สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี

Socail Like & Share

เป็นพระบรมราชินีใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยพระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๒ แห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ และเป็นพระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนามเดิมว่า บุญรอด ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีกุน จุลศักราช ๑๑๒๙ ตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๓๑๐ กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์เป็นพระมารดา ท่านขรัวเงินเป็นพระบิดา มีพระเชษฐภคินี ๖ พระองค์ คือสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี

๑. เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ พระนามเดิม ตัน เป็นต้นสกุล เทพหัสดิน

๒. เจ้าฟ้าหญิงฉิม ภายหลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาพระอัฐิเป็น เจ้าฟ้ากรมขุนอนัคฆนารี

๓. เจ้าฟ้าชาย สิ้นพระชนม์แต่ยังทรงพระเยาว์

๔. เจ้าฟ้าหญิงบุญรอด ภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเฉลิมพระนามเป็น สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี

๕. เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี พระนามเดิม จุ้ย ต้นสกุล มนตรีกุล

๖. เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ พระนามเดิม เกศ ต้นสกุล อิศรางกูร

สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ประสูติภายหลังจากที่กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าแล้วประมาณ ๕ เดือน เชื้อสายทางพระบิดาเป็นตระกูลจีนเศรษฐีอยู่ในกรุงศรีอยุธยา พระมารดาคือ กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ เป็นพระพี่นางในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ไว้ใน ปฐมวงศ์ ว่า

“กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์นั้น เมื่อครั้งกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยาได้พระภัสดาเป็นบุตรที่ ๔ ของมหาเศรษฐี ซึ่งเป็นผู้สืบเชื้อวงศ์ลงมาแต่มหาเสนาบดีเมืองปกิ่ง แต่ครั้ง แผ่นดินเจ้าปกิ่งเม่งไท้โจ ซึ่งเป็นพระเจ้าปกิ่งที่สุดในวงศ์หมิง ครั้นพระเจ้าปกิ่งเม่งไท้โจเสียเมืองแก่พวกตาดแล้ว ท่านเสนาบดีนั้นกับเสนาบดีอื่นหลายนายไม่ยอมตัดผมมวยไว้หางเปีย ตามพวกตาด จึงได้หนีออกจากแผ่นดินจีน มาอยู่ในแผ่นดินญวนบ้าง แผ่นดินไทยบ้าง สืบสกุลต่อมาเป็นจีนอย่างเก่า ไม่ได้ไว้หางเปียฯ

พระภัสดาในกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์นั้น มีนามว่าเจ้าขรัวเงิน มีพี่หญิงชื่อ ท่านนวล ๑ ท่านเอี้ยง ๑ มีพี่ชายชื่อ เจ้าขรัวทอง ๑ ได้ตั้งนิวาสฐานอยู่ตำบลถนนตาล เป็นพานิชใหญ่ ชาวกรุงเก่าเรียกว่า เศรษฐีถนนตาล…

กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์นั้น เมื่อกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยายังไม่แตกทำลาย ได้มีพระโอรส ๒ พระธิดา ๑…ครั้นเมื่อปีกุน นพศก จุลศักราช ๑๑๒๙ พระพุทธศาสนกาล ๒๓๑๐ พรรษา พวกพม่าข้าศึกเข้ารุกรานทำลายล้างกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยาเสียได้ ชาวพระนครทั้งปวงซึ่งมีครอบครัวสกุลต่างๆ พากันแตกแยกย้ายกระจายกระจัดหนีไป ครั้งนั้นกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ ทรงพระครรภ์อยู่ได้ ๔ เดือนเศษแล้ว พร้อมกันกับพระภัสดากับพระธิดาตามเสด็จสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกออกไปอาศัยอยู่ด้วย ในนิวาสฐานที่เดิมของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ ณ ตำบลอัมพวาพาหิรุทยานประเทศ ครั้นถึงวันกาฬปักษ์ดิถีที่สิบสองนับเบื้องหน้าแต่โปฐบทบุรณมี มีอาทิตยวารเป็นกำหนด จึงได้ประสูติพระธิดาพระองค์หนึ่ง ซึ่งได้นับโดยลำดับว่าเป็นที่ ๔ คือ สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ฯ

ครั้งนั้นเจ้าคุณชีโพ ผู้เป็นพระน้องนางของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ได้รับอุปถัมภ์บำรุงเลี้ยง เป็นเหตุให้สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ได้ทรงนับถือว่าเป็น พระมารดาเลี้ยงมา ครั้นเมื่อแผ่นดินกรุงธนบุรีตั้งขึ้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จเข้ามาปรนนิบัติราชการ กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์กับพระภัสดาและพระ(ฉบับตก) ก็ได้ตามเสด็จเข้ามาตั้งนิวาสฐานบ้านเรือนโรงแพอยู่ที่ตำบลกฎีจีน ที่นั้น บัดนี้เป็นพระวิหารและหอไตรวัดกัลยาณมิตร แพลอยลงในคลองแม่นํ้าใหญ่ตรงวัดโมฬีโลกข้ามไปข้างใต้ฯ”

ในช่วงที่บ้านเมืองระส่ำระสายภายหลังเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. ๒๓๑๐ นั้น เจ้าพระยาสุรินทราชา ผู้เป็นน้องชายเจ้าขรัวเงิน ได้อพยพไปรับราชการกับเจ้าพระยานครศรีธรรมราช เมื่อเจ้าขรัวเงินทราบว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจะไปปราบชุมนุมเจ้าพระยานครศรีธรรมราช มีความวิตกกังวลและห่วงใยพระญาติ จึงพาครอบครัวทั้งหมดลงไปนครศรีธรรมราช เพื่อเตือนสติมิให้ทำราชการกับเจ้าพระยา นครศรีธรรมราช แล้วอพยพกลับมายังกรุงธนบุรี เจ้าขรัวเงินสิ้นพระชนม์ในสมัยธนบุรีนั่นเอง สมภพ จันทรประภา เขียนเล่าไว้ในหนังสือเรื่อง “นรชาติ” ตามที่ได้รับฟังจาก ม.ล. ป้อง มาลากุล ธิดาเจ้าพระยา พระเสด็จสุเรนทราธิบดี ผู้เป็นพระนัดดาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย อันประสูติแต่เจ้าฟ้ากุลฑลทิพยวดี เล่าว่า

“…เครื่องหวานที่ทรงทำเมื่อทรงพระเยาว์นั้นเป็นสินค้าที่ขายดีของพระองค์ ทรงนำใส่เรือเล็กๆ พายเที่ยวขายในคลองบางหลวง เพราะแพที่ประทับของท่านจอดอยู่ที่หน้าวัดหงส์รัตนาราม… ทรงค้าขายอยู่จนพระชนมายุได้ ๑๓ จึงเลิกพายเรือเที่ยวขาย เพราะวันหนึ่งถูกพวกอันธพาลอิทธิพลลองดีชิงเอาเงินที่ขายขนมได้ในพระกระทายไปจนหมด… เมื่อความทรงทราบถึงสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า คือเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ตำแหน่งพระยาอุปราชผู้เป็นน้าชายใหญ่ ก็ตรัสห้าม โดยประทานเหตุผลว่าเริ่มทรงพระเจริญแล้ว…”

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ และทรงสถาปนามหาจักรีบรมราชวงศ์แล้ว ทรงสถาปนาสมเด็จพระพี่นางทั้ง ๒ พระองค์เป็นกรมสมเด็จ พระเทพสุดาวดี และกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ ทรงเฉลิมพระนามพระราชนัดดา ซึ่งเป็นโอรสธิดาในสมเด็จพระพี่นางและพระอนุชาขึ้นเป็นเจ้าฟ้าทั้งสิ้น สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ทรงได้รับสถาปนา เป็นเจ้าฟ้าบุญรอดในคราวนี้ นอกจากนั้น ยังโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระพี่นางทั้ง ๒ พระองค์เข้ามาประทับในพระบรมมหาราชวัง กรมสมเด็จพระเทพสุดาวดี มีพระตำหนักอยู่ข้างหลังพระมหามณเฑียรเรียกว่า พระตำหนักใหญ่ ว่าราชการเป็นใหญ่ทั่วไปแทบทุกอย่าง และว่าการวิเสทในพระคลังเงิน พระคลังทอง และสิ่งของต่างๆ ในพระราชวังชั้นในทั้งสิ้น ส่วนกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ มีพระตำหนักอยู่เบื้องหลังหมู่ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และพระที่นั่งพิมานรัตยา เรียกว่า พระตำหนักแดง ว่าราชการกำกับเครื่องใหญ่ ในโรงวิเสทต้น การสะดึงและอื่นๆ

สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ทรงเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ตั้งแต่ยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร และได้ตามเสด็จไปประทับที่พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในกาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวาน บทหนึ่งว่า

“ทองหยอดทอดสนิท ทองม้วนมิดคิดความหลัง
สองปีสองปิดบัง แต่ลำพังสองต่อสอง”

เวลานั้นกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์สิ้นพระชนม์แล้ว สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ทรงอยู่ในพระอภิบาลของเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ พระเชษฐา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงต้องใช้ ความพยายามมากกว่าจะทรงทำให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และเจ้าฟ้ากรมหลวง เทพหริรักษ์ทรงยอมรับ เพราะเป็นพระญาติสนิทกัน สมภพ จันทรประภา อ้างถึงพระนิพนธ์ในพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ในหนังสือ นรชาติ ว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

“เสด็จเข้ามาเฝ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ทูลขอรับกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์มาไว้พระราชวังเดิม กรมหลวงเทพหริรักษ์รับสั่งว่า ลูกเมียของพ่อฉิมก็มีอยู่มาก เกรงว่านานไปจะเกิดวิวาทกันก็จะต้องร้องไห้ กลับมาหาพี่ จะได้รับความอัปยศแก่คนทั้งหลาย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ จึงทูลปฏิญาณทานบนว่า จะมีให้บุตรแลภริยาทั้งปวงเป็นใหญ่กว่าหรือเหมือนกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์”

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงปฏิบัติตามปฏิญาณนั้นจนตลอดพระชนม์ชีพ ทรงสถาปนาให้สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี เป็นพระอัครชายา ต่อมาภายหลังไม่ว่าจะทรงมีเจ้าจอมหม่อมห้ามอีกเท่าใด หรือจะทรงโปรดปรานเจ้าจอมองค์ใดเป็นพิเศษอย่างไร ก็ไม่ทรงยกย่องให้อยู่ในฐานะที่สูงเกินกว่าสมเด็จพระศรีสุริเยนทรา บรมราชินี เลย

ใน พ.ศ. ๒๓๔๙ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ยังคงประทับที่พระราชวังกรุงธนบุรีตามเดิม

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ได้ตามเสด็จเข้ามาประทับในพระบรมมหาราชวังด้วย โดยประทับที่พระตำหนักแดงตามที่เคย ประทับมาแต่เดิม มีพระราชโอรส ๓ พระองค์ คือ

๑. เจ้าฟ้าชาย สิ้นพระชนม์ในวันประสูติ

๒. เจ้าฟ้ามงกุฎ สมมุติเทวาวงศ์ พงศาอิศวรกระษัตริย์ขัตติยราชกุมาร ต่อมาทรงเถลิงถวัลย์ราช¬สมบัติ เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

๓. เจ้าฟ้าจุฑามณี ต่อมาทรงรับพระราชทานบวรราชาภิเษกเป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องพระคาถาเรื่องพระราชพงศาวดารย่อกรุงรัตนโกสินทร์ มีความที่กล่าวถึงพระราชมารดาว่า

พระเทวีของพระราชานั้นเป็นนางกษัตริย์ เกิดดีแล้วร่วมพระวงษ์กัน เสด็จมาแล้วพร้อมกัน ทรงพระนามว่า สหัส์สินี (พระพันวัสสา) ผู้ยินดีแล้วในบุญ (หมายพระนามเดิม) ดังนี้

พระราชเทวีนั้น ไม่มีพระราชโอรสประสูติแล้ว สิ้นกาลนานเทียว ครั้งเมื่อพระราชบุตรทั้งหลายอื่นเกิดจากครรภ์แม้ของพระสนมทั้งหลาย แม้มีมากแล้ว จึงประสูติพระราชโอรสผู้ประเสริฐสองพระองค์ หมดจดแล้วเทียว เกิดดีแล้วแต่พระราชบิดาและพระราชมารดาทั้งสองฝ่าย ได้แล้วในมัชฌิมวัยในภายหลัง ในพระโอรสผู้ประเสริฐทั้งสองพระองค์นั้น พระราชโอรสผู้ประเสริฐพระองค์ใหญ่ทรงพระนามว่า มกุฎสัมมตวังสราชกุมาร พระราชโอรสผู้ประเสริฐพระองค์น้องของพระราชโอรสผู้ประเสริฐพระองค์ใหญ่นั้น ทรงพระนามว่า อิศเรศรังสฤษดิ์ราชกุมาร

พระปรีชาสามารถอันลํ้าเลิศในสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี คือ การประกอบอาหารคาว หวาน ประจักษ์พยานอันเห็นได้ชัด คือ บทพระราชนิพนธ์กาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวาน ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่ทรงพรรณนาถึงแพระหัตถ์ในการประกอบอาหารเหล่านั้น นอกจากนั้น ยังทรงสามารถในการออกแบบเครื่องถ้วยลายนํ้าทอง ที่ทรงออกแบบเอง นำมาใช้ประกอบในการจัดสำรับอาหาร เครื่องถ้วยที่ทรงออกแบบนี้ได้รับยกย่องว่ามีความงามเป็นเลิศ เครื่องถ้วยที่ใช้ในพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์หรือก่อนหน้านั้น จะสั่งทำจากประเทศจีน การออกแบบและลวดลายต่างๆ จะออกแบบเองแล้วส่งไปให้ช่างจีนทำ หรือเลือกจากแบบที่ช่างจีนได้ออกแบบและทำออกมาแล้ว ช่างไทยเองก็พยายามทำและพัฒนาฝีมืออยู่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ในตำนาน เรื่องเครื่องโต๊ะและถ้วยปั้นว่า

ถึงรัชกาลที่ ๒ ฝีมือช่างเขียนไทย ซึ่งบำรุงมาแต่รัชกาลที่ ๑ เจริญขึ้นมาก แบบอย่างลวดลายพลิกแพลงออกไปจากลายครั้งกรุงเก่ามามีขึ้นแต่เมื่อรัชกาลที่ ๒ อีกประการ ๑ ในรัชกาลที่ ๒ มีเวลาว่างการทัพศึกมาก ความนิยมเล่นของดีมีฝีมือช่างจึงเกิดขึ้นในรัชกาลนั้นหลายอย่าง ส่วนเครื่องถ้วยชามที่สั่งไปทำเมืองจีนเมื่อในรัชกาลที่ ๒ คิดแก้ไข ผิดกับของแต่ก่อนทั้งรูปแลลวดลาย มีลายผูกขึ้นใหม่หลายอย่าง เช่น ลายดอกกุหลาบ เป็นต้น บางทีเอาลายจีนเช่นลายสิงโต มาคิดผูกตามความนิยมของไทย สั่งไปให้เขียนถ้วยชาม สั่งของที่ทำก็กวดขันฝีมือขึ้น ทั้งลายนํ้าทองแลเขียนสี ว่าโดยย่อ เครื่องถ้วย ที่ไทยสั่งไปทำเมืองจีน ที่นับถือกันว่าเป็นของดีที่สุดในเวลานี้ล้วนเป็นของที่คิดแบบสั่งออกไปทำเมื่อในรัชกาลที่ ๒ ทั้งนั้น มักเรียกกันว่าของสมเด็จพระศรีสุริเยนทร์ ซึ่งเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนารถ ในรัชกาลนั้น ซึ่งเป็นความจริง เพราะจานชามของหลวงที่สั่งเข้ามาสำหรับใช้ในห้องเครื่องฝ่ายใน สมเด็จพระศรีสุริเยนทร์คงจะได้ทรงเป็นพระธุระในการสั่งให้ทำสิ่งของเหล่านั้น

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จขึ้นครองราชย์ สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี จึงทรงเห็นเป็นโอกาสได้กราบบังคมทูลขอ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ลาจากพระบรมมหาราชวังไปประทับกับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ณ พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี ประทับอยู่จนตลอดพระชนม์ชีพ หมอบรัดเล บันทึกไว้เมื่อมีโอกาสเข้าไปถวายการตรวจพระอาการไข้ ดังนี้

วันที่ ๘ มกราคม ๒๓๓๘
วันนี้เวลาบ่าย เจ้าฟ้าน้อยทรงส่งเรือมารับหมอบรัดเลกับภรรยาให้ไปเฝ้าสมเด็จพระราชินีศรีสุริเยนทร์ พระราชมารดาของพระองค์ หมอบรัดเลพร้อมด้วยภรรยา จึงได้รีบเฝ้าตามพระกระแสรับสั่นั้น สมเด็จพระราชินีศรีสุริเยนทร์นี้ ประทับอยู่ในวังเดียวกับเจ้าฟ้าน้อย แต่ต่างตำหนัก…

ในเบื้องปลายพระชนม์ชีพ สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลและทรงทำนุบำรุงพระอารามในพระพุทธศาสนา ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดสำคัญ ได้แก่ วัดชัยพฤกษมาลา รับพระราชภาระในการทำนุบำรุงและรับทอดพระกฐินเป็นประจำทุกปี เพื่อถวายเป็นพระเกียรติยศแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ด้วยเคยทรงบูรณปฏิสังขรณ์และถวายผ้าพระกฐินเป็นการผาติกรรมที่ทรง รื้ออิฐวัดมาสร้างกำแพงพระนคร ครั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการให้ยกวัดชัยพฤกษมาลา ออกจากบัญชีวัดที่จะพระราชทานกฐินหลวง สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี จึงทรงรับทอดพระกฐินวัดนี้สืบต่อมาทุกปี ถ้าผู้ใดมีศรัทธาจะทอดกฐินที่วัดนี้ต้องกราบทูลขอพระราชทานพระราชานุญาตก่อน ทั้งนี้ เพื่อมิให้เป็นที่เสื่อมเสียพระเกียรติยศในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

อีกวัดหนึ่งคือ วัดเขมาภิรตาราม แต่เดิมเป็นพระอารามพระกฐินหลวงในพระบวรราชวัง มีสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก มีผู้มากราบทูลว่า วัดนี้เป็นวัดใหญ่แต่ครั้งสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง กล่าวกันว่า ผู้มีบรรดาศักดิ์น้อยจะบูรณปฏิสังขรณ์ให้สำเร็จไม่ได้ ต้องเป็นผู้มีบรรดาศักดิ์มากบุญญาธิการจึงจะทำได้สำเร็จ มีความในประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ เรื่องประกาศปฏิสังขรณ์วัดไชยพฤกษมาลา วัดเขมาภิรตาราม ตอนหนึ่งว่า

“กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ จึงเสด็จขึ้นไปทอดพระเนตรพระอุโบสถเก่า ชอบพระทัยจะสร้าง จึงตรัสสั่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นไปเฝ้า กรมพระราชวังบวรฯ กราบทูลขอเป็นวัดสำหรับกฐินในกรม กรมพระราชวังบวรฯ ได้มีพระบัณฑูรสั่งหลวงสุทธิรัตนให้หักบาญชีชื่อวัดเขมา ยกมาเป็นอารามของกรมสมเด็จ พระศรีสุริเยนทรามาตย์ขาดมาแต่นั้น ตั้งแต่นั้นมากรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ก็ได้ทรงบริจาคส่วนทรัพย์สมบัติให้จำหน่ายเป็นค่าอิฐค่าปูน แลให้มีข้าในกรมไปขุดรากใหม่ ก่อผนังขยายออกให้ใหญ่กว่าเดิมออกมา…พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยแล กรมพระราชวังบวรฯ ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเริ่มการเป็นฤกษ์ทั้งสองครั้ง”

สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ทรงดูแลวัดนี้จนสิ้นพระชนม์

ส่วนวัดหงส์รัตนาราม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงชักชวนสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เมื่อครั้งเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ ความในประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ เรื่องประกาศแผ่พระราชกุศลในการฉลอง วัดหงษรัตนาราม มีว่า

“โดยพระราชปฏิสัณฐานว่า กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์มีพระชนมายุเจริญมาถึง ๖๐ ปีเศษแล้ว ไปทรงสร้างวัดเขมาภิรตาราม อยู่ไกลมิได้ทอดพระเนตรเห็นเป็นอปราปะระเจตนาเนืองๆ เลย ถ้าทรงสร้างวัดหงษเป็นวัดใกล้วัง จะเป็นที่เจริญพระศรัทธามาก กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ รับพระราชโองการมาว่าจะทำตามรับสั่งแล้ว…
ก็ได้ทรงสถาปนาการทั้งพระอุโบสถพระวิหารมาจนสิ้นพระชนม์ การก็หาสำเร็จแล้วไม่ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงรับทำต่อมาทั้งพระอุโบสถพระวิหาร การเปรียญแลศาลารายศาลาตะพานหน้าวัดแลอื่นๆ…”

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชาธิบายถึงข้อห้ามหรือธรรมเนียมที่สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ทรงถือไม่ให้ปฏิบัติ อันแสดงให้เห็นถึงความเคร่งครัดในลัทธิธรรมเนียมของ พระองค์และทำให้ได้ทราบถึงธรรมเนียมปฏิบัติในสมัยก่อน ดังนี้

ข้อห้ามสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์
มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่ง ให้จดหมายพระราชทานพระเจ้าลูกเธอฝ่ายหน้า ฝ่ายในทุกพระองค์ให้ทราบว่า กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์พระบรมราชชนนี ท่านมักทรงถือลัทธิต่างๆ ว่าทำอย่างนั้นๆ ไม่เป็นมงคลแล้ว ก็ตรัสห้ามไว้ให้กำชับต่อสืบๆ ลงไป ในตระกูลว่าอย่าให้ทำเป็นหลายสิ่งหลายประการ ครั้นทรงสั่งสอนแต่พระวาจา ผู้ฟังก็จำไว้ ได้บ้างลืมเสียบ้าง จึงโปรดให้จดหมายพระราชทานไว้เพื่อจะให้ทราบทั่วกัน

(๑) การใช้ทำหมันชันยาในแนวกระดาน ให้ทำได้แต่ในเรือที่เป็นของเลื่อนได้ยกได้ เดินได้ หรือในถังนํ้าที่เป็นของยกได้ย้ายที่ได้ แต่ในพื้นในชานในหลังคาของเรือนที่มีเสาปลูกลงในดินทรงห้ามไว้เป็นอันขาดไม่ให้ทำหมันชันยาเลย ถ้าจะกันนํ้ารั่วจะดาดดีบุกก็ดี จะดาดอิฐปูนศิลาก็ดีทำได้ แต่จะใช้ชันแลน้ำมันไม่ได้ ถ้าจะปิดปากไม้ที่เป็นตาหรือที่ห่างด้วยเลือดหมูผสมปูนอย่างจีนทำ หรือปูนนํ้ามันเกลี่ยแนวให้มิดก็ได้ ชันลาพอนแผงปิดกระดาษ กันรั่วก็ได้ ห้ามแต่ทำหมันชันแนวใน แนวกระดานกันนํ้ารั่วไว้อย่างเรืออย่างถังนั้นอย่างเดียว ถ้าจะทำเรือนหรือพลับพลาหลังคาเป็นไม้ให้ทำกระดานทับๆ กันเหมือนเกล็ดกระเบื้อง อย่างร้านนํ้าโรงทาน หรือเป็นกระดานทับๆ กันอย่างพลับพลายกที่ริมโรงนาฬิกานั้นได้ จะใช้หมันใช้ชันไม่ควรเลย ห้ามเป็นอันขาด

(๒) สัตว์มีชีวิตต่างๆ คือแมวก็ดี สุนัขจูก็ดี ม้าก็ดี นกเลี้ยงก็ดี นกกระตั้วก็ดี ไก่ก็ดี ที่มีขนขาวทั้งตัวก็ดี บางแห่งก็ดี ห้ามไม่ให้เอาเครื่องเขียนแลนํ้าย้อมสิ่งใดๆ ย้อมแลแต้มเขียนเพื่อจะให้ประหลาด ห้ามเป็นอันขาดทีเดียวไม่ให้ทำไม่ให้เล่น ก็ถ้าสัตว์มีหมัดจะทาขมิ้นหรือไพลเป็นยากันหมัดนั้นได้ แต่จะทาเพื่อให้เหลืองเป็นสีประหลาดนั้นไม่ได้ ช้างจะ เขียนหน้าด้วยเขม่าแลเส้นขาวอย่างเช่นช่างเขียนในการสระสนานแลการแห่แหนอื่นๆ นั้นได้ เพราะช้างไม่มีขนทั่วตัวอย่างม้าแลโค ถึงกระนั้นจะเขียนช้างสำคัญ คือช้างเผือกแล ช้างสีประหลาดก็ไม่ควร ซึ่งห้ามทั้งนี้เพราะว่าพ้องกับมนุษยชาติ เพราะผู้หญิงที่ผมหงอก หรือผมบางหรือศีรษะถลอกเขาแก้ด้วยจับเขม่าแลดอกอัญชันแลใบหอม แลเขาย้อมผิวหนังด้วยขมิ้นหรือแป้งนวล เป็นการของมนุษย์สืบมาแต่โบราณ จะเอาอย่างนั้นไปแต่งให้สัตว์เดียรฉานนั้นไม่ควรเป็นอุบาทว์จังไร

(๓) ต้นข้าวเหนียว ต้นข้าวเจ้า สารพัดต้นข้าวไม่ให้ปลูกลงในดินหรือในท้องร่อง หรือในสระแลในที่นํ้าขังทั้งปวง ที่อยู่ในวงกำแพงบ้านจะปลูกได้แต่ในอ่างในถัง ที่เป็นของยกได้ไม่ห้าม

(๔) ห้ามไม่ให้สมสู่เป็นชู้หรือผัวเมียกับคนที่ร่วมนม กินนม นางนมเดียวกันมาแต่เดิม แต่คนที่หย่านมแล้วมาแกล้งดื่มแกล้งชิมลองกินไม่ว่า ถ้าไม่ได้ร่วมนมกันแล้วถึงเป็นญาติพี่น้องก็ไม่ห้าม แต่ที่ได้ร่วมนมกันแล้วถึงไม่ใช่ญาติก็ห้ามเป็นอันขาด

(๕) ถ้ามีการมงคลสองอย่าง คือโกนจุก ๑ ลงท่า ๑ อย่าให้มีเทศนา ให้มีแต่สวดมนต์แลเลี้ยงพระสงฆ์ตามธรรมเนียม การโกนจุกลงท่าโดยมีศรัทธาจะทำการฉลองพระต่อไป จะใคร่มีเทศนาเป็นการบุญก็ได้ไม่ห้ามขาด แต่ขอให้ไว้ระยะเริ่มงานเป็นการบุญต่างหาก อย่าให้เอามาปะปนระคนกับการโกนจุกลงท่า

แลอื่นๆ นอกนี้ก็ยังมีอีก แต่ยังทรงระลึกไม่ได้ ถ้าทรงระลึกได้แล้วจึงจะโปรดให้เพิ่มเติมลงอีก ฯ

สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี เสด็จสวรรคตในวันอังคารที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๗๙ พระชนมพรรษา ๗๐ พรรษา

ส่วนพระนามของพระองค์นั้น ตามธรรมเนียมไทยเดิมไม่นิยมขานพระนามเจ้านาย จึงเรียกขานกันว่า สมเด็จพระพันวษา เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์แล้วทรงสถาปนาพระเกียรติยศพระบรมอัฐิสมเด็จพระพันวษา พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ตามประกาศเมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๓๙๔

ครั้นถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนพระนามพระบรมอัฐิกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ เป็นสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: สุทธิพันธ์ ขุทรานนท์