พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม:โบราณสถานของไทย

พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม

พระปรางค์วัดอรุณฯ หรือวัดแจ้ง  เป็นโบราณสถานที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของไทย  ของเดิมสูงเพียง ๑๖ เมตร  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีพระราชประสงค์จะสร้างให้สูงไปกว่าเดิม  แต่ไม่ทันสร้างก็เสด็จสวรรคตเสียกอ่น  รัชกาลที่ ๓  ได้โปรดให้ดำเนินการสร้างต่อมาจนสำเร็จ  แต่ไม่ทันจัดงานฉลองก็สิ้นรัชการ

พระปรางค์ในปัจจุบันนี้สูง  ๘๑.๘๕ เมตร

วารสารวัฒนธรรมไทย

เป็นวารสารรายเดือนของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

กระทรวงศึกษาธิการ

เจ้าของ สำนักคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ  กระทรวงศึกษาธิการ ใน

สนามกีฬาแห่งชาติ อำเภอปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

กองอำนวยการ เลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

รองเลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและเผยแพร่วัฒนธรรม

ผู้อำนวยการกองวัฒนธรรมสัมพันธ์

ผู้อำนวยการกองวิจัยและแผนงาน

รายละเอียดการเทียบเดือนและปี“ภาคเหนือกับภาคกลาง”

ในปีหนึ่ง ๆ นั้น  เท่าที่มีประสบการณ์จากการค้นคว้าตำรับตำราที่ท่านผู้เขียนเก่า ๆ ได้เขียนไว้บ้าง  จากประสบการณ์ที่ได้พบได้เห็นมาด้วยตนเองบ้าง  และจากการบอกเล่าจากท่านผู้รู้บางท่านบ้างจึงพอจะประมวลไว้ตลอดปีได้ดังนี้

๑.  เดือน ๗ เหนือของทุก ๆ ปี  ตรงกับเดือน ๕ ใต้  ตรงกับเดือนเมษายน  เดือนนี้มีประเพณีการเล่นสงกรานต์,  ประเพณีสระเกล้าดำหัว, ปอยหน้อย, (บวชลูกแก้วหรือบวชเณร)  ขึ้นบ้านใหม่, เลี้ยงผีปู่-ย่า

๒.  เดือน ๘ เหนือ  ตรงกับเดือน ๖ ใต้  ของทุก ๆ ปี  ตรงกับเดือนพฤษภาคม  เดือนนี้มีประเพณีปอยหน้อย (บวชลูกแก้วหรือบวชเณร), ปอยหลวง,ขึ้นบ้านใหม่,แต่งงาน,วันวิสาขบูชา,ไหว้พระธาตุ

๓.  เดือน ๙ เหนือ  ตรงกับเดือน ๗ ใต้  ของทุกๆ ปี  ตรงกับเดือนมิถุนายนเดือนนี้อากาศมักจะร้อนจัด  และมีคำพังเพยว่า “เดือนเก้า หมาเฒ่านอนน้ำ”  มีความหมายว่า “ในเดือนเก้านั้นอากาศร้อนเป็นอันมาก  ร้อนจนกระทั่งหมาเฒ่าต้องอาศัยนอนน้ำ  เพื่อบรรเทาความร้อน”  เดือนนี้มีประเพณีการไหว้พระสารีริกธาตุต่าง ๆ เช่น พระบรมสารีริกธาตุบนดอยสุเทพ, พระบรมสารีริกธาตุวัดพระธาตุหริภุณชัย,  พระบรมสารีริกธาตุวัดลำปางหลวง เป็นต้น  ในเดือนเก้าเป็ง (ในเดือนเก้าเพ็ญ)  มีคำพูดภาษาเมืองเหนืออีกคำหนึ่งคือ  คำว่า “เป็ง”  หมายถึง “เพ็ญ” เช่น อี่นายจั๋นทร์เป็ง คือ อี่นายจันทร์เพ็ญ,   เดือนยี่เป็ง  คือ วันเพ็ญเดือนยี่,  อี่นายเป็ง(เป็งเฉย ๆ) ก็คือ อี่นายที่ชื่อ “เพ็ญ” เฉย ๆ เป็นต้น  ในเดือนนี้  ถ้าหากปรากฎว่ามีฟ้าฝนดี  บรรดาพี่น้องชาวนาทั้งหลายก็จะเริ่ม “แฮกนา”  แล้วไถดะ  จากนั้นก็ทำการ “เผือ” หรือ “เผือนา”  ดังที่ได้เล่ามาแล้ว  เมื่อเสร็จจากกรรมวิธีต่าง ๆ ก็จะหว่านข้าวกล้าเตรียมไว้ในฤดูปักดำต่อไป

๔.  เดือน ๑๐ เหนือ (เดือน ๘ ใต้ ตรงกับเดือนกรกฎาคม)  ในวันเพ็ญ เดือน ๑๐ เขาจะมีการประกอบพิธีเข้าหวะสา(เข้าพรรษา)  แล้วบรรดาชาวนาก็จะมีการเริ่มไถนากันอย่างพร้อมเพรียงทั่ว ๆไป  เพื่อหว่านข้าวกล้า  เพื่อเตรียมไว้ในฤดูปักดำด้วยเข้าฤดูฝนเต็มที่แล้ว

๕.  เดือน ๑๑ เหนือ (เดือน ๙ ใต้ ตรงกับเดือนสิงหาคม)  เป็นฤดูที่มีน้ำท่าบริบูรณ์  บรรดาพี่น้องชาวนาต่างคนก็ต่างดีใจ  คอยเร่งวันเร่งคืนเพื่อให้ข้าวกล้าที่หว่านไว้แก่จนได้ผลเต็มที่  เพื่อจะได้ถอนเอาข้าวกล้านั้นไปปลูกในนาข้าว  ดังนั้น  ในเดือนนี้จึงเป็นฤดูที่บรรดาพี่น้องชาวนามีความเบิกบาน หฤหรรษ์เป็นที่สุด  เพราะมองไปทางไหนก็มองเห็นน้ำเต็มท้องนาไกลแสนไกล  ฝูงกบเขียดจะส่งเสียงร้องหาคู่อย่างอึงคนึง  อากาศก็ไม่ร้อนไม่หนาว  พอดีที่สุดในคืนวันที่ไม่มีความร้อนอบอ้าว  ที่ทารุณที่สุดก็คือการที่ต้องยืนขาแข็งอยู่กลางน้ำท่วมเปียกแฉะเจิ่งอยู่เต็ม  ที่ร้ายไปกว่านั้น  กลางวันแดดร้อนเปรี้ยงอย่างทารุณ  หรือบางทีเป็นวันฝนตก  พี่น้องชาวนาเหล่านั้นก็ต่างคนต่างมุ่งหน้ากับงานปลูกข้าวในท้องนาของตนเองอย่างอดทน  ท่ามกลางสายฝนซึ่งตกลงมาอย่างหนักแทบตลอดวัน  พวกชาวนาหนาวสั่นสะท้านไปทั้งร่าง  แต่ทุกคนก็ยอมทน

๖.  เดือน ๑๑ เหนือ (เดือน ๙ ใต้  ตรงกับเดือนสิงหาคม)  การปลูกนา, ดำนาก็จะดำเนินไปเรื่อย ๆ จนหมดฤดู  ต่อจากนั้นก็จะมีคนแก่คนเฒ่าคือ  ผู้มีวัยอาวุโสก็จะหอบข้าวของที่จำเป็นแก่การยังชีพในวัด  เพื่อเข้าไปฟังเทศน์  ฟังธรรม  และจำศีลภาวนาในวัดซึ่งตนเองเป็นเจ้าศรัทธาอยู่

๗.  เดือน ๑๒ เหนือ (เดือน ๑๐ ใต้ ตรงกับเดือนกันยายน)  ฝนมักจะตกหนัก  น้ำจะเจิ่งนองและท่วมในบริเวณที่ลุ่มทั่วไป  ประเพณีทางศาสนาก็มีประเพณีก๋ารตาน  ก๋วยสลาก  ในวันขึ้น ๘ ค่ำ ถึง ๑๕ ค่ำ  เรื่อยไปจนถึงเดือน ๑๒ แรม ๑๕ ค่ำ

สำหรับในคืนวันเพ็ญเดือน ๑๒  จะมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรดาญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว  เรียกงานประเพณีดังกล่าวนี้ว่า “ปอยข้าวสังข์”  ทั้งนี้เพราะเหตุว่า บรรดาพี่น้องทางภาคเหนือต่างก็ถือเป็นประเพณีกันว่า  ในคืนดังกล่าวนี้ยมบาลปล่อยให้ผีมารับเอาของกินของทานได้  และชีวิตประจำวันของพี่น้องที่อยู่ในส่วนภูมิภาคนั้น  เมื่อว่างเว้นจากการทำนาแล้ว  ถ้าไม่นั่งคุยกันเป็นกลุ่ม ๆ ก็ทำงานบ้านในหน้าที่ของพ่อบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ  บางวันว่างก็จะนอนหลับกันแทบจะตลอดทั้งวัน  บางคนที่ขยันหน่อยก็จะถือจอบถือเสียมเข้าไปยังไร่ยังสวนของตน  แล้วก็ทำการปลูกผักและผลไม้ไว้กินกันไม่ได้ทำเป็นล่ำเป็นสันแต่อย่างใด  ระยะนี้หากรัฐบาลสนใจก็จะสามารถสร้างพลังงานในด้านการเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนไม่ใช่น้อย  ตัวอย่างเพียงเล็กน้อยที่ผู้เขียนจะขอยกมากล่าวอ้างคือ  เอาจำนวนประชากร ๑ ใน ๓ ของจำนวนพลเมืองทั้งหมดในภาคเหนือ  คูณด้วยอัตราค่าแรงงานอย่างต่ำวันละ ๒๕ บาท แล้วคูณด้วยจำนวนเดือนที่ได้กระจ่ายให้เป็นวันเรียบร้อยแล้ว   สมมุติ  ๓  เดือน  ก็ได้  ๙๐ วัน  ก็เอาประชากร ๑ ใน ๓ คูณวันละ ๒๕ บาท (ตามกฎหมายแรงงานขณะนี้)  แล้วนำไปคูณด้วย ๙๐ วันเรียบร้อยแล้ว  ผลลัพธ์จะออกมาเป็นเงินจำนวนมากอย่างน่าตกใจเลยทีเดียว

ทีนี้ถ้าเผื่อเราจะให้ความสนใจ  ช่วยแนะนำอาชีพอย่างอื่นให้เขา ทุกหมู่บ้าน ทุก ๆจังหวัดก็จะเป็นผลประโยชน์ในด้านการเศรษฐกิจของชาติเป็นจำนวนมิใช่น้อยเลย

๘.  เดือนเกี๋ยงเหนือ (ตรงกับเดือน ๑๑ ใต้  ตรงกับเดือนตุลาคม)  จะมีประเพณีการทำบุญออกหวะสา(ออกพรรษา)  การทานสลากภัตร (ตานก๋วยสลาก)  ทำบุญทอดกฐิน  เรื่อยไปจนถึงวันเพ็ญเดือนยี่  ชาวบ้านจะเริ่มทำสวนผักเหมือนอย่างเดือน ๑๒ เหนือ

๙.  เดือนยี่เหนือ (คือ เดือน ๑๒ ใต้  ตรงกับเดือนพฤศจิกายน)  จะมีการทำบุญทอดกฐินเรื่อยไปจากเดือนเกี๋ยงเหนือเป็นต้นมาจนถึง ๑๕ ค่ำ  เดือนนี้จะมีประเพณีการลอยกระทง  ต๋ามผางผะตี๋ด (ตามประทีป)  ทำบุญทอดผ้าป่า  ตั้งธรรมหลวง  คือ เทศน์มหาชาติ  เดือนนี้จะเป็นฤดูการทำไร่ทำสวน ของชาวบ้าน

๑๐.  เดือน ๓ เหนือ  (เดือนอ้ายใต้  ตรงกับเดือนธันวาคม)  มีประเพณีเทศน์มหาชาติ,ทำบุญทองผ้าป่า  เดือนนี้ชาวบ้านจะเริ่มเกี่ยวข้าวคอ คือข้าวที่สุกก่อนข้าวปี  พอถึงเดือน ๓ ข้างแรมก็จะมีการเกี่ยวข้าวปี ทางด้านพี่น้องทางภาคเหนือที่เป็นชาวสวนก็จะเริ่มปลูกพืชล้มลุก เช่น กะหล่ำออก กะหล่ำปี๋  ผักกาดชนิดต่าง ๆ ผั๊กขี้หุด  เป็นต้น

๑๑.  เดือน ๕ เหนือ (เดือนยี่ใต้  ตรงกับเดือนมกราคม)  ในเดือนนี้บรรดาพี่น้องชาวนาทางภาคเหนือ  ถือกันว่าถึงฤดูเก็บเกี่ยว  เขาจะช่วยกันเกี่ยวข้าว เอาเฟือง (เอาฟาง)  ตลอดจนตี๋ข้าว (นวดข้าว) เรียบร้อย  จะนำไปเก็บไว้ที่ยุ้งฉางในบริเวณบ้านของตนเอง  เมื่อเสร็จจากการเกี่ยวข้าว  ตี๋ข้าวเอาเฟืองเรียบร้อยแล้ว  หลังจากนั้นก็จะเป็นการทำบุญประเพณีที่เรียกว่า ตานข้าวจี่ข้าวหลาม และจะมีการทำบุญขึ้นบ้านใหม่เรียกว่า  “ขึ้นเฮือนใหม่”  และบรรดาหนุ่มสาวที่ได้หมายตากันไว้นานแล้ว หรือเพิ่งจะมารักมาชอบกัน  หรือพ่อแม่จับคลุมถุงชน (เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว) ก็จะจัดให้มีการ “กิ๊นแขกแต่งงาน” กันขึ้นเป็นที่เอิกเกริกสนุกสนาน

๑๒.  เดือน ๕ เหนือ (เดือน ๓ ใต้  ตรงกับเดือนกุมภาพันธ์)  จะเป็นเดือนที่มีการประกอบพิธีวัน “มาฆบูชา”  มีการทำบุญปอยหลวง  หากมีศพคนตายที่เก็บไว้นาน ๆ เขาก็จะนำเอาศพนั้น มาประกอบพิธีทำบุญสัตมวารศพ  และทำก๋ารเผาจี๋เสียในเดือนนี้  ถ้าเป็นศพของคนที่มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ หรือเป็นศพของ “ตุ๊หลวงเจ้าวัด”  หรือ “ตุ๊เจ้าที่มีคนนับถือมากมาย”  เขาก็จะทำพิธีกันอย่างขนานใหญ่  เรียกกันว่า พิธีลากผาสาท (ลากปราสาท)  หรือทางไทยใหญ่จะเรียกพิธีทำศพอย่างเอกเกริกดังกล่าวนี้ว่า  “ปอยล้อ”  เป็นต้น  เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า  เดือนนี้จะเป็นเดือนที่มีอากาศเริ่มร้อน คือ เริ่มเข้าหน้าร้อน

ในฤดูดังกล่าวนี้  ทางภาคเหนือจะมีดอกไม้ชนิดหนึ่งเรียกกันทั่วไปว่า “ดอกทองกวาว”  ซึ่งบางท้องที่บางแห่งก็เรียก “ดอกก๋าสะลอง”  และบางแห่งก็จะเรียก “ดอกก๋าว” หรือ “กว๋าว”  เฉย ๆ  ดอกไม้ที่ว่านี้จะเริ่มออกดอก  แล้วบานสะพรั่งเต็มต้นตลอดทั้งทุ่ง(ท้องนา) เลยทีเดียว  ดอกทองกวาวที่ว่านี้เป็นสัญญลักษณ์อย่างหนึ่งของภาคเหนือ

๑๓.  เดือน ๖ เหนือ (เดือน ๔ ใต้  ตรงกับเดือนมีนาคม)  ในเดือนนี้เขานิยมมีประเพณีการทำบุญ “ปอยหน้อย” (บวชพระบวชเณร) ขึ้นบ้านใหม่ และพิธีแต่งงาน

ส่วนประเพณีที่ไม่เกี่ยวกับศาสนา  เช่น  ประเพณีการเลี้ยงผี  หรือการฟ้อนผีมด-ผีเม็งนั้น  จะเริ่มกันตั้งแต่เดือน ๗ เดือน ๘ เดือน ๙ เหนือ

หากจะกล่าวโดยสรุปแล้ว  หากจะมีการพิจารณาในชีวิตประจำวันของชาวเหนือโดยพิจารณาตลอดปีแล้ว  จะเห็นว่าชีวิตของบรรดาพี่น้องชาวเหนือนั้นดำเนินไปอย่างมีระเบียบและเรียบ ๆ ไม่โลดโผนเท่าไรนัก  สิ่งที่จะห่างเสียไม่ได้ในชีวิตประจำวันของพี่น้องชาวเหนือก็คือ  ประเพณีที่มีความคลุกคลีอย่างใกล้ชิดกับการศาสนา

อาจจะเป็นด้วยพี่น้องชาวเหนือมีศรัทธาปสาทะต่อพระศาสนาอย่างใกล้ชิดนี่เอง  ถ้าจะสังเกตดูตามวัดวาอารามหรือตามย่านหรือแหล่ง  ซึ่งเป็นที่สำหรับพบปะของผู้แก่ผู้เฒ่าหรือผู้อาวุโสทั่วไป  จะมีการเสวนากันถึงเรื่องการปฏิบัติธรรมอย่างไม่ว่างเว้นในฤดูเข้าหวะสา (เข้าพรรษา)  ผู้อาวุโสเหล่านั้นก็จะให้ลูกหลาน  หาบขนเอาเครื่องสำหรับใช้นอนวัดเท่าที่จำเป็น  ไปถือศีลภาวนาอยู่เสียที่ในวัด  แม้จะมีธุรกิจจำเป็นอย่างอื่นก็หยุดกันหมด  หันมาถือศีลกินเพลกันอย่างเดียวในวันธรรมสวนะนั้น

เห็นจะเป็นเพราะเป็นผู้ที่ยึดถือสัจจะและใกล้ชิดกับวัด  อันเป็นสรณะอย่างหนึ่งของพี่น้องทางภาคเหนือ  จึงบันดาลให้ท่านเหล่านั้นมีชีวิตดำรงอยู่อย่างเรียบร้อย  รักสงบ  สันโดษ  และมีจิตใจสูง  และมีดวงหน้าที่เต็มไปด้วนสัญญลักษณ์แห่งมิตร  คือมีแต่การยิ้มและการให้อภัยอยู่เสมอ  มีความสุข มีความพอใจในชีวิตเท่าที่เป็นอยู่  ทำมาหากินกันอย่างขยันขันแข็ง ไม่ละโมภ  จึงทำให้วิถีชีวิตของบรรดาพี่น้องทางเมืองเหนือเหล่านั้น  ประสบแต่ความสุขสมบูรณ์ตามควรแก่อัตภาพตลอดมา

ชูรัตน์  ชัยมงคล

ประเพณีของ “ชาวเหนือ” ในรอบปี

ตารางเทียบเดือน ระหว่าง ภาคกลางและภาคเหนือ

การนับเดือนนั้น  ออกจะมีพิธีรีตรองมาก  กล่าวคือ  เดือนเกี่ยง แทนที่จะไปตรงกับเดือนอ้ายหรือเดือนยี่  เดือนสาม  หรือเดือนสี่  จะตรงกัน  แต่ความจริงไม่ตรง  จะให้ตรงจริง ๆ ผู้เขียนก็ได้เขียนเทียบไว้ให้ในตารางต่อไปนี้แล้ว

ตารางเทียบเดือน

ระหว่าง

ภาคกลางและภาคเหนือ

ภาคเหนือ                                 ภาคกลาง

เดือนเกี่ยง                                เดือนสิบเอ็ด                   เดือนตุลาคม

เดือนยี่                                      เดือนสิบสอง                  เดือนพฤศจิกายน

เดือนสาม                                 เดือนอ้าย                        เดือนธันวาคม

เดือนสี่                                     เดือนยี่                             เดือนมกราคม

เดือนห้า                                   เดือนสาม                         เดือนกุมภาพันธ์

เดือนหก                                  เดือนสี่                              เดือนมีนาคม

เดือนเจ็ด                                  เดือนห้า                           เดือนเมษายน

เดือนแปด                                เดือนหก                           เดือนพฤษภาคม

เดือนเก้า                                  เดือนเจ็ด                         เดือนมิถุนายน

เดือนสิบ                                  เดือนแปด                         เดือนกรกฎาคม

เดือนสิบเอ็ด                            เดือนเก้า                           เดือนสิงหาคม

เดือนสิบสอง                           เดือนสิบ                            เดือนกันยายน

ตามตารางการเทียบเดือนระหว่างภาคกลางกับภาคเหนือ  ซึ่งได้แสดงไว้นั้นจะเห็นว่า  เดือนเจ็ด(เหนือ)  ซึ่งเป็นเดือนที่พี่น้องทางภาคเหนือจัดให้มีงานประเพณีสงกรานต์นั้น   กลับไปตรงกับเดือน ๕ ของทางภาคกลาง (คือเดือนเมษายน)  เมื่อเห็นว่า  บางครั้งการนับด้วยการเปรียบเทียบด้วยการคิดวกวนไปมา  ผู้เขียนจึงได้จัดการตีเป็นตารางสำเร็จเสียเลย  เพื่อสะดวกในการค้นหามากขึ้น

การเทียบวันเดือนระหว่าง “ภาคกลางกับเมืองเหนือ”

ประเพณีของชาวเหนือในรอบปี

ในสมัยที่ประเทศไทยอันเป็นที่รักของเรา ได้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น  คณะรัฐบาลชุด ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม  เห็นว่า  วันปีใหม่ของไทยนั้นไม่ตรงกับหลักสากลนิยม  ทั้งนี้เพราะเหตุว่าวันปีใหม่ของไทยเรานั้นไม่ตรงตามหลักสากลนิยม และประกอบกับเห็นว่าประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก  แม้แต่ประเทศที่อยู่ในเบื้องบูรพาทิศ  เช่น  ประเทศจีนและประเทศญี่ปุ่น  ต่างก็ถือเอาวันที่ ๑ มกราคม  ของทุก ๆ ปี เป็นวันขึ้นปีใหม่

ดังนั้น  รัฐบาลในสมัย ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม  จึงได้มีประกาศให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เสีย  โดยถือตามหลักสากลนิยม  จากวันที่ ๑ เมษายน เป็นวันที่ ๑ มกราคม ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๔  เป็นต้นมาจนกระทั่งทุกวันนี้

ทีนี้มีบางท่านเกิดมีความสนใจกันมา  เขาเทียบวัน เดือน ปี ระหว่างเมืองเหนือกับภาคกลางกันอย่างไร  ก็ถือโอกาสนี้ชี้แจงให้ทราบดังต่อไปนี้.-

ทีนี้ขอเข้าประเด็น  คือ  คำถามที่ว่า  เขาเทียบวัน, เดือน, ปี  ระหว่างภาคกลางกับภาคเหนือกันอย่างไร ?

ขอตอบดังนี้  เรื่องวันเห็นจะไม่เป็นปัญหา  เพราะนับเหมือนกัน  แต่เดือนกับปีมีปัญหาจึงขอเทียบเป็นตารางเพื่อให้เกิดความแน่นอนและง่ายแก่การเข้าใจดังนี้

ตารางการเทียบเดือนและปี

ระหว่าง

“ภาคเหนือกับภาคกลาง”

การเทียบปี

ภาคเหนือ                                                         ภาคกลาง

ปี๋ไจ้                                                                 ปีชวด

ปี๋เป้า                                                                ปีฉลู

ปี๋ยี                                                                   ปีขาล

ปี๋เหม้า                                                             ปีเถาะ

ปี๋สี                                                                   ปีมะโรง

ปี๋ใส้                                                                 ปีมะเส็ง

ปี๋สะง้า                                                             ปีมะเมีย

ปี๋เม็ด                                                               ปีมะแม

ปี๋สัน                                                                ปีวอก

ปี๋เล้า                                                                ปีระกา

ปี๋เส็ด                                                               ปีจอ

ปี๋ไก๊                                                                 ปีกุณ

ประเพณีเล่นเข้าผี:เข้าผีแม่ศรีเรือน

เข้าผีแม่ศรีเรือน

เข้าผีแม่ศรี หรือเข้าผีเม่ศรีเรือน เป็นการละเล่นพื้นบ้านของชาวจังหวัดปทุมธานีมานานแล้ว  ปัจจุบันประเพณีการเล่นพื้นบ้านของชาวจังหวัดปทุมธานีมีหลายอย่างที่สูญหายไปหาดูไม่ได้อีกแล้ว  นอกจากจะเอาคนเก่า ๆ ขนาดอายุ ๗๐-๘๐ ปี  มาแสดงให้ชม  ก็พอจะมีตัวอยู่บ้าง  แต่ก็หลงลืมไปมาก

การละเล่นพื้นบ้านของชาวจังหวัดปทุมธานี  แต่โบราณมามีหลายอย่างด้วยกัน  เช่น เข้าผีแม่ศรี เข้าผีอึ่งอ่าง เข้าผีสาก เข้าผีลิงลม เข้าผีสุ่ม เล่นระบำ เล่นช่วงรำ  การเล่นดังกล่าวนี้  ส่วนมากจะเล่นในเวลาตอนเย็นหรือกลางคืน  ในเทศกาลวันนักขัตฤกษ์  ตรุษ สงกรานต์  เพราะในระหว่างเดือนเมษายน  ชาวนาหมดจากฤดูการทำนาแล้ว  เป็นเวลาพักผ่อน  หาความสนุกสนานรื่นเริงกัน ไม่ว่า เด็ก หนุ่ม สาว เฒ่าแก่  จะมารวมกันเป็นการสามัคคีและสนุกกันด้วย  เพราะคนแต่ก่อนอาชีพอื่น ๆ ไม่ค่อยมี  นอกจากอาชีพการทำนาอย่างเดียวเท่านั้น

วิธีเล่นเข้าผีแม่ศรี  ไม่กำหนดจำนวนผู้เล่น  ผู้หญิงผู้ชายเล่นรวมกันได้  แต่ก็ไม่ควรเล่นน้อยกว่า ๕ คน  ถ้ายิ่งมากคนยิ่งสนุก

ก่อนเล่น  ให้ผู้หญิงคนหนึ่งมานั่งกลางวง  แล้วเอาผ้าผูกตาไว้  วิธีผูกต้องให้ปิดหูด้วย  อย่าให้ตามองเห็น  ส่วนหูก็ให้ได้ยินแต่น้อย  นั่งประนมมือมีธูป ๓ ดอก  นอกนั้นยืนล้อมวง  แล้วเดินวนไปทางซ้ายรอบตัวผู้นั่งในวง  ปรบมือพร้อม ๆ กันร้องเพลงแม่ศรี  การปรบมือต้องให้เข้าจังหวะกับทำนองเพลงด้วย เดินวนร้องเพลงไปจนกว่าผีจะเข้าแม่ศรี ถ้าผีเข้าแม่ศรีมือจะสั่นแล้วล้มลง

ตอนนี้เราก็ถามแม่ศรีว่า  มาจากไหน? มาทำไม?  หรือจะถามอะไรก็ได้ แล้วก็เชิญแม่ศรีเล่นด้วยโดยจะให้รำหรือร้องเพลงอะไรก็ได้  เป็นการสนุกครึกครื้น  ถ้าจะเลิกเล่นจะให้ผีแม่ศรีออก ก็ให้แก้ผ้าผูกตาออกแล้วเป่าหูแม่ศรีก็จะล้มลง  ผีก็ออกทันที

เพลงแม่ศรีมีดังนี้

แม่ศรีเอย  แม่ศรีสาวสะ  ยกมือไหว้พระ  ว่าจะมีคนชม  ขนคิ้วเจ้าก็ต่อคอเจ้าก็กลม  ดูช่างสวยสมชมแม่ทองศรีเอ้ย.

เมื่อร้องเพลงแม่ศรีนานเข้า ผีก็ไม่ยอมเข้าสักที  เราจะต้องเปลี่ยนเพลงใหม่ คือให้ร้องเพลงเชิญผีจึงจะเขา  แต่ถ้าร้องเพลงแม่ศรีแล้วผีเข้า  เราก็ไม่ต้องร้องเพลงเชิญ

ประเพณีการเล่นเข้าผี:ผีอีจู้

ผีอีจู้

อุปกรณ์การเล่น

๑.  อีจู้ดักปลา ๑  ใบ

๒.  ชุดเสื้อผ้าชาวนา  ๒  ชุด

๓.  สากตำข้าว  ๒  อัน

วิธีเข้าผี ใช้ผู้หญิงทีมีอายุ  ๒  คนเป็นคนเข้าผี  เอาสากนอนคู่  เอาอีจู้ตั้งกลาง  คนนั่งบนสากหันหน้าเข้าหากัน มือจับอีจู้ไว้สองมือ  อย่าให้หัวแม่มือถูกอีจู้  เดี๋ยวผีจะไม่เข้า  ถ้าผีเข้าแล้วเกิดหัวแม่มือไปถูกอีจู้  ผีก็จะออกทันที  เข้าผีอีจู้ไม่ต้องมีพี่เลี้ยง  แต่ต้องคอยเอาเหล้าหยอดอีจู้ไว้  ผีจะได้เข้าเร็วขึ้น  เมื่อผีอีจ็เข้า  อีจู้ก็จะเต้นทำท่าเมาแลลอยเอนไปเอนมา  ซ้ายทีขวาที พอแน่ใจว่าผีเข้าแล้ว  คนรอบวงก็จะร้องว่า “แทงปลาไหล แทงปลาไหล”  ร้องแบบนี้อีจู้จะไปทางน้ำ  ถ้าจะให้อีจู้หยุดต้องร้องบอกว่า “จ๋อ จ๋อ” เวลาจะให้ผีออกก็ให้เอาหัวแม่มือถูกอีจู้  อีจู้ก็จะกระเด็นออกไปเอง

เพลง

มะกะเชียงเอ๋ย                         มาเต้นมารำ

มากินน้ำคลำ                           สวยจริงงามจริง

ประเพณีการเล่นเข้าผีนี้  จะนิยมเล่นกันก่อนถึงวันสงกรานต์ ๑๕ วัน  และเล่นในเวลากลางคืนตั้งแต่หัวค่ำไปจนถึง ๒๔ นาฬิกา  กลางวันไม่เล่น  ผู้เล่นต้องเอาเครื่องรางของขลังออกจากตัวให้หมด  ประเพณีการเล่นชนิดนี้  จะเล่นมาจนถึงวันสงกรานต์  เมื่อหมดสงกรานต์แล้วก็จะเลิกเล่น

การละเล่นเข้าผีดังกล่าวแล้ว  นอกจากจะเป็นการรวมคนเพื่อนัดแนะในการเตรียมข้าวของไว้ทำบุญในวันสงกรานต์เช่นทำขนมจีน  หรือข้าวเหนียวแดง กาละแม  ซึ่งต้องใช้คน

จำนวนมาก      ยังเป็นการรื่นเริงสนุกสนานครึกครื้นในหมู่วงศาคณาญาติ  และเพื่อนบ้านใกล้เคียง  เป็นการสร้างความรักความสามัคคีระหว่างกันอีกด้วย

ประเพณีการเล่นเข้าผี:ผีสุ่ม

ผีสุ่ม

ใช้ผู้หญิงเป็นคนเข้าผี  นั่งบนหัวสุ่ม  สะพายตะข้องใส่ปลา  เอาเชือกหรือใช้ผ้าขาวม้าผูกเอวไว้  เวลาผีเข้าก็จะล้มลงจากสุ่ม  ลุกขึ้นมาก็คว้าสุ่มจะวิ่งลงคลองสุ่มปลาอยู่ร่ำไป  พี่เลี้ยงจะต้องคอยดึงเชือกไว้ ถ้ายุให้ผีรำผีก็จะรำ  ถ้าจะให้ผีออกต้องตบหูข้างเดียวพอล้มลงผีก็ออก วิธีการก็เช่นเดียวกับเข้าผีอื่น ๆ

เพลง

สุ่มเอ๋ยสุ่ม                           สุ่มปลาในห้วย

สุ่มปลาในหนอง                      สุ่มปลาในคลอง

เจ้าแม่เอ้ย                                เจ้าแม่เอ้ย

ประเพณีการเล่นเข้าผี:ผีลิง

ผีลิง

ผีลิง ต้องใช้ผู้ชายเป็นคนเข้าผี  เพราะว่าเวลาผีเข้าแล้วจะต้องกระโดดโลดเต้น  ปีนป่ายต้นไม้ เกาโน่นเกานี่อยู่ไม่สุก  เหมือนกับลิงจริง ๆ  ถ้าใช้ผู้หญิงก็คงไม่น่าดูนัก  ใช้เชือกผูกเอวไว้ให้ดีอย่าให้หลุดจะได้ดึงไว้ไม่ให้ขึ้นต้นไม้  ถ้าเชือกขาดเมื่อไรลิงก็จะวิ่งหนีขึ้นต้นไม้เป็นการเดือนร้อน  เชือกนี้ต้องให้พี่เลี้ยงถือไว้  วิธีเล่นก่อนผีจะเข้า  ต้องให้คนเข้าผีนั่งบนสากตำข้า ๒ อัน  แล้วร้องเพลงเชิญผีสิง  เหมือนกับการเข้าผีกะลาหรือผีกระด้ง

เพลง

ลิงเอ๋ยลิงลม  มาอมข้าวพอง เมียน้อยทั้งสอง

มาทัดดอกจิก พญานกพริก  พญานกเขา

อมเบี้ยอมข้าว  มะพร้าวลูกอม  ขนมชมพู่

อีแก้วน่าดู   เล่นชู้ชาววัง

ร้องเพลงปรบมือกันไปเรื่อย ๆ  จนกว่าผีลิงจะเข้า  ถ้าผีไม่เข้าให้ร้องเพลงเชิญ  โดยใช้เนื้อเพลงเหมือนผีกะลา  หากผีเข้า คนเข้าผีจะล้มลง  แล้วลุกขึ้นวิ่งไล่จับคนให้มาเล่นกับผีด้วย  ถ้าไม่เล่นผีจะแสดงความโกรธ  แล้วเขาทุบตี  เวลาจะให้ผีออกต้องให้พี่เลี้ยงเอามือตบหู ๒ ข้าง พอคนเข้าผีล้มลงผีก็ออก

ผีกระด้ง:ประเพณีการเล่นเข้าผี

ผีกระด้ง


คนเข้าผีใช้ผู้หญิงคนหนึ่ง  นั่งบนครกตำข้าวที่คว่ำอยู่กลางลานบ้าน  เอามือทั้งสองจับกระด้งไว้  อย่าให้หัวแม่มือถูกกระด้งเป็นอันขาด  ถ้าให้หัวแม่มือถูกกระด้ง ผีจะไม่เข้า

ผู้ที่เล่นล้อมรอบคนที่เข้าผี  แล้วเดินปรบมือร้องเพลงวนไปรอบ ๆ ผู้เข้าผี

เพลง

ปู่กระด้งเอย                ย่ากระด้งเอย

รีบมาเร็วไว                   กินข้าวกินปลา

กินหญ้าฟันดำ             มาลงเล่นน้ำ

ทะเลพาไป                   ให้เหล้าสองไห

ปลาไหลสองตัว           กระเทียมสองหัว

เจ้าแม่เอ้ย                    เจ้าแม่เอ้ย

ถ้าผีไม่เข้าก็ให้ร้องเพลงเชิญเหมือนกับผีกะลา  ถ้าผีเข้า  คนเข้าผีก็จะทำการตำข้าวและฝัดข้าวเอง  ถ้าจะให้ผีออกก็ใช้มือตบที่หูผีก็ออก

ประเพณีการเล่นเข้าผี

ประเพณีการเล่นเข้าผี


บ้านม่วง  แต่ก่อนเรียกว่า บ้านท่าควาน  อยู่ในตำบลบ้านกลาง  อำเภอเมืองปทุมธานี  จังหวัดปทุมธานี

ประชาชนในหมู่บ้านนี้  เวลาตรุษสงกรานต์  จะมีการละเล่นอยู่อย่างหนึ่งที่เป็นประเพณีสืบทอดกันมาแต่โบราณ คือ การเล่นเข้าผี  การเล่นเข้าผีนี่คงจะสืบเนื่องมาแต่ครั้งคนยังไม่มีศาสนา  ต้องเคารพกราบไหว้ภูตผีปีศาจตามความเชื่อของตน  ซึ่งคิดว่าจะช่วยให้คนเราพ้นจากภัยอันตรายได้  ผู้ใดเกิดการเจ็บป่วย  ก็คิดว่าภูตผีปีศาจมาเข้าสิงสู่หรือบันดาลให้เป็นไปเช่นนั้น  ฉะนั้นคนจึงต้องเอาใจผี  จึงเกิดมีการบนบานศาลกล่าวกันขึ้น  มีการบวงสรวงและเซ่นวักต่าง ๆ  ต่อมามีคนฉลาดหากินกับผี  บอกว่ารู้ใจผีดี  ที่เรียกกันว่า “หมอผี” ฉะนั้นวิธีการและเครื่องเซ่นต่าง ๆ จึงเกิดขึ้นตามที่หมอผีกำหนด  เพื่อประโยชน์ของตนเองซึ่งแฝงอยู่  แต่คนกลัวผีและเชื่อว่าผีมีจริงก็ต้องยอมทุกรายไป  ปัจจุบันนี้  การศึกษาเจริญขึ้น  ทำให้คนฉลาดขึ้นมาก  แต่ก็ยังไม่วายกลัวผี บางคนปากแข็งบอกว่าไม่กลัวผี  แต่ใจจริง ๆ ก็ยังคิดกลัวอยู่  เรียกว่า ยังกลัว ๆ กล้า ๆ ว่างั้นเถอะ  เพราะการเล่นกับผีมันยากที่มองไม่เห็นตัว เวลาตกพลบค่ำ  ผู้ใหญ่เล่าเรื่องผีให้เด็กฟังเด็ก ๆ ต้องขยับกันให้พ้นร่อง  เพราะกลัวผีเอาไม้แหย่ก้น

ผีที่บ้านม่วงคงไม่ดุหรือเหี้ยนนัก  จึงเชิญมาสิงสู่เล่นกับคนได้อย่างสนุกสนานเสียด้วย  จะเป็นผีตัวจริงหรือผีตัวปลอมก็ไม่รู้ได้  แต่ดูคนที่เข้าผี  แสดงกิริยาท่าทางแปลกไปกว่าคนอื่นในช่วงที่เข้าผีนั้น  การเข้าผีที่บ้านม่วง มีผีหลายอย่างด้วยกัน  เช่น ผีกะลา, ผีกระต้ง, ผีลิง, ผีสุ่ม, และผีอีจู้  เป็นต้น  เวลาจะเข้าผีต้องมีพิธีการ   และมีการร้องเพลงเชิญผีด้วย  ผีจึงจะเข้าซึ่งจะของนำมาเล่าให้ฟังแต่ละผีดังนี้

ผีกะลา


ต้องใช้ผู้หญิงคนหนึ่งที่จะให้ผีมาเข้าสิง ที่เรียว่า  “คนเข้าผี”  แล้วเอาเชือกผูกเอวให้พี่เลี้ยงคนหนึ่ง จะเป็นชายหรือหญิงก็ได้จับปลายเชือกไว้  ให้คนเข้าผีนั่งยอง ๆ บนกะลาตัวเมีย ๒ ใบ  เอามือเท้าไปข้างหน้านิ้วชี้ไปข้างหน้า

คนเชิญอีกคนหนึ่งต้องเป็นหญิงแม่หม้ายห่มสไบ  เอาธูป ๓ ดอก  และเทียน ๑ เล่ม จุดไฟเชิญผี  แล้วนำไปปักไว้ข้างลานบ้านทางทิศเหนือ  คนเข้าผีนั่งบนกะลาตัวเมียอยู่กลางลานบ้าน  แล้วมีคนที่เล่นทั้งหญิงและชายจำนวนหลายคน ยิ่งมากคนก็ยิ่งสนุก  เดินเป็นวงกลมรอบคนเข้าผี  แล้วร้องเพลงปรบมือไปพร้อม ๆ กัน จนกว่าผีจะเข้า  เพลงที่ร้องมีดังนี้

เพลง

กุก กุก  มาเยอว  กระพุม  มาเยอว

กุก  กุก มาเยอว  กระพุม  มาเยอว

ร้องเพลงไปเรื่อยๆ หลาย ๆ เที่ยวจนกว่าผีจะเข้า  ถ้าผีเข้าคนเข้าผีจะล้มลง แต่ถ้าผีไม่ยอมเข้าให้เปลี่ยนคนเข้าผีใหม่ เพราะใจแข็ง  ให้เลือกเอาคนใจอ่อนมาเข้าผีใหม่  เมื่อนเปลี่ยนคนแล้ว  ผียังไม่เข้าอีก  ให้ร้องเพลงเชิญ ดังนี้

เพลงเชิญ

เชิญเอ๋ย เชิญลง เชิญพระองค์ ๔ ทิศ

องค์ไหนศักดิ์สิทธิ์ เนรมิตลงมา

เข้าตัวน้องข้า  ในวันนี้เอย

ตอนนี้คนเข้าผีตัวจะสั่นมือสั่นล้มลง  พูดไม่ได้ ยิ้มไม่ออก ผีจะลุกขึ้นเริ่มอาละวาดเที่ยวไล่จับคน  เมื่อจับได้แล้วจะให้รำวงกับผี คนเล่นทั้งกลัวทั้งสนุก  การเล่นอย่างนี้เล่นตอนกลางคน  กลางวันเขาไม่นิยมเล่นกัน  ถ้าจะให้ผีออกให้ใช้มือตบหูคนเข้าผีข้างเดียว คนเข้าผีจะล้มลง ผีก็ออก เมื่อผีออกแล้ว ถามคนเข้าผีว่ารู้สึกเป็นอย่างไรบ้าง  เขาจะบอกว่าไม่รู้ตัวเลย  เพราะการที่แสดงอะไรออกไปนั้นไม่รู้สึกตัวอะไรทั้งสิ้น  เป็นเรื่องของผีทั้งหมด