การทำความเข้าใจก่อนจะศึกษาธรรม

ก่อนที่จะศึกษาพุทธธรรม ควรจะได้ทำความเข้าใจในธรรมนั้นๆ ก่อน มิฉะนั้นอาจเข้าใจผิดได้ เพราะธรรมมีมากมายหลายประเภท บางอย่างเหมาะแก่คนทั่วไป เช่น ความไม่ประมาท หิริ โอตตัปปะ การพึ่งตนเอง ความขยัน เป็นต้น บางอย่างเหมาะสำหรับฆราวาส เช่น หน้าที่ของสามีภรรยาที่ควรปฏิบัติต่อกัน บางอย่างทรงสอนนักบวชแต่ก็เหมาะกับฆราวาสด้วย เช่น เสขิยวัตร บางอย่างเหมาะเฉพาะนักบวช เช่น ความมักน้อย บางอย่างเหมาะแก่ผู้ต้องการมนุษย์สมบัติ บางอย่างเหมาะสำหรับผู้ต้องการนิพพานสมบัติ บางอย่างเหมาะสำหรับผู้มีอุปนิสัยหรือญาณบารมียังอ่อนขั้นโลกิยะ บางอย่างเหมาะสำหรับผู้มีอุปนิสัยหรือญาณบารมีแก่กล้าขั้นโลกุตระ เหล่านี้เป็นต้น ดังนั้น ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาจึงต้องรู้เรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นจะทำให้เข้าใจไขว้เขว เช่น ยา ผู้ใช้จะต้องรู้ว่า ยาชนิดนี้ใช้แก้โรคอย่างนี้ ยาชนิดนั้นใช้แก้โรคอย่างนั้น หรือยาชนิดนี้เป็นยาบำรุงกำลังร่างกาย จะได้ไม่ใช้ยาอย่างผิดๆ

อีกอย่างคือ ผู้ที่จะศึกษาพระพุทธศาสนาต้องยอมรับก่อนว่า ตนมีความรู้ในพุทธศาสนามากน้อยเพียงไร มีความรู้ขั้นพื้นฐานหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อป้องกันความเข้าใจผิด เพราะมีบางคนพอเริ่มศึกษาก็ถามถึงพระนิพพานเลย พอฟังคำอธิบายไม่รู้เรื่องก็โทษคนอธิบาย โทษธรรม แทนที่จะโทษตัวเองว่ายังรู้น้อย บางคนเลยไม่ยอมศึกษาต่อ เพราะเข้าใจว่าพระพุทธศาสนาไม่น่าสนใจ

ธรรมที่เป็นภาษิตที่พระองค์ทรงแสดงนั้นก็มี เช่น อตฺตา หเว ชิตํ เสยํโย แปลว่า ชนะตนเองนั่นแลประเสริฐ เป็นการวางหลักปฏิบัติเป็นอย่างๆ ก็มี เช่น คุณธรรมของสัตบุรุษ ๗ ประการ มีรู้เหตุผล เป็นต้น และเป็นแบบอื่นก็มี

เมื่อทำความเข้าใจในประเภทของธรรมอย่างนี้แล้ว ก็ควรศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับธรรมต่อไป

รากฐานแห่งความดี
ทางพระพุทธศาสนาแสดงว่า สิ่งที่ทำให้คนเป็นคน ไม่เป็นสัตว์นั้น คือต้องเว้นจากการกระทำ เป็นต้นว่า เว้นการเบียดเบียน เว้นการทำลายผู้อื่นและตัวเองด้วย เว้นจากการฆ่าการทำร้ายกัน เว้นการลัก การปล้น การฉ้อโกงกัน เว้นการทำผิดทางเพศ โดยการละเมิดสิทธิของผู้เป็นเจ้าของ เว้นการพูดปดหลอกลวง ไม่มีความจริงต่อกัน เว้นการดื่มของมึนเมาเสพของเสพติด(ศีล๕) การเว้นดังกล่าว เรียกว่า ศีล ซึ่งแปลว่า ปกติธรรมดา และตามปกติธรรมดา คนทั่วไปก็ไม่ได้ฆ่าเขา ลักเขา เป็นต้น ตรงกันข้ามการฆ่าเขา ลักของเขา ที่เป็นการผิดปกติธรรมดา พระพุทธองค์ท่านทรงบัญญัติศีลไว้ก็เพื่อให้คนอยู่ในสภาวะปกติ คือเป็นคนตามปกติตามสภาวะเดิม ไม่ก่อกวนใคร ที่อาจทำให้เขาตลอดจนตัวเองต้องเดือดร้อน ผู้จะศึกษาพระพุทธศาสนา ต้องรู้จักรากฐานแห่งความดี อันทำให้คนเป็นคน คือ ศีล เรื่องศีลย่อมทำให้สังคมสงบ อยู่เย็นเป็นสุข เกื้อกูลแก่การเศรษฐกิจ หรืออย่างน้อยก็ทำให้รู้ว่าใครเป็นพ่อของเรา คนรักษาศีลแม้เพียงข้อเดียว เช่น เว้นการลัก การโกง เพียงเท่านี้ก็มีคุณค่าต่อสังคมมากแล้ว ถ้ารักษามากข้อจะมีคุณค่ามหาศาลเพียงไร และถ้าใครรักษาเพียงข้อเดียว ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่ามีศีลเหมือนกัน แต่ว่ายังน้อยเท่านั้น และถ้าใครคิดว่ามีศีลแล้วไม่ดี ทำให้บ้านเมืองไม่เจริญ ก็ขอให้คิดอีกในมุมกลับว่า ถ้าอย่างนั้นไร้ศีล คือ ฆ่ากัน ลักกัน โกงกัน ก็ต้องเป็นการดี ถ้าคนส่วนมากฆ่ากัน โกงกัน ขโมยกันแล้ว สังคมในโลกจะเป็นอย่างไร คิดได้อย่างนี้แล้วก็จะรู้สึกเอง ศีลมีหลายอย่าง เช่น ศีล๕ ศีล๘ ศีล๑๐ ศีล ๒๒๗ เป็นต้น ซึ่งรายละเอียดก็พอจะทราบกันอยู่แล้ว เมื่องดเว้นสิ่งที่ควรงด แล้วบำเพ็ญสิ่งที่ควร ก็เปรียบได้กับการเปลื้องเสื้อเหม็นๆ ออกมาแล้วสวมเสื้อที่ดีเข้าไปแทน สิ่งที่ควรบำเพ็ญอันดับแรก ได้แก่ ความเมตตา คือ มีความปรารถนาดีต่อผู้อื่น สัตว์อื่น ทาน คือให้ทรัพย์สิน ความรู้ กำลังกาย และอภัยแก่ผู้อื่น พอใจในคู่ครองของตน ไม่นอกใจ ความมีสัจจะและความไม่ประมาท สิ่งเหล่านี้เป็นรากฐานแห่งความดีขึ้นแรก

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

อาการที่พระพุทธเจ้าทรงสอน

พระองค์ทรงสอนอย่างผู้รู้จริง และรู้เอง จึงไม่ต้องอาศัยปากเทพเจ้าเป็นที่อ้างอิง ว่าเทพเจ้าท่านว่าอย่างนั้นๆ คือ ไม่ต้องอาศัยเขาว่า หรือท่านว่า อย่างคนไม่มีความมั่นใจในตัวเอง

คำสอนของพระพุทธศาสนานั้น มิได้ยึดปาฏิหาริย์เป็นหลักสำคัญ หรือนำสวรรค์มาล่อ นำนรกมาขู่ แต่เป็นไปโดยยึดเหตุผล และการกระทำของตนเป็นหลัก เพราะพระองค์ทรงเป็นคนและทรงสอนคน ทรงสอนประชาชนเพื่อให้รู้ให้เข้าใจ ทรงสอนมีเหตุผล ซึ่งผู้ฟังสามารถพิจารณาแล้วรู้ได้ ทรงสอนน่าอัศจรรย์ คือ ผู้ปฏิบัติตามย่อมได้ผลโดยควรแก่การปฏิบัติ ดังนั้น ในพระพุทธศาสนาแม้นำเรื่องปาฏิหาริย์ และนรกสวรรค์ออก ก็ไม่ทำให้กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแต่อย่างใด

ปาฏิหาริย์
แปลว่า นำออกซึ่งปฏิปักษ์ธรรม ได้แก่ การกระทำที่แปลกประหลาดน่าทึ่ง พระพุทธองค์ทรงแสดงเรื่องปาฏิหาริย์ไว้ ๓ ประเภท คือ อิทธิปาฏิหาริย์ อาเทสนาปาฏิหาริย์ และอนุสาสนีปาฏิหาริย์ อิทธิปาฏิหาริย์เป็นเรื่องแสดงฤทธิ์ด้วยใช้อำนาจจิต ส่วนอีก ๒ ประเภทนั้น เป็นวิธีที่พระพุทธองค์ทรงใช้ประกอบการสั่งสอนประชาชน และทรงแสดงว่าอิทธิปาฏิหาริย์นั้นสู้ ๒ ประเภทหลังไม่ได้ เพราะมักทำให้คนส่วนมากติด หลง ไม่เป็นไปเพื่อความหลุดพ้นจากกิเลส พระองค์ทรงห้ามมิให้พระสาวกแสดงอิทธิปาฏิหาริย์กันเอง(นอกจากทรงอนุญาต) (จากประวัติพระปิณโฑลภารทวาชะ) ส่วนอีก ๒ ประเภทนั้น ทำให้พ้นจากความติด ความหลงงมงาย และจากกิเลส

อิทธิปาฏิหาริย์นั้น พระพุทธองค์ทรงแสดงเองก็มี พระสาวกแสดงตามที่ทรงอนุญาตก็มี เพื่อประโยชน์แก่อาเทสนา และอนุสาสนีปาฏิหาริย์ดังกล่าว แต่บางสมัยในกาลต่อมา พระอาจารย์ผู้แต่งคัมภีร์ได้แต่งเรื่องนี้เพิ่มเติมไว้ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา โดยอนุโลมตามความนิยมในทางนี้ของคนในสมัยนั้นๆ เพื่อให้เขาเกิดศรัทธาในพุทธศาสนาและเพื่อรักษาสัจธรรมอันเป็นแก่นแท้ของพระศาสนาเอาไว้ ดุจสร้างกระพี้ไว้หุ้มรักษาแก่น ใครมีปัญญาก็เข้าถึงแก่นไม่ติดอยู่แค่กระพี้

เรื่องอิทธิปาฏิหาริย์นี้ เป็นผลพลอยได้จากสมาธิจิต ในพระพุทธศาสนาถือเป็นแต่เพียงเรื่องประกอบ แม้ไม่มีเรื่องนี้พระพุทธศาสนาก็ดำรงอยู่ได้

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

ความหมายเดิมของศัพท์ศาสนา

ศัพท์ศาสนาที่ควรทราบในความหมายเดิม
ขันธ คือ กอง กลุ่ม พวก ชนิด คนและสัตว์โลกนี้ประกอบไปด้วยขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ(เป็นสังขารในไตรลักษณะด้วย)

รูป ถ้าเป็นรูปในขันธ์ ๕ หมายถึง ร่างกาย แต่ถ้าเป็นรูปในอายตนะ หมายถึง สิ่งที่เห็นด้วยตา

เวทนา หมายถึง ความรู้สึกว่าสุขหรือทุกข์ ชอบใจหรือไม่ชอบ หรือเฉยๆ

สัญญา หมายถึง ความจำ

สังขาร ถ้าเป็นสังขารในขันธ์ ๕ หมายถึง ความนึกคิดในเรื่องต่างๆ แต่ถ้าเป็นสังขารในไตรลักษณะ หมายถึง สิ่งที่เกิดมีขึ้น เพราะการรวมกัน ประกอบกันของสิ่งต่างๆ หรือเพราะปัจจัย คือเหตุ เช่น ธรรมชาติและคน ปรุงแต่งสร้างสรรค์ทั้งที่มีชีวิต ไม่มีชีวิต ทั้งมีวิญญาณ ไร้วิญญาณ เช่น คน สัตว์ บ้านเรือน ภูเขา ต้นไม้ เป็นต้น และรวมทั้งความคิดนึกด้วย

วิญญาณ ในขันธ์ ๕ หมายถึง ความรู้ เช่น รู้ว่าเวทนาเป็นอย่างไร สัญญา สังขารเป็นอย่างไร

นาม หมายถึง ชื่อ และหมายถึง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในขันธ์ ๕ (ใน ๔ อย่างนี้ยังแบ่งได้อีกเป็น ๒ อย่างคือ เวทนา สัญญา สังขาร จัดเป็นเจตสิก คือ เกิดเนื่องกับใจ ส่วนวิญญาณเป็นใจหรือจิต) ขันธ์ ๕ แบ่งเป็นรูปกับนาม รูปก็คงเป็นรูป นอกนั้นเป็นนาม

อุปาทาน หมายถึง ความยึดมั่นถือมั่น เช่น ยึดว่า นั่นคือเรา นั่นของเรา เป็นต้น

เสพ หมายถึง ใช้ เช่น เสพจีวร เสพที่อยู่, หมายถึง กิน เช่น เสพสุรา เสพอาหาร เสพยา, หมายถึง สูบ เช่น เสพฝิ่น, หมายถึง คบ เช่น เสพสัตบุรุษ เป็นต้น

เสวย หมายถึง ได้รับ เช่น เสวยทุกข์ เสวยวิบาก

สัตว์ คือ ผู้ข้องอยู่ในวัฏฏะ โดยทั่วไปหมายถึงทั้งคน ทั้งสัตว์เดรัจฉาน ทั้งพวกที่มีวิญญาณที่มองด้วยตาไม่เห็น เพราะตามปกติไม่มีรูปร่างกายเป็นตัวตน

สังสาร ในภาษาไทยใช้ว่า สงสาร ในภาษาเดิม หมายถึง การเวียนตายเวียนเกิดในสังสารวัฏ หรือเป็นที่เวียนว่ายตายเกิดจนไม่รู้เบื้องต้นเบื้องปลาย

โมโห หมายถึง โมหะ ความหลงใหล

มานะ หมายถึง ความถือตัว

ทิฏฐิ หมายถึง ความเห็น เป็นคำกลางๆ เห็นถูกเรียกว่า สัมมาทิฏฐิ เห็นผิดเรียกว่า มิจฉาทิฏฐิ

ตัณหา หมายความว่า ทะยานอยาก คือ อยากอย่างแรง

ประมาท หมายถึง ความเลินเล่อ เผลอสติสะเพร่า นอนใจ ไม่ใช่เป็นความดูหมิ่นดูแคลน

อายตนะภายใน หมายถึง สิ่งที่สำหรับติดต่อ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คู่กับอายตนะภายนอก

อายตนะภายนอก หมายถึง สิ่งที่ติดต่อ หรือเป็นคู่กับอายตนะภายใน ได้แก่ รูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน กลิ่นที่ได้ดม รสที่ได้ลิ้ม สิ่งที่ถูกต้องสัมผัสได้ทางกาย และอารมณ์ คือสิ่งที่เกิดทางใจ หรือสิ่งที่ใจคิด อายตนะภายนอกนี้คู่กับอายตนะภายใน เช่น ตาคู่กับรูป เป็นต้น

อารมณ์ คือสิ่งที่ใจยึดหน่วง เช่น สิ่งที่เห็นและเสียง หรือที่ใจคิด เช่น พุทโธ อันเป็นอารมณ์ของสมาธิภาวนา หรือกามารมณ์ เป็นต้น

พระอริยเจ้า หมายถึง ผู้ประเสริฐ มี ๔ ระดับ คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ เมื่อสำเร็จแล้วก็ไม่เสื่อม พระโสดาบันยังมีครอบครัวได้ มีโกรธแต่ไม่ผูกใจเจ็บ โกรธแล้วก็แล้วกัน มีศีลประจำใจ แม้ตายก็ไม่ยอมล่วงละเมิด ละความเห็นว่ากายของตน ละความสงสัยในพระรัตนตรัย ละการถือ เอาการรักษาศีลและการประพฤติวัตรพิเศษ เช่น ไหว้พระทุกวัน เป็นต้น ถ้าใช้เป็นเครื่องมืออธิษฐานขอให้ได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ อันไม่เป็นไปเพื่อความหลุดพ้น(ตราบใดที่ยังอธิษฐานว่า เจ้าประคู้น ด้วยคุณศีล………ขอให้……เถิด ตราบนั้นอย่าเพิ่งหวังเป็นพระโสดาบัน) พระสกทาคามี เป็นอย่างพระโสดาบัน แต่มีกิเลสอื่นเบาบางกว่า และเกิดใหม่อีกชาติเดียวเท่านั้นก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ส่วนพระโสดาบันอาจเกิดใหม่อีกชาติเดียวหรือไม่เกิน ๗ ชาติ จึงจะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ พระอนาคามี ละราคะ โทสะได้เด็ดขาด พระอรหันต์ ละราคะ โทสะ โมหะ ได้หมดสิ้น

กรรม (กัมม) คือการกระทำ เป็นคำกลางๆ การคิดเรียกว่า มโนกรรม การพูดเรียกว่า วจีกรรม การทำ เช่น เดิน นั่ง เรียกว่า กายกรรม ทำดี เรียกว่า กุศลกรรม ทำชั่ว เรียกว่า อกุศลกรรม ทำไม่ดีไม่ชั่ว เรียกว่า อัพยากตกรรม

วิบาก ได้แก่ ผลของการกระทำ

ปัจจัย หมายถึง เหตุ เช่น เหตุปัจจัย(ปัจจัยคือเหตุ), หมายถึงเครื่องอาศัย เช่น ปัจจัย ๔ มีอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่ และยา

สันดาน หมายถึง สืบต่อ

ชาติ หมายถึง ความเกิด

พยาธิ หมายถึง ความเจ็บไข้

จิต หมายถึง ใจ

เจตสิก หมายถึง ความรู้สึกที่เกิดกับใจ หรืออาการของใจ เช่น ความรู้สึกทุกข์สุข(เวทนา) ความจำได้(สัญญา) ความนึกคิดต่างๆ(สังขาร)

ศูนย์ (สุญญ) หมายถึง ว่าง

อิจฉา หมายถึง ความอยาก

อิสสา (ริษยา) หมายถึง ไม่ต้องการให้เขาดีกว่าตัว

มูล หมายถึง โคน-ราก พื้น ต้นเหตุ อุจจาระ

นิวรณ์ ได้แก่ กิเลสเครื่องกันใจมิให้บรรลุความดี มี ๕ อย่างคือ

ความพอใจหรือรักในสิ่งที่ชอบใจ มีรูปที่ได้เห็น เรียกว่า กามฉันท์

การปองร้ายผู้อื่น เรียกว่า พยาบาท

ความที่ใจหดหู่และเคลิบเคลิ้มซึมง่วง เรียกว่า ถีนมิทธะ

ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ คิดพล่าน เรียกว่า อุทธัจจกุกกุจจะ

ความสงสัยลังเลใจ เรียกว่า วิจิกิจฉา

สมานสังวาส หมายถึง ทำสังฆกรรมร่วมกันได้ กับภิกษุอื่น

นานาสังวาส หมายถึง ทำสังฆกรรมร่วมกันไม่ได้กับภิกษุอื่น

อสังวาส หมายถึง อยู่ร่วมกับภิกษุอื่นไม่ได้ เพราะผู้ที่เป็นอย่างนั้นมิใช่ภิกษุ

วิตก หมายถึง การตรึก มิได้หมายถึง ความกังวลใจ

สันโดษ หมายถึง พอใจในสิ่งที่ได้มาโดยชอบธรรม จะเป็นเท่าไรก็ได้ มิได้หมายถึง ความมักน้อย ที่แปลมาจากคำว่า อัปปิจฉา หรือ อัปปิฉตา ความหมายของสันโดษอีกอย่างหนึ่ง คือ ความรู้จักพอ

จิต มนะ มนัส วิญญาณ หทัย หมายถึง ใจ คำว่าใจ เป็นคำไทยแท้ ใช้เรียกจิต เป็นคำบาลี แต่ไทยนำมาใช้เป็นคำไทย

ที่นำมากล่าวนี้เป็นแค่เพียงตัวอย่างเท่านั้น ถ้าจะให้ดีควรดูธรรมวิภาคในหนังสือนวโกวาทด้วย

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนากับคนไทย

นับตั้งแต่คนไทยรับนับถือพระพุทธศาสนาอย่างเป็นหลักฐาน ซึ่งรู้ได้ทางประวัติศาสตร์(ราว พ.ศ. ๖๑๒) ในสมัยอาณาจักรอ้ายลาว จนถึงปัจจุบัน คนไทยมิเคยทอดทิ้งพระพุทธศาสนาเลย ยังคงเคารพนับถือรักษาไว้ เป็นมรดกตกทอดมาจนบัดนี้ จนพระพุทธศาสนาแทรกซึมไปในส่วนต่างๆ ของชีวิต จนกลายเป็นโครงร่างของสังคมไทย พระพุทธศาสนาได้ให้ประโยชน์ต่อคนไทยเหลือประมาณ จนมีผู้รู้กล่าวว่า ถ้านำพระพุทธศาสนาออกจากคนไทยแล้ว คนไทยก็แทบไม่มีอะไรติดตัว คนไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาตั้งแต่ก่อนเกิดจนตาย เช่น ในการแต่งงานก็นิมนต์พระไปสวดมนต์ให้ศีลให้พร และสอนธรรมให้โอวาทแก่คู่บ่าวสาว เวลาตายก็นิมนต์พระไปสวดมนต์ และสอนธรรมให้แก่คนในครอบครัว ญาติ และเพื่อนของผู้ตาย ได้คลายความทุกข์ แม้ในคำไทยก็ปรากฏว่ามีภาทางศาสนาปะปนอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น คำว่า สุข ทุกข์ อาหาร ภาษา ชาตะ มตะ รสนิยม เป็นต้น จนบางคนไม่รู้ว่าคำนั้นๆ เป็นภาษาต่างประเทศ แต่นึกว่าเป็นคำไทยแท้

แต่เมื่อกล่าวโดยเฉพาะส่วน ด้วยถือหลักวัฒนธรรมไทยทั้งสี่ คือ ทางคติธรรม เนติธรรม สหธรรม และวัตถุธรรมแล้ว ก็พอสรุปได้ว่า พระพุทธศาสนาได้ให้สิ่งต่างๆ แก่คนไทยดังต่อไปนี้

ทางคติธรรม
พระพุทธศาสนาได้ทำให้คนไทยมีคติประจำใจในการพึ่งตนเองบ้าง ในการแก้ความผิดหวังบ้าง ในการแก้ทุกข์กายใจอย่างหนัก เมื่อหมดวิธีแก้อย่างอื่นบ้าง ด้วยให้ยอมรับความจริงของชีวิตและรู้จักคิด เช่น คิดว่าเราต้องพึ่งตนเอง ต้องยืนอยู่บนขาของตัวเอง(มาจากพุทธภาษิตว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเองเป็นที่พึ่งของตน) หรือว่าชีวิตไม่เที่ยงแท้แน่นอน ความรักคล้ายสายน้ำไหล ใดใดในโลกล้วน อนิจจัง(มาจากหลักไตรลักษณ์ คือ อนิจฺจํ ไม่เที่ยง ทุกฺขํ คงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ อนตฺตา เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจ เป็นต้น หรือหลักโลกธรรม ๘ ประการ มีความได้ความเสีย เป็นต้น อันเป็นธรรมดาของโลก หรือคิดว่านี่เป็นกรรมของเรา(มาจากหลักกรรมในพระพุทธศาสนา) เหล่านี้ เป็นต้น

การแก้ปัญหาชีวิตด้วยวิธีมีคติประจำใจดังกล่าวนี้ ทำให้คนไทยทั่วไปเป็นนักสู้ความจริง ยิ้มสู้อยู่เสมอ ที่นำมากล่าวนี้เป็นเพียงส่วนเล็กน้อยเท่านั้น ที่พระพุทธศาสนาได้ให้คติสำหรับคิดแก่คนไทย

ทางเนติธรรม
หลักการปกครอง หรือบริหารของไทยนั้น นักปกครองชาวไทยมีพระเจ้าแผ่นดิน เป็นต้น ย่อมประกอบด้วยธรรมหลายประการ เป็นต้นว่า ทศพิธราชธรรม ได้แก่

๑. ทาน คือให้การทะนุบำรุงให้ประชาราษฎร์มีความสุข เป็นต้น
๒. ศีล คือมีความประพฤติดี
๓. บริจาค คือเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อประชาราษฎร์
๔. อาชวะ คือ ซื่อตรงยุติธรรม
๕. มัทวะ คือสุภาพต่อประชาราษฎร์ เหมือนกับคนในครอบครัว
๖. ตปะ คือมีความบากบั่น
๗. อักโกธะ คือ ไม่ดุร้าย ไม่เจ้าอารมณ์
๘. อวิหิงสา คือ ไม่เบียดเบียนข่มเหง
๙. ขันติ คือความอดทน
๑๐. อวิโรธะ คือมั่นคงในธรรมสำหรับปกครอง

พระเจ้าแผ่นดินไทยนั้น ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะมีพระราชดำรัสแก่ประชาชนว่า “เราจักปกครองแผ่นดิน(ประชาชน) โดยธรรม”
และ จักรวรรดิวัตร ๑๐ ประการ คือ

๑. อันโตชน สงเคราะห์ชนภายใน
๒. พลกาย บำรุงกองทัพให้เจริญรุ่งเรือง
๓. ขัตติย สงเคราะห์ชนชั้นปกครองและนักรบ
๔. อนุยันต สงเคราะห์ข้าราชการ และเอื้อเฟื้อดูแลข้าราชบริพาร
๕. พราหมณคหปติก สงเคราะห์คฤหบดี
๖. เนคมชานปท สงเคราะห์ชาวนิคมและชาวชนบท คือประชาชน
๗. สมณพราหมณ อุปถัมภ์สมณชีพราหมณ์ คือ นักบวช
๘. มิคปักขี สงเคราะห์สัตว์
๙. มา อธมฺมกาโร ปวตฺติตฺถ ไม่ทำทุจริตผิดทำนองคลองธรรม
๑๐. ธนํ อนุปฺปทชฺเชยฺยาสิ จ่ายทรัพย์สงเคราะห์คนยากจน

และยังมี ราชสังคหธรรม ๔ ได้แก่
๑. สัสสเมธะ คือ ฉลาดในการเกษตรกรรม
๒. ปุริสเมธะ คือ ฉลาดในการปกครองทำนุบำรุงประชาราษฎร์ และรู้จักใช้คน
๓. สัมมาปาสะ คือ ฉลาดในการกระทำเพื่อยึดเหนี่ยวน้ำใจคน
๔. วาจาเปยยะ คือ เจรจาดีมีคุณค่า ให้เกิดความรักความสามัคคี เป็นต้น

หลักเว้นอคติ คือ ความลำเอียงเพราะชอบ ไม่ชอบ หลงไม่เข้าใจเรื่อง และเพราะกลัว

และหลัก นิคฺคยฺหิ นิคฺคยฺหารหํ เป็นอาทิ คือ ข่มลงโทษผู้ที่ควรข่มหรือลงโทษ ควรยกย่องผู้ที่ควรยกย่อง(อุ.ม.)

ไม่ว่าจะเป็นสมัยราชาธิปไตย หรือประชาธิปไตย ผู้ปกครองหรือผู้บริหารแผ่นดินไทยทุกท่าน ต่างใช้ธรรมดังกล่าวแล้วเป็นหลักปกครองบ้านเมือง และหลักธรรมดังกล่าวก็เป็นของพระพุทธศาสนา

ส่วนพื้นฐานแห่งกฎหมายนั้น ก็อาศัยธรรมดังกล่าวแล้ว และอาศัยศีล ๕(มีห้ามฆ่า ห้ามทำร้าย ห้ามลัก ห้ามโกง ห้ามทำผิดทางเพศ ห้ามปด ห้ามดื่มสุรายาเมา) เป็นหลัก

ทางสหธรรม
พระพุทธศาสนาทำให้คนไทยมีหลักสำหรับอยู่ร่วมกัน เช่น แสดงหน้าที่ของคนในสังคม ความสามัคคี และประเพณี เป็นต้นว่าประเพณีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือกัน ความมีน้ำใจต่อกัน ขอกันกินได้ มีความเกรงใจกัน ข้อนี้ก็มาจากสังคหวัตถุ(จตุ.อัง.) ความรู้บุญคุณคนก็มาจากเรื่องกตัญญูกตเวที(ทุก.อัง.) ประเพณีการทอดกฐินก็เนื่องด้วยพระพุทธศาสนาอีก(กฐิน.มหา.วิ.) และหน้าที่ของบุคคลในสังคมนั้นๆ ที่พึงปฏิบัติต่อกัน(ปาฏิ.ที.) เหล่านี้เป็นต้น แม้ประเพณีเผาศพก็ถือคติอย่างถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ

ทางวัตถุธรรม
วัตถุที่ได้มีขึ้นในประเทศไทยจากการสร้างของคน เพราะอิทธิพลของพระพุทธศาสนานั้นมีมากเหลือคณานับ เป็นต้นว่า

ด้านสถาปัตยกรรม เช่น การที่ชาติไทยมีโบสถ์ วิหาร ศาลา เรือสุพรรณหงส์ เจดีย์ เป็นต้น(เจดีย์ที่สูงที่สุดในโลกคือ พระปฐมเจดีย์ ซึ่งสูงประมาณ ๓๘๐ ฟุต) มีโบสถ์วัดพระแก้ว(บัดนี้ถือว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก)

ด้านประติมากรรม เช่น มีพระพุทธรูป เป็นต้น(พระพุทธรูปนั่งที่ใหญ่ที่สุดในไทย คือ พระพุทธรูปที่วัดจันทรนิมิต อ.เมือง จ.ลพบุรี และพระพุทธรูปที่วัดเทพพิทักษ์ปุณณาราม อ.ปากช่อง จ. นครราชสีมา สุงประมาณ ๑๔๕ ฟุต และพระพุทธรูปที่งามที่สุดในโลก คือ พระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก พระพุทธรูปยืนที่สูงที่สุดอยู่ที่จังหวัดร้อยเอ็ด สูงกว่า ๑๐๑ ศอก พระแก้วมรกตเป็นพระพุทธรูปที่มีค่ามากที่สุดในโลก เป็นต้น)

ด้านวรรณกรรม เช่น มีหนังสือมหาชาติ สามัคคีเภทคำฉันท์ ไตรภูมิพระร่วง ปฐมสมโพธิกถา จันทโครพ และสังข์ทอง เป็นต้น

ด้านสังคีตศิลปะ เช่น มีเพลงพระเจ้าลอยถาด เพลงตวงพระธาตุ เป็นต้น

ด้านนาฏศิลปะ เช่น มีรำพุทธบูชา

ด้านจิตรกรรม เช่น มีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระพุทธประวัติบ้าง ทศชาติบ้าง เหล่านี้ล้วนเกิดมีขึ้นเพราะพระพุทธศาสนา

นักการเมืองชั้นนำของอินเดียอย่าง นางวิชัยลักษมี บัณฑิต ได้มาเยี่ยมประเทศไทยเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๑ และได้ให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวว่า ประเทศไทยสามารถรักษาเอกราชไว้ได้ ในขณะที่ประเทศใกล้เคียงได้เสียอิสรภาพแก่ต่างชาติ ทั้งนี้เป็นเพราะมีพระพุทธศาสนาอยู่

และ ดร.โจฮันสฺ ยู. โคเบอรฺ ผู้เชี่ยวชาญทางอาชญากรเด็ก แห่งเมืองฟิลลาเดลเฟียในอเมริกา ซึ่งกรมประชาสงเคราะห์ไทยได้จ้างมาทำการวิจัยเรื่องอาชญากรเด็กของไทย ได้วิจัยเสนอท่านอธิบดี และรัฐมนตรีมหาดไทยของไทย เมื่อราวเดือนตุลาคม ๒๕๐๔ ได้ให้สัมภาษณ์แก่นักหนังสือพิมพ์ที่เมืองฟิลลาเดลเฟียว่า ต้องขอบคุณอย่างยิ่งต่อพระพุทธศาสนาที่สอนเน้นถึงการเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ จึงทำให้เมืองไทยมีอาชญากรเด็กต่ำกว่าในเมืองฟิลลาเดลเฟีย การเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่เป็นเหตุสำคัญเพื่อความมั่นคงของสังคมและเศรษฐกิจ

ดินดีที่ปลูกอะไรก็ขึ้นนั้นต้องเป็นดินปนทราย ถ้าเป็นดินแท้เช่นดินเหนียว หรือเป็นทรายแท้ย่อมไม่ดี ดังนั้น ทางวัดจึงจัดประเพณีขนทรายเข้าวัด ดินในวัดจึงเป็นดินปนทราย ที่ปลูกอะไรก็ขึ้น วัดให้ตัวอย่างสำหรับแก้ปัญหาเรื่องดินที่ปลูกอะไรไม่ค่อยขึ้นแก่ชาวบ้านอย่างนี้

การสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อสุขภาพนั้นก็ต้องดูทิศทางตะวันและลม ทางวัดมักสร้างโบสถ์หันหน้าไปทางตะวันออก หันหลังโบสถ์ไปทางตะวันตก หันข้างรับลมเหนือลมใต้ คนอยู่ในโบสถ์ย่อมเย็นสบาย วัดให้ตัวอย่างสำหรับสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อสุขภาพของคนอยู่อย่างนี้

และวัดเก่าแก่นั้นมักมีหอไตร(ไตรปิฎก) สร้างไว้ในสระน้ำ หอไตรนั้นคือห้องสมุด การสร้างหอไตรไว้ในน้ำนั้น คือวิธีรักษาหนังสือไม่ให้เกิดเสียหาย เช่น ถูกปลวกกิน มดขึ้น

กล่าวอย่างต่ำ ฐาน พระ(ส้วม) ตั้งแต่สมัยยังไม่มีส้วมซึมนั้น มีใต้ถุนสูง ลมอากาศถ่ายเทสะดวกจึงไม่ค่อยมีกลิ่น ที่ถ่ายก็ทำแยกช่องอุจจาระ จากท่อหรือรางสำหรับปัสสาวะ ไม่ให้รวมกัน(เพราะถ้ารวมกันแล้วกลิ่นแรงผิดปกติมาก) มีตุ่มน้ำสำหรับล้าง มีที่สำหรับเท้าเหยียบ วัดให้ตัวอย่างแก่บ้านแม้กระทั่งเรื่องส้วม

พระพุทธศาสนาได้ให้สิ่งต่างๆ แก่คนไทย กล่าวโดยสังเขปได้ดังนี้

คำสั่งสอนของพระพุทธศาสนาโดยย่อ
คำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา แม้จะมีมากถึง ๘๔,๐๐๐ อย่าง แบ่งตามลักษณะเป็น ๙ อย่าง มีพระสูตรเป็นต้น แต่เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วมีอยู่ ๓ ประการ คือ ละชั่วทั้งปวง ทำดีให้บริบูรณ์ ทำใจให้บริสุทธิ์มีวิมุติเป็นสาระสำคัญ แต่แบ่งได้อีกเป็น ศีล(หมายถึงวินัยด้วย) อันเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับมิให้ทำ กับธรรม คือคำสั่งสอนหรือข้อที่ควรทำ

ธรรมแม้มีมาก แต่ก็แบ่งได้เป็นสองคือ เป็นธรรมที่ควรละเว้น กับธรรมที่ควรบำเพ็ญ หรือเป็นธรรมที่ให้ผลทางโลกคือ ขั้นโลกียะ หรือขั้นพื้นฐานคือ ขั้นมนุษยสมบัติ และเทวะสมบัติแก่ผู้ปฏิบัติ ผู้มีภาวะอย่างคนทั่วๆ ไปในโลก กับให้ผลทางธรรม หรือขั้นสูง คือ โลกุตระ หรือนิพพานสมบัติ สำหรับผู้ต้องการพ้นจากภาวะอย่างคนทั่วๆ ไป

พระพุทธเจ้าทรงนำเรื่องที่รู้ๆ มาสอน
ได้กล่าวแล้วว่าพระพุทธเจ้าทรงนำเรื่องที่มีอยู่แล้วมาสอน บางคนเมื่อเริ่มศึกษาพระพุทธศาสนาเกิดความรู้สึกว่า พระพุทธเจ้าทรงนำเรื่องที่รู้ๆ กันอยู่มาสอน เลยไม่สนใจ เพราะนึกว่าตนรู้แล้วไม่อัศจรรย์อะไร คนอย่างนี้น่าจะได้รู้สึกว่า ยังมีเรื่องอื่นอีกมากที่ตนยังไม่รู้ที่พระพุทธเจ้าทรงนำมาสอน และที่ว่าตนรู้นั้นก็ได้แค่รู้ แต่ไม่ได้คิด หรือรู้ไม่จริง เช่น รู้ว่าฝนตกก็รู้เท่านี้ ไม่ได้คิดว่าจะมีหลักความคิดอะไรเกี่ยวกับฝนตก(ไม่เหมือนพระพุทธเจ้า เช่น ทรงแสดงเรื่องฝนไว้ ๔ ประเภท และทรงเปรียบเทียบกับพฤติกรรมของบุคคล ๔ ประเภท ดังในบาลีจตุกกนิบาต อังคุตตรนิกาย เป็นต้น) หรือรู้แต่ว่าคนเกิดแล้วตาย ก็แค่นั้น ไม่ได้คิด หรือคิดให้รู้จริงว่าก่อนตายควรทำอย่างไร หรือจะตายอย่างไรดี หรือจะมีวิธีแก้การตายอย่างไรบ้าง อย่างพระพุทธองค์ทรงคิด

และความรู้ในเรื่องนั้นๆ ที่ตนนึกว่ารู้แล้ว ก็มักเป็นความรู้ที่เกิดขึ้นภายหลังจากเริ่มการศึกษาพระพุทธศาสนาหรือเพิ่งคิดได้เมื่อศึกษาแล้ว แต่เรื่องนี้เมื่อได้ศึกษาไป ปฏิบัติไปมากๆ ความคิดว่าพระพุทธเจ้าไม่เท่าไรนั้น ก็จะค่อยหมดไป และจะยิ่งเกิดความอัศจรรย์ในพระพุทธเจ้ามากยิ่งขึ้น

ดังนั้น ผู้ศึกษาใหม่จะต้องระวังในเรื่องนี้อย่าให้ความฉลาดของตนทำลายตนเองจนกลายเป็นคนโง่ไป

ของจำเป็นสำหรับชีวิตทางพระพุทธศาสนา
ของจำเป็นสำหรับชีวิตมีมาก แต่ที่จำเป็นแท้ๆ นั้น คนในปัจจุบันนี้ได้กำหนดไว้ว่ามี ๕ อย่างคือ เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย ยาสำหรับบำบัดความเจ็บไข้ และการสืบพันธุ์ แต่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงว่า ของจำเป็นสำหรับชีวิตอย่างแท้จริง ถ้าไม่มีแล้วเป็นอยู่ไม่ได้ หรือเป็นอยู่ยากนั้นมี ๔ อย่างคือ เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย และยา สำหรับข้อที่ ๕ นั้นไม่จำเป็นอย่างแท้จริงเพื่อความมีชีวิตอยู่ เพราะเด็กเล็กและนักบวช แม้ไม่ต้องใช้ก็มีชีวิตอยู่ได้ แต่ถ้าจะกล่าวถึงแง่ความคงมีอยู่แห่งพลโลกแล้วก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ยาของพระพุทธศาสนา
ยาอย่างจำกัดที่สุด หาง่ายที่สุด ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ คือ ยาดองด้วยน้ำปัสสาวะ และอีก ๔ อย่าง คือ ปัสสาวะ อุจจาระ(เผา) เถ้า และดิน ของ ๔ อย่างนี้ใช้เป็นยาได้ ชื่อว่า ยามหาวิกัต ข้อนี้แสดงว่าพระพุทธองค์ทรงรู้วิชาการแพทย์เป็นอย่างดี แม้แต่ของต่ำๆ ๔ อย่างนี้ ก็ทรงทราบว่าทำยาแก้ไข้ได้(พระกัมมัฏฐานมักใช้ยาสมอดองด้วยน้ำปัสสาวะใช้แก้ไข้ หมอบางคนทำยาแก้ไข้ผสมด้วยอุจจาระเผาเป็นเถ้าถ่าน) เมื่อเป็นอย่างนี้ยาสูงๆ พระองค์ก็ย่อมทรงทราบแน่นอน และการที่ทรงแสดงเรื่องอาการ ๓๒ คือ อวัยวะในร่างกาย ๓๒ ส่วน เริ่มตั้งแต่อวัยวะภายนอก คือ ผม ขน เล็บ เป็นต้น ภายในมี กระดูก หัวใจ ปอด ม้าม เป็นต้น จนถึงอุจจาระเป็นที่สุด ข้อนี้แสดงว่าทรงทราบเรื่องสรีรวิทยา และยังมีเรื่องอื่นๆ อีกที่แสดงว่าทรงทราบเรื่องวิชาการแพทย์อย่างกว้างขวาง

ปัญหาของคนไทยผู้เริ่มศึกษาพระพุทธศาสนา
คนไทยผู้เริ่มศึกษาพระพุทธศาสนาและเริ่มฟังเทศน์ มักประสบปัญหาคือ ไม่ค่อยรู้เรื่อง ทั้งนี้เพราะเหตุหลายอย่าง โดยเฉพาะเหตุคือ ศัพท์ทางพระพุทธศาสนา ที่นำมาใช้ในภาษาไทย ที่แปรความหมายไปจากภาษาเดิม เช่นคำว่า

เวทนา ของเดิมเป็นภาษามคธ แปลว่า รู้สึกว่าทุกข์ รู้สึกว่าสุข เป็นต้น ในภาษาไทยนำมาใช้ แต่แปลความหมายใหม่เป็นความสงสาร

สัญญา ภาษาเดิมแปลว่า ความจำ แต่ในภาษาไทยนำมาใช้และแปลความหมายไปจากเดิมว่า ทำข้อตกลงกัน เมื่อพระเทศน์ในความหมายเดิมว่า สัญญา ไม่เที่ยง บังคับไม่ได้ ผู้ฟังคิดในความหมายใหม่ก็นึกค้านว่า ทำไมจะไม่เที่ยง ทำไมจะบังคับไม่ได้เมื่อผิดสัญญา สัญญาก็อยู่ในตู้กันภัย ไปคนละเรื่องอย่างนี้ จึงไม่รู้เรื่องกัน พระเทศน์ใช้คำว่าสัญญา ในความหมายเดิมของภาษามคธ แต่ผู้ฟังๆ ด้วยใช้ความหมายใหม่จะฟังด้วยความหมายเดิมก็ไม่มีความรู้ และไม่รู้ด้วยว่าความหมายเดิมเป็นอย่างไร

ดังนั้น ผู้เริ่มศึกษาพระพุทธศาสนา และเริ่มอยากฟังเทศน์ที่เป็นคนไทย จึงควรศึกษาเรื่องนี้ก่อน ให้มีความรู้เป็นพื้นฐาน เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาพระพุทธศาสนา และฟังเทศน์ให้รู้เรื่อง

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

การบวช คัมภีร์ ปาฏิโมกข์ นิกาย

การบวช
คือการงดเว้นสิ่งที่ควรงดเว้น คือ ออกบวชแล้วหาเรือนมิได้ ไม่มีบ้าน วิธีบวชพระมีหลายอย่างคือ พระพุทธเจ้าบวชให้เอง(มีเอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นต้น) พระสาวกบวชให้(เรียกติสรณคมนุปสัมปทา) และที่สงฆ์บวชให้(เรียกญัตติจตุตถกัมมวาจา อุปสัมปทา) ซึ่งปัจจุบันเหลือการบวชแบบสุดท้ายเท่านั้น

คัมภีร์
ในพระพุทธศาสนา มีคัมภีร์สำคัญรวบรวมธรรมวินัยอันเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้ เรียกว่า พระไตรปิฎก คือ

วินัยปิฎก เป็นที่รวบรวมวินัยบัญญัติอันเป็นข้อห้ามและระเบียบต่างๆ

สุตตันตปิฎก เป็นที่รวมหลักธรรมที่ทำให้ผู้ปฏิบัติได้ความสุขในปัจจุบัน สุขในภายหน้า และความสุขขั้นปรมัตถ์ ได้แก่ พระนิพพาน

อภิธรรมปิฎก เป็นที่รวมอภิปรัชญาว่าด้วยจิต เจตสิก รูป นิพพาน(เป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ อาทิเช่น แบ่งจิตไปตามวาระๆ แล้วเรียกวาระจิตนั้นๆ ด้วยชื่อต่างๆ กัน วาระจิตก็ละเอียดยิ่งนัก) นอกจากนี้ยังมีคัมภีร์อรรถกถา สำหรับอธิบายพระไตรปิฎกนั้น และมีฎีกาอธิบายพระไตรปิฎกกับอรรถกถา มีอนุฎีกาสำหรับอธิบายพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และมีปกรณ์พิเศษสำหรับขยายความในคัมภีร์ทั้งหลายนั้น คัมภีร์เหล่านี้ของเดิมเป็นภาษามคธและสันสกฤต

ปาฏิโมกข์
มีกิจวัตรที่สำคัญ หรือสังฆกรรมของพระอย่างหนึ่ง คือ สวดปาฏิโมกข์ทุกกึ่งเดือน(จุล.วิ.) คำว่า ปาฏิโมกข์ในอภิธัมมัตถวิภาวินี ท่านแปลว่า รักษาผู้ปฏิบัติพระวินัยให้พ้นจากทุกข์

ใจความในปาฏิโมกข์นั้น แสดงวินัย หรือศีล หรือกฎที่สำคัญๆ ที่พระจะละเมิดมิได้ มี ๒๒๗ ข้อ หรือสิกขาบท ความจริงมีมากกว่านั้น แต่ที่ยกมาไว้ในปาฏิโมกข์สำหรับสวดนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญเป็นพิเศษ

การสวดปาฏิโมกข์ เป็นการทบทวนความจำเรื่องวินัย หรือศีลที่สำคัญที่พระพุทธองค์ทรงห้ามมิให้ทำ การสวด สวดด้วยภาษาเดิมคือภาษามคธ การสวดปาฏิโมกข์นี้ทำให้เกิดความประหลาดใจแก่บางท่าน ที่เห็นพระสามารถท่องจำหนังสือภาษามคธหนากว่า ๘๐ หน้า และสวดเสร็จภายใน ๒๗ นาที โดยไม่ติดและไม่ผิดเลย

นิกาย
ศาสนาทุกศาสนาเมื่อตั้งไปนานๆ แล้วย่อมแยกเป็นนิกายต่างๆ ด้วยอำนาจการปฏิบัติที่ผิดกัน และด้วยอำนาจความเห็นที่ต่างกัน ในพระพุทธศาสนาก็เช่นเดียวกัน โดยได้แยกเป็นนิกายใหญ่ ๒ นิกาย คือ

เถรวาท หีนยาน ทักษิณนิกาย พวกหนึ่ง
อาจาริยวาท มหายาน อุตตรนิกาย อีกพวกหนึ่ง

เถววาท(ถือตามแบบอย่างพระอรหัตเถระ ครั้งปฐมสังคายนาไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเทศะ) หีนยาน(ยานเลวแคบ เป็นคำที่อีกนิกายหนึ่งเรียกนิกายเถรวาทด้วยความดูแคลน) ทักษิณนิกาย(นิกายฝ่ายใต้) สามนี้เป็นอย่างเดียวกัน ต่างกันแต่ชื่อ แล้วแต่จะเรียกอย่างใด แต่ปัจจุบันได้เลิกเรียกว่า หีนยานไปแล้ว โดยมีการตกลงกันที่ประเทศลังกา ในคราวที่ประชุมพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกครั้งแรก และตกลงเรียกว่า เถรวาท

อาจาริยวาท (ถือตามแบบอาจารย์เปลี่ยนไปตามกาลเทศะ เท่าที่ควรตามความเหมาะสม) มหายาน(ยานใหญ่โต กว้างขวาง ชื่อนี้เจ้าของนิกายตั้งเอง และเรียกนิกายตรงกันข้ามว่า หีนยาน ซึ่งก็แปลกที่ผู้นับถือในนิกายนั้นก็รับเอามาเรียกนิกายของตนเสียด้วย คล้ายกับยอมรับว่าเลวอย่างนั้นจริง) อุตตรนิกาย(นิกายฝ่ายเหนือ) ทั้งสามนี้เป็นอย่างเดียวกัน ต่างกันแต่ชื่อ แล้วแต่จะเรียกว่าอย่างใด ในปัจจุบันนิยมเรียกว่า มหายาน

ใน ๒ นิกายใหญ่ๆ นี้ ได้แยกออกเป็นนิกายย่อยอีก คือ นิกายเถรวาท ในลังกาแยกเป็น ๓ นิกาย ได้แก่ นิกายสยาม(สยามวงศ์ หรืออุบาลีวงศ์) นิกายมอญ(รามัญวงศ์) นิกายพม่า(มรัมมระวงศ์) ในพม่าแบ่งเป็น ๓ นิกาย คือ นิกายสุธัมมา นิกายชเวคิน และนิกายทวาร ในไทยแบ่งเป็น ๒ นิกาย คือ มหานิกาย และธรรมยุติกนิกาย

ส่วนมหายานนั้น ได้แบ่งเป็นนิกายย่อยเป็นอันมากกว่าสิบนิกาย

แม้จะมีหลายนิกาย แต่ก็มีจุดหมายปลายทางอย่างเดียวกัน คือ วิมุติความหลุดพ้น เช่นเดียวกับแม่น้ำ แม้จะมีหลายสาย แต่ก็ไหลลงสู่แห่งเดียวกันคือ ทะเล

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

อริยบุคคลและบุคคลพิเศษ

ในพระพุทธศาสนากล่าวถึงพระอริยบุคคลผู้ประเสริฐ และบุคคลพิเศษไว้ดังนี้ คือ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
คือพระอริยะผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยถูกต้อง แล้วทรงสั่งสอนผู้อื่น ประกอบด้วยพระปัญญา พระบริสุทธิ์จากกิเลส และพระมหากรุณา

พระปัจเจกพุทธ
คือ พระอริยะผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยถูกต้อง ประกอบด้วยพระปัญญา พระบริสุทธิ์ ท่านเป็นผู้รู้เฉพาะองค์ ท่านไม่ได้สอนให้ผู้อื่นรู้ตามท่าน เพราะในครั้งนั้นคนโง่เขลาพูดกันไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ และไม่รับรู้ อย่างดีก็รู้แค่เพียง ทาน กับ ศีล

พระอนุพุทธ
คือ พระอริยะผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนเป็นผู้รู้ตามพระพุทธเจ้าโดยได้อริยคุณ

พระโพธิสัตว์
คือบุคคลพิเศษที่กำลังบำเพ็ญเหตุ(บารมี) เพื่อผลคือ ความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในโอกาสต่อไป

พุทธบริษัท
คือ พุทธสาวกหรือศิษย์ของพระพุทธเจ้า หรือผู้นับถือพระพุทธศาสนา มีอยู่ด้วยกัน ๔ ประเภท คือ ภิกษุ(รวมทั้งสามเณรด้วย) ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

หลักสำคัญของพระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนา แปลว่า คำสั่งสอนของท่านผู้รู้ หรือของผู้ให้คนอื่นรู้ หรือของผู้ตื่นจากกิเลส หรือของผู้ปลุกให้คนตื่นจากกิเลส หรือของผู้เบิกบาน

หลักสำคัญของพระพุทธศาสนา
มีอยู่ ๓ ประการคือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ซึ่งรวมเรียกว่า พระรัตนตรัย

พระพุทธเจ้า
ทรงพระนามเดิมว่าเจ้าชายสิทธัตถะ พระองค์ทรงเป็นราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ กับพระนางสิริมหามายา แห่งแคว้นสักกะ ซึ่งมีเมืองหลวงชื่อเมืองกบิลพัสดุ์ ในศากยสกุล โคตมโคตร(โค=ตะวัน, สุริยะ. อุดมหรือตม=อันประเสริฐ. โคตม=สุริยวงศ์อันประเสริฐ) ในศากยวงศ์นี้เป็นกษัตริย์สืบต่อกันมานานเป็นร้อยชั่ว ดังนั้นจึงมั่งมีมาก พระองค์ประสูติเมื่อกลางเดือน ๖ เมื่อ ๘๐ ปี ก่อน พ.ศ. ๑ สถานที่ประสูติบัดนี้เรียกว่า ลุมมินเด อยู่ในประเทศเนปาล พระองค์ได้รับการเลี้ยงดูอบรมและการศึกษาเป็นอย่างดี จึงมีความรู้ในวิชาการต่างๆ เป็นอันมาก เช่น ยุทธศาสตร์ (โดยเฉพาะทรงมีความชำนาญเป็นพิเศษทางธนูศาสตร์ เจ้าศากยสกุล มีความชำนาญทรงธนูศาสตร์มากกว่าสกุลใดในครั้งพุทธกาล) รัฐศาสตร์ เกษตรศาสตร์ นิรุตติศาสตร์ ศิลปะศาสตร์ นิติศาสตร์ แม้แต่เวชศาสตร์ก็ทรงทราบ และพระองค์ทรงศึกษาได้รวดเร็วผิดปกติสามัญชน คล้ายว่ารู้มาก่อน พระองค์ทรงตั้งอยุ่ในฐานะเป็นรัชทายาทจะได้เป็นกษัตริย์ต่อจากพระราชบิดา เมื่อพระชนม์ได้ ๑๖ ได้ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงยโสธรา พิมพา แห่งราชวงศ์โกลิยะ ทรงมีพระโอรสองค์หนึ่งทรงพระนามว่า ราหุล

เจ้าชายทรงมีพระรูปงามมาก ทรงมีกำลังมาก ทรงมีสติปัญญามาก ทรงมีความรู้มาก มั่งคั่งมาก พระองค์ทรงมีความสุขอยู่ในปราสาท ๓แห่ง สำหรับ ๓ ฤดู แวดล้อมไปด้วยนางสนมกำนัล และพระประยูรญาติ

เมื่อพระชนม์ได้ ๒๙ พระองค์ได้สละราชสมบัติ ครอบครัว พระญาติ และตำแหน่งทางการเมืองทั้งหมดออกบวช เพื่อค้นคว้าหาโมกขธรรมอันทำให้พ้นทุกข์ พบแล้วจะได้นำมาชี้แจงแสดงแก่ผู้อื่น(เช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์ ที่ทำการค้นคว้า เมื่อพบอะไรแล้วก็เขียนไว้ให้คนอื่นได้ศึกษาค้นคว้าต่อไป) เหตุที่ทรงออกบวชนั้น คือพระมหากรุณา กล่าวคือ พระองค์ทรงเห็นคนได้รับความทุกข์ต่างๆ เช่น แก่ เจ็บ ตาย เป็นต้น จึงสลดพระทัย ทรงคิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะช่วยให้เขาเหล่านั้นพ้นทุกข์ได้ จะใช้ทรัพย์ช่วยก็ไม่ได้ พระองค์ทรงเห็นนักบวช ซึ่งเป็นผู้เว้นจากเครื่องผูกพันทางครอบครัว มุ่งประพฤติศีลธรรมแต่เพียงอย่างเดียว จึงทรงคิดว่า การเป็นนักบวชจะเป็นทางให้แสวงหาโมกขธรรมได้สะดวก จึงได้เสด็จออกบวชโดยถือเพศนักบวชเอง

เมื่อทรงออกบวชแล้ว ได้ทรงใช้เวลาค้นคว้าหาโมกขธรรมด้วยการศึกษาจากอาจารย์บางท่าน และทรงทดลองด้วยวิธีการต่างๆ จนแทบสิ้นพระชนม์เพราะการทดลองนั้น แต่ก็ไม่สำเร็จจึงทรงเลิก แล้วทรงบำเพ็ญทางจิตตามหลักของพระองค์เอง ทรงใช้เวลาทั้งหมด 6 ปี ในที่สุดก็ได้ประสบความสำเร็จ คือทรงพบโมกขธรรม โดยการตรัสรู้อริยสัจ ๔ คือ ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ ได้แก่ รู้ว่าความเกิดเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ รู้ว่ากิเลสตัณหาคือความทะยานอยากเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ รู้ว่าความดับความทะยานอยากเสียได้เป็นความดับทุกข์ รู้ว่ามรรคคือทางอันมีองค์ประกอบ ๘ ประการ มีความเห็นถูกต้องเป็นเหตุให้ถึงความดับทุกข์ การตรัสรู้อริยสัจ ๔ เป็นเหตุให้ได้อาสวักขยญาณ คือความรู้ว่าสิ้นอาสวะกิเลสตัณหา อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ มีความเกิดเป็นต้น พระองค์ทรงตรัสรู้เองแล้วอย่างนี้(ตรัสรู้ หมายถึง รู้แจ่มแจ้งเองโดยไม่มีผู้สอน) สถานที่ตรัสรู้ปัจจุบันนี้เรียกว่า โพธิคยา อยู่ในประเทศอินเดีย

เมื่อตรัสรู้แล้ว พระองค์ได้ชื่อว่าเป็น พุทธ สัมมาสัมพุทธ อรหันต ตถาคต ภควา เป็นต้น ขณะนั้นทรงมีพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา

หลังจากตรัสรู้แล้ว พระองค์ได้ทรงใช้เวลา ๔๕ ปี เสด็จจาริกไปตามบ้านเมืองน้อยใหญ่ เพื่อทรงสอนประชาชนให้รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรเป็นความสุข อะไรเป็นความทุกข์ อะไรเป็นเหตุให้เกิดความสุขความทุกข์นั้น โดยไม่ได้เห็นแก่ความสุขของพระองค์เอง ไม่ได้หวังสิ่งตอบแทน เพราะพระองค์ทรงพอแล้ว และมิได้ทรงย่อท้อหวั่นเกรงต่อความลำบากเลย อุปสรรคหรืออันตรายใดๆ ย่อมพ้นไปหมด พระองค์เสด็จจาริกไปเพื่อความสุขของผู้อื่น ด้วยพระมหากรุณาธิคุณเท่านั้น ทรงมีคนนับถือทุกชั้น ทุกเพศ ทุกวัย สาวกของพระองค์มีมาก และพร้อมที่จะสละชีวิตเพื่อพระองค์ เช่น ในคราวที่ต้องผจญกับช้างนาฬาคิรี เป็นต้น

เมื่อพระองค์มีประชนมายุได้ ๘๐ พรรษา ก็ทรงดับขันธ์ปรินิพพาน พระองค์ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน เมื่อกลางเดือน ๖ เช่นเดียวกัน แต่ต่างปีกัน พระองค์ทรงกำหนดวันสิ้นชีพ กำหนดสถานที่สิ้นชีพไว้ก่อนล่วงหน้า ๓ เดือน แล้วจึงเข้าสู่ปรินิพพานที่เมื่องกุสินารา เมื่อปรินิพพานแล้ว ๗ วัน มีพระราชาและมหาชนต่างก็แห่พระพุทธสรีระผ่านกลางเมืองไปเพื่อถวายพระเพลิง พระพุทธสรีระนั้นอยู่ในสภาพปรกติไม่เน่า(ถ้าเน่าแล้วก็คงแห่ไปไม่ได้ และพระพุทธสรีระในระยะนั้นก็ไม่ได้ห่อผ้า ยังคงอยู่ในลักษณะเหมือนตอนปรินิพพาน) ด้วยเหตุนี้เจ้าหญิงมัลลิกาจึงเกิดความศรัทธาแรงกล้าและถวายเครื่องประดับแต่งองค์หนักถึง ๗ คนหาม ถวายเป็นพุทธบูชา กษัตริย์จากนครต่างๆ เกือบทำสงครามกันเพื่อแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธองค์ เพื่อนำไปสักการบูชา

ที่ประสูติในประเทศเนปาล ที่ตรัสรู้ ที่แสดงปฐมเทศนา ที่ปรินิพพาน ที่ประทับ เช่น วัดเวฬุวัน วัดเชตวัน ในประเทศอินเดีย ปัจจุบันนี้ยังคงมีซากเหลือเป็นหลักฐานปรากฎอยู่ โดยที่รัฐบาลของสองประเทศได้รักษาไว้ ผลงานของพระองค์ เช่น คำสั่งสอน และสาวกของพระองค์ยังคงอยู่จนบัดนี้ ข้อนี้แสดงให้เห็นว่า พระพุทธเจ้ามีตัวบุคคลจริง ไม่เป็นเรื่องลี้ลับเล่าต่อๆ กันมา

พระคุณสมบัติ
พระคุณสมบัติของพระพุทธเจ้านั้นมีมากมายเหลือประมาณ แต่กล่าวโดยสรุปแล้วมีอยู่ ๓ ประการ ได้แก่ พระปัญญา คือ ตรัสรู้เอง พระบริสุทธิ คือ หมดกิเลส หมดรัก หมดโกรธ หมดหลง และพระมหากรุณา คือ ทรงจาริกไปโปรดผู้อื่นด้วยการสั่งสอน เป็นต้น โดยพระกรุณาจิต และมิได้ทรงหวังการตอบแทนใดๆ

บุคคลตัวอย่าง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นบุคคลตัวอย่างในฐานะต่างๆ เป็นต้นว่า ทรงเสียสละความสุขส่วนตัว เพื่อความสุขของผู้อื่น ทรงเป็นผู้ตั้งใจจริง ทำอะไรจริง ทรงถือเอาความผิดพลาดเป็นครู ทรงเป็นนักศึกษา นักค้นคว้าชั้นเยี่ยม ทรงเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทีสูงมาก ทรงเป็นนักปกครองผู้ยิ่งใหญ่ โดยมิต้องใช้กฎหมายและคุกตะรางเป็นเครื่องมือ ทรงใช้แต่ธรรมวินัย ทรงมีสิ่งต่างๆ แต่พระองค์กลับสละแล้วไปหาความรู้จักพอ สิ่งที่ผู้อื่นปรารถนา เช่น อำนาจทางการเมือง ความมั่งมี เป็นต้น พระองค์กลับทรงสละทิ้ง แต่ที่เยี่ยมยอดคือ ความเป็นผู้มีพระกรุณาธิคุณต่อผู้อื่นทั้งคนทั้งสัตว์ ทรงมีความกรุณาในบุคคลที่ชังและชอบพระองค์เท่าเทียมกัน พระองค์ทรงแสดงความกรุณาต่อผู้อื่น โดยมิได้หวังอะไรเป็นเครื่องตอบแทนเป็นส่วนพระองค์เองเลย พระองค์ทรงกระทำความดีเพื่อความดีของผู้อื่นโดยแท้

พระธรรม
ธรรม คือความจริงที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ
พระธรรม คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่าด้วยความจริงที่มีอยู่แล้วเป็นธรรมดา ซึ่งคนทั่วไปไม่รู้ หรือรู้แต่รู้ไม่จริง หรือไม่คิด แต่พระองค์ทรงรู้จริง พระองค์ทรงเป็นดุจนักธรณีวิทยารู้ว่าตรงนั้นมีแร่เหล็ก แล้วขุดขึ้นมานำมาใช้ประโยชน์ได้

พระธรรมมีมากถึง ๘๔,๐๐๐ อย่าง(ที่พระพุทธองค์ยังมิได้ทรงนำมาสอนยังมีมากกว่านี้) แต่เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วมี ๓ ประการ คือ ไม่ทำความชั่วทั้งปวง ทำความดีให้สมบูรณ์ ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ มีวิมุติ คือความพ้นทุกข์ เป็นจุดมุ่งหมายสูงสุด(วิมุตฺติสาโร) นอกจากนี้เป็นรายละเอียดของ ๓ ประการนั้นเช่น ทำดีอย่างไร ทำชั่วอย่างไร ทำใจให้บริสุทธิ์อย่างไร และพระธรรมยังจัดเป็น ๓ ขั้น คือ ขั้นต่ำ ขั้นกลาง ขั้นสูง ตามฐานะทางจิตของบุคคล หรือจัดเป็นคำสอนระดับชาวโลก(โลกิยะ) กับพ้น หรือเหนือโลก(โลกุตระ)

คุณสมบัติของพระธรรม
พระธรรมมีคุณสมบัติคือ ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นย่อมได้รับความสุขสงบ เพราะพระธรรมคุ้ม ดุจคนกางร่มเมื่อฝนตก หรือเมื่อแดดร้อนย่อมไม่เปียกไม่ร้อนเพราะร่มช่วยกัน(ติก.อัง.) พระธรรมนั้นเป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว ผู้ปฏิบัติย่อมรู้เห็นเอง ทันสมัยเสมอ ชวนให้น่าปฏิบัติดู ควรน้อมเข้ามาสู่การปฏิบัติ อันผู้รู้พึงรู้เอง โดยมิต้องให้ใครบอก(เหมือนกินข้าว คนกินย่อมรู้เองว่าอิ่มหรือยัง โดยไม่ต้องให้ใครบอก)

เรื่องที่ว่าพระพุทธศาสนาทันสมัยเสมอ และไม่เก่านั้น(อกาลิโก) มีมากเรื่อง เช่น เรื่องระเบียบการรับคนเข้าเป็นสมาชิกใหม่ ในพระพุทธศาสนาได้วางระเบียบสำหรับสมาชิกใหม่ หรือผู้ที่จะมาบวชเป็นพระใหม่ ต้องปฏิบัติดังนี้
๑. ผู้นั้นต้องไม่เป็นโรคติดต่อ เป็นโรคที่เขารังเกียจ และเป็นโรคที่ทำให้หมู่คณะวุ่นวาย เช่น โรคเรื้อน โรคปอด โรคลมบ้าหมู เป็นต้น

๒. ไม่เป็นคนพิกลพิการ

๓. ไม่เป็นคนเสียความประพฤติ ไม่เป็นลูกหนี้ใคร เป็นคนมีอิสระแก่ตัว

๔. มีผู้รับรอง(อุปัชฌาย์)

๕. มีอายุ ๒๐ ปีขึ้นไป มีชื่ออย่างนี้ๆ เหล่านี้เป็นต้น

ถ้าเป็นผู้ปราศจากโรคดังกล่าว มีร่างกายเป็นปกติ เป็นคนดี มีอายุไม่ต่ำกว่าที่กำหนด มีผู้รับรอง สมาชิกเก่ามีมติเป็นเอกฉันท์ให้รับเข้าเป็นสมาชิกใหม่หรือพระใหม่ได้ ผู้นั้นก็เป็นสมาชิกได้(มหา.วิ.) การลงมติอนุมัติต้องเป็นเอกฉันท์ ถ้ามีผู้ค้านเพียงเสียงเดียวผู้นั้นย่อมไม่สามารถเป็นสมาชิกของคณะสงฆ์ได้ นี้เป็นเรื่องกว่า ๒๕๐๐ ปีมาแล้ว ขอให้เทียบกับระเบียบการรับบุคคลเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของสมาคมทั้งหลายในปัจจุบันบ้างว่าต่างกันหรือไม่

ระเบียบกับพิธีกรรม มีความแตกต่างกัน ระเบียบเป็นของจำเป็นต้องมี ถ้าไม่มีแล้วจะทำให้เกิดความยุ่งยากแก่กิจการนั้นๆ ส่วนพิธีกรรมนั้นจะมีหรือไม่มีก็ได้ เป็นของส่งเสริมระเบียบให้น่าดูน่าเลื่อมใส เช่น ในการอุปสมบท การกล่าวขอบรรพชาอุปสมบท การสวดญัตติ เป็นระเบียบและจำเป็นจะขาดมิได้ แต่การแห่นาค การทำขวัญนาค ซึ่งเป็นพิธีกรรมนั้น แม้ไม่ทำก็บวชกันได้ เพียงแต่ทำให้การบวชนั้นเป็นงานเป็นการยิ่งขึ้นเท่านั้น

การลงมติ
ในการพิจารณาเรื่องบางเรื่องในพระพุทธศาสนามีดังนี้คือ
๑. ถือมติเป็นเอกฉันท์ มีเสียงค้านแม้แต่เพียงเสียงเดียวย่อมใช้ไม่ได้ เช่น มติในเรื่องการอุปสมบท

๒. ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ (เรียกวิธีนี้ว่า เยภุยยสิกา)

๓. ถือมติด้วยการประนีประนอมเป็นประมาณ (วิธีนี้เรียกว่า ติณวัตถารกวินัย) เมื่อเห็นว่าเรื่องนี้จำเป็นต้องประนีประนอม

และในการปฏิบัติเกี่ยวกับสังฆกรรม คือ เรื่องที่สงค์พึงจัดทำ พระพุทธองค์ก็ทรงมอบความเป็นใหญ่ให้คณะสงฆ์ นอกจากนี้ยังมีเรื่องอื่นๆ อีกมากที่แสดงถึงความเป็น อกาลิก คือ ทันสมัยของพระธรรม

เรื่องนี้เป็นเรื่องสมัยกว่า ๒๕๐๐ ปีมาแล้ว ที่เป็นหลักปฏิบัติในพระพุทธศาสนา โดยเป็นพุทธบัญญัติ ขอให้พิจารณาเทียบกับวิธีการลงมติของทางโลกในปัจจุบัน และเรื่องประชาธิปไตย

พระสงฆ์
คือสาวก หรือศิษย์ของพระพุทธเจ้า

คุณสมบัติของพระสงฆ์
พระสงฆ์มีคุณสมบัติ คือ ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วสอนให้ผู้อื่นปฏิบัติตาม เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตรง ปฏิบัติถูกต่อพระธรรมวินัยอย่างสมบูรณ์ เป็นผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนา เป็นศาสนทายาทสืบพระพุทธศาสนา เป็นผู้ทำความมั่นคงแก่พระพุทธศาสนา เป็นบุคคลตัวอย่างแห่งความดี เป็นพยานแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เป็นที่พึ่งทางใจของประชาชน เป็นผู้นำในการพัฒนาท้องถิ่น เป็นครู เป็นผู้รักษาสมบัติของชาติ เช่น โบราณสถาน เป็นผู้ให้มากแต่รับน้อยเท่าที่จำเป็น

พระสงฆ์มีอยู่ ๒ ประเภท คือ
๑.พระสงฆ์ทางธรรม ได้แก่ อริยบุคคล หรืออริยสงฆ์ มีพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ เป็นได้ทั้งคฤหัสถ์ ทั้งบรรพชิต เพียงองค์เดียวก็เป็นสงฆ์ทางธรรมได้

๒. พระสงฆ์ทางวินัย ได้แก่ ภิกษุทั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป แม้ว่าจะเป็นพระอริยบุคคล และต้องเป็นภิกษุเท่านั้น

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

ความสำคัญของศาสนา

ศาสนา
คือประดิษฐกรรมทางความคิดที่วิเศษสุดของคนเท่านั้น ไม่มีในสัตว์ ศาสนาจึงเป็นสมบัติของคน ถ้าไร้ศาสนาก็เท่ากับว่าไม่มีสมบัติของคน

ศาสนาแปลว่า
คำสั่ง(ต้องทำ) คำสอน(ควรทำ) คำสั่งสอน การปกครอง การลงโทษ แต่โดยทั่วไปหมายถึง คำสั่งสอนที่ประกอบด้วย ความเชื่อถือ หลักศีลธรรมจรรยา ผลของการปฏิบัติตามหลักศีลธรรมจรรยานั้น มีศาสดาผู้เป็นต้นกำเนิดศาสนา มีผู้ทำหน้าที่เป็นผู้สืบศาสนา และมีผู้ยอมรับนับถือศาสนานั้นเป็นจำนวนมาก

เหตุให้เกิดศาสนา
ศาสนาเกิดขึ้นเพราะเหตุหลายประการ แต่ถ้ากล่าวโดยสรุป เหตุนั้นมีอยู่ 3 ประการ คือ ความกลัว ความไม่รู้จริงในปรากฏการณ์ธรรมชาติ และความช่างคิดของคน

ภัยธรรมชาติที่คนเห็นแล้วเกิดความกลัว เช่น ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า น้ำท่วม แผ่นดินไหว หรือรู้สึกประหลาดใจเมื่อเห็นภูเขาสูง เห็นต้นไม้ใหญ่ และคิดว่าต้องมีสิ่งลี้ลับบันดาลให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นอย่างเช่น ฟ้าร้อง เป็นต้น หรือสิ่งลี้ลับที่มีอำนาจพิเศษสิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้ สามารถทำให้เกิดความดีร้ายแก่คนได้ถ้าคนทำให้พอใจหรือโกรธ คนได้สร้างสิ่งที่มีอำนาจลี้ลับให้แก่ธรรมชาติ และเพื่อให้สิ่งลี้ลับนั้นพอใจ คนจึงต้องเซ่นสรวงบูชาด้วยวิธีที่คิดว่าสิ่งลี้ลับนั้นจะพอใจ ถ้าคนไหนทำพิธีได้ถูกต้องก็จะได้ผลดังต้องการ และยกให้คนๆ นั้นเป็นหัวหน้าผู้ประกอบพิธีและได้รับความนับถือ ไม่ว่าจะพูดหรือสอนอะไรคนก็เชื่อฟัง จึงเป็นการเริ่มต้นของศาสดาและศาสนาขึ้น

ประเภทของศาสนา
ศาสนากล่าวโดยสรุปแล้วมีอยู่ 2 ประเภท คือศาสนาที่ถือว่ามีพระเจ้าผู้สร้างทุกสิ่งทุกอย่าง กับศาสนาที่ถือว่าไม่มีพระเจ้าผู้สร้าง ศาสนาที่ถือว่ามีพระเจ้าผู้สร้าง เช่น ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม เป็นต้น ส่วนศาสนาที่ถือว่าไม่มีพระเจ้าผู้สร้าง เช่น พระพุทธศาสนา

ความสำคัญของศาสนา
1. มีความสำคัญในด้านต่างๆ มากต่อกลุ่มชน หรือประเทศชาตินั้นๆ เช่น ในด้านวัฒนธรรมขนมธรรมเนียมประเพณี ในด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม วรรณกรรม วิจิตรศิลปะ และสามัคคีธรรมของคนกลุ่มนั้น ชาตินั้น หรือของผู้นับถือศาสนาเดียวกัน โดยไม่ได้คำนึงถึงเชื้อชาติ โดยเฉพาะทางด้านสถาปัตยกรรม โดยมากจะเห็นว่าสิ่งก่อสร้างโบราณที่มีชื่อเสียงมักเป็นของศาสนา เช่น ปิรามิด วัดพระแก้ว และวังวาติกัน เป็นต้น

2. บางศาสนาก็เป็นเครื่องส่งเสริมให้กำลังแก่การเมืองการปกครอง

3. ศาสนาทำให้คนปกครองตัวเองได้ ทั้งในที่ลับ และในที่เปิดเผย

4. ศาสนาทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ไม่ใช่หุ่นหรือเครื่องจักร และทำให้คนแตกต่างจากสัตว์(อาหารนิทฺทาภยเมถุนญฺจ สามญฺญเมตปฺปสูภินรานํ ธมฺโม หิ เตสํ อธิโก วิเสโส ธมฺเมน หีนา ปสูภิ สมานา อาหารการกิน 1 การนอน 1 ความกลัว 1 เมถุน 1 เป็นสิ่งสามัญทั่วไปแก่ทั้งคนทั้งสัตว์ แต่ศาสนธรรม ทำให้คนกับสัตว์แตกต่างกัน ปราศจากศาสนธรรมแล้ว คนกับสัตว์ก็เท่ากัน

แต่อย่างน้อยศาสนาก็เป็นที่พึ่งทางใจของคน

ศาสนากับกฎหมายและกฎสังคม
บางคนอาจพูดว่า ศาสนาเหมาะกับสมัยที่กฎหมาย หรือกฎระเบียบของสังคมยังไม่เจริญสมบูรณ์พอ ตอนนี้กฎหมายและกฎระเบียบของสังคมดีแล้ว มีพอแล้ว ศาสนาจึงไม่จำเป็นในยุคนี้ มีข้อชี้แจงดังนี้

ศาสนานั้นสามารถคุมคนไม่ให้ทำชั่วได้ดีกว่ากฎหมาย คือ คุมได้ทั้งต่อหน้าและลับหลังคน และคุมได้ถึงทางใจ กฎหมายเมื่อคนทำผิดจะถูกเจ้าหน้าที่จับไปฟ้องร้อง เมื่อศาลตัดสินว่ามีความผิดจึงผิด ถ้าศาลตัดสินว่าไม่ผิดทั้งๆ ที่คนนั้นผิดจริง แต่หลักฐานของโจทก์มีไม่พอ ก็เลยไม่มีความผิด แต่ทางศาสนาถือว่า คนที่ทำผิดแล้วก็ผิดตั้งแต่ต้น แม้จะไม่ถูกจับก็ตาม ไม่ต้องรอให้ถูกฟ้อง หรือถูกศาลตัดสิน ที่คิดว่าตอนนี้กฎหมาย กฎระเบียบของสังคมมีพอแล้ว ดีแล้ว ก็ไม่เป็นความจริง เพราะทุกยุคทุกสมัยก็ต้องมีการแก้ไข เปลี่ยนแปลง ปรับปรุงเพิ่มเติมอยู่เสมอ

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

ทศพิธราชธรรม

ตามรูปศัพท์ ทศพิธราชธรรม แปลว่าธรรมสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน หรือธรรมที่พระเจ้าแผ่นดินพึงประพฤติ ๑๐ อย่าง หมายความว่าผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการปกครองไพร่ฟ้าประชาชนนั้นพึงดำเนินการทศพิธราชธรรมปกครองด้วยธรรม ๑๐ อย่างนี้ นี้เป็นความหมายของทศพิธราชธรรมที่ถือปฏิบัติมาแต่โบราณกาล ซึ่งทางพระพุทธศาสนาได้สอนว่าหากพระเจ้าแผ่นดิน ทรงตั้งมั่นอยู่ในธรรม ๑๐ อย่างนี้แล้ว ก็จะทรงปกครองไพร่ฟ้าประชาชนให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข ไพร่ฟ้าจะหน้าใสกันทั่วหน้า

สำหรับผู้มีอำนาจหน้าที่ในการปกครอง ซึ่งมิใช่พระเจ้าแผ่นดิน ก็ควรเจริญรอยตามพระเจ้าแผ่นดินโดยนำเอาหลักธรรม ๑๐ อย่างนี้มาปฏิบัติในการปกครอง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมตามอุดมการณ์แห่งการ ปกครอง

หลักธรรม ๑๐ อย่างนั้น ได้แก่
๑. ทาน การให้ คือการสละทรัพย์สิ่งของเพื่อบำรุงเลี้ยงดูช่วยเหลือ ประชาราษฎร์ผู้ยากไร้ เข็ญใจ และบำเพ็ญกุศลสาธารณประโยชน์ตามความเหมาะสมแก่สภาพปัจจุบัน ปัญหาและความต้องการของประชาชนผู้ยากไร้

๒. ศีล ความมีศีล คือมีความประพฤติดีงาม มีระเบียบวินัย รักษา ความประพฤติทางกาย ทางวาจาได้เรียบร้อย โดยเว้นจากกายทุจริต วจีทุจริต ประพฤติแต่กายสุจริต และวจีสุจริต

๓. บริจาค การเสียสละ คือการบริจาคจตุปัจจัยบำรุงพระพุทธศาสนา ถวายไทยธรรมแก่พระภิกษุสงฆ์หรือสมณะ ชีพราหมณ์ เป็นการอุปถัมภ์ พระพุทธศาสนาให้วัฒนาถาวรตลอดจนการเสียสละความสุขส่วนตัว ประโยชน์ส่วนตัวเพื่อความสุขและประโยชน์ของส่วนรวม คือประเทศชาติ หรือความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

๔. อาชชวะ ความซื่อตรง คือซื่อสัตย์สุจริต ไร้มายา ปฏิบัติภารกิจ โดยสุจริต มีความจริงใจ ไม่หลอกลวงประชาชน

๕. มัททวะ ความอ่อนโยน คือมีอัธยาศัยอ่อนโยน ไม่เย่อหยิ่ง หยาบคาย หรือกระด้าง แสดงกิริยาสุภาพนุ่มนวล ละมุนละไม ชวนให้เกิด ความเคารพจงรักภักดีและยำเกรง

๖. ตปะ การบำเพ็ญตบะ คือมีอุตสาหะในการบำเพ็ญเพียรเพื่อเผา กิเลส ลดกิเลสโดยการรักษาอุโบสถศีลเป็นประจำทุกวันพระ รวมทั้งการรู้จักยับยั้งชั่งใจ ไม่หมกมุ่นหรือหลงติดอยู่ในกามสุข

๗. อักโกธะ ความไม่โกรธ คือไม่พิโรธโกรธขึ้งโดยผลุนผลัน ไม่แสดงความเกรียวกราด ไม่ลุอำนาจความโกรธ จนเป็นเหตุให้กระทำการต่างๆ ผิดพลาดเสียธรรม มีเมตตาธรรมประจำใจ รู้จักใช้สติยับยั้งระงับความขุ่นเคืองไว้ได้ ไม่แสดงความดุดันโหดเหี้ยมทางจิตให้ปรากฏ

๘. อวิหิงสา ความไม่เบียดเบียน คือไม่บีบคั้น กดขี่ข่มเหงใครให้ เดือดร้อน เช่น ไม่ใช้อำนาจหน้าที่ขู่เข็ญ บังคับใคร ไม่ลงโทษผู้ไม่มีความผิด มีจิตกรุณาแก่คนทั่วไป ไม่เป็นคนหาเรื่องกลั่นแกล้ง หรือเสกสรรปั้นแต่งเรื่อง เพื่อบีบบังคับผู้อื่นให้ยอมรับการกระทำบางอย่างอันเป็นความผิด ตลอดจนไม่ขู่เข็ญผู้อื่นให้กระทำหรือละเว้นการกระทำ อันเป็นความผิดความเสื่อมเสีย แก่ผู้อื่น ไม่รีดไถผู้อื่น เป็นต้น

๙. ขันติ ความอดทน คืออดต่อการที่ยังไม่ได้สิ่งที่ตนต้องการ ทน ต่อการได้รับสิ่งที่ตนไม่ต้องการ ตลอดจนอดทนต่อความลำบาก ความตรากตรำ และความเจ็บใจ เมื่อทำสิ่งใดถูกต้องแล้ว แม้จะมีผู้เห็นผิดคัดค้านหรือกล่าวโจมตีอย่างไร ก็ไม่ท้อถอย หรือแม้จะมีใครกล่าวเสียดสีถากถาง เย้ยหยันอย่างไร ก็ทนพังได้ ไม่แสดงอาการน้อยเนื้อตํ่าใจและเลิกล้มการกระทำความดี

๑๐. อวิโรธนะ ความไม่ประพฤติผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากทำนอง คลองธรรม คือความไม่ประพฤติฝ่าฝืนลบล้างตัวบทกฎหมายและจารีตประเพณีอันดีงามของบ้านเมือง ตลอดจนไม่ประพฤติผิดระเบียบแบบแผน กฎบังคับ หรือความนิยมอันดีงามของสังคม

ทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส พระองค์ผู้ทรงเป็นรัตนกวีเอกของชาติไทย ได้ทรงนิพนธ์ เป็นบทลิลิตไว้อย่างไพเราะยิ่งว่า

๑. ทานํ
พระเปรมปฏิบัติเบื้อง        ทศธรรม์ ถ้วนแฮ
ทานวัตรพัสดุสรรพ์        สิ่งให้
ทวยเถมิลมั่วหมู่พรร-        ณีพกพวก แคลนนา
วันละ วันตั้งไว้            หกห้างแห่งสถาน ฯ

๒. สิลํ
เถลิงการกุศลสร้าง        เบญจางค ศีลเฮย
เนืองนิวัทธฤๅวาง        ว่างเว้น
บำเทิงหฤทัยทาง            บุญเบื่อ บาปนา
แสวงสัคมัคโมกข์เร้น        รอดรื้อสงสาร ฯ

๓. ปรํจฺจาคํ
สมภารพระก่อเกื้อ        การก ธรรมแฮ
ชินศาสนุประถัมภก        เพิ่มตั้ง
จตุราปัจจเยศยก            บริจาค ออกเอย
อวยแด่ชุมชีทั้ง            ทั่วแคว้นแขวงสยาม ฯ

๔. อาชฺชวํ
พระงามอุชุภาพพร้อม        ไตรพิธ ทวารเฮย
กายกมลภาษิต            ซื่อซร้อง
บำเพ็ญเพิ่มสุจริต        เจริญสัตย์ สงวนนา
สิ่งคดปลดเปลื้องข้อง        แต่ครั้งฤๅมี ฯ

๔. มทุทวํ
ปรานีมาโนชน้อม        มฤธู
ในนิกรชนชู            ชุ่มเฝ้า
พระเอื้อพระเอ็นดู        โดยเที่ยง ธรรมนา
อดโทษโปรดเกศเกล้า        ผิดพลั้งสั่งสอนฯ

๖. ตปํ
สังวรอโบสถสร้าง        ประดิทิน
มาสประมาณวารถวิล        สี่ถ้วน
อัษฎางคิกวิริยิน-            ทรีย์สงัด กามเอย
มละอิสริยฺสุขล้วน        โลกซร้องสรรเสริญ ฯ

๗. อกฺโกธํ
ทรงเจริญมิตรภาพเพี้ยง    พรหมมาน
ทิศทศจรดทุกสถาน        แผ่แผ้ว
ชัคสัตว์เสพย์สำราญ        รมย์ทั่ว กันนา
เย็นยิ่งจันทรกานต์แก้ว    เกิดน้ำฉ่ำแสง ฯ

๘. อวิหิสํ
เสด็จแสดงยศเยือกหล้า    แหล่งไผท
เพื่อพระกรุณาใน        เขตรข้า
บกอปรบก่อภัย            พิบัติเบียด เบียนเอย
บานทุกหน้าถ้วนหน้า        นอบนิ้วถวายพร ฯ

๙. ขนฺตํ
ถาวรอธิวาสน์ค้า            ขันตี ธรรมฤๅ
ดำฤษณ์วิโรธราคี        ขุ่นข้อน
เพ็ญผลพุทธบารมี        วิมุติสุข แสวงนา
เนืองโลกโศกเสื่อมร้อน    สิ่งร้ายฤๅพาน ฯ

๑๐. อวิโรธนํ
พระญาณยลเยี่ยงเบื้อง    โบราณ รีตนา
ในนิตยราชศาสตร์สาร        สืบไว้
บแปรประพฤติพาล        แผกฉบับ บูรพ์เฮย
โดยชอบกอบกิจไท้        ธเรศตั้งแต่ปาง ฯ

ไป่วางขัตติยวัตรเว้น        สักอัน
ทั่วทศพิธราชธรรม์          ท่านสร้าง
สงเคราะห์จัตุราบรร        สัชสุข เสมอนา
สังคฤหพัสดุอ้าง            สี่ไส้สืบผล ฯ
  (เตลงพ่าย หน้า ๑๘๕ – ๑๘๘)

ทางพระพุทธศาสนาสอนว่า ทศพิธราชธรรมนี้เป็นหัวใจสำคัญในการ ปกครอง พระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นประมุขของประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา ได้ทรงเคารพและยึดเป็นแนวทางในการบริหารประเทศตลอดมา พระเจ้าแผ่นดิน พระองค์ใดทรงดำรงมั่นอยู่ในธรรม ๑๐ อย่างนี้ ย่อมได้รับการยกย่องเทิดทูนว่า เป็นกษัตริย์ผู้ทรงธรรม จะเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนและประชาชนจะถวายความจงรักภักดีเป็นอย่างยิ่ง

ที่มา:พิทูร มลิวัลย์

เหตุแห่งมรณะ๔ ประการ

มวลสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ เมื่อมีเกิดแล้วก็ย่อมมีดับไป มีเที่ยงแท้แน่นอน ย่อมเปลี่ยนแปรไปตามสภาวะของสังขารธรรมทั้งหลาย เหตุแห่งการสิ้นไปมี ๔ ประการ คือ
๑. อายุขัย    ๒. กรรมขัย
๓. อุภยขัย    ๔. อุปัจเฉทกรรมขัย

คนที่เกิดมาแล้วสิ้นชีวิตแต่เด็กบ้าง เป็นหนุ่มเป็นสาวบ้าง เป็นคนเฒ่าชราบ้าง อุปมาเหมือนตะเกียงไส้หมด ก็อายุขัยย่อมดับ สุดแต่ว่าไส้ยาวหรือสั้น ยาวก็อยู่ได้นาน สั้นก็ดับเร็ว เรียกว่า อายุขยะ หมายถึง ความสิ้นไปแห่งอายุ

บางคนเกิดมาแล้ว ยังมีสมควรสิ้นชีวิต ได้ประกอบคุณงามความดีไว้ และมาสิ้นชีวิตไปตามผลกรรมที่ตนกระทำไว้ อุปมาเหมือนตะเกียงเมื่อน้ำมันยังมีอยู่ก็ยังส่องสว่าง เมื่อนํ้ามันหมดก็ย่อมดับ เรียกว่า กรรมขยะ หมายถึง ความสิ้นไปแห่งกรรม

บางคนเกิดมาสิ้นทั้งอายุ สิ้นไปทั้งกรรม อุปมาเหมือนตะเกียงหมดทั้ง น้ำมัน หมดทั้งไส้ เรียกว่า อุภยขยะ หมายถึง ความสิ้นไปแห่งอายุและกรรม

บางคนเกิดมาแล้วมีอันตรายต่างๆ มาเบียดเบียน บีฑา เช่น ถูกเขาตี ถูกเขาฆ่า ถูกเขาแทง ตกต้นไม้ ตกนํ้าตาย รถควํ่าตายปัจจุบันทันด่วน อุปมาเหมือน ตะเกียงที่จุดไว้ เกิดอุปัทวเหตุมีลมพัดกระโชกมาทำให้ตะเกียงนั้นดับ เรียกว่า อุปัจเฉทกรรมขยะ หมายถึง ความสิ้นไปเพราะมีกรรมเข้าไปตัดรอน อุปัจเฉทกรรม เป็นกรรมเข้าไปดัดรอน บางทีคนกำลังกระทำความดี แต่อุปัจเฉทกรรมเข้าไป ทำให้เกิดผลเสียก็มี

กรรมอันเป็นเหตุแห่งกรรมทั้งหลาย ๔ คือ
๑. ชนกกรรม        กรรมแต่งให้เกิด
๒. อุปัตถัมภกกรรม    กรรมสนับสนุน
๓. อุปปีฬกกกรรม    กรรมบีบคั้น
๔. อุปฆาฏกกรรม    กรรมเข้าไปตัดรอน

กรรมที่สามารถยังสัตว์ให้เคลื่อนจากภพหนึ่ง แล้วไปเกิดในอีกภพหนึ่ง เปรียบด้วยบิดาผู้ให้กำเนิดบุตร จากนั้นไปก็หมดหน้าที่ ชื่อว่า ชนกกรรม

กรรมที่ไม่อาจแต่งให้เกิดได้เอง ต่อเมื่อชนกกรรมแต่งให้เกิดแล้ว จึงเข้า สนับสนุนส่งเสริม เปรียบเหมือนแม่นมผู้เลี้ยงทารกที่คนอื่นให้เกิดแล้ว กรรมนี้ เป็นสภาค (ส่วนสนับสนุน) กับชนกกรรม ถ้าชนกกรรมเป็นกุศลแต่งให้เกิดข้างดี กรรมนี้ก็เข้าสนับสนุนทารกผู้เกิดนั้นให้มีความสุขปราศจากทุกข์ เจริญรุ่งเรือง ตรงกับคำว่าโชติโชติปรายโน หมายถึง รุ่งเรืองมาแล้ว รุ่งเรืองต่อไปภายหน้า ถ้าเป็นอกุศลแต่งให้เกิดข้างเลว ก็เข้าสนับสนุนซํ้าเติมให้ได้ทุกข์หายนะยิ่งขึ้น ตรงกับคำว่า ตโม ตมปรายโน หมายถึงมืดมาแล้วมืดไปในภายหน้า หรือจะว่าอีกนัยหนึ่งว่า ชนกกรรมเป็นกรรมเดิม กรรมนี้เป็นกรรมเพิ่มพูน สนับสนุน ซํ้าเติม ให้ดีให้เลวร้ายได้ ชื่อว่า อุปัตถัมภกกรรม

กรรมที่เป็นวิสภาค (เข้ากันไม่ได้) กับชนกกรรม เมื่อชนกกรรมแต่งให้ เกิดแล้ว กรรมนี้ก็เข้าไปบีบคั้นผลแห่งชนกกรรมไม่ให้ผลเต็มที่ ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ถ้าชนกเป็นกุศลแต่ปฏิสนธิข้างดี กรรมนี้เข้าไปบีบคั้นให้อ่อนกำลัง ตรงกับคำว่า ตโม โชติปรายโน หมายถึงมืดมาแล้วมีสว่างรุ่งเรืองไปในภายหน้า กรรมนี้เข้าบีบคั้นผลแห่งชนกกรรมฉันใด พึงเข้าใจว่าเข้าไปบีบคั้นผลแห่ง อุปัตถัมภกกรรมฉันนั้น ชื่อว่า อุปปีฬกกรรม

กรรมที่เป็นวิสภาค (เข้ากันไม่ไต้) กับชนกกรรมและอุปัตถัมภกกรรม เหมือนกัน แต่เป็นสภาค (เข้ากันได้) กับอุปปีฬกกรรม แต่ให้ผลรุนแรงกว่า ย่อมจะตัดรอนผลแห่งชนกกรรมและอุปัตถัมภกรรม ให้ขาดสิ้นทีเดียว แล้วจึงให้ผลแทนที่ ชื่อว่า อุปฆาตกรรม กรรม ๔ ประการนี้ จัดตามกิจที่เป็นหน้าที่

นอกจากนี้ยังมีกรรมอีก ๔ ประการ คือ
๑. ปัญจานันตริยกรรม    (ครุกรรม)
๒. อาสันนกรรม            (กรรมเมื่อจวนเจียนจะตาย)
๓. อาจิณณกรรม        (พหุลกรรม, กรรมที่ทำเนืองนิตย์)
๔. กตัตตากรรม            (กรรมสักว่าทำ)

ครุกรรม เป็นกรรมหนักที่สุดกว่ากรรมชนิดอื่นๆ ทั้งหมด ท่านจึงเรียกว่า ครุกรรมในฝ่ายอกุศล จัดเป็นอนันตริยกรรม ส่วนในฝ่ายกุศล ท่านจัดเป็นสมาบัติ ๘ กรรมอันใดทั้งหลายแหล่ที่มีอยู่แต่เมื่อมีกรรมนี้ ย่อมให้ผลก่อนกรรมอื่น เปรียบเหมือนคนอยู่ในที่สูง เอาสิ่งต่างๆ มีก้อนหินบ้าง ชิ้นไม้บ้าง กระดาษบ้าง ทิ้งลงมาจากที่สูง สิ่งใดมีนํ้าหนักมากกว่า ก็จะตกลงถึงพื้นดินก่อน ส่วนสิ่งใดที่เป็นของเบา ย่อมจะตกถึงพื้นดินในภายหลัง ท่านจึงจัดเป็นอนันตริยกรรม เพราะเป็นกรรมที่มีโทษมาก และอนันตริยกรรมนั้นมี ๕ ประการด้วยกัน คือ

๑. มาตุฆาต ฆ่ามารดา
๒. ปิตุฆาต ฆ่าบิดา
๓. อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์
๔. โลหิตุปปาท ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงห้อพระโลหิต
๕. สังฆเภท ทำสงฆ์ให้แตกกัน

กรรมที่กล่าวมานี้ ชื่อว่า ปัญจานันตริยกรรม

กรรมที่บุคคลกระทำเมื่อเวลาใกล้จะตาย เมื่อไม่มีกรรมอย่างอื่น คือผู้ตายไม่ได้ทำกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดไว้จนชิน กรรมนี้ แม้จะมีกำลังอ่อนสักเพียงไร ก็ย่อมจะให้ผลเป็นปัจจุบันทันด่วนได้เหมือนกัน เปรียบเหมือนโคที่แออัดกันอยู่ในคอก พอนายโคบาลเปิดประตูออก โคตัวใดยืนอยู่ริมคอกประตูนั้น แม้จะเป็นโคแก่มีกำลังน้อยก็ตาม ย่อมออกก่อนกว่าโคตัวที่ยืนอยู่ในคอก กรรมนี้ ชื่อว่า อาสันนกรรม

กรรมที่ทำมามาก ทำมาจนเคยชิน หรือเคยประพฤติสั่งสมมา กรรมนี้ เป็นอาเสวนปัจจัย เมื่อไม่มีครุกรรม ย่อมให้ผลก่อนกว่ากรรมอื่น เป็นกรรมที่รองลงมาจากครุกรรม เปรียบเหมือนนักมวยปลํ้า คนใดมีกำลังแข็งแรง ว่องไว มีปฏิภาณไหวพริบก็ย่อมจะชนะไปฉะนั้น กรรมนี้ชื่อว่า อาจิณณกรรม

กรรมที่บุคคลกระทำลงไป มิได้มีความตั้งใจจงใจ เมื่อกรรมอื่นไม่มี กรรมนี้จึงให้ผล กรรมนี้ชื่อว่า กตัตตากรรม

นอกจากนี้ยังมีกรรมอีก ๔ ประการ คือ
๑. ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม    กรรมให้ผลในภพนี้
๒. อุปปัชชเวทนียกรรม    กรรมให้ผลต่อเมื่อเกิดแล้วในภพหน้า
๓. อปราปรเวทนียกรรม    กรรมให้ผลในภพต่อๆ ไป
๔. อโหสิกรรม            กรรมให้ผลสำเร็จแล้ว

กรรมที่เป็นกรรมอันแรงกล้า ให้ผลในทันตาเห็น คือ ผู้กระทำกรรม ย่อมได้รับผลในอัตตภาพปัจจุบันนั่นเอง แต่ถ้าผู้กระทำ กระทำกาละไปเสียก่อนที่จะได้รับผลของกรรมนี้ ก็กลายเป็นอโหสิกรรมไป กรรมนี้ชื่อว่า ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม

กรรมที่ให้ผลเบากว่า เป็นกรรมที่รองลงมา คือให้ผลต่อเมื่อผู้ทำเกิดแล้ว ในภพถัดไป ถ้าไม่ได้ช่องโอกาสที่จะให้ผลในภพถัดไป ก็กลายเป็นอโหสิกรรมไป กรรมนี้ชื่อว่า อุปัชชเวทนียกรรม

กรรมที่ให้ผลเพลาที่สุด และสามารถให้ผลต่อเมื่อพ้นภพหน้าไปแล้ว ได้ช่องโอกาสเมื่อใดก็ย่อมให้ผลเมื่อนั้น เปรียบเหมือนสุนัขไล่เนื้อ ไล่ตามทันเข้าในที่ใด ก็ย่อมเข้ากัดในที่นั้น กรรมนี้ชื่อว่า อปราปรเวทนียกรรม

กรรมที่ล่วงเลยไปแล้วเลิกให้ผล เป็นกรรมหาผลมิได้ เปรียบเหมือนพืช ที่หมดยาง เพาะปลูกไม่งอกขึ้นได้อีกฉะนั้น กรรมนี้ชื่อว่า อโหสิกรรม
สัตว์ทั้งหลาย เมื่อใกล้จะตาย ผู้ที่ทำอกุศลกรรมไว้มาก ก็จะไปบังเกิด ในนรกอบายภูมิ มองเห็นเปลวไฟ เห็นต้นไม้งิ้วเหล็ก เห็นพระยายมถือไม้ฆ้อน ถือหอก ดาบ มาลากพาเอาตัวไป ถ้าตายไปจะได้ไปบังเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะแลเห็นก้อนเนื้อ ถ้าตายไปบังเกิดในสวรรค์ ก็จะแลเห็นต้นกัลปพฤกษ์ เห็นเรือนทอง ปราสาทแก้วงามตระการตา เห็นหมู่เทพยดาฟ้อนรำ ขับร้อง ถ้าไปบังเกิดเป็น เปรต ก็จะแลเห็นแกลบแลข้าวลีบ มีความกระหายนํ้า ก็จะแลเห็นเป็นเลือดแลหนอง ถ้าตายไปจะไปบังเกิดเป็นสัตว์เดียรฉาน เช่น นก เนื้อ สุกร สุนัข เป็นต้น ก็จะแลเห็นป่าและต้นไม้ ก่อไผ่ เป็นต้น

ด้วยอำนาจกุศลธรรมคุณงามความดี หรืออกุศลธรรม บาปกรรมอันชั่วช้า บางคนเกิดมาเป็นคนมั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ บางคนเกิดมาเป็นคนยากจนเข็ญใจ บางคนเกิดมามีผิวพรรณงามผ่องใส บางคนเกิดมาอัปลักษณ์ตํ่าต้อย บางคนเกิดมามีอวัยวะสมประกอบ บางคนอวัยวะไม่สมประกอบ บางคนเป็นเจ้าขุนมูลนาย บางคนเป็นข้ารับใช้ บางคนเป็นคนดี บางคนเป็นคนชั่ว บางคนมีปรีชา ฉลาด เฉียบแหลม บางคนโง่เขลาเบาปัญญา บางคนศึกษาเล่าเรียนรู้จำแตกฉานในพระอภิธรรม บางคนมิได้ศึกษาเล่าเรียน มิได้สดับตรับฟัง ทั้งเป็นการยากแท้ยิ่งในอันที่จะฟังให้เข้าใจ

สัตว์ทั้งหลายที่เกิดในมนุษยภูมิเป็นปัญจกัณฑ์ กล่าวไว้โดยย่อเพียงเท่านี้

ที่มา:สิทธา พินิจภูวดล