พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ

Socail Like & Share

เป็นเจ้านายฝ่ายในที่เลื่องลือกันว่ามีความงามเป็นเลิศ และมีพระเมตตาอุปถัมภ์เหล่าศิลปินทั้งหญิงชายให้ได้สร้างสรรค์งาน โดยเฉพาะกวีนิพนธ์ที่มีคุณค่ายิ่ง พระองศ์เป็นพระราชธิดาลำดับที่ ๓ ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ครั้งยังไม่ได้ขึ้นครองราชย์ ยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาบาง เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๕๔ พระราชทานพระนามว่า พระองค์เจ้าหญิงวิลาส มีพระอนุชาร่วมพระชนนีคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ

หลักฐานเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องในพระประวัติพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พบไม่มากนัก สันนิษฐานว่าทรงได้รับการศึกษาตามขนบประเพณีเฉกเช่นเดียวกับเจ้านายสตรีในสมัยโบราณ เมื่อ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระองค์เจ้าหญิงวิลาส เป็นกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๑ (ต่อมาภายหลัง พระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการให้เรียกคำนำพระนามว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ) มีความปรากฏในจดหมายเหตุเรื่องทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์กรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑ ว่า

“ถึงปีจอ พ.ศ. ๒๓๘๑ ทรงตั้งกรมพระเจ้าลูกเธอเป็นครั้งแรก ๒ พระองค์ คือ ทรงสถาปนาพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงวิลาสเป็นกรมหมื่นอับสรสุดาเทพ พระองค์ ๑ พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าสิริวงศ์ เป็นกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ พระองค์ ๑ มีจดหมายเหตุ อาลักษณปรากฏอยู่ดังนี้

ตั้งกรมคราวปีจอสัมฤทธิศก ๑๒๐๐

วัน ๗ ฯ ๙ จุลศักราช ๑๒๐๐ ปีจอสัมฤทธิศก (ตรงกับวันอาทิตย์ ที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๘๑) เสด็จออก ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งพระอาลักษณ์ให้ตั้งกรมพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิลาส

ณ วัน ๔ ๑๐ ฯ ๙ ค่ำ (ตรงกับวันพุธที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๓๘๑) เพลาเช้า ๓ โมง ได้พระฤกษจาฤกพระนามว่าพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิลาส เป็นกรมหมื่นอับสรสุดาเทพ พระองค์เจ้าสิริวงศ เป็นกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ นาคนาม ศรีสวัสดิทฤฆายุสบ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม”

และในพระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว ทรงบรรยายถึงกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพว่า

“…พระองค์เจ้าวิลาส เป็นพระปิยราชธิดา ภายหลังมาพระราชทานอิสริยยศ เป็นกรมหมื่นอับศรสุดาเทพ ได้ทรงรับราชการ เป็นพนักงานพระสุคนธ์ ต่อพระองค์เจ้าวงศ ซึ่งได้ทรงทำมาแต่ก่อน และเป็นผู้กำกับแจกเบี้ยหวัดฝ่ายใน…”

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ เป็นพระราชธิดาที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดปรานและสนิทเสน่หาเป็นที่ยิ่ง ดังจะเห็นได้จากการสถาปนาวัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติและพระราชทานให้เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๙ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นภูมินทร์ภักดี (พระองค์เจ้าชายลดาวัลย์) กำกับการก่อสร้างวัดบ้านพระยาไกรสวนหลวง สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๒ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพทรงมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทรงบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์ร่วมในการก่อสร้างวัดด้วย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาทรงผูกพัทธสีมาด้วยพระองค์เอง และพระราชทานนามให้ว่าวัดเทพธิดาราม อันเป็นนามที่มีความหมายถึงพระราชธิดาพระองค์นี้

ลักษณะสถาปัตยกรรมภายในวัดแสดงลักษณะเฉพาะอันเป็นพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวคือ หน้าบันพระอุโบสถ พระวิหาร และพระปรางค์ ล้วนประดับด้วยเบี้ยแก้และ กระเบื้องจีน สุนทรภู่ได้บรรยายสภาพวัดไว้ในรำพันพิลาปว่า

“พระปรางค์มีสี่ทิศพิสดาร โบสถ์วิหารการเปรียญล้วนเขียนทอง
ที่หน้าบันปั้นอย่างเมืองกวางตุ้ง ดูเรืองรุ่งรูปนกผกผยอง
กระเบื้องเคลือบเหลือบสลับเหลี่ยมรับรอง ศาลาสองหน้ารอบขอบกำแพง
สิงโตจีนตีนตัวน่ากลัวกลอก ขยับขยอกแยกเขี้ยวเสียวแสยง”

ส่วนประกอบภายในวัดหลายอย่างแสดงถึงความสัมพันธ์อันสืบเนื่องกับกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพได้แก่ พระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถ เป็นศิลาสลักสีขาวบริสุทธิ์ ขนาดหน้าตักกว้าง ๑๔ นิ้ว สูง ๒๐ นิ้ว ไม่ทราบประวัติที่มา แต่มีความงามอ่อนช้อยมาก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้อัญเชิญจากพระบรมมหาราชวังไปประดิษฐานที่วัดเทพธิดาราม เรียกกันเป็นสามัญว่า หลวงพ่อขาว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน พระราชทานนามให้ว่า พระพุทธเทววิลาส ตามพระนามเดิมของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ในพระวิหาร นอกจากพระประธานยังมีรูปหมู่พระอริยสาวิกา ซึ่งได้รับเอตทัคคะในฝ่ายภิกษุณีบริษัท หล่อด้วยดีบุก รวม ๕๒ องค์ เครื่องประดับพระอาราม เช่น ตุ๊กตาศิลาสลักของจีนมีทั้งที่เป็นรูปสัตว์และคน มีตุ๊กตารูปคนที่ทำเป็นพิเศษคือ ตุ๊กตาสตรีแต่งกายแบบชาววังนั่งพับเพียบเท้าแขน บางรูปเป็นตุ๊กตาสตรีอุ้มลูก ลักษณะพิเศษเหล่านี้น่าจะเป็นเครื่องแสดงถึงความตั้งใจว่าเป็นพระอารามที่มีเจ้านายสตรีเป็นผู้อุปถัมภ์

กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพเป็นเจ้านายที่มีผู้เคารพนับถือ และมาพึ่งพระบารมีอยู่เป็นอันมาก พระตำหนักของพระองค์ที่เรียกกันว่าพระตำหนักใหญ่ เป็นที่รวมศิลปิน และกวีร่วมยุคสมัย ได้แก่ คุณสุวรรณ และในจำนวนนั้นก็มีกวีฝีปากเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ คือ สุนทรภู่ รวมอยู่ด้วย เมื่อสิ้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สุนทรภู่มีชีวิตค่อนข้างลำบากยากแค้น ต้องออกจากราชการ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงโปรดปราน หาเจ้านายอุปถัมภ์ยาก ต้องไปบวชเป็นพระ ในที่สุดได้มาอยู่ในพระอุปถัมภ์ของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ที่วัดเทพธิดาราม เป็นเวลา ๓ ปี ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๘๓ – ๒๓๘๕ สาเหตุที่กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพรับสุนทรภู่ไว้ในพระอุปถัมภ์ เนื่องจากเคยได้ทรงหนังสือเรื่องพระอภัยมณี ซึ่งสุนทรภู่แต่งเมื่อครั้งอยู่ในพระอุปถัมภ์ของพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ ซึ่งเป็นพระอนุชาร่วมพระมารดา และแต่งค้างไว้ถึงเล่มที่ ๔๙ เมื่อพระองค์เจ้าลักขณานุคุณสิ้นพระชนม์ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพมีรับสั่งให้สุนทรภู่แต่งถวายให้ทรงเดือนละเล่มสมุดไทย เริ่มตั้งแต่เล่มสมุดไทยที่ ๕๐ จนจบที่เล่ม ๙๔ สุนทรภู่ได้แต่งเรื่อง สิงหไตรภพ ถวายอีกเรื่องหนึ่ง นอกจากนี้ ระหว่างที่จำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม สุนทรภู่ได้แต่งหนังสือเรื่อง กาพย์พระไชยสุริยา โคลงนิราศเมืองสุพรรณ และรำพันพิลาป อันมีคุณค่าสูงในทางวรรณคดี สุนทรภู่ได้แต่งกวีนิพนธ์บรรยายถึงพระเมตตาและพระอุปถัมภ์ของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพไว้หลายตอนในรำพันพิลาป ดังนี้

“อยู่วัดเทพธิดาด้วยบารมี ได้ผ้าปีปัจจัยไทยทาน”
“เข้าวัสสามาทั่วทุกตัวคน ถวายต้นไม้กระถางต่างต่างกัน”
“แล้วเราได้ไตรดีแพรสีแสด สบงแปดคืบจัดเป็นสัตตขันธ์”
“ออกวัสสาผ้าสบงกระทงเข้า พระองค์เจ้าจบพระหัตถ์วัดถวาย”

นอกจากพระอัธยาศัยส่วนพระองค์ที่มีพระเมตตา และจัดการงานถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยให้ดูแลฝ่ายในแล้ว ยังเป็นที่กล่าวขานกันถึงพระสิริโฉมอันงดงามปานเทพธิดา ดังจะเห็นได้จากบทพรรณนาของสุนทรภู่ในรำพันพิลาปที่ว่า

“ที่เอกองค์ทรงศรีฉวีวรรณ ดังดวงจันทร์แจ่มฟ้าไม่ราคี
ทั้งคมขำล้ำนางสำอางสะอาด โอษฐเหมือนชาดจิ้มเจิมเฉลิมศรี

ใส่เครื่องทรงมงกุฎดังบุตรี แก้วมณีเนาวรัตน์จำรัสเรือง
รูปจริตพิศไหนวิไลเลิศ เหมือนหุ่นเชิดโฉมแช่มแฉล้มเหลือง
พอแลสบหลบชม้ายชายชำเลือง ดูปลดเปลื้องเปล่งปลั่งกำลังโลม
ลำพระกรอ่อนชดประณตน้อม แลละม่อมเหมือนหนึ่งเขียนวิเชียรโฉม
หรือชาวสวรรค์ชั้นฟ้านภาโพยม มาประโลมโลกาให้อาวรณ์
แปลกมนุษย์ผุดผ่องละอองพักตร์ วิไลลักษณ์ลํ้าเลิศประเสริฐสมร”

กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพมีพระชนมายุไม่มากนัก ใน พ.ศ. ๒๓๘๖ เริ่มทรงพระประชวร พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ บันทึกว่า ทรงเป็นตรีสันทฆาฏ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ระดมหมอหลวงถวายการรักษาอย่างใกล้ชิด แต่พระอาการไม่ดีขึ้น ปรากฏรายละเอียดในเพลงยาวเรื่องพระอาการประชวรของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ สันนิษฐานว่าแต่งโดยคุณสุวรรณ ตอนหนึ่งว่า

“เมื่อเดือนสี่ปีเถาะเคราะห์เหลือใจ ละห้อยไห้แสนคะนึงถึงประชวร
เที่ยวบวงสรวงเทวาสุรารักษ์ ทุกสำนักพฤกษ์ไพรไคลหลวง
ให้เคลื่อนคลายหายพระโรคที่โศกทรวง เฝ้าบำบวงสรวงสังเวยเช่นเคยมา

กรมหมอขอเฝ้าเจ้าตำแหน่ง ต้องตกแต่งให้สำนักตำหนักขวาง
ข้างชั้นบนกรมหมอกับขุนนาง พานหมากวางเรียงงามตามทำนอง
ท่านพระยาพิพัฒต้นรับสั่ง เข้าในวังกับหลวงนายได้เป็นสอง
ทั้งเย็นเช้าเข้าประจำตามทำนอง คอยสนองโอษฐรับพระโองการ

ประมาณแต่เดือนสี่มาจนปานนี้ เจริญศรีสวนาสถาวร
ออกพรรษามาจนกฐินบก ยังเรื้อรกด้วยพระโรคโศกสยอน
ข้าพระบาทราษฎร์อาณาประชากร ยังรนร้อนทั่วหน้าทุกนารี

เคยพึ่งพงศ์องค์อิศราเพศ ได้ปกเกศสุขเสริมเฉลิมศรี
ไม่มีใครข่มเหงเกรงบารมี เกษมศรีถ้วนทั่วทุกตัวคน”

กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ประชวรตั้งแต่เดือนสี่ ปีเถาะ เบญจศก พ.ศ. ๒๓๘๘ ประชวรอยู่นานกว่า ๖ เดือน ในที่สุดได้สิ้นพระชนม์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๓๘๘ พระชันษา ๓๕ ปี พระบาท สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโทมนัสเสียพระทัยมาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ว่า

“ครั้นเมื่อประชวรสิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระโสกาลัยเป็นอันมาก โปรดให้ตั้งพระเมรุ ณ ท้องสนามหลวง พระราชทานเพลิงเป็นการใหญ่” พระราชทานเพลิงในวันอาทิตย์ที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๘๘ มีการมหรสพและทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นอันมาก

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: สุทธิพันธ์ ขุทรานนท์