จารึกกลางรอยพระพุทธบาท

นางสาวนิยะดา  ทาสุคนธ์ และนายเทิม  มีเต็ม อ่าน

นางสาวก่องแก้ว วีระประจักษ์  จำลองอักษรและอธิบาย

นายวิรัตน์  อุนนาทรวรางกูร  แปล

หอสมุดแห่งชาติ  กรมศิลปากร

รอยพระพุทธบาทศิลาสีเขียว มีอักษรจารึกอยู่ใกล้กับรูปดอกบัวที่กึ่งกลางรูปรอยพระบาท รอยพระพุทธบาทนี้เป็นสมบัติของวัดพระพุทธบาท อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ นายภูธร  ภูมะธน หัวหน้าพิพิธภัณฑสภานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช จังหวัดลพบุรี  ได้มีหนังสือเป็นทางการมาถึงกองหอสมุดแห่งชาติ เพื่อจัดส่งเจ้าหน้าที่ดำเนินการอ่านแปลจารึกดังกล่าวนี้ เมื่อครั้งตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จังหวัดลพบุรี

อนึ่ง รอยพระพุทธบาทนี้ หลายปีมาแล้วได้ถูกผู้ร้ายโจรกรรมไปจากวัด จนถึงปี พ.ศ.๒๕๒๔ สมาคมส่งเสริมศิลปโบราณวัตถุ ได้นำรอยพระพุทธบาทดังกล่าว มามอบให้กรมศิลปากร ดังนั้นรอยพระพุทธบาทนี้จึงได้มาพักอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครช่วงระยะเวลาหนึ่ง เมื่อทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช จัดนิทรรศการเรื่อง จารึกพบที่จังหวัดลพบุรีและจังหวัดใกล้เคียง ในเดือนกรกฎาคม ๒๕๒๔ จึงได้เคลื่อนย้ายรอยพระพุทธบาทนี้ ไปตั้งแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชประกอบการจัดแสดงนิทรรศการในครั้งนั้นด้วย

ภายหลังการแสดงนิทรรศการ เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ทราบว่า ชาวอำเภอไพศาลีและพุทธศาสนิกชนในเขตใกล้เคียง มีความประสงค์จะขอนำรอยพระพุทธบาทกลับคืนไปประดิษฐานไว้ ณ วัดพระพุทธบาท อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ดังเดิม และด้วยเหตุที่รอยพระพุทธบาทนี้เป็นโบราณวัตถุสำคัญ สมควรจะได้มีการศึกษาประวัติความเป็นมาให้ถูกต้องชัดเจน ประกอบกับมีอักษรจารึกอยู่ที่กลางรอยพระพุทธบาทนี้ด้วย  ซึ่งน่าจะได้ศึกษารูปลักษณะของเส้นและภาษา ตลอดจนข้อความที่จารึกไว้นั้นให้ถ่องแท้ชัดเจนอีกด้วย  ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้นำหลักฐานนั้นมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการศึกษาวิเคราะห์ทางด้านโบราณคดีต่อไป

รูปอักษรที่จารึกอยู่กลางรอยพระพุทธบาทนี้ มีขนาดตัวอักษรเล็กมากวัดได้ ๒ ซม. เท่านั้น รอยเส้นอักษรก็เบาบางและลบเลือน จนไม่สามารถทำสำเนาด้วยวิธีการใช้กระดาเพลาและน้ำตบให้เป็นรอยรูปอักษรได้ ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องใช้วิธีการอ่านจารึกพร้อมทั้งคัดลอกรูปอักษรออกมา เฉพาะส่วนที่จะสามารถอ่านเห็นได้ และเมื่อได้ศึกษาวิเคราะห์ลักษณะรูปลายเส้นอักษร ซึ่งปรากฎอยู่ที่กลางรอยพระพุทธบาทนี้แล้ว จะเห็นได้ว่าเป็นการยากที่จะชี้บ่งถึงเวลา หรืออายุของรูปอักษรนั้นให้แน่นอนตายตัวลงไปได้ ทั้งนี้เพราะองค์ประกอบส่วนใหญ่ของเส้นอักษรลบเลือน และเบาบางมากจนไม่สามารถชี้ชัดได้อย่างใกล้เคียง ฉะนั้นจึงสันนิษฐานไว้เป็นเบื้องต้นว่า น่าจะจารึกขึ้นในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๓-๒๔

ด้วยเหตุที่รูปอักษรซึ่งจารึกไว้กลางรอยพระพุทธบาทนี้เส้นอักษรเบาบางมาก อ่านจับใจความได้ไม่ตลอดทุกตัวอักษร ดังนั้นการอ่านและแปลข้อความในจารึก จึงสามารถกระทำได้เพียงสรุปความโดยสังเขปเท่านั้น ซึ่งนายวิรัตน์  อุนนาทรวรางกูร ผู้เชี่ยวชาญ ภาษาบาลี งานบริการหนังสือภาษาโบราณ กองหอสมุดแห่งชาติ ได้อธิบายพร้อมทั้งแปลสรุปไว้ว่าข้อความที่จารึกนั้นเป็นการกล่าวสรรเสริญอานุภาพของพระศรีอาริยเมตไตรย ผู้จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต คงจะมิได้หมายความว่า เป็นรอยบาทของพระโพธิสัตว์เมตไตรยที่กล่าวเช่นนี้ก็ด้วยสังเกตจากคติความนิยมและความเชื่อของคนไทยในยุคพุทธศตวรรษที่ ๒๓-๒๔ นั้น ซึ่งมีความเชื่ออยู่ว่า การทำบุญสร้างกุศลในชาติปัจจุบัน มีเจตจำนงหวังเพื่อจะได้พบพระพุทธเจ้าในอนาคต คือ พระศรีอาริยเมตไตรยโพธิสัตว์ในชาติหน้า หรือชาติต่อไปนั้นเอง

รอยพระพุทธบาทศิลานี้ ภายหลังเมื่อเจ้าหน้าที่งานบริการหนังสือภาษาโบราณกองหอสมุดแห่งชาติ ดำเนินการอ่านแปลแล้วจารึกได้ถูกเคลื่อนย้ายไปไว้ที่วัดพระพุทธบาทอำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ดังเดิม

ประวัติ

อักษร ขอม

ภาษา บาลี

ศักราช ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๓-๒๔

จารึกอักษร จำนวน ๑ ด้าน มี ๓ บรรทัด

วัตถุที่จารึก หินชนวนสีเขียว

ลักษณะ สี่เหลี่ยมผืนผ้ารูปรอยพระพุทธบาท อักษรจารึกอยู่ใกล้กับรูปดอกบัว กึ่งกลางของพระบาท

ขนาด แผ่นศิลามีขนาดกว้าง ๗๐.๕ ซม. ยาว ๑๖๙ ซม. หนา ๙ ซม. รูปรอยพระบาทกว้าง ๕๒.๕ ซม. ยาว ๑๔๐ ซม. ส่วนที่จารึกอักษรขนาดกว้าง ๓ ซม. ยาว ๑๗.๕ ซม.

สถานที่พบ สมาคมส่งเสริมศิลปโบราณวัตถุ มอบให้กรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๔

สำรวจเมื่อ ๒๓ มกราคม ๒๕๒๕

ปัจจุบันศิลาจารึกอยู่ที่ วัดพระพุทธบาท อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์