ตำนานนางนพมาศสมัยพระร่วง

สำหรับตำนานเรื่องประเพณีลอยกระทง  เท่าที่ปรากฎในตำนานนางนพมาศครั้งสมัยพระร่วงเจ้านั้น กล่าวว่านางนพมาศเป็นธิดาของพระศรีมโหสถ มหาปุโรหิตราชครู ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้เชี่ยวชาญในทางพระเวทย์วิทยาและศิลปวิยาการต่าง ๆ เป็นอันมาก

มหาปุโรหิตราชครู  ได้ถ่ายเทความรู้ความสามารถต่าง ๆ ให้แก่นางนพมาศผู้เป็นธิดา  จนนับได้ว่าเป็นสตรีที่ทรงภูมิรู้และมีปัญญาเฉียบแหลมผู้หนึ่ง  นอกจากนั้น นางนพมาศยังเป็นหญิงที่มีความรู้สวยงามเป็นอันมาก กิติศัพท์ความงาม ความฉลาด และประกอบด้วยเป็นคนซึ่งมีความรู้ความสามารถดังกล่าว  ได้ล่วงรู้ถึงพระกรรณของพระร่วงเจ้า  จึงโปรดให้รับนางไปเป็นข้าบาทบริจาริกา  จนกระทั่งได้เป็นที่ท้าวศรีจุฬาลักษณ์  ตำแหน่งพระสนมเอกในสมัยนั้น

ครั้นเมื่อถึงวันเพ็ญเดือน ๑๒  ชาวเมืองก็จัดให้มีประเพณีต่าง ๆ เช่น ประเพณีการแข่งเรือ, การเล่นเพลงเรือ และมีการทำพิธีจองเปรียงด้วย

ครั้งนั้น  บรรดาพระสนมกำนัลต่างก็พากันประกวด ประขัน จัดแต่งโคมลอยและโคมแขวนกับตกแต่งกระทงให้เป็นรูปต่าง ๆ เพื่อประกวดประขันกัน และเพื่อให้พระร่วงเจ้าทรงทอดพระเนตรด้วย

ฝ่ายท้าวศรีจุฬาลักษณ์หรือนางนพมาศ  ได้ประดิษฐ์กระทงเป็นรูปดอกกระมุทบานกลีบรับแสงจันทร์  ประมาณใหญ่เท่ากับกระแทะ  ล้วนแต่ประดับด้วยดอกไม้สอดสลับสีเป็นลวดลายน่าชมยิ่งนัก แล้วนำเอาผลพฤกษชาติมาประดิษฐ์เป็นรูปนกยูงและนกต่าง ๆ ให้จับและจิกเกสรบุปผาชาติงดงามยิ่งการดังกล่าวทำให้พระร่วงเจ้าได้ทอดพระเนตรแล้วให้ทรงโปรดปรานยิ่งนัก

เรื่องนางนพมาศ มีบางคนเข้าใจว่า นางนพมาศเป็นผู้ริเริ่มประเพณีลอยกระทงนั้น  เป็นการผิดจากความจริงเป็นอันมาก  ความจริงประเพณีลอยกระทงและตาม(จุด)ประทีปนี้ ความจริงได้เกิดมีขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัย(ภาคกลาง) และมีขึ้นทางภาคเหนือของประเทศไทยที่เรียกว่า “ลานนา” นับเป็นเวลาช้านานมาแล้ว  แต่ต่อมาในสมัยพระร่วงเจ้า นางนพมาศเป็นผู้คิดตกแต่งและประดิษฐ์รูปกระทงให้ผิดแผกจากผู้ประดิษฐ์อื่น ๆ เท่านั้น

หมายเหตุ.-

หากท่านผู้อ่านสนใจจะค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องนางนพมาศนี้แล้ว ขอให้ค้นคว้าในหนังสือชื่อ “ตำรับนางนพมาศ” หนังสือ “ตำนานโยนก” และหนังสือชื่อ “จามเทวีวงศ์” ก็จะสามารถทราบได้โดยละเอียดว่า ประเพณีลอยกระทงได้เกิดขึ้นในสมัยใด-ผู้เขียน

ข้อเขียนของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์  ปราโมช