หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล

Socail Like & Share

พระบรมวงศ์พระองค์หนึ่งในมหาจักรีบรมราชวงศ์ ผู้ทรงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมพระพุทธศาสนาทั้งภายในและภายนอกประเทศ ทรงเป็นสตรีที่ดำรงตำแหน่งประธานองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก หลายวาระติดต่อกันยาวนานถึง ๒๑ ปีหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล

หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล เป็นพระธิดาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับ หม่อมเฉื่อย สกุลเดิม ยมาภัย ประสูติเมื่อวันจันทร์ที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๘ ที่วังสามยอด ริมถนนเจริญกรุง เชิงสะพานดำรงสถิตย์ มีเจ้าพี่เจ้าน้องร่วมหม่อมมารดา ๙ องค์ คือ พันโท หม่อมเจ้าจุลดิศ ดิศกุล (พ.ศ. ๒๔๒๔ – ๒๔๙๐) หม่อมเจ้าอิทธิดำรง ดิศกุล (พ.ศ. ๒๔๒๘ – ๒๔๓๕) หม่อมเจ้าทรงวุฒิภาพ ดิศกุล (พ.ศ. ๒๔๓๒ – ๒๔๖๙) หม่อมเจ้าหญิงแฝด ๑ คู่ หม่อมเจ้ารัชลาภจิรฐิต ดิศกุล (พ.ศ. ๒๔๓๖ – ๒๔๔๓) หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล หม่อมเจ้าพิลัยเลขา ดิศกุล (พ.ศ. ๒๔๔๐ – ๒๔๖๙) และหม่อมเจ้าดิศศานุวัติ ดิศกุล (พ.ศ. ๒๔๔๕ – ๒๕๑๐)

เมื่อยังทรงพระเยาว์ หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงศึกษาภาษาไทยกับคุณหญิงวิทยาปรีชามาตย์ (อ่อง) ทรงศึกษาวิชาสำหรับกุลสตรีจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี (พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา) และทรงศึกษาภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสโดยตรงจากครูสตรีชาวอังกฤษและฝรั่งเศส ส่วนวิชาการด้านต่างๆ เช่น โบราณคดี ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ สังคม ศาสนา พระองค์ทรงศึกษาโดยตรงกับพระบิดา นักปราชญ์ผู้ทรงได้รับยกย่องเป็น “บิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย” เพราะทรงรับใช้ใกล้ชิดมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เนื่องจากหม่อมมารดาเสียชีวิตตั้งแต่พระองค์มีพระชันษา ๗ ปี

การศึกษาดังกล่าวมาของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล นับเป็นประสบการณ์ตรง ด้วยการตามเสด็จพระบิดาไปตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ ในเวลาที่เสด็จไปทรงตรวจราชการและเสด็จประพาสต่างประเทศ ดังนั้นพระองค์จึงทรงรอบรู้เรื่องบ้านเมือง การประเพณี และเรื่องราวต่างประเทศเกี่ยวกับพระราชวงศ์และบุคคลสำคัญต่างๆ รวมทั้งทรงรู้จักสนิทสนมกับชาวต่างประเทศหลายคน

หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวังในสำนักของพระวิมาดาเธอ กรมพระ สุทธาสินีนาฏ จนกระทั่งพระชันษา ๑๕ ปี จึงเสด็จกลับไปประทับปฏิบัติรับใช้พระบิดาอยู่ใกล้พระองค์ตลอดพระชนมชีพ แม้ขณะที่เสด็จไปประทับที่ปีนัง หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง แล้วก็ตาม และทรงเล่าถึงวิธีการเลี้ยงดูลูกของสมเด็จฯ กรมพระยา ดำรงราชานุภาพ สรุปความได้ว่า ทุกพระองค์ต้องตื่นบรรทมแต่เช้า ต้องทำงานการบ้านการครัวเป็น เพื่อควบคุมคน ต้องแต่งกายสุภาพเหมาะสมกับกาลเทศะและเกียรติยศ ต้องไม่พูดปด พูดจาสุภาพอ่อนหวาน ไม่ทำหน้างอเวลาสนทนากับผู้อื่น ตรงต่อเวลาและละเอียดถี่ถ้วน ใช้ปัญญาคิดหาเหตุผลถึงเรื่องต่างๆ ทั้งดี และไม่ดี รวมทั้งทรงแนะนำให้อ่านแต่หนังสือที่ดีมีคุณค่าเพราะว่า “… หนังสือ เป็นเพื่อนที่ดีและอยู่ในอำนาจเรา ไม่ชอบก็เก็บเข้าตู้ไว้ ไม่เหมือนคุยกับคน ไม่ถูกใจก็ต้องทนเพราะไล่เขาไม่ได้…”

นอกจากนั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ยังทรงพาพระธิดาไปทอดพระเนตรพิธีในศาสนาต่างๆ เช่น วัน Good Friday ของคริสต์ศาสนา เป็นวันที่ปลดพระเยซูลงจากไม้กางเขน พิธีลุยไฟของเจ้าเซน ฯลฯ ซึ่งทำให้เกิดสนใจเรื่องราวของพุทธศาสนาต่อมา แล้วทรงแนะนำให้พระธิดาอ่านหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่พระองค์ทรงมีอยู่เป็นจำนวนมาก ถ้าทรงอ่านแล้วไม่เข้าใจก็ตรัสอนุญาตไว้ว่า “คราวนี้ไม่ เข้าใจก็มาถามฟัง” จึงเป็นเหตุให้หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงสนพระทัยศึกษาธรรมะในพระพุทธศาสนาอย่างจริงจังต่อมา และทรงสรุปความถึงผลที่ทรงได้รับจากพุทธศาสนาไว้ว่า

พระพุทธศาสนาได้ทำให้ข้าพเจ้าเป็นคนรู้จักเหตุผล ทำให้ฉลาดขึ้น ทำให้เป็นคนรู้จักทำความสุขให้ตัวเองได้ ทำให้เป็นคนกล้าไม่กลัวอะไรนอกจากบาป และเป็นคนมีเสรีภาพไม่ผูกพันหลงใหลแก่สิ่งต่างๆ ซึ่งไม่มีสาระแก่นสาร เพราะเชื่อแน่ในพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจํ ทุกขํ อนตฺตา …

หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจด้านศาสนาอันเป็นประโยชน์ต่อพุทธศาสนิกชนทั่วโลกหลายประการ ทั้งงานด้านการเขียน การพูด การให้คำปรึกษาแนะนำ รวมทั้งอุทิศพระองค์ทำงานเพื่อพุทธศาสนาด้วยการเป็นกรรมการบริหารสมาคมและองค์กรพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่อง เช่น

-ทรงพระนิพนธ์หนังสือสอนศาสนาสำหรับเด็ก เรื่อง ศาสนคุณ ส่งเข้าประกวดได้รับพระราชทาน รางวัลที่ ๑ และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระราชพิธี วิสาขบูชา พ.ศ. ๒๔๗๒ พร้อมทั้งทรงพระราชนิพนธ์คำนำชมเชยไว้ด้วย นอกจากนั้นยังมีพระราชดำรัส ชักชวนให้ไปสอนพุทธศาสนาแก่เด็กที่พระองค์ทรงเลี้ยงอีกด้วย สำนวนการเขียนหนังสือเรื่องเกี่ยวกับ ศาสนาของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล นี้ แม้แต่พระบิดายังทรงชมเชย ทั้งๆ ที่ไม่ทรงทราบว่าใครเป็นผู้แต่ง ว่า “ใครหนอเขียน No. ๒ ? เขาช่างสอนลงมาให้เด็กเข้าใจดีจริงๆ พ่อตกลงใจให้ No. ๒ เป็นที่ ๑ !”

นอกจากทรงพระนิพนธ์เรื่องศาสนาแล้ว หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ยังทรงพระนิพนธ์เรื่องเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีไทย การเดินทางท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะเมื่อเสด็จไปประชุมด้านศาสนาในประเทศต่างๆ ก็จะทรงนิพนธ์ไว้เสมอ

-ทรงรับเชิญเป็นผู้บรรยายเรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนา ตามที่สถาบันและหน่วยงานต่างๆ ทูลเชิญ ด้วยทรงสามารถอธิบายหลักธรรมในพุทธศาสนาให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ฟังเข้าใจง่าย ไม่เบื่อหน่าย โดยการ เทียบเคียงอุปมาอุปไมย แม้แต่ชาวต่างชาติก็สนใจ เช่น พ.ศ. ๒๔๙๓ ทรงรับเชิญไปบรรยายที่มหาวิทยาลัย ซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเวลา ๑ ปี และทรงรับเชิญไปแสดงปาฐกถาธรรมแก่นักเรียนนิสิต นักศึกษา และผู้สนใจตามโรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย และสถานีวิทยุกระจายเสียง รวมทั้งการฝึกอบรมลูกเสือชาวบ้าน

-ทรงรับเชิญเป็นที่ปรึกษาของกลุ่มพุทธศาสนา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเสด็จไปยังคณะอักษรศาสตร์ สัปดาห์ละ ๒ ครั้ง เพื่อประทานความรู้และให้คำปรึกษาแนะนำ แก่นิสิตที่สนใจ ต่อมาทรงรับเชิญเป็นที่ปรึกษาชมรมพุทธศาสน์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยอีกแห่งหนึ่ง

-ทรงเป็นกรรมการบริหารและอุปนายกของพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และทรงร่วมคณะผู้แทนไทยไปประชุมก่อตั้งองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) เป็นผลสำเร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ ที่กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา

-ทรงได้รับเลือกเป็นรองประธานองค์การ พ.ส.ล. เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖ แล้วทรงได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานองค์การ พ.ส.ล. เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗ แต่เดิมสำนักงานใหญ่และสำนักงานเลขาธิการขององค์การ พ.ส.ล. จะตั้งอยู่ในประเทศที่ผู้แทนของประเทศได้ดำรงตำแหน่งประธานองค์การ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๒ เป็นต้นมา ที่ประชุมมีมติให้ตั้งสำนักงานถาวรอยู่ในประเทศไทย เนื่องจากเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ พระมหากษัตริย์ไทย ทรงเป็นพุทธมามกะและอัครศาสนูปถัมภกและรัฐบาลไทยให้งบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานขององค์การตลอดมา

หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงดำรงตำแหน่งประธานองค์การ พ.ส.ล. อยู่หลายวาระ เป็นเวลา ๒๑ ปี จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๒๗ พระชันษา ๘๙ ปี จึงทรงได้รับยกย่องเป็นประธานกิตติมศักดิ์ตามประเพณี

ระหว่างที่ทรงเป็นประธานองค์การ พ.ส.ล. นั้น หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงปฏิบัติงานประจำอยู่ที่สำนักงานใหญ่ตลอดมา และยังทรงอุตส่าห์เสด็จไปเยือนศูนย์ภาคีขององค์การ พ.ส.ล. ตามประเทศต่างๆ รวมทั้งทรงบรรยายหลักธรรมทางพุทธศาสนาไปด้วย ทำให้มีผู้รู้จักเคารพนับถือพระองค์ท่านอยู่ทั่วไป ไม่เฉพาะแต่ชาวไทยพุทธเท่านั้น
ความพยายามของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ในการทรงงานเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อความกลมเกลียว ร่วมมือกันระหว่างพุทธศาสนิกชนทั่วโลก อันนำไปสู่สันติภาพนี้ ทำให้พระเกียรติคุณแผ่กระจายเป็นที่ชื่นชมทั่วไป มหาวิทยาลัยหลายแห่งจึงถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์แด่พระองค์ คือ มหาวิทยาลัยดองกุก ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถวายปริญญาอักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถวายปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓

ที่สำคัญและเป็นพระเกียรติอย่างยิ่ง คือ หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ วชิรมงกุฎ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓

หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล สิ้นชีพิตักษัยด้วยพระโรคชรา ที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ พระชันษา ๙๕ ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อ วันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๓

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย:ศิรินันท์ บุญศิริ