พระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดินและประจำพระองค์รัชกาลที่ ๓

พระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดินและประจำพระองค์รัชกาลที่ ๓


เป็นตรางา ลักษณะกลม รูปปราสาท  เป็นสัญลักษณ์ของพระปรมาภิไธยว่า ทับ หมายความว่า ที่อยู่ หรือ เรือน ดังนั้นจึงโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระราชลัญจกรเป็นรูปปราสาท

พระราชลัญจกรนี้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นสำหรับใช้ประทับในต้นเอกสารสำคัญทั้งทางราชการและส่วนพระองค์  และมีปรากฎใช้ประทับในเงินพดด้วงสำหรับซื้อขาย ชำระหนี้

ครั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว  เมื่อได้มีการเชิญพระบรมอัฐิธาตุไปบรรจุที่ฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธอนันตคุณ  อดุลยญาณบพิตร  พระประธานในพระอุโบสถวัดราชโอรสาราม  ซึ่งเป็นวัดที่พระองค์ทรงปฏิสังขรณ์และสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด  จึงได้สลักรูปปั้นนูนพระราชลัญจกรปราสาทประดิษฐานที่ผ้าทิพย์ด้วย

พระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดินและประจำพระองค์รัชกาลที่ ๒

พระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดินและประจำพระองค์รัชกาลที่ ๒


เป็นตรางา ลักษณะกลม  รูปครุฑจับนาค  เป็นสัญลักษณ์ของพระปรมาภิไธยว่าฉิม  ตามความหมายของวรรณคดีไทยคือพญาครุฑ  ดังนั้น จึงนำรูปครุฑจับนาคมาเป็นเครื่องหมายแทนพระปรมาภิไธยในพระราชลัญจกร

พระราชลัญจกรนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใช้ประทับในต้นเอกสารสำคัญทั้งทางราชการและส่วนพระองค์  และปรากฎมีใช้ประทับในเงินพดด้วงสำหรับซื้อขาย  ชำระหนี้

ครั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคตแล้ว  ต่อมาได้มีการเชิญพระบรมอัฐิธาตุไปบรรจุที่ฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก  พระประธานในพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม  ซึ่งมีตำนานกล่าวว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่  และพระเศียรพระประธานเป็นฝีพระหัตถ์ของพระองค์ทรงปั้นตกแต่ง จึงได้สลักรูปปั้นนูนพระราชลัญจกรครุฑจับนาคประดิษฐานไว้ที่ผ้าทิพย์ด้วย

พระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดินและประจำพระองค์รัชกาลที่ ๑

พระราชลัญจกร

เพลินพิศ  กำราญ

กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร

พระราชลัญจกรคือตราสำหรับพระมหากษัตริย์  ใช้ประทับในเอกสารสำคัญอันแสดงถึงพระราชอำนาจในการปกครองบริหารราชการแผ่นดิน  หรือเป็นสัญลักษณ์ที่ทรงเป็นพระประมุขของประเทศชาติ ผู้เขียนจึงได้รวบรวมลักษณะและความหมายของพระราชลัญจกรประจำพระองค์ไว้เพื่อประโยชน์ในการศึกษาดังนี้

พระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดินและประจำพระองค์รัชกาลที่ ๑

เป็นตรางา ลักษณะกลม รูปปทุมอุณาโลม มีอักขระ อุ อยู่กลาง อุ มีลักษณะเป็นม้วนกลม  คล้ายลักษณะความหมายของพระปรมาภิไธยว่า ด้วง จึงใช้อักขระ อุ เป็นมงคลแก่พระปรมาภิไธย  และเพื่อความงดงามจึงล้อมรอบด้วยกลีบบัว  เพราะดอกบัวเป็นพฤกษชาติที่เป็นสิริมงคลของพระพุทธศาสนา

พระราชลัญจกรนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใช้ประทับในต้นเอกสารสำคัญทั้งทางราชการและส่วนพระองค์  และปรากฎมีใช้ประทับในเงินพดด้วงสำหรับซื้อขาย ชำระหนี้  ครั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จสวรรคตแล้ว  ต่อมาเมื่อมีการเชิญพระบรมอัฐิธาตุไปบรรจุที่ฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธเทวปฏิมากรพระประธานในพระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม  จึงได้สลักรูปปั้นนูนพระราชลัญจกรปทุมอุณาโลมประดิษฐานที่ผ้าทิพย์ด้วย

พระพุทธรูปพระประธานพุทธมณฑล ปางพุทธลีลา

พระพุทธรูปพระประธานพุทธมณฑล  ปางพุทธลีลา

พระพุทธรูปพระประธานพุทธมณฑล ปางพุทธลีลา  ลักษณะปฏิมากรรมของสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งออกแบบและปั้นหุ่นโดย  ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี  แห่งกรมศิลปากร

คณะกรรมการอำนวยการจัดสร้างพุทธมนฑล  ได้มอบหมายให้กรมศิลปากร  ดำเนินการปั้นหล่อพระพุทธรูปพระประธานพุทธมนฑล  โดยขยายแบบจากหุ่นต้นแบบของศาสตราจารย์ศิลป  พีระศรี  ให้มีความสูง ๒,๕๐๐ กระเบียด  เนื่องจากพระพุทธรูปมีขนาดใหญ่มาก กรมศิลปากรจึงต้องแบ่งส่วนขององค์พระออกเป็น ๖ ส่วน คือ ๑. พระเศียร ๒.พระอุระและพระพาหาข้างซ้าย ๓. พระนาภี ๔. พระเพลา ๕. พระชงฆ์ พระบาท และฐานบัวรองพระบาท ๖. พระพาหาข้างขวาและพระหัตถ์ข้างซ้าย  โดยการขยายแบบได้ใช้วิธีทำเส้นตัดผิวรอบหุ่น(contour) ตัดเป็นตอน  ๆ(section) แล้วนำมาต่อปรับให้เข้ากันเป็นองค์พระที่สมบูรณ์  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สยามินทราธิราช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเททองหล่อพระเกตุมาลา  เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม  พุทธศักราช ๒๕๒๔  การสร้างพระพุทธรูปพระประธานพุทธมณฑล กำหนดแล้วเสร็จทันการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ในเดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๕๒๕

กวนหยินหรือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรในภาคสตรีของจีน

กวนหยิน  หรือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรในภาคสตรีของจีน

ซึ่งเป็นพระผู้ทรงเมตตา

ศิลปจีน  ผลิตจากเตาเต๋อฮั้ว มณฑลฝูเจี้ยน

คริสต์ศตวรรษที่ ๑๘

กวนหยิน หรือที่คนไทยนิยมเรียกว่าเจ้าแม่กวนอิมตามสำเนียงภาษาจีนแต้จิ๋วหรือเฉาโจ้ว ในภาษาจีนกลาง ซึ่งก็คือ  พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์  พระผู้ทรงกรุณายิ่งในพระพุทธศาสนาลัทธิมหายาน  พระองค์มีปณิธานว่า ตราบใดในสังสารวัฏฏะ ยังมีสัตว์แม้สัตว์หนึ่งตกอยู่ในห้วงแห่งทุกข์ ตราบนั้นก็ยังไม่ขอบรรลุปรินิพพาน จะทรงอยู่โปรดสัตว์จนถึงที่สุด พุทธบริษัทฝ่ายมหายานจึงเคารพนับถือพระองค์มาก  คติมหายานถือว่า กวนหยินได้สำเร็จพุทธภูมิแล้วนานหลายอสงไขยกัลป มีพระนามว่าพระสัมมาธรรมวิทยาประภาตถาคต แต่ก็ลดพระองค์ลงมาอยู่ในฐานะพระโพธิสัตว์ เพื่อจะได้ช่วยเหลือพระพุทธเจ้าทั้งหลายโปรดสัตว์

ในคัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตร  กล่าวว่า กวนหยินทรงอวตารแบ่งภาคปรากฎแก่สรรพสัตว์ตามเพศภูมิแห่งสัตว์ผู้ประสบทุกข์  ซึ่งพระองค์โปรด เช่น สตรีเพศเมื่อได้รับทุกข์และภาวนาระลึกถึงพระองค์ให้ช่วย พระองค์ก็จะมาในเพศของสตรีปรากฎให้เห็น  ถ้าเป็นพระภิกษุก็จะทรงปรากฎในบรรพชิตเพศเป็นต้น

สมชาย  วรศาสตร์  ถ่ายภาพ

พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร

พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร

ครั้นเมื่อเสด็จผ่านพิภพแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  ได้ทรงสร้างกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี  และสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารมขึ้นในพระบรมมหาราชวังสืบตามราชประเพณีการสร้างพระอารามในพระราชฐาน  สมัยกรุงศรีอยุธยา  โดยมีพระราชประสงค์จะให้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร  ซึ่งทรงพระราชศรัทธาเคารพเลื่อมใสเป็นที่ยิ่ง  ทั้งยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามพระนครใหม่ให้ต้องกับการซึ่งมีพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรพระองค์นี้เป็นศิริสำหรับพระนครว่า “กรุงรัตนโกสินทร์” อันมีความหมายว่า “เป็นที่เก็บรักษาไว้ขององค์พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร” อีกด้วย การอัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรมาประดิษฐานและผูกพัทธสีมาพระอารม ปรากฎความในจดหมายเหตุว่า “ครั้นถึงวันจันทร์ แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะโรง ฉศก จุลศักราช ๑๑๔๖ ตรงกัยวันที่ ๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๓๒๗ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรจากโรงในพระราชวังกรุงธนบุรีลงทรงเรือพระที่นั่งกิ่ง มีเรือแห่งเป็นกระบวนข้ามฟากมาเข้าพระราชวัว  อัญเชิญเข้ามาประดิษฐานในพระอุโบสถพระอารามใหม่ แล้วนิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะประชุมกระทำสังฆกรรมสวดผูกพัทธสีมาในวันนั้น  แล้วพระราชทานนามพระอารามว่า “วัดพระศรีรัตนศาสดาราม”

ภาพโดย จิรภัฏ  กิจมณีรัตน์

จักรและตรีศูล หรือจักรี:ราชศาสตราวุธ

จักรและตรีศูล หรือจักรี

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ทรงสร้างขึ้นเป็นราชศาสตราวุธ  เนื่องจากทรงพระราชดำริว่า  สมเด็จพระปฐมบรมราชชนกทรงมีตำแหน่งเป็นเจ้าพระยาจักรี เมืองพิษณุโลก  และพระบาทสมเด็ดพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็ได้รับสถาปนาเป็นเจ้าพระยาจักรีในสมัยกรุงธนบุรี จึงทรงนำมาเป็นนิมิตหมายสร้างดวงจักรและตรีศูลขึ้นเป็นสัญลักษณ์ประจำพระบรมราชวงศ์จักรี  แล้วนำเข้ามณฑลพิธีในการประกอบพระราชพิธีปราบดาภิเษกของพระองค์และพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลต่อ ๆ มา  จัดอยู่ในชุดพระแสงอัษฎาวุธ  มีพระแสงหอกเพชรรัตน์  พระแสงดาบเชลย พระแสงตรีศูล พระแสงจักร พระแสงดาบเขน(หรือดาบโล่) พระแสงธนู พระแสงของ้าวแสนพลพ่าย พระแสงปืนข้ามแม่น้ำสะโตง

จักรและตรีศูล ทำด้วยเหล็กผสม  มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๗.๕ เซนติเมตร  คร่ำทองเป็นลายจักร  ที่คมของจักรเลี่ยมทองคำโดยรอบและถอดขอบที่เลี่ยมออกได้

ตรีศูล  วัดจากปลายด้ามถึงยอดพระแสงองค์กลาง ๕๑ เซนติเมตร  ด้ามหุ้มทองคำ สลักลายตลอด ปลายด้ามฝังทับทิม  ที่คอพระแสงองค์กลางหล่อรูปพระนารายณ์ทรงครุฑคร่ำลายทองติดตรึงกับพระแสงองค์กลางทั้งสองด้าน

เพลงชมดาว

เพลงชมดาว

ฮา..เอ้อ..ชมดาว เหอ                                 แพรวพราวเสียหมดทั้งท้องฟ้า

ดาวเข้ดาวเหรา                                          ดาวแอกแยกฟ้าดาวคันไถ

ดาวเหอดวงดาวรุ่ง                                     สองหนวยพวยพุ่งรุ่งมาไรไร

ดาวแอกแยกฟ้าดาวคันไถ                          เอาไหรมาเทียม..เอ้อ..เหอ..ดาว.

หนวย = ดวง          ดาวเข้ดาวเหรา =  ดาวจระเข้ หรือดาวหมีใหญ่ (BIG DIPPER)  ดาวแอก = เข้าใจว่าดาวค้างคาว  ดาวคันไถ = ดาวโอไรอน (ORION)

ดาวรุ่ง = ดาวพระศุกร์ และดาวพระพุธ

บทนี้แสดงถึงวิชาดาราศาสตร์ของคนไทยเราสมัยก่อน ทุกคนดูดาวเป็น  สังเกตดาวและรู้เวลาได้ถูกต้อง รู้ทิศทาง  ในการเดินทางกลางคืนของชาวเรือและผู้เดินป่า อาศัยดาวเป็นทิศทางและรู้เวลาด้วย เช่น เวลานอนหันปลายเท้าไปทางทิศเหนือ คือให้ปลายเท้าไปสู่ดาวเหนือ หันหัวไปทางทิศใต้เมื่อนอนตื่นเมื่อใดก็จะเห็นดาวเหนือทันที  ฉะนั้นคนทางภาคใต้จึงเรียกทิศใต้ว่า ปละหัวนอน ทิศเหนือเรียกว่า ข้างตีนนอน.

บทประพันธ์:เพลงพี่ร่วมห้อง

เพลงพี่ร่วมห้อง

ฮา..เอ้อ..พี่ร่วมห้อง เหอ                                 เข้ามาบอกน้องว่าไปตรัง

ถ้าเงินทองของน้องยัง                                              ไม่ให้ร้อยชั่งได้ตกไกล

สายเดียงพาดผ้าที่น่ารัก                                           ตั้งแต่แมงมุมชักใย

ไม่ให้ร้อยชั่งไปตกไกล                                             ต่อใดพี่มา  เอ้อ..เหอ..ถึง.

ยัง = มี (เพลงบทนี้ได้จากจังหวัดพัทลุง)

บทประพันธ์:เพลงไปสงขลา

เพลงไปสงขลา

ฮา..เอ้อ..ไปสงขลา  เหอ                                 ลาไปลามาน้ำตาตก

ถ้าพี่นิมิตตัวได้กลายเป็นนก                             พี่บินไปตกในที่นอน

เป็นเรือดหรือเป็นไร                                          พี่จะเข้าไปใช้ที่ใต้หมอน

เป็นหนูอยู่แต่ก่อน                                             ไปสู่ที่นอน..เอ้อ..เหอ..น้อง.

ไช = เจาะ, แทงเข้าไปทำให้เป็นรู, เช่น มอดไชไม้ ไชรูกลอน ถ้าเป็นสัตว์ต่อยก็ยกว่าไชเซ่รีเนกัน เช่น อ้ายทวย (แมงป่องตัวเล็ก)  มดตะนอยไช  แมงดาไช ต้อไช ฯลฯ