ยักษ์วัดพระแก้ว:นายทวารบาลพิทักษ์รักษาปูชนียวัตถุและปูชนียสถาน

Socail Like & Share

เจิม กมลวรรณ

เมื่อพูดถึงนายทวารบาล เผ้าประตูวัดแล้วไม่มีนายทวารบาลใด จะขึ้นชื่อลือชาเท่ากับยักษ์เป็นไม่มี

ยักษ์ที่เป็นนายทวารบาล ซึ่งมีชื่อเสียงมาก่อนยักษ์อื่นใด ก็เป็นยักษ์วัดอรุณราชวราราม(วัดแจ้ง) ต่อมาก็เป็นยักษ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม(วัดโพธิ์) แล้วก็ยักวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดรพระแก้ว)

ยักษ์วัดแจ้งกับยักษ์วัดโพธิ์นั้น ตามประวัติฉบับปากต่อปาก ก็ว่าเป็นไม้เบื่อไม้เมาซึ่งกันและกัน ทั้งที่เป็นเผ่ายักษ์เหมือนกัน เคยท้าตีท้าต่อยและเอากันจริง ๆ จนป่าไม้ชายเลนและไม้อื่น ๆ หน้าวัดโพธิ์ราบเรียบเป็นท่าเตียนไปครั้งหนึ่ง แต่บัดนี้คงมีผู้ไกล่เกลี่ยและปรับความเข้าใจกันได้แล้ว ท่าเตียนจึงเป็นท่ารก ทำลายศรีสง่าของวัดโพธิ์ ที่มองจากแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่เห็นทัศนียภาพยอดพระเจดีย์เสียดฟ้า ช่อฟ้าใบระกาของพระอุโบสถ พระวิหาร และปูชนียวัตถุอื่น ๆ ระวังท่าน้ำวัดแจ้งไว้ให้ดีอย่าให้รกรุงรัง จนบังพระปรางค์วัดแจ้ง โดยเฉพาะบังตัวยักษ์วัดแจ้งเสียเองก็แล้วกัน

ยักษ์วัดแจ้งนั้นสูง ๗ เมตร เครื่องแต่งกายประดับด้วยกระเบื้องเคลือบเป็นดอกดวงต่าง ๆ สวยงาม หน้าตา ท่าทาง ขึงขัง ยืนหันหน้าออกพระอุโบสถ(หันหลังให้โบสถ์) ลักษณะการยืนไม่ได้ยืนตรงเหมือนยักษ์วัดพระแก้ว แต่ยืนเข่ากาง หรือย่อเข่า ถือกระบอง

ประวัติการสร้างยักษ์วัดแจ้งนี้ในหนังสือ สาส์นสมเด็จฯ ฉบับคุรุสภาจัดพิมพ์เล่มที่ ๒๖ (หน้า ๑๓๔) กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า

“….ยักษ์วัดแจ้งนั้น เขาพูดถึงของเดิมว่า เป็นฝีมือหลวงเทพกัน” คำว่า “หลวงเทพ” นั้น จะเป็นหลวงเทพรจนา หรือหลวงเทพยนต์ อะไรก็ไม่ทราบ แต่คำว่า “กัน” เป็นชื่อตัวแน่ เพราะฝีมือแกดี จึงโปรดให้ปั้นรูปไว้ รูปเก่านั้น พังไปเสียแล้ว ที่ยืนอยู่บัดนี้ เป็นของใหม่ก่อนท่านเจ้านาค(เจ้าอาวาสวัดอรุณฯ ในราวปลายรัชกาลที่ ๖) ไปอยู่เป็นแน่ เข้าใจว่า ยักษ์วัดแจ้งนี้แหละ ทำให้เกิดยักษ์ในวัดพระแก้วขึ้น”

ส่วนยักษ์วัดพระแก้ว ซึ่งเป็นนายทวารบาล เหมือนทำหน้าที่พิทักษ์รักษาปูชนียวัตถุ ปูชนียสถานนั้น ในหนังสือจดหมายเหตุ เรื่องปฏิสังขรณ์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ได้กล่าวถึงประวัติการปั้นยักษ์ว่า

“….ครั้งปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม  เพื่อเตรียมงานมหกรรมฉลองกรุงเทพมหานคร จะมีอายุครบ ๑๐๐ ปี และสมโภชพระแก้วมรกตด้วย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๕ นั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงของแรงพระบรมวงศานุวงศ์ให้ทรงรับเป็นนายงานทำการปฏิสังขรณ์ทุกพระองค์ และโปรดฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าจิตรเจริญ (สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์) ทำหอพระคันธารราษฎร์ และหอพระเจดีย์ประดับกระเบื้อง และปูศิลา และทำกำแพงแก้วภายนอกและทำเพดานเขียน ปั้น ปูพื้นและทำเรือนแก้วภายนอกพระคันธารราษฎร์ ทำใหม่ทั้งสิ้น และปั้นประดับกระเบื้อง รูปยักษ์ประตูคู่หนึ่ง”

คงเป็นคู่มังกรกัณฐ์ และวิรุฬหกที่ยืนอยู่หน้าประตูหน้าหอพระคันธารราษฎร์ ซึ่งทรงเป็นนายงานนั้นเอง

อนึ่ง ยักษ์วัดพระแก้วนี้ ในหนังสือ สาส์นสมเด็จฯ ฉบับคุรุสภา เล่มที่ ๑๖ มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“…ยักษ์วัดพระแก้วนั้น คงทำขึ้นในรัชกาลที่ ๓ เป็นประเดิมเพราะจำได้ว่า คู่ทศกัณฐ์-สหัสเดชะนั้นเป็นฝีมือหลวงเทพรจนา(กัน) คือมือที่ปั้นยักษ์วัดอรุณฯ สันนิษฐานว่า เพราะเวลานั้น มีช่างฝีมือดี ๆ จึงได้ทำขึ้นไว้ เพราะทำแกนด้วยไม้  ครั้นไม้ผุก็ล้มซวนทลายไปบ้าง ถึงเมื่อซ่อมคราว ๑๐๐ ปี จึงกลับเกณฑ์กันขึ้นใหม่  นับว่าเป็นการสมควรอยู่ เพราะเวลานั้นช่างปั้นอันมีฝีมือพอดูได้ยังมีอยู่บ้าง…”

ยักษ์วัดพระแก้ว นายทวารเฝ้าประตูนี้ มีอยู่ทั้งหมด ๑๒ ตน แต่ละตนล้วนเป็นยักษ์ที่มีอิทธิฤทธิ์ อิทธิพล เป็นผู้ครองนคร เป็นลูกหลวง รัชทายาทเกือบทั้งสิ้น และเป็นที่ควรสังเกตว่ายักษ์เหล่านี้ ล้วนเป็นวงศาคณาญาติ หรือสัมพันธมิตรของทศกัณฐ์ทั้งหมด

เจตนารมณ์ของท่านผู้ดำริริเริ่มปั้นยักษ์เฝ้าประตูให้เป็นพวกเดียวกันนี้ ก็เป็นการสมควร เพราะการเฝ้าพิทักษ์รักษาปูชนียวัตถุ ปูชนียสถานอันสำคัญอย่างยิ่งนั้น ถ้าผู้เฝ้าเป็นคนละพวก คนละหมู่ ก็ยากในการดูแลรักษา และยุ่งยากในการปกครอง ฉะนั้น จึงจัดให้เป็นยักษ์พวกเดียวกัน โดยมีทศกัณฐ์เป็นประธาน และแกนกลางสำคัญ

อนึ่งการยืนเฝ้าของยักษ์ทั้ง ๑๒ ตนไม่เหมือนกับการยืนเฝ้าของทวารบาลอื่นเช่นยักษ์วัดแจ้งเป็นต้น ซึ่งยืนหันหลังให้สิ่งที่ตนเฝ้า แต่ยักษ์วัดพระแก้วยืนหันหน้าเข้าหาพระอุโบสถ

ยักษ์ทั้ง ๑๒ ตนนี้ เครื่องแต่งกายประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีต่าง ๆ ตบแต่งเป็นดอกดวงสวยงามมาก ยืนเฝ้าประตูอยู่เป็นคู่ ๆ ๖ ประตู จะนับตั้งแต่คู่ประตูทางขึ้นหอพระเทพบิดร(เข้าทางประตูสวัสดิโสภาหน้ากระทรวงกลาโหม) ไปทางหอพระคันธารราษฎร์(หน้าโบสถ์) เป็นลำดับ ดังนี้

คู่ที่ ๑.  สุริยาภพ    สีแดงซาด

อินทรชิต    สีขาว

คู่ที่ ๒.  มังกรกัณฐ์           สีเขียว

วิรุฬหก                สีม่วงแก่

คู่ที่ ๓.  ทศคีจันธร           สีหงส์ดิน

ทศคีรีวัน             สีเขียว

คู่ที่ ๔.  จักรวรรดิ์            สีเขียว

อัศกรรณมาราสูร          สีม่วงแก่

คู่ที่ ๕.  ทศกัณฐ์              สีเขียว

สหัสสเดชะ         สีขาว

คู่ที่ ๖.  ไมยราพ              สีม่วงอ่อน

วิรุฬจำบัง            สีหมอก

ขอเชิญชวนท่านไปชมศิลปของการปั้น และการประดับกระเบื้องเคลือบ ซึ่งเป็นศิลปของไทยแท้ควรชื่นชม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *