คุณสุวรรณกวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

Socail Like & Share

ชาติไทยเป็นชาติที่มั่งคั่งร่ำรวยด้วยศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะในด้านวรรณศิลป์ กวีทุกยุคทุกสมัยได้สร้างสรรค์งานนิพนธ์จำนวนมากไว้เป็นสมบัติวัฒนธรรมของชาติ และเป็นมรดกตกทอดถึงอนุชนรุ่นหลัง

ในบรรดากวีเอกของกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น คุณสุวรรณเป็นกวีสตรีที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่ง มีผลงานที่ทรงคุณค่าเป็นที่ยกย่องในเชิงวรรณศิลป์เป็นอย่างยิ่ง

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงพระอุตสาหะค้นคว้าเรียบเรียงประวัติของคุณสุวรรณ ออกตีพิมพ์เผยแพร่พร้อมผลงานกวีนิพนธ์หลายเรื่อง ทำให้ชื่อเสียงและผลงานของคุณสุวรรณปรากฏอยู่ในประวัติวรรณคดี ซึ่งผู้สนใจจะศึกษาหาความรู้ได้
คุณสุวรรณกวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์นี้ เกิดในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นธิดาพระยาอุไทยธรรม (กลาง) ราชินิกุลบางช้าง เป็นผู้ที่มีใจรักงานกวีนิพนธ์มาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เนื่องจากเป็นธิดาของขุนนาง จึงได้ถวายตัวทำราชการฝ่ายใน รับใช้ในราชสำนักรัชกาลที่ ๓ อยู่ที่ตำหนักพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ

คุณสุวรรณมีความสามารถชำนาญในการแต่งกลอนเพลงยาวนิราศ และกลอนบทละคร ผลงานของคุณสุวรรณเท่าที่ปรากฏและตีพิมพ์เผยแพร่แล้ว ได้แก่ กลอนเพลงยาวเรื่องหม่อมเป็ดสวรรค์ และเรื่อง พระอาการประชวรของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ บทละครเรื่อง พระมะเหลเถไถ และบทละครเรื่อง อุณรุทร้อยเรื่อง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า ผลงานของคุณสุวรรณคงมีมากกว่า ๔ เรื่อง ที่กล่าวมาแล้วแต่ไม่สามารถหาฉบับพบ

คุณสุวรรณรับราชการอยู่กับพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ จนกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ สิ้นพระชนม์แล้ว คุณสุวรรณก็คงอยู่ในพระบรมมหาราชวังต่อมา ไม่ปรากฏหลักฐานว่า ได้รับราชการใน ตำแหน่งพนักงานใด

ผลงานที่ทำให้คุณสุวรรณมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางก็คือ บทละครเรื่อง อุณรุทร้อยเรื่อง และพระมะเหลเถไถ ซึ่งเป็นบทละครที่มีเนื้อหาสาระ และสำนวนโวหาร การใช้ถ้อยคำแปลกพิสดารกว่าผลงานของกวีที่มีชื่อเสียงคนอื่นๆ ทั้งนี้ กล่าวกันว่า เมื่อมีอายุอยู่มาจนถึงรัชกาลที่ ๔ คุณสุวรรณ เสียจริตแต่ไม่ถึงกับคลั่งไคล้อาละวาด การเสียจริตมีผลดีแก่วงวรรณกรรม เพราะเป็นการเสียจริตที่ฟุ้งหลงไปในการแต่งกลอน ด้วยเหตุนี้ กลอนบทละคร อุณรุทร้อยเรื่อง และพระมะเหลเถไถ จึงมีลักษณะแปลกกว่างานอื่นๆ ดังกล่าวแล้ว

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า
“มีเรื่องเล่ากันมาว่า คุณสุวรรณอยู่เรียนที่แถวนอก ใครไปหาก็บอกว่า อยากจะฟังบทละครที่แต่งใหม่ คุณสุวรรณก็ว่าบทละคร ๒ เรื่องนี้ให้ฟัง โดยจำไว้ได้แม่นยำ ผู้ที่ได้ฟังเห็นขบขัน ก็พากันชอบ ที่จำได้บ้างก็มาว่าให้ผู้อื่นฟังต่อๆ มา”

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า
“คุณสุวรรณถึงแก่กรรมในรัชกาลที่ ๕ แต่บทละครของคุณสุวรรณยังมีผู้จำได้เป็นตอนๆ และว่าให้กันฟังสืบต่อมา พึ่งพบฉบับที่ได้เขียนไว้ที่ได้มาพิมพ์ในสมุดเล่มนี้”

บทละครของคุณสุวรรณที่เป็นของแปลกนั้น คือ บทละครเรื่อง พระมะเหลเถไถ คุณสุวรรณแต่งเป็นภาษาบ้าง ไม่เป็นภาษาบ้าง ปะปนกันไปแต่ต้นจนปลาย แต่ใครอ่านก็เข้าใจความได้ตลอดเรื่อง ความขบขันอยู่ที่ตรงข้อนี้

ส่วนบทละคร อุณรุทร้อยเรื่อง นั้น คุณสุวรรณเกณฑ์ให้ตัวเอกในละครเรื่องต่างๆ มารวมกันอยู่ในเรื่องเดียว ถ้าดูโดยกระบวนความอยู่ข้างจะเลอะ แต่ไปดีทางสำนวนกลอน กับแสดงความรู้เรื่องละครต่างๆ กว้างขวาง เพราะในสมัยนั้นบทละคร (ต่างๆ) ยังมิได้พิมพ์ (แพร่หลาย) คุณสุวรรณคงต้องพยายามมากทีเดียว จึงได้รู้เรื่องละครต่างๆ มากถึงเพียงนั้น แต่มีอยู่บทหนึ่งใน อุณรุทร้อยเรื่อง ของคุณสุวรรณ ซึ่งควร สรรเสริญในกระบวนความว่า เป็นความคิดแปลกดี คือ บทจำแลงตัว

บทละครทั้ง ๒ เรื่องนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อเป็นสภานายกคณะกรรมการ หอพระสมุดสำหรับพระนคร โปรดให้ค้นหาต้นฉบับจนพบ และตีพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกเมื่อ ๒๔๖๔ พร้อมทั้งทรงพระนิพนธ์ประวัติคุณสุวรรณให้ตีพิมพ์ไว้ด้วย

ลักษณะความแปลกพิสดารของกลอนบทละครเรื่อง อุณรุทร้อยเรื่อง คงจะเห็นได้จากตัวอย่างตอนหนึ่งที่จะยกมากล่าวดังต่อไปนี้

“เมื่อนั้น พระอุณรุทผู้รุ่งรัศมี สมสู่อยู่ด้วยนางจันที ภูมีตรีตรึกนึกใน แค้นด้วยอิเหนากุเรปัน กับสุวรรณมาลีศรีใส เอานางจันทร์สุดายาใจ ไปยกให้พระสมุทรบุตรระตู…”

เมื่ออ่านบทละครที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้ จะเห็นได้ว่ามีตัวละครจากวรรณคดีหลายเรื่อง เช่น อุณรุท อิเหนา คาวี พระอภัยมณี เป็นต้น คุณสุวรรณจะดำเนินเรื่องโดยแสดงความคิดแปลกๆ ไว้ในบทละครเรื่องนี้ แม้จะเป็นลักษณะที่กล่าวกันว่ามีเหตุมาจากการเสียจริต แต่ก็แสดงให้เห็นความปราดเปรื่องและความคิดเฉียบแหลม บางตอนก็นำสิ่งที่ควรมีบทบาทตรงข้ามหรือเป็นศัตรูกันมาแต่งให้มีบทบาทร่วมกัน เป็นความคิดริเริ่มที่กวีอื่นไม่เคยทำมาก่อน เช่นบทที่ว่า

“จรเข้ยังรู้สั่งอากาศ สีหราชยังรู้สั่งมหิงสา หัศรังยังรู้สั่งไอยรา นาคายังรู้สั่งสุบรรณบิน เหมราชยังรู้สั่งซึ่งคูหา แต่มัจฉายังรู้สั่งซึ่งไพรสัณฑ์ พยัคฆ์ยังรู้สั่งมฤคิน พระภูมินทร์ควรฤๅไม่อาลัยลา”

และอีกบทหนึ่ง ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงชมเชยว่าคุณสุวรรณมีความคิดแปลก คือ การแต่งบทจำแลงตัว เป็นบทที่อ่านสนุกสนานเพลิดเพลิน ขบขัน และเห็นอัจฉริยภาพของกวีผู้แต่ง
โดยเฉพาะความรู้,ปราดเปรื่องในเรื่องถ้อยคำหลากหลายที่มีความหมายเดียวกัน ดังบทที่ว่า

“รี้พลให้กลายเป็นโยธา ไอยราแปลงเป็นคชสาร พาชีแปลงเป็นอาชาชาญ พระพรหมมานแปลงเป็นท้าวธาดา ไกรสรให้แปลงเป็นสิงหราช สกุณชาติให้แปลงเป็นปักษา พระราเมศแปลงเพศเป็นรามา พยัคฆาแปลงเป็นพยัคฆี พระยาครุฑแปลงเป็นสุบรรณจร วานรแปลงเป็นกระบี่ศรี นาคาเป็นพระยาวาสุกรี โกสีย์แปลงเป็นท้าวสหัสนัยน์…”

ส่วนบทละครเรื่อง พระมะเหลเถไถ นั้น ก็มีถ้อยคำสำนวนโวหารที่ช่วยให้ขบขัน อ่านแล้วเพลิดเพลิน ชวนอ่านไม่เบื่อ ทั้งนี้เพราะคุณสุวรรณใช้ถ้อยคำที่มีเสียงแปลกๆ แต่ก็มีคำหลักที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจความได้ดี ดังตัวอย่างต่อไปนี้

“ครั้นถึงจึงเข้าตะหลุดตุด ก้มเกล้าเค้าคุดกะหลาต๋า

มะเหลไถกราบไหว้ทั้งสองรา จึงแจ้งกิจจามะเลาเตา
ด้วยบัดนี้ตัวข้ามะเหลเถ ไม่สบายถ่ายเทกะเหงาเก๋า
จะขอลาสองราหน้าเง้าเค้า เที่ยวมะไลไปป่าพนาวัน”

ผลงานอีกเรื่องหนึ่ง คือ กลอนเพลงยาวเรื่องหม่อมเป็ดสวรรค์ กรมศิลปากร สมัยที่ นายธนิต อยู่โพธิ์ เป็นอธิบดี เพิ่งค้นพบต้นฉบับเรื่องนี้ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗ และนายหรีด เรืองฤทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญวรรณคดี ได้เขียนคำอธิบายไว้ว่า

“สำนวนกลอนเป็นของคนๆ เดียวกับผู้แต่งเพลงยาวว่าด้วยเรื่องพระอาการประชวรของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ แต่เพลงยาวเรื่องหม่อมเป็ดสวรรค์ แต่งเมื่อยาม กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพทรงพระสำราญ…แต่เมื่อแต่งเพลงยาวเรื่องพระอาการประชวร ดูผู้แต่งเป็นทุกข์ถึงเจ้านายอยู่มาก จึงเห็นได้ว่า เพลงยาวเรื่องหม่อมเป็ดสวรรค์ แต่งก่อนเพลงยาวเรื่องพระอาการประชวรกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ จะแต่งเมื่อศักราชเท่าไรไม่บอก แต่เมื่อแต่งเพลงยาวเรื่องพระอาการประชวรของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพบอกไว้ว่า

นิราศร่ำทำอักษรเป็นกลอนสด ให้ปรากฏด้วยปัญญาอัชฌาศัย
เมื่อเดือนสี่ปีเถาะเคราะห์เหลือใจ ละห้อยไห้แสนคะนึงถึงประชวร”

ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพประทานพระอธิบายว่า คือ ปีเถาะ จุลศักราช ๑๒o๕ พ.ศ. ๒๓๘๖

กลอนเพลงยาวเรื่องหม่อมเป็ดสวรรค์นี้ เป็นบันทึกเหตุการณ์และสะท้อนภาพชีวิตชาววังในสมัยรัชกาล ที่ ๓ เป็นเรื่องของบุคคลที่มีชีวิตจริง เช่น หม่อมสุด หม่อมขำ ซึ่งเป็นหม่อมห้ามในกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ผู้มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ ก็คือ หม่อมขำ ซึ่งได้สมญาว่า หม่อมเป็ด “เพราะชอบเดินเหิน โยกย้ายส่ายกริยา จึงชื่อว่าหม่อมเป็ดเสด็จประทาน”

เพลงยาวเรื่องนี้สะท้อนสภาพสังคมในสมัยรัชกาลที่ ๓ โดยเฉพาะการดำรงชีวิตของชาววังไว้ละเอียดชัดเจน เช่น การใช้เทียนให้แสงสว่าง การกินหมากพลู การไว้ผมกันไร การนิยมเป่ายานัตถุ์ การเล่นเสภา นายแจ้งคนขับเสภาที่มีชื่อเสียง หรืออาหารและขนมที่นิยมกันในสมัยนั้น เช่น ข้าวเหนียวหน้ากุ้ง หน้าสังขยา ขนมจีนน้ำยา ขนมปลากริม และยังมีความรู้เรื่องทันตกรรมประดิษฐ์ที่น่าสนใจมาก คือ การทำฟันปลอม ด้วยกะลาไม้ และใช้ไหมผูก ซึ่งสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมการกินหมากของผู้หญิงจนฟันดำจึงจะงาม จึงต้องใช้กะลาหรือไม้มะเกลือทำฟันปลอม ตลอดจนช่างทำฟันคนสำคัญมีชื่อว่า จีนยู เป็นต้น ดังบทที่ว่า

“หม่อมเป็ดน้อยมาทำพย่ำเผยอ พูดเจ้อจีบปากถลากไถล
เอาลิ้นดันฟันกะลาเลื่อนออกไป ไหมเปื่อยขาดปุดหลุดออกมา”

และ
“ครั้นหม่อมเห็นพวงฟันเข้าทันใด ดีใจรีบรับเอาฉับพลัน
พวงหนึ่งทำด้วยไม้มะเกลือ วิไลเหลือดำดีสีขยัน
พวงหนึ่งทำด้วยกะลาหนาครัน เขาเจียนจัดขัดเป็นมันเหมือนทันตา
พวงหนึ่งทำไว้ด้วยไม้ทองหลาง ทำเหมือนอย่างซี่ฟันขันหนักหนา
เอาไหมร้อยเรียบเรียงดูเกลี้ยงตา รับเอามาดูกริ่มแล้วยิ้มพราย

หม่อมเป็ดถามยายมาว่าพวงฟัน นี่ขยันสุดใจใครให้พี่
ยายมาอวดซ้ำเขาทำดี ซื้อมาที่จีนยูทั้งสามพวง”

คุณสุวรรณถึงแก่กรรมในรัชกาลที่ ๕ วันเดือนปีใดไม่ปรากฏ ความปราดเปรื่องปรีชาสามารถเชิงกวีนิพนธ์ของคุณสุวรรณได้รับการบันทึกไว้ด้วยความชื่นชม ในประวัติวรรณคดีของไทย และผลงานของท่านก็ยังได้รับความนิยมชื่นชมตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ