การบวช คัมภีร์ ปาฏิโมกข์ นิกาย

Socail Like & Share

การบวช
คือการงดเว้นสิ่งที่ควรงดเว้น คือ ออกบวชแล้วหาเรือนมิได้ ไม่มีบ้าน วิธีบวชพระมีหลายอย่างคือ พระพุทธเจ้าบวชให้เอง(มีเอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นต้น) พระสาวกบวชให้(เรียกติสรณคมนุปสัมปทา) และที่สงฆ์บวชให้(เรียกญัตติจตุตถกัมมวาจา อุปสัมปทา) ซึ่งปัจจุบันเหลือการบวชแบบสุดท้ายเท่านั้น

คัมภีร์
ในพระพุทธศาสนา มีคัมภีร์สำคัญรวบรวมธรรมวินัยอันเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้ เรียกว่า พระไตรปิฎก คือ

วินัยปิฎก เป็นที่รวบรวมวินัยบัญญัติอันเป็นข้อห้ามและระเบียบต่างๆ

สุตตันตปิฎก เป็นที่รวมหลักธรรมที่ทำให้ผู้ปฏิบัติได้ความสุขในปัจจุบัน สุขในภายหน้า และความสุขขั้นปรมัตถ์ ได้แก่ พระนิพพาน

อภิธรรมปิฎก เป็นที่รวมอภิปรัชญาว่าด้วยจิต เจตสิก รูป นิพพาน(เป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ อาทิเช่น แบ่งจิตไปตามวาระๆ แล้วเรียกวาระจิตนั้นๆ ด้วยชื่อต่างๆ กัน วาระจิตก็ละเอียดยิ่งนัก) นอกจากนี้ยังมีคัมภีร์อรรถกถา สำหรับอธิบายพระไตรปิฎกนั้น และมีฎีกาอธิบายพระไตรปิฎกกับอรรถกถา มีอนุฎีกาสำหรับอธิบายพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และมีปกรณ์พิเศษสำหรับขยายความในคัมภีร์ทั้งหลายนั้น คัมภีร์เหล่านี้ของเดิมเป็นภาษามคธและสันสกฤต

ปาฏิโมกข์
มีกิจวัตรที่สำคัญ หรือสังฆกรรมของพระอย่างหนึ่ง คือ สวดปาฏิโมกข์ทุกกึ่งเดือน(จุล.วิ.) คำว่า ปาฏิโมกข์ในอภิธัมมัตถวิภาวินี ท่านแปลว่า รักษาผู้ปฏิบัติพระวินัยให้พ้นจากทุกข์

ใจความในปาฏิโมกข์นั้น แสดงวินัย หรือศีล หรือกฎที่สำคัญๆ ที่พระจะละเมิดมิได้ มี ๒๒๗ ข้อ หรือสิกขาบท ความจริงมีมากกว่านั้น แต่ที่ยกมาไว้ในปาฏิโมกข์สำหรับสวดนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญเป็นพิเศษ

การสวดปาฏิโมกข์ เป็นการทบทวนความจำเรื่องวินัย หรือศีลที่สำคัญที่พระพุทธองค์ทรงห้ามมิให้ทำ การสวด สวดด้วยภาษาเดิมคือภาษามคธ การสวดปาฏิโมกข์นี้ทำให้เกิดความประหลาดใจแก่บางท่าน ที่เห็นพระสามารถท่องจำหนังสือภาษามคธหนากว่า ๘๐ หน้า และสวดเสร็จภายใน ๒๗ นาที โดยไม่ติดและไม่ผิดเลย

นิกาย
ศาสนาทุกศาสนาเมื่อตั้งไปนานๆ แล้วย่อมแยกเป็นนิกายต่างๆ ด้วยอำนาจการปฏิบัติที่ผิดกัน และด้วยอำนาจความเห็นที่ต่างกัน ในพระพุทธศาสนาก็เช่นเดียวกัน โดยได้แยกเป็นนิกายใหญ่ ๒ นิกาย คือ

เถรวาท หีนยาน ทักษิณนิกาย พวกหนึ่ง
อาจาริยวาท มหายาน อุตตรนิกาย อีกพวกหนึ่ง

เถววาท(ถือตามแบบอย่างพระอรหัตเถระ ครั้งปฐมสังคายนาไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเทศะ) หีนยาน(ยานเลวแคบ เป็นคำที่อีกนิกายหนึ่งเรียกนิกายเถรวาทด้วยความดูแคลน) ทักษิณนิกาย(นิกายฝ่ายใต้) สามนี้เป็นอย่างเดียวกัน ต่างกันแต่ชื่อ แล้วแต่จะเรียกอย่างใด แต่ปัจจุบันได้เลิกเรียกว่า หีนยานไปแล้ว โดยมีการตกลงกันที่ประเทศลังกา ในคราวที่ประชุมพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกครั้งแรก และตกลงเรียกว่า เถรวาท

อาจาริยวาท (ถือตามแบบอาจารย์เปลี่ยนไปตามกาลเทศะ เท่าที่ควรตามความเหมาะสม) มหายาน(ยานใหญ่โต กว้างขวาง ชื่อนี้เจ้าของนิกายตั้งเอง และเรียกนิกายตรงกันข้ามว่า หีนยาน ซึ่งก็แปลกที่ผู้นับถือในนิกายนั้นก็รับเอามาเรียกนิกายของตนเสียด้วย คล้ายกับยอมรับว่าเลวอย่างนั้นจริง) อุตตรนิกาย(นิกายฝ่ายเหนือ) ทั้งสามนี้เป็นอย่างเดียวกัน ต่างกันแต่ชื่อ แล้วแต่จะเรียกว่าอย่างใด ในปัจจุบันนิยมเรียกว่า มหายาน

ใน ๒ นิกายใหญ่ๆ นี้ ได้แยกออกเป็นนิกายย่อยอีก คือ นิกายเถรวาท ในลังกาแยกเป็น ๓ นิกาย ได้แก่ นิกายสยาม(สยามวงศ์ หรืออุบาลีวงศ์) นิกายมอญ(รามัญวงศ์) นิกายพม่า(มรัมมระวงศ์) ในพม่าแบ่งเป็น ๓ นิกาย คือ นิกายสุธัมมา นิกายชเวคิน และนิกายทวาร ในไทยแบ่งเป็น ๒ นิกาย คือ มหานิกาย และธรรมยุติกนิกาย

ส่วนมหายานนั้น ได้แบ่งเป็นนิกายย่อยเป็นอันมากกว่าสิบนิกาย

แม้จะมีหลายนิกาย แต่ก็มีจุดหมายปลายทางอย่างเดียวกัน คือ วิมุติความหลุดพ้น เช่นเดียวกับแม่น้ำ แม้จะมีหลายสาย แต่ก็ไหลลงสู่แห่งเดียวกันคือ ทะเล

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา