ฆราวาสธรรมและบรรพชิตธรรม

คนไทยมีอยู่ ๒ ประเภท คือ เป็นนักบวชกับเป็นฆราวาส ชีวิตของฆราวาสที่จะดำเนินไปโดยปกติ นอกจากจะอาศัยกฎหมายของบ้านเมืองแล้ว ยังจำเป็นต้องอาศัยหลักปฏิบัติอื่นๆ ด้วย เพื่อให้มีการตั้งตัวและมีฐานะที่ดี เพื่อการปฏิบัติต่อกันในสังคมนั้นๆ เพื่อการปฏิบัติของผู้ที่มีหน้าที่พิเศษที่เกี่ยวกับความสุขของประชาชน เช่น ข้าราชการ หรือผู้ที่มีอาชีพเป็นพ่อค้าแม่ค้า เป็นต้น พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงหลักปฏิบัติเพื่อสิ่งนั้นๆ ไว้แล้ว และยังมีหลักที่เป็นกลางๆ สำหรับฆราวาสปฏิบัติ เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขและความสงบ เช่น

๑. มีสัจจะต่อกัน ไม่ตระบัดสัจจะ

๒. รู้จักข่มใจ ข่มอารมณ์

๓. อดทนต่อความลำบากตรากตรำ การถูกนินทาว่าร้าย และความเจ็บป่วย

๔. เสียสละของๆ ตนแก่คนอื่น ให้คนอื่นได้รับความสุขจากสิ่งของๆ ตนบ้าง

และ
๑. เป็นคนเรียบร้อย
๒. มีหลักปฏิบัติประจำใจ
๓. ไม่ประมาทในชีวิต ในวัย ในความไม่มีโรค เป็นต้น
๔. ฉลาด
๕. ถ่อมตน ไม่เบ่ง
๖. ไม่ตระหนี่
๗. สงบเสงี่ยม มีรสนิยมดี
๘. พูดดี สุภาพ

และมี
๑. การสงเคราะห์เพื่อนและคนอื่น
๒. ให้สิ่งที่ควรให้ แก่ผู้ที่ควรให้
๓. รู้จักจัด รู้จักทำสิ่งที่ควรทำ ไม่ทำสิ่งที่ไม่ควรทำ
๔. ช่วยบุคคลที่ควรช่วย สงเคราะห์คนที่ควรสงเคราะห์

นอกจากนี้ยังมีหลักอื่นๆ อีก เช่น หลักการสงเคราะห์ คือ สังคหวัตถุ ที่ควรนำมาปฏิบัติอีกด้วย

ถ้าฆราวาสปฏิบัติต่อกันอย่างนี้ ก็จะทำให้เกิดความสุข ไม่มีการทำร้าย ทำลาย ลัก คดโกง ประพฤติผิดในทางชู้สาว มีการช่วยเหลือกัน เป็นต้น สามารถแก้ปัญหาทางสังคมได้เป็นอย่างดี

บรรพชิตธรรม
ภิกษุต้องปฏิบัติตามวินัย และ
๑. สำรวมระวังมือ เท้า วาจาของตน
๒. พอใจในธรรม
๓. มีใจมั่นคง อดทน
๔. ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะจนเกินไป
๕. รู้จักพอ

และเว้น
๑. การก้มหน้าหากิน(เป็นหมอดู)
๒. การแหงนหน้าหากิน(เป็นหมอดูฤกษ์ยาม)
๓. การส่วนหน้าหากิน(เป็นนักธุรกิจติดต่อผู้คน)
๔. การเอียงหน้าหากิน(เป็นหมอดูลักษณะ)

การปฏิบัติหน้าที่ด้านปริยัติและปฏิบัติจะบกพร่อง ถ้าบรรพชิตยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ แต่ภิกษุแบบนี้ชาวบ้านบางคนก็ชอบ เพราะถือว่าเป็นที่พึ่งได้
แต่ควรทำดังนี้

๑. เล่าเรียน(ปฏิบัติคันถธุระ หรือเรียนปริยัติธรรม)
๒. แสดงธรรมสอนประชาชน ตามความรู้ความสามารถ
๓. บอกธรรม สอนธรรม ตามความรู้ความสามารถ
๔. สาธยายธรรมวินัย
๕. ปฏิบัติพระสัทธรรม(ปฏิบัติวิปัสสนาธุระ หรือปฏิบัติธรรม)

และต้อง
๑. เล่าเรียน
๒. ว่าง่าย อดทน
๓. เป็นพหูสูต
๔. ไม่มักมาก รู้จักข่มใจ ไม่ย่อหย่อนทางพระวินัย มีความเพียร เป็นต้น
๕. สามัคคีกัน

บรรพชิตไม่ควรลืมตัว ควรพิจารณาบ่อยๆ ว่า
๑. บัดนี้เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว อาการกิริยาใดๆ ของสมณะ เราต้องทำอาการกิริยานั้นๆ

๒. ความเลี้ยงชีพของเราเนื่องด้วยผู้อื่น เราควรเป็นคนเลี้ยงง่าย

๓. สิ่งที่ควรทำอย่างอื่นที่เราจะต้องทำให้ดีขึ้นไปกว่านี้ยังมีอยู่อีก ไม่ใช่เพียงเท่านี้

๔. เราติเตียนตัวเองโดยศีล(คือความประพฤติเรียบร้อย) ได้หรือไม่

๕. ผู้รู้ใคร่ครวญแล้ว ติเตียนเราโดยศีลได้หรือไม่

๖. เราจักต้องจากของรักของชอบไปทั้งนั้น

๗. เรามีกรรมเป็นของตน เราทำดีจักได้ดีทำชั่วจักได้ชั่ว

๘. วันคืนล่วงไป บัดนี้เราทำอะไรอยู่

๙. เรายินดี พอใจในที่เงียบสงัดหรือไม่

๑๐. คุณวิเศษอะไรของเรามีอยู่บ้างหรือไม่

ส่วนภิกษุผู้เป็นนักวิปัสสนาธุระ ต้องปฏิบัติตัวดังนี้

๑. มีธุรกิจน้อย ไม่เป็นนักสังคม เลี้ยงง่าย มักน้อย
๒. กินน้อย ไม่เห็นแก่ปากแก่ท้อง ไม่เป็นทาสของความอร่อยลิ้น
๓. ไม่นอนมาก
๔. เป็นพหูสูต
๕. หมั่นประกอบความเพียรทางจิต

เพื่อไม่ให้เกิดความกังวลใจเกินขอบเขตจนเป็นผลเสียต่อการปฏิบัติธรรม นักปฏิบัติทางจิตจึงต้องปฏิบัติเช่นนี้

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

ทางเจริญของชีวิต

ผู้ที่ต้องเดือดร้อนภายหลัง
พระพุทธเจ้าทรงแสดงเหตุที่ทำให้บุคคลต้องเดือดร้อนในภายหลังไว้เป็นอันมาก เช่น อบายมุข ดังที่ได้กล่าวแล้ว และยังมีอีกมาก เป็นต้นว่า

๑. เมื่อเป็นเด็กไม่ทำสิ่งที่ควรทำ เช่น ไม่เล่าเรียน ไม่หาความรู้เพื่ออนาคต

๒. เกียจคร้านทำการงาน

๓. มีความคิดจม คือ ไม่คิดถึงอนาคต

๔. คิดสบายไปวันหนึ่งๆ เท่านั้น

๕. ไม่หาทางให้เกิดปัญญา(จึงจมอยู่ในความโง่)

และ
๑. เมื่อเป็นหนุ่ม ไม่แสวงหาทรัพย์

๒. เมื่อเป็นเด็ก ไม่เล่าเรียนวิชาหาความรู้เพื่ออนาคต

๓. เป็นคนเจ้าเล่ห์ ชอบพูดยุยงให้มีเรื่องวุ่นวาย กินสินบน เหี้ยมโหด(แต่ดูภายนอกเป็นคนดี)

๔. ทุศีล ขาดขันติ ขาดเมตตา

๕. เจ้าชู้

๖. ตระหนี่ มีทรัพย์ก็ไม่ยอมให้แม้พอให้ได้

๗. อกตัญญู

๘. ดื้อดึงกับพ่อแม่ ดูหมิ่นพ่อแม่

๙. ไม่ยอมเข้าใกล้สมณะ

๑๐. ชอบทำทุจริต ไม่ยอมเข้าใกล้สัตบุรุษ

และมีเหตุแห่งความเดือดร้อนอีกมาก ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ เป็นต้นว่า

๑. มีความรู้น้อย ชอบทำชั่ว ไร้สิ่งที่มีคุณค่าในตัว
๒. ชอบคบคนเลว พอใจในธรรมที่เลว
๓. ชอบนอน ชอบคุย เกียจคร้าน เจ้าอารมณ์
๔. อกตัญญู
๕. ชอบหลอกลวง แม้แต่สมณะก็ไม่เว้น
๖. เห็นแก่ตัวจัด มีของกินของใช้ก็กินก็ใช้แต่ตัว
๗. เย่อหยิ่ง ดูหมิ่นญาติของตน
๘. เป็นนักเลงผู้หญิง -การพนัน -เหล้า (สิ่งเสพติด) –หัวไม้ ล้างผลาญทรัพย์ที่มีอยู่
๙. เจ้าชู้ ชอบคบหญิงเสเพล
๑๐. ชายแก่ได้เมียสาว(หญิงแก่ได้ผัวหนุ่ม)
๑๑. ตั้งหญิง-ชาย นักเลง สุรุ่ยสุร่าย ให้เป็นใหญ่ในการงาน
๑๒. เกิดในตระกูลสูง แต่ยากจน และคิดมักใหญ่ใฝ่สูง

เมื่อปฏิบัติอย่างนี้ย่อมประสบความเดือดร้อนในภายหลังแน่นอน

ชีวิตที่ไร้สาระ
ชีวิตของคนบางคนมีความหมายมาก แต่บางคนก็ไร้สาระ ชีวิตที่ไร้สาระที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้คือชีวิตที่

๑. ติดของเสพติด
๒. ไร้สมบัติ(ทั้งคุณสมบัติและทรัพย์สมบัติ)
๓. ไม่ทำการงาน
๔. ประมาทมัวเมา
๕. ไร้คุณค่า

อย่างนี้เป็นชีวิตที่ไร้สาระ ว่างเปล่า รกโลก น่าเสียดาย

ทางเจริญของชีวิต
คนทุกคนย่อมต้องการความเจริญก้าวหน้าในชีวิต พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงวิธีการที่ใช้ได้ทั่วไปหลายประการเพื่อความเจริญ เช่น

๑. จงเดินไปตามทางแห่งความดีที่เดินมาแล้ว อย่าถอยหลัง ถ้าเป็นทางชั่วจงกลับ อย่าเดินต่อไป

๒. จงอย่าทำลายฝ่ามืออันชุ่มด้วยเหงื่อ(คือ ความขยันช่วยตนเองและช่วยผู้อื่น)

๓. อย่าประทุษร้ายมิตร (ไม่ว่าจะในทางร่างกาย ความคิด ทรัพย์ หรือชีวิต)

๔. อย่าอยู่ในอำนาจหญิง

และทรงแสดงหลักปฏิบัติอันทำให้เกิดความไม่เสื่อมมีแต่ความเจริญในชีวิต คือ
๑. คบคนดี
๒. สนใจในคำแนะนำของคนดี
๓. ไตร่ตรองให้รู้ดีรู้ชั่วโดยแยบคาย
๔. ปฏิบัติตนตามควรแก่ความดีความชั่วนั้น

ทางเจริญอื่นๆ ยังมีอีกมากมาย เมื่อได้ดำเนินตามทางดังกล่าวแล้วย่อมได้ประสบความเจริญในชีวิตแน่นอน

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

คุณสมบัติของบุคคลประเภทต่างๆ

ในแต่ละประเทศย่อมมีประชาชนฝ่ายบริหารกับฝ่ายธรรมดา ธรรมสำหรับฝ่ายบริหาร นอกจากทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตรธรรม พรหมวิหารธรรม และเว้นอคติแล้ว ยังมีธรรมอื่นๆ ที่ทางพระพุทธศาสนาได้แสดงไว้ดังนี้

คุณสมบัติของผู้นำ
ยังมีคุณสมบัติอื่นอีกมากที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ สำหรับบุคคลที่จะเป็นผู้นำ นอกเหนือจากที่ได้กล่าวแล้ว ซึ่งมีดังนี้

๑. เป็นผู้อดทนต่อความลำบากกายใจ ต่อการถูกวิพากษ์วิจารณ์ เป็นต้น

๒. ตื่นตัวทันโลก เตรียมตัวไม่ประมาท

๓. ขยันทำงาน

๔. จำแนกเหตุการณ์ได้ถูกต้อง แบ่งงาน แบ่งบุคคลสำหรับงานได้เหมาะสม

๕. มีความกรุณา

๖. สอดส่อง ตรวจตรา ติดตามงาน

และ
๑. สามารถในการค้นหาปัญหา
๒. สามารถในการแก้ปัญหาต่างๆ

และ
๑. สงเคราะห์ประชาชน
๒. สร้างมิตรภาพกับผู้อื่น
๓. รู้จักพูด
๔. ใจกว้าง
๕. เป็นผู้นำเขา

และ
๑. องอาจ ฉลาด
๒. คงแก่เรียน
๓. เอาธุระหน้าที่ดี
๔. มีวัตร(หลักธรรม)ประจำใจ
๕. เป็นคนมีใจอันประเสริฐ
๖. เป็นสัตบุรุษ
๗. เป็นคนมีปัญญา ความคิดอ่านดี

ประเทศใดมีผู้นำอย่างนี้ ก็ย่อมมีความสุขความเจริญ มีความก้าวหน้าอย่างแน่นอน

คุณสมบัติของนักรบ
ลักษณะของนักรบที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ บางอย่างก็เหมาะกับข้าราชการอื่นๆ และบางอย่างก็เหมาะแต่เฉพาะนักรบ เป็นต้นว่า
๑. ขยัน
๒. กล้าหาญ
๓. รอบรู้

และ
๑. รอบรู้ในการตั้งกองทัพ
๒. สามารถให้อาวุธตกไปได้ไกล
๓. ยิ่งแม่น รู้เป้า
๔. ทำลายขุมกำลังได้

และ
๑. แกล้วกล้า
๒. เป็นนักสู้
๓. ไม่หวาดหวั่น
๔. ไม่สะดุ้งตกใจ
๕. ไม่ครั่นคร้ามพรั่นพรึง
๖. สู้ไม่ถอย

และ
๑. ฉลาดรอบรู้
๒. กล้าหาญ
๓. คงแก่เรียน
๔. ประพฤติดี

และ
๑. มีปัญญา ฉลาด
๒. มีวินัยดี แนะนำผู้อื่นดี
๓. แกล้วกล้า
๔. มีความรู้ดี
๕. ทรงธรรม

คุณสมบัติของข้าราชการ
พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงคุณสมบัติของข้าราชการทั่วไปไว้เป็นอันมาก เป็นต้นว่า
๑. ขยันทำงาน
๒. ไม่ประมาทในเหตุการณ์ต่างๆ
๓. รอบรู้ในเรื่องต่างๆ
๔. ปฏิบัติหน้าที่ได้เรียบร้อย

และ
๑. เป็นผู้นำที่ดีของประชาชน
๒. มีหลักพิเศษในการปฏิบัติงาน
๓. ได้รับการศึกษาดีแล้ว
๔. บำเพ็ญประโยชน์ตนและผู้อื่น
๕. มีใจมั่นคง เชื่อมั่นในตัว
๖. เป็นคนสุภาพ
๗. เตรียมตัวเสมอเพื่อรับเหตุการณ์นั้นๆ
๘. มีพฤติกรรมอันสะอาด ไม่ทำทุจริต
๙. ขยัน

และ
๑. ฟังเป็น พูดให้เขาฟังเป็น
๒. ขจัดอารมณ์ร้ายได้
๓. ทนทุกข์กาย ใจ ทนถูกว่า ทนต่อสิ่งเย้ายวนได้
๔. ปฏิบัติราชการได้คล่องแคล่ว รวดเร็ว

และ
๑. มีความประพฤติดี
๒. ไม่โลภ
๓. ทำตามคำสั่ง ไม่อวดดีกับผู้บังคับบัญชา
๔. บำเพ็ญประโยชน์ ทั้งต่อหน้าและลับหลังผู้บังคับบัญชา

และ
๑. นับถือผู้ที่เจริญด้วยวัยวุฒิและคุณวุฒิ
๒. เคารพผู้ใหญ่ในราชการ
๓. รู้จักประมาณตัว
๔. เข้ากับเขาได้

และ
๑. ฉลาดรอบรู้ มีปัญญา
๒. สมบูรณ์ด้วยความรู้
๓. ทำงานเก่ง
๔. รู้จักกาลอันควร หรือไม่ควรทำ
๕. รู้จักว่าสมัยนั้นๆ เป็นสมัยแห่งอะไร และควรทำอย่างไร

และ
๑. ไม่พูดมากเกินไป
๒. ไม่นิ่งหรือพูดน้อยเกินไป
๓. รู้จักประมาณในการพูด
๔. ไม่พูดด้วยอารมณ์
๕. ไม่พูดกระทบแดกดันผู้อื่น
๖. พูดจริง
๗. พูดดี น่าฟัง
๘. ไม่พูดยุยง
๙. ไม่พูดเพ้อเจ้อ

ผู้เป็นข้าราชการควรระวังการพูดดังกล่าว แล้วจะเกิดผลดีแก่ทุกฝ่าย

คุณสมบัติของทูต
พระพุทธเจ้าทรงแสดงคุณสมบัติของคนเป็นทูตไว้ดังนี้
๑. เป็นคนฟังเป็น
๒. พูดเป็น พูดให้เขาฟังเข้าใจเรื่องได้ดี
๓. คงแก่เรียน
๔. จำแม่น
๕. เข้าใจในเรื่องต่างๆ ได้ง่าย
๖. พูดเก่ง สามารถพูดชักจูงคนฟังให้เห็นตาม
๗. ฉลาด รอบรู้ในสิ่งที่มีคุณมีโทษต่อบ้านเมือง
๘. ไม่ก่อเรื่องทะเลาะวิวาทกับผู้อื่น เป็นคนสุภาพ

และ
๑. ขยันทำงาน
๒. ทำงานด้วยมีสติสัมปชัญญะเสมอ
๓. เป็นคนสุจริต
๔. ใคร่ครวญพิจารณารอบคอบแล้วจึงทำ
๕. เป็นคนเรียบร้อยระมัดระวังตัว
๖. เป็นคนประกอบด้วยธรรม
๗. เป็นคนไม่ประมาท เตรียมตัวรับสถานการณ์เสมอ

นี่คือส่วนหนึ่งของข้าราชการ เมื่อปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ก็จะเจริญไปด้วยยศ ข้อปฏิบัติดังกล่าว ประชาชนทั่วไปก็ปฏิบัติได้ ผลที่ได้รับก็คือ ความยกย่อง และความเจริญก้าวหน้าเหมือนกัน

ส่วนผู้ที่มีอาชีพอื่นๆ เช่น ค้าขาย เกษตรกร เป็นต้น พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงธรรมไว้เช่นกัน เป็นต้นว่า

คุณสมบัติของพ่อค้าแม่ค้า
หากพ่อค้าแม่ค้าต้องการประสบความสำเร็จในอาชีพ ก็ต้องปฏิบัติดังนี้
๑. ตื่นแต่เช้า เอาใจใส่ดูแลกิจการงานของตน
๒. เวลากลางวัน เอื้อเฟื้อสนใจในกิจการงานของตน
๓. เวลาเย็น ต้องตรวจตรากิจการงานของตนในด้านการค้า การเงิน การทำงานของคนในร้าน การติดต่อ เป็นต้น

และต้อง
๑. มีตาดี คือ รู้ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี อะไรขายดีไม่ดี รู้จักหลักการค้า และรู้จักค้าขาย

๒. เอาใจใส่ในการค้า ไม่ปล่อยปละละเลยหรือมอบให้คนอื่นค้าขาย ด้วยไว้ใจจนเกินไป

๓. มีนิสัยในการค้า

การค้าย่อมประสบความสำเร็จแน่นอน หากปฏิบัติได้เช่นนี้ แต่ไม่ควรนำสินค้าเหล่านี้มาขาย เช่น
๑. เครื่องทำลายชีวิต ทำร้ายร่างกาย
๒. คน
๓. สัตว์เป็นสำหรับให้เขาฆ่า
๔. น้ำเมา ของเสพติด
๕. ยาพิษ

โดยเฉพาะผู้ที่เป็นพุทธศาสนิกชนไม่ควรขายสิ่งเหล่านี้ เนื่องจากเป็นเครื่องทำลายผู้อื่นและตนเอง บางท่านอาจคิดว่า ถ้าไม่ขายสัตว์เป็นให้เขานำไปฆ่า แล้วคนจะได้กินเนื้อสัตว์หรือ เป็นการตัดวิธีหากินหรือเปล่า เรื่องนี้ไม่ต้องวิตก เพราะยังมีของอื่นอีกมากที่จะขายได้ ไม่ใช่มีเฉพาะของ ๕ อย่างนี้เท่านั้น และคนทั่วไปก็ไม่ได้เป็นพุทธศาสนิกชนเสียทั้งหมด

คุณสมบัติของดนตรี
พระพุทธองค์ทรงแสดงคุณสมบัติของดนตรีที่ดีไว้ดังนี้

๑. ไพเราะ
๒. เร้าอารมณ์
๓. ให้เพลิดเพลิน
๔. ดื่มด่ำ
๕. ให้เกิดความสบายใจ

พระพุทธองค์ทรงทราบแม้กระทั่งเรื่องของดนตรี

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

มารยาทในสังคม

การอยู่ในสังคมต้องมีมารยาทสำหรับประพฤติ เช่น มารยาทเกี่ยวกับการกินอยู่ เกี่ยวกับสุขภาพอนามัย เรื่องนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดังนี้

มารยาททั่วไป เช่น
ไม่แอบฟังความ
ต้องนุ่งห่มให้เรียบร้อย
ไม่เดินกระโหย่งเท้าเข้าไปในบ้านเขา

มารยาทในการกินอาหาร เช่น
ไม่ทำคำอาหารให้ใหญ่นัก
เมื่ออาหารยังไม่ถึงปาก ไม่อ้าปากไว้ท่า
กำลังกิน ไม่ใช้นิ้วล้วงเข้าไปในปาก
เมื่ออาหารอยู่ในปาก ไม่พูด
ไม่โยนอาหารเข้าปาก
ไม่กินอาหารทำให้กระพุ้งแก้มตุ่ย
ไม่กินพลาง สะบัดมือ(ช้อน) ไปพลาง
ไม่กินอาหารให้หก
ไม่แลบลิ้นกินอาหาร
ไม่กินให้มีเสียง
ไม่กินเลียมือ(เลียช้อน)
ไม่กินเลียปาก
ไม่ใช้มือเปื้อนจับภาชนะน้ำ

ลงมือกินพร้อมกัน อิ่มพร้อมกัน ผู้อิ่มก่อนต้องรอผู้อิ่มทีหลัง แล้วลุกขึ้นพร้อมกัน

ระวังไม่ให้น้ำบ้วนปาก และน้ำล้างมือกระเซ็นไปถูกผู้อื่น

มารยาทของอาคันตุกะ(แขก) ผู้ไปหาเขา หรือไปพักบ้านเขา พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เหมือนกันพร้อมด้วยมารยาทของเจ้าของบ้าน ดังนี้

มารยาทของอาคันตุกะ มีดังนี้
๑. มีความเคารพในเจ้าของบ้าน ให้ความสำคัญแก่บ้าน เช่น ถอดรองเท้าเมื่อเข้าบ้าน เป็นต้น

๒. มีความเกรงใจเจ้าของบ้าน เช่น เห็นเจ้าของบ้านมีธุระก็รอ และเมื่อเสร็จธุระแล้วอย่าอยู่นาน เป็นต้น

๓. แสดงอาการสุภาพ เช่น อย่าขึ้นบ้านเขาทั้งมีเท้าเปื้อน เป็นต้น

๔. แสดงอาการเข้ากันได้กับเจ้าของบ้าน

๕. ถ้าจะพักอยู่กับเขา ต้องทำตนให้ถูกธรรมเนียมของบ้านนั้น เป็นต้น

มารยาทของเจ้าของบ้าน มีดังนี้
๑. เป็นผู้เห็นความสำคัญในการทำปฏิสันถารอาคันตุกะ
๒. แสดงความนับถือ หรือให้ความสำคัญแก่อาคันตุกะ
๓. ทำการต้อนรับโดยธรรม หรือสมภาวะของอาคันตุกะ
๔. ถ้าอาคันตุกะจะพักด้วย ก็เอาใจใส่เอื้อเฟื้อให้ที่พัก เป็นต้น

มารยาทในการใช้ห้องส้วม มีดังนี้
๑. การถ่ายหนัก ถ่ายเบา การใช้ห้องน้ำ ให้เป็นไปตามลำดับผู้มาก่อน มาหลัง(ข้อนี้แสดงว่าการเป็นไปตามลำดับของผู้มาก่อนมาหลัง คือ การเข้าคิวนั้น ในพระพุทธศาสนามีมานานแล้ว)

๒. ให้รักษากิริยา เช่น เห็นประตูปิด ต้องเคาะ หรือให้เสียงก่อนเปิดเข้าไป จะเข้าหรือจะออกต้องนุ่งผ้าให้เรียบร้อย อย่าถ่ายและชำระให้มีเสียงดัง

๓. รู้จักรักษาเครื่องนุ่งห่ม

๔. รักษาตัว อย่าเบ่งแรง อย่าใช้ของแข็งชำระ ต้องชำระด้วยน้ำ
๕. อย่าทำกิจอื่นในขณะถ่าย เช่น อย่าเคี้ยวไม้ชำระฟัน

๖. อย่าทำสกปรก

๗. ช่วยกันรักษาความสะอาด อย่าเกี่ยงกัน

เกี่ยวกับความสะอาดในที่อยู่อาศัย พระองค์ทรงแสดงไว้ดังนี้

สุขวิทยา เช่น
ไม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ บ้วนน้ำลายรดต้นไม้
ไม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ บ้วนน้ำลายลงน้ำ
ไม่ไว้เล็บมือยาว
ไม่ไว้ขนจมูกยาว(จนออกมานอกจมูก)
ไม่เปลือยกายในที่แจ้ง และในเวลาอันไม่ควร
ใช้ไม้ชำระฟัน(คือแปรงสีฟันในสมัยนี้)
น้ำที่ดื่มต้องกรองเสียก่อน
เมื่อถ่ายอุจจาระแล้ว ให้ชำระด้วยน้ำ (ทำให้สะอาดไม่เป็นริดสีดวง)

ไม่สีกายในที่ไม่ควร เช่น ฝาเรือน เป็นต้น หรือด้วยของที่ไม่ควร เช่น เกลียวเชือก เป็นต้น และไม่ให้ใช้หลังสีกัน(ใช้ผ้าได้)

ไม่อยู่โดยปราศจากไตรจีวรแม้คืนหนึ่ง(เป็นการระวังมิให้จีวรหาย หรือสับเปลี่ยนกับใคร เพราอาจทำให้ติดโรคจากผู้อื่นได้)

ไม่กินอาหารร่วมภาชนะเดียวกัน(อย่างพระฉันในบาตร บาตรของใครก็ของผู้นั้น ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลจนถึงบัดนี้ หรือฉันแยกเป็นสำรับๆ สำหรับพระแต่ละรูป หรือถ้าฉันเป็นวงก็ต้องใช้ช้อนกลาง เป็นการป้องกันการติดต่อเชื้อโรคจากผู้อื่น ข้อนี้ขอให้เปรียบกับการกินของชาวตะวันตก)

เรื่องที่ใช้ไม้ชำระฟันหรือถูฟันนี้ พระพุทธเจ้ายังทรงแสดงประโยชน์ไว้อีก คือ
๑. ทำให้ฟันสะอาด
๒. ทำให้ปากไม่เหม็น
๓. ทำให้เส้นประสาทรับรสหมดจดดี
๔. ทำให้เสมหะไม่หุ้มอาหาร
๕. ทำให้กินอาหารมีรส

การรักษาที่อยู่และสิ่งของ ข้อนี้ทรงแสดงไว้ดังนี้

เอาของใช้ตั้งไว้ในที่แจ้งแล้วต้องเก็บ เช่น เตียง เป็นต้น

อย่าทำสกปรก รักษาความสะอาด อย่าให้เปรอะเปื้อน

อย่าให้รกรุงรัง มีฝุ่นละอองมาก

ระวังไม่ให้ชำรุด รักษาเครื่องใช้ เช่น เตียง เก้าอี้ ที่อยู่ในที่นั้น น้ำดื่มน้ำชาตั้งไว้ให้พร้อม

เครื่องใช้จากที่หนึ่ง อย่านำไปใช้อีกที่หนึ่ง เว้นแต่เป็นการยืมไปใช้ชั่วคราว

อย่าเหยียบผ้าขาวที่เขาปูลาดไว้

พิจารณาก่อนแล้วจึงนั่งลงบนที่นั่ง

อย่าทิ้งของลงทางหน้าต่าง และทิ้งออกมานอกกำแพง

ไม่ล้างเท้า อย่าเหยียบเสนาสนะ

มีเท้าเปียกอย่าเหยียบเสนาสนะ

สวมรองเท้าอย่าเหยียบเสนาสนะ

ไม่พึงบ้วนน้ำลายลงบนพื้นที่ทาสี
เท้าเตียง เท้าเก้าอี้ ครูดพื้นที่ทาสี ให้พันเท้านั้นด้วยผ้า

อย่าพิงฝาที่ทาสี(รวมทั้งฝาผนัง กรอบประตู หน้าต่าง)

ผู้ควรพยาบาลคนไข้
พระพุทธเจ้าทรงแสดงถึงผู้ที่ควรเลือกให้เป็นผู้พยาบาลคนไข้ไว้ด้วย ดังนี้

๑. สามารถจัดยาให้ถูก

๒. รู้จักของควรให้กิน ไม่ควรให้กิน เช่น ของแสลง ให้คนไข้กินแต่ของที่กินได้ ไม่แสลง

๓. พยาบาลคนไข้ด้วยเมตตาจิต ไม่มุ่งอามิส

๔. ไม่รังเกียจที่จะนำอุจจาระ เป็นต้น ไปทิ้ง

๕. เป็นผู้สามารถในการพูดปลุกปลอบใจคนไข้ด้วยธรรมกถา

คนมีคุณธรรม ๕ ประการนี้ จึงควรให้พยาบาลคนไข้ ถ้าไม่มีคุณธรรมดังกล่าวแล้ว ก็ไม่ควรให้รับหน้าที่เป็นผู้ดูแลคนไข้

คนไข้ที่พยาบาลยาก
ลักษณะของคนไข้ที่พยาบาลยากและง่าย พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดังนี้

๑. ฝืนคำสั่งหมอ

๒. ไม่รู้จักความพอดีในสิ่งที่สบาย หรือชอบของแสลง

๓. ไม่ยอมกินยา

๔. ไม่บอกอาการเจ็บไข้ตามความจริงแก่หมอ หรือแก่คนพยาบาล

๕. ไม่อดทนต่อทุกขเวทนา

คนไข้มีลักษณะอย่างนี้ เป็นผู้พยาบาลยาก ไม่มีใครอยากพยาบาล ส่วนคนไข้ที่มีลักษณะตรงกันข้ามจากนี้ ย่อมเป็นคนไข้ที่พยาบาลง่าย

การรักษาต้นไม้
ปัญหาเกี่ยวกับการทำลายต้นไม้ในปัจจุบัน จึงมีการชักชวนกันให้ปลูกต้นไม้ รักษาต้นไม้ รักษาป่าไม้ ไม่ทำลายป่าไม้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องนี้ไว้ว่า

๑. ภิกษุอย่าพรากของเขียว คือ ต้นไม้ที่เกิดกับที่ให้พ้นจากที่

๒. ภิกษุอย่าถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ บ้วนน้ำลายรดต้นไม้

๓. เว้นการทำลายพืชและต้นไม้(การทำลายคือ ทำให้ย่อยยับ)

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

ความปรารถนาของฆราวาส

ฆราวาสมีความต้องการดังนี้
๑. ขอสมบัติจงมีแก่เราโดยชอบธรรม
๒. ขอยศจงมีแก่เรา และแก่พวกพ้องโดยชอบธรรม
๓. ขอเราจงมีอายุยืน
๔. เมื่อสิ้นชีพไปแล้วขอให้ไปสุคติ

พระพุทธเจ้าทรงแสดงเหตุให้ความต้องการนี้สำเร็จ เช่น
ความต้องการข้อที่ ๑ ให้กระทำเหตุ คือเหตุให้พ้นความจน มีขยันเป็นข้อแรก

ความต้องการข้อที่ ๒ ให้ทำเหตุคือ ขยันเรียน ขยันทำงาน ขยันหาทรัพย์ในทางสุจริต๑ มีสติสัมปชัญญะความสำนึกผิดถูก๑ มีการงานที่เป็นสุจริต๑ พิจารณาใคร่ครวญแล้วจึงทำ๑ ไม่ประมาทในวัยในชีวิต เป็นต้น มีความเตรียมตัวเพื่อเหตุการณ์นั้นๆ อยู่เสมอ๑ ประพฤติกุศลธรรม๑

ความต้องการข้อที่ ๓ ให้ทำเหตุคือ วิธีทำให้อายุยืน ด้วยทำความสงบกายใจแก่ตน เป็นต้น

ความต้องการข้อที่ ๔ ทรงให้ทำเหตุคือ เดินไปตามทางแห่งสุคติ มีสมบูรณ์ด้วยศีล เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีความปรารถนาเกี่ยวกับครอบครัว คือ มีผัว-เมียและลูกที่ดี มีเพื่อนดี ความปรารถนาเกี่ยวกับครอบครัว ทรงให้ทำตามหน้าที่ของผัว-เมีย ของพ่อแม่กับลูก และเรื่องกรรม เกี่ยวกับเพื่อนให้ดูคนที่จะคบเป็นเพื่อน

สังคม
สังคมมีปัญหาอยู่อย่างหนึ่งคือ ทำอย่างไรจึงจะไม่เป็นสังคมพิการ แต่เป็นสังคมที่มีความมั่นคง เจริญก้าวหน้า เกาะตัวกันอยู่ สมาชิกในสังคมนั้นๆ มีความร่วมมือ มีความสามัคคีกัน พูดกันรู้เรื่อง รับผิดชอบร่วมกัน ในเรื่องนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงวิธีการไว้หลายประการด้วยกัน เช่น

สังคหวัตถุ เรื่องช่วยเหลือกัน พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ดังนี้

๑. ทาน คือ ให้ความรู้ ให้ทรัพย์ เพื่อช่วยให้เขาช่วยตัวเองได้ เป็นต้น

๒. ปิยวาจา คือ พูดดี เช่น พูดแนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์ พูดให้เกิดกำลังใจ พูดให้เกิดความร่วมมือร่วมใจ เป็นต้น

๓. อัตถจริยา คือ ช่วยเหลือผู้อื่นในกิจการต่างๆ ไม่นิ่งดูดาย ไม่หวังค่าจ้าง แต่ทำด้วยน้ำใจ

๔. สมานัตตตา คือ เป็นคนเสมอต้นเสมอปลาย ทำตัวให้เข้ากับเขาได้

เมื่อปฏิบัติวิธีการทั้ง ๔ นี้ได้ ก็ย่อมเกิดความสามัคคี ร่วมมือร่วมใจกันในกลุ่มชนนั้นๆ แน่นอน และถ้าใครมีธรรมเหล่านี้ ผู้นั้นก็ย่อมเป็นที่รักของคนทั่วไป (บางท่านเรียกธรรมข้อนี้ว่า มนต์มหาเสน่ห์ เพราะทำให้ตนเข้าไปนั่งอยู่ในใจของผู้อื่นได้) วิธีการนี้จึงเป็นเครื่องแก้ปัญหาของสังคมที่พิการด้วย

นอกจากนี้พระพุทธเจ้ายังทรงแสดงวิธีอื่นอีก เช่น
สาราณียธรรม เป็นหลักสำหรับให้คำนึงถึงกัน ให้เกิดสามัคคีกัน พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้อีก ๖ ประการคือ

๑. ๒. ๓. ช่วยผู้อื่นทางกาย วาจา ใจ ด้วยความปรารถนาดีทั้งต่อหน้าและลับหลัง

๔. แบ่งปันสิ่งของที่ได้มาโดยชอบธรรมแก่ผู้อื่น ให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์จากทรัพย์สมบัติของตนบ้าง

๕. เป็นผู้มีความประพฤติดีเท่ากับคนอื่น ไม่เป็นที่รังเกียจทางความประพฤติสำหรับผู้อื่น

๖. มีความเห็นร่วมกับผู้อื่นในสังคมนั้น และไม่วิวาทกับใครเพราะมีความเห็นผิดกัน

เมื่อทำได้อย่างนี้ก็จะเป็นที่รักเคารพของผู้อื่น ไม่วิวาทกัน มีแต่สงเคราะห์อนุเคราะห์ มีแต่ความสามัคคีร่วมมือร่วมใจกัน สังคมที่มีบุคคลเช่นนี้ก็จะมีแต่ความเจริญก้าวหน้าเป็นปึกแผ่นมั่นคง ไม่พิการ

และพระองค์ยังทรงแสดงธรรมอื่นๆ อีก อันเป็นไปเพื่อความมั่นคงของสังคม เป็นต้นว่า

อปริหานิยธรรม หลักสำหรับความเจริญไม่เสื่อมของบุคคลและสังคม ข้อนี้พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ดังนี้

๑. หมั่นประชุมกันเสมอ
๒. พร้อมเพรียงกันประชุม เลิกประชุม และพร้อมเพรียงช่วยทำกิจของส่วนรวม เหล่านี้เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีวิธีการอื่นอีกมากที่ทรงแสดงไว้ เป็นต้นว่า
๑. คิดถึงกัน
๒. ทำความรักความปรารถนาดีในกันและกัน
๓. มีความนับถือกัน
๔. ช่วยเหลือกัน
๕. ไม่วิวาทแก่งแย่งกัน
๖. มีความสามัคคี ร่วมใจเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

คนในสังคมใดประกอบด้วยธรรมดังกล่าวนี้ สังคมนั้นก็ย่อมมีความเจริญมั่นคง ไม่พิการแน่นอน

วิธีการเหล่านี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้กว่า ๒๕๐๐ ปีมาแล้ว ในปัจจุบันนี้ก็ยังใช้ได้อยู่ แม้ในอนาคตก็เช่นเดียวกัน ขอให้เทียบกับวิธีการในปัจจุบันที่มีผู้ตั้งขึ้นเพื่อให้สังคมไม่พิการ ส่วนเหตุที่ทำให้เกิดทะเลาะวิวาท ทำให้สังคมพิการ นับตั้งแต่สังคมย่อย คือ ภายในครอบครัว จนถึงสังคมใหญ่ คือบ้านเมืองนั้น คือปฏิบัติตามวิธีการตรงกันข้ามจากวิธีการดังกล่าวแล้ว หรือปฏิบัติดังนี้ คือ

๑. โกรธ ผูกใจเจ็บ
๒. ลบหลู่ ตีเสมอไม่นับถือ
๓. ริษยา ตระหนี่
๔. โอ้อวด เจ้าเล่ห์
๕. ปรารถนาเลว
๖. ถือทิฏฐิ

เมื่อสรุปแล้วเหตุที่ทำให้ทะเลาะวิวาทผิดใจกันก็คือ ความอยาก(ตัณหา) กับทิฏฐิ ดังที่ท่านมหากัจจายนะเถระ กล่าวไว้ในทุกนิบาต อังคุตตรนิกาย ความไทยว่า ฆราวาสทะเลาะวิวาทกัน เพราะเหตุคือความอยาก บรรพชิตทะเลาะวิวาทกัน เพราะเหตุคือความเห็นไม่ตรงกัน(ทิฏฐิ) การทะเลาะกัน ผิดใจกัน ไม่ถูกกัน มีอยู่ที่ไหน ที่นั่นจะเกิดความปั่นป่วน เสียความมั่นคง ไม่เจริญก้าวหน้า

ความสำเร็จ
พูดถึงความสำเร็จในชีวิต ย่อมเป็นที่ปรารถนาของคนทั่วไป เรื่องนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงวีที่จะให้ประสบความสำเร็จไว้หลายวิธี เป็นต้นว่า

อิทธิบาท
เหตุให้ถึงความสำเร็จสมประสงค์(ที่ไม่เหลือวิสัย) พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ๔ ประการ คือ

๑. ฉันทะ คือ ความพอใจในสิ่งนั้นๆ ที่ตนจะต้องทำ
๒. วิริยะ คือ พากเพียรพยายามทำสิ่งที่พอใจนั้น
๓. จิตตะ คือ เอาใจใส่ในสิ่งที่ทำนั้น ไม่ทอดทิ้ง
๔. วิมังสา คือ หมั่นตริตรองพิจารณาค้นคว้าหาข้อมูลต่างๆ ในสิ่งที่ทำนั้น

เหตุ ๔ ประการนี้ เมื่อมีบริบูรณ์แล้ว ย่อมสามารถทำให้ผู้ทำถึงความสำเร็จได้ตามประสงค์ ในสิ่งที่ไม่เหลือวิสัย นอกจากนี้ยังมีวิธีอื่นอีก เช่น การใช้ความเพียร ๔ ประการ ซึ่งมีอยู่ในจตุกกนิบาต อังคุตตรนิกาย คือ

๑. เพียรระวังความไม่ดีความเสียหายไม่ให้เกิด
๒. เพียรละความไม่ดีความเสียหายที่เกิดแล้ว
๓. เพียรให้สิ่งดีงามที่ยังไม่เกิดให้เกิดมีขึ้น
๔. เพียรให้สิ่งดีงามที่เกิดมีแล้วเจริญยิ่งๆ ขึ้น เหล่านี้เป็นต้น

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

ลักษณะของคนดีคนชั่ว

ในสังคมจะต้องประกอบไปด้วยคนดีและคนเลวอยู่บ้าง นอกจากลักษณะของเพื่อนที่ได้กล่าวแล้ว พระพุทธองค์ยังทรงแสดงลักษณะของคนดีคนชั่วไว้อีกเป็นอันมาก ดังนี้

ลักษณะคนดี ๗ ประการ คือ
๑. รู้เหตุ

๒. รู้ผล

๓. รู้จักตนและหน้าที่ของตน

๔. รู้จักประมาณในการต่างๆ เช่น การพูด การเงิน การนอน การใช้จ่าย เป็นต้น

๕. รู้จักใช้กาลเวลาให้ถูกต้องแก่ภาวะนั้นๆ

๖. รู้จักสังคม เช่น สังคมนี้เป็นอย่างนี้ สังคมนั้นเป็นอย่างนั้น ต้องทำตัวอย่างนั้นๆ เพื่อให้เข้ากับเขาได้ ถ้าเป็นสังคมคนชั่วก็ไม่ไปเกี่ยวข้อง เป็นต้น

๗. รู้จักบุคคลว่า คนนี้ควรคบ คนนั้นไม่ควรคบ คนนี้เป็นเทพ คนนั้นเป็นสัตว์ เป็นต้น

ลักษณะคนชั่ว
ลักษณะของคนชั่วนั้นมีมาก นอกจากจะเป็นคนชั่วเพราะคิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่วแล้ว ยังมีที่ร้ายแรงกว่านั้นอีก คือ

๑. ฆ่าผู้หญิงได้
๒. ชอบเป็นชู้เขา
๓. ประทุษร้ายมิตร
๔. ฆ่าพระได้
๕. ตระหนี่เห็นแก่ตัวจัด

และคนอีกพวกหนึ่งที่คนดีไม่ควรคบ คือ
๑. ชอบพูดปด
๒. เย่อหยิ่ง
๓. พูดมาก
๔. ขี้โอ่อวดตัว
๕. ยกตนเอง
๖. มีใจไม่มั่นคง

หากไปคบคนเหล่านี้อาจต้องประสบกับภาวะดังนี้
๑. ต้องกลายเป็นนักเลงการพนัน
๒. เป็นนักเลงเจ้าชู้
๓. เป็นนักเลงสุรา ติดสิ่งเสพติด
๔. เป็นนักหลอกลวง
๕. เป็นคนเจ้าเล่ห์
๖. เป็นนักเลงอันธพาล และต้องประสบภัยอันตราย มีอุปสรรคในชีวิต เป็นต้น คนเลวเหล่านี้เลวยิ่งกว่าโจรที่ปล้นเขากินเสียอีก เพราะโจรในสมัยพระพุทธเจ้าจะมีธรรมประจำใจ คือ

๑. ไม่ฆ่าคนที่ยอมแพ้
๒. ไม่ถือเอาของเขาจนหมดสิ้น ยังเหลือไว้บ้าง
๓. ไม่ลักพาหญิง ไม่ทำร้ายหญิง
๔. ไม่ทำร้ายเด็ก
๕. ไม่ปล้นนักบวช
๖. ไม่ปล้นของแผ่นดิน
๗. ไม่ปล้นใกล้บ้านตน
๘. ฉลาดในการเก็บทรัพย์ที่ปล้นได้

ในสมัยนี้มีความเจริญทางวัตถุมาก แต่ทางด้านจิตใจแล้วยังต่ำกว่าคนสมัยก่อนมาก และโจนสมัยนี้ก็ไม่มีธรรมเหมือนโจรในสมัยก่อนด้วย และลักษณะของคนดีคนชั่วก็ยังมีอีกมาก

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

หลักปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนา

หลักปฏิบัติของคนในพระพุทธศาสนา สำหรับคนในครอบครัว ในสมาคม และในองค์การต่างๆ มีดังนี้

๑. ไฟในอย่านำออก(คือเรื่องไม่ดีภายในครอบครัว ในสมาคม หรือในองค์การ ไม่ควรนำไปพูดให้คนภายนอกรู้)

๒. ไฟนอกอย่านำเข้า(คือเรื่องไม่ดีงามภายนอก อย่านำมาสู่ครอบครัว สมาคม หรือองค์การ)

พระพุทธเจ้ามิได้แสดงแต่เฉพาะเหตุที่ทำให้ตั้งตัวได้เท่านั้น แต่ยังทรงแสดงเหตุแห่งความฉิบหาย ตั้งตัวไม่ได้ไว้ด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้หวังจะสร้างอนาคต หรือผู้ต้องการมีฐานะมั่นคงต้องละเว้น มีดังนี้

อบายมุข
ทางของความเสื่อมทรัพย์ เสื่อมเกียรติ เสื่อมการงาน เสื่อมชีวิต เสื่อมทางสังคม มีดังนี้

๑. เป็นนักเลงหญิง นักเลงเหล้า ติดของเสพติด เป็นนักเลงหัวไม้

๒. เป็นนักเที่ยวกลางคืน

๓. เป็นนักเที่ยวดูการเล่น เที่ยวสนุกจนเกินประมาณ

๔. เป็นนักเลงการพนัน

๕. คบคนชั่วเป็นเพื่อน

๖. เกียจคร้านในการเรียน ในการหาทรัพย์ ในการทำงาน

และพระพุทธองค์ทรงแสดงรายละเอียด เช่น คบคนชั่วเป็นเพื่อน ทำให้เกิดเรื่องเลวร้ายอย่างนั้นๆ รวมความว่า คบเพื่อนเลวเพียงอย่างเดียวก็ทำสิ่งไม่ดีอีก ๕ อย่างได้หมด

คนที่ประสบความเสื่อมในชีวิต เมื่อพิจารณาดูพฤติกรรมของเขาแล้ว ย่อมไม่พ้นไปจากอบายมุข โดยเฉพาะคบเพื่อนเลว นอกจากนี้ยังทรงแสดงไว้ในที่อื่นอีก เช่น ในอัฏฐกนิบาต อังคุตตรนิกาย เป็นต้น

ตระกูลที่เคยมั่งมีแต่กลับเสื่อม
ตระกูลที่เคยมั่งมีมาก่อน แต่ในภายหลังกลับเสื่อมลงนั้น พระพุทธองค์ตรัสว่าเป็นเพราะเหตุดังต่อไปนี้

๑. ไม่หาของหาย หายแล้วปล่อย ซื้อหาใหม่

๒. ไม่บูรณะของเก่า ที่พอบูรณะได้ ปล่อยทิ้ง แล้วซื้อหาใหม่

๓. ไม่รู้จักประมาณในการใช้จ่าย ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายอย่างไร้ความหมาย ใช้เงินใช้ของไม่เป็น

๔. ตั้งหญิง หรือชายเลวเป็นพ่อบ้านแม่บ้าน ตัวก็โง่กว่าเขา

ถ้าเป็นเช่นนี้จะมั่งมีเท่าไรก็ต้องหมด ตระกูลเก่าที่ยังรักษาฐานะไว้ได้ เพราะไม่ทำอย่างนี้

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

ความสุขความทุกข์ทางพระพุทธศาสนา

คนทุกคนย่อมต้องการความสุข ฆราวาสก็ต้องการอย่างหนึ่ง บรรพชิตก็ต้องการอย่างหนึ่ง ความสุขที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้มีดังนี้คือ

ความสุขของฆราวาส มีดังนี้
๑. สุขเกิดจากการมีทรัพย์
๒. สุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์
๓. สุขเกิดจากการไม่เป็นหนี้
๔. สุขเกิดจากการทำงานสุจริต

ความจนเป็นทุกข์ ความเป็นหนี้ก็เป็นทุกข์
พระพุทธองค์ทรงแสดงว่า ความจนเป็นทุกข์ในโลก ความเป็นหนี้ การเสียดอกเบี้ย การถูกทวง เป็นทุกข์ในโลก และพระองค์ได้ทรงแสดงเหตุแห่งการตั้งตัวได้ มีทรัพย์สมบัติ มีฐานะมั่นคง ไม่ยากจน มีความรู้ดี และมีความสุขในปัจจุบัน

ธรรมที่ให้ได้ประโยชน์สุขในปัจจุบัน และทำให้พ้นความจน(หัวใจเศรษฐี) มีดังนี้
๑. สมบูรณ์ด้วยความขยัน เช่น ขยันหาความรู้ ขยันหาทรัพย์ ขยันในการทำการงาน

๒. สมบูรณ์ด้วยการระวังรักษา เช่น รักษาสมบัติที่มีอยู่มิให้เสียหาย รักษาการงานมิให้เสียหาย รักษาความรู้เก่า และหาความรู้ใหม่เพิ่มเติม

๓. คบคนดีเป็นเพื่อน ไม่คบคนชั่ว

๔. เลี้ยงชีพโดยควรแก่รายได้ คือ ไม่เกินรายได้ อย่าให้ต้องมีหนี้

เมื่อทำได้ครบเช่นนี้แล้วก็ย่อมที่จะสามารถตั้งตัวได้ มีทรัพย์สมบัติ มีฐานะมั่นคง และมีความสุขในโลกนี้ ไม่ต้องทุกข์เพราะความยากจน เป็นลูกหนี้เขา เรื่องนี้เป็นวิธีแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วย และบางท่านเรียกว่า หัวใจเศรษฐี

เมื่อมีทรัพย์สมบัติแล้วก็ต้องใช้ทรัพย์ พระพุทธองค์ทรงแสดงวิธีใช้ทรัพย์ไว้ด้วยดังนี้

วิธีใช้ทรัพย์ ๕ ประการคือ
๑. ใช้เลี้ยงตัวและบุคคลใกล้เคียง เช่น พ่อแม่ ลูกเมีย ให้เป็นสุข

๒. ใช้เลี้ยงเพื่อนและผู้เกี่ยวข้องให้เป็นสุข

๓. ใช้ขจัดอันตราย เช่น ความเจ็บไข้ของตนและผู้อื่น เป็นต้น

๔. ใช้ทำพลี คือสงเคราะห์ญาติและพวกพ้อง ต้อนรับแขก ทำบุญอุทิศให้คนตาย ให้เป็นของหลวง เช่น การเสียภาษี เป็นต้น ใช้ช่วยบ้านเมือง

๕. ใช้บำรุงสมณะผู้ประพฤติดี และในทางที่ควรอื่นๆ เช่น เพื่อสาธารณประโยชน์ เป็นต้น

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

ลักษณะของเพื่อนที่ดีและคนดี

เพื่อน
มีความสำคัญต่อชีวิตของคนทั่วไป คนจะดีหรือชั่ว โดยมากมักเป็นเพราะเพื่อน เช่น คนสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เที่ยวเสเพล ก็เพราะเพื่อนพูดชักจูงให้เห็นว่าเป็นของดี เป็นการหาประสบการณ์ เพื่อกำไรของชีวิต การแนะนำเพื่อนให้เสียคนอย่างนี้ ไม่มีพ่อแม่ที่ไหนแนะนำ พระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่องความสำคัญของเพื่อนนี้ดี เมื่อพระอานนท์กราบทูลว่า เพื่อนเป็นครึ่งหนึ่งของชีวิต พระพุทธองค์จึงตรัสว่าเพื่อนเป็นทั้งหมดของชีวิต ดังนั้น พระองค์ทรงแสดงพระสูตรว่าด้วยสิ่งที่เป็นมงคล(มงคลสูตร) ๓๘ ประการ จึงทรงแสดงเรื่องการคบเพื่อนไว้ก่อนธรรมอื่นในพระสูตรนั้น และพระองค์ทรงแสดงเรื่องเพื่อนที่ดี เพื่อนเลว พร้อมทั้งวิธีดูคนว่าจะเป็นเพื่อนชนิดไหนไว้เป็นอันมาก เช่น

เพื่อนเทียมมีลักษณะดังนี้
๑. ปอกลอกหลอกลวง
๒. ดีแต่พูด
๓. คอยประจบ
๔. ชักชวนในทางเสียหาย

คนปอกลอกมีลักษณะดังนี้
๑. คิดเอาแต่ได้จากเพื่อนข้างเดียว
๒. เสียให้เพื่อนน้อย คิดเอาจากเพื่อนมาก
๓. เมื่อมีภัยมาถึงตัว จึงรับทำธุระของเพื่อน ไม่เช่นนั้นก็ไม่ทำ
๔. คบเพื่อนเพราะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว

คนดีแต่พูดมีลักษณะดังนี้
๑. นำเอาเรื่องที่ล่วงแล้วมาพูด
๒. อ้างเอาของที่ยังไม่มีมาพูด
๓. ให้เพื่อนด้วยของที่ไร้ประโยชน์ หรือที่ให้โทษ เช่น ให้เหล้าดื่ม ให้เงินเที่ยวเสเพล เป็นต้น
๔. พึ่งไม่ได้

คนประจบมีลักษณะดังนี้
๑. จะทำดีก็คล้อยตาม
๒. จะทำชั่วก็คล้อยตาม ไม่ห้ามปราม
๓. ต่อหน้าสรรเสริญ
๔. ลับหลังนินทา

คนชักชวนในทางเสียคนมีลักษณะดังนี้
๑. ชักชวนดื่มน้ำเมา เสพของเสพติด
๒. ชักชวนเที่ยวกลางคืน
๓. ชักชวนให้มัวเมาในการเล่นที่ไร้ประโยชน์
๔. ชักชวนให้เล่นการพนัน

เนื่องจากเพื่อนมีความสำคัญต่อชีวิต พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงเพื่อนที่ดีไว้ให้พิจารณาด้วยดังนี้

เพื่อนแท้ พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ ๔ ประเภทดังนี้
๑. ให้อุปการะ
๒. ร่วมสุขร่วมทุกข์
๓. แนะนำสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์
๔. มีความรัก

ลักษณะของเพื่อนมีอุปการะ มีดังนี้
๑. ป้องกันเพื่อนไม่ให้เกิดอันตราย
๒. ป้องกันทรัพย์สมบัติของเพื่อนไม่ให้มีอันตราย
๓. เมื่อมีภัย เป็นที่พึ่งอาศัยได้
๔. เมื่อเพื่อนมีธุระ ย่อมช่วยเหลือเป็นอย่างดีด้วยทรัพย์ ด้วยกำลัง ด้วยความคิด

ลักษณะของเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุข มีดังนี้
๑. เป็นคนเปิดเผย ไม่มีความลับกับเพื่อน
๒. ปกปิดความลับของเพื่อน
๓. ไม่ทิ้งในยามที่เพื่อนถึงความวิบัติ
๔. แม้ชีวิตก็อาจสละแทนได้

ลักษณะของเพื่อนแนะนำสิ่งที่มีประโยชน์ มีความปรารถนาดีต่อเพื่อน เป็นดังนี้
๑. ห้ามไม่ให้เพื่อนทำความชั่ว
๒. แนะนำชักจูงให้เพื่อนทำความดี
๓. ให้เพื่อนได้พบเห็นและฟังสิ่งที่ยังไม่เคยพบเห็น และไม่เคยฟัง
๔. แนะนำทางแห่งความสุขให้

ลักษณะของเพื่อนที่มีความรักเพื่อน เป็นดังนี้
๑. ทุกข์ก็ทุกข์ด้วย
๒. สุขก็สุขด้วย
๓. คัดค้านคนที่พูดติเตียนเพื่อน
๔. รับรองคนที่พูดสรรเสริญเพื่อน

พระพุทธเจ้าทรงแสดงวิธีดูคนที่จะคบเป็นเพื่อนว่าจะเป็นเพื่อนดีเลวไว้ให้พิจารณาอย่างนี้ และเพื่อไว้ดูคนอื่นและตัวเองด้วย นอกจากนี้พระองค์ยังทรงแสดงเรื่องลักษณะเพื่อนดีเลวไว้ในที่อื่นอีกเป็นอันมาก เช่น ในชาดกขุททกนิกาย เป็นต้น

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

หน้าที่ของคนในสังคม

คนเป็นสัตว์ที่ชอบอยู่เป็นกลุ่ม เริ่มตั้งแต่กลุ่มครอบครัวจนถึงเป็นชาติ พระพุทธองค์ทรงแสดงหน้าที่ของแต่ละคนในกลุ่มคน คือในสังคมนั้นๆ ที่พึงปฏิบัติต่อกัน เริ่มตั้งแต่คนในครอบครัว เช่น ในระหว่างพ่อแม่กับลูก จนถึงพระเจ้าแผ่นดินกับประชาชน หรือระหว่างประเทศหนึ่งกับอีกประเทศหนึ่ง เป็นต้น โดยทรงแสดงหน้าที่อันควรปฏิบัติต่อกัน เพื่อผลคือความสงบ และความอยู่เย็นเป็นสุข

หน้าที่ของพ่อแม่ที่ควรปฏิบัติต่อลูก ทรงแสดงไว้ดังนี้
๑. ไม่ให้ทำความชั่ว
๒. ให้ทำความดี
๓. ให้การศึกษา
๔. หาภรรยาที่ดีให้
๕. มอบมรดกให้เมื่อถึงเวลาอันสมควร

หน้าที่ของลูกที่ควรประพฤติต่อพ่อแม่ ทรงแสดงไว้ดังนี้
๑. เลี้ยงพ่อแม่ด้วยความกตัญญูกตเวที
๒. ช่วยทำธุรกิจของพ่อแม่
๓. สร้าง รักษาชื่อเสียง ทำให้เกิดความมั่นคงแก่วงศ์สกุล
๔. ประพฤติตัวดี ควรแก่การที่พ่อแม่จะมอบมรดกให้ด้วยความไว้วางใจ
๕. เมื่อพ่อแม่ตายไปแล้วก็ไม่ลืมบุญคุณ บำเพ็ญกุศลอุทิศส่วนบุญไปให้

หน้าที่ของครูอาจารย์ที่ควรปฏิบัติต่อศิษย์ มีดังนี้
๑. แนะนำศิษย์อย่างดี ด้วยมีเจตนาดี
๒. สอนอย่างดี ด้วยความตั้งใจดี
๓. สอนวิทยาการให้สิ้นเชิง ไม่ปิดบังด้วยความปรารถนาดี
๔. ยกย่องให้ปรากฏในเพื่อนฝูง
๕. ช่วยเหลืองศิษย์มิให้มีอันตรายและให้มีความสุข

หน้าที่ของศิษย์ที่ควรปฏิบัติต่อครูอาจารย์ มีดังนี้
๑. มีความเคารพนับถือครูอาจารย์
๒. ช่วยทำธุรกิจของครูอาจารย์
๓. เชื่อฟังครูอาจารย์
๔. มีความกตัญญูกตเวทีในครูอาจารย์
๕. เล่าเรียนด้วยความตั้งใจ

หน้าที่ดังกล่าว ไม่ได้กล่าวถึงความรักที่พ่อแม่มีต่อลูก ที่ครูอาจารย์มีต่อศิษย์ ทั้งนี้เพราะพ่อแม่ และครูอาจารย์ย่อมมีความรักต่อลูก และศิษย์เป็นธรรมดาอยู่แล้ว

ในระหว่างสามีกับภรรยา พระพุทธองค์ทรงแสดงหน้าที่อันพึงปฏิบัติต่อกันดังนี้

หน้าที่ของสามีที่ควรปฏิบัติต่อภรรยา มีดังนี้
๑. ยกย่องว่าเป็นภรรยา
๒. ไม่ดูหมิ่นเหยียดหยาม
๓. ไม่นอกใจ มีความซื่อสัตย์
๔. มอบความเป็นใหญ่ในบ้านให้
๕. ให้เครื่องประดับเครื่องแต่งตัว

หน้าที่ภรรยาที่ควรปฏิบัติต่อสามี มีดังนี้
๑. จัดงานในบ้านดี
๒. สงเคราะห์คนของสามีดี
๓. ไม่นอกใจสามี มีความซื่อสัตย์
๔. รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ไว้
๕. มีความขยัน

ตามธรรมดาคนต้องมีเพื่อน และเพื่อนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต พระพุทธเจ้าทรงแสดงหน้าที่ของเพื่อนที่ควรปฏิบัติต่อกันดังนี้

๑. ช่วยเหลือเพื่อน
๒. พูดดี
๓. ทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เพื่อน
๔. เป็นคนเสมอต้นเสมอปลายกับเพื่อน
๕. ซื่อสัตย์ต่อเพื่อน
๖. ป้องกันเพื่อนจากอันตราย
๗. ป้องกันทรัพย์ของเพื่อนจากอันตราย
๘. เป็นที่พึ่งของเพื่อนเมื่อเพื่อนมีอันตราย
๙. ไม่ทิ้งเพื่อนในคราวที่เพื่อนประสบความวิบัติ
๑๐. นับถือวงศ์ญาติของเพื่อนเหมือนญาติของตน

ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง พระพุทธองค์ก็ทรงแสดงหน้าที่อันควรปฏิบัติต่อกันไว้ดังนี้

หน้าที่ของนายจ้างที่ควรปฏิบัติต่อลูกจ้าง มีดังนี้
๑. ให้ลูกจ้างทำงานตามสมควรแก่กำลัง และความรู้ความสามารถ
๒. ให้อาหารและค่าจ้างรางวัลตามสมควร
๓. ให้การรักษาพยาบาลในยามเจ็บไข้
๔. ให้รางวัลพิเศษเมื่อทำงานดี
๕. ให้ลูกจ้างได้พักตามกาลอันสมควร

หน้าที่ของลูกจ้างที่ควรปฏิบัติต่อนายจ้าง มีดังนี้
๑. ขยันทำงานก่อนนายจ้าง
๒. เลิกทำงานภายหลังนายจ้าง
๓. ซื่อสัตย์ต่อนายจ้าง ไม่คดโกงลักของ
๔. ทำงานดี
๕. สรรเสริญนายจ้าง

ในระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อย ทรงแสดงหน้าที่อันสมควรปฏิบัติต่อกัน ดังนี้

หน้าที่ของผู้ใหญ่ที่ควรปฏิบัติต่อผู้น้อย มีดังนี้
เว้นอคติ คือ ความลำเอียง เพราะชอบ เพราะชัง เพราะหลง เพราะกลัวเกรง และ
๑. มีเมตตา
๒. มีกรุณา
๓. มีมุทิตา พลอยยินดีกับผู้น้อยเมื่อเขาได้ดี ไม่ริษยา
๔. มีอุเบกขาในผู้น้อย เมื่อไม่อาจแสดงความรู้สึกอย่างอื่นได้ ดังนี้เรียกว่า พรหมวิหาร

หน้าที่ของผู้น้อยที่ควรปฏิบัติต่อผู้ใหญ่ มีดังนี้
๑. มีความเคารพยำเกรง
๒. ไม่เย่อหยิ่งอวดดีดื้อรั้น
๓. รู้จักพอ
๔. มีความกตัญญูกตเวที
๕. มีความอดทน
๖. ว่าง่ายสอนง่าย พูดรู้เรื่องง่าย

เมื่อนายจ้างกับลูกจ้าง หรือผู้ใหญ่กับผู้น้อยปฏิบัติต่อกันอย่างนี้ ต่างฝ่ายก็จะมีความสงบสุข กิจการย่อมเจริญก้าวหน้า ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ตลอดไปจนถึงบ้านเมือง

หน้าที่ของพลเมือง มีดังนี้
๑. อัตตญญุตา ความเป็นผู้รู้จักฐานะหน้าที่ของตน แล้วทำตามฐานะหน้าที่ให้เหมาะสม
๒. ราชพลี ถวายหลวง เสียภาษีช่วยการแผ่นดิน

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา