หม่อมหลวงเติบ ชุมสาย

Socail Like & Share

ประเทศไทยมีเอกลักษณ์หลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นที่ชื่นชม และแพร่หลายไปในนานาประเทศทั่วโลก “อาหารไทย” นับว่าเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่ชาวต่างชาติรู้จักกันมานานนับแต่สมัยโบราณ ทั้งนี้ก็เนื่องจากอาหารไทยได้รับการหม่อมหลวงเติบ ชุมสายอนุรักษ์และสืบทอดกันต่อมาจนถึงปัจจุบัน สตรีไทยท่านหนึ่งได้ทำหน้าที่นี้เป็นอย่างดียิ่ง ท่านผู้นี้คือ หม่อมหลวงเติบ ชุมสาย ผู้ได้นำวิชาการแขนงนี้ออกไปเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักในนานาประเทศ

หม่อมหลวงเติบ ชุมสาย เป็นธิดาของพระยาสีหศักดิ์สนิทวงศ์ (หม่อมราชวงศ์ถัด ชุมสาย บิดาคือ หม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย มารดาคือหม่อมเจ้าหญิงสารภี สนิทวงศ์) กับคุณหญิงสีหศักดิ์สนิทวงศ์ (คุณหญิงติ๊ ธิดาขุนโภคาสมบัติ (เอม) และนางโภคาสมบัติ (จั่น)) หม่อมหลวงเติบเกิดเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ เป็นบุตรคนที่ ๖ ในจำนวนพี่น้อง ๗ คน ได้แก่ หม่อมหลวงติ๋ว (หญิง) หม่อมหลวงต๋อย (ชาย) หม่อมหลวงต้อย (ชาย) หม่อมหลวงตุ้ย (ชาย) หม่อมหลวงต่อ (หญิง) หม่อมหลวงเติบ (หญิง) และหม่อมหลวงสีตอง (หญิง) หม่อมหลวงเติบจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๖ จากโรงเรียนสายปัญญา และมัธยมศึกษาปีที่ ๘ จากโรงเรียนราชินีบน

หม่อมหลวงเติบและพี่น้องของท่านทุกคน ล้วนได้รับการปลูกฝังความรู้และประสบการณ์เรื่องการประกอบอาหาร และการดูแลงานครัว มาจากฝ่ายบิดาและมารดา โดยเฉพาะมารดาของท่านนั้น เป็นผู้ที่มีฝีมือในการปรุงอาหารหวานคาวเป็นเลิศ ทั้งอาหารไทยและอาหารฝรั่ง หม่อมหลวงเติบเคยเล่าไว้ในหนังสือคู่มือแม่บ้านว่า

“.. วิธีเรียนการครัวของพวกเรา จะเริ่มต้นด้วยบิดามารดาเล่านิทานก่อนแม่นอน นิทานที่เกี่ยวกับงานครัว นั่นเมื่อเรายังเป็นเด็กเล็กๆ ต่อมาจะฝึกในเรื่องรสนิยม ชี้หรือหาแบบอย่างให้ดูให้ชิน จนเด็กๆ จดจำแม่นยำไม่เคลือบแคลงหรือปะปน… การฝึกต่อไปอีก เมื่อโตขึ้นหน่อยคือพาให้ได้เห็นสังคมการกินอยู่บ่อยๆ แล้วสอบพวกเราด้วยตั้งคำถาม ต่างๆ นานา เมื่อพวกเราพอจะรู้เรื่องของโลกมาขึ้นหน่อย จึงเริ่มเรียนเรื่องของ นาม ใน วิชาการครัว เช่น ปรัชญา จรรยา ธรรมชาติ ต่อเมื่อโตพอจะอ่านหนังสือได้โดยเข้าใจความหมาย จึงเริ่มฝึกจากการอ่าน การฝึกที่บิดามารดาข้าพเจ้าถือว่าสำคัญคือ การอำนวยงาน งานครัวอย่างเดียวที่พวกเราต้องฝึกฝนด้วยการลงมือคือ จำพวกงานที่ต้องใช้ฝีมือ หรือจะเรียกอย่างสมัยใหม่ว่าจำพวกที่เป็นศิลป… ”

นอกจากนี้ หม่อมหลวงเติบยังเคยให้สัมภาษณ์ในนิตยสาร ลลนา ว่า

“…ญาติทั้งบิดามารดาเป็นผู้ที่อยู่ในวงการอาหาร มารดาก็เรียกว่าอยู่ในสกุลที่ชอบอาหารเหมือนกัน คือเป็นชาวบางลำพู บางขุนพรหม ซึ่งในสมัยที่เป็นเด็กหรือก่อนหน้านั้นมา แม่เล่าว่าชาวบางลำพู บางขุนพรหม เขาถือว่าเป็นพวกที่มีฝีมือในการทำอาหารคาวหวาน มีญาติทางแม่หลายท่านเหมือนกันที่รับราชการห้องพระเครื่องต้น… ”

อนึ่ง เนื่องจากพระยาสีหศักดิ์สนิทวงศ์ผู้เป็นบิดา เป็นผู้ที่สนใจและให้การสนับสนุนกิจการงานครัวเป็นอย่างดียิ่ง โดยเฉพาะการละเลงขนมเบื้อง และการปอกมะปรางริ้ว ประกอบกับท่านเป็นผู้ที่มีฝีมือในทางช่างอยู่ด้วย ท่านจึงได้ประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับการครัวให้แก่ภริยาและธิดาทั้งหลาย ดังปรากฏ ในอัตชีวประวัติที่ท่านเขียนเองตอนหนึ่งว่า

“…ระหว่างเวลาที่ข้าพเจ้ารับราชการอยู่นั้น วันหยุดราชการหรือวันว่างข้าพเจ้าชอบทำการฝีมือเสมอ แต่ข้าพเจ้าทำเฉพาะที่ข้าพเจ้าชอบทำ เช่น เครื่องมือทำขนมเบื้องไทย มีจ่าละเลงขนมเบื้อง เหล็กแซะ เหล็กขูดมะพร้าว กระทะเหล็ก เตาอั้งโล่ มีปลอกทองเหลือง ทองแดง ทองขาว อะลูมิเนียม บุตรีของข้าพเจ้าทุกคนต่างละเลงขนมเบื้องไทยได้เป็นอย่างดี และข้าพเจ้าได้จัดทำเครื่องมือทำขนมเบื้องไทยแจกให้ครบชุดทุกคน ใช่แต่บุตรีเท่านั้น หลานๆ ผู้หญิงโดยมากที่เป็นศิษย์ฝึกหัดละเลงขนมเบื้องจากแม่ติ๊ภรรยาข้าพเจ้า ก็ได้ขอร้องให้ทำเครื่องมือให้ทุกคน…”

ยิ่งไปกว่านั้น ท่านบิดาของหม่อมหลวงเติบ ยังขวนขวายซื้อหาตำรับตำราอาหาร มาช่วยส่งเสริมให้ครอบครัวของท่านมีความรู้ในด้านนี้อย่างกว้างขวางทันสมัยยิ่งขึ้น เช่น หม่อมหลวงเติบได้รับของขวัญวันเกิดอายุครบ ๙ ขวบเป็นตำราอาหารเล่มแรก ซึ่งเป็นตำราภาษาอังกฤษ เขียนโดยมิสซิสบีตันส์ และพระยาสีหศักดิ์สนิทวงศ์ ยังได้แปลตำรา อาหารภาษาอังกฤษให้แก่คุณหญิงผู้เป็นภรรยาด้วย หม่อมหลวงเติบและครอบครัวของท่านจึงรักการทำอาหารเป็นชีวิตจิตใจ ไม่เว้นแม้แต่ในยามที่บ้านเมืองอยู่ในภาวะวิกฤต คือในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ครอบครัวของท่านไม่ได้อพยพหนีภัยระเบิดไปจากกรุงเทพฯ ซึ่งขณะนั้นกำลังอยู่ในภาวะขาดแคลนอาหาร และเครื่องอุปโภคบริโภค ในเวลานั้นคนไทยนิยมหันมารับประทานขนมปังกันบ้างแล้ว เผอิญแป้งสาลีที่นำเข้าจากต่างประเทศขาดแคลนลง ครอบครัวหม่อมหลวงเติบได้คิด หาสิ่งทดแทนสำหรับทำขนมปังและขนมเค้ก โดยใช้วิธีการผสมแป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว และแป้งมัน ส่วนยีสต์ที่ทำขนมปังก็ทำมาจากยีสต์ที่ทำข้าวหมัก และยังได้ทำแป้งสำหรับทำเส้นบะหมี่และสปาเกตตีด้วย

สิ่งที่หม่อมหลวงเติบได้สั่งสมมาแต่วัยเยาว์มิใช่แต่เพียงความรู้และประสบการณ์ในเรื่องการทำอาหารเท่านั้น หากท่านยังสนใจทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับบ้านเรือนและการครัวด้วย ซึ่งเห็นได้จากข้อเขียนของท่านหลายเรื่อง เช่น ครัวที่น่าเข้า เขาฝึกการครัวกันอย่างไร และงานครัวเป็นบ่อเกิดแห่งความงาม เป็นต้น นอกจากนี้ท่านยังได้เขียนตำราอาหารหวานคาวไว้ไม่น้อย ทั้งตำรับไทยและฝรั่ง ซึ่งถือว่าเป็นตำรับ เฉพาะตัวของท่าน เช่น ขนมจีนประเภทต่างๆ ห่อหมก หมี่กรอบ ข้าวแช่ ลูกชุบ ทองหยิบ ทองหยอด และขนมไทยอื่นๆ อาหารฝรั่ง ได้แก่ ขนมเค้กชนิดต่างๆ พาย พัฟ และขนมปังนานาชนิด ตำรับหรือสูตรของท่านนั้นไม่ยุ่งยากซับซ้อน มีรายละเอียดและส่วนผสมที่ชัดเจน เพราะหม่อมหลวงเติบเป็นผู้ที่เคร่งครัดในเรื่องการ “ชั่ง ตวง วัด” เป็นอย่างยิ่ง ท่านเคยกล่าวอยู่เสมอว่า ถ้าไม่มีเครื่องชั่ง ตวง วัด คือไม่มี “มาตร” หรือ “สูตร” แล้ว ท่านจะไม่ทำอาหารเป็นอันขาด หม่อมหลวงเติบได้ให้ความคิดเห็นในเรื่องนี้ไว้ว่า

“ในการทำอาหารที่เห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้มาตรคือเครื่องชั่ง ตวง วัด เพื่อให้เกิดความสม่ำเสมอ กระจายความรู้ให้กว้างขวางโดยไม่เปลืองเวลาซักถามฝึกซ้อม ผลพลอยได้สำหรับเด็กๆ ถือว่าฝึกนิสัยมีระเบียบและตรงต่อเวลา ในภายหน้าจะได้มีผู้ใหญ่ที่ทรงสัจธรรมมากขึ้น… ”

ผลงานของหม่อมหลวงเติบ ชุมสาย ได้เผยแพร่ออกสู่สาธารณชนตามสื่อต่างๆ มาเป็นเวลายาวนานตลอดช่วงชีวิตของท่าน หม่อมหลวงเติบเป็นผู้จัดและดำเนินรายการยอดนิยมในขณะนั้นรายการหนึ่งคือ “รายการแม่บ้าน” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง ๔ บางขุนพรหม จนกระทั่งเปลี่ยนเป็นสถานีโทรทัศน์สีช่อง ๙ รวมเวลา ๒๐ กว่าปี ในขณะเดียวกันหม่อมหลวงเติบก็ได้นำรายการอาหารที่ออกอากาศเหล่านั้นมาเขียนเป็นตำราลงพิมพ์ในหนังสือ คู่มือแม่บ้านทางวิทยุและโทรทัศน์อย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ท่านยังได้เขียนบทความ บทละคร เรื่องสั้น แปลบทกวีของชาวต่างประเทศ เป็นต้นว่า Leigh Hunt, Desangiers และ Shakespeare รวมทั้งบทกวีที่ท่านแต่งเอง เช่น บทกลอนชื่อ “ดอกไม้” “สาวน้อย” และ “ผู้บำเพ็ญประโยชน์” ลงในหนังสือเล่มนี้ด้วย และหม่อมหลวงเติบยังได้ใช้เวลาว่างของท่านเขียนหนังสือและตำราอีกหลายเล่ม ได้แก่ ตำรับอาหารทาง T.V. ตำรับอาหารประจำวัน พระเครื่องต้นที่สกลนคร การปรุงอาหารว่างต่างๆ อาหารว่าง ชุดความรู้ไทยเรื่องข้าว กับข้าวรัตนโกสินทร์ ๒๕๒๕ ซึ่งสายปัญญาสมาคมในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดพิมพ์ในโอกาสครบ ๒๐๐ ปีกรุงรัตนโกสินทร์ และเรื่อง แม่โพสพ ซึ่งได้รับรางวัลยอดเยี่ยมประเภทหนังสือเด็ก พ.ศ. ๒๕๑๗

ความที่เป็นผู้รอบรู้และเชี่ยวชาญในด้านโภชนาการและอาหารโดยเฉพาะอาหารไทย ทำให้หม่อมหลวงเติบ ชุมสาย ได้รับเชิญไปบรรยาย สาธิตและจัดแสดงในงานต่างๆ อยู่เสมอ เช่น งานเคหศิลป์ของสภาสตรีแห่งชาติ งานแสดงของหวานไทยในงานประชุมทันตแพทย์ภาคพื้นแปซิฟิก ที่โรงแรมสยาม คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ เป็นต้น และได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษที่คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และที่วิทยาลัยและโรงเรียนต่างๆ อีกหลายแห่ง นอกจากนี้ ความสามารถเฉพาะตัวของหม่อมหลวงเติบ ยังได้เป็นที่รู้จักในหมู่ชาวต่างประเทศด้วยเช่นกัน ท่านเคยได้รับเชิญให้เปิดร้านอาหารที่องค์การ สปอ. หรือซิโต้ (SEATO) อยู่ระยะหนึ่ง นอกจากนี้ท่านยังได้รับเชิญให้ไปเป็นวิทยากร และจัดแสดงกิจกรรมที่ช่วยเผยแพร่ตำรับอาหารไทยให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางยิ่งขึ้น อาทิ ได้รับเชิญเป็นผู้บรรยายพิเศษในโครงการ East-West ที่มหาวิทยาลัยฮาวาย และเป็นผู้สาธิตวิธีประกอบอาหารไทยในประเทศต่างๆ เช่น งานสัปดาห์อาหารไทย โดยสภากาชาดเดนมาร์ก ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก งานเทศกาลอาหารไทยที่ซูริค และบาเซิล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และงานสัปดาห์อาหารไทยในประเทศแถบยุโรปอีกหลายแห่ง ระหว่างที่ท่านเดินทาง ซึ่งบางครั้งก็กินเวลาแรมเดือนนั้น หม่อมหลวงเติบมักจะถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ที่ได้พบเห็นส่งมายังเมืองไทยในรูปของบทความ จดหมาย และบทกลอน ซึ่งส่วนมากจะพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือ คู่มือแม่บ้าน อย่างต่อเนื่อง ข้อเขียนเหล่านี้ มีรายละเอียดในแทบทุกด้านและแทรกความคิดเห็นของผู้เขียนไว้อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งถือได้ว่าเป็นลักษณะเฉพาะตัวของท่าน

หม่อมหลวงเติบ ชุมสาย ถึงแก่มรณกรรม เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๙ นับจนถึงบัดนี้ก็เป็นเวลานานพอสมควรแล้ว แต่ชื่อเสียงเกียรติคุณของท่าน ก็ยังเป็นที่รำลึกจดจำอย่างไม่รู้ลืม ผลงานเกี่ยวกับอาหารและโภชนาการ ของท่านนั้น นับได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ท่านทิ้งไว้ให้ลูกหลานได้ภาคภูมิใจและร่วมกันอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมชิ้นสำคัญนี้ไว้ให้คงอยู่ตลอดไป

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย:นุชนารถ กิจงาม