พิธีบายศรีสู่ขวัญนักเรียนใหม่

บายศรีสู่ขวัญนักเรียนใหม่

ชีวิตของคนไทยในอดีต  มีความเกี่ยวกันกับเรื่อง  “ขวัญ” ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตายทีเดียว  เด็กที่เกิดใหม่ก็ต้องมีการรับขวัญ  เป็นการแสดงการต้อนรับและแสดงความยินดี  รวมทั้งเป็นการปัดเป่าเสนียดจัญไรตลอดจนภูติผีปีศาจมิให้มารบกวนเด็ก พิเคราะห์จากคำกล่าวในพิธีที่ว่า

“สามวันเป็นลูกผี  สี่วันเป็นลูกคน”  แสดงว่าเป็นความเชื่ออย่างหนึ่งว่า เด็กจะมีชีวิตอยู่รอดตลอดไปหรือไม่อยู่ในเกณฑ์ ๓ วัน หากพ้น ๓ วันไปแล้ว เด็กมีสุขภาพดี  ไม่เจ็บไข้ใด ๆ ก็เป็นที่หวังว่า เด็กจะมีชีวิตอยู่ดูโลกได้ต่อไปแน่

เมื่อเกิดได้ครบ ๑ เดือน  ก็ต้องมีพิธีทำขวัญเดือนให้อีก  ประหนึ่งเป็นการเฉลิมฉลองให้  และมุ่งหวังให้เด็กมีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์  โตวันโตคืนเป็นมิ่งขวัญแก่วงศ์ตระกูลสืบไป

เด็กแต่ก่อนนิยมการไว้จุกกันทุกคน เมื่อจะโกนจุก ก็ต้องทำพิธีให้ด้วย มีการนิมนต์พระมาเจริญพระพุทธมนต์และรับถวายภัตตาหารเพื่อเป็นสิริมงคลแก่เด็ก  สำหรับลูกหลานของพระยามหากษัตริย์  มักจะทำกันเป็นพิธีโสกันต์”

เมื่อเด็กพลัดตกหกล้ม  หรือประสบความตกอกตกใจ  ผู้ใหญ่ก็มักจะเรียกขวัญ ด้วยคำกล่าวที่ว่า

“ขวัญเอย มาอยู่กับเนื้อกับตัวเถิดนะ”

พร้อมกับมีด้ายผูกข้อมือรับขวัญให้ด้วย

เมื่อจะบวชนาค  ก็ต้องมีพิธีทำขวัญนาค  เป็นการเตือนใจผู้ที่จะบวชให้ระลึกถึงพระคุณของพ่อแม่  จะได้ตั้งใจบำเพ็ญสมณกิจด้วยจิตใจมั่นคงและสงบเพื่อแผ่ส่วนบุญกุศลเป็นกตเวทิตาคุณแก่บุพการี

ตอนจะแต่งงานก็ต้องทำขวัญ  เป็นการอบรมสั่งสอนให้คู่บ่าวสาวรู้จัการครองชีวิตคู่ว่ามีหลักต้องปฏิบัติอย่างไร  พร้อมกับเปิดโอกาสให้ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายอวยชัยให้พรให้คู่สมรสอยู่ด้วยกันจนแก่จนเฒ่า  ถือไม้เท้ายอดทอง  ถือตะบองยอดเพชร อะไรทำนองนั้น

ในบางภาคของประเทศไทย  มีการทำขวัญเวลาเจ็บป่วย  เวลาหายป่วยหรือในกรณีเลี้ยงส่ง เลี้ยงต้อนรับ ก็มีพิธีทำขวัญให้ด้วย

ในบทละคร เรื่อง “อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง” ของ หลวงวิจิตรวาทการ ตอนพ่อขุนรามคำแหงมหาราชจัดงานสมรสพระราชทานแก่ศามศรและหญิงเบญจมาศมีเพลงเชิญขวัญ  ปรากฎเนื้อร้องดังต่อไปนี้

“ขวัญเจ้าเอย ขวัญเอย มาสู่องค์เอย  ขอเชิญพระขวัญ  เมื่อวันคืนเพ็ญ ให้อยู่ร่มเย็น  อย่าหนีไปไหน ขวัญเจ้าเอย  ขวัญเอย ขวัญเจ้าอย่าเลยไปไกล  อย่าเที่ยวจนเพลิน อย่าระเหินระหก อย่ามัวชมนก อย่ามัวชมไม้ ขอเชิญขวัญเจ้า รีบเข้าสู่กาย  อย่าลี้หนีหาย  เลยขวัญเจ้าเอย”

เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๙  เจ้านายฝ่ายเหนือก็ได้เคยจัดพิธีบายศรีทูนพระขวัญถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๗ ณ เมืองเชียงใหม่  เนื่องในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนหัวเมืองเหนือ

และเมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๑  คณะข้าราชการ  พ่อค้าและประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ก็ได้จัดให้มีพิธีบายศรีทุนพระขวัญถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ณ สนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่

สรุปแล้ว  ชนชาติไทยได้มองเห็นคุณค่าและความสำคัญเรื่อง “ขวัญ” มาตั้งแต่นมนานกาเลก่อนที่ชาวตะวันตกจะมาฮือฮาเรื่องนี้ในภายหลังนานทีเดียว  ทั้งนี้เพราะเหตุว่า  พื้นฐานในทางวัฒนธรรมของคนไทยต่างก็ยึดมั่นในด้านจิตใจ ศีลธรรม  และคุณธรรมเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตตลอดมา  ซึ่งต่างกว่าชาวตะวันตกซึ่งยึดมั่นในทางวัตถุยิ่งกว่า

โดยเหตุนี้  ผู้เขียนจึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไม่ชาวตะวันตกซึ่งมาเป็นอาจารย์สอนพิเศษที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร  สมัยที่ยังเป็นวิทยาลัยการศึกษาประสานมิตร  จึงต้องหลั่งน้ำตาให้  เมื่อได้เห็นพิธีไหว้ครูอันศักดิ์สิทธิ์ ณ สถาบันการศึกษาแห่งนั้น  พร้อมกับรำพันว่า  เป็นพิธีที่ประทับใจอาจารย์ผู้นั้นมากที่สุด  เท่าที่เคยพบมาและทำไมประเทศของเธอจึงไม่มีพิธีอย่างนี้บ้าง

อย่างไรก็ดี  น่าสังเกตว่าในระยะหลังนี้  ความเชื่อเรื่อง “ขวัญ” ของคนไทยดูจะค่อย ๆ เสื่อมคลายลงไป เช่นเดียวกับวัฒนธรรมที่เป็นของไทยแท้ ๆ ด้านอื่น ๆ ทุกด้าน อาจเป็นเพราะว่า เราปล่อยให้วัฒนธรรมจากต่างประเทศเข้ามาครอบงำจิตใจคนไทยมากจนเกินไป และโดยไม่มีขอบเขต วันแล้ววันเล่า เดือนแล้วเดือนเล่า และปีแล้วปีเล่า แน่นอนที่สุดละ  น้ำหยดทุกวันหินมันยังกร่อน นับประสาอะไรกับวัฒนธรรมไทยซึ่งถูกวัฒนธรรมต่างชาติตีกระหน่ำซ้ำซากอยู่ทุกวี่ทุกวัน ไฉนจะทนทานอยู่ได้

เพื่อให้นักเรียนใหม่เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพิธีนี้  จึงได้มีการสดชุมนุมเทวดา  และน้ำด้ายที่ใช้ในการผูกข้อมือไปขอความเมตตาจากท่านเจ้าอาวาสวัดวิมลโภคารามช่วยปลุกเสกให้  ก่อนจะนำมาใช้ในพิธี

เพื่อให้เกิดการยอมรับพิธีนี้ทั้งสังคมภายนอกและสังคมภายใน  จึงได้เชิญคณะกรรมการการศึกษาของโรงเรียนมาร่วมในพิธีด้วย

 

คาดว่า นักเรียนใหม่จะบังเกิดความรู้สึกว่า คณะครูอาจารย์ทุกท่านต่างยอมรับเขาไว้เป็นศิษย์แล้ว  เพราะในพิธีไหว้ครูพวกเขาได้ขอฝากตัวเป็นศิษย์ด้วยการนำดอกไม้ธูปเทียมากราบไว้บูชามาครั้งนี้ ครูอาจารย์ก็จัดพิธีบายศรีสู่ขวัญพวกเขาด้วยการใช้ด้านผูกข้อมือ  พร้อมทั้งให้ศีลให้พร  แสดงถึงการยอมรับพวกเขาเป็นศิษย์แล้ว

ท่านผู้อ่านที่เคารพ  ท่านได้กรุณาติดตามอ่านเรื่องนี้แต่ต้นมาจนจบผู้เขียนเชื่อว่า ท่านคงจะได้รับสาระประโยชน์จากเรื่องนี้บ้าง ไม่มากก็น้อย  อย่างน้อยที่สุด  เราก็พอจะทราบว่า ยังมีคนไทยบางกลุ่มบางพวกที่มีความหวังดีต่อประเทสชาติ  มุ่งมั่นที่จะสร้างค่านิยมใหม่ให้แก่สังคมไทย  แทนวิธีการรับน้องใหม่ที่ค่อนข้างจะป่าเถื่อนที่สถานศึกษาบางแห่งนำแบบอย่างมาจากต่างชาติ  มีการทรมานน้องใหม่บ้าง มีการแกล้งต่าง ๆ นานา ให้ได้รับความอับอาย เหน็ดเหนื่อย และเจ็บปวดบ้าง  ซึ่งรังแต่จะสร้างความอาฆาตแค้นให้รุ่นน้องไปไล่เบี้ยเอากับรุ่นต่อ ๆ ไปไม่มีที่สิ้นสุด  ไม่ก่อผลในทางสร้างสรรค์ จิตใจให้เกิดความรักใคร่  สมัครสมานสามัคคีเหมือนพี่เหมือนน้อง เหมือนครูกับศิษย์ ตามวัฒนธรรมอันดีงามแบบไทย ๆ ดังที่ได้นำมาเล่าไว้ ณ ที่นี้

ท่านผู้ใดเห็นว่า การบายศรีสู่ขวัญนักเรียนใหม่เป็นเรื่องที่ดี สมควรนำไปเผยแพร่ต่อไป หรือนำไปปรับปรุงใหม่ให้ดียิ่งขึ้นเพื่อยึดถือปฏิบัติต่อ ๆ ไป  อันจะเป็นผลดีต่อความมั่นคงของสังคมและประเทศชาติ ก็ขอได้ทำความคารวะอย่างจริงใจจากผู้เขียนมา ณ โอกาสนี้ด้วย

สุรพล  ไชยเสนา