โปงลาง:เครื่องกำเนิดทำนองดนตรีและสัญญาณการค้าต่างแดนของชาวอีสาน

Socail Like & Share

โดย จารุบุตร  เรืองสุวรรณ

หนังสือ พจนานุกรมภาษา ภาคอีสาน-ภาคกลาง ฉบับปณิธาน สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ อธิบายศัพท์คำโปงลางไว้ว่า “น. ระฆังโลหะ หรือไม้ขนาดเล็กใช้แขวนคอวัว หรือผูกกับซุ้มวางบนต่างที่วัวบรรทุกต่าง หมากโปงลางก็ว่า”

คำอธิบายออกจะคลุมเครือ อาจจะก่อให้เกิดความสับสน จึงขอเสนอความเห็นไว้ดังนี้ คือ จะต้องแยกคำว่า “โปง” อย่างหนึ่ง กับ “โปงลาง” อีกอย่างหนึ่งออกจากกันจึงจะพอเข้าใจง่ายขึ้นบ้าง เพราะทั้งสองสิ่งนี้เป็นคนละอย่างแตกต่างกัน

“โปง”  มีความหมายเหมือนคำว่า “โป่ง” ในภาษาภาคกลาง คือหมายถึง สิ่งที่มีลักษณะกลวงข้างในทุก ๆ วัดในภาคอีสานสมัยก่อนจะมี “โปง” ทำด้วยท่อนไม้ขนาดใหญ่ขุดเจาะให้กลวง แขวนไว้สำหรับใช้ท่อนไม้กระทุ้งตีสัญญาณ มีเสียงก้องกังวานไปให้คนทั้งหมู่บ้านได้ยินเป็นสัญญาณบอก หรือเตือนให้ทราบเวลาทำบุญหรือฟังเทศน์ตามวัด หรือเตือนให้ผู้ประกอบอาชีพการงานต่าง ๆ ทราบเวลา ตลอดจนได้ยินไปถึงผู้ที่กำลังทำงานในป่าหรือเดินทางในป่าให้ทราบเวลาจวนค่ำและกำหนดเดินทางเข้าสู่หมู่บ้านคน

ส่วนไม้ขนาดเล็กใช้แขวนคอวัวนั้น ไม่เคยได้ยินคนทั้งหลายในจังหวัดใดทางภาคอีสานเรียกชื่อว่า โปงลางมีแต่ใช้ชื่อว่าขิกหรือขอ หรือขอลอ ซึ่งต่อมาภายหลังพวกผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นำมาใช้ตีสัญญาณเรียกว่า กะลอ หรือ เกราะ โปงไม้ขนาดเล็กอาจมีใช้แขวนคอควายอยู่บ้าง

ประเภทที่หล่อด้วยทองสำริดทองเหลือง เหล็ก หรือโลหะอื่นๆ เรียกว่า หมากฮิ่งกระดิ่ง หรือ หมากกะโหล่ง ถ้ามีหลายลูกร้อยเป็นพวง ใช้ผูกคอวัวเทียมเกวียนเรียกว่า หมากฮิ่งห่อ ถ้าลูกขนาดโตร้อยเป็นพวงใช้ผูกคอช้างเรียกว่า ซ่วงซ้าง ถ้าหลอมหล่อผสมแร่เงินมีขนาดเรียวยาว เสียงแหลมได้ยินไปไกลใช้ผูกคอช้างก็เรียกว่า หมากฮิ่งซ้าง

“โปงลาง” คือโปงโลหะสำริด ซึ่งอยู่ในฮางหรือในราง ทางภาคเหนือเรียกว่าผางฮางหรือผางลาง เดิมใช้แขวนไว้บนหลังวัวต่าง ต่อมาการค้าวัวต่างซบเซาลง พวกบริษัททำป่าไม้ทางภาคเหนือจึงนำเอาโปงสำริดแต่ละลูกมาผูกคอช้างลากซุง

ไม่ว่าทางภาคเหนือ หรือภาคอีสานจะไม่มีผู้ใดอุตรินำเอาโปงลางไปแขวนคอวัวหรือคอควาย เพราะฮางหรือรางคือคอกใส่โปงสำริดคู่นั้นกินเนื้อที่และมีน้ำหนักมาก ซึ่งคอสัตว์ทั้งสองคงไม่เหมาะที่จะรับได้

ต้นกำเนิดดนตรีชาวอีสาน

วิถีการดำเนินชีวิต (Way of life way of living) หรืองานอาชีพการทำมาหากินของชาวอีสานโบราณนั้น นอกจากการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ล่าสัตว์หาของป่าแล้ว ยังมีอาชีพทางด้านการค้าในท้องถิ่น และการค้ากับต่างแดนที่ห่างไกล มีทั้งทางน้ำและทางบก

การค้าทางน้ำ อาศัยลำน้ำสำคัญ เช่น น้ำโขง น้ำมูล น้ำชี น้ำพอง น้ำสงคราม น้ำปาว ใช้บรรทุกสินค้า โดยเรือขุดเป็นเรือถ่อหรือใช้แพไม้ไผ่ตามที่ราบลุ่มน้ำหรือริมฝั่งน้ำมีไม้ไผ่นานาชนิด ซึ่งบางชนิดเหมาะที่จะนำเอามาทำเป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “แคน” จากการใช้ชีวิตจำเจในแม่น้ำ ก่อให้เกิดจินตนาการ จิตใจลอยล่องไปตามกระแสน้ำ จนเกิดทำนองเพลงหรือ “ลาย” ซึ่งออกจะยาวยืดยาด หรือมีเสียงกระชั้นกระฉอกเหมือนกระแสน้ำที่ไหลกระเซ็น หรือวนเวียนเหมือนน้ำในวังวน เช่นลายยาว ลายล่องของ เป็นแม่บท ทั้งหมดนี้ จัดอยู่ในประเภทตระกูลลายแคน

การค้าทางบก พาหนะสำหรับลำเลียงขนส่งสินค้าทางบกนั้น การใช้เกวียนมีขอบเขตจำกัดมาก เนื่องจากไม่มีถนนหรือสะพานเหมือนเวลานี้ ดังนั้นจึงต้องใช้แรงงานสัตว์ โดยเฉพาะวัวซึ่งมีมากที่สุดในภาคอีสาน ตั้งแต่โบราณมาจนกระทั่งปัจจุบัน จึงใช้วัวบรรทุกต่าง บรรจุสรรพสินค้าส่งออกและนำเข้า สำหรับการค้ากับแดนไกล เปรียบเสมือนกองเรือพาณิชย์นาวีในยุคปัจจุบัน ทำให้สามารถเดินทางไปค้าขายกับภาคกลาง ภาคเหนือ ของประเทศไทย รัฐไทยใหญ่ มอญ พม่า แม้กระทั่งญวนและเขมร

ตามปกติเมื่อเสร็จจากฤดูทำนาแล้ว ฝ่ายหญิงจะเฝ้าบ้านเลี้ยงลูก ทอผ้า ทำสวนครัว เลี้ยงสัตว์อยู่ในหมู่บ้านฝ่ายชายจะต้องออกหารายได้นอกบ้าน ที่ทำกันแพร่หลายมากคือไปค้าขายต่างแดนไกล โดยใช้ขบวนวัวต่าง มีทั้งขบวนใหญ่และขบวนย่อยบางขบวนไปขายวัวโดยเฉพาะ บางขบวนก็บรรทุกสินค้าผลิตผลพื้นบ้านไปขาย แล้วรับสินค้าที่หายากกลับมา

การจัดขบวนวัวไปค้าต่างประเทศ

หน่วยย่อยที่สุดเรียกว่า “พาข้าว” มีเจ้าของวัวต่างประมาณ ๑๐ คน แต่ละคนมีวัวต่าง ๕ ถึง ๑๕ ตัว ผู้เป็นหัวหน้าพาข้าวเรียกชื่อว่านายฮ้อย พาข้าวมีความหมายเหมือนห้างหุ้นส่วน แต่ละพาข้าวทุกคนจะต้องรับผิดชอบร่วมกันและแทนกัน อยู่กินร่วมกันในพาข้าวเดียวกัน วัวต่างบรรทุกสินค้าทุกตัวมีสองต่างขนาบลำตัวสองข้างในพาข้าวหนึ่งจะมีวัวต่างหนึ่งบรรทุก “โปงลาง” ไว้บนหลังวัวหลังต่าง ต่างของวัวสำคัญตัวนี้จะไม่บรรจุสินค้ามีเพียงว่านยาหรือเครื่องพิธีกรรมเท่านั้น

การ “เอ้” วัวจ่าฝูง

คำว่า เอ้ คือการแต่งตัว ตบแต่งประดับประดา วัวที่จะทำหน้าที่เป็นจ่าฝูงหรือวัวสำคัญได้รับเกียรติ์บรรทุกโปงลางบนหลังนั้น จะต้องเป็นตัวผู้ที่มีลักษณะดีมีหนอกขึ้นสูง เดินโยกอย่างสง่าเป็นจังหวะ เรียกว่า “มีสังวาสย่าง” จึงจะเดินโยกโปงลางให้มีเสียงไพเราะแต่น่ายำเกรงอีกด้วย

เมื่อเลือกวัวสำคัญได้แล้วก็นำมาเอ้ คือส่วนเขาจะต้องขัดให้ขึ้นมันบางพวกใช้แผ่นเงินเลี่ยมเป็นเปลาะตอนปลายเขามัดด้ายกระทงหรือช่อดอกไม้ ตรงหน้าผากมีแว่นกระจกผูกติดไว้ให้สะท้อนแสงแดดจะมองเห็นได้ไกล(คอกไม้หรือฮางโปงลางบางอันสลักลวดลายสวยงามและใช้แว่นกระจกประดับไว้ตอนหน้าด้วย) ที่ปากวัวสรวม “กะทอ” หรือขลุมทำด้วยหวายเพื่อมิให้พะวงกินหญ้า(เว้นแต่เวลาหยุดพัก) ให้กินได้แต่น้ำมิฉะนั้น วัวลูกน้องตัวอื่นจะเอาอย่างเสียเวลาเดินทาง บางพวกคล้องมาลัยพวงใหญ่ที่คอวัวอีกด้วย

บนหลังวัวปูผ้าคล้ายผ้ารองอาน ม้ามีสีและลวดลายต่าง ๆ ใช้เปลือกกะโดนปูทับ มีหมอนสองใบรองรับต่างสองข้าง เพื่อมิให้หลังวัวถลอก มีไม้เป็นคานคาด หูต่างทั้งสองพาดบนหมอน แล้วเอาโปงลางวางข้างบนชิดไปทางหนอกวัว มีเชือกรั้งจากต่างรัดโคนหางวัว เวลาลงเขาจะไม่รูดไปข้างหน้า มีเชือกรั้งกับคอและขาหน้าตลอดจนท้องวัว(เพื่อมิให้โปงลางและต่างรูดไปด้านหลังหรือด้านข้างเวลาขึ้นเขา หรือไปในที่ขรุขระ) ที่หน้าวัวและหางวัว บางพวกก็ใช้สีต่าง ๆ ทาสลับกัน

พาข้าวหรือหุ้นส่วนหนึ่งมักจะไปจากแต่ละคุ้มของหมู่บ้าน กองคาราวานวัวต่างแต่ละขบวนมีหลายพาข้าว บางขบวนมีวัวต่าง ๑,๕๐๐ ถึง ๑,๘๐๐ ตัว มีชายฉกรรจ์คุมวัวประมาณ ๑๐๐ คนมีนายฮ้อยใหญ่เป็นแม่ทัพควบคุมบังคับบัญชาทุกพาข้าวอีกชั้นหนึ่ง พื้นที่ภาคอีสาน ๑๖ จังหวัดจะมีขบวนวัวต่างขนาดใหญ่หลายสิบ ซึ่งประกอบขึ้นด้วยคนหลายพันและวัวต่างหลายหมื่น ไปมาค้าขายยังแดนไกลเป็นประจำทุกปี ซึ่งต้องใช้เวลา ๓-๔ เดือน หรือบางครั้งใช้เวลาแรมปีถ้าการค้าเกิดอุปสรรค

นายฮ้อยใหญ่หรือแม่ทัพจะนัดหมายให้แต่ละพาข้าวออกเดินทางไปพบกันที่จุดแห่งหนึ่ง เพื่อรวมตัวกันเดินทางเปนขบวนใหญ่ ก่อนออกเดินทางอาจจะมีพิธีกรรมตามความเชื่อถือลูกเมียจะพากันหาบคอนเสบียงอาหารตามไปส่งระยะทางไกลค้างแรม ๕-๑๐ คืนก็มี ต่างก็มีความอาลัยอาวรณ์ฝากชีวิตฝากความหวังในอนาคตไว้ซึ่งกันและกัน ทั้งผู้ที่จะจากไปไกลและรอคอยอยู่เบื้องหลังด้วยจิตใจอันจดจ่อห่วงใย

นอกจากเสบียงกรัง ว่านยา วัตถุมงคล และอาวุธประจำกายชายชาตรีแล้วมักจะนำเครื่องดนตรีติดตัวไปด้วย เช่น พิณ ซอ แคน หึน เสียงของโปงลางแต่ละพาข้าวนั้นได้ยินไปไกลประมาณ ๕-๖ ก.ม. มีทั้งโปงลางใบใหญ่รูปกลมเสียงทุ้มอยู่ต้นขบวน และโปงลางรูปสี่เหลี่ยมแบนเสียงแหลมอยู่ท้ายขบวน ส่งเสียงก้องกังวานขานรับกันไปตามทุ่งตามป่า ตามดงตามเทือกเขา เวลาทัพวัวต่างออกจากบ้านผ่านท้องทุ่ง เกิดความว้าเหว่วิเวกวังเวง พวกที่มีพิณ ซอ แคน ก็จะพยายามเทียบเลียนเสียงโปงลางในสภาพที่ผ่านภูมิประเทศ ภูมิอากาศและบรรยากาสนั้น จนกลายเป็นทำนองเพลงหรือลาย แม่ฮ้างกล่อมลูก เวลาขบวนผ่านป่าไม้ดงทึบเห็นฝูงผึ้งกำลังทำรังหรือบินว่อนเพื่อดูดน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ ประกอบกับบรรยากาศทึบทึม จึงมีจินตนาการจากเสียงโปงลางเกิดเป็นลาย แมงภู่ตอมดอก หรือชมดอก บางคนมีแรงบันดลใจแรงกล้า คว้าเอาใบไม้ใกล้ทางมาเป่าจนเป็นลายต่าง ๆ ที่มีความไพเราะประเภทหนึ่ง

ขณะที่ขบวนวัวต่างผ่านภูมิประเทศทุระกันดารขรุ ๆ ขระ ๆ มีก้อนหินระเกะระกะวัวเดินไม่เป็นปกติ เสียงของโปงลางก็ขย่อนไปขย่อนมา จึงเกิดเป็นลาย กาเต้นก้อน (เหมือนอาการของอีกาเต้นโขยกจากก้อนดินขี้ไถก้อนหนึ่งไปยังอีกก้อนหนึ่ง เพื่อจับปลากุ้งเป็นอาหาร ยามที่ไถคราดนาใหม่)

เมื่อขบวนวัวต่างไต่เขาขึ้นที่สูงเสียงโปงลางจะเนิบช้า แต่เวลาลงเขาเสียงโปงลางจะถี่กระชั้น เป็นเค้ามูลที่มาของลายภูไทไต่ภู หรือลมพัดชายเขา

ตามหมู่บ้านในเส้นทางผ่านของขบวนวัวต่าง มักจะมีมิตรสหายหรือเสี่ยว คือเพื่อนร่วมชีวิตของพวกนายฮ้อย ซึ่งพอจะจำเสียงโปงลางของกันได้ เมื่อได้ยินแว่วเสียงมาแต่ไกลก็จะจัดการเตรียมต้อนรับไว้ล่วงหน้าพวกเด็ก ๆ และผู้หญิงจะมารุมล้อมดูและเดินตาม โดยให้ความสนใจกับวัวจ่าฝูงซึ่งบรรทุกโปงลาง ประจวบกับเป็นยามเย็นมีลมพัดพริ้ว ใบมะพร้าวในหมู่บ้านปลิวไสว เสียงโปงลางในบรรยากาศเช่นนั้นจึงเกิดแรงดลใจให้มีลาย ลมพัดพร้าว ขึ้น

การพักแรมคืนสาธิตเสียงโปงลาง

การเดินทัพในขบวนวัวต่างนั้น แต่ละพาข้าวจะต้องคอยเงี่ยหูฟังเสียงโปงลางของพาข้าวซึ่งอยู่ถัดตามกันมา หากแว่วเสียงอยู่ไกลก็ชะลอการเดินทางหรือหยุดพักคอย หากเสียงโปงลางหายไป ต้องให้คนออกตามเพราะเกรงจะเกิดอันตราย

เมื่อถึงจุดนัดหมายพักแรมที่เลือกเอาทำเลกว้างขวาง สามารถหาน้ำท่าอาหารได้บริบูรณ์ให้คนและวัวจำนวนมากได้พักผ่อนนอนหลับ ในตอนหัวค่ำจะมีชาวบ้านมาติดต่อซื้อสินค้าหรือถามข่าวคราว และมักจะมีการขอร้องให้พวกนายฮ้อยนำเอาโปงลางซึ่งปลดออกจากหลังวัวต่างมาโยกหรือเขย่าเป็นเสียงต่าง ๆ ให้ชม ทั้งนี้เพราะรู้สึกจับใจในเสียงอันมีชีวิตชีวาคล้ายกับกับมีวิญญาณสิงสู่ เขาเหล่านั้นได้ยินเสียงอันโหยหวลมีเสน่ห์น่าอัศจรรย์ก้องกังวานแต่ไกล กว่าจะมาถึงเป็นเวลาช้านาน เนื่องจากโปงสำริดบางลูกหลอมหล่อผสมแร่ทองหรือแร่เงินด้วย

การสาธิตโยกโปงลางใช้วิธีนั่งชันเข่าส้นเท้ายันกับดิน เมื่อโยกโปงลางหลายคู่พร้อมกันจะมีเสียงทุ้มเสียงแหลมเสียงสูงเสียงต่ำ เมื่อนำเอาพิณ ซอ แคน มาบรรเลงประสานจึงเกิดดนตรีวงใหญ่ขึ้น ทั้งพ่อค้าวัวต่าง และชาวบ้านทุกเพศทุกวัย ต่างก็ร้องรำทำเพลงเป็นที่สนุกสนาน

ตอนขากลับพอจวนจะถึงบ้านเดิม เสียงของโปงลางซึ่งแว่วมาแต่ไกลก็พอจะจำกันได้ ผู้ที่ตั้งตารอคอยเป็นแรมเดือน ก็จะเกิดความลิงโลดดีใจ เตรียมการคืนสู่เหย้า ก่อนเข้าหมู่บ้านบรรดาพ่อค้าวัวต่างจะจุดประทัดและยิงปืนเสียงดังกึกก้องหลังจากพักผ่อน 2-3 วันแล้วก็มีพิธีสูตรขวัญญาติมิตรหรือลูกหลานมักจะมารบเร้าให้ผู้กลับมาโยกหรือเขย่าเพื่อฟังเสียงโปงลางให้ถนัด เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวข้าว หมู่บ้านใดตั้งอยู่บริเวณที่ลุ่ม ใช้ล้อเกวียนไม่ได้ ก็นำเอาวัวต่างมาขนข้าวเปลือก โดยเอ้วัวต่างอีก และใส่โปงลางบนหลังอย่างเดิม พ่อค้าที่เคยค้าวัวต่าง เมื่อยามไปเฝ้านาเฝ้าลอมข้าว มักจะนำเอาโปงลางมาโยก มีเสียงเป็นลายหรือท่วงทำนองเพลงต่าง ๆ ได้ยินไปไกลในยามดึกสงัด

เนื่องจากโปงลางแต่ละคู่เป็นของมีค่าราคาแพงเป็นเงินหลายชั่งบางพวกมีพิธีกรรมเก็บรักษาประดุจหนังประกำช้าง ไม่สามารถจะนำเอามาแสดงได้สะดวก จึงมีการหาวัสดุอื่นมาให้เสียงเลียนแบบ เช่นใช้ไม้ไผ่ตัดเป้นปล้องสั้นยาว เพื่อให้เกิดเสียงทุ้มแหลม นำมาร้อยรวมกันเข้าจนเกิดเป็นเครื่องดนตรีโปงลางไม้ไผ่ซึ่งเมื่อประมาณ ๕๐ ปีมานี้ก็ยังมีอยู่

โปงลางไม้หมากหาด

ต่อมามีการนำเอาไม้หมากหาดหรือมะหาดมาทำเป็นลูกระนาด ตีแทนเสียงโปงลาง ทั้งนี้เพราะเสียงก้องกังวานไม้หมากหาด มีความใกล้เคียงกับเสียงโปงลางมากที่สุด คนรุ่นหลังไม่ค่อยมีโอกาสทราบความจริง จึงเข้าใจผิดไปว่าลูกระนาดที่ทำด้วยไม้มะหาดคือโปงลางอันแท้จริง แต่อย่างไรก็ตามการเรียกชื่อเครื่องดนตรีชนิดนี้ว่าโปงลางก็มีเหตุผลพอจะอนุโลมได้ เพราะมีที่มาดังกล่าวแล้วข้างต้น

โปงลางเสียงสัญญาณการเดินทัพวัว

ไม่ว่าคนหรือสัตว์ เมื่อไปในที่แปลกถิ่น เมื่อได้ยินเสียงผิดปกติมักจะตื่นตกใจง่าย ชาวอีสานโบราณทราบจิตวิทยาของสัตว์ดี จึงจัดหาลูกกระพรวนไว้ผูกคอวัวเทียมเกวียนเวลาจะเดินทางไกล เสียงของกระดิ่งหรือลูกกะพรวนจะกลบเสียงแปลก ๆ ซึ่งวัวไม่คุ้นให้หายไปได้ วัวต่างตัวจ่าฝูงก็เช่นเดียวกัน ถ้าได้ยินแต่เสียงโปงลางก็ฟังเพลินไปเลย เมื่อวัวตัวหน้าไม่ตื่น วัวตัวลูกน้องก็เดินตามไปโดยอาการสงบ ถ้าฝูงวัวเกิดความแตกตื่นแล้วจะนำมาซึ่งความหายนะ

การเดินทัพวัวจะต้องสังเกตฟังเสียงโปงลางของพาข้าวต้นขบวนและพาข้าวท้ายขบวนมิให้เกิดความถี่หรือห่างกันมากเกินไป จนเกิดการหลงทางหลงขบวน

ตามเส้นทางบางตอนผ่านป่าทึบ ทางแคบคดเคี้ยวมองไม่ค่อยเห็นกันจะต้องสังเกตฟังจากเสียงโปงลาง หากมีสัญญาณอันตรายเกิดขึ้น เช่น ถูกโจรดักปล้น ถูกสัตว์ร้ายเช่นงูจงอางไล่ฉก เสือโคร่งตะปบกัดวัว โขลงช้างไล่บุกขบวนวัว ฯลฯ

เสียงสัญญาณการจราจร

ขบวนวัวต่างต้องเดินทางผ่านภูมิประเทศนาๆ ชนิด ตามช่องเขาหรือในที่แคบ บางแห่งขบวนวัวหลีกกันไม่ได้บางช่องเขาถึงกับให้วัวตะแคงตัวลอดไป ป่าทึบในดงพญาไฟบางตอนทั้งคนทั้งวัวไปได้แต่แถวเรียงหนึ่งเท่านั้น เมื่อได้ยินเสียงโปงลางดังมาแต่ไกลในที่คับขันจึงต้องหยุดรอคอยเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งผ่านไปก่อน เสียงโปงลางจึงกลายเป็นสัญญาณจราจรให้เดินทางเดียวอีกด้วย

โปงลางวัวกับวรรณกรรมภาษาอีสาน

ผู้ใดมีโปงลางไว้เป็นกรรมสิทธิ์ในบ้านเรือนก็แสดงถึงฐานะความมั่นคงหรือมั่งคั่งของครอบครัว เพราะเคยเป็นนายฮ้อยพ่อค้าวัวต่างมาแล้ว ดังนั้น จึงปรากฎมีลำเกี้ยวหรือลำแก้โจทก์ ซึ่งหนุ่มสาวใช้ไต่ถามถึงฐานะของอีกฝ่ายหนึ่งเป็นกลอน ๗ ว่า “พ่อแม่เจ้า โปงลางมีบ่”

คำกาพย์เทศน์มหาชาติบูพกรรมกุมารมีข้อความตอนหนึ่งว่า

“บัดนี้ จักได้พรรณนาเรื่องกัณหาชาลีแต่ปางก่อน ชาติก่อนนั้นพราหมณ์เกิดเป็นวัส กัณหาชาลีเป็นพ่อค้า พราหมณาเป็นงัว ต่างทางหลังใส่ต่างตั้ง ทางหน้าใส่ซอง ทางคอผัดฮัดอ้อง ทางท้องผัดฮัดโคน ทางก้นผัดใส่พาน สองก็ตีวัวขว้าม ภูพานซ้อนภูม่าน ขึ้นภูเขียวลงมาภูอ้ม ขึ้นม้มแล้วเหลียวล่ำภูพาน เห็นแต่ภูเขาคั่น ฝอยลมมระแหม่ง ไปฮอดห้วยเหวซัน ๆ น้ำขุ่น ๆ สองก็บายเอาได้หวางสะนอยมาฟาด งัวก็พะลาดล้ม สองเจ้าเล่าตี หักฟดจิกตีหลังหักฟดฮังตีก้น หักฟดขี้อ้นตีก้นงัวซ้ำผัดเล่าตาย งัวจึงตายจากชาตินี้ มาเกิดเป็นพราหมณ์”

คำกาพย์ข้างบนนี้สะท้อนให้เห็นส่วนหนึ่งว่าการค้าวัวต่างมีการทรมานสัตว์จนต้องแต่งกาพย์ขึ้น เพื่อเป็นคติสอนใจ

ในสมัยโบราณมีการค้าวัวต่างเป็นพื้น วัวทุกตัวใส่ต่างบรรทุกสินค้าเต็มระวาง ถ้าปีใดการค้าขายสินค้าซบเซาก็ไล่ต้อนแต่ฝูงวัวไปขายซึ่งมีเฉพาะวัวตัวเมีย ในสมัยที่มีกลอนลำอัดจานเสียงยุคต้น จานเสียงที่ได้รับความนิยมมากคือกลอนไปค้างัวแม่ มีข้อความตอนหนึ่งว่า “จัดให้ แม่ต่ำแหล่ ออกก่อนเดินทาง ตีให้ ขี้ทับหาง พันกันล้าวอ้าว” ในขบวนไปค้างัวแม่นี้ วัวตัวเมียที่เป็นสินค้าจะถูกไล่ต้อนไปตัวเปล่า จะมีวัวตัวผู้เพียงตัวเดียวในแต่ละพาข้าว ซึ่งบรรทุกต่างใส่ เสบียงกรังและว่านยา โดยมีโปงลางอยู่บนหลังต่างหลังวัวอีกด้วย

ในสมัยต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้นิยมไล่ต้อนฝูงควายไปขายอย่างเดียว จึงมีแต่นายฮ้อยขายควายหลงเหลืออยู่ประเภทเดียว

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *