกันแล้วนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาสวดเพื่อสวัสดิมงคลในบริเวณที่จะสร้างวัง ส่วนที่ใจกลางเมือง (สะดือเมือง) ให้ขุดหลุมฝังเสาอินทขีล คำว่า อินทขีลนี้มีมูลเหตุมาจากตำนานของพวกลัวะดังได้ กล่าวแล้ว การนิยมสร้างหลักเมืองนี้กล่าวกันว่าเป็นที่นิยมสร้างกันใน หมู่คนไทยหลายเผ่าเช่นไทยขาว ไทยดำที่อาศัยอยู่ในบริเวณเวียดนามในปัจจุบันตลอดจนพวกไทยลื้อและลาวในยูนนานเช่นกัน ในหมู่พวกไทยดำและไทยขาวนั้นได้มีการปกครองกันแบบชุมชนเมืองมีหัวหน้าปกครองเป็น “ท้าว” ระบบการปกครองของพวกไทยดำและไทยขาวเหล่านี้ การปกครองมักเกี่ยวพันกับคติความเชื่อทางศาสนาเพราะนอกจากเจ้าผู้ปกครองแคว้นแล้วยังมี “ผีเมือง” ซึ่งมีลำดับความสำคัญลดหลั่นกันมาตามลำดับ ด้วยขนาดและอำนาจของเมืองแต่ละเมืองซึ่งแต่ละเมืองจะมี “ผีเมือง” ที่มีอำนาจสูงสุดคอยควบคุมดูแลเมืองใหญ่น้อยทั้งหมด และสิงสถิตอยู่กับต้นไม้ใหญ่ ตรงบริเวณทางเข้าบริเวณคุ้มของหัวหน้าหรือเจ้าเมือง คตินี้ตรงกันกับคติความเชื่อสมัยพระเจ้าเม็งราย ที่ยึดเอาไม้ศรีเมืองเป็นแกนของเมืองนั่นเอง นอกจากนี้พวกไทยดำยังเชื่อว่ามีผีหรือเทวดาประจำเจ้าผู้ครองแต่ละเมือง ซึ่งมีหน้าที่คอยปกป้องคุ้มครองเจ้านายและวงศ์สกุล ตลอดถึงประชาชนแต่ละเมือง ผีหรือเทวดาประจำเมืองนั้นจะสิงสถิตอยู่ที่เสาไม้ หรือเสาหลักเมืองเรียกว่า “หลักเสื้อ” หลักเสื้อหรือหลักเมืองจะเลือกปักในบริเวณที่เห็นว่าเป็นบริเวณที่มั่นคง และปลอดภัย
ส่วนเทวดา หรือผีที่คอยคุ้มครองประจำอาณาจักรลานนานั้น ที่ถือว่ามีศักดิ์สูงสุดนั้นมีอยู่องค์หนึ่งโดยเฉพาะ แต่มิได้สถิตอยู่ที่ต้นไม้ใหญ่แบบผีเมืองของพวกไทยดำ และเป็นผีที่มีศักดิ์สูงกว่าผีที่สิงสถิตที่ “ไม้ศรีหลวงเจนเมือง” กลางเมืองเชียงใหม่ ได้แก่ “อารักษ์เจ้าหลวงคำแดง” สถิตอยู่ดอยเชียงดาว มีลักษณะเป็นผีวีระบุรุษที่คอยปกปักรักษา อาณาจักรลานนา โดยเฉพาะเมืองเชียงใหม่อันเป็นราชธานีของลานนา แม้พระเจ้าเม็งรายเองครั้นเมื่อสวรรคตลง ชาวลานนาก็ถือว่าพระองค์ได้ทรงมาเป็นผีอารักษ์คอยคุ้มครองบ้านเมืองเพิ่มขึ้นอีกองค์หนึ่ง ได้มีการสร้างศาลให้เป็นที่สิงสถิต ศาลนี้สันนิษฐานว่าคงอยู่แถบกลางเมืองเชียงใหม่นั่นเองเพราะในนิราศหริภุญไชย อันเป็นนิราศเก่าแก่ฉบับหนึ่ง เขียนขึ้นในสมัยที่พระแก้วมรกตยังประดิษฐานอยู่ที่เชียงใหม่ ได้กล่าวพรรณนาถึงศาลแห่งนี้ว่า
“เห็นหอ (ศาล) มังรายเจ้า     สูงศักดิ์
ยังบ่ลืมอารักษ์            ราชไหว้
อัญเชิญช่วยพิทักษ์        เทียมที่คนึงรา”
ส่วนคตินับถือเสาหลักเมืองนั้นปรากฏว่า ชุมชนระดับเมืองลานนาแทบทุกเมืองก็นิยมสร้างเสาหลักเมืองไว้ประจำเมืองแม้สมัยต้นรัชกาลที่ ๕ ในการตั้งเมืองเชียงรายขึ้นใหม่นั้น ก็มีการวางเสาหลักเมืองอีกดังบันทึกไว้ว่า “สักราช ๑๒๓๖ ตัว (พ.ศ.๒๔๑๗) ปีกาบเสศเทิน (เดือน) 6 ออก (ขึ้น) ๑๒ ค่ำ ในพายนอกพอมกันฝังสทีเมิง (ฝังหลักเมือง) ดังนี้ ความเชื่อเกี่ยวกับหลักเมืองของชาวไทยยวนนั้นเชื่อกันไปว่า เป็นเสาที่เคารพสักการะและนับถือเพราะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่รวมของวิญญาณของชาวเมืองและบรรพบุรุษในอดีต ทั้งยังเป็นนที่สิงสถิตของเทพยดาอารักษ์ผี (เสื้อ) บ้านและ (เสื้อ) เมือง หรือเรียกอย่างภาษาพื้นเมืองว่า ‘‘เจนบ้านเจนเมือง” ซึ่งเป็นคติความเชื่อเช่นเดียวกับ “หลักเสื้อ” ของไทยดำนั่นเอง อันเป็นคติความเชื่อที่ได้วิวัฒนาการมาจากการนับถือภูตผีปีศาจในยุคดึกดำบรรพ์ของกลุ่มชนชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้ยึดเอาทะเลสาบ แม่น้ำ ภูเขา ต้นไม้ที่ขึ้นโดดเดี่ยวและป่าทึบบางส่วนว่าเป็นที่สิงสถิตของภูตผีที่คอยปกปักคุ้มครองมนุษย์ที่ได้เซ่นสรวงบูชาภูตผีเหล่านั้น (และยังคงยึดถือต่อมาจนปัจจุบัน) ก่อนที่จะได้รับอิทธิพลของพระพุทธศาสนา จัดเป็นลัทธิที่ได้วิวัฒนาการมาจากลัทธิ Animism ซึ่งเป็นสิทธิหรือความเชื่อที่เป็นมูลเหตุอย่างหนึ่ง ให้เกิดศาสนาของสังคมมนุษย์แต่โบราณ
สรุปคติความเชื่อเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานของไทยยวน จากตำนานและการสืบต่อคติความเชื่อนั้นมาถึงปัจจุบัน
จากข้อสังเกตการตั้งถิ่นฐานของชุมชนระดับเมืองของลานนาจากพงศาวดารและตำนาน ตั้งแต่สมัยพระเจ้าเม็งรายมานั้นจะพบว่า คติความเชื่อในเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาตินั้น พอสรุปได้ว่า
ก) ชาวไทยยวนมีความเชื่อเรื่องตำแหน่งที่ตั้งของเมืองจากการสังเกตลักษณะทางภูมิประเทศที่มีลักษณะพิเศษว่ามีอำนาจหรือพลังพิเศษที่จะอำนวยความสวัสดีแก่ผู้อยู่อาศัย และสามารถป้องกันภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นให้สงบหรือมลายหายไป
ข) การตั้งเสาหลักเมือง อันถือว่าเป็นหลักแกนของศูนย์กลางเมืองโดยมีพิธีกรรมที่จะทำให้เสาหลักเมืองนั้นศักดิ์สิทธิ์สามารถให้ความสุขความสบายแก่ชาวเมืองเพราะมีผีอารักษ์สิงสถิตอยู่คอยคุ้มครองรักษา
ค) ความเชื่อเกี่ยวกับอำนาจของภูตผีที่มีฐานะเป็นเสื้อเมืองคุ้ม ครองชาวเมืองและภายหลัง เมื่อรับคติความเชื่อจากอินเดียก็จะกลายเป็นเทวดาประจำเมือง
ง) การเชื่อโหราศาสตร์ เชื่อฤกษ์ยาม ซึ่งเป็นศาสตร์ที่รับมาจากอินเดีย
คติดังกล่าวนี้มีอิทธิพลต่อชาวบ้านอย่างมากและยังถือเป็นข้อ ปฏิบัติ โดยเฉพาะในการเลือกทำเลที่จะตั้งหมู่บ้านและบริเวณสร้างเรือนต่อเนื่องกันมาจนถึงสมัยปัจจุบันโดยเฉพาะชุมชนในภาคเหนือตามท้องที่ที่อิทธิพลและวัฒนธรรมแผนใหม่ยังแพร่ระบาดไปไม่ถึง คติความเชื่อต่างๆ ของโบราณ ตกทอดมาสู่ชนรุ่นหลังโดยการสืบต่อของผู้รู้ซึ่งมักจะเป็นพระ หรือผู้ที่บวชเรียนแล้ว และทำหน้าที่เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมให้แกชุมชนโดยบันทึกหลักการ พิธีกรรมต่างๆ เอาไว้รวมเป็นตำราไว้ในสมุดข่อยโดยเฉพาะ บางตำราได้กล่าวถึงการเลือกทำเลที่ตั้งที่จะสร้างเมืองซึ่งชาวบ้านจะใช้เป็นข้อสังเกต ในการจะเลือกที่ๆ สร้างบ้าน หรือทำเลที่จะตั้งหมู่บ้าน
ที่มาโดย:วิวัฒน์  เตมียพันธ์

ความหมายของสถาปัตยกรรมพื้นบ้าน

วัฒนธรรมพื้นบ้านล้านนา
เรือนพักอาศัยนั้นถือว่าเป็นศูนย์รวมของชีวิตในสังคมทุกๆ สังคม
เพราะสะท้อนให้เห็นถึงกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ที่อาศัยอยู่ การศึกษาเรื่องเรือนพักอาศัยของแต่ละแห่งนั้นย่อมหยั่งทราบถึงเนื้อหาสาระของสังคมที่แฝงเร้นอยู่ในรูปทรงของอาคารนั้นอีกด้วย ฉะนั้นการค้นคว้าศึกษาเรือนท้องถิ่นหรือเรือนชาวบ้านนั้น นอกจากสถาปนิกแล้วกลุ่ม
นักศึกษาทางคติชนวิทยายังมุ่งสนใจกันอย่างกว้างขวาง ใน
เรื่องของการศึกษาคติพื้นถิ่นและชีวิตพื้นถิ่น (Folklore and Folklife) โดยที่สาขาวิชาชีวิตพื้นถิ่นได้เน้นถึงวัฒนธรรม ทางด้านวัตถุ เช่น สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น (Folk Archi¬tecture) ศิลปกรรมพื้นถิ่น (Folk Art)เป็นต้น เพราะเรือนของแต่ละท้องถิ่นนี้ย่อมมีลักษณะเฉพาะตัวและเป็น รูปแบบทางประเพณีนิยม (Tradition Building Type) ที่ประชาชนนิยมสร้างสืบเนื่องกันต่อมา เป็นเวลาหลายชั่วอายุคนแล้ว อีกทั้งลักษณะเรือนพักอาศัยแบบพื้นบ้านหรือพื้นถิ่นยังเป็นสถาปัตยกรรมที่นักมานุษยวิทยาและนักสังคมวิทยา ถือว่าเป็นแหล่งศูนย์กลางที่สะท้อนถึงสภาพวัฒนธรรมของแต่ละสังคมได้เป็นอย่างดี
การศึกษาเรือนพื้นบ้านหรือเรือนที่มีรูปแบบทางประเพณีนิยมของลานนาย่อมมีความมุ่งหมายดังกล่าวแล้วข้างต้น แต่การศึกษาในครั้งนี้จะเน้นให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบวัฒนธรรมเชิงพฤติกรรม และคติความเชื่อพร้อมทั้งพิธีกรรมและประเพณีบางประการที่สัมพันธ์ กับขั้นตอนการก่อสร้าง กับเนื้อที่และรูปทรงของอาคาร ตลอดถึงคติความเชื่อบางอยางในการตั้งถิ่นฐานระดับต่างๆ ของชุมชนลานนามากกว่าที่จะอธิบายในเชิงระบบการก่อสร้างหรือแง่ของสถาปัตยกรรมศึกษาโดยตรงโดยจะอาศัยแนวทางทางคติชน วิทยาหรือคติชาวบ้านเป็นแนวทางในการศึกษา หากจะพิจารณาเฉพาะแง่สถาปัตยกรรมโดยตรง เพียงส่วนเดียวแล้ว ย่อมไม่กว้างขวาง เพราะตัวสถาปัตยกรรม (อาคาร) มิใช่ เป็นผลผลิตทางวัสดุก่อสร้างระบบการก่อสร้าง หรือทาง เทคโนโลยีเพียงส่วนเดียว แต่สถาปัตยกรรมคือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงโลกทัศน์ พฤติกรรมและความต้องการที่ลี้ลับเพื่อขจัดความกลัวและสร้างความหวังให้แก่ชีวิต เนื่องจากความเชื่อต่ออำนาจเหนือธรรมชาติ ที่อยู่นอกเหนือจากความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ และทั้งยังเป็นการสั่งสมมรดกของอดีตที่ต่อเนื่องมาสู่ปัจจุบันอีกด้วย
ความหมายของสถาปัตยกรรมพื้นบ้าน
สถาปัตยกรรมจำแนกออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ สถาปัตยกรรมแบบพื้นบาน (Arche-typcs) และสถาปัตยกรรมแบบยิ่งใหญ่ (Master Works)
ความแตกต่างระหว่างสถาปัตยกรรม ๒ ประเภทดังกล่าวนี้ก็คือ สถาปัตยกรรมแบบพื้นบ้านนั้น ได้แก่ อาคารประเภท บ้าน โรงนา และอาคารที่แสดงถึงฝีมือการปลูกสร้างของชาวบ้านชาวนาโดยทั่วไป ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความชาญฉลาดของวิธีการก่อสร้างและฝีมือของผู้สร้าง ซึ่งมีประสบการณ์จากความรู้พื้นๆ และการแก้ปัญหาอย่างซื่อๆ และตรงไปตรงมา ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงการดำรงชีวิตที่อยู่อย่างใกล้ชิดกับธรรมชาติเพื่อความอยู่รอดอีกด้วย อาคารมักมีรูปแบบคล้ายๆ กัน เพราะสร้างกันตามประเพณีที่เคยประพฤติสืบต่อเนื่องกันมา ไม่มีสถาปนิกเป็นผู้ออกแบบโดยเฉพาะแต่ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นช่างปลูกสร้างกันเอง เพราะได้รับการถ่ายทอดระบบวิธีการก่อสร้างมาจากสมาชิกรุ่นก่อนๆ ของสังคม ตัวสถาปัตยกรรมมักถูกละเลยและมอง ข้ามจากกลุ่มนักออกแบบสมัยปัจจุบันและไม่ค่อยเอ่ยถึงกันนัก
ส่วนงานสถาปัตยแบบยิ่งใหญ่นั้น คือ สถาปัตยกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงอารยธรรมของแต่ละชุมชนเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญ และแสดงศักยภาพของการก่อสร้างของสังคมแต่ละสังคมเป็นประดุจดั่งสิ่ง แสดงถึงหลักชัยของความก้าวหน้า (Milestone) ทางประวัติศาสตร์ของมนุษย์ของแต่ละประเทศหรือแต่ละภูมิภาค ตัวสถาปัตยกรรมมักเป็นอาคารที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ในแต่ละยุคสมัยของแต่ละประเทศ เช่น พีรามิด อียิปต์ โคโรเซียมของโรมัน วิหารเซนต์บีเตอร์ ที่นครวาติกันหรือวัดพระแก้วของไทย เป็นต้น ตัวสถาปัตยกรรมมักเป็นที่กล่าวถึงกันโดยทั่วไป
และผู้รู้ทางสถาปัตยกรรมบางท่านยังแบ่งประเภทสถาปัตยกรรมออกเป็นหลายประเภทหลายระดับ คือ
สถาปัตยกรรมประเภท Folk Architecture
สถาปัตยกรรมประเภท Vernacular Architecture
สถาปัตยกรรมประเภท Spiritual Architecture
สถาปัตยกรรมประเภท Monumental Architecture
สถาปัตยกรรมประเภท Utilitarian Architecture
สถาปัตยกรรมประเภท Folk Architecture ได้แก่ สถาปัตยกรรมประเภทอาคารพักอาศัยของชาวบ้านทั่วๆ ไป ในแต่ละท้องถิ่นที่ได้พัฒนารูปแบบ จนมีลักษณะเฉพาะตัว แม้ว่ากลุ่มชนนั้นๆ จะอพยพโยกย้ายไปอาศัยในแดนอื่นๆ แต่ก็ยังสร้างอาคารในรูปแบบเดิมที่ตนคุ้นเคย โดยไม่ได้ดัดแปลงรูปแบบให้สอดคล้องกับภูมิประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป ตัวอาคารแสดงให้เห็นฝีมือในการตกแต่งแบบง่ายๆ ของชาวบ้าน
สถาปัตยกรรมประเภท Vernacular Architecture ได้แก่ อาคารที่พัฒนารูปแบบจาก Folk Architecture แต่รูปแบบของอาคาร ย่อมมีการพัฒนาต่อไปให้เหมาะสมกับสภาพท้องที่และดินฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งยังปรับปรุงให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมและวัสดุก่อสร้างที่เปลี่ยนแปลงไปอีกด้วย
Spiritual Architecture คือ อาคารที่ออกแบบเพื่อผลทางจิตใจของมนุษย์ (อาคารทางศาสนา) อาคารที่สร้าง เพื่อสิ่งเคารพนับถือของชุมชน ตัวอาคารแสดงถึงความคิดสร้างสรรค์ที่สูงกว่าอาการทั่วไป อาคารส่วนใหญ่เป็นอาคารที่ดีที่สุดและเป็นอาคารที่คนทั่วไปชื่นชม สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถรวบยอดของช่างในแต่ละท้องถิ่น
ส่วนอาคารประเภท Monumental Architecture- คือ เป็นอาคารที่สร้างขึ้นให้มั่นคง และถาวรเป็นพิเศษกว่าอาคารประเภท Folk. Architecture และ Vernacular
อาคารมักมีรูปทรงที่เป็นแท่งก้อน เป็นอาคารซึ่งแต่เดิมสร้างเป็นอนุสรณ์และเป็นเกียรติแก่คนตายหรือผู้ที่จากใป
Utilitarian Architecture ได้แก่ สถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบให้สนองกับประโยชน์ใช้สอยเฉพาะอย่างนอกเหนือจากอาคารทางศาสนา อาคารบ้านพักอาศัย หรืออาคารประเภทอนุสาวรีย์
สรุปความหมายของสถาปัตยกรรมพื้นบ้านจึงได้แก่ สถาปัตยกรรมประเภท Achetypes หรือสถาปัตยกรรมประเภท Folk Architecture และ Vernacular Architecture นั่นเอง และเรือนลานนา ตั้งแต่ระดับชาวบ้านจนถึงเรือนพักอาศัยที่มีขนาดใหญ่โตที่สะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบทางประเพณีนิยมอันมีลักษณะเฉพาะตัวนั้นจึงจัดอยู่ในสถาปัตยกรรมพื้นบ้านได้ทั้งสิ้น
ที่มาโดย:วิวัฒน์  เตมียพันธ์

เรือนเครื่องผูกในประวัติศาสตร์

เรือนเครื่องผูก8
การที่จะมองย้อนหลังกลับไปสู่อดีต เพื่อสืบค้นสาระสำคัญทั้งในด้านรูปแบบและสถานภาพของเรือนเครื่องผูก ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับพลเมืองทั่วไปในเมืองไทยโดยลำดับนั้นออกจะเป็นการไม่สู้ง่ายนัก ทั้งนี้ก็เพราะเหตุว่า เรือนชนิดปลูกขึ้นด้วยทัพสัมภาระที่ไม่สู้คงทนถาวรอยู่ได้ถึง ๑๐๐ ปี หรือ ๒๐๐ ปี อีกประการหนึ่งก็เนื่องด้วยเรือนเครื่องผูกส่วนมากเป็นที่อยู่ของคนระดับชาวบ้าน ซึ่งผู้เป็นเจ้าของเรือน
ประเภทนี้ไม่สู้สนใจเรื่องอื่นนอกเหนือไปกว่าการเป็นเจ้าของ และอาศัยอยู่อย่างปกติสุขได้เท่านั้น ส่วนที่จะจดบันทึกอะไรที่เป็นสาระสำคัญเกี่ยวกับความเป็นอยู่ภายใต้หลังคาเรือนเช่นนี้ย่อมเป็นสิ่งพ้นวิสัย เพราะมองไม่เห็นประโยชน์อันพึงจะได้ อย่างไรก็ตาม การมองย้อนหลังเพื่อสืบค้นเรือนประเภทเครื่องผูก ก็พอมีช่องทางอยู่บ้างด้วยการพึ่งบันทึก ในลักษณะจดหมายเหตุและพงศาวดารที่เป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ ซึ่งยังจะพอมีอยู่บ้าง
จดหมายเหตุบันทึกการเดินทางของชาวต่างประเทศ ที่เข้ามาสู่เมืองไทยคราวแรกๆ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีหลายคนที่ได้จดบันทึกสาระสำคัญเกี่ยวกับเรือนเครื่องผูกซึ่งเป็นที่อยู่ของพลเมืองส่วนมากในพื้นบ้านขึ้นไว้ และมีข้อความสำคัญช่วยให้นึกเห็นรูปแบบ และสถานภาพของเรือนเครื่องผูกในอดีตกาลได้เป็นอย่างดีทางหนึ่ง
จดหมายเหตุที่ได้บันทึกเรื่องเรือนเครื่องผูกนี้ขึ้นไว้ให้ปรากฏ ควรกล่าวถึงคราวแรกคือ จดหมายเหตุของเชวา ลิเอร์ เดอ ฟอร์บัง ชาวฝรั่งเศสที่ร่วมเดินทางมากับคณะทูต ซึ่งสมเด็จพระเจ้าหลุยส์มหาราชทรงแต่งตั้ง เข้ามาเจริญทางพระราชไมตรียังสมเด็จพระนารายณ์มหาราช คราวแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๗ มีความว่า
“เมื่อเรือนมาถึงปากน้ำ ก็คํ่ามืดลง แม่น้ำนี้เป็นแม่น้ำใหญ่ที่สุดแม่น้ำหนึ่งในบูรพาทิศคนไทยเรียกชลธารนี้ว่า “แม่น้ำ’’ ซึ่งแปลว่า “แม่ของน้ำ” เวลานั้นน้ำทะเลกำลังไหลขึ้น เรือต้องทวนน้ำ เราจึงต้องแวะเข้าฝั่ง ได้แลเห็น เรือนขัดแตะ มุงหลังคาจากสามหรือสี่เรือน ม. วาแชร์ บอกฉันว่า ผู้ว่าราชการปากน้ำอยู่ที่หมู่บ้านนั้น”
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๒๒๘ บาทหลวง กวีย์ ตาชาร์ด ผู้ซึ่งเดินทางร่วมมาในงบทูตฝรั่งเศสอีกคณะหนึ่ง ได้จดบันทึก เรือนเครื่องผูกที่เขาได้เห็นเป็นครั้งแรทที่เขาได้มาถึงเมืองไทยว่า
“ตั้งแต่บางกอกไปจนถึงสยาม (กรุงศรีอยุธยา) เราพบหมู่บ้านเป็นอันมากเกือบทั่วไปทั้งสองฝั่งฟากแม่น้ำ หมู่บ้านเหล่านี้ประกอบด้วยกระท่อม เป็นเรือนยกพื้นสูง เนื่องจากน้ำท่วม เป็นเรือนที่สร้างขึ้นด้วยไม้ไผ่ อันเป็นต้นไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งไม้ของมันนำไปใช้ประโยชน์ได้สารพัดอย่างในประเทศนี้ ลำต้นกับกิ่งใหญ่ใช้ทำเป็นเสา กับคาน กิ่งเล็กใช้ทำหลังคาและสานทำเป็นฝาห้อง”
ชาวต่างประเทศที่เข้ามายังเมืองไทย เมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาและได้จดบันทึกเรื่องเรือนเครื่องผูกไว้ได้ถี่ถ้วน เห็นจะไม่มีใครเกิน มร. เดอ ลาลูแบร์ จดหมายเหตุของเขา พรรณนารายละเอียดของเรือนมีโดยลำดับดังนี้
“ที่อยู่อาศัยของชาวสยามนั้นเป็นเรือนหลังย่อมๆ แต่มีอาณาบริเวณกว้างขวางพอใช้พื้นเรือนนั้นก็ใช้ไม้ไผ่มาลับเป็นฟากและเรียงไว้ไม่ค่อยถี่นัก แล้วยังจักตอกขัดแตะ เป็นฝาและใช้เป็นเครื่องบนหลังคาเสร็จไปด้วยในตัว เสาตอม่อที่ยกพื้นขึ้นสูงให้พ้นน้ำท่วมก็ใช้ไม้ไผ่ลำใหญ่กว่าขา และสูงจากพื้นดินราว ๑๓ ฟุต เพราะลางครั้งน้ำที่ท่วมขึ้น มาสูงถึงเท่านั้น ตอม่อแถวหนึ่งมีไม่มากกว่า ๔ หรือ ๖ ต้น แล้วก็เอาลำไม้ไผ่ผูกขวางเป็นรอด บันไดก็เป็นบันไดไม้ไผ่ ซึ่งทอดอยู่ข้างนอกตัวเรือนเหมือนบันไดโรงสีลม คอกสัตว์ของสยามก็อยู่กลางแจ้งและยกพื้นเหมือนกัน มีตะพานทำด้วยไม้ไผ่ฟากสำหรับสัตว์ปีนขึ้น”
ข้อความจากจดหมายเหตุของชาวต่างประเทศที่ได้คัดมาแสดงโดยลำดับนี้ พอจะเป็นเครื่องชี้ส่องให้เห็นภาพของเรือนเครื่องผูกของไทยในอดีตผุดขึ้นมาอย่างกระจ่างชัดได้ พอสมควร และยังเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นต่อไปอีกว่า เรือนเครื่องผูกเป็นเคหะสถานที่อาศัยสำหรับพลเมืองทั่วไป ความข้อนี้มีเอกสารทางประวัติศาสตร์ของไทยสนับสนุนให้เห็นเป็นจริงคือ เอกสารว่าด้วยแผนที่กรุงศรีอยุธยาตอนที่ พรรณนาย่านตลาดขายสินค้าต่างๆ ในกรุงศรีอยุธยา มีความบางตอนว่า
“ย่านฉะไกรใหญ่ ซื้อไม้ไผ่มาทำฝาเรือนหอขาย
นั่งร้านขายผ้าสุหรัด ผ้าขาวมีตลาดขายของสดเช้าเย็นตลาด ๑…
ย่านสัมพะนีตีสกัดน้ำมันงา น้ำมันลูกกะเบา น้ำมันสำโรงขาย พวกหนึ่งทำฝา เรือนหอ ด้วยไม้ไผ่กรุแผงดำ ขาย….
บ้านคลองฉนู พะเนียด ตั้งโรงขายไม้ไผ่ ขายเสาน้อยใหญ่”
จากเอกสารทางฝ่ายไทยนี้แสดงให้เห็นว่าเมื่อคนจำนวนไม่น้อยพอใจที่จะปลูกเรือนเครื่องผูก นับตั้งแต่เรือนหอสำหรับอยู่ ก็จะต้องมีผู้หาเอาทัพสัมภาระสำหรับทำเรือนประเภทนี้นำมาขาย เป็นการบริการความสะดวกแก่ผู้ที่ต้องการ และได้ทำเป็นธุรกิจอย่างมั่นคง ดังปรากฏในเอกสารดังกล่าว
ต่อไปขอชวนให้พิจารณาด้านสถานภาพของเรือนเครื่องผูกในประวัติศาสตร์บ้าง สถานภาพของเรือนประเภทนี้ ในสายตาของคนทั่วไปมักจะมองเห็นเป็นเคหะสถานที่ไม่สู้มีความสลักสำคญสักเท่าใด เพราะเป็นเรือนที่ไม่สู้คงทน ซ้ำยังทำขึ้นด้วยวัสดุพื้นๆ แต่กระนั้นก็ตามถ้ามองสถานภาพของเรือนเครื่องผูกนี้ย้อนเข้าไปตามสายธารแห่ง ประวัติศาสตร์แล้ว จะเห็นได้ว่าสถานภาพของเรือนประเภทนี้มีความสำคัญ อย่างคาดไม่ถึง สถานภาพของเรือนเครื่องผูกมีความสำคัญอย่างไร ขอให้พิจารณาจากจดหมายเหตุของบาดหลวง เดอ ชวาสี ต่อไปนี้
“เวลาเช้า ๘ นาฬิกา เราออกจากเรือฟริเกท ลงเรือหลวงเดินทางต่อไปด้วยขบวนเดิม พอเที่ยงวันก็ถึงเรือนหลังแรกในบรรดา ๗ หลังที่สร้างไว้สำหรับรับรองท่าน อัครราชทูต ทำด้วยไม้ไผ่ทุกหลัง มีห้องพัก ห้องประชุม ห้องพักสำหรับท่านราชทูต และสำหรับพวกในงบทูต”
จากข้อความในจดหมายเหตุ จะเห็นได้ว่าเรือนเครื่องผูกนั้นเป็นเคหะสถานที่มีสถานภาพสำคัญถึงขั้นใช้เป็นที่พักรับรองราชทูตทีเดียว มิใช่เคหะสถานที่ทำต่ำทรามหรือด้อยคุณค่าเลย และเรือนประเภทนี้ดูจะไม่เป็นที่รังเกียจหรือเป็นที่ไม่น่าพึงพอใจในสายตาชาวต่างประเทศเลย มร. เดอ ลาลูแบร์ เขียนบันทึกเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาว่า
“เป็นด้วยไม่มีเรือนที่สมควรจะให้เราพักตามริมแม่น้ำ เจ้าพนักงานจึงสร้างเรือน แบบพื้นประเทศขึ้นให้เราพัก เรือนนั้นสร้างบนเสาปูฟากและลาดด้วยเสื่อกก ไม่เพียงแต่จะใช้เป็นพื้นเรือนเท่านั้น ยังเป็นพื้นเฉลียงอีกด้วย ห้องโถงและห้องในนั้นแขวนผ้ามีดอกดวง เพดานผ้ามัสลินขาว ริมเฉลียงเพดานลาดลง พื้นเรือนในห้องนั้นลาดเสื่อกกสานรายละเอียดและเป็นมันลื่นกว่าที่ใช้ลาดพื้นเฉลียง และภายในห้องนอนของเอกอัครราชทูตพิเศษนั้น ยังลาดพรมเจียมทับเสื่อกกอีกชั้นหนึ่ง ความสะอาดสะอ้านมีอยู่ทั่วไป”
การใช้เรือนเครื่องผูกปลูกด้วยไม้ไผ่เป็นเรือนรับรองราชทูตและคณะนี้ นอกเสียจากได้ทำขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยายังคงได้ปลูกขึ้นเป็นเรือนรับรอง ต่อมาอีกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นายเทาเซนต์ แฮรีส ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากประธานาธิบดี แฟรงกลิน เพียรซ์ แห่งสหรัฐอเมริกาให้เป็นทูตมาเมืองไทย นายเทาเซนต์ จดหมายเหตุเกี่ยวกับเรือนรับรองที่เจ้าพนักงานไทยทำขึ้นรับรองว่า
“ประมาณ ๖ นาฬิกา เรามาอยู่ในระยะที่มองเห็นสถานทูตโปตุเกสได้ สถานกงสุลนั้นได้ชักธงของตนขึ้นเป็นการคำนับเรา และเหนือขึ้นไปไม่ไกลนัก เราเห็นเสาธงสูงกับเรือนไม้ไผ่หลังใหม่ ซึ่งรู้ได้ว่าเป็นที่อยู่ใหม่ของเรา”
เรือนเครื่องผูกปลูกด้วยไม้ไผ่ ในทัศนะของคนไทย ยังมีสถานภาพต่างออกไปกว่าที่กล่าวมาแต่ข้างต้นนั้นอีกลักษณะหนึ่ง คือใช้เป็นเคหะสถานที่อยู่อาศัยสำหรับบุคคลที่ถูกทำโทษโดยปลดยศลดศักดิ์ คล้ายกันกับที่ท้าวสามลลงโทษนางรจนา ดังที่ว่า
“คิดพลางทางสั่งเสนาใน         อีรจนากูไม่ขอเห็นหน้า
จะใคร่ฆ่าเสียให้ตายก็อายเขา     จะว่าเรากลับคำทำหึนหัน
จะขับไล่ไปเสียด้วยกัน            ปลูกกระท่อมให้มันอยู่ปลายนา”,
ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง มีตัวอย่างให้เห็นการลงโทษ แก่บุคคลโดย ลดยศปลดศักดิ์ด้วยลักษณะคล้ายกันดังกล่าว มีความปรากฏตามพระราชพงศาวดารในรัชกาลนี้ว่า
“เมื่ออาสาฬมาสเข้าพระวษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินด้วยสนมราชกัลยา ออกไปนมัสการจุดเทียนพระวษา ถวายพระพุทธปฏิมากร ณ วัดพระศรีสรรเพชญ์เสด็จประพาศมาหน้าพระวิหารใหญ่ ทอดพระเนตรเห็นพระอาทิตย์วงศ์ ราชบุตรพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งยกออกเสียจากราชสมบัตินั้น ขึ้นนั่งห้อยเท้าอยู่เหนือกำแพงแก้ว ชี้พระหัตถ์ตรัสว่า อาทิตย์วงศ์องอาจมิได้ลงจากกำแพงแก้วให้ตํ่า ลดพระอาทิตย์วงศ์ลงจากยศ ให้ไปปลูกเรือนเสาไม้ไผ่ ๒ ห้อง ๒ หลังริมวัดท่าทราย ให้อาทิตย์วงศ์อยู่ให้คนอยู่ด้วย ๒ คน แต่พออยู่ตักน้ำตำข้าว”
ที่มาโดย:จุลทัศน์  พยาฆรานนท์ คณะมนุษยศาสตร์ วิทยาเขตกลาง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

เรือนเครื่องผูกในวรรณคดี

เรือนเครื่องผูก7
วรรณคดีไทยหลายเรื่องได้นำเอาสาระสำคัญของเรือนชนิดนี้มาเป็นส่วนประกอบเหตุการณ์ หรือเป็นส่วนเชื่อมโยงเนื้อความให้ดำเนินเรื่องไปได้ หรือเพื่อระบุตำแหน่งที่ตัวบุคคลในเรื่องปรากฏขึ้นตามเนื้อเรื่อง ฯลฯ การที่กวีหลายท่านได้เก็บเอาสาระสำคัญของเรือนเครื่องผูกนำมาร้อยประดับเข้าไว้ในบทประพันธ์แต่ละเรื่องๆ นั้น นับว่าเป็นการสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ผู้ที่มีใจรักจะศึกษาความรู้ในเชิงความคิดเกี่ยวกับเรือนเครื่องผูกได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ก็เพราะเรือนเครื่องผูกเป็นเรือนของชาวบ้านเป็นงานสถาปัตยกรรมสามัญธรรมดาเสียจนเป็นสิ่งที่ไม่อยู่ในสายตา และความสนใจของนักวิชาการมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว จึงไม่สู้มีบันทึกเรื่องราวอันควรแก่ความสนใจเกี่ยวกับเรือนประเภทนี้ ดังนั้นวรรณคดีบางเรื่องจึงเป็นแหล่งที่อาจค้นได้ข้อมูลเรือนเครื่องผูกได้ค่อน ข้างดีทีเดียว
วรรณคดีที่กล่าวถึงเรือนเครื่องผูกอย่างละเอียดถี่ถ้วน และมีสาระตรงต่อความเป็นจริงในด้านตัวไม้ส่วนประกอบเรือน คือ เรื่องมหาเวสสันดรชาดก มีพรรณนาเรือนของพราหมณ์ชูชกว่า
“ธุชีมิไว้ใจด้วยเคหาเก่าคร่ำคร่ำซวนโซเซ อ่อนโอ้เอ้ เอียงโอนเอน กลัวว่าจะครำเครนครืนโครมลง โย้ให้ตรงกรานไม้ยัน ค้ำจดจันจนจ้องไว้ เกลากลอนใส่ซีก ครุคระ มงจะจะจากปรุโปร่ง แลตะละโล่งลอดเห็นฟ้า ขึ้นหลังคาครอบจากหลบ โก้งโค้งกบกดซีกกรอบ ผ่าไม้ครอบคร่อมอกไก่ ไม้ข้างควายแขวะเป็นรู สอดเสียบหนูแน่นขันขัด ปั้นลมดัดเดาะหักห้อย กบทูย้อยแยกแครกคราก จั่วจุจากจัดห่างๆ ฝาหน้าต่างแต่งให้มิด ล่วงหลวมปิดปกซี่ฟาก ตงรอดครากเครียดรารัด ต่อม่อขัดค้ำขึงขัง ทวารํ ปฏิสงฺขริตฺวา จักตอกมาขมวดเป็นเกลียว ผูกแน่นเหนียวหน่วงประตู ห่วงหิ้วฉวยชักชิด ปิดมือมิดไม่เห็นห่าง ใตส่กลอนกลางกลัดเหน็บแนม ลิ่มเสียดแซมซ้ำให้ชิด ไม่เคยปิดอย่าพักเปิด เท้าถีบเถิดถูกไม่ลื้น บันไดลงขึ้นขันชะเนาะ มันเหมาะเจาะจ้องจุนชาน ทำลนลานโน่นนี่เสร็จ กอบกำสะเก็ดกวาดปักแผ้ว”
วรรณคดีสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์เรื่องหนึ่งที่อาศัยเรือนเครื่องผูก เป็นฉากประกอบเหตุการณ์ในเรื่องมากที่สุด คือ บทละครเรื่องสังข์ทอง พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย จับความตั้งต้นแต่มารดาพระสังข์ ไปอาศัยยายตาอยู่ในป่าว่า
“เมื่อนั้น        พระกุมารเยี่ยมหอยแลหา
ไม่แจ้งว่าองค์พระมารดา    แฝงฝาคอยอยู่ไม่รู้กาย
สงัดเงียบผู้คนไม่พูดจา    เล็ดลอดออกมาแล้วผันผาย
นั่งที่นอนชานสำราญกาย    เก็บกรวดทรายเล่นไม่รู้ตัว
มารดาซ่อนเร้นเห็นพร้อมมูล        อุแม่เอ๋ยพ่อคุณทูนหัว
ซ่อนอยู่ในสังข์กำบังตัว        พ่อทูนหัวของแม่ประหลาดคน
ย่างเข้าในห้องทับจับได้ไม้        ก็ต่อยสังข์ให้แหลกแตกป่น
พระสังข์ตกใจดังไฟลน            จะหนีเข้าหอยตนก็จนใจ”
ต่อมาก็ถึงตอนที่ท้าวสามล ขับนางรจนา ให้ไปอยู่เสียที่กระท่อมปลายนา ความว่า
“คิดพลางทางสั่งเสนาใน    อีรจนากูไม่ขอเห็นมัน
จะใคร่ฆ่าเสียให้ตายก็อายเขา    จะว่าเรากลับคำทำหุนหัน
จะขับไล่ไปเสียด้วยกัน            ปลูกกระท่อมให้มันอยู่ปลายนา
บัดนั้น                เสนีมี่ฉาวเรียกบ่าวไพร่
ต่างถือมีดพร้าแล้วคลาไคล        ตรงไปปลายนานอกธานี
ครั้นถึงจึ่งเที่ยวเกี่ยวแฝก    ตัดไม้ไผ่แบกมาอึงมี่
บ้างกล่อมเสาเกลาฟากมากมี    ปลูกกระท่อมลงที่ท้องนา
แล้วปัดปูเสื่อฟูกผูกมุ้งม่าน        หม้อข้างเชิงกรานตุ่มน้ำท่า
ทั้งลูกผักฟักแฟงแตงกวา        จอบเสียมมีดพร้าหาพร้อมไว้”
ครั้นนางรจนาออกเมืองมาถึงปลายนา พอเห็นกระท่อม เป็นครั้งแรกในชีวิต นางก็บรรยายว่า
“ครั้นถึงกระท่อมทับทีอยู่    แลดูสมเพชเป็นนักหนา
ไม่เคยเห็นเช่นนี้แต่เกิดมา        ก็โศกาทรุดนั่งอยู่นอกชาน”
ส่วนพระสังข์ทองนั้นไม่สู้กระไร     เพราะเคยอยู่และเติบโตมาในกระท่อมมาก่อนจึง
‘‘ว่าพลางทางถอดเงาะเสีย    เอาซ่อนเมียวางไว้ในห้อง
รูปทรงโสภาดั่งทาทอง            ค่อยย่องมานั่งข้างหลังนาง
เมื่อนั้น                พระสังข์ปรีดิ์เปรมเกษมศรี
เชยชมสมสวาทด้วยเทวี        ในที่กระท่อมทับลับแลง”
และตอนที่พรรณนาลักษณะของห้องหับภายในกระท่อม หรือเรือนเครื่องผูกอย่างถี่ถ้วน ก็คือตอนที่นางรจนาลักเอาหัวเงาะไปเผาไฟ มีความที่เป็นสาระสำคัญโดยลำดับต่อไปนี้
เมื่อนั้น                รจนานารีศรีใส
คิดจะลักรูปเงาะภูวไนย        นางมิได้สนิทนิทรา
เห็นพระหลับไหลไม่ไหวองค์        โฉมยงยินดีเป็นหนักหนา
ค่อยขยายยกหัตถ์ภัสดา        ขยับตัวออกมาเอาหมอนรอง
ฟากลั่นเกรียบเกรียบเหยียบย่าง    มืดไม่เห็นทางคลำล่อง
ลุกขึ้นลดเลี้ยวเที่ยวมอง        หาเงาะในห้องกระท่อมทับ
ครั้นเห็นหิ้วหัวมาครัวไฟ    ฉวยพร้าโต้ใหญ่เข้าเสี่ยงลับ
ฟันซ้ำร่ำไปมิได้นับ            รูปเงาะไม่ยับยิ่งขัดใจ”
โดยความที่คัดมาแสดงเป็นลำดับนี้จะเห็นได้ว่า บทละครเรื่องสังข์ทอง ได้บันทึกความรู้เรื่องเรือนเครื่องผูกไว้มิใช่น้อย
ยังมีบทละครในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่เรื่องหนึ่งที่ให้รายละเอียดปลีกย่อยเกี่ยวกับเรือนเครื่องผูกไว้เป็นอย่างดี คือ บทละครเรื่องระเด่นลันไดของพระมหามนตรี (ทรัพย์) มีความแสดงเครื่องประกอบเรือนเครื่องผูกโดยลำดับต่อไปนี้
ล่องแมว
“พอดึกดึกสักหน่อยนะน้องแก้ว    พี่จะรอด ล่องแมว ขึ้นไปหา”
“เห็นทีท้าวประดู่ผู้ผัว            จะนอนเฝ้าวัวอยู่ข้างล่าง
แต่โฉมศรีนิรมลอยู่บนปรางค์        กูจะขึ้นหานางทาง ล่องแมว”
“แล้วเอนองค์ลงเหนือเสื่อกระจุด    นอนนิ่งกลิ้งทูตอยู่ในห้อง
เสนาะเสียงสำเนียงพิราบร้อง        ครางกระหึ่มครึ้มก้องบนกบทู”
ฟาก
“ผลักมาผลักไปอยู่เป็นครู่         จะเข้าไปในประตูให้จงได้
กระทึบฟากโครมครามความแค้นใจ     อึกทึกทั่วไปในพารา”
บันไดเข็น
“เมื่อนั้น                    โฉมระเด่นลันไดใจหาญ
ครั้นพลบค่ำเข็นบันไดไว้นอกชาน        ยกเชิงกรานสุมไปใส่ฟืนตอง”
ตง
“ครั้นถึงจึงขึ้นบนตำหนัก         ตงหักกลัวจะตกงกเงิ่น
ค่อยพยุงจูงนางย่างดำเนิน             ชวนเชิญโฉมเฉลาเข้าที่นอนหลังคาพาไล
“อัศจรรย์ลั่นพิลึกกึกก้อง         ฟ้าร้องครั่นครื้นดังปืนใหญ่
เกิดพายุโยนยวบสวบสาบไป        หลังคาพาไลแทบเปิดเปิง
นอกชาน
‘‘ครั้นถึงจึงขึ้นบน นอกชาน        เห็นทวารบานปิดคิดสงสัย”
“เมื่อนั้น                    นางทวายยิ่งพิโรธโกรธขึ้ง
ยืนกระทืบ นอกชาน อยู่ตึง            หวงหึงด่าว่าท้าทาย”
ครัวไฟ
“ว่าพลางทางคว้าได้พร้าโต้        ดุด่าตาโตเท่ากำปั้น
ผลักประตู ครัวไฟ เข้าไปพลัน        นางประแตะยืนยันลั่นกลอนไว้”
สาระสำคัญของเรือนเครื่องผูกที่ปรากฏอยู่ในวรรณคดีไทยยังพอจะมีอยู่อีกบ้างในเรื่องอื่นๆ แต่ไม่สู้ชัดเจนเท่าที่ปรากฏในเรื่องดังกล่าวมานี้ จึงจะยุติเรือนเครื่องผูกในวรรณคดีไว้แต่เพียงนี้
ที่มาโดย:จุลทัศน์  พยาฆรานนท์ คณะมนุษยศาสตร์ วิทยาเขตกลาง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

คุณลักษณะของเรือนเครื่องผูก

เรือนเครื่องผูก6
เรือนทื่อยู่อาศัยประเภทเรือนเครื่องผูก ซึ่งเป็นเรือนที่อาศัย สำหรับคนส่วนใหญ่ ตามพื้นบ้านในชนบททั่วไปนั้น ถ้าหากจะไม่นำเอาคุณค่าทางด้านวัตถุและรูปแบบตลอดจน สิ่งตกแต่งที่มีสำหรับเรือนสมัยใหม่ๆ ในเมืองเข้าเปรียบเทียบแล้ว ก็อาจทำให้เกิดความรู้สึกสำนึกเห็นคุณลักษณะของเรือนประเภทนี้ได้ว่ามีคุณลักษณะอยู่หลายประการที่เหมาะสมแก่การเป็นเคหะสถานสำหรับคนจำนวนมากซึ่งอยู่ กระจายกันตามพื้นถิ่นในชนบท คุณลักษณะเด่นๆ ของเรือนเครื่องผูกที่ควรพิจารณามีโดยลำดับต่อไปนี้
คุณลักษณะในด้านวัสดุ
เรือนเครื่องผูกเป็นเรือนที่ได้ใช้วัสดุในพื้นถิ่นที่ใกล้เคียงกับผู้ซึ่งจะทำการปลูกเรือนอยู่ อาจหาวัสดุมาได้ง่ายและไม่เสียเวลาเตรียมการ และวิธีการปลูกเรือนก็ไม่มีกระบวนการยุ่งยากและกินเวลานาน ซึ่งการเช่นนี้จะพึงเห็นอุทาหรณ์ ทางความคิดได้จากบทละครรุ่นเก่าบางเรื่องของไทยเช่น เรื่องของไทยเช่นเรื่อง สังข์ทอง ก็ว่า
“คิดพลางทางสั่งเสนาใน         อีรจนากูไม่ขอเห็นหน้ามัน
จะใคร่ฆ่าเสียให้ตายก็อายเขา     จะว่าเรากลับคำทำหุนหัน
จะขับไล่ไปเสียด้วยกัน            ปลูกกระท่อมให้มันอยู่ปลายนา
บัดนั้น                    เสนีมี่ฉาวเรียกบ่าวไพร่
ต่างถือมีดพร้าแล้วคลาไคล             ตรงไปปลายนานอกธานี
ครั้นถึงจึงเที่ยวเกี่ยวแฝก         ตัดไม้ไผ่แบกมาอึงมี่
บ้างกล่อมเสาเกลาฟากมากมี         ปลูกกระท่อมลงที่ท้องนา”
หรือในเรื่องพระมณีพิชัย ตอนไปประพาสป่า ก็ว่า
“จึงสั่งพนักงานทหารใน         จงเร่งไปตัดไม้ในป่า
มาทำที่ประทับพลับพลา            อย่าช้าให้ทันในวันนี้
บัดนั้น                    เจ้ากรมทหารในชาญชัยศรี
คุมพวกเลขผาบรรดามี            เร็วรี่รีบไปมิทันนาน
ครั้นถึงป่าพงดงไม้             จึงให้จัดสันปันด้าน
บ้างตัดไม้ไสกบเป็นกระดาน         บ้างทำการกล่อมเสาเร้าเร่งกัน บ้างตัดไม้ไผ่แบกเกี่ยวแฝกคา         มาปลูกเป็นพลับพลา ขมีขมัน ครั้นพร้อมเสนามาทูลพลัน             ข้าจัดสรรค์สรรพเสร็จสำเร็จการ”
วัสดุที่ได้นำมาใช้ปลูกเรือนเครื่องผูกส่วนมากได้แก่ไม้ไผ่ชนิดต่างๆ หวาย จาก แฝก และหญ้าคา วัสดุจำพวกนี้ เป็นพืชและต้นไม้ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ มีคุณลักษณะเหมาะสมและมั่นคงทนพอสมควรแก่การนำมาใช้ทำเรือนอยู่ในภูมิภาคที่มีอากาศค่อนข้างร้อน มีความชื้นจัดหรือมีฝนชุก ทั้งนี้ก็โดยที่วัสดุดังกล่าวสามารถระบายความร้อนได้ง่าย เมื่อเกิดการเปียกชื้นก็อยู่ไม่นาน ความชื้นจะระเหยแห้งได้เร็ว
คุณลักษณะในด้านเศรษฐกิจ
ดังได้กล่าวแล้วว่า เรือนเครื่องผูกเป็นเรือนประเภทที่อาจหาวัสดุที่ใช้สำหรับทำเรือนได้ง่าย ได้เปล่า ในพื้นถิ่นใกล้ตัวผู้จะเป็นเจ้าของเรือน ฉะนั้นจึงเป็นการประหยัดในด้านทุนทรัพย์ที่จะต้องลงไปในการซื้อวัสดุมาทำเรือน การปลูกเรือนแต่ในสมัยก่อนก็ได้อาศัยออกปากขอแรงเพื่อนบ้านใกล้เคียงที่พอจะเข้าใจการทำเรือนมาช่วยกัน โดยมิต้องจ้าง วานจึงเป็นการประหยัดค่าจ้างแรงงาน นี่ก็เป็นธรรมเนียมอันเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของชนชาวบ้านแต่กาลก่อน
คุณลักษณะในด้านความเป็นอยู่
เรือนเครื่องผูกทั่วไปเป็นที่อยู่อันเหมาะสมแก่ชาวบ้านทั่วไปทั้งในชนบทและชานเมือง กล่าวคือ เรือนประเภทนี้เป็นเรือนที่ยกพื้นเรือนสูงขึ้นจากพื้นดินค่อนข้างสูงทำให้พ้นจากน้ำท่วมตามฤดูกาลและความชื้นจากไอดินในเวลาปกติ และการที่ยกพื้นเรือนสูงยังเป็นการเปิดช่องให้ลมพัดผ่านใต้ถุนเรือนได้ตลอดเวลา ช่วยขจัดความอับชื้นไปได้เป็นอย่างดี
เรือนเครื่องผูกแบ่งพื้นที่บนออกเป็น 3 ระดับด้วยกัน คือ พื้นในเรือนประธานเป็นพื้นที่มีระดับสูงกว่าพื้นเรือน ส่วนอื่นๆ ส่วนหนึ่งอาจกั้นเป็นห้องมิดชิดไว้ห้องหนึ่งสำหรับเก็บสิ่งของมีราคา และใช้เป็นที่หลับนอนสำหรับผู้เป็นเจ้าของเรือนหรือลูกหญิงที่ย่างเข้าวัยสาว พื้นที่หน้าห้องดังกล่าว จะสงวนไว้เฉพาะผู้ใหญ่ใช้พักผ่อนฝาด้านหนึ่งจะทำหิ้งตั้งพระพุทธรูป หรือหิ้งบูชาผีปู่ย่าตายายตามความเชื่อก็มี
พื้นเรือนตรงระเบียงด้านหนึ่งมักจะกั้นฝา 3 ด้านทำขึ้นเป็นห้องครัว เรียกว่าครัวไฟ ภายในห้องครัวด้านหนึ่ง ต้องทำกระบะแม่เตา ไฟ ใส่ดินอัดให้แน่นเพื่อรองรับเตาไฟ และฟืนไฟมิให้คุไหม้ลงถึงพื้นเรือน เหนือแม่เตาไฟแขวนแผงไม้ไผ่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสานเป็นตารางเรียกว่า “ข่า” ใช้สำหรับเก็บของแห้งและเสบียงต่างๆ ที่ต้องการไอไฟเพื่อมิให้เป็นราและขบวนส่วนอื่นๆ ก็ใช้เก็บหม้อไห ถ้วยชาม ตามแต่จะมี
พื้นระเบียงที่อยู่ต่อออกมาข้างหน้าห้องครัว ใช้เป็นที่ตั้งวงรับประทานอาหารนั่งเล่น รับรองแขกเหรื่อ ทำการฝีมือต่างๆ และเลี้ยงลูก พื้นระเบียงตรงนี้เป็นที่ควรสบายแห่งหนึ่งเพราะระดับพื้นต่ำลงมากว่าพื้นเรือนประธานประมาณศอกหนึ่ง จึงเกิดเป็นช่องว่างระหว่างพื้นเรือนและพื้นระเบียงขึ้นในที่ตรงนี้ เรียกว่า “ล่องแมว” ลมที่พัดผ่านข้างใต้ถุนเรือนจะรอดขึ้นมาทางล่องแมว ทำความเย็นแก่ผู้ที่นั่งพักอยู่บนพื้นระเบียงตลอดเวลา ช่วงว่างระหว่างพื้นที่ เรียกว่า ล่องแมวนี้ เพราะเหตุว่ามันอยู่ในระดับที่ไม่สูง แมวมักโดดขึ้นเรือนทางช่องนี้เพื่อเข้าไปค้นของกินในครัวได้สะดวก อย่าว่าแต่แมวแม้คนภายนอกจะลอบเข้าเรือนก็อาจอาศัยรอดล่องแมวขึ้นมาย่อมได้ ตัวอย่างเช่นนี้มีอยู่ในบท ละครเรื่องระเด่นลันไดว่า
“เห็นทีท้าวประดู่ผู้ผัว         จะนอนเฝ้าวัวอยู่ข้างล่าง
แต่โฉมศรีนิรมลอยู่บนปรางค์     กูจะขึ้นหานางทางล่องแมว
จึงกลิ้งครกที่ใต้ถุนเข้าหนุนตีน     พระโฉมฉายป่ายปีนอยู่แด่วแด่ว
อกใจไม้ครูดขูดเป็นแนว        จะเห็นรักบ้างแล้วฤาแก้วตา”
ถัดระเบียงออกมาเป็นพื้นชาน ซึ่งทำลดพื้นต่ำกว่าพื้นระเบียง ทั้งนี้ก็เพื่อกันมิให้น้ำฝนที่ตกลงบนชานไหลเข้าในพื้นระเบียง ลดพื้นชานต่ำกว่าพื้นระเบียงตรงนี้ก็เกิดช่วงว่างขึ้นเช่นเดียวกับ “ล่องแมว” เรียกว่า “ล่องแมวชาน” เป็นที่นั่งสบายบกพื้นระเบียงแล้วห้อยขาลงบนพื้นชานหน้าเรือนเป็นที่โล่งใช้สำหรับตั้งโอ่งใส่น้ำกินน้ำใช้บนเรือน ใช้ตากของ ปลูกต้นไม้ไว้ชมเล่น เป็นที่เด็กเล็กๆ นั่งเล่นตอนเย็นๆ และใช้ประโยชน์เอนกประสงค์
ส่วนพื้นที่ใต้ถุนเรือนมักใช้เก็บเครื่องมือทำการเกษตร เก็บพืชผลต่างๆ บางเรือนตั้งครกกระเดื่องถีบด้วยเท้าสำหรับตำข้าวก็มี
เรือนเครื่องผูกหลังหนึ่งๆ เป็นเคหะสถานที่พอเหมาะ แก่ครอบครัวขนาดย่อมๆ มีพื้นที่พร้อมแก่ความต้องการ เพื่อดำรงชีวิตอย่างง่ายๆ ไม่เป็นพิธีรีตอง ขนาดและพื้นต่างระดับ เป็นเงื่อนไขให้เกิดท่วงท่าและความเป็นอยู่ที่มีระเบียบ รู้กำหนดขอบเขตที่ควรรู้จักที่จะใช้พื้นที่ในเรือนในแต่ละโอกาสอันสมควร และใช้เรือนเป็นที่อาศัยได้อย่างปกติสุขตามอัตภาพ
คุณลักษณะในด้านจิตใจ
เรือนเครื่องผูกเป็นเรือนที่มีคุณลักษณะเด่น อาจแสดงให้เห็นสภาพจิตใจของคนผู้เป็นเจ้าของเรือนและผู้ที่ร่วมอาศัยอยู่ภายใต้หลังคาเรือนประเภทนี้ได้เป็นอย่างดี
คุณลักษณะของเรือนเครื่องผูกประการแรก แสดงให้เห็นสติปัญญาและความสามารถพากเพียรของคนระดับพื้นบ้าน ที่จะนำเอาผลิตผลทางธรรมชาติที่แวดล้อมอยู่ใกล้ตัวมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่การดำรงชีวิตในรูปวัตถุประเภทที่อยู่อาศัย อันเป็นวัตถุปัจจัยพื้นฐานที่มีความสำคัญแก่การดำรงชีวิตได้อย่างดียิ่ง
คุณลักษณะของเรือนเครื่องผูก แสดงให้เห็นพื้นฐานทางจิตใจของคนส่วนใหญ่ ผู้เป็นเจ้าของเรือนประเภทนี้ได้ว่าเป็นผู้ที่มีจิตใจใฝ่ในทางมักน้อย รู้จักพอใจและยินดีเฉพาะในสิ่งที่มีอยู่ คนส่วนมากในชนบทไม่สู้จะมีความรู้สึกนึกเห็นความสำคัญในความต่างกันของเรือนหอที่ตนอาศัยอยู่กับเรือนของบุคคลอื่น หรือมีความรู้สึกขวยเขินเมื่อคนต่างถิ่นขึ้นไปเยือนเหย้าเรือนของเขา
คุณลักษณะของเรือนเครื่องผูกแสดงให้เห็นความเป็นอยู่ของคนในพื้นถิ่นเป็นไปอย่างเรียบง่าย ตรงไปตรงมา บริสุทธิ์และเปิดเผย ดังจะเห็นได้จากลักษณะของรูปทรงเรือน ซึ่งมีพื้นที่ส่วนใหญ่เปิดโล่งมากกว่าพื้นที่ซึ่งได้รับการปิดกั้นกำบัง เรือนเครื่องผูกทั่วไปนั้นพอก้าาวพ้นหัวบันไดเรือนก็มองเห็นทุกซอกทุกมุมได้หมด ไม่มีความลับหรือการซ่อน เร้นแฝงอยู่ ดังนั้นคนที่อยู่ในที่เช่นนี้ ย่อมเป็นผู้ที่มีจิตใจเปิดเผย บริสุทธิ์ ตรงไปตรงมาเสียเป็นส่วนมาก
คุณลักษณะของเรือนเครื่องผูก เป็นสิ่งผูกมัดให้คนที่อาศัยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากกว่าเรือนที่สร้างขึ้นด้วยวัสดุสังเคราะห์ต่างๆ วัสดุที่เป็นผลิตผลทางธรรมชาติ ซึ่งได้นำเอามาประกอบร่วมกันขึ้นเป็นเรือนห้อมล้อมชีวิตของผู้อยู่ในเรือนนั้น แต่ละวันๆ ย่อมมีอิทธิพลต่อจิตใจบ่มความรู้สึกให้พอใจต่อธรรมชาติ และมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติด้วยความสุขสบายอย่างแท้จริง
คุณลักษณะในด้านศิลปกรรม
เรือนเครื่องผูกเป็นผลงานด้านสถาปัตยกรรมประเภทที่อยู่อาศัยประเภทหนึ่งสำหรับชาวบ้านซึ่งเป็นพลเมืองส่วนมากของประเทศ เรือนประเภทนี้มีคุณลักษณะที่แสดงออกให้เห็นวาระสำคัญทางด้านศิลปกรรมในตัวของมันเองได้มากพอสมควร ถึงแม้ว่าจะไม่อาจนำไปเปรียบเทียบได้กับเรือนชนิดเครื่องสับหรือเรือนฝากระดานก็ตาม เรือนประเภทเครื่องผูกก็อาจแสดงคุณลักษณะเด่นทางศิลปกรรมให้เห็นได้ ดังต่อไปนี้
เรือนเครื่องผูกแสดงออกถึงความเรียบง่ายในการจัดวางผังและ ตำแหน่งของพื้นที่ภายในตัวเรือนมีความสัมพันธ์เป็นเอกภาพอย่างดี
รูปทรงของเรือนเครื่องผูกมีขนาดและส่วนสัดสัมพันธ์กับขนาดของคนที่ได้อาศัยอยู่ในเรือน เป็นผลดีต่อการดำรงชีวิตและความเป็นอยู่
เรือนเครื่องผูก ปลูกขึ้นด้วยวัสดุที่เป็นผลิตผลจากธรรมชาติที่มีทั้งสีและผิวเมื่อภายหลังได้แห้งตัวลง จะมีวรรณะของสีและผิวใกล้เคียงกัน ทำให้เกิดความกลมกลืน และสวยงามเรียบๆ อยู่ในตัวเรือนทั้งหลัง
การปลูกเรือนเครื่องผูก โดยจัดให้พื้นเรือน มีระดับลดหลั่นกัน ทำให้เกิดความมีเสน่ห์ในด้านรูปทรง ช่วยทำให้เกิดความรู้สึกเคลื่อนไหว และทำให้คนที่อาศัยอยู่ในบ้านได้มีโอกาสเปลี่ยนตำแหน่งที่นั่งนอนได้ในระดับต่างๆ โดยไม่ต้องทนอยู่กับความจำเจในบ้านที่มีพื้นเรือนระดับราบเสมอกันทั้งเรือน
ทรวดทรงของหลังคาเรือน ทางด้านหัวเรือน มีการเน้นความสำคัญตรงไม้ปั้นลม ซึ่งทำปลายก่ายไขว้กัน เมื่อแลดูแล้วจะรู้สึกถึงความมั่นคง จริงจัง ส่วนหลังคาพาไล คลุมส่วนระเบียงก็จะลาดเทน้อยๆ ลงมาสู่ช่วงว่างของชาน เป็นการช่วยผ่อนความลาดชันของหลังคาเรือนมิให้ดูราวกับว่าจะพุ่งตกลงมาแรง
ฝาเรือนเครื่องผูกที่ได้ประกอบขึ้นแต่ละแบบๆ เช่น ฝาขัดแตะ ฝาสอด ฝาระแชง ฯลฯ ล้วนแต่แสดงออกให้เห็นความงามที่เกิดจากการจัดลำดับขนาดของวัสดุ การวางจังหวะช่องไฟ การจัดสีและผิว และความสมดุลย์ในองค์ประกอบของฝา ล้วนแต่เป็นผลในด้านความสวยงามมีอยู่พร้อม
เรือนเครื่องผูกมีสีสันส่วนรวมของตัวเรือน เป็นสีที่มีความกลมกลืนกับธรรมชาติอันเป็นสิ่งแวดล้อมในพื้นบ้าน จึงเป็นผลต่อจิตใจของคนที่อาศัยอยู่โน้มไปในความสงบเยือกเย็น ไม่วุ่นวาย
เรือนเครื่องผูกเป็นเรือนที่จำกัดขอบเขตด้วยตัวของมันเองที่จะไม่ยอมรับการนำวัสดุแปรสภาพหรือวัสดุสังเคราะห์ที่ได้ทำเป็นสิ่งตกแต่งต่างๆ เข้าไปเพิ่มความสวยงามภายในเรือน ซึ่งจะทำให้เกิดการขัดแย้งกันอย่างรุนแรง กับสภาพองค์ประกอบของเรือนที่เป็นวัสดุ ซึ่งเป็นผลิตผลจากธรรมชาติแท้ ดังนี้เรือนเครื่องผูกจึงเป็นเรือนที่มีความงาม สมบูรณ์อยู่ภายในตัวของมันเองโดยธรรมชาติ
เรือนเครื่องผูกเป็นงานศิลปพื้นบ้านที่ชนชาวบ้านสร้างขึ้นเพื่อสนองความต้องการที่อยู่อาศัย ให้เป็นที่สะดวกสบายแก่ความเป็นอยู่ และจัดให้มีศิลปะลักษณะในส่วนประกอบต่างๆ ของเรือนเพื่อได้ทางด้านจิตใจที่เป็นสุข ดังนี้ เรือนเครื่องผูกจึงเป็นงานศิลปพื้นบ้านประเภทสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นประเภทหนึ่ง
เรือนเครื่องผูก แม้ว่าจะเป็นเรือนที่ได้รับการปลูกสร้างขึ้นด้วย วัสดุที่มีความคงทนถาวรอยู่ได้นานๆ ถึง ๑๐๐ ปีดังเช่นเรือนไม้ฝากระดานบางหลัง ซึ่งสร้างขึ้นด้วยวัสดุที่มีความคงทนกว่า แต่กระนั้นก็ดี เรือนเครื่องผูก ก็มิได้เสื่อมสูญไปจากความนิยมในหมู่ชนชาวบ้านดังเช่นที่เป็นไปกับเรือนเครื่องสับ และโดยความจริงแท้ เรือนเครื่องผูกเป็นเรือนดั้งเดิม เกิดมีขึ้นมาก่อนเรือนเครื่องสับนานนักหนา ต่อมาภายหลังผู้คนมั่งคั่งขึ้นจึงเปลี่ยนมาปลูกเป็นเรือนฝากระดาน ดังนี้เรือนเครื่องผูกจึงเป็นเรือนดั้งเดิม และเป็นต้นเหตุที่มาแห่งเรือนเครื่องสับและยังเป็นมรดกทางด้านศิลปกรรมอีกด้วย
ที่มาโดย:จุลทัศน์  พยาฆรานนท์ คณะมนุษยศาสตร์ วิทยาเขตกลาง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

คติความเชื่อเกี่ยวกับการปลูกเรือนเครื่องผูก

เรือนเครื่องผูก5
คนไทยส่วนมาก แม้จะได้รับนับถือศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานานแล้วก็ดี แต่คติความเชื่อเกี่ยวกับผีสาง โฉลก และโชคเคราะห์ต่างๆ อันเป็นสิ่งที่นับถือกันอยู่ก่อนจะได้รับเอาพระพุทธศาสนาและเข้ารีดเป็นพุทธศาสนิก ก็ได้รับความนับถือควบคู่กันมาโดยลำดับ เกือบจะกล่าวได้ว่าความเชื่อส่วนใหญ่ยังมีอยู่เสมอด้วยความนับถือในหมู่คนแต่อดีตเทียว
คติความเชื่อเกี่ยวกับผีสาง โฉลก และโชคเคราะห์ต่างๆ ล้วนแต่มีอิทธิพลแทรกอยู่กับการดำรงและดำเนินชีวิตของชาวไทยในทุกกรณีก็ว่าได้ ตัวอย่างเช่นนี้มีปรากฏจัดไว้ในสมุดไทยซึ่งพบในพื้นบ้านแห่งหนึ่ง ดังได้คัดบางตอนมาแสดงในที่นี้ว่า
“เมื่อจะทำการมงคลทั้งปวง จะยาตรามีที่ไปก็ดี เมื่อเดือนขึ้นค่ำ ๑ พระพุฒตกได้ในมหาเศรษฐี พระพฤหัศบดี เสด็จอยู่ในอากาศ ให้ฤกษ์อุดม เทพจรอยู่หัวใจ พระนารายณ์เสด็จมาให้ฤกษ์ เร่งทำมงคลการทุกอัน ท้าวพญาจะให้ลาภ ยาตราไปหนบกจะเสียสิ่งสิน ยาตราไปหนเรือจะได้ลาภ ผิแลกล่าวเมียอยู่ด้วยกันดี ไถ่ข้าซื้อ ควายวัว ตัดผม นุ่งผ้าใหม่ดี จะมีคนดำแดงตาเหลืองจะให้ลาภ เจรจาถ้อยความไปสู่ขุนนางมิดี จะเสียสัตย์”
ความที่คัดมานี้เป็นเพียงตอนสั้นๆ ว่าถึงโชคเคราะห์ เพียงในวันเดียวของปีเท่านั้น ยังมีความเชื่อเข้าไปผูกพันกับการดำเนินชีวิตหลายกรณีด้วยกัน คนไทยในปัจจุบันก็เถอะ จะว่าไม่ถือคติเกี่ยวกับโฉลกโชคเคราะห์กันหรือกระไร แต่จะมีคนกี่มากน้อยพอใจจะ “เผาผีวันศุกร์ ตัดจุกวันอังคาร แต่งงานวันพุธ” หรือชอบที่จะ “ตัดผมวันพุธ” ที่คนส่วนมากไม่ทำการในวันดังกล่าว ย่อมแสดงให้เห็นว่าคติความเชื่อต่างๆ อันเกี่ยวกับผีสาง โฉลก และโชคเคราะห์ ยังเป็นสิ่งที่คนไทยยอมรับนับถืออยู่เป็นปกติ
การปลูกเรือนเครื่องผูกขึ้นเป็นที่อยู่อาศัย เป็นที่ควรอาศัยอยู่ด้วยความปลอดภัย มั่นใจ และเป็นปกติสุข ย่อมจะต้องได้รับการเอาใจใส่ ไม่จำเพาะแต่ด้านความมั่นคง แข็งแรง และมีพื้นที่ภายในเรือนพอเหมาะ สะดวกสบายแก่ความเป็นอยู่เท่านั้น แต่ยังต้องการในด้านขวัญและสบายใจอีกด้วย ดังนี้คติความเชื่อเกี่ยวกับโฉลกโชคเคราะห์ต่างๆ จึงเข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องกับการปลูกเรือน เพื่อบำรุงขวัญ และสนับสนุนจิตใจให้เจริญขึ้นด้วย
คติความเชื่อเกี่ยวกับการปลูกเรือนเครื่องผูกที่จะได้นำมาแสดงและพรรณนาต่อไปโดยลำดับนี้ คติบางอย่างเป็นความเชื่อที่มีเหตุผล และอธิบายให้เห็นสาระสำคัญในความเชื่อนั้นๆ ได้ แต่คติความเชื่อบางประการไม่อาจสามารถอธิบายให้เห็นต้นสายปลายเหตุได้นั้นก็มิได้หมายความว่า คติความเชื่อนั้นขาดเหตุผลหรือไร้สาระไปเสียสิ้น การทั้งนี้อาจเป็นด้วยเหตุว่าคติความเชื่อนั้นเก่าเกินกาลที่จะมีผู้ใดทรงจำต้นเหตุที่มาไว้ได้ประการหนึ่ง หรือหากจะเป็นคติความเชื่อที่อยู่ใกล้ๆ ตัวเราก็ดี แต่ภูมิปัญญายังไม่แก่กล้าพอที่จะตีความอันเป็นความเชื่อนั้นๆ ออกตรงตามเหตุผลต้นปลายได้ ก็มักจะด่วนลงความเห็นเสียก่อนว่าเป็นเรื่องไร้สาระอีกประการหนึ่งย่อมได้
คติความเชื่อเกี่ยวกับเรือนและการปลูกเรือนเครื่องผูก ซึ่งเป็นไปตามความเชื่อ และได้รับความนับถือในหมู่คนไทย ในพื้นบ้านแต่ก่อน เท่าที่พอจะรวบรวมไว้ได้มีโดยลำดับต่อไปนี้
โฉลกเดือนสำหรับปลูกเรือน
การปลูกเรือนที่อยู่อาศัยให้เป็นเคหะสถานที่อยู่ดีมีสุขนี้ ท่านแต่ก่อนได้แสดงอุปเท่ห์ของโฉลกไว้ดังนี้
“ผิแลปลูกเรือน ในเดือน ๕ ทุกข์เท่าฟ้าจะถึงตน เรือนนั้นบ่เป็นผล จะเกิดอุบาทว์จัญไร
เดือน ๖ เงินทองตกอยู่นา แก้วแหวนทั้งทุนทรัพย์ ก็เนืองนอง
เดือน ๗ โจรร้าย เอาเท็จมาทั้งผอง สิ่งสินคนจักปอง ทั้งทุนทรัพย์จักประลัย
เดือน ๘ โจรร้าย ระวังระไว สิ่งสินสักเท่าใด ก็มิอาจคงอยู่นาน
เดือน ๙ ยศศักดิ์เท่าเจ้า  จำนงสิ่งสินมั่นคง ก็สวั่สดิพูนมา
เดือน ๑๐    จักไร้ทรัพย์นา ก็โรคาพยาธิจะเบียนตน
เดือน ๑๑    เขาจะเอาเท็จมาแปดปน เรือนนั้นมิเป็นผล เกิดพยาธิอยู่โดยหมาย
เดือน ๑๒    เงินทองอยู่เหลือหลาย ช้างม้า วัวควาย มีทั้งทาสทาสี
เดือน ๑    อยู่ก็กลายเป็นสุขดี สิ่งสินจะมากมี เพราะเดือนนั้นให้ผล
เดือน ๒    คิดจงดีให้ชอบกล เดชะกุศล อาจจะกันทั้งศัตรู
เดือน ๓    ไฟไหม้ลามวู พี่น้องเป็นศัตรู อยู่มิดีจะผิดกัน
เดือน ๔    ทุกข์ภัยและแสนโศกก็กลับบันเทาหาย เพราะว่าเดือนนั้นสิให้ผลโฉลกปลูกเรือนทั้ง ๑๒ เดือนแล้ว”
ความเชื่อในการเลือกที่ดินสำหรับปลูกเรือน
เมื่อจะปลูกเรือนลงตรงที่ใด ก็มีอุปเท่ห์ในการเลือกพื้นที่เป็นมงคลควรอยู่หรือไม่ควรอยู่ดังนี้
“สิทธิการิยะ ถ้าจะปลูกเรือนแต่งตั้งบ้าน ท่านให้เอาข้าวสุกมาปั้นเป็นรูปช้างใส่กระทง ๑ รูปวัวกระทง ๑ รูปสิงห์กระทง ๑ ไปวางไว้กลางแจ้งให้กากิน ถ้ากากินรูปช้าง อยู่ที่อันนั้นท่านจะทำร้ายมิดี ถ้ากากินรูปวัว จะมีลาภดี ถ้ากากินรูปสิงห์ จะตายอย่าอยู่เลย
ความเชื่อเช่นนี้มีอีกตำราหนึ่งว่าต่างกันออกไปว่า
“ถ้าจะปลูกเรือน ให้ข้าวแก่กา ๓ กระทง กระทง ๑ ใส่ข้าวตาก กระทง ๑ ใส่ข้าวแดง กระทง ๑ ใส่ข้าวขาว ถ้ากากินข้าวตากอย่าอยู่มิดี ถ้ากากินขาวแดงทราม ถ้ากากินข้าวขาวดี มีสวัสดีนักหนาแล”
ความเชื่อเกี่ยวกับรูปพื้นที่ที่จะปลูกเรือน
พื้นที่ดินที่จะปลูกเรือนขึ้นเป็นที่อยู่นี้ ต้องเลือกสรรรูปร่างของพื้นที่ให้ต้องลักษณะอันเป็นมงคลด้วยจึงจะอยู่เป็นสุข ท่านแต่ก่อนได้แสดงแผนที่พื้นดินที่จะทำการและไม่ควรทำการปลูกเรือนไว้เป็นลำดับ คือ
พื้นที่รูปวงกลมสัณฐานดั่งหน้าแว่นอยู่สวัสดี มีชัย ชนะศัตรู ดีแล
พื้นที่ใดรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ท่านว่าอยู่ดีนักแล
พื้นที่ใดรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ดีนักแล อยู่เป็นสุขมาก
พื้นที่รูปสี่เหลี่ยมคางหมู นี้ดี อยู่จะได้แก้ว แหวน เงินทอง
พื้นที่รูปทรงกระโถน อยู่เป็นทุกข์หนัก
พื้นที่เป็นรูปตะโพน อยู่เป็นทุกข์มากรังแต่จะเข้าทุน
พื้นที่เป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ท่านว่าอยู่เป็นทุกข์ เป็นที่อยู่ของคนพาล
พื้นที่รูปสามเหลี่ยมชายธง เป็นที่มีตะบะ เดชะมาก
พื้นที่รูปขั้นกระได ๒ ขั้น ท่านว่าอยู่เป็นสุขสบายมาก
พื้นที่เป็นรูปกระได ๓ ขั้น ท่านว่าทุกข์กับสุขเท่ากันอย่าอยู่เลย
พื้นที่เป็นรูปขวด ท่านอยู่สุขมากดี
พื้นที่เป็นรูปปืน ท่านว่าเป็นทุกข์มิรู้วาย
พื้นที่เป็นรูปดั่งกังสดาล ท่านว่าอยู่ไปจะได้เป็นใหญ่ เร่งอยู่เถิด
พื้นที่เป็นรูปดั่งเรือชะล่า ท่านว่าน้ำตาตกมิรู้วาย
พื้นที่เป็นรูปดั่งปลา ท่านว่ามิดี
พื้นที่เป็นรูปดั่งสำเภา ท่านว่าอยู่เป็นสุขดี
พื้นที่เป็นรูปดั่งเมล็ดข้าวสารหัก มิดี
พื้นที่เป็นรูปดวงจันทร์ครึ่งดวง อยู่เป็นสุขดี
พื้นที่รูปดั่งปีกนก    ท่านว่าอยู่ไปเข็ญใจนัก
พื้นที่รูปดั่งฝ่ามือ    ท่านว่าพลันตายอย่าอยู่เลย มิดีเลย
พื้นที่รูปดั่งหวีสับ    ท่านว่ามีสุขมากดีอยู่เถิด
ความเชื่อเกี่ยวกับการวางตำแหน่งเรือนให้ต้องโฉลก
เกี่ยวกับการจัดวางตำแหน่งเรือนให้เหมาะสมกับพื้นที่บ้านให้เป็นที่ต้องโฉลก ทำให้เกิดโชคลาภและอยู่ดีมีสุขนั้น ท่านแต่ก่อนจัดไว้เป็นตำราว่า
“สิทธิการิยา ถ้าบุคคลใดจะปลูกเรือนให้ปักหลัก ๔ มุม แล้วจึงเอาเชือกชักให้เป็นตารางให้ได้ ๑๖ เตา จึงพิจารณาดูแผนที่นั้นเถอด ดูได้ที่ใดดีจึงปลูก ถ้าแลที่อันนั้นคับแคบแลจะปะที่ร้าย ให้บ่ายผันดู แม้นจะได้ที่ร้ายนั้นบ้าง ที่ดีบ้างก็มิเป็นได้ แต่อย่าให้ถูกสะดือนั้นร้ายนักแลสะดือเรือนนั้นอย่าให้ถูกกัน แต่ ๒ ศอก ๓ ศอก ขึ้นไปเถอค แลให้ทำประตูที่ดีนั้น ให้ปลูกต้นไม้ตามทิศนั้น
ถ้าแลทิศนั้นพึงจะตั้งบ้านใหม่ แลให้ชักเชือกเป็นดั่งก่อนนั้นแล้ว จึงนิมนต์พระสงฆ์ ๕ รูป ถ้ามากนี้ยิ่งดี ให้สวดเจริญพระปริท ให้อาราธนาพระเจ้า (หมายถึง พระพึทธปฏิมา) ๓ องค์ คือ พระนาคปรกองค์หนึ่ง อยู่เหนือ พระห้ามสมุทรองค์หนึ่งอยู่ใต้ พระเจ้าสมาธิ อยู่กลางองค์หนึ่ง บูชาด้วยเครื่องบูชาแล้วจึงสวดเจ็ดตำนานทิพยมนต์ มหาสมัยแลธรรมจักร ให้รดน้ำที่ (ดิน) ๓ วัน ครั้นฤกษ์ดียามดี จึงตั้งกระทู้ รั้ว เถอด อายึ วรรโณ สุขัง พลัง อยู่ในฐานที่เป็นสุขสำราญ หาภัยอันตรายมิได้เลยทีเดียวแล”
ความเชื่อเกี่ยวกับการกองไม้ไว้สำหรับปลูกเรือน
การปลูกเรือนแต่ละหลังๆ ต้องตระเตรียมไม้ไร่ไว้ให้พอแก่การ เมื่อหาไม้มาได้เท่าใดๆ ก็จะต้องมากองรวมกันเข้าไว้ เพื่อจัดการปรุงเป็นตัวไม้สำหรับทำเรือนต่อไป การกองไม้ก็ต้องดูให้ต้องด้วยโฉลกที่ควรและไม่ควร ท่านแต่โบราณแนะนำว่า
“ท่านให้ดูกองไม้ไว้ เดือน ๗ ๘ ๙ กองไม้ไว้ทักษิณ จึงดี เดือน ๑๐ ๑๑ ๑๒ กองไม้ไว้หนบูรพา จึงดี เดือน ๑ ๒ ๓ กองไม้ไว้หนประจิม จึงดี เดือน ๔ ๕ ๖ กองไม้ไว้หนอึดร จึงดี”
ความเชื่อเกี่ยวกับการขุดหลุมฝังเสาเรือน
เมื่อลงมือปลูกเรือนต้องขุดหลุมเพื่อปักเสาก่อนการทำสิ่งอื่น การขุดหลุมย่อมได้ดินขึ้นมา ท่านให้สังเกตสิ่งที่ติดกับขี้ดินนั้นด้วยว่ามีอะไร และควรพยากรณ์ดีร้ายอย่างไร นี้ก็เป็นความเชื่ออย่างหนึ่ง มีตำราเขียนไว้ดังนี้
“ถ้าแลขุดหลุมปลูกเรือน ขุดเสาแรก ถ้าแลได้ หินแลง เอาอ้อยใส่ที่หลุมนั้น เจ้าเรือนจะเป็นดี มีโภคทรัพย์
ถ้าได้ตอ หลัก เจ้าเรือนจะเก้ดพยาธิ ไข้เจ็บเดือดร้อนใจนัก
ถ้าได้ถ่านไฟ ปูน กระเบื้อง ให้เอาน้ำมันงา แก้วแหวน ใส่ในหลุมนั้น จึงจะดี เจ้าเรือนบ่มิร้อนใจเลย
ถ้าแลได้เหล็ก เจ้าเรือนจะตาย ให้บูชาเคราะห์เสียก่อนจึงอยู่ดีแล
ถ้าได้เหล็กมีด พร้า ท้าวพญารักแล
ถ้าได้ทองแดง เร่งให้ประหยัด ไฟจะไหม้บ้านแล มูลนาย เจ้าเรือนประหยัดเถอด
ถ้าได้งู เจ้าเรือนจะได้ข้าคน ช้างม้า วัวควาย มากหลาย
ถ้าได้กรวดทราย เจ้าเรือนนั้นจะได้เงินทอง แก้วแหวนมาแล
ถ้าได้เงินก็ดี อิฐก็ดี จะอยู่ดีกินดี จะเกิดสมบัติมาก
ถ้าได้ตะกั่ว จะได้ข้าคนมาก
ถ้าได้ไม้ จะเกิดความแล
ความเชื่อเกี่ยวกับเสาเรือน
เสาเรือนแต่ละต้นๆ คนแต่ก่อนเชื่อว่ามีนางไม้หรือภูติพราย รักษา ประจำอยู่ในไม้นั้น ดั่งมีความกล่าวตามคำทำขวัญของเก่าตอนหนึ่งว่า
“ย่อมไปตัดไม้ ป่าใต้ฝ่ายเหนือ นางไม้หลายเหลือ เลือกตรงตัดเอา’’
แม้เสาเรือนเครื่องผูกจะทำด้วยลำไม้ไผ่ก็ดี แต่คนโบราณก็ยังมีความเชื่อกันอยู่ว่ามีนางไม้ หรือรุกขเทวดา ประจำรักษาไม้นั้นอยู่ ความเชื่อในเรื่องเช่นนี้โปรคดูได้จาก บทละครเรื่องมณีพิไชย ตอนพระมณีพิไชยไปพบต้นไผ่ที่นางยอพระกลิ่นอาศัยอยู่ มีความว่า
‘‘บัดนั้น พหลพลพฤนท์สิ้นทั้งหมู่ ฉวยมีดพร้าพากันเกลียวกรู พรั่งพรูตัดไม้ไผ่เป็นควัน โค่นลงทั้งกอซอเล็กน้อย ยับย่อยดื่นดาษขาดสะบั้น แต่ไม้ไผ่ใหญ่ล้ำลำสำคัญ จะสับฟันอย่างไรไม่ไหวเลย บ้างเอาขวานฟันฟาดฉาดเปล่า ไม่ยักเข้าเหนียวหนออีพ่อเอ๋ย ช่างแข็งเป็นเหล็กไหลกระไรเลย ยังไม่เคยพบเห็นไม้เช่นนี้ พวกโยธาพากันฟันจนหอบ ต่างเหน็ดเหนึ่อยเมื่อยหมอบอยู่กับที่ บ้างมีดยู่บู้บิ่นสิ้นเหล็กดี พวกโยธีต่างอัศจรรย์ใจ บ้างก็ว่าน่าจะมีผีสาง เป็นนางไม้พฤกษาเขาอาศัย จึงหอมหวลอวลอบอยู่ข้างใน บ้างว่าไม้รุกขเทวดา”
อาศัยเหตุแห่งความเชื่ออันเป็นปรัมปราคติดั่งนี้ จึงเมื่อจะยกเสาเรือนขึ้นใส่หลุมต้องมีการรับมิ่งชิงขวัญเสาดูให้ต้องโฉลกกับปีเกิดของเจ้าของเรือนจึงจะเป็นสวัสดิมงคลแก่เจ้าเรือนและบริวารในเรือนนั้น การรับมิ่งชิงขวัญเสาที่มีมาในตำราของเก่าว่าดังนี้
“สิทธิการิยะ เจ้าเรือนปีชวด ให้เอากิ่งราชพฤกษ์มา ๓ กิ่ง มือหนึ่งถือทอง มือหนึ่งถือใบราชพฤกษ์ ปัดหลุมแลเสาแรก เจ้าเรือนนั้นถือเสาแล้วจึงยกเสานั้นแล
เจ้าเรือนปีฉลู เมื่อแรกจะยกเสา ให้เอาดินจอมปลวกใส่ในหลุม เอาใบมะตูม ใบราชพฤกษ์ ใบรัก ใบกลอยผูกปลายเสาเอาใบหนาดกวาดปากหลุม จึงยกเสาเถอด
เจ้าเรือนปีขาล ให้เอาข้าว ๕ กระทงตั้งรอบหลุม เอาเทียนเล่ม ๑ ตามเอาน้ำ ๓ ขันรดเสา เอาผ้าปัดต้นเสา แล้วจึงยกแล
เจ้าเรือนปีเถาะ เอาใบตะเคียน ใบเสียงภมร ใบยอ ใบกล้วยผูกปลายเสา เอาผ้าพัน ๓ รอบแล้ว จึงยกเสาแล
เจ้าเรือนปีมะโรง ให้เอามะกรูด สน กำยานเผารมต้นเสา บัตรข้าวกระทง ๑ ธูปเทียนบูชาแล้วยกเสาเถอค
เจ้าเรือนปีมะเส็ง ให้เอาใบรัก ใบยอ ใบทองหลาง ใบไผ่ผูกปลายเสา ข้าว ๓ กระทง เทียน ๓ เล่มบูชา จึงยกเสาเถอด
เจ้าเรือนบมะเมีย เอาใบชุมเห็ดกวาดปลายเสา จนถึงตีนเสา เอาน้ำรดแล้ว เอาใบขี้เหล็ก ใบมะยมใส่ตีนเสา เอาธูปเทียนบูชา ให้ได้ยินเสียงไก่ขันแล้วจึงยกเสาเถอด
เจ้าของเรือนปีมะแม เอาใบหมากผู้ ๓ใบ ใบหมาก ๓ ใบ ห่อพันเสาเมื่อยกเสาจึงแก้เอามาใส่ในหลุมแล้วเอากระแจะเจิมต้นเสา จึงยกเถอด
เจ้าเรือนปีวอก เอาเทียน ๓ เล่มผูกเสา เจ้าเรือนถือต้นเสา จึงยกเสาเถอด
เจ้าเรือนปีระกา เอาผ้าขาวลาดตีนเสา เอาข้าวกระทง ๑ ธูปเทียนบูชาเอาศาสตราวึธ ผ้าใหม่ชุบกระแจะเจิมต้นเสา แล้วจึงยกเสาเถอด
เจ้าเรือนปีจอ เอากระออมมาลูกหนึ่ง เอาใบบัวหุ้ม แล้วตั้งตีนเสา เอาด้ายเกี่ยวต้นเสา เอาใบหนาดกวาดแต่ปลายเสา แล้วจึงยกเสาเถอด
เจ้าเรือนปีกึน เอาใบทองหลาง ใบราชพฤกษ์ กล้วยค้น ๑ ผูกปลายเสา ข้าว ๕ กระทงเรียงรอบปากหลุม ธูปเทียนบูชา แล้วจึงยกเทอด
ความเชื่อเกี่ยวกับการยกเสาแรกเรือนเครื่องผูก
เมื่อจะยกเสาเรือนเสาแรกของเรือนเครื่องผูกนี้ คนแต่ก่อนท่านถือว่าเป็นการสำคัญมาก เพราะเป็นการเริ่มลงหลักปักฐานของชีวิตและครอบครัว จึงจะต้องประกอบการ ให้เป็นสิริมงคล เป็นกำลังแห่งน้ำใจอย่างสำคัญสำหรับผู้เป็นเจ้าของเรือนและคนในครอบครัว ดังนี้คนแต่ก่อนท่านจึงได้รวบรวมเอาข้อสังเกตซึ่งได้จากประสบการณ์ นำมา เขียนขึ้นเป็นตำราชี้แนะการอันควร มิควรอย่างไร เกี่ยวกับการยกเสา แรกของเรือนเครื่องผูก มีเนื้อความดังต่อไปนี้
“ถ้าจะยกเสาแรก เดือน ๔ ๕ ๖ ให้ยกทักษิณ แลอาคเนย์ก่อน จะมีลาภอันดีแล
ถ้าเดือน ๗ ๘ ๙ สามเดือนนี้ ให้ยกเสาข้างหรดีก่อน
ถ้าเดือน ๑๐ ๑๑ ๑๒ ในสามเดือนนี้ ให้ยกเสาแรกข้างทิศพายัพก่อนดีแล
ถ้าเดือน ๑ ๒ ๓ ให้ยกเสาแรก ข้างอีสานก่อนอยู่ดีกินดี จะมีทั้งช้างม้า วัว ควายมากแล”
เมื่อยกเสาแรกตั้งขึ้นแล้ว จะต้องระมัดระวังมิให้เสาที่ยกตั้งตีนเสาลงในหลุม มีอันเป็นคือ เอน ชาย บ่าย หรือล้ม ลงไปได้ ถ้าการเป็นไปดั่งที่กล่าว ท่านก็ได้ให้คำพยากรณ์กำกับไว้ว่า
“ยกเสาแรกขึ้นแล้วตั้งให้ตรง อย่าให้ล้มไปข้างประจิม
พ่อเรือนจะตาย ถ้ามิดังนั้นจะจากที่บ้าน
ถ้าปลายเสาแรกชายไปข้างบูรพา ไฟจะไหม้แล
ถ้าเอนไปข้างอุดร จะตีด่ากัน
ถ้าเอนไปข้างทักษิณ เจ้าเรือนจะเกิดลาภแล
ถ้าเอนไปข้างอิสาน จะเกิดลาภเงินทองแก่เจ้าเรือนแล”
ความเชื่อเกี่ยวกับขนาดความกว้างของประตูเรือน
การเว้นช่องว่างในฝาเรือนเพื่อทำประตูเป็นทางเข้าออก ก็มีความสำคัญอยู่ด้วย ขนาดกว้างช่องประตูที่ดีนั้นต้องกว้างพอเหมาะแก่การเดินเข้าเดินออก ขนาดต้องไม่แคบเกินหรือไม่กว้างมาก เรื่องเช่นนี้คนแต่ก่อนท่านให้ข้อสังเกตที่เป็นคติความเชื่อควรแก่การสนใจต่อไปนี้
“ถ้าจะทำประตูบ้าน ๔ ชั่วฝ่าตีน
ถ้าประตูในเรือน ประตูระเบียง ประตูโรง เอา ๓ ชั่วฝ่าตีนเท่ากัน ดีนักแลชื่อภัทรราช ถ้ากว้างกว่านี้ไฟจะไหม้แล
ประตูพาดบันไดเอา ๔ ชั้นฝ่าตีน แลกว้างกว่านั้นจะเกิดพยาธิโรคาเบียดเบียนเกิดโรคะโรคาต่างๆ แลมิดีอย่าทำเลย”
ความเชื่อเกี่ยวกับการพาดบันไดสำหรับเรือน
เรือนเครื่องผูกเป็นเรือนที่ยกพื้นค่อนข้างสูงเพื่อให้พ้นจากน้ำท่วม ดังนี้การที่จะขึ้นหรือลงจากเรือนให้สะดวก จึงต้องทำบันไดพาดเรือนสำหรับเป็นทางขึ้นลง การพาดบันไดกับเรือนนี้ คนแต่ก่อนไม่ทำบันไดติดตายกับเรือน แต่จะทำบันไดไว้ต่างหาก เมื่อจะขึ้นลงจึงเข็นบันไดพาดเข้ากับเรือน คติเช่นนี้พึงเห็นได้จากพระอธิบายในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานึภาพ เกี่ยวกับคติการทำบันไดเรือนไทยอย่างเก่า ความว่า
“ว่าถึงบันไดเรือน คิดดูก็ชอบกล เรือนแบบไทยโบราณ ใช้บันไดพาดนอกชาน กลางคืนเข็นบันไดขึ้นเสีย ให้เป็นเครื่องป้องกันภัย กลางวันจึงกลับพาดบันไดสำหรับให้คนขึ้นลง อย่างนี้เป็นแบบเก่าที่สุด ครั้นผู้มีกำลัง พาหนะทำเรือนฝากระดานอยู่ มีคนบริวารพอคุ้มภัย ไม่ จำเป็นต้องเข็นบันไดขึ้นลง ถึงกระนั้นบันไดไม้จริงที่ทำประจำที่ ก็เอาบันไดไม้ไผ่มาทำด้วยกระดาน”
คติในการทำบันไดเรือนยังมีต่อไปถึงตำแหน่ง และทิศทางที่ควรพาดและไม่ควรพาด คติเช่นนี้เคยได้ยินคำท่านผู้ใหญ่ท่านแนะนำว่า “อย่าพาดบันได สวนตะวัน” คือพาดบันไดลงตรงทิศตะวันตกและทิศตะวันออก เพราะแสงแดด จะแทงตา ทำให้อาจพลัดตกบันไดได้ แต่ก็ยังมีคติความเชื่อ ในเรื่องนี้เขียนไว้เป็นตำรามาแต่ก่อนมีรายละเอียดพ สมควรดังนี้
“ถ้าจะพาดกระไดเรือน ทิศบูรพามิดี
ถ้าพาดทิศทักษิณ ดี มีลาภทุกประการแล
ถ้าพาดทางทิศอุดร ชื่อกระเฌอพ่อค้า กระไดค่าก็ว่า
ดีนักแล
ถ้ากระไดอยู่ข้างทิศประจิม ชื่อกระไดพระแล
ถ้าพาดกระไดทุกทิศ ย่อมมิสถาพร ถ้ามีทุกทิศจะเป็น
อัปมงคลทุกเมื่อแล นักปราชญ์ พึงพิจารณาดูเถอด”
คติความเชื่อเกี่ยวกับเรือนเครื่องผูกที่ได้พรรณนามาโดยลำดับนี้ เป็นคติความเชื่อเพียงส่วนหนึ่งที่ได้รับการจดบันทึกขึ้นไว้ในสมุดเป็นคู่มือเตือนจำของคนในพื้นบ้านพื้นถิ่นตามชนบทเพื่อทำการปลูกบ้านสร้างเรือนให้เป็นไปได้ด้วยทางแห่งสิริมงคล เป็นสิ่งบำรุงขวัญ และกำลังน้ำใจแก่ผู้เป็นเจ้าของเรือนและผู้อยู่อาศัยในเคหสถานแห่งนั้นๆ
คติความเชื่อนอกเสียจากที่ได้รับการจดลงในเล่มสมุดดังได้คัดข้อความบางส่วนมาแสดงในที่นี้แล้ว ยังมีคติความเชื่อที่เป็นความทรงจำและถ่ายทอดด้วยปากสืบๆ กันมาก็มีอยู่มาก ดังจะกล่าวพอเป็นตัวอย่างในที่นี้สัก 2-3 ตัวอย่าง เช่น
“อย่าปลูกเรือนใกล้วัด ไม้กวาดหลังคา” นี้เป็นข้อห้าม 2 ประการ คือ ไม่ให้ปลูกเรือนใกล้วัด เพราะเกรงว่า คนจะไปทำความรำคาญให้แก่การปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์ ซึ่งต้องการความเงียบสงบ ส่วน “ไม้กวาดหลังคานั้น คือห้ามมิให้ปลูกเรือนเคียงกับไม้ใหญ่ที่ทอดกิ่งก้านสาขาลงมาถึงหลังคา พอมีลมพัดกิ่งไม้เหล่านั้นก็โยกไหว กวัดกวาดหลังคาส่งเสียงน่ารำคาญ และถ้าพอดีพอร้ายลมพัดจัดกิ่งไม้จะปัดเกี่ยวหลังคาเปิดเปิงทำให้ฝนรั่ว หรือถ้าเป็นลมพายุ ซึ่งอาจพัดกิ่งไม้ หักลงมาทับหลังคาก็อาจเป็นอันตรายได้ทั้งทรัพย์สินและคนในเรือน
“ครัวไฟ ไว้ตะวันตก” ตำแหน่งที่ตั้งของครัวไฟที่เหมาะแก่สุขลักษณะนั้นควรวางไว้ทางด้านทิศตะวันตก เพราะเป็นที่รับลมตะเภาซึ่งพัดขึ้นมาจากทางทิศใต้ โกรก เรือนครัวพาเอากลิ่นบงอับบงราของอาหารและเสบียงในครัว ตลอดจนควันไฟที่เกิดจากการหุงต้มออกไปโดยไม่เข้ามาตลบ และอบอยู่ในเรือน
“อย่าปลูกเรือน ขวางตะวัน” คือห้ามมิให้ปลูกเรือน โดยวางรูปเรือนเอาด้านข้างยาว ไม่ว่าจะเป็นข้างเรือนประธาน หรือด้านระเบียง ขวางทางตะวันขึ้นและตะวันตก เพราะเรือนจะรับแสงแดดร้อนทั้งตอนเช้าและตอนบ่ายเสมอกันทุกห้องท่านจึงว่า “ปลูกเรือนขวางตะวัน เจ้าเรือนพลังเสียจักษุ” อยู่ไม่สุขสบาย จึงมีคำแนะนำให้ปลูกเรือนยาวไป
ตามตะวันขึ้นและตะวันตก ถ้าวางรูปเรือนในลักษณะเช่นนี้แล้วจะรับลมได้ตลอดทั้งปี เป็นที่อยู่อันควรแก่ความสบายยิ่ง
“อย่าทำเรือนหลังคาตาก ทุกข์ยากมาถึงตน” เรือนทรงไทยไม่ว่าจะเป็นเรือนเครื่องผูกหรือเรือนเครื่องสับ ย่อมจะทำหลังคาเป็นทรงจั่ว จะต่างกันก็แต่ส่วนหลังคา “กรวด” มากหรือน้อยเท่านั้น ถ้าทรงหลังคา “กรวด” มาก คือ จั่วพนมแหลมจัด เรียกว่า “ทรงตัวผู้” แต่ถ้าทำ “กรวด” น้อย คือ ทำตีนจั่วกว้าง ปลายจั่วไม่แหลมนัก เรียกว่า “ทรงตัวเมีย”ส่วนหลังคาตาก คือ ทำหลังคาจั่วต่ำกว่าหลังคาทรงตัวเมียลงมามากจนดูเกือบแบนราบ เป็นหลังคาที่รับแดดจัดทั้งผืนหลังคา และไม่มีที่เหลือใต้หลังคาภายในเรือน พอสำหรับระบายความร้อน ซึ่งถ่ายลงมาจากหลังคาย่อมทำให้ภายในเรือนร้อน กลายเป็นที่อยู่ไม่ควรสบาย ท่านแต่ก่อน จึงได้ห้ามไว้
คติความเชื่อเกี่ยวกับเรือนและการปลูกเรือนดั่งที่ได้คัดมาบางส่วน และพรรณนาไว้ในที่นี้ควรกล่าวได้ว่าเป็นมรดกทางความคิดของคนไทย ซึ่งบรรพชนได้พากเพียรศึกษาเหตุผลและสังเกตจำสาระต่างๆ จากประสบการณ์จนสามารถประมวลขึ้นไว้เป็นความรู้ เพื่อการชี้แนะ และเป็นประโยชน์แก่คนผู้สืบเชื้อสายที่จะเกิดตามมาในภายภาคหน้า จะได้มีที่อยู่อาศัยและการดำรงชีวิตที่ดีกว่า คติความเชื่อ ดังกล่าวในกรณีเช่นนี้หากว่าจะคิดเห็นว่าเป็น “ปรัมปราคติ” ก็ตาม แต่ถ้าพิจารณาในวัตถุประสงค์แล้วย่อมเกิดขึ้นมาแต่ความคิดที่เปี่ยมด้วยความสุจริตใจของบรรพชน เพื่อยังให้เกิดชีวิตวัฒนา จึงควรเป็นวัฒนธรรมประเภทหนึ่งโดยแท้
ที่มาโดย:จุลทัศน์  พยาฆรานนท์ คณะมนุษยศาสตร์ วิทยาเขตกลาง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

การปลูกเรือนเครื่องผูก

เรือนเครื่องผูก4
การปลูกเรือนเครื่องผูก มีวิธีและกระบวนการปลูกเรือนที่ไม่สู้ยุ่งยากและซับซ้อนเสมอด้วยการปลูกเรือนเครื่องสับหรือเรือนฝากระดานก็ดี กระนั้นก็ตามขึ้นชื่อว่างานช่างทำของอย่างหนึ่งๆ แม้จะมีขนาดเล็กย่อมสักเท่าใดๆ ก็ต้องทำเป็นขั้นเป็นตอน มีลำดับทำก่อนทำหลังไปจนกว่าจะสำเร็จ การปลูกเรือนเครื่องผูกเป็นการช่างทำสิ่งของขนาดใหญ่อย่างหนึ่ง จึงมีขั้นตอนซึ่งต้องทำนี่ก่อนทำโน่นทีหลังเป็นไปโดยลำดับเช่นกัน การปลูกเรือนเครื่องผูกทั่วไปมีวิธีและกระบวนการกล่าวโดยถ้อยความมีตามลำดับต่อไปนี้
วัสดุและอุปกรณ์
วัสดุและอุปกรณ์ที่นำมาประกอบเข้าด้วยกันให้เป็นเรือนหลังหนึ่งๆ เรียกว่า ตัวไม้เครื่องเรือน หรือ ทัพสัมภาระการปรุงเรือน เรือนเครื่องผูกได้อาศัยตัวไม้หรือทัพสัมภาระในการปรุงเรือนดังนี้

เรือนเครื่องผูก3
ไม้ไผ่  เป็นวัสดุที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการปลูกเรือนเครื่องผูก เรือนประเภทนี้ส่วนมากใช้ไม้ไผ่ชนิดต่างๆ ทำเป็นทัพสัมภาระในการปรุงเรือนเกือบทั้งหลังตั้งต้นแต่ใช้ทำเป็นเสาเรือน ตง ไม้แม่เตาไฟ ขื่อ แป จันทัน กลอน อกไก่ กบหู ไม้ข้างควาย ไม้เสียบหนู ไม้ข่มหัวกลอน ฝาเรือน พื้นเรือนและชาน กรอบและบานประตูหน้าต่างกับบันได ฯลฯ ไม้ไผ่ที่นิยมหามาใช้ทำเรือนได้แก่ ไม้ไผ่สีสุก ไม้ไผ่ลำมะลอก ไม้ไผ่ตง และไม้ไผ่รวก
ใบจาก เป็นต้นไม้ล้มลุกประเภทหนึ่งชอบขึ้นอยู่ตามริมน้ำ หรือชายเลนที่บริเวณใกล้ปากแม่น้ำสายต่างๆ ต้นจากมี ๒ ชนิดด้วยกัน คือ จากน้ำเค็ม และจากน้ำจืด ใบจากที่ได้จากต้นจากซึ่งขึ้นอยู่ตามบริเวณที่มีน้ำจืดมีคุณภาพคงทนดีกว่าใบจากที่ได้จากต้นจากซึ่งขึ้นอยู่ในที่น้ำเค็มขึ้นถึง ใบจากได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมุงหลังคาเรือน และทำฝาเรือนโดยตัดเอาใบออกจากทางจากแต่ละทางๆ นำมาเรียงลำดับเข้ากับไม้ทับลากแล้วเย็บร้อยขึ้นเป็นตับๆ นำไปมุงทับคลุมหลังคาโดยซ้อนกันถี่ๆ เป็นเครื่องกันแดดและฝนได้ประเภทหนึ่ง
หญ้าคา และแฝก เป็นพืชชนิดหนึ่งขึ้นอยู่ตามที่ดอนทั่วไป สามารถไปเกี่ยวเก็บมาใช้ทำเป็นเครื่องมุงหลังคา และทำฝาเรือนชนิดหนึ่งได้โดยไม่ต้องซื้อหากัน แต่ได้ยินท่านผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า การเกี่ยวแฝกนั้นถ้าไม่คุ้นเคยมักจะโดนคมแฝกบาดเอาได้ง่ายๆ และแผลที่เกิดจากคมแฝกบาดนี้เจ็บปวดทารุณเอาการ ฉะนั้นคนที่อยู่ตามที่ลุ่มริมน้ำมีความต้องการใช้แฝกมุงหลังคาทำเป็นฝาบ้านก็มักอาศัยเอาสิ่งของเครื่องกินต่างๆ ไปแลกเอาแฝกมาจากคน ซึ่งอยู่ตามที่ดอนๆ ที่คุ้นเคยกับแฝกและชำนาญในการเกี่ยวแฝกเป็นอย่างดี ผู้ใหญ่ท่านนี้ยังเล่าให้ฟังต่อมาอีกว่า ของกินที่เอาไปแลกกับแฝกนั้นได้แก่ หมากดิบสด หรือใบพลูสด โดยมีอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างกัน คือ หมากดิบสด ๔ ลูก แลกได้แฝกที่เกี่ยวเป็นคำขนาดสองมืออ้อมจำนวน ๘ กำ หรือพลูสดเรียบหนึ่ง แลกได้แฝก ๔ กำ เป็นต้น นี้เป็นอัตราการแลกเปลี่ยนกันเมื่อ ๖๐-๗๐ ปีก่อนโน้น ในชนบทแถบจังหวัดอ่างทอง จังหวัดสิงห์บุรี
แฝกและหญ้าคานี้เมื่อเกี่ยวได้แล้วนำมากรองเป็นกำเล็กๆ เอามาเข้ากับไม้ตับเย็บร้อยขึ้นเป็นตับๆ ใช้ทำเป็นเครื่องมุงและฝาเรือน
หวาย  หวายใช้เป็นเครื่องร้อยรัด ถักผูกตัวไม้เครื่องเรือนแต่ละชิ้นแต่ละส่วนคุมให้ติดต่อกันขึ้นเป็นเรือนทั้งหลัง หวายที่นำมาจักหรือเลียดให้เป็นเส้นยาวๆ เพื่อใช้ผูกส่วนประกอบต่างๆ ของเรือนนี้ ส่วนมากนิยมใช้หวายลิง ซึ่งแต่ก่อนที่ดาดดื่นในพื้นถิ่นชนบท
ต้นหมากและเหลาชะโอน ในชนบทบางพื้นถิ่นใช้ไม้หมากบ้าง ไม้เหลาชะโอนบ้าง ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นคล้ายต้นหมาก แต่มักมีลำต้นโตกว่าและมีหนามตามปล้องนำมาผ่าออกยาวไปตามลำต้นเป็นซี่แบนๆ ไม้หมากก็ดี ไม้เหลาชะโอนนี้ก็ดี เอามาเหลาเกลาผิวด้านนอกที่ขรุขระออกให้เกลี้ยง ใช้วางเรียงปูเป็นพื้นเรือนแทนฟากไม้ไผ่ก็มี ไม้หมากและไม้เหลาชะโอนนี้ทำเป็นพื้นเรือนอยู่ไปนานๆ ผิวจะเกลี้ยงเป็นมันสวยงามดีไม่น้อยเลย และยังแข็งแรงทนทานดีกว่าพื้นฟากอีกด้วย
เครื่องมือปลูกเรือนเครื่องผูก
การปลูกเรือนประเภทเครื่องผูก ไม่สู้จะได้ใช้เครื่องมือในการปรุงเครื่องเรือนมากเสมอด้วยเครื่องมือจำนวนมากที่ใช้ในการปรุงเรือนประเภทเครื่องสับทั้งนี้เพราะเหตุว่าเรือนเครื่องผูกอาศัยวิธีการปลูกเรือนด้วยการผูกรัด ถักพันด้วยเส้นตอก เส้นหวายเป็นสำคัญ มิได้ใช้วิธีการ เข้าปากไม้ใส่ลิ่ม สอดสลัก ทำร่องรางเข้าลิ้น รับเดือยต่างๆ เพื่อคุมตัวไม้เข้าด้วยกันขึ้นเป็นเรือน การทำเรือนเครื่องสับจึงต้องอาศัยเครื่องมือต่างๆ มีจำนวนมาก ส่วนเครื่องมือสำหรับปรุงและปลูกเรือน เครื่องผูกนี้มีจำกัดอยู่ไม่มากอย่าง แต่ละอย่างลำดับได้ดังนี้
พร้า  พร้าคือมีขนาดใหญ่ ใบพร้ามีลักษณะแบนยาวด้านหนึ่งบางเป็นข้างคม อีกด้านหนึ่งหนาเป็นข้างสัน โคนพร้ามีแกนเป็นกั่นสวมติดกับด้ามทำด้วยไม้ไผ่หรือไม้จริง รูปร่างเป็นท่อนกลมยาวพอจับถนัดมือ ส่วนปลายของพร้าตีเป็นรูปต่างๆ กันตามหน้าที่ใช้งาน พร้าที่ใช้เป็นเครื่องมือปรุงเรือนเครื่องผูกมีลักษณะต่างๆ กันโดยเฉพาะส่วนปลายที่ใช้ในงานต่างกัน คือ
พร้าขอ  ใบพร้าเป็นรูปแบบยาว สันหน้าปลายงุ้มเล็กน้อย ด้ามทำด้วยลำไม้ไผ่หรือไม้จริงเป็นท่อนกลมยาว พร้าขอนี้ใช้สำหรับตัดไม้ ไม่จำเพาะแต่ไม้ไผ่เท่านั้น
พร้าโต้  ใบพร้าเป็นรูปโค้งขึ้นทางด้านสันทางตอนปลายพร้า ส่วนด้านคมนั้นริมเป็นเส้นตรง พร้าโต้มักทำสันให้หนากว่าพร้าชนิดอื่นๆ ส่วนด้ามทำเป็นท่อนกลมขนาดพอมือ จับได้ถนัด พร้าชนิดนี้ใช้สำหรับผ่าไม้สับไม้กระบอกทำเป็นพื้นฟาก  โดยเฉพาะใช้ส่วนที่เป็นสันหนาทุบลำไม้กระบอกให้แตกเป็นริ้วๆ ได้เป็นอย่างดีเพราะมีน้ำหนัก
พร้าเสียม ใบพร้าเป็นรูปแบนยาวปลายผายออกไปและตีให้เป็นรูปมนกลม พร้าเสียมนี้ใช้สำหรับผ่าไม้ หรือใช้ขุดดินแทนเสียมก็ได้
มีดตอก  เป็นมีดชนิดหนึ่ง ตัวใบมีดมีรูปร่างคล้ายรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ด้านข้างคมโค้งแอ่นพอสมควร ด้านข้างสันดุ้งขึ้นเป็นเหลี่ยม ส่วนปลายแหลม ตรงโคนต่อเข้ากับด้าม มีลักษณะเป็นท่อนกลมยาว ปลายงอนเชิดขึ้นเล็กน้อยมีดชนิดนี้ใช้สำหรับจักตอก จักหวายทำเป็นเส้นยาวๆ ใช้เหลาลูกประสัก ตัดหรือแต่งปากไม้ เป็นต้น
ขวานหมู เครื่องมือทำด้วยเหล็ก รูปร่างคล้ายรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ส่วนสันหนา มีปล้องยาวตลอดอยู่ใต้สันไว้สำหรับสอดด้ามซึ่งทำด้วยไม้แก่น ยาวประมาณ ๑ ศอก ขวานหมูใช้สำหรับตัดไม้ ถาก หรือฟัน หรือสับซี่ฟาก
หนังปลากระเบนแห้ง  หนังปลากระเบนหรือส่วนโคนหางปลากระเบนตากแห้ง ชนิดที่มีผิวหนังหยาบและแข็งได้ถูกนำมาใช้ทำหน้าที่ต่างตะไบเหล็กใช้ถู ถากฝน หัวไม้ให้เรียบ เป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งของช่างไม้แต่โบราณ
เหล็กหมาด เครื่องมือทำด้วยเหล็กเส้น ตีเป็นรูปท่อนสามเหลี่ยมบ้าง สี่เหลี่ยมบ้าง ตอนปลายเรียวแหลม ตอนโคนสอดติดกับด้ามไม้เป็นรูปท่อนกลมยาว ใช้สำหรับเจาะ ไขให้เกิดเป็นรูด้วยมือปั่น
จำปา  เครื่องมือทำด้วยลำไม้ไผ่ ขนาดยาวประมาณ ๑ วา ตอนปลายไว้ลำต่อออกไปจากข้อชั่วปล้อง ๑ แล้วผ่าจักให้เป็นซี่ๆ ปลายแต่ละซี่เสี้ยมให้แหลม จึงคลี่ขยายซี่ให้บานออกไปเหมือนกลีบจำปา จึงใช้ไม้ซีกเล็กๆ ขัดโคนง่ามซี่แต่ละซี่มิให้หุบเข้ารวมกันได้อีก เครื่องมือชนิดนี้เรียกว่า “จำปา” ใช้สำหรับสักลงบนพื้นดินอ่อนๆ เพื่อขุดให้เป็นหลุมสำหรับฝังโคนเสาเรือน “จำปา” นี้เป็นเครื่องมืออย่างเก่าใช้กันอยู่ในพื้นบ้านทั่วไปตามชนบท
ตอกและหวาย  ตอกและหวายเป็นอุปกรณ์สำคัญในการปลูกเรือนประเภทเครื่องผูกให้ตั้งขึ้นสำเร็จเป็นหลังได้ ทั้งนี้ก็เนื่องด้วยเรือนชนิดนี้อาศัยการปลูกเป็นเรือนด้วยวิธีผูกรัดมัดถักด้วยเส้นตอกบ้าง เส้นหวายบ้างทั่วไปทั้งเรือน
ตอก คือ ไม้ไผ่ตัดออกมาเป็นปล้องระหว่างข้อ แล้วผ่าออกเป็นไม้จำเลาะเสียก่อน จึงจักออกเป็นไม้สรร แล้วนำเอาไม้สรรนี้มาจักเป็นเส้นตอก ตอกเส้นที่ใช้สำหรับผูกมัดเครื่องเรือนส่วนมากนิยมจักเป็นชนิดตอกเหลี่ยม คือ เส้นตอกแบนยาวข้างตอกเป็นเหลี่ยมทั้งสองด้าน
หวาย คือ ไม้ประเภทเครือคล้ายเถาวัลย์ นำมาผ่าออกเป็นเส้นตามยาว ลำหวายแล้วจึงเหลาขี้หวายออกให้เหลือแต่ผิว จึงนำมาเลียดออกเป็นเส้น ใช้ถักฟากเรือน ผูกแปเรือนหรือตัวไม้เครื่องบน หวายที่ใช้ผูกเครื่องเรือนนี้ส่วนมาก นิยมใช้หวายน้ำ แต่จำเพาะส่วนที่ใช้เป็นตับจากนั้นจะใช้ได้ก็แต่หวายลิงเท่านั้น
องค์ประกอบของเรือนเครื่องผูก
องค์ประกอบของเรือนเป็นคำใหม่ มีความหมายเช่นเดียวกับตัวไม้ต่างๆ ที่ใช้คุมและปรุงเรือนขึ้นเป็นหลัง ตัวไม้หรือองค์ประกอบเรือนเครื่องผูกมีรูปร่าง ลักษณะขนาดตำแหน่งและหน้าที่ต่างกันออกไป องค์ประกอบแต่ละชิ้นๆ ล้วนมีความหมาย มีความสำคัญเฉพาะตัว หรือมีความสำคัญร่วมกันในแต่ละส่วนของเรือน การปรุงตัวไม้หรือองค์ประกอบประเภทเครื่องผูกอาจจะไม่แสดงให้เห็นกลวิธีที่สลับซับซ้อนในเชิงวิชาการเข้าปากไม้ ดั่งเช่นปรากฎให้เห็นได้ในเรือนประเภทเครื่องสับก็ดี แต่การจัดปรุงเรือนเครื่องผูกขึ้นด้วยรู้จักและเข้าใจลำดับตัวไม้ที่เป็นโครงสร้างและส่วนประกอบเรือนได้อย่างมีระเบียบ เรียบง่าย และกลมกลืนกันทั้งในด้านวัสดุ ขนาด ส่วนสัด สี และผิวแห่งตัวเรือน ก็ควรนับถือว่าเรือนเครื่องผูกเป็นเรือนที่อาศัยตัวไม้หรือองค์ประกอบเรือนที่ได้รับการพิจารณาเป็นอย่างดี และปรุงแต่งสมบูรณ์อยู่ในตัวแล้ว กับเมื่อคุมกันเป็นเรือนขึ้นแล้ว ยังมีคุณค่าอยู่ในตัวของมันเองสมบูรณ์ทุกประการ ดังนี้ว่าโดยเฉพาะตัวไม้ของเรือนเครื่องผูกแล้ว ไม่พอที่จะนำไปเปรียบเทียบกับรูปแบบและวิธีการปรุงตัวไม้สำหรับเรือนประเภทอื่นๆ เพราะใช้วัสดุที่นำมาใช้เป็นตัวไม้และวิธีปรุงตัวไม้ให้เป็นส่วนประกอบเรือนต่างกัน ย่อมมีความหมายและความสำคัญในตัวของมันเองเป็นต่างหากขาดจากกัน องค์ประกอบของเรือนเครื่องผูกหรือตัวไม้สำหรับเรือนเครื่องผูกหลังหนึ่งๆ ในพื้นบ้านตามชนบทมีองค์ประกอบหรือตัวไม้ที่ใช้ปรุงขึ้นเป็นเรือนดังนี้
แระ  แระเป็นสิ่งที่ทำขึ้นแล้ววางปูไว้ที่ก้นหลุมสำหรับรองรับตีนเสาเรือนกันมิให้ทรุด แระเป็นสิ่งที่ทำขึ้น แล้ววางปูไว้ที่ก้นหลุมสำหรับรองรับตีนเสาเรือนกันมิให้ทรุด แระที่ใช้รองเสาเรือนเครื่องผูกนี้ส่วนมากใช้ไม้ไผ่สับเป็นฟาก วางปูลงในก้นหลุมไขว้ทับกันสองชั้น
เสาประเด  คือ เสาเรือนทำด้วยไม้ไผ่ลำยาวโคนเสาฝังอยู่ในดิน ลำเสาตั้งตรงขึ้นไป ปลายเสาทำหน้าที่รับ “ขื่อ” เสาประเภทนี้ปักรายเป็นสองแถวขนานไปตามทางยาวของเรือน ระยะห่างระหว่างช่วงเสาคู่หนึ่งๆ เป็นที่หมายกำหนดความยาวของห้องหนึ่งๆ สำหรับเรือน และระยะห่างระหว่างช่วงเสาคู่หนึ่งๆ นี้ เรียกตามภาษาช่างปลูกเรือนว่า “ห้อง” เรือนหลังหนึ่งอาจมีขนาด ๒ ห้อง หรือ ๓ ห้องบ้าง สุดแท้แต่ความประสงค์ของเจ้าของเรือน ถ้ามีขนาด ๒ ห้องก็ใช้เสาประเด ๖ ต้น แต่ถ้าทำเรือนขนาด ๓ ห้องต้องใช้เสาประเด ๘ ต้น และถ้าทำขนาดยาวของเรือนเพิ่มขึ้นก็จะต้องเติมเสาประเดนี้คู่ ๑ ปักต่อออกเสมอไป
เสาหมอ หรือตอหม้อ คือ เสาเรือนขนาดสั้น ทำด้วยลำไม้ไผ่ เสาหมอหรือเสาตอหม้อมีขนาดสั้นกว่าเสาประเด ตามปกติยาวไม่เกิน ๑๕๐ เมตร โคนเสาฝังลงในดินประมาณ ๕๐ ซม. ส่วนที่พ้นดินขึ้นมาตั้งลำเสาตงปลายเสาทำหน้าที่รับ “รอด” เสาหมอหรือเสาตอหม้อนี้ปักอยู่ในที่เคียงกันกับโคนเสาประเดแต่อยู่เข้าไปในเรือน การที่ต้องใช้เสาหมอปักเคียงขนาบกับเสาประเดเพื่อรับ “รอด” เช่นนี้ ก็เพราะเนื่องมาแต่เสาเรือนเครื่องผูกเป็นเสาไม้ไผ่ ไม่เหมาะที่จะเจาะรูกว้างๆ ทำเป็นช่องเพื่อสอด “รอด” วางประจำไว้ ดังเช่นที่ทำในเสาเรือนเครื่องสับ เพราะไม้ไผ่ย่อมแตกง่าย ไม่สู้ทนทานมั่นคง จึงต้องตั้งเสาหมอ หรือเสาตอหม้อขึ้นมาทำหน้าที่รับ “รอด” แทนการที่จะสอดผ่านเข้าไปในเสาประเด เสาหมอในเรือนประธานหลังหนึ่งๆ จะมีจำนวนต้นเสาเท่ากับจำนวนเสาประเด
เสาดั้ง  คือ เสาเรือนขนาดยาว ทำด้วยไม้ไผ่ โคนปักอยู่ในดิน อยู่ระหว่างกลางเสาคู่หน้าด้านสกัดหัวและท้ายเรือน ต้นเสาตั้งตรงยืนขึ้นไปรับไม้กบทู ปลายเสาส่วนที่พ้นหลังขื่อขึ้นไปทำหน้าที่เป็นเอ็นรับแผงจั่วปิดหัวและท้ายเรือน เสาดั้งในเรือนเครื่องผูกมักมีเพียง ๒ ต้นเท่านั้น แต่ถ้าเป็นเรือนยาวเกิน ๓ ห้องจึงจะเติมเสาดั้งในระหว่างการคู่เสาที่ ๒ และคู่ที่ ๔ เพื่อค้ำกบทูมิให้หลังคาเยิ่นหย่อนยุบลงมา
อนึ่ง เสาดั้งเป็นเสาที่ตั้งอยู่ตรงกลางทางด้านหน้าของหัวและท้ายเรือนเหตุดังนี้จึงเรียกว่า ดั้ง ซึ่งแปลว่า “ข้างหน้า”
ดั้งแขวน  เสาสั้นๆ ตั้งขึ้นอยู่บนขื่อประจำห้อง ทำหน้าที่ค้ำยันกบทู หรืออกไก คล้ายกันกับเสาดั้ง แต่ปลายเสาไม่หยั่งลงมาฝังอยู่กับพื้นดิน และตำแหน่งที่ตั้งอยู่ดูคล้ายกับแขวนลอยอยู่ข้างใต้หลังคา จึงเรียกว่า ดั้งแขวน
ไม้แม่เตาไฟ  ไม้แม่เตาไฟ คือ ไม้กรอบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าใช้สำหรับกำกับเชิงเรือน หรือรูปทรงเรือนทำด้วยไม้ไผ่ลำยาวๆ คู่หนึ่งมีขนาดยาวเท่ากับขนาดความยาวทั้งสิ้นของตัวเรือน อีกคู่หนึ่งมีขนาดยาวเท่ากับความกว้างของด้านกว้างตัวเรือน ไม้แต่เตาไฟนี้ต้องทำขึ้นก่อนที่จะลงมือขุดหลุมปักเสา ทั้งนี้ก็เพราะเหตุว่า การจะกำหนดความกว้างและยาวของเรือน ตลอดจะแบ่งปันระยะห้องในเรือนเพื่อหมายตำแหน่งทีจะขุดหลุมและปักเสาปันออกเป็นห้องๆ ได้นั้น ล้วนแต่ได้อาศัยกรอบไม้แต่เตาไฟนี้เป็นต้นแบบในการวางพื้นผัง และกำหนดระยะถี่ห่างของเรือนทั้งสิ้น การประกอบไม้แม่เตาไฟขึ้นเป็นกรอบเชิงเรือนนี้ให้เอาลำไม้ไผ่คู่หนึ่งวัดให้ยาวได้ขนาดความยาวของเรือนที่ต้องการ แล้วเหลือหัวและท้ายเผื่อออกไปข้างละ ๑ คืบจึงตัด แล้วนำมาวางบนพื้นให้ขนานกัน มีระยะห่างตามขนาดความกว้างพอดีตัวเรือน ส่วนไม้ไผ่อีกคู่หนึ่งนั้นวัดให้ยาวเท่ากับขนาดความกว้างของตัวเรือนทั้งคู่ และเหลือไม้ตรงหัวและท้ายเผื่อออกไปข้างละ ๑ คืบจึงตัด ต่อไปก็นำเอาลำไม้ไผ่คู่หลังนี้วางขวางลงตรงหัวและท้ายลำไม้ไผ่คู่แรก ให้ปลายลำไม้คู่หลังข่มบนปลายไม้คู่แรกทั้งสองด้านทำให้เป็นกรอบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีขนาดกว้างและยาวร่วมในกรอบเท่ากับความกว้างและยาวของเรือนตามความต้องการ จึงวัดสอบความกว้างและยาวแต่ละด้านในแน่นอนถูกต้อง แล้วจัดการเจาะรูตรงหัวไม้ที่ก่ายตรงกันให้ทะลุแต่ลำไม้ท่อนบนตลอดลงไปถึงลำล่างทั้งสี่มุมจึงใส่ลิ่มจิ่มไว้พอแน่น ก็จะสำเร็จเป็นกรอบไม้แม่เตาไฟตำแหน่งของไม้กรอบแม่เตาไฟปกตินั่งอยู่บนปลายรอด
ไม้แม่เตาไฟนี้เป็นตัวไม้ที่อยู่ในตำแหน่งและหน้าที่เช่นเดียวกับไม้ “พรึง” ในเรือนประเภทเครื่องสับ และยังมีชื่อเรียกในพื้นถิ่นอื่นอีกว่า ไม้กรอบรัดตีนฝา ก็เรียก หรือภาษาถิ่นปักษ์ใต้เรียกว่า “โนะ” ก็เรียก
รอด  ตัวไม้ที่เป็นโครงสร้างสำคัญ ทำหน้าที่รับพื้นเรือนทั้งหลัง ไม้รอดทำด้วยไม้ไผ่วางขวางเรือน พาดอยู่บนหัวเสาหมอหรือเสาตอหม้อ ไม้รอดวางพาดประจำระหว่างเสาเรือนแต่ละคู่ๆ และปลายไม้รอดจะเหลือยาวทอดออกไปทางด้านข้างทั้งสองด้านสำหรับกรอบไม้แม่เตาไฟ ซึ่งวงไปโดยรอบตีนฝาเรือน
ตง  ตัวไม้โครงสร้างที่เป็นส่วนรองรับพื้นเรือน ไม้ตงทำด้วยไม้ไผ่วางพาดขวางทับบนหลังรอดยาวไปตามขนาดยาวของเรือน ไม้ตงต้องใช้จำนวนมากกว่ารอดและวางเรียงถี่ๆ เพื่อช่วยหนุนมิให้พื้นฟากอ่อนเยิ่นยุบลงปกติการวางตงแต่ละตัวๆ กะขนาดห่างระหว่างกันประมาณ ๑ คืบ
รา  ตัวไม้ช่วยเสริมความมั่นคงให้แก่ตง ราทำด้วยไม้ไผ่ สอดขวางอยู่ใต้ตงแต่ละตัว และขนานไปกับรอด ราอาจมีในช่วงเสาคู่หนึ่ง ๒ ถึง ๓ อัน ปกติราจะทำหน้าที่ประกับตงแต่ละอันมิให้ห่างออกจากกัน ราแขวนอยู่ใต้ตงด้วยการที่ใช้หวายร้อยถักให้ติดแน่นกับตงเป็นระยะๆ
ฟาก  คือส่วนที่เป็นพื้นเรือนคู่กับเครื่องผูกมาแต่โบราณ ชาวไทยในชนบทคุ้นเคยกับ “ฟาก” เป็นอย่างดี ฟากมีความสัมพันธ์กับชีวิตมาตั้งแต่แรกเกิด พอทารกพ้นจากครรภ์มารดาหลังตกถึงพื้นฟาก ก็เริ่มนับอายุตั้งแต่เวลานั้นเป็นลำดับมา และเวลาที่ตั้งต้นอายุนี้เรียกว่า “เวลาตกฟาก” คติเช่นนี้มีปรากฎให้เห็นได้อย่างน้อยในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายแก้ว มีความว่า
“ฝ่ายตะแกเป็นหมอดู         คิดคูนเลขอยู่ให้หลานชาย
ปีขาลวันอังคารเดือนห้า        ตกฟากเวลาสามชั้นฉาย
กรุงจีนเอาแก้วแพรวพราย        มาถวายพระเจ้ากรุงอยุธยา
ให้ใส่ปลายยอดพระเจดีย์ใหญ่    สร้างไว้แต่เมื่อครั้งเมืองหงสา
เรียกวัดเจ้าพระยาไทยแต่ไรมา    ให้ชื่อว่าพลายแก้วผู้แววไว”
ฟากทำขึ้นจากไม้ไผ่นำมาผ่าออก  แล้วสับให้เป็นริ้วทั่วลำจึงแผ่ออกเป็นแผ่นแบนยาว เกลาข้อปล้องให้เกลี้ยงเรียบทุกๆ ผืน จึงนำไปปูทับบนหลังตง ทำเป็นพื้นเรือนต่อไป
ไม้ทับหลังฟาก  คือ ไม้ซีกวางทับลงบนหลังพื้นฟากอยู่ในแนวเดียวกับหลังตงซึ่งทอดรับอยู่ข้างใต้พื้นฟาก ไม้ทับหลังฟากนี้ทำด้วยไม้ไผ่ผ่าออกตามยาวของลำเลาะข้อและตาให้เรียบเกลี้ยงอย่างที่เรียกว่าไม้สรร วางทับลงบนหลังพื้นฟากให้ได้แนวเดียวกับหลังตง จึงใช้หวายร้อยรัดไม้ทับหลังฟากสอดลงไปพันผูกกับตง เพื่อให้ไม้ทับหลังข่มกดพื้นฟากแนบสนิทและมั่นคง การถักหวายร้อยรัดไม้ข่มพื้นฟากให้ตรึงกับตงนี้ ช่างทำเรือนแต่โบราณนิยมถักด้วยวิธีที่เรียกว่า “ถักจูงนาง”
ขื่อ  คือ ตัวไม้โครงสร้างเครื่องบนของหลังคาเรือน “ขื่อ” ทำด้วยไม้ไผ่ทอดวางอยู่บนปลายเสาคู่หัวเรือนและคู่ท้ายเรือน ปลายขื่อทั้งสองข้างทำหน้าที่รองรับ “แป” ข้างละอัน ขื่อยังทำหน้าที่เป็นกรอบกำกับหัวเสาเรือนทางด้านสกัดมิให้โย้แยกออกจากกัน และยังเป็นคานที่พะเสาดั้งให้มีกำลังตั้งอยู่อย่างมั่นคงอีกด้วย
ขื่อประจำห้อง  คือ ตัวไม้ที่พาดอยู่บนปลายเสาคู่ที่อยู่ถัดเข้าไปจากเสาคู่หน้าทางด้านสกัดตอนหัวและท้ายเรือน ปลายขื่อทั้งสองด้านทำหน้าที่รับแปหัวเสาด้านละอัน และตอนกลางบนหลังขื่อประจำห้องเป็นที่ตั้ง “ดั้งแขวน” ขึ้นไปรับกบทู หรืออกไก่
กบทู คือ ตัวไม้เป็นลำยาว ส่วนปลายยื่นออกมาจากหัวและท้ายเรือนพอสมควร วางพาดและกดอยู่บนปลายเสาดั้งและดั้งแขวนไปตามยาวของเรือน กบทูนี้เป็นตัวไม้ส่วนประกอบโครงหลังคา มีเฉพาะแต่ในส่วนหลังคาเรือนเครื่องผูกเท่านั้น และมักจะเป็นหลังคาชนิดผูกเครื่องมั่น ส่วนโครงหลังคาโรงมักไม่มีกบทู หรือผูกหลังคาลำลองก็จะไม่มีกบทู จึงเป็นเหตุให้คนในชั้นหลังไม่สู้จะได้พบเห็นตัวไม้นี้ และมักพากันชื่อว่าไม่มีตัวไม้ส่วนที่เป็นโครงหลังคาเรือนชื่อว่า กบทู ทั้งที่ในวรรณคดีเรื่องมหาเวสสันดรชากดในกัณฑ์ชูชกก็ได้มีพรรณนาเกี่ยวกับตัวไม้เครื่องบน หรือโครงหลังคาเรือนไว้อย่างกระจ่างชัดว่า
“ผ่าไม้ครอบคร่อมอกไก ไม้ข้างควายแขวะเป็นรูสอดเสียบหนูแน่นขันขัด ปั้นลมดัดเดาะหักห้วย กบทู ย้อยแยกแครกคราก จั่วจุจากจัดห่างๆ”
หรือในบทละครเรื่องระเด่นลันได ที่พระมหามนตรี(ทรับพย์) แต่งในรัชกาลที่ ๓ พรรณาความตอนที่ระเด่นลันไดนอนคิดถึงนางประแดอยู่ในเรือน ได้กล่าวพาดพิงถึงกบทูตอนหนึ่งว่า
“แล้วเอนองค์ลงเหนือเสื่อกระจูด
นอนนิ่งกลิ้งทูดอยู่ในห้อง
เสนาะเสียงสำเนียงพิราบร้อง
ครางกระหึ่มครึ้มก้องบนกบทู”
อาศัยตัวอย่างหลักฐานทางวรรณคดีที่นักปราชญ์ราชบัณฑิตแต่ก่อนท่านได้พรรณาและคัดมาแสดงไว้ในที่นี้ คงพอจะอ้างได้ว่ากบทู เป็นตัวไม้ตัวหนึ่งมีในเรือนเครื่องผูกจริง มิได้มีขึ้นด้วยอำนาจกลอนพาไป
กบทู  คือ ตัวไม้เป็นลำยาว ส่วนปลายยื่นออกมาจากหัวและท้ายเรือนพอสมควร วางพาดและกดอยู่บนปลายเสาดั้งและดั้งแขวนไปตามยาวของเรือน กบทูนี้เป็นตัวไม้ส่วนประกอบโครงหลังคา มีเฉพาะแต่ในส่วนหลังคาเรือนเครื่องผูกเท่านั้น และมักจะเป็นหลังคาชนิดผูกเครื่องมั่นส่วนโครงหลังคาโรงมักไม่มีกบทู หรือผูกหลังคาลำลองก็จะไม่มีกบทู จึงเป็นเหตุให้คนในชั้นหลังไม่สู้จะได้พบเห็นตัวไม้นี้ และมักพากันชื่อว่าไม่มีตัวไม้ส่วนที่เป็นโครงหลังคาเรือนชื่อว่า กบทู ทั้งที่ในวรรณคดีเรื่องมหาเวสสันดรชาดกในกัณฑ์ชูชกก็ได้มีพรรณนาเกี่ยวกับตัวไม้เครื่องบน หรือโครงหลังคาเรือนไว้อย่างกระจ่างชัดว่า
“ผ่าไม้ครอบคร่อมอกไก่ ไม้ข้างควายแขวะเป็นรูเสียดเสียบหนูแน่นขันขัด ปั้นลมดัดเดาะหักห้วย กบทู ย้อยแยกแครกคราก จั่วจุจากจัดห่างๆ”
หรือในบทละครเรื่องระเด่นลันได ที่พระมหามนตรี(ทรัพย์) แต่งในรัชกาลที่ ๓ พรรณาความตอนที่ระเด่นลันไดนอนคิดถึงนางประแดอยู่ในเรือน ได้กล่าวพาดพิงถึงกบทูตอนหนึ่งว่า
“แล้วเอนองค์ลงเหนือเสื่อกระจูด
นอนนิ่งกลิ้งทูดอยู่ในห้อง
เสนาะเสียงสำเนียงพิราบร้อง
ครางกระหึ่มครึ้มก้องบนกบทู”
อาศัยตัวอย่างหลักฐานทางวรรณคดีที่นักปราชญ์ราชบัณฑิตแต่ก่อนท่านได้พรรณาและคัดมาแสดงไว้ในที่นี้ คงพอจะอ้างได้ว่า กบทู เป็นตัวไม้ตัวหนึ่งมีในเรือนเครื่องผูกจริง มิได้มีขึ้นด้วยอำนาจกลอนพาไป
กบทู เป็นตัวไม้โครงสร้างส่วนหลังคา ทำหน้าที่รับจันทันใหญ่ และจันทันพรางซึ่งพาดก่ายอยู่บนหลังกบทู รายเป็นระยะห่างๆ เท่าๆ กัน ไปตามความยาวของเรือน
แปหัวเสา  คือ ตัวไม้โครงสร้างเครื่องบนของหลังคาเรือน แปทำด้วยไม้ไผ่ทั้งลำ วางทอดยาวไปทางด้านข้างเรือนทั้งสองด้าน โดยที่ท้องแปพาดอยู่บนปลายไม้ขื่อแต่ละอันๆ ไม้แปทั้งคู่ที่วางบนปลายขื่อตรงกับหัวเสาประเดซึ่งอยู่ข้างล่างนี้เรียกว่า “แปหัวเสา” ทำหน้าที่รับไม้จันทันใหญ่และจันทันพรางเป็นระยะๆ เข้าไปตามยาวของตัวเรือนเช่นเดียวกันกับกบทู
แปลาน คือ ตัวไม้เครื่องบนหลังคาเรือนมีลักษณะเป็นลำยาวเช่นเดียวกับแปหัวเสา ต่างกันแต่ตรงตำแหน่งที่วางอยู่ คือ แปลาน จะวางพาดอยู่บนหลังจันทันวางรายเป็นระยะขึ้นไปเหนือแปรหัวเสา แปลานมีด้านละ ๓ อันบ้าง ๔ อันบ้าง แปเหล่านี้ทำหน้าที่รับไม้จันทัน
แปเชิงชาย คือ ตัวไม้เครื่องบนรับหลังคาเรือน มีลักษณะเป็นเช่นเดียวกับแปลาน ต่างกันแต่ตำแหน่ง ซึ่งจัดวางอยู่ต่ำลงมาจากแปหัวเสา โดยวางพาดบนหลังจันทันและทำหน้าที่รับไม้กลอนเช่นเดียวกับแปลาน
จันทัน คือตัวไม้เครื่องบนหลังคาเรือน ทำด้วยไม้ไผ่ลำยาว เป็นคู่ๆ นำเอาส่วนปลายมาไขว้กันแล้วเจาะรูให้ทะลุตลอดทั้งสองลำจึงสอดเดือยขัดไว้ แล้วถ่างไม้ทั้งคู่ออกจากกัน นำขึ้นไปวางคร่อมบนหลังกบทู และทอดขาทั้งสองข้างจันทันทับหลังแปลงมาเป็นลำดับจนสิ้นความกว้างของหลังคาเรือน หรือความยาวของจันทัน ซึ่งตัวจันทันเองก็ทำหน้าที่กำหนดความกว้างของพื้นหลังคาแต่ละด้านอยู่ในตัวของมันเองแล้ว หน้าที่โดยตรงของจันทันคือรับกลอนจันทันนี้ยังมีชื่อเรียกต่างกันออกไปตามตำแหน่งที่วาง คือจันทันที่วางคร่อมบนกบทูตรงกับแนวขื่อเรียกว่า จันทันใหญ่และจันทันซึ่งวางคร่อมบนกบทูทอดลงมาระหว่างกลางช่วงเสาแต่ละห้องเรียกว่า จันทันพราง
อกไก่ คือตัวไม้เครื่องบนที่ทำหน้าที่เป็นโครงรับสันแห่งหลังคาเรือน อกไก่ทำด้วยไม้ไผ่ลำยาววางทอดไปบนง่ามหัวไม้จันทันที่ไข้กันโดยลำดับ ตอนปลายไม้อกไก่ยาวยื่นออกไปจากความยาวของเรือนข้างละประมาณ ๒ ศอก หรือ ๑ เมตร ไม้ช่วงที่ยาวยื่นออกมานี้เรียกว่า “ไขราจั่ว” อกไก่ทำหน้าที่รับกลอนซึ่งเป็นโครงสร้างหลังคาอีกสิ่งหนึ่ง
กลอน คือตัวไม้เครื่องบน ใช้ค้ำจุนและรับเครื่องมุงหลังคา กลอนทำด้วยไม้ไผ่ลำขนาดยาวพอๆ กับความยาวของไม้จันทัน กลอนทำขึ้นโดยจับไม้เป็นคู่ๆ คล้ายกับทำจันทันแล้วเจาะรูที่ใกล้กับหัวไม้ให้ทะลุตลอดทั้งสองลำ สอดเดือยให้ติดกัน จึงถ่างขาไม้ทั้งคู่ออก นำไปวางคร่อมบนหลังอกไก่ ปล่อยให้ปลายไม้ทอดทับบนหลังแปลงไปทางด้านข้างหลังคาทั้งสองข้าง กลอนมีหน้าที่เป็นโครงสร้างของหลังคารองรับเครื่องมุงชนิดต่างๆ เช่น จาก แฝก หญ้าคา เป็นต้น
ไม้นอนแนบ คือตัวไม้กระหนาบหลังกลอนทำด้วยไม้ไผ่ผ่าเป็นซีกอย่างที่เรียกว่า ไม้สรร มีขนาดยาวเท่ากับอกไก่หรือกบทู วางทอดบนหลังกลอน ขนานไปกับแปลาน แปหัวเสา และแบเชิงชาย ตรงที่ไม้นอนแนบทาบอยู่บนหลังกลอนจะต้องใช้หวายพันรัดอ้อมลงไปรั้งไม้แป เพื่อให้ไม้นอนแนบกระชับกับหลังกลอน หน้าที่ของไม้นอนแนบคือช่วยกำกับกลอนมิให้รวน
ไม้ขัดเชิงกลอน คือไม้ไผ่ผ่าซีกเลาะข้อออกให้เรียบอย่างที่เรียกว่า ไม้สรร ไม้ขัดเชิงกลอนชุดหนึ่งมีจำนวน ๓-๔ อัน ใช้ขัดปลายกลอนตรงใกล้กับชายหลังคาขัดยาวไปตามเชิงชายคาแบบขัดแตะ เพื่อกำกับปลายกลอนมิให้รวนเสียระยะ
ข่มหลบ คือไม้ไผ่เลือกเอาขนาดที่ลำใหญ่ๆ นำมาผ่าตามยาวแล้วเลาะข้อออกให้หมด จะได้ตัวไม้รูปคล้ายกาบกล้วย จึงตัดให้ยาวเท่ากับอกไก่ นำมาวางครอบบนสันหลังคาเรือน ครอบทับจากที่มุงหลังคาตรงที่เรียกว่าจากหลบ เพื่อบังคับจากหลบและกันฝนรั่ว
ไม้ข้างควาย คือไม้ไผ่ผ่าซีกอย่างไม้สรรตัดให้มีขนาดยาวเท่าๆ กับอกไก่ ไม้ข้างควายสำหรับเรือนหลังหนึ่งๆ ใช้จำนวน ๒ อัน ไม้ทั้งคู่นี้ตรงด้านข้างเจาะทำเป็นช่องยาวๆ คล้ายรูปตัวตะปูดอกเห็ด ขนานไปตามหน้าไม้เว้นระยะห่างกันพอสมควรสำหรับสอดไม้เสียบหนู ไม้ข้างควายใช้วางกระหนาบขนานริมไม้ข่มหลบอยู่ทั้งสองข้าง เพื่อช่วยไม้ข่มหลบบังคับจากหลบให้แนบกับอกไก่
ไม้เสียบหนู คือไม้ไผ่ตัดเอาเนื้อไม้ตรงปล้อง ผ่าออกให้เป็นซีก ตัดให้ยาวประมาณ ๒ คือ เหลาปลายด้านหนึ่งให้อ่อนโค้งและแหลมคล้ายหัวเรือชะล่า ส่วนปลายด้านตรงกันข้ามตัดให้โผล่ขึ้นเล็กน้อย แล้วเจียนเนื้อไม้ตรงกลางเว้าลงไปจนทำให้ได้รูปร่างทั้งอันคล้ายเบ็ดตกปลาไม้เสียบหนูนี้ให้สำหรับสอดเข้าไปที่ช่องด้านข้างไม้ข้างควายข้างหนึ่ง และให้ทะลุจากหลบออกไปสอดติดอยู่กับช่วงในไม้ข้างควายอันที่อยู่อีกด้านหนึ่งของหลังคา เพื่อรั้งไม้ข้างควายให้บีบและหนีบริมข่มหลบให้มั่นคงยิ่งขึ้น ฉะนั้นไม้เสียบหนูจึงต้องมีจำนวนหลายอันให้พอที่จะสอดรั้งไม้ข้างควานให้แน่น กระนั้นก็ดีการทำไม้เสียบหนูก็ใช่ว่าจะทำตามจำนวนเท่าใดก็ได้ ด้วยมีคติความเชื่อแต่กาลก่อน มีปรากฎในตำราปลูกเรือนว่าไว้เป็นสิ่งควรรับฟังดังนี้
“ประการหนึ่ง ให้ทำไม้เสียบหนูอาริยะ ท่านให้ทำแต่ ๓ ๕ ๗ ๙ ๑๑ เป็นสวัสดีแล
ห้ามมิให้ทำ ๒ ๔ ๖ ๘ ๑๐ ๑๒ จะอัปรีย์มีทุกข์มากแล”
ปั้นลม คือกรอบไม้กำกับหัวหลังคาเรือนทั้งสองข้าง  เพื่อป้องกันลมมิให้ตีหัวจากมุงหลังคาเปิดปลิวปั้นลมทำด้วยไม้ไผ่มีอยู่ด้านละ ๒ ลำ ไม้ที่ใช้ทำต้องเลือกลำตรงๆ และขนาดเขื่องๆ นำมาวางทาบจับให้เป็นคู่ วัดระยะจากหัวไม้เข้ามายาวประมาณ ๑ ศอก จึงเจาะรูให้ทะลุตลอดถึงกันทั้งสองลำ แล้วสอดไม้ร้อยให้ติดกันทั้งคู่ ต่อไปก็ถ่างปลายไม้ออกจากกัน นำขึ้นไปวางคล่อมบนหัวอกไก่ ขาทั้งสองข้างไม้ปั้นลมจัดให้วางพาดบนหัวแปเป็นลำดับลงมาทั้งสองด้าน
จั่ว คือฝาแผงแบบหนึ่งรูปร่างเป็นสามเหลี่ยม ใช้สำหรับปิดด้านสกัดหัวและท้ายหลังคาเรือน เพื่อกันแดด ลม และฝน จั่วเรือนเครื่องผูกส่วนมากกรุด้วยไม้ตับจากซ้อนทับกันเป็นแนวขวางจำนวนค่อนข้างถี่ แต่ที่กรุด้วยใบตาลหรือแฝกก็พอมีอยู่บ้าง
ฝาเรือน ฝาคือเครื่องกำบังหรือเครื่องกั้นของเรือน ฝาเรือนตามปกติทำสำเร็จเป็นแผงๆ เสียก่อนจึงนำไปกั้นหรือห้อมล้อมเรือน แต่ที่กั้นเป็นฝาติดกับตัวเรือนเลยก็มี และฝาเรือนเครื่องผูกยังมีแบบต่างๆ หลายแบบ ซึ่งจะอธิบายต่อไปโดยลำดับดังนี้
ในชั้นต้นนี้ขอแนะนำให้รู้จักชื่อ ลักษณะ และตำแหน่งฝาต่างๆ สำหรับกั้นหรือกำบังเรือนเสียก่อน ฝาที่ใช้กั้นสำหรับเรือนเครื่องผูกมีชื่อเรียกตามลักษณะนามว่า “แผง” หรือ “ฝาแผง” ทั้งนี้ก็โดยเหตุที่ฝาส่วนมากกั้นด้วยเครื่องกั้นชนิดที่ทำสำเร็จรูปมีลักษณะเป็นแผง ซึ่งส่วนมากเป็นรูปสี่เหลี่ยมเรียกตามลักษณะต่างๆ กัน เช่น ลำแพน และขัดแตะ เป็นต้น
ฝาสำหรับเรือนหลังหนึ่งๆ มีลักษณะและที่ตั้งอยู่ในตำแหน่งต่างๆ กัน ฝาซึ่งกั้นอยู่ทางด้านข้างตามความยาวของเรือนเรียกว่า ฝาเรียง เหตุที่เรียกเช่นนี้เพราะใช้แผงฝากั้นเรียงต่อกันตั้งแต่สองแผงขึ้นไป ส่วนฝาที่กั้นอยู่ทางด้านหัวและท้ายเรือนเรียกว่า “ฝาหุ้ม” เหตุที่มีชื่อเช่นนี้เนื่องมาแต่วิธีการเข้าฝา คือฝาหุ้มจะทำกว้างกว่าตัวเรือนข้างละเล็กน้อย เมื่อเข้าฝาด้านนี้ริมฝาจะปิดหุ้มริมฝาด้านข้างของฝาเรียงไว้ทั้งหมดนั่นเอง ฝากั้นขวางในตัวเรือนเพื่อแบ่งเป็นห้องเรียกว่า ฝาระจัน และฝากั้นอยู่ตอนหัวและท้ายระเบียงใต้พาไลเรียกว่า “ฝาเสี้ยว” เหตุที่ชื่อเช่นนี้ก็เนื่องมากแต่ว่า รูปร่างของฝาไม่เป็นรูปสี่เหลี่ยมดังเช่นฝาชนิดอื่นๆ ทั้งนี้ก็โดยที่ส่วนปลายฝาหรือด้านบนของฝาทำให้เพล่เฉลียงลงตามความลาดของหลังคาพาไลซึ่งคลุมระเบียงอยู่ จึงแลดูเป็นรูปเสี้ยวไม่เป็นแผงฝาสี่เหลี่ยม
ฝาเรือนเครื่องผูกมีอยู่หลายแบบ ฝาแต่ละแบบที่นำมาพรรณนาต่อไปในที่นี้ล้วนเกิดขึ้นด้วยเหตุที่มาแต่การใช้วิธีการต่างๆ ในการนำเอาวัสดุมาประกอบเข้าด้วยกันให้เป็นฝา หรืออย่างที่ช่างปลูกเรือนเขาเรียกว่า “วิธีเข้าฝา” เพื่อให้ได้สิ่งกั้นหรือกำบังเรือนเป็นสำคัญ ส่วนแบบฝาที่งามๆ แปลกๆ ต่างๆ นั้นล้วนแต่เป็นความคิดและการประดิษฐ์ทำขึ้นในโอกาสที่มีเวลาว่างมากๆ หรือมีทุนทรัพย์ยิ่งขั้น ก็อาจจะคิดทำฝาให้มีแบบพิสดารแตกต่างออกไปไม่มีที่สิ้นสุดได้ แบบฝาเรือนเครื่อง ผูกทั่วไปในพื้นบ้านตามชนบทมีแบบต่างๆ ต่อไปนี้
ฝาจาก ฝาแบบนี้กรุฝาด้วยใบจากที่เย็บสำเร็จเป็นตับ นำมาเข้าเป็นฝาด้วยวิธีผูกร้อยตับจากติดกับไม้คร่าวฝา โดยเรียงตับจากทับกันจากหัวฝาลงมาหาตีนฝา ต้านข้างนอกเรือน มีไม้ไผ่ผ่าซีกพาดกระหนาบตามแนวนอน ทับปลายตับจาก เป็นระยะเพื่อกันคนเลิกฝา ไม้กระหนาบฝานี้ผูกร้อยติดกับไม้คร่าวฝาที่อยู่ด้านในตัวเรือน
ฝาทางจาก ฝาแบบนี้ใช้ทางจากที่มีใบจากทับกันไปตามความยาวและความกว้างของเรือน โดยผูกทางจากให้ติดกับคร่าวที่พาดตามแนวขวางอยู่ข้างในเรือน ฝาแบบนี้จะแลเห็นทางจากเป็นเส้นตั้งขึ้นมีระยะเท่าๆ กันเป็นแนวฝา และช่วงว่างระหว่างทางจากแต่ละอันจะเห็นใบจากที่ได้รับการจัดเรียงเป็นเส้นทะแยงไปทางเดียวกันอย่างมีระเบียบ เป็นฝาที่มีความงามในตัวของมันเองพอสมควร
ฝากระแชงอ่อน เป็นฝาที่ใช้ใบจากอ่อนหรือใบเตย นำมาเย็บเพลาะเข้าเป็นผืน แล้วกระหนาบด้วยซีกไม้ไผ่ซึ่งสานเป็นตารางไว้ทั้งสองด้านริมฝาเข้าไม้เป็นกรอบประดับทั้ง ๔ ด้านเพื่อช่วยให้มั่นคงขึ้น ฝากระแชงอ่อนเป็นฝาชนิดแผง คือทำให้สำเร็จเป็นแผงก่อนจึงนำเข้าไปกั้นกับตัวเรือน
ฝาสาน ฝาสานหรือฝาลำแพนก็เรียก ใช้ไม้ไผ่จักเป็นซี่แบนยาวหรือใช้ขี้ไม้จักเป็นซี่แบนๆ นำมาสานขึ้นเป็นผืน แล้วเข้ากรอบทั้ง ๔ ด้านยกขึ้นกั้นทำเป็นฝาเรือน ฝาสานนี้มีชื่อเรียกต่างกันออกไปตามลวดลายที่สานก็มี เช่น ฝาลายอำ ฝาลายสอง เป็นต้น
ฝาขัดแตะ เป็นฝาที่ใช้ไม้ไผ่ซีกแบนๆ สอดขัดกับไม้เซ็นซึ่งทำหน้าที่เป็นคร่าวฝาทางนอนตั้งขึ้นไป โดยเอาไม้ซีกขัดด้านนอกเซ็นหนหนึ่ง แล้วขัดด้านในเซ็นหนหนึ่งสลับกันไปจนสิ้นความยาวของไม้ซีก ฝาขัดเป็นฝาที่มีความมั่นคงกว่าฝาแบบต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแต่ข้างต้น
ฝาสอด เป็นฝาแบบหนึ่ง ที่ส่วนประกอบฝาค่อนข้างซับซ้อนพอสมควร กล่าวคือฝาแบบนี้มีคร่าวทำด้วยไม้ไผ่ตั้งรายขึ้นแต่พื้นเรือนไปชนหัวแป ไว้ช่องระหว่างคร่าวแต่ละอันประมาณ ๑ ศอก โคนคร่าวทำเป็นปากไม้ ๒ ขา จัดให้นั่งคร่อมอยู่บนไม้รับตีนคร่าว ส่วนปลายคร่าวเจาะเป็นช่อง โตพอสมควร สอดไม้ร้อยหัวคร่าวแต่ละอันกำกับให้หัวคร่าวอยู่ในแนวเดียวกัน ลำต้นคร่าวแต่ละต้นเจาะเป็นช่องๆ ไว้
ระยะห่างกันพอควร จึงสอดไม้เซ็นหรือบางถิ่นเรียกว่า “ลูกนายฝา” ช่องละคู่หนึ่งแล่นยาวไปตามแนวฝา ต่อจากนี้จึงเอาใบจากอ่อนคลี่ออกสอดลงในระหว่างกลางไม้เซ็นทั้งคู่ สอดยาวลงไปในระหว่างกลางเสาคร่าวแต่ละอันจนเต็มหน้าฝา ก็จะได้ฝาสอดแบบหนึ่ง
ฝาสอดแบบนี้ ในบางถิ่นเปลี่ยนชื่อวัสดุที่กรุฝาเป็นอย่างอื่นก็มี คือใช้ผืนฟากสอดลงตรงกลางระหว่างไม้เซ็นแต่ละคู่ๆ จนเต็มผืนฝาแทนการใช้ใบจาก ฝาสอดแบบนี้จึงมีความมั่นคงแข็งแรงกว่าฝาสอดแบบแรก
ฝาหอยโฃ่ง เป็นฝาอีกแบบหนึ่ง มีโครงสร้างคล้ายกันกับฝาสอด แต่มีที่ต่างกันตรงกรุฝา การกรุฝาหอยโข่งใช้ไม้ไผ่ซี่เล็กๆ สอดเป็นแนว ตั้งขึ้นมาขัดไม้เซ็นเหมือนทำฝาขัดแตะ และไม้เซ็นมีช่วงละชิ้นเดียว ไม่ทำเป็นคู่อย่างที่ใช้กับฝาสอด ฝาหอยโข่งควรกล่าวได้ว่าเป็นฝาที่มีความมั่นคง แข็งแรงกว่าฝาเรือนแบบอื่นๆ ทั้งหมด ที่ใช้เป็นฝากั้นเรือน เครื่องผูก
ฝาเรือนเครื่องผูกอาจมีแบบต่างๆ ออกไปจากที่กล่าวในที่นี้อีกมาก เช่น ฝาใบตองตึง ฝาต้นแยง ฯลฯ ซึ่งเป็นแบบที่มีพื้นฐานในการเข้าฝาไม่สู้แตกต่างไปจากวิธีการ และแบบของฝาดังได้กล่าวมาแต่ข้างต้น จึงงดไว้เสียจะไม่พรรณนาให้ยาวต่อไปกว่านี้
เครื่องมุง คือสิ่งที่นำมาปกปิดส่วนบนของเรือน หรือหลังคาเรือน เพื่อกันแดด กันฝน เครื่องมุงหลังคาเรือนเครื่องผูกทั่วไปในภาคกลาง ภาคใต้นิยมใช้จากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือนิยมใช้แฝก และภาคเหนือนิยมใช้ใบตองตึง จากก็ดี แฝกและใบตองตึงก็ดี เมื่อนำมาใช้ทำเป็นเครื่องมุง จำต้องนำมาเย็บร้อยทำเป็นคบโดยไม้ไผ่ซีกยาวๆ ขนาดเล็กกว่านิ้วก้อยเล็กน้อยสอดทำเป็นโครงตับ เรียกว่า “ไม้ตับจาก” หรือถ้าทำตับแฝก ตับใบตองตึง ก็ต้องมีไม้นี้สอดเป็นกระดูของเครื่องมุงแต่ละตับเช่นกัน
ไม้ทับหลังคา เป็นไม้ไผ่ท่อนยาวๆ ร้อยหัวไม้เป็นคู่ๆ แล้วถ่างปลายออกนำไปวางคล่อมลงบนสันหลังคาเรือน เว้นระยะห่างๆ กัน ทำหน้าที่ทับเครื่องมุงหลังคามิให้ลมตีตลบหลังคา
แม่กระได เรือนเครื่องผูกทั่วไปยกพื้นเรือนสูงอยู่เหนือระดับพื้นดินอย่างน้อย ๑ เมตร ดังนั้นการขึ้นและลงเรือนจึงต้องทำกระไดใช้เป็นทางขึ้นลง แม่กระได ทำด้วยไม้ไผ่คู่ เจาะด้านข้างให้เป็นช่องเหนือข้อ ช่องสำหรับสอดลูกกระไดขั้นต่ำสุดต้องเจาะให้ทะลุทั้งสองข้าง และช่องที่ใช้สอดกระไดขั้นบนสุดก็ต้องเจาะทำนองเดียวกัน ส่วนช่องสอดลูกกระไคระหว่างขั้นแรกและขั้นสุดท้าย ไม่ต้องเจาะให้ทะลุรอดออกไป ลูกกระไดทำด้วยไม้ไผ่ผ่าซีก ลบเหลี่ยมให้หมดคม นำมาสอดขวางอยู่ระหว่างไม้แม่กระได ทั้งคู่โดยตั้งด้านหนาขึ้น ลูกกระไดลูกล่างสุดและลูกบนสุดนั้นต้องทำให้ยาวกว่าลูกอื่น เมื่อสอดเข้าไปในช่องแล้วจะ เหลือปลายยื่นออกมาทั้งสองข้าง ทำเช่นนี้ไว้สำหรับเจาะรูที่หัวไม้ลูกกระได เพื่อใส่สลักบังคับมิให้แม่กระไดทั้งตรงหัว และตีนกระไดแยกออกจากกัน
อนึ่ง การทำขั้นกระไดขึ้นเรือน มีจำนวนขั้นกี่มากน้อยจึงจะดี หรือไม่ดีอย่างไร มีคำคนแต่ก่อนท่านกล่าวไว้ เป็นความควรรับฟังว่า “กระไดขั้นคู่กระไดผี กระไคขั้นคี่ กระไดคน” ซึ่งหมายถึงจำนวนขั้นที่เป็นเลขคู่คือ ๒๔๖๘ เป็นกระไดผี ขั้นกระไดที่เป็นเลขจำนวนี่ คือ๑๓๕๗๙ เป็นกระไดคน คติความเชื่อเช่นว่านี้ได้ยินท่านผู้ใหญ่ให้คำอธิบายไว้ว่า กระไดขั้นคู่นั้น ลูกกระไดขั้นสุดท้ายมักจะอยู่ในระดับเสมอพื้นเรือนหรือพื้นชาน เวลาก้าวขึ้นก้าวลงก็ดีมักเกิดเป็นเหตุขึ้นด้วยขาดการระมัดระวัง เพราะแต่ก่อนนั้น กระไดเรือนมิได้ทำติดถาวรมั่นคงกับตัวเรือน เป็นกระไดที่พาดก่ายเกยริมเรือนริมชานไว้เปล่าๆ อาจถอนชักขึ้นเก็บไว้บนเรือนในตอนค่ำๆ เพื่อกันมิให้คนแปลกหน้าล่วงขึ้นเรือน
และจะทอดลงมาพาดไว้ในตอนกลางวันใช้เป็นทางขึ้นลงตามปกติ ธรรมเนียมทำกระไดเช่นนี้พึงเห็นตัวอย่างได้จากบทละครเรื่องระเด่นลันได ของพระมหามนตรี (ทรัพย์) ตอนหนึ่งว่า
“เมื่อนั้น
โฉมระเด่นลันไดใจหาญ
ครั้นพลบค่ำเข็นบันไดไว้นอกชาน
ยกเชิงกรานสุมไปใส่ฟืนตอง”
การที่กระไดยกถอดย้ายได้เช่นนี้ จึงเมื่อเอากระได พาดเข้ากับเรือนแต่ละวันๆ ย่อมมีโอกาสคลาดเคลื่อนได้เช่น พาดสูงบ้างต่ำบ้างถ้าพาดสูงไป ลูกกระไดที่อยู่ข้างบนสุดลอยอยู่เหนือพื้นชาน ก็อาจเป็นเหตุให้ก้าวขึ้นแล้วมักถีบกระไดให้หักหนีออกไปจากเรือน ทำให้คนผู้นั้นเสียการทรงตัว อาจหงายหลังตกลงไปได้ หรือเมื่อพาดกระไดต่ำ ลูกกระไดขั้นบนสุดอยู่ต่ำกว่าพื้นชานเล็กน้อยก็ไม่ดีอีก เพราะจะทำให้ก้าวไม่พ้น ปลายเท้าไปสะดุดพื้นริมชาน อาจจะทำให้ลมขะมำไปข้างหน้า ดังนี้คนแต่ก่อนจึงกำหนดให้ทำขั้นกระไดเป็นจำนวนคี่ ขั้นสุดท้ายข้างบนให้เหลือระยะที่จะพาดพื้นชานเท่ากับความกว้างของลูกขั้นแต่ละลูก ก็จะ พอเหมาะแก่การก้าวขึ้นลง ทั้งนี้โดยอาศัยพื้นชานเป็นขั้นกระไดแถมมาเป็นจำนวนคู่อยู่ในตัวด้วย
ไม้ร้อย ตัวไม้ขนาดเล็ก ทำด้วยไม้ไผ่ เหลาเป็นท่อนกลมยาวคล้ายตะเกียบ ใช้สำหรับร้อยหัวกลอน หัวปั้นลม หัวจันทัน เป็นต้น
ลูกประสัก ตัวไม้ขนาดเล็ก ทำด้วยไม้ไผ่เหลาเป็นท่อนกลมปลายเรียว ใช้สำหรับดอกเพื่อเป็นที่มั่น ในการผูกรั้งเครื่องเรือน
จากหลบ คือจากส่วนที่คลุมอยู่บนสันของหลังคาเรือน ใช้จากมาเย็บร้อยตรงส่วนโคนใบเข้าด้วยกัน คล้ายกับใบปกแฟ้มหนังสือ จึงนำไปครอบลงบนสันหลังคาทับอยู่ตามแนวไม้อกไก่ เพื่อกันฝนรั่วเข้าในเรือน
กลอนใบพัดหรือกลอนหางปลา คือตัวไม้ ที่เป็นโครงหลังคาไขราปีกนก ตรงที่ต่อออกมาหน้าตีนจั่ว กลอนตรงนี้มิได้วางทอดออกไปตรงๆ แต่วางคลี่ออกไป คล้ายโครงพัดด้ามติ้วหรือหางปลาช่อน จึงเรียกกันว่า กลอนใบพัด หรือกลอนหางปลา
กรอบประตูหน้าต่าง กรอบประตู- หน้าต่าง ทำด้วยไม้ไผ่นำมาตัดต่อเข้าเป็นกรอบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านในของกรอบตัวยืนเจาะเป็นช่องสอดไม้เซ็น ขวางลงเป็นระยะห่างเท่าๆ กันจึงใช้ไม้ซีกสอดตั้งขัดแตะขึ้นไป กรุเป็นบานประตูหรือบานหน้าต่าง
วิธีปลูกเรือนเครื่องผูก
การปลูกเรือนเครื่องผูก ไม่สู้เป็นการเอิกเกริกวุ่นวายเหมือนกับการปลูกเรือนประเภทเครื่องสับ หรือเรือนฝากระดานที่ต้องทำกันอย่างเป็นพิธีรีตองมาก ทั้งนี้จะพึงเห็นได้โดยอาศัยความที่คนแต่ก่อนเขียนไว้และเหลือตกมาถึงปัจจุบัน มีปรากฏอยู่ในหนังสือเก่าเล่มหนึ่ง ซึ่งพรรณนาว่าด้วยการปลูกเรือนเครื่องสับ ความว่า
“บัดนี้เวลากาลจวนกฤษ์ยาม จงชวนกันกระทำตามประ¬เพณี เอาแป้งหอมน้ำมันดีมาจี้เจิมเฉลิมเข้า เอาน้ำมนต์ประพรมเสาเอายันต์ปิดเข้าจงเร็วไว กันฟ้ากันไฟโพยภัยทั้งหลาย จวนฤกษ์พรรณรายวุ่นวายแต่งตัว เอามงคลแจกทั่ว ตามอย่างตามธรรมเนียม เอะอะตระเตรียม พร้อมพรั่งตั้งใจ ประคองเสาเข้าไว้ คอยท่านผู้ใหญ่บัญชา พอได้ฤกษ์เวลา ปลูกกล้วยเป็นทอง ท่านจึงให้ลั่นฆ้อง เข้าเป็นสำคัญ โห่เลื่อนลั่นขึ้นสามลา
ผู้เฒ่ามาประพรมน้ำมนต์ ทุกตัวตนล้วนคนขยัน ยกเสาพลันทันท่วงที่ เสียงมะมี่วิ่งไปมา ฉวยมีดพร้า คว้าสายระยาง ทำต่างต่างตามจำนง ยกเสาส่งตรงเสือกใส่ สำคัญได้ดังใจหมาย ขื่อทั้งหลายรายทุกเสา ดั้งสอดเข้าถึงที่ดี แปรยาวรีส่งขึ้นไป จันทันใส่อกไก่สับ ดั้งแขวนปรับปรุงขยันเหยียบจันทันถูกท่าทาง แปลานวางถูกจังหวะเหล็กตาปูกะประกอบดี ขวานต่อยตีจงแน่นแฟ้น จับปลิงแขวนแน่นประกับแปหัวเสาสับเสร็จทันใด คนเข้าใจให้เชิงกลอน จวนแดดร้อนเร่งรัดทำบ้างส่งน้ำแจกหมากพลู คนผู้รู้ให้ปั้นลม กลอนระดมดูเรียบร้อย เหล็กตาปูน้อยต่อยตีเสร็จ มุงทำสำเร็จ กระเบื้องหลบ พรึงฝาครบพื้นกระดาน พอเสร็จการประกอบฤกษ์ เวลาเลิกเลี้ยงอาหาร คาวหวานเรียง วรารส อิ่มหนำหมดทุกตัวตน แต่บรรดาคนที่มาช่วยต่างอำนวยอวยพระพร ให้ท่านเป็นเศรษฐีถาวรภูลสวัสดิ์ ประกอบไปด้วยสิริสุขสมบัติเจริญดี ให้โห่ขึ้นสามที ลั่นฆ้องอวยชัย”
อาศัยความว่าด้วยการปลูกเรือนประเภทเครื่องสับหรือเรือนฝากระดาน ดังที่คัดมาแสดงนี้ คงจะพอช่วยให้นึกเห็นภาพการปลูกเรือนประเภทดังกล่าวได้บ้างว่าเป็นพิธีรีตองอย่างมาก แต่การปลูกเรือนประเภทเครื่องผูกนั้น เป็นการไม่วุ่นวายหนักหนา ไม้ไร่ จากคา หรือก็เป็นของที่มีอยู่ไม่ไกลมือ อาจหยิบฉวยมาใช้ทำเรือนได้ไม่ทันนาน ส่วนช่างที่จะทำเรือนนั้นเล่าก็อาศัยออกปากบอกแขกเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงที่พอมีความเข้าใจปลูกเรือนมาช่วยกันคนละแรงสองแรงตามกำลังของผู้มีน้ำใจแก่กัน ก็อาจปลูกเรือนขึ้นได้สำเร็จด้วยเวลาไม่นานวัน ซึ่งเวลาที่ใช้ในการทำเรือนเครื่องผูกนี้จะกินเวลาอยู่ในระหว่าง ๗-๑๐ วันไม่มากหรือน้อยไปกว่านี้ แม้แต่ก่อนอาจไม่มีเครื่องทุ่นแรงมือต่างๆ ที่ช่วยให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานดีเท่าสมัยปัจจุบันก็ดีช่างปลูกเรือนเครื่องผูกทำเรือนหลังหนึ่งๆ ก็ใช้เวลาตกอยู่ในระหว่าง ๗-๘ วันเท่านั้น ความข้อนี้พึงเห็นได้จากบันทึกของชาวต่างประเทศคนหนึ่งที่ได้เข้ามาเห็นเมืองไทยเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานี ว่า
“วันรุ่งขึ้น เราออกเดินทางต่อไปถึงพระประแดง ซึ่งทางการเตรียมเรือนพักหลังแรกไว้ให้อาคารหลังเล็กๆ นี้ แม้จะใช้เวลาปลูกสร้างเพียงแปดวัน ด้วยฝาเสื่อลำแพนและพื้นฟากก็แข็งแรงและน่าอยู่พอสมควร”
วิธีการปลูกเรือนเครื่องผูกตามพื้นบ้านในชนบทในเมืองไทย ซึ่งเป็นวิธีที่ชาวบ้านทำเรือนขึ้นเป็นที่อยู่อาศัยอยู่กันโดยทั่วไปนั้น มีวิธีการโดยลำดับต่อไปนี้
เมื่อแรกจะปลูกเรือนนั้น ในชั้นต้นต้องปราบและฉายพื้นที่ดินบริเวณที่ได้กำหนดขึ้นให้เป็นที่ปลูกทำเรือนเสียก่อน การปราบที่ก็คือการตัดรอน ถอนต้นไม้ หลักตอ และหินผาอันเป็นสิ่งที่กีดขวางต่อการที่จะปลูกเรือนลงในที่นั้นอย่างหนึ่ง กับทำการขุดคัดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ในที่นั้น ออกไปเสียให้พ้น ให้เป็นพื้นที่บริสุทธิ์สะอาดแก่การที่จะเป็นที่อยู่อย่างปกติสุขต่อไป การปลูกเรือนโดยมิได้ปราบที่เสียก่อน ท่านว่าหาความสุขสบายมิใคร่ได้ เพราะอาจไปพบปัญหาอย่างที่คนโบราณท่านกล่าวห้ามไว้ว่า “ อย่าปลูกเรือน คล่อมตอ” ทั้งนี้เนื่องมาแต่ตอไม้ที่ตัดทิ้งไว้ แล้วไม่ขุดคัดเอาไปทิ้งที่อื่นเสียก่อน เมื่อปลูกเรือนก็ทำคล่อมอยู่บนตอไม้ นั้น พอนานสักหน่อยตอผุลงไปก็กลายเป็นเชื้อให้มดบ้าง ปลวกบ้าง มาจับทำรังอาศัยแล้วก็ไต่ขึ้นมาทำความรำคาญ หรือทำลายสิ่งของบนเรือนต่อไป เหตุเช่นตัวอย่างนี้คนแต่ก่อนท่านจึงได้แนะนำว่าเมื่อแรกจะปลูกต้องปราบพื้นที่เสียก่อน ต่อไปจึงจัดการฉายที่คือเกลี่ยหน้าดินให้ราบเรียบเสมอกัน อย่าให้เป็นหลุมเป็นบ่อ และไม่ให้มีที่เขินขึ้นเป็นมูลดินได้จึงจะดี
พอปราบและฉายพื้นที่เรียบร้อยพร้อมอยู่แล้ว จึงจัดเอา “ไม้แม่เตาไฟ” มาประกอบกันเข้าเป็นกรอบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าให้ความกว้างและความยาวตามขนาดของเรือนที่จะปลูก โดยจัดวางกรอบ “ไม้แม่เตาไฟ” ลงบนพื้นดินตรงที่ที่ได้กำหนดจะปลูกให้เป็นเรือนขึ้นมา แล้วจัดกรอบ “ไม้แม่เตาไฟ” ให้ได้มุมได้ฉากพอดีแล้ว จึงจัดการปัก “ฉะมบ” คือ ไม้ไผ่ผ่าเป็นซีกยาวประมาณ ๑ ศอก เสี้ยมปลายให้แหลมเพื่อปักดินได้ การปักฉะมบคือการกำหนดที่หมาย ตำแหน่งหลุมเสาที่จะขุดขึ้นเพื่อฝังโคนเสาเรือนแต่ละเสา เมื่อจะปักฉะมบนี้ให้ปักตรงมุมร่วมในของ “ไม้แม่เตาไฟ” ทั้ง ๔ มุมก่อน จึงปักฉะมบตรงที่จะขุดหลุมปักเสาแบ่งห้องต่อไป โดยปักที่ร่วมในริมกรอบไม้แม่เตาไฟเท่านั้น พอปักฉะมบลงไว้เป็นที่หมายตำแหน่งหลุมเสาให้ครบทุกเสาแล้วจึงถอดกรอบ “ไม้แม่เตาไฟ” ออกไปเก็บพักไว้ที่อื่นก่อน งานต่อไปคือขุดหลุมเพื่อลงเสาต่อไป
การขุดหลุมเพื่อนำเสามาลงนี้ ให้ทำวงหลุมเสาโดยกำหนดให้หลักไม้ “ฉะมบ” เป็นศูนย์กลางหลุมเสา หลุมเสาของเรือนเครื่องผูกต้องขุดเป็นหลุมคู่กัน สำหรบเสาประเด หลุมหนึ่งกับสำหรับเสาตอหม้อหรือเสาหมออีกหลุมหนึ่ง ตำแหน่งหลุมของเสาจะต้องอยู่ถัดจากหลุมเสาประเดทางข้างของเรือนเสมอ หลุมเสาหลุมหนึ่งๆ ลึกประมาณ ๗๐-๘๐ เซนติเมตร หลุมที่ขุดลงไปในดินนี้ขั้นต้นมักใช้พร้าหัวเสียม ขุดหน้าดินที่ค่อนข้างแข็งก่อน พอถึงดินอ่อนจะเปลี่ยนเป็นขุดด้วยจำปา เพราะเมื่อขุดหลุมลึกลงไปมาก ย่อมไม่เป็นการสะดวกที่จะล้วงลงไปควักเอาขี้ดินขึ้นมา จึงต้องใช้จำปา ขูดสักลงในก้นหลุม กลีบจำปาก็จะหนีบเอาขี้ดินติดขึ้นมา เมื่อเวลาดึงกลับ ซึ่งอาจนำไปกระทุ้งทิ้งเสียในที่อื่นได้ง่าย หลุมเสาแต่ละหลุมต้องขุดให้มีลักษณะเป็น ‘’รุ้ง” คือให้ก้นหลุมผายออกเป็นดังตีนช้าง ส่วนปากหลุมให้ลงขนาดที่กำหนดไว้แต่เดิม ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการที่จะ “กระดี่” ตีนเสาเมื่อยกใส่หลุมให้ได้แนว ซึ่งต้องใช้ไม้กระดาน “แพน” ที่ปากหลุมทีละน้อยๆ ถ้าทำปากหลุมกว้างเท่ากัน หลุมเวลา “กระดี่” เสาให้เข้าแนวกระดานที่แพนจะกดปากหลุมให้ผายกว้างออกไปทำให้เสียวง และจับแนวเสายาก
เมื่อขุดหลุมเสาครบถ้วนทุกตำแหน่งแล้ว จึงจัดการยกเสาลงหลุม แต่ก่อนจะยกเสาต้องปู “แระ” ที่ก้นหลุม เพื่อรองตีนเสาแต่ละหลุมๆ เสียให้ครบจึงยกเสาประเดตั้งลง ในหลุมแรกที่มักอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือก่อน แล้วจึงลงเสาต้นต่อไปในหลุมที่อยู่ถัดไปทางซ้ายมือตามลำดับ จนเวียนมาบรรจบเสาคเนแรกที่ลงไว้ในหลุมต้น พอลงเสาประเดแล้วจึงปักเสาหมอ ลงในหลุมเทียบข้างเสาประเด แต่ละต้นๆ จัดการจัดระดับและปรับระยะความสูงต่ำของปลายเสา หมอแต่ละต้นให้เสมอกัน จึงใช้หวายมัดเสาหมอให้ติดแนบแน่นกับเสาประเดเป็นคู่ๆ
พอดั้งเสาประเดและเสาหมอขึ้นมั่นคงแล้ว ก็เอา “รอค” มาวางพาดบนปลายเสาหมอแต่ละคู่ๆ จัดการเจาะรูที่ใกล้กับปลายเสาหมอแต่ละต้น แล้วสอด “ลูกประสัก” ตอกให้ติดกับปลายเสา จึงใช้หวายมัดรั้งรอดลงมาผูกพันไว้กับลูกประสักนี้ให้แน่น ทำเช่นนี้ทุกตำแหน่งที่ไม้ “รอด” พาดทับหัวเสาหมอ ไม้รอดแต่ละตัวจะต้องเผื่อปลายไม้แต่ละข้างให้เหลือยาวออกไปจากขนาดความกว้างของตัวเรือน และเลยออกไปพ้นแนวเสาประเดพอสมควร
พอถึงตอนนี้ให้นำ “ไม้แม่เตาไฟ” ที่ถอดพักไว้ กลับมาประกอบเข้าเป็นกรอบสี่เหลี่ยมล้อมเสาเรือนทั้ง ๔ ด้าน โดยวางพาดไว้บนปลายรอด แต่นี้จะต้องจัดการจับแนวเสาเรือนให้ได้ระดับโดยอาศัย “ไม้แม่เตาไฟ” เป็นเครื่องบังคับเชิงเรือนพอจับแนวเสาได้สำเร็จจึงใช้หวายมัด หัวรอดให้ติดกับ “ไม้แม่เตาไฟ” ให้มั่นคง แล้วจึงจัดการกลบหลุมเหยียบดินให้แน่นๆ ทุกโคนต้นเสา
ขั้นต่อมา เอาไม้ขื่อขึ้นวางพาดประจำบนปลายเสา ประเดแต่ละคู่ๆ เจาะรูทำไม้ร้อยต่ำลงมาจากปลายเสาประมาณ ๑ คืบทุกต้นเสา แล้วใช้หวายผูกรัดรั้งขื่อให้กดทับหัวเสาแนบแน่นโยงลงมาพันกบ “ไม้ร้อย” ทั้งสองข้าง โดยผูกถักแบบ “หูกระพง”
พอวางขื่อประจำหัวเสาครบทุกต้นเสาแล้ว ก็นำไม้ “แป” ขึ้นไปวางพาดทางด้านข้างเรือนทับลงบนปลายขื่อทั้งสองข้าง แล้วจัดการผูกมัด “แป” ให้ติดกับปลาย “ขื่อ” ทุกตัวให้มั่น
“ขื่อ” และ “แป” ประจำหัวเสานี้ ทำหน้าที่เป็นกรอบบังคับทรงเรือนตอนบนเช่นเดียวกับ “ไม้แม่เตาไฟ” ซึ่งทำหน้าที่บังคับรูปทรงเรือน อยู่ทางตอนกลางเรือน
ต่อไปเอาเสาดั้งนั่งบนกลางเสารอดอันที่อยู่ทางหัวและทำยเรือน ตั้งสอดผ่านหลัง “แป” ขึ้นไป ทำไม้ร้อยที่ตีนเสาผูกรั้งด้วยหวายผูกติดกับท้องรอด ตอนกลางเสาผูกมัดติดกับกลางขื่อ ส่วนขื่อตรงกลางห้องนั้นมักจะไม่ทำเสาดั้งแต่จะตั้ง “ใบดั้ง” ขึ้นไปบนหลังขื่อ โคนใบดั้งเจาะรูสอด “ไม้ร้อย” เช่นเดียวกับตีนเสาดั้ง แล้วผูกรั้งไว้กับท้องขื่อประจำห้อง
พอตั้ง “เสาดั้ง” และ “ใบดั้ง” พร้อมแล้ว นำเอาไม้ “กบทู” ขึ้นวางพาดบนปลาย “เสาดั้ง” และ “ใบดั้ง” ยาวไปตามตัวเรือน ที่ปลาย “เสาดั้ง” และ “ใบดั้ง” เจาะรู ทำไม้ร้อยใช้หวายผูกรั้งให้กบทูทอดแนบแน่นบนปลายไม้ทุกอัน
นำเอาไม้ “จันทัน” แต่ละคู่ๆ ที่ร้อยหัวไม้ให้ติดกัน แล้ววางคล่อม
ลงบนหลังไม้ “กบทู” ปล่อยให้ปลาย “จันทัน” แต่ละข้างวางทาบทับอยู่บนหลัง “แป” หัวเสาจัดวางจันทัน แต่ละคู่ๆ ให้ห่างกัน เว้นระยะกว้างเท่าๆ กัน
เอาไม้ “อกไก่” ขึ้นวางพาดทับบนง่ามไม้หัว “จันทัน” ที่ไขว้กันไว้แต่ละคู่ๆ ทอดไปตามยาวของเรือน ตอนนี้จะต้องผูกรั้ง “ไม้อกไก่” ไว้กับไม้ “กบทู” โดยใช้หวายผูกรัดเป็น “หูกระพง” อยู่ระหว่างกลาง “จันทัน” แต่ละคู่
ขั้นต่อมาจึงจัดส่ง “แปลาน” และ “แปเชิงชาย” ขึ้นไปจัดวางลำดับทับลงบนหลัง “จันทัน” ยาวไปตามตัวเรือน เว้นระยะห่างเท่าๆ กันจากข้างบนสันหลังคาลงมา แล้วผูกรัดแปให้ติดมั่นกับ “จันทัน” แต่ละตัวๆ
นำเอาไม้ “กลอน” แต่ละคู่ที่จัดการร้อยหัวไว้เป็นคู่ๆ ซึ่งทำเตรียมไว้เช่นเดียวกับไม้จันทน ขึ้นไปวางคล่อมทับบนหลัง “อกไก่” ปล่อยให้ขากลอนแต่ละข้างทอดทับบนหลัง “แป” ตัวบนสุดลงมาตามลำดับ แล้วจัดวางกลอน แต่ละคู่ วางให้มีระยะห่างเท่าๆ กัน แต่ต้องถือหลักว่า วางกลอนให้ตรงแนวจันทันจั่วและจันทันประจำห้องเสียก่อน จึงแบ่งระยะวางกลอนในระหว่างห้องให้ห่างเท่าๆ กันโดยลำดับ
พอจัดวาง “กลอน” ได้ตรงตามตำแหน่งและจังหวะดีแล้ว จึงเอาไม้ “นอนแนบ” ขึ้นวางพาดขวางทับบนหลัง “กลอน” ทอดเป็นแนวตามความยาวของหลังคา ตรงแนวของแปลานและแปเชิงชายที่อยู่ข้างใต้ มัดหลังไม้ “นอนแนบ” ลงไปผูกกับท้อง “แป” เพื่อประกับ “กลอน” ให้ ติดแน่นกับ “แป” ทุกๆ ตัว
ตรงปลาย “กลอน” หรือ เชิงชายคา นำเอาไม้ไผ่ ผ่าซีกที่เรียกว่า “ไม้ขัดเชิงกลอน” มาทำการขัดยกหนึ่งข่มหนึ่งสลับกันไปประมาณข้างละ 3-4 ซีก เพื่อประกับเชิงกลอนมิให้รวน
พอมาถึงขั้นนี้ กล่าวได้ว่าปรุงรูปทรงโครงร่างของเรือนสำเร็จเป็นหลังหนึ่งแล้ว งานขั้นต่อไปคือขั้นตอนทำการมุงหลังคาเรือนต่อไป
การมุงหลังคาเรือนในที่นี้จะอธิบายเฉพาะวิธีมุงด้วยเครื่องมุงที่เป็นจากเท่านั้น ส่วนเครื่องมุงชนิดอื่นจะยกไว้ เพราะวิธีการไม่สู้ต่างกว่าวิธีมุงด้วยจากกี่มากน้อย
ใบจากเป็นใบของต้นไม้ชนิดหนึ่งในจำพวกปาล์ม ขึ้นเป็นกอ เกิดอยู่ตามป่าชายเลนที่น้ำเค็มขึ้นถึง ใบจากที่ตัดออกจากทางจากนำมาเย็บเพลาะกันเข้าให้มีรูปร่างสี่เหสี่ยมผืนผ้าเรียกว่า “ตับ” จากตับหนึ่งๆ มีความกว้างประมาณ ๔๐-๕๐ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๑.๕๐ เมตร
วิธีมุงหลังคาด้วยจาก เริ่มด้วยเอาตับจากวางพาดบนหลังไม้กลอนทางตอนล่างก่อนจึงใช้ตอกไม้ไผ่ร้อยหัวจากให้ทะลุลงไปข้างใต้ เกี่ยวกระหวัดรัดไม้ “กลอน” แล้วปิดปลายเส้นตอกทั้งคู่ให้เป็นเกลียว จึงสอดปลายตอกเหน็บไว้ กับตอกรัดข้างไม้กลอน ทำเช่นนี้เป็นระยะที่ตับจากทับอยู่ตรงไม้กลอน จึงวางจากตับต่อไปทับจากตับแรกกะให้หัว จากห่างกันพอสมควร ตามปกติที่มุงกันอยู่ทั่วไปมักจัดหัวจากให้ห่างกันประมาณชั่วฝ่ามือเรียกว่า “มุงถี่” แต่ถ้าทุนทรัพย์น้อยไม่พอที่จะใช้จากมากๆ ก็จะจัดหัวจากให้ห่างกว่านี้ก็ได้ อย่างที่มีตัวอย่างกล่าวไว้ให้เห็นได้ในเรือนของชูชก ในมหาเวสสันดรชาดกว่า
“เกลากลอนใส่ซีนครุคระ มุ่งจะจากปรุโปร่ง แลตะละโล่งลอดเห็นฟ้า”
การมุง “จะจะ” คือมุงจากห่างๆ ไม่เบียดหรือซ้อนกันมาก ทำให้หลังคาเกิดมีช่องอยู่ทั่ว ไม่สู้จะกันฝนได้
ทำการมุงหลังคาด้วยการนำเอาตับจากซ้อนทับแล้วร้อยลงไปผูกพันกับกลอนเป็นลำดับขึ้นไปจนชนแนวไม้อกไก่ ทั้งสองด้าน ก็จะเกิดเป็นหลังคาเรือน ๒ ตับคลุมอยู่ด้านละตับ พอคุ้มแดดกันฝนให้แก่คนที่อยู่ข้างใต้เรือนได้แล้ว แต่ยังไม่เป็นการเรียบร้อยพอ
งานที่ต้องทำในส่วนหลังคาคือ ปิดช่องว่างตรงแนวสันหลังคา เหนืออกไก่กับทำจั่วอุดช่องว่างตรงหัวหลังคาทั้งสองด้าน การปิดช่อง ว่างบนสันหลังคาต้องนำเอาตับจากมาคลี่ออกแล้วเย็บร้อยกันเข้าให้เป็น “จากหลบ” ดังวิธีที่ได้อธิบายมาแล้ว วางครอบลงบนสันหลังคาเรือน ปิดทับไปจนตลอดความยาวของสันหลังคา พอมุง “จากหลบ” ครอบปิดเรียบร้อยแล้ว ก็เอาไม้ “ครอบอกไก่” หรือ “ข่มหลบ” วางทาบทับบน “จากหลบ” แต่ละตับเป็นแนวยาวไปตามแนว “อกไก่” ที่ทอดอยู่ข้างใต้ ต่อจากนี้จึงส่ง “ไม้ข้างควาย” ขึ้นไปวางกระหนาบริม “ไม้ครอบอกไก่” หรือ “ข่มหลบ” ทั้งสองข้าง แล้วเอาไม้เสียบหนูสอดเข้ากับรูข้าง “ไม่ข้างควาย” ให้รอดใต้ไม้อกไก่ไปโผล่ออกที่ช่องของไม้ข้างควายด้านตรงกันข้ามจึงบิด “ไม้เสียบหนู” ให้ตะแคงขึ้นและสับลงตรงบ่าในรูของไม้ข้างควาย ทำเช่นนี้ ไปจนครบทุกตำแหน่ง เป็นสำเร็จการปิดสันหลังคาเรือน ต่อไปจึงทำแผงจั่วปิดหัวหลังคา
ขั้นตอนต่อไปคือการจัดวาง “ตง” ซึ่งเป็นตัวไม้ สำคัญทำหน้าที่รองรับพื้นเรือน “ตง” จะถูกนำมาวางพาดขวางทับบน “รอด” สลับกนไป โดยมีระยะห่างเท่าๆ กัน ตรงตำแหน่งที่ “ตง” พาดทับ “รอด” ใช้หวายผูกรั้งให้ติดกันทุกตำแหน่ง
เมื่อวางตงได้จังหวะแล้วจึงปู “ฟาก” ทำเป็นพื้นเรือน การปู “ฟาก” นี้ต้องปูโดยวางซี่ฟากหรือผืนฟากทางยาวให้ขวางกับแนวที่วาง “ตง” ทั้งนี้เพื่อให้ผืนฟากมีกำลังในการรองรับ ผู้คนและสิ่งของที่อยู่ในเรือนได้โดยไม่ฉีกหรือแยกออกจากกัน พอ ปู “ฟาก” เต็มเรือนแล้ว ก็เอา “ไม้ทับ หลังฟาก” มาวางทับลงบนพื้น “ฟาก” ให้ตรงกับแนว “ตง” ที่สอดอยู่ใต้พื้นฟาก และใช้หวายร้อยถักผูก “ไม้ทับหลังฟาก” ไว้กับ “ตง” โดย “ข่มหรือกระหนาบ” ฟาก ไว้ระหว่างกลางด้วยวิธีถักที่เรียกว่า “ถักจูงนาง” การที่ต้องมี “ไม้ทับหลังฟาก”ด้วยนี้ก็เพื่อกำกับมิให้พื้น “ฟาก” แตกแยกออกจากกัน
อนึ่ง ในการวางลำดับ “ตง” แต่ละตัวสำหรับพื้น “ฟาก” นั้น ถ้าวางห่างกัน พอปูพื้น “ฟาก” แล้วให้คนขึ้นไปลองขย่มดูความมั่นคง ถ้าสังเกตเห็น “ตง” หย่อนเยิ่นมาก ก็ให้เอาไม้ “รา” สอดขวางเข้ารับท้อง “ตง” ตรงตำแหน่งที่อยู่ระหว่างกลาง “ตง” แล้วใช้หวายถักผูกไม้ “รา” ให้ติดกำกับ “ตง” เข้าไว้ ก็จะช่วยสนับสนุนมิให้ตง และพื้น “ฟาก” อ่อนเยิ่นลงได้
พอปูพื้นเรือนเสร็จ จะยังไม่เข่าฝาเรือน เพราะเรือนบางหลังต้องการทำ “ระเบียง” และ “ชาน” ต่อออกไป การปลูกทำระเบียงต่อ ออกไป ทางด้านข้างของเรือน ต้องปักเสาระเบียง ขึ้นอีกแถวหนึ่งห่าง ออกมาจากตัวเรือนมีขนาดกว้างตามแต่จะพอใจกำหนด แต่มักจะไม่กว้างเสมอ ด้วยความกว้างของเรือน เสาระเบียงมีจำนวนเท่ากันกับเสา ประเดที่ปักรายอยู่ทางด้านข้างเรือน แต่ขนาดของเสาระเบียง
เตี้ยกว่า และต้องปักตั้งเสาหมอขึ้นเทียบเคียงทั้งที่โคนเสาประเดและเสาระเบียงทุกโคนต้นเสาเพื่อรับรอดระเบียงด้วย
เมื่อตั้งเสาระเบียงและเสาหมอสำหรับระเบียงแล้ว จึงวาง “รอด” และ “ตง” รับพื้นระเบียงตามลำดับ
ส่วนหลังคาพาไลที่จะทำขึ้นคลุมระเบียงต่อไปนั้น ต้องนำเอา “แป” ขึ้นพาดบนหัวเสาระเบียงทุกด้าน ผูกมัดรั้งให้ติดกันดังเช่นที่ทำมาแล้วแก่หัวเสาเรือนกับขื่อ แล้วนำ เอาไม้ “จันทัน” สำหรบพาดระเบียงพาดบนหลัง “แป” หัวจันทันที่อยู่ทางด้านในระเบียง เอาสอดเข้าไปเกยกับชายจันทันของเรือน จึงผูกหัวจันทันระเบียงแขวนฝากไว้กับชายไม้จันทันเรือน แต่ในเรือนบางหลังอาจทำไม้คอสองพาดอยู่ทางด้านข้างใต้แปลงมาเพื่อรับหัวจันทันระเบียงก็มี พอวางจันทันและผูกมัดเรียบร้อยจัดการวางกลอนลำดับไปบนหลังจันทนและแป และจัดการมุงหลังคาพาไลสำหรับคลุมระเบียงต่อไป ส่วนการปูพื้นฟากสำหรับเป็นพื้นระเบียง ย่อมทำโดยวิธีเดียวกันกับวิธีปูฟากเป็นพื้นเรือนนั่นเอง แต่ทำพื้นลดระดับต่ำลงกว่าพื้นเรือน
ต่อไปยังมีการที่จะทำชานต่อออกไปแต่ทางด้านข้างระเบียง เสาชานทั้งหมดเป็นเสาหมอหรือเสาตอหม้อ ปักเป็นแนวขนานไปกับเสาระเบียงแถวหนึ่ง หรือสองแถวตามความพอใจที่ต้องการชานกว้างมากหรือน้อย และต้องไม่ลืมปักเสาหมอเคียงกับโคนเสาระเบียงด้วยสำหรับรับรอดชานต่อไปก็จับการวางรอด ตง และปูพื้นชานด้วยฟากตามลำดับ อนึ่ง พื้นของชานจะทำลดระดับต่ำลงกว่าพื้นระเบียงเล็กน้อย ทั้งนี้ก็เพื่อเผื่อไว้สำหรับคนที่ก้าวจากชานจะเข้าระเบียง ศีรษะ จะได้ไม่ติดหรือชนชายคาพาไลที่คลุมระเบียงนั้นเอง
ครั้นทำเรือน ระเบียง และชานสำเร็จ ก็จัดการเข้าฝาเรือนแต่ละด้าน และกั้นฝาห้องตามลำดับไป การเข้าฝาและกั้นห้องนี้เห็นจะไม่ต้องอธิบายความอย่างพิสดาร เพราะไม่เป็นวิธีการซับซ้อนแต่อย่างไร ในกรณีที่เป็นฝาแผงชนิดต่างๆ ก็อาจนำเอาฝาขึ้นวางไว้บนหลังไม้แม่เตาไฟ และพิง พะผูกติดกับเสา รอด และแก แต่ละด้านก็เป็นฝาเรือนติด อยู่กับเรือนได้ แต่มีคติความเชื่ออย่างหนึ่งเกี่ยวกับการเข้าฝา ที่คนโบราณท่านแนะไว้ว่า “ถ้าจะเข้าฝาเรือนอย่าเอาฝารีหุ้มฝาขวาง มักอยู่ไม่เป็นสุข” วิธีเข้าฝาเรือนที่ถูก คือ ให้ฝาเรือนด้านขวางหรือด้านสกัดหัวเรือนหุ้มริมฝาทางด้านข้าง หรือด้านรี ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันฝนไม่ให้สาดลอดเข้าไปตามแนวฝาได้นั่นเอง
งานปลูกเรือนเครื่องผูกใกล้จะเสร็จลงในเวลาไม่ช้าแล้ว ยังมีงานที่ต้องปรุงเรือนให้เสร็จเรียบร้อยอีกเล็กน้อย คือ จัดการยกจั่วขึ้นอุดหัวหลังคาทั้งสองด้านแล้วทำหลังคากันสาดตรงไขราใต้จั่วออกมากันฝนสาดฝาหุ้มเรือน พองานขั้นนี้เสร็จก็จัดการยกเอาไม้ปั้นลมขึ้นไป ติด คร่อมหัวอกไก่ และปล่อยให้ขาไม้ปั้นลมทอดพักอยู่บนหัวแปแต่ละตัว ลงมา ตามลำดับ ปั้นลมนี้ใช้เป็นกรอบประจำหัวหลังคาเรือนทั้งสองด้าน ทำหน้าที่กั้นลมตีจากหัวหลังคามิให้หลุดปลิวไปและปั้นลมนี้ยังเป็นส่วนประกอบประดับหลังคาให้แลดูสวยงาม จึงต้องตัดไม้ไผ่เอาที่ลำงามๆ มาใช้ทำด้วย
การสรุปงานปลูกเรือนเครื่องผูก ให้สำเร็จสมบูรณ์ลงได้ก็อยู่ตรงที่จัดการพาดกระได หรือบันไดเข้ากับเรือน เป็นคติความเชื่อของช่างปลูกเรือนไทยอย่างสำคัญว่ากระได หรือบันไดเรือนจะต้องทำขึ้นเป็นรายการหลังสุด ทั้งนี้เนื่องมาแต่การปลูกเรือนตามพื้นบ้านในชนบทนั้นไม่มีแบบที่เขียนขึ้น ไว้ล่วงหน้าเพื่อเป็นแนวทางในการปลูกเรือน การทำเรือน อาศัยประสบการณ์เป็นสำคัญ ส่วนสัดต่างๆ กำหนดอย่างคร่าวๆ ฉะนั้นการจะทำกระไดให้ได้ส่วนดีขึ้นไว้ล่วงหน้า ย่อมไม่ได้ จึงต้องมาทำในขั้นสุดท้าย ต่อเมื่อเห็นขนาดสูงต่ำของเรือนหรือชานแน่นอน ก็จะ จัดทำกระไดขึ้นแล้วแบ่งส่วนสัด ระยะห่างระหว่างลูกกระไดแต่ละลูก ให้พอเหมาะกับความสูงของเรือนชาน กับยังจะต้องให้เป็นที่สะดวกในการที่จะก้าวขึ้นหรือลงสำหรับคนผู้ซึ่งจะเข้าอาศัยอยู่ในเรือนนั้นต่อไป พอทำกระไดพาดเรือนเสร็จ ก็เป็นอันว่าสำเร็จ การปลูกเรือน แต่นี้ไป
“พอเสร็จการประกอบฤกษ์ เวลาเลิกอาหารเลี้ยงคาวหวานเรียงวรารสอิ่มหนำหมดทุกตัวตน แต่บรรดาคนที่มาช่วย ต่างอำนวยอวยพระพร ให้ท่านเป็นเศรษฐีถาวร พูลสวัสดิ์ ประกอบด้วยศิริสุขสมบัติเจริญดี ให้โห่ขึ้นสามที ลั่นฆ้องอวยชัย”
ที่มาโดย:จุลทัศน์  พยาฆรานนท์ คณะมนุษยศาสตร์ วิทยาเขตกลาง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ลักษณะทั่วไปของเรือนเครื่องผูก

เรือนเครื่องผูก2
เรือนเครื่องผูก เป็นเรือนที่ปลูกขึ้นเป็นหลังด้วยทัพสัมภาระชนิดที่เป็นวัสดุไม่สู้คงทนถาวร ถ้าจะเทียบกับวัสดุที่เป็นทัพสัมภาระในเรือนประเภทเครื่องสับแล้ว ย่อมจะแข็งแรง คงทนถาวรไปได้ไม่นานเท่าวัสดุที่นำมาใช้เป็นทัพสัมภาระสำหรับเรือนเครื่องผูกนั้น ส่วนใหญ่ได้แก่ ไม้ ไผ่ ไม้รวก ต้นหมาก ใบจาก หญ้าคา แฝก หวาย ทางมะพร้าว ฯลฯ วัสดุเหล่านี้ล้วนเป็นผลิตผลจากธรรมชาติที่มีเนื้ออ่อน ไม่อาจนำมาใช้สร้างเรือนให้มีขนาดกว้างใหญ่ได่ ทั้งนี้เนื่องด้วยคุณภาพของวัสดุรับน้ำ หนักทั้งในส่วนที่เป็นโครงสร้างในตัวเรือนเอง และผู้คนที่อาศัยไม่ได้มากนัก เรือนเครื่องผูกจึงมักปลูกขนาดย่อมๆ พอเหมาะเป็นที่อยู่ อาศัยสำหรับครอบครัวขนาดเล็ก
เรือนเครื่องผูกทั่วไปเป็นเรือนยกพื้นสูงขึ้นจากระดับผิวดินประมาณ ๑ เมตร ถึง ๑.๕๐ เมตร ตัวเรือนใหญ่หรือเรียกตามคนเก่าว่า เรือนประธาน มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดยาวของเรือนส่วนนี้มีขนาด ๒ ช่วงเสาบ้าง ๓ ช่วงเสาบ้างทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้เป็นเจ้าของเรือน ด้านข้างเรือนประธานทั้ง ๓ ด้านกั้นฝารอบ เปิดโล่งไว้ด้านหนึ่งออกไปสู่ระเบียงเรือนซึ่งต่อพื้นลดต่ำลงไปกว่าพื้นในเรือนประธาน พื้นระเบียงแล่นยาวตลอดด้านข้างเรือนประธาน พื้นส่วนหนึ่งของระเบียงจะกั้นเป็นครัวไฟ กั้นฝา หุ้มหัวระเบียงและข้างหน้าระเบียงไว้ครึ่งหนึ่งต่อจากหน้าระเบียงออกมาทำพื้นลดต่ำลงแล่นไปตามยาว เรียกว่า ชาน หัวชานด้านใดด้านหนึ่งทำบันไดทอดไว้ สำหรับขึ้นหรือ ลง เรือนประธานนั้นทำหลังคาคลุมเป็นทรงจั่ว ด้านหนึ่งต่อ
หลังคาลาดลงมาปกคลุมระเบียง เรียกว่า พาไล ส่วนชานเปิดโล่งโถง ไม่นิยมทำหลังคาคลุม พื้นเรือน พื้นระเบียง และพื้นชานทำด้วยไม้ไผ่ทั้งลำ นำมาผ่าและสับผิวให้แตก เป็นริ้วๆ จึงแผ่ออกเป็นแผ่นคล้ายแผ่นกระดานเรียกว่า ฟาก ใช้ปูเป็นพื้นเรือนเครื่องผูกทั่วไป แต่ในบางท้องถิ่น ใช้ไม้หมากหรือไม้เหลาชะโอนผ่าให้เป็นปื้นยาวๆ นำมาปูเรียงกันคล้ายลูกระนาดทำเป็นพื้นเรือนก็มี ฝาที่ใช้กั้นเรือนเครื่องผูกใช้วัสดุหลายชนิดด้วยกัน เช่น จากไม้ไผ่ แยง ใบ ตองตึง ทางระกำ ใบตาล แฝก เป็นต้น
พื้นที่ในเรือนเครื่องผูกแต่ละหลังประกอบด้วยพื้นที่ ซึ่งเจ้าของเรือนหรือผู้ที่อาศัยอยู่ในเรือนได้ใช้ประโยชน์ต่างๆ โดยลำดับต่อไปนี้
พื้นที่ภายในเรือนประธาน เป็นพื้นที่รูปปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดใหญ่กว่าส่วนอื่นๆ ของเรือน พื้นที่ส่วนนี้ถ้าเป็นเรือนยาวขนาด ๒ ห้องก็กั้นฝาประจันขวางเรือนเป็นห้องขึ้นไว้ห้อง ๑ สำหรับใช้เป็นที่หลับนอน เก็บทรัพย์สิน และของใช้มีราคาต่างๆ ฝาประจันเรือนนี้ทำช่องใส่บาน ประตูบานหนึ่ง เป็นทางเข้าออก และถ้าเป็นเรือนขนาดยาว
๓ ห้อง ก็มักจะกั้นฝาประจันทำเป็นห้องขึ้นในระหว่าง ๒ ช่วงเสาห้อง ๑ มีขนาดกว้างขึ้น และทำช่องประตูทางเข้าออกช่อง ๑ ดังที่ได้กล่าวแล้ว
พื้นที่ในเรือนประธานส่วนที่เหลือจากกั้นห้องต่อออกมาหน้าฝาประจัน ในเรือนบางหลังเปิดโล่งโถงไม่กั้นฝาตาย แต่ได้ทำพนักไว้สองด้าน คือ ด้านข้างตรงข้ามกับช่วงทางจะลงสู่ระเบียง กับด้านสกัดหัวเรือน ทำให้พื้นที่ส่วนนี้ไม่เป็นที่อับลมใช้สำหรับเป็นที่พักผ่อนของสมาชิกในครอบครัว และเป็นที่อาศัยหลับนอนในฤดูร้อนซึ่งมีลมโกรกเย็นกว่าจะนอนในห้องซึ่งกั้นฝาไว้ทุกด้าน เรือนบางหลังอาจทำฝาแผง แขวนกั้นด้านข้างเรือน และด้านสกัดล้อมพื้นที่ส่วนนี้ไว้ก็มี เวลากลางวันก็ใช้ไม้ค้ำ ตีนแผงฝาเปิดขึ้นไป เพื่อรับแสงสว่างและเปิดช่องให้ลมโกรกเข้ามาในเรือน ต่อเวลาค่ำหรือฝนตกจึงปลดไม้ค้ำหับแผงฝานี้ปิดลงมาเพื่อกันภัยหรือกันฝนสาด
พื้นเรือนส่วนที่ต่อออกมาจากด้านข้างตัวเรือนประธาน แล่นยาวไปตามขนาดยาวของเรือน แต่ลดระดับพื้นให้เตี้ยกว่าพื้นในเรือนประธาน พื้นที่ส่วนนี้เรียกว่า ระเบียง ข้างบนมีหลังคาต่อออกมาจากหลังคาเรือนประธานคลุมอยู่เรียกว่า พาไล พื้นระเบียงของเรือนเครื่องผูกทั่วไปมักแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งมีพื้นที่ขนาดยาวระหว่างช่วงเสาคู่หนึ่ง จะได้รับการกำหนดให้เป็นครัวไฟ เป็นที่สำหรับหุงหาอาหาร และเก็บเสบียงกรัง ตลอดจนภาชนะต่างๆ และเครื่องใช้ประจำครัว ครัวไฟมักจะกั้นฝาล้อมไว้สามด้าน คือ ด้านนอกที่ติดกับชานกั้นฝาไว้เพียงครึ่งความยาวของระเบียงด้าน ๑ แล้วกั้นอ้อมมาหุ้มด้านสกัดหัวระเบียงยาวเข้าไปต่อกับริมฝาด้านสกัดของเรือนประธาน ด้านในครัวที่ติดกับเรือนประธาน เป็นฝาของครัวอยู่ในตัว ส่วนด้านที่ออกมาสู่พื้นที่ระเบียงที่เหลืออยู่อีกส่วนหนึ่ง มักไม่กั้นฝาเปิดโล่งไว้ก็มี พื้นที่บน ระเบียงส่วนที่เหลือจากแบ่งปันไว้เป็นครัวแล้วนี้ ได้ใช้เป็นที่นั่งพักผ่อนรับรองแขกผู้มาเยือน และใช้เป็นที่ตั้งวงรับประทานอาหารของคนในเรือนนั้น
พื้นเรือนส่วนที่ต่อออกมาจากด้านข้างระเบียง แล่นขนานไปตามยาวของระเบียงแต่ลดพื้นต่ำลงเล็กน้อย เรียกว่า “ชาน” หรือ “นอกชาน” หรือ “ชานเรือน” ก็เรียกเป็นพื้นชนิดที่เป็นพื้นตาก คือ พื้นไม่มีหลังคาคลุม ปล่อยให้ตากแดดตากฝนอยู่ชั่วนาตาปี พื้นชานเป็นที่ได้ใช้ตากหรือผึ่งอาหารที่เตรียมทำเป็นของแห้งเก็บไว้กินค้างปี เช่น ปลา แห้ง เนื้อเค็ม บ้างตั้งไหน้ำปลา ไหปลาร้า หรือตากที่นอนหมอนมุ้งให้คลายกลิ่นบงอับบงราบ้าง และยังได้เปนที่ให้ลูกหลานในบ้านอาศัยวิ่งเล่นอีกด้วย
พื้นที่ใต้ถุนเรือนโดยเฉพาะส่วนที่อยู่ข้างใต้เรือนประธาน มักจะใช้เป็นที่เก็บเครื่องมือสำหรับทำนา ทำไร่ หรือทำสวน เครื่องมือดักหรือจับสัตว์ต่างๆ หรือในบางแห่งใช้เป็นที่เก็บพืชผลต่างๆ อีกด้วย
อนึ่งลักษณะของรูปแบบเรือนเครื่องผูกโดยทั่วไป ส่วนมากจะเป็นไปตามรูปแบบ ดังที่ได้พรรณามาโดยลำดับ แต่ก็มีเรือนประเภทนี้ปลูกเป็นแบบต่างๆ ออกไปบ้างก็มี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความประสงค์ในความเป็นอยู่และความพึงพอใจของผู้เป็นเจ้าของเรือน แบบของเรือน เครื่องผูกที่มีลักษณะต่างๆ ออกไปจากแบบที่ได้อธิบายมาแต่ข้างต้น ควรกล่าวถึงพอเป็นตัวอย่างได้ดังนี้
เรือนแบบแรก ทำเรือนประธานขึ้นหลังหนึ่ง ขนาดยาว ๒ ห้องบ้าง ๓ ห้องบ้าง แล้วกั้นฝาด้านรีหรือด้านข้างด้านหนึ่งร่นเข้าไปตามยาวของขนาดเรือนปล่อยพื้นเรือนประธานข้างหน้าฝาด้านนี้ให้เป็นทางเดินได้ยาวตลอดตัวเรือน ส่วนหัวและท้ายทำพื้นลดต่อออกมาทั้งสองด้าน กับต่อหลังคา ลาดเทออกมาจากตีนจั่วเป็นหลังเฉลียงคลุมพื้นลดทั้งด้านหัว และท้ายเรือน พื้นที่ด้านท้ายเรือนมักจะใช้เป็นที่ตั้งครัวไฟ ส่วนพื้นที่ทางหัวเรือนให้เป็นที่พักผ่อนและรับรองแขกเหรื่อ ในเรือนใช้เป็นที่หลับนอนตามปกติ
เรือนแบบที่ ๒ ทำเรือนประธานเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าดังเช่นเรือนเครื่องผูกทั่วไป ต่อพื้นระเบียงออกมาทางด้านข้าง แล้วทำหลังคาพาไลคลุมเหนือพื้นระเบียงและต่อให้ยาวพ้นออกมาจากตัวเรือน จึงทำเสานางเรียงขึ้นจากพื้นดินปักเป็นแนวขนานหน้าระเบียงขึ้นไปรับชายคา เรือนแบบนี้ไม่มีชาน พอลงจากระเบียงก็ถึงดินเลย นี่เป็นเรือนเครื่องผูกแบบหนึ่ง
เรือนแบบที่ ๓ ทำเรือนประธานตามธรรมดาของเรือนเครื่องผูก แล้วกั้นห้องขึ้นในเรือนประธานห้อง ๑ หรือ ๒ ห้อง ตามแต่ว่าเรือนประธานจะยาว ๒ ห้องหรือ ๓ ห้อง ห้องทางหัวเรือนประธานด้านหนึ่งจัดเป็นห้องโถงด้านสกัดของห้องนี้ทำพื้นลดเป็นเฉลียงต่อออกไปแล้วทำหลังคาลาดออกไปแต่ตีนจั่วด้านนี้กั้นฝาเสีย ๓ ด้าน ทำเป็นครัวไฟ ส่วนด้านข้างด้านหนึ่งทำเป็นพื้นลดแล่นไปตามยาวขนาดเรือน ปล่อยพื้นตากไว้เป็นชานเรือน ซึ่งเป็นเรือนเครื่องผูกอีกแบบหนึ่ง
เรือนแบบที่ ๔ คือ ตั้งเรือนประธานขึ้นเป็นหลัก กั้นฝาเรือนประธานเป็นห้อง ๑ หรือ ๒ ห้องตามขนาด ปล่อยห้อง ๑ ที่อยู่ทางหัวเรือนเป็นห้องโถงไว้ แล้วทำหลังคาลาดเทลงไปแต่ตีนจั่วอย่างหลังคาเฉลียง เว้นต่ไม่ต่อพื้นเฉลียงออกไป คงทำแต่ปักเสานางเรียงขึ้นมาเป็นแนวขนาน กับด้านสกัดหัวเรือนเพื่อตั้งรับชายคาเฉลียงหรือพะเพิง เรือนแบบนี้ไม่มีครัวอยู่บนเรือน การหุงข้าวต้มแกงทำบนแม่เตาไฟบนพื้นดินซึ่งอยู่ใต้พะเพิงดังกล่าว
เรือนแบบที่ ๕ ทำเป็นรูปเรือนประธานรูปทรงดั่งเช่นกล่องรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาทรงจั่ว กั้นฝาเรือนรอบสี่ด้าน ด้านสกัดหัวเรือนทำช่วงประตู ช่วงหนึ่งแล้วพาดบันไดลงดินเลยทีเดียวก็มี นี่ก็เป็นแบบเรือนเครื่องผูกอีกแบบหนึ่ง
รูปแบบของเรือนเครื่องผูกนี้ ถ้าจะเก็บมาพรรณนาให้ครบถ้วนก็จะเป็นเนื้อความยืดยาวและไม่เป็นที่สิ้นสุดยุติลงได้ง่าย อย่างไรก็ดีแบบอย่างของเรือนเครื่องผูกที่เป็นแบบปฐมบทพอสรุปได้ว่าเป็นเรือนที่มีทรวคทรงคล้ายกล่องรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาทรงจั่ว ผืนหลังคาลาดลงทางด้านข้าง เป็นเรือนที่ยกพื้นสูงให้พ้นน้ำท่วมพอสมควร แล้วทำ บันไดก่ายเกยชานไว้เป็นทางสำหรับขึ้นและลงเรือน ส่วนการจะต่อเติมระเบียงนอกชานเฉลียงนั้นเป็นไปตามความจำเบนที่จะให้ได้เนื้อที่เพิ่ม ขึ้นให้พอแก่ความเป็นอยู่ของคนในครอบครัว และการขยายตัวของสมาชิกในครัวเรือนโดยลำดับ
ที่มาโดย:จุลทัศน์ พยาฆรานนท์ คณะมนุษยศาสตร์ วิทยาเขตกลาง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ภูมิหลังของเครื่องเรือนผูก

เรือนเครื่องผูก1
เรือนเครื่องผูกเป็นเรือนที่อยู่อาศัยของชาวบ้านทั่วไป มีอยู่ตามพื้นบ้านทั่วไปชนบทและแถบชานเมือง ความเป็นมาหรือภูมิหลังของเรือนเครื่องผูกมีโดยลำดับดังนี้
๑. ความหมายของเครื่องเรือนผูก เรือนประเภทนี้หมายถึงเรือนที่ระบุความหมายไว้ในพจนานุกรมว่า“เครื่องผูก น. เรียกเรือนที่ใช้ ผูกด้วยหวาย เป็นต้น คู่กับเรือนเครื่องสับ” การให้ความหมายในที่นี้ แสดงความจำกัดที่ว่าด้วยการปลูกเรือนขึ้นเป็นหลังด้วยการผูก โดยอาศัยหวายเป็นวัสดุสำคัญในการนี้โดยแท้ ซึ่งเป็นความหมายตรงไปตรงมา ตามความเป็นจริง แต่ค่อนข้างสั้นไปในความเข้าใจสำหรับคนทั่วไปที่ไม่เคยเห็นเครื่องเรือนผูก หรือแม้หากจะเคยพบ เห็นบ้างแต่ไม่สู้คุ้นเคย ย่อมไม่อาจเข้าใจหรือแม้แต่จะนึกเห็นเป็นภาพขึ้นในใจได้ ดังนี้จึงต้องมีความขยายความหมายของเรือนเครื่องผูกออกไปตามส่วนที่ควรทำความเข้าใจได้ คือ
เครื่องเรือนผูกทั่วไป ปลูกสร้างขึ้นด้วยทัพสัมภาระ ส่วนใหญ่คือไม้ไผ่ ซึ่งได้ใช้เป็นทั้งโครงส่วน ส่วนตัวเรือน หลังคากับพื้นและฝาเรือน ส่วนที่เป็นเครื่องมุงได้แก่ใบจาก หญ้าคา แฝก ใบดองดึง เป็นต้น ทัพสัมภาระดังกล่าวนี้มีธรรมชาติเป็นสิ่งที่เปราะแตกและฉีกขาดได้ง่าย ไม่เหมาะแก่การที่จะนำมาประกอบเป็นรูปทรงเรือนที่อยู่ได้ด้วย วิธีการเข้าปากไม้หรือต่อตัวไม้ ซึ่งจะทำเป็นเรือนให้ติดกันด้วยการเข้าลิ่มเข้าสลัก จึงต้องอาศัยวิธีการประกอบทัพสัมภาระต่างๆ เข้าด้วยกันเป็นรูปทรงเรือนด้วย การผูกมัด ถักรั้ง เป็นต้น โดยเหตุที่เรือนประเภทนี้ได้รับการปลูกและคุมทัพสัมภาระขึ้นเป็นเรือนได้ด้วยวิธีผูกเป็นสำคัญ จึงมีชื่อเรียกตามวิธีการว่า “เรือนเครื่องผูก”
อนึ่ง เรือนเครื่องผูกนี้ยังมีชื่อเรียกเป็นอย่างอื่นอีก คือ “กระท่อม” ซึ่งมีความหมายว่า เรือนเล็กๆ ทำพออยู่ได้ หรือ “ทับ” ก็เรียกกัน มีความหมายถึงเรือนที่อยู่ คำที่ใช้เรียกเรือนประเภทเครื่องผูกที่ต่างออกมาทั้งสองคำนี้ เป็นคำเก่าที่มักใช้คู่กันเนืองๆ ตัวอย่างนี้มีปรากฏในละครนอก เรื่องสังข์ทอง พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศ- หล้านภาลัย ตอนที่นางรจนาและเจ้าเงาะถูกขับออกไปจากวังว่า
“ครั้นถึงกระท่อมทับที่อยู่ แลดูสมเพชเป็นนักหนา
ไม่เคยเห็นเช่นนี้แต่เกิดมา ก็โศกาทรุดนั่งอยู่นอกชาน”
๒. เรือนเครื่องผูกเป็นเรือนพื้นฐานในสังคมไทย
โดยเหตุที่เมืองไทยอุดมด้วยผลิตผลทางธรรมชาติที่อาจนำมาใช้เป็นทัพสัมภาระในการปลูกสร้างบ้านเรือนขึ้นได้อย่างง่ายๆ โดยมิต้องอาศัยเครื่องมือพิเศษต่างๆ ที่จะอำนวยประสิทธิภาพสักเท่าใดและไม่พักกังวลต่อวิธีการอันสลับซับซ้อนซึ่งไม่ปรากฏมีเลยในวิธีการปลูกบ้านสร้างเรือนประเภทนี้ การปลูกเรือนเครื่องผูกโดยทั่วไปในชนบท ไม่ว่าจะได้ทำกันแต่อดีตที่ล่วงมาแล้ว หรือได้ปลูกต่อๆ กันมา จนกระทั่งปัจจุบันซึ่งยังมีการปลูกเรือนประเภทนี้ขึ้นเป็นลำดับ ล้วนแต่ทำให้สำเร็จได้โดยประสบการที่สืบเนื่องกันมาเป็นสำคัญ การปลูกเรือนเครื่องผูกแต่ละหลัง ไม่สู้จะปรากฏว่ามีการออกแบบ เขียนแบบ หรือทำแบบพิมพ์เขียว ขึ้นล่วงหน้า เพื่อเป็นสิ่งชี้นำในการปลูกสร้างเลย การทั้งนี้เห็นจะเป็นเพราะเรือนเครื่องผูกเป็นเรือนที่มีแบบเรียบง่าย ไม่สลับซับซ้อนทั้งด้านรูปแบบ และวิธีปลูกจึงเป็นการง่าย ที่คนในรุ่นถัดมาสามารถรับเอาความรู้ ความเข้าใจในการปลูกทำเรือนและสร้างเรือนได้ง่ายในเวลาต่อมา และยังมีเหตุผลอีกบางประการที่ควรกล่าว คือเรือนเครื่องผูกเป็น เรือนที่ไม่จำต้องใช้ทุนทรัพย์มากในการปลูก ทั้งนี้ก็เนื่องด้วยสามารถแสวงหาวัสดุที่ใช้เป็นทัพสัมภาระในการทำเรือนได้เปล่าจากผลิตผลทางธรรมชาติเองในพื้นถิ่นนั้นๆ นั่นเอง การเช่นนี้จะพึงเห็นได้จากบทละครเรื่องสังข์ทอง ตอนที่ท้าวสามลสั่งให้เสนาไปจัดการปลูกกระท่อมให้นางรจนาได้อาศัยอยู่ที่ปลายนา พวกเสนาก็หาวัสดุที่จะใช้ทำเรือนได้ในถิ่นนั่นเอง ดังความว่า
“ครั้นถึงจึงเที่ยวเกี่ยวแฝก ตัดไม้ไผ่แบกมาอึงอี่
บางกล่อมเสาเกลาฟากมากมี ปลูกกระท่อมลงที่ปลายนา”
ด้วยเหตุผลที่ควรกล่าวอีกประการหนึ่ง คือ เรือนประเภทนี้ได้รับการปลูกสร้างขึ้นด้วยวัสดุในพื้นถิ่น เป็นเรือนที่มีรูปแบบง่ายๆ ขนาด และส่วนสัดเหมาะสมกับสภาพพื้นถิ่นและฝนฟ้าอากาศ ย่อมเป็นที่อยู่อาศัยอันควร สบายสำหรับชาวบ้านส่วนมากดังนี้ “เรือนเครื่องผูก” จึง เป็นเรือนที่ได้รับความนิยมแพร่หลายตามพื้นบ้านในชนบททั่วไป เรือน ชนิดนี้ จึงควรกล่าวได้ว่าเป็นเรือนพื้นฐานของสังคมไทย
๓. เรือนเครื่องผูกวิถีชีวิตของคนไทย การที่จะรู้จักและทำความเข้าใจต่อนิสัย จิตใจ ความเชื่อ ตลอดจนพฤติกรรมของคนในพื้นถิ่นหนึ่งๆ ได้นั้น อาจจะกระทำได้ด้วยอาศัยการสังเกตจากสิ่งที่คนละแวกนั้นๆ แสดงออกมาให้ปรากฏออกด้วยลักษณะต่างๆ มีนานาประการ ทั้งใน ด้านที่เป็นรูปสมบัติและคุณสมบัติ เรือนเครื่องผูกนี้ก็เป็นประจักษ์พยานสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นและสังเกตเพื่อการที่จะรู้จักและเข้าใจนิสัย จิตใจ ความเชื่อ และพฤติกรรมของชาวบ้านซึ่งมีวิถีชีวิตเป็นไปในทางใดทางหนึ่งได้
ในกรณีของเรือนเครื่องผูกกับชีวิตของชาวบ้านนี้ คนไทยด้วยกันไม่สู้จะสนใจให้การสังเกตเพื่อการพิจารณา สาระในด้านนี้สักกี่มาก น้อย เพราะในระยะหลังมานี้คนจำนวนไม่น้อยต่างเกิดอุปทานว่า เรือนเครื่องผูกเป็นเรือนที่อยู่อาศัยสำหรับคนยากจนหรือคนต่ำศักดิ์ และต่อมาเมื่อเกิดเทศบัญญัติเกี่ยวกับความปลอดภัยของเคหะสถานที่จะ ปลูกขึ้นเป็นที่อยู่ภายในเขตเทศบาลแล้ว เรือนเครื่องผูกเป็นอาคารสถานต้องห้ามมิให้ปลูก เพราะมีทัพสัมภาระในการสร้างเรือนเป็นเชื้อติดไฟได้ง่าย เหตุผลอันทำให้เกิดอุปทาน และความเชื่อเช่นนี้มีมาอย่างน้อยก็เมื่อรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยมีข้อความตอนหนึ่งปรากฏในหนังสือเล่าเรื่องกรุงสยามของมงเซเญอร์ปาลเลกัวซ ว่า
“บ้านเรือนในบางกอกนั้น แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท
ประเภทหนึ่งก่ออิฐถือปูนและโอ่โถง อีกประเภทหนึ่ง เป็นเรือนไม้ ส่วนราษฎรที่ยากจนนั้นอยู่เรือนที่ปลูกด้วยไม้ไผ่ โดยเหตุนี้จึงมีไฟไหม้บ่อยๆ และก่อความเสียหายให้มาก เป็นเรื่องธรรมดาทีเดียวที่ไฟไหม้บ้านเรือนคราวละ ๔๐๐-๕๐๐ หลังคาเรือน”
ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ ในชั้นหลังเรือนเครื่องผูกจึงไม่สู้ปรากฏให้เห็นในเมืองหลวงและจังหวัดต่างๆ จะมีอยู่ก็แต่ในพื้นบ้าน ตามชนบทไกลเมือง อย่างไรก็ตามเมื่อมองย้อนกลับไปในอดีตที่เกี่ยวกับ “เรือนเครื่องผูก” ก็จะพบว่า เรือนประเภทนี้ได้แสดงให้เห็นวิถีชีวิตและความเชื่อของ ชาวบานที่มีต่อเรือนเครื่องผูกอย่างไร ต่างกว่าสมัยต่อมาเพียงใด หลักฐานที่จะนำมาแสดงเกี่ยวกับกรณีที่กล่าว เป็นที่น่าเสียใจที่จะต้องอ้างหลักฐานที่ชาวต่างประเทศซึ่งเดินทางเข้ามายังประเทศไทยตามโอกาสและเวลาต่างๆ กัน และได้ตั้งข้อสังเกตไว้ แทนที่จะเป็นข้อสังเกตที่ควรเกิดจากความสนใจในหมู่คนไทยกันเองและมีจดหมายเหตุไว้ ชาวต่างประเทศได้จดบันทึกการสังเกตเกี่ยวกับเรือนเครื่องผูก และ แสดงสาระสำคัญที่ยังให้สามารถหยั่งเห็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน แต่อดีต จากเรือนเครื่องผูกมีโดยลำดับต่อไปนี้
“ตั้งแต่บางกอกไปจนถึงสยาม (กรุงศรีอยุธยา) เราพบหมู่บ้านเป็นอันมากเกือบทั่วไปทั้งสองฟากฝั่งแม่น้ำ หมู่บ้านเหล่านี้ประกอบด้วยกระท่อมเป็นเรือนยกพื้นสูง เนื่องจากน้ำท่วม เป็นเรือนที่สร้างขึ้นด้วยไม้ไผ่ อันเป็นต้นไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งไม้ของมันนำไปใช้ประโยชน์ได้สารพัดอย่างในประเทศนี้ ลำต้นกับกิ่งใหญ่ใช้ทำเป็นเสากับคาน กิ่งเล็กใช้ทำหลังคาและสานทำเป็นฝาห้อง”
“ที่อยู่อาศัยของชาวสยามนั้นเป็นเรือนหลังย่อมๆ แต่มีอาณาบริเวณกว้างขวางพอใช้ พื้นเรือนนั้นก็ใช้ไม้ไผ่มาสับเป็นฟากและเรียงไว้ไม่ค่อยถี่นัก แล้วยังจักตอก ขัดแตะเป็นฝาและใช้เป็นเครื่องบนหลังคาเสร็จไปด้วยในตัว เสาตอหม้อที่ยกพื้นขึ้นสูงให้พ้นน้ำท่วม ก็ใช้ไม้ไผ่ ลำใหญ่กว่าขา และสูงจากพื้นดินราว ๑๓ ฟุต เพราะลางครั้งน้ำก็ท่วมขึ้นมาสูงเท่านั้น ตอหม้อแถวหนึ่งมีไม้มากกว่า ๔ หรือ ๖ ต้น แล้วก็เอาลำไม้ไผ่ผูกขวางเป็นรอด บันไดก็เป็นกระไดไม้ไผ่ ซึ่งทอดอยู่ข้างนอก ตัวเรือนเหมือนกระไดโรงสีลม คอกสัตว์ของสยามก็อยู่กลางแจ้งและยกพื้นเหมือนกัน มีตะพานไม้ทำด้วยไม้ไผ่ ฟากสำหรับสัตว์ปีนขึ้น
การที่เรือนแต่ละหลังออกไปตั้งอยู่โดดหลังเดียวห่างๆ กันนั้น ออกจะเป็นด้วยต้องการให้เป็นที่รโหฐาน สำหรับคนในครัวหนึ่งๆ ซึ่งความลับเฉพาะในครอบครัว จะได้ไม่แพ่งพรายออกไปเข้าหูเพื่อนบ้าน เนื่องจากที่มีฝาเรือนบางๆ กันไว้เท่านั้น และมิใช่เพราะกลัวว่าไฟจะไหม้ด้วย เพราะชาวสยามตั้งเตาหุงต้มกันกลางลานบ้าน มิใช่ในตัวเรือน แต่ก็มิได้สุมไฟอะไรกันมากนักในขณะที่เราอยู่ในพระนครนั้น เรือนได้ถูกไฟไหม้ถึง ๓๐๐ หลังคาเรือน แต่ก็กลับปลูกขึ้นใหม่แล้วเสร็จเพียงชั่วเวลา ๒ วันเท่านั้นเอง”
และทัศนคติของชาวต่างประเทศที่มีต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านชาวไทยผู้เป็นเจ้าของเรือนประเภทเครื่องผูก ยังมีต่อไปว่า
“สถาปัตยกรรมของชาวสยาม ผิดแปลกแตกต่างกว่าของเรา จึงมิพึงหวังว่าจะมีความงดงามและเรียบร้อยเท่าชาวประเทศนี้เห็นว่าไม่จำเป็นต้องสนใจนักในเรื่องสร้างตึกราม เพราะจะเอาวิชานี้ไปรับจ้างหากินที่ไหนๆ ก็ไม่ได้เขาเห็นเป็นการสะดวกกว่าจะไม่สิ้นเปลืองมากที่จะ สร้างเรือนหลังเล็กๆ ด้วยต้นไม้และไม้ไผ่ยกพื้นสูงจากระดับดินสัก ๗ หรือ ๘ ปิเอด์เท่านั้น จนรับไว้ด้วยตอหม้อเป็นเสาต้นใหญ่แทนที่จะก่ออิฐถือปูนอันเป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก จึงไม่ค่อยพ้นจากการถูกน้ำพัดพังลงมาอยู่บ่อยๆ เมื่อมีอุทกภัยมีแต่ชาวต่างประเทศเท่านั้นที่ปลูกตึกอยู่บ้าง ๒-๓ หลังซึ่งงามและแข็งแรงไม่แพ้ตึกในยุโรป และชวนให้คิดว่าคนชาวสยามนั้นก็น่าจะทำตามอย่างได้ ถ้าเขาคิดจะทำ”
เรือนเครื่องผูกของชาวไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่ชาวต่างประเทศได้ตั้งข้อสังเกตและจดหมายเหตุไว้ตามทัศนคติของเขาดังแสดงมาโดยลำดับนี้ บางสิ่งที่เขาได้พบเห็นอาจคิดเห็นไม่ตรงกันกับที่ชาวไทยเป็นอยู่ในสมัยนั้นก็มีแต่ก็ยังมีบางสิ่งที่อาจเห็นตรงกัน และ เป็นสิ่งที่จะปฏิเสธและมองข้ามไปเสียมิได้ในความเป็นจริง ดังที่ชาวต่างประเทศนั้นยอมรับ และจดหมายขึ้นไว้ว่า
“เราเที่ยวไปในลำคลองที่ยาวจนสึดหูสุดตา ในละเมาะไม้ อันเขียวชะอุ่มมีบ้านเรือนปลูกเรียงรายกันไปเป็นสองแถวอยู่ในระหว่างทิวไม้ มีนกหลายร้อยหลายพันอย่างส่งเสียงร้องระงมเซ็งแซ่อยู่ทั่วไป บ้านช่องเหล่านี้ ถ้าดูเผินๆ แต่ภายนอก ก็จะเห็นว่าไม่สะสวยเลย แต่ถ้าได้เห็นภายในแล้วจะเห็นว่าสะอาดสะอ้านดีมาก เวลาเข้าไปในเรือนนั้นก็คงคิดว่าจะได้พบชาวชนบทผู้เป็นเจ้าบ้านนั้นสกปรกเหลือทน แต่กลับเป็นการตรงกันข้าม กลับจะได้พบแต่สิ่งสะอาดเรียบร้อยเป็นสุขตาทุกอย่าง”
จดหมายเหตุของชาวต่างประเทศ ซึ่งได้จดข้อสังเกตเกี่ยวกับเรือนเครื่องผูกของชาวไทยแต่ในสมัยก่อนขึ้นไว้ตามทัศนคติของเขาเหล่านั้น ยังได้แสดงให้เราได้ทราบต่อไปอีกว่า เรือนเครื่องผูกนี้แท้ที่จริงมิได้เป็นเรือนที่อยู่สำหรับชาวบ้านจำพวกที่มีฐานะยากจน ดังที่คนไทยจำนวนไม่น้อยในปัจจุบันเข้าใจกัน หากแต่เรือนประเภทเดียวกันนี้ยังได้ใช้และมีฐานะเป็นเรือนที่พักสำหรับราชทูตที่เดินทางเข้ามาเจริญทางไมตรียังพระราชสำนักกรุงศรีอยุธยาเป็นเช่นนี้มาโดยลำดับ ซึ่งจะเห็นได้ด้วยข้อความที่คัดออกจากเอกสารจดหมายเหตุของชาวต่างประเทศคณะทูตที่เดินทางเข้ามาแต่ละคราวในเวลานั้นมาแสดงโดยลำดับในที่นี้
“เวลาเช้า ๘ นาฬิกาเราออกจากเรือฟริเกท ลงเรือหลวง เดินทางต่อไปด้วยขะบวนเดิม พอเที่ยงวันก็ถึงเรือนหลังแรกในบรรดา ๗ หลังที่สร้างไว้สำหรับรับรองท่านอัครราชทูต ทำด้วยไม้ไผ่ทุกหลัง มีห้องพัก ห้องประชุม ห้องพักสำหรับท่านราชทูต และสำหรับพวกในงบทูต
“วันรุ่งขึ้น เราออกเดินทางต่อไปถึงพระประแดง ซึ่งทางการเตรียมเรือนพักแรมหลังแรกไว้ให้อาคารหลังเล็กๆ เหล่านี้ แม้จะใช้เวลาปลูกสร้างเพียงแปดวันด้วยฝาเสื่อลำแพนและพื้นฟาก ก็แข็งแรงและน่าอยู่ พอสมควรและโดยที่หลังแรกนี้กับหลังต่อๆ ไปสร้างขึ้นเป็นแบบเดียวกันทั้งนั้น
“ศาลาที่พักทำด้วยไม้ไผ่ที่สร้างขึ้นตามระยะทางนั้น เคลื่อนที่ได้ พอท่านราชทูตและบริวารออกไปจากศาลาที่พักแล้ว เขาก็รื้อลง เพราะฉะนั้น ศาลาที่สร้างสำหรับเลี้ยงอาหารวันนี้ที่ถูกย้ายไปใช้ในวันรุ่งขึ้นและศาลาที่สร้างสำหรับพักนอนคืนนี้ ก็เอาไปเตรียมไว้สำหรับคืนพรุ่งนี้ เราย้ายที่พักเช่นนี้เรื่อยไปจนเข้าไปใกล้กรุงศรีอยุธยา”
อาศัยข้อความจากจดหมายเหตุของชาวต่างประเทศดังที่คัดมาแสดงโดยลำดับนี้คงจะพอเป็นสิ่งบ่งให้เห็นสาระสำคัญของเรือนประเภทเครื่องผูกได้บ้างว่าเรือนประเภทนี้มิได้เป็นที่อยู่อาศัยที่ไร้ความสำคัญ หรือสมควรแก่คนในสังคมที่มีฐานะยากจนเท่านั้น แต่ทว่าเรือนเครื่องผูกเป็นเคหะสถานประเภทหนึ่งที่แสดงให้เห็นวิถีชีวิตของชาวบ้านชาวไทยที่แสดงออกในความฉลาดที่จะใช้วัสดุในพื้นถิ่นให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตอย่างคุ้มค่า และแสดงออกถึงความเรียบง่าย ความ มักน้อย และความยินดีเฉพาะในสิ่งที่ตนจะพึงมีพึงได้ อันเป็นไปโดยวิถีแห่งชีวิตของผู้อยู่ในพระพุทธศาสนาโดยแท้
ที่มาโดย:จุลทัศน์ พยาฆรานนท์ คณะมนุษยศาสตร์ วิทยาเขตกลาง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ