สมเด็จพระศรีสุลาลัย

Socail Like & Share

พระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเป็นสมเด็จพระพันปีหลวงในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมเด็จพระศรีสุลาลัย พระนามเดิมว่า เรียม เป็นพระธิดาของพระชนกจัน ผู้ซึ่งต่อมาเป็นพระยานนทบุรีศรีมหาอุทยาน กับพระชนนีเพ็ง ประสูติเมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๓ ปีขาลโทศก จุลศักราช ๑๑๓๒ ตรงกับวันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๓๑๓ ที่เมืองนนทบุรี เคหสถานเดิมของท่านปัจจุบันคือ วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนา เมื่อเจริญพระชันษา ได้ถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงอิศรสุนทร ประทับอยู่บ้านเดิมข้างวัดระฆัง พระราชวังเดิมธนบุรี และ พระบรมมหาราชวังตามลำดับ มีพระราชโอรสและพระราชธิดา ๓ พระองค์ ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์เจ้าหญิงป้อม และพระองค์เจ้าชายดำ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ใน พ.ศ. ๒๓๕๒ สมเด็จพระศรีสุลาลัยตามเสด็จฯ ไปประทับในพระบรมมหาราชวัง ในตำแหน่งสนมเอกบังคับการห้องเครื่อง ชาววัง ออกพระนามว่า “เจ้าคุณ” สมเด็จพระศรีสุลาลัยทรงอ่อนพระชันษากว่าสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ราว ๓ พรรษา แต่ในส่วนพระองค์สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ประทานความสนิทสนมและยกย่อง ออกพระนามว่า “ออเรียม” และแม้ว่าพระองค์จะทรงบังคับการห้องเครื่องในพระบรมมหาราชวังก็ตาม แต่ไม่ทรงสันทัดเรื่องเครื่องต้นเท่าสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี จึงมักจะเสด็จไปประทับที่วังท่าพระ เสมอเพื่อทรงดูแลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

หลังจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติใน พ.ศ. ๒๓๖๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระราชชนนี เป็นกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระพันปีหลวง เพื่อเป็นการสนองพระเดชพระคุณ พร้อมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักตึกในพระบรมมหาราชวัง ถวายเป็นที่ประทับ (อยู่บริเวณสวนซ้ายของหมู่พระมหามณเฑียรด้านทิศตะวันตก) ส่วนสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ซึ่งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระพันวัสสาประทับอยู่ที่พระตำหนักแดง ได้กราบบังคมทูลลาไปประทับที่พระราชวังเดิม ธนบุรี ของพระราชโอรส คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นทรงพระผนวชประทับที่วัดบวรนิเวศวิหาร วันที่สมเด็จพระพันวัสสาเสด็จออกจากพระบรมมหาราชวังนั้น สมเด็จพระศรีสุลาลัยทรงเชิญหีบพระศรีไปส่งเสด็จถึงตำหนักแพ และมีรับสั่งลาว่า “ลาก่อนละนะเรียม”

ขณะประทับที่พระตำหนักตึก สมเด็จพระศรีสุลาลัยทรงบำรุงเลี้ยงดูพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าจอมมารดาทรัพย์ คือ พระองค์เจ้าชายคิริวงศ์ (ต่อมาดำรงพระอิสริยยศ เป็นสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์) และพระองค์เจ้าหญิงละม่อม (ต่อมาดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร) เมื่อสมเด็จพระศรีสุลาลัย เสด็จสวรรคตใน พ.ศ. ๒๓๘๐ แล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระตำหนักตึกให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร ซึ่งทรงรับเลี้ยงดูพระโอรสธิดาในสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ อาทิ หม่อมเจ้าหญิงรำเพย ต่อมาดำรง พระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนี พันปีหลวง ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระตำหนักตึกนี้ต่อมาเป็นสถานที่พระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันคือบริเวณพระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ และท้องพระโรงกลางด้านหลังพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

สมเด็จพระศรีสุลาลัยทรงดำรงพระชนม์ชีพในบั้นปลายด้วยการบำเพ็ญพระราชกุศลตามพระราชศรัทธา ทรงสถาปนาวัดหนังในคลองบางขุนเทียน อันเป็นนิวาสถานเดิมของบรรพชนฝ่ายพระชนนี การสถาปนาวัดหนังเสร็จบริบูรณ์ ยังคงค้างอยู่เพียงการฉลองวัด พระองค์ประชวรไข้พิษ เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๘๐ พระชนมพรรษา ๖๘ พรรษา ประดิษฐานพระบรมศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในวันที่ ๒ – ๖ ธันวาคม ปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฉลองวัดหนัง ฉลองพระเดชพระคุณ และในปีต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระเมรุระหว่าง วันที่ ๒๖ เมษายน – ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๘๑ ปรากฏความละเอียดใน พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ เล่ม ๑ ความว่า

“ครั้น ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๓ ค่ำ ได้แห่พระบรมธาตุเข้าสู่พระเมรุ มีงานสมโภช ๓ วัน ๓ คืน ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันอาทิตย์ เดือน ๖ ขึ้น ๖ ค่ำ พระสงฆ์ฉันแล้วก็แห่พระบรมธาตุกลับเข้าสู่พระบรมมหาราชวังรุ่งขึ้น ณ วันจันทร์เดือน ๖ ขึ้น ๗ ค่ำ เวลาย่ำรุ่ง ได้เชิญพระศพขึ้นยานุมาศ แห่ลงไปแต่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ขึ้นมหาพิชัยราชรถที่หน้าวัดพระเชตุพน ตั้งกระบวนแห่อย่างใหญ่ มีรูปสัตว์ต่างๆ ไปสู่พระเมรุ เชิญพระโกศเข้าทางประตูด้านบุรพทิศ เวียนพระเมรุ ๓ รอบ แล้วเชิญขึ้นสู่พระเบญจาเงินในพระเมรุทอง ภายใต้เศวตฉัตรมีเครื่องสูงพร้อม มีเครื่องประดับชั้นพระเบญจา ทำด้วยทองบ้าง ทำชั้นพระเบญจาด้วยเงินบ้าง พระสงฆ์สวดพระอภิธรรม และถวายไทยธรรมแก่พระสงฆ์ ในกรุงนอกกรุงหัวเมือง เวลาเช้าเสด็จออกไปปฏิบัติ พระสงฆ์ราชาคณะ ๘๐ รูป พระสงฆ์ทำภัตตากิจแล้วสดับปกรณ์ แล้วเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งทรงธรรม มีเทศนาโพธิปักขิยธรรม แบ่งเป็นวันละ ๔ กัณฑ์ จบธรรมเทศนาแล้วก็เสด็จกลับเข้าพระราชวัง ครั้นเวลาบ่าย ๕ โมง ก็เสด็จออกสู่พระเมรุ จุดเครื่องนมัสการบูชาเสร็จแล้วก็เสด็จไบ่ประทับพลับพลาน้อย ซึ่งโปรดให้ทิ้งทานผลกัลปพฤกษ์และมีการมหรสพสมโภชถ้วนครบ ๗ วัน ๗ คืน

ครั้น ณ วันอาทิตย์ เดือน ๖ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เวลาบ่าย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าฝ่ายใน เสนาบดี มุขมนตรีกับหัวเมืองประเทศราชใหญ่น้อยพร้อมกัน ได้กราบถวายบังคมถวายพระเพลิง ครั้นรุ่งขึ้น ณ เดือน ๖ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เก็บพระบรมอัฐิ ประดิษฐานในพระโกศทองคำประดับพลอย มีการสมโภชพระบรมอัฐิ ๓ วัน ๓ คืน เป็นคำรบ ๑ฤ วัน ๑๐ คืน ครั้น ณ วันเดือน ๖ แรม ๒ ค่ำ เวลาเช้าได้เชิญพระบรมอัฐิเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง”

การออกพระนามสมเด็จพระศรีสุลาลัย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งการพิธีฉลองพระเดชพระคุณสมเด็จพระพันปีหลวง สถาปนาเป็น “กรมสมเด็จ พระศรีสุลาลัย” ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังต้องออกพระนามพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นพระปัยยิกา คือ ย่าทวด ยายทวด ที่เสด็จสวรรคตแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกพระนามพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “สมเด็จพระราชมหาปัยยิกาเธอ กรมพระศรีสุลาลัย” ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริเรื่องพระนาม ของสมเด็จพระอัครมเหสีในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น รวมทั้งพระนามสมเด็จพระบรมราชชนนี ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ออกพระนามว่า “สมเด็จพระศรีสุลาลัย”

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: ศิรินันท์ บุญศิริ