บานประตูไม้ตำหนักแพวังท่าพระ

บานประตูไม้แกะสลัก ฝาตำหนักแพวังท่าพระ  ของกรมขุนราชสีหวิกรม(พระองค์เจ้าชุมสาย ต้นราชสกุล ชุมสาย) ซึ่งพระครูวิจิตรการโกศล (สงัด  ญาณพโล ป.ธ.๖) เจ้าคณะ ๑๘ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์  มอบให้เป็นสมบัติของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

บทประพันธ์:เพลงน้ำมาก

เพลงน้ำมาก

ฮา..เอ้อ..น้ำมาก เหอ                                     ท่วมรากสาคู

ฉีกช่องจ้องมองดู                                           เห็นปลายลำพูเมืองไกลลาศ

เกิดเจ้าทั้งหกและช้างม้า                                 เกิดนางโนราผู้เป็นน้อง

เกิดภูเขาเงินภูเขาทอง                                    ลอยล่องอยู่สี่มุมปราสาท

ให้ลูกครองเมืองไกลลาศ                                พลาดแม่ไปเมืองไกล..เอ้อ..เหอ

บทประพันธ์:เพลงโนรา

เพลงโนรา

ฮา..เอ้อ..นางโนรา  เหอ                                นางโนรานารี

อาบน้ำในสระศรี                                            ทั้งเจ็ดคนพี่น้อง

นายพรานจ้องแลเห็น                                     ใช้นาคบาศลงคล้อง

ทั้งเจ็ดคนพี่น้อง                                             คล้องได้แต่นางโนรา

โหมพี่ทั้งหกคน                                              ขึ้นร่อนอยู่บนเวหา

คล้องได้แต่นางโนรา                                     พรานป่าหมันพา เอ้อ..เหอ..ไป

โหม = หมู่,พวก  นางโนรา = นางมโนห์ราในเรื่องพระศรีสุธน

 

แม่น้ำโพ อยู่ที่ไหน

แม่น้ำในเมืองไทยนั้นก็มักจะมีชื่อเรียกต่างๆกันตามท้องถิ่น ทั้งๆที่เป็นสายเดียวกัน ตัวอย่างที่ยังมีให้เห็นในปัจจุบัน เช่น แม่น้ำท่าจีน บางแห่งเรียก แม่น้ำนครชัยศรี บางแห่งเรียกแม่น้ำสุพรรณฯ บางแห่งเรียกคลองมะขามเฒ่า เป็นต้น

ดังนั้นที่แม่น้ำสายหนึ่งเรียกกันที่เชียงใหม่ว่าแม่น้ำปิง พอเลยมาเมืองตากลงมาเรียกแม่น้ำโพ ก็ไม่แปลกประหลาดอะไร พอไหลมาออกแม่น้ำเจ้าพระยา ก็เรียกตรงนั้นว่า ปากน้ำโพ ก็ยิ่งไม่แปลกอะไร ไม่ใช่หรือ

คำอธิบายเรื่องนี้มีมานานแล้ว อย่างน้อยก็ตั้งแต่ปี 2504 (ดูคำนำพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เล่ม 1 องค์การค้าคุรุสภาจัดพิมพ์ พ.ศ. 2504 หน้า ค.)

หลักฐานที่ว่าแม่น้ำปิงช่วงจังหวัดตากถึงนครสวรรค์เคยเรียกว่าแม่น้ำโพนั้นมีเอกสารยืนยัน คือพระราชพงศาวดารสังเขป ฉบับกรมพระปรมานุชิโนรส ดังความตอนหนึ่งว่า “กวาดครอบครัวอพยพชาวเมืองเชียงรายหนีข้าศึกมายังแว่นแคว้นสยามประเทศนี้ ข้ามแม่น้ำโพ มาถึงเมืองแปป เป็นเมืองร้างอยู่คนละฟากฝั่งกับเมืองกำแพงเพชร” (ระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เล่ม 2 องค์การค้าคุรุสภาจัดพิมพ์ พ.ศ. 2504 หน้า 281) แสดงว่าแม่น้ำหน้าเมืองกำแพงเพชรชื่อ แม่น้ำโพ (ปัจจุบันเรียกแม่น้ำปิง)

แผนที่ประเทศไทยในปัจจุบัน รวมไปถึงตำราภูมิศาสตร์ได้ทำแม่น้ำโพหายไป คงเหลือไว้เพียงปากน้ำโพเป็นหลักฐานไว้ ก็ตรงนั้นแม่น้ำโพไหลมาลงแม่น้ำเจ้าพระยานี่ครับ

ที่มา : คุณ ล้อม เพ็งแก้ว (วิทยาลัยครูเพชรบุรี เพชรบุรี)

บทประพันธ์:เพลงนางรจนา

ฮา..เอ้อ..นางรจนา เหอ                     แม่ช่างหาช่างได้

พ่อแม่จะหาให้                                      แม่ช่างไม่ชอบใจ

ไปเลือกเอาอ้ายเงาะ                            ฟันขาวเสยาะอ้ายเตาะไพร

แม่ช่างไม่ชอบใจ                                 ไปไหว้หลวงยาย..เอ้อ..เหอ..เงาะ.

ฟันขาวเสยาะ = ฟันขาวแสยะ  คือฟันทูนเยิ่นออกมา

อ้ายเตาะไพร = เป็นคำเก่าใช้เรียกคนบ้านป่า รูปร่างกำยำ

ดำม่อท้อ  เหมือนกาบหลาวชะโอนป่าที่หล่นลงแช่น้ำนาน ๆ

ดำมิดหมี  เรียกว่าอ้ายเตาะ  หรืออ้ายต้อ

ตำนานนางนพมาศสมัยพระร่วง

สำหรับตำนานเรื่องประเพณีลอยกระทง  เท่าที่ปรากฎในตำนานนางนพมาศครั้งสมัยพระร่วงเจ้านั้น กล่าวว่านางนพมาศเป็นธิดาของพระศรีมโหสถ มหาปุโรหิตราชครู ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้เชี่ยวชาญในทางพระเวทย์วิทยาและศิลปวิยาการต่าง ๆ เป็นอันมาก

มหาปุโรหิตราชครู  ได้ถ่ายเทความรู้ความสามารถต่าง ๆ ให้แก่นางนพมาศผู้เป็นธิดา  จนนับได้ว่าเป็นสตรีที่ทรงภูมิรู้และมีปัญญาเฉียบแหลมผู้หนึ่ง  นอกจากนั้น นางนพมาศยังเป็นหญิงที่มีความรู้สวยงามเป็นอันมาก กิติศัพท์ความงาม ความฉลาด และประกอบด้วยเป็นคนซึ่งมีความรู้ความสามารถดังกล่าว  ได้ล่วงรู้ถึงพระกรรณของพระร่วงเจ้า  จึงโปรดให้รับนางไปเป็นข้าบาทบริจาริกา  จนกระทั่งได้เป็นที่ท้าวศรีจุฬาลักษณ์  ตำแหน่งพระสนมเอกในสมัยนั้น

ครั้นเมื่อถึงวันเพ็ญเดือน ๑๒  ชาวเมืองก็จัดให้มีประเพณีต่าง ๆ เช่น ประเพณีการแข่งเรือ, การเล่นเพลงเรือ และมีการทำพิธีจองเปรียงด้วย

ครั้งนั้น  บรรดาพระสนมกำนัลต่างก็พากันประกวด ประขัน จัดแต่งโคมลอยและโคมแขวนกับตกแต่งกระทงให้เป็นรูปต่าง ๆ เพื่อประกวดประขันกัน และเพื่อให้พระร่วงเจ้าทรงทอดพระเนตรด้วย

ฝ่ายท้าวศรีจุฬาลักษณ์หรือนางนพมาศ  ได้ประดิษฐ์กระทงเป็นรูปดอกกระมุทบานกลีบรับแสงจันทร์  ประมาณใหญ่เท่ากับกระแทะ  ล้วนแต่ประดับด้วยดอกไม้สอดสลับสีเป็นลวดลายน่าชมยิ่งนัก แล้วนำเอาผลพฤกษชาติมาประดิษฐ์เป็นรูปนกยูงและนกต่าง ๆ ให้จับและจิกเกสรบุปผาชาติงดงามยิ่งการดังกล่าวทำให้พระร่วงเจ้าได้ทอดพระเนตรแล้วให้ทรงโปรดปรานยิ่งนัก

เรื่องนางนพมาศ มีบางคนเข้าใจว่า นางนพมาศเป็นผู้ริเริ่มประเพณีลอยกระทงนั้น  เป็นการผิดจากความจริงเป็นอันมาก  ความจริงประเพณีลอยกระทงและตาม(จุด)ประทีปนี้ ความจริงได้เกิดมีขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัย(ภาคกลาง) และมีขึ้นทางภาคเหนือของประเทศไทยที่เรียกว่า “ลานนา” นับเป็นเวลาช้านานมาแล้ว  แต่ต่อมาในสมัยพระร่วงเจ้า นางนพมาศเป็นผู้คิดตกแต่งและประดิษฐ์รูปกระทงให้ผิดแผกจากผู้ประดิษฐ์อื่น ๆ เท่านั้น

หมายเหตุ.-

หากท่านผู้อ่านสนใจจะค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องนางนพมาศนี้แล้ว ขอให้ค้นคว้าในหนังสือชื่อ “ตำรับนางนพมาศ” หนังสือ “ตำนานโยนก” และหนังสือชื่อ “จามเทวีวงศ์” ก็จะสามารถทราบได้โดยละเอียดว่า ประเพณีลอยกระทงได้เกิดขึ้นในสมัยใด-ผู้เขียน

ข้อเขียนของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์  ปราโมช

พิธีบายศรีสู่ขวัญนักเรียนใหม่

บายศรีสู่ขวัญนักเรียนใหม่

ชีวิตของคนไทยในอดีต  มีความเกี่ยวกันกับเรื่อง  “ขวัญ” ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตายทีเดียว  เด็กที่เกิดใหม่ก็ต้องมีการรับขวัญ  เป็นการแสดงการต้อนรับและแสดงความยินดี  รวมทั้งเป็นการปัดเป่าเสนียดจัญไรตลอดจนภูติผีปีศาจมิให้มารบกวนเด็ก พิเคราะห์จากคำกล่าวในพิธีที่ว่า

“สามวันเป็นลูกผี  สี่วันเป็นลูกคน”  แสดงว่าเป็นความเชื่ออย่างหนึ่งว่า เด็กจะมีชีวิตอยู่รอดตลอดไปหรือไม่อยู่ในเกณฑ์ ๓ วัน หากพ้น ๓ วันไปแล้ว เด็กมีสุขภาพดี  ไม่เจ็บไข้ใด ๆ ก็เป็นที่หวังว่า เด็กจะมีชีวิตอยู่ดูโลกได้ต่อไปแน่

เมื่อเกิดได้ครบ ๑ เดือน  ก็ต้องมีพิธีทำขวัญเดือนให้อีก  ประหนึ่งเป็นการเฉลิมฉลองให้  และมุ่งหวังให้เด็กมีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์  โตวันโตคืนเป็นมิ่งขวัญแก่วงศ์ตระกูลสืบไป

เด็กแต่ก่อนนิยมการไว้จุกกันทุกคน เมื่อจะโกนจุก ก็ต้องทำพิธีให้ด้วย มีการนิมนต์พระมาเจริญพระพุทธมนต์และรับถวายภัตตาหารเพื่อเป็นสิริมงคลแก่เด็ก  สำหรับลูกหลานของพระยามหากษัตริย์  มักจะทำกันเป็นพิธีโสกันต์”

เมื่อเด็กพลัดตกหกล้ม  หรือประสบความตกอกตกใจ  ผู้ใหญ่ก็มักจะเรียกขวัญ ด้วยคำกล่าวที่ว่า

“ขวัญเอย มาอยู่กับเนื้อกับตัวเถิดนะ”

พร้อมกับมีด้ายผูกข้อมือรับขวัญให้ด้วย

เมื่อจะบวชนาค  ก็ต้องมีพิธีทำขวัญนาค  เป็นการเตือนใจผู้ที่จะบวชให้ระลึกถึงพระคุณของพ่อแม่  จะได้ตั้งใจบำเพ็ญสมณกิจด้วยจิตใจมั่นคงและสงบเพื่อแผ่ส่วนบุญกุศลเป็นกตเวทิตาคุณแก่บุพการี

ตอนจะแต่งงานก็ต้องทำขวัญ  เป็นการอบรมสั่งสอนให้คู่บ่าวสาวรู้จัการครองชีวิตคู่ว่ามีหลักต้องปฏิบัติอย่างไร  พร้อมกับเปิดโอกาสให้ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายอวยชัยให้พรให้คู่สมรสอยู่ด้วยกันจนแก่จนเฒ่า  ถือไม้เท้ายอดทอง  ถือตะบองยอดเพชร อะไรทำนองนั้น

ในบางภาคของประเทศไทย  มีการทำขวัญเวลาเจ็บป่วย  เวลาหายป่วยหรือในกรณีเลี้ยงส่ง เลี้ยงต้อนรับ ก็มีพิธีทำขวัญให้ด้วย

ในบทละคร เรื่อง “อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง” ของ หลวงวิจิตรวาทการ ตอนพ่อขุนรามคำแหงมหาราชจัดงานสมรสพระราชทานแก่ศามศรและหญิงเบญจมาศมีเพลงเชิญขวัญ  ปรากฎเนื้อร้องดังต่อไปนี้

“ขวัญเจ้าเอย ขวัญเอย มาสู่องค์เอย  ขอเชิญพระขวัญ  เมื่อวันคืนเพ็ญ ให้อยู่ร่มเย็น  อย่าหนีไปไหน ขวัญเจ้าเอย  ขวัญเอย ขวัญเจ้าอย่าเลยไปไกล  อย่าเที่ยวจนเพลิน อย่าระเหินระหก อย่ามัวชมนก อย่ามัวชมไม้ ขอเชิญขวัญเจ้า รีบเข้าสู่กาย  อย่าลี้หนีหาย  เลยขวัญเจ้าเอย”

เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๙  เจ้านายฝ่ายเหนือก็ได้เคยจัดพิธีบายศรีทูนพระขวัญถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๗ ณ เมืองเชียงใหม่  เนื่องในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนหัวเมืองเหนือ

และเมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๑  คณะข้าราชการ  พ่อค้าและประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ก็ได้จัดให้มีพิธีบายศรีทุนพระขวัญถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ณ สนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่

สรุปแล้ว  ชนชาติไทยได้มองเห็นคุณค่าและความสำคัญเรื่อง “ขวัญ” มาตั้งแต่นมนานกาเลก่อนที่ชาวตะวันตกจะมาฮือฮาเรื่องนี้ในภายหลังนานทีเดียว  ทั้งนี้เพราะเหตุว่า  พื้นฐานในทางวัฒนธรรมของคนไทยต่างก็ยึดมั่นในด้านจิตใจ ศีลธรรม  และคุณธรรมเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตตลอดมา  ซึ่งต่างกว่าชาวตะวันตกซึ่งยึดมั่นในทางวัตถุยิ่งกว่า

โดยเหตุนี้  ผู้เขียนจึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไม่ชาวตะวันตกซึ่งมาเป็นอาจารย์สอนพิเศษที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร  สมัยที่ยังเป็นวิทยาลัยการศึกษาประสานมิตร  จึงต้องหลั่งน้ำตาให้  เมื่อได้เห็นพิธีไหว้ครูอันศักดิ์สิทธิ์ ณ สถาบันการศึกษาแห่งนั้น  พร้อมกับรำพันว่า  เป็นพิธีที่ประทับใจอาจารย์ผู้นั้นมากที่สุด  เท่าที่เคยพบมาและทำไมประเทศของเธอจึงไม่มีพิธีอย่างนี้บ้าง

อย่างไรก็ดี  น่าสังเกตว่าในระยะหลังนี้  ความเชื่อเรื่อง “ขวัญ” ของคนไทยดูจะค่อย ๆ เสื่อมคลายลงไป เช่นเดียวกับวัฒนธรรมที่เป็นของไทยแท้ ๆ ด้านอื่น ๆ ทุกด้าน อาจเป็นเพราะว่า เราปล่อยให้วัฒนธรรมจากต่างประเทศเข้ามาครอบงำจิตใจคนไทยมากจนเกินไป และโดยไม่มีขอบเขต วันแล้ววันเล่า เดือนแล้วเดือนเล่า และปีแล้วปีเล่า แน่นอนที่สุดละ  น้ำหยดทุกวันหินมันยังกร่อน นับประสาอะไรกับวัฒนธรรมไทยซึ่งถูกวัฒนธรรมต่างชาติตีกระหน่ำซ้ำซากอยู่ทุกวี่ทุกวัน ไฉนจะทนทานอยู่ได้

เพื่อให้นักเรียนใหม่เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพิธีนี้  จึงได้มีการสดชุมนุมเทวดา  และน้ำด้ายที่ใช้ในการผูกข้อมือไปขอความเมตตาจากท่านเจ้าอาวาสวัดวิมลโภคารามช่วยปลุกเสกให้  ก่อนจะนำมาใช้ในพิธี

เพื่อให้เกิดการยอมรับพิธีนี้ทั้งสังคมภายนอกและสังคมภายใน  จึงได้เชิญคณะกรรมการการศึกษาของโรงเรียนมาร่วมในพิธีด้วย

 

คาดว่า นักเรียนใหม่จะบังเกิดความรู้สึกว่า คณะครูอาจารย์ทุกท่านต่างยอมรับเขาไว้เป็นศิษย์แล้ว  เพราะในพิธีไหว้ครูพวกเขาได้ขอฝากตัวเป็นศิษย์ด้วยการนำดอกไม้ธูปเทียมากราบไว้บูชามาครั้งนี้ ครูอาจารย์ก็จัดพิธีบายศรีสู่ขวัญพวกเขาด้วยการใช้ด้านผูกข้อมือ  พร้อมทั้งให้ศีลให้พร  แสดงถึงการยอมรับพวกเขาเป็นศิษย์แล้ว

ท่านผู้อ่านที่เคารพ  ท่านได้กรุณาติดตามอ่านเรื่องนี้แต่ต้นมาจนจบผู้เขียนเชื่อว่า ท่านคงจะได้รับสาระประโยชน์จากเรื่องนี้บ้าง ไม่มากก็น้อย  อย่างน้อยที่สุด  เราก็พอจะทราบว่า ยังมีคนไทยบางกลุ่มบางพวกที่มีความหวังดีต่อประเทสชาติ  มุ่งมั่นที่จะสร้างค่านิยมใหม่ให้แก่สังคมไทย  แทนวิธีการรับน้องใหม่ที่ค่อนข้างจะป่าเถื่อนที่สถานศึกษาบางแห่งนำแบบอย่างมาจากต่างชาติ  มีการทรมานน้องใหม่บ้าง มีการแกล้งต่าง ๆ นานา ให้ได้รับความอับอาย เหน็ดเหนื่อย และเจ็บปวดบ้าง  ซึ่งรังแต่จะสร้างความอาฆาตแค้นให้รุ่นน้องไปไล่เบี้ยเอากับรุ่นต่อ ๆ ไปไม่มีที่สิ้นสุด  ไม่ก่อผลในทางสร้างสรรค์ จิตใจให้เกิดความรักใคร่  สมัครสมานสามัคคีเหมือนพี่เหมือนน้อง เหมือนครูกับศิษย์ ตามวัฒนธรรมอันดีงามแบบไทย ๆ ดังที่ได้นำมาเล่าไว้ ณ ที่นี้

ท่านผู้ใดเห็นว่า การบายศรีสู่ขวัญนักเรียนใหม่เป็นเรื่องที่ดี สมควรนำไปเผยแพร่ต่อไป หรือนำไปปรับปรุงใหม่ให้ดียิ่งขึ้นเพื่อยึดถือปฏิบัติต่อ ๆ ไป  อันจะเป็นผลดีต่อความมั่นคงของสังคมและประเทศชาติ ก็ขอได้ทำความคารวะอย่างจริงใจจากผู้เขียนมา ณ โอกาสนี้ด้วย

สุรพล  ไชยเสนา

ประเพณีลูกหนู:ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวปทุมธานี

ประเพณีลูกหนู

๐ ทองคำ  พันนัทธี

จังหวัดปทุมธานี มีประเพณีอีกอย่างหนึ่งที่เรียกว่า “ลูกหนู” ที่จังหวัดอื่นไม่มี ประเพณีการเล่นแข่งขันลูกหนูนี้  จะจัดให้มีในงานศพพระเท่านั้น  ซึ่งชาวปทุมธานีถือเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีสืบต่อกันมาช้านาน

คำว่า”ลูกหนู” ในที่นี้มิได้หมายถึงสัตว์สี่เท้าชนิดหนึ่งที่แมวชอบจับกินเป็นอาหาร  แต่เป็นวัตถุที่ประกอบขึ้นด้วยกรรมวิธีที่ชำนาญของช่าง  ด้วยใช้ดินระเบิดชนิดเดียวกับดอกไม้เพลิงทำเป็นรูปคล้ายจรวดหรือบ้องไฟของชาวตะวันออกเฉียงเหนือ

ตัวลูกหนูเขาทำด้วยลำไม้ไผ่ขนาดใหญ่  ยาวประมาณสองปล้องครึ่ง มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 12 เซนติเมตร หรือบางทีก็ทำด้วยไม้เนื้อแข็งกลึงเป็นรูปทรงกระบอก เจาะข้างในให้กลวง บางครั้งก็ใช้กระบอกเหล็ก แต่กระบอกเหล็กไม่ค่อยนิยมกันนักเพราะมีอันตราย  ข้างในกระบอกอัดดินปืนเข้าไปให้แน่น แล้วอุดหัวอุดท้ายด้วยดินเหนียว  และเจาะรูตรงกลางให้พอดี  สำหรับติดสายชนวนไว้จุดไฟให้ลามเข้าไปไหม้ดินปืนในกระบอก  ครั้นไฟกระทบดินปืนในกระบอกจะเกิดระเบิดเป็นเปลวเพลิงพุ่งออกมาจากรูท้ายกระบอก  ดูคล้ายดอกไม้ไฟหรือไฟพะเนียงหรือผีพุ่งไต้ด้วยความแรงของดินระเบิด  มันจะขับดันตัวกระบอกลูกหนูให้วิ่งไปข้างหน้า  ตามลวดสลิงที่ขึงไว้โดยเร็ว  เพราะตัวลูกหนูเขาผูกติดไว้กับลวดสลิง  ระหว่างที่ลูกหนูวิ่งจะมีเสียงดังแซ็ด ๆ น่าตื่นเต้นเป็นที่น่าดูมาก  เมื่อลูกหนูวิ่งไปสุดลวดสลิงมันจะพุ่งเข้าชนปราสาท  ซึ่งตั้งอยู่ห่างประมาณ 40 เมตร  ถ้าของใครถูกที่สำคัญของปราสาทตามที่คณะกรรมการกำหนดไว้ก็จะได้รับรางวัลอย่างงาม

ตามปกติการแข่งขันลูกหนู จะกระทำเฉพาะในงานประชุมเพลิงศพพระ หากวัดใดมีพระมรณภาพ  เขาจะเก็บศพนั้นไว้ก่อน  รอจนถึงหน้าแล้ง  ชาวบ้านว่างจาการทำนาแล้ว  ก็จะมาช่วยจัดงานประชุมเพลิงศพพระ  แต่ก่อนที่จะถึงกำหนดวันงาน  วัดที่เป็นเจ้าภาพจะประกาศให้วัดต่าง ๆ ทราบ และเชิญให้วัดทำลูกหนูมาเข้าแข่งขันด้วย  เมื่อชาวบ้านเสร็จกิจจากการทำนา  ก็จะช่วยกันทำลูกหนูเพื่อเตรียมไปแข่งขัน  ลูกหนูที่จะนำไปแข่งขันนั้น  จะต้องจัดตกแต่งภายนอกให้สวยงาม  เพื่อประกวดกันด้วย  เขาจะประดับประดาตกแต่งด้วยกระดาษสีต่าง ๆ จนดูสวยงาม  ครั้นถึงวันกำหนดแต่ละวัดจะจัดขบวนแห่ลูกหนูคล้ายขบวนพาเหรดของนักกีฬา  การแต่งกายของคนในขบวนก็จะต้องเหมือนกัน  อาจจะจัดเป็นขบวนประเภทสวยงามหรือขบวนประเภทตลกขบขัน ก็แล้วแต่จะจัดมา  เพราะขบวนเหล่านี้  คณะกรรมการเจ้าภาพจะจัดให้คะแนนไปด้วย ขบวนแห่ลูกหนู่จะนำด้วยกลองยาวหรือแตรวง  และจะมีป้ายบอกชื่อคณะวัดนำหน้าขบวนแห่ และมีนางรำแต่งตัวสีฉูดฉาด เต้นรำตามจังหวะเพลงเรื่อยไป จนถึงบริเวณงาน

ส่วนทางวัดที่เป็นเจ้าภาพจะต้องจัดตั้งเมรุศพหลอก มีปราสาทยอดแหลมครอบเมรุไว้กลางทุ่งนาเด่นสูงตระหง่าน  แล้วปักเสาขึงลวดสลิงให้ปลายลวดพุ่งตรงไปยังปราสาทที่เมรุศพนั้นตั้งอยู่  สายลวดสลิงที่จัดไว้นั้นจะต้องให้ครบตามจำนวนของวัดที่ส่งลูกหนูเข้าแข่ง เช่น มีลูกหนูเข้าแข่ง 10 วัด  ก่อนจะทำการแข่งขัน  คณะกรรมการจะให้หัวหน้าคณะวัดต่าง ๆ ที่นำลูกหนูมาจับฉลากเลือกสายกันก่อน  ว่าใครจะได้สายหนึ่ง หรือสายสอง  หรือสายที่สอบเมื่อจับหมายเลขได้แล้วจึงจะขึงลวดสลิงที่คณะเตรียมมาแล้วจึงจะนำลูกหนูเข้าประจำสายของตน  โดยผูกลูกหนูติดกับสายลวดสลิงเตรียมไว้ทุกสาย  แล้วให้จุดเรียงกันไปตามลำดับ เวียนกันอยู่เช่นนี้จนกว่าลูกหนูที่เตรียมมาแข่งขันจะหมด  ตามที่คณะกรรมการกำหนดไว้ว่าจะแข่งขันกันกี่ลูก

วิธีจุดลูกหนูเขาใช้คบเพลิงไปจุดสายชนวนตรงท้ายตัวของลูกหนู เมื่อไฟลามเข้าไปถึงดินปืนก็จะเกิดระเบิดขับดันตัวลูกหนูให้วิ่งไปข้างหน้าอย่างแรง พอสุดลวดสลิงจะพุ่งเข้าชนปราสาททันที  แล้วกรรมการจะให้คะแนนไว้  ของใครชนที่สำคัญก็จะได้คะแนนมาก และได้รับรางวัล  ส่วนลูกหนูวัดใดแพ้ไม่ได้รางวัล  เจ้าภาพก็จะมอบเงินให้เป็นค่าพาหนะเลี้ยงดูกันพอสมควร  ไม่ต้องกลับมือเปล่า

ในขณะที่ลูกหนูวิ่งเข้าชนปราสาทกองเชียร์ของแต่ละคณะจะเชียร์กันดังกระหึ่ม  จะร้องรำทำเพลงเต้นรำกันอย่างสนุกสนาน

การแข่งขันลูกหนูนาน ๆ จะมีครั้งหนึ่ง  ถ้ามีศพพระจึงจะได้ชม  ฉะนั้นบรรดาชาวบ้านไม่ว่าใกล้ไกลจะหอบลูกจูงหลานพากันไปชมอย่างล้นหลามแน่นขนัดแทบทุกงาน

โตเทพอัสดร:สัตว์ที่อยู่ในพวกเหมราอัสดร

โตเทพอัสดร

โตเทพอัสดร  เป็นสัตว์อยู่ในพวกเหมราอัสดร  คือ  ตัวเป็นม้า

ผิดกันเฉพาะที่หัว  โตเทพอัสดรมีหัวเป็นสิงโต

คำว่า โต  ในภาษาไทย หมายถึง สิงโต ได้ด้วย

อย่างเช่นมีชื่อกลบทชนิดหนึ่ง เรียกว่า โตเล่นหาง  ก็หมายถึง  สิงโตเล่นหางนั่นเอง

ที่มีคำว่าเทพผสมเข้าไปด้วย  ก็เห็นจะให้หมายว่าเป็นสัตว์เทวดานั่นเอง มีสัตว์หิมพานต์ลักษณะเดียวกันนี้  อีกแบบหนึ่ง  เรียกกันว่า เทพีอัสดร

เรื่องการตั้งชื่อสัตว์ประหลาด ๆ เหล่านี้  พวกช่างเองก็คงจะอึดอัดคิดไม่ค่อยออกเหมือนกันว่าจะตั้งชื่อว่าอะไรดี

การตั้งชื่อจึงมีอยู่ ๒ ลักษณะ คือ

๑.  เอาชื่อหรือลักษณะหรือประเภทของแต่ละชนิดมารวมกัน เช่น พานรปักษา, นาคปักษิณ, สกุนไกรสร ฯลฯ  คือเอาลักษณะของนกมารวมกับสัตว์อื่น  แล้วหาคำเปลี่ยนไปให้แปลก ๆดังจะเห็นว่า ปักษา, ปักษิน สกุน  หมายถึง  นกทั้งนั้น  ชื่อเหล่านี้มักจะเป็นชื่อผสมขึ้นใหม่

๒.  ชื่อเฉพาะชนิดเป็นชื่อเดิมที่เรียกกันมาแต่โบราณ  จะว่าเป็นสัตว์หิมพานต์รุ่นแรกก็เห็นจะได้  เช่น  กินรี, กิเลน, เหรา,  ทัณฑิมา  เป็นต้น

เรื่อง  –   “สวรรยา”

ภาพ  –   ประสงค์  พวงดอกไม้

 

 

 

ประเพณีการโล้ชิงช้า

โล้ชิงช้า

ตามคติพราหมณ์ ถือว่าพระอิศวรเป็นเจ้าเสด็จลงมาเยี่ยมโลกปีละครั้ง  ครั้งหนึ่งกำหนด ๑๐ วัน  วันเดือนอ้าย  ขึ้น ๗ ค่ำ  เป็นวันเสด็จลง  แรมค่ำ ๑ เป็นวันเสด็จกลับ  ในการรับรองพระอิศวรนั้นมีการโล้ชิงช้าถวายด้วย

ประเพณีโล้ชิงช้าได้ทำติดต่อกันมาหลายรัชกาล  จนถึงรัชกาลที่ ๗  รัฐบาลในสมัยนั้นมีมติให้ยกเลิก

เขียนโดย : สมพงษ์  ทิมแจ่มใส