พิธีชาตาเมืองในสมัยโบราณ

พิธีชาตาเมืองในสมัยโบราณ

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า  พิธีสืบชาตานี้ได้เกิดมีมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว  การสืบชาตาดังกล่าวก็เพื่อจะทำให้เกิดเป็นสิริมงคลเพื่อให้ชาติบ้านเมืองประสพแต่ความสุขความเจริญรุ่งเรืองอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร เพราะความเชื่อถือในเทวอารักษ์  ซึ่งอยู่เบื้องบน  จะเป็นผู้ช่วยอำนวยสิ่งต่าง ๆ ให้ตามที่ใจปรารถนาในเมื่อได้ทำการอย่างถูกต้องตามลัทธิผีสางเทวดา ได้วางไว้

ในการทำพิธีสืบชาตาเมืองนี้มีปรากฎในปั๊มหนังสา(สมุดข่อย) ซึ่งได้จ๋าร (จารึก) ไว้ด้วยตั๋วเมือง (อักขระพื้นเมืองโบราณว่ากันว่าเป็นภาษาไทยยวนซึ่งเป็นต้นตระกูลของ “คนเมือง” (คนพื้นเมือง) โบราณ

“ปั๊มหนังสา” หรือสมุดข่อย เล่มนั้น ได้จารึกถึงการสืบชาตาเมืองในสมัยของพระเจ้าเมืองแก้ว  ซึ่งเป็นกษัตริย์ลานนาไทย รัชกาลที่ ๑๓ สมัยราชวงศ์เม็งราย  ซึ่งขึ้นครองราชสมบัติในราว พ.ศ. ๒๐๓๘ ถึง พ.ศ. ๒๐๖๘ ว่า

ก่อนที่จะมีการทำพิธี ก็ได้มีการจัดเตรียมสิ่งของ ซึ่งเป็นเครื่องบูชา พระเสื้อบ้าน เสื้อเมือง คือ ผีบ้าน ผีเมือง และได้แต่งตั้งหัวหน้าผู้ประกอบและจัดทำพิธีดังกล่าวนั้นเรียบร้อยแล้ว

การสืบชาตาบ้าน  หรือสืบชะตาบ้านหรือสบใจต๋าบ้านนี้บรรดาชาวบ้านทุก ๆ คนเขาจะมาช่วยกัน ประกอบประเพณีดังกล่าว และถือว่าศักดิ์สิทธิ์นี้ตั้งแต่เริ่มต้น จนกระทั่งสำเร็จเรียบร้อยทุกประการทีเดียว โดยแยกย้ายกันไปช่วยกันทำคนละอย่าง สองอย่าง ตามความรู้ ความสามารถของตนเอง ซึ่งเป็นที่น่านิยมนับถือและน่าสรรเสริญน้ำใจ และในความสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเป็นอย่างยิ่ง

 

เครื่องดนตรีพื้นเมืองมังคละ

กลองมังคละโบราณเป็นดนตรีพื้นเมืองที่ปรากฎว่าเล่นกันในท้องถิ่น จังหวัดพิษณุโลกเท่านั้น จะเป็นดนตรีไทยเดิมหรือได้มาจากมอญก็ยังไม่มีใครสืบประวัติได้  วิทยาลัยครูพิบูลสงคราม จังหวัดพิษณุโลก  ได้ส่งนักศึกษาออกไปพัฒนาชนบทในโครงการฝึกหัดครูชนบท  เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘ และอาจารย์วิชานาฎศิลปดนตรีของวิทยาลัย(อนงค์  นาคสวัสดิ์)  ได้สนใจทำการค้นคว้าฟื้นฟูขึ้นโดยจัดให้มีการรำในเทศกาลตรุษสงกรานต์ขึ้นชุดหนึ่ง เรียก รำมังคละ มีผู้เล่นเป็นชาย ๘ คน หญิง ๘ คน รำทำท่าเกี้ยวพาราสีกันหลาย ๆ แบบ ทำให้เป็นที่สนุกครื้นเครงยิ่ง และเป็นการอนุรักษ์ ส่งเสริมและเผยแพร่ดนตรีมังคละ ซึ่งจังหวัดพิษณุโลกถือว่าเป็นดนตรีพื้นเมืองของจังหวัดอีกด้วย

จากการค้นคว้าของอาจารย์นาฏศิลป์ของวิทยาลัย  ในขณะนั้นได้พบข้อมูลจากหนังสือจดหมาย ระยะทางไปพิษณุโลก  พระนิพนธ์สมเด็จเจ้าฟ้านริศรานุวัติวงศ์ตอนหนึ่งตรัสถึงกลองมังคละว่า

“พอกินเข้าแล้ว พระยาเทพามาบอกว่า มังคละมาแล้ว ลืมเล่าถึงมังคละไป คือวันเมื่อพักอยู่ที่ไทรโรงโซน ได้ยินเสียงไกล ๆ เป็นกลองตีเป็นเพลง  แต่จะสังเกตว่าเป็นอะไรไม่ได้ รุ่งขึ้นกำลังเดินเรือมาตามทาง  ได้ยินอีกหนหนึ่ง ที่นี้ใกล้เขาแห่นาคกันอยู่ริมตลิ่ง  แต่ไม่แลเห็นว่าอะไรเพราะพงบังเสีย  นึกเอาว่าเถิดเทิง เพราะได้ยินฆ้องแลกลองโครม ๆ แต่ก็ผิดกว่าเถิดเทิงเลวอยู่มาก ก็นึกเสียว่าเถิดเทิงบ้านนอกมันคงลักขูอยู่เอง ครั้นมาจอดที่วัดสกัดน้ำมันได้ยินอีกไกลไกลจึงได้ถามท่านสมภารว่าอะไร  ท่านสมภารอธิบายว่าปี่พาทย์ชนิดหนึ่ง เรียกว่า มังคละพระยาเทพาอยู่ที่นั้นด้วย ก็เลยอธิบายว่าเป็นกลองคล้ายสองหน้า มีฆ้องมีปี่ ปี่พาทย์ชนิดนี้เล่นไม่ว่าการมงคลเลการอัปมงคล  หากันวันกับคืนหนึ่ง เป็นเงิน ๗ ตำลึง จึงได้ขอให้พระยาเทพาเขาเรียกมาตีให้ฟัง เมื่อเขาจัดมาแล้วเขาจึงมาบอก ได้ขึ้นไปดูมังคละ ทีแรกตีเพลงนมยานกทกแป้งฤาอะไรแป้ง จำไม่ได้ถนัดที่เขาบอกเครื่องมังคละนี้ เป็นเครื่องเบญจดุริยางแท้ มีกลองเล็กรูปเหมือนเถิดเทิงแต่สั้นขึงหนังหน้าเดียวมีไม้ตียาว ๆ (ที่หมาย๑) ตรงกับ “วาตต” ใบหนึ่งมีกลองขึงสองหน้าเหมือนกลองมลายู เป็นตัวผู้ใบหนึ่ง ตรงกับ “วิตตํ” เป็นตัวเมียใบหนึ่ง ตรงกับ “อาตตวิตตํ” มีไม้ตีตรงตรง (ที่หมาย ๒) กลองสามใบนี้ ต้องหุ้มผ้าดอกเหลือไว้แต่หน้า  เพราะว่าฝีมือขึ้นแลฝีมือทำหุ่นดูไม่ได้  แลมีปี่คันหนึ่งตัวเป็นทำนองปี่จีน  ลิ้นเป็นปี่ชวาตรงกับ “สุสิรํ” มีฆ้องแขวนราว ๓ ใบ เสียงต่าง ๆ กันตรงกับ “ฆนํ” เสียงเพลงนั้นเหมือนกลองมลายู เข้ากับกลองเล่าโต๊ว ไม่น่าฟัง แปลว่าหนวกหู เพลงปี่ก็ไม่อ่อนหวานเป็นทำนองลูกเล่นอะไรอันหนึ่ง ฆ้องก็ตีพร้อมกันโครม ๆ แปลว่ากึกก้องมากกว่า เพราะลองให้ตีดู ๒ เพลง หนวกหูเต็มที เลยให้อัฐไล่มันไปบ้านแล้วกลับลงมานอน”….

นอกจากนี้ยังมีเครื่องดนตรีพื้นเมืองโบราณที่เล่นกันในท้องถิ่นไทยอยู่อีกบ้างบางชนิดมีลักษณะหยาบ ๆ ทำจากไม้ซาง ไม้ไผ่ ทำเสียงสูงต่ำได้ไม่มาก  บางขึ้นก็ทำได้เสียงเดียว จะขอนำมากล่าวโดยย่อจากหนังสือเรื่องตำนานเครื่องมโหฬี ปี่พาทย์ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศืเธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ไว้เป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ ดังนี้

เครื่องดนตรีที่ทำด้วย ไม้ซาง มีลักษณะคล้าย ๆ กัน ๔ ชนิดคือ

๑.  เรไร เรไรมีลักษณะเป็นไม้ซางต่อกับเต้าเป่า  เป่าได้เพียงเสียงเดียว(เคยใช้เป็นเครื่องประโคม เวลาพระลงอุโบสถที่วัดบวรนิเวศมาแต่ก่อน แต่ในพื้นเมืองเขาจะใช้เพื่อกิจกันใดมาแต่เดิมไม่ทราบ)

๒.  เต้ง มีลักษณะคล้ายเรไร แต่เป็นไม้ซางยาว ๆ สามอันเรียงกันต่อกับเต้าเป่าพวกแม้วยังเล่นเข้ากับการฟ้อนรำทางเมืองชายพระราชอาณาเขตภาคเหนือ

๓.  นอ มีลักษณะเหมือน “เต้ง” แต่เต้าเป่ากลมป้อน  มีก้านสั้นกว่าเต้ง มีไม้ซาง ซึ่งสั้นกว่าของเต้งเรียงชนิด ๆกัน ๓ อัน ต่อกับเต้าเป่า

๔.  จ้องหน่อง เป็นเครื่องดนตรีที่ไทยเราชอบเล่นกันมาแต่โบราณ แต่จะเป็นแบบของชาติไทยมาแต่เดิมหรือได้มาแต่ประเทศอื่นข้อนี้สงสัยอยู่ ลักษณะของจ้องหน่อง เป็นไม้ไผ่เหลาบาง ๆ แล้วแกะเป็นลิ้นให้กระเทือนได้ด้วย เอามือดีดหรือผูกเชือกกะตุก  ผู้เล่นเอาปากอมตรงที่ลิ้น เอามือดีดที่หัวหรือกระตุกเชือกและทำอุ้งปากให้เกิดเสียงกังวาลเป็นเสียงต่ำ  ทำเป็นลำนำได้ เป็นเครื่องสำหรับเล่นคนเดียว เล่ากันมาว่า สำหรับเจ้าบ่าวไปเกี้ยวเจ้าสาว  โดยดีดที่นอกบ้านให้สัญญาณแก่สาว ปัจจุบันไม่มีใครเล่นได้แล้ว

หนังสืออุเทศก์

ดำรงราชานุภาพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ

กรมพระยา ตำนานเครื่องมโหรีปี่พาทย์

พ.ศ. ๒๔๘๒

ธนิต  อยู่โพธิ์  เครื่องดนตรีไทย  พ.ศ. ๒๕๑๐

๘๙ หน้า

สุดใจ  ทศพร  ดนตรีประถมศึกษา พ.ศ. ๒๕๑๒

เครื่องดนตรีประเภทเครื่องสี

เครื่องสายอีกประเภทหนึ่งที่ทำให้เกิดเสียงด้วยใช้คันชักสีเข้ากับสาย เราเรียกเครื่องสายประเภทนี้ด้วยคำในภาษาไทยว่า “ซอ”

ซอสามสาย

ซอสามสายของไทย  มีชื่อและลักษณะพ้องกับซามิเส็น SAMISEN ของญี่ปุ่น และสานเสี่ยน SAM HSIEN ของจีน  ซึ่งมีสาย ๓ สายเหมือนกัน ตัวกะโหลกซอทำด้วยกะลามะพร้าวชนิดที่มีกะลานูนเป็นกระพุ้งออกมา ๓ ปุ่มคล้ายวงแหวน ๓ อันวางอยู่ในรูป ๓ เหลี่ยมจึงเป็น ๓ เส้า ผ่ากะลาให้เหลือปุ่ม ๓ เส้านั้นไว้ใช้เป็นกะโหลกซอ ขึงหนังแพะหรือหนังลูกวัวปิดปากกะลาขนาดของซอเล็กใหญ่สุดแต่กะลาที่จะหาได้มีคันซอหรือทวนทำด้วยไม้แก่นหรือบางอันก็ประกอบงา ยาวประมาณ ๑.๒๑ เมตร สอดเข้าไปในกะโหลกซอเหลือเป็นทวนตอนบนราว ๗๑.๕ ซม. และลอดลงมาเป็นทวนตอนล่าง ๒๕.๕ ซม.  ทวนบนและทวนล่างเจาะเป็นโพรงร้อยเอ็นเข้าไปข้างในทวนล่าง ๓ สาย ขึ้นสายผ่านหน้ากะโหลกซอที่ขึ้นหนังไว้ ขึ้นไปเกือบปลายทวนบน แล้วร้อยสายเอ็นทั้ง ๓ เข้าไปในข้างใน มีลูกบิดผูกสายสอดเข้าไปในทวนตอนบน ๓ อัน ไทยเราคงจะนิยมใช้กันมาอย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยสุโขทัย เช่น มีกล่าวถึง “สีซอ” ในหนังสือ ไตรภูมิพระร่วง ของ พระมหาธรรมราชา แห่งกรุงสุโขทัย ต่อมาก็มีกล่าวถึงในกฎมนเทียรบาล ซอสามสายเป็นเครื่องดนตีที่เล่นยาก แต่นิยมกันว่าไพเราะและสอดประสานเข้ากับเสียงขับร้องของนักร้องไทยได้สนิทสนมเป็นอันดี พระบาทสมเด็ดพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงโปรดปรานมาก

ซออู้

ซออู้  เป็นซอสองสาย ตัวกะโหลกซอทำด้วยกะลามะพร้าวเหมือนกัน แต่ใช้กะลามะพร้าวชนิดกลมรี ตัดปากกะลาออกเสียด้านหนึ่งแล้วใช้หนังแพะหรือหนังลูกวัวขึงขึ้นหน้า  กว้างประมาณ ๑๓-๑๔ ซม.  เจาะกะโหลกทะลุตรงกลาง ๒ ข้าง สอดคันทวนเข้าไปในรูบนผ่านกะโหลกโผล่ออกรูล่างใต้กะโหลก ทวนนั้นทำด้วยไม้จริง  เช่น ไม้แก้ว หรือด้วยงาตัน ขนาดยาวประมาณ ๗๙ ซม. ใช้สายเอ็น ๒ สาย ผูกที่ปลายทวนใต้กะโหลกแล้วพาดมาทางหน้าขึ้นหนังผ่านขึ้นไปผูกไว้กับปลายลูกบิด ๒ อัน สอดก้านเข้าไปในทวนยื่นทะลุออกมาทางด้านหน้า  เอาเชือกผูกรั้งสายกับทวนตรงกลางค่อนขึ้นไปเพื่อให้สายตึงเรียกว่า “รัดอก” มีคันสีหรือคันชักทำด้วยไม้จริงหรือด้วยงา ยาวประมาณ ๗๐ ซม. ใช้ขนหางม้าประมาณ ๑๖๐-๒๐๐ เส้น สำหรับขึ้นสายคันชัก สำหรับสีกับสายซอให้เกิดเสียงซอชนิดนี้ทั้งกะโหลกและทวนบางคันก็แกะสลักลวดลายวิจิตรบรรจงสวยงามน่าดู ซออู้ใช้บรรเลงร่วมวงในวงเครื่องสาย และในวงมโหรี

ซอด้วง

ซอด้วง  เป็นซอสองสายเหมือนกันทั้งทวนและคันชักคงทำอย่างเดียวกับซออู้ แต่ย่อมกว่าและสั้นกว่าเล็กน้อย คือทวนซอด้วง ยาวประมาณ ๗๒ ซม. คันชักยาวประมาณ ๖๘ ซม. และใช้ขนหางม้า

สะล้อ

สะล้อ  เป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองของทางภาคเหนือ เป็นเครื่องสายใช้สีมีคันชักเช่นเดียวกับซออู้และซอด้วง แต่ทำกันไม่สู้ประณีต  คันทวนยาวโดยปรกติก็ราว ๖๔ ซม.  มีสายขึงด้วยเส้นลวด ๒ สาย ลูกบิดมี ๒ อัน เจาะรูเสียบทะแยงเข้าไปในสะล้อใช้เล่นผสมวงกับซึง และปี่ซอ  ประกอบบทขับร้องเพลงพื้นเมือง

 

เครื่องดนตรีประเภท:เครื่องดีด

เครื่องดนตรีประเภท:เครื่องดีด

เครื่องสายมีกะโหลกเสียง  และใช้นิ้วมือหรือไม้ดีด  ดีดสายให้สั่นสะเทือนเกิดเสียงเป็นเครื่องดนตรีประเภทหนึ่ง ซึ่งนักประวัติศาสตร์ยืนยันว่ามีกำเนิดขึ้นในตะวันออกก่อน  เครื่องสายที่ใช้ดีดเหล่านี้เราเรียกตามคำบาลีและสันสกฤตว่า”พีณ” พีณโบราณที่เรียกว่า พีณน้ำเต้าที่มีกล่าวถึงพีนไว้ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง สมัยสุโขทัย

พีณน้ำเต้า

พีณน้ำเต้า  เป็นพีณสายเดียว คงจะเป็นของพราหมณ์ทำขึ้นเล่นกันมาก่อนยังมีเพลงร้องเพลงหนึ่งชื่อว่า “พราหมณ์ดีดน้ำเต้า” พีณชนิดนี้ชาวอินเดียคงจะนำมาเล่นแพร่หลายอยู่ในดินแดนแหลมอินโดจีนนี้ก่อน และขอมโบราณ  หรือมอญเขมร  ได้รับช่วงไว้ก่อนที่ชนชาวไทยจะอพยพลงมา  ที่เรียกชื่อว่า พีณน้ำเต้า  เพราะเอาเปลือกผลน้ำเต้ามาตัดครึ่งลูก แล้วเอาทางจุกหรือทางขั้วไว้เจาะตรึงติดกับไม้คันพีณ  ซึ่งเรียกว่า “ทวน” เพื่ออุ้มเสียงให้เกิดกังวาน

วิธีเล่นพีณน้ำเต้า ผู้เล่นจะต้องไม่สวมเสื้อ ใช้มือซ้ายจับทวนแล้วเอากะโหลกพีณประกบติดกับเนื้อตรงอกเบื้องซ้ายของผู้เล่น  ใช้มือขวาดีดสายผู้เล่นที่ชำนาญจะขยับกะโหลกน้ำเต้าเปิดปิดอยู่ตรงทรวงอก  เพื่อให้เกิดเสียงก้องกังวานตามต้องการ  และใช้นิ้วมือซ้ายช่วยกดหรือเผยอเพื่อให้สายดึงหรือหย่อนดีดประสานกับเสียงขับร้องของผู้เล่นเอง

พีณเพียะ

พีณเพียะ  หรือพีณเปี๊ยะ หรือบางทีก็เรียกแต่ว่า เพียะหรือ เปี๊ยะ มีกล่าวถึงในพงศาวดารลานช้าง เป็นทำนองว่า พระมหากษัตริย์ของชนชาวไทยในสมัยโบราณเมื่อครั้งยังตั้งอาณาจักรไทยอยู่ในประเทศจีนตอนใต้  ได้ส่งนักดนตรีนักกลอน และครูละครฟ้อนรำ  ลงมาฝึกสอนคนไทยด้วยกัน  ซึ่งอพยพแยกย้ายกันลงมาตั้งอาณาจักรไทยอยู่ในแหลมอินโดจีน และได้ส่งครูมาสอนให้รู้จักทำและรู้จักเล่นพีณเพียะด้วย  มีกล่าวถึงในกาพย์ขับไม้เรื่องพระรถเสน เรียกว่า “พีณเพลีย” ในหนังสือนิรุทธคำฉันท์  จะเรียก พีณเพียะว่า “เพยีย” เช่น “จำเรียงสานเสียง ประอรประเวียง กรกรีดเพยียทอง เต่งติงเพลงพิณ ปี่แคนทรลอง สำหรับลบอง ลเบง เฉ่งฉันทร์”  แต่ในโคลงกำศรวลศรีปราชญ์ เรียกไว้ว่า “เพลี้ย” เช่นที่ว่า

สายาเข้าคว้าเล่น หลายกล

เดอรดีดเพลี้ยพาล รยกชู

พีณเพียะ  ลักษณะคล้ายพีณน้ำเต้า แต่พีณเพียะทำเพิ่มขึ้นเป็น ๒ สาย และ ๔ สายก็มี  กะโหลกก็ทำด้วยเปลือก ลูกน้ำเต้าตัดครึ่งลูกก็มี ทำด้วยกะลามะพร้าวก็มี  เวลาดีดก็เอากะโหลกประกบติดไว้กับหน้าอกขยับเปิดปิด  เพื่อให้เกิดเสียงก้องกังวานตามต้องการ เช่นเดียวกับดีดพีณน้ำเต้า ตามที่ปรากฎในท้องถิ่นภาคเหนือ  ผู้เล่นมักจะดีดคลอขับร้องของตนเอง

กระจับปี่

กระจับปี่ ก็คือพีณ ๔ สายชนิดหนึ่งนั่นเอง  ตัวกะโหลกกระจับปี่ทำแบนทั้งด้านหน้าและหลังอย่างตัว GUITAR แต่รูปกลมรี หนาประมาณ ๗ ซม.  ด้านยาวของกะโหลกประมาณ ๔๔ ซม. ด้านกว้างประมาณ ๔๐ ซม.  ทำคันหรือทวนเรียวยาว ตอนปลายทวนทำแบนและบานปลายแบะผายออกไป  มีลิ่มสลักเป็นลูกบิดสำหรับขึ้นสาย  ๔ อัน สาย ๔ เส้นนั้นใช้สามเอ็น  มีตะพานหรือนมรับนิ้วสำหรับกดสาย ๑๑ อัน ตรงกะโหลกด้านหน้าทำแผ่นไม้บาง ๆ ค้ำสายให้ตุงออก แผ่นไม้บาง ๆ นี้เรียกว่า “หย่อง” เวลาเล่นใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้จับไม้ดีดเขี่ยสายให้สั่นสะเทือนเกิดเสียง  ไม้ดีดนั้นทำด้วยเขา ด้วยกระดูกสัตว์ หรือ กระ

“กระจับปี่” ว่ากันว่า เพี้ยนมาจากา “กัจฉปิ”  ซึ่งเป็นคำชวา และว่า “กัจฉปิ” ก็เพี้ยนมาอีกต่อหนึ่งจากคำในภาษาบาลีและสันสกฤตว่า “กัจฉปะ” ซึ่งแปลว่า เต่า

ซึง

ซึง เป็นเครื่องดีดมี ๔ สาย รวมทั้งคันทวนและกะโหลกยาวประมาณ ๘๑ ซม. กะโหลกกลม ตัวกะโหลกและคันทวนของซึงมักทำด้วยไม้แก่นเนื้อแข็งชิ้นเดียวกัน ขุดคว้านตอนที่เป็นกะโหลกให้เป็นโพรง และใช้ไม้ตัดกลมเจาะรูกลางแผ่นทำเป็นฝาปิดด้านหน้า เพื่ออุ้มเสียงให้เกิดกังวาน  คันทวนทำเป็นเหลี่ยมด้านหน้าแบน ตอนปลายทำโค้งและขุดให้เป็นร่อง เจาะรูสอดลูกบิดข้างละ ๒ อัน รวม ๔ อัน สายทั้ง ๔ สาย นี้ใช้เส้นลวดขนาดเล็ก ๒ สาย ใหญ่ ๒ สาย มีหย่องสำหรับหนุนสายตรงกลางกะโหลกด้านหน้า และมีตะพานหรือนมรับนิ้ว ๙ อัน

ซึง  เป็นเครื่องดีด ที่ชาวไทยในภาคเหนือของประเทศไทย  นิยมใช้ถือแนบหน้าอกด้วยมือซ้าย และมือขวาถือไม้ดีดซึ่งทำด้วยเขาหรือกระดูกสัตว์ดีดใช้ดีดเดี่ยวและใช้บรรเลงร่วมกับปี่ซอ

จะเข้ เป็นเครื่องดีด เข้าใจว่าแก้ไขมาจากพีณ  ทำให้วางราบไปตามพื้น รูปร่างอย่างจระเข้ ขุดให้กลวงเป็นโพรงข้างในเพื่อช่วยให้เกิดเสียงก้องกังวาน  ตัวจะเข้ทำเป็น ๒ ตอน ตอนตัวและหัวเป็นกระพุ้งใหญ่ทำด้วยไม้แก่นขนุน ยาวประมาณ ๕๒ ซม. กว้างประมาณ ๒๙ ซม. ตอนหางยาวประมาณ ๗๘-๘๐ ซม. กว้างประมาณ ๑๑.๕ ซม. รวมทั้งท่อนหัวและท่อนหางยาวประมาณ ๑๓๐-๑๓๒ ซม. มีแผ่นไม้ปิดท้องเบื้องล่าง จะเข้ตัวหนึ่งมีเท่ารองตอนตัว ๔ และปลายหาง ๑ สูงจากปลายเท้าวางพื้นถึงหลังประมาณ ๑๙ ซม. ทำหลังนูนกลาง สองข้างลาดลง ขึ้นสายโยงเรียดไปตามหลังตัวจะเข้จากทางหัวไปทางหางสามสาย สาย ๑ ใช้เส้นลวดทองเหลือง อีก ๒ สายเป็นสายเอ็น

มีลูกบิดประจำสาย ๆ ละ ๑ อัน สำหรับเร่งเสียง มี “หย่อง” รับสายทางหาง ใช้ดีดด้วยไม้ดีดกลมปลายแหลมทำด้วยกระดูกสัตว์หรือด้วยงา  ยาวประมาณ ๕-๖ ซม. เครียนด้วยเส้นด้ายติดกับปลายนิ้วชี้ของผู้ดีด

ไทยเราเห็นจะรู้จักเล่นจะเข้มานานไม่น้อยกว่าสมัยแรกาตั้งกรุงศรีอยุธยาจึงมีกล่าวถึงในกฎมนเทียรบาลครั้งกรุงศรีอยุธยา  แต่ปรากฎว่า เพิ่งนำเข้าผสมวงเครื่องสายและวงมโหรีเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง

เครื่องดนตีประเภท:เครื่องเป่า

เครื่องเป่า

ขลุ่ย

ขลุ่ย  คงจะเป็นเครื่องเป่าดั้งเดิมของไทยคิดทำขึ้นเอง  แต่รูปร่างไปเหมือนกับ “มุราลี” ของอินเดีย  ขลุ่ยของเราทำด้วยไม้รวกปล้องยาว ๆ ไว้ข้อทางปลายแต่เจาะทะลุข้อและใช้ไฟย่างให้แห้งตบแต่งผิวให้ไหม้เกรียมเป็นลวดลายสวยงาม  ด้านหน้าเจาะรูกลม ๆ เรียงแถวกัน ๗ รู  สำหรับนิ้วปิดเปิดเพื่อเปลี่ยนเสียง ตรงที่ใช้เป่าไม่มีลิ้นอย่างลิ้นปี่  เขาทำไม้อุดเต็มปล้องแต่ปาดด้านล่างไว้ ด้านหนึ่งให้มีช่องไม้อุดนั้นเรียกกันว่า “ดาก” ด้านหลังใต้ดากลงมาปากตอนล่างเป็นทางเฉียง  ไม่เจาะทะลุตรงเหมือนด้านข้างและด้านหน้า รูนี้เรียกว่า “รูปากนกแก้ว” ใต้รูปากนกแก้วลงมาเจาะรูอีก ๑ รู เรียกว่า “รูนิ้วค้ำ” เพราะเวลาเป่า  ต้องเอานิ้วหัวแม่มือค้ำปิดเปิดที่รูนั้น  เหนือรูนิ้วค้ำเบื้องหลังและเหนือรูบนของ ๗ รูด้านหน้าแต่ อยู่ทางด้านขวาเจาะรูอีกรูหนึ่งเรียกว่า “รูเยื่อ” เพราะโดยปรกติ แต่ก่อนใช้เยื่อในปล้องไม้ไผ่ ปิดรูนั้น ทางปลายเลาของขลุ่ย มีรูอีก ๔ รู เจาะตรงกันข้าม แต่เหลื่อมกันเล็กน้อย รูหน้ากับรูหลังตรงกันแต่อยู่สูงขึ้นมานิดหน่อย รูขวารูซ้ายเจาะตรงกันอยู่ใต้ลงไปเล็กน้อย  รูขวากับรูซ้ายนี้ โดยปรกติใช้ร้อยเชือกสำหรับแขวนเก็บหรือคล้องมือถือ  จึงเลยเรียกกันว่า “รูร้อยเชือก” รวมทั้งหมดขลุ่ยเลาหนึ่งมี ๑๔ รูด้วยกัน

ขลุ่ย  นอกจากเป่าเล่นเป็นการบันเทิงแล้ว  ยังใช้เป่าร่วมในวงเครื่องสายและวงมโหรีกับในวงปี่พาทย์  ไม้นวมและวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์อีกด้วย

ขลุ่ยมี ๓ ชนิด คือ

ก.  ขลุ่ยหลีบ

ข.  ขลุ่ยเพียงออ

ค. ขลุ่ยอู้

ปี่

ปี่  เห็นจะเป็นเครื่องดนตรีของไทยแท้  ชาวไทยเรารู้จักประดิษฐ์ขึ้นใช้มาแต่ก่อนเก่า  เพราะวิธีเป่าและลักษณะการเจาะรู  ไม่เหมือนหรือซ้ำแบบกับเครื่องเป่าของชาติใด ๆ ตามปรกติทำด้วยไม้แก่นหรือไม้จริง เช่น ไม้ชิงชัน และไม้พะยุง  กลึงให้เป็นรูปบานหัวบานท้ายและตรงกลางป่องเจาะภายในกลวงตลอดเวลา  ทางหัวที่ใส่ลิ้นเป็นช่องรูเล็ก ทางปลายปากรูใหญ่ตอนหัวและตอนท้ายนี้เขาเอาชันหรือวัตถุอย่างอื่นมาหล่อเสริมขึ้นอีกราวข้างละครึ่ง ซม. เรียกว่า “ทวน” ทางหัวเรียกว่า “ทวนบน” และทางท้ายเรียกว่า “ทวนล่าง”  ตอนป่องกลางนั้นเจาะรูนิ้วสำหรับเปลี่ยนเสียงเรียงลงมาตามข้างเลาปี่ ๖ รู คือ รูตอนบนเจาะเรียงลงมา ๔ รู แล้วเว้นระยะเล็กน้อยเจาะรูล่างอีก ๒ รู  ตอนกลางเลาตรงป่องกลางมักกลึงขวั้นเป็นเกลียวคู่ ๑๔ คู่ไว้ระยะพองามที่รูเป่าตอนทวนบนใส่ลิ้นปี่สำหรับเป่าลิ้นปี่ทำด้วยใบตาลซ้อน ๔ ชั้น  ตัดกลมผูกติดกับท่อลมเล็ก ๆ ซึ่งเรียกว่า “กำพวด” เรียวยาวสัก ๕ ซม. กำพวดนี้ทำด้วยทองเหลือง หรือด้วยเงิน ด้วยนาคหรือโลหะอย่างอื่น

ปี่ชนิดนี้ แต่เดิมคงจะใช้เป่านำวงดนตรีสำหรับบรรเลงประกอบการเล่นหนัง(ใหญ่) ประกอบการแสดงโขนและละครนอก เรียกปี่นอกมีระดับเสียงสูง  ต่อมาเมื่อมีการปรับปรุงละครใน จึงแก้ไขเครื่องดนตรีให้เหมาะสมกับผู้หญิงแสดง เรียก ปี่ใน มีระดับเสียงต่ำ ส่วนปี่ที่ใช้เป่าประกอบการเล่นหนัง (ใหญ่) ซึ่งมีขนาดและสำเนียงอยู่กลางระหว่างปี่นอกกับปี่ในนั้น เรียกว่า “ปี่กลาง”

ปี่อ้อ

ปี่อ้อ เป็นปี่โบราณของไทยอย่างหนึ่ง ตัวปี่(เลา) ทำด้วยไม้รวกปล้องเดียวไม่มีข้อยาวประมาณ ๒๔ ซม. เขียนลวดลายด้วยการลนไฟให้ไหม้เกรียม เฉพาะที่ต้องการหัวท้ายเลี่ยมด้วยทองเหลืองหรือเงินเพื่อป้องกันมิให้แตกเจาะรูสำหรับปิดเปิดนิ้วเรียงตามลำดับด้าน ๗ รู และมีรูนิ้วค้ำด้าน หลัง ๑ รู เช่นเดียวกับขลุ่ย  ลิ้นทำด้วยไม้อ้อลำเล็ก ๆ เป็นเครื่องดนตรีที่ร่วมอยู่ในวงเครื่องสายมาก่อน  ขลุ่ยเพียงออและขลุ่ยหลีบ

ปี่ซอ

ปี่ซอ ทำด้วยลำไม้รวก มีขนาดยาวสั้นและเล็กใหญ่ต่าง ๆ ตามแต่เสียงที่ต้องการสำหรับหนึ่ง ๆ มี ๓ เล่ม, ๕ เล่ม หรือ ๗ เล่ม (เรียก “เล่ม” ไม่เรียก “เลา”) ปี่ซอขนาดเล็กยาวประมาณ ๔๕ ซม. ขนาดอื่น ก็โตขึ้นไป

ปี่ซอที่ใช้ ๓ เล่มนั้น เล่มเล็กเป็นปี่เอก เรียกว่า ปี่ต้อย เล่มต่อไปเรียกว่าปี่กลาง  ส่วนเล่มใหญ่ก็เรียกว่า ปี่ใหญ่  ลักษณะของการเล่นอาจแบ่งออกตามทำนองเพลงได้เป็น ๕ อย่าง คือ ๑. ใช้กับทำนองเชียงใหม่มักใช้ “ซึง” ซึ่งเป็นเครื่องดีดชนิดหนึ่ง บรรเลงร่วมด้วย ๒.  ใช้กับทำนองเพลงเงี้ยว จะใช้ปี่ ๓ เล่มล้วนก็ได้ แต่ตามปรกติเขาใช้ปี่เอก หรือปี่ต้อยเล่นร่วมกับ “ซึง” ตัดปี่กลางกับปี่ใหญ่ออก ๓.  ใช้กับเพลงจ๊อย เป็นเพลงรำพันรักสำหรับไปแอ่วสาวใช้สี “สะล้อ” เข้ากับปี่เล็กคือปี่เอกเป็นเครื่องบรรเลงคลอ นิยมเล่นในตอนค่ำ ๆ เวลามีอากาศสดชื่น พวกชายหนุ่มก็พากันไปตามบ้านที่มีสาว แล้วบรรเลงขับร้องหรือไม่ก็พากันเดิน “จ๊อย” ไปตามทางในละแวกบ้าน เพลงจ๊อยนี้เล่นกันเฉพาะแต่หมู่ผู้ชาย  ผู้หญิงไม่ต้องตอบ ๔. ใช้กับทำนองพระลอเป็นการใช้ประกอบในการขับเรื่องพระลอ โดยเฉพาะอีกแบบหนึ่ง  ถ้ายักย้ายนำไปใช้กับเรื่องอื่นมักขัดข้อง ๕. ใช้กับเพลงทำนองพม่า เช่นมีสร้อยเพลง “เซเลเมา”

ปี่ชนิดนี้ เรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า “ปี่จุม” หรือ ปี่ “พายัพ” ชาวไทยในท้องถิ่นจังหวัดลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ และเชียงราย ซึ่งเป็นภาคพายัพของประเทศไทย  นิยมเล่นกันมาก

แคน

แคน  เป็นเครื่องเป่าของชนชาวไทยนิยมเล่นกันมาแต่โบราณ ทำด้วยไม้ซางลำขนาดสักเท่านิ้วมือ  ใส่ลิ้นตรงกลางลำ  และทำลิ้นแบบเดียวกับลิ้นปี่ซอแล้วเอามาเรียงลำดับผูกติดกันเข้าเป็น ๒ แถว ๆ ละ ๗ ลำ เรียงลำใหญ่ไว้เป็นคู่หน้า ลำย่อมไว้เป็นคู่ถัด ๆ ไปรวม ๗ คู่ แคนเลาหนึ่งก็ใช้ไม้ซาง ๑๔ ลำ ทุกลำเจาะข้อทะลุตลอด และต้องเรียงให้กลางลำ ตรงที่ใส่ลิ้นนั้นอยู่ระดับเดียวกัน  แล้วเอาไม้จริงมาถากเจาะรูสำหรับเป่า เรียกว่า “เต้า” หรือ “เต้านม” เอาลำไม้ซางที่เรียงไว้ ๗ คู่นั้น สอดให้เต้าประกบอยู่ตรงที่ใส่ลิ้นไว้  แล้วเอาชันหรือรังแมงขี้สูด หรือขี้ผึ้ง พอกมีให้ลมที่เป่าออกและสูดเข้ารั่ว

แคนของไทยเราอาจเรียกได้ว่า MOUTH ORGAN มีรูปลักษณะตลอดจนวิธีเป่าคล้ายกับของญี่ปุ่น คือ ใช้อุ้งมือทั้งสองประคองตรงเต้าและใช้นิ้วมือปิดเปิดรูไม้ซาง เอาปากเป่าตรงหัวเต้าที่เจาะรูไว้ ชาวไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และพี่น้องชาวลาวในประเทศลาว นิยมใช้เป่าประกอบการเล่นพื้นเมือง ที่เรียกว่าหมอลำหมอแคน

ปี่ไฉน

ปี่ไฉน ทำเป็น ๒ ท่อน ถอดออกจากกันได้  ท่อนบนเรียวยาวเรียกว่า “เลาปี่” ท่อนล่างบานปลายเรียกว่า “ลำโพง” เมื่อนำมาสวมกันเข้า จะมีรูปร่างเรียวบานปลายคล้ายดอกลำโพง ทำด้วยไม้และงาก็มี ยาวประมาณ ๑๙ ซม. ลิ้นปี่ไฉนก็ทำเหมือนลิ้นปี่ไทย คือมีกำพวดปลายผูกลิ้นใบตาล  ตอนที่สอดใส่ในเลาปี่เคียนด้วยเส้นด้าน  แต่เหนือเส้นด้ายที่เคียนนั้น เขาทำ “กระบังลม” แผ่นกลม ๆ บาง ๆ ด้วยโลหะ หรือกะลาสำหรับรองริมฝีปากเพื่อเวลาเป่าจะได้ไม่เมื่อยปาก

ปี่ไฉนนี้ เข้าใจว่า เราได้แบบอย่างมาจากเครื่องดนตรีของอินเดียพบในหนังสือเก่าของเรา เช่น ในโคลงนิราศหริภุญชัย เรียกเครื่องเป่าชนิดนี้ว่า “สละไนย” และในลิลิตยวนพ่าย เรียกว่า “ทรไน”  ส่วนในไตรภูมิพระร่วงพูดถึง “ปี่ไฉนแก้ว” แสดงว่าเราคงรู้จักและนำมาใช้ตั้งแต่สมัยสุโขทัย หรือก่อนนั้น

ปี่ไฉน ที่ไทยนำเอามาใช้ อาจนำไปใช้ในการประโคมคู่กับแตรสังข์ เช่น เวลาพระมหากษัตริย์เสด็จออกในพระราชพิธีนำไปใช้ในกระบวนแห่ซึ่ง “จ่าปี่” ใช้เป่านำกลองชนะในกระบวนแห่พระบรมศพ และศพเจ้านายคู่กับปี่ชวา

ปี่ชวา

ปี่ชวา  ทำเป็น ๒ ท่อนเหมือนปี่ไฉน รูปร่างลักษณะก็เหมือนปี่ไฉนทุกอย่าง แต่มีขนาดยาว ทำด้วยไม้จริงหรืองา ที่ทำต่างจากปี่ไฉนก็คือตอนบนที่ใส่ลิ้นปี่ ทำให้บานออกเล็กน้อยลักษณะของลิ้นปี่มีขนาดยาวกว่าปี่ชวาเล็กน้อย เรานำเอาปี่ชวามาใช้แต่เมื่อไรไม่อาจทราบได้  แต่คงจะนำมาใช้คราวเดียวกับกลองแขก  และเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น  เช่นมีกล่าวถึงใน “ลิลิตยวนพ่าย” ว่า

สรวญศรัพทคฤโฆษฆ้อง

กล้องไชย

ทุมพ่างแตรสังข์ ชวา

ปี่ห้อ

ซึ่งคงจะหมายถึง ปี่ชวา และปี่ห้อหรือปี่อ้อ  ปี่ชวาใช้คู่กับกลองแขก เช่น เป่า ประกอบการเล่นกระบี่กระบองและประกอบการแสดงละครเรื่องอิเหนาตอน รำกริช และใช้ในวงปี่พาทย์นางหงส์  กับใช้ในวงดนตรีที่เรียกว่าวง “ปี่ชวากลองแขก” หรือ วง “กลองแขกปี่ชวา” วงเครื่องสายปี่ชวา และวง “บัวลอย”  ทั้งนำไปใช้เป่าในกระบวนแห่ ซึ่ง “จ่าปี่” เป่านำกลองชนะในกระบวนพยุหยาตราด้วย

ปี่มอญ

ปี่มอญ ทำเป็น ๒ ทอ่นเหมือนปี่ชวา แต่ขนาดใหญ่กว่าและยาวกว่าคอท่อน “เลาปี่” ทำด้วยไม้จริงกลึงจนเรียว ยาวประมาณ ๕๐ ซม. ตอนใกล้หัวเลาปี่ระยะสัก ๖ ซม. กลึงเป็นลูกคั่น ด้านบนเจาะรูเรียงนิ้ว ๗ รู กับมีรูค้ำ ๑ รูด้วย ส่วนท่อน “ลำโพง” ยาวประมาณ ๒๓ ซม. ทำด้วยทองเหลืองหรือโลหะอย่าง  ช่องปากลำใหญ่กว้าง 10 ซม.  ปี่มอญ ใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์มอญ  หรือ  ที่ ปรากฏในหมายรับสั่ง แต่ก่อนเรียกไว้ว่า “ ปีพาทย์รามัญ ”  และบรรเลงร่วมกับกลองแอว์ บางกรณีด้วย

แตร

แตร  เป็นชื่อที่ใช้เรียกเครื่องเป่าชนิดที่ทำด้วยโลหะทั่ว ๆ ไป แตรที่ใช้ในงานพระราชพิธีของไทยแต่โบราณมามี ๒ ชนิดคือ

ก.  แตรงอน

แตรงอนนี้เข้าใจว่าเราได้แบบอย่างมาจากอินเดีย  เพราะอินเดียมีแตรรูปนี้ใช้สำหรับเป่าเป็นสัญญาณในกระบวนแห่และในงานพระราชพิธี  แตรงอนใช้อยู่ในพระราชพิธีของเราทำด้วยโลหะชุบเงิน  และทำเป็น ๒ ท่อน สวมต่อกัน ท่อนเป่าหลอดเป่าลมโค้งเรียวเล็กยาวประมาณ ๒๒ ซม.  ปากตรงที่เป่าทำบานรับริมฝีปาก วัดผ่านศูนย์กลางราว ๓ ซม. ท่อนลำโพงยาวประมาณ ๒๘ ซม. ปากกว้างราว ๗ ซม. มีเส้นเชือกหรือริบบิ้นผูกโยงท่อนเป่ากับท่อนลำโพงไว้ด้วยกัน

ในหนังสือสมุทรโฆษคำฉันท์เรียกแตรงอนว่า “กาหล”  และใช้ประโคมในกระบวนรบ เช่นกล่าวว่า

กึกก้องด้วยกาหลและสังข์

ขประนังทั้งเภรี

และในหนังสือปุณโณวาทคำฉันท์  ก็เรียกว่า “กาหฬ”  ใช้บรรเลงในขบวนพยุหยาตรา ทางชลมารค เช่นกล่าวว่า

เสด็จดลฉนวนพระอรณพ

ขนานน่าวาสุกรี

แตรสังข์ประโคมดุริยดนตรี

มหรธึกและกาหฬ

ข.  แตรฝรั่ง

แตรฝรั่งนั้น  ในหนังสือกฎมนเทียรบาลโบราณเรียกว่า แตรลงโพง ปรากฎในหมายรับสั่งครั้งรัชกาลที่ ๑ เรียกว่า แตรวิลันดา  คงจะเป็นแตรที่ฝรั่งฮอลันดาเป็นชาติแรก  นำเข้ามาให้เรารู้จัก แตรที่ระบุชื่อไว้ว่า แตรลำโพงก็ดี  แตรฝรั่งก็ดี แตรวิลันดาก็ดี คงหมายถึงแตรอย่างเดียวกันนั่นเอง

สังข์

สังข์  เป็นหอยทะเลชนิดหนึ่งเปลือกขรุขระ  ต้องเอามาขัดให้เกลี้ยงเกลาเสียก่อนแล้วเจาะก้นหอยให้ทะลุ เป็นรูเป่า ไม่มีลิ้น ต้องเป่าด้วยริมฝีปากของตนเอง  ปรากฎว่า ในอินเดียนำมาใช้เป็นเครื่องเป่ากันแต่ดึกดำบรรพ์  และนับถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์

เครื่องหนัง: เครื่องตีที่ทำด้วยหนัง

เครื่องหนัง

กลองทัด

เครื่องตีที่ขึงด้วยหนังแทบทุกชนิดของไทย  ดูเหมือนจะเรียกกันว่า “กลอง” แทบทั้งนี้น กลองที่ชาวไทยทำขึ้นใช้ดั้งเดิมเห็นจะเป็นกลองที่ขึงด้วยหนังสองหน้าตรึงหมุดอย่างที่เรียกกันในบัดนี้ว่า “กลองทัด” ตัวกลองทำด้วยไม้แก่นเนื้อแน่นแข็ง ใช้กลึงคว้านข้างในจนเป็นโพรง  ตรงกลางป่องออกนิดหน่อย  ขึ้นหน้าทั้งสองข้างด้วยหนังวัวหรือหนังควายตึงด้วยหมุดซึ่งเรียกว่า “แส้” ทำด้วยไม้หรือด้วยงา หรือกระดูกสัตว์หรือโลหะ  ตรงกลางหุ่นกลองด้านหนึ่งมีห่วงสำหรับแขวน เรียกกันว่า “หูระวิง”  ซึ่งคงจะเพี้ยนมาจาก “กระวิน” กลองชนิดนี้ คงจะเป็นกลองที่ชนชาวไทยนิยมกันมาแต่โบราณคู่กับ “ฆ้อง(โหม่ง)” สร้างขึ้นใช้ในสถานที่และในโอกาสต่าง ๆ กันด้วย  ขนาดใหญ่ เช่นกลองตามวัดวาอารามและตามปูชนียสถาน  และบางแห่งก็แขวนไว้ บางแห่งก็วางนอนไว้บนขาตั้ง เพื่อให้ตีได้ทั้งสองหน้าที่บัญญัติเรียกชื่อเฉพาะขึ้นไว้สำหรับตีเป็นสัญญาณในการนั้น ๆ ก็มี เช่น ที่บัญญัติชื่อไว้ลงท้ายด้วยคำว่า “เภรี” และที่เรียกไปตามประเภทที่ประกอบการแสดงก็มี เช่น กลองโขน กลองหนังแต่ก็คงเป็นกลองรูปร่างอย่างเดียวกัน “กลองทัด” มีขนาดหน้ากว้าง แต่ละหน้าวัดผ่านศูนย์กลางประมาณ ๔๖ ซม. เท่ากันทั้ง ๒ หน้า ตัวกลองยาวประมาณ ๕๑ ซม. รูปทรงกระทัดรัดพองามเวลาใช้บรรเลงตีเพียงหน้าเดียว หน้าหนึ่งติดข้าวสุกผสมกับขี้เถ้าปิดตรงใจกลาง แล้ววางกลองทางหน้านั้นคว่ำตะแคงขอบไว้บนหมอนหนุน  และมีขาหยั่งสอดค้ำตรงหูระวิง  ให้หน้ากลองอีกข้างหนึ่งตะแคงลาดมาทางผู้ตี  ใช้ตีด้วยท่อนไม้ ๒ อัน ทำด้วยซอไม้รวกยาว ๕๐-๕๔ ซม.  แต่ก่อนปีพาทย์วงหนึ่งก็คงใช้กลองเพียงลูกเดียว  แต่ต่อมาในราวรัชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร์นิยมใช้ ๒ ลูก ลูกหนึ่งเสียงสูงเรียกว่า “ตัวผู้” ตีดังเสียง “ตูม” ลูกหนึ่งเสียงต่ำเรียกว่า “ตัวเมีย” ตีเสียงดัง “ต้อม”

ท่านจะสังเกตเห็นหน้ากลองเกือบทุกชนิด  มักจะมีวงดำตรงกลางและทาขอบกลองเป็นสีดำโดยรอบ  นั่น คือ ทาด้วยยางรัก เพื่อเป็นที่หมายตรงศูนย์กลางและเพื่อรักษาหนัง

กลองชาตรี

กลองชาตรี  รูปร่างลักษณะและการตี  เช่นเดียวกับกลองทัดทุกอย่างแต่ขนาดเล็กกว่ามาก  ใช้บรรเลงร่วมในวงปี่พาทย์ประกอบการแสดงละครชาตรี  ที่เรียกว่าปีพาทย์ชาตรีแต่มีชื่อเรียกตามเสียงอีกอย่างหนึ่งว่า “กลองตุ๊ก” มีหน้ากว้างวัดผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒๐ ซม. ยาวประมาณ ๒๔ ซม. แต่ก่อนคงใช้กลองใบเดียว  แต่ต่อมาในตอนหลังนี้ใช้ ๒ ใบ ในครั้งโบราณมีแพร่หลายในจังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย เดี๋ยวนี้ก็ยังคงมีอยู่

ตะโพน

ตะโพน  ในหนังสือเก่าเรียก “สะโพน” รูปร่างคล้ายมุทิงค์ หรือมัททละของอินเดีย

ตะโพนมอญ

ตะโพนมอญ  เหมือนตะโพนไทยทุกอย่าง แต่ใหญ่กว่า “หน้าแท่ง” วัดผ่านศูนย์กลางประมาณ ๔๒ ซม.

“หน้ามัด” ประมาณ ๓๕ ซม. หุ่นยาวประมาณ ๗๐ ซม. และตรงกลางหุ่นไม้ป่อง  ใช้บรรเลงเพลงมอญ  และใช้ในวงปี่พาทย์มอญ

กลองตะโพน

กลองตะโพน คือ ตะโพน ที่กล่าวมาในแล้ว แต่นำมาตีอย่างกลองทัด  โดยใช้ไม้นวมที่ตีระนาดเป็นไม้ตี  มิได้ใช้ฝ่ามือตีอย่างตะโพน  จึงเรียกกันว่า “กลองตะโพน” สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  ทรงนำมาใช้คราวทรงปรับปรุงวงปี่พาทย์สำหรับ ประกอบการแสดงละครดึกดำบรรพ์ขึ้นเมื่อปลายรัชกาลที่ ๕

โทน หรือ ทับ

โทนหรือทับเป็นเครื่องตีขึงหนังหน้าเดียว มีสายโยงเร่งเสียงจากขอบหนังถึงคอมีหางยื่นออกไป  ตอนปลายบานเป็นดอกลำโพง  โทนที่กล่าวนี้บางทีจะเรียกชื่อกันอีกอย่างหนึ่งว่า “ทับ” จึงเรียกควบคู่กันไปเสียเลยว่า “โทนทับ”

ก.  โทนชาตรี

โทนชาตรี  ตัวโทนทำด้วยไม้ เช่น ไม้ขนุน ไม้สัก หรือไม้กระท้อน ขนาดกว้างประมาณ ๑๗ ซม. ยาวประมาณ ๓๔ ซม. สายโยงเร่งเสียงใช้หนังเรียดตีด้วยมือหนึ่ง ส่วนอีกมือหนึ่งคอยปิดเปิดลำโพง  เพื่อช่วยให้เกิดเสียงต่าง ๆ ตามที่ต้องการ  ใช้ตีร่วมในวงปีพาทย์ชาตรี แต่ก่อนคงใช้ลูกเดียวแต่ต่อมาใช้ ๒ ลูก ตี ๒ คน คนละ ๑ ลูก ใช้ตีประกอบการแสดงละครโนห์ราชาตรีและหนังตะลุงและใช้ตีประกอบจังหวะในวงปี่พาทย์หรือวงเครื่องสาย หรือวงมโหรี ที่เล่นเพลงภาษาเขมรหรือตะลุง

ข.  โทนมโหรี

โทนมโหรี ตัวโทนทำด้วยดินเผาด้านที่ขึ้นหนังโตกว่าโทนชาตรี  ขนาดหน้ากว้างประมาณ ๒๒ ซม. ยาวประมาณ ๓๘ ซม.  สายโยงเร่งเสียงใช้ต้นหวายผ่าเหลาเป็นเส้นเล็กหรือใช้ไหมฟั่นเป็นเกลียว  หนังที่ขึ้นหน้าใช้หนังลูกวัว หนังแพะ หนังงูเหลือม หรือหนังงูงวงช้างตีด้วยมือหนึ่ง และอีกมือหนึ่งทำหน้าที่ปิดเปิดทางลำโพงเช่นเดียวกับโทนชาตรี  ใช้บรรเลงในวงเครื่องสายและวงมโหรี เรียกกันว่า โทนมโหรีใช้ลูกเดียว  แต่ตีขัดสอดสลับคู่กับรำมะนา
โทนทั้งสองชนิดดังกล่าวนี้  ใช้ตีประกอบการเล่นพื้นเมืองของไทยอย่างหนึ่ง ตีประกอบการขับร้องและใช้เป็นจังหวะในการฟ้อนรำ เรียกกันว่า “รำโทน”

รำมะนา

รำมะนา  เป็นกลองขึงหนังหน้าเดียวชนิด Tambourinc ขนาดไล่เลี่ยกันเว้นแต่ไม่มี Jingles หรือฉาบคู่ติดตามขอบ หน้ากลองที่ขึ้นหน้าบานผายออก ตัวกลองสั่น รูปร่างคล้ายชามกะละมัง รำมะนาของเรามี ๒ ชนิด คือ รำมะนามโหรี กับ รำมะนาลำตัด

ก.  รำมะนามโหรี

รำมะนาขนาดเล็ก  หน้ากว้างประมาณ ๒๖ ซม. ตัวรำมะนายาวประมาณ ๗ ซม.  หนังที่ขึ้นตรึงด้วยหมุดโดยรอบจะเร่งหรือลดเสียงให้สูงต่ำไม่ได้ แต่มีเชือกเส้นหนึ่งเรียกกันว่า “สนับ” สำหรับใช้หนุนข้างในโดยรอบของหน้า ช่วยให้เสียงสูงและไพเราะได้  ตีด้วยฝ่ามือใช้บรรเลงร่วมในวงมโหรีและเครื่องสาย เป็นเครื่องตีคู่กันกับโทนมโหรี

ข.  รำมะนาลำตัด

รำมะนาอีกชนิดหนึ่ง เป็นขนาดใหญ่หน้ากว้างประมาณ ๔๘ ซม. ตัวรำมะนายาวประมาณ ๑๓ ซม. ขึ้นหนังหน้าเดียว  ใช้เส้นหวายผ่าซีกโยงระหว่างขอบหน้ากับวงเหล็ก  ซึ่งรองกันใช้เป็นขอบของตัวรำมะนา และใช้ลิ่มหลาย ๆ อันตอกเร่งเสียงระหว่างวงเหล็กกับก้นรำมะนา รำมะนาชนิดนี้แต่เดิมใช้ประกอบการร้องเพลง “บันตน” ในตอนหลังนี้ยังใช้ประกอบการเล่น “ลำตัด” และ “ลิเกรำตัด” หรือ “ลิเกรำมะนา” เดี๋ยวนี้รู้จักแพร่หลายที่ใช้ประกอบการเล่นลำตัด วงหนึ่ง ๆ จะมีรำมะนาสักกี่ลูกก็ได้ คนตีนั่งล้อมวงและร้องเป็นลูกคู่ไปด้วย

กลองแขก

กลองแขก  รูปร่างยาวเป็นกระบอกแต่หน้าหนึ่งใหญ่ เรียกว่า “หน้ารุ่ย” กว้างประมาณ ๒๐ ซม. อีกหน้าหนึ่งเล็กเรียกว่า “หน้าต่าน” กว้างประมาณ ๑๗ ซม. หุ่นกลองยาวประมาณ ๕๗ ซม. ทำด้วยไม้จริง หรือไม้แก่น เช่นไม้ชิงชัน หรือไม้มะริด ขึ้นหนัง ๒ หน้า ด้วยหนังลูกวัวหรือหนังแพะ  ใช้เส้นหวายผ่าซีกเป็นสายโยงเร่งเสียง โยงเส้นห่าง ๆ แต่ต่อมาใช้สายหนังโยงก็มี  สำรับหนึ่งมี ๒ ลูก ลูกเสียงสูง เรียกว่า “ตัวผู้” ลูกเสียงต่ำเรียกว่า “ตัวเมีย” ตีด้วยฝ่ามือทั้งสองหน้าให้เสียงสอดสลับกันทั้งสองลูก กลองแบบนี้เรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า “กลองชวา”  ไทยเราคงจะนำกลองชนิดนี้มาใช้ในวงดนตรีของไทยมาแต่โบราณใช้ในขบวนแห่นำเสด็จพระราชดำเนินและใช้บรรเลงร่วมกับปี่ชวา  ประกอบการเล่นกระบี่กระบองเป็นต้น  แล้วภายหลังจึงนำมาใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์ของไทย  ใช้ตีกำกับจังหวะแทนตะโพน ในวงปี่พาทย์ และใช้แทนโทนกับรำมะนาในวงเครื่องสายด้วย

กลองมลายู

กลองมลายู  รูปร่างอย่างเดียวกับกลองแขก  แต่ตัวกลองสั้นกว่าและอ้วนกว่าหน้ากลองก็กว้างกว่า  หน้าด้านใหญ่ กว้างประมาณ ๒๐ ซม.  หน้าด้านเล็ก กว้างประมาณ ๑๘ ซม. ตัวกลองหรือหุ่นยาวประมาณ ๕๔ ซม. สายโยงเร่งเสียงทำด้วยหนัง หน้าใหญ่ใช้ตีด้วยไม้งอ ๆ ส่วนหน้าเล็กตีด้วยฝ่ามือ

ไทยเรานำเอากลองมลายูใช้ในกระบวนแห่ เช่น แห่คเชนทรัศวสนาน แห่พระบรมศพและศพเจ้านาย บรรเลงประโคมศพโดยจัดเป็นชุด ชุดหนึ่งมี ๔ ลูก แล้วภายหลังลดเหลือ ๒ ลูก ลูกที่เป็นเสียงสูง เรียกว่า “ตัวผู้” และลูกเสียงต่ำ เรียกว่า “ตัวเมีย” ใช้บรรเลงในวง “บัวลอย” ในงานศพ และใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์นางหงส์

กลองชนะ

กลองชนะ  เหมือนกลองมลายู แต่ตัวกลองสั้นกว่าและอ้วนกว่า หน้าด้านใหญ่กว้างประมาณ ๒๖ ซม. หน้าด้านเล็ก กว้างประมาณ ๒๔ ซม. ตัวกลองยาว ๕๒ ซม. สายโยงเร่งเสียงใช้หวายผ่าซีกเหมือนกลองแขก แต่ใช้ไม้งอโค้งตีเหมือนกลองมลายู ตัวกลองทาสีปิดทองเขียนลายหน้ากลองก็เขียนหรือปิดด้วยทองหรือเงิน  ทำเป็นลวดลายใช้เป็นเครื่องประโคมในกระบวนเสด็จพยุหยาตรา  และใช้ประโคมพระบรมศพและศพเจ้านาย  โดยใช้กลองชนะหลายลูก  แต่มีกฎเกณฑ์กำหนดจำนวนและชนิดของกลอง ตามฐานันดรศักดิ์ ของศพ และของงานจำนวนกลองชนะที่ใช้บรรเลงตั้งแต่ ๑ คู่ คือ ๒ ลูก ถึง ๒๐๐ ลูก ก็มี

เปิงมาง

เปิงมาง ว่าเป็นคำมอญ เรียกเครื่องหนังชนิดหนึ่ง  ซึ่งแต่เดิมคงเป็นเครื่องดนตรีของมอญ  รูปร่างยาวเหมือนกระบอก แต่ป่องกลางนิดหน่อย หุ่นกลองทำด้วยไม้จริง ขึ้นหนังทั้ง ๒ หน้า ใช้สายโยงเร่งเสียงทำด้วยหนังเรียด ร้อยจากหนัง “ไส้ละมาน” เรียงกันถี่ ๆ จนไม่เห็นไม้หุ่นกลอง และบางทีก็ทำหนังรัดอกเช่นเดียวกับตะโพนหน้าทั้ง ๒ ด้านมีขนาดเกือบเท่ากัน นักดนตรีไทยได้นำเอาเปิงมางมาใช้และสร้างขึ้นมีขนาดหน้าข้างหนึ่งกว้างประมาณ ๑๗ ซม. ต้องติดข้าวสุกบดผสมขี้เถ้า เพื่อให้ได้เสียงที่ต้องการ  ส่วนอีกหน้าหนึ่งกว้างประมาณ ๑๖ ซม. ไม่ต้องติดข้าวสุกผสมขี้เถ้า  ทำตัวกลองรูปยาวกว่าที่ใช้ในวงปี่พาทย์มอญคือยาวประมาณ ๕๔ ซม. มีห่วงหนังผูกโยงสายสำหรับคล้องคอ ใช้เดินตีก็ได้ เช่น ใช้ตีนำกลองชนะ ในขบวนเสด็จพยุหยาตรา หรือตีประโคมประจำพระบรมศพพระศพ และศพเจ้านาย คนตีเปิงมางนำกลองชนะนี้ เรียกว่า “จ่ากลอง” คู่กับคนเป่าปี  ซึ่งเรียกกันว่า “จ่าปี่” แล้วภายหลังนำมาใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์สำหรับตีขัดจังหวะกับตะโพน

ภาพจิตรกรรมในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ  ครั้นกรุงศรีอยุธยามีเปิงมางมาใช้บรรเลงร่วมกับตะโพนอยู่ในวงปี่พาทย์แล้ว

เปิงมางคอก

เปิงมางที่ใช้กันอยู่ในวงปี่พาทย์มอญ  ใช้เปิงมางจำนวน ๗ ลูก มีขนาดลดหลั่นกันลงไป และติดข้าวสุกปสมขี้เถ้า ปิดหน้ากลองแต่ละลูก เทียบเสียงต่ำสูง  แขวนเรียงลำดับไว้เป็นราวล้อมตัวคนตี เรียกกันว่า “เปิงมางคอก” และคอกที่ทำสำหรับแขวนเปิงมางนั้นมีขนาดสูงประมาณ ๖๖ ซม. ความกว้างของวงวัดผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑๑๖ ซม. เปิงมางคอกในวงปี่พาทย์มอญนี้  ใช้ตีขัดสอดประสานกับตะโพนมอญ

สองหน้า

สองหน้า  ก็คือเครื่องหนังอย่างเดียวกับเปิงมาง แต่ขยายให้โตขึ้นกว่าเปิงมาง หน้าข้างหนึ่งกว้างประมาณ ๒๑-๒๔ ซม.  ตีด้วยมือซ้าย  อีกข้างหนึ่งกว้างประมาณ ๒๐-๒๒ ซม. ตีด้วยมือขวายาวประมาณ ๕๕-๕๘ ซม. ติดข้าวสุกผสมขี้เถ้าเพิ่มขึ้นเพื่อถ่วงเสียงให้ต่ำจนคล้ายตะโพนหน้าเท่ง  ปรับปรุงขึ้นใช้แทนตะโพน  ใช้ใบเดียวตีประกอบจังหวะในวงปี่พาทย์ที่บรรเลงประกอบการขับเสภา หรือร้องส่งอย่างสามัญ

ตะโล้ดโป๊ด

ตะโล้ดโป๊ด  เป็นกลองขึ้นหนังสองหน้า  หุ่นกลองทำด้วยไม้แก่นเนื้อแข็งใช้สายหนังโยงเร่งเสียง มีรูปร่างลักษณะและขนาดเช่นเดียวกับเปิงมาง แต่ตัวกลองยาวราวสัก ๗๘ ซม. ซึ่งยาวกว่าสองหน้าประมาณ ๒๐ ซม. หน้ากลองตะโล้ดโป๊ดข้างหนึ่งใหญ่ มีขนาดกว้างประมาณ ๒๐ ซม. ส่วนอีกข้างหนึ่งเล็ก  วัดผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑๗ ซม.  มีหูผูกห้อยทำด้วยหนังอยู่ตรงขอบทางหน้าเล็ก และใช้ตีทางหน้าเล็กนี้

นิยมใช้กันในจังหวัดภาคเหนือของประเทศ  ใช้ตีคู่กับกลองแอว์ สำหรับเข้ากระบวนแห่  ใช้ตีประกอบการฟ้อนกับใช้บรรเลงในการเล่นเพลงพื้นเมืองทางภาคเหนือ เสียงของกลองตะโล้ดโป๊ดต้องเทียบให้เข้ากับฆ้องหุ่ย และเมื่อบรรเลงเคลื่อนที่ในกระบวนแห่เขาใช้ร้อยหูหิ้วที่ขอบหน้ากลองทางด้านหน้าเล็กผูกห้อยติดกับกลองแอว์  ซึ่งมีคนห้ามและคนเดินตีไปด้วย

บัณเฑาะว์

ดนตรีชนิดนี้มาจากอินเดีย บัณเฑาะว์ของไทยตัวกลองทำด้วยไม้จริงขนาดเล็กพอมือถือ หัวและท้ายใหญ่ตรงกลางคอด รูปเหมือนพานแว่นฟ้ายาวราว ๑๕ ซม.  หน้ากว้างประมาณ ๑๔ ซม. มีสายโยงเร่งเสียง ใช้เชือกร้อยโยงห่าง ๆ มีสายรัดอกตรงคอดและตรงสายรัดอกนั้นมีหลักยาวอันหนึ่ง รูปเหมือนยอดเจดีย์ทำด้วยไม้หรืองายาวประมาณ ๑๓ ซม. ตรงปลายหลักใช้เชือกผูก ปลายเชือกอีกข้างหนึ่งผูกลูกตุ้ม กลองชนิดนี้ไม่ใช้ตีด้วยไม้หรือด้วยมือแต่ใช้มือถือไกว คือ พลิกข้อมือกลับไปกลับมาให้ลูกตุ้มที่ปลายเชือกโยนตัวไปมากระทบตรงหนังหน้ากลองทั้งสองข้าง  ใช้เป็นจังหวะในการบรรเลงประกอบ “ขับไม้” ในงานพระราชพิธี เช่น ขับกล่อมสมโภชพระมหาเศวตฉัตร สมโภชพระยาช้างเผือกและช้างสำคัญ เป็นต้น

กลองยาว

กลองยาว  เป็นกลองขึ้นหนังหน้าเดียว  ตัวกลองทำด้วยไม้จริง เช่นไม้มะม่วง ตอนหน้าใหญ่ ตอนท้ายมีลักษณะเรียว แล้วบานปลายเป็นรูปดอกลำโพง  มีหลายขนาด  ตรงกลางของหน้ากลองติดข้าวสุกบดผสมขี้เถ้าถ่วงเสียง  ตัวกลองยาวนั้นมักนิยมตบแต่งกันให้สวยงามด้วยหุ้มผ้าสีหรือผ้าดอกเย็บจีบย่น ๆ และปล่อยเชิงเป็นระบายห้อยลงมาปกตัวกลอง  มีสายสะพายผูกข้างหนึ่งที่หูห่วงริมขอบกลองอีกข้างหนึ่งผูกไว้ที่หางสำหรับคล้องสะพายบ่า  ใช้ตีด้วยมือ  แต่ผู้เล่นโลดโผนใช้กำปั้นตี ศอกถอง ศีรษะโหม่ง เข่ากระทุ้ง ส้นเท้ากระแทกก็มี  ชาวไทยเรานิยมนำมาเล่นในงานที่มีกระบวนแห่ เช่น บวชนาค และทอดกฐิน เป็นต้น  และนิยมเล่นเป็นที่รื่นเริงสนุกสนานในเทศกาลสงกรานต์ วงหนึ่ง ๆ จะใช้กลองหลายลูกก็ได้ เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงร่วมมีฉิ่ง ฉาบเล็ก กรับ และโหม่ง เรียกการเล่นชนิดนี้ว่า “เถิดเทิง” หรือ “เทิงบ้องกลองยาว”

กลองแอว์

กลองแอว์  เป็นกลองขึ้นหนังหน้าเดียว  ตอนที่เป็นตัวกลองตลอดถึงหน้ากลองที่ขึ้นหนังกว้างใหญ่ เอวคอด ตอนท้ายเรียวและบานปลาย คล้ายดอกลำโพง แต่กลึงควั่นตอนหางกลองเป็นปล้อง ๆ ให้ดูสวยงามและที่เรียกว่ากลองแอว์ ก็หมายความว่า กลองมีสะเอวนั่นเอง แอว์ก็คือเอว มีขนาดใหญ่และยาวกว่า “กลองยาว” มาก บางลูกมีขนาดยาวถึง ๓ เมตรเศษ มีประจำตามวัดในจังหวัดภาคเหนือเกือบทุกอาราม  คงจะใช้ตีเป็นสัญญาณประจำวัด เช่นตีเป็นกลองเพล ตีเป็นสัญญาณชุมนุมสงฆ์ในพิธีสังฆกรรมและนอกจากใช้ในวัดดังกล่าวข้างต้น  โดยปกติก็ใช้บรรเลงร่วมกับกลองตะโล้ดโป๊ด และเครื่องดนตรีอื่น ๆ ประกอบการเล่นพื้นเมือง เช่น ฟ้อนเทียน ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเมือง และใช้ตีเข้ากระบวนแห่เคลื่อนที่ในงานพิธีที่เรียกว่า “ปอยหลวง” มีงานแห่ครัวทานเป็นต้น และในงาน “ปอยลูกแก้ว” คืองานบวชเณรซึ่งถือเป็นงานสำคัญมาก

กลองมริกัน

กลองมริกันเข้าใจว่าเรียกเพี้ยนมาจากกลองอเมริกันได้แก่ Bass Drum และพวกคณะละครได้นำมาตีในการเล่นละคร  เรื่องพระอภัยมณี ตอนอุศเรนและนางละเวง วัณฬยกทัพ เมื่อสมัยปลายรัชกาลที่ ๕ แต่นั้นยี่เกก็นำไปใช้จึงเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายต่อมา

มโหระทึก

มโหระทึกเป็นชื่อของกลองชนิดหนึ่ง  แต่เป็นกลองหน้าเดียวและหล่อด้วยโลหะ  มิใช่กลองขึงด้วยหนัง เช่นกล่าวมาข้างต้น  กลองชนิดนี้ใช้โลหะผสม ประกอบด้วยทองแดง ตะกั่ว และดีบุก ผสมอย่างละมากน้อยตามเกณฑ์ที่ช่างกำหนด  แล้วหลอมให้เข้ากันหล่อลงในแบบที่ทำไว้  แบบเก่าที่สุดพบในประเทศเขมรและท้องที่ใกล้เคียง กลองแบบนี้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติของเราก็มีอยู่หลายลูกและหลายขนาด หน้ากว้างวัดผ่านศูนย์กลาง ๖๕ ซม. ตัวกลองสูง ๕๓ ซม. ก้นกว้าง ๗๐.๕ ซม. และเอว ๕๐ ซม. คอดเป็นเส้นโค้ง (มิใช่เป็นเส้นตั้ง) บนหน้ากลองแถบใกล้ขอบมีหอยโข่ง ๔ ตัว ประจำ ๔ ทิศ แต่กลองมโหระทึกของเราที่ใช้ตีกันอยู่ในงานพิธีต่าง ๆ ทั้งในงานหลวงและงานราษฎร์ เป็นกลองที่มีกบอยู่บนหน้ากลองประจำ ๔ ทิศ

บนหน้ากลองเหล่านี้ ตรงกลางทำเป็นรูปดาวมีแฉก บางชนิดก็ทำดาวนูนกลาง ขอบดาวลาด

กังสดาล

คือ ระฆังวงเดือนทำด้วยโลหะทองเหลืองแบน ๆ รูปเสี้ยวดวงจันทร์ ปัจจุบันพบทั่วไปตามวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือ สมัยโบราณจัดเข้าเป็นเครื่องประโคมอย่างหนึ่งในราชพิธี วิธีที่ใช้ไม้สำหรับตี ตีที่ใบระฆัง ให้หมุนเป็นลูกข่างตีเป็นระยะ ๆ ห่าง ๆ เสียงแหลมเล็ก

เครื่องตี:เครื่องตีที่ทำด้วยโลหะ

เครื่องตีที่ทำด้วยโลหะ

ฉิ่ง

ฉิ่ง  เป็นเครื่องดนตรีที่ทำด้วยโลหะ หล่อหนา เว้ากลางปากผายกลม รูปคล้ายถ้วยชาไม่มีก้น  สำรับหนึ่งมี ๒ ฝา แต่ละฝาวัดผ่านศูนย์กลาง ประมาณ ๖ ซม. ถึง ๖.๕ ซม. เจาะรูตรงกลางเว้นสำหรับร้อยเชือก ฉิ่งที่กล่าวนี้ สำหรับใช้ประกอบวงปีพาทย์ ส่วนฉิ่งที่ใช้สำหรับเครื่องสายและวงมโหรี มีขนาดเล็กกว่านั้น คือ วัดผ่านศูนย์กลางเพียง ๕.๕ ซม.

ฉาบ

ฉาบ เป็นเครื่องตีอีกชนิดหนึ่งทำด้วยโลหะเหมือนกัน  รูปร่างคล้ายฉิ่งแต่หล่อบางกว่าฉิ่ง  มีขนาดใหญ่กว่าและกว้างกว่าตอนกลางมีปุ่มกลม ทำเป็นกระพุ้งขนาดวางลงในอุ้งมือ ๕ นิ้ว ขอบนอกแบราบออกไปโดยรอบ และเจาะรูตรงกลางกระพุ้งไว้ร้อยเส้นเชือกหรือเส้นหนังสำหรับถือวัดผ่าศูนย์กลาง รวม ๑๒-๑๔ ซม. ฉาบใหญ่วัดผ่านศูนย์กลางราว ๒๔-๒๖ ซม. ใช้ขนาดละ ๒ อัน หรือขนาดละคู่ ตีกระทบกันให้เกิดเสียงตามจังหวะที่ต้องการ

ฆ้อง

ฆ้อง  เป็นเครื่องตีทำด้วยโลหะเหมือนกัน รูปร่างคล้ายฉาบ คือ มีปุ่มกลมตรงกลางและมีฐานแผ่ออกไปโดยรอบที่ต่างกับฉาบก็คือ หล่อโลหะหนากว่าฉาบ และมีหักงุ้มออกไปเป็นขอบคนละด้านกับปุ่มที่โป่งออกมา  ขอบที่หักงุ้มออกมานั้น เรียกว่า “ฉัตร” และที่ขอบหรือฉัตรนั้นเจาะรู 2 รู ไว้ร้อยเส้นเชือกหรือเส้นหนังสำหรับห้อย  มีไม้ตีต่างหาก ตรงหัวไม้ตีพันผ้าห่อหุ้มและถักหรือรัดด้วย  ใช้ตีตรงปุ่มกลางฆ้องให้เกิดเสียง

ก.  ฆ้องโหม่ง

ฆ้องของเรามีหลายขนาด ขนาดที่มีหน้ากว้างวัดผ่านศูนย์กลางราว ๓๐ ซม. ถึง ๔๕ ซม. ตีได้ยินเสียงเป็น “โหม่ง-โหม่ง” เรียกชื่อตาม เสียงว่า “ฆ้องโหม่ง” หรือ โหม่ง

ข.  ฆ้องชัย

ฆ้องที่สร้างขึ้นเป็นขนาดใหญ่  วัดผ่านศูนย์กลางประมาณ ๘๐ ซม. ก็มีเมื่อตีก็เกิดเสียงก้องกระทบหึ่มเป็นกังวานได้ยินแต่ไกล  ฆ้องชนิดนี้เรียกตามเสียงครวญครางว่า “ฆ้องหมุ่ย” หรือ “ฆ้องหุ่ย” แต่ฆ้องขนาดนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ฆ้องชัย เดี๋ยวนี้ยังนิยมใช้ตีในงานพิธีมงคลต่าง ๆ

นอกจากนี้  ยังมีฆ้องขนาดเล็ก หล่อบาง เรียกกันว่า “ฆ้องกระแต” สำหรับตีขานยามหรือประกาศป่าวร้องอย่างที่เรียกว่า “ตีฆ้องร้องป่าว”  ฆ้องขนาดต่าง ๆ ดังกล่าวมานี้ เป็นฆ้องลูกเดียวที่เรียกว่า “ฆ้องเดี่ยว”

ฆ้องเหม่ง

“ฆ้องเหม่ง” นั้น ใช้เรียกชื่อฆ้องชนิดหนึ่ง ซึ่งหล่อโลหะหนาเกือบ ๑ ซม. หน้ากว้างประมาณ ๑๙ ซม. ฉัตรสูงประมาณ ๖ ซม. ใช้ไม้จริงท่อนกลม ๆ ยาวประมาณ ๑๕ ซม. ตีเดี่ยวในวง การบรรเลงที่เรียกว่า “บัวลอย”

ฆ้องคู่

ฆ้องคู่ คือฆ้อง ๒ ใบ ขนาดเล็กเท่าฆ้องกระแต แต่เนื้อโลหะหนา และขอบฉัตรคุ้มกว่า ใบหนึ่งเสียงสูง อีกใบหนึ่งเสียงต่ำ ไม่แขวนหรือหิ้วตีแต่เจาะรูที่ขอบข้างละ ๒ รู เป็นใบละ ๔ รู ร้อยเส้นเชือกผูกคว่ำเป็นคู่ไว้บนราง  ซึ่งทำด้วยไม้เป็นรูปหีบไม้ สี่เหลี่ยมผืนผ้าฝาปิด ตีตรงปุ่มได้ยินคล้ายเสียงว่า “โหม่ง-เม้ง ๆๆ” เข้าใจว่าประดิษฐ์ขึ้นจากฆ้องเดี่ยว ฆ้องคู่ประเภทนี้ ใช้บรรเลงร่วมวงปี่พาทย์ประกอบการเล่นโนห์ราและละครชาตรี  ซึ่งสันนิษฐานกันว่า  มีมาก่อนหรือร่วมสมัยต้นของกรุงศรีอยุธยาและใช้บรรเลงในการเล่นหนังตะลุงด้วย

ฆ้องราว

ฆ้อง ๓ ใบ มีขนาดลดหลั่นกัน  ใช้แขวนราวเรียงไปตามขนาด เมื่อตีเรียงไปตามลำดับลูกแล้วย้อนกลับ จะได้ยินเป็นเสียง  “โหม่ง-โมง-โม้ง,โม้ง-โมง-โหม่ง”  ใช้บรรเลงในการเล่นมหรสพโบราณชนิดหนึ่งเรียกว่า “ระเบง” หรือเรียกตามคำร้องของกลอน ซึ่งขึ้นต้นวรรคด้วยคำว่า “โอละพ่อ” เลยเรียกฆ้องราว ๓ ใบ ชนิดนี้ว่า “ฆ้องระเบง” เล่นในงานพระราชพิธี

ฆ้องราง

ฆ้องราง เข้าใจว่า ประดิษฐ์มาจากฆ้องคู่  โดยทำรางผูกลูกเรียงหนึ่งไปตามความยาวของราง  และเพิ่มจำนวนลูกให้ครบ ๗ ลูก หรือ ๘ ลูกก็มี  เทียบเสียงเรียงต่ำสูงลดหลั่นกันครบ ๗ เสียง เป็น hoptatonic บรรเลงเป็นทำนองเพลงได้ ฆ้องรางที่กล่าวนี้ บัดนี้ไม่ใช้บรรเลงในวงดนตรีไทย

ฆ้องวงใหญ่

ฆ้องวง เป็นเครื่องตีที่คิดประดิษฐ์สร้างให้วิวัฒนาการมาโดยลำดับ จากฆ้องเดี่ยว(๑๐) และฆ้องคู่(๑๒)แล้วฆ้องราง(๑๔) วงฆ้องใช้ต้นหวายโป่งทำเป็นร้านสูงประมาณ ๒๔ ซม. หวายเส้นนอกกับเส้นในห่างกันประมาณ ๑๔-๑๗ ซม.  ดัดโค้งเป็นวงล้อมไปเกือบรอบตัวคนนั่งตี  เปิดช่องไว้สำหรับทางเข้าด้านหลังคนตี ห่างกันราว ๒๐-๓๐ ซม. พอให้คนตีนั่งขัดสมาธินั่งตีได้สบาย  แล้วเจาะรูลูกฆ้องทางขอบฉัตร ลูกละ ๔ รู ใช้เชือกหนังร้อยผูกกับเรือนฆ้องให้ปุ่มลูกฆ้องหงายขึ้น ผูกเรียงลำดับขนาดลูกต้นไปหาลูกยอดตั้งแต่ใหญ่ไปหาเล็ก เรียงลำดับเสียงตั้งแต่ต่ำไปหาสูง  ฆ้องวงหนึ่งมีจำนวน ๑๖ ลูก ลูกต้นวัดผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑๗ ซม.อยู่ทางซ้ายมือด้านหลังผู้ตี ลูกยอดวัดผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑๒ ซม. อยู่ทางขวามือด้านหลังผู้ตี และใช้ตีด้วยไม้ตีทำทำด้วยแผ่นหนังดิบตัดเป็นวงกลมเจาะกลาง สอดด้ามไม้สำหรับมือถือ วงหนึ่งใช้ไม้ตี ๒ อัน ถือตีข้างละมือ

การประดิษฐ์ฆ้องวงคงเกิดขึ้นก่อนระนาด เพราะมีภาพแกะสลักวงปีพาทย์แต่โบราณมีฆ้องวงแต่ไม่มีระนาด เช่นในครั้งกรุงศรีอยุธยาฆ้องวงคงมีขนาดเดียว  ใช้บรรเลงผสมวงปี่พาทย์

ฆ้องวงเล็ก

ฆ้องวงเล็ก  ปรากฎว่าสร้างกันขึ้นเมื่อรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์  โดยได้มีคณาจารย์ทางดุริยางคศิลป คิดประดิษฐ์ฆ้องวงขึ้นอีกขนาดหนึ่งเหมือนกับวงก่อนทุกอย่าง  แต่ขนาดย่อมกว่าเล็กน้อย  ใช้บรรเลงร่วมในวงปี่พาทย์แต่นั้นมาปี่พาทย์วงหนึ่ง ๆ จะใช้ฆ้อง ๒ วง ก็ได้เรียกฆ้องวงขนาดใหญ่แต่เดิมว่า “ฆ้องวงใหญ่” และฆ้องวงขนาดเล็กที่ประดิษฐ์สร้างขึ้นใหม่นี้เรียกว่า “ฆ้องวงเล็ก” ต่อมาได้ย่อขนาดสร้างขึ้นให้ย่อมลงอีกและใช้บรรเลงในวงมโหรีด้วย

ฆ้องมอญ

“ฆ้องมอญ”  เป็นฆ้องวงตั้งโค้งขึ้นไปทั้งสองข้าง ไม่วางราบไปกับพื้นเหมือนฆ้องไทยร้านฆ้องวงมอญมักประดิษฐ์แต่งกันอย่างสวยงาม เช่นแกะสลักเป็นลวดลายปิดทองประดับกระจกฆ้องมอญวงหนึ่ง ๆ มีจำนวน ๑๕ ลูก สำหรับใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์รามัญหรือปี่พาทย์มอญวงฆ้องมอญนั้นต่อมาก็ได้มีผู้คิดสร้างวงฆ้องมอญขึ้นเป็น ๒ ขนาดเหมือนกัน  คือมีทั้งวงใหญ่และวงเล็ก

วงฆ้องชัย

เมื่อรัชกาลที่ ๕ กรุงรัตนโกสินทร์สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ได้ทรงปรับปรุง วงปี่พาทย์สำหรับประกอบการแสดงละคร “ดึกดำบรรพ์” ได้ทรงนำเอาฆ้องหุ่ย หรือ ฆ้องชัย ๗ ลูก มาปรับเสียงใหม่ให้มีสำเนียงเป็น ๗ เสียง แล้วทำที่แขวนเสียงรอบตัวคนตี  สำหรับตีเป็นจังหวะต่าง ๆ ตามเสียงของทำนองเพลง ประกอบในวงปีพาทย์และเลยเรียกวงปี่พาทย์ที่ทรงปรับปรุงขึ้นสำหรับละครนั้นว่า “ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์”

ฆ้องเดี่ยวก็ดี  ฆ้องคู่ก็ดี ฆ้องราวหรือฆ้องระเบงก็ดี เป็นเครื่องตีให้จังหวะแต่การประดิษฐ์ฆ้องรางและฆ้องวงขึ้น เป็นเหตุให้สามารถเล่นเป็นทำนองได้และฆ้องทุกชนิดถ้าตีแล้วยังเกิดเสียงไม่ได้ที่เขาใช้ขี้ผึ้งผสมกับตะกั่วติดตรงปุ่มกลางด้านในเป็นการถ่วงให้ได้เสียงตามแต่จะต้องการ

เครื่องตี:เครื่องตีที่ทำด้วยไม้

เครื่องตีที่ทำด้วยไม้

เกราะ

เกราะ โดยปกติทำด้วยกระบอกไม้ไผ่  ตัดกระบอกไม้ไผ่มาทั้งปล้องไว้ข้อหัวท้ายแล้วคว้านกระบอกผ่าบากท้องปล้องยาวไปตามลำ  และใช้ตีด้วยไม้ตีอีกอันหนึ่ง  ทำด้วยซีกไม้ไผ่หรือไม้แก่น มือหนึ่งถือเกราะ  อีกมือหนึ่งถือไม้ตี  ใช้ถือตีเหมือนตีกระบอกหรือเคาะไม้ก็ได้อย่างที่พูดกันว่า “ตีเกราะเคาะไม้”

โกร่ง

โกร่ง ทำด้วยลำไม้ไผ่เหมือนกันจะเรียกว่าเกราะยาวก็ได้  เพราะใช้ลำไม้ไผ่ยาวประมาณวาหนึ่งหรือสองวา ปาดเป็นรูปยาวไปตามปล้องไม้ไผ่หรือเว้นตรงข้อก็ได้ ปากทั้งสองข้างหรือข้างเดียว แต่สลับปล้องกันก็ได้ เพื่อให้ตีเกิดเสียงดังก้องขึ้น  เวลาตีใช้วางลำราบไปตามพื้น มีไม้รองหัวท้าย ไม้ตีจะใช้ซีกไม้ไผ่เหลาให้เกลี้ยงเกลา  ขนาดยาวราวสัก ๓๐-๔๐ ซม.

กรับคู่

ก.  กรับทำด้วยไม้ไผ่ผ่าซีก เหลาให้เรียบและเกลี้ยงเกลา รูปร่างแบนตามซีกไม้ไผ่และหนาตามขนาดของเนื้อไม้ เช่น หนาสัก ๑.๕ ซม. กว้างสัก ๓-๔ ซม. และยาวประมาณ ๔๐ ซม. ทำเป็น ๒ อัน หรือคู่ ใช้ตีให้ผิวกระทบกันทางด้านแบน เกิดเสียงได้ยินเป็น “กรับ-กรับ-กรับ”

ข.  กรับพวง กรับอีกชนิดหนึ่งตอนกลางทำด้วยไม้บาง ๆ หรือด้วยแผ่นทองเหลือง  หรือด้วยงาหลาย ๆ อัน และทำไม้แก่นหรืองา ๒ อัน เจาะรูตอนหัว ร้อยเชือกประกบไว้สองข้างอย่างด้ามพัด  เมื่อตีใช้มือหนึ่งถือตรงหัวทางเชือกร้อย แล้วฟาดอีกข้างหนึ่งลงบนอีกฝ่ามือหนึ่ง  กรับพวงนี้ ที่สร้างขึ้นแต่เดิมด้วยมีความมุ่งหมายมาอย่างไรไม่ปรากฎ  แต่คงใช้เป็นอาณัติสัญญาณ เช่นในการเสด็จออกเป็นพระราชพิธีของพระเจ้าแผ่นดิน อย่างที่เรียกว่า “รัวกรับ” และต่อมาก็ใช้กรับพวงตีเป็นจังหวะในการขับร้องเพลงเรือ, ดอกสร้อยสักวา และใช้ในการบรรเลงมีขับร้องและในการแสดงนาฏกรรมด้วย

ค.  กรับเสภา กรับเสภา ทำด้วยไม้แก่น และโดยปกติทำด้วยไม้ชิงชันยาวประมาณ ๒๐ ซม.  หนาประมาณ ๕ ซม. เหลาเป็นรูป ๔ เหลี่ยม แต่ลบเหลี่ยมเสียนิดหน่อยเพื่อให้สามารถกลิ้งตัวของมันเองกลอกกระทบกันได้สะดวกใช้ประกอบในการขับเสภา  ซึ่งผู้กล่าวขับคนหนึ่ง  จะต้องใช้กรับจำนวน ๔ อัน หรือ ๒ คู่ ถือเรียงไว้ในฝ่ามือของตนข้างละคู่กล่าวขับไปพลางมือทั้งสองแต่ละข้างก็ขยับกรับแต่ละคู่ในมือ  แต่ละข้างให้กลอกกระทบกันเข้าจังหวะกับเสียงขับไปพลาง

ระนาด(เอก)

ระนาด เป็นเครื่องตีชนิดหนึ่งวิวัฒนาการมาจากกรับ คือ ทำอย่างกรับหลาย ๆ อัน  ประดิษฐ์ให้มีขนาดลดหลั่นกัน  และทำรางรองให้อุ้มเสียงได้แล้วใช้เชือกร้อย “ไม้กรับ” ขนาดต่าง ๆ นั้นให้ติดกัน ขึงแขวนไว้บนราง ใช้ไม้ตีเกิดเสียงกังวานลดหลั่นกันตามต้องการ ใช้เป็นเครื่องบรรเลงทำนองเพลงได้  ต่อมาก็ประดิษฐ์แก้ไขตัดแต่งและใช้ขี้ผึ้งกับตะกั่วผสมกันติดหัวท้ายของไม้กรับ ถ่วงเสียงให้เกิดไพเราะยิ่งขึ้น “ไม่กรับ” ที่ประดิษฐ์ขึ้นเป็นขนาดต่าง ๆ เรียกว่า “ลูกระนาด” และเรียกลูกระนาดที่ร้อยเชือกเข้าไว้เป็นแผ่นเดียวกันว่า “ผืน” ลูกระนาดชนิดที่ทำด้วยไผ่บงนั้น นิยมกันมากว่าได้เสียงเพราะดี ทำรางเพื่อให้อุ้มเสียงเป็นรูปคล้ายลำเรือ ทางหัวและท้ายโค้งขึ้น เรียกว่า “ราง(ระนาด)” เรียกแผ่นไม้ปิดหัวและท้ายรางระนาดว่า “โขน” และเรียกรวมทั้งรางและผืนรวมกันเป็นลักษณะนามว่า “ราง”

ระนาดเอกในปัจจุบันมีจำนวน ๒๑ ลูก ลูกต้น ขนาดยาวราว ๓๙ ซม. กว้างราว ๕ ซม. และหนา ๑.๕ ซม. ลูกต่อมาก็ลดหลั่นกันลงไปจนลูกที่ ๒๑ หรือลูกยอด มีขนาดยาว ๒๙ ซม. ลูกระนาดเหล่านั้นร้อยเชือกแขวนบนรางและรางนั้นวัดจาก “โขน” หัวรางข้างหนึ่งถึง “โขน” อีกข้างหนึ่ง ประมาณ ๑๒๐ ซม. มีเท้ารองรางตรงส่วนโค้งตอนกลางเป็นเท้าเดี่ยวรูปอย่างพานแว่นฟ้า

ระนาดทุ้ม

ระนาดทุ้ม  เป็นเครื่องดนตรีที่คิดสร้างกันขึ้นในรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์เลียนแบบระนาดเอก  แต่เหลาลูกระนาดให้มีขนาดกว้างและยาวกว่า และประดิษฐ์รางให้มีรูปร่างต่างจากรางระนาดเอก คือมีรูปคล้ายหีบไม้  แต่เว้นกลางเป็นทางโค้งมี “โขน” ปิดทางด้านหัวและด้านท้าย  วัดจากปลายโขนทางหนึ่งไปยังอีกทางหนึ่ง ยาวประมาณ ๑๒๔ ซม. ปากรางกว้างประมาณ ๒๒ ซม. มีเท้าเตี้ย ๆ รอง ๔ มุมราง ลูกระนาดทุ้มมีจำนวน ๑๗ หรือ ๑๘ ลูก  ลูกต้นยาวประมาณ ๔๒ ซม. กว้าง ๖ ซม. และลูก ยอดมีขนาดยาว ๓๔ ซม. กว้าง ๕ ซม. ไม้ตีก็ประดิษฐ์แตกต่างออกไปด้วย  เพื่อต้องการให้มีเสียงทุ้มเป็นคนละเสียงกับระนาดเอก

ระนาดทอง หรือระนาดเอกเหล็ก

ระนาดทอง หรือระนาดเอกเหล็กนี้มีตำนานว่า คณาจารย์ทางดุริยางค์ศิลปคิดประดิษฐ์ขึ้นในรัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร์ ลูกระนาดแต่เดิมทำด้วยทองเหลือง จึงเรียกกันมาว่า ระนาดทอง ต่อมามีผู้ทำลูกระนาดด้วยเหล็กจึงเรียกว่า ระนาดเอกเหล็ก ทั้งระนาดทองและระนาดเหล็ก  ใช้วางเรียงบนรางไม้มีผ้าพันไม้  หรือใช้ไม้ระกำวางดาดไปตามขอบรางสำหรับรองหัวท้ายลูกระนาด แทนร้อยเชือกผูกแขวนอย่างลูกระนาดที่ทำด้วยไม้ ระนาด ๒ ชนิดนี้ทั้งที่ทำลูกด้วยทองเหลืองและเหล็ก  มีจำนวน ๒๐ หรือ ๒๑ ลูก ลูกต้นยาวประ ๒๓.๕ ซม. และกว้างประมาณ ๕ ซม. ลูกยอดยาวประมาณ ๑๙ ซม. และกว้างประมาณ ๔ ซม. รางไม้ที่ใช้วางลูกระนาดนั้น ทำเป็นรูปหีบสี่เหลี่ยมแต่ยาวประมาณ ๑ เมตร ปากรางแคบกว่าส่วนยาวของลูกระนาด มีขอบกั้นหัวท้ายลูกระนาด  ถ้านับความกว้างรวมทั้ง ๒ ข้างด้วยก็ราว ๑๘ ซม. เบื้องล่างของรางทำเท้ารอง ๔ เท้า ติดลูกล้อ

ระนาดทุ้มเหล็ก

ระนาดทุ้มเหล็ก  เป็นเครื่องตีที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  สมเด็จพระอนุชาธิราชในรัชกาลที่ ๔ ได้ทรงพระราชดำริให้สร้างเพิ่มเติมอีกแบบหนึ่ง  โดย “ถ่ายทอดมาจากหีบ เพลงฝรั่งอย่างเป็นเครื่องเขี่ยหวีเหล็ก” ลูกทำเขื่องกว่าระนาดทองหรือระนาดเอกเหล็กเพื่อเป็นเสียงทุ้มเลียนอย่างระนาดทุ้ม มีจำนวน ๑๖ หรือ ๑๗ ลูก ลูกต้นยาวประมาณ ๓๕ ซม. กว้างประมาณ ๖ ซม. ลูกอื่นก็ย่อมลงไปตามลำดับ จนถึงถูกยอดยาวประมาณ ๒๙ ซม. กว้างประมาณ ๕.๕ ซม. ตัวรางระนาด ยาวประมาณ ๑ เมตรปากกว้างประมาณ ๒๐ ซม. มีชานยื่นออกไป ๒ ข้างราง ถ้านับส่วนกว้างรวมทั้งชาน ๒ ข้างด้วย ก็ประมาณ ๓๖ ซม. มีเท้ารองติดลูกล้อ ๔ เท้า ตัวรางสูงจากพื้นถึงขอบบน (รวมทั้งเท้าด้วย) สูง ๒๖ ซม.

คำเมืองในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง

คำเมืองในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง

ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง  ที่ได้เคยเห็น เคยอ่านกันมา  ทั้งของจริงและที่ท่านผู้รู้ แกะออกมาเป็นหนังสือปัจจุบันแล้วนั้น  มีอยู่หลายแห่งที่มีคำเมืองปนอยู่ด้วย  บางคำก็ยังใช้พูดกันอยู่ในภาคเหนือขณะนี้

ผมมีความเห็นว่าหากจะถอดคำเมืองเหล่านั้น  ออกมาเป็นภาษากลาง หรือภาษาที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้  ก็อาจจะเป็นประโยชน์ในด้านการค้นคว้า  หาความหมายของคำนั้น ๆ เพิ่มขึ้นอีก  แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะทำได้ถูกต้อง เพียงใด หรือไม่ ผมจะรู้สึกขอบพระคุณอย่างสูง  หากบรรดาท่านผู้รู้จะได้กรุณาท้วงติงหรือแนะนำ

คำแรกคือคำว่า เตียม ในประโยคที่ว่า “……ที่เผือผู้อ้าย  ตายจากเผือ เตียม แต่ยังเล็ก….” เตียมคำนี้ ในความหมายของคำเมือง มิได้หมายความว่าตั้งแต่ เตียมมาจากคำว่า เทียม (คำเมืองออกเสียง ท.เป็น ต.)  ซึ่งมีความหมายว่า เท่า ๆ กัน หรือเทียม ๆ กัน  ศิลาจารึกประโยคนั้น ถ้าให้คนเมืองอ่าน  ก็เห็นจะมีความหมายทำนอง  พี่เผือผู้อ้ายนั้น  ตายจากเผือไปในเวลา ที่เท่ากับ เผือยังเล็กอยู่

ลู่ท่าง บางคนมาดัดแปลงเป็น ลู่ทาง อันที่จริงคำว่า  ลูท่างหรือดูท่างนั้น  คำเมืองเขาก็มีใช้อยู่  ถึงปัจจุบันนี้ก็ยังใช้ มีความหมายว่ามีอิสระเสรีที่จะทำการสิ่งนั้น ๆ ได้โดยสะดวก  “…เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่  ลูท่างเพื่อนจูงวัวไปค้า  ขี่ม้าไปขาย…” ก็คือ เจ้าเมืองไม่เรียกเก็บภาษีอะไรแหละเพื่อนจะจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ก็ทำได้อย่างสะดวก  อย่างอิสระเสรี ว่างั้น

พาเมืองมาสู่ คำว่าสู่นี้ คำเมือง บางทีก็แปลว่า มาร่วมกัน “เอาข้าวมาสู่กันกิน” แปลว่า เอาข้าวมาร่วมกันกิน  หมายความว่า  นำเอาบ้านเอาเมืองมาร่วม  หรือมอบให้ปกครองร่วมกัน

กู้ แปลว่า เก็บ เช่นเอาเสื้อผ้าไปตากไว้  แห้งแล้วก็ไปกู้เสื้อผ้า “….ช่วยเหลือเฟือกู้…” ก็เห็นจะมีความหมายว่าช่วยเก็บ   ช่วยรักษาบ้านเมืองที่เขานำมาสู่กันนั้นไว้ให้ดี

เมือ คำเมืองหมายถึง กลับ มิได้ หมายความว่า ไป ไปตลาด เขาว่า “ไปกาด” กลับบ้าน เขาว่า “เมือบ้านหรือปิ๊กบ้าน”

มน แปลว่า กลม  มะนาวลูกกลม เรียก มะนาวหน่วย(ลูก)มน

กม แปลว่า คร่อม  ขึ้นกม  หมายความว่า ขึ้นคร่อม

“….มีพิหารอันหนึ่งมน…สูงงามแก่กม…” ก็มีพิหารที่สร้างหลังคาคร่อมเอาไว้  ในลักษณะรูปกลม (คล้ายสุเหร่า?)

ราม คำนี้คนเมืองเขาตัดหรือย่อมาจากคำว่า ทะราม(ทราม) คือไม่ใหญ่ ไม่เล็ก อย่างทรามวัย อย่างนี้ บางครั้งก็ออกเสียงเป็น ฮาม  “…..มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันราม….” ก็มีทั้งพระพุทธรูปองค์ใหญ่ และองค์ย่อม

หลวก อันนี้ไม่มีปัญหา  คนหลวกก็คือ คนฉลาดนั่นเอง

ใคร่ใจ แปลว่าเร่งรีบ  ใคร่ใจกิน ก็คือ รีบ ๆ กิน  “….หาใคร่ใจในใจ….” ก็คือ เร่งรีบและสนใจที่จะใส่(ลายสือไท)

ขอเอาเพียงเท่านี้ก่อนเถอะนะครับ ที่จริงก็ยังพอจะแกะออกมาได้อีกบ้าง ไว้โอกาสหน้าจะบรรเลงต่อ  สำหรับตอนนี้ผิดถูกอย่างไร  เชิญท่านผู้รู้ วิจารณ์ได้ตามอัธยาศัย

เสรี  ชมภูมิ่ง

26  ถนนคำแสน  แพร่

ประวัติไก่ชนของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ประวัติไก่ชนของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

เมื่อประมาณปี ๒๕๑๒  นายทหารจาก จ. พิษณุโลก ได้ไปเรียนหลักสูตรนายร้อยที่ ศร.ปรานบุรี  ได้ไปเยี่ยมหลวงอาที่วัดสัพพังเขาย้อย จ.เพชรบุรี (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ได้อ่านหนังสือใบข่อยสมัยก่อน  มีใจความเรื่องไก่ชนของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  พอสรุปได้ ดังนี้

ไก่ชนของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  เป็นไก่ที่ได้มาจากบ้านกร่าง  รูปร่างลักษณะ

–          เหลืองแก่ หางยาว (ดังฟ่อนข้าว)

–          หน้าหงอนบาง กลางหงอนสูง หน้านกยูง

–          มีเกล็ดพิเศษอีกสี่เกล็ดด้วยกัน  ต้องดูที่นิ้ว ดังนี้

๑.  เกล็ดเสือซ่อนเล็บ

๒.  เกล็ดเหน็บชั้นใน

๓.  เกล็ดชัยบาดาล

๔.  เกล็ดผลาญศัตรู

–  รูปร่างไก่ชนของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  สูงโปร่ง คอยาว น่องสิงห์

–  ลักษณะเดือยดำทั้งสองข้าง เล็บขาว ปากขาว