ไฟประลัยกัลป์

เมื่อเวลาใกล้ไฟประลัยกัลป์จะล้างโลก ฝูงปลา เต่า และจระเข้ทั้งหลาย ต่างก็แห้งตายไปเหมือนกับเราตากไว้ ดูกลาดเกลื่อนไปทั่วแผ่นดิน ในขณะนั้น จะมองเห็นพระอาทิตย์ขึ้น ๒ ดวง เหมือนหน้าผีเสื้อและผีพรายปานไฟประลัยกัลป์ประหนึ่งจะคาดคั้นจับเอาคนไปทั้งๆ ที่ยังไม่ตาย พอดวงหนึ่งตก อีกดวงหนึ่งก็ขึ้น ผลัดเปลี่ยนกันไป ในท้องฟ้าอากาศร้อนระอุสว่างโชติช่วงอยู่ทุกแห่งหน ไม่มีกลางคืนเลย คนทั้งหลายที่ยังไม่ตาย ต่างกอดคอกันร้องห่มร้องไห้ ผู้มีปัญญามีสติระลึกถึงบุญกุศลเจริญเมตตาภาวนา ทำบุญรักษาศีล ตายแล้วไปเกิดในเทวโลก ผู้หาปัญญามิได้ และมิได้กระทำบุญทำธรรม ตายไปก็ไปเกิดในนรก พระอาทิตย์ ๒ ดวงส่องแสงร้อนจัดจนแม่น้ำใหญ่น้อย ห้วยหนอง คลอง บึง บ่อ และสระเหือดแห้งไปหมด

ในเวลาต่อมาไม่นาน ดวงอาทิตย์ก็เกิดขึ้นอีกเป็น ๓ ดวง ดวงหนึ่งตก ดวงหนึ่งเที่ยง ดวงหนึ่งขึ้น ร้อนแรงยิ่งกว่าเก่ามากนัก แม่น้ำใหญ่ทั้ง ๕ ก็เหือดแห้งไปหมด

ในเวลาต่อมา ดวงอาทิตย์ก็เกิดขึ้นอีกเป็นดวงที่ ๔ ทำให้สระใหญ่ ๗ สระ คือ สระฉัททันต์ สระมันทากินี สระสีหปปาตะ สระกัณณมุณฑะ สระรถการกะ สระกุณาละ และสระอโนดาต เหือดแห้งไปหมด ฝูงมังกรภิมทองและจระเข้ก็ล้วนตายหมดสิ้น

ในเวลาต่อมาไม่นาน ดวงอาทิตย์ก็ขึ้นอีกเป็นดวงที่ ๕ นํ้าในมหาสมุทร ก็เหือดแห้งเหลือเพียงข้อมือเดียว มองเห็นเงินทองและแก้ว ๗ ประการ ต่อมาก็เกิดขึ้นอีกเป็นดวงที่ ๖ ยิ่งร้อนจัดไปทั่วจักรวาล แสงลุกโชติช่วงไปทั่วร้อนเหมือนเผาหม้อในเตาเผา และต่อมาเกิดขึ้นอีกเป็นดวงที่ ๗ สัตว์ใหญ่ ๗ ตัว ที่อยู่ในแม่นํ้าสีทันดรทั้ง ๗ ซึ่งอยู่ในระหว่างเขาสัตตบริภัณฑ์ที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุราชนั้นไว้ สัตว์ที่อยู่ในสระฉัททันต์ และสัตว์ที่อยู่ในแม่น้ำสีทันดรก็มาทำความเคารพปลาใหญ่ ทั้ง ๗ ตัว คือ ปลาใหญ่ชื่อ ติมิ ติมังคละ ติมิรปิงคละ อานันทะ ติมินทะ อัชฌาหาร และมหาติมิ ซึ่งอยู่ในแม่นํ้าสีทันดร ๗ ชั้น และปลาใหญ่ทั้ง ๗ ตัวใหญ่เท่ากันทุกตัว ยาวได้ ๔,๐๐๐,๐๐๐ วา เมื่ออาทิตย์ขึ้นทั้ง ๗ ดวง ทำให้ร้อนยิ่งนัก จนปลาทั้ง ๗ ตัวได้กลายเป็นนํ้ามันไหลไหม้เขาอิสสกัณณะ ตลอดทั้งแผ่นดินชมพูทวีปที่เราอาศัยอยู่นี้ก่อนทุกแห่ง

ไฟไหม้นรกทั้งหลายตลอดไปถึงอเวจีมหานรก ไหม้ไปจนถึงอบายภูมิทั้ง ๔ และไหม้ภูเขาตามลำดับ ไหม้วิมานของเทวดาบนยอดเขา ไหม้ภูเขาเนมินธร ไหม้วิมานของเทวดาทั้งหลาย แล้วก็ไหม้ภูเขาสุทัสสนะ ไหม้ภูเขากรวิก ไหม้ภูเขา อิสินธร และไหม้ภูเขายุคันธร ไหม้เมืองจตุโลกบาล ไหม้วิมานแก้วของเทวดาที่อยู่บนจอมภูเขาเหล่านั้น เปลวไฟไหม้หุ้มเขาพระสุเมรุราชแล้วไหม้ใต้ลงไปถึง อสุรภพ ไหม้เมืองพระอินทร์สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ไหม้ภูเขาพระสุเมรุพังทลาย ๗๐๐ โยชน์ ๘๐๐ โยชน์ ๙๐๐ โยชน์ ๑,๐๐๐ โยชน์ ไหม้ต้นปาริชาต ไหม้สวนอุทยาน ไหม้สระโบกขรณี ไหม้สวรรค์ชั้นยามา ไหม้วิมานของเทวดาอันมีในชั้นนั้น ต่อจากนั้นก็ไหม้สวรรค์ชั้นดุสิต ไหม้สวรรค์ชั้นนิมมานรดี ไหม้สวรรค์ชั้นปรนิมิตวสวัดดี สวรรค์เมืองพญามาร ไหม้รัตนปราสาทของมวลเทพยดาทั้งสิ้น ไหม้แผ่นดินเบื้องตํ่าเบื้องล่างภายใต้แผ่นดินของเทพยดาเสียสิ้น

เปลวไฟได้ลุกโชติช่วงพุ่งไปถึงพรหมโลกชั้นปาริสัชชา จากนั้นก็ไหม้ พรหมโลกชั้นปโรหิตา ไหม้พรหมโลกชั้นมหาพรหม แล้วไฟก็หยุดอยู่เพียงแค่นั้น ต่อจากนั้นไปไฟก็ไม่ไหม้ รอดพ้นจากไฟประลัยกัลป์ ไฟประลัยกัลป์ล้างโลกเบื้องตํ่าถึงอเวจีมหานรกไม่มีขี้เถ้าหลงเหลืออยู่เลย เหมือนจุดประทีปไหม้อยู่นาน ถึงอสงไขยหนึ่ง ต่อจากนั้นชื่อสังวัฏฏอสงไขยกัลป์

คณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน

ความพินาศและการเกิดของโลก

สรรพสัตว์ที่มีชีวิตจิตใจซึ่งมีอยู่ใน ๓๑ ภูมิ ไม่เที่ยงแท้ จะต้องฉิบหายสลายไปเพราะความตาย สิ่งซึ่งมีแต่รูปร่างแต่ไม่มีจิตใจซึ่งมีอยู่ในภูมิ ๑๒ ชั้น เว้นแต่สัญญีสัตตาภูมิชั้นบนขึ้นไป นับแต่อสัญญีตาภูมิชั้นตํ่าลงมามีเขาพระสุเมรุราชเป็นต้น ก็ต้องพินาศวอดวายไปเพราะ ไฟ ความพินาศและการเกิดของโลกนํ้า และลม เมื่อเวลาไฟไหม้กัลป์นั้นเป็นอย่างไร เมื่อไฟไหม้กัลป์หรือไฟประลัยกัลป์นั้น ย่อมทำให้โลกพินาศวอดวายไป ด้วยธรรมชาติ ๓ อย่าง คือ พินาศไปด้วยไฟ พินาศไปด้วย นํ้า พินาศไปด้วยลม

ไฟล้างโลกล้างกัลป์มากกว่านํ้าและลมล้างโลก ล้างกัลป์ หมายความว่าไฟล้างโลก ๗ ครั้ง จึงมีนํ้ามาล้างโลก ๑ ครั้ง เมื่อไฟล้างโลก ๔๖ ครั้ง นํ้าล้างโลก ๘ ครั้ง รวม ๖๔ ครั้ง แล้วจึงมีลมมาล้างโลกครั้งหนึ่ง โลกพินาศไปเพราะไฟตั้งแต่สวรรค์ชั้นอาภัสสราลงมา เพราะนํ้าตั้งแต่ชั้นสุภกิณหะลงมา เพราะลมตั้งแต่ชั้นเวหัปผลาลงมา นี้เป็นลักษณะโลกพินาศวอดวายไปเพราะไฟ นํ้า และลม

เมื่อไฟประลัยกัลป์ไหม้กามภูมิ ๑๑ ชั้นแล้ว ก็ไหม้รูปภูมิชั้นปฐมฌานภูมิ ๓ ชั้น คือ พรหมปาริสัชชา พรหมปุโรหิตา และมหาพรหม จึงรวมไฟไหม้ ๑๔ ชั้น จึงหยุดนํ้าประลัยกัลป์ท่วมกามภูมิ ๑๑ รูปภูมิชั้นปฐมฌานภูมิ ๓ และทุติยฌานภูมิ ๓ คือ ปริตตาภา อัปปมาณาภา และอาภัสสรา รวมนํ้าท่วม ๑๗ ชั้นจึงหยุด ลม ประลัยกัลป์พัดกามภูมิ ๑๑ รูปภูมิชั้นปฐมฌานภูมิ ๓ ทุติยฌานภูมิ ๓ ตติยฌานภูมิ ๓ คือปริตตสุภา อัปปมาณสุภา และสุภกิณหกา รวมพัด ๒๐ ชั้น แล้วจึงหยุดไม่พัดถึงชั้นจตุตถฌานภูมิ

สาเหตุที่โลกฉิบหายวอดวายด้วยอำนาจไฟประลัยกัลป์ นํ้าประลัยกัลป์ และลมประลัยกัลป์นั้น เป็นเพราะคนทั้งหลายประกอบกรรมทำชั่วต่างๆ นานา ทั้งทางกาย วาจา และใจ ไม่รู้จักบุญ ไม่รู้จักธรรม ไม่รู้จักบิดามารดา ไม่รู้จักสมณพราหมณ์ ไม่รู้จักท่านผู้ทรงธรรม ไม่รู้จักพี่น้องและญาติมิตรสหาย มองเห็นกันเป็นกวางและเนื้อทราย เหมือนเป็ดไก่ เหมือนสุนัข สุกร เหมือนช้างและม้า ไล่ฆ่าฟันกัน ด้วยผลบาปกรรมที่คนทั้งหลายได้กระทำนี้ จึงทำให้เกิดเหตุเภทภัย ที่ไม่ดีทั่วทั้งจักรวาล

คนที่ทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการทำไร่ไถนา เมื่อหว่านข้าวลงไปก็งอกขึ้น เฉพาะที่พอโคจะกินได้เท่านั้น ฝนก็ไม่ตกลงมา มีแต่เสียงฟ้าร้อง ข้าว ผัก นํ้า ก็เหี่ยวแห้งเฉาตายเหมือนถูกไฟลน คนทั้งหลายต่างก็ได้รับทุกขเวทนาเดือดร้อน ไปทั่วทุกแห่งหน

ท่านผู้มีปัญญา เมื่อเห็นนิมิตร้ายอย่างนั้น ก็ทำให้เกิดศรัทธารีบเร่ง กระทำบุญกุศล เคารพยำเกรงบิดามารดา คนเฒ่าคนแก่ และสมณพราหมณ์ ตายแล้วก็ไปเกิดในเทวโลก ตายจากเทวโลกแล้ว ก็ไปเกิดในพรหมโลกที่ไฟไหม้ไม่ถึง

คนที่ไม่มีปัญญา ไม่รู้จักทำบุญกุศลอะไร ตายแล้วก็ไปเกิดในนรกที่มี ในจักรวาลอื่นที่ไฟไหม้ไม่ถึง

คณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน

ชมพูทวีป ป่าหิมพานต์

แผ่นดินชมพูทวีปนั้น มีปริมาณได้ ๑๐,๐๐๐ โยชน์ ทั้งด้านยาวและด้าน กว้างแยกออกเป็นที่อยู่อาศัยของหมู่มนุษย์ ๓,๐๐๐ โยชน์ เป็นป่าเขาพระหิมพานต์ ๓,๐๐๐ โยชน์ เป็นทะเล ๔,๐๐๐ โยชน์ป่าหิมพานต์

ภูเขาหิมพานต์นั้นสูงประมาณ ๕๐๐ โยชน์ กว้างใหญ่ ๓,๐๐๐ โยชน์ มียอดเขา ๘๔,๐๐๐ ยอด ที่เชิงเขาหิมพานต์นั้นมีต้นหว้าใหญ่ต้นหนึ่งอยู่ใกล้ฝั่งแม่นํ้าชื่อว่า สีทานที ต้นหว้านั้นมีขนาดใหญ่โอบรอบได้ ๑๔ โยชน์ ตั้งแต่พื้นดินขึ้นไปถึงค่าคบสูงได้ ๕๐ โยชน์ ตั้งแต่ค่าคบขึ้นไปถึงยอดได้ ๕๐ โยชน์ และตั้งแต่ปลายค่าคบด้านทิศตะวันออกมาถึงทิศตะวันตก มีระยะไกลถึง ๑,๐๐๐ โยชน์ ตั้งแต่ปลายค่าคบด้านทิศเหนือจดทิศใต้ ไกลถึง ๘๐๐,๐๐๐ วา ปริมาณปลายค่าคบ โดยรอบปริมณฑลได้ ๒,๔๐๐,๐๐๐ วา

ดอกของต้นหว้านั้น มีลักษณะงามมีกลิ่นหอมยิ่งนักและมีผลใหญ่ ขนาดเท่ากลองใบใหญ่ มีรสหวานอร่อยเหมือนนํ้าผึ้ง ผลหว้านั้นเมื่อร่วงลงใส่ร่างกาย กายนั้นจะหอมดุจดังนำตคระ ดุจแก่นจันทน์ฉะนั้น ถ้ายื่นมือล้วงเข้าไปในเนื้อผลหว้า พอสุดแขนจึงจะถึงเมล็ดของหว้าได้ ฝูงนกที่จิกกินผลหว้านั้นมีขนาดใหญ่เท่าช้างสารก็มี ใหญ่เท่าเรือนก็มี ผลหว้านั้นร่วงหล่นตกลงทั่วบริเวณรอบๆ ต้น และผลที่เกิดตรงค่าคบด้านทิศเหนือซึ่งร่วงหล่นในท่านํ้า ก็เป็นเหยื่อของฝูงปลาในที่นั้น ยางของผลหว้านั้นเมื่อร่วงหล่นลงกลายเป็นทองคำสุก ชื่อว่า ชมพูนุท

ถัดจากป่าไม้หว้านั้นไปเบื้องหน้า มีต้นมะขามป้อมซึ่งมีผลใหญ่ มีรสอร่อย ถัดจากป่าไม้มะขามป้อมไปเป็นป่าสมอ ซึ่งมีผลหวานปานนํ้าผึ้ง ถัดจากป่าสมอ ไปเบื้องหน้านั้นมีแม่นํ้าใหญ่ ๗ สาย ต่อจากแม่น้ำไป มีป่าไม้หว้าซึ่งมีผลหวานปานนํ้าผึ้ง หมู่ไม้นั้นบริเวณกว้างได้ ๔,๐๐๐ วา ถัดจากป่านั้น มีป่าไม้นารีผล ซึ่งมีลักษณะทรวดทรงงามยิ่งนัก เปรียบปานสาวรุ่นที่มีอายุได้ ๑๖ ปี เมื่อชายหนุ่มทั้งหลายได้มาพบเห็นก็มีใจเสน่หาลุ่มหลงรักใคร่ ครั้นยามร่วงหล่นลงก็มีฝูงนก กลุ้มรุมกันจิกกิน เหมือนกับหมีกินผึ้ง และผ่านป่าไม้หมู่นั้นไปทางด้านทิศตะวันออกยาวรีไปถึงแม่นํ้าสมุทรทางด้านทิศตะวันตก และยาวรีไปถึงแม่นํ้าใหญ่ ๗ สายนั้น โดยกว้างได้ ๑๐๐,๐๐๐ วา ถัดจากแม่น้ำไปเบื้องหน้ามีป่าไม้ ๖ ป่าคือ ป่ากุรภะ ป่าโกรกะ ป่ามหาพิเทหะ ป่าตะปันทละ ป่าโสโมโล และป่าไชยเยต

ป่าเหล่านี้เป็นที่อยู่อาศัยบำเพ็ญบุญของผู้ทรงธรรมทั้งหลาย ปลาเนื้อถ้าตายเอง พวกเขาจึงจะกินกัน ป่าไม้นั้นมีเนื้อทรายจามรีอยู่มากมาย พวกเขาเอาหางจามรีมามุงเรือนกันอยู่อาศัย พวกเขาอยู่ในที่นั้นโดยไม่ต้องทำไร่ไถนา หาเลี้ยงชีพ ข้าวสาลีและถั่วก็งอกขึ้นได้เอง โดยที่พวกเขาไม่ต้องยุ่งยากลำบากกาย และใจ ข้าวสาลีและถั่วนั้นกินมีรสหวานอร่อยปานนํ้าผึ้ง ถัดจากป่านั้นไปมีป่าไม้มะขวิดตั้งอยู่ พรรณไม้ต่างๆ ที่มีในป่าหิมพานต์นั้นกินหวานมีรสอร่อยทุกๆ อย่าง

ในป่าหิมพานต์มีสระใหญ่ ๗ สระ คือ สระอโนดาต สระกัณณมุณฑะ สระรถการะ สระฉัททันต์ สระกุณาละ สระมันทากินี และสระสีหปปาตะ

สระใหญ่ทั้ง ๗ นี้เท่ากัน ความกว้าง ลึก และมณฑลรอบเท่ากันทุกสระ คือ กว้าง ๔๓๖,๐๐๐ วา ลึก ๔๓๒,๐๐๐ วา มณฑลรอบ ๑,๒๙๖,๐๐๐ วา

สระอโนดาต มีเขา ๕ เทือกล้อมรอบ คือ เขาสุทัสสนะ เขาจิตรกูฏ เขากาฬกูฏ เขาคันธมาทน์ และเขาไกรลาศ

ภูเขาทั้ง ๕ เทือกนี้ สูงเทือกละ ๒๐๐ โยชน์ เขาสุทัสสนะเป็นทองล้อมสระอโนดาตอยู่ดังกำแพง หนาได้ ๔๐๐,๐๐๐ วา ล้อมสระดังปากกา เขาจิตรกูฏ เป็นแก้ว ๗ ประการ เขากาฬกูฏ สีเขียวดังดอกอัญชัน เขาคันธมาทน์ เป็นแก้วชื่อมสาลรัตนะ ข้างในเขานั้นเหมือนถั่วสะแตกแลถั่วราชมาษ พรรณไม้ที่เกิดในภูเขานั้น บางต้นรากหอม บางต้นแก่นหอม บางต้นยอดหอม บางต้นเปลือกหอม บางต้นลำต้นหอม บางต้นดอกหอม บางต้นผลหอม บางต้นใบหอม บางต้นยางหอม บางต้นหอมทุกอย่าง

อนึ่ง พรรณไม้หอมทั้ง ๑๐ หมู่ดังกล่าวมานี้ ย่อมเป็นยา และเครือเขา เถาวัลย์ที่เกิดบนภูเขาเทือกนี้ มีกลิ่นหอมทุกเมื่อไม่วายเลย จึงเรียกเขาเทือกนี้ว่า คันธมาทน์ เขาคันธมาทน์นี้เมื่อเดือนดับ จะรุ่งเรืองชัชวาลอยู่ดังถ่านเพลิง ถ้าเดือนเพ็ญรุ่งเรืองอยู่ดังไฟไหม้ป่าแลไหม้เมือง ณ เขาคันธมาทน์นั้น มีถํ้าเป็นที่อยู่ของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ที่ประตูถํ้าแก้วมีไม้ต้นหนึ่งชื่อ บัญชุสกะ สูงได้โยชน์หนึ่ง ใหญ่ได้โยชน์หนึ่ง มีดอกบานสะพรั่งทั้งในนํ้าและบนบก ข้างหน้าต้นไม้นั้นมีศาลาแก้วหลังหนึ่ง เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าไปอยู่ในถํ้านั้นเมื่อใด มีลมอันหนึ่ง ชื่อสมาหรวาตะ พัดเอาดอกไม้เข้ามาไว้รอบเหนือแท่นแก้วที่มีในถํ้านั้น เป็นเครื่องบูชาพระปัจเจกพุทธเจ้า และเมื่อดอกไม้เหี่ยวจะมีลมอันหนึ่งชื่อสัมมัชชนวาตะ มาพัดเอาดอกไม้เหี่ยวเหล่านั้นไปหมด แล้วลมสมาหรวาตะก็พัดเอาดอกไม้มาไว้ดังเดิม เพื่อเป็นเครื่อบูชาพระปัจเจกพุทธเจ้าเช่นนั้นทุกครั้ง

เขาไกรลาศนั้นเป็นเงิน เขาเทือกนี้ใหญ่และสูงเท่ากัน ยื่นไปในสระ อโนดาต ด้วยอานุภาพพญานาคราชและฝูงเทวดาที่บันดาลให้ฝนตก ณ สระอโนดาตนั้น ทั้งแม่นํ้าใหญ่น้อย ที่ไหลมาแต่ห้วยและภูเขา ก็ไหลไปขังอยู่ในสระอโนดาตนั้น สระอโนดาตนั้นจึงไม่เหือดแห้งสักครั้งเดียว

พระอาทิตย์และพระจันทร์ โคจรไปทางซ้ายทางขวาสระอโนดาต จึงจะ ส่องสว่างถึงพระอโนดาตนั้นได้ หากส่องไปทางตรงๆ ก็ไม่สามารถส่องสว่างไปถึงสระอโนดาตได้เลย นํ้าในสระอโนดาตนั้นใสงามนักหนา เพราะเหตุนั้นจึงเรียก ว่า สระอโนดาต

สระอโนดาตนั้นมี ๔ ท่า ท่าที่ลงอาบนํ้ามีบันไดทองประดับด้วยแก้ว มีพื้นศิลาแก้วรองภายใต้รอบๆ เกลี้ยงเกลาเสมองาม นํ้านั้นใสงามนักหนา แลเห็นตัวปลาภายใต้นํ้าได้ นํ้านั้นใสงามดังแก้วผลึก ท่านํ้าท่าหนึ่งเทวบุตรลงอาบ ท่านํ้าท่าหนึ่งเทวธิดาลงอาบ ท่าหนึ่งพระปัจเจกพุทธเจ้าลงอาบ ท่าหนึ่งฤษีสิทธิวิชาธรลงอาบ ทางเข้าสระอโนดาตมี ๔ ทิศใหญ่ ทางเข้าทิศหนึ่งดุจดังหน้าสิงห์ ทิศหนึ่งดุจดังหน้าช้าง ทิศหนึ่งดุจดังหน้าม้า ทิศหนึ่งดุจดังหน้าวัว นํ้าสระอโนดาต ที่ไหลออกมาทางปากวัว ริมฝั่งนํ้านั้นมีวัวมาก นํ้าที่ไหลออกมานั้นก็จะไหลไปทางทิศตะวันออก ไหลเวียนล้อมรอบสระอโนดาตแล้วจึงไหลไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ไหลลงมหาสมุทร นํ้าที่ไหลออกทางทิศเหนือเวียนรอบสระอโนดาต ๓ รอบ ไหลไปข้างหน้าแล้วมาบรรจบกันดังเดิม หลังจากนั้นก็ไหลไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ออกไปถึงมหาสมุทร นํ้าอันไหลออกทางทิศตะวันตกเวียนรอบสระอโนดาต ๓ รอบ แล้วจึงไหลไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ไหลออกมหาสมุทร นํ้าอันไหลออก ทางด้านทิศใต้ ไหลเวียนรอบสระอโนดาต ๓ รอบ ได้แก่ อาวัฏฏคงคา กว้าง ๔,๐๐๐ วา ที่ไหลไปทางทิศใต้ไกลได้ ๔๘๐,๐๐๐ วา ชื่อกัณหคงคา ไหลไปจดภูเขาเทือกหนึ่งแล้วพุ่งขึ้นเบื้องบนได้ ๖๐ โยชน์ เป็นวงกลมได้ ๖,๐๐๐ วา ชื่ออากาศคงคา ไหลตกลงเหนือหินแผ่นหนึ่งชื่อ ติยังคฬปาสาณ เป็นสระใหญ่ สระหนึ่ง ๕๐ โยชน์ ชื่อ ติยังคฬโบกขรณี นํ้าไหลเซาะฝั่งนํ้าติยังคฬโบกขรณี ออกไปจากศิลาไกลได้ ๔๘๐,๐๐๐ วา ชื่อ พหลคงคา นํ้านั้นไหลกระทบหินไปไกลได้ ๔๘๐,๐๐๐ วา ชื่ออุมังคคงคา และไหลไปจดเทือกเขาเทือกหนึ่งชื่อ พิชฌนติรัจฉานบรรพต พุ่งขึ้นเหนือแผ่นดิน เกิดเป็นแม่น้ำ ๕ สาย ดุจนิ้วมือ เรียกว่า ปัญจมหานที กล่าวคือ สาย ๑ ชื่อ คงคา สาย ๑ ชื่อ ยมุนา สาย ๑ ชื่อ อจิรวดี สาย ๑ ชื่อ มหี สาย ๑ ชื่อ สรภู

แม่น้ำนั้นไหลมาในเมืองมนุษย์และไหลออกมหาสมุทร ในแม่นํ้านั้นมีสระใหญ่ทุกสายกว้าง ๔,๒๓๒,๐๐๐ วา สระเหล่านั้นมีนํ้าไม่เหือดแห้งเลย และนํ้านั้นใสงามกว้าง ๒๐๐,๐๐๐ วา นอกจากนํ้ามีบัวขาว กว้าง ๔,๐๐๐ วา นอกจากบัวขาว มามีบัวแดง กว้าง ๔,๐๐๐ วา เท่ากันกับบัวขาว นอกจากบัวแดงมีดอกโกมุทขาวกว้าง ๔,๐๐๐ วา นอกจากโกมุทขาวมีเหล่าโกมุทแดง กว้าง ๔,๐๐๐ วา นอกจากเหล่าโกมุทแดงมีเหล่าอุบลขาว กว้าง ๔,๐๐๐ วา นอกจากเหล่าอุบลขาว มีเหล่าอุบลเขียว กว้าง ๔,๐๐๐ วา นอกจากเหล่าอุบลเขียวแล้ว มีป่าข้าวสาลีขาว กว้าง ๔,๐๐๐ วา นอกจากป่าข้าวสาลีขาวแล้ว มีป่าข้าวสาลีแดง กว้าง ๔,๐๐๐ วา นอกจากป่าข้าวสาลีแดงแล้ว มีป่าแตงชะแลง (แตงร้าน) มีลูกโตเท่าไหใหญ่ กว้าง ๔,๐๐๐ วา นอกจากป่าแตงชะแลงแล้ว มีป่าแตงไทย กว้าง ๔,๐๐๐ วา นอกจากป่าแดงไทยแล้ว มีป่าอ้อยลำต้นเท่าต้นหมาก กว้าง ๔,๐๐๐ วา นอกจากป่าอ้อยแล้ว มีป่ากล้วยผลเท่างาช้างสาร กว้าง ๔,๐๐๐ วา นอกจากป่ากล้วยแล้ว มีป่าขนุนลูกใหญ่เท่าตุ่มอันจุนํ้าได้ ๖๐ กระออม กว้าง ๔,๐๐๐ วา นอกจากป่าขนุนแล้วก็มีป่ามะม่วง กว้าง ๔,๐๐๐ วา นอกจากป่ามะม่วงแล้วก็มีป่ามะขวิด กว้าง ๔,๐๐๐ วา แลสรรพผลไม้น้อยใหญ่ทุกชนิด ย่อมมีรสเลิศนักหนา

สระฉัททันต์นั้นมีภูเขาล้อมรอบอยู่ ๗ เทือกด้วยกัน ภูเขาเทือกหนึ่งๆ นั้นมีลักษณะต่างกันดังนี้คือ เทือกที่ ๑ ล้วนไปด้วยทองคำ เทือกที่ ๒ ล้วนไปด้วยแก้ว เทือกที่ ๓ ล้วนไปด้วยสีเขียวคล้ายดอกอัญชัน เทือกที่ ๔ ล้วนไปด้วยแก้วผลึก เทือกที่ ๕ ล้วนไปด้วยชาติหิงคุ เทือกที่ ๖ ล้วนไปด้วยแก้วมรกต เทือกที่ ๗ ล้วนไปด้วยแก้วไพฑูรย์

เมื่อพระยาช้างฉัททันต์คชสารโพธิสัตว์เกิดนั้น แผ่นดินแห่งนั้นเป็น ทองคำ และที่แห่งนั้นมีแผ่นแก้วไพฑูรย์ มีพื้นที่สูงได้ ๕ ศอก กว้าง ๕๐ ศอก มีสระพังทอง ๒ สระ สระหนึ่งมีนํ้าใสสะอาดและหอม สถานที่แห่งนั้นยังตั้งอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้ เมื่อช้างเผือกใดเกิดในตระกูลฉัททันต์ ช้างเชือกนั้นจะเป็นพระยาช้างในที่นั้น เป็นช้างที่มีลักษณะขาวงามยิ่งนัก อุปมาดังสังข์ที่ท่านขัดให้งาม ใหญ่สูงได้ ๘๘ ศอก และยาว ๑๖๐ ศอก ตลอดลำตัวจนถึงฝ่าตีนแดงงามดัง ชาติหิงคุ และนํ้าครั่งสด ช้างนั้นเมื่อเติบใหญ่เป็นช้างสารขึ้น มีกำลังมหาศาลหาตัวเปรียบเสมอมิได้ งวงช้างนั้นขาวใสดังหยวกกล้วย โดยยาวเรียวได้ ๕๘ ศอก งาทั้งคู่งามงอนดุจปล้องเงินที่ท่านใส่ปล้องทอง หนา ๑๕ ศอก ยาว ๓๐ ศอก มีสี สรรพรรณรายอยู่ถึง ๖ สีด้วยกัน คือ สีเหลือง เหมือนทองคำ สีดำ เหมือนปีกแมลงทับ สีแดง เหมือนชาติหิงคุและนํ้าครั่งสด สีขาว เหมือนสังข์ที่ชัดแล้ว สีหม่น เหมือนเงิน สีเขียว เหมือนดอกอินทนิล

สีทั้ง ๖ นี้ ย่อมเปล่งรัศมีฉายฉวัดเฉวียนรอบๆ ตัวพระยาช้างนั้นทุกๆ ขณะมิได้ขาด ช้างนั้นมีอานุภาพมากสามารถเหาะเหินไปในอากาศได้ พร้อมด้วยฝูงบริวารประมาณ ๘,๐๐๐ เชือก ซึ่งมีลักษณะใหญ่และสูงเช่นเดียวกัน และช้างเหล่านั้นอาศัยอยู่ที่เชิงเขาหิมพานต์ เหนือแผ่นแก้วไพฑูรย์ที่อยู่บนแท่นทอง ซึ่งมีอยู่ที่บริเวณสระฉัททันต์นั้น และสระนั้นเป็นที่ลงอาบนํ้าและที่เล่นแห่งพระยาช้างฉัททันต์นั้นในกลางสระฉัททันต์นั้น มีน้ำเย็นใสสะอาด เต็มเปี่ยมอยู่ทุกขณะไม่เหือดแห้ง มีปริมณฑลโดยรอบได้ ๖๐๐,๐๐๐ วา ถัดจากนํ้านั้นออกมาข้างนอก มีผักตบลอยอยู่เวียนรอบๆ หนาได้ ๘,๐๐๐ วา ถัดจากป่าผักตบนั้นมา มีป่านิลุบล ซึ่งมีดอกผลิบานงดงามอยู่รอบๆ สระนั้นได้ ๘,๐๐๐ วา ถัดจากป่านิลุบลนั้นมา มีดอกรัตตุบลขึ้นอยู่รอบๆ โดยกว้างได้ ๘,๐๐๐ วา ถัดจากป่ารัตตุบลนั้นมามีป่าดอกเสตุบลขึ้นอยู่รอบได้ ๘,๐๐๐ วา ถัดจากป่าเสตุบลออกมาเป็นป่าดอกจงกลนี ขึ้นอยู่รอบๆ โดยกว้างได้ ๘,๐๐๐ วา ถัดจากป่าจงกลนีนั้นออกมา มีป่าบัวแดงขึ้นอยู่รอบๆ โดยกว้าง ๘,๐๐๐ วา ถัดจากป่าบัวแดงนั้นออกมา มีบัวขาวขึ้นอยู่รอบๆ โดยกว้าง ๘,๐๐๐ วา ถัดจากป่าบัวขาวนั้นออกมา มีดอกโกมุทขึ้นอยู่รอบกว้างได้ ๘,๐๐๐ วา

ดอกบัวทั้ง ๗ ชนิดนั้นอยู่ชิดกัน ดูสวยสดงดงามตระการตา ถัดจากบัวทั้ง ๗ นั้นออกมา มีดอกผักตบขึ้นอยู่รอบๆ หนาและกว้างได้ ๘,๐๐๐ วา ถัดจากป่าผักตบนั้นออกมาถึงขอบฝั่งมีนํ้าเพียงท้องช้าง นํ้าในที่นั้นใสสะอาด ไม่มีกลิ่นเหม็น มีข้าวสาลีที่เกิดเองต้นตํ่าๆ ออกรวงงามยิ่งนัก โดยกว้างได้ ๘,๐๐๐ วา ถัดจากข้าวสาลีนั้นออกมามีป่าไม้ใหญ่ทั้งหลายงอกขึ้นตั้งอยู่เรียงราย รอบสระฉัททันต์มีผลดกงดงามยิ่ง ถัดจากป่าไม้หมู่นั้นออกมา มีถั่วหลายชนิด เกี่ยวพันลำไม้ขึ้นไป

ถัดจากป่าถั่วนั้นไป มีป่าฟักและแฟงแตงเต้ามีผลเท่าไห ถัดจากนั้นมีป่าอ้อยเกิดขึ้น มีลำใหญ่เท่าลำหมาก ถัดจากป่าอ้อยนั้นจึงเป็นป่ากล้วย เกิดขึ้นมากมายหลายพรรณ มีผลใหญ่เท่างาช้าง มีรสหอมหวาน ถัดจากป่ากล้วยนั้น เป็นป่าไม้รัง มีดอกสะพรั่งดูล้นกิ่ง ถัดจากป่าไม้รังนั้น มีป่าขนุนลูกเท่ากลองขนาดใหญ่ ถัดจากป่าขนุนมีป่ามะขามมีรสหวานดังนํ้าผึ้งและนํ้าตาล ถัดจากป่ามะขามมีป่ามะขวิด ถัดจากป่ามะขวิดมีป่าใหญ่ ประดับด้วยต้นไม้มากมายหลายพรรณ ถัดจากป่านั้น
มีไม้ซาง หมู่ไม้ทั้งหลายนานาพรรณนั้น เป็นเครื่องประดับตกแต่งสระฉัททันต์นั้นให้สวยงาม

ภูเขา ๗ เทือก ที่ล้อมรอบสระฉัททันต์นั้น มีชื่อดังนี้ สุวรรณรัตนบรรพต สูง ๕๖,๐๐๐ วา สัพพมณิบรรพต สูง ๔๘,๐๐๐ วา จุฬสุวรรณบรรพต สูง ๔๐,๐๐๐ วา มหาอุทกบรรพต สูง ๓๒,๐๐๐ วา จุลอุทกบรรพต สูง ๒๔,๐๐๐ วา มหากาลบรรพต สูง ๑๖,๐๐๐ วา จุลกาลบรรพต สูง ๘,๐๐๐ วา

ภูเขาสุวรรณรัตนบรรพตนั้น ตั้งอยู่ท่ามกลางระหว่างภูเขาทั้งหลาย มีลักษณะเป็นเรือนทอง มีเงารัศมีเปล่งออกจรดในสระฉัททันต์นั้นดูเรืองแสงงาม ดุจดังแสงพระอาทิตย์เมื่อแรกขึ้น

เมื่อถึงเดือน ๔ และเดือน ๕ ช้างทั้งหลายจะพากันบ่ายหน้าไปที่ท่านํ้า แล้วอาบนํ้าในสระฉัททันต์นั้น อันมีอยู่ในป่าหิมพานต์ ในทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีไม้ประคำต้นหนึ่งอยู่ที่นั้น มีร่มเงาร่มเย็นสบาย ต้นไม้นั้นใหญ่ถึง ๔,๐๐๐ วา สูงตั้งแต่ดินจนถึงค่าคบได้ ๔๖,๐๐๐ วา ตั้งแต่ค่าคบถึงปลายยอดได้ ๘๔,๐๐๐ วา มีค่าคบใหญ่ ๔ ค่าคบ โดยยื่นออกไปในทิศต่างๆ ได้ ๔๘,๐๐๐ วา โดยรอบปริมณฑลรอบกิ่งไม้นั้นได้ ๒๘๘,๐๐๐ วา

พระยาช้างนั้นเล่นอยู่ใต้ร่มต้นไม้นั้น พร้อมด้วยโขลงช้างทั้งหลายที่เป็น บริวาร เมื่อถึงเวลาที่พระยาช้างนั้นลงอาบนํ้า โขลงช้างพังทั้งหลายต่างพากันมาขัดสีฉวีวรรณ อาบนํ้าให้แก่พระยาช้างนั้น ครั้นหมดจดขาวผ่องดังสังข์แล้ว ก็ขึ้นไปอยู่ใต้ร่มไม้ประคำอย่างเก่า แล้วหมู่โขลงช้างพลายช้างพังทั้งหลาย จึงลงอาบเล่นต่อในภายหลัง บางเชือกพ่นนํ้าเล่นไปทางซ้ายและขวา บางเชือกก็เอางาแทงดินเล่น บางเชือกก็มุดดำหัวเล่นตามสบาย ครั้นอาบนํ้าเสร็จแล้ว บางเชือกก็เอารากบัวบ้าง เอาฝักบัวบ้าง เอาดอกบัวบ้าง เอาข้าวสารสาลีบ้าง เอาแตงเต้าผลเท่าไหบ้าง เอาอ้อยลำงามเท่าลำหมากบ้าง เอาเครือกล้วยผลใหญ่ เท่างาช้างบ้าง เอาขนุนมีผลใหญ่เท่ากลองบ้าง เอามะขวิดบ้าง เอามะม่วงบ้าง เอามะขามบ้าง เอาดอกรัง ซึ่งสะพรั่งไปทั้งกิ่งหักถือมายกชูเหนือหัวแล้วเอาเข้าไปเฝ้าไปถวายแก่พระยาช้างทุกวันมิได้ขาด

ณ จอมเขาไกรลาศนั้นมีเมืองหนึ่งล้วนไปด้วยเงินและทอง มีหมู่นางกินรี อาศัยอยู่ที่เมืองนั้น บ้านเมืองนั้นมีความสนุกสนานรื่นเริงบันเทิงใจ คล้ายเมืองดาวดึงส์สวรรค์ชั้นทิพย์ และเมืองนั้นเป็นที่ประทับของพระปรเมศวรเจ้า

ภูเขาชื่อว่า จิตรกูฎ นั้น มีคูหาทองคำอยู่แห่งหนึ่ง พระโพธิสัตว์เจ้าเมื่อครั้งเป็นพระยาหงส์ธตรฐราชเจ้า ก็อาศัยอยู่ในคูหาทองคำนั้น มีฝูงหงส์ทองประมาณ ๙ หมื่นตัวเป็นบริวารรับใช้ เหมือนดังโขลงช้างสาร ๘๐,๐๐๐ เชือก เป็นบริวาร รับใช้แก่พระยาช้างชื่อว่า ฉัททันต์ นั้น

แผ่นดินชมพูทวีปนี้มีบริเวณที่เป็นนํ้า ๓ โกฏิ ๒ ล้านวา เป็นป่าและภูเขาหิมพานต์ ๒๔,๐๐๐,๐๐๐ วา ส่วนที่มนุษย์อยู่แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ ฝ่ายใน เรียกว่า มัชฌิมประเทศ ฝ่ายนอกเรียกว่า ปัจจันตประเทศ

มัชฌิมประเทศนั้นมีหมู่บ้านชื่อว่า กชังคละ อยู่ในทิศตะวันออก บ้านนี้มีต้นรังอยู่ต้นหนึ่ง ภายในตั้งแต่ต้นรังนั้นเข้ามาเป็นมัชฌิมประเทศ ภายนอกจากไม้รังนั้นออกไปเป็นปัจจันตประเทศ ในทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีแม่น้ำชื่อว่า สัลลวตี ถัดจากแม่น้ำนั้นออกไปเป็นปัจจันตประเทศ ในทิศใต้มีบ้านชื่อว่า เสตกัณณิกะ ถัดจากบ้านนั้นออกไปเป็นปัจจันตประเทศ ในทิศตะวันตกมีบ้านพราหมณ์ชื่อว่า ถูนคาม ถัดจากบ้านพราหมณ์นั้นออกไปเป็นปัจจันตประเทศ ในทิศเหนือมีภูเขาลูกหนึ่งชื่อว่า อุสีรธชะ ถัดจากภูเขาลูกนั้นออกไป เป็นปัจจันตประเทศ

มัชฌิมประเทศนั้นมีบริเวณโดยรีได้ ๓,๐๐๐ โยชน์ และโดยกว้างได้ ๒๕ โยชน์ โดยปริมณฑลรอบรวมได้ ๑๑,๐๐๐ โยชน์ ในมัชฌิมประเทศนั้นมี เมืองใหญ่ๆ ๑๖ เมือง เมื่อพระพรหมและเทพยดาทั้งหลายสิ้นอายุขัยแล้ว ย่อมจุติลงมาเกิดในมัชฌิมประเทศนี้ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันตขีณาสพ พระยาจักรพรรดิราช พราหมณ์และฤษี เศรษฐีผู้มีบุญทั้งหลาย ย่อมจุติลงมาเกิดในมัชฌิมประเทศนี้เหมือนกันในทิศตะวันออกและทิศตะวันตกของแผ่นดินชมพูทวีปนั้นมีลักษณะดุจดังทูบเกวียน คนทั้งหลายที่เกิดในแผ่นดินชมพูทวีปนี้ จึงมีดวงหน้า ละม้ายคล้ายแผ่นดินนั้น แผ่นดินในอุตตรกุรุทวีปนั้นมีพื้นที่เป็นสี่เหลี่ยม โดยรีและกว้างได้เท่ากัน คือ ๘,๐๐๐ โยชน์ คนทั้งหลายที่เกิดในแผ่นดินนั้น จึงมีดวงหน้าเป็นสี่เหลี่ยม ละม้ายคล้ายแผ่นดินนั้น

แผ่นดินในบุรพวิเทหทวีป มีบริเวณกว้างได้ ๘,๐๐๐ โยชน์ และกลมดุจดังพระจันทร์ในวันเพ็ญ คนทั้งหลายที่เกิดในแผ่นดินนี้ จึงมีดวงหน้ากลมคล้ายแผ่นดินนั้น

บริเวณแผ่นดินก็ดี แม่น้ำก็ดี ป่าเขาลำเนาไพรดังกล่าวมาแล้ว ที่ไม่มีจิต ไม่มีชีวิตก็ดี โดยรูปธรรมก็มีแต่วินิโภครูป ๘ คือ ดิน นํ้า ไฟ ลม รูป กลิ่น รส เสียง เท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องแปรเปลี่ยนสภาพไป ไม่ตั้งอยู่ยั่งยืนเที่ยงแท้ได้เลย ไม่ต้องกล่าวถึงหมู่สัตว์ทั้งหลายที่มีจิตวิญญาณ ท่านทั้งหลายพึงพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงแท้ของร่างกาย แล้วจงรำลึกฝึกใจใฝ่บำเพ็ญบุญกุศลให้ทานรักษาศีลเจริญเมตตาภาวนา เพื่อพาตนไปสู่พระอมตมหานิพพานอันปราศจากทุกข์ ปราศจากโศก ปราศจากโรคภัย ไม่มีความแก่ ไม่มีความวิบัติฉิบหาย ตลอดกาล

คณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน

อวินิโภครูป:พระอาทิตย์ พระจันทร์ นพเคราะห์ ดารากร

ตั้งแต่เขตกำแพงจักรวาลถึงเขายุคันธร ระหว่างกลางเป็นหนทางโคจรของพระอาทิตย์ พระจันทร์ และดาวนพเคราะห์ ดวงดาวทั้งหลายเที่ยวหมุนเวียนไปมาในจักรวาลทางวีถีที่ทำให้เรารู้ ปี เดือน วัน และรู้จักพยากรณ์เรื่องดีและร้ายได้

ตั้งแต่พื้นแผ่นดินที่เราอยู่นี้ขึ้นไปถึงดวงอาทิตย์ สูงได้ ๔๒,๐๐๐ โยชน์ ๘,๐๐๐ วา ดวงจันทร์อยู่ต่ำกว่าดวงอาทิตย์ ๘,๐๐๐ วา ดวงอาทิตย์กว้าง ๔๐๐,๐๐๐ วา รอบปริมณฑล ๑,๒๐๐,๐๐๐ วา ดวงจันทร์กว้าง ๓๙๒,๐๐๐ วา รอบปริมณฑล ๑,๑๗๖,๐๐๐ วา

ตั้งแต่กำแพงเขาจักรวาลถึงเขายุคันธร มีทางเดินของดวงอาทิตย์อยู่ ๓ ทาง ทำให้เกิด ฤดู ๓ ฤดู ได้แก่

โคณวิถี พระอาทิตย์โคจรชิดกำแพงจักรวาล ในเดือน ๑๒-๑-๒-๓ เป็น
ฤดูหนาว

อชวิถี พระอาทิตย์โคจรตรงกลาง ในเดือน ๔-๕-๖-๗ เป็นฤดูร้อน

นาควิถี พระอาทิตย์โคจรด้านทิศเหนือ ในเดือน ๘-๙-๑๐-๑๑ เป็นฤดูฝน

ในระหว่างโคณวิถีนั้น กว้าง ๔๓๓,๗๒๕ โยชน์ แบ่งเป็น ๓ ภาค กว้าง ภาคละ ๑๔๔,๕๗๕ โยชน์ ภาคหนึ่งชื่อพาหิรกมณฑล อยู่ทางทิศใต้ ใกล้กำแพงจักรวาล ภาคสองชื่อ มัชฌิมมณฑล อยู่ตรงกลางภาคสามชื่ออุตตรมณฑล อยู่ทางทิศเหนือใกล้เขาพระสุเมรุ เมื่อพระอาทิตย์โคจรในโคณวิถีนั้น โคจรใน พาหิรกมณฑล จะโคจรในมัชฌิมมณฑล ในเดือน ๑๒ เพียง ๑๕ วันเท่านั้น ไม่โคจรในอุตตรมณฑลเลย

อชวิถีนั้น กว้าง ๔๓๓,๗๒๕ โยชน์ แบ่งเป็น ๓ ภาคๆ ละ ๑๔๔,๕๗๕ โยชน์ คือ ภาคใต้ชิดกำแพงจักรวาล ชื่อ พาหิรกมณฑล ภาคกลาง ชื่อ มัชฌิมมณฑล ภาคเหนือ ชื่อ อุตตรมณฑล

เมื่อพระอาทิตย์โคจรในอชวิถีนั้น โคจรในมัชฌิมมณฑลตลอดเวลา จะโคจรในพาหิรกมณฑลเพียง ๑๕ วัน แม้ในอุตตรมณฑลก็จะโคจรในเดือน ๖ เพียง ๑๕ วัน เหมือนกัน

หลังจากเดือน ๗ ไป พระอาทิตย์จะโคจรทางนาควิถี กว้าง ๔๓๓,๗๓๕ โยชน์ แบ่งเป็น ๓ ภาคๆ ละ ๑๔๔,๕๗๕ โยชน์ คือ ภาคใต้ชื่อพาหิรกมณฑล ภาคกลางชื่อ มัชฌิมมณฑล ภาคเหนือชื่อ อุตตรมณฑล

เมื่อพระอาทิตย์โคจรในนาควิถีนั้น โคจรในอุตตรมณฑลตลอดเวลา จะโคจรในมัชฌิมมณฑลในเดือน ๑๐ ข้างแรมเพียง ๑๕ วัน และเดือน ๑๑ ตลอดเดือน ไม่โคจรในพาหิรกมณฑลเลย

มณฑลทั้งหลายที่กล่าวถึง หมายถึงมณฑลที่อยู่ในวิถีของตน ไม่ได้หมายถึงวิถีอื่น

วิถีทั้งสาม(มีดาวฤกษ์โคจรอยู่วิถีละ ๙ หมู่ดังนี้ ๑. อัสสุนี (อัศวินี ดาวม้า, คอม้า หางหนู) ๒. ภรณี (ก้อนเส้า, แม่ไก่) ๓. กฤติกา (ลูกไก่, ธงสามเหลี่ยมมีหาง) ๔. โรหิณี (คางหมู, จมูกม้า, ไม้ค้ำเกวียนเรียวยาว) ๕. มิคสิระ (หัวเนื้อ,หัวเต่า) ๖ง อัทระ (อารทรา ดาวตาสำเภา, ฉัตร) ๗. ปุนัพพสุ (สำเภาทอง, เรือชัย,สำเภา) ๘. เรวดี (ปลาตะเพียน,หญิงมีครรภ์) ๙. อุตตรภัทร (ไม้เท้า, ราชสีห์ตัวผู้)  ดาวฤกษ์ทั้ง ๙ หมู่นี้ โคจรในอชวิถี ๑. ปุสสะ (บุษยะ สมอสำเภา, ปุยฝ้าย, พวงดอกไม้) ๒. อัสเลสะ (อาศเลษา เรือน, แขนคู้พ้อม) ๓. มาฆะ (มฆา งูตัวผู้, วานร, งอนไถ) ๔. บุพพผลคุณะ (บุรพผลคุณี งูตัวเมีย,แรดตัวผู้) ๕. อุตตรผลคุณะ (อุตตรผลคุณี ดาว,จุดไฟ) ๖. หัสตะ (ศอกคู้, ฝ่ามือ, เหนียงสัตว์) ๗. จิตระ (จิตรา ตาจระเข้, ต่อมน้ำ, ไต้เพพาน) ๘. สวาติ (ช้างพัง, ดวงแก้ว, กระออมน้ำ) ๙. พิสาขะ (วิศาขา, วิสาขะ คันฉัตร,แขนนาง)  ทั้ง ๙ หมู่นี้ โคจรในโคณวิถี ๑. อนุราธะ (นุราธา ประจำฉัตร, ธนูหน้าไม้,หงอนนาค) ๒. เชษฐะ (เชษฐา ช้างใหญ่, งาช้าง คอนาค) ๓. มูละ (ช้างน้อย, สะดือนาค) ๔. บุพพาสาฒะ (บุรพาษาฒ สัปคับช้าง, ช้างพลาย, ปากนก) ๕. อุตราสาฒะ (อุตตราษาฒ แตรงอน, ครุฑ, ช้างพัง) ๖. ศรวณะ (หลักชัย, หามศพ, โลง) ๗. ธนิษฐะ (ธนิษฐา ไข่, กา) ๘. ศตภิษช์ (ศตภิษัช พิมพ์ทอง, มังกร) ๙. บุพพภทระ (บุรพภัทระ หัวเนื้อทราย, ราชสีห์ตัวผู้)  ทั้ง ๙ หมู่นี้โคจรในนาควิถี) ที่หมู่ดาวฤกษ์โคจรนั้นยาว ๙๐๐,๐๐๐ โยชน์ แต่ละวิถีนั้น มีดาวฤกษ์โคจรอยู่วิถีละ ๙ หมู่ คือ ดาวอุตตรภัทร เรวดี อัสสุนี กรณี กฤติกา โรหิณี มิคสิระ อัทระ และปุนัพพสุ ดาวฤกษ์ทั้ง ๙ หมู่นี้โคจรในอชวิถี

ดาวปุสสะ อัสเลสะ มาฆะ บุพพผลคุณะ อุตตรผลคุณะ หัสตะ จิตระ สวาติ และไพสาขะ ทั้ง ๙ หมู่นี้โคจรในโคณวีถี

ดาวอนุราธะ เชษฐะ มูละ บุพพาสาฒะ อุตราสาฒะ ศรวณะ ธนิษฐะ ศตภิษช์ และบุพพภัทระ ดาวทั้ง ๙ หมู่นี้โคจรในนาควิถี ระหว่างดาวฤกษ์เหล่านั้น โคจรไกลกันดวงละ ๑ โยชน์

ดาวเหล่านี้เรียกว่า สัตตพีสนักษัตร (ดาวฤกษ์ ๒๗) มีมณฑลเรียงกันได้ ๒,๘๐๐,๐๐๐ โยชน์ แต่ละดวงมีวิมานแก้วเรียงรายอยู่ดังนี้

ดาวอัสสุนี มีวิมานแก้ว ๕ หลังเรียงกันอยู่ ดาวภรณี มีวิมานแก้ว ๓ หลัง เรียงกันอยู่เหมือนก้อนเส้า ดาวกฤติกา มีวิมานแก้ว ๗ หลังเรียงกันอยู่ ดาวโรหิณี มีวิมานแก้ว ๔ หลังเรียงกันอยู่เหมือนพนม ดาวมิคสิระ มีวิมานแก้ว ๓ หลังเรียงกันอยู่เหมือนเรือ ดาวอัทระ มีวิมานแก้วหลังเดียว ดาวปุนัพพสุ มีวิมานแก้ว ๕ หลังเรียงกันอยู่ ดาวปุสสะ มีวิมานแก้ว ๕ หลังเรียงกันอยู่เหมือนเรือ ดาวอัสเลสะ มีวิมานแก้ว ๔ หลังเรียงกันอยู่ ดาวมาฆะ มีวิมานแก้ว ๔ หลังเรียงกันอยู่ ดาวบุพพผลคุณะ มีวิมานแก้ว ๒ หลังเรียงกันอยู่ ดาวอุตตรผลคุณะ มีวิมานแก้ว ๒ หลังเรียงกันอยู่ ดาวหัสตะ มีวิมานแก้ว ๔ หลังเรียงกันอยู่ ดาวจิตระ มีวิมาน แก้วหลังเดียว ดาวสวาติ มีวิมานแก้วหลังเดียว ดาวไพสาขะ มีวิมานแก้ว ๖ หลัง เป็นปริมณฑล ดาวอนุราธะ มีวิมานแก้ว ๗ หลังเรียงกันอยู่ ดาวเชษฐะ มีวิมานแก้วหลังเดียว ดาวมูละ มีวิมานแก้ว ๕ หลังเรียงกันอยู่ ดาวบุพพาสาฒะ มีวิมานแก้ว ๔ หลังเรียงกันอยู่ ดาวอุตตราสาฒะ มีวิมานแก้ว ๔ หลังเรียงกันอยู่ ดาวศรวณะ มีวิมานแก้ว ๓ หลังเรียงกันอยู่ ดาวธนิษฐะ มีวิมานแก้ว ๔ หลังเรียงกันอยู่ ดาว ศตภิษธ์ มีวิมานแก้วหลังเดียว ดาวบุพพกัทร มีวิมานแก้ว ๒ หลังเรียงกันอยู่ ดาวอุตตรภัทร มีวิมานแก้ว ๒ หลังเรียงกันอยู่ ดาวเรวดี มีวิมานแก้ว ๔ หลังเรียง กันอยู่

มณฑลพระอาทิตย์โคจรก็ได้ ๒,๗๐๐,๐๐๐ โยชน์ แม้จะโคจรในวิถีใดๆ ก็ตาม มณฑลนั้นก็เท่ากันไม่ใหญ่ไม่น้อยเลย

ถ้าพระอาทิตย์โคจรในวิถีมณฑลชั้นในก็ใกล้เขาพระสุเมรุราชทางด้าน บุพพวิเทหทวีปและอมรโคยานทวีป ถ้าโคจรในวิถีมณฑลชั้นนอกก็ใกล้กำแพงจักรวาลทางด้านชมพูทวีป และอุตตรกุรุทวีป เมื่อพระอาทิตย์โคจรในมณฑลกลาง ในบุพพวีเทหทวีป เวลากลางวันนาน กลางคืนสั้น สว่างเร็ว กลางวัน ๑๘ นาทีจึงมืด กลางคืน ๑๒ นาทีจึงสว่าง ในอมรโคยานทวีป กลางคืนนาน กลางวันสั้น สว่างช้า มืดเร็ว กลางคืน ๑๘ นาทีจึงสว่าง กลางวัน ๑๒ นาทีจึงมืด ในชมพูทวีปและอุตตรกุรุทวีป กลางวันและกลางคืนเท่ากัน กลางวัน ๑๕ นาทีจึงมืด กลางคืน ๑๕ นาทีจึงสว่าง

เมื่อพระอาทิตย์โคจรในมณฑลชั้นใน ในมณฑลชั้นนอก ในแผ่นดินอุตตรกุรุทวีป หรือในชมพูทวีปที่เราอยู่นี้ก็ตาม ก็เหมือนกัน คือ กลางวันกับกลางคืนเท่ากันดังกล่าวมาแล้ว ในแผ่นดินบุพพวิเทหทวีปและอมรโคยานทวีปนั้น ถ้าพระอาทิตย์โคจรในโคณวีถี กลางวันนานกว่ากลางคืน เพราะพระอาทิตย์สถิตอยู่นานกว่าจะลับเขาพระสุเมรุราช ด้วยโคจรไปทางคด ถ้าพระอาทิตย์ลับเขาพระสุเมรุราชเร็ว กลางคืนจะมากกว่ากลางวัน

ฉะนั้น ถึงพิจารณาดูในวีถีมณฑลทั้ง ๓ ก็จะรู้ได้ว่าเมื่อกลางคืนมากกว่ากลางวัน จะสว่างช้า เมื่อกลางวันมากกว่ากลางคืน จะมืดช้า เช่นเดียวกัน บางคราวกลางวันกับกลางคืนเท่ากัน เมื่อพระอาทิตย์โคจรในมณฑลเหล่านี้

เดือน ๘ – ๙ เมื่อสิ้นสงกรานต์แล้วเดือนหนึ่ง ย่างเข้าเดือน ๘ ที่แท้นั้น พระอาทิตย์โคจรเหนือยอดเขายุคันธร ตอนเที่ยงวันเราจะเหยียบเงาหัวของเรา กลางวัน ๑๘ นาที กลางวัน ๑๒ นาที

หลังจากวันสงกรานต์ไปแล้ว จะโคจรถอยห่างออกจากเขายุคันธรเป็น ทางไกลได้วันละ ๗,๕๐๐ โยชน์ ตอนเที่ยงวัน เมื่อเราดูเงาของเรา จะเห็นเงาห่างจากตัวเราได้ครึ่งนิ้วมือ เมื่อถึง ๒ วัน พระอาทิตย์โคจรถอยห่างจากภูเขายุคันธร ๑๕,๐๐๐ โยชน์ เมื่อเราดูเงาของเราในตอนเที่ยง จะเห็นเงาห่างจากตัวเราได้ ๑ นิ้ว เมื่อถึง ๓ วัน ก็จะเคลื่อนห่างออกโดยลำดับ จนถึง ๑๕ วัน พระอาทิตย์ก็จะโคจรออกจากภูเขายุคันธรทุกวันโดยลำดับ เมื่อถึง ๑๕ วัน ไกลจากภูเขายุคันธรได้ ๑๑๒,๕๐๐ โยชน์ ตอนเที่ยงเราดูเงาของเรา จะเห็นออกห่างจากตัวเราได้ ๗ นิ้วครึ่ง ถอยห่างออกมาอก ๒-๓ วัน พอถึงเดือน ๙ ก็จะไกลจากเขายุคันธรได้ ๒๒๕,๐๐๐ โยชน์ เราดูเงาของเราจะเห็นออกห่างจากตัวเราได้ ๑ ฝ่าเท้า เวลากลางวันนาน ๑๗ นาที กลางคืน ๑๓ นาที ตลอด ๓๐ วัน

พอถึงเดือน ๑๐ พระอาทิตย์โคจรไกลยอดเขายุคันธรได้ ๔๕๐,๐๐๐ โยชน์ ถึงมณฑลชั้นกลางในนาควิถี ดูเงาของเราออกห่างจากตัวได้ ๒ ฝ่าเท้า เวลากลางวันนาน ๑๖ นาที กลางคืน ๑๔ นาที ตลอด ๓๐ วัน

ก่อนจะถึงเดือน ๗ พระอาทิตย์โคจรถอยกลับจากจักรวาลฟากโน้นได้ ๑,๑๒๖,๐๐๐ โยชน์ ถึงกลางอชวิถี เงาของเราก็จะถอยหลังกลับคืนเหนือ ๑ ฝ่าเท้า เวลากลางวันนาน ๑๗ นาที กลางคืน ๑๓ นาที ตลอด ๓๐ วัน

ครั้นถึงเดือน ๘ พระอาทิตย์โคจรถึงยอดเขายุคันธรเหมือนเดิม ไกลจาก เขาจักรวาลฟากโน้นได้ ๑,๓๕๐,๐๐๐ โยชน์ ดูเงาของเราไม่เห็นเลย เวลากลางวันนานได้ ๑๘ นาที กลางคืน ๑๒ นาที

ในวิถีทั้ง ๓ นั้น มีราศี ๑๒ ราศี(เกิดจากการสังเกตดาวเป็นรูปลักษณะต่างๆ) คือ ราศีเมษ (แพะ) ราศีพฤษภ (โค) ราศีเมถุน (คนคู่) ราศีกรกฎ (ปู) ราศีสิงห์ (ราชสีห์) ราศีกันย์ (หญิงสาว) ราศีตุลย์ (คันชั่ง) ราศีพิจิก (แมลงป่อง) ราศีธนู (ธนู) ราศีมังกร (มังกร) ราคีกุมภ์ (หม้อ) ราศีมีน (ปลา)

ราศีที่นักกษัตรหรือดวงดาวอยู่นี้กว้าง ๒๒,๐๐๐ โยชน์เท่ากัน พระอาทิตย์โคจรไปในวิถีนั้นๆ เคลื่อนไปได้วันละ ๗๕,๐๐๐ โยชน์ ดูเงาของเราที่แผ่นดินยาวออกไปได้ ๑ นิ้วมือ โคจรเคลื่อนไปตามลำดับครบ ๓๐ วัน จึงจะพ้นราศีหนึ่ง ไกลได้ ๒๒๕,๐๐๐ โยชน์ ดูเงาของเราที่แผ่นดินยาวออกไปได้ ๑ ฝ่าเท้า โคจรไปครบ ๑๒๐ วัน ไกล ๙๐๐,๐๐๐ โยชน์ จึงจะพ้นวิถี นับเป็นพ้นฤดูหนึ่ง

ฤดูมี ๓ คือ ฤดูหนาว ฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนึ่งมี ๔ เดือน ๓ ฤดู (หรือ ๑๒ เดือน) เป็น ๑ ปี ถ้าพระอาทิตย์โคจรไปในโคณวิถีทางทิศใต้ ก็จะเป็นฤดูหนาว มี ๔ เดือนคือ เดือน ๑๒-๑-๒-๓ ถ้าพระอาทิตย์โคจรข้ามพ้นโคณวิถีวันใด วันนั้นก็เป็นวันพ้นฤดูหนาว หากย่างเข้าเดือน ๔ วันหนึ่ง พระอาทิตย์ก็จะโคจรถอยห่างออกจากกำแพงจักรวาลในวันนั้น ถ้าพระอาทิตย์โคจรในอชวิถีอยู่เหนือศีรษะของเรา เมื่อนั้นก็เป็นฤดูร้อน มี ๔ เดือน คือ เดือน ๔-๕-๖-๗ เมื่อพระอาทิตย์โคจรข้ามพ้นอชวิถีวันใด วันนั้นก็หมดฤดูร้อน ถ้าพระอาทิตย์โคจรไปในนาควิถีทางทิศเหนือ เมื่อนั้นก็เป็นฤดูฝน มี ๔ เดือน คือ เดือน ๘-๙-๑๐-๑๑ เมื่อพระอาทิตย์โคจรข้ามพ้นนาควิถี คือ โคจรจากราศีตุลมาสู่ราศีพิจิกถึงเดือน ๑๒ วันใด วันนั้นก็หมดฤดูฝน

ย่างเข้าเดือน ๘ วันหนึ่ง พระอาทิตย์โคจรถอยห่างจากภูเขายุคันธรกลับ คืนมาในวันนั้น พระอาทิตย์โคจรรอบเขาพระสุเมรุราชรอบหนึ่ง ก็พอครบขวบปีหนึ่ง จึงกลับมาสถิตที่เก่า ฤดูหนาว ฤดูร้อน ฤดูฝน ย่อมมีเพราะพระอาทิตย์สถิต ในวิถีนั้นๆ เมื่อพระอาทิตย์สถิตในโคณวิถีย่อมหนาว แต่ยังมีร้อนบ้างเพราะวัวชอบร้อนและเย็น หากพระอาทิตย์สถิตในอชวิถี อากาศร้อน เพราะแพะไม่ชอบนํ้า เมื่อสถิตในนาควิถี มีฝนตก เพราะนาคชอบนํ้า

พระอาทิตย์สถิตอยู่ในวิมานแก้วผลึก มีรัศมีส่องแสงสว่างเหมือนแก้วผลึก จึงร้อนแรงยิ่งนัก พระจันทร์สถิตอยู่ในวิมานเงินและวิมานแก้วมณี มีรัศมีส่องแสง เหมือนสีเงินและแก้วมณี จึงเยือกเย็นยิ่งนัก พระอาทิตย์ส่องแสงให้เห็นได้สองทวีป ในทวีปหนึ่งเห็นได้เล็กน้อย มืดไปครึ่งหนึ่ง ที่เห็นได้เพราะรัศมีพระอาทิตย์ส่องแสงสว่างไปไกลได้ ๑,๓๕๐,๐๐๐ โยชน์ ที่มืดนั้น ๓๐ นาที ขวางรอบรัศมีพระอาทิตย์นั้น มีเงาทอดไปไกลได้ ๔๕,๐๐๐ โยชน์

เมื่อเวลาตะวันขึ้นในชมพูทวีปที่เราอยู่นี้ ตรงกับเวลาเที่ยงวันในบุพพวิเทหทวีปเป็นเวลาตะวันตกในอุตตรกุรุทวีป และเป็นเวลาเที่ยงคืนในอมรโคยานทวีป เมื่อเวลาตะวันขึ้นในบุพพวิเทหทวีป ตรงกับเวลาเที่ยงวันในอุตตรกุรุทวีป เป็นเวลาตะวันตกในอมรโคยานทวีป และเป็นเวลาเที่ยงคืนในชมพูทวีปที่เราอยู่นี้ เมื่อเวลาตะวันขึ้นในอุตตรกุรุทวีป ตรงกับเวลาเที่ยงวันในอมรโคยานทวีป เป็นเวลาตะวันตก ในชมพูทวีปที่เราอยู่นี้และเป็นเวลาเที่ยงคืนในบุพพวิเทหทวีป เมื่อเวลาตะวันขึ้นในอมรโคยานทวีป ตรงกับเวลาเที่ยงวันในชมพูทวีปที่เราอยู่นี้ เป็นเวลาตะวันตกในบุพพวิเทหทวีป และเป็นเวลาเที่ยงคืนในอุตตรกุรุทวีป

เวลาสว่างและมืดมีอยู่ดังได้กล่าวมานี้

ที่เราเห็นว่าเป็นเวลาเดือนเพ็ญคือ ขึ้น ๑๕ คํ่า และเดือนดับ คือแรม ๑๔ หรือ ๑๕ คํ่านั้น ก็เพราะพระอาทิตย์สถิตอยู่ข้างหนึ่งของเขาพระสุเมรุราช และพระจันทร์ก็โคจรอยู่อีกข้างหนึ่งของเขาพระสุเมรุราช ไกลกันได้ ๑,๓๕๐,๐๐๐ โยชน์ รัศมีพระจันทร์ส่องสว่างให้เห็นได้รอบวงกลม จึงเรียกว่าพระจันทร์เพ็ญเต็มดวง

แรม ๑ คํ่า พระอาทิตย์เข้ามาสถิตอยู่ใกล้พระจันทร์และพระจันทร์ก็โคจรเข้าไปใกล้พระอาทิตย์ ๑,๒๖๐,๐๐๐ โยชน์ รัศมีพระอาทิตย์มากกว่าพระจันทร์ จึงบังรัศมีพระจันทร์หน่อยหนึ่งในส่วนด้านหน้าได้ ๒๖,๑๓๓ วา ๑ ศอก ๘ นิ้ว เงาของวิมานพระจันทร์มาบังพระจันทร์เสียเอง จึงเห็นเป็นแหว่งข้างหนึ่ง เราจึงเห็นพระจันทร์ไม่กลมเหมือนจันทร์เพ็ญเต็มดวง เรียกว่าเดือนแรม ๑ คํ่า

แรม ๒ คํ่า พระอาทิตย์สถิตใกล้พระจันทร์เข้ามาอีก ห่างไกลกันได้ ๑,๑๗๐,๐๐๐ โยชน์ รัศมีพระอาทิตย์ทอดมาบังพระจันทร์ จึงเห็นแหว่งมากกว่าเก่า ถึง ๒,๒๖๖ วา ๒ ศอก ๑ คืบ ๑๐ นิ้ว เรียกว่า เดือนแรม ๒ คํ่า

แรม ๓ คํ่า พระอาทิตย์สถิตใกล้พระจันทร์เข้ามาอีก ไกลกันได้ ๑,๐๘๐,๐๐๐ โยชน์ รัศมีพระอาทิตย์ยิ่งบังพระจันทร์มากยิ่งขึ้นกว่าเก่า จึงเห็นแหว่งมากยิ่งขึ้นได้ ๗๘,๓๙๙ วา ๓ ศอก ๓ นิ้ว เรียกว่า เดือนแรม ๓ คํ่า

พระอาทิตย์โคจรเข้าใกล้พระจันทร์โดยลำดับดังกล่าวมาแล้วจนถึงแรม ๑๔ คํ่า พระอาทิตย์โคจรเข้าใกล้พระจันทร์ ไกลกันเป็นระยะ ๙๐,๐๐๐ โยชน์ เงาพระอาทิตย์ก็ยิ่งมาบังพระจันทร์ เห็นได้เพียงเสี้ยวน้อยนิดเดียวทางทิศตะวันออก เรียกว่า เดือนแรม ๑๔ คํ่า

ครั้นถึง ๑๕ วัน พระอาทิตย์โคจรทันพระจันทร์ รัศมีพระอาทิตย์ส่องมา บังพระจันทร์มืดมิด มองไม่เห็นพระจันทร์เลย เรียกว่าเดือนดับ คือ แรม ๑๔ หรือ ๑๕ คํ่า

เมื่อเดือนขึ้นใหม่ ๑ คํ่า พระอาทิตย์โคจรห่างจากจุดที่พระจันทร์ดับนั้น ออกไปไกลได้ ๑๐๐,๐๐๐ โยชน์ พระจันทร์ก็โคจรห่างออกไปได้๑๐,๐๐๐ โยชน์ มองเห็นพระจันทร์เป็นเสี้ยวเล็กนิดเดียวทางทิศตะวันออก ขนาดใหญ่ได้ ๒๖,๑๓๓ วา ๑ ศอก ๘ นิ้ว

เดือนขึ้น ๒ คํ่า พระอาทิตย์โคจรห่างพระจันทร์ไปไกลได้ ๒๐๐,๐๐๐ โยชน์ พระจันทร์ก็โคจรห่างไปได้ ๒๐,๐๐๐ โยชน์ มองเห็นพระจันทร์ยิ่งใหญ่ขึ้นตามลำดับ เหมือนกับที่กล่าวมาแล้ว

เดือนขึ้น ๓ คํ่า พระอาทิตย์โคจรห่างพระจันทร์ไปไกลได้ ๓๐๐,๐๐๐ โยชน์ พระจันทร์ก็โคจรห่างออกไปได้ ๓๐,๐๐๐ โยชน์ พระจันทร์ก็ยิ่งทวีใหญ่ขึ้นตามลำดับอย่างนั้นจนถึงวันขึ้น ๑๔ คํ่า พระอาทิตย์โคจรห่างพระจันทร์ออกไปไกลถึง ๑,๓๕๐,๐๐๐ โยชน์ เมื่อพระอาทิตย์ลับเขาพระสุเมรุราช ก็มองเห็นพระจันทร์เพ็ญเต็มดวง

การที่พระจันทร์ถูกรัศมีพระอาทิตย์ไปบังนั้น เปรียบเหมือนโคมไฟดวง ใหญ่กับโคมไฟดวงเล็ก พระอาทิตย์เปรียบเหมือนโคมไฟใหญ่มีนํ้ามันและไส้ได้พันเท่า ส่วนพระจันทร์นั้นเล่า เหมือนโคมไฟดวงเล็กมีนํ้ามันและไส้เพียงหนึ่งเท่า เมื่อจุดโคมไฟดวงเล็กตามไปในหนทางคืนเดือนมืด ก็ส่องแสงสว่างให้เห็นได้ เมื่อมีคนจุดโคมไฟดวงใหญ่ตามมาพบกันกลางทางก็กลายเป็นแสงสว่างของโคมไฟดวงใหญ่ไป ไม่เห็นแสงสว่างของโคมไฟดวงเล็กเลย พระจันทร์ส่องสว่างและมืดก็อย่างเดียวกัน

เมื่อพระจันทร์กับพระอาทิตย์โคจรเข้าใกล้กันนั้น ดูเหมือนว่าพระอาทิตย์ โคจรเร็วกว่าพระจันทร์ เมื่อโคจรโดยเวียนขวา พร้อมทั้งดาวฤกษ์ ๒๗ ดวง ซึ่งอยู่ใน ๑๒ ราศี เป็นบริวารของพระอาทิตย์ ส่วนพระอาทิตย์และพระจันทร์เอง ทั้งราศี วัน เดือน เวียนขวาไปรอบเขาพระสุเมรุราช ไม่คลาดเคลื่อนเลยแม้แต่ เท่าเส้นผม

แต่ทว่า พระอาทิตย์ พระจันทร์ กับ ดาวนพเคราะห์ ๖ ดวง คือ ดาว พระอังคาร ดาวพระพุธ ดาวพระพฤหัสบดี ดาวพระศุกร์ ดาวพระเสาร์ ดาวพระเกตุ โคจรโดยเวียนตามกันทางขวาไม่คลาดเคลื่อน พระอาทิตย์โคจรเร็วกว่าพระจันทร์ วันละ ๙๐,๐๐๐ โยชน์ ดาวฤกษ์ ๒๗ ดวง โคจรเร็วกว่าพระอาทิตย์วันละ ๗,๕๐๐ โยชน์

สัตว์ในทวีปทั้ง ๔ ในจักรวาลนี้ อาศัยพระอาทิตย์ พระจันทร์ โคจร หมุนเวียนไปเช่นนี้ จึงทราบ วัน คืน เดือน ปี ได้

มนุษย์ที่อยู่ใน ๓ ทวีปโน้น นอนหันศีรษะไปทางเขาจักรวาล เอาปลายเท้าไปทางเขาพระสุเมรุราชเหมือนเรา เพื่อว่าเมื่อพระอาทิตย์ขึ้น คนมองดูพระอาทิตย์ยกมือขวาขึ้น มือขวาจะอยู่ทางเขาจักรวาล มือซ้ายอยู่ทางเขาพระสุเมรุราช ฉะนั้น คนจึงนอนหันศีรษะไปทางทิศใต้ เอาเท้าไปทางทิศเหนือ ด้วยเหตุนี้

แผ่นดิน ๔ ทวีป อยู่ ๔ ด้าน ของภูเขาพระสุเมรุราช คือ แผ่นดิน บุพพวิเทหทวีป อยู่ทางทิศตะวันออกของภูเขาพระสุเมรุราช กว้าง ๗,๐๐๐ โยชน์ รอบปริมณฑล ๒๑,๐๐๐ โยชน์ แผ่นดินอุตตรกุรุทวีป อยู่ทางทิศเหนือของภูเขาพระสุเมรุราชกว้าง ๘,๐๐๐ โยชน์ รอบปริมณฑล ๓๒,๐๐๐ โยชน์ เป็นรูปสี่เหลี่ยม แผ่นดินอมรโคยานทวีปอยู่ทางทิศตะวันตกของเขาพระสุเมรุราชกว้าง ๙,๐๐๐ โยชน์ รอบปริมณฑล ๒๒,๐๐๐(น่าจะเป็น ๑๑,๐๐๐ โยชน์) โยชน์ เป็นรูปพระจันทร์ครึ่งซีก แผ่นดินชมพูทวีปที่เราอยู่นี้ อยู่ทางทิศใต้ของเขาพระสุเมรุราช กว้าง ๑๐,๐๐๐ โยชน์ รอบปริมณฑล ๓๐,๐๐๐ โยชน์

พื้นแผ่นดินใหญ่ทั้ง ๔ ทวีปนี้ มีแผ่นดินเล็กล้อมรอบเป็นบริวารทวีปละ ๕๐๐ ทวีปเล็กทั้ง ๔ ซึ่งอยู่ระหว่างกลางทวีปใหญ่ เรียกว่า สุวัณณทวีปกว้างทวีปละ ๑,๐๐๐ โยชน์ รอบปริมณฑล ๓๐,๐๐๐ โยชน์ เป็นที่อยู่ของพระยาครุฑ

คณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน

อวินิโภครูป:ภูเขาและแม่น้ำ

เขาพระสุเมรุสูงได้ ๘๔,๐๐๐ โยชน์ จมลงไปในนํ้า ๘๔,๐๐๐ โยชน์ หนาได้ ๘๔,๐๐๐ โยชน์ กลมรอบปริมณฑลได้ ๒๕๐,๐๐๐ โยชน์ ด้านทิศตะวันออกของเขาพระสุเมรุราชนั้นเป็นบุพพวิเทหทวีป มีสีเป็นสีเงินได้ ๖๓,๐๐๐ โยชน์ ด้านทิศใต้เป็นชมพูทวีปที่เราอยู่อาศัยนี้ มีสีเป็นสีแก้วอินทนิลได้ ๖๓,๐๐๐ โยชน์ ด้านทิศตะวันอวินิโภครูปตกเป็นอมรโคยานทวีป มีสีเป็นสีแก้วผลึกได้ ๖๓,๐๐๐ โยชน์ ด้านทิศเหนือเป็นอุตตรกุรุทวีป มีสีเป็นสีทองได้ ๖๓,๐๐๐ โยชน์ บนยอดภูเขาพระสุเมรุราชนั้นมีปราสาทไพชยนต์ ตั้งอยู่กลางใจเมืองดาวดึงส์ กว้างได้ ๑๐,๐๐๐ โยชน์

ภายใต้เขาพระสุเมรุราชนั้นเป็นเมืองอสูร กว้าง ๑๐,๐๐๐ โยชน์ มีเขา ๓ ลูก เหมือนก้อนเส้ารองรับเชิงเขาพระสุเมรุ ชื่อว่าเขาตรีกูฏ (เขา ๓ ยอด) แต่ละยอดสูง ๔,๐๐๐ โยชน์ ภายใต้เชิงเขาตรีกูฏนั้นเป็นแผ่นดิน เมืองอสูร อยู่ระหว่างเขา ๓ ลูกนี้

ต่อจากเขาพระสุเมรุออกไป มีแม่นํ้าชื่อว่าสีทันดรสมุทร กั้นล้อมอยู่รอบ ด้าน กว้าง ๘๔,๐๐๐ โยชน์ ลึก ๘๔,๐๐๐ โยชน์ ต่อจากแม่นํ้าสีทันดรมีภูเขายุคันธร ล้อมรอบเขาพระสุเมรุอยู่ สูง ๔๒,๐๐๐ โยชน์ จมลงไปในนํ้า ๔๒,๐๐๐ โยชน์ หนา ๔๒,๐๐๐ โยชน์ รอบปริมณฑล ๑,๐๐๐,๐๐๐ โยชน์ ต่อจากภูเขายุคันธรมีแม่น้ำสีทันดรสมุทรล้อมรอบกว้าง ๔๒,๐๐๐ โยชน์ ลึก ๔๒,๐๐๐ โยชน์ รอบปริมณฑล ๑,๒๖๐,๐๐๐ โยชน์ ต่อจากแม่นํ้าสีทันดร มีภูเขาอิสินธรล้อมรอบ สูง ๒๑,๐๐๐ โยชน์ จมลงไปในนํ้า ๒๑,๐๐๐ โยชน์ หนา ๒๑,๐๐๐ โยชน์ รอบปริมณฑล ๑,๓๘๖,๐๐๐ โยชน์ ต่อจากภูเขาอิสินธร มีแม่นํ้าสีทันดรสมุทรล้อมรอบ กว้าง ๒๑,๐๐๐ โยชน์ ลึก ๒๑,๐๐๐ โยชน์ รอบปริมณฑล ๑,๕๑๒,๐๐๐ โยชน์ ต่อจากแม่นํ้าสีทันดร มีภูเขากรวิก สูง ๑๐,๕๐๐ โยชน์ จมลงไปในนํ้า ๑๐,๕๐๐ โยชน์ หนา ๑๐,๕๐๐ โยชน์ รอบปริมณฑล ๑,๕๗๕,๐๐๐ โยชน์ ต่อจากภูเขากรวิก มีแม่น้ำสีทันดรสมุทรล้อมรอบ กว้าง ๑๐,๕๐๐ โยชน์ รอบปริมณฑล ๑,๖๓๘,๐๐๐ โยชน์ ต่อจากแม่นํ้าสีทันดร มีภูเขาสุทัสสนะ สูง ๕,๒๕๐ โยชน์ จมลงไปในนํ้า ๕,๒๕๐ โยชน์ จมลงไปในนํ้า ๕,๒๕๐ โยชน์ หนา ๕,๒๕๐ โยชน์ รอบปริมณฑล ๑,๖๖๙,๕๐๐ โยชน์ ต่อจากภูเขาสุทัสสนะ มีแม่น้ำสีทันดรสมุทรล้อมรอบ กว้าง ๕,๒๕๐ โยชน์ ลึก ๕,๒๕๐ โยชน์ รอบปริมณฑล ๑,๗๐๑,000 โยชน์ ต่อจากภูเขา เนมินธร มีแม่นํ้าสีทันดรสมุทรล้อมรอบ กว้าง ๒,๖๒๕ โยชน์ ลึก ๒,๖๒๕ โยชน์ รอบปริมณฑล ๑,๗๓๒,๕๐๐ โยชน์ ต่อจากแม่นํ้าสีทันดรมีภูเขาวินันตกะ สูง ๑,๓๑๒ โยชน์ ทับอีก ๔,๐๐๐ วา จมลงไปในนํ้า ๑,๓๑๒ โยชน์ ๔,๐๐๐ วา หนา ๑,๓๑๒ โยชน์ ๔,๐๐๐ วา รอบปริมณฑล ๑,๗๔๐,๓๗๕ โยชน์ ต่อจากภูเขา วินันตกะ มีแม่น้ำสีทันดรล้อมรอบ กว้าง ๑,๓๑๒ โยชน์ ๔,๐๐๐ วา ลึก ๑,๓๑๒ โยชน์ ๔,๐๐๐ วา รอบปริมณฑล ๑,๗๔๘,๒๕๐ โยชน์ ต่อจากแม่นํ้าสีทันดรออกมา มีเขาอัสสกัณณะสูง ๖๕๖ โยชน์ ๒,๐๐๐ วา จมน้ำลงไป ๖๕๖ โยชน์ ๒,๐๐๐ วา หนา ๖๕๖ โยชน์ ๒,๐๐๐ วา รอบปริมณฑล ๑,๗๕๒,๑๘๗ โยชน์ ๔,๐๐๐ วา

ต่อจากภูเขาอัสสกัณณะเป็นนํ้าทะเล มีแผ่นดินใหญ่อยู่ทั้ง ๔ ด้าน กลางทะเลนั้นมีแผ่นดินเล็ก คือ เกาะอยู่รอบๆ ได้ ๒,๐๐๐ เกาะ มีนํ้าล้อมรอบ แผ่นดินและภูเขา และมีเขาจักรวาลเป็นกำแพงล้อมรอบนํ้าไว้

ตั้งแต่ภูเขาอัสสกัณณะออกไปถึงกำแพงจักรวาล กว้าง ๓๐ โยชน์ ๖,๐๐๐ วา เขากำแพงจักรวาลสูง ๘๒,๐๐๐ โยชน์ จมนํ้าลงไป ๘๒,๐๐๐ โยชน์ หนา ๘๒,๐๐๐ โยชน์

คณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน

อวินิโภครูป:อนิจจลักษณะ

สัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาในสามภพนี้ถึงจะมียศศักดิ์ สมบัติเป็นเหมือนพระยามหาจักรพรรดิราช เหมือนพระอินทร์ เจ้าแห่งดาวดึงส์ หรือเหมือนพระพรหม ก็ไม่ตั้งอยู่มั่นคงอนิจจลักษณะถาวรในยศศักดิ์สมบัตินั้นเลย ย่อมต้องพินาศพลัดพรากตายจากสมบัตินั้นไปทั้งสิ้น

ทั้งพระอินทร์ พระพรหม เมื่อหมดอายุแล้ว ก็ย่อมต้องท่องเที่ยววนเวียนไปมาในภพทั้ง ๓ นี้ ไม่มีที่สิ้นสุดเลย บางครั้งไปเกิดในอบายภูมิ ๔ ต้องทนทุกขเวทนามากมายนักหนา ไม่มีอะไรเที่ยงในสังสารวัฏนี้เลย

สัตว์นรกทั้งหลายเมื่อหมดอายุในนรกนั้นแล้ว บางครั้งตายไปเกิดเป็นสัตว์นรกเหมือนเดิมอีก บางครั้งตายไปเกิดเป็นเปรต เป็นสัตว์ดิรัจฉาน เป็นอสุรกาย ถ้าได้ทำบุญไว้บ้างในอดีต บางครั้งก็ได้เกิดเป็นมนุษย์ บางครั้งเกิดเป็นเทวดาในสวรรค์กามาพจรภูมิ ๖ ชั้น หมู่สัตว์นรก ถ้าหมดอายุในนรกนั้นแล้วจะไปเกิดได้ในกามาพจรภูมิ ๑๑ ชั้นเท่านั้น จะไปเกิดในพรหม ๒๐ ชั้นมิได้เลย

ส่วนในเปรตวิสัย เมื่อหมดอายุในเปรตวิสัยนั้นแล้วบางครั้งก็จะเกิด เป็นเปรตอีก บางครั้งไปเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน บางครั้งไปเกิดเป็นอสุรกาย ถ้าได้ทำบุญไว้แต่ปางก่อน ก็เกิดเป็นมนุษย์ในมนุษย์โลก และเกิดเป็นเทพยดาในเทวดาภูมิดังกล่าวมาแล้ว จะไปเกิดที่อื่นมิได้เลย

สัตว์ที่เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เมื่อตายจากชาติดิรัจฉานแล้ว บางครั้งเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานอีกก็มี บางครั้งไปตกนรกก็มี บางครั้งไปเกิดเป็นเปรต ก็มี บางครั้งไปเกิดเป็นอสุรกายก็มี ถ้าได้ทำบุญไว้แต่ปางก่อนก็จะได้ไปเกิดในสุคติภูมิ ที่จะไปเกิดในภูมิอื่น เช่นพรหมทั้ง ๒๐ ชั้นนั้นมิได้เลย

อสุรกายก็เช่นเดียวกัน เมื่อหมดอายุแล้ว บางครั้งเกิดเป็นอสุรกายอีก บางครั้งไปตกนรก บางครั้งเกิดเป็นเปรต บางครั้งเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน บางครั้งเกิดเป็นมนุษย์ บางครั้งไปเกิดเป็นเทวดาในสวรรค์ชั้นกามาพจรภูมิก็มี แต่จะไปเกิดเป็นพรหมมิได้เลย

หมู่สัตว์ที่เกิดเป็นมนุษย์นี้ มี ๒ พวก พวกหนึ่งได้แก่ อันธปุถุชน คือ คนชั่ว คนมืด คนโง่ อีกพวกหนึ่งได้แก่ กัลยาณปุถุชน คือ คนดี คนงาม คนฉลาด

อันธปุถุชน เมื่อตายจากมนุษย์นี้ ย่อมไปเกิดในอบายภูมิ ๔ คือ ไปนรก หรือเป็นเปรต สัตว์ดิรัจฉาน และอสุรกาย ถ้าได้มาเกิดเป็นมนุษย์อีก ก็จะเป็นคนทุพลภาพ รูปร่างอัปลักษณ์ น่าเกลียด น่าชัง เป็นคนชั่วช้าเลวทราม ไม่รู้จักเรื่องที่จะเป็นบุญเลย

กัลยาณปุถุชน เมื่อตายจากมนุษย์นี้แล้ว ไปเกิดในสวรรค์ก็มี ไปนิพพานก็มี แต่ไม่ไปเกิดเป็นพรหมชั้นสุทธาวาส ๕ ชั้น คือ อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี และ อกนิฏฐา เป็นมนุษย์นี้ย่อมไปเกิดได้เฉพาะใน ๒๖ ภูมิ(กามภูมิ ๑๑ รูปภูมิ ๑๑ อรูปภูมิ ๔) เท่านั้น

เทวดาทั้งหลายที่เกิดในฉกามาพจรภูมิ ๖ ชั้นนั้น เมื่อจุติจากเทวโลกแล้ว ถ้ายังมิได้บรรลุมรรคผล บางครั้งได้ไปเกิดในสวรรค์กามาพจร ๖ ชั้นนั้นอีก บางครั้งไปเกิดเป็นมนุษย์ บางครั้งไปเกิดในอบายภูมิทั้ง ๔ บางครั้งไปเกิดเป็นพรหมในรูปพรหม ๑๑ ชั้น ตั้งแต่ชั้นพรหมปาริสัชชา เป็นต้น จนถึงชั้นอสัญญีสัตตาเป็นที่สุด บางครั้งได้ไปเกิดในอรูปพรหม ๔ ชั้น ไปเกิดแต่ใน ๒๖ ภูมิเท่านั้น ส่วนในรูปภูมิ ๕ ชั้น คือ สุทธาวาส ๕ นั้น มิได้ไปเกิด

รูปพรหมที่มีจิตใจ ๑๐ ชั้น ตํ่ากว่าชั้นอสัญญีสัตว์ลงมา ผู้ที่ได้มรรคผล แล้วจึงได้เกิด เมื่อหมดอายุแล้ว บางครั้งเกิดเป็นพรหมใน ๑๐ ชั้นนั้นอีก บางครั้งไปเกิดในอสัญญีภูมิ ซึ่งอยู่ชั้นเหนือขึ้นไป เป็นพรหมมีแต่รูปไม่มีจิตใจ บางครั้งไปเกิดในอรูปภูมิ ๔ ชั้น สูงขึ้นไปเป็นพรหมมีแต่จิตไม่มีรูป บางครั้งได้มาเกิดในสุคติภูมิอันมีสุขสมบัติ มิได้ไปเกิดในอบายภูมิทั้ง ๔ เลย ส่วนอสัญญีสัตตาพรหมนั้น เมื่อหมดอายุแล้วก็ลงมาเกิดในสุคติภูมิทั้ง ๗ ชั้นนี้ เสวยสุขสมบัติ มิได้ไปเกิดในภูมิอื่นที่สูงกว่านี้

อรูปพรหมในอรูปภูมิทั้ง ๔ ชั้นนั้นเมื่อหมดอายุแล้ว บางครั้งได้เกิดใน อรูปภูมินี้อีก บางครั้งไปเกิดในอรูปภูมิชั้นสูงขึ้นไป บางครั้งลงมาเกิดในสุคติภูมิทั้ง ๗ ชั้น มิได้เกิดในอรูปพรหมชั้นตํ่า ไม่เกิดในรูปพรหมและไม่ลงไปเกิดในอบายภูมิทั้ง ๔ เลย

สัตว์ทั้งหลายที่เกิดใน ๓๑ ภูมิ ต้องหมุนเวียนไปมา ปฏิสนธิแล้วก็จุติตายไป แล้วก็เกิดอีก ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ขอให้ชาวโลกทั้งหลายได้รู้ไว้ด้วย

อย่าว่าแต่สัตว์ที่มีจิตใจจะต้องพินาศหมดไปเลย ถึงแม้ว่าแผ่นดิน ภูเขา น้ำ ถ้ำเถื่อนทั้งหลายที่มีแต่รูปไม่มีจิตใจ ก็ยังต้องพินาศไป ไม่เที่ยงไม่แท้สักสิ่งเลยเหมือนกัน

คณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน

ฉัพพรรณรังสี

จะกล่าวถึงสิ่งที่ไม่มีจิตแต่ดูเสมือนมีจิตใจพากันสักการบูชาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทำพระปาฏิหาริย์ด้วยฤทธิ์ ซึ่งชื่อว่า อิทธิวิธีญาณ ด้วยพระหฤทัยซึ่งเกิดขึ้นเอง โดยไม่มีสิ่งชักชวน พร้อมด้วยฉัพพรรณรังสีความยินดี ประกอบด้วยปัญญา ทรงแผ่พระมหาฉัพพรรณรังสี คือ พระรัศมีที่ยิ่งใหญ่ทั้ง ๖ ไปทั่วสกลจักรวาล ประกอบด้วย

พระรัศมีสีเขียวซึ่งงามเหมือนดอกอัญชัน ดอกบัวเขียว ดอกผักตบ แววนกยูง และปีกแมลงภู่ พระรัศมีสีเหลือง ซึ่งงามเหมือนดอกกรรณิการ์ หรดาล ทองชมพูนุท พระรัศมีสีแดง ซึ่งเหมือนนํ้าครั่งและชาติหิงคุ งามเหมือนดอกชบา และดอกทับทิม พระรัศมีสีขาว ซึ่งงามเหมือนดอกพุดและสังข์ พระรัศมีสีแสด ซึ่งงามเหมือนดอกอังกาบ ดอกชบาเทศ ดอกเทียนไทย และดอกทองฟ้า(ทองกวาว) ออกแสงเป็นเงาเหมือนทองแดงที่ขัดถูดีแล้ว พระรัศมีสีเลื่อมพรายสุกใสและเหลือง ซึ่งงามเหมือนดาวประกายพรึกและแก้วผลึกที่ส่งแสงรุ่งเรืองฉวัดเฉวียนเวียนรอบ

พระรัศมีทั้ง ๖ ที่แผ่ซ่านออกจากพระวรกายสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นงามต่างๆ กัน พระรัศมีสีเขียว งามเหมือนดอกอัญชัน ดอกผักตบ ดอกบัวเขียว แววนกยูง และปีกแมลงภู่นั้น แผ่ซ่านออกจากพระเกศาและพระโลมาทุกเส้นทั่วพระวรกาย

พระรัศมีสีเหลืองงามเหมือนดอกกรรณิการ์ หรดาล และทองชมพูนุทนั้น แผ่ซ่านออกจากพระปฤษฎางค์ของพระพุทธเจ้า พระรัศมีสีขาว งามบริสุทธิ์เหมือนสังข์นั้น แผ่ซ่านออกจากพระเนตรขาว และพระทนต์ของพระพุทธองค์ พระรัศมีสีแสด งามเหมือนดอกอังกาบ ดอกชบาเทศ ดอกเทียนไทย และดอกทองฟ้า ที่ออกแสงเหมือนทองแดงที่ขัดเงาแล้วนั้น แผ่ซ่านออกจากแพนข้อพระหัตถ์และเล็บ พระบาทของพระพุทธเจ้า พระรัศมีสีเลื่อมประภัสสร งามเหมือนดาวประกายพรึก และแก้วผลึกนั้น แผ่ซ่านออกจากพระอุณาโลมคือพระขนแก้ว ณ พระพักตร์ พระพุทธเจ้า

พระรัศมีทั้ง ๖ ดังพรรณนามานี้ที่เขียวก็ยิ่งเขียวงามยิ่งขึ้น ที่ขาวก็ขาว งามยิ่งขึ้น ที่เหลืองก็ยิ่งเหลืองงามยิ่งขึ้น ที่แดงก็ยิ่งแดงงามยิ่งขึ้น ที่แสดก็ยิ่งแสดงามยิ่งขึ้น ที่เลื่อมประภัสสรก็ยิ่งเลื่อมงามรุ่งเรืองเหมือนดาวประกายพรึก แผ่ซ่านออกจากพระวรกายของพระพุทธเจ้าแล้วกลับฉวัดเฉวียนวนเวียนไปมา ไมซีดไม่มัว เลย พระรัศมีบางกลุ่มก็โก่ง บางกลุ่มก็เรียงรายส่ายไปมา บางกลุ่มก็หนา บางกลุ่มก็บาง บางกลุ่มก็ห้อยย้อยไหลไป บางกลุ่มหยุดอยู่ บางกลุ่มเป็นกลุ่มก้อน บางกลุ่มเป็นแสงล้อม บางกลุ่มโค้งลงดิน บางกลุ่มพุ่งขึ้นไปในอากาศ บางกลุ่มพุ่งไปข้างหน้า บางกลุ่มพุ่งไปข้างหลัง ประดังกันออกมา

พระรัศมีสีเขียวนำไปก่อน ติดตามด้วยพระรัศมีสีเหลือง แดง ขาว แดงอ่อน และสีเลื่อมพรายงามเหมือนดาวประกายพรึกตามลำดับ

บรรดาพระรัศมีทั้ง ๖ นั้น พระรัศมีสีเหลืองดูเหมือนจะรู้จักพูดต่อว่า พระรัศมีสีเขียวว่า “แน่ะ ท่านรัศมีสีเขียวท่านจงหยุดประเดี๋ยวก่อน เราขอถามท่านว่า เพราะอะไร ท่านจึงไปก่อนเรา ท่านได้สร้างบุญกุศลสมภารไว้อย่างไร”

พระรัศมีสีเขียวนั้นทำเป็นเหมือนเหลียวกลับมาดูแล้วตอบว่า “เรานี้มีบุญ เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าของเรายังเป็นพระบรมโพธิสัตว์ทรงพระนามว่าพระเจ้าสีพีราช ได้ทรงควักพระเนตรออกให้เป็นทานแก่พระอินทร์ซึ่งจำแลงเพศเป็นพราหมณ์มาขอ ด้วยเดชะพระกุศลสมภารบารมีดังกล่าวมานี้ เราจึงได้เกิดเป็นพระรัศมีสีเขียวนำหน้าพวกท่านไปก่อน”

ฝ่ายพระรัศมีสีแดงใสเรืองรุ่งพุ่งออกไป เห็นพระรัศมีสีเหลืองล่วงหน้า ไปก่อน ดูเหมือนจะรู้จักพูดต่อว่าพระรัศมีสีเหลืองว่า “แน่ะ ท่านรัศมีสีเหลือง เพราะเหตุไรท่านจึงไปก่อนเรา ท่านได้สร้างบุญกุศลสมภารบารมีไว้อย่างไร บ้าง”

พระรัศมีสีเหลืองทำเป็นเหมือนจะรู้จัก เหลียวกลับมาดูแล้วตอบว่า “เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าของเรายังทรงสร้างสมพระโพธิสมภารบารมีเสวยพระชาติเป็นวิริยบัณฑิต ได้ทรงเชือดเนื้อออกให้พระอินทร์ซึ่งจำแลงเพศเป็นช่างทองตีแผ่เป็นแผ่นทองปิดพระพุทธรูปด้วยใจเลื่อมใสศรัทธาและยินดีปรีดาเป็นยิ่งนัก เพราะบุญกุศลสมภารบารมีนี้ เราจึงได้มาเกิดเป็นพระรัศมีสีเหลืองเหมือนทอง งามรุ่งเรืองนำหน้าท่านไปก่อน”

ฝ่ายพระรัศมีสีขาวเห็นพระรัศมีสีแดงล่วงหน้าไปก่อน ดูเหมือนจะรู้จัก พูดต่อว่าพระรัศมีสีแดงว่า “แน่ะ ท่านรัศมีสีแดง เหตุไฉนท่านจึงไปก่อนเรา ท่านได้สร้างบุญกุศลสมภารบารมีไว้อย่างไร”

พระรัศมีสีแดงทำเป็นเหมือนจะเหลียวกลับมาตอบพระรัศมีสีขาวให้รู้แจ้งชัดว่า “เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าของเรานี้ยังทรงสร้างโพธิสมภารบารมีอยู่ ได้เสวยพระชาติเป็นนรชีวมาณพ อีกเรื่องหนึ่งเป็นปทุมกุมาร เอามีดผ่าอกยกหัวใจให้ปรุงยาแก่มารดาของตนซึ่งถูกงูกัดตายไปแล้วให้กลับฟื้นขึ้นมา ด้วยเดชะบุญกุศล สมภารบารมีดังกล่าวมานี้ เราจึงได้เกิดเป็นพระรัศมีสีแดงนำหน้าท่านไปก่อน”

ฝ่ายพระรัศมีสีแสดเหมือนสีเท้าหงส์(สีแดงปนเลือด,สีแดงเรื่อ) เห็นพระรัศมีสีขาวล่วงหน้าไปก่อน ดูเหมือนจะรู้จักถามและพูดต่อว่าพระรัศมีสีขาวว่า “แน่ะ ท่านรัศมีสีขาว เหตุไฉนท่านจึงไปก่อนเรา ท่านได้สร้างบุญกุศลสมภารบารมีไว้อย่างไร”

พระรัศมีสีขาวทำเป็นเหมือนจะรู้จักเหลียวกลับมาตอบว่า “เมื่อครั้งที่ พระพุทธเจ้าของเรานี้ยังทรงสร้างโพธิสมภารบารมีอยู่ ได้เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดรบรมกษัตริย์ ทรงมีศรัทธาพระราชทานช้างเผือกปัจจัยนาคให้เป็นทานแก่พราหมณ์ชาวเมืองกลิงคราษฎร์ ด้วยอำนาจบุญกุศลสมภารบารมีดังกล่าวมานี้ เราจึงได้เกิดเป็นพระรัศมีสีขาวนำหน้าท่านไปก่อน”

ฝ่ายพระรัศมีสีใสเหมือนดาวประกายพรึกและแก้วผลึก เห็นพระรัศมีสี แสดเหมือนสีเท้าหงส์ล่วงหน้าไปก่อน ดูเหมือนจะรู้จักถามและพูดต่อว่าพระรัศมีสีแสดนั้นว่า “แน่ะ ท่านรัศมีสีแสดเหมือนสีเท้าหงส์ เหตุไฉนท่านจึงไปก่อนเรา ท่านได้สร้างบุญกุศลสมภารบารมีไว้อย่างไร”

ทันใดนั้น พระรัศมีสีแสดทำเป็นเหมือนจะรู้จักเหลียวกลับมาตอบว่า “เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้ายังทรงสร้างโพธิสมภารบารมีอยู่ ได้เสวยพระชาติเป็นวิชาธรบรมโพธิสัตว์ ทรงเชือดเนื้อให้เป็นทานแก่ผีเสื้อกินเป็นอาหาร ด้วยกุศลสมภารบารมีดังกล่าวมานี้ เราจึงได้เป็นพระรัศมีสีแสดนำหน้าท่านไปก่อน”

คราวนั้น พระรัศมีสีเลื่อมประภัสสรเหมือนดาวประกายพรึกและแก้วผลึก ได้เหาะฉวัดเฉวียนนำหน้าพระรัศมีสีแสดไป พระรัศมีสีแสดนั้นเห็นพระรัศมีสีเลื่อมประภัสสรเหมือนดาวประกายพรึกและแก้วผลึกล่วงหน้าไปก่อน ดูเหมือนจะรู้จักถามว่า “แน่ะ ท่านรัศมีสีเลื่อมประภัสสรเหมือนดาวประกายพรึกและแก้วผลึก เหตุไฉนท่านจึงไปก่อนเรา ท่านได้สร้างบุญกุศลสมภารบารมีไว้อย่างไร”

ครั้งนั้น พระรัศมีสีเลื่อมประภัสสรเหมือนดาวประกายพรึกและแก้วผลึก ดูเหมือนจะรู้จักเหลียวกลับมาตอบว่า “เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้ายังทรงสร้างโพธิสมภารบารมีอยู่ เสวยพระชาติเป็นกระต่ายชื่อว่า สสบัณฑิต ได้มีใจศรัทธา สละร่างกายให้เป็นทาน โดยทอดกายลงในไฟ ซึ่งพระอินทร์ก่อขึ้น ให้เนื้อเป็นทานแก่พราหมณ์ ด้วยเดชะบุญกุศลสมภารบารมีดังกล่าวมานี้ เราจึงได้มาเป็นพระรัศมีสีเลื่อมประภัสสรมีสีเหมือนดาวประกายพรึกและแก้วผลึกนำหน้าท่านไปก่อน”

ครั้งนั้น พระรัศมีทั้งหลายของพระพุทธเจ้า ต่างก็แข่งกันเหาะลอยไป เบื้องหน้าแล้วก็คล้อยลงเบื้องล่างถึงทั่วทุกแห่งหน ฉายไปถึงอเวจีนรก จนสุดพื้นแผ่นดินลึกถึง ๒๔๐,๐๐๐ โยชน์ ลงไปอีกถึงลมที่รองนํ้าและดินไว้มิให้ไหว หนาได้ ๙๖๐,๐๐๐ โยชน์ ดั้นขึ้นไปถึงอวกาศต่อจากภายใต้เบื้องบนไกลแสนไกล พุ่งขึ้นไปโดยลำดับ พ้นจากอรูปพรหมขึ้นไปถึงลมอัชฏากาศเบื้องบน ฉายไปทั่วทั้ง ๘ ทิศ พุ่งไปถึงอนันตจักรวาลทุกด้าน เห็นสว่างไสวตลอดไปทุกช่องทุกซอก ห้วยเนินเขาในถํ้า ปล่อง เหว เงื้อมแง่ และที่มืดมิด ซึ่งแสงพระอาทิตย์และพระจันทร์ส่องเข้าไปไม่ถึง

พระฉัพพรรณรังสีของพระพุทธเจ้าสามารถส่องให้เห็นได้ทุกแห่งหน สว่างแพรวพรายไปทั่ว เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทำปาฏิหาริย์ในครั้งนั้น แผ่นดินไหวไปทั่วทั้งสิ้น ทั้งมหาสมุทรก็ตีฟองนองระลอกอยู่ฉาดฉาน ทั้งเขาพระสุเมรุก็อ่อนน้อม เอนลงเหมือนยอดหวายที่ถูกไฟลนอ่อนลง ฉะนั้น บรรดาเครื่องดนตรีซึ่งไม่มีจิตใจ ก็ดังขึ้นมาเองเหมือนมีคนมาตีและเป่าอยู่ บรรเลงเปล่งเสียงออกมาเองไพเราะนักหนา ถวายบูชาแด่พระพุทธเจ้า ทั้งหมู่อรูปพรหมก็พากันลงมานมัสการพระพุทธเจ้าด้วยประการฉะนี้

คณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน

อรูปพรหม ๔ ชั้น

อรูปาวจรภูมิ
ต่อไปนี้จะกล่าวถึงท่านที่ไปเกิดในอรูปพรหม โลกอันไกลโพ้นด้วยอรูปปฏิสนธิต่อจากชั้นอกนิฏฐพรหม ขึ้นไปเบื้องบนว่างเปล่าไกลลิบลับ มีพรหมโลกอยู่อีก ๔ ชั้น คือ อากาสานัญจายตนภูมิ วิญญาณัญจายตนภูมิ อากิญจัญญายตนภูมิ และ เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ อรูปาวจรภูมิพรหมโลกทั้งสี่ชั้นนี้เป็นที่อยู่ของท่านผู้ได้ฌานที่ ๕ ท่านเหล่านี้ไม่มีตัวตนแม้แต่น้อย ว่างเปล่ามีแต่จิตสถิตอยู่กลางหาว ด้วยเหตุนี้ที่อยู่ของท่านจึงชื่อว่าอรูปพรหมโลก

พรหมที่ไปเกิดในชั้นอากาสานัญจายตนภูมินั้น เมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์ คิดว่า ถ้าหากจะเพียรพยายามให้ใจหายไป จะเป็นอย่างไร ถ้ามีแต่ใจไม่มีร่างกาย เราจะทำร้ายใคร และใครจะทำร้ายเราไม่ได้ ควรปรารถนาให้ร่างกายนี้หายไป เหลือไว้แต่จิต แล้วเจริญภาวนาได้สำเร็จฌานทั้ง ๕ และปรารถนาว่า “เราจะเอาอากาศอันว่างเปล่าไม่มี อะไรเลยในอรูปพรหมโลกชั้นต้นเป็นที่อยู่ของเราต่อไป” แล้วเจริญภาวนาปรารถนาให้ร่างกายหายไป โดยเพ่งอากาศ เป็นอารมณ์ว่า “อากาศไม่มีที่สิ้นสุด ความว่างเปล่าไม่มีที่สิ้นสุด เราจักเป็นผู้ไม่มีรูปร่าง” แล้วได้อากาสานัญจายตนฌานตลอดชีวิต เมื่อสิ้นชีวิตแล้ว ได้ไปเกิดเป็นพรหมในพรหมโลกชั้นอากาสานัญจายตนภูมิ มีแต่ใจ ไม่มีรูปร่างหน้าตา มือเท้าแม้แต่น้อย มีอายุยืนได้ ๒๐,๐๐๐ กัลป์

นักบวชบางพวกเจริญภาวนาได้ฌาน ๕ ในชั้นต้นแล้ว ได้อากาสานัญ- จายตนสมาบัติ แต่หาได้อิ่มใจไม่ เพราะใจอยากจะได้สูงขึ้นไปกว่านั้น จึงไม่หยุดอยู่เพียงอากาสานัญจายตนสมาบัติ ปรารถนาจะให้ได้วิญญาณญจายตนสมาบัติ ซึ่งอยู่เหนืออากาศว่างเปล่าตลอดกาล ไม่เอาใจใส่อย่างอื่นเลย เอาใจใส่ภาวนาว่า “วิญญาณเป็นอารมณ์ไม่มีที่สิ้นสุด เราจักเป็นผู้ไม่มีรูปร่างด้วยวิญญาณนี้ให้ได้” ไม่เพ่งอย่างอื่นเลย เพ่งแต่วิญญาณจนตลอดชีวิต เมื่อสิ้นชีวิตแล้วได้ไปเกิดเป็นพรหมในพรหมโลกชั้นวิญญาณัญจายตนภูมิ มีอายุยืน ได้ ๔๐,๐๐๐ มหากัลป์

นักบวชบางพวกเจริญภาวนาได้ฌาน ๕ ในชั้นต้นแล้วได้วิญญาณัญ- จายตนสมาบัติ แต่หาได้อิ่มใจไม่ อยากจะได้ให้สูงขึ้นไปกว่าวิญญาณัญจายตนสมาบัตินั้นอีก เห็นว่าอากิญจัญญายตนสมาบัติเป็นสุขกว่า เย็นกว่า ปรารถนาจะให้ได้ถึงอากิญจัญญายตนสมาบัติ ซึ่งอยู่เหนืออากาศว่างเปล่าตลอดกาล จึงไม่เอาใจใส่อย่างอื่นเลย เอาแต่ภาวนาว่า “ไม่มีอะไร” ไม่เพ่งอย่างอื่นเลย เพ่งแต่ความไม่มีอะไรจนตลอดชีวิต เมื่อสิ้นชีวิตแล้วได้ไปเกิดเป็นพรหมในพรหมโลกชั้นอากิญ- จัญญายตนภูมิ มีอายุยืนได้ ๖๐,๐๐๐ มหากัลป์

นักบวชบางพวกเจริญภาวนาได้ฌาน ๕ ในชั้นต้นแล้ว ได้อากิญจัญญายตนสมาบัติไม่อิ่มใจ เพราะใกล้กับพวกที่มีรูปจึงไม่ยินดี เหมือนคนที่อยู่ใกล้ศัตรู ซึ่งถือหอกถือดาบไม่อาจวางใจได้ คิดไม่อยากได้อากิญจัญญายตนสมาบัติอันมีในพรหมโลก ชั้นอากิญจัญญายตนภูมินั้นปรารถนาจะไปเกิดในพรหมโลกชั้นอื่นที่สูงขึ้นไป ห่างไกลพวกที่มีรูปซึ่งเปรียบเสมือนศัตรู จึงไม่เอาใจใส่อย่างอื่นเลย ตั้งใจจะไปให้ถึงเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติอย่างเดียว จึงภาวนาว่า “เราจักเป็นผู้มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ ขอให้เรานี้จงมีใจละเอียดเล็กน้อยยิ่งนักเหมือนหายไปในอากาศได้ร้อยเท่าพันเท่า ยิ่งกว่าใจพรหมชั้นต่ำ” ใจนั้นมีเหมือนไม่มีเพราะละเอียดเล็กน้อยยิ่งนัก มีอายุยืนได้ ๘๔,๐๐๐ มหากัลป์ และจะทำอะไรก็ไม่ได้เลย เพราะใจนั้นละเอียดเล็กน้อยที่สุด พรหมโลกชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะนั้นมีสมาบัติยิ่งกว่าพรหมโลกทุกชั้น

พรหมในอรูปภูมินี้ แม้จะมีใจละเอียดประณีตและน้อยนิดก็ยังมีเจตสิก เป็นเพื่อนของจิตประกอบจิตอีก ๒๐ ดวง คือ โสภณเจตสิก(๑. สัทธา ความเชื่อ    ๒. สติ ความระลึกได้ ๓. หิริ ความละอายต่อบาป    ๔. โอตตัปปะ ความสะดุ้งกลัวต่อบาป ๔. อโลภะ ความไม่โลภอยากได้อารมณ์ ๖. อโทสะ ความไม่โกร  ๗. ตัตรมัชฌัตตตา ความมีใจเป็นกลาง ๘. กายปัสสิทธิ ความสงบของเจตสิก ๙. จิตตปัตสัทธิ ความสงบของจิต ๑๐. กายลหุตา ความเบาของเจตสิก ๑๑. จิตตลหุตา ความเบาของจิต ๑๒. กายมุทุตา ความอ่อนของเจตสิก ๑๓. จิตตมุทุตา ความอ่อนของจิต ๑๔. กายกัมมัญญตา ความสมควรแก่การงานของเจตสิก
๑๔. จิตตกัมมัญญตา ความสมควรแก่การงานของเจตสิก
๑๕. จิตตกัมมัญญตา  ความสมควรแก่การงานของจิต ๑๖. กายปาคุญญตา  ความคล่องของเจตสิก ๑๗. จิตตปาคุญญตา  ความคล่องของจิต  ๑๘. กายุชุกตา  ความซื่อตรงของเจตสิก  ๑๙. จิตตุชุกตา ความซื่อตรงของจิต  ๒๐. ปัญญินทรีย์ ความเป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์ต่างๆ ตามความเป็นจริง)

โสภณเจตสิกทั้ง ๒๐ ดวงนี้อาศัยอรูปาวจรจิตในอรูปโลก ถึงแม้ว่าใจจะ ละเอียดประณีตอย่างยิ่ง ก็ยังมีเพื่อนเพื่อให้อยู่เป็นสุขในสมาบัติได้ เมื่อ พระพุทธเจ้าเสด็จมาประสูติในโลกนี้ อรูปพรหมทั้งหลายก็มีศรัทธาเลื่อมใสพากันบูชาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยใจ

คณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน

รูปาวจรภูมิ

รูปพรหม ๑๖ ชั้น
พรหมทั้งหลายที่เกิดในรูปพรหมทั้ง ๑๖ ชั้นนั้น ย่อมเกิดเป็นกายใหญ่ทันทีแต่เพียงอย่างเดียว และเอาปฏิสนธิ ๖ จำพวก คือ วิตก วิจารณ์ และอื่นๆ ที่กล่าวแล้ว นับตั้งแต่สวรรค์ชั้น ปรนิมมิตวสวัดดี ขึ้นไปจนถึงพรหมโลกนั้น จะนับเป็นโยชน์หรือเป็นวาไม่ได้เลย เพราะว่าอยู่ไกลมาก รูปาวจรภูมิแม้แต่พรหมชั้นล่างสุดที่ชื่อ พรหมปาริสัชชาภูมิ ลงมาจนถึงแผ่นดินนี้ก็ยังไกลมาก หากเอาศิลาก้อนหนึ่งขนาดเท่าปราสาทเหล็กที่ชื่อ โลหปราสาท ที่มีอยู่ในลังกาทวีปนั้น มาทิ้งทอดลงมาจากพรหมปาริสัชชานั้นโดยไม่ไปติดขัดอยู่ที่ไหนเลย ก็จะกินเวลาถึง ๔ เดือน จึงจะตกลงมาถึงแผ่นดิน นี่เป็นแต่เพียงพรหมชั้นตํ่าสุด พรหมทั้ง ๒๐ ชั้นจะอยู่เหนือกันขึ้นไปตามลำดับ ๒๐ ชั้น อาณาเขตกว้างเท่าขอบเขตของกำแพงจักรวาล นอกจากนั้นยังมีปราสาทแก้วและเครื่องประดับทั้งหลายงดงามยิ่งไปกว่าบรรดามีในสวรรค์ของเทวดาต่างๆ นับพันเท่า

พรหมชั้น ๑ ชื่อ พรหมปาริสัชชาภูมิ ชั้น ๒ ชื่อ พรหมปโรหิตา ชั้น ๓ ชื่อ มหาพรหมาภูมิ พราหมณ์ และฤาษที่บำเพ็ญภาวนาจนได้ฌานที่ชื่อ ปฐมฌานในชั้นตํ่าตลอดชีวิตนั้นเมื่อตายไปจะได้ไปเกิดในพรหมชั้นปาริสัชชาภูมิ มีอายุยืนได้ หนึ่งในสามของกัลป์ ผู้ใดที่ได้ปฐมฌานชั้นปานกลางตลอดชีวิต เมื่อตายไปก็จะไปเกิดในพรหมที่ชื่อว่าพรหมปโรหิตาภูมิ เสวยสุขอยู่เป็นเวลาครึ่งหนึ่งของกัลป์ ส่วนผู้ใดได้ปฐมฌานชั้นสูงสุดตลอดชีวิต เมื่อตายไปก็จะไปเกิดในพรหมชั้นมหาพรหมภูมิ เสวยสุขเป็นเวลาหนึ่งมหากัลป์ อายุของพรหมในชั้นนี้นับเป็นกัลป์ เมื่อไฟไหม้กัลป์เมื่อใดก็จะไหม้พรหมทั้ง ๓ ชั้นนี้ด้วย

ไกลขึ้นไปอีกมากก็จะถึงพรหมอีก ๓ ชั้น คือ ปริตตาภูมิ อัปปมาณาภูมิ และอาภัสสราภูมิ รวมเรียกว่า ทุติยฌานภูมิ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายที่สำเร็จทุติยฌานชั้นตํ่าจนตลอดชีวิต เมื่อตายไปจะไปเกิดในพรหมชั้น ปริตตาภูมิ มีอายุได้ ๒ มหากัลป์ ผู้ใดสำเร็จทุติยฌานภูมิชั้นปานกลางจนตลอดชีวิต ตายไปจะไปเกิดในพรหมชั้น อัปปมาณาภูมิ มีอายุยืนได้ ๔ มหากัลป์ ส่วนผู้ที่สำเร็จทุติยฌานภูมิชั้นสูงสุด ก็จะไปเกิดในพรหมชั้น อาภัสสราภูมิ มีอายุยืนได้ ๘ มหากัลป์ เมื่อเกิดไฟไหม้กัลป์แล้ว นํ้าก็ท่วมอาภัสสราพรหมภูมิด้วย

ถัดขึ้นไปอีกไกลนักหนาก็จะถึงพรหมอีก ๓ ชั้น คือ ปริตตาสุภาภูมิ อัปปมาณสุภาภูมิ และสุภกิณหาภูมิ รวมเรียกว่า ตติยฌานภูมิ เทวดาหรือ มนุษย์ใดได้ตติยฌานในขั้นตํ่า เมื่อตายไปก็จะไปเกิดในพรหมชั้น ปริตตาสุภาภูมิ มีอายุยืน ๑๖ มหากัลป์ ผู้ใดได้ตติยฌานในขั้นกลางจนตลอดชีวิต ตายไปก็จะไปเกิด ในพรหมชั้น อัปปมาณาสุภาภูมิ มีอายุยืนได้ ๓๒ มหากัลป์ ส่วนผู้ใดได้ตติยฌาน ชั้นสูงสุดจนตลอดชีวิต ตายไปก็จะไปเกิดในพรหมชั้น สุภากิณหาภูมิ มีอายุยืน ๖๔ กัลป์ เมื่อนํ้าท่วมแล้วมีลม ๕ อย่าง พัดพาทำลายพรหมทั้ง ๓ ชั้นนี้จนหมด ลมนั้นจึงจะหยุด

จากนั้นขึ้นไปอีกไกลมากจะถึงพรหมอีก ๒ ชั้น คือ เวหัปผลาภูมิ และ อสัญญีภูมิ เรียกว่า จตุตถฌานภูมิ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายที่บรรลุ จตุตถฌานขั้นสูงสุดจนตลอดชั่วชีวิต เมื่อตายไปจะไปเกิดในพรหมชั้น เวหัปผลาภูมิ มีอายุยืนถึง ๔๐๐ มหากัลป์ ผู้ใดถึงจตุตถฌานด้วยความมั่นคงและไม่มีลูกมีเมีย รวมทั้งเขารำพึงในใจว่า อันว่าสัตว์ทั้งหลายที่ไปทนทุกขเวทนาอยู่ในจตุราบายด้วย โยนิ ๔ คติ ๕ วิญญาณฐิติ ๗ และสัตตาวาส ๙ ก็เป็นเพราะมีใจรู้รำพึงมาก มีใจรัก มีใจเกลียดชัง เมื่อใดใจนี้หายไปจากตนไม่รู้รำพึงมาก ไม่รู้รักรู้เกลียด เมื่อนั้นก็จะดียิ่ง เขารำพึงเช่นนี้แล้วก็ปรารถนาเช่นนี้ คือ ขออย่ามีลูกมีเมียหรือมีใจเลย เขาพรํ่าภาวนาเช่นนี้ว่า ขอจงอย่ามีสัญญาภาวนาอยู่ตลอดชั่วชีวิตเขา
เมื่อตายไปก็ไปเกิดในพรหมชั้น อสัญญีภูมิ พรหมในชั้นนี้มีกายสูง ๙๖,๐๐๐ วา ไม่มีใจแม้แต่นิดเดียว หน้าตาผิวพรรณเหมือนรูปพระปฏิมาทองคำที่ช่างขัดไว้ใหม่ งดงามมาก หากผู้ใดนั่งอยู่และตายไป ก็จะไปเกิดเป็นพรหมในอิริยาบถนั่งไปจนสิ้นอายุพรหม ผู้ใดยืนอยู่แล้วตายไป ก็จะไปเกิดเป็นพรหมในอิริยาบถยืนในพรหมโลก ไม่กระพริบตาหวั่นติงใดๆ ทั้งสิ้น ไม่รับรู้ใดๆ ทั้งสิ้น ในปราสาทแก้วของพรหมนั้นกว้างขวางมาก มีดอกไม้ของหอมทั้งหลายอันประเสริฐอยู่ตลอดเวลาที่พรหมสถิตอยู่ ดอกไม้นั้นไม่มีเหี่ยวแห้ง ของหอมต่างๆ ก็ไม่มีวันหมดกลิ่นหอมเลย ดอกไม้ต่างๆ ก็จะประดับอยู่เรียงรายราวกับมีผู้จัดแต่งอยู่รอบวิมานของพรหม จำนวนของพรหมในชั้นนี้มีมากมายไม่รู้กี่ล้านกี่โกฏิ มีอายุยืนได้ ๕๐๐ มหากัลป์ เมื่อใดพรหมเหล่านี้จะสิ้นอายุ พรหมที่ได้ทำบุญมาก่อน เมื่อก่อนจะสิ้นชีวิตจิตใจ ก็จะกลับคืนมาสู่ร่างตามเดิมเช่นคนทั่วๆ ไป แล้วจึงไปเกิดตามผลบุญและบาป ที่ทำไว้ เพราะยังไปไม่ถึงนิพพาน

จากนั้นขึ้นไปอีกไกลมากก็จะถึงพรหมอีก ๕ ชั้น คือ อวิหาภูมิ อตัปปาภูมิ สุทัศสาภูมิ สุทัศสีภูมิ และ อกนิฎฐาภูมิ เรียกรวมว่า ปัญจสุทธาวาส นับเป็น จตุตถฌานภูมิ ผู้ใดได้สำเร็จจตุตถฌาน หรือ ปัญจมฌานก็ดี จนตลอดชั่วชีวิต ตายไปก็จะได้ไปเกิดในพรหม ๕ ชั้นที่ชื่อ ปัญจสุทธาวาสนี้ แล้วจะไม่เกิดมาเป็นคนในมนุษย์โลกอีกเลย หากว่าสิ้นอายุจากพรหมโลกแล้ว จะเข้าถึงนิพพานเลย อายุของพรหมในอวิหาภูมินั้นยืนได้ ๑,๐๐๐ มหากัลป์ อายุพรหมในอตัปปายืน ได้ ๒,๐๐๐ มหากัลป์ พรหมในสุทัสสา อายุยืนได้ ๔,๐๐๐ มหากัลป์ อายุพรหม ในชั้นสุทัสสียืนได้ ๘,๐๐๐ มหากัลป์ และอายุพรหมในชั้นอกนิฏฐายืนได้ ๑๖,๐๐๐ มหากัลป์

พรหมทั้ง ๑๖ ชั้นนี้ เรียกว่า โสฬสรูปพรหม อันเป็นที่อยู่ของพรหมทั้ง หลายอันมีรูปพรหมทั้งหลายล้วนแต่เป็นเพศชาย จะมีพรหมเพศหญิงแบบเทพธิดา ในสวรรค์ชั้นตํ่าลงมาก็หาไม่ได้ แต่พรหมที่อยู่ในชั้นอสัญญีนั้นเป็นเเต่รูปอยู่เช่นนั้น ไม่เคลื่อนไหวเลยแม้แต่น้อย ส่วนพรหมในชั้นอื่นๆ อีก ๑๕ ชั้น เคลื่อนไหว มีตาไว้ดู หูไว้ฟัง มีจมูกไว้หายใจเข้าออก แต่ไม่มีความรู้สึกถึงกลิ่นหอมหรือเหม็น มีลิ้นไว้พูดจาแต่ไม่รู้รสเปรี้ยว หวาน เผ็ด จืดหรือเค็ม เนื้อตัวของพรหมนั้นแม้นว่าจับต้องก็จะไม่รู้สึกเจ็บแต่ประการใด ไม่เสวยข้าว น้ำ ได้แต่นั่งฌานสมาบัติ ไม่ยินดี ที่จะเกี่ยวข้องกับผู้อื่น หน้าตาเนื้อตัวของพรหมนั้นเกลี้ยงเกลางดงาม รุ่งเรืองกว่าพระจันทร์พระอาทิตย์เป็นพันเท่า แม้แต่มือของพรหมเพียงมือเดียวก็ให้แสงเรืองไปทั่วจักรวาลได้ถึงหมื่นจักรวาล พระพรหมทั้งหลายมีปราสาทแก้วและปราสาททอง มีอาสน์ทิพย์ ม่านและเพดานเป็นทิพย์ประดับด้วยแก้ว ๗ ประการ งดงามยิ่งกว่าวิมานของเทวดาในชั้นตํ่าได้พันเท่า มีเกศเกล้างดงาม มีชฎาทุกองค์ งามยิ่งนัก รูปร่างของพรหมก็งดงามมาก ไม่ว่าจะเป็นหัวเข่าก็ดี แขนก็ดี ต่อกันกลมกลึงงามมาก มองไม่เห็นรอยต่อ พรหมทั้งหลายนั้นไม่มีอวัยวะภายในตนแม้แต่ น้อย และไม่มีลามกอาจมใดๆ เลย

พรหมทั้ง ๑๖ ชั้นนั้น ไม่มีพรหมเพศหญิงแม้แต่องค์เดียว แม้แต่เพียงเหมือนเพศหญิงก็ไม่มีเลย พรหมทั้งหลายไม่มีใจรักใคร่ในผู้หญิงแม้แต่น้อย ไม่มีการขับร้องฟ้อนรำหรือเล่นดนตรีแต่อย่างใด บางพวกอยู่ด้วยฌานชื่อ อริยวิหาร บางพวกอยู่ด้วยฌานชื่อ ทิพยวิหาร บางพวกอยู่ด้วยฌานชื่อ พรหมวิหาร พรหมทั้งหลายในอกนิฏฐพรหมนั้น เมื่อใดที่พระโพธิสัตว์ผู้จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้นเสด็จออกผนวช พรหมนั้นจะเอาผ้าไตรจีวรและเครื่องบริขารลงมาจากพรหมโลกไกลโพ้น มาถวายแด่พระโพธิสัตว์เจ้า พระโพธิสัตว์ทรงรับเอาไตรจีวรจากพรหมแล้วทรงไตรจีวรนั้น ทรงถอดผ้าขาวที่พระองค์ทรงอยู่ออกจากพระกายแล้วยื่นให้พรหมนั้น ซึ่งรับเอาขึ้นไปไว้ที่อกนิฏฐพรหม แล้วเนรมิตเป็นพระเจดีย์แก้วครอบผอบแก้วใสงามนั้น พระเจดีย์สูง ๙๖,๐๐๐ วา มีพระนามว่า ทุสเจดีย์ พรหมทั้งหลายย่อมเคารพบูชาปฏิบัติพระเจดีย์วันละ ๗ แสนองค์ มิได้ขาด

พรหม ๑๖ ชั้นนี้ เมื่อไฟไหม้แผ่นดินนี้แล้ว พรหมจะเสด็จลงมาดูดอกบัว ที่เกิดในแผ่นดินนี้ แล้วจึงเอาบาตร จีวร เครื่องอัฏฐบริขาร ๘ สิ่งที่อยู่ในดอกบัว นั้น คือ ผ้าสบง ผ้าจีวร ผ้าสังฆาฏิ บาตร ผ้าประคด มีดโกน เข็มเย็บผ้า ผ้ากรองน้ำ พรหมรับเอาอัฏฐบริขารนี้ขึ้นไปไว้ที่อกนิฏฐพรหม ยามเมื่อพระโพธิสัตว์เจ้า เสด็จออกผนวชเมื่อใด พรหมจึงจะนำลงมาถวาย กัลป์ใดมีพระพุทธเจ้าหนึ่งพระองค์ ก็จะเกิดดอกบัวขึ้นหนึ่งดอก เรียกกัลป์นี้ว่า สารกัลป์ กัลป์ใดจะเกิดมีพระพุทธเจ้าสองพระองค์ ก็จะเกิดดอกบัว ๒ ดอก เรียกว่า มัณฑกัลป์ กัลป์ใดจะเกิดมี พระพุทธเจ้าสามพระองค์ ก็จะเกิดดอกบัวขึ้น ๓ ดอก เรียกว่า วรกัลป์ กัลป์ใดจะเกิดมีพระพุทธเจ้าสี่พระองค์ ก็จะเกิดดอกบัว ๔ ดอก เรียกกัลป์นี้ว่า สารมัณฑกัลป์ กัลป์ใดจะเกิดมีพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ก็จะเกิดดอกบัว ๕ ดอก เรียกว่า ภัททกัลป์ กัลป์ใดจะไม่มีพระพุทธเจ้ามาเกิดเลย กัลป์นั้นเรียกว่า สุญญกัลป์ ในหนึ่งกัลป์จะมีพระพุทธเจ้ามาเกิดได้สูงสุดเพียง ๕ พระองค์เท่านั้น มากกว่านี้ไม่มี และเครื่องอัฏฐบริขารอันเกิดมีในดอกบัวนั้น ก็เกิดขึ้นมาเองเพราะบารมีของพระพุทธเจ้านั่นเอง

ผู้ที่จะได้ไปเกิดในพรหมโลกนั้น ทำบุญธรรมอย่างไรจึงได้ไปเกิดเช่นนั้น ผู้ใดก็ดีแม้นว่าได้ทำบุญบวชเป็นพระรักษาศีลได้เท่าไรก็ดี แต่ไม่ได้ฌานที่จะทำให้สามารถเดินไปในอากาศหรือดำดินได้ จะไม่ได้เกิดในพรหมโลกเป็นอันขาด ผู้ใดเจริญภาวนาฌานจนตลอดชั่วชีวิต จึงจะได้ไปเกิดในพรหมโลก เมื่อภาวนาจะให้บรรลุได้ฌานนั้นย่อมกระทำดังนี้ คือภิกษุเจ้าที่เป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้าก็ดี ฤๅษีผู้มีศีลก็ดี นั่งสมาธิภาวนาจำเริญกรรมฐานว่า “ปฐวีกสิณํ” ทั้งกลางวัน กลางคืน และกำจัดปัญจนิวรณ์ คือ ความพอใจรักใคร่ในกาม ความปองร้ายผู้อื่น ความง่วงเหงาหาวนอน ความฟุ้งซ่าน ความลังเลไม่ตกลงใจ แล้วจึงประกอบด้วย ฌาน ๕ ประการ คือ ความตรึกตรอง ความพิจารณา ความปลื้มใจ ความสุข และความเป็นผู้มีอารมณ์เดียว แล้วจึงจักได้ญาณ ๕ ประการ คือ รู้จักแสดงฤทธิ์ได้ มีหูทิพย์ ตาทิพย์ รู้จักจิตของผู้อื่น และรู้จักระลึกชาติได้ เหล่านี้เป็นสภาวะบุญที่ได้เจริญฌานในโลกนี้ แล้วจึงจะได้ไปเกิดในรูปพรหม ๑๕ ชั้น ยกเว้นอสัญญีพรหม เมื่อเกิดนั้น มีรูปเกิดเพียง ๒๓ รูปทีเดียว ไม่มีรูปเกิดถึง ๒๘ รูป เช่นเทวดาที่เกิด เป็นกามภูมิ เมื่อพรหมเกิดมีรูปเกิด ๒๓ รูป แต่ไม่มีรูปเกิดอีก ๕ รูป ๕ รูปนั้นคือ อะไร ได้แก่ฆานรูป รูปอันรู้จักกลิ่นหอมและเหม็น ชิวหารูป รูปอันรู้รสอาหารที่กิน กายรูป รูปอันรู้สึกเจ็บปวด อิตถีภาวรูป รูปอันรู้สึกกามตัณหาเหมือนผู้หญิง ปุริสภาวรูป รูปอันรู้สึกกามตัณหาเหมือนผู้ชาย เมื่อเกิดก็จะมีชีวิตรูป ๔ รูป คือ รูปที่รักษาตา รูปที่รักษาหู รูปที่รักษาใจ และรูปที่รักษาเสียง

พรหมที่เกิดในชั้นอสัญญีนั้น ย่อมเกิดเป็นรูปเหมือนพรหมทั้งหลายที่กล่าวมาแล้ว แต่รูปนั้นจะมี ๑๗ จำพวก ได้แก่อะไรบ้าง ได้แก่ สุทธัฏฐกรูป ๘ ชีวิต รูป ๑ อากาสรูป ๑ วิการรูป ๓ ลักษณะรูป ๔ รวมกันได้ ๑๗ จำพวก โดยมีชีวิตรูปอันเดียวอยู่ในสุทธัฏฐกรูป

พรหมทั้งหลายที่มีจิตภาวนาเจริญฌานนั้น ยังมีเจตสิกซึ่งเป็นเพื่อนของจิต มาตกแต่งอีกให้เป็นกุศล เจตสิกนี้มีเท่าใดมี ๒๒ จำพวก อันได้แก่ ศรัทธา ความเชื่อ ถือบุญธรรมทุกเมื่อ สติ ความระลึกได้ไม่ลืมบุญธรรมเลย ความรู้ละอายไม่ประมาท ความเกรงกลัวต่อบาป ความไม่โลภ ความไม่โกรธ ไม่เคียดแค้นไม่ริษยา การกระทำสิ่งใดด้วยใจเป็นกลาง กระทำสิ่งใดมีตนประกอบด้วยสภาวะธรรมความมีใจเห็นสภาวะธรรม มีกายเบาตามธรรม ความมีใจเบาตามสภาวะธรรม ความมีกายอ่อนตามธรรม ความมีใจอันอ่อนตามสภาวะธรรม ความมีกายอันควร แก่สภาวะและธรรมทั้งหลาย ความมีใจอันควรแก่สภาวะธรรมทั้งหลาย ความมีกายคล่องแคล่วแก่ธรรม ความมีใจอันคล่องแคล่วแก่ธรรม ความมีกายซึ่งตรงต่อธรรม ความมีจิตซื่อตรงต่อธรรม ความมีใจเมตตากรุณาแก่สัตว์ทั้งหลาย ความมีใจพลอยยินดีต่อสัตว์ทั้งหลาย และความมีปัญญายิ่งกว่าอินทรีย์ทั้งหลาย รวมเจตสิกได้ ๒๒ จำพวก เหล่านี้เป็นเพื่อนของจิตใจ แทนอาหารของรูปพรหมทั้งหลาย

คณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน

สวรรค์ชั้นปรนิมิตวสวัดดี

เหนือขึ้นไปจากสวรรค์ชั้นนิมมานรดี ๕,๓๗๖,๐๐๐,๐๐๐ วา หรือ ๖๗๒,๐๐๐ โยชน์ ก็จะถึงสวรรค์ชั้นปรนิมิตวสวัดดี สวรรค์ชั้นที่ ๖ อันเป็นฉกามาพจรสวรรค์ สวรรค์ชั้นฟ้าที่ ๖ นี้ประเสริฐด้วยสุขสมบัติมากยิ่งไปกว่าสวรรค์ชั้นฟ้าที่กล่าวมาแล้ว หากว่าปราราถนาจะได้สรรพทิพย์อาหารใดๆ ก็จะมีเทวดาองค์อื่นมาเนรมิตให้ดังใจปรนิมิตวสวัดดีปรารถนา จึงชื่อว่า ปรนิมิตวสวัดดีสวรรค์ เทวดาในสวรรค์ชั้นนี้สูง ๖๔,๐๐๐ วา เทพยดาผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นนี้ ชื่อพระปรนิมิตวสวัดดีเทวราช เป็นใหญ่เหนือเทวดาทั้งหลายฝ่ายหนึ่ง และพระยามาราธิราช เป็นใหญ่ในหมู่มารทั้งหลายอีกฝ่ายหนึ่ง ในชั้นฟ้านี้จึงมีพระยาผู้เป็นใหญ่ ๒ องค์ ไม่เคยไปเฝ้าไปหากันและกันเลย สวรรค์ทุกชั้นมีอาณาเขตจดขอบแดนจักรวาล ชั้น ๖ นี้ ชื่อฉกามาพจรภูมิ อายุของเทวดาในสวรรค์ชั้นนี้ยืนได้ ๑๖,๐๐๐ ปีทิพย์ หรือ ๘,๒๑๖,๐๐๐,๐๐๐ ปีในเมืองมนุษย์

เทวดาทั้งหลายจะสิ้นอายุจากเมืองฟ้านั้นเป็นไปได้ ๔ ประการ คือ อายุขยะ บุญญขยะ อาหารขยะ และโกรธพละ หากว่าเทพยดาองค์ใดทำบุญมาแต่ก่อนเมื่อสิ้นอายุในสวรรค์ที่อยู่แล้ว จะไปเกิดในสวรรค์ชั้นฟ้าสูงขึ้นไป หรือสวรรค์ชั้นเดิมก็ดี เรียกว่า อายุขยะ หากเทวดาองค์ใดได้ทำบุญมาก่อน และได้ไปเกิดในสวรรค์แต่อายุเทวดานั้นไม่ถึงกำหนดของอายุเทวดาทั่วๆ ไปในสวรรค์ชั้นนั้น ทำให้สิ้นบุญไปก่อน ก็จะไปเกิดในสวรรค์แห่งอื่นเพราะสิ้นบุญก่อน เรียกว่า บุญญขยะ ส่วนเทวดาบางพวกเล่นสนุกเพลิดเพลินอยู่กับนางฟ้าทั้งหลาย จนลืมกินอาหาร เทวดาก็จะสิ้นชีวิตลงแม้จะลืมกินอาหารเพียงมื้อเดียวก็ตาม แม้นว่ามากินภายหลังสักร้อยมื้อก็ไม่สามารถจะคงชีวิตต่อไปได้ เพราะเหตุว่าเนื้อของเทวดาอ่อนเหมือนดอกบัว ถ้านำดอกบัวไปตากบนหินเวลาแดดร้อนจัดไว้หนึ่งวัน แล้วจึงเอามาแช่นํ้า แม้นว่าจะแช่ไว้นานเท่าใดก็ตามดอกบัวก็จะไม่มีวันฟื้นสดชื่นขึ้นมาอีกได้ เช่นเดียวกับเทวดาที่อดอาหารแล้วตายลง เทวดาที่สิ้นชีวิตลงด้วยเหตุเช่นนี้ เรียกว่า อาหารขยะ เทวดาบางจำพวกเห็นเทวดาองค์อื่นได้ดีมียศฐาบรรดาศักดิ์มากกว่าตนก็มีใจคิดริษยาโกรธ ทำให้เกิดเป็นปากเสียงด่าทอกัน เทวดาทั้งสองนั้นถ้าฝ่ายใดอดใจไม่โกรธได้ ก็จะมีชีวิตอยู่ต่อไปทั้งสองฝ่าย เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนี้ เพราะเหตุว่าใจของเทวดาผู้โกรธนั้นเปรียบเป็นไฟ และใจของเทวดาผู้ไม่โกรธนั้นเป็นน้ำ ไปดับไฟของเทวดาที่โกรธเสีย จึงมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ แต่ถ้าเทวดาทั้งสององค์ต่างถือความโกรธเข้าหากันไม่สามารถอดใจได้ ต่างด่าทอ ถกเถียงกัน นางฟ้าทั้งหลายที่เป็นบริวารของทั้งสองฝ่ายก็จะสยายผมลงแล้วร้องไห้ เมื่อเทวดาตั้งความโกรธต่อกันเช่นนั้น หัวใจของทั้งสองฝ่ายก็จะเป็นไฟไหม้ตัวของเขาทั้งสองสิ้นชีวิตลง เทวดาหมู่ใดสิ้นชีวิตลงด้วยเหตุดังกล่าวนี้ เรียกว่า โกรธพละ

ลักษณะพิเศษของเทวดาทั้งหลายมีดังนี้ แม้ว่าเสวยอาหารแล้วก็จะไม่มี ลามกอาจมเหมือนที่มนุษย์เรามีเลย เทวดาที่จุติจากสวรรค์ไม่มีแม้แต่ซากศพเช่นมนุษย์เราเลย เมื่อเวลาจุตินั้นร่างกายก็จะหายไปเลย ถ้าเทวดาผู้มีบุญนั้นจะจุติสิ้นชีวิต ๗ วันก่อนจะจุติ จะเห็นนิมิต ๕ ประการ เมื่อเห็นแล้วเทวดาองค์นั้นก็จะรู้ว่าตนกำลังจะจุติสิ้นชีวิตแล้ว นิมิตทั้ง ๕ คือ หนึ่ง เห็นดอกไม้ที่มีในวิมานของตน เหี่ยวและสิ้นกลิ่นหอม ปกติแล้วดอกไม้นี้มีกลิ่นหอมมากและไม่มีวันเหี่ยว  สอง เห็นผ้าทรงดูหม่นหมอง ปกติผ้าทรงจะดูสดใสงดงามเสมอ สาม มีความสุขดีอยู่ แต่ไม่รู้สึกเป็นสุข มีเหงื่อไคลไหลออกมาจากรักแร้ เมื่อก่อนเคยอยู่เป็นสุขทุกเวลา ไม่เคยมีเหงื่อไคลเลย สี่ อาสนะที่นั่งนอนดูร้อนแข็งกระด้าง แต่ก่อนไม่เคยร้อน หรือแข็งกระด้างเลย และ ห้า กายของเทวดาเหี่ยวแห้งเศร้าหมองไม่มีรัศมีเหมือนแต่ก่อน และรู้สึกเหน็ดเหนื่อยเมื่อยทั้งมือและเท้าซึ่งแต่ก่อนตัวเทวดามีรัศมีรุ่งเรือง งามตลอดเวลา และไม่เคยรู้สึกเหน็ดเหนื่อยเมื่อยตัวแต่ประการใด

การเห็นนิมิตทั้ง ๕ ประการนี้จะเกิดมีขึ้นแก่เทวดาผู้มีบุญและจะจุติ เปรียบเหมือนพระราชาในเมืองมนุษย์ เมื่อจะสวรรคตก็จะเห็นนิมิตในทำนองเดียวกัน ส่วนเทวดาผู้มีบุญน้อยเมื่อจะจุติก็จะสิ้นชีวิตเลย ในขณะที่เทวดาผู้มีบุญ ก็จะเห็นนิมิต ๕ ประการดังกล่าวแล้ว เทวดาองค์อื่นๆ ที่เป็นที่รักใคร่ และนางฟ้า บริวารทั้งหลายก็จะมาหามาสู่ตลอด ๗ วันนั้น มีความทุกข์โศกไปด้วย แล้วก็จะชักชวนเทวดาองค์นั้นให้ไปเล่นที่สวนสนุกเพื่อให้ลืมความทุกข์ลง นางฟ้าบริวารทั้งหลายก็จะร้องไห้เศร้าโศกทุกคน แล้วครวญว่า ขอให้พระองค์มาเกิดในวิมานนี้อีกเมื่อครบ ๗ วันแล้ว เทวดาองค์นั้นก็จะจุติ แล้วไปเกิดใหม่ตามอำนาจบุญและอำนาจบาปของเทวดาเอง เมื่อเทวดาสิ้นชีวิตลง เครื่องประดับอาภรณ์ต่างๆ ของเทวดาก็จะหายไป ร่างกายของเทวดาก็จะหายไป แม้แต่ผมสักเส้นหนึ่งก็จะไม่มีเหลือปรากฏให้เห็นเลย

แม้นว่าเทวดาทั้งหลายจะมีสุขสมบัติปานใดก็ดี ก็ยังหมดสิ้นจากความสุข และสมบัติต่างๆ ลงได้ ฉะนั้นมนุษย์เราทั้งหลายจะยึดมั่นในสมบัติหรืออายุของตนได้อย่างไร เหตุฉะนี้พระพุทธเจ้าก็ดี พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ดี พระอรหันต์เจ้าทั้งหลายก็ดี จึงไม่มีใจปรารถนาในสุขสมบัติในสงสารวัฏนี้ ท่านจึงเสด็จเข้าสู่นิพพานสุข เพราะเหตุนี้เอง อันว่าจะเกิดมาได้สุขสมบัติในเทวโลกก็ดี มนุษย์โลกก็ดี ก็เป็นเพราะได้กระทำบุญมาก่อน รวมทั้งไตรเหตุ ๓ ประการ คือ อโลโภเหตุ ไม่โลภอยากได้ทรัพย์สินของผู้อื่น อโทโสเหตุ ไม่โกรธขึ้งโกรธแค้น กล่าวโทษหรือ ริษยาผู้อื่น อโมโหเหตุ ไม่หลง ไม่กระทำบาปทำแต่บุญ เหตุทั้ง ๓ ประการนี้จะทำให้มียศศักดิ์ และสุขสมบัติ จิตใจที่เป็นบุญมีทั้งหมด ๑๗,๒๘๐ ดวงดังได้กล่าวมาแล้ว

คณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน