ความสำคัญของศาสนา

Socail Like & Share

ศาสนา
คือประดิษฐกรรมทางความคิดที่วิเศษสุดของคนเท่านั้น ไม่มีในสัตว์ ศาสนาจึงเป็นสมบัติของคน ถ้าไร้ศาสนาก็เท่ากับว่าไม่มีสมบัติของคน

ศาสนาแปลว่า
คำสั่ง(ต้องทำ) คำสอน(ควรทำ) คำสั่งสอน การปกครอง การลงโทษ แต่โดยทั่วไปหมายถึง คำสั่งสอนที่ประกอบด้วย ความเชื่อถือ หลักศีลธรรมจรรยา ผลของการปฏิบัติตามหลักศีลธรรมจรรยานั้น มีศาสดาผู้เป็นต้นกำเนิดศาสนา มีผู้ทำหน้าที่เป็นผู้สืบศาสนา และมีผู้ยอมรับนับถือศาสนานั้นเป็นจำนวนมาก

เหตุให้เกิดศาสนา
ศาสนาเกิดขึ้นเพราะเหตุหลายประการ แต่ถ้ากล่าวโดยสรุป เหตุนั้นมีอยู่ 3 ประการ คือ ความกลัว ความไม่รู้จริงในปรากฏการณ์ธรรมชาติ และความช่างคิดของคน

ภัยธรรมชาติที่คนเห็นแล้วเกิดความกลัว เช่น ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า น้ำท่วม แผ่นดินไหว หรือรู้สึกประหลาดใจเมื่อเห็นภูเขาสูง เห็นต้นไม้ใหญ่ และคิดว่าต้องมีสิ่งลี้ลับบันดาลให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นอย่างเช่น ฟ้าร้อง เป็นต้น หรือสิ่งลี้ลับที่มีอำนาจพิเศษสิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้ สามารถทำให้เกิดความดีร้ายแก่คนได้ถ้าคนทำให้พอใจหรือโกรธ คนได้สร้างสิ่งที่มีอำนาจลี้ลับให้แก่ธรรมชาติ และเพื่อให้สิ่งลี้ลับนั้นพอใจ คนจึงต้องเซ่นสรวงบูชาด้วยวิธีที่คิดว่าสิ่งลี้ลับนั้นจะพอใจ ถ้าคนไหนทำพิธีได้ถูกต้องก็จะได้ผลดังต้องการ และยกให้คนๆ นั้นเป็นหัวหน้าผู้ประกอบพิธีและได้รับความนับถือ ไม่ว่าจะพูดหรือสอนอะไรคนก็เชื่อฟัง จึงเป็นการเริ่มต้นของศาสดาและศาสนาขึ้น

ประเภทของศาสนา
ศาสนากล่าวโดยสรุปแล้วมีอยู่ 2 ประเภท คือศาสนาที่ถือว่ามีพระเจ้าผู้สร้างทุกสิ่งทุกอย่าง กับศาสนาที่ถือว่าไม่มีพระเจ้าผู้สร้าง ศาสนาที่ถือว่ามีพระเจ้าผู้สร้าง เช่น ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม เป็นต้น ส่วนศาสนาที่ถือว่าไม่มีพระเจ้าผู้สร้าง เช่น พระพุทธศาสนา

ความสำคัญของศาสนา
1. มีความสำคัญในด้านต่างๆ มากต่อกลุ่มชน หรือประเทศชาตินั้นๆ เช่น ในด้านวัฒนธรรมขนมธรรมเนียมประเพณี ในด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม วรรณกรรม วิจิตรศิลปะ และสามัคคีธรรมของคนกลุ่มนั้น ชาตินั้น หรือของผู้นับถือศาสนาเดียวกัน โดยไม่ได้คำนึงถึงเชื้อชาติ โดยเฉพาะทางด้านสถาปัตยกรรม โดยมากจะเห็นว่าสิ่งก่อสร้างโบราณที่มีชื่อเสียงมักเป็นของศาสนา เช่น ปิรามิด วัดพระแก้ว และวังวาติกัน เป็นต้น

2. บางศาสนาก็เป็นเครื่องส่งเสริมให้กำลังแก่การเมืองการปกครอง

3. ศาสนาทำให้คนปกครองตัวเองได้ ทั้งในที่ลับ และในที่เปิดเผย

4. ศาสนาทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ไม่ใช่หุ่นหรือเครื่องจักร และทำให้คนแตกต่างจากสัตว์(อาหารนิทฺทาภยเมถุนญฺจ สามญฺญเมตปฺปสูภินรานํ ธมฺโม หิ เตสํ อธิโก วิเสโส ธมฺเมน หีนา ปสูภิ สมานา อาหารการกิน 1 การนอน 1 ความกลัว 1 เมถุน 1 เป็นสิ่งสามัญทั่วไปแก่ทั้งคนทั้งสัตว์ แต่ศาสนธรรม ทำให้คนกับสัตว์แตกต่างกัน ปราศจากศาสนธรรมแล้ว คนกับสัตว์ก็เท่ากัน

แต่อย่างน้อยศาสนาก็เป็นที่พึ่งทางใจของคน

ศาสนากับกฎหมายและกฎสังคม
บางคนอาจพูดว่า ศาสนาเหมาะกับสมัยที่กฎหมาย หรือกฎระเบียบของสังคมยังไม่เจริญสมบูรณ์พอ ตอนนี้กฎหมายและกฎระเบียบของสังคมดีแล้ว มีพอแล้ว ศาสนาจึงไม่จำเป็นในยุคนี้ มีข้อชี้แจงดังนี้

ศาสนานั้นสามารถคุมคนไม่ให้ทำชั่วได้ดีกว่ากฎหมาย คือ คุมได้ทั้งต่อหน้าและลับหลังคน และคุมได้ถึงทางใจ กฎหมายเมื่อคนทำผิดจะถูกเจ้าหน้าที่จับไปฟ้องร้อง เมื่อศาลตัดสินว่ามีความผิดจึงผิด ถ้าศาลตัดสินว่าไม่ผิดทั้งๆ ที่คนนั้นผิดจริง แต่หลักฐานของโจทก์มีไม่พอ ก็เลยไม่มีความผิด แต่ทางศาสนาถือว่า คนที่ทำผิดแล้วก็ผิดตั้งแต่ต้น แม้จะไม่ถูกจับก็ตาม ไม่ต้องรอให้ถูกฟ้อง หรือถูกศาลตัดสิน ที่คิดว่าตอนนี้กฎหมาย กฎระเบียบของสังคมมีพอแล้ว ดีแล้ว ก็ไม่เป็นความจริง เพราะทุกยุคทุกสมัยก็ต้องมีการแก้ไข เปลี่ยนแปลง ปรับปรุงเพิ่มเติมอยู่เสมอ

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา