พระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดินและประจำพระองค์รัชกาลที่ ๓

พระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดินและประจำพระองค์รัชกาลที่ ๓


เป็นตรางา ลักษณะกลม รูปปราสาท  เป็นสัญลักษณ์ของพระปรมาภิไธยว่า ทับ หมายความว่า ที่อยู่ หรือ เรือน ดังนั้นจึงโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระราชลัญจกรเป็นรูปปราสาท

พระราชลัญจกรนี้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นสำหรับใช้ประทับในต้นเอกสารสำคัญทั้งทางราชการและส่วนพระองค์  และมีปรากฎใช้ประทับในเงินพดด้วงสำหรับซื้อขาย ชำระหนี้

ครั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว  เมื่อได้มีการเชิญพระบรมอัฐิธาตุไปบรรจุที่ฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธอนันตคุณ  อดุลยญาณบพิตร  พระประธานในพระอุโบสถวัดราชโอรสาราม  ซึ่งเป็นวัดที่พระองค์ทรงปฏิสังขรณ์และสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด  จึงได้สลักรูปปั้นนูนพระราชลัญจกรปราสาทประดิษฐานที่ผ้าทิพย์ด้วย

พระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดินและประจำพระองค์รัชกาลที่ ๒

พระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดินและประจำพระองค์รัชกาลที่ ๒


เป็นตรางา ลักษณะกลม  รูปครุฑจับนาค  เป็นสัญลักษณ์ของพระปรมาภิไธยว่าฉิม  ตามความหมายของวรรณคดีไทยคือพญาครุฑ  ดังนั้น จึงนำรูปครุฑจับนาคมาเป็นเครื่องหมายแทนพระปรมาภิไธยในพระราชลัญจกร

พระราชลัญจกรนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใช้ประทับในต้นเอกสารสำคัญทั้งทางราชการและส่วนพระองค์  และปรากฎมีใช้ประทับในเงินพดด้วงสำหรับซื้อขาย  ชำระหนี้

ครั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคตแล้ว  ต่อมาได้มีการเชิญพระบรมอัฐิธาตุไปบรรจุที่ฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก  พระประธานในพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม  ซึ่งมีตำนานกล่าวว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่  และพระเศียรพระประธานเป็นฝีพระหัตถ์ของพระองค์ทรงปั้นตกแต่ง จึงได้สลักรูปปั้นนูนพระราชลัญจกรครุฑจับนาคประดิษฐานไว้ที่ผ้าทิพย์ด้วย

พระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดินและประจำพระองค์รัชกาลที่ ๑

พระราชลัญจกร

เพลินพิศ  กำราญ

กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร

พระราชลัญจกรคือตราสำหรับพระมหากษัตริย์  ใช้ประทับในเอกสารสำคัญอันแสดงถึงพระราชอำนาจในการปกครองบริหารราชการแผ่นดิน  หรือเป็นสัญลักษณ์ที่ทรงเป็นพระประมุขของประเทศชาติ ผู้เขียนจึงได้รวบรวมลักษณะและความหมายของพระราชลัญจกรประจำพระองค์ไว้เพื่อประโยชน์ในการศึกษาดังนี้

พระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดินและประจำพระองค์รัชกาลที่ ๑

เป็นตรางา ลักษณะกลม รูปปทุมอุณาโลม มีอักขระ อุ อยู่กลาง อุ มีลักษณะเป็นม้วนกลม  คล้ายลักษณะความหมายของพระปรมาภิไธยว่า ด้วง จึงใช้อักขระ อุ เป็นมงคลแก่พระปรมาภิไธย  และเพื่อความงดงามจึงล้อมรอบด้วยกลีบบัว  เพราะดอกบัวเป็นพฤกษชาติที่เป็นสิริมงคลของพระพุทธศาสนา

พระราชลัญจกรนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใช้ประทับในต้นเอกสารสำคัญทั้งทางราชการและส่วนพระองค์  และปรากฎมีใช้ประทับในเงินพดด้วงสำหรับซื้อขาย ชำระหนี้  ครั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จสวรรคตแล้ว  ต่อมาเมื่อมีการเชิญพระบรมอัฐิธาตุไปบรรจุที่ฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธเทวปฏิมากรพระประธานในพระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม  จึงได้สลักรูปปั้นนูนพระราชลัญจกรปทุมอุณาโลมประดิษฐานที่ผ้าทิพย์ด้วย

กวนหยินหรือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรในภาคสตรีของจีน

กวนหยิน  หรือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรในภาคสตรีของจีน

ซึ่งเป็นพระผู้ทรงเมตตา

ศิลปจีน  ผลิตจากเตาเต๋อฮั้ว มณฑลฝูเจี้ยน

คริสต์ศตวรรษที่ ๑๘

กวนหยิน หรือที่คนไทยนิยมเรียกว่าเจ้าแม่กวนอิมตามสำเนียงภาษาจีนแต้จิ๋วหรือเฉาโจ้ว ในภาษาจีนกลาง ซึ่งก็คือ  พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์  พระผู้ทรงกรุณายิ่งในพระพุทธศาสนาลัทธิมหายาน  พระองค์มีปณิธานว่า ตราบใดในสังสารวัฏฏะ ยังมีสัตว์แม้สัตว์หนึ่งตกอยู่ในห้วงแห่งทุกข์ ตราบนั้นก็ยังไม่ขอบรรลุปรินิพพาน จะทรงอยู่โปรดสัตว์จนถึงที่สุด พุทธบริษัทฝ่ายมหายานจึงเคารพนับถือพระองค์มาก  คติมหายานถือว่า กวนหยินได้สำเร็จพุทธภูมิแล้วนานหลายอสงไขยกัลป มีพระนามว่าพระสัมมาธรรมวิทยาประภาตถาคต แต่ก็ลดพระองค์ลงมาอยู่ในฐานะพระโพธิสัตว์ เพื่อจะได้ช่วยเหลือพระพุทธเจ้าทั้งหลายโปรดสัตว์

ในคัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตร  กล่าวว่า กวนหยินทรงอวตารแบ่งภาคปรากฎแก่สรรพสัตว์ตามเพศภูมิแห่งสัตว์ผู้ประสบทุกข์  ซึ่งพระองค์โปรด เช่น สตรีเพศเมื่อได้รับทุกข์และภาวนาระลึกถึงพระองค์ให้ช่วย พระองค์ก็จะมาในเพศของสตรีปรากฎให้เห็น  ถ้าเป็นพระภิกษุก็จะทรงปรากฎในบรรพชิตเพศเป็นต้น

สมชาย  วรศาสตร์  ถ่ายภาพ

ตำนานเรื่องฤาษีตาวัว – ฤาษีตาไฟ

ฤาษีตาวัว – ฤาษีตาไฟ


แต่กาลก่อนทางภาคพื้นประเทศไทยเรามีฤาษีอยู่มาก  โดยเฉพาะฤาษีตาวัวกับฤาษีตาไฟ ติดปากคนมากกว่าฤาษีอื่น ๆ  และประวัติก็มีมากกว่า  เท่าที่ทราบพอจะรวบรวมต่อจากที่เล่ามาแล้วข้างต้นได้ดังต่อไปนี้

ฤาษีตาวัวนั้นเดิมทีเป็นสงฆ์ตาบอดทั้งสองข้าง  แต่ชอบเล่นแร่แปรธาตุจนสามารถทำให้ปรอทแข็งได้  แต่ยังไม่ทันใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างไรก็เอาไปทำหล่นตกถาน (ส้วมของพระตามวัด) เสียจะหยิบเอามาก็ไม่ได้เพราะตามองไม่เห็น  เก็บความเงียบไว้ไม่กล้าบอกใคร  จนกระทั่งวันหนึ่งลูกศิษย์ไปถานแลเห็นแสงเรือง ๆ จมอยู่ใต้ถาน  ก็กลับมาเล่าให้อาจารย์ฟัง  หลวงตาดีใจบอกให้ศิษย์พาไป  ถ้าเห็นแสงเรืองตรงไหนให้จับมือจุ่มลงไปตรงนั้น  จะเลอะเทอะสกปรกอย่างไรช่างมัน  ศิษย์กลั้นใจทำตาม  หลวงตาก็ควักเอาปรอทกลับคืนมาได้  จัดแจงล้างน้ำให้สะอาดดีแล้วก็เอาแช่ไว้ในโถน้ำผึ้งที่ท่านฉัน ไม่เอาติดตัวไปไหนอีก  เพราะกลัวจะหล่นหาย

อยู่มาวันหนึ่งท่านก็มารำพึงถึงสังขาร  ว่าเราจะมานั่งตาบอดอยู่ทำไม  มีของดีของวิเศษอย่างนี้แล้วก็น่าจะลองดู  จึงให้ศิษย์ไปหาศพคนตายใหม่ ๆ เพื่อจะควักเอาลูกตา  แต่ศิษย์หาศพใหม่ๆ ไม่ได้  ไปพบวัวนอนตายอยู่ตัวหนึ่งเข้าที่ดีก็เลยควักลูกตาวัวมาแทน  หลวงตาจึงเอาปรอทที่แช่น้ำผึ้งไว้มาคลึงที่ตา  แล้วควักเอาตาที่เสียออก  เอาตาวัวใส่แทนแล้วเอาปรอทคลึงตามหนังตา  ไม่ช้าตาทั้งสองข้างก็กลับเห็นดีดังธรรมดา  แล้วหลวงตาก็สึกจากพระเข้าถือเพศเป็นฤาษี  จึงได้เรียกกันว่าฤาษีตาวัวมาตั้งแต่ครั้งนั้น

ส่วนฤาษีตาไฟนั้นยังไม่พบต้นเรื่องว่าทำไมจึงเรียกว่าฤาษีตาไฟ  บางทีตาของท่านจะแดงก่ำหรือมีอำนาจแรงร้อนเป็นไฟแบบตาที่สามของพระอิศวรกระมัง  ได้ฟังจากนักเลงพระเครื่อง  เขาว่าพระท่ากระดานนั้นฤาษีตาไฟเป็นประธานในการสร้าง  ท่านมีวิชาอาคมแก่กล้ามาก  ท่านเพ่งกสิณจนทำให้ตะกั่วละลายโดยไม่ต้องใช้ไฟหลอม  แต่ท่านผู้เล่าก็ไม่ได้ชี้แจงแสดงหลักฐานอะไร  อย่างไรก็ตามท่านทั้งสองคือฤาษีตาวัวกับฤาษีตาไฟนั้นเป็นเพื่อนเกลอกัน  ตามเรื่องว่าฤาษีสององค์นี้สร้างกุฏีอยู่ใกล้กันบนเขาใกล้เมืองศรีเทพ  ศิษย์ของฤาษีตาไฟเป็นลูกเจ้าเมืองศรีเทพ  ท่านออกจะรักและโปรดมากมีอะไรก็บอกให้รู้ไม่ปิดบัง  วันหนึ่งฤาษีตาไฟได้เล่าให้ศิษย์ฟังว่า  น้ำในบ่อสองบ่อที่อยู่ใกล้กันนั้นมีฤทธิ์อำนาจไม่เหมือนกัน  น้ำในบ่อหนึ่งเมื่อใครเอามาอาบก็จะตาย  และถ้าเอาน้ำอีกบ่อหนึ่งมารดก็จะฟื้นขึ้นมาได้อีก  ศิษย์ไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้  ฤาษีตาไฟจึงบอกว่าจะทดลองให้ดูก็ได้  แต่ต้องให้สัญญาว่าถ้าคนตายไปแล้ว  ต้องเอาน้ำอีกบ่อหนึ่งมารดให้คืนชีวิตขึ้นใหม่  ศิษย์ก็รับคำ  ฤาษีตาไฟจึงเอาน้ำในบ่อตายมาอาบ ฤาษีก็ตายจริง ๆ  ฝ่ายศิษย์เห็นเช่นนั้นแทนที่จะทำตามสัญญา  กลับวิ่งหนีเข้าเมืองไปเสีย

กล่าวฝ่ายฤาษีตาวัว  ซึ่งเคยไปมาหาสู่ฤาษีตาไฟอยู่เสมอ  เมื่อเห็นฤาษีตาไฟหายไปผิดสังเกตุเช่นนั้นก็ชักสงสัย  จึงออกจากกุฏีมาตาม  เมื่อเดินผ่านบ่อน้ำตายเห็นน้ำในบ่อเดือดก็รู้ว่าเกิดเหตุร้ายขึ้นแล้ว  เดินต่อไปอีกก็พบซากศพของฤาษีตาไฟ  ฤาษีตาวัวจึงตักน้ำอีกบ่อหนึ่งมาราดรด  ฤาษีตาไฟก็ฟื้นคืนชีพขึ้นมา  แล้วเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ฤาษีตาวัวฟังแล้วว่าจะต้องแก้แค้นศิษย์ลูกเจ้าเมือง  ตลอดจนประชาชนพลเมืองทั้งหมดอีกด้วย  ฤาษีตาวัวก็ปลอบว่าอย่าให้มันรุนแรงถึงอย่างนั้นเลย  ฤาษีตาไฟก็ไม่เชื่อฟัง  ได้เนรมิตวัวขึ้นตัวหนึ่ง  เอาพิษร้ายบรรจุไว้ในท้องวัวจนเต็ม  แล้วปล่อยวัวกายสิทธิ์ให้เดินขู่คำรามด้วยเสียงกึกก้องทั้งกลางวันกลางคืน  แต่เข้าเมืองไม่ได้เพราะทหารรักษาประตูปิดประตูไว้  พอถึงวันที่เจ็ดเจ้าเมืองเห็นว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็สั่งให้เปิด  วัวกายสิทธิ์คอยทีอยู่แล้ว  ก็วิ่งปราดเข้าเมือง  ทันทีนั้นท้องวัวก็ระเบิดออก  พิษร้ายก็กระจายพุ่งออกมาทำลายผู้คนพลเมืองตายหมด  เมืองศรีเทพก็เลยร้างมาแต่ครั้งนั้น

ถ้าว่าตามเรื่องที่เล่ามานี้  ฤาษีตาวัวก็ดูจะใจดีกว่าฤาษีตาไฟ  และคงจะเป็นด้วยฤาษีตาวัวเป็นผู้ช่วยให้ฤาษีตาไฟฟื้นคืนชีพขึ้นมานั่นเองกระมัง  ทางฝ่ายแพทย์แผนโบราณจึงได้ถือเป็นครู ส่วนทางฝ่ายทหารออกจะยกย่องฤาษีตาไฟดังมีมนต์บทหนึ่งกล่าวไว้ในตำราพิชัยสงคราม “ขอพระศรีสุทัศน์เข้ามาเป็นดวงใจ  พระฤาษีตาไฟเข้ามาเป็นดวงตา”  ดังนี้

ในตำราเกี่ยวกับเวทย์มนต์คาถาว่าพระฤาษีตาไฟได้ให้ยันต์ไว้  เรียกกันว่ายันต์พระฤาษีตาไฟ  ถ้าผู้ใดได้พบจะมิรู้ยากรู้จนเลย  ตีราคาไว้ชั่งทอง ๑  ว่าให้ทำยันต์นั้นใส่ลงในตลับขี้ผึ้งก็ได้  แต่ถ้าจะให้ผู้หญิงรักให้เอาใบรักซ้อนห่อรูปไปฝังไว้ในป่าช้า ๓ วัน ๗ คืน  ท่านว่าหญิงนั้นจะเฉยอยู่มิได้  พระฤาษีตาไฟท่านให้ไว้เป็นทานแก่คนทั้งหลาย  ถ้าจะให้ขุนนางรัก  ท่านให้ลงใส่ในใบรักซ้อน แล้วเอามะกรูดส้มป่อยใส่ลงในขันสำริดเสก ๑๕ คาบ ไปหาขุนนางท่านรักนัก ยันต์นี้เสกด้วยคาถา”จิปีปีเสคิจด เสคิจิปิ คิจิปิเส” ในยันต์ก็ลงด้วยคาถานี้เหมือนกัน  ดังนี้จะเห็นว่าฤาษีตาไฟมาเกี่ยวข้องกับเวทมนต์คาถาและความเชื่อถือของไทยอยู่ไม่น้อย

“ซอสามสาย” สุดยอดแห่งซอ

ซอสามสาย


ในกระบวนซอของไทย   ซอสามสายนับว่าเป็นยอดของซอ  เพราะนอกจากจะสียากแล้ว  การทำซอก็ยาก  โดยเฉพาะกระโหลกซอต้องหาชนิดที่มีลักษณะพิเศษ

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดซอสามสายมาก   ได้ทรงประดิษฐ์ขึ้นคันหนึ่งพระราชทานนามว่า “สายฟ้าฟาด”  สวนของผู้ใดมีมะพร้าวที่ใช้ทำกระโหลกซอสามสายได้  ก็โปรดพระราชทานตราภูมิคุ้มห้ามไม่ต้องเสียภาษี