ยอดกวีศรีสยาม

สุนทรภู่10
ยี่สิบหกมิถุนาเวียนมาถึง
หวนคำนึงยอดกวีศรีสยาม
สุนทรภู่ครูกลอนกระฉ่อนนาม
ต่างเกรงขามในฝีมือเลื่องลือไกล
สิบนิ้วน้อมประนมก้มเกศา
กราบบูชาคารวะอาจารย์ใหญ่
วางรากฐานกานท์กลอนอักษรไทย
ตราตรึงไว้ในแผ่นดินศิลป์กวี
ชีวิตเศร้าเคล้าทุกข์ทั้งสุขโศก
ยามวิโยคถูกถอดยศหมดศักดิ์ศรี
ต้องขึ้นล่องผจญภัยในนที
เมาสตรีทั้งเมารักเมาอักษรา
พระสุนทรโวหารผ่านชีวิต
จนสัมฤทธิ์งานอเนกเอกล้ำค่า
เพราะเจ้านายหลายองค์ทรงกรุณา
ชุบเลี้ยงมาคราเริ่มต้นจนเปรมปรีดิ์
สองศตวรรณสุนทรภู่ครูท่านเกิด
ทั่วโลกเทิดคุณวุฒิพิสุทธิ์ศรี
ยูเนสโกจัดฉลองสองร้อยปี
ยอดกวีศรีสยาม สมนานเทอญ
ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด

คำสดุดีพระสุนทรโวหาร(ภู่)

สุนทรภู่9

เนื่องในวาระครบรอบวันเกิดสองร้อยปี
ไทยผ่องเพ็ญเด่นท้าสายตาโลก    ไม่ใช่โชคหรืออำนาจอันอาจหาญ
แต่ที่เลิศเจิดจรัสชัชวาล            นั้นเพราะงานศิลปวัฒนธรรม
พระสุนทรโวหารชาญอักษร        บิดากลอนครบคล้อยสองร้อยฉนำ
และสหประชาชาติประกาศย้ำ        เป็นปราชญ์ล้ำเลิศหล้าในสากล
ปราชญ์ไทยเฟื่องเลื่องหล้ามีห้าท่าน    สร้างผลงานจรัสยุคทุกแห่งหน
เพียงหนึ่งผู้อยู่ในชั้นสามัญชน        น้อมนำคนไทยมวลล้วนภูมิใจ
สุนทรภู่สู้สร้างสรรค์วรรณศรี        มอบชีวีไว้กับกลอนอักษรสมัย
จึงมากล้นผลประพันธ์อันเกริกไกร        ลูกหลานไทยศึกษาตราบช้านาน
ศิลปากรอนุรักษ์พิทักษ์ศิลป์        ไว้คู่ถิ่นแผ่นดินไทยเพิ่มไพศาล
วรรณคดีที่เพียงเพ็ญเด่นตระการ        มีงานท่านภู่ประจักษ์เป็นหลักตรา
คราวฉลองสองร้อยปีกวีรัตน์        ซึ่งโลกชัดเชิดหนุนรับคุณค่า
กรมศิลปากรพร้อมน้อมบูชา        ด้วยมาลากานท์กวีช่อนี้เอย
ที่มา:จุลสารกรมศิลปากร
สดุดีสุนทรภู่
“เมืองใด ไม่มีกวีแก้ว
เมืองนั้น ไม่แพร้วพิสมัย
เพราะมีสุนทรภู่ฟื้นฟูใจ
จึงเมืองไทยประเทืองดังเมืองทอง
เอกอาลักษณ์ศักดิ์ศรีกวีสยาม
ภาษางามยิ่งเพชรอันเก็จก่อง
เทิดศิลป์ศาสตร์ประกาศธรรมเกียรติลำยอง
ไทยทั้งผองน้อมคารวะสดุดี
ที่มา:โรงเรียนซางตาครู้สคอนแวนท์

บทประพันธ์สุนทรภู่

สุนทรภู่8

ครูกลอนท่านสอนรัก
ยกนิ้วประนมกรวอนเหนือเศียร    ต่างธูปเทียนบูชาอาจารย์สอน
สุนทรภู่อาการย์ด้านกาพย์กลอน        อำนวยพรให้เขียนคล่องต้องใจชน
สุนทรภู่ครูกลอนท่านสอนรัก    แจ้งประจักษ์ความจริงสิ่งสับสน
ที่ว่ารัก รักนั้นฉันมืดมนธ์            จึงคิดค้นอ่านกลอนสุนทรเรียน
ช่างหวานฉ่ำเย็นชื่นระรื่นจิต    เมื่อยังสาวเฝ้าคิดจนปวดเศียร
ยิ่งคิดถึงเรื่องรักชักวนเวียน            แล้วนี่ฉันจะเรียนได้อย่างไร
“ไม่เมาเหล้าแต่เรายังเมารัก    สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน
ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป        แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืน”
นิราศภูเขาทองไปลองอ่าน        ก็ได้ผ่านบทเรียนเขียนระรื่น
สุนทรภู่สอนไว้ให้กล้ำกลืน            เมารักนี้ขมขื่นไม่ชื่นเลย
“จนไม่มีที่รักเป็นหลักแหล่ง        ต้องคว้างแคว้งคว้าหานิจจาเอ๋ย
โอ้เปลี่ยวใจ ไร้รักที่จักเชย            ชมแต่เตยแตกหนามเมื่อยามโซ”
นิราศเมืองเพชรบุรีมีใจเศร้า    สุนทรภู่หงอยเหงาเศร้าโศกโข
นึกถึงรักร้างไปไข้เซโซ            จะอวดโอ้รักใหม่ตั้งใจรอ
“ประหลาดนักรักเอ๋ยมาเลยลับ    เหมือนเดือนดับเด็ดเดี่ยวไปเจียวหนอ
ชลนัยน์ไหลหลั่งลงคลั่งคลอ        ยิ่งเย็นย่อเสียวทรวงให้ร่วงโรย”
จากนิราศอิเหนาแสนเศร้าโศก    ลมกรรโชกเหนื่อยใจให้หิวโหย
เหมือนหนึ่งใครใช้แซ่แค่โบกโบย        ร้องโอดโอยอนิจจาไม่น่าเลย
“จะรักใครเขาก็ไม่เมตตาตอบ    สมประกอบได้แต่สอดกอดเขนย
เอ็นดูเขาเฝ้านึกนิยมเชย            โอ้ใจเอ๋ยจะเป็นกรรมนั่นร่ำไป”
จากนิราศเมืองแกลงแจ้งประจักษ์        เรื่องความรักพิษสงอยู่ตรงไหน
สุนทรภู่รำพันได้ทันใจ                ฉันหวั่นไหวกลัวรักจักร้าวราน
“เขาย่อมเปรียบเทียบความว่ายามรัก    แต่น้ำผักต้มขมชมว่าหวาน
ครั้งจืดจางห่างเหินไปเนิ่นนาน            แต่น้ำตาลก็ว่าเปรี้ยวไม่เหลียวแล”
จากนิราศเจ้าฟ้าพาให้คิด        สุนทรภู่มีจิตคิดหลายแง่
อันเรื่องรักยากนักถ้าจักแปล        ที่รู้แน่รักนักก็มักงง
“แต่เรียนรักรักนักก็มักหน่าย    รักละม้ายมิได้ชมสมประสงค์
ยิ่งรักมากพากเพียรยิ่งเวียนวง        มีแต่หลงลมลวงน่าทรวงโทรม”
อ่านนิราศเจ้าฟ้านิจจาเอ๋ย        อยากจะเอ่ยเรียนรักใช่หักโหม
จะเรียนรักหนักใจไม่ครึกโครม        อย่าโหมโรงให้ใครรู้อดสูใจ
“เห็นต้นรักหันโค่นต้นสนัด        เป็นรอยตัดรักขาดไม่หวาดไหว
เหมือนตัดรักตัดสวาทขาดอาลัย        ด้วยเห็นใจเจ้าแล้วนะแก้วตา”
จากนิราศพระประธมแสนขมขื่น    รักไม่ชื่นน้อยใจกระไรหนา
สุนทรภู่รู้รักชักนำมา                ให้ศึกษาต่อไปไม่เมามัว
“อันโศกอื่นหมื่นแสนในแดนโลก    มันไม่โศกซึ้งเหมือนหึงผัว
ถึงเสียทองของรักสักเท่าตัว            ค่อยยังชั่วไม่เสียดายเท่าชายเชือน”
พระอภัยมณีกวีวาด            สุนทรภู่สามารถหาใครเหมือน
ความหลังยังอยู่ไม่รู้เลือน            เป็นคำเตือนเพื่อนยาอย่าอาลัย
“โอดูเดือนเหมือนดวงสุดาแม่    กระต่ายแลเหมือนฉันคิดพิสมัย
เห็นแสงจันทร์อันกระจ่ายค่อยสร่างใจ    เดือนครรไลลับตาแล้วอาวรณ์”
จากนิราศเมืองแกลงอย่าแคลงจิต        สุนทรภู่ท่านประดิษฐ์คิดคำสอน
ให้รู้ทุกข์ รู้สุข ยามจากจร                เป็นคำกลอนน่าฟังยังศรัทธา
“ถึงทุกข์ใครในโลกที่โศกเศร้า        ไม่เหมือนเราภุมรินถวิลหา
จะพลัดพรากจากกันไม่ทันลา            ใช้แต่ตาต่างถ้อยสุนทรวอน”
น่าเห็นใจท่านสุนทรผู้สอนรัก        อกแทบหักเหมือนไฟไหม้สุมขอน
อ่านแล้วคิดว่ารักแท้นั้นแน่นอน            แม้จะมรณ์ด้วยถ้อยคำก็กล้ำกลืน
“โอ้อกพี่นี้ร้อนด้วยความรัก            ถึงฝนสักแสนห่าไม่ฝ่าฝืน
ไม่เหมือนรสพจมานเมื่อวานซืน            จะชูชื่นใจพี่ด้วยปรีดิ์เปรม”
จากนิราศพระประธมฉันชมชอบ        สุนทรภู่รอบคอบตอบเกษม
สาวอ่านแล้วชื่นใจให้ปรีดิ์เปรม            ต่างอิมเอมเพราะรสหวานไปนานเลย
“โอ้คิดอื่นหมื่นแสนไม่แม้นเหมือน        พี่ร่วมเรือนร่วมเตียงเคียงเขนย
สงัดเสียงเที่ยงคืนเคยชื่นเชย            เมื่อไรเลยจะคืนมาชื่นใจ”
อ่านนิราศพระประธมชมความคิด        แม่มิ่งมิตรสุนทรภู่เธออยู่ไหน
สุนทรภู่พร่ำรำพันทุกวันไป                เธอเที่ยวอยู่แห่งใดได้กลับมา
“อดอะไรจะเหมือนอดที่รสรัก        อดจะหักเสียด้วยใจอาลัยหา
ไม่เห็นรักหนักดิ้นสิ้นชีวา                จะเป็นบ้าเสียเพราะรักสลักทรวง”
พระอภัยมณีที่ท่านแต่ง            มีหลายแห่งสอนใจให้นึกห่วง
เรื่องลิ้นของมนุษย์ที่สุดลวง                อีกทั้งปวงภิตท่านคิดมา
“รักสตรีที่ไรก็ได้ทุกข์                ไม่มีสุขแสนประหลาดวาสนา
เขาออกตัวกลัวลิ้นสิ้นลังกา                เรานี้มาเลยหลงเข้าดงรัก”
“พระอภัยมณี” นั้นมีค่า            ฉันชอบบทเจรจาว่าหาญหัก
อันเถาวัลย์พันเกี่ยวลดเลี้ยวนัก            ยังประจักษ์น้อยกว่าจิตจริตมาร
“ถึงม้วยดิน สิ้นฟ้า มหาสมุทร        ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน
แม้นเกิดในใต้หล้าสุธาธาร                ขอพบพานพิศวาสไม่คลาดคลา
แม้นเนื้อเย็นเป็นห้วงมหรรณพ        พี่ขอพบศรีสวัสดิ์เป็นมัจฉา
แม้เป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา                เชยผกาโกสุมปทุมทอง
“เจ้าเป็นถ้ำอำไพขอให้พี่            เป็นราชสีห์สิงสู่เป็นคู่สอง
จะติดตามทรามสงวนนวลละออง            เป็นคู่ครองพิสวาสทุกชาติไป”
แสนซาบซึ้งตรึงใจในความรัก        พึ่งประจักษ์รักแท้แน่ไฉน
เฝ้าติดตามความรักพิทักษ์ใจ            ถึงชาติไหนก็จะอยู่เป็นคู่ม้วย
“โอ้รักต้นคนรักเขาหักให้            ไม่ตัดได้เด็ดรักไม่พักฉวย
แต่รักน้องต้องประสงค์ถึงงงงวย            ใครไม่ช่วยชักนำสู้กล้ำกลืน”
ฉันเห็นใจในรักสลักจิต            คนึงคิดถึงท่านพลันขมขื่น
รักใครมีหนีไปไม่ได้คืน                 คงสอื้นเจ็บช้ำระกำนัก
“จะหักอื่นขืนหักก็จักได้            หักอาลัยนี้ไม่หลุดสุดจะหัก
สารพัดตัดขาดประหลาดนัก            แต่ตัดรักนี้ไม่ขาดประหลาดใจ”
อันที่จริงหญิงกับชายนั้นหมายรัก        สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน
อันความรักเหมือนโคถึกฮึกหาญไป        ไม่หวั่นเกรงโพยภัยทั้งใจกาย
“อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นทราก     แต่ลมปากหวานหูไม่รู้หาย
แม้นเจ็บอื่นหมื่นแสนจะแคลนคลาย        เจ็บจนตายนั้นเพราะเหน็บให้เจ็บใจ”
จากเพลงยาวเขาถวายโอวาท        อย่าประมาทเสียงฉอเลาะเพราะสดใส
อย่าหลงลมคำคมของชายใด            เขาอาจหลอกล่อให้ตายใจพลัน
“แม้นชายใดใจประสงค์มาหลงรัก        ให้รู้จักเชิงชายที่หมายมั่น
อันความรักของชายนั้นหลายชั้น            เขาว่ารักรักนั้นประการใด”
สุภาษิตสอนหญิงติงไว้ก่อน        ท่านเฝ้าสอนหญิงนะเธออย่าเผลอไผล
อย่าเที่ยวเดินแอ่นอกยกสะไบ            ทั้งนัยน์ตาระวังไว้ใช่เหลียวแล
“อันนัยน์ตาพาตัวให้มัวหมอง        เหมือนทำนองแนะออกบอกกระแส
จริงไม่จริงเขาก็เอาไปเล่าแซ่            คนรังแกมันก็ว่านัยน์ตาคม”
ฉันคุยเพลินเดินไปไกลเรื่องรัก        ขอผ่อนพักสักครู่ดูเหมาะสม
ความรักมีที่ไหนใจระทม                แต่ขอชมรักสักนิดชิดใจกาย
“ด้วยวิสัยในประเทศทุกเขตแคว้น        ถึงโกรธแค้นความรักย่อมหักหาย
อันความจริงหญิงก็ม้วยลงด้วยชาย        ชายก็ตายลงด้วยหญิงจริงดังนี้”
ยังมีอีกมากมายหลายสิบบท        ที่ปรากฎบทกลอนสุนทรศรี
ของท่านยอดสุนทรภู่ครูกวี                สอนให้มีความรักสลักใจ
แม้ตัวฉันเกิดทันท่านสุนทร            จะกราบกรานขอพรอันสดใส
คงเป็นศิษย์ติดตามทั้งใกล้ไกล            นักเสียใจว่าเกิดช้ากว่าร้อยปี”
ที่มา:วรณี (สัชฌุกร) ศิริบุญ

แด่สุนทรภู่

สุนทรภู่7
สุนทรภู่ครูกวีมีชื่อนัก    ว่าเมาเหล้าเมารักเมาอักษร
ทั้งสามเมาเข้าอิงสิงสุนทร        ไม่วันพักผ่อนหย่อนใจกาย
ถ้าไม่เมาสุราหรือนารี        ก็เมาการกวีเป็นที่หมาย
ในชีวิตตั้งแต่ต้นจนถึงปลาย    ไม่มีวายว่างเว้นเป็นคนเมา
แต่การเมาครู่เฉ่าสุนทรภู่        เมาทั้งรู้อักโขไม่โง่เขลา
มันเป็นเรื่องกรรมเวรเช่นเราเรา    ที่หลงเข้าหลุมกิเลสเหตุพาไป
ถึงเมาเหล้าก็ไม่เมาเป็นอาจิณ    ครั้นสร่างสิ่งชั่วกลับตัวได้
แถมจารึกบาปกรรมที่ทำไว้        ลงในเรื่องบทกลอนที่สอนคน
ที่มา:พระราชธรรมนิเทศ
อดีตประธานสำนักวัฒนธรรมทางสรรณกรรม
สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ

แด่อนุสาวรีย์ท่านสุนทรภู่(ระยอง)
ณ ที่นี้แดนฝันอันเพริศแพร้ว
ไพเราะแผ่วเพลงกลอนสุนทรภู่
บริวารยักษ์มนุษย์สุดเกรียวกรู
เฝ้าเชิดชูฉลองบาทมิคลาดคลาย
เอาดวงดาวพราวพร่างที่กลางสรวง
มาบำบวงบูชิตประดิษฐ์ถวาย
แทนมาลารวยรินกลิ่นกำจาย
เนตรขวาซ้ายวาววูบต่างธูปเทียนฯ
ที่มา:อนงค์  อินทรัมพรรย์

สุนทรภู่สดุดี

สุนทรภู่6
สองร้อยปีพระคุณสุนทรภู่            บรมครูสร้างสรรค์วรรณศิลป์
ปฏิภาณกวีสี่แผ่นดิน                เป็นยอดจินตกวีที่เชี่ยวชาญ
กลอนไพเราะเพราะพริ้งยอดยิ่งนัก    ท่านอาลักษณ์ลือเลื่องเรื่องโวหาร
ใส่สัมผัสจัดคำอย่างชำนาญ            ผลงานทานอยู่อย่างไม่สร่างซา
นิราศเรื่องเมืองแกลงแฝงความเศร้า    ท่านบอกเล่าเอาไว้ในเนื้อหา
เมื่อบุตรชายหมายพึ่งซึ่งบิดา            ต้องบุกป่าฝ่าดงสืบพงศ์พันธุ์
ไปพระบาทแต่งนิราศพระบาทหมาย    เป็นคำชายคิดคะนึงถึงคู่ขวัญ
พบสิ่งใดท่านใส่ไว้ครบครัน                ทั้งรูปปั้นถ้ำเขาลำเนาไพร
นิราศภูเขาทองของท่านภู่            กลอนชั้นครูที่ศิษย์จิตเลื่อมใส
ใสสดสวยด้วยคารมคมบาดใจ            สัมผัสในใส่สอดเป็นยอดกลอน
นิราศวัดเจ้าฟ้าว่าเณรพัด            เป็นผู้หัดเรียบเรียงเสียงอักษร
ทุกถ้อยคำทำนองของสุนทร            ด้วยบิดรสมมุติว่าบุตรชาย
นิราศเรื่องอิเหนาเอามาสร้าง        กล่าวถึงนางบุษบามาสูญหาย
อกอิเหนาเปล่าเปลี่ยวโดดเดียวดาย        เมื่อพระพายพัดฉุดบุษบา
นิราศเมืองสุพรรณนั้นโคลงสี่        ที่กวีเพลงยาวกล่าวภาษา
โคลงเรื่องเดียวเจียวหนอก็ขอลา            มีเนื้อหาพาทีดีมากมาย
คนโบราณกาลเก่าเขาเล่าแซ่        เรื่องเล่นแร่แปรธาตุต่างมาดหมาย
คำเขาเล่าลือเล่นเป็นนิยาย                ผลสุดท้ายไร้ผลยากจนลง
ยาอายุวัฒนะประเสริฐสุด            เรื่องสมมุติไม่มีที่ประสงค์
ข่าวเลื่องลือคือมันไม่มั่นคง                อย่าลุ่มหลงลงเล่นไม่เป็นการ
รำพันพิลาปความตามที่ฝัน        เขียนรำพันสอดใส่ลงในสาร
กล่าวถึงเทพธิดายุพาพาล                ในสถานเทพธิดาพระอาราม
ชวนชี้ชัดทัศนาทั่วอาวาส            ตรัวประภาษถูกใจทั้งไต่ถาม
จอมสุรางคนาพะงางาม                เจ้าแห่งความโสภาวิลาวรรณ
เมื่องฝันหายหมายฝันหันมองหา        พรรณนามาถึงรำพึงฝัน
ณ วัดเทพธิดาสุดจาบัลย์                สาวสวรรค์กลับวิมานท่านอกตรม
นิราศพระประธมบรมธาตุ            เจริญศาสนะเป็นปฐม
ด้วยศรัทธาปสาทะจะบังคม            พระบรมธาตุศาสดา
นิราศเพชรบุรีที่สุดท้าย            ด้วยเจ้านายหมายปองของต้องหา
พิเคราะห์คำสัมผัสถนัดตา                เป็นตำราควรคู่ภูเขาทอง
ทั้งเก้าเรื่องเฟื่องฟุ้งจรุงรส            ยอดของบทกวีไม่มีหมอง
เล่นสัมผัสจัดคำท่วงทำนอง            แบบร้อยกรองกลอนกานท์ท่านสุนทร
แม้สังขารท่านดับลับรูปขันธ์        คำประพันธ์ยังอยู่เป็นครูสอน
ชีวิตท่านยังอยู่คู่กับกลอน                ไม่จากจรจากลับเหมือนกับกาย
ศานุศิษย์สืบสรรค์วรรณศิลป์        ไม่สูญสิ้นเลื่อมทรามซึ่งความหมาย
กลอนท่านเด่นเป็นแบบอย่างแยบคาย        ต่างสืบสายสร้างสรรค์กันต่อมา
สองร้องปีที่ถึงจึงจารึก            น้อมรำลึกตามหลักนักภาษา
นักกลอนผู้สูงสุดดุจบิดา                ที่ล้ำค่าสูงส่งวงกวี
นิราศท่านงามมีเพียงนี้แน่            ฉันได้แต่สืบความตามวิถี
คำประพันธ์แต่หลังยังมากมี            สอนสตรีสอนบุรุษชุดนิทาน
บทละครกลอนกล่อมพร้อมกลอนสด    ยังปรากฎมากนักเป็นหลักฐาน
สุดบรรยายให้หมดพจมาน                จึงกล่าวขานงานนิราศของปราชญ์กลอน
ในวาระสดุดีกวีรัตน์                น้อมมนัสนึกคำทำอักษร
ถึงกวีมีคุณพระสุนทร                ประนมกรศิโรราบกราบพระคุณ.
ที่มา:ประจักษ์  ประภาพิทยากร   

รัตนกวี

สุนทรภู่5
แม้ “กวีฤาแล้งแหล่งสยาม”
หากแต่ตามศรีศักดิ์สร้อยอักษร
ยากหาใครไหนชาญเชี่ยวการกลอน
เทียมสุนทรภู่ผู้คนบูชา
หลากลำนำคำท่านเสกสรรถ้อย
ล้วยผูกร้อยกรองคำคมล้ำค่า
ประดุจเพชรรัตน์น้ำหนึ่งงามตา
สมสมญาว่ารัตนกวี
นับแต่วันท่านลับดับสังขาร
เหลือเพียงงานกานท์กลอนอักษรศรี
ตราบตลอดเวลาร้อยกว่าปี
มิอาจมีชาวไทยคนใดเลือน
ยังซึ้งใจในกลอนสุนทรท่าน
จำนิทานนิราศได้ไม่คลาดเคลื่อน
จดจำสุภาษิตตรึงจิตเตือน
แม้นแม้นเหมือนมีมนต์คอยดลใจ
คือนิรันดร์วรรณกรรมอันล้ำค่า
ยงคืนท้าทายทุกยุคสมัย
คืออาภรณ์พิลาศคล้องชาติไทย
อ่าอวดให้ชาติอื่นชมชื่นชู
ตราบเท่าที่มีไทยอยู่ในหล้า
นามเอกอาจารย์กลอนสุนทรภู่
อันเป็นที่ชื่นชมบรมครู
จักเคียงคู่ชาติเรานานเท่านาน…/
ที่มา: บุญสืบ  ชื่นทรวง

สุนทรภู่ยูเนสโก

สุนทรภู่4
แถลงปางสองร้อยปีศรีชาตะ            อัจฉริยยอดกวีศรีสยาม
เวียนบรรจบนบฉลองเจ้าของนาม        สุนทรภู่.ผู้อร่ามงามวาจา
ผีเสื้อสมุทรผุดว่ายสายน้ำหมึก          สินสมุทรสุดนึกคนึงหา
โอษฐ์อวยไชยชูเฉลิมเสริมมนตรา       พระอภัยแจ่มฟ้าอย่ารู้เฟือน
นางเงือกน้อยกลอยใจจ้าวสมุทร        พร้อมด้วยสุดสาครสุนทรเหมือน
นิลมังกรฟ้อนฟ้าตามมาเตือน          ชื่อพ่อภู่อย่ารู้เลือนเหมือนดาววับ
แม่วาลีรูปชั่วแต่ตัวแกล้ว            ความรู้แม่เลิศแล้วหาใครจับ
ยี่สิบหกมิถุนาฟ้าระยับ            อย่ารู้ดับจงรู้เด่นเห็นผลงาน
นาฎสุวรรณมาลีปี่โหยหา            สร้อยสุวรรณจันทร์สุดานางหน้าหวาน
สิบนิ้วต่างธูปผกาลดามาลย์            เศกเป็นกานท์กลอนไทยกราบในที
กรับเกริ่นถ้อยน้อยนิดประดิษฐ์เค้า       ลบลอยเศร้าโศกฉลองสิ้นหมองศรี
แม้กี่มือกี่หมึกผนึกกวี            ต่างวจีใจรู้ทุกผู้ไป
วาดตะวันวาดฟ้าฟองหล้าฟื้น           กวียืนชูธงดำรงไสว
ลำนำไผ่เบียดออดกอดกอไกว         “ละเวง” ไหว “ยูเนสโก” ไชโยนาม.
ที่มา: วิชัย  ไพวงศ์

ชีวิตและงานของท่านสุนทรภู่

สุนทรภู่3
ยี่สิบหกมิถุนายนครานั้น
ตรงวันจันทร์วันดีศรีสมัย
ปีมะเมียขึ้นหนึ่งค่ำตรึงใจ
เวลาในสองโมงเช้าฟ้าพราวพรรณ
บังเกิดเด็กคนหนึ่งซึ่งแสนแปลก
เพียงวันแรกมองโลกโชคเหหัน
พ่อกับแม่เริดร้างแยกทางกัน
สมัยนั้นพระพุทธยอดฟ้าครองธานี
เมื่อเด็กน้อยเจริญวัยได้ชื่อ “ภู่”
แม่เลี้ยงดูด้วยกมลปรนสุขศรี
ให้ความรู้การศึกษามาอย่างดี
ณ วัดชีปะขาวใกล้เคียงในวัง
จนถึงในวัยหนุ่มวัยรุ่มร้อน
“ภู่” เก่งกลอนการประพันธ์ฝันสมหวัง
สามารถบอกสักวาอย่างน่าฟัง
จนกระทั่งเป็นอาลักษณ์ยอกนักกลอน
ชื่อลือชาข้าบดินทร์ปิ่นนเรศร์
ก้องทั่วเขตโลกกวีศรีอักษร
ทั้งนิราศกาพย์นิทานงานกำจร
ชื่อกระฉ่อนแต่ท่านช้ำตรมน้ำตา
ถึงท่านภู่ครูกลอนม้วยมรณ์แล้ว
แต่งานแก้วก่องระยับประดับหล้า
โลกกวีศรีสยามงามโสภา
เกียรติก้องปรากฎงานท่านภู่เอย
ที่มา:เอนก  แจ่มขำ

จนวันตายก็ไหว้ครู “ภู่” สุนทร

สุนทรภู่2
ให้สองมือคือพุ่มปทุมทิพ
สองตาพริบพ่างเทียนเถกิงศรี
กับดวงใจอภิวันทน์กตัญชลี
กราบลงที่เท้าท่านครู “ภู่” สุนทร
สองร้อยปีที่ผ่านแม้นานเนิ่น
ไม่นานเกินกว่าจะจำลำนำอักษร
ซึ่งท่านครู “ภู่” เชลงเป็นเพลงกลอน
ยังอาวรณ์หวามไหวอยู่ในทราง
ทุกนิราศและนินทานท่านขานไข
ยังจับใจจินตนาไม่ลาล่วง
เพลงยาว เห่ เสภา กถาปวง
ประทับดวงจิตชนทุกคนไป
จึงขอเทิดท่าน “ภู่” ครูกลอนเอก
ปานเทพเสกสรรค์ส่งลงไฉน
อภิปูชนียชนของคนไทย
นานเท่าใดนามท่านอยู่คู่ขวานทอง
จะหาเพชรพิเศษค่าอาจหาพบ
จะหาครบคณาสมบัติไม่ขัดข้อง
แต่กับแก้วกวีอันยิ่งยรรยอง
สุดจะมองประเมินหามาโดยดาย
จึงสองมือคือพุ่มปทุมแก้ว
สองตาแพร้วพ่างเทียนวิเชียรฉาย
กับดวงจิตคิดอยู่ไม่รู้วาย
จนวันตาย…ก็ไหว้ครู “ภู่” สุนทร.
ที่มา:จินตนา  ปิ่นเฉลียว ภักดีชายแดน

แทบเท้าสุนทรภู่

สุนทรภู่1
ปางนิราศขาดรักมาหักร้าง
หนาวน้ำคำน้ำค้างเมื่อกลางค่ำ
จะจี้เจื้อยจักจั่นหวั่นประจำ
ที่เคยชื่นกลับช้ำไม่ฉ่ำโชย
เคยลำนำฉ่ำฉะนี้เพลงปี่น้อย
มาละห้อยขาดห้วนไม่หวนโหย
โอ้เคยดอมหอมด่วนลำดวนโดย
มาราโรยหอมร้างไปห่างเรือน
เพลงขลุ่ยครวญเพียงคลอพอคลับคล้าย
คิดว่าเหมือนว่าละม้ายก็ไม่เหมือน
สิ้นสุนทรภู่ท่านพาลสะเทือน
กลอนก็เกลื่อนกลาดกลายประกายกลอน
รำลึกคุณครุ่นคำมาคร่ำคิด
เอกสิทธิ์เอกศักดิ์เอกอักษร
เทิดท่านไว้ในสวรรค์อันบวร
กรุ่นกำจรกลอนประจำยังกำจาย
ค่อยร้อยคำเรียงคำรายความคิด
เนรมิตรเป็นวิมานประมาณหมาย
พิณสายรุ้งเริงร่ำจำเรียงราย
ร่ำระบายร่ายระบำบำบวงบรรพ์
บำบวงแก้วกวีกานท์บันดาลเกิด
ลือกระฉ่อนกลอนเฉิดเชิดฉายฉัน
คำกวีไหววิเวกเศกวงวรรณ
ศรีสุพรรณศิลป์เพิ่มเฟื่องเจิมพร
คือเพชรสายพรายแสงแห่งภาษา
ปลุกชีวิตปลิดชีวาพาไหวว่อน
ตะวันเรืองโรยรามารอนรอน
หวนสะท้อนให้สท้านสายธารไทย
ค่อยลอยเลื่อนวังหลังมาวังหลวง
ผลัดแผ่นดินผลัดดวงก็ร่วงได้
ยิ่งหนามเจ็บเหน็บจับคับแคบใจ
เหมือนนกไร้รังร่อยต้องลอยเรือ
แต่กาพย์กลอนไม่กลายประกายกล้า
คนนับหน้านอกในทั้งใต้เหนือ
ผลัดแผ่นฟ้าฟ้าฟื้นขึ้นเอื้อเฟื้อ
พระจอมเจิมจุนเจือเมื่อจวนเจียน
คำแปดคำเรียงคำร้อยความคิด
เป็นชีวิตเป็นประวัติฉวัดเฉวียน
ฝากคำน้อยค่อยประณตจดจำเนียร
ต่างรูปเทียนเทิดทูนท่านสุนทรฯ
ที่มา:เนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์