พระคเณศ:พระขันทกุมารโอรสของพระอิศวร

Socail Like & Share

พระคเณศ

พระขันทกุมาร

มณีปิ่น  พรหมสุทธิรักษ์ ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

เทพนิยายเกี่ยวกับโอรสทั้งสองของพระอิศวร คือ พระคเณศและพระขันทกุมารค่อนข้างสับสนในวรรณคดีไทย มักเข้าใจผิดว่าทั้งสองเป็นเทพองค์เดียวกัน

พระคเณศของฮินดูเป็นโอรสองค์โตของพระอิศวร  เป็นเทพแห่งความสำเร็จในการประกอบกิจการทั้งปวง เป็นเทพที่มีเศียรเป็นช้างงาเดียว งาซ้ายหัก จำนวนกรไม่ตายตัว มีหนูเป็นพาหนะ

พระขันทกุมาร เป็นน้องพระคเณศ เป็นเทพแห่งศิลปการทำสงคราม เป็นแม่ทัพของกองทัพเทพ มีหกเศียร สิบสองกร มีนกยูงเป็นพาหนะ

อาจเป็นได้ว่าไทยเข้าใจผิดเรื่องเทพทั้งสองตั้งแต่สมัยอยุธยา ในลิลิตโองการแช่งน้ำเทพสำคัญของฮินดูเกือบทุกองค์ เช่น พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม พระอินทร์ พระเพลิง และพระยม ได้รับอัญเชิญให้มาเป็นพยานในพิธีถือน้ำ พระขันทกุมารก็ได้รับเชิญด้วย แม้จะไม่ได้ถูกเรียกโดยชื่อ แต่โดยลักษณะเฉพาะ คือ เจ้าผู้ขี่นกยูง –“ขุนแกล้วกล้าขี่ยูง”- ก็ตาม แต่ในลิลิตโองการแช่งน้ำกลับไม่มีชื่อพระคเณศ เทพที่พราหมณ์ผู้ประกอบพิธีใด ๆก็ตามต้องอัญเชิญมาเมื่อเริ่มพิธี

ในอนิรุทธคำฉันท์ตอนสงครามระหว่างพระกฤษณะและกรุงพาณ มีการออกนามทั้งสอง คือ พระขันทกุมารและพระวิฆเนศวร ซึ่งเป็นสมญาหนึ่งของพระคเณศ แต่ความที่ปรากฎในวรรณคดีเรื่องนี้ไม่ชัดว่านามทั้งสองหมายถึงเทพสององค์หรือหมายถึงเทพองค์เดียวเท่านั้น  ความในอนิรุทธคำฉันท์มีว่า

โดยประจิมรากษสชาติ

อุตระยุพราช

พระขันทกุมารพิไชย

วิฆเนศวรวิฆนประไลย

ถืออาวุธไกร

กำลังกำเลาะแสนสาร

ความนี้อาจหมายได้สองอย่างคือ พระขันทกุมาร เป็นเทพองค์หนึ่ง และพระวิฆเนศวรเป็นเทพอีกองค์หนึ่ง ผู้มีอาวุธที่มีกำลังเท่าช้างแสนเชือก เป็นแม่ทัพทิศเหนือในกองทัพพระอิศวรพันธมิตรของกรุงพาณ หรือความนี้อาจหมายถึงพระขันทกุมารองค์เดียว คำว่า “วิฆเนศวร” อาจเป็นสมญาของพระขันทกุมารก็ได้  ความหมายประการหลังดูดีกว่าความหมายแรก เพราะความกลืนกันกับคำว่า “ยุพราช” ที่ปรากฎอยู่ด้วย เพราะยุพราชควรมีองค์เดียว

นอกจากนั้นเมื่อถึงตอนพรรณนาฉากรบความในหนังสือเล่มเดียวกันมีแต่พระขันทกุมารเท่านั้นที่หนังสือนี้กล่าวว่ากำลังรบอยู่ ไม่มีการกล่าวถึงพระคเณศเลย

ในสมัยรัตนโกสินทร์เป็นที่ปรากฎแน่ชัดว่าไทยเข้าใจผิดว่าพระคเณศและพระขันทกุมารเป็นเทพองค์เดียวกัน

ในฉันท์กล่อมพระเจ้าลูกยาเธอรัชกาลที่ ๕ ขุนสารประเสริฐ(นุช) ผู้แต่งได้กล่าวถึงพระคเณศว่าเป็นเทพองค์เดียวกับพระขันทกุมาร “วิฆเนศวรศักดิ์เหี้ยมหาญ คือขันทกุมารมยุรอาศน์เลิศฤา”

ในฉันท์สังเวยพระมหาเศวตฉัตรที่แต่งขึ้นต้นรัชกาลที่ ๖ พระองค์เจ้ากัลยาณประวัติ ผู้แต่งได้เรียกพระคเณศว่า เจ้าแห่งธนูศิลป์ “อนึ่งโสดคเณศรบพิตร วรสิทธิศักดิ์ศรี เป็นมหาสวามิศบดี ศรศิลปาคม”

ในฉันท์กล่อมพระเศวรอุดมวารณ์ที่แต่งในสมัยเดียวกัน กวียกย่องพระขันทกุมารศิวบุตรว่าเป็นเจ้าแห่งธนูศิลป์ “หนึ่งนบศิวบุตรศักดาสิทธิดังสัญญา สมเญศพระขันทกุมาร กุมมั่นคันธนูน้าวผลาญ เหนี่ยวแผลงเชี่ยวชาญ ช่ำชองประลองศรศิลป์” ตามความเชื่อของฮินดูพระขันทกุมารเป็นเจ้าแห่งธนูศิลป์ ไม่ใช่พระคเณศ

งานประพันธ์สมัยรัตนโกสินทร์ที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดอาจได้รับอิทธิพลจากหนังสือชื่อ “นารายณ์สิบปาง” ที่มีฉบับพิมพ์แล้วในสมัยรัชกาลที่ ๕ ในหนังสือนารายณ์สิบปางพระขันทกุมารมีเศียรเป็นช้างเหมือนพระคเณศ ส่วนพระกลับมีกำเนิดจากพระเพลิงเหมือนพระขันทกุมารของฮินดู

กำเนิดพระคเณศ

เทพนิยายเรื่องกำเนิดพระคเณศของไทยมีสองสำนวนคือ

สำนวนหนึ่งว่าพระคเณศเกิดจากไฟ เกิดมาพร้อมกับเศียรช้าง

อีกสำนวนหนึ่งว่า เกิดจากพลังภายในของพระอิศวร เกิดเป็นพระขันทกุมารมีหกเศียรก่อนแล้วมาได้เศียรช้างภายหลัง

สำนวนที่หนึ่งคล้ายกำเนิดพระขันทกุมารของฮินดู

หนังสือนารายณ์สิบปางเล่าเรื่องกำเนิดพระคเณศสำนวนที่หนึ่งไว้ว่า เมื่อไตรดายุคหนึ่ง พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหมได้มาประชุมพร้อมกัน พระอิศวรจึงมีเทวโองการให้พระเพลิงใช้เทวฤทธิ์ทำให้บังเกิดโอรสพระอิศวรขึ้นสององค์ “พระเพลิงรับเทวโองการแล้วกระทำเทวฤทธิ์ให้บังเกิดเป็นเปลวเพลิงออกจากช่องพระกรรณทั้งสองมีรัศมีสว่างรุ่งเรือง แลกลางเปลวเพลิงนั้นเบื้องขวาเกิดเป็นเทวกุมารองค์หนึ่ง มีพระพักตร์เป็นหน้าช้าง มีพระกรสองกร ๆ ขวาทรงตรีศูล กรซ้ายทรงดอกบัว มีอุรเคนทร์ เป็นสังวาล นั่งชานุมณฑล ลอยอยู่ข้างเบื้องขวาของพระเป็นเจ้าทั้งสอง จึ่งให้นามปรากฎชื่อว่าศิวบุตรพิฆเนศวร”

เรื่องกำเนิดพระคเณศของไทยสำนวนนี้คล้ายกับเรื่องของฮินดูที่ปรากฎในลิงคปุราณะมัสยปุราณะ และสกันทปุราณะ คือ พระคเณศเกิดมาพร้อมกับเศียรช้างและเป็นศิวบุตร คือ บุตรแห่งพระศิวะหรือพระอิศวร

แต่เรื่องของไทยต่างจากเรื่องของฮินดูตรงที่พระคเณศเกิดจากพระเพลิงหรือพระอัคนิคล้ายกับเรื่องกำเนิดพระขันทกุมารของฮินดู

อาจเป็นได้ว่าไทยสับสนว่าพระคเณศเป็นเทพองค์เดียวกับพระขันทกุมารเลยโอนเรื่องกำเนิดพระขันทกุมารให้พระคเณศ

เรื่องกำเนิดพระขันทกุมารของฮินดูมีหลายฉบับสำนวน และพระเพลิงมีบทบาทสำคัญในทุกสำนวน เรื่องกำเนิดพระขันทกุมารของฮินดูแบ่งได้เป็นสองพวก คือ พวกหนึ่งพระขันทกุมารเกิดแต่เชื้อของพระเพลิงเท่านั้น ส่วนอีกพวกหนึ่งพระเพลิงเป็นสื่อทำให้เชื้อของพระอิศวรเกิดเป็นพระขันทกุมาร

ในมหาภารตะมีเรื่องกำเนิดพระขันทกุมารจากเชื้อพระเพลิงว่า

ครั้งหนึ่งเมื่อพระเพลิงเห็นนางพราหมณีเจ็ดคนนอนหลับอยู่ในอาศรมก็เกิดความกำหนัด แต่คิดได้ว่าไม่สมควรที่ตนจะเกิดความกำหนัดกับเมียพราหมณ์ผู้บริสุทธิ์และไม่ได้รักตอบตน พระเพลิงเลยแฝงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของไฟที่ใช้อยู่ในอาศรม เพื่อว่าจะไดมีโอกาสแตะต้องนางทั้งเจ็ดด้วยเปลวเพลิงบ้าง แต่ยิ่งได้แตะต้องนางทั้งเจ็ดนานเท่าไรพระเพลิงยิ่งมีความใคร่ในตัวนางมากขึ้นเท่านั้น จึงคิดจะไปฆ่าตัวตายในป่า ฝ่ายนางสวาหะลูกสาวพระฤาษีทักษะหลงรักพระเพลิงนานแล้ว นางคอยเฝ้าดูว่าจะมีโอกาสร่วมรักกับพระเพลิงได้เมื่อไร ครั้นนางทราบว่าพระเพลิงกำลังคลั่งรักนางพราหมณ์ทั้งเจ็ดจึงแปลงกายเป็นนางพราหมณ์ไปยั่วยวนพระเพลิง พระเพลิงก็สมรักกับนาง นางสวาหะแปลงกายได้เพียงหกครั้ง แปลงเป็นนางอรุนธตีเมียพระวสิษฐะไม่ได้ เพราะอำนาจความซื่อสัตย์ต่อสามีของนาง เมื่อนางสวาหะถือเชื้อของพระเพลิงไว้ในมือแต่ละครั้งที่ร่วมรักกับพระเพลิงนางคิดได้ว่าเป็นการไม่สมควรที่นางแปลงตัวเป็นนางพราหมณ์ทั้งหก เพราะถ้าใครเห็นเข้าจะเข้าใจนางพราหมณ์ผิดได้ นางสวาหะจึงแปลงกายเป็นครุฑตัวเมียออกจากป่าไป นางสวาหะเอาเชื้อของพระเพลิงไปใส่ไว้ในบ่อทองบนยอดเขาขาวที่มีกองทัพพระอิศวรคอยดูแลอยู่ เชื้อของพระเพลิงเกิดเป็นพระขันทกุมาร ต่อมานางพราหมณ์ทั้งหกมาหาพระขันทกุมาร นางทั้งหลายถูกสามีทิ้ง เพราะคิดว่าพระขันทกุมารเป็นลูกของนาง นางขอให้พระขันทกุมารอนุญาตให้นางอยู่บนสวรรค์ พระขันทกุมารยอมตามนั้น  นางเหล่านั้นได้ไปเกิดเป็นดาวกฤตติกา  ได้รับนับถือว่าเป็นแม่พระขันทกุมาร ดังนั้นบางครั้งพระขันทกุมารจะได้สมญาว่าพระการตติเกย หรือลูกของกฤตติกา

ในหนังสือสกันทปุราณะและศิวปุราณะ พระขันทกุมารเกิดจากเชื้อพระอิศวรไปให้นางกฤตติกา เรื่องมีว่า

พวกเทวดากลัวว่า บุตรพระอิศวรที่เกิดกับพระอุมาจะมีฤทธิ์มากจนโลกไม่อาจรับไว้ได้ จึงให้พระเพลิงไปก่อกวน พระอิศวรโกรธจึงบังคับพระเพลิงให้ดื่มเชื้อของพระองค์  พวกเทวดาเลยตั้งท้องกันหมดเพราะได้รับเชื้อพระอิศวรที่พระเพลิงอมมา พวกเทวดาทรมานมากที่ตั้งท้องจึงไปขอให้พระอิศวรช่วย พระอิศวรแนะให้พวกเทวดาไปคายเชื้อทิ้ง พวกเทวดาทำตามและเชื้อนั้นได้กลายเป็นภูเขาใหญ่สีทองสุก แต่เชื้อในพระเพลิงยังคงอยู่และคอยเผาผลาญดังดาวหาง พระอิศวรแนะนำพระเพลิงให้ไปปล่อยเชื้อนั้นในครรภ์ผู้มีความร้อนทุกเดือน เช้าวันรุ่งขึ้นนางพราหมณ์ทั้งหกได้ไปผิงไฟหลังอาบน้ำ แม้นางอรุนธตีจะพยายามห้ามก็ตาม เชื้อพระอิศวรในพระเพลิงจึงซึมเข้าไปตามขุมขนของพวกนาง เมื่อนางทั้งหกกลับอาศรมก็ถูกสามีโกรธหาว่าไม่ซื่อต่อตนจนตั้งท้อง และถูกสาปให้ไปเกิดเป็นดาว นางทั้งหกทุกข์ทรมานใจมากจึงไปปล่อยเชื้อพระอิศวรไว้บนภูเขาหิมาลัยเชื้อนั้นไหลลงแม่น้ำคงคา และลอยไปติดต้นไผ่ แล้วเกิดเป็นพระขันทกุมารมีหกเศียร ขณะนั้นพระอุมาเกิดมีน้ำนมไหลจากอกจึงไปที่แม่น้ำคงคาตามคำแนะนำของพระฤาษีมารท นางได้พบพระขันทกุมารและรับเป็นลูก

ในสมัยปุราณะพระขันทกุมารเป็นลูกพระอิศวรและพระอุมาจริง ๆ คือนางอุมาตั้งท้องและคลอดพระขันทกุมารเองจริง กระนั้นพระเพลิงยังคงมีบทบาทในเรื่องนี้ด้วยคือพระเพลิงถูกบังคับให้ดื่มเชื้อพระอิศวรดังในสกันทปุราณะและศิวปุราณะ แต่เอาไปคายไว้ในทะเลสาบ พระอุมาดื่มน้ำทะเลสาบนั้นจึงตั้งท้องพระขันทกุมาร

ในนารายณ์สิบปางนางกฤตติกาและพระอุมาไม่ได้มีบทบาทในการกำเนิดพระศิวบุตรพิฆเนศวรเลย กล่าวได้ว่าเรื่องกำเนิดศิวบุตรองค์นี้ได้เค้าเรื่องจากกำเนิดพระขันทกุมารพวกที่สอง  คือพระเพลิงเป็นสื่อให้เชื้อพระอิศวรเกิดเป็นพระขันทกุมาร ในนารายณ์สิบปางนั้นพระเพลิงเป็นผู้สร้างพระขันทกุมารตามคำสั่งพระอิศวร  ส่วนเชื้อของพระอิศวรกลายมาเป็นเปลวเพลิงที่พลุ่งออกมาจากช่องกรรณทั้งสองของพระเพลิงแทน

สำนวนที่สองคล้ายกำเนิดพระคเณศของฮินดู

เรื่องกำเนิดพระคเณศสำนวนที่สองของไทยที่ว่าเกิดจากพลังภายในของพระอิศวรคล้ายกับเรื่องกำเนิดพระคเณศของฮินดูมากต่างกันแต่ตรงที่ว่าโอรสองค์นี้ของพระอิศวรเกิดเป็นพระขันทกุมารมีหกเศียร สิบสองกรก่อน แล้วกลายเป็นพระคเณศมีเศียรช้างภายหลัง

หนังสือนารายณ์สิบปาง เล่าเรื่องกำเนิดพระขันทกุมาร-พระคเณศไว้ว่า หลังจากที่พระอิศวรไปปราบอสุรพรหมชื่อมูลคะนียักษ์แล้ว “ก็เสด็จกลับไปยังไกรลาศ แล้วเสด็จไปทรงศีลเหนือเขารัชดากูฏ ให้หมู่อุรเคนทร์รักษาพระองค์ แล้วดื่มกินพระโลหิตในนิ้วพระบาทแล้วกระทำด้วยเทวฤทธิ์ให้บังเกิดเป็นกุมารองค์หนึ่งออกจากอุระประเทศ มีพระพักตร์หกพระพักตร์ มีกรสิบสองกร พระเป็นเจ้าจึงให้นามปรากฎว่า พระขันทกุมารเทวโอรส แล้วพระเป็นเจ้าก็เสด็จกลับมายังไกรลาส จึงรังสฤษดิ์มยุราปักษาให้เป็นพาหนะขันทกุมาร”

กำเนิดพระคเณศ-ขันทกุมารของไทยนี้กลับไปคล้ายกำเนิดพระคเณศของฮินดูคือ พระอิศวรแต่ผู้เดียวที่สร้างศิวบุตรองค์นี้ พระเพลิงไม่ได้มีส่วนด้วยเลย

เรื่องกำเนิดพระคเณศของฮินดูสำนวนหนึ่งมีเล่าไว้ในวราหปุราณะว่า

ครั้งหนึ่งเทวดาและฤาษีทั้งหลายสังเกตเห็นว่า ไม่ว่าคนจะประกอบพิธีใด ๆ ทั้งดีและเลวจะไม่พบปัญหายุ่งยากหรืออุปสรรค์ใด ๆ เลย จึงคิดกันว่าน่าจะมีอุปสรรคบ้างสำหรับคนที่ประกอบสิ่งชั่ว จึงพากันไปหาพระอิศวรเพื่อขอให้สร้างสิ่งมีชีวิตผู้จะทำให้เกิดอุปสรรคแก่คนที่ประกอบพิธีไม่ถูกต้อง เมื่อได้รับคำของดังนั้น พระอิศวรก็มองไปที่พระอุมา และคิดใครครวญดูว่าจะช่วยให้เทวดาสมปรารถนาได้อย่างไร ขณะนั้นรัศมีสุกสว่างแห่งดวงพักตร์ของพระองค์ก็กลายเป็นชายหนุ่มผู้มีรัศมีเรืองรองขึ้นมา เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยคุณลักษณะแห่งพระอิศวร  และมีความ่งามมัดใจนางฟ้าทั้งสรวงสวรรค์ เมื่อพระอุมาเห็นดังนั้นก็โกรธและสาปหนุ่มงามผู้นั้นให้มีเศียรเป็นช้าง มีพุงใหญ่ และหมดงาม พระอิศวรต้องช่วยให้พรว่า ให้หนุ่มผู้มีเศียรเป็นช้างนี้มีนามว่าคเณศ ให้เป็นผู้มีอำนาจบันดาลให้เกิดความสำเร็จหรือความล้มเหลวในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆได้ และต้องได้รับการบูชาจากผู้ประกอบพิธีต่าง ๆ ก่อน มิฉะนั้นพิธีนั้น ๆ จะไม่สำเร็จ

จะเห็นได้ว่าพระขันทกุมารซึ่งต่อมากลายเป็นพระคเณศของไทยและพระคเณศของฮินดูมีกำเนิดจากพลังภายในของพระอิศวรทั้งคู่ คือพระขันทกุมารไทยเกิดจากเทวฤทธิ์ส่วนพระคเณศฮินดูเกิดจากรัศมีที่น่าจะเกิดจากพลังในดวงหน้าพระอิศวร

อาจเป็นได้ว่าไทยเคยได้รับเรื่องกำเนิดพระคเณศสำนวนวราหปุราณะนี้เหมือนกัน แต่เพราะความที่เชื่อว่าพระขันทกุมารและพระคเณศเป็นเทพองค์เดียวกันเลยโอนเรื่องกำเนิดพระคเณศนี้มาให้เป็นของพระขันทกุมาร

เมื่อไทยคิดว่าพระคเณศเป็นเทพองค์เดียวกับพระขันทกุมารจึงต้องคิดเรื่องให้พระขันทกุมารผู้มีหกเศียรกลายเป็นเทพผู้มีเศียรเดียว และเรื่องจึงมาต้องกับเรื่องพระคเณศเสียเศียรของฮินดู

หนังสือนารายณ์สิบปางเล่าเรื่องพระขันทกุมารเสียเศียรไว้ว่า “จึ่งนางเทพอัปสรองค์หนึ่งเป็นข้าเฝ้านางพระสุรัสวดี ปราศจากธรรมคติ แห่งจารีตเทพอัปสรทั้งหลาย ก็จุติลงมาเกิดเป็นช้างน้ำชื่ออสุรภังคี ได้เป็นใหญ่กว่าอมนุษย์ทั้งหลาย อสุรภังคีนั้นมีจิตหยาบช้านักเที่ยวเบียดเบียนตรีโลกทั้งหลายให้ได้ความรับความเดือดร้อน ทราบไปถึงพระอิศวรเป็นเจ้าจึ่งทรงพระดำริจะให้พระขันทกุมารไปปราบ แต่จะโสกันต์เสียก่อน” แล้วพระอิศวรก็ให้ประชุมเทวดาและนักสิทธิวิทยาธรทั้งหลายให้พร้อมกัน ณ เขาไกรลาส เมื่อถึงวันมงคล เทวดาทั้งหลายก็มาพร้อมกันหมด เว้นแต่พระนารายณ์องค์เดียวเผอิญบรรทมหลับสนิทอยู่ที่เกษียรสมุทรและไม่มีใครกล้าปลุกด้วย พระอิศวรเห็นจวนจะถึงฤกษ์ตัดเกษาพระขันทกุมาร จึงให้พระอินทร์ไปเป่าสังข์ปลุกพระนารายณ์ พระนารายณ์กำลังบรรทมหลับสนิทแว่วเสียงมหาสังข์พิไชยยุทธของพระอินทร์จึงลืมเนตรขึ้น เห็นพระอินทร์ก็ตรัสถามว่า โลกทั้งหลายเป็นอย่างไร พระอินทร์ตอบว่าพระอิศวรให้มาปลุกบรรทมพระนารายณ์ไปตัดเกษาพระขันทกุมารในเวลานี้ทีเดียว พระนารายณ์กำลังงัวเงียอยู่จึงพลั้งปากว่า “ลูกหัวหายจะนอนหลับให้สบายก็ไม่ได้” แล้วมากันพระอินทร์ เพราะวาจาศักดิ์สิทธิ์ของพระนารายณ์เศียรทั้งหกของพระขันทกุมารจึงหายไปหมด  พระอิศวรต้องให้พระวิษณุกรรม ไปตัดศีรษะมนุษย์ตายแล้วมาต่อ พระวิษณุกรรมจึงได้เศียรช้างมาต่อแทนเศียรพระขันทกุมาร “พระเป็นเจ้าทั้งสามจึงพร้อมกันเปลี่ยนพระนามให้ เรียกว่า พระมหาวิฆเนศ”

อาจเป็นได้ว่าเรื่องพระคเณศเสียเศียรและกลายเป็นพระคเณศเศียรช้างของไทยนั้น ได้อิทธิพลจากเรื่องของฮินดูว่าพระคเณศเสียเศียรเพราะถูกพระเสาร์มอง พรหมไววรรตะปุราณะเล่าไว้ว่า

เมื่อพระอุมาบำเพ็ญตบะจนได้โอรสแล้ว ก็จัดงานฉลองใหญ่โต เทวดาทั้งหลายพากันมาแสดงความยินดีด้วยทั่วหน้า แต่ที่แปลกกว่าเขาอื่นคือพระเสาร์ แม้จะอยากดูโอรสพระอิศวรพระอุมาเท่าไรก็ไม่กล้ามอง  เพราะถูกชายาของตนสาปไว้เมื่อพระเสาร์มัวแต่บำเพ็ญตบะจนไม่สนใจนางว่า ขอให้สายตาของพระเสาร์ทำลายใครก็ตามที่พระเสาร์มอง แต่พระอุมารบเร้าให้พระเสาร์มองพระคเณศจนได้ พระเสาร์ให้พระธรรมะหรือพระยมเป็นพยานแล้วจึงมอง พอมองปุบเศียรพระคเณศก็หลุดจากร่างปับและลอยไปสู่สวรรค์ของพระนารายณ์ พระอุมาโกรธแค้นมากคร่ำครวญต่าง ๆ นานา จนพระนารายณ์ต้องเอาหัวช้างมาต่อแทนเศียรพระคเณศเดิมให้ พระคเณศเลยมีเศียรช้างแต่นั้นมา

แม้ทั้งพระเสาร์และพระนารายณ์จะไม่ได้ปองร้ายหรือมุ่งร้ายต่อโอรสพระอิศวรและพระอุมาแต่สายตาอัปมงคลของพระเสาร์และคำพูดอัปมงคลของพระนารายณ์ก็ทำให้เกิดผลร้าย จะเห็นว่าเรื่องของไทยได้แสดงลักษณะเฉพาะด้วย คือการเล่นคำ คำสบถ “ลูกหัวหาย” ของพระนารายณ์ กลายเป็นคำสาปทำให้เศียรพระขันทกุมารขาด

คือพระขันทกุมาร?

พระโกญจนาเนศวร

ครั้งหนึ่งไทยอาจเคยรู้ว่าพระอิศวรมีโอรสสององค์ ดังมีหลักฐานทางวรรณคดีปรากฎอยู่ในหนังสือนารายณ์สิบปางตอนกำเนิดศิวบุตรพิฆเนศวร ครั้งนั้นพระอิศวรมีเทวโองการให้พระเพลิงสร้างโอรสขึ้นสององค์ องค์หนึ่งคือศิวบุตรวิฆเนศวร อีกองค์หนึ่งคือ โกญจนาเนศวร

โกญจนาเนศวรไม่ได้มีหกเศียร สิบสองกรเหมือนพระขันทกุมาร แต่มีเศียรเป็นช้างเหมือนพระพิฆเนศวร

นารายณ์สิบปางเล่ากำเนิดพระโกญจนาเนศวรไว้ว่าเมื่อพระเพลิงสร้างพระพิฆเนศวรขึ้นทางด้านขวาแล้ว “เบื้องซ้ายเกิดเป็นเทวกุมารองค์หนึ่ง มีพักตร์เป็นช้างสามพักตร์ มีพระกรหกพระกร กรหนึ่งเกิดเป็นช้างเผือกผู้มีเศียร ๓๓ เศียร ๔ บาท ชื่อคิรีเมฆละไตรดายุค ช้างทั้งสองนี้คือเทพยดานฤมิตด้วยอำนาจเทวฤทธิ์ พระเป็นเจ้าทั้ง ๓ ประสมพรไว้ให้สำหรับเป็นพาหนะของสมเด็จอมรินทราธิราช แลกรอีกสองกรเกิดเป็นช้างเผือกซึ่งจะอุบัติในโลกสำหรับได้เป็นพาหนะของกษัตรริย์อันมีอภินิหารอีกข้างละสามช้าง คือ เผือกเอ เผือกโท เผือกตรี สามตระกูลเหมือนกันทั้งซ้ายขวาข้างละสามช้าง แต่เบื้องซ้ายเป็นช้างพัง เบื้องขวาเป็นช้างพลาย อีกสองกรนั้นเกิดเป็นสังข์ทักขิณาวัฏเบื้องขวาสังข์อุตราวัฏเบื้องซ้าย ยืนอยู่เหนือกระพองศีรษะทั้ง ๗ เศียร พระเป็นเจ้าทั้งสามจึงให้นามว่าโกญจนาเนศวรศิวบุตร”

แม้พระโกญจนาเนศวรจะไม่มีลักษณะเหมือนพระขันทกุมารเลยจนไม่อาจสรุปได้แน่นอนว่าเป็นเทพองค์เดียวกับพระขันทกุมารแต่อาจกล่าวได้ว่าตำนานพระโกญจนาเนศวรได้รับอิทธิพลจากเรื่องพระขันทกุมารของฮินดู

คำว่า “โกญจนาเนศวร” น่าจะมาจากคำสันสกฤตว่า “เกราญจนาเนศวร” (เกราญจอานน-อีศวร) แปลว่า “ผู้เป็นใหญ่เหนือแผ่นพักตร์แห่งเกราญจะ” และคงหมายถึงพระขันทกุมารนั่นเอง

แม้ว่าคำนี้จะไม่ปรากฎใช้เป็นสมญาของพระขันทกุมารในเทพนิยายฮินดูเลยก็ตาม สมญานี้ของพระขันทกุมารอาจมีที่มาจากเทพนิยายของเทพองค์นี้กับภูเขาชื่อเกราญจะก็เป็นได้

เรื่องในมหาภารตะมีว่า “ครั้งหนึ่ง เมื่อพวกเทวดาทำสงครามกับอสูร พวกอสูรได้ไปซ่อนอยู่ในภูเขาเกราญจะ พระขันทกุมารแม่ทัพพวกเทวดาต้องการจะทำลายล้างพวกอสูรให้สิ้นจึงได้เอาหอกแทงภูเขาเกราญจะจนราบเป็นหน้ากลอง”  ส่วนในวามนปุราณะมีเรื่องเล่าว่าครั้งหนึ่งพระขันทกุมารกับพระอินทร์เถียงกันว่าใครมีฤทธิ์ยิ่งกว่ากัน เมื่อตกลงกันไม่ได้ จึงวิ่งรอบเขาเกราญจะเพื่อพิสูจน์ฤทธิ์ของแต่ละฝ่าย พระขันทกุมารวิ่งชนะ แต่ภูเขาเกราญจะลำเอียงตัดสินให้พระอินทร์ชนะ พระขันทกุมารแค้นใจมากจึงพุ่งหอกทำลายภูเขาเกราญจะเสียราบ  อาจเป็นได้ว่าไทยเคยรู้เรื่องเทพนิยายตอนี้และอาจได้ศัพท์โกญจนาเนศวรจากเรื่องนี้ก็ได้

นอกจากนั้นเรื่องกำเนิดช้างสำคัญและสังข์ศักดิ์สิทธิ์จากมือพระโกญจนาเนศวรก็อาจได้มาจากเรื่องพระขันทกุมารแสดงกำลังของเทพนิยายฮินดู ในมหาภารตะมีเรื่องเล่าว่าเมื่อพระขันทกุมารเกิดนั้นมีรัศมีเรืองรองจากตัวดังพระอาทิตย์ขึ้นท่ามกลางหมู่เมฆสีแดง พระขันทกุมารถือธนูที่พระอศวรใช้ปราบอสูรตรีปุระแล้วคำรามก้องทั่วตรีโลก ทำให้เกิดความหวั่นไหวหวาดหวั่นกันไปทั่ว ช้างสำคัญทั้งสองคือจิตระและเอราวัณตกใจกลัวจนตัวสั่น พระขันทกุมารเห็นช้างทั้งสองตัวสั่นจะทรงกายไว้ไม่ได้จึงจับช้างทั้งสองด้วยกรทั้งสอง ทรงนกยูงและหอกไว้ในอีกสองกร พระขันทกุมารก็เล่นล้อหลอกไปมาพร้อมกับส่งเสียงดังสนั่น และเป่าสังข์ศักดิ์สิทธิ์ที่ทรงไว้ในกรอีกสองกร เป่าดังจนแม้สัตว์มีกำลังมากในจักรวาลยังตระหนกตกใจกลัว

ถ้าไทยได้เห็นรูปวาดเหตุการณ์ตอนนี้จากมหาภารตะอาจเข้าใจผิดได้ว่าช้างสำคัญทั้งสองและสังข์ศักดิ์สิทธิ์กำลังเกิดจากฝ่ามือพระขันทกุมารดังในเรื่องของไทย

ไทยคงเคยรู้ว่าพระอิศวรมีโอรสสององค์คือพระคเณศและพระขันทกุมาร และคงเคยรู้เรื่องเทพนิยายต่าง ๆ เกี่ยวกับโอรสทั้งสองของพระอิศวรด้วย ต่อมาเกิดเข้าใจผิดว่าพระคเณศและพระขันทกุมารเป็นเทพองค์เดียวกันจึงโอนชื่อพระขันทกุมารไปให้พระคเณศคิดชื่อใหม่ให้โอรสองค์รองของพระอิศวร พร้อมทั้งโอนลักษณะสำคัญไปให้คือ ให้มีเศียรเป็นช้างเหมือนพระคเณศด้วย

ในสมัยอยุธยาและสมัยต้นรัตนโกสินทร์ พระคเณศได้รับนับถือจากไทยว่าเป็นเทพแห่งช้างดังความในลิลิตยวนพ่ายว่า “การช้างพิฆเณศน้าว ปูนปาน ท่านนา” และในนารายณ์สิบปางที่ยกมาแล้ว  แต่ไม่มีหลักฐานว่าไทยนับถือพระคเณศเป็นเทพแห่งความสำเร็จผู้ทำลายอุปสรรคในการประกอบพิธีทั้งปวง

นอกจากนั้นยังไม่มีหลักฐานว่าไทยอัญเชิญเทพองค์นี้ให้มาประสาทพรในการแต่งคำประพันธ์ใด ๆ ด้วย

อาจเป็นได้ว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะไทยเข้าใจผิดว่าพระคเณศเป็นเทพองค์เดียวกับพระขันทกุมารเทพแห่งศิลปศาสตร์สงครามนั่นเอง

พระคเณศพึ่งได้รับการนับถือจากไทยว่าเป็นเทพผู้ประสาทความสำเร็จโดยเฉพาะในการประกอบการศิลปะต่าง ๆ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนี่เอง  สมัยนี้เป็นสมัยที่การศึกษาการตวิทยาแนวตะวันตกรุ่งเรือง เพราะพระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงริเริ่มและแนะนำการศึกษาวิชาสาขานี้เอง ในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ได้ทรงจัดตั้งวรรณคดีสโมสรขึ้นและได้โปรดให้คิดประดิษฐ์ดวงตราพระคเณศขึ้นใช้เป็นตราประจำสโมสรนี้

นี่เป็นครั้งแรกที่พระคเณศมีความสัมพันธ์เกี่ยวกับศิลปะด้วย นอกจากจะเกี่ยวกับช้างอย่างเดียวดังแต่ก่อน

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ กรมศิลปากรได้ดำเนินตามรอยพระบาทพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยการประกาศใช้ดวงตราพระคเณศเป็นตราประจำกรม ดวงตราพระคเณศนี้เป็นรูปพระคเณศอยู่ตรงกลางล้อมรอบด้วยแก้วเจ็ดดวงซึ่งหมายถึง ปฏิมากรรม จิตรกรรม ดนตรี นาฏยศาสตร์ วาทศิลป์ สถาปัตยกรรม และวรรณคดี ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ถึงสมัยนี้พระคเณศได้รับนับถือว่าเป็นเทพแห่งความสำเร็จในการประกอบศิลปะแขนงต่าง ๆ อย่างสมบูรณ์และตั้งแต่สมัยนั้นเป็นต้นมาไทยนับถือพระคเณศเป็นเทพแห่งศิลปะมากกว่าเป็นเทพแห่งช้าง

นอกจากนั้นในสมัยนี้กวียังแยกออกด้วยว่าพระคเณศเป็นเทพคนละองค์กับพระขันทกุมาร ดังความในฉันท์กล่อมพระเศวตวชิรพาหะ ของหลวงธรรมาถิมนฑ์(ถึก) ว่า

นบสิทธิบดีเทวา        คชภักตร์ภูษา

ภรณ์พรรณสดแสดแสง

กรกระลึงบาศขอคชสาร            เหิรอาศน์ชวดชาญ

เชี่ยวศิลปวิทย์วุฒิไกร

อิกองค์กรรติเกย์ยเทวไท

เพียงจันทร์ผ่องเพ็ญพิมล           หกภักตร์ประไพ

และความนิยมพระขันทกุมารก็เสื่อมไป จนเทพองค์นี้ไม่มีบทบาทอะไร ไม่ว่าจะในวงการใด ๆ

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *