มารยาทในการเขียนจดหมาย

Socail Like & Share

การเขียนจดหมายบางคนมีความเบื่อมาก ถ้ามีจดหมายมาถึงการตอบจดหมายก็ยิ่งทำให้น่าเบื่อยิ่งขึ้น

มารดาอาจจะคอยจดหมายจากลูกที่ต้องไปอยู่โรงเรียนประจำที่ต่างจังหวัด เพื่อนอาจคอยจดหมายจากเพื่อนเก่า น้องคอยจดหมายพี่ การละเลยเรื่องนี้อาจทำให้เกิดการผิดใจกันได้ บางคนอาจโกรธและไม่ได้ติดต่อกันอีกเลย เพราะละเลยไม่ตอบจดหมาย ทั้งๆ ที่การตอบจดหมายก็ใช้เวลาไม่มาก
นาย ก.
“ผมเกลียดการเขียนจดหมาย ไม่รู้ว่าโรคอะไร”

นางสาว ข.
“เขียนจดหมายหรือคะ? ให้ฉันถูกทำโทษเสียดีกว่า”

นาง ค.
“สำหรับดิฉัน การเขียนจดหมาย คืองานที่น่าเบื่อที่สุดในโลก!”

ไม่รู้ว่ากี่สมัยต่อกี่สมัยมาแล้วที่ความคิดนี้เกิดขึ้นในสมองของมนุษย์ คนที่คิดเช่นนี้ คือคนที่สักแต่พูดโดยไม่คิดถึงเหตุผล

ท่านลองคิดดูว่า ท่านรังเกียจที่เพื่อนๆ มาเยี่ยมเยียนและคุยด้วยหรือเปล่า? ท่านรังเกียจในการไปพบปะสนทนากับมิตรของท่านหรือเปล่า?

ถ้าท่านตอบว่า ไม่ แล้วทำไมท่านจึงรังเกียจที่จะส่งจดหมายไปสนทนากับมิตรสหายแทนตัวท่านเล่า? เขาจะยินดีมากขณะที่จดหมายของท่านไปถึงมือ แสดงว่าท่านให้ความสนใจต่อเขา

บางคนอาจแก้ตัวว่า
“ฉันเขียนจดหมายไม่เป็นหรอก ไม่รู้จะเอาอะไรมาเขียน ชีวิตมันก็อย่างนี้แหละ วันแล้วก็วันเล่า ไม่เห็นมีอะไรแปลกหรือดีขึ้นมากกว่าเก่าเลย”
อย่างนี้คือคนที่ไม่พยายามทำตัวให้ขยันขึ้น ไม่เหมือนกับที่ขยันแต่งตัวเวลาไปหาเพื่อนเลย

จดหมายที่เขียนบนกระดาษที่เรียบร้อย ด้วยลายมือที่ประณีต ด้วยข้อความที่เหมาะสม สื่อความหมายว่าผู้รับถูกระลึกถึงอย่างมาก จะเป็นตัวแทนนำความสดชื่นและความพออกพอใจให้แก่ผู้รับเป็นอันมาก ไม่ควรเขียนให้เสร็จเร็วๆ แบบลวกๆ เท่านั้น

การทดสอบว่าจดหมายมีอิทธิพลต่อชีวิตจิตใจของผู้รับเพียงใด ทำได้โดย ท่านลองเขียนจดหมายฉบับหนึ่งตามอารมณ์ที่ยุ่งเหยิงของท่าน มีการขูดลบขีดฆ่า ไม่สนใจการเว้นระยะ เขียนไปตามสบาย กับอีกฉบับหนึ่ง ให้พยายามเขียนอย่างประณีตสวยงามสะอาด แม้ใจความจะเป็นอย่างเดียวกับฉบับแรก แต่ก็จะได้ผลลัพธ์แตกต่างกันมากทีเดียว

หลักสำคัญในการเขียนจดหมาย คือ
1. อย่าฝืนเขียนจดหมาย หากท่านยังไม่สบอารมณ์ แต่จงเขียนเมื่อคิดถึงผู้นั้น ท่านจะได้เล่าเหตุการณ์ให้เขาฟังราวกับว่าท่านอยู่ตรงหน้าเขาได้

2. ใช้กระดาษและซองจดหมายที่ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้ แต่ถ้าเขียนถึงผู้อาวุโสก็ไม่ควรใช้ปากกาลูกลื่น หรือกระดาษจดหมายที่มีกลิ่นหอม

3. ควรเลือกกระดาษจดหมายที่เป็นสีขาว เทาอ่อน ฟ้าจางๆ ไม่ใช้สีฉูดฉาด ไม่ใช้กระดาษที่มีเส้นบรรทัด ควรใช้เฉพาะหมึกสีน้ำเงินแก่ หรือน้ำเงินดำ

4. ปากกาที่เขียนต้องไม่กัดกระดาษ หมึกไม่ซึม เขียนแล้วไม่ทำให้เส้นแตก

5. จดหมายของท่านจะเต็มไปด้วยเนื้อหาที่น่าอ่านจากอารมณ์ที่แจ่มใสของท่าน หากได้เลือกโต๊ะที่นั่งให้สบาย มีแสงในระดับที่ดี จนท่านต้องประหลาดใจ

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง มรรยาทงาม ของ ผกาวดี อุตตโมทย์