หลักสำคัญของพระพุทธศาสนา

Socail Like & Share

พระพุทธศาสนา แปลว่า คำสั่งสอนของท่านผู้รู้ หรือของผู้ให้คนอื่นรู้ หรือของผู้ตื่นจากกิเลส หรือของผู้ปลุกให้คนตื่นจากกิเลส หรือของผู้เบิกบาน

หลักสำคัญของพระพุทธศาสนา
มีอยู่ ๓ ประการคือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ซึ่งรวมเรียกว่า พระรัตนตรัย

พระพุทธเจ้า
ทรงพระนามเดิมว่าเจ้าชายสิทธัตถะ พระองค์ทรงเป็นราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ กับพระนางสิริมหามายา แห่งแคว้นสักกะ ซึ่งมีเมืองหลวงชื่อเมืองกบิลพัสดุ์ ในศากยสกุล โคตมโคตร(โค=ตะวัน, สุริยะ. อุดมหรือตม=อันประเสริฐ. โคตม=สุริยวงศ์อันประเสริฐ) ในศากยวงศ์นี้เป็นกษัตริย์สืบต่อกันมานานเป็นร้อยชั่ว ดังนั้นจึงมั่งมีมาก พระองค์ประสูติเมื่อกลางเดือน ๖ เมื่อ ๘๐ ปี ก่อน พ.ศ. ๑ สถานที่ประสูติบัดนี้เรียกว่า ลุมมินเด อยู่ในประเทศเนปาล พระองค์ได้รับการเลี้ยงดูอบรมและการศึกษาเป็นอย่างดี จึงมีความรู้ในวิชาการต่างๆ เป็นอันมาก เช่น ยุทธศาสตร์ (โดยเฉพาะทรงมีความชำนาญเป็นพิเศษทางธนูศาสตร์ เจ้าศากยสกุล มีความชำนาญทรงธนูศาสตร์มากกว่าสกุลใดในครั้งพุทธกาล) รัฐศาสตร์ เกษตรศาสตร์ นิรุตติศาสตร์ ศิลปะศาสตร์ นิติศาสตร์ แม้แต่เวชศาสตร์ก็ทรงทราบ และพระองค์ทรงศึกษาได้รวดเร็วผิดปกติสามัญชน คล้ายว่ารู้มาก่อน พระองค์ทรงตั้งอยุ่ในฐานะเป็นรัชทายาทจะได้เป็นกษัตริย์ต่อจากพระราชบิดา เมื่อพระชนม์ได้ ๑๖ ได้ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงยโสธรา พิมพา แห่งราชวงศ์โกลิยะ ทรงมีพระโอรสองค์หนึ่งทรงพระนามว่า ราหุล

เจ้าชายทรงมีพระรูปงามมาก ทรงมีกำลังมาก ทรงมีสติปัญญามาก ทรงมีความรู้มาก มั่งคั่งมาก พระองค์ทรงมีความสุขอยู่ในปราสาท ๓แห่ง สำหรับ ๓ ฤดู แวดล้อมไปด้วยนางสนมกำนัล และพระประยูรญาติ

เมื่อพระชนม์ได้ ๒๙ พระองค์ได้สละราชสมบัติ ครอบครัว พระญาติ และตำแหน่งทางการเมืองทั้งหมดออกบวช เพื่อค้นคว้าหาโมกขธรรมอันทำให้พ้นทุกข์ พบแล้วจะได้นำมาชี้แจงแสดงแก่ผู้อื่น(เช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์ ที่ทำการค้นคว้า เมื่อพบอะไรแล้วก็เขียนไว้ให้คนอื่นได้ศึกษาค้นคว้าต่อไป) เหตุที่ทรงออกบวชนั้น คือพระมหากรุณา กล่าวคือ พระองค์ทรงเห็นคนได้รับความทุกข์ต่างๆ เช่น แก่ เจ็บ ตาย เป็นต้น จึงสลดพระทัย ทรงคิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะช่วยให้เขาเหล่านั้นพ้นทุกข์ได้ จะใช้ทรัพย์ช่วยก็ไม่ได้ พระองค์ทรงเห็นนักบวช ซึ่งเป็นผู้เว้นจากเครื่องผูกพันทางครอบครัว มุ่งประพฤติศีลธรรมแต่เพียงอย่างเดียว จึงทรงคิดว่า การเป็นนักบวชจะเป็นทางให้แสวงหาโมกขธรรมได้สะดวก จึงได้เสด็จออกบวชโดยถือเพศนักบวชเอง

เมื่อทรงออกบวชแล้ว ได้ทรงใช้เวลาค้นคว้าหาโมกขธรรมด้วยการศึกษาจากอาจารย์บางท่าน และทรงทดลองด้วยวิธีการต่างๆ จนแทบสิ้นพระชนม์เพราะการทดลองนั้น แต่ก็ไม่สำเร็จจึงทรงเลิก แล้วทรงบำเพ็ญทางจิตตามหลักของพระองค์เอง ทรงใช้เวลาทั้งหมด 6 ปี ในที่สุดก็ได้ประสบความสำเร็จ คือทรงพบโมกขธรรม โดยการตรัสรู้อริยสัจ ๔ คือ ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ ได้แก่ รู้ว่าความเกิดเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ รู้ว่ากิเลสตัณหาคือความทะยานอยากเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ รู้ว่าความดับความทะยานอยากเสียได้เป็นความดับทุกข์ รู้ว่ามรรคคือทางอันมีองค์ประกอบ ๘ ประการ มีความเห็นถูกต้องเป็นเหตุให้ถึงความดับทุกข์ การตรัสรู้อริยสัจ ๔ เป็นเหตุให้ได้อาสวักขยญาณ คือความรู้ว่าสิ้นอาสวะกิเลสตัณหา อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ มีความเกิดเป็นต้น พระองค์ทรงตรัสรู้เองแล้วอย่างนี้(ตรัสรู้ หมายถึง รู้แจ่มแจ้งเองโดยไม่มีผู้สอน) สถานที่ตรัสรู้ปัจจุบันนี้เรียกว่า โพธิคยา อยู่ในประเทศอินเดีย

เมื่อตรัสรู้แล้ว พระองค์ได้ชื่อว่าเป็น พุทธ สัมมาสัมพุทธ อรหันต ตถาคต ภควา เป็นต้น ขณะนั้นทรงมีพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา

หลังจากตรัสรู้แล้ว พระองค์ได้ทรงใช้เวลา ๔๕ ปี เสด็จจาริกไปตามบ้านเมืองน้อยใหญ่ เพื่อทรงสอนประชาชนให้รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรเป็นความสุข อะไรเป็นความทุกข์ อะไรเป็นเหตุให้เกิดความสุขความทุกข์นั้น โดยไม่ได้เห็นแก่ความสุขของพระองค์เอง ไม่ได้หวังสิ่งตอบแทน เพราะพระองค์ทรงพอแล้ว และมิได้ทรงย่อท้อหวั่นเกรงต่อความลำบากเลย อุปสรรคหรืออันตรายใดๆ ย่อมพ้นไปหมด พระองค์เสด็จจาริกไปเพื่อความสุขของผู้อื่น ด้วยพระมหากรุณาธิคุณเท่านั้น ทรงมีคนนับถือทุกชั้น ทุกเพศ ทุกวัย สาวกของพระองค์มีมาก และพร้อมที่จะสละชีวิตเพื่อพระองค์ เช่น ในคราวที่ต้องผจญกับช้างนาฬาคิรี เป็นต้น

เมื่อพระองค์มีประชนมายุได้ ๘๐ พรรษา ก็ทรงดับขันธ์ปรินิพพาน พระองค์ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน เมื่อกลางเดือน ๖ เช่นเดียวกัน แต่ต่างปีกัน พระองค์ทรงกำหนดวันสิ้นชีพ กำหนดสถานที่สิ้นชีพไว้ก่อนล่วงหน้า ๓ เดือน แล้วจึงเข้าสู่ปรินิพพานที่เมื่องกุสินารา เมื่อปรินิพพานแล้ว ๗ วัน มีพระราชาและมหาชนต่างก็แห่พระพุทธสรีระผ่านกลางเมืองไปเพื่อถวายพระเพลิง พระพุทธสรีระนั้นอยู่ในสภาพปรกติไม่เน่า(ถ้าเน่าแล้วก็คงแห่ไปไม่ได้ และพระพุทธสรีระในระยะนั้นก็ไม่ได้ห่อผ้า ยังคงอยู่ในลักษณะเหมือนตอนปรินิพพาน) ด้วยเหตุนี้เจ้าหญิงมัลลิกาจึงเกิดความศรัทธาแรงกล้าและถวายเครื่องประดับแต่งองค์หนักถึง ๗ คนหาม ถวายเป็นพุทธบูชา กษัตริย์จากนครต่างๆ เกือบทำสงครามกันเพื่อแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธองค์ เพื่อนำไปสักการบูชา

ที่ประสูติในประเทศเนปาล ที่ตรัสรู้ ที่แสดงปฐมเทศนา ที่ปรินิพพาน ที่ประทับ เช่น วัดเวฬุวัน วัดเชตวัน ในประเทศอินเดีย ปัจจุบันนี้ยังคงมีซากเหลือเป็นหลักฐานปรากฎอยู่ โดยที่รัฐบาลของสองประเทศได้รักษาไว้ ผลงานของพระองค์ เช่น คำสั่งสอน และสาวกของพระองค์ยังคงอยู่จนบัดนี้ ข้อนี้แสดงให้เห็นว่า พระพุทธเจ้ามีตัวบุคคลจริง ไม่เป็นเรื่องลี้ลับเล่าต่อๆ กันมา

พระคุณสมบัติ
พระคุณสมบัติของพระพุทธเจ้านั้นมีมากมายเหลือประมาณ แต่กล่าวโดยสรุปแล้วมีอยู่ ๓ ประการ ได้แก่ พระปัญญา คือ ตรัสรู้เอง พระบริสุทธิ คือ หมดกิเลส หมดรัก หมดโกรธ หมดหลง และพระมหากรุณา คือ ทรงจาริกไปโปรดผู้อื่นด้วยการสั่งสอน เป็นต้น โดยพระกรุณาจิต และมิได้ทรงหวังการตอบแทนใดๆ

บุคคลตัวอย่าง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นบุคคลตัวอย่างในฐานะต่างๆ เป็นต้นว่า ทรงเสียสละความสุขส่วนตัว เพื่อความสุขของผู้อื่น ทรงเป็นผู้ตั้งใจจริง ทำอะไรจริง ทรงถือเอาความผิดพลาดเป็นครู ทรงเป็นนักศึกษา นักค้นคว้าชั้นเยี่ยม ทรงเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทีสูงมาก ทรงเป็นนักปกครองผู้ยิ่งใหญ่ โดยมิต้องใช้กฎหมายและคุกตะรางเป็นเครื่องมือ ทรงใช้แต่ธรรมวินัย ทรงมีสิ่งต่างๆ แต่พระองค์กลับสละแล้วไปหาความรู้จักพอ สิ่งที่ผู้อื่นปรารถนา เช่น อำนาจทางการเมือง ความมั่งมี เป็นต้น พระองค์กลับทรงสละทิ้ง แต่ที่เยี่ยมยอดคือ ความเป็นผู้มีพระกรุณาธิคุณต่อผู้อื่นทั้งคนทั้งสัตว์ ทรงมีความกรุณาในบุคคลที่ชังและชอบพระองค์เท่าเทียมกัน พระองค์ทรงแสดงความกรุณาต่อผู้อื่น โดยมิได้หวังอะไรเป็นเครื่องตอบแทนเป็นส่วนพระองค์เองเลย พระองค์ทรงกระทำความดีเพื่อความดีของผู้อื่นโดยแท้

พระธรรม
ธรรม คือความจริงที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ
พระธรรม คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่าด้วยความจริงที่มีอยู่แล้วเป็นธรรมดา ซึ่งคนทั่วไปไม่รู้ หรือรู้แต่รู้ไม่จริง หรือไม่คิด แต่พระองค์ทรงรู้จริง พระองค์ทรงเป็นดุจนักธรณีวิทยารู้ว่าตรงนั้นมีแร่เหล็ก แล้วขุดขึ้นมานำมาใช้ประโยชน์ได้

พระธรรมมีมากถึง ๘๔,๐๐๐ อย่าง(ที่พระพุทธองค์ยังมิได้ทรงนำมาสอนยังมีมากกว่านี้) แต่เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วมี ๓ ประการ คือ ไม่ทำความชั่วทั้งปวง ทำความดีให้สมบูรณ์ ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ มีวิมุติ คือความพ้นทุกข์ เป็นจุดมุ่งหมายสูงสุด(วิมุตฺติสาโร) นอกจากนี้เป็นรายละเอียดของ ๓ ประการนั้นเช่น ทำดีอย่างไร ทำชั่วอย่างไร ทำใจให้บริสุทธิ์อย่างไร และพระธรรมยังจัดเป็น ๓ ขั้น คือ ขั้นต่ำ ขั้นกลาง ขั้นสูง ตามฐานะทางจิตของบุคคล หรือจัดเป็นคำสอนระดับชาวโลก(โลกิยะ) กับพ้น หรือเหนือโลก(โลกุตระ)

คุณสมบัติของพระธรรม
พระธรรมมีคุณสมบัติคือ ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นย่อมได้รับความสุขสงบ เพราะพระธรรมคุ้ม ดุจคนกางร่มเมื่อฝนตก หรือเมื่อแดดร้อนย่อมไม่เปียกไม่ร้อนเพราะร่มช่วยกัน(ติก.อัง.) พระธรรมนั้นเป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว ผู้ปฏิบัติย่อมรู้เห็นเอง ทันสมัยเสมอ ชวนให้น่าปฏิบัติดู ควรน้อมเข้ามาสู่การปฏิบัติ อันผู้รู้พึงรู้เอง โดยมิต้องให้ใครบอก(เหมือนกินข้าว คนกินย่อมรู้เองว่าอิ่มหรือยัง โดยไม่ต้องให้ใครบอก)

เรื่องที่ว่าพระพุทธศาสนาทันสมัยเสมอ และไม่เก่านั้น(อกาลิโก) มีมากเรื่อง เช่น เรื่องระเบียบการรับคนเข้าเป็นสมาชิกใหม่ ในพระพุทธศาสนาได้วางระเบียบสำหรับสมาชิกใหม่ หรือผู้ที่จะมาบวชเป็นพระใหม่ ต้องปฏิบัติดังนี้
๑. ผู้นั้นต้องไม่เป็นโรคติดต่อ เป็นโรคที่เขารังเกียจ และเป็นโรคที่ทำให้หมู่คณะวุ่นวาย เช่น โรคเรื้อน โรคปอด โรคลมบ้าหมู เป็นต้น

๒. ไม่เป็นคนพิกลพิการ

๓. ไม่เป็นคนเสียความประพฤติ ไม่เป็นลูกหนี้ใคร เป็นคนมีอิสระแก่ตัว

๔. มีผู้รับรอง(อุปัชฌาย์)

๕. มีอายุ ๒๐ ปีขึ้นไป มีชื่ออย่างนี้ๆ เหล่านี้เป็นต้น

ถ้าเป็นผู้ปราศจากโรคดังกล่าว มีร่างกายเป็นปกติ เป็นคนดี มีอายุไม่ต่ำกว่าที่กำหนด มีผู้รับรอง สมาชิกเก่ามีมติเป็นเอกฉันท์ให้รับเข้าเป็นสมาชิกใหม่หรือพระใหม่ได้ ผู้นั้นก็เป็นสมาชิกได้(มหา.วิ.) การลงมติอนุมัติต้องเป็นเอกฉันท์ ถ้ามีผู้ค้านเพียงเสียงเดียวผู้นั้นย่อมไม่สามารถเป็นสมาชิกของคณะสงฆ์ได้ นี้เป็นเรื่องกว่า ๒๕๐๐ ปีมาแล้ว ขอให้เทียบกับระเบียบการรับบุคคลเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของสมาคมทั้งหลายในปัจจุบันบ้างว่าต่างกันหรือไม่

ระเบียบกับพิธีกรรม มีความแตกต่างกัน ระเบียบเป็นของจำเป็นต้องมี ถ้าไม่มีแล้วจะทำให้เกิดความยุ่งยากแก่กิจการนั้นๆ ส่วนพิธีกรรมนั้นจะมีหรือไม่มีก็ได้ เป็นของส่งเสริมระเบียบให้น่าดูน่าเลื่อมใส เช่น ในการอุปสมบท การกล่าวขอบรรพชาอุปสมบท การสวดญัตติ เป็นระเบียบและจำเป็นจะขาดมิได้ แต่การแห่นาค การทำขวัญนาค ซึ่งเป็นพิธีกรรมนั้น แม้ไม่ทำก็บวชกันได้ เพียงแต่ทำให้การบวชนั้นเป็นงานเป็นการยิ่งขึ้นเท่านั้น

การลงมติ
ในการพิจารณาเรื่องบางเรื่องในพระพุทธศาสนามีดังนี้คือ
๑. ถือมติเป็นเอกฉันท์ มีเสียงค้านแม้แต่เพียงเสียงเดียวย่อมใช้ไม่ได้ เช่น มติในเรื่องการอุปสมบท

๒. ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ (เรียกวิธีนี้ว่า เยภุยยสิกา)

๓. ถือมติด้วยการประนีประนอมเป็นประมาณ (วิธีนี้เรียกว่า ติณวัตถารกวินัย) เมื่อเห็นว่าเรื่องนี้จำเป็นต้องประนีประนอม

และในการปฏิบัติเกี่ยวกับสังฆกรรม คือ เรื่องที่สงค์พึงจัดทำ พระพุทธองค์ก็ทรงมอบความเป็นใหญ่ให้คณะสงฆ์ นอกจากนี้ยังมีเรื่องอื่นๆ อีกมากที่แสดงถึงความเป็น อกาลิก คือ ทันสมัยของพระธรรม

เรื่องนี้เป็นเรื่องสมัยกว่า ๒๕๐๐ ปีมาแล้ว ที่เป็นหลักปฏิบัติในพระพุทธศาสนา โดยเป็นพุทธบัญญัติ ขอให้พิจารณาเทียบกับวิธีการลงมติของทางโลกในปัจจุบัน และเรื่องประชาธิปไตย

พระสงฆ์
คือสาวก หรือศิษย์ของพระพุทธเจ้า

คุณสมบัติของพระสงฆ์
พระสงฆ์มีคุณสมบัติ คือ ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วสอนให้ผู้อื่นปฏิบัติตาม เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตรง ปฏิบัติถูกต่อพระธรรมวินัยอย่างสมบูรณ์ เป็นผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนา เป็นศาสนทายาทสืบพระพุทธศาสนา เป็นผู้ทำความมั่นคงแก่พระพุทธศาสนา เป็นบุคคลตัวอย่างแห่งความดี เป็นพยานแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เป็นที่พึ่งทางใจของประชาชน เป็นผู้นำในการพัฒนาท้องถิ่น เป็นครู เป็นผู้รักษาสมบัติของชาติ เช่น โบราณสถาน เป็นผู้ให้มากแต่รับน้อยเท่าที่จำเป็น

พระสงฆ์มีอยู่ ๒ ประเภท คือ
๑.พระสงฆ์ทางธรรม ได้แก่ อริยบุคคล หรืออริยสงฆ์ มีพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ เป็นได้ทั้งคฤหัสถ์ ทั้งบรรพชิต เพียงองค์เดียวก็เป็นสงฆ์ทางธรรมได้

๒. พระสงฆ์ทางวินัย ได้แก่ ภิกษุทั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป แม้ว่าจะเป็นพระอริยบุคคล และต้องเป็นภิกษุเท่านั้น

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา