สวรรค์ชั้นนิมมานรดี

นับจากสวรรค์ชั้นดุสิตขึ้นไป ๒,๖๘๘,๐๐๐,๐๐๐ วา หรือ ๓๓๖,๐๐๐ โยชน์ ก็ถึงสวรรค์ชั้นนิมมานรดี ซึ่งมีปราสาทแก้วปราสาททองเป็นที่อยู่ของเทวดา มีกำแพงแก้ว Exif_JPEG_PICTUREกำแพงทองล้อมรอบ และมีแผ่นดินเป็นทองราบเรียบเสมอกันทุกแห่ง งดงาม มีสระนํ้า อาบนํ้า สรงนํ้าพร้อมสรรพและมีสวนแก้วเหมือนสวรรค์ชั้นดุสิต แต่งามขึ้นไปอีก เทวดาที่อยู่ในสวรรค์ชั้นนี้ หากปรารถนาจะได้สิ่งใด ก็จะเนรมิตสิ่งนั้นขึ้นมาเองตามใจปรารถนาได้ทุกประการ เทวดาทั้งหลายสนุกสนานอยู่กับนางฟ้าทั้งหลายด้วยใจนั้นเอง จึงเรียกสวรรค์ชั้นนี้ว่า นิมมานรดี เทวดาในชั้นฟ้านี้อายุยืนได้ ๘,๐๐๐ ปีทิพย์ หรือ ๒,๓๐๔,๐๐๐,๐๐๐ ปีในเมืองมนุษย์

คณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน

สวรรค์ชั้นดุสิต

นับจากสวรรค์ชั้นยามาขึ้นไปอีก ๑,๓๔๔,๐๐๐,๐๐๐ วา หรือ ๑๖๘,๐๐๐ โยชน์จะถึงสวรรค์ชั้นดุสิต สวรรค์ชั้นนี้มีวิมานเป็นปราสาทแก้วและปราสาททอง มีกำแพงแก้วสวรรค์ชั้นดุสิตล้อมรอบไม่ว่าจะเป็นความกว้าง ความสูง ความงามนั้น มีมากกว่า ปราสาทของเทวดาทั้งหลายในสวรรค์ชั้นยามาทั้งสิ้น มีสระและสวนเช่นในสวรรค์ชั้นฟ้าทั้งหลาย เทวดาผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นนี้ คือ พระสันดุสิตเทพยราช เทวดา ทั้งหลายในสวรรค์ชั้นดุสิตนี้ รู้บุญ รู้ธรรม แม้แต่พระโพธิสัตว์ผู้สร้างสมบารมี ก่อนจะเสด็จลงมาเป็นพระพุทธเจ้า ก็สถิตอยู่ในสวรรค์ชั้นนี้ ขณะนี้พระศรีอาริยเมตไตรยผู้จะเสด็จลงมาเป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไปในภัทรกัลป์นี้ก็สถิตอยู่ที่สวรรค์ชั้นนี้และเทศนาธรรมให้เทวดาทั้งหลายฟังอยู่ทุกเมื่อมิได้ขาด อายุของเทวดา ในชั้นนี้ ยืนถึง ๔,๐๐๐ ปีทิพย์ หรือ ๕๗๖,๐๐๐,๐๐๐ ปีในเมืองมนุษย์

คณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน

สวรรค์ชั้นยามา

นับจากดาวดึงส์สวรรค์ขึ้นไป ๖๗๒,๐๐๐,๐๐๐ วา หรือ ๘๔,๐๐๐ โยชน์ ก็จะถึงชั้นฟ้าชื่อ ยามา เทวดาที่อยู่ในชั้นฟ้านี้จะมีปราสาทแก้ว ปราสาททองเป็นวิมาน มีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีสวนอุทยานแก้วและมีสระโบกขรณี เทวดาทั้งหลาย ในชั้นนี้มีหน้าตารุ่งเรืองงดงามยิ่งนัก กายสูง ๘,๐๐๐ วา เทวดาผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นฟ้านี้ ชื่อ พระสุยามเทวราช ในชั้นฟ้านี้ไม่มีแสงอาทิตย์เลยสวรรค์ชั้นยามาเพราะอยู่สูงกว่าพระอาทิตย์มากนัก เทวดาทั้งหลายมองเห็นได้ด้วยแสงรัศมีจากแก้วทั้งหลาย และรัศมีจากตัวเทวดานั่นเอง ส่วนจะรู้ว่าเช้าหรือคํ่าได้ก็อาศัยดูจากดอกไม้ทิพย์ ถ้าเห็นดอกไม้ทิพย์บานจึงรู้ว่ารุ่งเช้า ถ้าเห็นดอกไม้นั้นหุบ จึงรู้ว่าเป็นยามกลางคืน อายุเทวดาในชั้นฟ้านี้ยืนถึง ๒,๐๐๐ ปีทิพย์ หรือ ๑๔๔,๐๐๐,๐๐๐ ปีในเมืองมนุษย์

คณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน

สวรรค์ชั้นดาวดึงส์

เหนือสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาขึ้นไป ๓๓๖,๐๐๐,๐๐๐ วา เป็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ เป็นที่อยู่ของพระอินทร์ผู้เป็นใหญ่ในหมู่เทวดาทั้งหลาย อาณาเขตของเมืองที่พระอินทร์อยู่นี้กว้าง ๘,๐๐๐,๐๐๐ วา มีปราสาทแก้ว มีสถานที่สำหรับเล่นเพลิดเพลินจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์1ประตูเมืองด้านตะวันออกไปถึงประตูเมืองด้านตะวันตก กว้าง ๘,๐๐๐,๐๐๐ วา จากประตูเมืองด้านใต้ไปถึงประตูเมืองด้านเหนือ กว้าง ๘,๐๐๐,๐๐๐ วา มีกำแพงแก้วล้อมรอบเมืองและมีประตูทั้งหมดโดยรอบ ๑,๐๐๐ ประตู ทุกประตูมียอดเป็นปราสาท ทำด้วยทอง ประดับด้วยแก้ว ๗ ประการ ประตูนั้นวัดตั้งแต่เชิงประตูขึ้นไปถึงยอดปราสาทสูง ๒๕๐,๐๐๐ วา เวลาเปิดปิดประตูจะมีเสียงดังไพเราะราวกับดนตรีเป็นที่พึงพอใจ เทวดาที่อยู่ในนครดาวดึงส์สามารถได้ยินเสียงร้องของช้างแก้ว และเสียงของราชรถแก้วอันไพเราะเป็นที่พออกพอใจยิ่ง

กลางนครดาวดึงส์นั้นมีปราสาทชื่อ ไพชยนต์ปราสาท สูง ๒๕,๖๐๐,๐๐๐ วา งดงามด้วยแก้ว ๗ ประการ สุดจะพรรณนา เป็นที่ประทับของพระอินทร์ผู้เป็นใหญ่ ทางทิศตะวันออกของนครดาวดึงส์ มีสวนทิพย์ชื่อ นันทนวัน มีอาณาเขต โดยรอบวัดได้ ๘๐๐,๐๐๐ วา ล้อมด้วยกำแพงแก้วโดยรอบ มีปราสาทแก้วเหนือประตูทุกประตู สวนนี้เป็นสวนสนุก มีสมบัติทิพย์และต้นไม้ทั้งหลายทั้งไม้ผลไม้ดอกมากมาย เป็นสถานที่เล่นสนุกสนานสำหรับสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เทวดาทั้งหลายในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ใกล้ๆ อุทยานก่อนจะเข้าสู่นครนั้น มีสระใหญ่ ๒ สระ ชื่อ นันทาโบกขรณี และจุลนันทาโบกขรณี นํ้าในสระนั้นใสงามดังแผ่นแก้วอินทนิล เรืองงามราวกับมีแสงฟ้าแลบจับอยู่บนผิวนํ้านั้น มีแท่นหินแก้วใกล้สระนั้น ๒ แผ่น ชื่อ นันทาปริฐิปาสาณ และจุลนันทาปริฐิปาสาณ แผ่นหินแก้วทั้งสองแผ่นนี้มีรัศมีรุ่งเรืองยิ่งนัก เวลาจับต้องแผ่นหินนี้อ่อนนุ่มราวกับแผ่นหนังเหน

ด้านทิศใต้ของนครดาวดึงส์ มีสวนอุทยานใหญ่ชื่อ ผารุสกวัน ต้นไม้ที่อยู่ในสวนนี้มีลักษณะอ่อนค้อมราวกับมีผู้ดัดไว้ รอบสวนมีกำแพงแก้วล้อม และมีปราสาทแก้วอยู่เหนือประตูทุกประตู อาณาเขตของอุทยานวัดได้ ๕,๖๐๐,๐๐๐ วา ในอุทยานก่อนจะเข้าตัวเมืองมีสระใหญ่ ๒ สระ ชื่อ ภัทราโบกขรณี และ สุภัทราโบกขรณี ริมฝั่งสระมีก้อนหินแก้ว ๒ ก้อน ชื่อ ภัทราปริฐิปาสาณ และสุภัทราปริฐิปาสาณ เวลาจับต้องหินนี้อ่อนนุ่มและเกลี้ยงเกลาราวกับแผ่นหนังสาน

ทางทิศตะวันตกของนครดาวดึงส์ มีอุทยานใหญ่อีกแห่งหนึ่ง เป็นที่เล่น สนุกสนานถูกใจเทวดาทั้งหลาย อุทยานนี้งดงามมาก ชื่อ จิตรลดา ต้นไม้และเถาวัลย์ในสวนนี้สวยงามราวกับมีผู้แต่งประดับไว้ มีกำแพงแก้วล้อมสวนนี้โดยรอบและมีปราสาทแก้วเหนือประตูทุกประตู ดูรุ่งเรืองงดงามไปทั่วอุทยานโดยรอบวัดได้ ๔๐๐,๐๐๐ วา ในอุทยานด้านที่จะเข้าสู่เมืองมีสระ ๒ สระ ชื่อ จิตรโบกขรณี และ จุลจิตรโบกขรณี สระแต่ละสระมีแผ่นศิลาแก้วอยู่ ๑ อันๆ หนึ่งชื่อ จิตรปาสาณ อีกอันหนึ่งชื่อ จุลจิตรปาสาณ ดูรุ่งเรืองเหลือบงามมาก เมื่อจับต้องดู จะอ่อนนุ่มราวกับแผ่นหนังสาน ทวยเทพทั้งหลายทั้งเทพบุตรเทพธิดาจะพากันไปเล่นเป็นที่เพลิดเพลินในสวนอุทยานแห่งนี้

ทางทิศเหนือของนครดาวดึงส์ มีสวนอุทยานใหญ่ชื่อ มิสสกวัน บรรดา ต้นไม้และเถาวัลย์ในสวนนี้งามราวกับมีผู้แต่งไว้ มีกำแพงแก้วล้อมรอบสวน และมีปราสาทแก้วอยู่เหนือประตูทุกประตู วัดโดยรอบสวนได้
๔,๐๐๐,๐๐๐ วา ในอุทยานด้านใกล้ตัวเมืองจะมีสระใหญ่ ๒ สระ ชื่อ ธรรมาโบกขรณี และ สุธรรมาโบกขรณี ริมฝั่งสระนั้นมีก้อนหินแก้ว ๒ ก้อน ชื่อ ธรรมาปริฐปาสาณ และ สุธรรมาปริฐปาสาณ หินนั้นมีรัศมีรุ่งเรืองสวยงามและอ่อนนุ่มราวแผ่นหนังเหน

ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของนครดาวดึงส์ มีสวนใหญ่ชื่อ มหาพน เป็นสวนสนุกเพลิดเพลิน กำแพงล้อมรอบเป็นทองคำ และมีปราสาทแก้วอยู่เหนือประตูทุกแห่ง โดยรอบสวนวัดได้ ๖๐๐,๐๐๐ วา ในสวนมหาวันนี้มีปราสาททองคำ ๑,๐๐๐ หลัง ประดับด้วยแก้ว ๗ ประการ ระหว่างสวนมหาวัน และสวนนันทนวัน มีสระแก้วงดงามประดับด้วยแก้ว ๗ ประการ ใต้พื้นสระนี้วัดได้ ๘๐๐,๐๐๐ วา และมีแท่นแก้วอยู่ในรถไพชยนต์ กว้าง ๘,๐๐๐ วา ยาว ๘,๐๐๐ วา เหนือกลางแท่นแก้วมีกลดแก้วกางอยู่กว้างหนึ่งโยชน์ แท่นแก้วนั้นมองดูขาว และกลดแก้วนั้น เปรียบเสมือนแสงอาทิตย์ส่องลงมาเหนือแสงจันทร์ในคืนเดือนแรม หัวรถไพชยนต์ มีม้าแก้ว ๒,๐๐๐ ตัว เทียมอยู่ข้างละ ๑,๐๐๐ ตัว ม้าทุกตัวมีเครื่องแก้วประดับ และรถก็เป็นทองคำประดับด้วยแก้ว ๗ ประการ มีสร้อยมุกดาห้อยประดับพร้อมทั้งมาลัยดอกไม้ทิพย์ และแก้วทองห้อยประดับอยู่มากมาย อีกทั้งยังมีสะไบแก้ว และพรวนทองมีรัศมีงดงามราวสายอินทรธนู และสายฟ้าแลบดังแสงอาทิตย์ไม่สามารถจะพรรณนาถึงความงามได้ถ้วนทั่ว เวลาลมพัดจะได้ยินเสียงดังก้อง ราวเสียงพิณพาทย์ฆ้องกลองและแตรสังข์ที่เทวดาตีในเมืองฟ้า

เมื่อขึ้น ๘ คํ่า ๑๕ คํ่า แรม ๘ คํ่า ๑๕ คํ่า หรือ ๑๔ คํ่า ท้าวธตรฐราชผู้ เป็นใหญ่ในหมู่เทวดาบนเขายุคันธร ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของเขากำแพงจักรวาล พร้อมทั้งหมู่คนธรรพ์ที่ประดับประดาไปด้วยเงินและทอง ตั้งแต่ศีรษะตลอดถึงทั่วลำตัว มีเงินทองมากกว่าร้อยล้านมีเครื่องแห่แหนและหอก ดาบ จามรจามรี ล้วนแต่เป็นเงินและทองทั้งสิ้น เทวดาบางพวกถือค้อนถือสากทำด้วยเงินและทอง บางพวกถือธงเงินธงทอง เทวดาทั้งหลายนี้ก็เดินทางมาในอากาศจากเมืองที่ยอดเขายุคันธรนี้ ตรงไปยังทิศตะวันออกของกำแพงจักรวาล

ยังมีท้าวพระยาอีกองค์หนึ่ง ชื่อ ท้าววิรุฬหกราช เป็นใหญ่ในหมู่ผีเสื้อ ผีกุมภัณฑ์ทั้งหลาย กว้างใหญ่ไปจนถึงทิศใต้ของกำแพงจักรวาล เครื่องประดับกายของท้าววิรุฬหกราชและบริการล้วนเป็นแก้วมณีงดงามมาก จำนวนไม่รู้กี่ร้อยกี่พันล้าน หมู่เทวดาถือค้อนและกระบองทำด้วยแก้วมณี ท้าววิรุพหกราชนั้น ทรงม้ามีเครื่องประดับเป็นแก้วมณี นำพลไปทางอากาศไปจนถึงด้านทิศใต้ของกำแพงจักรวาล

นอกจากนั้นก็ยังมีท้าววิรูปักขราช ผู้เป็นใหญ่ปกครองเหล่านาคราช ทั้งหลายตลอดแดนทางทิศตะวันตกของกำแพงจักรวาล มีเทวดาเป็นบริวารไม่รู้ว่ากี่ร้อยล้าน ล้วนประดับประดาไปด้วยแก้วมณีงดงามยิ่ง หมู่เทวดาถือสาก ค้อน จามรี ทำด้วยแก้วมณี ท้าววิรูปักขราชนำพลเดินทางไปในอากาศตรงไปถึงทิศตะวันตกของกำแพงจักรวาล อันเป็นที่ตั้งของเขายุคันธร

ท้าวไพศรพณ์มหาราช ผู้เป็นใหญ่ปกครองหมู่ยักษ์และเทวดาทั้งหลาย ทางด้านทิศเหนือของกำแพงจักรวาล ทางทิศเหนือของเขาพระสุเมรุ เครื่องประดับกายของท้าวไพศรพณ์และบริวารเป็นทองเนื้อสุกงาม หมู่ยักษ์ทั้งหลายบ้างก็ถือ ค้อนถือสากและจามรีล้วนเป็นทองคำทั้งสิ้นไม่รู้ว่ากี่ร้อยล้าน หมู่ยักษ์เหล่านี้มีหน้าตาน่ากลัว ท้าวไพศรพณ์มหาราชทรงม้าสีเหลืองดังทอง ขับพลนำไปถึงกำแพงจักรวาลด้านทิศเหนือเขาพระสุเมรุ เดินทางไปทางอากาศจนถึงเขายุคันธรด้านทิศเหนือ

ที่เขาพระสุเมรุนั้น มีช้างตัวหนึ่งชื่อ ไอยราพต ช้างตัวนี้ไม่ใช่สัตว์เดรัจ- ฉาน เพราะในเมืองสวรรค์ไม่มีสัตว์เดรัจฉานอยู่เลย มีแต่เทวดาทั้งสิ้น มีเทวดาองค์หนึ่งชื่อเอราวัณเทวบุตร ยามเมื่อพระอินทร์เสด็จไปเล่นที่ใดก็ตาม และพระองค์ประสงค์จะทรงช้างไป เอราวัณเทวบุตรก็จะเนรมิตตัวเป็นช้างเผือกเชือกใหญ่ สูง ๑,๒๐๐,๐๐๐ วา มีเศียร ๓๓ เศียร มีเศียรเล็กๆ อีก ๒ เศียรอยู่รอบนอกเศียรใหญ่เหล่านั้น เศียรใหญ่มีขนาด ๒,๐๐๐ วา เศียรต่างๆ ถัดเข้าไปขนาด ๓,๐๐๐ วา, ๔,๐๐๐ วา, ๕,๐๐๐ วา, ๖,๐๐๐ วา แต่ต่อๆ ไปกว้างขึ้นตามลำดับเช่นนี้ เศียรใหญ่ ที่สุดตรงกลางชื่อ สุทัศน์ เป็นที่ประทับของพระอินทร์ กว้างได้ ๒๔๐,๐๐๐ วา เหนือเศียรนี้มีแท่นแก้วกว้าง ๙๖,๐๐๐ วา มีปราสาทตั้งอยู่กลางแท่นแก้วนี้ มีธงแก้ว จำนวนมากสูง ๘,๐๐๐ วา ทำด้วยแก้ว ๗ ประการ มีพรวนทองคำห้อยประดับ กวัดแกว่งไปมา มีเสียงดังไพเราะนัก ราวกับเสียงพิณพาทย์ในเมืองสวรรค์ในปราสาทนั้น เพดานตกแต่งไว้ด้วยผ้าทิพย์ มีแท่นบรรทมกว้าง ๘,๐๐๐ วา พร้อมด้วยราชอาสน์หมอนใบใหญ่ใบเล็กและหมอนพิง องค์พระอินทร์นั้นสูง ๖,๐๐๐ วา ประดับด้วยอาภรณ์ต่างๆ ทรงประทับเหนือแท่นแก้วบนเศียรช้าง ๓๓ เศียร และทรงให้เทวดาทั้งหลายผู้มีบุญบารมีเท่าพระองค์นั่งเหนือเศียร ๒๒ เศียร

เศียรช้างทั้ง ๓๓ เศียรนั้น แต่ละเศียรมีงา ๗ งา อันหนึ่งยาว ๔๐๐,๐๐๐ วา งาหนึ่งมีสระ ๗ สระ แต่ละสระมีกอบัว ๗ กอ แต่ละกอมีดอกบัว ๗ ดอก ดอกหนึ่งมี ๗ กลีบ กลีบหนึ่งมีนางฟ้ายืนร่ายรำอยู่ ๗ นาง แต่ละนางมีบริวาร ๗ ตน รวมกัน ทั้งหมดแล้ว ช้าง ๓๓ เศียร มีงา ๒๓๑ งา สระ ๑,๖๑๗ สระ กอบัว ๑๑,๓๑๙ กอ ดอกบัว ๗๙,๒๓๓ ดอก ๕๕๔,๖๓๑ กลีบ มีนางฟ้าร่ายรำ ๓,๘๘๒,๔๑๗ นาง มีบริวารทั้งหมด ๒๗,๑๗๖,๙๑๙ นาง ทั้งหมดนี้อยู่ในงาช้างเอราวัณ และยังมีบริเวณกว้าง ๕๐ โยชน์ เป็นที่อยู่ของนางระบำและบริวารทั้งหลายด้วย

เมื่อพระอินทร์เสด็จประทับเหนือแท่นแก้วเหนือเศียรช้างเอราวัณนั้น นางสุธัมมามเหสีผู้ประเสริฐของพระอินทร์พร้อมบริวารประดับด้วยเครื่องถนิมอาภรณ์งดงามด้วยแก้ว ๗ ประการ ก็ประทับเฝ้าอยู่ทางเบื้องซ้ายของพระอินทร์ มเหสีอีกองค์คือ สุชาดา ผู้ทรงศีลมิได้ขาด ประดับเครื่องอาภรณ์พร้อมบริวาร ประทับเฝ้าอยู่ทางเบื้องขวาของพระอินทร์ ส่วนนางสุนันทา มเหสีอีกองค์หนึ่ง ประดับกายด้วยเครื่องประดับทำด้วยแก้ว ๗ ประการ พร้อมบริวารก็ ประทับเฝ้าอยู่ด้านหลังของพระอินทร์ ส่วนนางสุจิตรา มเหสีอีกองค์หนึ่ง ตกแต่งกายงดงาม พร้อมด้วยบริวาร ประทับเฝ้าอยู่ทางเบื้องซ้าย ถัดจากนั้นรอบนอก ออกไปก็มีนางฟ้าที่เป็นมเหสีของพระอินทร์อีก ๙๒ นาง ประทับเฝ้าอยู่ มีดวงหน้างดงามและประดับประดาด้วยเครื่องอาภรณ์ล้วนแต่เป็นแก้วแหวนเงินทองทั้งสิ้น บ้างก็ถือกระออมแก้ว บ้างก็ถือคนที จามรี จามรแก้ว บ้างก็ถือธงแก้วและธงทองแกว่งไกวไปมา เครื่องแห่แหนนี้ล้วนแต่เป็นแก้ว ๗ ประการทั้งสิ้น ถัดออกไปก็มีนางบริวารสาวใช้มากมาย บางคนก็ถือคนทีทองกระออมทอง ถัดออกไปอีกก็มีบรรดานางฟ้าชาวสวรรค์มากมาย ฟ้อนรำถวายพระอินทร์อยู่

มีเทพธิดาองค์หนึ่งชื่อ คิดครา ถือพิณชื่อ มหาวีณา ยามเมื่อนางดีดพิณ อันนี้ พิณอื่นๆ อีก ๖๐,๐๐๐ อัน ก็จะดังขึ้นมาเองด้วย มีเสียงไพเราะนักหนา เทพธิดาอีกองค์หนึ่งชื่อ สาธุ เป่าปี่คู่หนึ่งชื่อ สุภัทรา ยามเมื่อนางเป่าปี่คู่นี้ ปี่อื่นๆ อีก ๖๐,๐๐๐ เลาก็จะดังขึ้นมาเองด้วย มีเสียงไพเราะราวกับมีผู้เป่าด้วย นางฟ้าชื่อ หสัจจนารี ดีดพิณชื่อ มธุรตระ มีเสียงเพราะเป็นที่พึงพอใจ นางฟ้ามณีเมขลา เป่าสังข์ใหญ่ ชื่อ พิชัยสังขะ เมื่อเป่าสังข์อันนี้ สังข์อีก ๖๐,๐๐๐ อัน ก็จะดังขึ้นมาเองด้วยราวกับมีผู้เป่าไพเราะมาก เทพธิดามหาตุมุทิงคสังขะ ตีตะโพนอันหนึ่ง ชื่อ ปุถุพิมพนะ เวลาตีตะโพนนี้ ตะโพนทั้งหลายอีก ๖๐,๐๐๐ อันก็จะดังขึ้นมาด้วย เทพธิดาชื่อ ตปนัคคิ ตีกลองชื่อ อานันทเภรี เวลานางตีกลองนี้ กลองอื่นอีก ๖๐,๐๐๐ ลูก ก็จะดังขึ้นด้วยไพเราะมาก เทพธิดาชื่อ ปนัคคิ ตีกลองหน้าเดียวชื่อ รณมุขเภรี เวลาตีแล้วกลองหน้าเดียวอีก ๖๐,๐๐๐ ลูก ก็จะดังขึ้นมาด้วย เทพธิดานันทา ตีกลองใหญ่ชื่อ โกฬมธุรสสุรเภรี เมื่อตีกลองนี้ กลองใหญ่อื่นๆ อีก ๖๐,๐๐๐ ลูก ก็จะดังขึ้นมาเองอีกด้วย เทพธิดายามา ตีบัณเฑาะว์ชื่อ โบกขรบัณเฑาะว์ ทำให้บัณเฑาะว์อื่นๆ อีก ๖๐,๐๐๐ อันดังขึ้นมาด้วย เทพธิดา สรโฆสสุร เป่าปี่ไฉนแก้ว ชื่อ นันทไฉน เมื่อเป่าปี่นี้ ปี่อื่นๆ อีก ๖๐,๐๐๐ เลาก็จะดังขึ้นมาเองอีกด้วยเช่นกัน ราวกับมีผู้เป่าไพเราะมาก เทพธิดาชื่อ สรพางคณา ตีกลองใหญ่ชื่อ ทัสสโกฏส เมื่อนางตีกลองนี้กลองอื่นๆ อีก ๖๐,๐๐๐ กลองก็จะดังขึ้นมาเอง ไพเราะมาก หมู่เทพธิดาทั้งหลายนี้มากมายนักมีชื่อต่างๆ กัน ถือปัญจางคิกดุริย ๕ สิ่ง ได้แก่ อาตตะะ พิตตะ อาตตพิตตะ ฆนะ และ สุริระ เครื่องดนตรี ๕ อย่างนี้ เวลาบรรเลง จะมีเสียงดังผสมผสานเป็นเสียงเดียวกัน เครื่องดนตรีปัญจางคิกอื่นจำนวน ๖๐,๐๐๐ อัน ซึ่งเป็นพวกเดียวกับปัญจางคิกดุริยะนั้นก็จะดังขึ้นมาเองด้วยราวกับมีผู้ดีดสี ตีเป่าด้วย มีเสียงไพเราะยิ่งนัก

มีคนธรรพ์ตนหนึ่งชื่อ สุธรรมา ตีกลองใหญ่ชื่อ สุรันธะ สะพายเหนือบ่า ด้านหนึ่ง เวลาตีมีผลให้กลองใหญ่อีก ๖๘,๐๐๐ ใบ มีเสียงดังขึ้นพร้อมกันตาม จังหวะเพลงระบำไพเราะยิ่ง ได้ยินไปได้โดยรอบถึง ๔๐๐,๐๐๐ วา เหล่าคนธรรพ์ และเทพธิดาทั้งหลายก็ฟ้อนรำเข้ากับเสียงกลองนี้ ที่เหนือเขาจักรวาลด้านทิศตะวันออก คนธรรพ์อีกตนหนึ่งชื่อ พิมพรุสกะ สะพายกลองหน้าเดียวลูกหนึ่งชื่อ เอกโบกขรเภรี บรรเลงเป็นเพลงคนธรรพ์ ทำให้หมู่กลองหน้าเดียวอีก ๖๘,๐๐๐ ใบ ดังขึ้นมาเองด้วย ไพเราะมากราวกับมีผู้บรรเลง ในบริเวณนั้นโดยรอบ ๔๐๐,๐๐๐ วา หมู่คนธรรพ์ เทพยดาทั้งหลายก็จะเต้นระบำรำฟ้อนไปกับเพลงคนธรรพ์อยู่ที่ปลายกำแพงจักรวาล ทิศใต้ของเขาพระสุเมรุ คนธรรพ์อีกตนหนึ่งชื่อ ทีฆมุขะ สะพายกลองใหญ่ชื่อ มหาภัณฑเภรี ตีกลองนี้อยู่บนกำแพงจักรวาล ด้านทิศตะวันตกของเขาพระสุเมรุเมื่อตีกลองนี้นั้น กลองอื่นๆ ในที่นั้นอีก ๖๘,๐๐๐ ใบก็จะดังขึ้นมาเอง อีกเป็นเสียงเดียวกัน มีหมู่คนธรรพ์เทวดามากมายฟ้อนรำอยู่ในบริเวณนั้นโดยรอบ ๔๐๐,๐๐๐ วา ส่วนคนธรรพ์ชื่อ ปัญจสิขร สะพายกลองใหญ่ชื่อ สัสสสุระ เวลาตีกลองนี้ กลองอื่นอีก ๖๘,๐๐๐ อันก็จะดังขึ้นเองด้วย ในบริเวณโดยรอบ ๔๐๐,๐๐๐ วา หมู่คนธรรพ์เทวดามากมายก็จะฟ้อนรำระบำเต้นอยู่เหนือเขาจักรวาล ด้านทิศเหนือของเขาพระสุเมรุ ทั้งหมดที่พรรณนามานี้คือไพร่ฟ้าข้าไทบริวารของพระอินทร์นั่นเอง รวมทั้งท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ ก็จะพาบริวารไปเฝ้าพระอินทร์ และยังมีพระยายักษ์อีก ๒๘ ตน พร้อมอาวุธครบครันแห่แหนเข้าเฝ้าพระอินทร์อยู่

พระอินทร์นั้นประดับเครื่องอาภรณ์งดงามดังได้กล่าวแล้ว พร้อมด้วย หมู่เทวดาบริวารทั้งหลายก็ล้วนแต่ประดับด้วยเครื่องอาภรณ์ทำด้วยแก้ว ๗ ประการ มีสีสันต่างๆ งดงามยิ่งเข้าเฝ้าพระอินทร์อยู่มากมายนับไม่ถ้วน รวมทั้งนางฟ้าทั้งหลายที่เป็นมเหสีของพระอินทร์อีก ๒๕,๐๐๐,๐๐๐ องค์ บ้างก็ถือกานํ้า คือ กละออมแก้ว กละออมทอง และฉัตรพัดธงจามรีต่างๆ ประดับประดาสวยงามเกินกว่าจะพรรณนาได้ นอกจากนั้นก็มีหมู่คนธรรพ์ฟ้อนรำอีก ๒๔๐,๐๐๐,๐๐๐ คน ตีกลองตีฉิ่งเป็นเพลงคู่ไปกับเสียงพิณพาทย์ดนตรี ฟ้อนรำเล่นกันทั่วไปที่เขา จักรวาลทั้ง ๔ ทิศ กลิ่นเครื่องหอมดอกไม้กระจายไปทั่วทุกแห่ง ขจรเข้าไปถึงพระอินทร์จนพระองค์ต้องเสด็จลงไปเล่นที่สวนสนุกนั้นด้วย บางครั้งพระอินทร์ ก็เสด็จลงจากข้างไอยราพตดำเนินเล่นไปในสวนสนุกนั้น ท่ามกลางนางฟ้าบริวารทั้งหลาย ประดับด้วยอาภรณ์อันประเสริฐต่างๆ ดำเนินไปในเมืองสวรรค์อันกว้างได้ ๔๘๐,๐๐๐ วา

ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของนครดาวดึงส์นี้ มีพระเจดีย์องค์หนึ่งชื่อ พระจุฬามณีเจดีย์ รุ่งเรืองงามประดับด้วยอินทนิล ตั้งแต่กลางองค์เจดีย์ไปจนถึงยอดเป็นทอง ประดับด้วยแก้ว ๗ ประการ สูง ๘๐,๐๐๐ วา มีกำแพงทองล้อมรอบ กำแพงแต่ละด้านยาว ๑๖๐,๐๐๐ วา มีธงปฏากและธงชัย กลด ชุมสายทั้งหลาย ล้วนประดับด้วยแก้วเงินทองมีสีต่างๆ กัน ดำบ้าง แดงบ้าง เหลืองบ้าง ขาวและเขียวก็มี ล้วนแล้วแต่แก้ว ๗ ประการ ทำให้มองดูเลื่อมงามยิ่งนัก เทวดาทั้งหลายก็จะถือเครื่องดนตรีดีดสีตีเป่าต่างๆ มาบรรเลงบูชาถวายพระเจดีย์ทุกวันไม่มีขาด พระอินทร์ได้เสด็จไปนมัสการพระเจดีย์พร้อมหมู่เทพยดาและนางฟ้าบริวารทั้งหลายทรงนำข้าวตอกดอกไม้ ธูปเทียน ของหอมและชวาลาทั้งหลายถวายแก่องค์พระเจดีย์ไม่ได้ขาด และทรงทำปทักษิณพระเจดีย์ทุกวัน

นอกเมืองดาวดึงส์นี้ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีอุทยานชื่อบุณฑริกวัน อยู่ใกล้กับอุทยานชื่อมหาวัน สวนบุณฑริกวันนี้มีกำแพงล้อมรอบทั้ง๔ ด้าน ด้านละ ๑๖๐,๐๐๐ วา มีประตูแก้วและมีปราสาทแก้วเหนือประตูนั้นทุกประตูดังได้บรรยายมาแล้ว ในสวนอุทยานนี้มีต้นทองหลางใหญ่ต้นหนึ่งชื่อ ปาริชาตกัลปพฤกษ์ วัดโดยรอบพุ่มไม้ได้ ๒,๔๐๐,๐๐๐ วา โดยรอบต้นได้ ๑๒๐,๐๐๐ วา สูง ๘๐๐,๐๐๐ วา ใต้ต้นไม้นี้มีแท่นศิลาแก้วชื่อ ปัณฑุกัมพล ยาว ๔๘๐,๐๐๐ วา กว้าง ๔๐๐,๐๐๐ วา หนา ๑๒๐,๐๐๐ วา สีแดงเข้มราวดอกสะเอ้ง อ่อนนุ่มราวกับฟูกผ้าและหงอนของราชหงส์ทอง เมื่อพระอินทร์ประทับบนแท่นนี้ แท่นหินจะยุบลงไปเสมอสะดือ เมื่อทรงลุกขึ้น แท่นศิลาก็จะคืนรูปดังเดิม ใกล้กับต้นปาริชาตนั้น มีศาลาใหญ่ชื่อ สุธรรมาเทพยสภาคยศาลา งามยิ่งกว่าศาลาอื่นๆ ความกว้างและยาวเท่ากันคือ ๒,๔๐๐,๐๐๐ วา ความสูง ๔,๐๐๐,๐๐๐ วา วัดโดยรอบได้ ๗,๒๐๐,๐๐๐ วา พื้นศาลาเป็นแก้ว ๗ ประการ มีกำแพงทองล้อมรอบ มีดอกไม้ชนิดหนึ่งชื่อ อาสาพตี มีกลิ่นหอมมาก ดอกไม้นี้บานช้ามาก เวลา ๑ พันปีจึงจะบาน เทวดาทั้งหลายมีใจรักใคร่ดอกไม้นี้ เมื่อเห็นดอกไม้นี้บาน เทวดาจะผลัดเวียนกันไปเฝ้าดอกไม้นั้นตลอดพันปี เพราะใจรักดอกไม้นี้เอง

ดอกทองหลางชื่อ ปาริชาต นั้นร้อยปีจึงจะบาน หมู่เทวดาก็มีใจรักใคร่ ในดอกไม้นี้ เมื่อเห็นว่าดอกไม้กำลังจะบาน ก็จะผลัดเปลี่ยนกันไปเฝ้าจนกว่าดอกไม้จะบาน เมื่อดอกไม้บานทั่วทุกกิ่งก้านแล้ว จะมีแสงรุ่งเรืองงามมาก ส่งแผ่รัศมีไปไกลถึง ๘๐๐,๐๐๐ วา เวลาลมพัดกลิ่นหอมของดอกไม้นี้จะหอมไปได้ไกลถึง ๘๐๐,๐๐๐ วา เหล่าเทวดามิได้ขึ้นเก็บดอกไม้นี้เลยแม้แต่ครั้งเดียว เมื่อเทวดาผู้ใดใคร่จะเก็บดอกไม้นั้นไม่ว่าจะเอาผ้าไปห่อ หรือเอาผะอบไปใส่ ก็จะมีลมพัดดอกไม้นั้นให้หล่นตกไปในที่ที่ต้องการเอง ถ้าเทวดายังไม่ทันรับก็จะมีลมอีกชนิดหนึ่ง พัดดอกไม้เหล่านั้นเข้าไปในสุธรรมาเทวสภาคยศาลา ซึ่งมีธรรมาสน์แก้วกว้าง ๘,๐๐๐ วา อยู่ในศาลานั้น เมื่อดอกปาริชาตินั้นเหี่ยวแล้ว ก็จะมีลมจำพวกหนึ่งมาพัดดอกไม้นั้นออกไปจากสุธรรมาเทวสภาคยศาลานั้น และที่ศาลานั้นมีราชอาสน์ทิพย์ของพระอินทร์ อีกทั้งที่นั่งของเทวดาทั้ง ๓๒ องค์ ที่เคยได้กระทำบุญไว้ร่วมกับพระอินทร์ในปางก่อนเป็นอาสนะทิพย์เช่นกัน และยังมีที่นั่งของเทวดาทั้งหลายปูลาดด้วยผ้าทิพย์เรียงกันตามลำดับ เทวดาบางหมู่มีดอกไม้ทิพย์ปูลาดเป็นที่นั่ง บางหมู่มีดอกกรรณิการ์ทิพย์เป็นที่นั่ง มองดูเหลืองอร่ามเหมือนทองคำสุกปลั่ง ล้วนแต่เป็นที่นั่งของเทวดาทั้งหลายถ้วนทั่วทุกองค์

พระอินทร์เสด็จไปในสุธรรมาเทวสภาคยศาลา เพื่อให้เทวดาทั้งหลาย มาชุมนุมกันในที่นั้น มีลมพัดเอาละอองเกสรดอกไม้ทิพย์ทั้งหลายในนครดาวดึงส์เข้ามาในศาลานั้นแล้วตกลงบนตัวเทวดาซึ่งสูง ๖,๐๐๐ วา ทำให้มองดูเหลืองอร่าม เหมือนแต้มด้วยนํ้าครั่ง หมู่เทวดาเล่นเพลิดเพลินอยู่เช่นนี้เป็นเวลาถึง ๔ เดือน

เมื่อใดเทวดาทั้งหลายในนครดาวดึงส์ต้องการจะฟังธรรม ก็จะมีพรหม ตนหนึ่งชื่อสนังกุมาร ลงมาจากพรหมโลก เนรมิตตนเป็นคนธรรพ์ ชื่อ ปัญจสิขร ปัญจสิขรคนธรรพ์จะขึ้นนั่งเหนือธรรมาสน์เพื่อเทศนาธรรม เหตุที่พรหมเนรมิตตัวเป็นปัญจสิขรคนธรรพ์นั้นเพราะมีรูปงามเป็นที่พึงพอใจแก่เทวดาทั้งหลาย เมื่อยังอยู่ในโลกมนุษย์คนธรรพ์ผู้นี้ได้ทำบุญไว้มาก จึงได้ไปเกิดในจาตุมหา¬ราชิกาสวรรค์ มีกายสูง ๖,๐๐๐ วา ประดับไปด้วยเครื่องอาภรณ์ทั้งหลายล้วนเป็นแก้วเงินทองดูรุ่งเรืองงามราวกับภูเขาทอง ถ้าถอดเครื่องประดับอาภรณ์ออกจากกายคนธรรพ์แล้วใส่เกวียนในมนุษยโลก จะได้ถึง ๑,๐๐๐ เกวียน ส่วนกระแจะจันทน์ที่ทาตัวเทวดานั้น ถ้าขูดออกใส่ตุ่มและไหจะได้ถึง ๙ ตุ่ม ขนาดตุ่ม และไหแต่ละลูกนั้นสามารถจุข้าวได้ถึง ๔ กระเชอ ปัญจสิขรนุ่งผ้าขาวบริสุทธิ์ ใส่ตุ้มหูทั้งสองข้างงามยิ่งนัก เกล้าผมเป็น ๕ เกล้า มุ่นเป็นมวย ๕ มวย ห้อยปลายผมไปทางข้างหลัง การที่คนธรรพ์ผู้นี้เกล้าผมเป็น ๕ เกล้านี้ทำให้ได้ชื่อว่า ปัญจสิขร และเป็นที่พึงใจแก่เทวดาทั้งหลาย หากว่าพรหมสนังกุมารไม่มาเทศนาธรรมให้เทวดาทั้งหลายฟัง บางครั้งเทวดาในสวรรค์ที่เป็นผู้รู้ธรรมก็จะได้รับเชิญให้ขึ้นเทศนาธรรมในที่นั้น บางครั้งพระอินทร์เองก็ทรงขึ้นธรรมาสน์เทศนาธรรมเอง เมื่อใดพระอินทร์ทรงเทศนาธรรม ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ ก็จะพาบริวารไปเฝ้าทั้ง ๔ทิศ ของสุธรรมาเทวสภาคยศาลานั้น และหมู่คนธรรพ์ก็จะนำเครื่องดนตรีทั้งหลายมาบรรเลงแล้วร่ายรำกันอยู่ที่ปลายเขากำแพงจักรวาลทั้ง ๔ ด้าน เพื่อถวายแก่พระอินทร์เจ้าดังกล่าวแล้ว

ส่วนท้าวจตุโลกบาลนั้น จะเสด็จตรวจดูคนในโลกนี้ทำความดีความชั่ว ทุกวัน บางวันก็จะใช้เทวดาองค์อื่นๆ มาแทน เช่น ในวันพระ ๘ คํ่า ก็จะใช้เทวบุตรมาแทน ส่วนในวันพระขึ้น ๑๕ คํ่า และวันพระข้างแรมนั้น ท้าวจตุโลกบาลจะเสด็จด้วยพระองค์เองไม่ว่าจะเป็นเทวดาองค์ใด หรือเทวบุตร หรือท้าวจตุโลกบาลเอง มาตรวจตราก็จะถือแผ่นทองเนื้อสุกและดินสอทำด้วยหินแดง เดินไปดูทุกแห่ง ทั่วบ้านเรือนทั้งหลายในโลกมนุษย์นี้ ถ้าเห็นผู้ใดทำบุญทำกรรม ก็จะเขียนชื่อผู้นั้นลงในแผ่นทองนั้นว่า คนนี้ชื่อนี้อยู่บ้านนี้ ได้ทำบุญกุศลเช่นนี้มีอาทิเช่น กราบไหว้เคารพบูชาและปฏิบัติธรรมต่อพระศรีรัตนตรัย เลี้ยงดูบิดามารดา เคารพยำเกรงผู้เฒ่าผู้ชรา รักพี่รักน้อง รักผู้อื่น เช่น พระสงฆ์ ครูอุปัชฌาย์ ถวายผ้ากฐิน สร้างพระเจดีย์ ปลูกกุฎีวิหาร ปลูกต้นศรีมหาโพธิ์ สดับฟังพระ ธรรมเทศนา ถือศีลเมตตาภาวนาสวดมนต์บูชาพระ ให้ทาน เคารพยำเกรง สมณะพราหมณ์ผู้ทรงศีล บูชาธรรมเหล่านี้ ถ้าผู้ใดได้กระทำสิ่งใดก็ดี เทวดาก็จะเขียนชื่อลงในแผ่นทอง แล้วมอบให้แก่ปัญจสิขรเทพบุตรเพื่อไปถวายแก่พระมาตุลี พระมาตุลีจึงนำไปถวายแก่พระอินทร์ เทวดาทั้งหลายจะมาอ่านดูในแผ่นทองนี้ ถ้าเห็นว่าบัญชีรายชื่อในแผ่นทองมีมาก เทวดาก็จะแซ่ซ้องสาธุการยินดีด้วยเห็นว่า มนุษย์ทั้งหลายจะได้เกิดขึ้นมาเป็นเพื่อนตนมากมาย และจตุราบายก็จะว่างเปล่าลง ถ้าเทวดาเห็นบัญชีชื่อในแผ่นทองนั้นน้อย เทวดาทั้งหลายก็เสียใจแล้วกล่าวว่า อนิจจา คนทั้งหลายในมนุษยโลกทำบุญกันน้อยนัก คงจะชวนกันทำบาปมาก คงจะพากันไปเกิดในจตุราบายกันเป็นจำนวนมาก ต่อไปในภายหน้า เมืองสวรรค์ของเรา คงจะว่างลงเป็นแน่ พระอินทร์เจ้าทรงถือแผ่นทองที่มีนามคนที่ทำความบุญความดี ทั้งหลาย แล้วอ่านให้เทวดาทั้งหลายฟัง เมื่อพระอินทร์ทรงอ่านค่อยๆ นั้น ได้ยิน ไปไกลถึง๙๖,๐๐๐ วา แต่ถ้าทรงอ่านเสียงดัง จะได้ยินกังวานไปทั่วนครดาวดึงส์ อันกว้างโดยประมาณถึง ๘๐,๐๐๐,๐๐๐ วา

ยังมีปราสาทแก้วปราสาททองมากมายอันเป็นวิมานของเทวดาทั้งหลาย อยู่ในอากาศสูงเทียมเท่าเขาพระสุเมรุ แผ่ขยายไปจนถึงกำแพงจักรวาลนั้น เรียกว่าดาวดึงส์ เทวดาทั้งหลายนี้มีอายุยืนถึง 9,000 ปีทิพย์ หรือ ๓๖,๐๐๐,๐๐๐ ปี ในเมืองมนุษย์ สมบัติยศศักดิ์ทั้งหลายของพระอินทร์และเหล่าเทวดาที่ได้กล่าวมานั้น ได้มาเพราะได้กระทำบุญกุศลธรรมมาแต่ก่อน ผู้ใดปรารถนาจะได้ไปเกิดในเมืองสวรรค์ อย่าได้ประมาทลืมตน ควรเร่งขวนขวายทำบุญกุศลให้ทาน รักษาศีลเมตตาภาวนา ดูแลบิดามารดา ผู้เฒ่าผู้แก่ ครู อุปัชฌาย์อาจารย์ และสมณพราหมณ์ผู้ทรงศีล ก็จะได้ไปเกิดในสวรรค์ ขอกล่าวถึงเมืองสวรรค์ดาวดึงส์ นี้เพียงเท่านี้

คณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน

สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา

ต่อไปนี้จะกล่าวถึงบรรดาเทพยดาที่เกิดในสวรรค์ ชั้นฉกามาพจร หรือ สวรรค์ ๖ ชั้น เทพยดาในสวรรค์ชั้นนี้ มี ๓ ประเภท คือ สมมุติเทวดา อุปปัติเทวดา และวิสุทธิเทวดา

สมมุติเทวดา ได้แก่พระราชามหากษัตริย์ผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาแผ่นดิน และพระองค์ทรงรอบรู้หลัก รู้บุญรู้ธรรม ทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมทั้งสิบประการ

อุปบัติเทวดา ได้แก่เทพที่เกิดในแดนสวรรค์ชั้นฟ้า นับตั้งแต่ชั้นฉกามาพจร ไปจนถึงชั้นพรหม

วิสุทธิเทวดา ได้แก่ พระพุทธเจ้าพระปัจเจกโพธิเจ้า พระอรหันตขีณาสพซึ่งได้บรรลุนิพพาน

บรรดาเทพยดาที่เกิดในแดนสวรรค์ เกิดในอากาศ เกิดบนพื้นดินในโลกนี้ ย่อมเกิดด้วยอุปปาติกโยนิเพียงอย่างเดียว และเกิดด้วยจิต ๙ ดวง ดังกล่าวแล้ว

เทพยดาจำพวกหนึ่งซึ่งน่าจะรู้จักไว้คือ พวกแรกเป็นพวกที่สถิตอยู่ตาม ภูเขาในโลกนี้ มีวิมานอยู่บนภูเขา พวกที่สอง สถิตอยู่ตามต้นไม้ ทั้งที่มีวิมานอยู่บนยอดไม้ กลางลำต้นของต้นไม้ใหญ่และอยู่ตามพุ่มไม้ ถ้ามีผู้ฟันพุ่มไม้ขาด วิมานของเทพยดาก็จะพังลง และแม้พุ่มไม้นั้นหักเองวิมานก็พังลงได้เช่นกัน ถ้าคบไม้หักค้างอยู่ ปราสาทหรือวิมานก็ยังคงค้างอยู่กับคบไม้นั้น ถ้ากิ่งไม้หักจนหมดสิ้นวิมานของเทวดาก็หักพังสิ้นด้วย บรรดาเทวดาที่สถิตอยู่ในต้นไม้ (หรือพฤกษวิมาน) นั้น ถ้าต้นไม้หักโค่นลง วิมานก็พังทลาย แต่ถ้ายังมีตอไม้เหลืออยู่ วิมานก็ยังตั้งอยู่ตามเดิม ถ้าต้นไม้นั้นถูกทำลายทั้งโคนและราก ปราสาทก็จะหายไป ปราสาทของเทวดาตามต้นไม้นั้นคนธรรมดาไม่อาจจะแลเห็นได้ พวกผีและเทวดาเท่านั้นที่แลเห็นวิมานได้ พระจตุโลกบาลทรงใช้บรรดาเทวดาลงมาเนรมิตวิมานแจกให้แก่เทพยดานั้น ดังนั้นเทพยดาเหล่านั้นเลือกสถิต ณ ที่ใดตามใจชอบไม่ได้

นับจากแผ่นดินที่เราอยู่นี้ขึ้นไปเบื้องบน ๓๒๖,๐๐๐,๐๐๐ วา คิดเป็นโยชน์ ได้ ๔๖,๐๐๐ โยชน์ ก็จะถึงสวรรค์ชั้นฟ้าที่ชื่อว่า จาตุมหาราชิกาภูมิ สวรรค์ชั้นนี้ ตั้งอยู่บนยอดเขายุคันธร ทางทิศตะวันตกและทิศตะวันออก ส่วนทางทิศใต้เป็นเขาสิเนรุราช มีเมืองสวรรค์สำหรับเทพยดาอยู่ ๔ เมืองด้วยกัน แต่ละเมืองมีความกว้างและยาวเท่ากันคือ ๔๐๐,๐๐๐ วา มีกำแพงทองล้อมรอบ ประดับประดาด้วยแก้ว ๗ ประการ กำแพงนี้มีความสูง ๘,๐๐๐ วา บานประตูทำด้วยแก้ว มี ปราสาททองอยู่เหนือประตูทุกด้าน ภายในเมืองมีปราสาทแก้วเป็นที่สถิตของเหล่าเทพยดา แผ่นดินในเมืองนั้นเป็นแผ่นดินทองคำ แวววาวงดงามและราบเรียบ ราวหน้ากลองแต่อ่อนละมุนเหมือนฟูกผ้า แก้วที่ประดับพื้นนั้นเมื่อเหยียบลงไปก็อ่อนนุ่มยุบลงเล็กน้อย แล้วก็เต็มขึ้นมาเหมือนเดิม ไม่ปรากฏรอยเท้าที่เหยียบ

นอกจากนี้ยังมีนํ้าที่ใสยิ่งกว่าแก้ว มีดอกบัวห้าชนิดบานอยู่ในสระน้ำมีกลิ่นหอมราวอบไว้ มีดอกไม้ที่สวยงาม และต้นไม้ที่งามเลิศ มีผลไม้รสอร่อยยิ่งนัก ต้นไม้ดังกล่าวนี้ออกดอกออกผลตลอดปีไม่รู้วาย

เทพยดาผู้เป็นใหญ่เหนือเทพยดาทั้งหลาย สถิตอยู่ทางทิศตะวันออกของเขาสิเนรุราชทรงนามว่า ท้าวธตรฐราช เป็นใหญ่ปกครองเทพยดาทั้งหมดในบริเวณกำแพงจักรวาลด้านทิศตะวันออก

ส่วนเทพยดาที่เป็นใหญ่ปกครองเหล่าครุฑราชและนาคนั้น สถิตอยู่ทาง กำแพงด้านตะวันตก

เทพยดาผู้เป็นใหญ่ทางทิศใต้ ทรงนามว่า ท้าววิรุฬหกราช ปกครอง เหล่ายักษ์ที่ชื่อว่ากุมภัณฑ์ รวมทั้งเหล่าเทพยดาที่สถิตอยู่ทางทิศใต้เขาสิเนรุราช ตลอดถึงกำแพงจักรวาลด้านทิศใต้

เทพยดาผู้เป็นใหญ่ทางทิศเหนือ ทรงนามว่าท้าวไพศรพณ์มหาราช ปกครองเหล่ายักษ์และเทพยดาที่สถิตอยู่ทางทิศเหนือของเขาสิเนรุราช จนถึงกำแพงจักรวาลด้านเหนือ

เทพยดาในแดนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกานั้นมีอายุยืนถึง ๕๐๐ ปีทิพย์ ถ้าจะเปรียบเทียบกับปีมนุษย์เราก็คือ ๙ ล้านปีมนุษย์

เทพยดาที่สถิตในอากาศ บางเหล่าสถิตในปราสาทแก้วซึ่งกว้าง ๘,๐๐๐ วา บางเหล่ามีปราสาทแก้วกว้าง ๑๖,๐๐๐ วา บางเหล่ามีปราสาทแก้วกว้าง ๘๐,๐๐๐ วา บางเหล่ามีปราสาทแก้วกว้าง ๘๘,๐๐๐ วา ปราสาทเหล่านี้ตั้งอยู่ทั้งสี่ด้านของเขาพระสิเนรุราชซึ่งเป็นเมืองใหญ่

เทพยดาทั้งสี่เหล่าสถิตอยู่เหนือยอดเขาใหญ่ยุคันธร แม้ใกล้กำแพง จักรวาล ก็เรียกว่าจาตุมหาราชิกา

พระอาทิตย์ พระจันทร์ และดาวฤกษ์ทั้ง ๒๗ ตลอดจนดวงดารากร ทั้งหลาย ต่างหมุนรอบเขาพระสิเนรุราชตลอดเวลา

พระเทวราชทั้งสี่องค์นั้น พระอินทร์โปรดให้เนรมิตเมืองฟ้าและเมืองดินทุกแห่งเรียกว่าท้าวจตุโลกบาล องค์ท้าวเทวราชนั้นสูงใหญ่ถึง ๖,๐๐๐ วา ส่วนองค์เทวดาบริวารสูง ๔,๐๐๐ วา ผู้ใดทำบุญไว้ดีก็จะไปเกิดเป็นเทพยดา มีปราสาทแก้วเงินทองและสมบัติทิพย์มากมาย ขณะที่เทพยดาสถิตอยู่ในปราสาท และมีเทพยดาองค์ใหม่บังเกิดที่ชายผ้าพับ (พกผ้า) เทพยดาองค์ที่เกิดใหม่นี้นับเป็นเทพธิดา คือลูกสาวของเทพยดาที่เกิดก่อนนั้น เทพยดาบางพวกที่จะเกิดเหนือที่นอน นับเป็นเมียเทพยดาผู้เป็นเจ้าของวิมาน เทพยดาบางจำพวกเกิดที่เชิงฐานบัลลังก์ของเทพยดาก็จะมีฐานะเป็นสาวใช้ของเทพยดาองค์นั้น ถ้าเทพยดาใดทำบุญไว้น้อย ได้ไปเกิดที่ประตูปราสาทหรือภายในกำแพงของเทพยดาองค์ใดก็จะมีฐานะเป็นข้ารับใช้ของเทพยดาองค์นั้น แม้ว่าเกิดที่ภายนอกกำแพงแก้วซึ่งล้อมรอบปราสาทแก้วของเทพยดาองค์ใดก็จะกลายเป็นไพร่ฟ้าบริวารของเทพยดาองค์นั้น แต่ถ้าเทพยดาองค์ใดเกิดระหว่างแดนเทพยดาทั้งสอง ก็ต้องนำเทพยดาองค์นั้นไปเฝ้าพระอินทร์ พระองค์ก็จะทรงใช้ให้เทวดาองค์ใดองค์หนึ่งมาวัดที่เกิดของเทพยดาองค์ใหม่ว่าเกิดใกล้แดนองค์ใดมากที่สุด ก็ทรงตัดสินให้เป็นบริวารขององค์นั้น แต่ถ้าระยะห่างเท่ากันทั้งสองฝ่าย พระอินทร์ก็จะทรงถามว่าเทพยดาองค์ใหม่ หันหน้าไปทางฝ่ายใด แล้วทรงตัดสินให้เป็นบริวารของฝ่ายนั้น ถ้าเทพยดาเมื่อแรกเกิดนอนหงายเงยหน้าสู่เบื้องบน ไม่ได้หันหน้าไปทางทิศใดทิศหนึ่ง พระอินทร์ก็จะไม่ทรงปล่อยให้เทพยดาแย่งชิงวิวาทกัน พระองค์จะทรงรับไว้เป็นไพร่ฟ้าของพระองค์เอง

เทพยดาเมื่อไปเกิดในแดนสวรรค์นั้นจะมีร่างกายโตใหญ่ขึ้นทันที อีกครู่ หนึ่งต่อมาก็จะมีเครื่องประดับที่สวยงาม มีรูปโฉมโนมพรรณเป็นหนุ่มหรือสาว วัย ๑๖ ปี และจะคงสภาพเช่นนี้ตลอดไป เทพยดาจะมีร่างกายสะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากมลทิน ภายในกายปราศจากกลิ่นเหม็นแม้เพียงเล็กน้อย

เทพยดาทั้งหลายรู้จักเนรมิตกายให้ใหญ่โตตามความประสงค์ และถ้า ต้องการย่อตัวให้เล็กลงก็สามารถเนรมิตได้เช่นกัน อาจจะย่อกายให้เล็กถึงขนาดสถิตอยู่ที่ปลายเส้นผมถึงยี่สิบองค์ก็ได้ หรือ ๔๐ องค์ก็ได้ หรือ ๖๐ องค์ก็ได้ หรือ ๘๐ องค์ก็ได้ เทพยดาย่อมมีอำนาจเนรมิตได้ทั้งสิ้น

อาหารของเทพยดาคืออาหารทิพย์ทุกมื้อ อาหารนั้นแห้งหายเข้าสู่ ร่างกายของเทพยดา ไม่มีกากมูล (หรืออุจจาระปัสสาวะ) ดังเช่นมนุษย์เรา

การเจ็บไข้ได้ป่วยจะไม่บังเกิดแก่เทพยดาตราบจนสิ้นอายุ เทพยดาไม่ รู้จักป่วยไข้มีแต่ความสุขสำราญใจตลอดเวลา อยู่กับครอบครัวลูกเมียด้วยความสุขเบิกบานชั่วกาลนาน

เรื่องราวของเทพยดาในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาภูมิก็มีเพียงเท่านี้

คณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน

เหตุมรณะ ๔

บรรดาสัตว์ทั้งหลายเมื่อจะสิ้นอายุไปนั้น เนื่องมาจากเหตุสี่ประการ คือ อายุขัย กรรมขัย อุภยขัย และ อุปัจเฉทกรรมขัย

ประการที่หนึ่ง อายุขัย คือการตายเนื่องจากสิ้นอายุ จะตายเมื่อยังเด็ก หรือหนุ่มสาวก็ตาม ประการที่สอง เหตุมรณะ ๔กรรมขัย คือการตายโดยไม่สมควรตาย ประการที่สาม อุภยขัย คือการตายเพราะความแก่ชรา เป็นการตายโดยสมควร ประการที่สี่ อุปัจเฉทกรรมขัย คือการตายของบุคคลที่อยู่ดีกินดีแต่มีอันตราย คือมีผู้ตี ฆ่า แทง ตกต้นไม้ ตกนํ้า ตายอย่างปัจจุบันทันด่วน การตายประเภท นี้บางครั้งถึงแม้จะมีการเยียวยารักษาก็ไม่สามารถรอดชีวิตได้ เรียกว่าเป็นกรรมเหนือกรรม

กรรมที่เป็นต้นเหตุของกรรมทั้งหลาย มีสี่จำพวก คือ ชนกกรรม อุปถัมภกกรรม อุปปีฬกกรรม และอุปฆาฏกกรรม

จำพวกที่หนึ่ง ชนกกรรม คือการเกิดเป็นคน จำพวกที่สอง อุปถัมภก- กรรม คือ กรรมทำให้มีความสุขหรือความทุกข์ ทำให้รู้สึกยินดีและยินร้าย จำพวกที่สาม อุปปีฬกกรรม คือกรรมบีบคั้นขัดขวางผลกรรมอื่น จำพวกที่สี่ อุปฆาฏกกรรม คือกรรมตัดรอนชีวิต (หรือกรรมตัดรอนผลกรรมอื่น)

กรรมวิบากที่ทำให้เกิดทุกข์ก็มีอยู่สี่จำพวกเช่นกัน กล่าวคือ ปัญจานันตริยกรรม อาสันนกรรม อาจิณณกรรม และกฏัตตากรรม

ปัญจานันตริยกรรม คือ ที่ให้ผลเป็นทุกข์ที่หนักยิ่ง อาสันนกรรม คือ กรรมที่ประกอบขึ้นเมื่อใกล้ตาย อาจิณณกรรม คือกรรมที่กระทำเป็นเนืองนิตย์ กฏัตตากรรม คือกรรมที่ทำทั้งที่เป็นบุญและบาปโดยมิได้ตั้งใจ

นอกจากนี้ยังมีกรรมที่ก่อให้เกิดวิบากอีกสี่จำพวก คือ ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม อุปปัชชเวทนียกรรม อปราปรเวทนียกรรม และอโหสิกรรม

ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม คือ การทำบุญหรือบาปซึ่งมีผลให้เห็นในชาติ ปัจจุบัน อุปปัชชเวทนียกรรม คือกรรมที่จะมีผลให้เห็นในชาติหน้า อปราปรเวทนียกรรม คือ กรรมที่จะมีผลให้เห็นในชาติต่อๆ ไป จนกว่าจะถึงนิพพาน และอโหสิกรรม คือกรรมที่ให้ผลเสร็จแล้วไม่มีผลใดๆ อีก

บรรดาสัตว์ทั้งหลายเมื่อใกล้จะขาดใจตายนั้น ถ้าจะไปตกนรก ผู้นั้น ก็จะเห็นเปลวไฟ ต้นงิ้วเหล็ก เห็นฝูงผีถือไม้ค้อน หอก ดาบ มาลากตัวไป ถ้าจะตายแล้วได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะแลเห็นก้อนเนื้อ ถ้าจะได้เกิดในสวรรค์ ก็จะเห็นต้นกัลปพฤกษ์ เรือนทอง ปราสาทแก้วที่งดงาม เห็นฝูงเทพยดาฟ้อนรำอย่างร่าเริง ถ้าตายแล้วจะได้เกิดเป็นเปรต ก็จะเห็นแกลบและข้าวลีบ กระหายนํ้า เห็นเสือ นํ้าหนอง ถ้าตายแล้วจะไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เช่น นก เนื้อ เก้ง โค หมู หมา ก็จะเห็นป่า ต้นไม้ กอไผ่ เครือเขา และบรรดาสัตว์ป่า สัตว์บ้านต่างๆ

บรรดาสัตว์ทั้งหลาย เมื่อใกล้จะขาดใจตาย และจะไปเกิดยังโลกอื่น ก็จะรำพึงอยู่ในใจด้วยจิต ๕๑ ดวง และจิต ๕๑ ดวงนั้นคืออะไรบ้าง

จิต ๕๑ ดวง (แบ่งเป็น ๙ กลุ่ม) คือ กลุ่มแรก ภวังคจลนะ ประกอบด้วย อุปปาท ฐิติ ภังคะ ซึ่งก่อให้เกิดความคิด ๖ ประการ กลุ่มที่สอง ปัญจ- ทวาราวัชนะ ก่อให้เกิดความรำพึงทางปัญจทวาร ๓ ประการ กลุ่มที่สาม วิญญาณ ก่อให้เกิดความรู้และความคิด ๓ ประการ กลุ่มที่สี่ สัมปฏิจฉนะ ก่อให้เห็นและรู้ ๓ ประการ กลุ่มที่ห้า สันตีรณ ก่อให้เกิดการพิจารณา ๓ ประการ กลุ่มที่หก โวฏฐัพพนะ ให้ตัดสินได้ในการพิจารณาอารมณ์ ๓ ประการ กลุ่มที่เจ็ด ชวนะ ก่อให้เกิดการเสวย อารมณ์ที่ได้เคยกล่าวไว้แล้ว ๒๑ ประการ กลุ่มที่แปด ตหารัมมนะ ก่อให้เกิดการฟังและเสวยอารมณ์ ๖ ประการ กลุ่ม ที่ ๙ ภวังคะ ก่อให้เกิดความตายขึ้นในใจผู้ตาย ๓ ประการ อันเป็นขั้นสุดท้ายของการตาย ดวงจิตทั้ง ๙ กลุ่มนี้ รวมเป็น ๕๑

สัตว์ทั้งหลายมีชวนะจิต ๗ อันเป็นมหันตารมณ์ เมื่อขาดใจตายแล้วก็ จากไป แต่ปัญจสกนธ์ (หรือขันธ์ทั้งห้า) มิได้ติดตามไปด้วยเลย ส่วนที่ติดตามผู้ตายไปก็คือบุญและบาปเท่านั้น ถ้าผู้ใดเกิดใหม่แล้วได้รับความลำบากก็เพราะมีผลบาป ผลบาปและผลบุญนั้นจะทำให้เกิดดีหรือเข็ญใจ มีผิวพรรณงดงามหรือไม่งดงาม อายุยืนหรือไม่ยืน บางคนเกิดเป็นเจ้าคนนายคน บางคนเกิดเป็นคนยากจนเข็ญใจ บางคนมีสติปัญญาฉลาด บางคนโง่เขลาเบาปัญญา ผู้ใดเรียนพระอภิธรรมด้วยตั้งใจเด็ดเดี่ยว ก็จะมีความรู้อย่างแท้จริง ส่วนผู้ที่มิได้เรียนมิได้ฟังพระอภิธรรมก็ย่อมเป็นการยากที่จะรู้จริงและเข้าใจได้

คณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน

สังเสทชโยนิ

สังเสทชโยนิ คือการกำเนิดของสัตว์ที่เกิดจากไคล คนที่เกิดจากไคล ก็มีเช่นกัน ดังเรื่องของนางปทุมาวดี ซึ่งมีบุตรชายถึง ๕๐๐ คน ซึ่งมีเรื่องเล่า

เมื่อชาติก่อนนางปทุมาวดีเป็นคนยากจนเข็ญใจ มีอาชีพทำนา วันหนึ่ง นางไปไถนาและจะนำอาหารไปส่งสามี การถือกำเนิด1ได้เอากระเชอข้าวทูนไว้บนศีรษะ ขณะที่เดินไปตามทางได้พบพระปัจเจกโพธิเจ้าองค์หนึ่งรูปงามมาก นางจึงมีใจเลื่อมใสศรัทธา คิดว่าจะถวายอาหารบิณฑบาตรแก่พระปัจเจกโพธิเจ้า จึงเอาข้าวใส่บาตร และเอาข้าวตอกกวนกับนํ้าผึ้งขึ้นเป็นก้อนได้ ๕๐๐ ก้อน วางลงในบาตรบนข้าวสุก นางแลเห็นดอกบัวหลวงในสระข้างทางจึงไปเก็บดอกบัวใส่ลงในบาตร และวางไว้ที่พระบาทพระปัจเจกโพธิเจ้าเพื่อถวายบูชาคารวะ นางได้ตั้งปรารถนาว่า ด้วยผลอานิสงส์ที่ได้บูชาพระปัจเจกโพธิเจ้า ด้วยข้าวตอกกับนํ้าผึ้ง ๕๐๐ ก้อนนี้ ขอให้นางได้มีบุตรชาย ๕๐๐ คน และด้วยผลบุญที่นางบูชาด้วยดอกบัวหลวง ขอให้นางเดินไปที่แห่งใดก็ให้มีดอกบัวผุดขึ้นมารองรับเท้าของนางทุกย่างก้าวตลอดทางมิให้ขาด พอกล่าวคำปรารถนา เสร็จก็ไหว้อำลาพระปัจเจกโพธิเจ้าไปทำงานของนางต่อ ในที่สุดเมื่อนางสิ้นชีพ แล้วได้จากโลกมนุษย์ไปเกิดในสวรรค์เสวยสมบัติเป็นทิพย์ เมื่อสิ้นชีพจากสวรรค์ ก็ได้มาเกิดในโลกมนุษย์อีก นางรู้สึกเกลียดครรภ์มารดา ใคร่จะได้เกิดในดอกบัว ดังนั้นการมาเกิดในโลกมนุษย์ครั้งนี้นางจึงได้เกิดในดอกบัวหลวงดอกหนึ่งในสระเชิงเขาหิมพานต์

ครั้งนั้นมีฤษีองค์หนึ่งอยู่ในป่าหิมพานต์ มักจะลงมาอาบนํ้าในสระนี้ทุกวัน ท่านได้เห็นดอกบัวในสระบานทุกดอก ยกเว้นดอกหนึ่งที่ยังไม่บานเป็น เวลานานถึงเจ็ดวัน พระฤษีรู้สึกแปลกใจจึงหักดอกบัวนั้นมา จึงได้เห็นเด็กอ่อนอยู่ในดอกบัวนั้น เป็นเด็กหญิงมีผิวพรรณงามราวทองคำเนื้อสุก พระฤษีมีใจกรุณาต่อเด็กนั้นมากจึงเลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรม ให้เด็กน้อยดูดหัวแม่มือกิน เนื่องด้วยมีนํ้านมไหลจากหัวแม่มือพระฤษี ทั้งนี้เป็นเพราะอำนาจของพระฤษี และบุญของทารกน้อยนี้ พระฤษีตั้งชื่อนางว่าปทุมาวดี เพราะเหตุว่านางเกิดในดอกบัว

คราวนั้นมีพรานเนื้อผู้หนึ่งเดินทางกลางป่ามาจนถึงป่าหิมพานต์ ได้เห็นนางผู้มีความงามยิ่งนี้ พรานนั้นจึงนำความไปทูลพระเจ้าพรหมทัตผู้ทรงราชย์ ณ เมืองพาราณสี พระเจ้าพรหมทัตจึงเสด็จไปนมัสการพระฤษี ทรงขอนางมาเป็นพระมเหสี ตั้งแต่นางเกิดมา ไม่ว่าจะย่างเท้าก้าวเดินไปที่ใด ก็จะ มีดอกบัวผุดขึ้นมารองรับเท้านาง ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องด้วยผลบุญที่นางได้บูชาพระปัจเจกโพธิเจ้าด้วยดอกบัวหลวง ครั้นนางได้เข้าไปอยู่ในวัง นางก็ตั้งครรภ์จนครบสิบเดือน ได้คลอดบุตรเป็นชายครบจำนวน ๕๐๐ คน ล้วนเป็นเจ้าชาย เกิดในพระราชวัง เจ้าชายองค์ใหญ่องค์เดียวที่เกิดอยู่ภายในรก ส่วนโอรสอีก ๔๙๙ คน นั้นอยู่ภายนอกรก ดังนั้นเจ้าชายองค์ใหญ่จึงได้ชื่อว่า พญาปทุมกุมาร เจ้าชายทั้งห้าร้อยองค์ เมื่อเจริญวัยขึ้นก็พากันไปบวช ได้ตรัสรู้เป็นพระปัจเจกโพธิเจ้าทั้งห้าร้อยองค์ ในที่สุดเมื่อสิ้นพระชนมชีพแล้วก็เสด็จสู่นิพพาน เจ้าปทุมกุมารผู้พี่ซึ่งเกิดในรกนั้น เรียกว่าเกิดเป็นชลามพุชโยนิ แต่เจ้าผู้น้อง ๔๙๙ องค์ นั้น เรียกว่าเกิดจากสังเสทชโยนิ บรรดาคนที่เกิดจากไคลก็มี ดังที่ได้กล่าวมานี้

คณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน

อัณฑชโยนิ

อัณฑชโยนิ คือการกำเนิดของสัตว์ที่เกิดจากไข่ มนุษย์ที่เกิดจากไข่ ก็มีเช่นกัน ดังเช่นนิทานที่จะเล่าต่อไปนี้

ครั้งนั้น มีพราหมณ์ผู้หนึ่ง อยู่ในเมืองใหญ่ชื่อ ปาตลีบุตร วันหนึ่ง พราหมณ์ผู้นี้ได้เดินทางออกจากเมืองเข้าไปในป่าใหญ่แห่งหนึ่ง ได้พบนางกินรีตัวหนึ่งไม่ปรากฏชื่อ อัณฑชโยนิเกิดความรักในนางกินรีนั้นเป็นอันมาก จึงสมสู่กับนางในกลางป่านั้น ต่อมานางกินรีได้ตั้งครรภ์และออกไข่มาสองฟอง นางกินรี ก็ฟักไข่จนไข่แตกออกเป็นมนุษย์สองคน คนพี่ให้ชื่อว่า ดิสสกุมาร คนน้องให้ชื่อว่า มิตรกุมาร

ครั้นกุมารทั้งสองเจริญวัยขึ้น ก็สังเกตเห็นว่าหน้าบิดามารดาของเขา นั้นแตกต่างกันมากจึงรู้สึกสลดใจ ทั้งสองปรึกษากันว่า การเวียนว่ายตายเกิด นี้เป็นสิ่งไม่เที่ยงแท้แน่นอน เราทั้งสองควรจะไปบวชเป็นสมณะเพื่อบรรลุนิพพานจะดีกว่า แล้วกุมารทั้งสองก็จากบ้านไปบวชในสำนักพระมหาเถระองค์หนึ่งนามว่า พระพุทธเถระ บำเพ็ญเพียรอยู่เป็นเวลานาน จนในที่สุดทั้งสองก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ครั้นสิ้นชีพแล้วก็ได้ไปสู่นิพพาน มนุษย์ที่เกิดจากไข่ ก็มีเช่นสองพี่น้องดังกล่าวมานี้

คณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน

อุปปาติกโยนิ

ที่ว่ามนุษย์เรานั้น เกิดได้ในกำเนิดทั้งสี่ คือ อัณฑชโยนิ (เกิดจากไข่) ชลามพุชโยนิ (เกิดจากครรภ์) สังเสทชโนยิ (เกิดจากสิ่งโสโครกหรือเหงื่อไคล) อุปปาติกโยนิ (เกิดผุดขึ้น) นั้นเป็นอย่างไร อาจารย์ผู้สอนไว้

อุปปาติกโยนิ คือการกำเนิดของสัตว์ที่เกิดผุดขึ้น มนุษย์การถือกำเนิดที่เกิดในกำเนิด นี้มีเรื่องเล่าไว้ว่า สตรีผู้หนึ่งชื่อนางอัมพปาลิกา ซึ่งเกิดเป็นอุปปาติกโยนิ

ท่านเล่าไว้ว่า ในอดีตกาลตั้งแต่กัลป์หนึ่งจนถึงภัททกัลป์ นับย้อนหลัง ไปประมาณ ๓๐๐ กัลป์ มีพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระพุทธสิขี เสด็จลงมาโปรดชาวโลกทั้งหลาย ครั้งนั้นมีสตรีผู้หนึ่งชื่อว่า นางอัมพปาลิกา บวชเป็นภิกษุณีในศาสนาของพระพุทธสิขี นางเป็นคนถือศีลเคร่งครัดมาก เอาใจใส่บำรุงรักษาความสะอาดในวัดด้วยดีตลอดเวลา อยู่มาวันหนึ่งนางภิกษุณีผู้นี้ได้กระทำประทักษิณบูชาพระเจดีย์พร้อมด้วยเหล่าสตรีผู้ทรงศีลทั้งหลาย ขณะนั้นพระนางเถรีซึ่งเป็นภิกษุณีองค์หนึ่งซึ่งเป็นพระอรหันตขีณาสพสูงอาวุโสกว่าภิกษุณีองค์อื่นๆ ได้เดินนำหน้าเพื่อบูชาพระเจดีย์ นางเดินไปด้วยความรีบร้อน ยังไม่ทันเบือนหน้าจากพระเจดีย์ก็เกิดอาการไอ เสมหะ กระเด็นถูกพระเจดีย์ ไม่มีคนอื่นรู้เห็น เพราะนางเดินนำหน้าผู้อื่น แต่นางอัมพปาลิกาเห็นก้อนเสมหะนั้น จึงกล่าวติเตียนว่า หญิงโสเภณีที่ไหนบังอาจถ่มน้ำลายลงเต็มพระเจดีย์อันเป็นที่เคารพสักการะ ข้าเจ็บใจยิ่งนักจนไม่อาจจะเปรียบกับสิ่งใดได้ พอนางด่าว่าแล้วก็จากไป ต่อจากนั้นนางอัมพปาลิกา ก็ครุ่นคิดถึงเรื่องที่มีผู้กล่าวไว้ว่า การเกิดในท้องแม่นั้นมีทุกขเวทนายิ่งนัก จึงรู้สึกไม่พอใจ ไม่ต้องการเกิดในท้องคน ได้ตั้งความปรารถนาขอเกิดผุดขึ้นเอง (ขอเกิดเป็นอุปปาติกโยนิ) ตลอดเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่นางได้บำเพ็ญสมณธรรม เป็นภิกษุณีตราบจนสิ้นชีวิต พอสิ้นชีวิตแล้วนางได้ตกนรกเพราะได้ทำบาป ที่ได้ด่าพระมหาเถรีขีณาสพ นางได้ทนทุกขเวทนาอยู่ในนรกเป็นเวลานานหลายปี พอสิ้นบาปแล้วก็พ้นจากนรกได้ขึ้นมาเกิดเป็นนางโสเภณีได้หมื่นชาติ เพราะบาปที่ได้ด่าว่าพระมหาเถรีเป็นโสเภณี พอสิ้นบาปนี้แล้ว ได้ไปเกิดที่ค่าคบกิ่งมะม่วงซึ่งขึ้นอยู่ในอุทยานของพระราชาแห่งเมืองไพสาลี ด้วยเดชอำนาจแห่งศีลที่นางเคยบำเพ็ญอย่างเคร่งครัดเมื่อครั้งเป็นภิกษุณีในชาติก่อนนั้น นางจึงมีรูปโฉมโนมพรรณงามทั่วสรรพางค์กายงามกว่าสตรีทั้งหลายในเมืองไพสาลี พอนางเกิดที่ค่าคบกิ่งมะม่วงเพียงชั่วครู่ นางก็มีร่างกายเติบโตเป็นสาว สมควรมีเหย้าเรือนได้ทันที

ขณะนั้นเหล่าคนสวนเฝ้าอุทยานของราชาก็ได้เห็นนางผู้มีรูปงามยิ่งนั้น จึงพานางไปถวายแด่พระราชาผู้เสวยราชย์ในเมืองไพสาลี คนสวนกราบทูลพระราชาว่า เขาทั้งหลายได้พบนางนี้เกิดที่ค่าคบไม้มะม่วง พระราชาตรัสว่า ถ้านางเกิดเช่นนั้นก็จะตั้งชื่อนางว่า อัมพปาลิกา
นางอัมพปาลิกาอยู่ในเมืองไพสาลี เหล่าท้าวพญาลูกเจ้าลูกขุนในเมือง เกิดวิวาทบาดหมางใจกัน เพราะต่างก็ต้องการได้นางมาเป็นภรรยา ยิ่งได้เห็นรูปโฉมของนางก็ยิ่งแย่งชิงกัน เพื่อจะได้นางมาเป็นภรรยา ด้วยบาปกรรมที่นางอัมพปาลิกาได้เคยด่าพระมหาเถรีขีณาสพนั้นยังไม่หมดสิ้น ยังมีเศษบาปติดตัวนางอยู่ พระราชาจึงตรัสว่า ขณะนี้ท้าวพญาและลูกขุนทั้งหลายในเมืองไพสาลีของพระองค์ได้ก่อการทะเลาะวิวาทเพื่อชิงนางอัมพปาลิกาอย่างไม่รู้จบสิ้น บัดนี้ข้าจะให้นางเป็น “แพศยา” เพื่อระงับการแตกแยกวิวาทกัน ครั้นแล้วจึงได้ตั้งนางอัมพปาลิกาให้เป็น “นางนครโสเภณี” เป็นสาธารณะเพื่อให้บรรดาท้าวพญา ลูกเจ้า ลูกขุน ใช้ได้ทั่วกันตลอดไป ต่อมานางได้ให้กำเนิด บุตรชายผู้หนึ่ง ตั้งชื่อว่า โกณฑัญญะ นางเป็นบุคคลที่มีจิตเลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนายิ่งนัก ได้สร้างวัดและวิหารไว้แห่งหนึ่ง แล้วให้บุตรชายคือโกณฑัญญะบวชในพุทธศาสนา โกณฑัญญะได้บำเพ็ญสมณธรรมจนได้สำเร็จเป็นพระอรหันตขีณาสพ มีความรู้แตกฉานในปฏิสัมภิทาญาณ จนได้พระนามว่า พระโกณฑัญญะเถระ ส่วนนางอัมพปาลิกาก็ได้ฟังพระธรรมเทศนา ณ สำนัก พระโกณฑัญญะเถระ จนเกิดศรัทธาแรงกล้าได้บวชในพระพุทธศาสนา บำเพ็ญเพียรอยู่เป็นเวลานาน ในที่สุดก็สำเร็จเป็นพระอรหันตขีณาสพ เมื่อนางสิ้นชีพแล้วก็ได้ไปสู่มหานครนิพพาน มนุษย์เรานี้มีผู้เกิดผุดขึ้นเอง หรืออุปปาติกโยนิ ดังเช่นนางอัมพปาลิกาดังกล่าวมานี้

คณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน

ชลามพุชโยนิ

ชลามพุชโยนิ คือ การกำเนิดของสัตว์ที่เกิดจากครรภ์ การเกิดของมนุษย์ในโลกที่เกิดในครรภ์มารดา ซึ่งเรียกว่า ชลามพุชโยนินี้ มีรูปกาย ๒๘ ประการ เช่นเดียวกับการเกิดผุดขึ้นเป็นร่าง เจริญขึ้นทันที (อุปปาติกโยนิ) ดังที่เกิดในนรกภูมิ รูป ๒๘ นี้มีทั้งการเกิดโดยลำดับดังชลามพุชโยนิกล่าวแล้ว ยังมีรูปอื่นอีก ๕๓ รูป เมื่อนำมารวมกับรูป ๒๘ ก็จะได้ ๘๑ รูป รูปทั้งหมดดังกล่าวแล้วนี้มีชีวิตเป็นองค์ประกอบ ๗ ประการ คืออะไรบ้าง

ชีวิตซึ่งเป็นองค์ประกอบทั้งเจ็ดนั้นคือ หนึ่ง ชีวิตที่อยู่ในจักษุ มีไว้ สำหรับดู สอง ชีวิตที่อยู่ในโสต มีไว้สำหรับให้ได้ยินได้ฟัง สาม ชีวิตที่อยู่ใน ฆานะ มีไว้สำหรับดมกลิ่น สี่ ชีวิตที่อยู่ในชิวหา มีไว้สำหรับให้รู้รส ห้า ชีวิต ที่อยู่ภายในกาย มีไว้สำหรับให้รู้ความเจ็บปวด หก ชีวิตที่อยู่ในภาวะ มีไว้สำหรับให้รู้รส เจ็ด ชีวิตที่อยู่ในดวงใจ มีไว้สำหรับให้รู้คิด
การมีครรภ์ของบรรดาสตรีนั้น เกิดจากเหตุ ๗ ประการ ได้แก่ หนึ่ง บุรุษมาร่วมอยู่ด้วย สอง สตรีมีใจรักบุรุษได้นำเสื้อผ้าของบุรุษนั้นมาเชยชม แทนตัวบุรุษ และสตรีก็มีครรภ์ขึ้นขณะที่เชยชมผ้าของบุรุษ สาม สตรีบางคนมีใจรักบุรุษ เมื่อใดราคะของชายนั้นตก (อสุจิเคลื่อน) สตรีดูดกินนํ้าราคะนั้น ก็เกิดมีครรภ์ขึ้น เช่นเดียวกับนางเนื้อทราย มารดาของฤษีผู้มีชื่อว่า อิสิสิงคะดาบส สี่ สตรีบางคนเมื่อบุรุษลูบคลำเนื้อตัวและท้อง และสตรีนั้นมีใจรักบุรุษก็ตั้งครรภ์ได้ เช่นเดียวกับนางปาลิกาดาบสหญิง ผู้เป็นมารดาของสุวรรณสาม และเหมือนนางพญาผู้เป็นมารดาของพระจันทรโชติ และมารดาของเจ้านันทกุมาร ห้า สตรีบางคนมีใจรักบุรุษและบุรุษนั้นผ่านมาใกล้ สตรีนั้นมีความปรารถนายินดีจ้องดูบุรุษนั้นก็ตั้งครรภ์ได้ หก สตรีบางคนมีความรัก ความปรารถนาในบุรุษ เมื่อบุรุษผู้นั้นพูดจาพาที สตรีได้ยินเสียงบุรุษนั้นก็อาจตั้งครรภ์ได้ เช่นเดียวกับนกยาง ซึ่งมีแต่ตัวเมียไม่มีตัวผู้ เมื่อได้ยินเสียงฟ้าร้อง ก็เกิดไข่ขึ้นได้เอง ในทำนองเดียวกัน แม่ไก่เมื่อได้ยินไก่ตัวผู้ขันก็มีไข่ได้ และ เช่นเดียวกัน แม่วัวซึ่งได้ยินเสียงวัวตัวผู้ก็ตั้งท้องได้ เจ็ด การสูดดมกลิ่นตัวผู้ ก็เป็นเหตุให้ตั้งท้องได้ เช่นเดียวกับแม่โคดมกลิ่นโคตัวผู้

คณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน