เหตุมรณะ ๔

Socail Like & Share

บรรดาสัตว์ทั้งหลายเมื่อจะสิ้นอายุไปนั้น เนื่องมาจากเหตุสี่ประการ คือ อายุขัย กรรมขัย อุภยขัย และ อุปัจเฉทกรรมขัย

ประการที่หนึ่ง อายุขัย คือการตายเนื่องจากสิ้นอายุ จะตายเมื่อยังเด็ก หรือหนุ่มสาวก็ตาม ประการที่สอง เหตุมรณะ ๔กรรมขัย คือการตายโดยไม่สมควรตาย ประการที่สาม อุภยขัย คือการตายเพราะความแก่ชรา เป็นการตายโดยสมควร ประการที่สี่ อุปัจเฉทกรรมขัย คือการตายของบุคคลที่อยู่ดีกินดีแต่มีอันตราย คือมีผู้ตี ฆ่า แทง ตกต้นไม้ ตกนํ้า ตายอย่างปัจจุบันทันด่วน การตายประเภท นี้บางครั้งถึงแม้จะมีการเยียวยารักษาก็ไม่สามารถรอดชีวิตได้ เรียกว่าเป็นกรรมเหนือกรรม

กรรมที่เป็นต้นเหตุของกรรมทั้งหลาย มีสี่จำพวก คือ ชนกกรรม อุปถัมภกกรรม อุปปีฬกกรรม และอุปฆาฏกกรรม

จำพวกที่หนึ่ง ชนกกรรม คือการเกิดเป็นคน จำพวกที่สอง อุปถัมภก- กรรม คือ กรรมทำให้มีความสุขหรือความทุกข์ ทำให้รู้สึกยินดีและยินร้าย จำพวกที่สาม อุปปีฬกกรรม คือกรรมบีบคั้นขัดขวางผลกรรมอื่น จำพวกที่สี่ อุปฆาฏกกรรม คือกรรมตัดรอนชีวิต (หรือกรรมตัดรอนผลกรรมอื่น)

กรรมวิบากที่ทำให้เกิดทุกข์ก็มีอยู่สี่จำพวกเช่นกัน กล่าวคือ ปัญจานันตริยกรรม อาสันนกรรม อาจิณณกรรม และกฏัตตากรรม

ปัญจานันตริยกรรม คือ ที่ให้ผลเป็นทุกข์ที่หนักยิ่ง อาสันนกรรม คือ กรรมที่ประกอบขึ้นเมื่อใกล้ตาย อาจิณณกรรม คือกรรมที่กระทำเป็นเนืองนิตย์ กฏัตตากรรม คือกรรมที่ทำทั้งที่เป็นบุญและบาปโดยมิได้ตั้งใจ

นอกจากนี้ยังมีกรรมที่ก่อให้เกิดวิบากอีกสี่จำพวก คือ ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม อุปปัชชเวทนียกรรม อปราปรเวทนียกรรม และอโหสิกรรม

ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม คือ การทำบุญหรือบาปซึ่งมีผลให้เห็นในชาติ ปัจจุบัน อุปปัชชเวทนียกรรม คือกรรมที่จะมีผลให้เห็นในชาติหน้า อปราปรเวทนียกรรม คือ กรรมที่จะมีผลให้เห็นในชาติต่อๆ ไป จนกว่าจะถึงนิพพาน และอโหสิกรรม คือกรรมที่ให้ผลเสร็จแล้วไม่มีผลใดๆ อีก

บรรดาสัตว์ทั้งหลายเมื่อใกล้จะขาดใจตายนั้น ถ้าจะไปตกนรก ผู้นั้น ก็จะเห็นเปลวไฟ ต้นงิ้วเหล็ก เห็นฝูงผีถือไม้ค้อน หอก ดาบ มาลากตัวไป ถ้าจะตายแล้วได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะแลเห็นก้อนเนื้อ ถ้าจะได้เกิดในสวรรค์ ก็จะเห็นต้นกัลปพฤกษ์ เรือนทอง ปราสาทแก้วที่งดงาม เห็นฝูงเทพยดาฟ้อนรำอย่างร่าเริง ถ้าตายแล้วจะได้เกิดเป็นเปรต ก็จะเห็นแกลบและข้าวลีบ กระหายนํ้า เห็นเสือ นํ้าหนอง ถ้าตายแล้วจะไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เช่น นก เนื้อ เก้ง โค หมู หมา ก็จะเห็นป่า ต้นไม้ กอไผ่ เครือเขา และบรรดาสัตว์ป่า สัตว์บ้านต่างๆ

บรรดาสัตว์ทั้งหลาย เมื่อใกล้จะขาดใจตาย และจะไปเกิดยังโลกอื่น ก็จะรำพึงอยู่ในใจด้วยจิต ๕๑ ดวง และจิต ๕๑ ดวงนั้นคืออะไรบ้าง

จิต ๕๑ ดวง (แบ่งเป็น ๙ กลุ่ม) คือ กลุ่มแรก ภวังคจลนะ ประกอบด้วย อุปปาท ฐิติ ภังคะ ซึ่งก่อให้เกิดความคิด ๖ ประการ กลุ่มที่สอง ปัญจ- ทวาราวัชนะ ก่อให้เกิดความรำพึงทางปัญจทวาร ๓ ประการ กลุ่มที่สาม วิญญาณ ก่อให้เกิดความรู้และความคิด ๓ ประการ กลุ่มที่สี่ สัมปฏิจฉนะ ก่อให้เห็นและรู้ ๓ ประการ กลุ่มที่ห้า สันตีรณ ก่อให้เกิดการพิจารณา ๓ ประการ กลุ่มที่หก โวฏฐัพพนะ ให้ตัดสินได้ในการพิจารณาอารมณ์ ๓ ประการ กลุ่มที่เจ็ด ชวนะ ก่อให้เกิดการเสวย อารมณ์ที่ได้เคยกล่าวไว้แล้ว ๒๑ ประการ กลุ่มที่แปด ตหารัมมนะ ก่อให้เกิดการฟังและเสวยอารมณ์ ๖ ประการ กลุ่ม ที่ ๙ ภวังคะ ก่อให้เกิดความตายขึ้นในใจผู้ตาย ๓ ประการ อันเป็นขั้นสุดท้ายของการตาย ดวงจิตทั้ง ๙ กลุ่มนี้ รวมเป็น ๕๑

สัตว์ทั้งหลายมีชวนะจิต ๗ อันเป็นมหันตารมณ์ เมื่อขาดใจตายแล้วก็ จากไป แต่ปัญจสกนธ์ (หรือขันธ์ทั้งห้า) มิได้ติดตามไปด้วยเลย ส่วนที่ติดตามผู้ตายไปก็คือบุญและบาปเท่านั้น ถ้าผู้ใดเกิดใหม่แล้วได้รับความลำบากก็เพราะมีผลบาป ผลบาปและผลบุญนั้นจะทำให้เกิดดีหรือเข็ญใจ มีผิวพรรณงดงามหรือไม่งดงาม อายุยืนหรือไม่ยืน บางคนเกิดเป็นเจ้าคนนายคน บางคนเกิดเป็นคนยากจนเข็ญใจ บางคนมีสติปัญญาฉลาด บางคนโง่เขลาเบาปัญญา ผู้ใดเรียนพระอภิธรรมด้วยตั้งใจเด็ดเดี่ยว ก็จะมีความรู้อย่างแท้จริง ส่วนผู้ที่มิได้เรียนมิได้ฟังพระอภิธรรมก็ย่อมเป็นการยากที่จะรู้จริงและเข้าใจได้

คณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน