เหตุแห่งมรณะ๔ ประการ

Socail Like & Share

มวลสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ เมื่อมีเกิดแล้วก็ย่อมมีดับไป มีเที่ยงแท้แน่นอน ย่อมเปลี่ยนแปรไปตามสภาวะของสังขารธรรมทั้งหลาย เหตุแห่งการสิ้นไปมี ๔ ประการ คือ
๑. อายุขัย    ๒. กรรมขัย
๓. อุภยขัย    ๔. อุปัจเฉทกรรมขัย

คนที่เกิดมาแล้วสิ้นชีวิตแต่เด็กบ้าง เป็นหนุ่มเป็นสาวบ้าง เป็นคนเฒ่าชราบ้าง อุปมาเหมือนตะเกียงไส้หมด ก็อายุขัยย่อมดับ สุดแต่ว่าไส้ยาวหรือสั้น ยาวก็อยู่ได้นาน สั้นก็ดับเร็ว เรียกว่า อายุขยะ หมายถึง ความสิ้นไปแห่งอายุ

บางคนเกิดมาแล้ว ยังมีสมควรสิ้นชีวิต ได้ประกอบคุณงามความดีไว้ และมาสิ้นชีวิตไปตามผลกรรมที่ตนกระทำไว้ อุปมาเหมือนตะเกียงเมื่อน้ำมันยังมีอยู่ก็ยังส่องสว่าง เมื่อนํ้ามันหมดก็ย่อมดับ เรียกว่า กรรมขยะ หมายถึง ความสิ้นไปแห่งกรรม

บางคนเกิดมาสิ้นทั้งอายุ สิ้นไปทั้งกรรม อุปมาเหมือนตะเกียงหมดทั้ง น้ำมัน หมดทั้งไส้ เรียกว่า อุภยขยะ หมายถึง ความสิ้นไปแห่งอายุและกรรม

บางคนเกิดมาแล้วมีอันตรายต่างๆ มาเบียดเบียน บีฑา เช่น ถูกเขาตี ถูกเขาฆ่า ถูกเขาแทง ตกต้นไม้ ตกนํ้าตาย รถควํ่าตายปัจจุบันทันด่วน อุปมาเหมือน ตะเกียงที่จุดไว้ เกิดอุปัทวเหตุมีลมพัดกระโชกมาทำให้ตะเกียงนั้นดับ เรียกว่า อุปัจเฉทกรรมขยะ หมายถึง ความสิ้นไปเพราะมีกรรมเข้าไปตัดรอน อุปัจเฉทกรรม เป็นกรรมเข้าไปดัดรอน บางทีคนกำลังกระทำความดี แต่อุปัจเฉทกรรมเข้าไป ทำให้เกิดผลเสียก็มี

กรรมอันเป็นเหตุแห่งกรรมทั้งหลาย ๔ คือ
๑. ชนกกรรม        กรรมแต่งให้เกิด
๒. อุปัตถัมภกกรรม    กรรมสนับสนุน
๓. อุปปีฬกกกรรม    กรรมบีบคั้น
๔. อุปฆาฏกกรรม    กรรมเข้าไปตัดรอน

กรรมที่สามารถยังสัตว์ให้เคลื่อนจากภพหนึ่ง แล้วไปเกิดในอีกภพหนึ่ง เปรียบด้วยบิดาผู้ให้กำเนิดบุตร จากนั้นไปก็หมดหน้าที่ ชื่อว่า ชนกกรรม

กรรมที่ไม่อาจแต่งให้เกิดได้เอง ต่อเมื่อชนกกรรมแต่งให้เกิดแล้ว จึงเข้า สนับสนุนส่งเสริม เปรียบเหมือนแม่นมผู้เลี้ยงทารกที่คนอื่นให้เกิดแล้ว กรรมนี้ เป็นสภาค (ส่วนสนับสนุน) กับชนกกรรม ถ้าชนกกรรมเป็นกุศลแต่งให้เกิดข้างดี กรรมนี้ก็เข้าสนับสนุนทารกผู้เกิดนั้นให้มีความสุขปราศจากทุกข์ เจริญรุ่งเรือง ตรงกับคำว่าโชติโชติปรายโน หมายถึง รุ่งเรืองมาแล้ว รุ่งเรืองต่อไปภายหน้า ถ้าเป็นอกุศลแต่งให้เกิดข้างเลว ก็เข้าสนับสนุนซํ้าเติมให้ได้ทุกข์หายนะยิ่งขึ้น ตรงกับคำว่า ตโม ตมปรายโน หมายถึงมืดมาแล้วมืดไปในภายหน้า หรือจะว่าอีกนัยหนึ่งว่า ชนกกรรมเป็นกรรมเดิม กรรมนี้เป็นกรรมเพิ่มพูน สนับสนุน ซํ้าเติม ให้ดีให้เลวร้ายได้ ชื่อว่า อุปัตถัมภกกรรม

กรรมที่เป็นวิสภาค (เข้ากันไม่ได้) กับชนกกรรม เมื่อชนกกรรมแต่งให้ เกิดแล้ว กรรมนี้ก็เข้าไปบีบคั้นผลแห่งชนกกรรมไม่ให้ผลเต็มที่ ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ถ้าชนกเป็นกุศลแต่ปฏิสนธิข้างดี กรรมนี้เข้าไปบีบคั้นให้อ่อนกำลัง ตรงกับคำว่า ตโม โชติปรายโน หมายถึงมืดมาแล้วมีสว่างรุ่งเรืองไปในภายหน้า กรรมนี้เข้าบีบคั้นผลแห่งชนกกรรมฉันใด พึงเข้าใจว่าเข้าไปบีบคั้นผลแห่ง อุปัตถัมภกกรรมฉันนั้น ชื่อว่า อุปปีฬกกรรม

กรรมที่เป็นวิสภาค (เข้ากันไม่ไต้) กับชนกกรรมและอุปัตถัมภกกรรม เหมือนกัน แต่เป็นสภาค (เข้ากันได้) กับอุปปีฬกกรรม แต่ให้ผลรุนแรงกว่า ย่อมจะตัดรอนผลแห่งชนกกรรมและอุปัตถัมภกรรม ให้ขาดสิ้นทีเดียว แล้วจึงให้ผลแทนที่ ชื่อว่า อุปฆาตกรรม กรรม ๔ ประการนี้ จัดตามกิจที่เป็นหน้าที่

นอกจากนี้ยังมีกรรมอีก ๔ ประการ คือ
๑. ปัญจานันตริยกรรม    (ครุกรรม)
๒. อาสันนกรรม            (กรรมเมื่อจวนเจียนจะตาย)
๓. อาจิณณกรรม        (พหุลกรรม, กรรมที่ทำเนืองนิตย์)
๔. กตัตตากรรม            (กรรมสักว่าทำ)

ครุกรรม เป็นกรรมหนักที่สุดกว่ากรรมชนิดอื่นๆ ทั้งหมด ท่านจึงเรียกว่า ครุกรรมในฝ่ายอกุศล จัดเป็นอนันตริยกรรม ส่วนในฝ่ายกุศล ท่านจัดเป็นสมาบัติ ๘ กรรมอันใดทั้งหลายแหล่ที่มีอยู่แต่เมื่อมีกรรมนี้ ย่อมให้ผลก่อนกรรมอื่น เปรียบเหมือนคนอยู่ในที่สูง เอาสิ่งต่างๆ มีก้อนหินบ้าง ชิ้นไม้บ้าง กระดาษบ้าง ทิ้งลงมาจากที่สูง สิ่งใดมีนํ้าหนักมากกว่า ก็จะตกลงถึงพื้นดินก่อน ส่วนสิ่งใดที่เป็นของเบา ย่อมจะตกถึงพื้นดินในภายหลัง ท่านจึงจัดเป็นอนันตริยกรรม เพราะเป็นกรรมที่มีโทษมาก และอนันตริยกรรมนั้นมี ๕ ประการด้วยกัน คือ

๑. มาตุฆาต ฆ่ามารดา
๒. ปิตุฆาต ฆ่าบิดา
๓. อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์
๔. โลหิตุปปาท ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงห้อพระโลหิต
๕. สังฆเภท ทำสงฆ์ให้แตกกัน

กรรมที่กล่าวมานี้ ชื่อว่า ปัญจานันตริยกรรม

กรรมที่บุคคลกระทำเมื่อเวลาใกล้จะตาย เมื่อไม่มีกรรมอย่างอื่น คือผู้ตายไม่ได้ทำกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดไว้จนชิน กรรมนี้ แม้จะมีกำลังอ่อนสักเพียงไร ก็ย่อมจะให้ผลเป็นปัจจุบันทันด่วนได้เหมือนกัน เปรียบเหมือนโคที่แออัดกันอยู่ในคอก พอนายโคบาลเปิดประตูออก โคตัวใดยืนอยู่ริมคอกประตูนั้น แม้จะเป็นโคแก่มีกำลังน้อยก็ตาม ย่อมออกก่อนกว่าโคตัวที่ยืนอยู่ในคอก กรรมนี้ ชื่อว่า อาสันนกรรม

กรรมที่ทำมามาก ทำมาจนเคยชิน หรือเคยประพฤติสั่งสมมา กรรมนี้ เป็นอาเสวนปัจจัย เมื่อไม่มีครุกรรม ย่อมให้ผลก่อนกว่ากรรมอื่น เป็นกรรมที่รองลงมาจากครุกรรม เปรียบเหมือนนักมวยปลํ้า คนใดมีกำลังแข็งแรง ว่องไว มีปฏิภาณไหวพริบก็ย่อมจะชนะไปฉะนั้น กรรมนี้ชื่อว่า อาจิณณกรรม

กรรมที่บุคคลกระทำลงไป มิได้มีความตั้งใจจงใจ เมื่อกรรมอื่นไม่มี กรรมนี้จึงให้ผล กรรมนี้ชื่อว่า กตัตตากรรม

นอกจากนี้ยังมีกรรมอีก ๔ ประการ คือ
๑. ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม    กรรมให้ผลในภพนี้
๒. อุปปัชชเวทนียกรรม    กรรมให้ผลต่อเมื่อเกิดแล้วในภพหน้า
๓. อปราปรเวทนียกรรม    กรรมให้ผลในภพต่อๆ ไป
๔. อโหสิกรรม            กรรมให้ผลสำเร็จแล้ว

กรรมที่เป็นกรรมอันแรงกล้า ให้ผลในทันตาเห็น คือ ผู้กระทำกรรม ย่อมได้รับผลในอัตตภาพปัจจุบันนั่นเอง แต่ถ้าผู้กระทำ กระทำกาละไปเสียก่อนที่จะได้รับผลของกรรมนี้ ก็กลายเป็นอโหสิกรรมไป กรรมนี้ชื่อว่า ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม

กรรมที่ให้ผลเบากว่า เป็นกรรมที่รองลงมา คือให้ผลต่อเมื่อผู้ทำเกิดแล้ว ในภพถัดไป ถ้าไม่ได้ช่องโอกาสที่จะให้ผลในภพถัดไป ก็กลายเป็นอโหสิกรรมไป กรรมนี้ชื่อว่า อุปัชชเวทนียกรรม

กรรมที่ให้ผลเพลาที่สุด และสามารถให้ผลต่อเมื่อพ้นภพหน้าไปแล้ว ได้ช่องโอกาสเมื่อใดก็ย่อมให้ผลเมื่อนั้น เปรียบเหมือนสุนัขไล่เนื้อ ไล่ตามทันเข้าในที่ใด ก็ย่อมเข้ากัดในที่นั้น กรรมนี้ชื่อว่า อปราปรเวทนียกรรม

กรรมที่ล่วงเลยไปแล้วเลิกให้ผล เป็นกรรมหาผลมิได้ เปรียบเหมือนพืช ที่หมดยาง เพาะปลูกไม่งอกขึ้นได้อีกฉะนั้น กรรมนี้ชื่อว่า อโหสิกรรม
สัตว์ทั้งหลาย เมื่อใกล้จะตาย ผู้ที่ทำอกุศลกรรมไว้มาก ก็จะไปบังเกิด ในนรกอบายภูมิ มองเห็นเปลวไฟ เห็นต้นไม้งิ้วเหล็ก เห็นพระยายมถือไม้ฆ้อน ถือหอก ดาบ มาลากพาเอาตัวไป ถ้าตายไปจะได้ไปบังเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะแลเห็นก้อนเนื้อ ถ้าตายไปบังเกิดในสวรรค์ ก็จะแลเห็นต้นกัลปพฤกษ์ เห็นเรือนทอง ปราสาทแก้วงามตระการตา เห็นหมู่เทพยดาฟ้อนรำ ขับร้อง ถ้าไปบังเกิดเป็น เปรต ก็จะแลเห็นแกลบแลข้าวลีบ มีความกระหายนํ้า ก็จะแลเห็นเป็นเลือดแลหนอง ถ้าตายไปจะไปบังเกิดเป็นสัตว์เดียรฉาน เช่น นก เนื้อ สุกร สุนัข เป็นต้น ก็จะแลเห็นป่าและต้นไม้ ก่อไผ่ เป็นต้น

ด้วยอำนาจกุศลธรรมคุณงามความดี หรืออกุศลธรรม บาปกรรมอันชั่วช้า บางคนเกิดมาเป็นคนมั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ บางคนเกิดมาเป็นคนยากจนเข็ญใจ บางคนเกิดมามีผิวพรรณงามผ่องใส บางคนเกิดมาอัปลักษณ์ตํ่าต้อย บางคนเกิดมามีอวัยวะสมประกอบ บางคนอวัยวะไม่สมประกอบ บางคนเป็นเจ้าขุนมูลนาย บางคนเป็นข้ารับใช้ บางคนเป็นคนดี บางคนเป็นคนชั่ว บางคนมีปรีชา ฉลาด เฉียบแหลม บางคนโง่เขลาเบาปัญญา บางคนศึกษาเล่าเรียนรู้จำแตกฉานในพระอภิธรรม บางคนมิได้ศึกษาเล่าเรียน มิได้สดับตรับฟัง ทั้งเป็นการยากแท้ยิ่งในอันที่จะฟังให้เข้าใจ

สัตว์ทั้งหลายที่เกิดในมนุษยภูมิเป็นปัญจกัณฑ์ กล่าวไว้โดยย่อเพียงเท่านี้

ที่มา:สิทธา พินิจภูวดล