สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี

Socail Like & Share

เป็นพระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็น สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช แม้ว่าจะสวรรคตตั้งแต่
พระชนมพรรษายังน้อย แต่ก็เป็นสมเด็จพระอัครมเหสีที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า เจ้าอยู่หัวทรงสนิทเสน่หาอย่างยิ่ง เนื่องจากมีพระอุปนิสัยสงบเสงี่ยม เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติของกุลสตรี ทรงปฏิบัติหน้าที่ของพระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระราชมารดาในพระราชโอรส พระราชธิดาอย่างสมบูรณ์ ไม่บกพร่องตลอดพระชนม์ชีพสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี

สมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี เป็นพระธิดาในสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่น มาตยาพิทักษ์ (พระองค์เจ้าศิริวงศ์ ต้นราชสกุล ศิริวงศ์ ณ อยุธยา) พระชนนีน้อยเป็นพระมารดา พระราชสมภพเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๘ อุตราสาฒ ปีมะเมีย จ.ศ. ๑๑๙๖ ตรงกับวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๘๘ ทรงเป็นกำพร้าทั้งพระชนกและพระชนนีตั้งแต่พระชนมายุเพียง ๔ ปี ๑๑ เดือน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระอัยกาธิราช (ปู่)จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงละม่อม ในรัชกาลที่ ๓ ซึ่งทรงเป็นพระปิตุจฉา (อา) รับพระองค์เข้ามาอภิบาล ณ พระตำหนักตึก ซึ่งเป็นพระตำหนักเดิมของสมเด็จพระศรีสุลาลัย ในพระบรมมหาราชวัง ขณะนั้นยังไม่มีพระนามเป็นทางการ เนื่องจากตามโบราณราชประเพณี เจ้านายในราชสกุลจะทรงเรียกพระนามเล่นๆ กันไปก่อน เมื่อเจริญพระชันษาใกล้จะโสกันต์หรือเกศากันต์ จึงจะพระราชทาน หรือประทานพระนามจริงให้ สมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี จะมีพระนามที่พระชนก พระชนนี ทรงเรียกขานอย่างไรนั้น ไม่ปรากฏหลักฐาน ปรากฏว่าเมื่อเสด็จเข้ามาประทับในพระ อภิบาลของเสด็จอาแล้ว ได้เสด็จขึ้นเฝ้าสมเด็จพระบรมอัยกาธิราชเป็นนิจ และได้ทรงรับการฝึกสอนให้ทรงรู้จักวิธีถวายอยู่งานพัด ทรงปฏิบัติได้อย่างดีถูกแบบแผนเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระบรมอัยกาธิราช อย่างยิ่ง จนถึงกับพระราชทานพระนามว่า “หม่อมเจ้าหญิงรำเพย” อันหมายถึงการพัด อย่างโชยๆ

เมื่อเจริญพระชนมายุขึ้น ได้ทรงศึกษาทั้งอักขรวิธี ราชประเพณี และวิชาการต่างๆ อันเป็นคุณสมบัติของเจ้านายฝ่ายใน ในพระบรมมหาราชวัง โดยย้ายไปประทับชั่วคราว ณ พระตำหนักต้นจำปี กับพระเจ้าอัยยิกาเธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา เมื่อยังดำรงพระยศเป็นพระองค์เจ้าหญิงบุตรี หลังจากนั้นได้เสด็จกลับมาประทับ ณ พระตำหนักตึก ของสมเด็จพระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร ดังเดิม

ในรัชกาลที่ ๔ หม่อมเจ้าหญิงรำเพยได้รับราชการเป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นถึง พ.ศ. ๒๓๙๕ สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี ซึ่งเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานสมมตยาภิเษก หม่อมเจ้าหญิงรำเพยขึ้นเป็น พระราชเทวีมีพระนามว่า “พระนางเธอ พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์” หมายถึง บุปผาอันเป็นที่ยินดี และเป็นที่พักพิงของหมู่ภมร และหลังจากสถาปนาพระราชเทวีพระองค์นี้แล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงสถาปนาเจ้านายพระองค์ใดขึ้นเป็นพระมเหสีอีกไม่ว่าตำแหน่งใด นับได้ว่าทรงเป็น “สมเด็จพระอัครมเหสี” ในรัชกาลนี้ จนแม้เสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มิได้ทรงสถาปนาผู้ใดดำรงตำแหน่งพระมเหสีอีก

ระหว่างทรงดำรงตำแหน่งพระราชเทวีในรัชกาลที่ ๔ นั้น ได้สนองพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จ พระบรมราชสวามีอย่างใกล้ชิด เป็นที่สนิทเสน่หายิ่ง สมเด็จพระบรมราชสวามีประทับที่ใดก็โปรดให้พระองค์
ประทับร่วมพระราชมณเฑียรสถานนั้นทุกแห่ง คือ เมื่อประทับ ณ พระที่นั่งในหมู่พระมหามณเฑียร ก็โปรดให้สมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี ประทับ ณ ห้องพระเฉลียงพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ต่อมาเมื่อทรงสร้างที่ประทับใกล้พระตำหนักตึก เรียกว่า “พระตำหนักหอ” เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี ก็โปรดให้สร้างพระที่นั่งสีตลาภิรมย์อีกองค์หนึ่งเป็นที่ประทับในบริเวณใกล้กัน และเมื่อทรงสร้างพระอภิเนาวนิเวศน์เป็นพระราชมณเฑียรใหม่ทางกำแพงพระบรมมหาราชวังด้านตะวันออกก็เสด็จทรงย้ายไปประทับ ณ พระที่นั่งจันทรทิพโยภาศ ในหมู่พระราชมณเฑียรนั้นด้วยกัน แต่เมื่อทรงพระประชวร สมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี ได้แยกไปประทับ ณ พระตำหนักหอ จนกระทั่งสวรรคตลง ณ พระตำหนักนั้น

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยกย่องสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี แม้แต่การเรียกขานพระนามทั้งต่อหน้าและลับหลัง ตรัสเรียก “รำเพย” บ้าง “แม่รำเพย” บ้าง และ “แม่เพย” บ้าง ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าจอมมารดาผึ้ง เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินโดยชลมารคไป พระราชทานผ้าพระกฐิน ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในพุทธศักราช ๒๓๙๘ ดังนี้

“…ลูกเมียและคนทั้งปวงที่มาด้วยก็สบายอยู่หมดทุกคน ทูลพวะองค์ลม่อม ให้ทราบด้วยว่า ชายฟ้าหญิงฟ้ากับรำเพยก็สบายดี แม่พาลูกทั้งเล็กทั้งใหญ่ไปเที่ยวหลายแห่ง ก็ไม่เจ็บไข้อะไรดอก…”

สมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี มีพระราชโอรสและพระราชธิดารวม ๔ พระองค์ คือ

๑. สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ ต่อมาได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

๒. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงจันทรมณฑล โสภณภควดี ต่อมาทรงได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าต่างกรม มีพระนามกรมว่า กรมหลวงวิสุทธิกระษัตรีย์

๓. สมเด็จเจ้าฟ้าชายจาตุรนตรัศมี ทรงได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าต่างกรม มีพระนามกรมว่า กรมพระจักรพรรดิพงศ์ ต้นราชสกุลจักรพันธุ์

๔. สมเด็จเจ้าฟ้าชายภาณุรังษีสว่างวงศ์ ต่อมาในรัชกาลที่ ๗ ทรงได้รับสถาปนาเป็นจอมพล สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงศักดินา ๑๐๐,๐๐๐ เสมอ สมเด็จพระบวรราชเจ้าแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงเป็นต้นราชสกุลภาณุพันธุ์

สมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี มีพระพลานามัยไม่ค่อยแข็งแรง ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๙๙ เมื่อประสูติสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ พระราชโอรสองศ์ที่ ๔ ใน พ.ศ. ๒๔๐๔ แล้วจึงปรากฏอาการประชวรให้เห็นชัด ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๐๓ ถึงพระองค์เจ้าปัทมราชว่า

“กระหม่อมฉันกับทั้งญาติพี่น้องบุตรภรรยาอยู่ดีเป็นศุขสบายอยู่หมด แต่แม่เพย ตั้งแต่คลอดบุตรชายภาณุรังษีสว่างวงศ์มาแล้ว ป่วยให้ไอแลซูบผอมมากไป กลัวจะตั้งวรรณโรคภายใน…”

พระราชหัตถเลขาถึงพระองค์เจ้าปัทมราช อีกฉบับหนึ่งในปีเดียวกัน ไม่ปรากฏวันที่ ทรงเล่าพระอาการว่า

“…แม่เพยป่วยอาการก็คงอยู่อย่างเดิม จะปรากฏชัดว่าคลายขึ้นแท้ก็หาไม่ ยังไอเสียงแห้งอยู่เสมอ บัดนี้เจ้าอธิการวัดบางกะสอมารักษาให้ยาอยู่ และรับจะรักษาให้หาย กระหม่อมฉันว่าตามจริงว่าโรคนี้ลึกซึ้ง จะแก้ไขให้คลายเป็นอันยาก…”

สมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี ประชวรติดต่อกันมาเป็นเวลานาน ประจวบกับการสิ้นพระชนม์ของพระองค์เจ้ามงคลเลิศ ซึ่งเป็นพระเชษฐาพระองค์เดียวของพระองค์ ทำให้เสียพระทัยอย่างยิ่ง อาการ ประชวรทรุดลง มีไข้แทรกเนืองๆ แม้กระนั้น เมื่อพระอาการคลายลงก็ทรงดูแลพระราชโอรสพระราชธิดาตามโอกาส พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีถึงพระองค์เจ้าปัทมราช เมื่อ วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๔ เล่าพระอาการอย่างละเอียดว่า

“…ครั้นวันพฤหัสบดี ขึ้นหนึ่งค่ำ เดือนสิบ เวลาเช้า แม่เพยไออาเจียรเป็นโลหิตออกมามาก ออกทางจมูกออกทางปาก ได้ตัวสัตว์ออกมากับทั้งโลหิตตัวหนึ่ง มีอาการคล้ายตัวหนอนเล็ก หางเป็นสามแฉก แต่หมอยังแก้ไขก็ค่อยคลายมา โลหิตออกบ้างเล็กน้อยจางไปแล้ว ครั้น ณ วันอาทิตย์ ขึ้นสี่คํ่า เดือนสิบ เวลากลางคืน เธอว่าค่อยสบายไอ ห่างไปนอนหลับได้มาก ตั้งแต่สามยามไปจนสามโมงเช้า ครั้น ณ วันจันทร์ ขึ้นห้าค่ำ เดือนสิบ ตื่นขึ้นอีกเวลาสามโมงเช้ารับประทานอาหารได้ถ้วยฝาขนาดใหญ่ แล้วนั่งเล่นกับบุตรคนเล็ก ไอเป็นโลหิตออกมา แล้วก็เกิดเป็นโลหิตพลุ่งพล่านมากเป็นที่สุด ออกทั้งทางจมูกทางปากหลายถ้วยแก้วกระบอก ไม่มีขณะหายใจพอโลหิตมากแล้วชีพจรทั้งตัวก็หยุด ทีเดียว ไม่ฟื้นเลย ได้รับประทานจัดการไว้ศพในโกษฐ์ ตั้งไว้ที่ตึกต้นสน แต่ตกแต่งตึกเสียใหม่ให้งามดี เพดาน ประตู บานน่าต่าง ปิดลายเงิน ฝาผนังปิดกระดาษลายแลตกแต่งสิ่งอื่นมากพอสมควร ครั้นจะยกขึ้นไปไว้บนพระมหาปราสาท เห็นว่าจะกีดขวางการพระราชพิธีไม่พอที่ แต่เท่านั้นก็ดีอยู่แล้ว ศพจะเอาไว้นานต่อเดือนสี่ เดือนห้า จึ่งจะได้เผา เดี๋ยวนี้ก็รับประทานทำบุญต่างๆ มีเทศนาแลบังสกุลอยู่เนืองๆ เมื่อวันพุธ แรมสิบสามค่ำ เดือนสิบ เจ้านายแลคุณหม่อมต่างวังมาถือนํ้า แล้วแวะไปเยี่ยมศพ ได้นิมนต์พระบังสกุล คนละเล็กละน้อย เป็นพระสงฆ์ถึงหมื่นเศษ เจ้านายแลข้าราชการในกรุงแลหัวเมือง แลเจ้าภาษี นายอากร ก็นำผ้าขาวแลสิ่งของ และเงินสลึง เงินเฟืองมาช่วยในการศพก็เป็นอันมาก ที่ให้เป็นอนุเคราะห์แก่ชายจุฬาลงกรณ์ หญิงจันทรมณฑล ชายจาตุรนตรัศมี ชายภาณุรังษีสว่างวงศ์ บุตรแม่เพยทั้งสี่ก็มีบ้าง กระหม่อมฉันคิดขอบบุญขอบคุณท่านทั้งปวงครั้งนี้นั้นนักหนา แม่เพยตายลงครั้งนี้ เมื่อดูอาการก็ควรตายอยู่แล้ว ด้วยป่วยโรคนี้ มาตั้งแต่เสาะแสะมาถึงห้าปี ตั้งแต่ปีมะเส็งมา รักษาก็หลายหมอหลายยาแล้วไม่หาย จึงเห็นว่าถึงคราวที่จะสิ้นอายุตายอยู่แล้ว อายุนับเท่ากรมหมื่นมาตยาพิทักษ์บิดานั้น เหมือนกับชายมงคลเลิศซึ่งเป็นพี่ชาย ว่าโดยละเอียดไปกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์มีอายุนับวันตั้งแต่เกิดจนวันตายได้ ๙๖๓๖ วัน ชายมงคลเลิศนับอายุตั้งแต่วันเกิดจนวันตายได้ ๙๙๐๓ วัน แม่เพยนับอายุตั้งแต่วันเกิดจนวันตายได้ ๙๙๒๓ วัน มากกว่ากรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ๒๘๔ วัน มากกว่าชายมงคลเลิศ ๒๐ วัน…”

พระราชหัตถเลขาอีกฉบับหนึ่ง ลงวันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๐๔ ถึงคณะทูตซึ่งเดินทางไปประเทศฝรั่งเศส ประกอบด้วย พระยาศรีพิพัฒน์ ราชทูต เจ้าหมื่นไวยวรนารถ อุปทูต และพระณรงค์วิชิตตรีทูต เล่าถึงอาการประชวรและสวรรคตของสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี มีข้อความแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย ดังนี้

“จดหมายมายัง พระยาศรีพิพัฒนราชทูต เจ้าหมื่นไวยวรนารถอุปทูต พระณรงค์วิชิต ให้ทราบอาการแม่เพอย ด้วยมีความเสียใจที่พระองค์เจ้ามงคลเลิศถึงชีพตักษัยนั้น ดูเป็นอันทรุดไป จับไข้เนืองๆ ติดกันไปหลายวันจึงสงบไปบ้าง แต่ก็ไม่สู้กระไรนักดอก เมื่อพ้นเวลาจับแล้วก็ลุกนั่ง เดินไปเดินมาได้อยู่ เป็นแต่ให้หาหมอมาเปลี่ยนตัวหมอไปบ้าง เปลี่ยนยาไปบ้าง ครั้นเห็นว่าไม่ชอบโรคแล้วก็เปลี่ยนต่อไป ครั้นมาเมื่อวัน ๕ ๑ ฯ ๑๐ ค่ำ เวลา ๔ โมงเช้า กินข้าวแล้วไอเป็นโลหิตออกมา ออกทางปากด้วยทางจมูกด้วย มากกว่าเป็นครั้งก่อน หมอได้แก้ไขอาการก็สงบ แต่โลหิตยังออกอยู่ทุกคราวไอเล็กๆ น้อย เมื่อโลหิตออกอยู่อาการจับไข้ก็หาเป็นไม่ เมื่อไอคราวแรกโลหิตออกมานั้น มีตัวสัตว์ออกมากับโลหิตตัวหนึ่งเป็นสัตว์ประหลาดไม่เคยเห็น ตัวเป็นปล้องๆ คล้ายหนอน มีหางเป็นแฉกปากก็เป็นง่าม ครั้นมาเมื่อวัน ๑ ๔ ฯ ๑๐ ค่ำ ไอโลหิตก็จางเป็นสีเหลืองๆ อาการที่ครั่นที่จับมีมา ครั้นเวลากลางคืนดึกก็กลับสบายไปไอห่างๆ นอนหลับสนิทแต่เวลา ๑๐ ทุ่มมาจนสามโมงเช้าตื่นขึ้น บอกว่าอาการวันนั้นสบายกว่าทุกวัน เรียกเอาอาหารมากิน กินข้าวได้ค่อนถ้วยฝาขนาดใหญ่ บอกว่าสบาย เรียกเอาลูกคนแรกมาป้อนขนมด้วง นั่งเล่นอยู่ด้วย ครั้นเวลา ๔ โมงเช้ามีเศษก็ไอขึ้นมา มีโลหิตออกอาการกำเริบมาก จึงให้พาลูกไปเสียกลัวจะเห็นโลหิต แล้วให้เรียกหมอมาแก้ หมอเข้ามาจะวางยาก็ร้องบอกว่า โลหิตแดกดันแน่นหน้าอก และลำคอยิ่งนัก จะจิบยากลืนไม่ได้แล้ว พอว่าเท่านั้นก็ทะลึ่งโลหิตพลุ่งออกทางปากทางจมูกไม่หยุด เป็นโลหิตค่นประมาณสองถ้วยกระบอก พอโลหิตสงบชีวิตก็ดับทีเดียว ชีพจรไม่เดินเลย จักษุสองข้างก็หลับสนิทเอง เหมือนคนนอนหลับไม่ต้องเอามือช่วยให้หลับอย่างคนตายตามธรรมเนียม ปากก็เผยออยู่หน่อยหนึ่งไม่ปรากฏเป็นอ้า แต่โลหิตนั้นยังเดินทางปากเสมออยู่น้อยๆ ไม่หยุด เมื่อสิ้นแล้วโลหิตนั้นก็ดำไป เมื่อเวลาเป็นขึ้นมานั้นข้าพเจ้ากับชายใหญ่ปฏิบัติพระสงฆ์อยู่ที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ท้าววรจันทร์วิ่งมาบอกข้าพเจ้าก็ไป เมื่อข้าพเจ้าไปถึงนั้นหมอก็ยังนวดแก้กันอยู่ ข้าพเจ้าไปจับชีพจรดูเห็นว่าหยุดสนิทแล้วจึงได้เลิก แก้กัน ศพก็ได้อาบนํ้าเข้าโกศในวันนั้น ข้าพเจ้าให้ยกไปตั้งไว้ที่ตึกริมกำแพงด้านตะวันตก พระมหาปราสาท ซึ่งทำไว้เป็นที่ไว้ศพเจ้านาย เป็นแต่ตกแต่งให้ดีขึ้นกว่าแต่เดิม ครั้นจะเอาขึ้นไว้บนพระมหาปราสาทที่นั้นก็จะทำพิธีตรุษสารท และจะโกนจุกยิ่งเยาวลักษณ์ในปีนี้ ก็จะกีดขวางไป ไหนๆ ก็ตายแล้วคิดไว้ว่าการศพจะทำต่อถึงกาลฤดูแล้ง เมรุเดียวกันกับกรมหลวงมหิศวรินทรามเรศวร

แม่เพอยนี้ ถึงในกรุงเทพฯ ท่านทั้งปวงรู้ว่าเป็นแต่เจ้าเล็กนายน้อยก็ดี ในเมืองที่มาทำสัญญาไมตรี และลูกค้าพาณิชต่างประเทศเป็นอันมาก เขานับถือว่าเป็นคนโต คนใหญ่ ตั้งแต่วันสิ้นชีวิตลงแล้ว กงสุลต่างประเทศบรรดาที่มีธง เขาก็ลดธงครึ่งเสาให้สามวัน เรือกำปั่นที่ทอดอยู่ในแม่นํ้าทุกลำ กงสุลก็ป่าวร้องให้ลดธงและไขว้เชือกสำแดงความให้รู้ว่าเศร้าโศกสามวัน

ก็หนังสือนี้จะมาถึงท่านทั้งปวงเมื่อใดที่ตำบลใดก็ยังไม่ทราบ ถ้าได้หนังสือนี้ที่เรือ หรือที่บก ควรจะยกธงกึ่งเสาเป็นคำนับสามวันหรือเจ็ดวันอย่างไร ก็จงคิดเป็นเกียรติยศแก่ข้าพเจ้าด้วย หรืออย่างหนึ่งเมื่อข่าวว่ามารดากวีนวิกตอเรียสิ้นชีพแล้วเข้ามาถึงกรุงเทพฯ พวกกงสุลอังกฤษเขายกธงกึ่งเสาสิบสี่วัน แล้วเขาแต่งเครื่องดำด้วยสิบสี่วัน แต่รายนี้จะ ทำแต่สามวันหรือเจ็ดวันก็ควรอยู่แล้ว พวกทูตถ้ามีเครื่องดำแต่ง จะแต่งเครื่องดำด้วยก็ตาม พอให้เป็นเกียรติยศ แต่ถ้าจะสำแดงการอย่างนี้จงประกาศการให้ปรากฏก่อน อย่าให้กิตติศัพท์ลือผิด กลายเป็นตัวข้าพเจ้าเองไปได้.. ”

สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี สวรรคตเมื่อวันจันทร์ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีระกา ตรีศก จ.ศ. ๑๒๒๓ ตรงกับวันที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๐๔ พระชนมายุ ๒๘ พรรษา เชิญพระศพเข้าสถิตในพระโกศทองใหญ่ประดิษฐาน ณ หอธรรมสังเวช ริมกำแพงด้านตะวันตกของพระบรมมหาราชวัง เนื่องจากใกล้จะถึงกำหนดพระราชพิธีตรุษ และจะได้จัดพระราชพิธีโสกันต์พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ อรรคราชสุดา ในเวลาต่อไป จึงมิได้ประดิษฐานพระศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แต่ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตกแต่งหอธรรมสังเวชใหม่ให้งดงามสมควรแก่พระราชอิสริยยศ ระหว่างประดิษฐานพระศพในพระบรมมหาราชวังนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บำเพ็ญพระราชกุศลพระศพตามราชประเพณี จนกระทั่งถึงเวลาออกพระเมรุในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๐๕

งานพระเมรุของสมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินีนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มิได้โปรดให้จัดเป็นงานยิ่งใหญ่เช่นพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑ – ๓ แต่จัดในฐานะเป็นสมเด็จพระบรมราชินี โดยถือว่าพระองค์ซึ่งเป็นพระราชสวามีเป็นเจ้าภาพเพียงพระองค์เดียว จึงไม่มีพลับพลาที่ประทับสำหรับพระบวรราชวัง และฝ่ายพระบวรราชวังไม่ต้องจัดงานต่างๆ สมทบดังที่เรียกว่า สองสนาม เช่นงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อย่างไรก็ตาม งานพระศพครั้งนี้ก็ได้จัดเป็นงานใหญ่อย่างสมพระเกียรติ พระเมรุท้องสนามหลวงมีลักษณะยกพื้นสูง ทำเป็นภูเขาประกอบรอบเชิงพระเมรุ ส่วนที่เป็นสามสร้างแปลงเป็นศาลาราย มีพระที่นั่งทรงธรรมอยู่ด้านหนึ่งติดแท่นสามสร้าง สิ่งของเครื่องประดับ ผ้าดาดหลังคา ในบริเวณพระเมรุใช้ผ้าดำล้วน และโปรดให้มีพระราชาคณะตั้งประโคมประกวดประชันกัน มีบรรพชิตญวนสวดกงเต๊กทั้งกลางวันกลางคืน เป็นการเพิ่มเติมจากธรรมเนียมที่เคยจัดมา งานพระเมรุ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๐ – ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๐๔ รวมเป็นเวลา ๑๒ วัน ดังนี้

วันที่ ๑๐ เมษายน เวลา ๑๔.๐๐ น. อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ พระบรมอัฐิ แห่ออกจากพระบรมมหาราชวังทางประตูวิเศษไชยศรี เลี้ยวไปทางป้อมเผด็จดัสกร เข้าสู่พระเมรุท้องสนามหลวงทางประตูทิศตะวันออก กลางคืนมีงานสมโภช

วันที่ ๑๑ เมษายน มีการถวายไทยทานแก่พระสงฆ์ มีพระธรรมเทศนาและงานสมโภช เวลาบ่ายทรงโปรยทาน กลางคืนมีหนังและจุดดอกไม้เพลิง

วันที่ ๑๒ เมษายน พระสงฆ์รับพระราชทานฉันภัตตาหารเช้า แล้วแห่พระบรมสารีริกธาตุและพระบรมอัฐิกลับ

วันที่ ๑๓ – ๑๔ เมษายน ตรงกับวันสงกรานต์งดการพิธี ณ พระเมรุท้องสนามหลวง

วันที่ ๑๕ เมษายน เวลาเช้า เชิญพระศพออกทางประตูศรีสุนทรทวาร แห่ไปทางท้ายสนม เข้าขบวนใหญ่ที่หอกลอง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะนั้นพระชนมพรรษาได้ ๙ พรรษา) ทรงรถพระภูษาโยง สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี (สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระจักรพรรดิพงศ์ พระชนมายุ ๖ พรรษา) ทรงพระยานุมาศทรงโปรยข้าวตอก ให้ทรงฉลองพระบาทอย่างงานพระราชพิธีโสกันต์ แห่พระศพไปยังพระเมรุท้องสนามหลวง มีการบำเพ็ญพระราชกุศลและงานสมโภช ๔ วัน ๔ คืน

วันที่ ๑๘ เมษายน เวลาบ่ายพระราชทานเพลิงศพ

วันที่ ๑๙ เมษายน เก็บพระอัฐิ ลอยพระอังคาร แล้วแห่พระบรมอัฐิและพระอํฐิในสมเด็จพระวรวงศ์เธอ ออกสู่พระเมรุท้องสนามหลวง มีงานสมโภชพร้อมกับพระอะฐิสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ๒ วัน

วันที่ ๒๑ เมษายน เชิญพระบรมอัฐิ และพระอัฐิแห่กลับคืนสู่พระบรมมหาราชวัง

ใน พ.ศ. ๒๔๑๑ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศสถาปนาเฉลิมพระนามพระอัฐิ สนองพระเดชพระคุณในฐานะสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็น “กรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์” ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ยกเลิกพระยศขั้น “กรมสมเด็จพระ” เปลี่ยนเฉลิมพระนามเป็น “สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี”

นอกจากสถาปนาเฉลิมพระนามพระอัฐิแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอารามเพื่ออุทิศพระราชกุศล และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีขึ้น โดยพระราชทานนามว่า “วัดเทพศิรินทราวาส” ตามพระนามสมเด็จพระบรมราชชนนี การก่อสร้างพระอารามแห่งนี้ สันนิษฐานว่าเริ่มสร้างประมาณ พ.ศ. ๒๔๑๙ มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนเจริญผลพูลสวัสดิ์ เป็นแม่กองอำนวยการสร้าง พระศิริสมบัติ (กร) และพระวิจิตรรจนา เป็นนายด้าน ปัจจุบันมีฐานะเป็นพระอารามหลวงฝ่ายธรรมยุต ชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ในแขวงยศเส เขต ป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปฉลองพระองค์สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เป็นพระพุทธรูปยืนทรงเครื่องปางห้ามสมุทร สูง ๑.๗๓ เมตร ฐานสูง ๔๔ เซนติเมตร

สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เป็นสมเด็จพระบรมราชินีของไทยที่สวรรคตตั้งแต่พระชนมายุยังน้อย ทรงรับราชการในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพียง ๑๐ ปี อย่างไรก็ตาม พระราชโอรสทุกพระองค์ ได้ทรงบำเพ็ญคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ และอาณาประชาราษฎร์อเนกประการ โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระมหากรุณาธิคุณตรึงตราอยู่ในความสำนึกของปวงชนชาวไทยอยู่ตลอดมา

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: ฉวีงาม มาเจริญ