สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี

เป็นพระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็น สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช แม้ว่าจะสวรรคตตั้งแต่
พระชนมพรรษายังน้อย แต่ก็เป็นสมเด็จพระอัครมเหสีที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า เจ้าอยู่หัวทรงสนิทเสน่หาอย่างยิ่ง เนื่องจากมีพระอุปนิสัยสงบเสงี่ยม เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติของกุลสตรี ทรงปฏิบัติหน้าที่ของพระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระราชมารดาในพระราชโอรส พระราชธิดาอย่างสมบูรณ์ ไม่บกพร่องตลอดพระชนม์ชีพสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี

สมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี เป็นพระธิดาในสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่น มาตยาพิทักษ์ (พระองค์เจ้าศิริวงศ์ ต้นราชสกุล ศิริวงศ์ ณ อยุธยา) พระชนนีน้อยเป็นพระมารดา พระราชสมภพเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๘ อุตราสาฒ ปีมะเมีย จ.ศ. ๑๑๙๖ ตรงกับวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๘๘ ทรงเป็นกำพร้าทั้งพระชนกและพระชนนีตั้งแต่พระชนมายุเพียง ๔ ปี ๑๑ เดือน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระอัยกาธิราช (ปู่)จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงละม่อม ในรัชกาลที่ ๓ ซึ่งทรงเป็นพระปิตุจฉา (อา) รับพระองค์เข้ามาอภิบาล ณ พระตำหนักตึก ซึ่งเป็นพระตำหนักเดิมของสมเด็จพระศรีสุลาลัย ในพระบรมมหาราชวัง ขณะนั้นยังไม่มีพระนามเป็นทางการ เนื่องจากตามโบราณราชประเพณี เจ้านายในราชสกุลจะทรงเรียกพระนามเล่นๆ กันไปก่อน เมื่อเจริญพระชันษาใกล้จะโสกันต์หรือเกศากันต์ จึงจะพระราชทาน หรือประทานพระนามจริงให้ สมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี จะมีพระนามที่พระชนก พระชนนี ทรงเรียกขานอย่างไรนั้น ไม่ปรากฏหลักฐาน ปรากฏว่าเมื่อเสด็จเข้ามาประทับในพระ อภิบาลของเสด็จอาแล้ว ได้เสด็จขึ้นเฝ้าสมเด็จพระบรมอัยกาธิราชเป็นนิจ และได้ทรงรับการฝึกสอนให้ทรงรู้จักวิธีถวายอยู่งานพัด ทรงปฏิบัติได้อย่างดีถูกแบบแผนเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระบรมอัยกาธิราช อย่างยิ่ง จนถึงกับพระราชทานพระนามว่า “หม่อมเจ้าหญิงรำเพย” อันหมายถึงการพัด อย่างโชยๆ

เมื่อเจริญพระชนมายุขึ้น ได้ทรงศึกษาทั้งอักขรวิธี ราชประเพณี และวิชาการต่างๆ อันเป็นคุณสมบัติของเจ้านายฝ่ายใน ในพระบรมมหาราชวัง โดยย้ายไปประทับชั่วคราว ณ พระตำหนักต้นจำปี กับพระเจ้าอัยยิกาเธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา เมื่อยังดำรงพระยศเป็นพระองค์เจ้าหญิงบุตรี หลังจากนั้นได้เสด็จกลับมาประทับ ณ พระตำหนักตึก ของสมเด็จพระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร ดังเดิม

ในรัชกาลที่ ๔ หม่อมเจ้าหญิงรำเพยได้รับราชการเป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นถึง พ.ศ. ๒๓๙๕ สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี ซึ่งเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานสมมตยาภิเษก หม่อมเจ้าหญิงรำเพยขึ้นเป็น พระราชเทวีมีพระนามว่า “พระนางเธอ พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์” หมายถึง บุปผาอันเป็นที่ยินดี และเป็นที่พักพิงของหมู่ภมร และหลังจากสถาปนาพระราชเทวีพระองค์นี้แล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงสถาปนาเจ้านายพระองค์ใดขึ้นเป็นพระมเหสีอีกไม่ว่าตำแหน่งใด นับได้ว่าทรงเป็น “สมเด็จพระอัครมเหสี” ในรัชกาลนี้ จนแม้เสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มิได้ทรงสถาปนาผู้ใดดำรงตำแหน่งพระมเหสีอีก

ระหว่างทรงดำรงตำแหน่งพระราชเทวีในรัชกาลที่ ๔ นั้น ได้สนองพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จ พระบรมราชสวามีอย่างใกล้ชิด เป็นที่สนิทเสน่หายิ่ง สมเด็จพระบรมราชสวามีประทับที่ใดก็โปรดให้พระองค์
ประทับร่วมพระราชมณเฑียรสถานนั้นทุกแห่ง คือ เมื่อประทับ ณ พระที่นั่งในหมู่พระมหามณเฑียร ก็โปรดให้สมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี ประทับ ณ ห้องพระเฉลียงพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ต่อมาเมื่อทรงสร้างที่ประทับใกล้พระตำหนักตึก เรียกว่า “พระตำหนักหอ” เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี ก็โปรดให้สร้างพระที่นั่งสีตลาภิรมย์อีกองค์หนึ่งเป็นที่ประทับในบริเวณใกล้กัน และเมื่อทรงสร้างพระอภิเนาวนิเวศน์เป็นพระราชมณเฑียรใหม่ทางกำแพงพระบรมมหาราชวังด้านตะวันออกก็เสด็จทรงย้ายไปประทับ ณ พระที่นั่งจันทรทิพโยภาศ ในหมู่พระราชมณเฑียรนั้นด้วยกัน แต่เมื่อทรงพระประชวร สมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี ได้แยกไปประทับ ณ พระตำหนักหอ จนกระทั่งสวรรคตลง ณ พระตำหนักนั้น

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยกย่องสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี แม้แต่การเรียกขานพระนามทั้งต่อหน้าและลับหลัง ตรัสเรียก “รำเพย” บ้าง “แม่รำเพย” บ้าง และ “แม่เพย” บ้าง ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าจอมมารดาผึ้ง เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินโดยชลมารคไป พระราชทานผ้าพระกฐิน ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในพุทธศักราช ๒๓๙๘ ดังนี้

“…ลูกเมียและคนทั้งปวงที่มาด้วยก็สบายอยู่หมดทุกคน ทูลพวะองค์ลม่อม ให้ทราบด้วยว่า ชายฟ้าหญิงฟ้ากับรำเพยก็สบายดี แม่พาลูกทั้งเล็กทั้งใหญ่ไปเที่ยวหลายแห่ง ก็ไม่เจ็บไข้อะไรดอก…”

สมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี มีพระราชโอรสและพระราชธิดารวม ๔ พระองค์ คือ

๑. สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ ต่อมาได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

๒. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงจันทรมณฑล โสภณภควดี ต่อมาทรงได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าต่างกรม มีพระนามกรมว่า กรมหลวงวิสุทธิกระษัตรีย์

๓. สมเด็จเจ้าฟ้าชายจาตุรนตรัศมี ทรงได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าต่างกรม มีพระนามกรมว่า กรมพระจักรพรรดิพงศ์ ต้นราชสกุลจักรพันธุ์

๔. สมเด็จเจ้าฟ้าชายภาณุรังษีสว่างวงศ์ ต่อมาในรัชกาลที่ ๗ ทรงได้รับสถาปนาเป็นจอมพล สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงศักดินา ๑๐๐,๐๐๐ เสมอ สมเด็จพระบวรราชเจ้าแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงเป็นต้นราชสกุลภาณุพันธุ์

สมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี มีพระพลานามัยไม่ค่อยแข็งแรง ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๙๙ เมื่อประสูติสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ พระราชโอรสองศ์ที่ ๔ ใน พ.ศ. ๒๔๐๔ แล้วจึงปรากฏอาการประชวรให้เห็นชัด ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๐๓ ถึงพระองค์เจ้าปัทมราชว่า

“กระหม่อมฉันกับทั้งญาติพี่น้องบุตรภรรยาอยู่ดีเป็นศุขสบายอยู่หมด แต่แม่เพย ตั้งแต่คลอดบุตรชายภาณุรังษีสว่างวงศ์มาแล้ว ป่วยให้ไอแลซูบผอมมากไป กลัวจะตั้งวรรณโรคภายใน…”

พระราชหัตถเลขาถึงพระองค์เจ้าปัทมราช อีกฉบับหนึ่งในปีเดียวกัน ไม่ปรากฏวันที่ ทรงเล่าพระอาการว่า

“…แม่เพยป่วยอาการก็คงอยู่อย่างเดิม จะปรากฏชัดว่าคลายขึ้นแท้ก็หาไม่ ยังไอเสียงแห้งอยู่เสมอ บัดนี้เจ้าอธิการวัดบางกะสอมารักษาให้ยาอยู่ และรับจะรักษาให้หาย กระหม่อมฉันว่าตามจริงว่าโรคนี้ลึกซึ้ง จะแก้ไขให้คลายเป็นอันยาก…”

สมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี ประชวรติดต่อกันมาเป็นเวลานาน ประจวบกับการสิ้นพระชนม์ของพระองค์เจ้ามงคลเลิศ ซึ่งเป็นพระเชษฐาพระองค์เดียวของพระองค์ ทำให้เสียพระทัยอย่างยิ่ง อาการ ประชวรทรุดลง มีไข้แทรกเนืองๆ แม้กระนั้น เมื่อพระอาการคลายลงก็ทรงดูแลพระราชโอรสพระราชธิดาตามโอกาส พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีถึงพระองค์เจ้าปัทมราช เมื่อ วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๔ เล่าพระอาการอย่างละเอียดว่า

“…ครั้นวันพฤหัสบดี ขึ้นหนึ่งค่ำ เดือนสิบ เวลาเช้า แม่เพยไออาเจียรเป็นโลหิตออกมามาก ออกทางจมูกออกทางปาก ได้ตัวสัตว์ออกมากับทั้งโลหิตตัวหนึ่ง มีอาการคล้ายตัวหนอนเล็ก หางเป็นสามแฉก แต่หมอยังแก้ไขก็ค่อยคลายมา โลหิตออกบ้างเล็กน้อยจางไปแล้ว ครั้น ณ วันอาทิตย์ ขึ้นสี่คํ่า เดือนสิบ เวลากลางคืน เธอว่าค่อยสบายไอ ห่างไปนอนหลับได้มาก ตั้งแต่สามยามไปจนสามโมงเช้า ครั้น ณ วันจันทร์ ขึ้นห้าค่ำ เดือนสิบ ตื่นขึ้นอีกเวลาสามโมงเช้ารับประทานอาหารได้ถ้วยฝาขนาดใหญ่ แล้วนั่งเล่นกับบุตรคนเล็ก ไอเป็นโลหิตออกมา แล้วก็เกิดเป็นโลหิตพลุ่งพล่านมากเป็นที่สุด ออกทั้งทางจมูกทางปากหลายถ้วยแก้วกระบอก ไม่มีขณะหายใจพอโลหิตมากแล้วชีพจรทั้งตัวก็หยุด ทีเดียว ไม่ฟื้นเลย ได้รับประทานจัดการไว้ศพในโกษฐ์ ตั้งไว้ที่ตึกต้นสน แต่ตกแต่งตึกเสียใหม่ให้งามดี เพดาน ประตู บานน่าต่าง ปิดลายเงิน ฝาผนังปิดกระดาษลายแลตกแต่งสิ่งอื่นมากพอสมควร ครั้นจะยกขึ้นไปไว้บนพระมหาปราสาท เห็นว่าจะกีดขวางการพระราชพิธีไม่พอที่ แต่เท่านั้นก็ดีอยู่แล้ว ศพจะเอาไว้นานต่อเดือนสี่ เดือนห้า จึ่งจะได้เผา เดี๋ยวนี้ก็รับประทานทำบุญต่างๆ มีเทศนาแลบังสกุลอยู่เนืองๆ เมื่อวันพุธ แรมสิบสามค่ำ เดือนสิบ เจ้านายแลคุณหม่อมต่างวังมาถือนํ้า แล้วแวะไปเยี่ยมศพ ได้นิมนต์พระบังสกุล คนละเล็กละน้อย เป็นพระสงฆ์ถึงหมื่นเศษ เจ้านายแลข้าราชการในกรุงแลหัวเมือง แลเจ้าภาษี นายอากร ก็นำผ้าขาวแลสิ่งของ และเงินสลึง เงินเฟืองมาช่วยในการศพก็เป็นอันมาก ที่ให้เป็นอนุเคราะห์แก่ชายจุฬาลงกรณ์ หญิงจันทรมณฑล ชายจาตุรนตรัศมี ชายภาณุรังษีสว่างวงศ์ บุตรแม่เพยทั้งสี่ก็มีบ้าง กระหม่อมฉันคิดขอบบุญขอบคุณท่านทั้งปวงครั้งนี้นั้นนักหนา แม่เพยตายลงครั้งนี้ เมื่อดูอาการก็ควรตายอยู่แล้ว ด้วยป่วยโรคนี้ มาตั้งแต่เสาะแสะมาถึงห้าปี ตั้งแต่ปีมะเส็งมา รักษาก็หลายหมอหลายยาแล้วไม่หาย จึงเห็นว่าถึงคราวที่จะสิ้นอายุตายอยู่แล้ว อายุนับเท่ากรมหมื่นมาตยาพิทักษ์บิดานั้น เหมือนกับชายมงคลเลิศซึ่งเป็นพี่ชาย ว่าโดยละเอียดไปกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์มีอายุนับวันตั้งแต่เกิดจนวันตายได้ ๙๖๓๖ วัน ชายมงคลเลิศนับอายุตั้งแต่วันเกิดจนวันตายได้ ๙๙๐๓ วัน แม่เพยนับอายุตั้งแต่วันเกิดจนวันตายได้ ๙๙๒๓ วัน มากกว่ากรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ๒๘๔ วัน มากกว่าชายมงคลเลิศ ๒๐ วัน…”

พระราชหัตถเลขาอีกฉบับหนึ่ง ลงวันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๐๔ ถึงคณะทูตซึ่งเดินทางไปประเทศฝรั่งเศส ประกอบด้วย พระยาศรีพิพัฒน์ ราชทูต เจ้าหมื่นไวยวรนารถ อุปทูต และพระณรงค์วิชิตตรีทูต เล่าถึงอาการประชวรและสวรรคตของสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี มีข้อความแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย ดังนี้

“จดหมายมายัง พระยาศรีพิพัฒนราชทูต เจ้าหมื่นไวยวรนารถอุปทูต พระณรงค์วิชิต ให้ทราบอาการแม่เพอย ด้วยมีความเสียใจที่พระองค์เจ้ามงคลเลิศถึงชีพตักษัยนั้น ดูเป็นอันทรุดไป จับไข้เนืองๆ ติดกันไปหลายวันจึงสงบไปบ้าง แต่ก็ไม่สู้กระไรนักดอก เมื่อพ้นเวลาจับแล้วก็ลุกนั่ง เดินไปเดินมาได้อยู่ เป็นแต่ให้หาหมอมาเปลี่ยนตัวหมอไปบ้าง เปลี่ยนยาไปบ้าง ครั้นเห็นว่าไม่ชอบโรคแล้วก็เปลี่ยนต่อไป ครั้นมาเมื่อวัน ๕ ๑ ฯ ๑๐ ค่ำ เวลา ๔ โมงเช้า กินข้าวแล้วไอเป็นโลหิตออกมา ออกทางปากด้วยทางจมูกด้วย มากกว่าเป็นครั้งก่อน หมอได้แก้ไขอาการก็สงบ แต่โลหิตยังออกอยู่ทุกคราวไอเล็กๆ น้อย เมื่อโลหิตออกอยู่อาการจับไข้ก็หาเป็นไม่ เมื่อไอคราวแรกโลหิตออกมานั้น มีตัวสัตว์ออกมากับโลหิตตัวหนึ่งเป็นสัตว์ประหลาดไม่เคยเห็น ตัวเป็นปล้องๆ คล้ายหนอน มีหางเป็นแฉกปากก็เป็นง่าม ครั้นมาเมื่อวัน ๑ ๔ ฯ ๑๐ ค่ำ ไอโลหิตก็จางเป็นสีเหลืองๆ อาการที่ครั่นที่จับมีมา ครั้นเวลากลางคืนดึกก็กลับสบายไปไอห่างๆ นอนหลับสนิทแต่เวลา ๑๐ ทุ่มมาจนสามโมงเช้าตื่นขึ้น บอกว่าอาการวันนั้นสบายกว่าทุกวัน เรียกเอาอาหารมากิน กินข้าวได้ค่อนถ้วยฝาขนาดใหญ่ บอกว่าสบาย เรียกเอาลูกคนแรกมาป้อนขนมด้วง นั่งเล่นอยู่ด้วย ครั้นเวลา ๔ โมงเช้ามีเศษก็ไอขึ้นมา มีโลหิตออกอาการกำเริบมาก จึงให้พาลูกไปเสียกลัวจะเห็นโลหิต แล้วให้เรียกหมอมาแก้ หมอเข้ามาจะวางยาก็ร้องบอกว่า โลหิตแดกดันแน่นหน้าอก และลำคอยิ่งนัก จะจิบยากลืนไม่ได้แล้ว พอว่าเท่านั้นก็ทะลึ่งโลหิตพลุ่งออกทางปากทางจมูกไม่หยุด เป็นโลหิตค่นประมาณสองถ้วยกระบอก พอโลหิตสงบชีวิตก็ดับทีเดียว ชีพจรไม่เดินเลย จักษุสองข้างก็หลับสนิทเอง เหมือนคนนอนหลับไม่ต้องเอามือช่วยให้หลับอย่างคนตายตามธรรมเนียม ปากก็เผยออยู่หน่อยหนึ่งไม่ปรากฏเป็นอ้า แต่โลหิตนั้นยังเดินทางปากเสมออยู่น้อยๆ ไม่หยุด เมื่อสิ้นแล้วโลหิตนั้นก็ดำไป เมื่อเวลาเป็นขึ้นมานั้นข้าพเจ้ากับชายใหญ่ปฏิบัติพระสงฆ์อยู่ที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ท้าววรจันทร์วิ่งมาบอกข้าพเจ้าก็ไป เมื่อข้าพเจ้าไปถึงนั้นหมอก็ยังนวดแก้กันอยู่ ข้าพเจ้าไปจับชีพจรดูเห็นว่าหยุดสนิทแล้วจึงได้เลิก แก้กัน ศพก็ได้อาบนํ้าเข้าโกศในวันนั้น ข้าพเจ้าให้ยกไปตั้งไว้ที่ตึกริมกำแพงด้านตะวันตก พระมหาปราสาท ซึ่งทำไว้เป็นที่ไว้ศพเจ้านาย เป็นแต่ตกแต่งให้ดีขึ้นกว่าแต่เดิม ครั้นจะเอาขึ้นไว้บนพระมหาปราสาทที่นั้นก็จะทำพิธีตรุษสารท และจะโกนจุกยิ่งเยาวลักษณ์ในปีนี้ ก็จะกีดขวางไป ไหนๆ ก็ตายแล้วคิดไว้ว่าการศพจะทำต่อถึงกาลฤดูแล้ง เมรุเดียวกันกับกรมหลวงมหิศวรินทรามเรศวร

แม่เพอยนี้ ถึงในกรุงเทพฯ ท่านทั้งปวงรู้ว่าเป็นแต่เจ้าเล็กนายน้อยก็ดี ในเมืองที่มาทำสัญญาไมตรี และลูกค้าพาณิชต่างประเทศเป็นอันมาก เขานับถือว่าเป็นคนโต คนใหญ่ ตั้งแต่วันสิ้นชีวิตลงแล้ว กงสุลต่างประเทศบรรดาที่มีธง เขาก็ลดธงครึ่งเสาให้สามวัน เรือกำปั่นที่ทอดอยู่ในแม่นํ้าทุกลำ กงสุลก็ป่าวร้องให้ลดธงและไขว้เชือกสำแดงความให้รู้ว่าเศร้าโศกสามวัน

ก็หนังสือนี้จะมาถึงท่านทั้งปวงเมื่อใดที่ตำบลใดก็ยังไม่ทราบ ถ้าได้หนังสือนี้ที่เรือ หรือที่บก ควรจะยกธงกึ่งเสาเป็นคำนับสามวันหรือเจ็ดวันอย่างไร ก็จงคิดเป็นเกียรติยศแก่ข้าพเจ้าด้วย หรืออย่างหนึ่งเมื่อข่าวว่ามารดากวีนวิกตอเรียสิ้นชีพแล้วเข้ามาถึงกรุงเทพฯ พวกกงสุลอังกฤษเขายกธงกึ่งเสาสิบสี่วัน แล้วเขาแต่งเครื่องดำด้วยสิบสี่วัน แต่รายนี้จะ ทำแต่สามวันหรือเจ็ดวันก็ควรอยู่แล้ว พวกทูตถ้ามีเครื่องดำแต่ง จะแต่งเครื่องดำด้วยก็ตาม พอให้เป็นเกียรติยศ แต่ถ้าจะสำแดงการอย่างนี้จงประกาศการให้ปรากฏก่อน อย่าให้กิตติศัพท์ลือผิด กลายเป็นตัวข้าพเจ้าเองไปได้.. ”

สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี สวรรคตเมื่อวันจันทร์ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีระกา ตรีศก จ.ศ. ๑๒๒๓ ตรงกับวันที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๐๔ พระชนมายุ ๒๘ พรรษา เชิญพระศพเข้าสถิตในพระโกศทองใหญ่ประดิษฐาน ณ หอธรรมสังเวช ริมกำแพงด้านตะวันตกของพระบรมมหาราชวัง เนื่องจากใกล้จะถึงกำหนดพระราชพิธีตรุษ และจะได้จัดพระราชพิธีโสกันต์พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ อรรคราชสุดา ในเวลาต่อไป จึงมิได้ประดิษฐานพระศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แต่ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตกแต่งหอธรรมสังเวชใหม่ให้งดงามสมควรแก่พระราชอิสริยยศ ระหว่างประดิษฐานพระศพในพระบรมมหาราชวังนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บำเพ็ญพระราชกุศลพระศพตามราชประเพณี จนกระทั่งถึงเวลาออกพระเมรุในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๐๕

งานพระเมรุของสมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินีนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มิได้โปรดให้จัดเป็นงานยิ่งใหญ่เช่นพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑ – ๓ แต่จัดในฐานะเป็นสมเด็จพระบรมราชินี โดยถือว่าพระองค์ซึ่งเป็นพระราชสวามีเป็นเจ้าภาพเพียงพระองค์เดียว จึงไม่มีพลับพลาที่ประทับสำหรับพระบวรราชวัง และฝ่ายพระบวรราชวังไม่ต้องจัดงานต่างๆ สมทบดังที่เรียกว่า สองสนาม เช่นงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อย่างไรก็ตาม งานพระศพครั้งนี้ก็ได้จัดเป็นงานใหญ่อย่างสมพระเกียรติ พระเมรุท้องสนามหลวงมีลักษณะยกพื้นสูง ทำเป็นภูเขาประกอบรอบเชิงพระเมรุ ส่วนที่เป็นสามสร้างแปลงเป็นศาลาราย มีพระที่นั่งทรงธรรมอยู่ด้านหนึ่งติดแท่นสามสร้าง สิ่งของเครื่องประดับ ผ้าดาดหลังคา ในบริเวณพระเมรุใช้ผ้าดำล้วน และโปรดให้มีพระราชาคณะตั้งประโคมประกวดประชันกัน มีบรรพชิตญวนสวดกงเต๊กทั้งกลางวันกลางคืน เป็นการเพิ่มเติมจากธรรมเนียมที่เคยจัดมา งานพระเมรุ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๐ – ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๐๔ รวมเป็นเวลา ๑๒ วัน ดังนี้

วันที่ ๑๐ เมษายน เวลา ๑๔.๐๐ น. อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ พระบรมอัฐิ แห่ออกจากพระบรมมหาราชวังทางประตูวิเศษไชยศรี เลี้ยวไปทางป้อมเผด็จดัสกร เข้าสู่พระเมรุท้องสนามหลวงทางประตูทิศตะวันออก กลางคืนมีงานสมโภช

วันที่ ๑๑ เมษายน มีการถวายไทยทานแก่พระสงฆ์ มีพระธรรมเทศนาและงานสมโภช เวลาบ่ายทรงโปรยทาน กลางคืนมีหนังและจุดดอกไม้เพลิง

วันที่ ๑๒ เมษายน พระสงฆ์รับพระราชทานฉันภัตตาหารเช้า แล้วแห่พระบรมสารีริกธาตุและพระบรมอัฐิกลับ

วันที่ ๑๓ – ๑๔ เมษายน ตรงกับวันสงกรานต์งดการพิธี ณ พระเมรุท้องสนามหลวง

วันที่ ๑๕ เมษายน เวลาเช้า เชิญพระศพออกทางประตูศรีสุนทรทวาร แห่ไปทางท้ายสนม เข้าขบวนใหญ่ที่หอกลอง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะนั้นพระชนมพรรษาได้ ๙ พรรษา) ทรงรถพระภูษาโยง สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี (สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระจักรพรรดิพงศ์ พระชนมายุ ๖ พรรษา) ทรงพระยานุมาศทรงโปรยข้าวตอก ให้ทรงฉลองพระบาทอย่างงานพระราชพิธีโสกันต์ แห่พระศพไปยังพระเมรุท้องสนามหลวง มีการบำเพ็ญพระราชกุศลและงานสมโภช ๔ วัน ๔ คืน

วันที่ ๑๘ เมษายน เวลาบ่ายพระราชทานเพลิงศพ

วันที่ ๑๙ เมษายน เก็บพระอัฐิ ลอยพระอังคาร แล้วแห่พระบรมอัฐิและพระอํฐิในสมเด็จพระวรวงศ์เธอ ออกสู่พระเมรุท้องสนามหลวง มีงานสมโภชพร้อมกับพระอะฐิสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ๒ วัน

วันที่ ๒๑ เมษายน เชิญพระบรมอัฐิ และพระอัฐิแห่กลับคืนสู่พระบรมมหาราชวัง

ใน พ.ศ. ๒๔๑๑ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศสถาปนาเฉลิมพระนามพระอัฐิ สนองพระเดชพระคุณในฐานะสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็น “กรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์” ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ยกเลิกพระยศขั้น “กรมสมเด็จพระ” เปลี่ยนเฉลิมพระนามเป็น “สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี”

นอกจากสถาปนาเฉลิมพระนามพระอัฐิแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอารามเพื่ออุทิศพระราชกุศล และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีขึ้น โดยพระราชทานนามว่า “วัดเทพศิรินทราวาส” ตามพระนามสมเด็จพระบรมราชชนนี การก่อสร้างพระอารามแห่งนี้ สันนิษฐานว่าเริ่มสร้างประมาณ พ.ศ. ๒๔๑๙ มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนเจริญผลพูลสวัสดิ์ เป็นแม่กองอำนวยการสร้าง พระศิริสมบัติ (กร) และพระวิจิตรรจนา เป็นนายด้าน ปัจจุบันมีฐานะเป็นพระอารามหลวงฝ่ายธรรมยุต ชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ในแขวงยศเส เขต ป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปฉลองพระองค์สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เป็นพระพุทธรูปยืนทรงเครื่องปางห้ามสมุทร สูง ๑.๗๓ เมตร ฐานสูง ๔๔ เซนติเมตร

สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เป็นสมเด็จพระบรมราชินีของไทยที่สวรรคตตั้งแต่พระชนมายุยังน้อย ทรงรับราชการในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพียง ๑๐ ปี อย่างไรก็ตาม พระราชโอรสทุกพระองค์ ได้ทรงบำเพ็ญคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ และอาณาประชาราษฎร์อเนกประการ โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระมหากรุณาธิคุณตรึงตราอยู่ในความสำนึกของปวงชนชาวไทยอยู่ตลอดมา

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: ฉวีงาม มาเจริญ

สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี บรมราชินี

เป็นสมเด็จพระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าหลานเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนามเดิมหม่อมเจ้าหญิงโสมนัส พระธิดาพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ หม่อมงิ้วเป็นพระมารดา พระราชสมภพเมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๗๗สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี

เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี บรมราชินี พระชนมายุ ๖ เดือน พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ พระบิดาก็สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระอัยกา ทรงพระเมตตาว่าทรงกำพร้าแต่ยังทรงพระเยาว์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้รับจากวังของพระบิดามาทรงอุปถัมภ์ในพระบรมมหาราชวัง โดยโปรดเกล้าฯให้พระองค์เจ้าวิลัยศรีพระมาตุจฉาเป็นผู้อภิบาล ต่อมาเมื่อสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี บรมราชินี พระชนมายุ ๑๒ พรรษา พระองค์เจ้าวิลัยศรีก็สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระเมตตาพระเจ้าหลานเธอยิ่งขึ้น ทรงสถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเสมอพระราชธิดาเป็นพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี

ครั้นถึง พ.ศ. ๒๓๘๙ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพิธีโสกันต์อย่างพิธีของเจ้าฟ้า ดังปรากฏความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ว่า

“ลุศักราช ๑๒๘๐ (พ.ศ. ๒๓๘๙) เป็นปีที่ ๒๓ ในเดือน ๕ นั้น ตั้งการโสกันต์พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี ซึ่งเป็นพระธิดาของพระองค์เจ้าลักขณา เป็นกำพร้ามาแต่ยังทรงพระเยาว์ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้รับเลี้ยงไว้ในพระราชวัง ครั้นทรงจำเริญขึ้นก็ทรงพระเมตตาว่าเป็นเจ้ากำพร้า เมื่อจะโสกันต์นั้น ให้มีการแห่และการเล่น เหมือนอย่างสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี แต่ไม่มีเขาไกรลาศและมยุรฉัตร”

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยังโปรดให้สร้างวัดเพื่อเป็นเกียรติยศแก่สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี
บรมราชินี พระราชทานนามว่า วัดราชนัดดาราม แสดงถึงความสนิทเสน่หายิ่ง เมื่อแรกสร้างวัด สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี บรมราชินี เสด็จทรงวางศิลาฤกษ์และยกขื่อพระอุโบสถ

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระอัครมเหสี ประกอบพระราชพิธีราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๓๙๕ ต่อมา สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี บรมราชินี ประสูติพระราชโอรสพระองค์หนึ่งแต่สิ้นพระชนม์ ในวันประสูติ สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี บรมราชินี ซึ่งทรงพระประชวรมาก่อนจะมีพระประสูติกาลแล้วพระอาการทรุดลง แม้
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้รักษาพยาบาลทั้งทางแพทย์ไทย คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท และแพทย์ชาวอเมริกัน เช่น หมอบรัดเล แต่พระอาการหนักมาก สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี บรมราชินี สวรรคตเมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๙๖ รวมพระชนมายุ ๑๙ พรรษา

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอาลัยในสมเด็จพระอัครมเหสีเป็นอย่างยิ่ง จึงโปรดให้สร้างวัดพระราชทานเป็นอนุสรณ์คือ วัดโสมนัสวิหาร โดยใช้ทุนทรัพย์จากพระราชมรดกของสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี บรมราชินี

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: ธีระ แก้วประจันทร์

คุณสุวรรณกวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ชาติไทยเป็นชาติที่มั่งคั่งร่ำรวยด้วยศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะในด้านวรรณศิลป์ กวีทุกยุคทุกสมัยได้สร้างสรรค์งานนิพนธ์จำนวนมากไว้เป็นสมบัติวัฒนธรรมของชาติ และเป็นมรดกตกทอดถึงอนุชนรุ่นหลัง

ในบรรดากวีเอกของกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น คุณสุวรรณเป็นกวีสตรีที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่ง มีผลงานที่ทรงคุณค่าเป็นที่ยกย่องในเชิงวรรณศิลป์เป็นอย่างยิ่ง

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงพระอุตสาหะค้นคว้าเรียบเรียงประวัติของคุณสุวรรณ ออกตีพิมพ์เผยแพร่พร้อมผลงานกวีนิพนธ์หลายเรื่อง ทำให้ชื่อเสียงและผลงานของคุณสุวรรณปรากฏอยู่ในประวัติวรรณคดี ซึ่งผู้สนใจจะศึกษาหาความรู้ได้
คุณสุวรรณกวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์นี้ เกิดในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นธิดาพระยาอุไทยธรรม (กลาง) ราชินิกุลบางช้าง เป็นผู้ที่มีใจรักงานกวีนิพนธ์มาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เนื่องจากเป็นธิดาของขุนนาง จึงได้ถวายตัวทำราชการฝ่ายใน รับใช้ในราชสำนักรัชกาลที่ ๓ อยู่ที่ตำหนักพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ

คุณสุวรรณมีความสามารถชำนาญในการแต่งกลอนเพลงยาวนิราศ และกลอนบทละคร ผลงานของคุณสุวรรณเท่าที่ปรากฏและตีพิมพ์เผยแพร่แล้ว ได้แก่ กลอนเพลงยาวเรื่องหม่อมเป็ดสวรรค์ และเรื่อง พระอาการประชวรของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ บทละครเรื่อง พระมะเหลเถไถ และบทละครเรื่อง อุณรุทร้อยเรื่อง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า ผลงานของคุณสุวรรณคงมีมากกว่า ๔ เรื่อง ที่กล่าวมาแล้วแต่ไม่สามารถหาฉบับพบ

คุณสุวรรณรับราชการอยู่กับพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ จนกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ สิ้นพระชนม์แล้ว คุณสุวรรณก็คงอยู่ในพระบรมมหาราชวังต่อมา ไม่ปรากฏหลักฐานว่า ได้รับราชการใน ตำแหน่งพนักงานใด

ผลงานที่ทำให้คุณสุวรรณมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางก็คือ บทละครเรื่อง อุณรุทร้อยเรื่อง และพระมะเหลเถไถ ซึ่งเป็นบทละครที่มีเนื้อหาสาระ และสำนวนโวหาร การใช้ถ้อยคำแปลกพิสดารกว่าผลงานของกวีที่มีชื่อเสียงคนอื่นๆ ทั้งนี้ กล่าวกันว่า เมื่อมีอายุอยู่มาจนถึงรัชกาลที่ ๔ คุณสุวรรณ เสียจริตแต่ไม่ถึงกับคลั่งไคล้อาละวาด การเสียจริตมีผลดีแก่วงวรรณกรรม เพราะเป็นการเสียจริตที่ฟุ้งหลงไปในการแต่งกลอน ด้วยเหตุนี้ กลอนบทละคร อุณรุทร้อยเรื่อง และพระมะเหลเถไถ จึงมีลักษณะแปลกกว่างานอื่นๆ ดังกล่าวแล้ว

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า
“มีเรื่องเล่ากันมาว่า คุณสุวรรณอยู่เรียนที่แถวนอก ใครไปหาก็บอกว่า อยากจะฟังบทละครที่แต่งใหม่ คุณสุวรรณก็ว่าบทละคร ๒ เรื่องนี้ให้ฟัง โดยจำไว้ได้แม่นยำ ผู้ที่ได้ฟังเห็นขบขัน ก็พากันชอบ ที่จำได้บ้างก็มาว่าให้ผู้อื่นฟังต่อๆ มา”

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า
“คุณสุวรรณถึงแก่กรรมในรัชกาลที่ ๕ แต่บทละครของคุณสุวรรณยังมีผู้จำได้เป็นตอนๆ และว่าให้กันฟังสืบต่อมา พึ่งพบฉบับที่ได้เขียนไว้ที่ได้มาพิมพ์ในสมุดเล่มนี้”

บทละครของคุณสุวรรณที่เป็นของแปลกนั้น คือ บทละครเรื่อง พระมะเหลเถไถ คุณสุวรรณแต่งเป็นภาษาบ้าง ไม่เป็นภาษาบ้าง ปะปนกันไปแต่ต้นจนปลาย แต่ใครอ่านก็เข้าใจความได้ตลอดเรื่อง ความขบขันอยู่ที่ตรงข้อนี้

ส่วนบทละคร อุณรุทร้อยเรื่อง นั้น คุณสุวรรณเกณฑ์ให้ตัวเอกในละครเรื่องต่างๆ มารวมกันอยู่ในเรื่องเดียว ถ้าดูโดยกระบวนความอยู่ข้างจะเลอะ แต่ไปดีทางสำนวนกลอน กับแสดงความรู้เรื่องละครต่างๆ กว้างขวาง เพราะในสมัยนั้นบทละคร (ต่างๆ) ยังมิได้พิมพ์ (แพร่หลาย) คุณสุวรรณคงต้องพยายามมากทีเดียว จึงได้รู้เรื่องละครต่างๆ มากถึงเพียงนั้น แต่มีอยู่บทหนึ่งใน อุณรุทร้อยเรื่อง ของคุณสุวรรณ ซึ่งควร สรรเสริญในกระบวนความว่า เป็นความคิดแปลกดี คือ บทจำแลงตัว

บทละครทั้ง ๒ เรื่องนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อเป็นสภานายกคณะกรรมการ หอพระสมุดสำหรับพระนคร โปรดให้ค้นหาต้นฉบับจนพบ และตีพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกเมื่อ ๒๔๖๔ พร้อมทั้งทรงพระนิพนธ์ประวัติคุณสุวรรณให้ตีพิมพ์ไว้ด้วย

ลักษณะความแปลกพิสดารของกลอนบทละครเรื่อง อุณรุทร้อยเรื่อง คงจะเห็นได้จากตัวอย่างตอนหนึ่งที่จะยกมากล่าวดังต่อไปนี้

“เมื่อนั้น พระอุณรุทผู้รุ่งรัศมี สมสู่อยู่ด้วยนางจันที ภูมีตรีตรึกนึกใน แค้นด้วยอิเหนากุเรปัน กับสุวรรณมาลีศรีใส เอานางจันทร์สุดายาใจ ไปยกให้พระสมุทรบุตรระตู…”

เมื่ออ่านบทละครที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้ จะเห็นได้ว่ามีตัวละครจากวรรณคดีหลายเรื่อง เช่น อุณรุท อิเหนา คาวี พระอภัยมณี เป็นต้น คุณสุวรรณจะดำเนินเรื่องโดยแสดงความคิดแปลกๆ ไว้ในบทละครเรื่องนี้ แม้จะเป็นลักษณะที่กล่าวกันว่ามีเหตุมาจากการเสียจริต แต่ก็แสดงให้เห็นความปราดเปรื่องและความคิดเฉียบแหลม บางตอนก็นำสิ่งที่ควรมีบทบาทตรงข้ามหรือเป็นศัตรูกันมาแต่งให้มีบทบาทร่วมกัน เป็นความคิดริเริ่มที่กวีอื่นไม่เคยทำมาก่อน เช่นบทที่ว่า

“จรเข้ยังรู้สั่งอากาศ สีหราชยังรู้สั่งมหิงสา หัศรังยังรู้สั่งไอยรา นาคายังรู้สั่งสุบรรณบิน เหมราชยังรู้สั่งซึ่งคูหา แต่มัจฉายังรู้สั่งซึ่งไพรสัณฑ์ พยัคฆ์ยังรู้สั่งมฤคิน พระภูมินทร์ควรฤๅไม่อาลัยลา”

และอีกบทหนึ่ง ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงชมเชยว่าคุณสุวรรณมีความคิดแปลก คือ การแต่งบทจำแลงตัว เป็นบทที่อ่านสนุกสนานเพลิดเพลิน ขบขัน และเห็นอัจฉริยภาพของกวีผู้แต่ง
โดยเฉพาะความรู้,ปราดเปรื่องในเรื่องถ้อยคำหลากหลายที่มีความหมายเดียวกัน ดังบทที่ว่า

“รี้พลให้กลายเป็นโยธา ไอยราแปลงเป็นคชสาร พาชีแปลงเป็นอาชาชาญ พระพรหมมานแปลงเป็นท้าวธาดา ไกรสรให้แปลงเป็นสิงหราช สกุณชาติให้แปลงเป็นปักษา พระราเมศแปลงเพศเป็นรามา พยัคฆาแปลงเป็นพยัคฆี พระยาครุฑแปลงเป็นสุบรรณจร วานรแปลงเป็นกระบี่ศรี นาคาเป็นพระยาวาสุกรี โกสีย์แปลงเป็นท้าวสหัสนัยน์…”

ส่วนบทละครเรื่อง พระมะเหลเถไถ นั้น ก็มีถ้อยคำสำนวนโวหารที่ช่วยให้ขบขัน อ่านแล้วเพลิดเพลิน ชวนอ่านไม่เบื่อ ทั้งนี้เพราะคุณสุวรรณใช้ถ้อยคำที่มีเสียงแปลกๆ แต่ก็มีคำหลักที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจความได้ดี ดังตัวอย่างต่อไปนี้

“ครั้นถึงจึงเข้าตะหลุดตุด ก้มเกล้าเค้าคุดกะหลาต๋า
มะเหลไถกราบไหว้ทั้งสองรา จึงแจ้งกิจจามะเลาเตา
ด้วยบัดนี้ตัวข้ามะเหลเถ ไม่สบายถ่ายเทกะเหงาเก๋า
จะขอลาสองราหน้าเง้าเค้า เที่ยวมะไลไปป่าพนาวัน”

ผลงานอีกเรื่องหนึ่ง คือ กลอนเพลงยาวเรื่องหม่อมเป็ดสวรรค์ กรมศิลปากร สมัยที่ นายธนิต อยู่โพธิ์ เป็นอธิบดี เพิ่งค้นพบต้นฉบับเรื่องนี้ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗ และนายหรีด เรืองฤทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญวรรณคดี ได้เขียนคำอธิบายไว้ว่า

“สำนวนกลอนเป็นของคนๆ เดียวกับผู้แต่งเพลงยาวว่าด้วยเรื่องพระอาการประชวรของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ แต่เพลงยาวเรื่องหม่อมเป็ดสวรรค์ แต่งเมื่อยาม กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพทรงพระสำราญ…แต่เมื่อแต่งเพลงยาวเรื่องพระอาการประชวร ดูผู้แต่งเป็นทุกข์ถึงเจ้านายอยู่มาก จึงเห็นได้ว่า เพลงยาวเรื่องหม่อมเป็ดสวรรค์ แต่งก่อนเพลงยาวเรื่องพระอาการประชวรกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ จะแต่งเมื่อศักราชเท่าไรไม่บอก แต่เมื่อแต่งเพลงยาวเรื่องพระอาการประชวรของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพบอกไว้ว่า

นิราศร่ำทำอักษรเป็นกลอนสด ให้ปรากฏด้วยปัญญาอัชฌาศัย
เมื่อเดือนสี่ปีเถาะเคราะห์เหลือใจ ละห้อยไห้แสนคะนึงถึงประชวร”

ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพประทานพระอธิบายว่า คือ ปีเถาะ จุลศักราช ๑๒o๕ พ.ศ. ๒๓๘๖

กลอนเพลงยาวเรื่องหม่อมเป็ดสวรรค์นี้ เป็นบันทึกเหตุการณ์และสะท้อนภาพชีวิตชาววังในสมัยรัชกาล ที่ ๓ เป็นเรื่องของบุคคลที่มีชีวิตจริง เช่น หม่อมสุด หม่อมขำ ซึ่งเป็นหม่อมห้ามในกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ผู้มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ ก็คือ หม่อมขำ ซึ่งได้สมญาว่า หม่อมเป็ด “เพราะชอบเดินเหิน โยกย้ายส่ายกริยา จึงชื่อว่าหม่อมเป็ดเสด็จประทาน”

เพลงยาวเรื่องนี้สะท้อนสภาพสังคมในสมัยรัชกาลที่ ๓ โดยเฉพาะการดำรงชีวิตของชาววังไว้ละเอียดชัดเจน เช่น การใช้เทียนให้แสงสว่าง การกินหมากพลู การไว้ผมกันไร การนิยมเป่ายานัตถุ์ การเล่นเสภา นายแจ้งคนขับเสภาที่มีชื่อเสียง หรืออาหารและขนมที่นิยมกันในสมัยนั้น เช่น ข้าวเหนียวหน้ากุ้ง หน้าสังขยา ขนมจีนน้ำยา ขนมปลากริม และยังมีความรู้เรื่องทันตกรรมประดิษฐ์ที่น่าสนใจมาก คือ การทำฟันปลอม ด้วยกะลาไม้ และใช้ไหมผูก ซึ่งสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมการกินหมากของผู้หญิงจนฟันดำจึงจะงาม จึงต้องใช้กะลาหรือไม้มะเกลือทำฟันปลอม ตลอดจนช่างทำฟันคนสำคัญมีชื่อว่า จีนยู เป็นต้น ดังบทที่ว่า

“หม่อมเป็ดน้อยมาทำพย่ำเผยอ พูดเจ้อจีบปากถลากไถล
เอาลิ้นดันฟันกะลาเลื่อนออกไป ไหมเปื่อยขาดปุดหลุดออกมา”

และ
“ครั้นหม่อมเห็นพวงฟันเข้าทันใด ดีใจรีบรับเอาฉับพลัน
พวงหนึ่งทำด้วยไม้มะเกลือ วิไลเหลือดำดีสีขยัน
พวงหนึ่งทำด้วยกะลาหนาครัน เขาเจียนจัดขัดเป็นมันเหมือนทันตา
พวงหนึ่งทำไว้ด้วยไม้ทองหลาง ทำเหมือนอย่างซี่ฟันขันหนักหนา
เอาไหมร้อยเรียบเรียงดูเกลี้ยงตา รับเอามาดูกริ่มแล้วยิ้มพราย

หม่อมเป็ดถามยายมาว่าพวงฟัน นี่ขยันสุดใจใครให้พี่
ยายมาอวดซ้ำเขาทำดี ซื้อมาที่จีนยูทั้งสามพวง”

คุณสุวรรณถึงแก่กรรมในรัชกาลที่ ๕ วันเดือนปีใดไม่ปรากฏ ความปราดเปรื่องปรีชาสามารถเชิงกวีนิพนธ์ของคุณสุวรรณได้รับการบันทึกไว้ด้วยความชื่นชม ในประวัติวรรณคดีของไทย และผลงานของท่านก็ยังได้รับความนิยมชื่นชมตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ

คุณพุ่ม(บุษบาท่าเรือจ้าง)

คุณพุ่มหรือที่รู้จักกันในนามว่า “บุษบาท่าเรือจ้าง” เป็นธิดาของพระยาราชมนตรี (ภู่) จางวาง ข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ต่อมาได้เป็นอธิบดีกรมพระคลังมหาสมบัติในรัชกาลที่ ๓ ประวัติของคุณพุ่มไม่ปรากฏหลักฐานว่าเกิดวัน เดือน ปีใด ทราบแต่เพียงว่าเป็นผู้มีชีวิตอยู่ในช่วงรัชกาลที่ ๓ จนถึงรัชกาลที่ ๕ และเป็นกวีหญิงที่มีชื่อเสียง หาผู้ใดเทียบได้ยากในยุคนั้น และเหตุที่คุณพุ่มชอบแต่งบทบุษบาโต้ตอบกับอิเหนา อีกทั้งที่พักอาศัยอยู่บริเวณใกล้ท่าเรือจ้างข้างเหนือท่าพระ(คือบริเวณท่าช้างวังหลวงในปัจจุบัน และเหตุที่เรียกว่าท่าพระ เพราะในปี ๒๓๕๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้อัญเชิญพระศรีศากยมุนี จากพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ สุโขทัย มาประดิษฐาน ณ วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพมหานคร โดยล่องแพมาตามลำนํ้าเจ้าพระยา โปรดให้ชักพระขึ้นทางประตูท่าช้าง แต่ที่ท่าช้างประตูเมืองไม่ตรงกับถนน ทั้งพระพุทธรูปมีขนาดใหญ่กว่าประตูจึงต้องรื้อกำแพง เมื่อแห่พระเข้ามาแล้วจึงก่อกำแพงขึ้นใหม่ จึงเรียกท่านํ้านั้นว่า ท่าพระ อีกชื่อหนึ่ง) จึงได้รับการขนานนามว่า บุษบาท่าเรือจ้าง

คุณพุ่มมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับท่านอีกคนหนึ่งเป็นหญิงชื่อ น้อย ต่อมาได้เป็นหม่อมในสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ และเมื่อกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์สิ้นพระชนม์ ได้เป็นหม่อมห้ามในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรม ต้นสกุลชุมสาย ส่วนคุณพุ่มดำรงตนเป็นโสด ตลอดจนสิ้นอายุขัย

คุณพุ่มคงจะได้รับการศึกษาอบรมดีกว่าสตรีอื่นๆ ในยุคนั้น เนื่องจากในสมัยก่อนไม่นิยมให้สตรีได้เล่าเรียนเขียนอ่านเฉกบุรุษ ด้วยเกรงว่าจะแต่งเพลงยาวโต้ตอบกับบุรุษ แต่คุณพุ่มสามารถแต่งเพลงยาว บทดอกสร้อยสักวาโต้ตอบกับบุรุษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมักจะมีผู้คนไปมาหาสู่ โดยเฉพาะผู้มีบรรดาศักดิ์สูงๆ เพื่อแต่งเพลงยาวและบทสักวากับคุณพุ่มอยู่เนืองๆ จึงนับได้ว่าคุณพุ่มเป็นผู้หญิงเก่งลํ้ายุคในสมัยนั้น และคุณพุ่มเองก็เป็นผู้ที่ชอบแต่งกลอนอยู่ก่อนแล้ว

ในทางกวีคุณพุ่มคงจะนับถือสุนทรภู่เป็นครู และได้รับอิทธิพลของสุนทรภู่อยู่ไม่น้อย ดังสำนวนกลอนที่ปรากฏอยู่ ก็เป็นสำนวนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเรียกว่า กลอนตลาด ดังปรากฏในเพลงยาวเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งคุณพุ่มเป็นผู้แต่งตอนหนึ่งว่า

“ครั้งแผ่นดินปิ่นอยุธพระพุทธเลิศ ช้างเผือกเกิดกับสยามถึงสามสาร เป็นพาหนะพระที่นั่งอลังการ เกิดอาจารย์ท่านครูภู่สุนทร”

แม้การดำเนินชีวิตของคุณพุ่มในช่วงหนึ่งก็คล้ายๆ สุนทรภู่คือ การแต่งกลอนขาย

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวถึงเรื่องนี้ในประวัติสุนทรภู่ ที่ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า

“อันประเพณีแต่งหนังสือขายในสมัยเมื่อยังไม่ใช้การพิมพ์นั้น เมื่อแต่งขึ้นแล้วใครอยากจะอ่านก็มาขอลอกเอาไป ผู้แต่งคิดเอาค่าแต่งตามแต่ผู้ต้องการอ่านจะยอมให้ ผู้มีชื่อเสียงเช่นสุนทรภู่ ก็เห็นจะได้ค่าแต่งแรงอยู่ ประเพณีที่กล่าวมานี้เป็นทางหากินของพวกกวีที่ขัดสนมาช้านาน คุณพุ่มธิดาพระยาราชมนตรี (ภู่) ยังแต่งกลอนขายมาจนถึงต้นรัชกาลที่ ๕”

จากประวัติของคุณพุ่มที่กล่าวแทรกไว้ในเพลงยาวเฉลิมพระเกียรติซึ่งคุณพุ่มเป็นผู้แต่งเองนั้น ทำให้ทราบว่าคุณพุ่มได้เข้ารับราชการฝ่ายใน ตำแหน่งพนักงานพระแสงอยู่ระยะหนึ่ง

“ข้าพเจ้าเล่าเป็นข้าฝ่าพระบาท ธรรมิกราชบพิตรอดิศร
คือพระนั่งเกล้ากษัตริย์ฉัตรนคร โปรดบิดรลือดังทั้งแผ่นดิน
ทรงเลี้ยงเราเข้าระยะที่พระแสง ต้องจัดแจงจดพระเดชเทวษถวิล
เอากตัญญูปัญญาทาแผ่นดิน ช่วยเพิ่มภิญโญพระบารมี”

และอีกตอนหนึ่งว่า
“แต่พุ่มพวงทรวงทิพประทิ่น โดยแผ่นดินปิ่นเกศประเทศสถาน
พระนั่งเกล้าเจ้าจังหวัดชัชวาล ทรงโปรดปรานเป็นพระแสงตำแหน่งใน”

การที่คุณพุ่มได้เข้าถวายตัวทำราชการนี้ เนื่องมาจากบิดาเป็นคนโปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกอบกับมีความสามารถในการงาน เก่งในทางการคลัง บำรุง จัดการภาษีอากร ขนอนตลาดให้เจริญยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นผู้กำกับโรงทาน นอกจากนี้ยังได้รับยกย่องจากรัชกาลที่ ๓ เป็นบ่อแก้ว คู่กับขุนคลังแก้ว พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) ความดีความชอบนี้ตกทอดมาถึงบุตรีด้วย ในตอนนี้คุณพุ่ม กล่าวไว้ในเพลงยาวตอนหนึ่งด้วยว่า

“ท่านบิดาราชมนตรีว่าที่คลัง จึงแต่งตั้งเจียสัวตัวอากร
ให้เงินหลวงตวงเติมเฉลิมฉลาด ฉลองบาทบพิตรอดิศร
คลังสมบัติวัฒนาสถาวร พระนครบริบูรณ์จำรูญรักษ์
เป็นบุรุษสุจริตสนิทนาถ เฉลิมบาทคู่บุญจุลจักร
รู้ถ่ายเทเสน่หาสามีภักดิ์ บำรุงรักษาสมบัติขัตติยา
กตัญญูต่อมรดก แบ่งฉบกให้กับบุตรที่สุดสา
พิภักดิ์ต่อยอพระเดชกระเษตรา พระนั่งเกล้าเจ้าสุธาประเทศไทย”

ขณะที่คุณพุ่มรับราชการอยู่นั้น ไม่ได้แสดงความสามารถทางกวีให้ปรากฏ จนกระทั่งได้ทูลลาไปอยู่นอกวัง เนื่องจากไม่สบาย (หลักฐานบางแห่งว่าไม่พอใจ) จึงกลับไปอยู่กับบิดาที่บ้านท่าพระ โดยอาศัยแพอยู่หน้าบ้านบิดา และ ณ ที่นี้เองที่ทำให้คุณพุ่มมีชื่อเสียงโด่งดัง มีผู้คนไปมาหาสู่เพื่อสนทนาในทางกวีกับคุณพุ่มอยู่เสมอ อาทิ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ขณะมีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงนายสิทธิ์ เป็นต้น ต่อมาคุณพุ่มกลับถวายตัวรับราชการอีกครั้งหนึ่ง ด้วยเหตุผลใดไม่ปรากฏ ในครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์สร้อยเพลงขึ้นบทหนึ่ง กล่าวกันว่า ทรงบริภาษคุณพุ่ม ดังปรากฏใน ประชุมพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า

“สักวาจํ้าจี้มะเขือเปราะ มากะเทาะหน้าแว่นน่าแค้นจิต
ว่านํ้ามากอยากจะเที่ยวไม่สมคิด ต้องตำราสุภาษิตไม่ผิดเลย
ว่าเรือใครไปกระทั่งซึ่งต้นกุ่ม จะได้ผัวหนุ่มหนุ่มนะพี่เอ๋ย
เขาฦๅแน่แซ่เสียงอย่างเถียงเลย ว่าเรือพี่นี้แหละเกยต้นกุ่มเอยฯ”

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายเพิ่มเติมว่า

“สร้อยเพลงบทนี้กล่าวกันว่าทรงพระราชนิพนธ์บริภาษคุณพุ่ม (ที่เป็นกวีหญิง) ธิดาพระยาราชมนตรี ภู่ เป็นเจ้ากรมข้าหลวงเดิม ครั้นธิดาเจริญวัยขึ้นก็ให้ถวายตัวทำราชการ โปรดฯ ให้เป็นนางพนักงาน เจ้าตัวไม่พอใจอยู่ได้คราวหนึ่ง กราบถวายบังคมลาออกจากราชการกลับไปอยู่บ้าน ไปมีชื่อเสียงโด่งดัง ด้วยผู้มีบรรดาศักดิ์สูงชอบคบหา แล้วด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งต่อมากลับเข้าไปถวายตัวทำราชการอีก พอท้าวนางกราบทูลนำถวายตัวไม่มีพระราชดำรัสประการใด เป็นแต่ทรงร้อยกลอนบทนี้แล้วก็เสด็จขึ้นเล่ากันมาดังนี้”

เหตุใดสักวาจึงได้รับความนิยมในยุคนี้และเป็นผลให้คุณพุ่มมีชื่อเสียงเป็นกวีฝีปากเอกนั้น เนื่องมาจากว่า สักวานี้เป็นที่นิยมเล่นกันตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา และได้รับการฟื้นฟูขึ้นอีกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ครั้งรัชกาลที่ ๑ เพื่อฟื้นฟูประเทศให้เหมือนเมื่อครั้งบ้านเมืองดี และนิยมเล่นกันตลอดมาจนถึงรัชกาลที่ ๓ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายเรื่องสักวาไว้ในคำนำประชุมบทสักวา เล่นถวายในรัชกาลที่ ๕ ดังนี้

“ดอกสร้อย สักวา เป็นการเล่นอย่างหนึ่งของผู้ดีมาตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า เดือน ๑๑ เดือน ๑๒ เวลาฤดูนํ้ามาก เป็นเทศกาลทอดกฐิน ทอดผ้าป่า และเที่ยวทุ่ง ผู้มีบรรดาศักดิ์ ตั้งแต่เจ้านายเป็นต้น มักพาบริวารซึ่งเป็นนักร้องทั้งต้นบท แลลูกคู่ มีโทนทับกรับฉิงพร้อม สำรับ ลงเรือไปเที่ยว บางลำก็เป็นนักร้องผู้ชาย บางลำก็เป็นนักร้องผู้หญิง เมื่อไปพบปะ ประชุมกันเป็นการสโมสรในท้องทุ่ง เจ้าของก็คิดบทให้นักร้องวงของตนร้องลำนำผูกกลอนเป็นทางสังวาสบ้าง เป็นทางเรื่องบ้าง ลำอื่นก็ร้องลำนำโต้ตอบกันไปมา เป็นอย่างมโหรสพ สำหรับการราตรีสโมสรของไทยมีมาแต่โบราณดังนี้..

ในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ สักวาเล่นกันมากตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๑ มาจนตลอดรัชกาลที่ ๓ ที่โปรดให้ขุดคลองมหานาคทำเป็นเกาะเกียนอะไรต่างๆ เมื่อในรัชกาลที่ ๑ ก็สำหรับจะให้เป็นที่ประชุมเล่นดอกสร้อยสักวากันตามฤดูกาล มาซาไปเมื่อในรัชกาลที่ ๔ เพราะเล่นปี่พาทย์กันมากแลเข้าใจว่า เพราะพระราชทานอนุญาตให้ใครๆ เล่นละครผู้หญิงได้ ไม่ห้ามดังแต่ก่อน ผู้มีบรรดาศักดิ์เล่นปี่พาทย์และละครกันเสียโดยมาก จึงไม่ใคร่มีใครเล่นสักวา แต่เมื่อมาจับเล่นสักวาเมื่อในรัชกาลที่ ๕ ยังมีผู้ชำนาญบอกสักวามาแต่ในรัชกาลที่ ๓ อยู่บ้าง ที่ข้าพเจ้าได้ทันพบ คือ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ…พระองค์หนึ่ง คุณพุ่มธิดา พระยาราชมนตรี(ภู่)…อีกคนหนึ่ง”

คุณพุ่มเป็นกวีหญิงที่จัดว่ามีปฏิภาณไหวพริบและฝีปากกล้า แต่งกลอนได้ดียิ่งทั้งสำนวนโวหารและความไพเราะ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวิจารณ์ไว้ในคำนำประชุมบทสักวา เล่นถวายในรัชกาลที่ ๕ ตอนหนึ่งมีว่า

“คุณพุ่มนั้นอีกคนหนึ่งบอก (สักวา) คล่องแคล่ว ดีทั้งกลอนทั้งความ พวกรุ่นข้าพเจ้าสองสามคนเคยเข้าไปช่วยกันบอกสักวาโต้กรมหลวงบดินทร์ฯ ครั้งหนึ่ง คิดไม่ได้เร็วเหมือนท่าน แพ้ท่านมา จึงรู้ว่าผู้ที่เล่นสักวากันแต่ก่อนชำนาญกลอนมาก”

และในข้อที่ว่ามีฝีปากกล้านั้น มีหลักฐานได้จากการแต่งกลอนล้อเลียนคนดังของสังคม ในสมัยนั้น ไม่ว่าผู้นั้นจะมียศถาบรรดาศักดิ์ อำนาจวาสนาเพียงใด การแต่งกลอนล้อนี้ออกมาในรูปของคำกลอนอธิษฐาน มีทั้งหมด ๑๒ ข้อ ดังจะยกตัวอย่างมาดังนี้
๑) “ขออย่าให้เป็นคนชิดของเจ้าคุณผู้ใหญ่” คือคนชิดของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) อธิบายว่า เพราะมักถูกเฆี่ยนหลังลายไม่เว้นตัว

๒) “ขออย่าให้เป็นคนใช้ของเจ้าพระยานคร” คือคนใช้ของพระยานคร (น้อย) อธิบายว่า เพราะถูกทำโทษนอกรีตต่างๆ ดังเช่นเรือช้าไป ให้ฝีพายถองเรือ เป็นต้น

๓) “ขออย่าให้เป็นคนต้มน้ำร้อนของพระยาศรี” คือคนต้มนํ้าร้อนของพระยาศรีสหเทพ (เพ็ง) อธิบายว่าเพราะพระยาศรีฯ นั้น แขกไปหาไม่มีขาด จนคนต้มน้ำเลี้ยงแขกจะหาเวลาพักมิได้

นอกจากนี้ยังเล่ากันอีกว่า คุณพุ่มเคยแย่งพระแสงดาบของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย และในการโต้ตอบสักวาครั้งหนึ่งกับกรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ซึ่งเย้าคุณพุ่มว่า

“สักวาวันนี้พี่สังเกต เหมือนพุ่มพวงดวงเนตรของเชษฐา
มิได้เล่นลี้ลับหลายปีมา ………………………………..”

คุณพุ่มโต้ตอบว่า
“สักวาน่าจะโห่ให้เรือล่ม นี่ฤๅกรมภูวเนตรเศษสวรรค์
เอานายทิมเข้ามาทวนพอควรกัน เหมือนอย่างหั่นใบขี้เหล็กให้เด็กยำ”

นับได้ว่าคุณพุ่มเป็นหญิงที่กล้าทั้งในทางกวีและความประพฤติ

ช่วงชีวิตของคุณพุ่มในรัชกาลที่ ๓ มีชีวิตรุ่งเรืองและบริบูรณ์พูนสุขมาก มาในรัชกาลที่ ๔ ชีวิตของคุณพุ่มเริ่มตกอับ อย่างไรก็ตาม การที่คุณพุ่มมีฝีปากในการแต่งกลอนจึงทำให้มีผู้นับหน้าถือตา มักได้รับเชิญให้ไปบอกสักวาเนืองๆ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คุณพุ่มเข้ารับราชการอีก แต่คุณพุ่มปฏิเสธ ดังคำกลอนในเพลงยาวเฉลิมพระเกียรติตอนหนึ่งว่า

“แรกครองทศมณฑลพระชนม์ยัง ก็ทรงสั่งกรมวิศอิศรวงศ์
ให้เข้าไปอยู่ฉลองละอองบาท เราขี้ขลาดขัดธุระพระประสงค์’’

คุณพุ่มได้อาศัยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นที่พึ่งอุปการะ จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ หลังจากนี้คุณพุ่มขัดสนมากถึงกับต้องแต่งกลอนขาย

“ล่วงแผ่นดินปิ่นเกศจอมมงกุฎ กลับจนรุดเกินริบที่ฉิบหาย
เหลือแต่กลอนกับชีวิตอยู่ติดกาย จึงพากเพียรเขียนถวายขายปัญญา”

ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คุณพุ่มได้กลับเข้ารับราชการอีกครั้งหนึ่ง โดยเป็นผู้บอกสักวาในวงของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร จนตลอดอายุ

ผลงานชิ้นสำคัญของคุณพุ่มที่ปรากฏได้แก่
๑. เพลงยาวฉลองสระบางโขมด แต่งในโอกาสที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร ทรงให้ขุดสระเป็นสาธารณประโยชน์ที่บางโขมดในหนทางขึ้นพระพุทธบาท คุณพุ่มจึงได้แต่งเพลงยาวนี้ปิดไว้ที่ศาลาริมสระนั้น

๒. บทสักวาเล่นถวายในรัชกาลที่ ๕ แต่งเมื่อครั้งเล่นสักวาในสระบางปะอิน เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙

๓. เพลงยาวเฉลิมพระเกียรติ แต่งเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ซึ่งเป็นการชักชวนของเจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ ๔ ผู้หนึ่งให้คุณพุ่มแต่งกลอนชมพระเกียรติยศ

แม้ว่าคุณพุ่มจะมีผลงานที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรอยู่ไม่มากนักก็ตาม แต่การที่ท่านได้รับเชิญให้ไปบอกสักวาอยู่เสมอ และมีชื่อเสียงโด่งดังมาก รู้ไปถึงพระเนตรพระกรรณในหลายรัชกาล ตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ จนถึงรัชกาลที่ ๕ ย่อมเป็นประจักษ์พยานสำคัญที่ยืนยันได้ว่าท่านเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในทางกวีเพียงใด

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: เบญจมาส แพทอง

ท้าวสุรนารีวีรสตรีแห่งเมืองนครราชสีมา

เอกราชของชาติที่ดำรงคงอยู่ให้ลูกหลานไทยได้ภาคภูมิใจตราบจนทุกวันนี้นั้นก็เพราะความแกล้วกล้าของบรรพบุรุษไทยหลายยุคหลายสมัยที่อุทิศเลือดเนื้อและชีวิต เพื่อปกป้องผืนแผ่นดินไทยให้เป็นปึกแผ่น มั่นคง ทรงไว้ซึ่งเกียรติภูมิตลอดมา ท้าวสุรนารี
ท้าวสุรนารีวีรสตรีแห่งเมืองนครราชสีมาคือตัวอย่างอันดีของหญิงไทย ที่มีความกล้าหาญ เข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว ทัดเทียมชาย ประกอบวีรกรรมนำครอบครัวชาวนครราชสีมาลุกขึ้นต่อสู้ เพื่อรักษาเมืองนครราชสีมาให้กลับคืนสู่อิสรภาพ จนสามารถขจัดการคุกคามของอริราชศัตรูมิให้ล่วงลํ้าเข้าสู่กรุงเทพมหานครได้ในที่สุด

ท้าวสุรนารีมีนามเดิมว่า โม หรือ โม้ เป็นธิดาของนายกีบ นางบุญมา เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๔ ปีเถาะ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี เมื่ออายุได้ ๒๕ ปี ได้เข้าพิธีแต่งงานกับพระยาสุรยเดชวิเศษฤทธิ์ทศทิศวิชัย (ทองคำ) ตำแหน่งปลัดเมืองนครราชสีมา ซึ่งชาวเมืองทั่วไปเรียกกันว่า พระยาปลัด มีนิวาสสถานอยู่ ณ บ้านตรงข้ามวัดกลางนคร (วัดพระนารายณ์มหาราช) กล่าวกันว่า ภริยา พระยาปลัด หรือคุณหญิงโม เป็นผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด สามารถช่วยสนับสนุนกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่การงานแก่สามี มีใจบุญสุนทานเป็นที่รักใคร่นับถือของชาวนครราชสีมาทั้งปวง

ความเป็นมาของเหตุการณ์อันก่อให้เกิดวีรกรรมของท้าวสุรนารีจนได้รับการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์นั้น มีสาเหตุสืบเนื่องมาจากในปี พ.ศ. ๒๓๖๘ เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์เดินทางมายังกรุงเทพมหานครเพื่อร่วมถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเมื่อจะกราบบังคมทูลลากลับเวียงจันทน์ได้ขอพระราชทานครอบครัวเจ้าเวียงจันทน์ ซึ่งถูกกวาดต้อนมาแต่ครั้งกรุงธนบุรี รวมทั้งทูลขอละครในกลับนครเวียงจันทน์ด้วย แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรดพระราชทานให้ จึงสร้างความอัปยศเคืองแค้นใจแก่เจ้าอนุวงศ์ยิ่งนัก จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๓๖๙ มีข่าวลือไปถึงนครเวียงจันทน์ว่าไทยกับอังกฤษเกิดการขัดแย้งบาดหมางจนเกือบจะทำสงครามกัน เจ้าอนุวงศ์เห็นเป็นโอกาสที่ฝ่ายไทยมิทันระวังตัวจึงส่งกองทัพเข้าสู่หัวเมืองภาคตะวันออกของไทยหลายทาง เจ้าอนุวงศ์เองคุมกำลังส่วนใหญ่สู่เมืองนครราชสีมาอันเป็นเมืองเอก เพื่อใช้เป็นศูนย์ส่งกำลังบำรุงและบัญชาการเข้าตีกรุงเทพมหานครต่อไป ลักษณะการมาอย่างจู่โจมไม่รู้เนื้อรู้ตัวของกองทัพเวียงจันทน์ประกอบกับการหลอกลวงผู้ครองเมืองต่างๆ ว่า ได้รับการขอร้องจากทางกรุงเทพมหานครให้ลงมาช่วยรบอังกฤษ ทำให้กองทัพเวียงจันทน์สามารถเดินทัพได้อย่างสะดวกไม่ได้รับการต่อต้านแต่ประการใด จนลุล่วงถึงเมืองนครราชสีมาในวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๖๙ ตั้งค่ายใหญ่อยู่ที่ทะเลหญ้าด้านทิศตะวันออกของเมืองนครราชสีมา ๗ ค่าย ให้กิตติศัพท์เลื่องลือว่าคนถึง ๘๐,๐๐๐ จากนั้นได้ทำการปลดอาวุธพร้อมทั้งกวาดต้อนครอบครัวชาวนครราชสีมาเตรียมนำกลับไปนครเวียงจันทน์ ทั้งนี้เพื่อเป็นการบั่นทอนกำลังของผู้คนตามหัวเมืองต่างๆ เสียให้สิ้น

ขณะนั้นเจ้าพระยากำแหงสงครามรามภักดี (ทองอินทร์) เจ้าเมืองนครราชสีมา พระยาสุรยเดชวิเศษฤทธิ์ทศทิศวิชัย (พระยาปลัด) รวมทั้งกรมการเมืองหลายคนไม่อยู่ เนื่องด้วยมีท้องตราพระราชสีห์ โปรดเกล้าฯ ให้ยกทัพขึ้นไประงับการพิพาทที่เมืองขุขันธ์ คงเหลือแต่กรมการผู้น้อย อันได้แก่ พระยาพรหมยกกระบัตร พระณรงค์สงคราม อยู่รักษาเมือง เมื่อกองทัพเจ้าอนุวงศ์ก่อการกบฏขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็แสร้งทำกิริยาเต็มใจให้การต้อนรับ จัดหาหญิงรูปงามหลายคนมาปรนนิบัติจนเจ้าอนุวงศ์เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจว่าชาวเมืองนครราชสีมามีใจฝักใฝ่แก่ฝ่ายตน ความได้ทราบถึงเจ้าเมืองนครราชสีมาและพระยาปลัด ซึ่งอยู่ ณ เมืองขุขันธ์ ก็เกิดความวิตกว่าหากทิ้งครอบครัวเสียไม่ไประวังรักษา ลาวจะทำยับเยินเสียหมด จึงปรึกษากันให้พระยาปลัดรีบเดินทางกลับยังเมืองนครราชสีมา ทำกลอุบายต่อเจ้าอนุวงศ์ว่าเจ้าพระยานครราชสีมาหนีไปเมืองเขมรแล้ว ตัวพระยาปลัดเองทิ้งครอบครัวไม่ได้จะขอตามเสด็จไปอยู่เวียงจันทน์ด้วย เจ้าอนุวงศ์จึงมอบหมายให้พระยาปลัด พระยาพรหมยกกระบัตร และพระยาณรงค์สงคราม เป็นนายกอง ควบคุมครัวชาวนครราชสีมาออกเดินทาง ภายใต้การควบคุมของเพี้ยรามพิชัย แม่ทัพเวียงจันทน์ การเดินทางดำเนินไปอย่างเชื่องช้าเพื่อรอกองทัพกรุงเทพมหานครขึ้นไปแก้ไขถ่วงเวลาจนเป็นที่ผิดสังเกตของ ฝ่ายลาว เจ้าอนุวงศ์จึงตัดแยกออกจากกันเป็นหลายกองป้องกันการคิดต่อสู้ ผู้นำชาวไทยทั้งสามรวมทั้งคุณหญิงโมภริยาพระยาปลัดจึงร่วมกันทำกลอุบายวางแผนการรบเพื่ออิสรภาพ โดยแจ้งแก่เจ้าอนุวงศ์ว่า ครอบครัวที่อพยพมีความอดอยากต้องการมีดพร้าอาวุธพอที่จะล่าสัตว์ทำครัวเพื่อประทังชีวิต เจ้าอนุวงศ์ก็อนุโลมให้ จนกระทั่งเดินทางถึงทุ่งสัมฤทธิ์ แขวงเมืองพิมาย ชาวไทยแสร้งทำเป็นเจ็บไข้เมื่อยล้า ฝ่ายลาว เกรงว่าจะมีการเจ็บตายจำนวนมากจึงสั่งให้หยุดพักค้างคืนอยู่ ณ ที่นั้น คุณหญิงโมทำอุบายให้หญิงสาวชาวนครราชสีมานำอาหารและสุราไป เลี้ยงทหารลาวอย่างเต็มที่จนเมามายไม่ได้สติ มิได้ระมัดระวังตน ครั้น ตกดึกประมาณยามสามเศษ ครอบครัวชาวนครราชสีมาพร้อมด้วยอาวุธเท่าที่มีอยู่ได้พร้อมใจกันไล่ฆ่าฟันทหารลาวล้มตายเกลื่อนบริเวณทุ่งสัมฤทธิ์ แล้วเก็บรวบรวมศาสตราวุธ ช้าง ม้า โค กระบือ เสบียงอาหาร พากันตั้งค่ายขึ้นรับการต่อสู้ ณ ที่นั้น เจ้าอนุวงศ์ทราบข่าวจึงส่งเจ้าสุทธิสารคุมกำลังพลมาปราบปราม ชาวนครราชสีมาจึงจัดกำลังพลออกต่อสู้นอกค่าย โดยมีพระณรงค์สงครามเป็นกองหน้า พระยาปลัดเป็นกองกลาง พระยายกกระบัตรคุมกองเกวียนครอบครัว ซึ่งมีเด็กคนชรา ส่วนคุณหญิงโมขี่ม้าถือหอกนำกำลัง หญิงล้วนประมาณ ๓๐๐ คน แต่งกายรัดกุมคล้ายชายเป็นกองหนุน มีเพียงอาวุธประเภทพร้า หลาว กระบอง พร้อมใจกันเข้าจู่โจมกองทัพลาวอย่างรวดเร็ว เกิดการสู้รบถึงขั้นประชิดตัวด้วยความกล้าหาญ บาดเจ็บล้มตายด้วยกันทั้งสองฝ่าย ภาพเหตุการณ์แห่งวีรกรรมชาวนครราชสีมาครั้งนั้น มีบันทึกไว้ในสำเนาหนังสือเจ้าเวียงจันทน์เพี้ยพรหมา ซึ่งถือมากรุงเทพมหานคร เมื่อ จ.ศ. ๑๑๘๘ มีความว่า

“เวลาเช้าตรู่พระยาปลัด พระยายกกระบัตร กรมการต่างคนต่างยิงปืนคนละนัด พวกครัวก็เข้าฟันแทงทั้งพระสงฆ์เถรเณร ผู้หญิงในครัวหนุนโห่ร้องไล่อ้ายลาวแตกไม่ผินหน้าสู้ พวกครัวซํ้าเติมฆ่าฟันทุบตีแต่เวลาเช้าจนเวลาบ่าย ๕ โมง จนกระทั่งบ้านบัว อ้ายลาวตายประมาณ ๒,๐๐๐ คน ที่เหลือตายไม่เหนเข้าไบ่ทางเมืองนครราชสีมา หนีไปทางเมืองเวียงจันทน์ พระยาปลัด พระยายกกระบัตร กรมการบอกข้าพเจ้าว่าอ้ายสุทธิสาร ลงจากม้าพวกครัวแทงตาย”

เจ้าอนุวงศ์เมื่อทราบว่ากองทัพเวียงจันทน์พ่ายแพ้แก่ชาวครัวนครราชสีมาแล้ว ก็คิดไปว่าคงจะมีกำลังกองทัพจากเจ้าเมืองนครราชสีมายกมาช่วย เกิดความขลาดหวาดหวั่นไม่คิดที่จะยกทัพลงมายังกรุงเทพมหานคร พอดีมีข่าวว่ากองทัพจากกรุงเทพมหานครกำลังจะเดินทางมาถึง เกรงว่าจะเป็นศึกขนาบ จึงสั่งเผายุ้งฉาง บ้านเมือง เสียสิ้น ก่อนยกทัพออกจากเมืองนครราชสีมาในวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๖๙

ด้วยวีรกรรมความสามารถและกล้าหาญของคุณหญิงโม อันเป็นคุณประโยชน์ต่อบ้านเมืองในการมีส่วนเป็นผู้นำชาวนครราชสีมาต่อสู้กองทหารเวียงจันทน์จนแตกพินาศ ไม่สามารถล่วงลํ้าลงมายังพระ มหานครได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบำเหน็จแต่งตั้งคุณหญิงโมเป็นท้าวสุรนารี

ท้าวสุรนารีถึงแก่อสัญกรรมเมื่อเดือน ๔ ปีชวด พ.ศ. ๒๓๙๕ สิริรวมอายุได้ ๘๑ ปี เจ้าพระยามหิศราธิบดีผู้เป็นสามีได้ฌาปนกิจและสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิไว้ ณ วัดศาลาลอย อันเป็นวัดซึ่งท้าวสุรนารีได้สร้างขึ้น ต่อมาเจดีย์นั้นได้ชำรุดลง พลตรีพระยาสิงหเสนี (สะอาด สิงหเสนี) เมื่อครั้งเป็นพระยาประสิทธิศิลปการ ข้าหลวงเทศาภิบาล ผู้สำเร็จราชการมณฑลนครราชสีมา องคมนตรี และรัฐมนตรี ได้บริจาคทรัพย์สร้างกู่ขนาดเล็กบรรจุอัฐิท้าวสุรนารีขึ้นใหม่ที่วัดกลาง (วัดพระนารายณ์มหาราช) สร้างเสร็จเมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ร.ศ. ๑๑๔ (พ.ศ. ๒๔๔๒)

ต่อมากู่นั้นทรุดโทรมลงอีก ทั้งอยู่ในที่คับแคบไม่งามสง่าสมเกียรติ พระยากำธรพายัพทิศ (ดิศ อินทรโสฬส) ผู้บังคับการมณฑลทหารบกที่ ๕ พร้อมด้วยข้าราชการและประชาชนชาวนครราชสีมา ได้พร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์รูปท้าวสุรนารีด้วยทองแดง นำอัฐิท่านบรรจุไว้ในฐานรองรับสร้างเสร็จประดิษฐ์ไว้ ณ ประตูชุมพลนี้ เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๗

ครั้น พ.ศ. ๒๕๑๐ ฐานอนุสาวรีย์ชำรุด ข้าราชการและประชาชนชาวนครราชสีมา มีนายสวัสดิ์ วงศ์ปฏิทัศน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานได้ร่วมใจกันสร้างฐานอนุสาวรีย์ขึ้นใหม่ ณ ที่เดิม เพื่อเป็นศรีสง่าแก่บ้านเมือง และเชิดชูเกิยรติท้าวสุรนารี สร้างเสร็จเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๐

วันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี มาวางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์แห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีกระแสพระราชดำรัส มีความตอนหนึ่งว่า

“ท้าวสุรนารี เป็นผู้ที่เสียสละเพื่อให้ประเทศชาติได้อยู่รอดปลอดภัย ควรที่อนุชนรุ่นหลัง จะได้ระลึกถึงคุณงามความดีของท่าน”

ด้วยคุณงามความดีแห่งการประกอบวีรกรรมอันเป็นคุณประโยชน์แก่บ้านเมือง ท่านจึงได้รับการยกย่องสรรเสริญจากนักปราชญ์ราชบัณฑิต ตลอดจนทหารหาญ ดังบทสดุดีท้าวสุรนารีซึ่งประพันธ์โดยพระยาอุปกิตศิลปสาร ไว้ในหนังสือ นารีเรืองนาม ว่า

“อ้าเพศก็เพศนุชอนงค์ อรองค์ก็บอบบาง
ควรแต่ผดุงอรสอาง ศุภลักษณ์ประโลมใจ

ยามเข็ญก็เข็นสริรช่วย คณะชายผจญภัย
โอ้ควรจะเอื้อนพจนไข คุณะเลิศมโหฬาร

อ้าหัตถ์ก็หัตถ์สุขุมพรร ณ พิสัยอลังการ
ควรแต่จะถือมธุรมาล ยประมูลมโนรม

ยามทุกข์ก็ถือวิวิธอา วุธร่วมสมาคม
โอ้ควรจะเอื้อนพจนชม คุณชั่วนิรันดรกาล

อ้าเสียงก็เสียงนุชอนงค์ เสนาะโสตกระแสหวาน
ควรแต่จะซ้องสรประสาร ดุริยางค์พยุงใจ

ยามแค้นก็แค่นกมลซ้อง สรโห่กระหึ่มไพร
โอ้ควรจะชมนุชไฉน นะจะหนำมโนปอง

อ้าจิตรก็จิตรนุชเสงี่ยม มนะอ่อน ณ ชนผอง
ควรแต่จะเอื้อกมลครอง ฆรชื่นประชาชน

ยามยุทธนาบมิขยาด มนะกล้าผจญรณ
โอ้ควรจะนับคุณะอนน ตอเนกรำพัน

อ้าจงอนงค์คุณกำ จรจบณไกวัล
เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระวรธรร มิกราชสยามินทร์

เพื่อเป็นนิทัศนอุทา หรณัคร์มโนถวิล
โอ้สุญนภางคปถพิน คุณจงมลาย เทอญ”

ตราบจนทุกวันนี้อนุสาวรีย์ของท้าวสุรนารี เปรียบเสมือนศูนย์รวมความรัก เสริมสร้างความสามัคคีของชาวไทยทั้งปวง ไม่เฉพาะแต่เพียงชาวนครราชสีมาเท่านั้น ทางราชการได้จัดงานเฉลิมฉลองวันแห่งชัยชนะท้าวสุรนารี เป็นงานใหญ่ระหว่างวันที่ ๒๓ มีนาคม – ๓ เมษายน เป็นประจำทุกปี จัดงานเป็นงานสำคัญและยิ่งใหญ่ของจังหวัดนครราชสีมา
นอกจากนี้นามของท่านได้นำมาตั้งเป็นชื่อหน่วยทหารและสถาบันการศึกษา ซึ่งตั้งอยู่ทั้งในจังหวัดนครราชสีมา ตลอดจนจังหวัดใกล้เคียงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งเกียรติคุณ เช่น ค่ายสุรนารี กองกำลังสุรนารี มหาวิทยาลัยสุรนารี เป็นต้น และจังหวัดนครราชสีมายังได้ก่อสร้างอนุสรณ์สถานวีรกรรมของท้าวสุรนารีและชาวนครราชสีมาขึ้น ณ บริเวณทุ่งสัมฤทธิ์ เพื่อให้เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดอีกแห่งหนึ่ง

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: ฤดีรัตน์ กายราศ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร

พระนามเดิมคือ พระองค์เจ้าหญิงละม่อม ประสูติเมื่อวันอังคาร เดือนอ้าย ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีขาล สัมฤทธิศก จ.ศ. ๑๑๘๐ ตรงกับวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๖๑ เป็นพระราชธิดาพระองศ์ที่ ๒๖ ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และพระองค์ที่ ๒ ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาทรัพย์ มีพระเชษฐาร่วมพระมารดาพระองค์หนึ่ง คือ พระองค์เจ้าชายศิริวงศ์ ซึ่งต่อมาทรงได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ต้นราชสกุล ศิริวงศ์”กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร

สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์มีพระชนมายุเพียง ๒๘ พรรษา ก็สิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. ๒๓๘๒ พระองค์เจ้าหญิงละม่อมขณะนั้นมีพระชนมายุ ๒๑ พรรษา ทรงมีศักดิ์เป็นอา และเป็นพระราชวงศ์ผู้ใหญ่ใกล้ชิด จึงทรงรับหน้าที่เป็นพระอภิบาลพระโอรสและพระธิดาทั้ง ๗ พระองศ์ ของพระเชษฐา ซึ่งมีฐานะเป็นพระเจ้าหลานเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ หม่อมเจ้าชายมงคลเลิศ หม่อมเจ้าหญิงรำเพย (คือ สมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี) หม่อมเจ้าชมชื่น หม่อมเจ้าหญิงพื้นพงศ์ หม่อมเจ้าหญิงพรรณราย หม่อมเจ้าฉายเฉิด หม่อมเจ้าประเสริฐศักดิ์

ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงสมมตยาภิเษก หม่อมเจ้าหญิงรำเพยเป็นพระราชเทวี เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๕ พระนามว่า พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ ถึงกระนั้นความ สนิทสนมที่ทรงมีต่อพระปิตุจฉา พระองศ์เจ้าหญิงละม่อมก็คงเป็นไปเหมือนแต่ก่อนที่เคยประทับอยู่ด้วยกัน ณ พระตำหนักตึก ซึ่งเดิมเป็นพระตำหนักของสมเด็จพระศรีสุลาลัย จนกระทั่งเมื่อมีพระราชโอรสพระราชธิดา ความสนิทสนมนี้ได้สืบเนื่องมาจนถึงชั้นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอด้วย ซึ่งทรงเรียกพระองศ์เจ้าหญิงละม่อมว่า “เสด็จยาย” พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์เป็นพระมเหสีที่ใกล้ชิดและสนิทเสน่หา แต่เนื่องจาก มีพระพลานามัยอ่อนแอ มีโรคประจำพระองค์ ทำให้ทรงพระประชวรเป็นเนืองนิจ จึงด่วนเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. ๒๔๐๔ ด้วยพระชนมายุเพียง ๒๔ พรรษา อันเป็นเหตุให้พระราชโอรสและพระราชธิดาทั้ง ๔ พระองค์ ต้องทรงกำพร้าพระราชชนนีแต่ยังทรงพระเยาว์ ขณะนั้นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมหมื่นพิฆเณศวรสุรสังกาศ(พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) พระชนมพรรษา ๘ พรรษา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑลโสภณภควดี (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑลฯ กรมหลวงวิสุทธิกษัตรีย์) พระชนมพรรษา ๖ พรรษา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์) พระชนมพรรษา ๔ พรรษา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ (จอมพล สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช) พระชนมพรรษา ๒ พรรษา

การสูญเสียพระมเหสีที่มีพระราชโอรสและพระราชธิดาที่ยังทรงพระเยาว์ถึง ๔ พระองค์ นับเป็นความทุกข์ของผู้เป็นพระราชสวามีอย่างที่สุด ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องเฟ้นหาผู้ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยมาเป็น ผู้อภิบาลบำรุงที่จะทำให้พระราชโอรสและพระราชธิดาทรงเจริญด้วยคุณธรรมความดี ในขณะนั้นทรงเล็งเห็นแต่พระองค์เจ้าหญิงละม่อม ซึ่งมีพระฐานะเป็นสมเด็จอาของพระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ (ปัจจุบันออกพระนามว่า สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี) ในเวลานั้นพระองค์เจ้าหญิงละม่อมเจริญพระชันษาได้ ๔๓ ปี นับเป็นวัยที่สมบูรณ์ด้วยพระคุณธรรมและทรงตั้งอยู่ในฐานะที่ควรแก่การเคารพอย่างยิ่ง พระองค์เจ้าหญิงละม่อมได้เสด็จออกมาประทับเพื่ออภิบาลสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ณ พระตำหนักสวนกุหลาบ สลับกับการประทับชั่วคราว ณ วังนันทอุทยาน ต่อมาได้เสด็จกลับไปประทับยังพระตำหนักตึกตามเดิม ครั้นเมื่อจะมีการสถาปนาพระที่นั่งในหมู่พระตำหนักตึกจึงเสด็จย้ายไปประทับ ณ พระที่นั่งพิมานรัตยาในหมู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ด้วยเหตุนี้จึงทรงได้รับสมญาว่า “ทูลกระหม่อมปราสาท” และ “ทูลกระหม่อมแก้ว” ภายหลัง ได้เสด็จประทับเป็นการถาวร ณ พระตำหนักที่สร้างขึ้นใหม่ตรงกับพระที่นั่งพิมานรัตยาทางทิศใต้ ซึ่งเดิมเป็นพระตำหนักของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ

ในการอภิบาลพระราชโอรสและพระราชธิดาทั้ง ๔ นั้น ไม่มีหลักฐานที่ปรากฏแน่ชัดว่า ได้ทรงอบรมสั่งสอนและดูแลในเรื่องใดบ้าง แต่ถ้าจะสันนิษฐานแล้ว ก็เป็นที่คาดว่าพระองค์เจ้าหญิงละม่อม หรือ “เสด็จยาย” ของหลานๆ ทรงมุ่งหมายทุ่มเทให้ทุกพระองค์เจริญพระชนม์เติบโตขึ้นด้วยความดีงาม รับราชการด้วยความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะสมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ (ต่อมาขึ้น ครองราชย์เฉลิมพระนามว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) นั้น เนื่องจากเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ จึงทรงมุ่งหวังและทรงปลูกฝังให้เป็นผู้ที่มีคุณธรรมอันงดงามเพียงสถานเดียว ดังจะ เห็นได้จากบทพระราชนิพนธ์ในเรื่องลิลิตนิทราชาคริตหน้า๑๑๒ – ๑๑๓ ที่สะท้อนให้เห็นว่าพระองค์เจ้าหญิงละม่อมทรงสั่งสอนในเรื่องต่างๆ ความตอนหนึ่งว่า

“อย่าแพลงอย่าพลิกเค้า คุณภู-ธรเฮย
มั่นจิตต์คิดกตัญญู ต่อท้าว
ใดดีช่วยช้อนชู เชิดเกียรติ ท่านนา
พระประสงค์สุดด้าว จุ่งสู้ อาสา

เวลาเช้าค่ำตั้ง ความเพียร เทอญพ่อ
ภารกิจอย่าพาเหียร อย่าคร้าน
ไป่รู้จุ่งสอบเรียน ทราบผิด ชอบนา
ประมาทมักพลาดค้าน เดาะด้วยคิดทะนง
สงครามมาเหยียบด้าว แดนไกล ใกล้ฤๅ
ทอดชีพอาสาไป อย่าคร้าน
สงวนราชรักษาไผท ที่เกิด ตนแฮ
ผิวเหตุเขตตขัณฑ์ข้าม ขอบฟ้าจุ่งไป

การในนัคเรศ พิจารณ์ ความฤๅ
โดยแบบบทอัยการ เที่ยงแท้
เหินห่างอคติสถาน ทัณฑ์เที่ยง ตรงแฮ
มละวิหิงสาแปล้ ปลดเปลื้องเดียดฉัน

รำพันยังไป่สิ้น สุดความ
สอนแต่พอจำยาม แรกนี้
จงหมั่นตริตรองตาม คำแม่ สอนนา
ทราบชัดจึ่งจักชี้ อื่นเอื้อนอรรถสอน”

ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๐๘ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต จึงเป็นที่ชัดเจนว่า พระราชโอรสองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะได้เป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์เป็นลำดับต่อไป และในการนี้ได้สันนิษฐานว่าพระองค์เจ้าหญิงละม่อมคงจะได้ทรงอบรมสั่งสอนสมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ ให้ทรงตระหนักในคุณธรรมของพระเจ้าแผ่นดิน ดังจะวิเคราะห์ได้จากพระปรีชาญาณอันสุขุมคัมภีรภาพทั้งปวง ที่ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร อันหมายถึงความลุ่มลึกแห่งพระปัญญาที่สืบเนื่องมาจากพระอัจฉริยภาพแต่เดิมแล้ว ส่วนหนึ่งนั้นก็เนื่องมาจากการอบรมสั่งสอนที่พระองค์เจ้าหญิงละม่อมได้ทรงอภิบาลมาแต่ยังทรงพระเยาว์ เช่นเรื่องให้โอบอ้อมอารี ต่อญาติมิตรอันสนิท โดยเฉพาะน้องๆ เพื่อเอาไว้เป็นกำลัง อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ทั้งเจ้านายและขุนนาง ฟังคำแนะนำตักเตือนที่ควรฟัง อย่าถือตนว่าเกิดมามีบุญ ให้ถือว่าตัวเกิดมามีกรรม การซึ่งจะมีวาสนาต่อไปนั้น เป็นความทุกข์มิใช่ความสุข และการเป็นพระเจ้าแผ่นดินมิใช่สำหรับความมั่งมี มิใช่เพื่อจะข่มเหงคนเล่นตามชอบใจ แต่การเป็นพระเจ้าแผ่นดินต้องเป็นผู้ที่อดกลั้นต่อความสุข ความทุกข์ อดกลั้นต่อความรักความชัง และเป็นผู้ปราศจากความเกียจคร้าน ดังนี้เป็นต้น

ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติใน พ.ศ. ๒๔๑๑ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระองค์เจ้าหญิงละม่อม ดังความตามคำประกาศใน จดหมายเหตุ เรื่องทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์กรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑ หน้า ๑๗๔ ตอนหนึ่งว่า

“ศภมัสดุ พระพุทธสาสนกาลเปนอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๑๑ พรรษา บัตยุบันกาล มังกรสังวัจฉร บุศยมาส ชุษณปักษปัญจมีดิถีสุกรวาร บริเฉทกาลกำหนด พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ ฯลฯ พระจุฬาลงกรณเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริห์ว่า พระเจ้าราชวรวงศเธอ พระองค์เจ้าลม่อมนั้น มีบรรพาการิตาคุณวโรปการ ได้ทรงอภิบาล อุปถัมภ์บำรุงบริรักษ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ดำรงด้วยสุขสวัสดิ์นานานุประการ ดังหนึ่งสมเด็จพระราชชนนีตั้งแต่พระเยาว์มา คุมถึงเวลาทรงพระเจริญวัยดังพระหฤทัยจำนงประสงค์ เพื่อจะทรงพระเจริญรุ่งเรืองด้วยพระบรมราชอิศริยยศในที่ต่างๆ โดยสมควร แลเป็นที่สนิทชิดชอบพระราชอัธยาศรัยมากกว่าพระเจ้าราชวรวงศเธอพระองค์อื่นๆ สมควรเปนที่เคารพนับถือทั่วไปในพระราชวงศานุวงศ์ทั้งปวง จึงมีพระราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งให้สถาปนาพระเจ้าราชวรวงศเธอฝ่ายใน พระองค์เจ้าลม่อม เปนพระองคเจ้าต่างกรม มีพระนามตาม จาฤกไว้ในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าราชวรวงคเธอ กรมพระสุดารัตนราชประยูร วรรคเดช เปนอาทิ วรรคศรีเปนอักษร ทรงศักดินา ๑๕๐๐๐…”

ในช่วงแรกของการขึ้นครองราชย์นั้น เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระชนมายุเพียง ๑๕ พรรษา จึงต้องมีการตั้งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ได้แก่ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ส่วนราชการในพระบรมมหาราชวังและการพระคลังนั้น มีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงเป็นประธานว่าราชการดูแลพระบรมวงศ์และการภายในพระราชสำนัก ทั้งนี้ ได้ทรงมอบหมายให้พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมพระสุดารัตนราชประยูร เป็นผู้สำเร็จราชการฝ่ายใน ดูแลการทั้งปวงในพระราชฐาน เนื่องจากเป็นพระราชวงศ์ผู้ใหญ่และเป็นที่เคารพยำเกรงของข้าราชการฝ่ายในรวมถึงข้าราชการฝ่ายหน้าทั่วไป ดังพระนามที่ทรงได้รับการกล่าวขานว่า “ทูลกระหม่อมแก้ว” ได้ทรงจัดระเบียบบรรดาเจ้าจอมและเหล่าท้าวนางทั้งหลายให้เรียบร้อยขึ้น ทรงตรวจสอบทรัพย์สินพระราชทานของพระเจ้าลูกเธอทุกพระองศ์ พร้อมทั้งให้จัดทำบัญชีไว้เป็นหลักฐาน นับเป็นคุณประโยชน์ต่อฐานะความเจริญรุ่งเรืองของบรรดาพระเจ้าลูกเธอทั้งปวง และเป็นการรักษาพระเกียรติยศแห่งพระราชวงศ์ ที่สำคัญ คือเป็นพระเนตรพระกรรณช่วยทะนุบำรุงพระเจ้าน้องยาเธอในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อเป็นกำลังของแผ่นดินต่อไป นอกจากนี้ยังทรงให้เปลี่ยนแปลงการแต่งกายของนางในพระราชฐานจากนุ่งโจงเป็นนุ่งจีบ ซึ่งถือเป็นการแต่งกายชั้นสูง และในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เป็นการแต่งกายสำหรับการพระราชพิธีที่สำคัญโดยให้ห่มตาดเป็นยศ

ด้วยเหตุที่พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมพระสุดารัตนราชประยูรทรงบำเพ็ญพระคุณูปการต่อแผ่นดิน และพระราชวงศ์เป็นอเนกประการสืบเนื่องมาโดยตลอด ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๑๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็นพระบรมมไหยิกาเธอ กรมสมเด็จ พระสุดารัตนราชประยูร มีเจ้ากรมเป็นพระยา ดังความตามประกาศในหนังสือจดหมายเหตุเรื่องทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์กรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑ หน้า ๑๙๒ ตอนหนึ่งว่า

“…บัดนี้ทรงพระอนุสรรำพึงจะทรงแสดงพระกตัญญุตากตเวทิตาคุณให้ไพบูบยภิยโยยิ่งขึ้นไปเปนปัตโยปการาธิการกิจ ทดแทนบรมบรรพาธิการ ฉลองพระคุณให้เต็ม พระบรมราชประสงค์ ให้ได้รับดำรงค์พระบรมราชอิศริยยศใหญ่ยิ่งขึ้น สูงเสมอสมเด็จพระบรมราชชนนี ซึ่งมีพระคุณเป็นที่ยิ่งใหญ่แลมีพระอัธยาศรัยเรียบร้อย ดำรงอยู่ในสัตย¬สุจริต สมควรเป็นใหญ่ฝ่ายในพระบรมมหาราชวัง ที่เคารพนับถือทั่วไปในพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งปวงได้ จึงมีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสสั่งให้เลื่อนพระนาม พระเจ้าราชวงศ์เธอ กรมพระสุดารัตนราชประยูรขึ้นเปนสมเด็จเปลี่ยนพระบรมสมญานาม ข้างต้นตามจาฤกในพระสุพรรณบัฏว่า พระบรมมไหยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร ดังนี้…”

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า พระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประการหนึ่ง คือ การเสด็จประพาสแปรพระราชฐานไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อสอดส่องดูแลทุกข์สุขของราษฎรและทอดพระเนตรความเป็นไปของบ้านเมือง ในการเสด็จฯ แต่ละครั้ง จะมีข้าราชการทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายในร่วมกระบวนเสด็จฯ ด้วย ทั้งนี้ได้โปรดมอบหมาย “เสด็จยาย” ทรงเป็นประธานเสมอ

กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูรเสด็จสวรรคตด้วยพระโรคชราเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๙ สิริรวมพระชันษา ๗๘ ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงถวายพระเกียรติยศสนองพระราชกุศลในงานพระบรมศพอย่างสมพระเกียรติเทียบเท่ากับสมเด็จพระพันปีหลวง โปรดให้เจ้าพนักงานจัดเศวตฉัตร ๗ ชั้น ถวายเป็นเครื่องเพิ่มเติมพระเกียรติยศ และการสิ้นพระชนม์นั้นให้เรียกว่า “เสด็จสวรรคต” เช่นเดียวกับสมเด็จพระบรมราชชนนี ดังความตามคำประกาศในหนังสือจดหมายเหตุเรื่องทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์กรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑หน้า ๓๔๖ – ๓๔๗ ว่า

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์…ทรงพระรำพึงถึงพระคุณแห่งพระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร ซึ่งได้ทรงอุปถัมภ์บำรุง พระองค์มาจำเดิมแต่พระบรมปสูติกาล จนได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ โดยพระหฤทัย มั่นคงจงรักตลอดมาจนถึงเวลาสิ้นพระชนม์ เหมือนอย่างสมเด็จพระบรมราชชนนี ก็ได้ทรง ยกย่องขึ้นไว้ ให้มีพระเกียรติยศใหญ่อย่างสมเด็จพระราชชนนี มีเว้นว่างอยู่บ้าง บัดนี้เสด็จสิ้นพระชนม์ไปเปนที่ทรงพระอาลัย รลึกพระคุณเปนอันมาก พระองค์เป็นผู้สมควรที่จะได้รับพระเกียรติยศใหญ่เสมอด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนีโดยแท้

จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานจัดเศวตฉัตร ๗ ชั้น ถวายเปนเครื่องเพิ่มเติมพระเกียรติยศ แลการสิ้นพระชนม์นั้น ให้เรียกว่าเสด็จสวรรคตเหมือนอย่าง สมเด็จพระบรมราชชนนี คำที่จะใช้ในบาดหมายราชการทั้งปวงให้ใช้ดังที่ได้ประกาศมานี้ทุกประการ

ประกาศมา ณ วันอังคารที่ ๒๕ สิงหาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๕ เปนวันที่ ๑๐๑๕๐ ในรัชกาลปัตยบันนี้ (พ.ศ. ๒๔๓๙)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เก็บพระศพ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร ไว้เป็นเวลา ๔ ปี จึงได้โปรดเกล้าฯ ถวายพระเพลิง ณ พระเมรุวัดบวรสฐาน ใน พ.ศ. ๒๔๔๔ ครั้นต่อมาใน รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนการออกพระนามเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: อิสรีย์ ธีรเดช

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ

เป็นเจ้านายฝ่ายในที่เลื่องลือกันว่ามีความงามเป็นเลิศ และมีพระเมตตาอุปถัมภ์เหล่าศิลปินทั้งหญิงชายให้ได้สร้างสรรค์งาน โดยเฉพาะกวีนิพนธ์ที่มีคุณค่ายิ่ง พระองศ์เป็นพระราชธิดาลำดับที่ ๓ ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ครั้งยังไม่ได้ขึ้นครองราชย์ ยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาบาง เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๕๔ พระราชทานพระนามว่า พระองค์เจ้าหญิงวิลาส มีพระอนุชาร่วมพระชนนีคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ

หลักฐานเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องในพระประวัติพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พบไม่มากนัก สันนิษฐานว่าทรงได้รับการศึกษาตามขนบประเพณีเฉกเช่นเดียวกับเจ้านายสตรีในสมัยโบราณ เมื่อ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระองค์เจ้าหญิงวิลาส เป็นกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๑ (ต่อมาภายหลัง พระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการให้เรียกคำนำพระนามว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ) มีความปรากฏในจดหมายเหตุเรื่องทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์กรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑ ว่า

“ถึงปีจอ พ.ศ. ๒๓๘๑ ทรงตั้งกรมพระเจ้าลูกเธอเป็นครั้งแรก ๒ พระองค์ คือ ทรงสถาปนาพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงวิลาสเป็นกรมหมื่นอับสรสุดาเทพ พระองค์ ๑ พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าสิริวงศ์ เป็นกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ พระองค์ ๑ มีจดหมายเหตุ อาลักษณปรากฏอยู่ดังนี้

ตั้งกรมคราวปีจอสัมฤทธิศก ๑๒๐๐

วัน ๗ ฯ ๙ จุลศักราช ๑๒๐๐ ปีจอสัมฤทธิศก (ตรงกับวันอาทิตย์ ที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๘๑) เสด็จออก ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งพระอาลักษณ์ให้ตั้งกรมพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิลาส

ณ วัน ๔ ๑๐ ฯ ๙ ค่ำ (ตรงกับวันพุธที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๓๘๑) เพลาเช้า ๓ โมง ได้พระฤกษจาฤกพระนามว่าพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิลาส เป็นกรมหมื่นอับสรสุดาเทพ พระองค์เจ้าสิริวงศ เป็นกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ นาคนาม ศรีสวัสดิทฤฆายุสบ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม”

และในพระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว ทรงบรรยายถึงกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพว่า

“…พระองค์เจ้าวิลาส เป็นพระปิยราชธิดา ภายหลังมาพระราชทานอิสริยยศ เป็นกรมหมื่นอับศรสุดาเทพ ได้ทรงรับราชการ เป็นพนักงานพระสุคนธ์ ต่อพระองค์เจ้าวงศ ซึ่งได้ทรงทำมาแต่ก่อน และเป็นผู้กำกับแจกเบี้ยหวัดฝ่ายใน…”

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ เป็นพระราชธิดาที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดปรานและสนิทเสน่หาเป็นที่ยิ่ง ดังจะเห็นได้จากการสถาปนาวัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติและพระราชทานให้เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๙ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นภูมินทร์ภักดี (พระองค์เจ้าชายลดาวัลย์) กำกับการก่อสร้างวัดบ้านพระยาไกรสวนหลวง สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๒ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพทรงมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทรงบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์ร่วมในการก่อสร้างวัดด้วย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาทรงผูกพัทธสีมาด้วยพระองค์เอง และพระราชทานนามให้ว่าวัดเทพธิดาราม อันเป็นนามที่มีความหมายถึงพระราชธิดาพระองค์นี้

ลักษณะสถาปัตยกรรมภายในวัดแสดงลักษณะเฉพาะอันเป็นพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวคือ หน้าบันพระอุโบสถ พระวิหาร และพระปรางค์ ล้วนประดับด้วยเบี้ยแก้และ กระเบื้องจีน สุนทรภู่ได้บรรยายสภาพวัดไว้ในรำพันพิลาปว่า

“พระปรางค์มีสี่ทิศพิสดาร โบสถ์วิหารการเปรียญล้วนเขียนทอง
ที่หน้าบันปั้นอย่างเมืองกวางตุ้ง ดูเรืองรุ่งรูปนกผกผยอง
กระเบื้องเคลือบเหลือบสลับเหลี่ยมรับรอง ศาลาสองหน้ารอบขอบกำแพง
สิงโตจีนตีนตัวน่ากลัวกลอก ขยับขยอกแยกเขี้ยวเสียวแสยง”

ส่วนประกอบภายในวัดหลายอย่างแสดงถึงความสัมพันธ์อันสืบเนื่องกับกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพได้แก่ พระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถ เป็นศิลาสลักสีขาวบริสุทธิ์ ขนาดหน้าตักกว้าง ๑๔ นิ้ว สูง ๒๐ นิ้ว ไม่ทราบประวัติที่มา แต่มีความงามอ่อนช้อยมาก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้อัญเชิญจากพระบรมมหาราชวังไปประดิษฐานที่วัดเทพธิดาราม เรียกกันเป็นสามัญว่า หลวงพ่อขาว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน พระราชทานนามให้ว่า พระพุทธเทววิลาส ตามพระนามเดิมของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ในพระวิหาร นอกจากพระประธานยังมีรูปหมู่พระอริยสาวิกา ซึ่งได้รับเอตทัคคะในฝ่ายภิกษุณีบริษัท หล่อด้วยดีบุก รวม ๕๒ องค์ เครื่องประดับพระอาราม เช่น ตุ๊กตาศิลาสลักของจีนมีทั้งที่เป็นรูปสัตว์และคน มีตุ๊กตารูปคนที่ทำเป็นพิเศษคือ ตุ๊กตาสตรีแต่งกายแบบชาววังนั่งพับเพียบเท้าแขน บางรูปเป็นตุ๊กตาสตรีอุ้มลูก ลักษณะพิเศษเหล่านี้น่าจะเป็นเครื่องแสดงถึงความตั้งใจว่าเป็นพระอารามที่มีเจ้านายสตรีเป็นผู้อุปถัมภ์

กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพเป็นเจ้านายที่มีผู้เคารพนับถือ และมาพึ่งพระบารมีอยู่เป็นอันมาก พระตำหนักของพระองค์ที่เรียกกันว่าพระตำหนักใหญ่ เป็นที่รวมศิลปิน และกวีร่วมยุคสมัย ได้แก่ คุณสุวรรณ และในจำนวนนั้นก็มีกวีฝีปากเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ คือ สุนทรภู่ รวมอยู่ด้วย เมื่อสิ้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สุนทรภู่มีชีวิตค่อนข้างลำบากยากแค้น ต้องออกจากราชการ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงโปรดปราน หาเจ้านายอุปถัมภ์ยาก ต้องไปบวชเป็นพระ ในที่สุดได้มาอยู่ในพระอุปถัมภ์ของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ที่วัดเทพธิดาราม เป็นเวลา ๓ ปี ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๘๓ – ๒๓๘๕ สาเหตุที่กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพรับสุนทรภู่ไว้ในพระอุปถัมภ์ เนื่องจากเคยได้ทรงหนังสือเรื่องพระอภัยมณี ซึ่งสุนทรภู่แต่งเมื่อครั้งอยู่ในพระอุปถัมภ์ของพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ ซึ่งเป็นพระอนุชาร่วมพระมารดา และแต่งค้างไว้ถึงเล่มที่ ๔๙ เมื่อพระองค์เจ้าลักขณานุคุณสิ้นพระชนม์ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพมีรับสั่งให้สุนทรภู่แต่งถวายให้ทรงเดือนละเล่มสมุดไทย เริ่มตั้งแต่เล่มสมุดไทยที่ ๕๐ จนจบที่เล่ม ๙๔ สุนทรภู่ได้แต่งเรื่อง สิงหไตรภพ ถวายอีกเรื่องหนึ่ง นอกจากนี้ ระหว่างที่จำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม สุนทรภู่ได้แต่งหนังสือเรื่อง กาพย์พระไชยสุริยา โคลงนิราศเมืองสุพรรณ และรำพันพิลาป อันมีคุณค่าสูงในทางวรรณคดี สุนทรภู่ได้แต่งกวีนิพนธ์บรรยายถึงพระเมตตาและพระอุปถัมภ์ของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพไว้หลายตอนในรำพันพิลาป ดังนี้

“อยู่วัดเทพธิดาด้วยบารมี ได้ผ้าปีปัจจัยไทยทาน”
“เข้าวัสสามาทั่วทุกตัวคน ถวายต้นไม้กระถางต่างต่างกัน”
“แล้วเราได้ไตรดีแพรสีแสด สบงแปดคืบจัดเป็นสัตตขันธ์”
“ออกวัสสาผ้าสบงกระทงเข้า พระองค์เจ้าจบพระหัตถ์วัดถวาย”

นอกจากพระอัธยาศัยส่วนพระองค์ที่มีพระเมตตา และจัดการงานถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยให้ดูแลฝ่ายในแล้ว ยังเป็นที่กล่าวขานกันถึงพระสิริโฉมอันงดงามปานเทพธิดา ดังจะเห็นได้จากบทพรรณนาของสุนทรภู่ในรำพันพิลาปที่ว่า

“ที่เอกองค์ทรงศรีฉวีวรรณ ดังดวงจันทร์แจ่มฟ้าไม่ราคี
ทั้งคมขำล้ำนางสำอางสะอาด โอษฐเหมือนชาดจิ้มเจิมเฉลิมศรี
ใส่เครื่องทรงมงกุฎดังบุตรี แก้วมณีเนาวรัตน์จำรัสเรือง
รูปจริตพิศไหนวิไลเลิศ เหมือนหุ่นเชิดโฉมแช่มแฉล้มเหลือง
พอแลสบหลบชม้ายชายชำเลือง ดูปลดเปลื้องเปล่งปลั่งกำลังโลม
ลำพระกรอ่อนชดประณตน้อม แลละม่อมเหมือนหนึ่งเขียนวิเชียรโฉม
หรือชาวสวรรค์ชั้นฟ้านภาโพยม มาประโลมโลกาให้อาวรณ์
แปลกมนุษย์ผุดผ่องละอองพักตร์ วิไลลักษณ์ลํ้าเลิศประเสริฐสมร”

กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพมีพระชนมายุไม่มากนัก ใน พ.ศ. ๒๓๘๖ เริ่มทรงพระประชวร พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ บันทึกว่า ทรงเป็นตรีสันทฆาฏ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ระดมหมอหลวงถวายการรักษาอย่างใกล้ชิด แต่พระอาการไม่ดีขึ้น ปรากฏรายละเอียดในเพลงยาวเรื่องพระอาการประชวรของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ สันนิษฐานว่าแต่งโดยคุณสุวรรณ ตอนหนึ่งว่า

“เมื่อเดือนสี่ปีเถาะเคราะห์เหลือใจ ละห้อยไห้แสนคะนึงถึงประชวร
เที่ยวบวงสรวงเทวาสุรารักษ์ ทุกสำนักพฤกษ์ไพรไคลหลวง
ให้เคลื่อนคลายหายพระโรคที่โศกทรวง เฝ้าบำบวงสรวงสังเวยเช่นเคยมา

กรมหมอขอเฝ้าเจ้าตำแหน่ง ต้องตกแต่งให้สำนักตำหนักขวาง
ข้างชั้นบนกรมหมอกับขุนนาง พานหมากวางเรียงงามตามทำนอง
ท่านพระยาพิพัฒต้นรับสั่ง เข้าในวังกับหลวงนายได้เป็นสอง
ทั้งเย็นเช้าเข้าประจำตามทำนอง คอยสนองโอษฐรับพระโองการ

ประมาณแต่เดือนสี่มาจนปานนี้ เจริญศรีสวนาสถาวร
ออกพรรษามาจนกฐินบก ยังเรื้อรกด้วยพระโรคโศกสยอน
ข้าพระบาทราษฎร์อาณาประชากร ยังรนร้อนทั่วหน้าทุกนารี

เคยพึ่งพงศ์องค์อิศราเพศ ได้ปกเกศสุขเสริมเฉลิมศรี
ไม่มีใครข่มเหงเกรงบารมี เกษมศรีถ้วนทั่วทุกตัวคน”

กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ประชวรตั้งแต่เดือนสี่ ปีเถาะ เบญจศก พ.ศ. ๒๓๘๘ ประชวรอยู่นานกว่า ๖ เดือน ในที่สุดได้สิ้นพระชนม์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๓๘๘ พระชันษา ๓๕ ปี พระบาท สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโทมนัสเสียพระทัยมาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ว่า

“ครั้นเมื่อประชวรสิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระโสกาลัยเป็นอันมาก โปรดให้ตั้งพระเมรุ ณ ท้องสนามหลวง พระราชทานเพลิงเป็นการใหญ่” พระราชทานเพลิงในวันอาทิตย์ที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๘๘ มีการมหรสพและทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นอันมาก

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: สุทธิพันธ์ ขุทรานนท์

สมเด็จพระศรีสุลาลัย

พระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเป็นสมเด็จพระพันปีหลวงในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมเด็จพระศรีสุลาลัย พระนามเดิมว่า เรียม เป็นพระธิดาของพระชนกจัน ผู้ซึ่งต่อมาเป็นพระยานนทบุรีศรีมหาอุทยาน กับพระชนนีเพ็ง ประสูติเมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๓ ปีขาลโทศก จุลศักราช ๑๑๓๒ ตรงกับวันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๓๑๓ ที่เมืองนนทบุรี เคหสถานเดิมของท่านปัจจุบันคือ วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนา เมื่อเจริญพระชันษา ได้ถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงอิศรสุนทร ประทับอยู่บ้านเดิมข้างวัดระฆัง พระราชวังเดิมธนบุรี และ พระบรมมหาราชวังตามลำดับ มีพระราชโอรสและพระราชธิดา ๓ พระองค์ ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์เจ้าหญิงป้อม และพระองค์เจ้าชายดำ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ใน พ.ศ. ๒๓๕๒ สมเด็จพระศรีสุลาลัยตามเสด็จฯ ไปประทับในพระบรมมหาราชวัง ในตำแหน่งสนมเอกบังคับการห้องเครื่อง ชาววัง ออกพระนามว่า “เจ้าคุณ” สมเด็จพระศรีสุลาลัยทรงอ่อนพระชันษากว่าสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ราว ๓ พรรษา แต่ในส่วนพระองค์สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ประทานความสนิทสนมและยกย่อง ออกพระนามว่า “ออเรียม” และแม้ว่าพระองค์จะทรงบังคับการห้องเครื่องในพระบรมมหาราชวังก็ตาม แต่ไม่ทรงสันทัดเรื่องเครื่องต้นเท่าสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี จึงมักจะเสด็จไปประทับที่วังท่าพระ เสมอเพื่อทรงดูแลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

หลังจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติใน พ.ศ. ๒๓๖๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระราชชนนี เป็นกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระพันปีหลวง เพื่อเป็นการสนองพระเดชพระคุณ พร้อมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักตึกในพระบรมมหาราชวัง ถวายเป็นที่ประทับ (อยู่บริเวณสวนซ้ายของหมู่พระมหามณเฑียรด้านทิศตะวันตก) ส่วนสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ซึ่งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระพันวัสสาประทับอยู่ที่พระตำหนักแดง ได้กราบบังคมทูลลาไปประทับที่พระราชวังเดิม ธนบุรี ของพระราชโอรส คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นทรงพระผนวชประทับที่วัดบวรนิเวศวิหาร วันที่สมเด็จพระพันวัสสาเสด็จออกจากพระบรมมหาราชวังนั้น สมเด็จพระศรีสุลาลัยทรงเชิญหีบพระศรีไปส่งเสด็จถึงตำหนักแพ และมีรับสั่งลาว่า “ลาก่อนละนะเรียม”

ขณะประทับที่พระตำหนักตึก สมเด็จพระศรีสุลาลัยทรงบำรุงเลี้ยงดูพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าจอมมารดาทรัพย์ คือ พระองค์เจ้าชายคิริวงศ์ (ต่อมาดำรงพระอิสริยยศ เป็นสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์) และพระองค์เจ้าหญิงละม่อม (ต่อมาดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร) เมื่อสมเด็จพระศรีสุลาลัย เสด็จสวรรคตใน พ.ศ. ๒๓๘๐ แล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระตำหนักตึกให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร ซึ่งทรงรับเลี้ยงดูพระโอรสธิดาในสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ อาทิ หม่อมเจ้าหญิงรำเพย ต่อมาดำรง พระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนี พันปีหลวง ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระตำหนักตึกนี้ต่อมาเป็นสถานที่พระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันคือบริเวณพระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ และท้องพระโรงกลางด้านหลังพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

สมเด็จพระศรีสุลาลัยทรงดำรงพระชนม์ชีพในบั้นปลายด้วยการบำเพ็ญพระราชกุศลตามพระราชศรัทธา ทรงสถาปนาวัดหนังในคลองบางขุนเทียน อันเป็นนิวาสถานเดิมของบรรพชนฝ่ายพระชนนี การสถาปนาวัดหนังเสร็จบริบูรณ์ ยังคงค้างอยู่เพียงการฉลองวัด พระองค์ประชวรไข้พิษ เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๘๐ พระชนมพรรษา ๖๘ พรรษา ประดิษฐานพระบรมศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในวันที่ ๒ – ๖ ธันวาคม ปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฉลองวัดหนัง ฉลองพระเดชพระคุณ และในปีต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระเมรุระหว่าง วันที่ ๒๖ เมษายน – ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๘๑ ปรากฏความละเอียดใน พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ เล่ม ๑ ความว่า

“ครั้น ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๓ ค่ำ ได้แห่พระบรมธาตุเข้าสู่พระเมรุ มีงานสมโภช ๓ วัน ๓ คืน ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันอาทิตย์ เดือน ๖ ขึ้น ๖ ค่ำ พระสงฆ์ฉันแล้วก็แห่พระบรมธาตุกลับเข้าสู่พระบรมมหาราชวังรุ่งขึ้น ณ วันจันทร์เดือน ๖ ขึ้น ๗ ค่ำ เวลาย่ำรุ่ง ได้เชิญพระศพขึ้นยานุมาศ แห่ลงไปแต่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ขึ้นมหาพิชัยราชรถที่หน้าวัดพระเชตุพน ตั้งกระบวนแห่อย่างใหญ่ มีรูปสัตว์ต่างๆ ไปสู่พระเมรุ เชิญพระโกศเข้าทางประตูด้านบุรพทิศ เวียนพระเมรุ ๓ รอบ แล้วเชิญขึ้นสู่พระเบญจาเงินในพระเมรุทอง ภายใต้เศวตฉัตรมีเครื่องสูงพร้อม มีเครื่องประดับชั้นพระเบญจา ทำด้วยทองบ้าง ทำชั้นพระเบญจาด้วยเงินบ้าง พระสงฆ์สวดพระอภิธรรม และถวายไทยธรรมแก่พระสงฆ์ ในกรุงนอกกรุงหัวเมือง เวลาเช้าเสด็จออกไปปฏิบัติ พระสงฆ์ราชาคณะ ๘๐ รูป พระสงฆ์ทำภัตตากิจแล้วสดับปกรณ์ แล้วเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งทรงธรรม มีเทศนาโพธิปักขิยธรรม แบ่งเป็นวันละ ๔ กัณฑ์ จบธรรมเทศนาแล้วก็เสด็จกลับเข้าพระราชวัง ครั้นเวลาบ่าย ๕ โมง ก็เสด็จออกสู่พระเมรุ จุดเครื่องนมัสการบูชาเสร็จแล้วก็เสด็จไบ่ประทับพลับพลาน้อย ซึ่งโปรดให้ทิ้งทานผลกัลปพฤกษ์และมีการมหรสพสมโภชถ้วนครบ ๗ วัน ๗ คืน

ครั้น ณ วันอาทิตย์ เดือน ๖ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เวลาบ่าย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าฝ่ายใน เสนาบดี มุขมนตรีกับหัวเมืองประเทศราชใหญ่น้อยพร้อมกัน ได้กราบถวายบังคมถวายพระเพลิง ครั้นรุ่งขึ้น ณ เดือน ๖ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เก็บพระบรมอัฐิ ประดิษฐานในพระโกศทองคำประดับพลอย มีการสมโภชพระบรมอัฐิ ๓ วัน ๓ คืน เป็นคำรบ ๑ฤ วัน ๑๐ คืน ครั้น ณ วันเดือน ๖ แรม ๒ ค่ำ เวลาเช้าได้เชิญพระบรมอัฐิเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง”

การออกพระนามสมเด็จพระศรีสุลาลัย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งการพิธีฉลองพระเดชพระคุณสมเด็จพระพันปีหลวง สถาปนาเป็น “กรมสมเด็จ พระศรีสุลาลัย” ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังต้องออกพระนามพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นพระปัยยิกา คือ ย่าทวด ยายทวด ที่เสด็จสวรรคตแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกพระนามพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “สมเด็จพระราชมหาปัยยิกาเธอ กรมพระศรีสุลาลัย” ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริเรื่องพระนาม ของสมเด็จพระอัครมเหสีในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น รวมทั้งพระนามสมเด็จพระบรมราชชนนี ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ออกพระนามว่า “สมเด็จพระศรีสุลาลัย”

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: ศิรินันท์ บุญศิริ

สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี

เป็นพระบรมราชินีใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยพระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๒ แห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ และเป็นพระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนามเดิมว่า บุญรอด ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีกุน จุลศักราช ๑๑๒๙ ตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๓๑๐ กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์เป็นพระมารดา ท่านขรัวเงินเป็นพระบิดา มีพระเชษฐภคินี ๖ พระองค์ คือสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี

๑. เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ พระนามเดิม ตัน เป็นต้นสกุล เทพหัสดิน

๒. เจ้าฟ้าหญิงฉิม ภายหลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาพระอัฐิเป็น เจ้าฟ้ากรมขุนอนัคฆนารี

๓. เจ้าฟ้าชาย สิ้นพระชนม์แต่ยังทรงพระเยาว์

๔. เจ้าฟ้าหญิงบุญรอด ภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเฉลิมพระนามเป็น สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี

๕. เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี พระนามเดิม จุ้ย ต้นสกุล มนตรีกุล

๖. เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ พระนามเดิม เกศ ต้นสกุล อิศรางกูร

สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ประสูติภายหลังจากที่กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าแล้วประมาณ ๕ เดือน เชื้อสายทางพระบิดาเป็นตระกูลจีนเศรษฐีอยู่ในกรุงศรีอยุธยา พระมารดาคือ กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ เป็นพระพี่นางในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ไว้ใน ปฐมวงศ์ ว่า

“กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์นั้น เมื่อครั้งกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยาได้พระภัสดาเป็นบุตรที่ ๔ ของมหาเศรษฐี ซึ่งเป็นผู้สืบเชื้อวงศ์ลงมาแต่มหาเสนาบดีเมืองปกิ่ง แต่ครั้ง แผ่นดินเจ้าปกิ่งเม่งไท้โจ ซึ่งเป็นพระเจ้าปกิ่งที่สุดในวงศ์หมิง ครั้นพระเจ้าปกิ่งเม่งไท้โจเสียเมืองแก่พวกตาดแล้ว ท่านเสนาบดีนั้นกับเสนาบดีอื่นหลายนายไม่ยอมตัดผมมวยไว้หางเปีย ตามพวกตาด จึงได้หนีออกจากแผ่นดินจีน มาอยู่ในแผ่นดินญวนบ้าง แผ่นดินไทยบ้าง สืบสกุลต่อมาเป็นจีนอย่างเก่า ไม่ได้ไว้หางเปียฯ

พระภัสดาในกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์นั้น มีนามว่าเจ้าขรัวเงิน มีพี่หญิงชื่อ ท่านนวล ๑ ท่านเอี้ยง ๑ มีพี่ชายชื่อ เจ้าขรัวทอง ๑ ได้ตั้งนิวาสฐานอยู่ตำบลถนนตาล เป็นพานิชใหญ่ ชาวกรุงเก่าเรียกว่า เศรษฐีถนนตาล…

กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์นั้น เมื่อกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยายังไม่แตกทำลาย ได้มีพระโอรส ๒ พระธิดา ๑…ครั้นเมื่อปีกุน นพศก จุลศักราช ๑๑๒๙ พระพุทธศาสนกาล ๒๓๑๐ พรรษา พวกพม่าข้าศึกเข้ารุกรานทำลายล้างกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยาเสียได้ ชาวพระนครทั้งปวงซึ่งมีครอบครัวสกุลต่างๆ พากันแตกแยกย้ายกระจายกระจัดหนีไป ครั้งนั้นกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ ทรงพระครรภ์อยู่ได้ ๔ เดือนเศษแล้ว พร้อมกันกับพระภัสดากับพระธิดาตามเสด็จสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกออกไปอาศัยอยู่ด้วย ในนิวาสฐานที่เดิมของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ ณ ตำบลอัมพวาพาหิรุทยานประเทศ ครั้นถึงวันกาฬปักษ์ดิถีที่สิบสองนับเบื้องหน้าแต่โปฐบทบุรณมี มีอาทิตยวารเป็นกำหนด จึงได้ประสูติพระธิดาพระองค์หนึ่ง ซึ่งได้นับโดยลำดับว่าเป็นที่ ๔ คือ สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ฯ

ครั้งนั้นเจ้าคุณชีโพ ผู้เป็นพระน้องนางของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ได้รับอุปถัมภ์บำรุงเลี้ยง เป็นเหตุให้สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ได้ทรงนับถือว่าเป็น พระมารดาเลี้ยงมา ครั้นเมื่อแผ่นดินกรุงธนบุรีตั้งขึ้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จเข้ามาปรนนิบัติราชการ กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์กับพระภัสดาและพระ(ฉบับตก) ก็ได้ตามเสด็จเข้ามาตั้งนิวาสฐานบ้านเรือนโรงแพอยู่ที่ตำบลกฎีจีน ที่นั้น บัดนี้เป็นพระวิหารและหอไตรวัดกัลยาณมิตร แพลอยลงในคลองแม่นํ้าใหญ่ตรงวัดโมฬีโลกข้ามไปข้างใต้ฯ”

ในช่วงที่บ้านเมืองระส่ำระสายภายหลังเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. ๒๓๑๐ นั้น เจ้าพระยาสุรินทราชา ผู้เป็นน้องชายเจ้าขรัวเงิน ได้อพยพไปรับราชการกับเจ้าพระยานครศรีธรรมราช เมื่อเจ้าขรัวเงินทราบว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจะไปปราบชุมนุมเจ้าพระยานครศรีธรรมราช มีความวิตกกังวลและห่วงใยพระญาติ จึงพาครอบครัวทั้งหมดลงไปนครศรีธรรมราช เพื่อเตือนสติมิให้ทำราชการกับเจ้าพระยา นครศรีธรรมราช แล้วอพยพกลับมายังกรุงธนบุรี เจ้าขรัวเงินสิ้นพระชนม์ในสมัยธนบุรีนั่นเอง สมภพ จันทรประภา เขียนเล่าไว้ในหนังสือเรื่อง “นรชาติ” ตามที่ได้รับฟังจาก ม.ล. ป้อง มาลากุล ธิดาเจ้าพระยา พระเสด็จสุเรนทราธิบดี ผู้เป็นพระนัดดาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย อันประสูติแต่เจ้าฟ้ากุลฑลทิพยวดี เล่าว่า

“…เครื่องหวานที่ทรงทำเมื่อทรงพระเยาว์นั้นเป็นสินค้าที่ขายดีของพระองค์ ทรงนำใส่เรือเล็กๆ พายเที่ยวขายในคลองบางหลวง เพราะแพที่ประทับของท่านจอดอยู่ที่หน้าวัดหงส์รัตนาราม… ทรงค้าขายอยู่จนพระชนมายุได้ ๑๓ จึงเลิกพายเรือเที่ยวขาย เพราะวันหนึ่งถูกพวกอันธพาลอิทธิพลลองดีชิงเอาเงินที่ขายขนมได้ในพระกระทายไปจนหมด… เมื่อความทรงทราบถึงสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า คือเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ตำแหน่งพระยาอุปราชผู้เป็นน้าชายใหญ่ ก็ตรัสห้าม โดยประทานเหตุผลว่าเริ่มทรงพระเจริญแล้ว…”

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ และทรงสถาปนามหาจักรีบรมราชวงศ์แล้ว ทรงสถาปนาสมเด็จพระพี่นางทั้ง ๒ พระองค์เป็นกรมสมเด็จ พระเทพสุดาวดี และกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ ทรงเฉลิมพระนามพระราชนัดดา ซึ่งเป็นโอรสธิดาในสมเด็จพระพี่นางและพระอนุชาขึ้นเป็นเจ้าฟ้าทั้งสิ้น สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ทรงได้รับสถาปนา เป็นเจ้าฟ้าบุญรอดในคราวนี้ นอกจากนั้น ยังโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระพี่นางทั้ง ๒ พระองค์เข้ามาประทับในพระบรมมหาราชวัง กรมสมเด็จพระเทพสุดาวดี มีพระตำหนักอยู่ข้างหลังพระมหามณเฑียรเรียกว่า พระตำหนักใหญ่ ว่าราชการเป็นใหญ่ทั่วไปแทบทุกอย่าง และว่าการวิเสทในพระคลังเงิน พระคลังทอง และสิ่งของต่างๆ ในพระราชวังชั้นในทั้งสิ้น ส่วนกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ มีพระตำหนักอยู่เบื้องหลังหมู่ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และพระที่นั่งพิมานรัตยา เรียกว่า พระตำหนักแดง ว่าราชการกำกับเครื่องใหญ่ ในโรงวิเสทต้น การสะดึงและอื่นๆ

สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ทรงเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ตั้งแต่ยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร และได้ตามเสด็จไปประทับที่พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในกาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวาน บทหนึ่งว่า

“ทองหยอดทอดสนิท ทองม้วนมิดคิดความหลัง
สองปีสองปิดบัง แต่ลำพังสองต่อสอง”

เวลานั้นกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์สิ้นพระชนม์แล้ว สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ทรงอยู่ในพระอภิบาลของเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ พระเชษฐา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงต้องใช้ ความพยายามมากกว่าจะทรงทำให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และเจ้าฟ้ากรมหลวง เทพหริรักษ์ทรงยอมรับ เพราะเป็นพระญาติสนิทกัน สมภพ จันทรประภา อ้างถึงพระนิพนธ์ในพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ในหนังสือ นรชาติ ว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

“เสด็จเข้ามาเฝ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ทูลขอรับกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์มาไว้พระราชวังเดิม กรมหลวงเทพหริรักษ์รับสั่งว่า ลูกเมียของพ่อฉิมก็มีอยู่มาก เกรงว่านานไปจะเกิดวิวาทกันก็จะต้องร้องไห้ กลับมาหาพี่ จะได้รับความอัปยศแก่คนทั้งหลาย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ จึงทูลปฏิญาณทานบนว่า จะมีให้บุตรแลภริยาทั้งปวงเป็นใหญ่กว่าหรือเหมือนกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์”

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงปฏิบัติตามปฏิญาณนั้นจนตลอดพระชนม์ชีพ ทรงสถาปนาให้สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี เป็นพระอัครชายา ต่อมาภายหลังไม่ว่าจะทรงมีเจ้าจอมหม่อมห้ามอีกเท่าใด หรือจะทรงโปรดปรานเจ้าจอมองค์ใดเป็นพิเศษอย่างไร ก็ไม่ทรงยกย่องให้อยู่ในฐานะที่สูงเกินกว่าสมเด็จพระศรีสุริเยนทรา บรมราชินี เลย

ใน พ.ศ. ๒๓๔๙ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ยังคงประทับที่พระราชวังกรุงธนบุรีตามเดิม

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ได้ตามเสด็จเข้ามาประทับในพระบรมมหาราชวังด้วย โดยประทับที่พระตำหนักแดงตามที่เคย ประทับมาแต่เดิม มีพระราชโอรส ๓ พระองค์ คือ

๑. เจ้าฟ้าชาย สิ้นพระชนม์ในวันประสูติ

๒. เจ้าฟ้ามงกุฎ สมมุติเทวาวงศ์ พงศาอิศวรกระษัตริย์ขัตติยราชกุมาร ต่อมาทรงเถลิงถวัลย์ราช¬สมบัติ เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

๓. เจ้าฟ้าจุฑามณี ต่อมาทรงรับพระราชทานบวรราชาภิเษกเป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องพระคาถาเรื่องพระราชพงศาวดารย่อกรุงรัตนโกสินทร์ มีความที่กล่าวถึงพระราชมารดาว่า

พระเทวีของพระราชานั้นเป็นนางกษัตริย์ เกิดดีแล้วร่วมพระวงษ์กัน เสด็จมาแล้วพร้อมกัน ทรงพระนามว่า สหัส์สินี (พระพันวัสสา) ผู้ยินดีแล้วในบุญ (หมายพระนามเดิม) ดังนี้

พระราชเทวีนั้น ไม่มีพระราชโอรสประสูติแล้ว สิ้นกาลนานเทียว ครั้งเมื่อพระราชบุตรทั้งหลายอื่นเกิดจากครรภ์แม้ของพระสนมทั้งหลาย แม้มีมากแล้ว จึงประสูติพระราชโอรสผู้ประเสริฐสองพระองค์ หมดจดแล้วเทียว เกิดดีแล้วแต่พระราชบิดาและพระราชมารดาทั้งสองฝ่าย ได้แล้วในมัชฌิมวัยในภายหลัง ในพระโอรสผู้ประเสริฐทั้งสองพระองค์นั้น พระราชโอรสผู้ประเสริฐพระองค์ใหญ่ทรงพระนามว่า มกุฎสัมมตวังสราชกุมาร พระราชโอรสผู้ประเสริฐพระองค์น้องของพระราชโอรสผู้ประเสริฐพระองค์ใหญ่นั้น ทรงพระนามว่า อิศเรศรังสฤษดิ์ราชกุมาร

พระปรีชาสามารถอันลํ้าเลิศในสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี คือ การประกอบอาหารคาว หวาน ประจักษ์พยานอันเห็นได้ชัด คือ บทพระราชนิพนธ์กาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวาน ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่ทรงพรรณนาถึงแพระหัตถ์ในการประกอบอาหารเหล่านั้น นอกจากนั้น ยังทรงสามารถในการออกแบบเครื่องถ้วยลายนํ้าทอง ที่ทรงออกแบบเอง นำมาใช้ประกอบในการจัดสำรับอาหาร เครื่องถ้วยที่ทรงออกแบบนี้ได้รับยกย่องว่ามีความงามเป็นเลิศ เครื่องถ้วยที่ใช้ในพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์หรือก่อนหน้านั้น จะสั่งทำจากประเทศจีน การออกแบบและลวดลายต่างๆ จะออกแบบเองแล้วส่งไปให้ช่างจีนทำ หรือเลือกจากแบบที่ช่างจีนได้ออกแบบและทำออกมาแล้ว ช่างไทยเองก็พยายามทำและพัฒนาฝีมืออยู่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ในตำนาน เรื่องเครื่องโต๊ะและถ้วยปั้นว่า

ถึงรัชกาลที่ ๒ ฝีมือช่างเขียนไทย ซึ่งบำรุงมาแต่รัชกาลที่ ๑ เจริญขึ้นมาก แบบอย่างลวดลายพลิกแพลงออกไปจากลายครั้งกรุงเก่ามามีขึ้นแต่เมื่อรัชกาลที่ ๒ อีกประการ ๑ ในรัชกาลที่ ๒ มีเวลาว่างการทัพศึกมาก ความนิยมเล่นของดีมีฝีมือช่างจึงเกิดขึ้นในรัชกาลนั้นหลายอย่าง ส่วนเครื่องถ้วยชามที่สั่งไปทำเมืองจีนเมื่อในรัชกาลที่ ๒ คิดแก้ไข ผิดกับของแต่ก่อนทั้งรูปแลลวดลาย มีลายผูกขึ้นใหม่หลายอย่าง เช่น ลายดอกกุหลาบ เป็นต้น บางทีเอาลายจีนเช่นลายสิงโต มาคิดผูกตามความนิยมของไทย สั่งไปให้เขียนถ้วยชาม สั่งของที่ทำก็กวดขันฝีมือขึ้น ทั้งลายนํ้าทองแลเขียนสี ว่าโดยย่อ เครื่องถ้วย ที่ไทยสั่งไปทำเมืองจีน ที่นับถือกันว่าเป็นของดีที่สุดในเวลานี้ล้วนเป็นของที่คิดแบบสั่งออกไปทำเมื่อในรัชกาลที่ ๒ ทั้งนั้น มักเรียกกันว่าของสมเด็จพระศรีสุริเยนทร์ ซึ่งเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนารถ ในรัชกาลนั้น ซึ่งเป็นความจริง เพราะจานชามของหลวงที่สั่งเข้ามาสำหรับใช้ในห้องเครื่องฝ่ายใน สมเด็จพระศรีสุริเยนทร์คงจะได้ทรงเป็นพระธุระในการสั่งให้ทำสิ่งของเหล่านั้น

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จขึ้นครองราชย์ สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี จึงทรงเห็นเป็นโอกาสได้กราบบังคมทูลขอ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ลาจากพระบรมมหาราชวังไปประทับกับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ณ พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี ประทับอยู่จนตลอดพระชนม์ชีพ หมอบรัดเล บันทึกไว้เมื่อมีโอกาสเข้าไปถวายการตรวจพระอาการไข้ ดังนี้

วันที่ ๘ มกราคม ๒๓๓๘
วันนี้เวลาบ่าย เจ้าฟ้าน้อยทรงส่งเรือมารับหมอบรัดเลกับภรรยาให้ไปเฝ้าสมเด็จพระราชินีศรีสุริเยนทร์ พระราชมารดาของพระองค์ หมอบรัดเลพร้อมด้วยภรรยา จึงได้รีบเฝ้าตามพระกระแสรับสั่นั้น สมเด็จพระราชินีศรีสุริเยนทร์นี้ ประทับอยู่ในวังเดียวกับเจ้าฟ้าน้อย แต่ต่างตำหนัก…

ในเบื้องปลายพระชนม์ชีพ สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลและทรงทำนุบำรุงพระอารามในพระพุทธศาสนา ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดสำคัญ ได้แก่ วัดชัยพฤกษมาลา รับพระราชภาระในการทำนุบำรุงและรับทอดพระกฐินเป็นประจำทุกปี เพื่อถวายเป็นพระเกียรติยศแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ด้วยเคยทรงบูรณปฏิสังขรณ์และถวายผ้าพระกฐินเป็นการผาติกรรมที่ทรง รื้ออิฐวัดมาสร้างกำแพงพระนคร ครั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการให้ยกวัดชัยพฤกษมาลา ออกจากบัญชีวัดที่จะพระราชทานกฐินหลวง สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี จึงทรงรับทอดพระกฐินวัดนี้สืบต่อมาทุกปี ถ้าผู้ใดมีศรัทธาจะทอดกฐินที่วัดนี้ต้องกราบทูลขอพระราชทานพระราชานุญาตก่อน ทั้งนี้ เพื่อมิให้เป็นที่เสื่อมเสียพระเกียรติยศในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

อีกวัดหนึ่งคือ วัดเขมาภิรตาราม แต่เดิมเป็นพระอารามพระกฐินหลวงในพระบวรราชวัง มีสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก มีผู้มากราบทูลว่า วัดนี้เป็นวัดใหญ่แต่ครั้งสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง กล่าวกันว่า ผู้มีบรรดาศักดิ์น้อยจะบูรณปฏิสังขรณ์ให้สำเร็จไม่ได้ ต้องเป็นผู้มีบรรดาศักดิ์มากบุญญาธิการจึงจะทำได้สำเร็จ มีความในประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ เรื่องประกาศปฏิสังขรณ์วัดไชยพฤกษมาลา วัดเขมาภิรตาราม ตอนหนึ่งว่า

“กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ จึงเสด็จขึ้นไปทอดพระเนตรพระอุโบสถเก่า ชอบพระทัยจะสร้าง จึงตรัสสั่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นไปเฝ้า กรมพระราชวังบวรฯ กราบทูลขอเป็นวัดสำหรับกฐินในกรม กรมพระราชวังบวรฯ ได้มีพระบัณฑูรสั่งหลวงสุทธิรัตนให้หักบาญชีชื่อวัดเขมา ยกมาเป็นอารามของกรมสมเด็จ พระศรีสุริเยนทรามาตย์ขาดมาแต่นั้น ตั้งแต่นั้นมากรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ก็ได้ทรงบริจาคส่วนทรัพย์สมบัติให้จำหน่ายเป็นค่าอิฐค่าปูน แลให้มีข้าในกรมไปขุดรากใหม่ ก่อผนังขยายออกให้ใหญ่กว่าเดิมออกมา…พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยแล กรมพระราชวังบวรฯ ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเริ่มการเป็นฤกษ์ทั้งสองครั้ง”

สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ทรงดูแลวัดนี้จนสิ้นพระชนม์

ส่วนวัดหงส์รัตนาราม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงชักชวนสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เมื่อครั้งเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ ความในประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ เรื่องประกาศแผ่พระราชกุศลในการฉลอง วัดหงษรัตนาราม มีว่า

“โดยพระราชปฏิสัณฐานว่า กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์มีพระชนมายุเจริญมาถึง ๖๐ ปีเศษแล้ว ไปทรงสร้างวัดเขมาภิรตาราม อยู่ไกลมิได้ทอดพระเนตรเห็นเป็นอปราปะระเจตนาเนืองๆ เลย ถ้าทรงสร้างวัดหงษเป็นวัดใกล้วัง จะเป็นที่เจริญพระศรัทธามาก กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ รับพระราชโองการมาว่าจะทำตามรับสั่งแล้ว…
ก็ได้ทรงสถาปนาการทั้งพระอุโบสถพระวิหารมาจนสิ้นพระชนม์ การก็หาสำเร็จแล้วไม่ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงรับทำต่อมาทั้งพระอุโบสถพระวิหาร การเปรียญแลศาลารายศาลาตะพานหน้าวัดแลอื่นๆ…”

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชาธิบายถึงข้อห้ามหรือธรรมเนียมที่สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ทรงถือไม่ให้ปฏิบัติ อันแสดงให้เห็นถึงความเคร่งครัดในลัทธิธรรมเนียมของ พระองค์และทำให้ได้ทราบถึงธรรมเนียมปฏิบัติในสมัยก่อน ดังนี้

ข้อห้ามสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์
มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่ง ให้จดหมายพระราชทานพระเจ้าลูกเธอฝ่ายหน้า ฝ่ายในทุกพระองค์ให้ทราบว่า กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์พระบรมราชชนนี ท่านมักทรงถือลัทธิต่างๆ ว่าทำอย่างนั้นๆ ไม่เป็นมงคลแล้ว ก็ตรัสห้ามไว้ให้กำชับต่อสืบๆ ลงไป ในตระกูลว่าอย่าให้ทำเป็นหลายสิ่งหลายประการ ครั้นทรงสั่งสอนแต่พระวาจา ผู้ฟังก็จำไว้ ได้บ้างลืมเสียบ้าง จึงโปรดให้จดหมายพระราชทานไว้เพื่อจะให้ทราบทั่วกัน

(๑) การใช้ทำหมันชันยาในแนวกระดาน ให้ทำได้แต่ในเรือที่เป็นของเลื่อนได้ยกได้ เดินได้ หรือในถังนํ้าที่เป็นของยกได้ย้ายที่ได้ แต่ในพื้นในชานในหลังคาของเรือนที่มีเสาปลูกลงในดินทรงห้ามไว้เป็นอันขาดไม่ให้ทำหมันชันยาเลย ถ้าจะกันนํ้ารั่วจะดาดดีบุกก็ดี จะดาดอิฐปูนศิลาก็ดีทำได้ แต่จะใช้ชันแลน้ำมันไม่ได้ ถ้าจะปิดปากไม้ที่เป็นตาหรือที่ห่างด้วยเลือดหมูผสมปูนอย่างจีนทำ หรือปูนนํ้ามันเกลี่ยแนวให้มิดก็ได้ ชันลาพอนแผงปิดกระดาษ กันรั่วก็ได้ ห้ามแต่ทำหมันชันแนวใน แนวกระดานกันนํ้ารั่วไว้อย่างเรืออย่างถังนั้นอย่างเดียว ถ้าจะทำเรือนหรือพลับพลาหลังคาเป็นไม้ให้ทำกระดานทับๆ กันเหมือนเกล็ดกระเบื้อง อย่างร้านนํ้าโรงทาน หรือเป็นกระดานทับๆ กันอย่างพลับพลายกที่ริมโรงนาฬิกานั้นได้ จะใช้หมันใช้ชันไม่ควรเลย ห้ามเป็นอันขาด

(๒) สัตว์มีชีวิตต่างๆ คือแมวก็ดี สุนัขจูก็ดี ม้าก็ดี นกเลี้ยงก็ดี นกกระตั้วก็ดี ไก่ก็ดี ที่มีขนขาวทั้งตัวก็ดี บางแห่งก็ดี ห้ามไม่ให้เอาเครื่องเขียนแลนํ้าย้อมสิ่งใดๆ ย้อมแลแต้มเขียนเพื่อจะให้ประหลาด ห้ามเป็นอันขาดทีเดียวไม่ให้ทำไม่ให้เล่น ก็ถ้าสัตว์มีหมัดจะทาขมิ้นหรือไพลเป็นยากันหมัดนั้นได้ แต่จะทาเพื่อให้เหลืองเป็นสีประหลาดนั้นไม่ได้ ช้างจะ เขียนหน้าด้วยเขม่าแลเส้นขาวอย่างเช่นช่างเขียนในการสระสนานแลการแห่แหนอื่นๆ นั้นได้ เพราะช้างไม่มีขนทั่วตัวอย่างม้าแลโค ถึงกระนั้นจะเขียนช้างสำคัญ คือช้างเผือกแล ช้างสีประหลาดก็ไม่ควร ซึ่งห้ามทั้งนี้เพราะว่าพ้องกับมนุษยชาติ เพราะผู้หญิงที่ผมหงอก หรือผมบางหรือศีรษะถลอกเขาแก้ด้วยจับเขม่าแลดอกอัญชันแลใบหอม แลเขาย้อมผิวหนังด้วยขมิ้นหรือแป้งนวล เป็นการของมนุษย์สืบมาแต่โบราณ จะเอาอย่างนั้นไปแต่งให้สัตว์เดียรฉานนั้นไม่ควรเป็นอุบาทว์จังไร

(๓) ต้นข้าวเหนียว ต้นข้าวเจ้า สารพัดต้นข้าวไม่ให้ปลูกลงในดินหรือในท้องร่อง หรือในสระแลในที่นํ้าขังทั้งปวง ที่อยู่ในวงกำแพงบ้านจะปลูกได้แต่ในอ่างในถัง ที่เป็นของยกได้ไม่ห้าม

(๔) ห้ามไม่ให้สมสู่เป็นชู้หรือผัวเมียกับคนที่ร่วมนม กินนม นางนมเดียวกันมาแต่เดิม แต่คนที่หย่านมแล้วมาแกล้งดื่มแกล้งชิมลองกินไม่ว่า ถ้าไม่ได้ร่วมนมกันแล้วถึงเป็นญาติพี่น้องก็ไม่ห้าม แต่ที่ได้ร่วมนมกันแล้วถึงไม่ใช่ญาติก็ห้ามเป็นอันขาด

(๕) ถ้ามีการมงคลสองอย่าง คือโกนจุก ๑ ลงท่า ๑ อย่าให้มีเทศนา ให้มีแต่สวดมนต์แลเลี้ยงพระสงฆ์ตามธรรมเนียม การโกนจุกลงท่าโดยมีศรัทธาจะทำการฉลองพระต่อไป จะใคร่มีเทศนาเป็นการบุญก็ได้ไม่ห้ามขาด แต่ขอให้ไว้ระยะเริ่มงานเป็นการบุญต่างหาก อย่าให้เอามาปะปนระคนกับการโกนจุกลงท่า

แลอื่นๆ นอกนี้ก็ยังมีอีก แต่ยังทรงระลึกไม่ได้ ถ้าทรงระลึกได้แล้วจึงจะโปรดให้เพิ่มเติมลงอีก ฯ

สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี เสด็จสวรรคตในวันอังคารที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๗๙ พระชนมพรรษา ๗๐ พรรษา

ส่วนพระนามของพระองค์นั้น ตามธรรมเนียมไทยเดิมไม่นิยมขานพระนามเจ้านาย จึงเรียกขานกันว่า สมเด็จพระพันวษา เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์แล้วทรงสถาปนาพระเกียรติยศพระบรมอัฐิสมเด็จพระพันวษา พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ตามประกาศเมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๓๙๔

ครั้นถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนพระนามพระบรมอัฐิกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ เป็นสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: สุทธิพันธ์ ขุทรานนท์

ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร

บรรดาวีรสตรีที่ได้รับการสดุดีประวัติไว้ในประวัติศาสตร์ชาติไทยนั้น ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร ๒ พี่น้องชาวถลาง เป็นผู้ที่ได้ประกอบวีรกรรมเป็นแบบอย่างแห่งการต่อสู้ เพื่อปกป้องบ้านเกิดเมืองนอนไว้โดยสุดกำลัง เหตุการณ์สู้รบกองทัพพม่าที่มาล้อมเมืองถลาง เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๘ แม้เวลาจะล่วงเลยมานานปี แต่ลูกหลานไทยก็ยังเล่าขาน ความกล้าหาญของท่านไว้โดยไม่ลืมเลือนท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร

ประวัติวีรกรรมของท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร เกิดขึ้นในสมัยเมื่อกรุงรัตนโกสินทร์เพิ่งสถาปนาได้เพียง ๓ ปี เป็นเหตุการณ์ศึกที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้วว่า พม่าคงจะมาตีเมืองไทยจึงโปรดให้สร้างกรุงเทพมหานครทางฝั่งข้างตะวันออกแทนที่จะอยู่ทั้งสองฝั่งอย่างกรุงธนบุรี ดังปรากฏความในพระราชพงศาวดารว่า

..ด้วยทรงพระราชดำริว่าพม่าคงจะมาตีเมืองไทย กรุงธนบุรีสร้างป้อมปราการทั้ง ๒ ฝั่ง เอาแม่นํ้าไว้กลางเมืองเหมือนอย่างเมืองพิษณุโลก มีประโยชน์ที่อาจเอาเรือรบไว้ในเมืองเมื่อเวลาถูกข้าศึกมาตั้งประชิด แต่การสู้รบรักษาเมือง คนข้างในจะถ่ายเทช่วยกันรบพุ่งรักษาหน้าที่ไม่ใคร่ทันท่วงทีด้วยต้องข้ามนํ้า… ทรงพระราชดำริว่า…ถ้าข้าศึกเข้ามาได้ถึงพระนครจะไม่สามารถต่อสู้ข้าศึกรักษาพระนครได้…ถ้าสร้างเมืองแต่ฟากเดียวจะได้แม่นํ้าใหญ่เป็นคูเมืองทั้งด้านตะวันตก และด้านใต้ต้องขุดคลองเป็นคูเมืองแต่ด้านเหนือกับด้านตะวันออกเท่านั้น ถ้าข้าศึกจะเข้ามาได้ถึงพระนครก็พอต่อสู้ได้ ด้วยเหตุนี้จึงโปรดให้ย้ายพระนครมาสร้างข้างฟากตะวันออกแต่ฝังเดียว”

การที่ได้ทรงพระราชดำริว่าพม่าคงจะมาตีเมืองไทยนี้ถูกต้องแม่นยำยิ่งนัก เพราะใน พ.ศ. ๒๓๒๘ พระเจ้าปดุงขึ้นครองราชสมบัติต้องการที่จะแสดงพระบรมราชานุภาพเช่นกับพระเจ้าบุเรงนอง จึงต้องเข้ามาตีเมืองไทยให้มีเกียรติยศ โปรดให้เกณฑ์พลเป็นกองทัพใหญ่เข้ามาถึง ๙ ทัพ โดยเส้นทางที่กองทัพพม่ายกเข้ามาครั้งนั้นทางหนึ่ง คือ ยกเข้าตีหัวเมืองปักษ์ใต้ของไทย ดังปรากฏหลักฐานพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ว่า

“… ให้เนมโยคุงนะรักเป็นแม่ทัพใหญ่… ถือพล ๒,๕๐๐ เป็นทัพหน้ายกมาทางเมืองมะริดให้ยกมาตีเมืองชุมพร เมืองไชยา ให้แกงวุ่นแมงยี่ถือพล ๔,๕๐๐ เป็นทัพหนุนยกมาอีกทางหนึ่ง แล้วเกณฑ์ทัพเรือให้ยี่วุ่นเป็นแม่ทัพ…ถือพล ๓,๐๐๐ ยกมาตีถลาง…”

เนื้อความที่บันทึกอยู่ในพระราชพงศาวดารตอนนี้เอง คือ เหตุการณ์ที่มาแห่งวีรกรรมของชาวเมืองถลาง ซึ่งมีท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร เป็นหัวหน้าทำการสู้รบจนได้ชัยชนะ

เป็นที่ทราบกันว่าสตรีไทยแต่โบราณมามีบทบาทในเรื่องราชการบ้านเมืองน้อยมาก ดังที่มีคำเปรียบเทียบไว้ว่า สามีเป็นช้างเท้าหน้า ภรรยาเป็นช้างเท้าหลัง หน้าที่สำคัญของผู้หญิงคือ การเป็นแม่บ้าน ดูแลบ้านเรือน สามี ลูก และผู้คนในบ้าน ส่วนงานบ้านงานเมืองนั้นตกอยู่ในหน้าที่ของผู้ชายเท่านั้น เพราะฉะนั้นการที่ท้าวเทพกระษัตรี และท้าวศรีสุนทรต้องออกหน้า ทำหน้าที่อันหนักยิ่งนี้ ย่อมต้องมีมูลเหตุที่มาว่า เป็นเพราะเหตุใด เพื่อทำความเข้าใจกับบทบาทของสุภาพสตรีพี่น้อง ๒ ท่านนี้ จึงสมควรย้อนศึกษาชาติภูมิ เป็นเบื้องต้น

ชาติภูมิ
พงศาวดารเมืองถลางบันทึกชาติภูมิของท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร ไว้ดังนี้

“…ขอเล่าเรื่องราวตามผู้เฒ่าเล่ามาแต่ก่อน และได้รู้ได้เห็นเองว่าเมืองถลางแต่ก่อนนั้น จอมร้างบ้านตะเคียนเป็นเจ้าเมือง เมียจอมร้างเป็นแขกเมืองไทร…หม่าเสี้ยขัดใจไม่อยู่เมืองไทรมาอยู่เมืองถลาง ได้กับจอมร้างเป็นผัว มีลูกชาย ๒ หญิง ๓ รวม ๕ คน หญิงชื่อจันเป็นท้าวเทพกระสัตรี หญิงน้องถัดมาชื่อมุกเป็นท้าวศรีสุนทร…พระยาพิมลเป็นพระกระมาอยู่เมืองชุมพรได้กับท้าวเทพกระสัตรีๆ นั้น เมื่อหนุ่มสาวเป็นเมียหม่อมศรีภักดี…หม่อมศรีภักดีนั้นได้กับท้าวเทพกระสัตรีมีลูกสองคน หญิงชื่อแม่ปราง ชายชื่อ เทียน… ท้าวเทพกระสัตรีเป็นหม้ายแล้วได้กับพระยาพิมล. ..”

ตามสาระในพงศาวดารเมืองถลางข้างต้นนี้ ได้ทราบว่า ท้าวเทพกระษัตรี และท้าวศรีสุนทร มีนามเดิมว่า จัน และมุก เป็นบุตรีของเจ้าเมืองถลาง ท่านได้สมรสครั้งแรกกับหม่อมศรีภักดี มีลูกด้วยกันสองคน ชื่อ แม่ปราง และเทียน ต่อมาได้แต่งงานใหม่กับพระยาพิมลมีตำแหน่งพระกระ คือ ผู้ดูแลเมืองกระ แล้วมาอยู่เมืองชุมพร ซึ่งผู้ศึกษาประวัติชีวิตราชการของพระยาพิมลพบว่า ท่านมีความภักดีอยู่กับเจ้าเมือง นครศรีธรรมราช สันนิษฐานว่า เมื่อครั้งที่ได้แต่งงานกับคุณจันนั้นเป็นช่วงที่มาช่วยราชการเมืองถลาง ต่อมาได้ไปเป็นเจ้าเมืองพัทลุงคงจะได้กลับคืนมาครองเมืองถลาง มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาสุรินทรราชา ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานที่ว่าเมื่อใกล้จะเกิดศึกพม่าเข้าตีเมืองถลางนั้น ท่านล้มเจ็บลง ท่านผู้หญิงจันต้องรับภาระแทนเช่นในเรื่องที่ได้เคยติดต่อทำมาค้าขายอยู่กับพระยาราชกปิตัน ยังไม่สามารถชำระหนี้สิน ได้เรื่องหนึ่ง ดังที่ท่านผู้หญิงจันได้มีหนังสือถึงพระยาราชกปิตันขอผัดผ่อนไว้ก่อน มีความที่น่าเห็นใจอย่างยิ่ง ดังนี้

“.. หนังถือท่านผู้หญิงมาถึงลาโตก ด้วยมีหนังสือไปนั้นได้แล้ว ครั้นจะเอาหนังสือเรียนแก่พระยาถลางๆ ป่วยหนักอยู่…แลมี (เรื่อง) ราวข่าวว่าพม่าจะมาตีเมืองถลาง ท่านพระยาถลางเจ็บหนักอยู่ ถ้าพม่ายกมาจริง ข้าเจ้าจะได้พึ่งลาโตกเป็นหลักที่ยุดต่อไป แลซึ่งว่าจะเอาดีบุก ค่าผ้านั้น ท่านพระยาถลางยังเจ็บหนัก มิได้ปรึกษาว่ากล่าวก่อน ถ้าพระยาถลางคลายป่วยแล้วจะได้ปรึกษาว่ากล่าวจุดเตือนให้..”

เนื้อความในจดหมายท่านผู้หญิงจันฉบับนี้ นอกจากเป็นหลักฐานเอกสารประวัติศาสตร์ชั้นต้นที่ช่วยให้เห็นภาพเหตุการณ์ที่เจ้าเมืองถลางล้มเจ็บ ว่าเป็นเรื่องที่มีผลต่อความมั่นคงของบ้านเมืองแล้ว บุคคลในครอบครัวโดยเฉพาะผู้เป็นภรรยา ยิ่งต้องระทมทุกข์เป็นอย่างยิ่ง แต่ท่านผู้หญิงเป็นสตรีที่มีความเข้มแข็ง จึงหาทางผ่อนปรนกับพระยาราชกปิตันไว้ก่อน และที่เห็นในนํ้าใจภักดีของความเป็นภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากก็คือ ท่านแบกรับภาระไว้เอง โดยไม่นำความเรียนให้ท่านพระยาถลางทราบ เพราะเกรงจะกระทบกับสภาพเจ็บป่วยของสามี

แต่แล้วพระยาถลางก็ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อกำลังเกิดศึกพม่าเข้าตีเมืองถลางพอดี ท่านผู้หญิงจัน พร้อมด้วยคุณมุกน้องสาวจึงเข้าแบกรับหน้าที่แทนพระยาถลางโดยไม่สามารถหลีกหนีได้

เหตุการณ์เมื่อทัพพม่าเข้าล้อมเมืองถลาง ซึ่งท่านผู้หญิงจันกับคุณมุกน้องสาวรวบรวมไพร่พลต่อสู้รักษาบ้านเมืองไว้คราวนั้น มีหลักฐานกล่าวไว้ว่า

“…ภรรยาถลางชื่อจัน กับน้องสาวอีกคนหนึ่ง (ชื่อมุก) เป็นคนใจกล้าหาญองอาจ จึงให้กรมการเกณฑ์ไพร่บ้านพลเมืองทั้งชายหญิง ออกตั้งค่ายรบกับพม่านอกเมือง ยิงปืนใหญ่น้อยโต้ตอบสู้รบกันอยู่ทุกวัน จนประมาณได้เดือนเศษพม่าก็หักเอาเมืองมิได้ ไพร่พลในกองทัพก็ขัดสนเสบียงอาหารลงก็จำเป็นต้องเลิกทัพกลับไป…”

“ฝ่ายกรมการเมืองถลาง ครั้นทัพพม่าเลิกกลับไปแล้ว ได้ข่าวว่าทัพหลวงสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จพระราชดำเนินออกมาตีทัพพม่าทางบกแตกไปสิ้นแล้ว จึงบอกข้อราชการมากราบทูลพระกรุณา ณ กรุงเทพมหานครฉบับหนึ่ง และขณะเมื่อสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จกลับเข้ามาถึงพระนครแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชโองการให้มีตราออกไปยังเมืองถลาง ตั้งกรมการผู้มีความชอบในการสงครามเป็นพระยาถลางขึ้นใหม่ แล้วโปรดตั้งจันท์ภรรยาพระยาถลางเก่า ซึ่งออกต่อรบพม่านั้นเป็นท้าวเทพสตรี โปรดให้ตั้งมุกน้องหญิงนั้นเป็น ท้าวศรีสุนทร พระราชทานเครื่องยศโดยควรแก่อิสตรีทั้ง ๒ คน ตามสมควรแก่ความชอบ ในการสงครามนั้น…”

แม้พงศาวดารจะบันทึกยุทธวิธีสู้รบกับข้าศึกไว้โดยรวบรัดว่า ท่านและน้องสาวได้เกณฑ์ไพร่พลออกตั้งค่ายรบนอกเมือง และใช้ปืนใหญ่น้อยโต้ตอบทุกวันนานประมาณ 9 เดือน แต่หากพิจารณาสภาพความเป็นจริง การยืนหยัดสู้ข้าศึกที่เหนือกว่าทั้งด้วยพละกำลังและศัตราวุธนานนับเดือน จนในที่สุดข้าศึกต้องล่าถอยกลับไปนั้น ต้องนับว่าผู้ที่จะกระทำเช่นนี้ได้ต้องมีทั้งความพากเพียรพยายาม ความหาญกล้าและจิตใจที่มุ่งมั่นอย่างถึงที่สุด

มีผู้ศึกษาชีวประวัติของท่าน ได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่า มูลเหตุที่ท่านผู้หญิงจันและคุณมุกจะเข้าสู้รบ ป้องกันราษฎรชาวเมืองด้วยฐานะของภรรยาและผู้อยู่ในครอบครัวเจ้าเมืองตามหน้าที่นั้น สิ่งที่เป็นแรงผลักดันให้เร่งระดมผู้คน โน้มน้าวจิตใจให้ร่วมกันต่อสู้โดยเร็ว คือ ท่านเห็นว่าบ้านเรือนทรัพย์สมบัติของท่านเองยังถูกทำลายเสียหายจนหมดสิ้น หากเป็นชาวบ้านชาวเมืองจะยิ่งเสียหายกว่ายิ่งนัก ถ้าไม่สามารถรวมพลต่อสู้ข้าศึกได้ก็จะไม่มีสิ่งใดเหลืออยู่เลย

บทบาทในฐานะเป็นแม่และการรักษาเกียรติยศชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล
แม้จะเสร็จศึกพม่าได้รับพระราชทานบำเหน็จความชอบในราชการแผ่นดินเป็นท้าวเทพกระษัตรี คู่กับท้าวศรีสุนทร ผู้เป็นน้องสาวแล้ว แต่ภารกิจของท่านท้าวเทพกระษัตรี ยังมิเสร็จสิ้นแต่เพียงนั้น

เพราะท่านยังต้องดูแลบำรุงเมืองจัดหาเสบียงอาหารให้พอเพียงแก่ผู้คนพลเมือง และครอบครัวของท่านเอง ดังที่ท่านผู้หญิงมีหนังสือไปถึงพระยาราชกปิตัน พรรณนาความยากลำบากขัดสน และขอความช่วยเหลือในการค้าขายต่อไป ดังนี้

“… หนังสือท่านผู้หญิงเจริญมายังท่านพระยาราชกปิตันเหล็กให้แจ้ง… แลอยู่ทุกวันนี้ ณ เมืองถลางพม่าตีบ้านเมืองเป็นจลาจล อดข้าวปลาอาหารเป็นหนักหนา ตูข้ายกมาตั้งทำดีบุก ณ ตะ (กั่ว) ป่า ได้ดีบุกบ้างเล็กน้อย เอาซื้อข้าวแพงได้เท่าใดซื้อสิ้นเท่านั้น…บัดนี้ท่านมาตั้งอยู่เกาะปุเลาปีนังแล้วใกล้กับเมืองถลาง แลท่านกับท่านผู้ตายได้เคยเป็นมิตรกันมาแต่ก่อน เห็นว่าจะได้พลอยพึ่งบุญรอดชีวิตเพราะสติปัญญาของท่านสืบไป…แลตูข้าได้แต่งนายแชม จีนเสมียนอิ่วคุมเอาดีบุกไปถึงท่านให้ช่วยจัดซื้อข้าวให้… ถ้าได้ข้าวแล้วนั้น ขอท่านได้ช่วยแต่งสลุบกำปั่นเอามาส่งให้ทัน ณ เดือน ๑๑ เห็นว่าจะได้รอดชี (วิต) เห็นหน้าท่านสืบไป…”

นอกจากนี้เนื่องจากบุตรชายของท่าน คือ พระยาทุกขราษฎร์ (เทียน) ซึ่งยังมิได้เป็นเจ้าเมืองถลาง ตามวงศ์ตระกูล ด้วยจิตสำนึกของผู้เป็นแม่ ความตระหนักในเกียรติยศของผู้สืบสายวงศ์ตระกูลเจ้าเมืองถลางแต่โบราณ รวมทั้งความเป็นผู้มีนํ้าใจกล้าหาญเด็ดเดี่ยวและชาญฉลาด ท้าวเทพกระษัตรีจึงต้องปฏิบัติหน้าที่ใหญ่ยิ่งอีกครั้ง คือ การเดินทางเข้ามายังกรุงเทพมหานคร เพื่อเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสม เด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

เมื่อท้าวเทพกระษัตรีจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ครั้งนั้น ท่านได้เตรียมการต่างๆ อย่างพรักพร้อม ด้วยการจัดหาสิ่งของมีค่าเตรียมนำเข้าไปทูลเกล้าฯ ถวายตามธรรมเนียม เช่น ปืน ผ้าชนิดต่างๆ นํ้าหอม ต่างประเทศ ซึ่งล้วนเป็นของดีทั้งสิ้น ของเหล่านี้ท่านได้ติดต่อขอซื้อจากพระยาราชกปิตันเช่นเคยดังความในจดหมายเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๓๐ มีไปถึงพระยาราชกปิตันดังนี้

“…หนังสือข้าฯ ท่านผู้หญิง ปรนนิบัติมายังโตกพระยา (นายท่า) น ด้วย ณ เดือนแปด ข้างแรมนี้ ข้าพเจ้าจะเข้าไปกรุงเป็นแน่… แลให้โตกพระยานายท่านช่วยจัดปืนสุตันสัก ๕๐ บอก ผ้าขาวก้านแย่งลายเครือ ผ้าขาวอุเหม้าเนื้อดี แพรดาไหรสีต่างกัน นํ้ามันจันทร์ นํ้ากุหลาบ…แลข้าพเจ้าไปครั้งนี้โดยขัดสนหนักหนา สิ่งอันใดพระยานายท่านได้เห็นดู ข้าพเจ้าด้วยเถิด…ข้าฯ (จะ.) ว่ากล่าวคิดอ่านออกมาให้พระยาทุกราชทำการ ณ เมืองถลางดูสักครั้งแต่จะเอาบุญพระยานายท่านปกเป็นที่พึ่งด้วย. ..”

การซึ่งท้าวเทพกระษัตรีตั้งใจจะขึ้นไปกรุงฯ ครั้งนี้มีเหตุต้องเลื่อนไปก่อนเพราะท่านต้องจัดการเกี่ยวกับลูกหนี้ ซึ่งติดค้างเงินดีบุกของหลวงซึ่งมีตรามาเร่งรัดจนเรียบร้อย จึงเดินทางเข้ากรุงได้ในเดือน ๓ ดังความในหนังสือที่ท่านเล่าเรื่องไปยังพระยาราชกปิตันให้ช่วยหาสิ่งของเช่นเดิมซึ่งไม่ทราบว่า ในคราวก่อนท่านได้รับความช่วยเหลือแล้วหรือไม่ ดังนี้

“… หนังสือท่านผู้หญิง โอยพรสี่ประการมายังท่านพระยาราชกปิตัน ด้วยเดิมข้าพเจ้ามีหนังสือมาแก่ท่านโตกพระยาว่าจะขอลาเข้าไปบางกอก แลข้าพเจ้ายกไปจากถลาง แต่ ณ เดือน ๑๐ ไปค้างนํ้าอยู่ ณ เมืองใต้…ข้าพเจ้าจะเข้าไปบางกอก ณ เดือน ๓ เป็นแน่แล้ว โต (ก) พระยาท่านได้เห็นดูอย่าให้ข้าพเจ้าเข้าไปมือเปล่า ให้ช่วยหาปืนน้อยยอดสุตันสัก ๒ บอก… พร้อกบุญท่านช่วยอนุเคราะห์ ด้วยข้าพเจ้าเป็นผู้หญิงหามีที่เห็นหน้าผู้ใดคนอื่นไม่…”

และนอกจากสิ่งของมีค่านานาชนิดที่ตระเตรียมไปทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว ท้าวเทพกระษัตรียังนำบุตรสาวนามว่า ทอง ไปน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นบาทบริจาริกาคนหนึ่ง และบุตรชายนามว่า จุ้ย ถวายตัวเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กคนหนึ่ง บุตรสาวของท่านต่อมาได้เป็นเจ้าจอมมารดาในพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าหญิงยุคล ส่วนพระยาทุกขราษฎร์ผู้เป็นบุตรนั้น ต่อมาได้รับพระราชทานพระมหากรุณาให้เป็นพระยาถลาง มีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาเพชรคีรีศรีสงคราม นับว่าจุดมุ่งหมายที่ท้าวเทพกระษัตรีเพียรพยายามเข้าไปดำเนินการ ณ เมืองกรุง บรรลุผลสำเร็จตามที่ตั้งไว้ทุกประการ

ในบั้นปลายชีวิตท้าวเทพกระษัตรี น่าจะมีชีวิตเป็นปกติสุขอยู่กับลูกหลาน ส่วนท้าวศรีสุนทรผู้เป็นน้องสาวไม่ปรากฏเรื่องราวว่าเป็นเช่นใด แต่สันนิษฐานว่าท่านคงอยู่กับพี่สาวต่อมา

หลักฐานสุดท้ายที่กล่าวถึงท้าวเทพกระษัตรี เป็นช่วงที่ท่านอยู่ในปัจฉิมวัย ดูเหมือนว่าจะมีสุขภาพไม่สู้เป็นปกติเท่าใดนัก ดังที่เจ้าพระยาเพชรคีรีศรีสงคราม พระยาถลางมีจดหมายไปถึงพระยาราชกปิตัน ผู้เป็นสหายเก่าแก่ของมารดาเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๓๓๕ เรื่องการค้าขายโดยอ้างให้เห็นแก่ผู้เป็นมารดาด้วยว่า

“หนังสือเจ้าพระยาเพชรคิรีศรีสงคราม พระยาถลาง บอกมายังโตกพระยาท่าน ณ เกาะหมาก…แลบัดนี้ ตูข้าต้องการปืนสุตันสัก ๒๐๐ – ๓๐๐ บอก ให้ท่านช่วยจัดซื้อให้ มากับเครื่องทองเหลือง แม่ขันอาบนํ้าของซึ่งงกปิตันเลนเอามาแต่ก่อน โตกท่านเอ็นดูแก่คุณมารดาด้วยเถิด ด้วยทุกวันนี้ก็แก่ลงกว่า (แ) ต่ก่อนแล้ว ก็ขัดสนไม่สบายเหมือนแต่ก่อน…”

ท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อใดไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นช่วงก่อนศึกพม่าใน พ.ศ. ๒๓๓๕ ซึ่งบุตรของท่านได้ไปราชการทัพพม่าที่เมืองมะริดทำหน้าที่ เช่น เดียวกับผู้เป็นมารดา และท่านน้าที่ได้ทำไว้แล้วแก่บ้านเมือง

เหตุการณ์วีรกรรมของท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๘ ได้เป็นความทรงจำของผู้คนในชั้นหลังมาทุกยุคทุกสมัย ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ กวีสมัยรัตนโกสินทร์ ได้รจนาความเก่งกล้าสามารถขึ้นไว้มีความอันไพเราะและกินใจ ดังต่อไปนี้

ท้าวเทพกษัตรี (จันทร์)
• เมืองถลางปางพม่าล้อม ลุยรัณ
รอดเพราะคุณหญิงจันทร์ รับสู้
ผัวพญาผิอาสัญ เสียก่อน ก็ดี
เหลือแต่หญิงยังกู้ เกียรติ์ไว้ชัยเฉลิม

• เริ่มรบรุกตลบต้าน โจมตี
ทั้งสกัดตัดสเบียงที ดักก้าว
พม่าอดหมดพลังหนี จากเกาะ กระเจิงแฮ
กลศึกแพ้แม่ท้าว ไม่ท้อโถม ทนง

• อุบายรงค์คงคู่ใช้ สมเขบ็จ
ใครโฉดลงโทษเข็ด จึ่งยั้ง
ใครชอบตอบบำเหน็จ สมชอบ
ยั่วจิตถวายชีวิตตั้ง แต่สู้ริปูหาญ

• ไป่ท้านไป่ท้อไป่ เปิ่งมุด
เชื่อพระเดชพระพุทธ ยอดฟ้า
ลือหึ่งว่าถึงอยุท- ธยาล่ม แล้วแฮ
มานะห่อนละกล้า กราดป้องหงองไฉน

• พลไทสมทบทั้ง ชายหญิง
โรมรุธสัประยุทธ์ยิง เลิกแพ้
ถวิลเดียวจะเฉี่ยวชิง ชัยขจัด อรินแฮ
ฉลองพระคุณเจ้าแม้ ชีพม้วยอวยถวาย

• เพราะนางนายทัพกล้า เกรียงญาณ
ชักฝ่ายหญิงชายทหาร เหิ่มแกล้ว
สมสั่งประดังผลาญ พม่าล่า ประลัยแฮ
เมืองมั่นขวัญไทแผ้ว ผึ่งหล้าฉ่าเฉลิม

• เผยเพิ่มพิระศักดิ์ก้อง โลกี
ท้าวเทพกษัตรี โปรดตั้ง
เป็นเยี่ยงสตรีศรี อยุธเยศ แม่เอย
ชีพดับเกียรติศัพท์ยั้ง อยู่ช้าชวนถวิล

• แผ่นดินพุทธยอดฟ้า ฝังใจ
พันลึกปัจจนึกภัย พ่างดิ้น
หากครบนักรบไท เอกเอก อนันต์แฮ
ไทยจึ่งไทยไป่สิ้น สืบเชื้อชูสยาม

• พระรามอธิราชเจ้า จักรี วงศ์เอย
ผยองพระฤทธิบารมี แมกกล้า
เหตุอมาตย์ราชเศรณี สนองภัก – ดีนา
ข้าผึ่งเดชพึ่งเจ้า จึ่งพื้นยืนเกษม สันติ์แล ฯ

คำเริงสดุดี สตรีไทยนักรบ
• เกิดเป็นไทยชายหญิงไม่นิ่งขลาด แสนสมัครักชาติศาสนา
กตัญญูสู้ตายถวายชีวา ต่อเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินสิ้นทุกคน

ยามสบายปล่อยชายเป็นนายทหาร ครั้นเกิดการศึกเสือเมื่อขัดสน
พวกผู้หญิงใช่จะทิ้งนิ่งอับจน ออกต่างขวนขวายช่วยม้วยไม่กลัว

เปลก็ไกวดาบแกว่งแข็งหรือไม่ ไม่อวดหยิ่งหญิงไทยมิใช่ชั่ว
ไหนไถถากกรากกรำไหนทำครัว ใช่รู้จักแต่จะยั่วผัวเมื่อไร

แรงเหมือนมดอดเหมือนกากล้าเหมือนหญิง นี่จะจริงเหมือนว่าหรือหาไม่
เมืองถลางปางจะจอดรอดเพราะใคร เพราะหญิงไทยไล่ฆ่าพม่าแพ้

เครื่องกลไกเพราะไอผลักให้วิ่ง เหมือนผู้หญิงยวนชายตะกายแต้
เลี้ยงให้อ้วนชวนให้กล้าท้าให้แย ใช่อ้อแอ้อ่อนอุบายเช่นชายงง

กรุงศรีอยุทธยาใครอย่าหยาม มีวันทรามยามดีมีวันส่ง
มีคราจ้าครามึนขึ้นขึ้นลงลง แต่ไทยคงเป็นไทมิใช่ทราม ฯ

อธิษฐาน
ขึ้นชื่อไทยใจกล้าใครอย่าหมื่น รัตน์โกสินทร์เอกอมรนครสยาม
รวยคนดีสีห์สง่ากล้าสงคราม ชั้นหญิงไทยไม่คร้ามต่อความตาย ฯ

ฤทธิ์รักชาติศาสนามหากษัตร์ โสมนัสมอบชีวาบูชาถวาย
ขอพระวงศ์จักรีนิรันตราย เป็นเจ้านายนิรันดรสมพร เทอญ ฯ

สรรเสริญพระบารมี
พระเดชพระมหากษัตร์ศึก ปราบปัจจนึกนิกรพม่าแตกล่าหนี
เหมือนช้างโขลงโผงแผ่แพ้ฤทธี มนุษน้อยปางนี้น่าอัศจรรย์ ฯ

สร้อย
โอ้ยามดึกพาละมฤคคร่ะทึมหน เสือสีห์พิกล
เสียวเสียงคำรณเลวงไพร สยดสยองคนองไฉน
สง่ามิเหมือนสง่าชัย อำนาจชาติไทยสง่าเอย ฯ

ศึกพม่าคราไหนไม่ใหญ่เหมือน เปรียบเหมือนเลื่อนลูกหีบหนีบนิ้วสั้น
โอ้นิ้วเพ็ชร์เด็ดดัสกรทัน ผองพม่าอาสัญครั่นสงคราม ฯ

สร้อย
โอ้ดวงอังสุมาลีที่ร่อนหาว แสงฉายพร่ะพราว
แสนสวะว่ะวาวเวิ้งพนม สว่างไสวน่าใคร่ชม
ถวิลมิเหมือนบาทบรม ข้าน้อยนิยมพระเดช เอย ฯ

ขอพระวงศ์จักรีจีระฐิต อาญาสิทธิ์ปกชีวาประชาสยาม
ขอกรุงรัตนโกสินทร์ภิญโญงาม อย่ารู้ทรามเกษมสันติ์นิรันดรเอย ฯ

สร้อย
โอ้เอื้องฟ้าลดาสวรรค์วันะสถาน รเหยหอมพนานต์
เฉียวฉุนเสาวมาลย์เมื่อลมพา ชื่นผลูบรู้รา
มิเหมือนพระมิ่งมงกุฎพุทธยอดฟ้า พระเกียรติยศคู่หล้าเหลือลืม เอย ฯ

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: บุหลง ศรีกนก