ประเพณีลูกหนู:ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวปทุมธานี

ประเพณีลูกหนู

๐ ทองคำ  พันนัทธี

จังหวัดปทุมธานี มีประเพณีอีกอย่างหนึ่งที่เรียกว่า “ลูกหนู” ที่จังหวัดอื่นไม่มี ประเพณีการเล่นแข่งขันลูกหนูนี้  จะจัดให้มีในงานศพพระเท่านั้น  ซึ่งชาวปทุมธานีถือเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีสืบต่อกันมาช้านาน

คำว่า”ลูกหนู” ในที่นี้มิได้หมายถึงสัตว์สี่เท้าชนิดหนึ่งที่แมวชอบจับกินเป็นอาหาร  แต่เป็นวัตถุที่ประกอบขึ้นด้วยกรรมวิธีที่ชำนาญของช่าง  ด้วยใช้ดินระเบิดชนิดเดียวกับดอกไม้เพลิงทำเป็นรูปคล้ายจรวดหรือบ้องไฟของชาวตะวันออกเฉียงเหนือ

ตัวลูกหนูเขาทำด้วยลำไม้ไผ่ขนาดใหญ่  ยาวประมาณสองปล้องครึ่ง มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 12 เซนติเมตร หรือบางทีก็ทำด้วยไม้เนื้อแข็งกลึงเป็นรูปทรงกระบอก เจาะข้างในให้กลวง บางครั้งก็ใช้กระบอกเหล็ก แต่กระบอกเหล็กไม่ค่อยนิยมกันนักเพราะมีอันตราย  ข้างในกระบอกอัดดินปืนเข้าไปให้แน่น แล้วอุดหัวอุดท้ายด้วยดินเหนียว  และเจาะรูตรงกลางให้พอดี  สำหรับติดสายชนวนไว้จุดไฟให้ลามเข้าไปไหม้ดินปืนในกระบอก  ครั้นไฟกระทบดินปืนในกระบอกจะเกิดระเบิดเป็นเปลวเพลิงพุ่งออกมาจากรูท้ายกระบอก  ดูคล้ายดอกไม้ไฟหรือไฟพะเนียงหรือผีพุ่งไต้ด้วยความแรงของดินระเบิด  มันจะขับดันตัวกระบอกลูกหนูให้วิ่งไปข้างหน้า  ตามลวดสลิงที่ขึงไว้โดยเร็ว  เพราะตัวลูกหนูเขาผูกติดไว้กับลวดสลิง  ระหว่างที่ลูกหนูวิ่งจะมีเสียงดังแซ็ด ๆ น่าตื่นเต้นเป็นที่น่าดูมาก  เมื่อลูกหนูวิ่งไปสุดลวดสลิงมันจะพุ่งเข้าชนปราสาท  ซึ่งตั้งอยู่ห่างประมาณ 40 เมตร  ถ้าของใครถูกที่สำคัญของปราสาทตามที่คณะกรรมการกำหนดไว้ก็จะได้รับรางวัลอย่างงาม

ตามปกติการแข่งขันลูกหนู จะกระทำเฉพาะในงานประชุมเพลิงศพพระ หากวัดใดมีพระมรณภาพ  เขาจะเก็บศพนั้นไว้ก่อน  รอจนถึงหน้าแล้ง  ชาวบ้านว่างจาการทำนาแล้ว  ก็จะมาช่วยจัดงานประชุมเพลิงศพพระ  แต่ก่อนที่จะถึงกำหนดวันงาน  วัดที่เป็นเจ้าภาพจะประกาศให้วัดต่าง ๆ ทราบ และเชิญให้วัดทำลูกหนูมาเข้าแข่งขันด้วย  เมื่อชาวบ้านเสร็จกิจจากการทำนา  ก็จะช่วยกันทำลูกหนูเพื่อเตรียมไปแข่งขัน  ลูกหนูที่จะนำไปแข่งขันนั้น  จะต้องจัดตกแต่งภายนอกให้สวยงาม  เพื่อประกวดกันด้วย  เขาจะประดับประดาตกแต่งด้วยกระดาษสีต่าง ๆ จนดูสวยงาม  ครั้นถึงวันกำหนดแต่ละวัดจะจัดขบวนแห่ลูกหนูคล้ายขบวนพาเหรดของนักกีฬา  การแต่งกายของคนในขบวนก็จะต้องเหมือนกัน  อาจจะจัดเป็นขบวนประเภทสวยงามหรือขบวนประเภทตลกขบขัน ก็แล้วแต่จะจัดมา  เพราะขบวนเหล่านี้  คณะกรรมการเจ้าภาพจะจัดให้คะแนนไปด้วย ขบวนแห่ลูกหนู่จะนำด้วยกลองยาวหรือแตรวง  และจะมีป้ายบอกชื่อคณะวัดนำหน้าขบวนแห่ และมีนางรำแต่งตัวสีฉูดฉาด เต้นรำตามจังหวะเพลงเรื่อยไป จนถึงบริเวณงาน

ส่วนทางวัดที่เป็นเจ้าภาพจะต้องจัดตั้งเมรุศพหลอก มีปราสาทยอดแหลมครอบเมรุไว้กลางทุ่งนาเด่นสูงตระหง่าน  แล้วปักเสาขึงลวดสลิงให้ปลายลวดพุ่งตรงไปยังปราสาทที่เมรุศพนั้นตั้งอยู่  สายลวดสลิงที่จัดไว้นั้นจะต้องให้ครบตามจำนวนของวัดที่ส่งลูกหนูเข้าแข่ง เช่น มีลูกหนูเข้าแข่ง 10 วัด  ก่อนจะทำการแข่งขัน  คณะกรรมการจะให้หัวหน้าคณะวัดต่าง ๆ ที่นำลูกหนูมาจับฉลากเลือกสายกันก่อน  ว่าใครจะได้สายหนึ่ง หรือสายสอง  หรือสายที่สอบเมื่อจับหมายเลขได้แล้วจึงจะขึงลวดสลิงที่คณะเตรียมมาแล้วจึงจะนำลูกหนูเข้าประจำสายของตน  โดยผูกลูกหนูติดกับสายลวดสลิงเตรียมไว้ทุกสาย  แล้วให้จุดเรียงกันไปตามลำดับ เวียนกันอยู่เช่นนี้จนกว่าลูกหนูที่เตรียมมาแข่งขันจะหมด  ตามที่คณะกรรมการกำหนดไว้ว่าจะแข่งขันกันกี่ลูก

วิธีจุดลูกหนูเขาใช้คบเพลิงไปจุดสายชนวนตรงท้ายตัวของลูกหนู เมื่อไฟลามเข้าไปถึงดินปืนก็จะเกิดระเบิดขับดันตัวลูกหนูให้วิ่งไปข้างหน้าอย่างแรง พอสุดลวดสลิงจะพุ่งเข้าชนปราสาททันที  แล้วกรรมการจะให้คะแนนไว้  ของใครชนที่สำคัญก็จะได้คะแนนมาก และได้รับรางวัล  ส่วนลูกหนูวัดใดแพ้ไม่ได้รางวัล  เจ้าภาพก็จะมอบเงินให้เป็นค่าพาหนะเลี้ยงดูกันพอสมควร  ไม่ต้องกลับมือเปล่า

ในขณะที่ลูกหนูวิ่งเข้าชนปราสาทกองเชียร์ของแต่ละคณะจะเชียร์กันดังกระหึ่ม  จะร้องรำทำเพลงเต้นรำกันอย่างสนุกสนาน

การแข่งขันลูกหนูนาน ๆ จะมีครั้งหนึ่ง  ถ้ามีศพพระจึงจะได้ชม  ฉะนั้นบรรดาชาวบ้านไม่ว่าใกล้ไกลจะหอบลูกจูงหลานพากันไปชมอย่างล้นหลามแน่นขนัดแทบทุกงาน