ลำเลิกอดีต:สถานที่ในอดีต


ยักษ์วัดแจ้ง แร้งวัดสระเกษ เปรตวัดสุทัศน์

ประตูที่ดังคู่กับประตูสามยอดคือประตูสำราญราษฎร์ แต่ปากชาวบ้านเรียกกันว่า “ประตูผี” เพราะเป็นทางที่เอาศพออกไปวัดสระเกษ และถนนบำรุงเมืองคือถนนสายที่ออกประตูนี้ก็พลอยเรียก “ถนนประตูผี” กันไปด้วย

แต่ก่อนนี้วัดในเมืองเผาผีไม่ได้ ถึงเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่มี เพราะฉะนั้นใครจะว่าคูเมืองอยู่ที่ไหนนอกจากดูกำแพงเมืองแล้วดูวัดเอาก็ได้ ถ้าวัดอยู่ในกำแพงเมืองแล้วจะไม่มีเมรุเผาศพ

บรรดาคนทั้งหลายที่ตายกันในเมืองต้องเอาศพออกไปเผานอกเมืองทั้งนั้น และส่วนมาก็วัดสระเกษ จนวัดสระเกษมีชื่อในเรื่องแร้งชุม

เมรุเผาศพแต่ก่อนนี้ไม่ได้ทันสมัยอย่างเดี๋ยวนี้ เป็นเพียงตะแกรงเหล็กแล้วเอาไฟใส่ข้างใต้เท่านั้น การจะเผาก็ต้องแล่เอาเนื้อออกเสียก่อน แล้วเอากระดูกห่อผ้าขึ้นตั้งบนตะแกรง ถ้ายกขึ้นตั้งกันสด ๆ ก็มีหวังไฟดับ

และเมื่อแล่แล้วจะเอาเนื้อไปไว้ไหนล่ะ แร้งรออยู่เป็นฝูง ๆ จะมัดไปฝังให้เสียแรงเสียเวลาทำไม ก็เฉือนแล้วก็เหวี่ยงให้แร้ง ไปทีละก้อนสองก้อน ฉะนั้นจะหาแร้งที่ไหนขึ้นชื่อลือชาเท่าวัดสระเกษเป็นไม่มี

มีคำพูดคล้องจองกันอยู่ ๓ ประโยคว่า “ยักษ์วัดแจ้ง-แร้งวัดสระเกษ-เปรตวัดสุทัศน์”

ยักษ์วัดแจ้งนั้นก็รู้ละว่าเป็นยักษ์หิน แร้งวัดสระเกษก็ได้เห็นละจากกรณีนี้ แต่เปรตวัดสุทัศน์นี่ยังไม่ประประจักษ์ เพราะวัดสุทัศน์เองก็ไม่ได้มีเมรุเผาผี แต่มีเสียงว่ากันว่า เนื่องพราหมณ์โล้ชิงช้าตกมาตาย และว่ากันว่าวันดีคืนดีคนแถวนั้นจะได้ยินเสียงเปรตร้องเป็นการขอส่วนบุญ ไม่รู้ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องหลอกกันเล่นเพื่อให้คนทำบุญ ได้พยายามอ่านจดหมายเหตุเก่า ๆ ก็ไม่เคยพบกล่าวถึงว่าเคยมีพราหมณ์โล้ชิ้งช้าตกมาตาย

หัวเม็ด สะพานหัน

เลี้ยวขวาจากสามยอดมาก็เป็นย่านวังบูรพาภิรมณ์ เมื่อ ๓๐ ปีก่อนที่ยังไม่ศูนย์การค้านั้น ตรงนี้กลิ่นแรงชะมัด เพราะตอนกลางคืนอัตคัดไฟ ใครไปธุระแถวนั้นพอมีทุกข์เบาก็หันเข้าไปปลดเปลื้อง

สะพานหัน เมื่อก่อนท่านว่าเป็นสะพานไม้หันได้

ก็ต้องแน่ละ เพราะเมื่อก่อนนี้คลองเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญ เรือแพนาวาผ่านไปผ่านมาทั้งวัน ถ้าจะทำสะพานก็ต้องทำให้สูง เพื่อให้เรือลอดได้ ถ้าเตี้ยก็ต้องหันหรือหกได้ เพื่อให้เรือผ่าน

แต่สะพานหันนี้ได้ยินว่ามีตัวอาคารคร่อมสะพานด้วย ได้ยินว่ามาสองปากแล้ว เห็นจะพอเชื่อถือได้

ข้ามสะพานหันไป ตรงทางจะข้ามถนนจักรวรรดิไปฝั่งโน้น ได้ยินท่านบอกว่ามีเสาหัวเม็ดทรงมัณพ์ปักอยู่ แต่ไม่ได้ซักท่านว่ามีไว้ทำไม จึงเรียกที่ตรงนั้นว่า “หัวเม็ด”

สำเพ็งอยู่ที่ไหน?

ถ้าเราจะดูพระราชพงศาวดารตอนสร้างกรุงจะพบข้อความว่า “พระราชวังใหม่ให้ตั้งในที่ ซึ่งพระยาราชาเศรษฐีและพวกจีนอาศัยตั้งบ้านเรือนอยู่แต่ก่อน โปรดให้พระยาราชาเศรษฐีและพวกจีนย้ายไปตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ ที่สวน ตั้งแต่คลองวัดสามปลื้มไปจนถึงคลองวัดสามเพ็ง”

วัดสามปลื้มนั้นเราก็รู้กันแล้วคือ วัดจักรวรรดิ แต่วัดสามเพ็งล่ะ ก็คือวัดประทุมคงคาปัจจุบัน โน่นอยู่หัวลำโพงโน่น

ว่าที่จริงแล้วย่านสำเพ็งน่าจะอยู่แถว ๆวัดประทุมคงคา วัดเกาะ หรืออย่างจะลาม ๆ มาก็ไม่ควรเกินวัดสามปลื้ม แต่ก็กินมาจนยันสะพานหัน

ถนนสายสะพานหันไปยันวัดเกาะนั้นแต่ก่อนเรียกกันถนนสำเพ็ง แต่เดี๋ยวนี้ทาง กทม.ท่านเปลี่ยนเป็นถนนวาณิชไปเสียแล้ว ฉะนั้นถ้าใครไปอ่านหนังสือเก่า ๆ เป็นต้นว่าทำเนียบนาม พบความว่า “ราชวงศ ถนนจดลำน้ำเจ้าพระยาผ่าน “ถนนสำเพ็ง…” ก็อย่าไปงง ก็คือถนนวาณิช ปัจจุบันนี่เอง

สำเพ็งมีอะไร?

สินค้าในสำเพ็งแต่ก่อนนี้ นอกจากของกินของใช้ของคนจีนแล้วสิ่งที่จะขาดเสียมิได้ก็คือสำนักอย่างว่าสุนทรภู่ท่านบอกไว้ในนิราสเมืองแกลงว่า

“ถึงสำเพ็งเก๋งตั้งริมฝั่งน้ำ

แพประจำจอดเรียงเคียงขนาน

มีซุ้มซอกตรอกนางจ้างประจาน

ยังสำราญร้องขับไม่หลับลง”

ตรอก “นางจ้าง” หรือที่ชาวอีสานเรียก “แม่จ้าง” ของสุนทรภู่นี้ไม่ทราบว่าอยู่ตรงไหน หรือจะเป็นที่ที่นายมีหมื่นพรหมสมพัตสรแกว่าไว้ในนิราสเดือนว่า

“ที่เต็มอัดกลัดมันกลั้นไม่หยุด

ก็รีบรุดเร็วลัดไปวัดเกาะ”

สำนักหลังวัดเกาะนี้ดังมาก ยังมีชื่อเป็นอนุสรณ์อยู่จนบัดนี้ นั้นก็คือ “ตรอกน่ำแช”

น่ำแช แปลว่า โคมเขียว แต่ก่อนนี้สำนักโสเภณีตั้งแขวนโคมเขียวไว้หน้าสำนัก เป็นสำนักของคนจีน สินค้าก็เป็นจีนล้วน ๆ เรียกว่า “เพื่อคนจีนโดยคนจีน” อายุแค่ 10-12 เท่านั้น รับแต่คนจน คนไทยไม่รับ เพราะนิสัยคนไทยชอบบรรเลงเพลงเถา กว่าจะออกลูกหมดหางเครื่องได้แต่ละเพลงละแหม เอื้อนอยู่นั่นแล้วสู้คนจีนไม่ได้มีแต่เพลง ๒ ชั้น ชั้นเดียว หรือบางทีก็มีแต่ชั้นเดียวออกออกลูกหมดเลย

คนไทยที่จะเข้าไปได้ก็ต้องเป็นผู้มีบรรดาศักดิ์ และคนจีนที่เจ้าสำนักรู้จักพาไป แต่ราคาที่นี่แพงกว่าที่อื่น อย่างที่อื่นสองสลึง ที่นี่ต้องหกสลึง

คำที่ว่า “เดี๋ยวจับนมเดี๋ยวดมหน้าหกสลึงแอ็คหกท่า” ไปจากที่นี่ แสดงถึงความเป็นเจ้าบทบาทของพี่ไทยเรา

เคยถามว่า อายุ ๑๑-๑๒ เท่านั้นน่ะจะรับแขกไหวหรือ

“ไหวซี ก็แม่เล้ามันเอาผิวไม้ไผ่เข้าไปถ่างอยู่ทุกวัน ๆ “

ผู้ตอบคำถามนี้คือตาแบน บ้านพระยาสีหราชฤทธิไกร คือก่อนที่จะเอามาหาเงินนั้น เจ้าสำนักเขาจะเอาไม้ไผ่เหลาขี้ออกให้เหลือแต่ผิวและไม่ให้มีคม แล้วก็โค้งเอาเข้าสอดช่องคลอดไว้ให้ไม้ไผ่มันค่อย ๆ ถ่างออกมาทีละน้อย ๆ และทำอยู่เป็นเดือน ๆ

นี่เป็นวิธีการของคนจีนเขา

นอกจากนั้นสิ่งที่สำเพ็งมีพิเศษกว่าที่อื่นก็คือ ไส้หู้ คือช่างโกนหัว

คนจีนแต่ก่อนนั้นไว้เปียกัน และรอบ ๆ เปียจะต้องโกน ฉะนั้นจึงต้องมีคนรับจ้างโกนผม

มีดโกนของไส้หู้นั้นว่ากันว่าคมนัก ขนาดเส้นผมตกลงมากระทบยังขาด คำบอกเล่านี้เป็นของพระถมหรือหลวงตาแดงจำไม่ได้แน่ เพราะท่านนั่งคุยกันเป็นกลุ่ม

สำเพ็งแปลว่าอะไร?

จากพระราชพงศาวดารที่คัดมาข้างต้นนั้นจะเห็นว่า สำเพ็ง นั้นเดิมเขาคือ สามเพ็ง แต่ภายหลังเราเรียกกันเร็ว ๆ เสียงสามก็เลยหดสั้นเข้ามาเป็นสำ เหมือนอย่างถนนซังฮี้ เดิมก็เป็น ซางฮี้ แล้วหดมาเป็น ซังฮี้ แต่ปัจจุบันเปลี่ยเป็นราชวิถี

“สาม” คำนี้จะเป็นจำนวน ๓ ใช่หรือเปล่าข้าพเจ้าไม่แน่ใจ ในกลุ่มนี้มี ๓ สาม คือสามปลื้ม สามเพ็ง สามจีน แต่วัดสามจีนก็เปลี่ยนเป็นไตรมิตรไปแล้ว จะเป็นเพราะความเมาความหรือเปล่าไม่ทราบ ถ้าสามจีนหมายถึง จีน ๓ คนช่วยกันสร้าง ก็ถ้ายังงั้นสามปลื้มและสามเพ็งล่ะ ตาเพ็ง ๓ คน และยายปลื้ม ๓ คนยังงั้นรึ

ถ้าวัดสามพระยาละก็ใช่ เพราะพระยา ๓ ท่านช่วยกันสร้าง คือ พระยาเทพอรชุน พระยายมราช และพระยานครไชยศรี

สามแยกต้นประดู่

ถัดจากน่ำแชไปนิดก็สามแยกต้นประดู่ เคยมีนักจัดรายการของกรมประชาสัมพันธ์ท่านหนึ่งเอาหนังสือเรื่องความรู้ต่าง ๆ ของพระยาอนุมานราชธนมาอ่าน ในหนังสือเล่มนั้นท่านเอ่ยถึง “สามแยกต้นประดู่” ผู้จัดรายการก็สันนิษฐานทีเดียว “ต้นประดู่คงจะเรียงราย…”

ผมขอแก้อรรถให้เสียเลยว่า มีต้นเดียวครับ แต่เป็นต้นใหญ่ อยู่ตรงที่ที่เป็นธนาคารเอเซียอยู่ในปัจจุบันนั้นแหละ แล้วตรงเบื้องหน้าธนาคารมาทางซ้าย คือตรงปากตรอกโรงหนังเฉลิมบุรีนั่นน่ะ มีร้านลอดช่องสิงคโปร์อยู่ร้านหนึ่ง ชื่อสิงคโปร์ ขายมานมนาน กินกันมาตั้งแต่เด็กตั้งแต่แก้วละ ๓ สตางค์จนเดี๋ยวนี้ ๓ บาทแล้วมัง ก็ยังขายอยู่ เป็นต้น ตำหรับของลอดช่องสิงคโปร์ ก่อนที่จะระบาดไปตามหาบเร่และรถเข็น

หัวลำโพงวิทยุ

ไหน ๆ ก็ได้เหยียบย่างเข้ามาในย่านหัวลำโพงแล้วก็ฝอยเรื่องหัวลำโพงสักหน่อย

ว่ากันมาว่าสถานีรถไฟและบริเวณรอบ ๆ นั้น แต่ก่อนเป็นทุ่ง เรียก “ทุ่งวัวลำพอง” แล้วเจ๊กลากรถ พูดไทยไม่ชัด เรียกว่าวัวลำพองเพี้ยนเป็นหัวลำโพง ก็เลยกลายเป็น “หัวลำโพง” ไป

อีนี่เห็นจะเป็นความจริง เพราะเคยพบในจดหมายเหตุจำไม่ได้ว่าชื่อหนังสืออะไร กล่าวว่าในสมัยก่อนใช้ทุ่งวัวลำพองเป็นที่หัดทหาร และในทำเนียบนามภาค ๔ ก็กล่าวว่า ถนนสุรวงษ์ซึ่งพระยาสีหราชเดโชไชยสร้างนั้น ตั้งแต่ถนนเจริญกรุงมาจรดคลองวัวลำพอง

คลองวัวลำพองนั้นก็คือคลองที่เริ่มต้นแต่คลองผดุงกรุงเกษมตรงข้างสะพานเคียงขนานกันไปกับถนนพระรามที่ ๔ โดยมีทางรถไฟสายปากน้ำคั่นกลางไปจนจรดคลองเตย แต่ภายหลังรถไฟก็เลิก คลองก็เลยถมขยายเป็นถนนพระรามที่ ๔ ไปหมด

วัดหัวลำโพงนั่นแหละเป็นวัดอยู่ริมคลองฝั่งโน้นและวัดนี้ก็แสดงว่าเป็นวัดเพิ่งสร้าง เมื่อภาษามันวิบัติมาแล้ว

ตำบลวิทยุก็เป็นตำบลที่ตั้งขึ้นใหม่ เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่แถวนี้ยังเป็นตำบลศาลาแดง ทุกเช้าจะได้ยินเสียงจากวิทยุว่า “ที่นี่วิทยุศาลาแดงแบ็งข็อก”

ที่ทำการวิทยุก็คือโรงเรียนเตรียมทหารปัจจุบัน

แต่ก่อนที่จะเป็นโรงเรียนเตรียมทหาร เป็นกองสัญญาณทหารเรือมาก่อน อาศัยที่เป็นที่ทำการของสถานีวิทยุ รถรางสายบางกระบือก็มาสุดสายที่นี่และขึ้นป้ายว่าวิทยุ-บางกระบือ หรือบางกระบือ-วิทยุ ก็เลยวิทยุ ๆ กันเรื่อยมาจนกลายเป็นตำบล

คลองผดุง นางเลิ้ง

คลองผดุงกรุงเกษมนี้ใคร ๆ มักเข้าใจผิดว่าเป็นคลองหัวลำโพง

ไม่ใช่ คลองหัวลำโพงคือคลองวัวลำพองดังกล่าวแล้ว

คลองนี่ปากชาวบ้านแถวนั้นเขาเรียกคลองวัดตะเคียน เพราะตรงปากคลองมันย่านหน้าวัดตะเคียนมา

วัดตะเคียนคือวัดมหาพฤฒาราม ปากคลองมันเริ่มต้นแต่แม่น้ำเจ้าพระยาตรงท่าสีพระยาข้ามไปคลองสานแล้วก็ไหลผ่านมาหลังโรงน้ำแข็งนายเลิด หน้าวัดมหาพฤฒาราม เฉียดสถานีหัวลำโพง นพวงศ์ หน้าวัดเทพศิรินทร์ แล้วไปออกแม่น้ำด้านเหนือตรงวัดเทวราชกุญชรเทวเวศม์

คลองนี้ก็เหมือนกับคลองอื่น ๆ เช่น คลองหลอด หรือคลองสะพานหัน คือมีหลายชื่อ ปากคลองด้านใต้เรียกคลองวัดตะเคียนดังกล่าวแล้ว ส่วนปากคลองด้านเหนือก็เรียก “คลองวัดสมอแคลง” บางคนเดาะเข้า “สมอแคลงสมอราย” นั่นแน่ะ

อีนี่เห็นจะผิด เพราะวัดสมอรายไม่ได้อยู่ในคลองนี้ อยู่แต่วัดสมอแคลง วัดสมอแคลงคือวัดเทวราชกุญชร วัดสมอรายคือ วัดราชาธิวาส นี่เป็นเรื่องของคนรุ่นเก่า คนรุ่นใหม่เรียกคลองเทเวศร์

ตรงกลางคลองบางคนก็เดาะเรียกคลองมหานาค น้อยนักที่จะเรียกคลองผดุง ฯ

คลองมหานาคคือคลองตรงโบ๊เบ๊เฉียดข้างภูเขาทองมาทะลุคลองผ่านฟ้าตรงป้อมมหากาฬ

ตรงกลางคลองผดุงกรุงเกษมนี้มีตำบล ๆ หนึ่งซึ่งน่าจะพูดถึง นั่นคือ “นางเลิ้ง”

“นางเลิ้ง” เป็นคำประดิษฐ์ขึ้น เพื่อให้สุภาพสำหรับทูลเจ้า คำที่แท้ของมันคือ “อีเลิ้ง”

“อีเลิ้ง” แปลว่าอะไร จะขอยกกลอนนิราสวัดเจ้าฟ้าของสุนทรภู่ขึ้นมาแสดง

“ชาวบ้านนั้นเป็นอีเลิ้งใส่เพิ่งพะ

กะโถนกะทะอ่างโอ่งกระโถงกะถาง

เขาวานน้องร้องถามไปตามนาง

ว่าบางขวางหรือไม่ขวางพี่นางมอญ”

อีเลิ้งคือโอ่งดินเผา ถิ่นอีสาน อีเลิ้ง หมายถึงเครื่องดินเผาทุกชนิด ถ้าเป็นโอ่งก็เรียก “โอ่งอีเลิ้ง” ถ้าเป็นชามก็เรียก “ชามอีเลิ้ง” แต่ในในภาคกลางเราเรียกอีเลิ้งหมายเพียง โอ่งเท่านั้น

ที่ตรงนี้เรือมอญขายโอ่งมาจอดประจำจนเป็นทำเล จึงเรียก “อีเลิ้ง” แล้วตกแต่งเป็น “นางเลิ้ง” ดังกล่าว

หัวลำโพงก็เหมือนกัน เคยได้ยินหลายท่านใช้ “ศีรษะลำโพง” ชะรอยจะเห็นว่า “หัว” เป็นคำไม่สุภาพกระมัง ถ้าเช่นนั้นก็หันกลับไปใช้ “วัวลำพอง” อย่างเดิมไม่ดีหรือเป็นการรักษาตำนานสถานที่ดีด้วย

ในบทนี้ผมได้เขียนคำ เทวเวศม์ ไว้คำหนึ่ง ไม่ใช่เขียนผ่านแต่เป็นการจงใจเขียน เพราะตำบลนี้ได้ชื่อตามวังของสมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ และวังของท่านมีชื่อตามที่เขียนเป็นตัวปูนปั้นไว้ที่เสาประตูว่า “เทวะเวศม์”

ชาวบ้านสมัยแม่ผมว่างี่เง่าแล้ว เขาก็ยังเรียกกัน เทว-เวด แต่คนชั้นหลังนี้กลับออกเสียง เท-เวด และสะพานชั้นหลังนี้ก็มาตั้งชื่อ เท-เวศร์นฤมิตร เข้าด้วย ก็โข่งกันไปใหญ่