คุณพุ่ม(บุษบาท่าเรือจ้าง)

Socail Like & Share

คุณพุ่มหรือที่รู้จักกันในนามว่า “บุษบาท่าเรือจ้าง” เป็นธิดาของพระยาราชมนตรี (ภู่) จางวาง ข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ต่อมาได้เป็นอธิบดีกรมพระคลังมหาสมบัติในรัชกาลที่ ๓ ประวัติของคุณพุ่มไม่ปรากฏหลักฐานว่าเกิดวัน เดือน ปีใด ทราบแต่เพียงว่าเป็นผู้มีชีวิตอยู่ในช่วงรัชกาลที่ ๓ จนถึงรัชกาลที่ ๕ และเป็นกวีหญิงที่มีชื่อเสียง หาผู้ใดเทียบได้ยากในยุคนั้น และเหตุที่คุณพุ่มชอบแต่งบทบุษบาโต้ตอบกับอิเหนา อีกทั้งที่พักอาศัยอยู่บริเวณใกล้ท่าเรือจ้างข้างเหนือท่าพระ(คือบริเวณท่าช้างวังหลวงในปัจจุบัน และเหตุที่เรียกว่าท่าพระ เพราะในปี ๒๓๕๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้อัญเชิญพระศรีศากยมุนี จากพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ สุโขทัย มาประดิษฐาน ณ วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพมหานคร โดยล่องแพมาตามลำนํ้าเจ้าพระยา โปรดให้ชักพระขึ้นทางประตูท่าช้าง แต่ที่ท่าช้างประตูเมืองไม่ตรงกับถนน ทั้งพระพุทธรูปมีขนาดใหญ่กว่าประตูจึงต้องรื้อกำแพง เมื่อแห่พระเข้ามาแล้วจึงก่อกำแพงขึ้นใหม่ จึงเรียกท่านํ้านั้นว่า ท่าพระ อีกชื่อหนึ่ง) จึงได้รับการขนานนามว่า บุษบาท่าเรือจ้าง

คุณพุ่มมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับท่านอีกคนหนึ่งเป็นหญิงชื่อ น้อย ต่อมาได้เป็นหม่อมในสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ และเมื่อกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์สิ้นพระชนม์ ได้เป็นหม่อมห้ามในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรม ต้นสกุลชุมสาย ส่วนคุณพุ่มดำรงตนเป็นโสด ตลอดจนสิ้นอายุขัย

คุณพุ่มคงจะได้รับการศึกษาอบรมดีกว่าสตรีอื่นๆ ในยุคนั้น เนื่องจากในสมัยก่อนไม่นิยมให้สตรีได้เล่าเรียนเขียนอ่านเฉกบุรุษ ด้วยเกรงว่าจะแต่งเพลงยาวโต้ตอบกับบุรุษ แต่คุณพุ่มสามารถแต่งเพลงยาว บทดอกสร้อยสักวาโต้ตอบกับบุรุษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมักจะมีผู้คนไปมาหาสู่ โดยเฉพาะผู้มีบรรดาศักดิ์สูงๆ เพื่อแต่งเพลงยาวและบทสักวากับคุณพุ่มอยู่เนืองๆ จึงนับได้ว่าคุณพุ่มเป็นผู้หญิงเก่งลํ้ายุคในสมัยนั้น และคุณพุ่มเองก็เป็นผู้ที่ชอบแต่งกลอนอยู่ก่อนแล้ว

ในทางกวีคุณพุ่มคงจะนับถือสุนทรภู่เป็นครู และได้รับอิทธิพลของสุนทรภู่อยู่ไม่น้อย ดังสำนวนกลอนที่ปรากฏอยู่ ก็เป็นสำนวนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเรียกว่า กลอนตลาด ดังปรากฏในเพลงยาวเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งคุณพุ่มเป็นผู้แต่งตอนหนึ่งว่า

“ครั้งแผ่นดินปิ่นอยุธพระพุทธเลิศ ช้างเผือกเกิดกับสยามถึงสามสาร เป็นพาหนะพระที่นั่งอลังการ เกิดอาจารย์ท่านครูภู่สุนทร”

แม้การดำเนินชีวิตของคุณพุ่มในช่วงหนึ่งก็คล้ายๆ สุนทรภู่คือ การแต่งกลอนขาย

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวถึงเรื่องนี้ในประวัติสุนทรภู่ ที่ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า

“อันประเพณีแต่งหนังสือขายในสมัยเมื่อยังไม่ใช้การพิมพ์นั้น เมื่อแต่งขึ้นแล้วใครอยากจะอ่านก็มาขอลอกเอาไป ผู้แต่งคิดเอาค่าแต่งตามแต่ผู้ต้องการอ่านจะยอมให้ ผู้มีชื่อเสียงเช่นสุนทรภู่ ก็เห็นจะได้ค่าแต่งแรงอยู่ ประเพณีที่กล่าวมานี้เป็นทางหากินของพวกกวีที่ขัดสนมาช้านาน คุณพุ่มธิดาพระยาราชมนตรี (ภู่) ยังแต่งกลอนขายมาจนถึงต้นรัชกาลที่ ๕”

จากประวัติของคุณพุ่มที่กล่าวแทรกไว้ในเพลงยาวเฉลิมพระเกียรติซึ่งคุณพุ่มเป็นผู้แต่งเองนั้น ทำให้ทราบว่าคุณพุ่มได้เข้ารับราชการฝ่ายใน ตำแหน่งพนักงานพระแสงอยู่ระยะหนึ่ง

“ข้าพเจ้าเล่าเป็นข้าฝ่าพระบาท ธรรมิกราชบพิตรอดิศร
คือพระนั่งเกล้ากษัตริย์ฉัตรนคร โปรดบิดรลือดังทั้งแผ่นดิน
ทรงเลี้ยงเราเข้าระยะที่พระแสง ต้องจัดแจงจดพระเดชเทวษถวิล
เอากตัญญูปัญญาทาแผ่นดิน ช่วยเพิ่มภิญโญพระบารมี”

และอีกตอนหนึ่งว่า
“แต่พุ่มพวงทรวงทิพประทิ่น โดยแผ่นดินปิ่นเกศประเทศสถาน
พระนั่งเกล้าเจ้าจังหวัดชัชวาล ทรงโปรดปรานเป็นพระแสงตำแหน่งใน”

การที่คุณพุ่มได้เข้าถวายตัวทำราชการนี้ เนื่องมาจากบิดาเป็นคนโปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกอบกับมีความสามารถในการงาน เก่งในทางการคลัง บำรุง จัดการภาษีอากร ขนอนตลาดให้เจริญยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นผู้กำกับโรงทาน นอกจากนี้ยังได้รับยกย่องจากรัชกาลที่ ๓ เป็นบ่อแก้ว คู่กับขุนคลังแก้ว พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) ความดีความชอบนี้ตกทอดมาถึงบุตรีด้วย ในตอนนี้คุณพุ่ม กล่าวไว้ในเพลงยาวตอนหนึ่งด้วยว่า

“ท่านบิดาราชมนตรีว่าที่คลัง จึงแต่งตั้งเจียสัวตัวอากร
ให้เงินหลวงตวงเติมเฉลิมฉลาด ฉลองบาทบพิตรอดิศร
คลังสมบัติวัฒนาสถาวร พระนครบริบูรณ์จำรูญรักษ์
เป็นบุรุษสุจริตสนิทนาถ เฉลิมบาทคู่บุญจุลจักร
รู้ถ่ายเทเสน่หาสามีภักดิ์ บำรุงรักษาสมบัติขัตติยา
กตัญญูต่อมรดก แบ่งฉบกให้กับบุตรที่สุดสา
พิภักดิ์ต่อยอพระเดชกระเษตรา พระนั่งเกล้าเจ้าสุธาประเทศไทย”

ขณะที่คุณพุ่มรับราชการอยู่นั้น ไม่ได้แสดงความสามารถทางกวีให้ปรากฏ จนกระทั่งได้ทูลลาไปอยู่นอกวัง เนื่องจากไม่สบาย (หลักฐานบางแห่งว่าไม่พอใจ) จึงกลับไปอยู่กับบิดาที่บ้านท่าพระ โดยอาศัยแพอยู่หน้าบ้านบิดา และ ณ ที่นี้เองที่ทำให้คุณพุ่มมีชื่อเสียงโด่งดัง มีผู้คนไปมาหาสู่เพื่อสนทนาในทางกวีกับคุณพุ่มอยู่เสมอ อาทิ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ขณะมีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงนายสิทธิ์ เป็นต้น ต่อมาคุณพุ่มกลับถวายตัวรับราชการอีกครั้งหนึ่ง ด้วยเหตุผลใดไม่ปรากฏ ในครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์สร้อยเพลงขึ้นบทหนึ่ง กล่าวกันว่า ทรงบริภาษคุณพุ่ม ดังปรากฏใน ประชุมพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า

“สักวาจํ้าจี้มะเขือเปราะ มากะเทาะหน้าแว่นน่าแค้นจิต
ว่านํ้ามากอยากจะเที่ยวไม่สมคิด ต้องตำราสุภาษิตไม่ผิดเลย
ว่าเรือใครไปกระทั่งซึ่งต้นกุ่ม จะได้ผัวหนุ่มหนุ่มนะพี่เอ๋ย
เขาฦๅแน่แซ่เสียงอย่างเถียงเลย ว่าเรือพี่นี้แหละเกยต้นกุ่มเอยฯ”

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายเพิ่มเติมว่า

“สร้อยเพลงบทนี้กล่าวกันว่าทรงพระราชนิพนธ์บริภาษคุณพุ่ม (ที่เป็นกวีหญิง) ธิดาพระยาราชมนตรี ภู่ เป็นเจ้ากรมข้าหลวงเดิม ครั้นธิดาเจริญวัยขึ้นก็ให้ถวายตัวทำราชการ โปรดฯ ให้เป็นนางพนักงาน เจ้าตัวไม่พอใจอยู่ได้คราวหนึ่ง กราบถวายบังคมลาออกจากราชการกลับไปอยู่บ้าน ไปมีชื่อเสียงโด่งดัง ด้วยผู้มีบรรดาศักดิ์สูงชอบคบหา แล้วด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งต่อมากลับเข้าไปถวายตัวทำราชการอีก พอท้าวนางกราบทูลนำถวายตัวไม่มีพระราชดำรัสประการใด เป็นแต่ทรงร้อยกลอนบทนี้แล้วก็เสด็จขึ้นเล่ากันมาดังนี้”

เหตุใดสักวาจึงได้รับความนิยมในยุคนี้และเป็นผลให้คุณพุ่มมีชื่อเสียงเป็นกวีฝีปากเอกนั้น เนื่องมาจากว่า สักวานี้เป็นที่นิยมเล่นกันตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา และได้รับการฟื้นฟูขึ้นอีกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ครั้งรัชกาลที่ ๑ เพื่อฟื้นฟูประเทศให้เหมือนเมื่อครั้งบ้านเมืองดี และนิยมเล่นกันตลอดมาจนถึงรัชกาลที่ ๓ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายเรื่องสักวาไว้ในคำนำประชุมบทสักวา เล่นถวายในรัชกาลที่ ๕ ดังนี้

“ดอกสร้อย สักวา เป็นการเล่นอย่างหนึ่งของผู้ดีมาตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า เดือน ๑๑ เดือน ๑๒ เวลาฤดูนํ้ามาก เป็นเทศกาลทอดกฐิน ทอดผ้าป่า และเที่ยวทุ่ง ผู้มีบรรดาศักดิ์ ตั้งแต่เจ้านายเป็นต้น มักพาบริวารซึ่งเป็นนักร้องทั้งต้นบท แลลูกคู่ มีโทนทับกรับฉิงพร้อม สำรับ ลงเรือไปเที่ยว บางลำก็เป็นนักร้องผู้ชาย บางลำก็เป็นนักร้องผู้หญิง เมื่อไปพบปะ ประชุมกันเป็นการสโมสรในท้องทุ่ง เจ้าของก็คิดบทให้นักร้องวงของตนร้องลำนำผูกกลอนเป็นทางสังวาสบ้าง เป็นทางเรื่องบ้าง ลำอื่นก็ร้องลำนำโต้ตอบกันไปมา เป็นอย่างมโหรสพ สำหรับการราตรีสโมสรของไทยมีมาแต่โบราณดังนี้..

ในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ สักวาเล่นกันมากตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๑ มาจนตลอดรัชกาลที่ ๓ ที่โปรดให้ขุดคลองมหานาคทำเป็นเกาะเกียนอะไรต่างๆ เมื่อในรัชกาลที่ ๑ ก็สำหรับจะให้เป็นที่ประชุมเล่นดอกสร้อยสักวากันตามฤดูกาล มาซาไปเมื่อในรัชกาลที่ ๔ เพราะเล่นปี่พาทย์กันมากแลเข้าใจว่า เพราะพระราชทานอนุญาตให้ใครๆ เล่นละครผู้หญิงได้ ไม่ห้ามดังแต่ก่อน ผู้มีบรรดาศักดิ์เล่นปี่พาทย์และละครกันเสียโดยมาก จึงไม่ใคร่มีใครเล่นสักวา แต่เมื่อมาจับเล่นสักวาเมื่อในรัชกาลที่ ๕ ยังมีผู้ชำนาญบอกสักวามาแต่ในรัชกาลที่ ๓ อยู่บ้าง ที่ข้าพเจ้าได้ทันพบ คือ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ…พระองค์หนึ่ง คุณพุ่มธิดา พระยาราชมนตรี(ภู่)…อีกคนหนึ่ง”

คุณพุ่มเป็นกวีหญิงที่จัดว่ามีปฏิภาณไหวพริบและฝีปากกล้า แต่งกลอนได้ดียิ่งทั้งสำนวนโวหารและความไพเราะ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวิจารณ์ไว้ในคำนำประชุมบทสักวา เล่นถวายในรัชกาลที่ ๕ ตอนหนึ่งมีว่า

“คุณพุ่มนั้นอีกคนหนึ่งบอก (สักวา) คล่องแคล่ว ดีทั้งกลอนทั้งความ พวกรุ่นข้าพเจ้าสองสามคนเคยเข้าไปช่วยกันบอกสักวาโต้กรมหลวงบดินทร์ฯ ครั้งหนึ่ง คิดไม่ได้เร็วเหมือนท่าน แพ้ท่านมา จึงรู้ว่าผู้ที่เล่นสักวากันแต่ก่อนชำนาญกลอนมาก”

และในข้อที่ว่ามีฝีปากกล้านั้น มีหลักฐานได้จากการแต่งกลอนล้อเลียนคนดังของสังคม ในสมัยนั้น ไม่ว่าผู้นั้นจะมียศถาบรรดาศักดิ์ อำนาจวาสนาเพียงใด การแต่งกลอนล้อนี้ออกมาในรูปของคำกลอนอธิษฐาน มีทั้งหมด ๑๒ ข้อ ดังจะยกตัวอย่างมาดังนี้
๑) “ขออย่าให้เป็นคนชิดของเจ้าคุณผู้ใหญ่” คือคนชิดของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) อธิบายว่า เพราะมักถูกเฆี่ยนหลังลายไม่เว้นตัว

๒) “ขออย่าให้เป็นคนใช้ของเจ้าพระยานคร” คือคนใช้ของพระยานคร (น้อย) อธิบายว่า เพราะถูกทำโทษนอกรีตต่างๆ ดังเช่นเรือช้าไป ให้ฝีพายถองเรือ เป็นต้น

๓) “ขออย่าให้เป็นคนต้มน้ำร้อนของพระยาศรี” คือคนต้มนํ้าร้อนของพระยาศรีสหเทพ (เพ็ง) อธิบายว่าเพราะพระยาศรีฯ นั้น แขกไปหาไม่มีขาด จนคนต้มน้ำเลี้ยงแขกจะหาเวลาพักมิได้

นอกจากนี้ยังเล่ากันอีกว่า คุณพุ่มเคยแย่งพระแสงดาบของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย และในการโต้ตอบสักวาครั้งหนึ่งกับกรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ซึ่งเย้าคุณพุ่มว่า

“สักวาวันนี้พี่สังเกต เหมือนพุ่มพวงดวงเนตรของเชษฐา
มิได้เล่นลี้ลับหลายปีมา ………………………………..”

คุณพุ่มโต้ตอบว่า
“สักวาน่าจะโห่ให้เรือล่ม นี่ฤๅกรมภูวเนตรเศษสวรรค์
เอานายทิมเข้ามาทวนพอควรกัน เหมือนอย่างหั่นใบขี้เหล็กให้เด็กยำ”

นับได้ว่าคุณพุ่มเป็นหญิงที่กล้าทั้งในทางกวีและความประพฤติ

ช่วงชีวิตของคุณพุ่มในรัชกาลที่ ๓ มีชีวิตรุ่งเรืองและบริบูรณ์พูนสุขมาก มาในรัชกาลที่ ๔ ชีวิตของคุณพุ่มเริ่มตกอับ อย่างไรก็ตาม การที่คุณพุ่มมีฝีปากในการแต่งกลอนจึงทำให้มีผู้นับหน้าถือตา มักได้รับเชิญให้ไปบอกสักวาเนืองๆ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คุณพุ่มเข้ารับราชการอีก แต่คุณพุ่มปฏิเสธ ดังคำกลอนในเพลงยาวเฉลิมพระเกียรติตอนหนึ่งว่า

“แรกครองทศมณฑลพระชนม์ยัง ก็ทรงสั่งกรมวิศอิศรวงศ์
ให้เข้าไปอยู่ฉลองละอองบาท เราขี้ขลาดขัดธุระพระประสงค์’’

คุณพุ่มได้อาศัยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นที่พึ่งอุปการะ จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ หลังจากนี้คุณพุ่มขัดสนมากถึงกับต้องแต่งกลอนขาย

“ล่วงแผ่นดินปิ่นเกศจอมมงกุฎ กลับจนรุดเกินริบที่ฉิบหาย
เหลือแต่กลอนกับชีวิตอยู่ติดกาย จึงพากเพียรเขียนถวายขายปัญญา”

ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คุณพุ่มได้กลับเข้ารับราชการอีกครั้งหนึ่ง โดยเป็นผู้บอกสักวาในวงของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร จนตลอดอายุ

ผลงานชิ้นสำคัญของคุณพุ่มที่ปรากฏได้แก่
๑. เพลงยาวฉลองสระบางโขมด แต่งในโอกาสที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร ทรงให้ขุดสระเป็นสาธารณประโยชน์ที่บางโขมดในหนทางขึ้นพระพุทธบาท คุณพุ่มจึงได้แต่งเพลงยาวนี้ปิดไว้ที่ศาลาริมสระนั้น

๒. บทสักวาเล่นถวายในรัชกาลที่ ๕ แต่งเมื่อครั้งเล่นสักวาในสระบางปะอิน เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙

๓. เพลงยาวเฉลิมพระเกียรติ แต่งเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ซึ่งเป็นการชักชวนของเจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ ๔ ผู้หนึ่งให้คุณพุ่มแต่งกลอนชมพระเกียรติยศ

แม้ว่าคุณพุ่มจะมีผลงานที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรอยู่ไม่มากนักก็ตาม แต่การที่ท่านได้รับเชิญให้ไปบอกสักวาอยู่เสมอ และมีชื่อเสียงโด่งดังมาก รู้ไปถึงพระเนตรพระกรรณในหลายรัชกาล ตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ จนถึงรัชกาลที่ ๕ ย่อมเป็นประจักษ์พยานสำคัญที่ยืนยันได้ว่าท่านเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในทางกวีเพียงใด

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: เบญจมาส แพทอง