วันที่ระลึกมหาจักรี

Socail Like & Share

วันที่ระลึกมหาจักรี หรือที่เรียกกันโดยย่อว่า วันจักรี นั้น สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงพระราชดำริว่า พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีทรงหล่อพระบรมรูปลักษณะเหมือนพระองค์จริงฉลองพระองค์แบบไทย ณ โรงหล่อหลังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (บริเวณศาลาสหทัย สมาคมในปัจจุบัน) เพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระปฐมบรมราชบุพการี แล้วโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เชิญพระบรมรูปทั้ง ๔ รัชกาลนั้นประดิษฐาน เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์สำหรับถวายบังคมสักการะในงานพระราชพิธีฉัตรมงคลและพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ระลึกมหาจักรีครั้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้ทรงสืบราชสันตติวงศ์ ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมชนกนาถ จากต่างประเทศ แล้วอัญเชิญขึ้นประดิษฐานร่วมกับพระบรมรูปทั้ง ๔ รัชกาลนั้น ต่อมาทรงพระราชดำริว่าพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทยังไม่เหมาะสมที่จะมีงานถวายบังคม สักการะพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแปลงพระพุทธปรางค์ปราสาทในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชทั้ง ๕ รัชกาล พระราชทานนามใหม่ว่า ปราสาทพระเทพบิดร โดยทรงพระอนุสรณ์คำนึง ถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งได้ประดิษฐานพระบรมราชวงศ์จักรี ทรงมีพระเดชพระคุณต่อประเทศ เมื่อมีโอกาสก็ควรแสดงความเชิดชูและระลึกถึง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง การพระราชพิธีเชิญพระบรมรูปจากพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทมาประดิษฐานที่ปราสาทพระเทพบิดร เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๑ อันเป็นดิถีคล้ายวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จกรีธาทัพถึงพระนคร ได้รับการอัญเชิญขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบรรจุพระกรัณฑ์ทองคำลงยาราชาวดีซึ่งบรรจุพระบรมทนต์ (ฟัน) พระสุพรรณบัฏจารึกพระปรมาภิไธย พระดวงพระบรมราชสมภพ พระดวงบรมราชาภิเษก พระดวงสวรรคต ลง ณ เบื้องสูงของพระเศียรพระบรมรูปทั้ง ๕ รัชกาล

ครั้นถึงวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ (สมัยนั้นขึ้นปีใหม่วันที่ ๑ เมษายน) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว. ปุ้ม มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงวัง ประกาศพระบรมราชโองการให้มีการกราบถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเป็นการประจำปี กำหนดในวันที่ ๖ เมษายน เป็นประเพณีสืบไปดังนี้

ที่ ๑๗
แจ้งความ
ถวายบังคมพระบรมรูป
เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี เสนาบดีกระทรวงวัง รับพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ สั่งว่าได้ทรงพระราชดำริห์มาเป็นเนืองนิตย์จะพระราชทานโอกาสเตือนนํ้าใจให้อเนกนิกรชนได้ระลึกถึงความเดิมว่า สยามราษฎร์ได้กลับเป็นอิสรภาพขึ้นดังโบราณกาลด้วยพระบุญยาเดชานุภาพของพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ประถมกษัตริย์มหาจักรีบรมราชวงศ์เป็นประถม แลความเป็นอิสรภาพต่อมาก็ด้วยพระบรมราโชบายแห่งพระมหากษัตราธิราชเจ้าได้สนองพระองค์ประกอบด้วยพระปรีชาญาณต่าง ๆ อันควรแก่สมัย สยามราษฎร์ดำรงความเป็นอิสรภาพมาได้ด้วยพระมหากษัตราธิราชเจ้าเป็นนายกของประชาชนยิ่งกว่าผู้อื่น เพราะฉะนั้นความนิยมเคารพจำเป็นต้องฝังอยู่ในนํ้าใจจะละเว้นไม่ได้ เช่นเดียวกับรู้พระคุณแห่งความสั่งสอนซึ่งเป็นผลดีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นพระมหากษัตราธิราชเจ้าอยู่เหนือ อเนกนิกรชนทั้งหลายแล้วก็ดี ความเป็นไปแห่งพระองค์ก็นับอยู่ในนิกรชนทั้งหลายได้ทรงระลึกถึงพระเดชพระคุณของอดีตมหาราชาธิราชเช่นเดียวกัน เมื่อทรงพระราชดำริห์อยู่ฉะนี้แล้ว จึงพระราชทานโอกาศให้อเนกนิกรชนได้แสดงกตเวทีคุณต่อพระมหากษัตราธิราชเจ้า จึงโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดิมหาจักรีบรมราชวงศ์ทุกรัชกาล ประดิษฐานไว้ยังปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อความสะดวกแก่การเคารพบูชา จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีการถวายบังคมเป็นการประจำปี กำหนดวันที่ ๖ เมษายน เป็นประเพณีสืบไป ตรงกับดฤถีเดิมซึ่งพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ได้สู่พระมหานครดำรงราชอาณาจักรสยามประเทศเป็นประถม ในวันที่ ๖ เมษายน เป็นวันควรแสดงนํ้าใจด้วยความชื่นบานยินดีของชาติสยาม แลแสดงความเคารพด้วยกตเวที สนองต่อพระมหากษัตราธิราชเจ้าแห่งเราทั้งหลาย ซึ่งได้มีพระเดชพระคุณปกเกล้าฯ มาแต่บรรพบุรุษสัตรีจนตลอดกาลนี้ แลเพื่อเป็นมงคลแก่ตัวเราด้วย

เพราะฉะนั้นในวันที่ ๖ เมษายน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็จะได้เสด็จพระราชดำเนินทรงกระทำ สักการบูชาถวายบังคมพระบรมรูป แลโปรดเกล้า ฯ ให้อเนกนิกรชนมาถวายบังคมได้ตั้งแต่เวลา ๗ นาฬิกา ก่อนเที่ยง ถึง ๖ นาฬิกา หลังเที่ยง

กระทรวงวัง
วันที่ ๒๓ มีนาคม
พระพุทธศักราช ๒๔๖๑

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีทรงหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ โรงหล่อกรมศิลปากร ครั้นตกแต่งพระบรมรูปเรียบร้อยแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ กำหนดการพระราชพิธีประดิษฐานพระบรมรูปที่ปราสาทพระเทพบิดร โดยเสด็จพระราชดำเนินมาทรงบรรจุพระบรมทนต์ พระสุพรรณบัฏจารึกพระปรมาภิไธยและดวงพระบรมราชสมภพ พระดวงบรมราชาภิเษก พระดวงสวรรคต ในพระกรัณฑ์ทองคำลงยา แล้วทรงบรรจุที่เบื้องสูงของพระเศียรพระบรมรูป เมื่อวันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๐

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชปรารภว่า ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ อายุพระนครจะบรรจบครบ ๑๕๐ ปี สมควรมีการสมโภชและสร้างสิ่งสำคัญเป็นอนุสรณ์ขึ้นไว้ให้ปรากฏแก่อารยชนในนานาประเทศว่าชาวไทยมีความกตัญญูรู้คุณบรรพบุรุษที่ได้สร้างกรุงเทพ ฯ เป็นราชธานีแล้วบำรุงรักษาประเทศให้เป็นอิสระสืบมา ทรงปรึกษาพระราชปรารภแก่อภิรัฐมนตรีและเสนาบดีซึ่งเห็นชอบด้วยพระราชดำริว่า ควรสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์มี ๒ สิ่งประกอบกัน คือพระบรมรูปพระ บาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก องค์ปฐมกษัตริย์ และสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมพระนครธนบุรี พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงออกแบบให้ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ปั้นหุ่นหล่อ ส่วนสะพานทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยากำแพงเพชรอัครโยธิน อำนวยการสร้าง และพระราชทานนามว่า สะพานพระพุทธยอดฟ้า เงินที่ใช้ในการก่อสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์นี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบริจาคพระราชทรัพย์ ส่วนพระองค์ส่วน ๑ รัฐบาลจ่ายเงินแผ่นดินช่วยส่วน ๑ อีกส่วน ๑ ทรงพระราชดำริให้บอกบุญเรี่ยไรชาวไทยทุกคน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดปฐมบรมราชานุสรณ์ โดยกระบวนพยุหยาตรา เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งเป็นวันครบ ๑๕๐ ปี และมีการพระราชพิธีเฉลิมฉลองกรุงเทพมหานคร

ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ โรงหล่อกรมศิลปากร และได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่ปราสาทพระเทพบิดร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลสวรรคต และได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพตามขัตติยราชประเพณีแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ที่โรงหล่อกรมศิลปากร ครั้นตกแต่งพระบรมรูปเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดการพระราชพิธีเชิญพระบรมรูปไปประดิษฐาน ณ ปราสาทพระเทพบิดร เมื่อวัน ที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๒ โดยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงบรรจุเส้นพระเจ้า (เส้นผม) พระสุพรรณบัฎจารึกพระปรมาภิไธย พระดวงพระบรมราชสมภพ พระดวงเสวยราชย์ พระดวงสวรรคต ลงในพระกรัณฑ์ทองคำลงยา แล้วทรงบรรจุพระกรัณฑ์ลง ณ เบื้องสูงของพระเศียรแห่งพระบรมรูป และในพระราชพิธีนี้ได้ทรงบรรจุเส้นพระเจ้าพระสุพรรณบัฏจารึกพระปรมาภิไธย พระดวงพระบรมราชสมภพ พระดวงเสวยราชย์ พระดวงสวรรคต ในพระกรัณฑ์ทองคำลงยา แล้วทรงบรรจุ ณ เบื้องสูงของพระเศียรแห่งพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย

การถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช ที่ปราสาทพระเทพบิดรเป็นราชประเพณีประจำปีตั้งแต่วันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๑ เป็นต้นมา ครั้นได้สร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกประดิษฐาน ณ ปฐมบรมราชานุสรณ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ เนื่องในการเฉลิมฉลองพระนครบรรจบครบ ๑๕๐ ปีแล้ว ในปีต่อมาทางราชการได้ประกาศให้ถือวันที่ ๖ เมษายน เป็นวันที่ระลึกมหาจักรี และเป็นวันสำคัญของชาติวันหนึ่ง กำหนดให้หยุดราชการและให้ชักธงชาติ และได้กำหนดให้มีการถวายบังคมพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่ปฐมบรมราชานุสรณ์ สำนักพระราชวังได้ออกหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินไปถวายราชสักการะ พระบรมรูปที่ปฐมบรมราชานุสรณ์และถวายบังคมสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชที่ปราสาทพระเทพบิดร

การถวายราชสักการะพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่ปฐมบรมราชานุสรณ์นั้น ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๖ เป็นต้นมา เป็นการเสด็จของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต่อมาในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๙๕ – พ.ศ. ๒๔๙๖ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลบัจจุบันได้เสด็จพระราชดำเนินไปถวายพวงมาลาเป็นราชสักการะ ภายหลังจากนั้นทรงมีพระราชปรารภพระราชทาน พลตรี หม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์ (ม.ร.ว.เฉลิมลาภ ทวีวงศ์) เลขาธิการพระราชวัง ว่า การวางพวงมาลาตามคตินิยมของซาวไทยใช้สำหรับการไว้อาลัยแก่ชีวิตของผู้ที่จากไป แต่วันที่ระลึกมหาจักรี ๖ เมษายน นั้น เป็นมงคลดิถีคล้ายวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ สถาปนาพระบรมราชวงศ์จักรี การถวายพวงมาลาจึงไม่เป็นการงดงามเหมาะสม ในปี พ.ศ.๒๔๙๗  สำนักพระราชวังได้เปลี่ยนเป็นจัดพานพุ่มดอกไม้สดทูนเกล้า ฯ ถวายเป็นเครื่องราชสักการะ

วันที่ระลึกมหาจักรีปัจจุบันนี้ เวลา ๑๖ นาฬิกา ๓๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ไปยังพระบรมราชานุสรณ์ ถวายพานพุ่มดอกไม้และทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะถวายบังคมพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แล้วเสด็จพระราช ดำเนินไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เสด็จ ฯ เข้าสู่พระอุโบสถทรงจุดธูปเทียนถวายนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่พระบรมราชวงศ์จักรี แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปยังปราสาทพระเทพบิดร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะถวายบังคมสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชทั้ง ๘ รัชกาล แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ

งานนี้แต่งกายเครื่องแบบปรกติขาว

อนึ่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สาธุชนเข้าถวายบังคมสมเด็จ พระบูรพมหากษัตริยาธิราชที่ปราสาทพระเทพบิดร ตั้งแต่เวลา ๘ นาฬิกา จนถึงเวลา ๑๘ นาฬิกา

ที่มา:กรมศิลปากร