พระยาเสือ วีรบุรุษผู้ถูกลืม

พระยาเสือ วีรบุรุษผู้ถูกลืม

เฉลิม  พงศ์อาจารย์(รองศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พิษณุโลก และประจำ “ศูนย์สุโขทัยศึกษา” ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้

เนื่องจากในปีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๒๐๐ ปี  ได้มีการเทอดทูนพระเกียรติของราชวงศ์จักรี แต่มิได้มีผู้กล่าวขวัญถึงกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทบ้างเลย  ทั้ง ๆ ที่พระองค์ทรงเป็นผู้มีส่วนสำคัญยิ่งในการกู้ชาติบ้านเมืองจากพม่าข้าศึกทำสงครามอยู่ตลอดเวลานับตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีตลอดจนสมัยรัชกาลที่ ๑ พระองค์ทรงเป็นวีรบุรุษที่ถูกลืม  กระผมมีความปราถนาที่จะเห็นคนไทยได้รำลึกถึงพระองค์ จัดสร้างอนุสาวรีย์ถวายเป็นราชสักการะแด่พระองค์บ้าง  จึงได้รวบรวมวีรกรรมของพระองค์ออกเผยแพร่

กระผมมิใช่นักเขียนนักประพันธ์ ได้แต่รวบรวมวีรกรรมที่มีในพงศาวดาร เมื่อท่านได้อ่านบทความนี้แล้ว ถ้าเห็นด้วยกับความคิดนี้แล้ว ก็ขอความร่วมมือช่วยขยายความคิดนี้ให้แพร่หลายออกไป ช่วยกันรณรงค์หาทางสร้างอนุสาวรีย์ของพระองค์ท่านขึ้น

สมเด็จพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสุรสิงหนารถ ทรงประสูติเมื่อ วันพฤหัสสบดี เดือน ๑๑ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีกุน เบญจศก จุลศักราช ๑๑๐๕ (พ.ศ.๒๒๘๖) ณ กรุงศรีอยุธยา  ทรงเป็นโอรสของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกนารถ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งหลวงพินิจอักษร (ทองดี) ทรงประสูติร่วมชนกชนนีกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระนามเดิมว่าบุญมา

ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาพระองค์ได้เข้ารับราชการในตำแหน่ง นายสุจินดา หุ้มแพร  มหาดเล็กในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวสุริยามรินทร์ เมื่อกรุงเสียแก่พม่าได้เสด็จหนีพม่าไปทางเรือกับเพื่อน ๓ คน ไปอาศัยอยู่ที่เมืองชลบุรี

ครั้นเมื่องทรงทราบข่าวพระยาตากไปตั้งมั่นอยู่ที่จันทบุรี เตรียมกำลังจะเข้าตีขับไล่พม่า ด้วยทรงคุ้นเคยกับพระยาตากตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า จึงตกลงจะไปทำราชการด้วย เมื่อพระยาตากยกกองทัพจากจันทบุรีมาตีพม่าที่กรุงศรีอยุธยาแตกพ่ายไปแล้ว และปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้ากรุงธนบุรี ด้วยความดีความชอบในการร่วมทำศึกสงครามคราวนี้พระเจ้ากรุงธนบุรีได้แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งพระมหามนตรี เจ้ากรมพระตำรวจ จากนั้นพระองค์ก็ได้รับมอบหมายให้เป็นแม่ทัพไปทำศึกสงคราม และได้รับการแต่งตั้งเลื่อนยศโดยลำดับ คือ

ในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ เมื่อไทยตั้งตัวได้ที่กรุงธนบุรีมิทันนานพม่าก็ยกกองทัพมาโจมตีไทยที่บางกุ้ง แขวงเมืองราชบุรี  พระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้กรมพระราชวังบวรฯ เป็นทัพหน้าพระองค์เป็นทัพหลวงยกออกไปต่อสู่พม่าสามารถตีทัพพม่าแตกพ่ายไป

ในปี พ.ศ. ๒๓๑๑ โดยเสด็จพระเจ้าตากสินยกกองทัพไปปราบชุมนุมเจ้าเมืองพิษณุโลก  แต่ไม่สำเร็จต้องยกทัพกลับ ต่อมาได้โดยเสด็จพระเจ้าตากสินไปปราบชุมนุมเจ้าเมืองพิมาย

ศึกครั้งนี้พระองค์และพระเชษฐาได้แสดงความสามารถเอาชนะข้าศึกได้  เมื่อเสร็จสงครามได้เลื่อนยศขึ้นเป็นพระยาอนุชิตราชา ส่วนพระเชษฐาได้เลื่อนยศจากพระราชวรินทร์ขึ้นเป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์

ในปี พ.ศ. ๒๓๑๒ พระเจ้ากรุงธนบุรีรับสั่งให้พระองค์และพระเชษฐาพร้อมด้วยพระยาโกษาธิบดี ยกกองทัพไปตีเขมร  พระองค์เข้ายึดเมืองเสียมราฐเอาไว้ได้  ส่วนพระยาโกษาธิบดียึดได้เมืองพระตะบอง  กองทัพทั้งสองยั้งทัพอยู่ที่เมืองดังกล่าว เพื่อรอกองทัพของพระเจ้ากรุงธนบุรีจะยกไปสมบท ในเวลานั้นกองทัพพระเจ้ากรุงธนบุรียกไปปราบชุมนุมเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช แล้วไปติดลมมรสุมเสด็จกลับไม่ได้ จึงไม่สามารถยกไปสมทบกองทัพที่จะตีเมืองเขมรได้ทันกำหนด ซ้ำมีข่าวสืบแพร่ไปว่าพระเจ้ากรุงธนบุรี สวรรคตที่นครศรีธรรมราชและทางกรุงธนบุรีเกิดจลาจล พระองค์และพระเชษฐาจึงยกทัพกลับ

ในปี พ.ศ. ๒๓๑๓  พระยายมราชสิ้นชีวิต พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเลื่อนยศของพระองค์ขึ้นเป็นพระยายมราชและโปรดให้ยกกองทัพไปตีชุมนุมเจ้าพระฝาง พร้อมกับกองทัพของพระยาพิชัยราชา สามารถปราบพระฝางได้สำเร็จ พระฝางหนีไปได้  ได้แต่ช้างเผือกของพระฝางนำไปถวายพระเจ้ากรุงธนบุรี ศึกครั้งนี้พระองค์ได้เลื่อนยศขึ้นเป็นเจ้าพระยาสุรสีหพิษณวาธิราชผู้สำเร็จราชการเมืองพิษณุโลก บังคับบัญชาป้องกันหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งมวล  อันเป็นตำแหน่งที่สูงกว่าเสนาบดีจตุสดมภ์

ส่วนพระเชษฐาได้เลื่อนมารับตำแหน่งพระยายมราชแทนพระองค์ต่อมาในปลายปีนั้นพระเชษฐาจึงได้เลื่อนยศขึ้นเป็นเจ้าพระยาจักรี ที่สมุหนายก

ในปี พ.ศ. ๒๓๑๓ เมื่องกองทัพไทยปราบชุมนุมเจ้าพระฝางได้แล้ว พรรคพวกของพระฝางหนีไปพึ่งพม่าที่เชียงใหม่ พม่าได้จัดกองทัพมาตีเมืองสวรรคโลก เจ้าพระยาพิชัยได้ขอให้เจ้าพระยาสุรสีห์ยกไปช่วย กองทัพไทยสามารถตีทัพพม่าแตกพ่ายไป ต่อมาพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตั้งให้เจ้าพระยาสุรสีห์เป็นทัพหน้า พระองค์เป็นทัพหลวง  ยกขึ้นตามไปตีพม่าที่เชียงใหม่  ฝ่ายไทยล้อมเมืองเชียงใหม่และสู้รบกับพม่าเป็นสามารถ แต่ก็ตีไม่ได้จึงถอยกลับ

ในปี พ.ศ. ๒๓๑๔ ทรงได้รับแต่งตั้งให้ยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ร่วมกับพระเชษฐา

การตีเชียงใหม่คราวนี้พระองค์ตีค่ายพม่า ๓ ค่าย ที่ตั้งอยู่ทางประตูท่าแพทางตะวันออกแตกพ่ายไป ส่วนพระเชษฐาตีค่ายพม่าทางด้านตะวันตก ๓ ค่ายได้ และเข้าเมืองเชียงใหม่ได้พร้อมกัน

เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบข่าวชัยชนะทรงโสมนัสปราโมทย์ถึงกับยกพระหัตถ์ตบพระเพลาทั้งสองข้างแล้วตรัสว่า “นี้จะว่าพี่หรือว่าน้องดีกว่ากันไฉนในครั้งนี้”

หลังจากเสร็จศึกเชียงใหม่แล้วพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงยกกองทัพไปทำศึกกับพม่าที่บางแก้ว แขวงเมืองราชบุรี กรมพระราชวังบวรฯ ก็ได้ยกกองทัพไปสมทบต่อสู้กับพม่าด้วย เมื่อพิชิตศึกแล้วพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีรับสั่งให้พระองค์ยกทัพขึ้นไปรักษาหัวเมืองฝ่ายเหนือตามเดิม

ในปี พ.ศ. ๒๓๑๕-๒๓๑๖ พม่ายกกองทัพลงมาตีเมืองพิชัย ๒ ครั้ง เจ้าพระยาสุรสีห์ และพระยาพิชัยได้ร่วมกันสู้รบขับไล่พม่าจนพ่ายแพ้กลับไปทั้งสองคราว ข้างพระยาพิชัยนั้นสู้รบกับพม่าจนดาบหักเป็นที่เลื่องลือจนได้ชื่อว่า “พระยาพิชัยดาบหัก”

ในปี พ.ศ. ๒๓๑๘ พระเจ้ามังระกษัตริย์พม่าแต่งตั้งให้อะแซหวุ่นกี้ยกทัพใหญ่มาตีไทย อะแซหวุ่นกี้สั่งให้โปมะยุง่วน โปสุพะลา ยกจากเชียงแสนมาตีเมืองเชียงใหม่ก่อน แล้วตัวอะแซหวุ่นกี้จึงยกทัพเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์  หวังเข้าตียึดเอาเมืองพิษณุโลกเป็นที่ตั้งมั่นในครั้งนั้น กรมพระราชวังบวรฯ และพระเชษฐาได้ยกขึ้นไปป้องกันเมืองเชียงใหม่ยังไม่ทันได้รบกับพม่า เพราะพม่าเมื่อทราบว่าพระองค์ยกไปก็รีบถอยทัพกลับ แต่พระองค์ไม่ทันได้ยกไปตามตี ก็ทรงทราบข่าวที่อะแซหวุ่นกี้ยกมาทางเมืองพิษณุโลก พระองค์และพระเชษฐาต้องรีบยกทัพมาป้องกันเมืองพิษณุโลก

เมื่อมาถึงเมืองพิษณุโลกก็ได้ยกกองทัพไปตีพม่า ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองสุโขทัย สู้พม่าอยู่ ๓ วัน เห็นพม่ามีกำลังมากกว่าหลายเท่า จะเอาชนะไม่ได้จึงถอยทัพกลับไปตั้งมั่นในเมืองพิษณุโลกอยู่เป็นเวลา ๔ เดือน  กองทัพฝ่ายไทยได้ป้องกันเมืองพิษณุโลกเป็นสามารถ เพื่อคอยกำลังสนับสนุนจากกองทัพหลวง

แต่เนื่องจากพม่ายกมาตีหลายทาง พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงไม่สามารถยกกองทัพหลวงมาช่วยได้ ฝ่ายกองทัพที่รักษาเมืองพิษณุโลกเห็นว่าขาดเสบียงอาหารอย่างหนักจะรักษาเมืองต่อไปไม่ได้ จึงยกกองทัพตีแหกค่ายพม่าไปตั้งหลักมั่นที่เมืองเพชรบูรณ์

ในระยะเวลาที่ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการเมืองพิษณุโลก และหัวเมืองฝ่ายเหนือนั้น เกียรติประวัติความห้าวหาญ ความเก่งกล้าสามารถของพระองค์ขจรขจายไปทั่ว เป็นที่ทราบกันดีในหมู่ทหารไทยและฝ่ายพม่าข้าศึกจนได้รับยกย่อง  เรียกพระนามกันทั่วไปว่า “พระยาเสือ”

ในปี พ.ศ. ๒๓๒๐ ทรงได้รับมอบหมายให้ยกกองทัพไปปราบปรามหัวเมืองจำปาศักดิ์ร่วมกับพระเชษฐาสามารถปราบปรามและนำเอาหัวเมืองลาวฝ่ายใต้มาอยู่ในพระราชอาณาเขตของกรุงธนบุรีได้สำเร็จ

ในปี พ.ศ. ๒๓๒๒ ทรงร่วมกับพระเชษฐายกกองทัพไปตีเอาเมืองเวียงจันทน์  พระเชษฐายกไปทางนครราชสีมา ส่วนพระองค์ยกไปทางเมืองเขมร ยกขึ้นไปตามลำน้ำโขง ตีได้เมืองนครพนม เมืองหนองคาย แล้วยกเข้าตีเวียงจันทน์ พร้อมกับกองทัพของพระเชษฐาสามารถยึดเมืองเวียงจันทน์ได้

ในครั้งนั้นทางหลวงพระบางก็ส่งบรรณาการยอมเป็นเมืองขึ้นของไทยด้วย  และในการศึกครั้งนี้ได้นำเอาพระแก้วมรกตกลับคืนมาสู่ราชอาณาเขตของไทย พระแก้วมรกตจึงได้เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองมาตราบเท่าทุกวันนี้

ในปี พ.ศ. ๒๓๒๓  ทางเมืองเขมรเกิดจลาจล พระองค์และพระเชษฐาได้รับแต่งตั้งให้ยกกองทัพออกไปปราบจลาจลจัดการบ้านเมืองทางเขมร เมื่อยกไปถึงเขมรแล้วกษัตริย์เขมรหนีไปพึ่งญวน  กองทัพไทยเตรียมจะทำสงครามกับญวน แต่ยังไม่ทันได้รบพุ่งก็พอดีทางกรุงธนบุรีเกิดจลาจลต้องรีบยกกองทัพกลับ

ในปี พ.ศ. ๒๓๒๕ พระองค์ร่วมกับพระเชษฐา และกรมพระราชวังหลังราชนัดดาได้ร่วมกันปราบจลาจลที่เกิดขึ้นในปลายรัชกาลของพระเจ้ากรุงธนบุรี  เมื่อพระเชษฐปราบดาภิเษกขึ้นเป็นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระองค์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสุรสิงหนารถ และทรงได้รับมอบหมายให้ควบคุมการสร้างวังหน้าขึ้นเป็นที่ประทับของพระองค์เอง

เมื่อพระเซษฐากระทำราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์ก็ได้โปรดเกล้าให้กระทำราชพิธีอุปราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียรที่พระราชวังบวรสถานมงคลหลังจากนั้นก็ทรงดำรงฐานะเป็นหลักเมือง ทำหน้าที่ปกป้องชาติบ้านเมืองตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ ทรงกระทำศึกครั้งสำคัญ คือ

ในปี พ.ศ.๒๓๒๘ พระเจ้าปดุงยกทัพใหญ่จำนวน ๙ ทัพมาตีไทยแยกเป็น ๓ ทาง คือ ทางเหนือ ๓ ทัพ ทางกลาง ๓ ทัพ และทางใต้ ๓ ทัพ ทางกลางยกมาทางเมืองกาญจนบุรี กองทัพของพระองค์ยกมาตั้งรับข้าศึกที่บางแก้ว ศึกครั้งนี้ทรงสามารถตั้งรับพม่าเอาไว้จนพม่าขัดสนเสบียงอาหาร และใช้กลศึกหลอกลวงพม่าโดยเวลากลางคืนให้ยกพลออกนอกค่าย  รุ่งเช้าจึงทำทีเป็นยกกองทัพเข้ามาสมทบ โดยจัดขบวนใหญ่โตยกพลเรียงกันเข้าค่ายแต่เช้าจรดเย็น ทำอยู่ทุก ๆ วัน จนพม่าขวัญเสียเพราะเข้าใจว่าฝ่ายไทยมีกำลังมากมายมหาศาล  เมื่อได้โอกาสแล้วจึงยกเข้าตีเอาชนะพม่าโดยง่าย

เมื่อเสร็จศึกด้านกาญจนบุรีแล้ว ทรงยกกองทัพลงไปขับไล่พม่าทางภาคใต้ เมื่อขับไล่พม่าออกไปและจัดการบ้านเมืองเรียบร้อยแล้ว จึงมีพระดำริที่จะเอาหัวเมืองปัตตานีและไทยบุรี ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของไทยแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาให้กลับมาเป็นของไทยอีก ทรงแต่งกองทัพไปตีเมืองปัตตานีได้สำเร็จ

เมื่อกองทัพไทยปราบสุลต่านเมืองปัตตานีได้แล้ว สุลต่านเมืองไทยบุรี กลันตันและตรังกานู เกรงกองทัพไทยจะยกไปตีต่างก็รีบแต่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายขอเป็นเมืองขึ้นของไทย แม้ในเวลาต่อมาไทยจะสูญเสียไทรบุรี กลันตัน ตรังกานูไปแต่หัวเมืองปัตตานีนั้นก็ยังคงรวมอยู่ในผืนแผ่นดินไทย สืบมาตราบเท่าทุกวันนี้  ซึ่งได้แก่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสตูล นั่นเอง

หลังจากเสร็จศึก ๙ ทัพกับพม่าแล้ว กรมพระราชวังบวรฯ ยังทรงต้องทำสงครามป้องกันชาติไทยอีกหลายครั้ง คือในปี พ.ศ.๒๓๒๙ ทรงทำสงครามกับพม่าที่ท่าดินแดง

ศึกครั้งนี้นอกจากสามารถพิชิตพม่าแล้ว ยังสามารถจับเอาพม่ามาเป็นเชลยได้เป็นจำนวนมาก ทำให้ทหารไทยมีกำลังใจเข้มแข็งเลิกกลัวพม่าอีกต่อไป

และในปีรุ่งขึ้นได้ยกกองทัพไปตีเมืองทวาย แต่ครั้งนี้ฝ่ายพม่าป้องกันอย่างเข้มแข็งและแม้ตีได้ก็รักษาเมืองไว้ลำบากจึงยกทัพกลับ

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๓๖ พระองค์และพระเชษฐาทรงยกกองทัพไปตีมอญและพม่าอีก กองทัพไทยและพม่าได้ทำสงครามกันเป็นสามารถ แต่ละฝ่ายล้มตายเป็นอันมาก การตีเมืองครั้งนี้ไม่ประสบผลสำเร็จก็ต้องยกทัพกลับ

ในปี พ.ศ. ๒๓๔๐ พม่ายกกองทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ กรมพระราชวังบวรฯ ทรงได้รับมอบให้ยกกองทัพไปขับไล่พม่า กองทัพไทยสามารถขับไล่พม่าแตกพ่ายกลับไป เมื่อเสร็จศึกเจ้าเมืองเชียงใหม่ได้ถวายพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปสำคัญของเชียงใหม่แก่พระองค์และพระองค์ได้นำพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่วังหน้า พระพุทธสิหิงค์จึงได้ประดิษฐานเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองในกรุงเทพมหานครสืบมาจนทุกวันนี้

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๔๕ พม่ายกกองทัพมาตีเมืองเชียงใหม่อีก กรมพระราชวังบวรฯ ได้เสด็จเป็นแม่ทัพหลวงยกขึ้นไปขับไล่พม่า เมื่อเสด็จไปถึงเมืองเถินก็ทรงประชวรหนักไม่สามารถบัญชาการทัพได้  ได้แต่สั่งกองทัพไปช่วยเจ้าเมืองเชียงใหม่กองทัพไทยสามารถขับไล่กองทัพพม่าออกไปได้อีกครั้งหนึ่ง

ศึกครั้งนี้เป็นศึกครั้งสุดท้ายของพระองค์

แม้นพระองค์จะห้าวหาญเก่งกาจอย่างใด  ก็ไม่สามารถพิชิตพระยามัจจุราชได้ ในที่สุดทรงเสด็จสวรรคตในปีรุ่งขึ้นคือเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๑๒ แรม ๔ ค่ำ ปีกุน เบญจศก จุลศักราช ๑๑๖๕ (พ.ศ.๒๓๔๖) สิริรวมพระชนมายุได้ ๖๐ พรรษา อยู่ในตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลได้ ๒๑ ปี ๔ เดือน ๕ วัน

สมเด็จพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนารถ นอกจากเป็นนักรบที่ห้าวหาญเก่งกาจแล้ว ยังทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้านอื่น ๆ อีกมาก ในยามที่ทรงว่าการศึก ที่สำคัญคือทรงสร้างพระบวรราชวังหรือวังหน้า ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในเวลาต่อมา

พระองค์ทรงเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างสูงยิ่ง

ทรงสถาปนา วัดสลัก แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า วัดนิพพานาราม ซึ่งคือ วัดมหาธาตุราชวรวิหาร ในปัจจุบัน

ทรงสร้างเสริมวัดตองปุ แล้วพระราชทานนามเป็นวัดชนะสงคราม

สร้างเสริมวัดสำเพ็ง อุทิศถวายพระราชบิดา พระราชทานนามว่าวัดปทุมคงคา

นอกจากนั้นยังทรงปรับปรุงวัดอีกหลายวัด เช่น วัดสุวรรณคีรี วัดสุวรรณดาราราม และทรงสร้างหอพระมณเฑียรธรรมในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สร้างวิหารคดในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นต้น

ในปี พ.ศ.๒๓๓๘ ทรงมีพระราชศรัทธาเสด็จออกผนวชที่วัดพระศรีสรรเพชญ์  เป็นเวลา ๗ วัน จึงลาผนวช

สมเด็จฯกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนารถหรือพระยาเสือ ทรงประกอบวีรกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อชาติไทยยิ่งใหญ่ไพศาล  ออกศึกสงครามถึง ๑๗ ครั้ง มากกว่าวีรบุรุษของชาติไทยคนอื่น ๆ แต่ชาวไทยทุกวันนี้ไม่ค่อยจะรำลึกถึงวีรกรรมของพระองค์ ไม่มีอนุสาวรีย์ของพระองค์ให้ชาวไทยได้กราบไหว้บูชา ในขณะที่วีรชนในรุ่นเดียวกับพระองค์ ทำศึกน้อยครั้งกว่าและมีความสำคัญน้อยกว่านั้น ล้วนแต่มีอนุสาวรีย์เด่นสง่าอย่างเช่น อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก เป็นต้น

แม้ในเพลงต้นตระกูลไทย ซึ่งได้เอ่ยชื่อ โกษาเหล็ก พระยาสีหราชเดโช นายแท่น นายดอก ท้าวสุรนารี แต่ก็มิได้เอ่ยอ้างถึงพระองค์เลย

ในวาระกรุงรัตนโกสินทร์จะมีงานสมโภชครบ ๒๐๐ ปี มีการเฉลิมพระนามพระเชษฐาของพระองค์ขึ้นเป็นมหาราช  แต่ไม่เห็นมีใครเอ่ยถึงวีรกรรมของพระองค์บ้าง

ความเป็นมหาราชของพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ดี และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชก็ดีผู้ที่อยู่เบื้องหลัง เป็นทหารเอกอาสาทำศึกสงครามเสริมส่งพระบารมีมหาราชทั้งสองพระองค์นั้น ก็คือพระยาเสือ

จึงสมควรหรือไม่ที่พี่น้องผองไทยจะรำลึกถึงพระองค์ จะทำพิธีราชสักการะในคราวสมโภชกรุง ๒๐๐ ปี และสร้างอนุสาวรีย์ของพระองค์ไว้เตือนใจคนรุ่นหลังให้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและเป็นตัวอย่างในการเสียสละเพื่อชาติ เพื่อชาวไทยจะได้เอาเยี่ยงอย่าง และกราบไหว้บูชาสืบไปชั่วกาลนาน