เพลงพื้นบ้าน:กลอนเพลงปฎิพากย์

กลอนเพลงปฎิพากย์

สุกัญญา  ภัทราชัย

เพลงปฏิพากย์ คือ เพลงพื้นบ้านประเภทที่ชายหญิงร้องโต้ตอบกันในเชิงเกี้ยวพาราสี มีจุดเด่นอยู่ที่โวหารต่าง ๆ ที่นำมาปะทะคารมกัน  โวหารเหล่านี้บางครั้งก็แฝงนัยทางเพศอันเป็นเสน่ห์ของเพลงประเภทนี้

เพลงปฏิพากย์ ซึ่งผู้เขียนจะกล่าวถึงในบทความนี้ จำกัดวงอยู่เฉพาะเพลงปฏิพากย์ของภาคกลาง อันได้แก่ เพลงเรือ เพลงเกี่ยวข้าว เพลงฉ่อย ซึ่งเป็นเพลงหลักของเพลงปฏิพากย์ชนิดอื่น ๆ  และยังเป็นเพลงครูซึ่งพ่อเพลงแม่เพลงส่วนใหญ่หัดกันเป็นเพลงแรก

กลอนหัวเดียว:

กลอนไล กลอนลา กลอนลี กลอนลูด ฯลฯ

เพลงพื้นบ้านร้อยคำขึ้นมาจากลักษณะคำประพันธ์ที่คนไทยเรียกว่า กลอนเพลง

กลอนเพลงที่ใช้แต่งเพลงปฏิพากย์นี้เรียกกัยว่า “กลอนหัวเดียว”

กลอนหัวเดียว มีลักษณะอย่างไร?

กลอนหัวเดียว ก็คือ กลอนที่ลงท้านด้วยสระเสียงเดียวกันไปเรื่อย ๆ เช่น

กลอนไล ก็จะเป็นกลอนที่มีคำสุดท้ายของวรรคหลังลงด้วย สระไอ ทุกคำกลอน

กลอนลา คำสุดท้ายของวรรคหลังก็ลงด้วย สระอา

ดังตัวอย่าง

กลอนไล

ธรรมเนียมออกป่าละต้องชมนก            ว่าธรรมเนียมเข้ารก ละก็ต้องชมไม้

ก็นั่นยี่โถกระถิน ซ่อนกลิ่นมีถม             ก็โน่นแน่ะต้นลั่นทม อยู่ในเมืองไทย

ต้นทองสองต้นขึ้นอยู่ข้างทาง                 ก็ลอบเข้าถากเข้าถาง ว่าจะปลูกไปขาย

ทั้งใต้ต้นกระท้อน มีทั้งดงกระทือ           พี่ขี้เกียจจะถือ ทั้งแม่จะถอนเอาไป

โน่นแน่ะต้นกระเบา ขึ้นอยู่ที่คันบ่อ        ต้นบัวรูบ๋อ มันอยู่ในบ่อหนึ่งใบ

อุ๊ยในบ่อมีบอนจะตัดแบกไปบ้าน                   แกงกินเสียให้บาน เชียวนะตะไท ฯลฯ

(เพลงฉ่อย  สำนวนพ่อเผื่อน  โพธิ์ภักดิ์)

กลอนลา

จะยกบายศรีขึ้นสี่มุม                            ลูกจะไหว้พระภูมิที่มา

ไหว้ทั้งแม่เข้าเจ้า ทั้งพ่อข้าวเหนียว         เสียแหละเมื่อลูกนี้เกี่ยวกันมา

ลูกจะไหว้แม่โพสพ                              สิบนิ้วนอบนบ นิ้วหน้า

ขอให้มาเป็นมงคล มาสวมบนเกศา       กันแต่เมื่อเวลานี้เอย

(กลอนไหว้ครูเพลงเรือ สำนวนแม่บัวผัน   วงษ์งาม)

นอกจากกลอนไล กลอนลา  ซึ่งเป็นกลอนหลักแล้ว ยังมีกลอนอื่น ๆ อีก ดังจะได้ยกตัวอย่างพอสังเขป ดังนี้

กลอนลี

โอ้แม่งามเจริญ สวยเหลือเกินผู้หญิง      ฉันยอมไปไกลจริง ถึงแม่โยทินี

แต่แรกที่คิด จิตพี่ก็รัก                           มันเบือนบ่ายย้ายยัก  มันไม่ตั้งพอที่

ให้หนักแน่นแสนรัก จะพิศพักตร์ผุดผ่อง เหมือนจันทรสองส่อง อยู่ในทวีปทั้งสี่

ชลนัยน์ไหลร่วง จิตห่างใจห่อ                นี่จะไม่รั้งไม่รอ เชียวหรือแม่เนื้อสองสี

กลอนลัว

หญิง – ถอยพ่อถอย น้ำค้างยางข่อย     มันจะย้อยหยดหัว

หน้าพี่จะมืดตามัว                     ไปหมดทั้งตัวชายเอย

ชาย –  จะเป็นภู่วู่วาม                          จะชมเกษรเสียให้ทั่ว

แต่พอน้ำค้างย้อยหมด               เหล็กไนก็หยดออกหัวขั้ว

น้ำย้อยหยดหดตัว                     อยู่ที่ตัวนางเอย

(เพลงเกี่ยวข้าว สำนวนหลวงพ่อพร้อม)

กลอนลัน

จะหยุดหน่วงช้าหน่วง เสียเลยแม่พวงซะพอ  เจ้าช่อมะกอกดอกมะละกอ จำไว้จะว่า กลอนลัน

ได้ลูกกลม ๆ เขาเรียกมะนาว       ไอ้ที่ลูกยาว ๆ เขาเรียกมะดัน

ให้น้องแม่เป็นน้ำปลา                 จะได้งัดเอามาจิ้มกัน

น้องจิ้มด้วย พี่ก็จิ้มด้วย               จิ้มกันให้ปากถ้วยเป็นมัน เอ่ชา….

กลอนแชะ

บอกว่าวันนี้มาเจอกันเข้า                               เจอแม่มะพร้าว จำแพะ

เปรียบเหมือนกระรอกเที่ยวซอกเที่ยวซอน        อดหลับอดนอนเสียจนตาแฉะ

คราวนี้เอาตีนเขี่ย ที่หัวขั้ว                               น้ำในไหลรั่ว หยดแมะ

คราวนี้กระรอกผลุบเข้าผลุบออก                     เล่นเอาหัวถลอกแตกแยะ

กลอนติ๊ด

ก็ดูแต่ตูดเข็มยังมาสน                 เขากลัวตูดก้นมันจะติด

เอาขี้สนิมมันกิน ขี้สนิมมันพอก   จะลอกหัวมันดูสักนิด

แม่อึ่งอ่างจัญไร โดดไล่คางคก      งูเขียวโดดตก ตุ๊กแกติด

นั่นฤาษีเป็นลมหกล้มกระมัง       เลยเอาหัวไปตำก้อนอิฐ

กลอนลูด

บอกว่าผมเอาดีไปเป็นยา                      นึกว่าได้ฟาดกะตู๊ด

มันกุมโรคกุมภัย กุมได้หลายเท่า           กุมทั้งเครื่องศาสตรา อาวุธ

คราวนี้มันมาแทงเข้ามันก็ไม่ตาย           เป็นความสบายอยู่ที่ตู๊ด

(สำนวนกลอน พ่อเผื่อน  โพธิ์ภักดิ์)

นอกจากนี้แล้วยังมีกลอนอื่น ๆ อีก สุดแท้แต่ใครจะประดิษฐ์ขึ้นมา  ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว  แต่ข้อที่น่าสังเกตก็คือกลอนพื้นบ้านของเรานั้น  สัมผัสคล้องจองกันที่เสียงสระมิใช่ที่รูปสระ ดังจะพบว่า แม้ใน กลอนไล เสียงสระจะใช้ได้ทั้ง ใล-ไล-ลาย ดังตัวอย่าง

เห็นหัวเราแล้วแลมแลม              อยู่ที่ข้างกอแขม แล้วไรไร

แม่ก็เดินกระชด แม่ก็เดินกระช้อย แม่ก็เดินยิ้มน้อย แม่ก็เดินยิ้มใหญ่

เห็นหัวคนแม่จะทำไม่เห็น           จะเหยียบหัวมันเล่นแล้วให้ตาย

(เพลงอีแซว สำนวนนายชั้น  แดงทองคำ)

หรือ กลอนลัน ก็เช่นกัน ใช้ได้ทั้งเสียงสระสั้น-ยาว

จะแจ้งความไปตามอรรถ            พระเจ้าให้ตรัสสมาทาน

เกิดมังสังขึ้นมาก่อน                             เกิดในอุทรโตเท่ากำปั้น

เกิดนัยน์ตาขึ้นมาก่อน                ขมองอ่อนเกิดเรือนทวาร

พระอธิษธังท่านตั้งแต่ง               ไว้ห้าแห่งครบครัน

ดังนั้น ความไพเราะ คล้องจองของบทกลอนขึ้นอยู่กับเรื่องของเสียงเป็นสำคัญ

ขอไม่ให้แพ้เพลงต้น                   ขอไม่ให้จนเพลงด่า

ตลอดจนชักกลอนลา        เชียวนะกลอนไล

ในบทไหว้ครูเพลงฉ่อย  แม่เพลงร้อง ขอไม่ให้แพ้เพลงต้นและขอไม่ให้จนเพลงด่า

ไม่ให้จนเพลงด่า ก็คือ ขอให้ปฏิภาณสามารถยกสำนวนโวหารมาโต้ตอบกับฝ่ายชายได้เป็นการเอาชนะกันที่เนื้อความ

ส่วน ไม่ให้แพ้เพลงต้น นั้นเป็นเรื่องของการ “ชักกลอน” หรือเอาแพ้เอาชนะกันที่ตัวกลอนโดยเฉพาะ

การประดิษฐ์กลอนชนิดต่าง ๆ ขึ้นมามากมายของพ่อเพลงแม่เพลงมิใช่เพื่อสร้างความหลายหลากเท่านั้น  แต่ยังหมายถึงการแข่งขันว่าใครจะเจ้าบทเจ้ากลอนมากกว่ากัน  ใครจะมีลูกเล่นยักเยื้องคำ ใครจะเป็นนายของภาษามากกว่ากัน

ในการเล่นเพลงฉ่อย  เมื่อร้องบทไหว้ครู ชาย-หญิง จบแล้ว จะเข้าสู่บทเกริ่น  ตอนนี้เรียกกันว่า “ทอดกลอนไล” เมื่อคอต้นร้องจบ คอสองจะร้องต่อด้วยกลอนชนิดต่าง ๆ เช่น กลอนลี กลอนลัว ต่อจากนั้นคอสามจะต่อกลอนอื่น อาจเป็นกลอนลันก็ได้ต่อไปอีกจนครบคนร้องฝ่ายชาย เสร็จแล้วฝ่ายหญิงจะร้องเกริ่นโต้ตอบจนครบทุกคนเช่นกัน

ส่วนเพลงเกี่ยวข้าวยาวหรือเต้นกำ  เมื่อจบบทเกริ่นแล้ว ฝ่ายหญิงจะขึ้นก่อน ยกกลอนนำโดยทั่วไปจะใช้กลอนไล 3 จบ แล้วเปลี่ยนเป็นกลอนอื่น  ฝ่ายชายจะต้องว่ากลอนตามให้ได้  ถ้าว่าตามไม่ทันก็ถือว่าแพ้ ฉะนั้น พ่อเพลงแม่เพลงรุ่นก่อนจึงต้องมีกลอนเด็ดเอาไว้ปราบคู่ต่อสู้  เช่นที่มหากวีสุนทรภู่มีกลอนอีนอันลือเลื่อง

จังหวะ:

ตัวกำหนดจำนวนคำในกลอนเพลงปฏิพากย์

บทร้อยกรองพื้นบ้านมีลักษณะเด่นที่จำนวนคำ  และสัมผัสที่ไม่กำหนดตายตัวแน่นอน  หลักเกณฑ์นี้เป็นหลักของศิลปะพื้นบ้าน ซึ่งเป็นอิสระจากกรอบกฎเกณฑ์ที่ลงตัวอันต่างจากศิลปะที่เกิดขึ้นจากราชสำนัก

กลอนเพลงปฏิพากย์ก็เช่นเดียวกัน  นอกจากกลอนชนิดต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว จำนวนคำในกลอนก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ

กลอนเพลงโดยทั่วไปเกิดขึ้นจากการร้อยคำ 6-10 คำ เข้าด้วยกันในแต่ละวรรค  ดังนั้นหนึ่งคำกลอน : วรรคหน้าและวรรคท้ายอาจมีคำรวมกันได้ถึง 20 คำ วรรคหน้าอาจแบ่งคำได้เป็น 4/3, 4/4, 5/3, 5/4 และวรรคหลังแบ่งเป็น 4/3, 4/4, 5/2, 5/3, 5/4, 5/5 แต่ละวรรคอาจมีเพียง 6 คำ หรือยึดไปถึง 10 คำก็ได้สุดแต่ผู้ร้องจะร้องให้พอดีกับจังหวะที่ลง

จังหวะจึงเป็นตัวกำหนดจำนวนคำในกลอนเพลง เช่นเพลงเรือบทข้างล่างนี้

กลอนแรก วรรคหน้าร้องรวดทีเดียว 9 คำ วรรคหลัง 6/2

กลอนที่ 2 วรรคหน้า 5/6 วรรคหลัง 5/5

กลอนที่ 3 วรรคหน้า 6/5 วรรคหลัง 5/3

ทางโน้นก็ดีว่าทางนี้ก็ดี  ให้เลิกรากันเสียที(ฮ้าไฮ้) เป็นไร

บอกว่าพี่เป็นชาย ก็เปรียบเหมือนเม็ดข้าวเปลือก ผู้หญิงยอมให้เสือก ได้ท่าก็เข้าใส่

น้องเป็นตายพี่ไม่จาก จะขอฝากชีวา มอดม้วยมรณา ไม่ไปไหน

(เพลงเรือ สำนวนพ่อไสว  วงษ์งาม)

ดังนั้น  จึงไม่เป็นเรื่องแปลกที่กลอนเพลงชนิดหนึ่งจะใช้กลอนชุดเดียวกันร้องได้ทั้งเพลงฉ่อย เพลงเกี่ยวข้าว เพลงอีแซว เพลงระบำบ้านนา เพลงพวงมาลัย ฯลฯ เพียงแต่จับจังหวะของแต่ละเพลงให้ได้เท่านั้น  ก็สามารถยักย้ายกลอนร้องได้ทุกเพลง

เรื่องของเสียงและจังหวะจึงเป็นพื้นฐานสำคัญของกลอนเพลงปฏิพากย์!