สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร

Socail Like & Share

พระนามเดิมคือ พระองค์เจ้าหญิงละม่อม ประสูติเมื่อวันอังคาร เดือนอ้าย ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีขาล สัมฤทธิศก จ.ศ. ๑๑๘๐ ตรงกับวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๖๑ เป็นพระราชธิดาพระองศ์ที่ ๒๖ ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และพระองค์ที่ ๒ ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาทรัพย์ มีพระเชษฐาร่วมพระมารดาพระองค์หนึ่ง คือ พระองค์เจ้าชายศิริวงศ์ ซึ่งต่อมาทรงได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ต้นราชสกุล ศิริวงศ์”กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร

สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์มีพระชนมายุเพียง ๒๘ พรรษา ก็สิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. ๒๓๘๒ พระองค์เจ้าหญิงละม่อมขณะนั้นมีพระชนมายุ ๒๑ พรรษา ทรงมีศักดิ์เป็นอา และเป็นพระราชวงศ์ผู้ใหญ่ใกล้ชิด จึงทรงรับหน้าที่เป็นพระอภิบาลพระโอรสและพระธิดาทั้ง ๗ พระองศ์ ของพระเชษฐา ซึ่งมีฐานะเป็นพระเจ้าหลานเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ หม่อมเจ้าชายมงคลเลิศ หม่อมเจ้าหญิงรำเพย (คือ สมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี) หม่อมเจ้าชมชื่น หม่อมเจ้าหญิงพื้นพงศ์ หม่อมเจ้าหญิงพรรณราย หม่อมเจ้าฉายเฉิด หม่อมเจ้าประเสริฐศักดิ์

ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงสมมตยาภิเษก หม่อมเจ้าหญิงรำเพยเป็นพระราชเทวี เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๕ พระนามว่า พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ ถึงกระนั้นความ สนิทสนมที่ทรงมีต่อพระปิตุจฉา พระองศ์เจ้าหญิงละม่อมก็คงเป็นไปเหมือนแต่ก่อนที่เคยประทับอยู่ด้วยกัน ณ พระตำหนักตึก ซึ่งเดิมเป็นพระตำหนักของสมเด็จพระศรีสุลาลัย จนกระทั่งเมื่อมีพระราชโอรสพระราชธิดา ความสนิทสนมนี้ได้สืบเนื่องมาจนถึงชั้นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอด้วย ซึ่งทรงเรียกพระองศ์เจ้าหญิงละม่อมว่า “เสด็จยาย” พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์เป็นพระมเหสีที่ใกล้ชิดและสนิทเสน่หา แต่เนื่องจาก มีพระพลานามัยอ่อนแอ มีโรคประจำพระองค์ ทำให้ทรงพระประชวรเป็นเนืองนิจ จึงด่วนเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. ๒๔๐๔ ด้วยพระชนมายุเพียง ๒๔ พรรษา อันเป็นเหตุให้พระราชโอรสและพระราชธิดาทั้ง ๔ พระองค์ ต้องทรงกำพร้าพระราชชนนีแต่ยังทรงพระเยาว์ ขณะนั้นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมหมื่นพิฆเณศวรสุรสังกาศ(พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) พระชนมพรรษา ๘ พรรษา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑลโสภณภควดี (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑลฯ กรมหลวงวิสุทธิกษัตรีย์) พระชนมพรรษา ๖ พรรษา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์) พระชนมพรรษา ๔ พรรษา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ (จอมพล สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช) พระชนมพรรษา ๒ พรรษา

การสูญเสียพระมเหสีที่มีพระราชโอรสและพระราชธิดาที่ยังทรงพระเยาว์ถึง ๔ พระองค์ นับเป็นความทุกข์ของผู้เป็นพระราชสวามีอย่างที่สุด ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องเฟ้นหาผู้ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยมาเป็น ผู้อภิบาลบำรุงที่จะทำให้พระราชโอรสและพระราชธิดาทรงเจริญด้วยคุณธรรมความดี ในขณะนั้นทรงเล็งเห็นแต่พระองค์เจ้าหญิงละม่อม ซึ่งมีพระฐานะเป็นสมเด็จอาของพระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ (ปัจจุบันออกพระนามว่า สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี) ในเวลานั้นพระองค์เจ้าหญิงละม่อมเจริญพระชันษาได้ ๔๓ ปี นับเป็นวัยที่สมบูรณ์ด้วยพระคุณธรรมและทรงตั้งอยู่ในฐานะที่ควรแก่การเคารพอย่างยิ่ง พระองค์เจ้าหญิงละม่อมได้เสด็จออกมาประทับเพื่ออภิบาลสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ณ พระตำหนักสวนกุหลาบ สลับกับการประทับชั่วคราว ณ วังนันทอุทยาน ต่อมาได้เสด็จกลับไปประทับยังพระตำหนักตึกตามเดิม ครั้นเมื่อจะมีการสถาปนาพระที่นั่งในหมู่พระตำหนักตึกจึงเสด็จย้ายไปประทับ ณ พระที่นั่งพิมานรัตยาในหมู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ด้วยเหตุนี้จึงทรงได้รับสมญาว่า “ทูลกระหม่อมปราสาท” และ “ทูลกระหม่อมแก้ว” ภายหลัง ได้เสด็จประทับเป็นการถาวร ณ พระตำหนักที่สร้างขึ้นใหม่ตรงกับพระที่นั่งพิมานรัตยาทางทิศใต้ ซึ่งเดิมเป็นพระตำหนักของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ

ในการอภิบาลพระราชโอรสและพระราชธิดาทั้ง ๔ นั้น ไม่มีหลักฐานที่ปรากฏแน่ชัดว่า ได้ทรงอบรมสั่งสอนและดูแลในเรื่องใดบ้าง แต่ถ้าจะสันนิษฐานแล้ว ก็เป็นที่คาดว่าพระองค์เจ้าหญิงละม่อม หรือ “เสด็จยาย” ของหลานๆ ทรงมุ่งหมายทุ่มเทให้ทุกพระองค์เจริญพระชนม์เติบโตขึ้นด้วยความดีงาม รับราชการด้วยความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะสมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ (ต่อมาขึ้น ครองราชย์เฉลิมพระนามว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) นั้น เนื่องจากเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ จึงทรงมุ่งหวังและทรงปลูกฝังให้เป็นผู้ที่มีคุณธรรมอันงดงามเพียงสถานเดียว ดังจะ เห็นได้จากบทพระราชนิพนธ์ในเรื่องลิลิตนิทราชาคริตหน้า๑๑๒ – ๑๑๓ ที่สะท้อนให้เห็นว่าพระองค์เจ้าหญิงละม่อมทรงสั่งสอนในเรื่องต่างๆ ความตอนหนึ่งว่า

“อย่าแพลงอย่าพลิกเค้า คุณภู-ธรเฮย
มั่นจิตต์คิดกตัญญู ต่อท้าว
ใดดีช่วยช้อนชู เชิดเกียรติ ท่านนา
พระประสงค์สุดด้าว จุ่งสู้ อาสา

เวลาเช้าค่ำตั้ง ความเพียร เทอญพ่อ
ภารกิจอย่าพาเหียร อย่าคร้าน
ไป่รู้จุ่งสอบเรียน ทราบผิด ชอบนา
ประมาทมักพลาดค้าน เดาะด้วยคิดทะนง
สงครามมาเหยียบด้าว แดนไกล ใกล้ฤๅ
ทอดชีพอาสาไป อย่าคร้าน
สงวนราชรักษาไผท ที่เกิด ตนแฮ
ผิวเหตุเขตตขัณฑ์ข้าม ขอบฟ้าจุ่งไป

การในนัคเรศ พิจารณ์ ความฤๅ
โดยแบบบทอัยการ เที่ยงแท้

เหินห่างอคติสถาน ทัณฑ์เที่ยง ตรงแฮ
มละวิหิงสาแปล้ ปลดเปลื้องเดียดฉัน

รำพันยังไป่สิ้น สุดความ
สอนแต่พอจำยาม แรกนี้
จงหมั่นตริตรองตาม คำแม่ สอนนา
ทราบชัดจึ่งจักชี้ อื่นเอื้อนอรรถสอน”

ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๐๘ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต จึงเป็นที่ชัดเจนว่า พระราชโอรสองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะได้เป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์เป็นลำดับต่อไป และในการนี้ได้สันนิษฐานว่าพระองค์เจ้าหญิงละม่อมคงจะได้ทรงอบรมสั่งสอนสมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ ให้ทรงตระหนักในคุณธรรมของพระเจ้าแผ่นดิน ดังจะวิเคราะห์ได้จากพระปรีชาญาณอันสุขุมคัมภีรภาพทั้งปวง ที่ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร อันหมายถึงความลุ่มลึกแห่งพระปัญญาที่สืบเนื่องมาจากพระอัจฉริยภาพแต่เดิมแล้ว ส่วนหนึ่งนั้นก็เนื่องมาจากการอบรมสั่งสอนที่พระองค์เจ้าหญิงละม่อมได้ทรงอภิบาลมาแต่ยังทรงพระเยาว์ เช่นเรื่องให้โอบอ้อมอารี ต่อญาติมิตรอันสนิท โดยเฉพาะน้องๆ เพื่อเอาไว้เป็นกำลัง อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ทั้งเจ้านายและขุนนาง ฟังคำแนะนำตักเตือนที่ควรฟัง อย่าถือตนว่าเกิดมามีบุญ ให้ถือว่าตัวเกิดมามีกรรม การซึ่งจะมีวาสนาต่อไปนั้น เป็นความทุกข์มิใช่ความสุข และการเป็นพระเจ้าแผ่นดินมิใช่สำหรับความมั่งมี มิใช่เพื่อจะข่มเหงคนเล่นตามชอบใจ แต่การเป็นพระเจ้าแผ่นดินต้องเป็นผู้ที่อดกลั้นต่อความสุข ความทุกข์ อดกลั้นต่อความรักความชัง และเป็นผู้ปราศจากความเกียจคร้าน ดังนี้เป็นต้น

ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติใน พ.ศ. ๒๔๑๑ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระองค์เจ้าหญิงละม่อม ดังความตามคำประกาศใน จดหมายเหตุ เรื่องทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์กรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑ หน้า ๑๗๔ ตอนหนึ่งว่า

“ศภมัสดุ พระพุทธสาสนกาลเปนอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๑๑ พรรษา บัตยุบันกาล มังกรสังวัจฉร บุศยมาส ชุษณปักษปัญจมีดิถีสุกรวาร บริเฉทกาลกำหนด พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ ฯลฯ พระจุฬาลงกรณเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริห์ว่า พระเจ้าราชวรวงศเธอ พระองค์เจ้าลม่อมนั้น มีบรรพาการิตาคุณวโรปการ ได้ทรงอภิบาล อุปถัมภ์บำรุงบริรักษ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ดำรงด้วยสุขสวัสดิ์นานานุประการ ดังหนึ่งสมเด็จพระราชชนนีตั้งแต่พระเยาว์มา คุมถึงเวลาทรงพระเจริญวัยดังพระหฤทัยจำนงประสงค์ เพื่อจะทรงพระเจริญรุ่งเรืองด้วยพระบรมราชอิศริยยศในที่ต่างๆ โดยสมควร แลเป็นที่สนิทชิดชอบพระราชอัธยาศรัยมากกว่าพระเจ้าราชวรวงศเธอพระองค์อื่นๆ สมควรเปนที่เคารพนับถือทั่วไปในพระราชวงศานุวงศ์ทั้งปวง จึงมีพระราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งให้สถาปนาพระเจ้าราชวรวงศเธอฝ่ายใน พระองค์เจ้าลม่อม เปนพระองคเจ้าต่างกรม มีพระนามตาม จาฤกไว้ในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าราชวรวงคเธอ กรมพระสุดารัตนราชประยูร วรรคเดช เปนอาทิ วรรคศรีเปนอักษร ทรงศักดินา ๑๕๐๐๐…”

ในช่วงแรกของการขึ้นครองราชย์นั้น เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระชนมายุเพียง ๑๕ พรรษา จึงต้องมีการตั้งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ได้แก่ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ส่วนราชการในพระบรมมหาราชวังและการพระคลังนั้น มีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงเป็นประธานว่าราชการดูแลพระบรมวงศ์และการภายในพระราชสำนัก ทั้งนี้ ได้ทรงมอบหมายให้พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมพระสุดารัตนราชประยูร เป็นผู้สำเร็จราชการฝ่ายใน ดูแลการทั้งปวงในพระราชฐาน เนื่องจากเป็นพระราชวงศ์ผู้ใหญ่และเป็นที่เคารพยำเกรงของข้าราชการฝ่ายในรวมถึงข้าราชการฝ่ายหน้าทั่วไป ดังพระนามที่ทรงได้รับการกล่าวขานว่า “ทูลกระหม่อมแก้ว” ได้ทรงจัดระเบียบบรรดาเจ้าจอมและเหล่าท้าวนางทั้งหลายให้เรียบร้อยขึ้น ทรงตรวจสอบทรัพย์สินพระราชทานของพระเจ้าลูกเธอทุกพระองศ์ พร้อมทั้งให้จัดทำบัญชีไว้เป็นหลักฐาน นับเป็นคุณประโยชน์ต่อฐานะความเจริญรุ่งเรืองของบรรดาพระเจ้าลูกเธอทั้งปวง และเป็นการรักษาพระเกียรติยศแห่งพระราชวงศ์ ที่สำคัญ คือเป็นพระเนตรพระกรรณช่วยทะนุบำรุงพระเจ้าน้องยาเธอในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อเป็นกำลังของแผ่นดินต่อไป นอกจากนี้ยังทรงให้เปลี่ยนแปลงการแต่งกายของนางในพระราชฐานจากนุ่งโจงเป็นนุ่งจีบ ซึ่งถือเป็นการแต่งกายชั้นสูง และในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เป็นการแต่งกายสำหรับการพระราชพิธีที่สำคัญโดยให้ห่มตาดเป็นยศ

ด้วยเหตุที่พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมพระสุดารัตนราชประยูรทรงบำเพ็ญพระคุณูปการต่อแผ่นดิน และพระราชวงศ์เป็นอเนกประการสืบเนื่องมาโดยตลอด ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๑๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็นพระบรมมไหยิกาเธอ กรมสมเด็จ พระสุดารัตนราชประยูร มีเจ้ากรมเป็นพระยา ดังความตามประกาศในหนังสือจดหมายเหตุเรื่องทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์กรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑ หน้า ๑๙๒ ตอนหนึ่งว่า

“…บัดนี้ทรงพระอนุสรรำพึงจะทรงแสดงพระกตัญญุตากตเวทิตาคุณให้ไพบูบยภิยโยยิ่งขึ้นไปเปนปัตโยปการาธิการกิจ ทดแทนบรมบรรพาธิการ ฉลองพระคุณให้เต็ม พระบรมราชประสงค์ ให้ได้รับดำรงค์พระบรมราชอิศริยยศใหญ่ยิ่งขึ้น สูงเสมอสมเด็จพระบรมราชชนนี ซึ่งมีพระคุณเป็นที่ยิ่งใหญ่แลมีพระอัธยาศรัยเรียบร้อย ดำรงอยู่ในสัตย¬สุจริต สมควรเป็นใหญ่ฝ่ายในพระบรมมหาราชวัง ที่เคารพนับถือทั่วไปในพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งปวงได้ จึงมีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสสั่งให้เลื่อนพระนาม พระเจ้าราชวงศ์เธอ กรมพระสุดารัตนราชประยูรขึ้นเปนสมเด็จเปลี่ยนพระบรมสมญานาม ข้างต้นตามจาฤกในพระสุพรรณบัฏว่า พระบรมมไหยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร ดังนี้…”

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า พระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประการหนึ่ง คือ การเสด็จประพาสแปรพระราชฐานไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อสอดส่องดูแลทุกข์สุขของราษฎรและทอดพระเนตรความเป็นไปของบ้านเมือง ในการเสด็จฯ แต่ละครั้ง จะมีข้าราชการทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายในร่วมกระบวนเสด็จฯ ด้วย ทั้งนี้ได้โปรดมอบหมาย “เสด็จยาย” ทรงเป็นประธานเสมอ

กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูรเสด็จสวรรคตด้วยพระโรคชราเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๙ สิริรวมพระชันษา ๗๘ ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงถวายพระเกียรติยศสนองพระราชกุศลในงานพระบรมศพอย่างสมพระเกียรติเทียบเท่ากับสมเด็จพระพันปีหลวง โปรดให้เจ้าพนักงานจัดเศวตฉัตร ๗ ชั้น ถวายเป็นเครื่องเพิ่มเติมพระเกียรติยศ และการสิ้นพระชนม์นั้นให้เรียกว่า “เสด็จสวรรคต” เช่นเดียวกับสมเด็จพระบรมราชชนนี ดังความตามคำประกาศในหนังสือจดหมายเหตุเรื่องทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์กรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑หน้า ๓๔๖ – ๓๔๗ ว่า

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์…ทรงพระรำพึงถึงพระคุณแห่งพระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร ซึ่งได้ทรงอุปถัมภ์บำรุง พระองค์มาจำเดิมแต่พระบรมปสูติกาล จนได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ โดยพระหฤทัย มั่นคงจงรักตลอดมาจนถึงเวลาสิ้นพระชนม์ เหมือนอย่างสมเด็จพระบรมราชชนนี ก็ได้ทรง ยกย่องขึ้นไว้ ให้มีพระเกียรติยศใหญ่อย่างสมเด็จพระราชชนนี มีเว้นว่างอยู่บ้าง บัดนี้เสด็จสิ้นพระชนม์ไปเปนที่ทรงพระอาลัย รลึกพระคุณเปนอันมาก พระองค์เป็นผู้สมควรที่จะได้รับพระเกียรติยศใหญ่เสมอด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนีโดยแท้

จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานจัดเศวตฉัตร ๗ ชั้น ถวายเปนเครื่องเพิ่มเติมพระเกียรติยศ แลการสิ้นพระชนม์นั้น ให้เรียกว่าเสด็จสวรรคตเหมือนอย่าง สมเด็จพระบรมราชชนนี คำที่จะใช้ในบาดหมายราชการทั้งปวงให้ใช้ดังที่ได้ประกาศมานี้ทุกประการ

ประกาศมา ณ วันอังคารที่ ๒๕ สิงหาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๕ เปนวันที่ ๑๐๑๕๐ ในรัชกาลปัตยบันนี้ (พ.ศ. ๒๔๓๙)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เก็บพระศพ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร ไว้เป็นเวลา ๔ ปี จึงได้โปรดเกล้าฯ ถวายพระเพลิง ณ พระเมรุวัดบวรสฐาน ใน พ.ศ. ๒๔๔๔ ครั้นต่อมาใน รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนการออกพระนามเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: อิสรีย์ ธีรเดช