พิธีขลิบอวัยวะเพศของสตรีประเพณีที่กลายเป็นปัญหา

ปรานี  วงษ์เทศ

ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ หัวหน้าภาควิชา มานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร

เก็บความและเรียบเรียงจาก Female Circumcision On Trial โดย Emily และ Per Ola D’Aulaire ใน Reader’s Digest ฉบับเดือนมีนาคม ๑๙๘๑

พิธีขลิบอวัยวะเพศของสตรีเป็นประเพณีโบราณที่ฝังรากลึกมาแต่อดีตนั้น ในที่สุดก็ถูกประณามว่า เป็นการกระทำที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และนำความทนทุกข์ทรมานอย่างไม่จำเป็นให้กับผู้หญิงหลายล้านคน

ขณะที่องค์กรอนามัยโลกประณามว่าพิธีกรรมดังกล่าวนี้ ไม่ควรสนับสนุนให้ปฏิบัติอีกต่อไปด้วยเหตุผลทางการแพทย์ นักมานุษยวิทยาวัฒนธรรมบางคน กลับปกป้องว่าเป็นประเพณีที่ประพฤติปฏิบัติกันมาช้านานแล้ว บรรดาสตรีจากโลกตะวันตกและโลกที่สามต่างถกเถียงกันอย่างดุเดือดและเผ็ดร้อนในการประชุมระดับโลกของ ยูเอ็น เกี่ยวกับสตรี ณ กรุงโคเปนเฮเกน เจ้าของประเพณีนี้เองกลับมีความเห็นว่า พิธีกรรมนี้เป็นสิ่งที่ดีงามและยังมีความยึดมั่นด้วยศรัทธาแรงกล้า

แต่สำหรับผู้ที่อยู่นอกวัฒนธรรมนี้ต่างรู้สึกช็อคกับประเพณีดังกล่าว และกล่าวหาว่าเป็นความป่าเถื่อน และเห็นอย่างชัดเจนว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อสิทธิมนุษยชน

พิธีกรรมนี้ ถ้าหากจะเรียกให้สละสลวยสักหน่อยก็เป็นที่รู้กันว่าเป็นพิธีครอบของสตรี ซึ่งเป็นคำที่ใช้หมายถึงขบวนการแบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการตัด การทำอวัยวะสืบพันธุ์ให้พิกลพิการในหมู่ผู้หญิงและเด็กสาวของชนเผ่าดั้งเดิม โดยมีบรรดาผู้หญิงสูงอายุเป็นผู้ประกอบการถือว่าเป็นการรักษาประเพณีของเผ่าพันธุ์

ผู้ที่สนับสนุนการต่อต้านพิธีกรรมนี้ประกาศอย่างแข็งกร้าวว่า “พิธีขลิบอวัยวะเพศของสตรีไม่ต่างอะไรกับการใช้เข็มขัดลั่นกุญแจรักษาพรหมจรรย์ของผู้หญิงในยุคกลาง ซึ่งเกี่ยวข้องกับเลือดและเนื้อจริง ๆ เพื่อเห็นแก่มนุษยธรรม ควรจะให้มีการหยุดยั้งการกระทำเช่นนี้ได้แล้ว”

แม้ว่าพิธีนี้จะเคยได้รับการยึดถือปฏิบัติกันต่อ ๆ มาอย่างกว้างขวางเกือบทุกทวีปในอดีต แต่ปัจจุบันกลุ่มที่ยังมีการยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดที่สุดได้แก่ประชาชนที่อยู่ในแอฟริกา ซึ่งมีรายงานว่ามีถึง ๓๒ ประเทศ จากบริเวณตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา  ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของแอฟริกามายังประเทศอียิปต์ ลงไปจนถึงประเทศเคนยา ทานซาเนีย และอาจรวมทั้งประเทศโมซามบิคด้วย

ประมาณว่าสตรีที่เป็นเหยื่อของพิธีกรรมนี้จะมีระหว่าง ๑๐ ถึง ๕๐ ล้านคน

แต่ไม่มีวิถีทางใดที่จะทราบจำนวนที่แน่นอนได้ เนื่องจากพิธีกรรมนี้ถูกครอบงำไปด้วยความลึกลับ และความเชื่อในไสยศาสตร์และอำนาจลึกลับต่าง ๆ โดยที่ไม่เคยมีการนำมาถกเถียงอย่างเปิดเผย สาเหตุของความตาย มักจะเชื่อกันอย่างง่าย ๆ ว่าเป็นผลจาก “ชะตากรรม”

การประกอบพิธีนี้ เชื่อกันว่าเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความเป็นผู้หญิงที่แท้จริง เป็นการพิสูจน์ถึงความบริสุทธิ์ และเชื่อถือว่าเป็นความจำเป็นทางสังคม ตามความเป็นจริงแล้วในหลาย ๆ ประเทศ พิธีขลิบอวัยวะเพศนับเป็นพิธีครอบที่สำคัญ ที่เป็นการสั่งสอนแนะนำให้ผู้เข้าพิธีมีความเป็นผู้ใหญ่ ให้อยู่ในสังคมได้

ผู้อำนวยการการให้บริการทางการแพทย์ อธิบายว่า “สังคมของเราเป็นสังคมที่ขึ้นอยู่กับกลุ่ม พิธีขลิบอวัยวะเพศของสตรีจึงนับว่าเป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญมากในประเทศนี้ มีเด็กหญิงที่เข้าพิธีที่อายุระหว่าง ๑๐-๑๕ ปี ถึงมากกว่า ๘๐ เปอร์เซ็นต์”

ในประเทศแกมเบีย  การขลิบอวัยวะเพศของสตรีใช้วิธีการตัดทิ้งซึ่งหมายความว่า “เม็ดละมุด” (ไครโตริส) ถูกตัดทิ้งออกทั้งหมด “โดยไม่ใช้ยาสลบเลย” ดอกเตอร์ แซมบา กล่าวว่า “พวกที่เข้าพิธีกรรมทุกคนจะถูกปิดตา เขาจะใช้มีดที่ลับจนคมตัดออก ตลอดพิธีจะมีเสียงกลองดังสนั่น จนหนวกหู พร้อมกับมีเสียงร้องเพลง และการเต้นรำของญาติมิตรประกอบ หลังการผ่าตัดจะมีการชำระล้างแผลและทายาที่ทำจากสมุนไพรผสมกับรากไม้ที่นำมาบดเป็นผงทุก ๆ วัน จนกระทั่งแผลหาย”

“ไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่เลยจริง ๆ”

พิธีที่น่ากลัวกว่านี้ ยังมีการปฏิบัติกันในประเทศทางตอนเหนือของแอฟริกา ที่นั้นเด็กผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง ๔-๘ ปี จะถูกจับให้นอนลงบนเสื่อที่ทำพิธีกรรม บรรดาหญิงชราที่มาร่วมพิธีจะจับแขนขาและศีรษะให้แนบติดอยู่กับพื้น ผู้ประกอบพิธีเรียกว่า “Gedda”ได้แก่ผู้หญิงที่มีอายุรุ่นคราวย่าหรือยาย จะใช้มีดโกน หรือของมีคมอื่น ๆ ตัดอวัยวะสืบพันธุ์ส่วนนอกออกจนหมดสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเม็ดละมุด แคมเล็กแคมใหญ่ หลังจากนั้นจะมีการเย็บบาดแผลให้ติดกันด้วย หนาม เอ็นแมว หรือลวด เหลือช่องว่างแค่หัวไม้ขีดไฟ (เพื่อไว้ทำหน้าที่ทางสรีระเท่านั้น) ขาของเด็กผู้หญิงแต่ละคนจะถูกมัดติดกันจนกว่าแผลแห้งติดกัน มีผลเหมือนกับเป็นการลั่นกุญแจของลับของสตรี ป้องกันการผิดประเวณี ซึ่งมักทำกับภรรยาของพวกที่ไปรบในยุโรป มิให้มีชู้

“เหมือนกับมองดูผนังกำแพงที่ว่างเปล่า” ผู้ชำนาญโรคสตรีชาวอเมริกันผู้หนึ่งพูดขึ้นหลังจากตรวจดูผลการผ่าตัดจากผู้หญิงคนหนึ่งที่เข้าพิธีนี้ “ไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย”

หญิงสาวที่เข้าพิธีตัดอวัยวะเพศนี้ เรียกว่าพิธี ฟาโรนิค (มาจากภาษาอียิปต์โบราณ เพราะเชื่อกันว่าพิธีกรรมนี้มีต้นกำเนิดมาจากชาวอียิปต์) แปลว่า การเย็บ (มาจากภาษาลาติน ที่แปลว่า เย็บหรือติดเข้าด้วยกัน) ซึ่งมีขั้นตอน ๓ ขั้นตอนด้วยกัน ครั้งแรกจะทำระหว่างพิธีการขลิบ ครั้งแรกเมื่อเริ่มเป็นสาว ครั้งที่ ๒ ตอนแต่งงาน และครั้งที่ ๓ ระหว่างการคลอดบุตร

เนื้อเยื่อที่กลายเป็นแผลเป็นขนาดใหญ่จากพิธีกรรมนี้ จะทำให้เวลามีความสัมพันธ์ทางเพศตามปกติเป็นสิ่งที่เจ็บปวดทรมานและอันตรายมาก

“ถ้าหากอวัยวะที่เป็นแผลมีขนาดเล็กและมีแผลเป็นใหญ่มาก ก็คงจำเป็นจะต้องมีขบวนการที่เกี่ยวกับการผ่าตัดเพื่อเปิดอวัยวะอีกครั้งหนึ่งอย่างแน่นอน” ดอกเตอร์ ตาบา ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการระดับภูมิภาคขององค์การอนามัยโลก ประจำเขตเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกในเมืองอเล็กซานเดรียกล่าวอธิบาย

ยิ่งกว่านั้น การมีสัมพันธ์ทางเพศสำหรับผู้หญิงที่ผ่านพิธีเย็บอวัยวะเพศดังกล่าว จะเป็นเสมือนสิ่งที่กลายเป็นฝันร้ายชั่วชีวิต ซึ่งเต็มไปด้วยความเจ็บทรมาน จะผ่านพ้นไปได้อีกครั้งก็ต่อเมื่อมีการคลอดบุตร เนื้อเยื่อที่ถูกเย็บติดจะไม่มีความยืดหยุ่น ซึ่งทำให้การคลอดตามปกติเป็นไปได้ยาก จึงมีความจำเป็นต้องมีการผ่าเพื่อเปิดช่องคลอดให้กว้างขึ้น และเมื่อมีการผ่าซึ่งมักทำกันอย่างลวก ๆ ระหว่างการคลอด ก็อาจทำอันตรายหรือผ่าเอาศีรษะของเด็กที่กำลังเคลื่อนออกมาทางช่องคลอดทำให้ตายได้

ถึงตรงนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า ความทุกข์ทรมานของผู้หญิงจะหยุดอยู่เพียงแค่นี้ เพราะหลังจากการคลอดบุตร ถ้าหากสามีเธอจะต้องเดินทางไปอยู่ที่อื่นเป็นเวลานาน เขาสามารถที่จะสั่งให้ภรรยาเย็บช่องคลอดให้ติดกันอีกก็ได้ เพื่อเป็นการรับประกันความซื่อสัตย์จงรักภักดี และวัฏจักรของความเจ็บปวดทรมานก็เริ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

กลุ่มผู้คัดค้านกล่าวอีกว่า พิธีดังกล่าวนี้เองที่ทำให้ความเป็นผู้หญิงตกอยู่ในกำมือของผู้ชายขบวนการของพิธีกรรมดังกล่าวไม่เพียงแต่เจ็บปวดทรมาน แต่ยังทำเหมือนผู้หญิงมิใช่มนุษย์อีกด้วย เป็นการกระทำที่ลดฐานะสตรีลงเป็นแค่เครื่องจักรที่ทำการผลิตได้เท่านั้น “เมื่อ ๓๐ ปีที่แล้วมา การขลิบอวัยวะเพศของสตรีในแอฟริกาไม่มีอะไรมากไปกว่า เป็นเพียงสิ่งที่มีผู้เขียนถึงในเชิงอรรถเท่านั้น” สตรีชาวเบนินซึ่งเป็นอนุกรรมการเกี่ยวกับสถานภาพของสตรีวิจารณ์ ปัจจุบันเมื่อผู้หญิงมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในสังคม เรื่องนี้จึงได้กลายมาเป็นปัญหาสำคัญ ไม่ว่าที่ไหนที่ยังมีการทำตามประเพณีนี้อยู่ พวกผู้หญิงควรจะคัดค้านต่อสู้ให้ถึงที่สุด”

ที่น่าประหลาดใจก็คือ เหตุผลที่ผู้หญิงชาวพื้นเมืองเป็นจำนวนมากไม่ต้องการต่อต้านพิธีนี้เพราะเนื่องจากเชื่อกันว่า เป็นกฎบังคับของศาสนาอิสลาม

“แต่ในคัมภีร์โกหร่านก็มิได้มีอะไรที่ระบุไว้ถึงเรื่องเหล่านี้เลย” มุสลิมคนหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในองค์การอนามัยโลกกล่าว “ความจริงแล้วการจะตัดหรือทำการผ่าตัดอะไร ชนิดไหนก็ควรเป็นเรื่องที่น่าประณามอย่างยิ่งอยู่แล้ว”

ยิ่งกว่านั้น ผู้เชี่ยวชาญได้ชี้ให้เห็นว่า พิธีกรรมดังกล่าวนี้ ได้แพร่กระจายมาก่อนศาสนาอิสลามจะเข้ามาถึงแล้ว ไม่มีใครรู้แน่นอนว่า พิธีครอบเหล่านี้เริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร แต่ทั้งการขลิบอวัยวะเพศของหญิงและชายดูเหมือนจะเป็นวิธีการผ่าตัดที่เก่าแก่โบราณมากที่สุดวิธีหนึ่ง หลักฐานทางโบราณคดีได้ค้นพบมัมมี่ของชาวอียิปต์เป็นสตรีที่ได้ผ่านการขลิบอวัยวะเพศมัมมี่นี้มีอายุถึง ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว พฤติกรรมดังกล่าวนี้มีหน้าที่เสมือนเป็นพลังเชื่อมทางด้านจิตใจ ให้สมาชิกในสังคมรู้สึกว่ามีความเป็นพวกเป็นกลุ่มเดียวกัน

การเข้าสุนัติของผู้ชายกลับเป็นผลดีแก่สุขภาพ และมิได้มีอิทธิพลใด ๆ ต่อหน้าที่ทางเพศเลย ทั้งยังเป็นการกระทำที่ได้รับการยอมรับจากแพทย์เป็นจำนวนมาก ตรงข้ามกับการขลิบอวัยวะเพศของผู้หญิงที่นำความทุกข์ทรมานมาให้ชั่วชีวิต ผู้ที่อยู่ในแวดลงทางด้านสุขภาพเกือบทุกคนที่รู้เรื่องต่างกล่าวขวัญถึงความน่ากลัวของพิธีนี้ เพราะมีผลให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา เช่นเชิงกรานอักเสบบวมเป็นโรคเรื้อรัง บาดทะยักที่มดลูก โรคเนื้อตายที่อวัยวะสืบพันธุ์ ฯลฯ โรคเหล่านี้ทำให้อัตราการตายของทารกในแอฟริกาสูงถึง ๓๘ เปอร์เซ็นต์ นับเป็นสถิติที่สูงที่สุดในโลก

จากปัญหาทางด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนนี่เอง ทำให้เรื่องพิธีกรรมนี้ เป็นปัญหาที่อยู่ในความสนใจระดับระหว่างชาติขึ้นมา ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ๑๙๗๙ องค์การอนามัยโลกได้เป็นเจ้าภาพจัดการสัมมนาในหัวข้อ ประเพณีที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของสตรีขึ้น และได้มีการนำเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาหลังจากที่ผู้แทนทางการแพทย์จากแอฟริกา ตะวันออกกลาง ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ได้ฟังหลักฐานต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว ก็ได้เสนอให้มีการร่างนโยบายระหว่างชาติเพื่อกำจัดการขลิบอวัยวะเพศของสตรี เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี ๑๙๘๑ องค์การยูนิเซฟก็ได้ประกาศโดย “สัญญา” ว่าจะทำงานร่วมกับรัฐบาลที่จะช่วยเหลือโครงการของชาติที่เกี่ยวข้องกับการขลิบอวัยวะเพศของสตรี นับเป็นคำปฏิญาณที่มีลักษณะพิเศษสำหรับหน่วยงานของ ยูเอ็น

การหยุดยั้งประเพณีดังกล่าวนี้ เป็นเรื่องไม่ง่ายนัก เพราะแม้แต่ผู้ที่ต้องทนทรมานจากความเจ็บปวดของพิธีนี้ ก็ยังคงเชื่อถือกันอย่างเคร่งครัด ว่าเป็นเรื่องจำเป็นและถือว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการเป็นผู้หญิง บางคนก็มีทัศนะว่า พิธีกรรมนี้เป็นขบวนการฝึกให้มีความ “อดทนมากยิ่งขึ้น”

“ชีวิตที่นี้ลำบากมาก” หญิงชาวแอฟริกันผู้หนึ่งกล่าว “พิธีนี้จะเตียมเราให้พร้อมที่จะเผชิญความยากลำบาก”

ในหลาย ๆ ท้องที่ ผู้หญิงที่ไม่ได้ผ่านพิธีกรรมนี้ จะถูกประณามว่าเป็นพวกไม่สะอาดและถูกเยาะเย้ยจากเพื่อนฝูง ฐานเป็นคนไม่เหมาะสมที่จะแต่งงานด้วย บางคนก็เชื่อว่า การให้กำเนิดบุตรจะเป็นไปไม่ได้ ถ้าหากไม่มีการผ่าตัดบางคนก็เชื่อว่า เด็กที่เกิดจากหญิงที่ไม่ได้เข้าพิธีขลิบอวัยวะเพศจะนำความหายนะมาให้แก่กลุ่มชนพวกเขาเอง

“มันเจ็บปวดทรมาน”

ไม่เพียงแต่ผู้หญิงที่ไม่ได้รับการศึกษาเท่านั้นที่ติดอยู่กับความเชื่อนี้ อดีตประธานาธิบดีของเคนยา ได้เคยเขียนไว้ว่า การผ่าตัดในพิธีนี้ เป็นขบวนการให้การศึกษาทางศาสนาและทางศีลธรรมที่สมบูรณ์ที่สุด ส่วนนายโซมาลิ ทูตของยูเอ็นก็ได้ประกาศว่าเป็นประเพณีที่เด็กหญิงทุกคนในประเทศของเขารวมทั้งภรรยาและลูกสาว ๒ คนของเขาด้วยต้องเข้าพิธีกรรมแบบนี้ ทั้งผู้เชี่ยวชาญโรคสตรีชาวซูดานที่น่าเชื่อถือคนหนึ่งก็ยังสนับสนุนให้ภรรยาของเขาเข้าพิธีนี้ สุภาพสตรีบางคนซึ่งเป็นข้าราชการระดับสูงของรัฐบาลก็ยังจัดพิธีกรรมนี้ให้แก่หลานของเธอเอง

หญิงชาวโซมาเลียอายุ ๓๔ ปี ผู้หนึ่งเคยทำงานอยู่ในปารีส ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อเธออายุ ๔ ปี เธอได้เข้าพิธีขลิบอวัยวะเพศ “มันเจ็บปวดทรมานมาก แต่เราถูกสอนให้เป็นเด็กหญิงที่กล้าหาญ” เมื่อถูกถามว่าเธอจะยอมให้ลูกสาวเข้าพิธีนี้ด้วยหรือไม่ เธอตอบอย่างลังเลใจว่า “ดิฉันไม่อยากให้เขาเย็บของเธอให้ติดกัน” เธอสารภาพ “แต่ควรจะมีการตัดอะไรออกบ้างมิฉะนั้นเธอจะรู้ได้อย่างไรว่าเธอเป็นผู้หญิง”

“ความเชื่อนี้ลงรากลึกมาก” ดอกเตอร์ฮาร์ดิ้ง จิตแพทย์ขององค์การอนามัยโลกกล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงคงไม่สามารถเกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืนได้ อาจจะต้องใช้เวลาเปลี่ยนความคิดของผู้คน และทำให้ประชาชนเปลี่ยนความเชื่อ นับเป็นวิถีทางเดียว” เพราะการออกกฎหมายลงโทษ ก็มิได้เป็นคำตอบในการแก้ปัญหา ตัวอย่างเช่น แม้ว่าจะมีนโยบายของทางการที่เข้มงวดในประเทศนี้เป็นเวลา ๓๐ ปี มาแล้ว แต่ผู้หญิงชาวซูดานก็ยังคงดื้อรั้นที่จะปฏิบัติตามความเชื่อนี้กับเด็กหญิงอายุ ๕-๘ ขวบ และก็ไม่มีใครถูกลงโทษตามกฎหมาย แม้จะมีบทกำหนดให้จำจองถึง ๓ ปีก็ตาม ในบางส่วนของประเทศ มีผู้หญิงถึง ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ที่เข้าพิธีขลิบอวัยวะเพศนี้ “การทำพิธีนี้มักลักลอบทำกันใต้ดิน ในที่ที่สภาพทางสุขอนามัยอยู่ในขั้นล้าหลังมาก”

“การแก้ปัญหาไม่สามารถมาจากบุคคลภายนอกได้ จะต้องมาจากประชาชนเจ้าของวัฒนธรรม ซึ่งเป็นระดับรากเหง้าทีเดียว เป็นการถอนรากถอนโคน” เจ้าหน้าที่ขององค์การอนามัยโลกกล่าว

อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือจากภายนอกอาจจำเป็น ในการช่วยทำให้การกำจัดอย่างถอนรากถอนโคนเริ่มต้นขึ้นได้ ควรจะมีการอบรมพวกหมอกลางบ้าน หรือผู้หญิงที่เป็นที่นับถือของชุมชนระดับชาวบ้าน และควรมีการอบรมพวกหมอตำแยให้รู้ถึงอันตรายของพิธีนี้ มูลนิธิวางแผนครอบครัวระหว่างชาติ ซึ่งมีประเทศสมาชิกถึง ๙๕ ประเทศในปัจจุบัน ได้รวมเอาพิธีนี้เข้าเป็นโครงการให้การศึกษาทั่วไปด้วย ผู้นำทางศาสนาควรชี้แจงให้กระจ่างว่า พิธีนี้มิได้เป็นสิ่งที่ระบุไว้ในคัมภีร์โกหร่าน นายตาบา เจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลกกล่าวอีกว่า “พิธีกรรมนี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้หญิงและเด็ก ๆ ไม่ได้มีผลดีแต่อย่างไรเลย การเลิกพิธีนี้ จะส่งผลกระเทือนต่อวัฒนธรรมประเพณีไม่มากไปกว่าการเลิกสูบบุหรี่”

พวกผู้หญิงด้วยกันควรช่วยเหลือด้วย ดอกเตอร์ฮาร์ดิ้ง เชื่อว่า “ถ้าหากสตรีที่เป็นที่เคารพเชื่อถือของแต่ละประเทศที่เกี่ยวข้องกับพิธีนี้จะพูดว่า ถึงเวลาแล้วที่จะเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติ ประชาชนอาจจะฟังก็ได้ เช่นเดียวกับเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบทบาทและความเสมอภาคของสตรี ที่ต้องขึ้นอยู่กับความพยายามของผู้หญิงเองที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นขึ้น”

แน่นอนที่ความหมายในด้านสัญลักษณ์ทางพิธีกรรมอาจจะเป็นปัญหาที่ยากที่จะเกี่ยวข้องด้วย แต่ความจริงที่พิธีนี้เป็นที่เข้าใจหรือมีความหมายทางวัฒนธรรม ก็มิได้หมายความว่า จำเป็นจะต้องเป็นเรื่องที่ควรให้อภัยในระดับนานาชาติ ดังที่ชาวแอฟริกันผู้หนึ่งได้กล่าวว่า “ประเพณีและความก้าวหน้ามิใช่สิ่งที่ขัดแข้งกัน แต่เป็นความนึกคิดที่ควรช่วยเหลือกัน วิธีการก็คือ นำสิ่งที่ดีที่สุดของโลกทั้งสองมาแต่งงานกัน และละทิ้งสิ่งที่เลวร้ายเสีย”

และแน่นอนเช่นกันที่พิธีขลิบอวัยวะเพศของสตรี ซึ่งมีผลให้เกิดโรคแพร่หลายและเป็นการกดขี่ทางเพศ ทำให้เกิดการตาย ย่อมเป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุด ซึ่งจากการสัมมนาได้ทำให้เป็นที่กระจ่างว่า พิธีนี้ได้ถูกนำมาพิจารณา จากความพยายามในระดับชาติที่ทำกันอย่างเงียบ ๆ พิธีนี้ควรจะถูกตัดสินให้เลิกได้แล้ว