เจดีย์ยุทธหัตถีมีจริงหรือ?

Socail Like & Share

เจดีย์ยุทธหัตถีมีจริงหรือ?

พิเศษ  เจียจันทร์พงษ์

พิเศษ  เจียจันทร์พงษ์  อายุ ๓๗ ปี เป็นชาวอุตรดิตถ์ ได้รับปริญญาตรีทางโบราณคดี  จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร  เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐  แล้วเข้ารับราชการเป็นนักโบราณคดีประจำกรมศิลปากรเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๗ ครั้นเมื่อเจดีย์พระธาตุพนมล้ม  เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘  จึงได้รับมอบหมายจากกรมศิลปากรให้เป็นนักโบราณคดี  ไปควบคุมการบูรณะปฏิสังขรณ์ด้วย

รบกันแน่แต่ได้สร้างเจดีย์

มีเอกสารทางประวัติศาสตร์อยู่ ๔ ฉบับที่สนับสนุนข้อสงสัยดังกล่าวแล้วของผู้เขียนคือ

พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์  ซึ่งเป็นพงศาวดารที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดให้นักปราชญ์ในราชสำนักเรียบเรียงขึ้นจากเอกสารต่าง ๆ ในหอหลวง

พระราชพงศาวดารฉบับนี้กล่าวถึงแต่สถานที่ ๆ สมเด็จพระนเรศวรทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะพระมหาอุปราชา  แต่พงศาวดารก็มิได้กล่าวว่า พระองค์ได้ทรงสร้างเจดีย์ไว้ที่นั่น

อย่างไรก็ตาม การที่พงศาวดารฉบับนี้เพียงฉบับเดียวมิได้กล่าวถึงและถึงแม้ว่าจะเป็นพงศาวดารฉบับที่มีความโดยทั่วไปน่าเชื่อถือมากที่สุดก็ตาม  ก็มิได้เป็นข้อพิสูจน์อย่างเพียงพอว่า  จะไม่มีเจดีย์ยุทธหัตถีแต่อาจเป็นเพราะสาเหตุอื่น ๆ ได้ นานัปการ นับตั้งแต่เป็นเพราะผู้เรียบเรียงลืมจดลงไป…หรือเพราะเขาไม่เห็นความสำคัญที่จะจดลงไปก็ได้  จึงจำเป็นที่จะต้องหาเอกสารอื่นมาสนับสนุนเพิ่มเติม

คำให้การชาวกรุงเก่าและคำให้การขุนหลวงหาวัด  เอกสารสองฉบับนี้  ถึงแม้ว่าโดยทั่วไปจะมีความเลอะเลือนและแปรปรวนมาก  แต่ในด้านที่จะแสดงให้เห็นถึงความรู้เกี่ยวกับเจดีย์ยุทธหัตถีของ่ชาวกรุงศรีอยุธยาในสมัยเสียกรุงครั้งที่สองนั้น  การนำเอกสารสองฉบับนี้มาอ้างอิงก็มีความเหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง

เอกสารทั้งสองฉบับได้เล่าเรื่องการทำยุทธหัตถีของกษัตริย์ทั้งสองพระองค์โดยพิสดาร  และจบลงด้วยพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์และบอกเครื่องหมายตามธรรมชาติที่มีอยู่ในสถานที่ ๆ กระทำยุทธหัตถีนั้นแสดงให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่า เรื่องราวการต่อสู้ของวีรบุรุษในครั้งนั้นได้ติดตรึงอยู่ในความทรงจำของคนไทยมาเป็นเวลานานจนถึงเวลาเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองใน พ.ศ. ๒๓๑๐ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ห่างกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถึง ๑๗๖ ปี

แต่ก็น่าแปลกใจที่เอกสารทั้งสองฉบับมิได้กล่าวถึงเรื่องการสร้างเจดีย์ยุทธหัตถีไว้ด้วยเลย  ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องราวที่ต่อเนื่องกัน

หนังสือนิทานโบราณคดี  พระนิพนธ์ของสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ได้กล่าวเรื่องราวตอนที่พระยาสุพรรณบุรี (อี่  กรรณสูต) ไปพบเจดีย์สร้าง  ซึ่งสมเด็จกรม ฯ พระยาดำรงราชานุภาพทรงเข้าพระทัยว่า

“….พระยาสุพรรณ ฯ ได้ออกไปที่ตำบลนั้น  สืบถามถึงพระเจดีย์โบราณ  พวกชาวบ้านบอกว่ามีอยู่ในป่าตรงที่เรียกว่า “ดอนพระเจดีย์” องค์หนึ่ง พระยาสุพรรณ ฯ ถามต่อไปว่า เป็นพระเจดีย์ของใครสร้างไว้  รู้หรือไม่  พวกชาวบ้านตอบว่าไม่รู้ว่าใครสร้าง  เป็นแต่ผู้หลักผู้ใหญ่บอกเล่าสืบมาว่า “พระนเรศวร ฯ กับพระมหาอุปราชาชนช้างกันที่ตรงนั้น”

เมื่อพิจารณาความตอนนี้ให้ดีจะเห็นว่าในสมัยรัตนโกสินทร์นี้เช่นกันที่คนไทยยังมีความทรงจำเรื่องการกระทำยุทธหัตถีในครั้งนั้นได้เป็นอย่างดี  แต่หากว่าไม่มีความรู้เรื่องเจดีย์ยุทธหัตถีเลย

กล่าวโดยสรุป  จากเอกสารต่างสมัยกันทั้ง ๔ ฉบับ แสดงให้เห็นเป็นอย่างดีว่าคนไทย ในสมัยต่าง ๆ คือสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมัยเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ และสมัยตอนต้นของรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์  ซึ่งในแต่ละช่วงเกือบ ๒๐๐ ปีนี้เรื่องราวการทำยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรและพระมหาอุปราชายังติดตรึงอยู่ในความทรงจำของคนไทยและชอบที่จะเล่าเรื่องราวนั้นมาโดยตลอด  แต่ขณะเดียวกัน เรื่องเจดีย์ยุทธหัตถีก็กลับไม่อยู่ในความทรงจำของเขาเลย ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องราวที่ต่อเนื่องกันและมีพยานในทางสถานที่อยู่ด้วย  แต่ก็กลับลืมเสียไม่รู้จัก  นับเป็นเหตุผลที่พอเพียงทีเดียวที่จะกล่าวว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะในความเป็นจริงนั้นสมเด็จพระนเรศวรไม่เคยที่จะทรงสร้างเจดีย์ยุทธหัตถีไว้ ณ ที่ใดเลย

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *