หนังตะลุงมากจากไหน?

ภิญโญ  ศรีจำลอง

ภิญโญ  ศรีจำลอง: ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการหอวชิราวุธานุสรณ์ กรมศิลปากร เริ่มมีชื่อเสียงจากการเขียนกลอน ต่อมาเขียนหนังสือทุกประเภท ทั้งเรื่องยาว เรื่องสั้น เรื่องตลก และบทความทางวิชาการ นอกจากจะได้รับยกย่องให้เป็น “ปฏิภาณกวี” คนหนึ่งแล้ว เขายังร่วมแต่งกาพย์เห่เรือเนื่องในโอกาสสมโภช 200 ปี กรุงรัตนโกสินทร์

หนังตะลุงเป็นการละเล่นหรือมหรสพพื้นบ้านประเภทหนึ่งของไทย ที่ยืนยงคงทนอยู่มาได้จนกระทั่งทุกวันนี้

ไม่ว่าสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองหรือศิลปวัฒนธรรมจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัยอย่างไร หนังตะลุงก็สามารถประยุกต์ตนเองให้กลมกลืนอยู่ในสภาพการณ์นั้น ๆ ได้ตลอดมา ผิดกับศิลปะและวัฒนธรรมอื่นๆ อีกหลายประเภทของคนไทยทุกภาคที่สูญหายไปแล้ว เพราะไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมและค่านิยมของประชาชนซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามยุคต่าง ๆ ได้

กำเนิดดั้งเดิมของหนังตะลุง

นักวิชาการหลายท่านกล่าวว่าการละเล่นในทำนองเดียวกันกับหนังตะลุงมีมาแล้วในบรรดาเผ่าชนสมัยโบราณทั่วโลกและยังคงมีอยู่ในปัจจุบันนี้

ชาติที่มีการเล่นประเภทหนังตะลุงอันหมายถึงการเล่นเงาของภาพใช้ไฟส่องให้ปรากฎบนจอ (Shadow Play) มีชาติจีน มาเลย์ ชวา และที่ไม่น่าเชื่อก็คือ การเล่นประเภทนี้มีอยู่ในหมู่ประชาชนของยุโรป เช่น พวกรีก และพวกยุโรป แถบแหลมบอลข่าน เป็นต้น

ในประเทศไทยหนังตะลุงปรากฎอยู่ทุกภาคทั้งใต้-กลาง-และเหนือ จึงยากที่จะชี้ชัดลงไปว่าหนังตะลุงมีแหล่งกำเนิดดั้งเดิม ณ สถานที่ใดกันแน่

หนังตะลุงภาคใต้

การแสดงหนังตะลุงเท่าที่ปรากฎอยู่ในประเทศไทยปัจจุบันนี้ ทางภาคกลางยังมีการแสดงหนังตะลุงอยู่หลายจังหวัดมีมากที่จังหวัดเพชรบุรี และราชบุรี แต่ส่วนมากเป็นการแสดงชั่วครั้งชั่วคราวเช่นในงานศพเท่านั้น

ทางภาคอีสานมีการแสดงหนังตะลุงในรูปแบบที่เรียกว่า “หนังปราโมทัย” แต่ไม่สู้แพร่หลายนัก

หนังตะลุงที่แสดงกันอยู่ประจำสม่ำเสมอนั้นเป็นหนังตะลุงของชาวภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป โดยเฉพาะในจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ตรัง เหล่านี้เป็นมหรสพพื้นบ้านที่แพร่หลายไม่แพ้ภาพยนตร์หรือดนตรี ซึ่งแพร่หลายอยู่ในทุกส่วนของประเทศไทยทุกวันนี้

ดังนั้น การพูดถึงหนังตะลุงจึงมุ่งไปสู่หนังตะลุงของปักษ์ใต้เป็นหลักใหญ่

วิธีการและขอบเขตการแสดงของหนังตะลุงภาคใต้

คณะหนังตะลุงแต่ละคณะประกอบด้วยผู้เล่นหนังคือ “นายหนัง” เป็นหัวหน้ามีคนเล่นดนตรีเรียกว่า “ลูกคู่” คนแบกหามสัมภาระและเด็กรับใช้ในคณะ ในปัจจุบันอาจมีเพิ่มขึ้นเป็นคนขับรถ ช่างไฟคุมด้านแสงเสียง พนักงานบัญชี และอื่น ๆ เพราะคณะหนังตะลุงเด่น ๆ ประกอบอาชีพการแสดงเป็นงานธุรกิจกันมานานแล้ว

นายหนังตะลุงหลายรายประสบความสำเร็จในอาชีพอย่างสูงจนกลายเป็นเศรษฐี

มีอยู่คนหนึ่งได้รับเลือกเป็น ส.ส.ในปัจจุบันนี้ ชื่อนายพร้อม  บุญฤทธิ์ เป็น ส.ส. จังหวัดพัทลุง สังกัดพรรคประชาธิปัตย์

อุปกรณ์หนังตะลุง มีตัวหนังซึ่งสลักจากหนังสัตว์ แต่เดิมคล้ายกับหนังใหญ่แต่ขนาดย่อมกว่ามาก คือ มีพระ นาง ยักษ์ เทวดา ผิดกันตรงหนังตะลุงมีตัวตลกมากมาย

ปัจจุบันนี้มีรูปหนังแต่งกายตามสมัยนิยม และรูปเบ็ดเตล็ดเป็นอันมากที่เป็นไปตามยุคสมัย เช่น อาจมีรูปรถยนตร์ รถถัง เครื่องบิน ดาวเทียม หรือจรวด

อุปกรณ์ที่สำคัญยิ่งอีกประเภทหนึ่งสำหรับลูกคู่ ก็คือเครื่องดนตรี แต่เดิมมีโหม่ง 1 คู่ ทับ 1 คู่ กลองทัดและปีชวา ลูกคู่แต่ละคนจะต้องชำนาญในการเล่นเครื่องดนตรีนั้น ๆ

ในปัจจุบันนี้บางคณะอาจมีกลองแบบที่ใช้กันในวงดนตรีสากล ทรัมเป็ต แซ็กโซโฟน ไวโอลิน ตลอดจนเครื่องกระจับปีสีซอต่าง ๆ

ขอบเขตของการแสดงซึ่งจะขอกล่าวอย่างย่นย่อสำหรับสารคดีเรื่องนี้  เพราะมุ่งจะกล่าวถึงตำนานหนังตะลุงเป็นหลัก นายหนังจะเป็นผู้แสดงคนเดียวทั้งการเชิดรูปหนัง พากย์กลอน และเจรจาการแสดงในครั้งหนึ่ง ๆ เป็นการแสดงนิทานหรือนิยาย แต่เดิมเป็นเรื่องคล้ายวรรณคดี จักร ๆ วงศ์ ๆ หรือชาดกในปัจจุบันมีทั้งนวนิยายสมัยใหม่ นวนิยายสะท้อนสังคมหรือการเมืองก็มี

วิธีการดำเนินการแสดงหนังตะลุงโดยพิสดารนั้น โปรดสังเกตจากการอ่านเรื่องสั้นชุดนายหนังตะลุงพริ้งพระอภัย  ซึ่งข้าพเจ้าแต่งไว้ ในปัจจุบันมีอยู่เรื่องหนึ่งชื่อ “แข่งหนังตะลุง” เป็นแบบเรียนวรรณคดีไทย ชั้น ม.3 และรวมเรื่องสั้นหนังตะลุง 15 เรื่อง เป็นหนังสือเล่มชื่อ “พริ้งพระอภัย กรีดเลือดตะลุง”

ข้อถกเถียงเรื่องที่มาของหนังตะลุง

หนังตะลุงโดยเฉพาะหนังตะลุงภาคใต้มาจากไหน เป็นปัญหาใหญ่ที่มีผู้ถกเถียงกันมาไม่สิ้นสุด พอจะแยกประเด็นสำคัญออกได้เป็น 3 ฝ่าย คือ

1.  เป็นการละเล่นมหรสพดั้งเดิมของเผ่าชนในภาคใต้ยุคโบราณ อย่างที่ปรากฎตามตำนานและประวัติศาสตร์ว่าดินแดนไทยทางใต้เคยเป็นที่ตั้งอาณาจักรศรีวิชัย-ตามพรลิงค์-เคยมีราชวงศ์กษัตริย์ไศเลนทร์-ปทุมวงศ์ เหล่านี้ปกครอง แต่หลักฐานกล่าวถึงเรื่องเหล่านี้ยังคลุมเครือไม่แน่ชัด ยังต้องอาศัยการค้นคว้าสอบสวนอยู่อีกเป็นอันมาก ดังนั้นจึงไม่มีทางใดที่จะสามารถสอบไปถึงว่าสมัยนั้นมีการละเล่น ศิลปวัฒนธรรมใด ๆ เช่น หนังตะลุง ว่ามีอยู่จริงหรือไม่ จึงขอตัดประเด็นนี้ออกไป

2.  ได้รับอิทธิพลจากชวาและมลายู เรื่องนี้มีหลักฐานของผู้เห็นด้วยอยู่หลายอย่างจะขอนำมาอภิปรายไว้ตามสมควร

3.  ได้รับอิทธิพลจากการเล่นหนังของสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น ข้อนี้ก็มีเหตุผลอยู่มาก จะนำมาอภิปรายเช่นเดียวกับข้อ 2

คนไทยใต้ได้รับอิทธิพลการเล่นหนังตะลุงมาจากชวามลายูจริงหรือ

การเล่นหนังตะลุงปรากฎว่ามีอยู่ในเผ่าชนชวา และมลายูโบราณมาจนกระทั้งทุกวันนี้หนังตะลุงเรียกเป็นภาษาของพวกเผ่าพันธุ์นั้นว่า “วายัง” และ “วายังกุลิต” คนไทยเชื้อสายมลายูในสี่จังหวัดปักษ์ใต้ทุกวันนี้ยังมีการเล่น “วายัง” กันอยู่ เขาเรียกการเล่นหนังตะลุงแบบไทยภาคใต้ว่า “วายังเซียม”

ส่วนเรื่องที่ว่าคนไทยจะได้รับอิทธิพลการเล่นหนังตะลุงมาจากคนเผ่าพันธุ์นี้หรือไม่นั้นเป็นเรื่องน่าสงสัย เพราะวายังแตกต่างกับ “หนังตะลุงภาคใต้”

ในด้านจุดมุ่งหมายและเนื้อหาวายังของเขาเป็นเรื่องเกี่ยวกับไสยศาสตร์-วิญญาณ-ภูตผี ใช้ตัวหนังเป็นพวกรูปร่างน่าเกลียดน่ากลัวทั้งหมด ไม่มีรูปหนังสวยงามอย่างของไทยเรา

มีหลักฐานว่าการแสดงวายังแบบชวามลายูเข้ามาเผยแพร่ถึงกรุงเทพฯ ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เพราะคำอ้างอิงในบมกลอนของสุนทรภู่ถึงเรื่องนี้ปรากฎอยู่ในเรื่อง “รำพันพิลาป”

และยังมีเรื่องน่าคิดอยู่อีกด้านหนึ่งคือ เรื่องไทยเราได้รับอิทธิพลทางวรรณคดีเรื่อง “อิเหนา” มาจากชวาและมลายูดังมีตำนานบ่งว่า หญิงมลายูชาวปัตตานีชื่อ “ยะโว” ผู้รอบรู้พงศาวดารชวาเรื่องอิเหนาได้มาเป็นพระพี่เลี้ยงของเจ้าฟ้าหญิงมงกุฎและกุณฑลสมัยอยุธยาตอนปลายเป็นผู้เล่าเรื่องนี้ถวายฟ้าหญิงทั้งสองพระองค์ทรงนำเอาเค้าเรื่องอิเหนามาทรงพระนิพนธ์บทละครอิเหนาขึ้นเป็นครั้งแรกเป็นที่นิยมแพร่หลายในสมัยนั้นแล้วสูญหายไปเมื่อครั้งเสียกรุง และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงนำเค้าเรื่อง “อิเหนาใหญ่” มาทรงพระราชนิพนธ์เป็นบทละครเรื่อง “ดาหลัง”

เรื่อง “ดาหลัง” นี่เองทำให้ต้องพิจารณาว่าไทยเราได้รับอิทธิพลเรื่องหนังตะลุงมาจากชวาหรือมลายูบ้างหรือไม่ เพราะคำว่า “ดาหลัง” แปลว่า “นายหนัง” หรือ “นักเชิดหนังตะลุง” และอิเหนาพระเอกในเรื่องดาหลังนี้เป็นนายหนังตะลุงท่องเที่ยวผจญภัยด้วยการเล่นหนังตะลุงอยู่แทบตลอดเรื่อง

ในการสอบสวนเรื่องอิเหนาในชั้นหลัง เราได้หลักฐานเรื่องอิเหนาจากชวาและมลายูหลายสำนวน ได้รวมพิมพ์ไว้ในหนังสือชื่อ “พงศาวดารอิเหนา ฉบับอารีนครา” ปรากฎว่าพงศาวดารเรื่องอิเหนาเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องแต่งขึ้นเพื่อใช้เล่นหนังตะลุง

อย่างไรก็ตามที่มาของหนังตะลุงภาคใต้ตามแนวที่ว่านี้ ยังจะต้องค้นคว้าสอบสวนกันอีกมาก

ไทยภาคใต้ได้รับอิทธิพลจากหนังใหญ่สมัยศรีอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น

การเล่นหนังใหญ่หรือ “หนัง” เป็นมหรสพเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้นอย่างแน่นอน เราหาข้อความอ้างอิงเรื่องนี้ได้จากวรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้โดยทั่วไป เช่น จากพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนาของรัชกาลที่ 2

“ครั้นราตรีมีหนังประชันเชิด

ฉลุฉลักลายเลิศเลขา

ปล่อยลิงหัวค่ำทำศักดา

แล้วพากย์เจรจาว่าเรื่องราว”

จากประมวลเรื่องราวเกี่ยวกับหนังใหญ่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นบ่งบอกว่ามีการเล่นเรื่องรามเกียรติ์เป็นพื้น ไม่ปรากฎว่ามีการเล่นเรื่องอื่น รูปหนังใหญ่ที่ตกทอดมาถึงยุคนี้ก็เป็นหลักฐานที่เด่นชัด

แต่ในสมัยอยุธยาน่าจะมีการเล่นหนังเรื่องอื่นอีก นอกเหนือไปจากเรื่องรามเกียรติ์ ดังมีหลักฐานจากคำนำเรื่องตอนหนึ่งใน “สมุทรโฆษคำฉันท์”

“พระรำลึกยศพระศาสดา

ปางเป็นราชา

สมุทรโฆษอาดูร

เสด็จเสวยสุรโลกพิบูล

เสด็จเสด็จมาพูล

ในมรรตทรงธรณี

แสดงศิลปธนูศรศรี

ผจญคณกษัตรีย์

อันโรมในรณควรถวิล

ได้ไท้เทพีชื่อพิณ-

ทุมวดีเจียรจิน-

ตโฉมอนงคพิมล

พระให้กล่าวกาพย์นิพนธ์

จำนองโดยกล

กระการเพรงยศพระ

ให้ฉลักแสบกภาพอันชระ

เป็นบรรพบุรณะ

นเรนทรราชบรรหาร

ให้ทวยนักคนชำนาญ

เชิดเล่นโดยการ-

ยเป็นบำเทิงธรณี”

แสดงว่าเรื่อง “สมุทรโฆษคำฉันท์” เรื่องนี้ แต่งขึ้นเพื่อเล่นหนัง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วอนิรุธคำฉันทร์ เสือโคคำฉันท์ ซึ่งมีเนื้อหาคล้ายกันและแต่งในสมัยใกล้เคียงกันจะมีจุดประสงค์ในการแต่งคล้ายกันได้หรือไม่

การที่จะอ้างอิงว่าหนังตะลุงภาคใต้ได้รับอิทธิพลแบบอย่างมาจากหนังใหญ่ดูจะเป็นเรื่องน่าเชื่อถือกว่าเหตุผลอื่น ๆ แม้จะยังหาเหตุผลสรุปได้ไม่ชัดเจนนักก็ตาม

เพราะมีหลักฐานจากคำกาพย์เก่า ๆว่าหนังตะลุงภาคใต้สมัยรัชกาลที่ 4-5 เล่นเรื่องรามเกียรติ์  แต่จะมีผู้แย้งว่าหนังตะลุงภาคใต้ในระยะก่อนเก่าหรือแม้แต่ปัจจุบันมีวิธีพากย์บรรยายเป็น “กลอน” ไม่ใช่กาพย์ หรือร่ายหรือฉันท์แบบหนังใหญ่

วรรณคดีสมัยอยุธยาตอนปลายที่เป็นกลอนกลบทเรื่องหนึ่งคือเรื่อง “สิริวิบูลกิจ” หรือ “ยศกิจ” เป็นแม่แบบในการพากย์กลอนหนังตะลุงครั้งดั้งเดิมของนานหนังตะลุงชาวเมืองนครศรีธรรมราช เราจึงควรสืบค้นว่ากลบทเรื่องนี้แต่งขึ้นเพื่ออะไร และผู้แต่ง คือ หลวงศรีปรีชา(เซ่ง)นั้นเป็นคนครั้งไหน ชาวภาคใด มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับหนังตะลุงภาคใต้ดั้งเดิมอย่างไรหรือไม่

ถึงแม้ว่าจะยังไม่อาจหาข้อยุติได้ว่าหนังตะลุงภาคใต้มาจากแหล่งเกิดอันใดกันแน่ก็ตาม สิ่งที่เราคนไทยยุคปัจจุบันจะต้องชื่นชมอย่างยิ่งก็คือ หนังตะลุงภาคใต้เป็นการละเล่นอันเป็นมหรสพพื้นบ้านประเภทเดียวที่เป็นศิลปวัฒนธรรมเก่าแก่ที่ยังหลงเหลือมามีอิทธิพลรับใช้คนไทยจำนวนมากอยู่ในยุคปัจจุบัน