คุณไข่มุกด์ ชูโต

Socail Like & Share

ประติมากรหญิงคนแรกของเมืองไทย เกิดวันจันทร์ที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ที่โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรีของพระมัญชุวาที (โชติ ชูโต) อธิบดีกรมการเมือง กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ออกจากราชการมาประกอบอาชีพออกแบบและรับต่อเรือ เรือที่ต่อ เช่น คุณไข่มุกด์ ชูโตเรือพระที่นั่งประพาสแสงจันทร์ ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เรือ ต. ต่างๆ ของกองทัพเรือ กรมศุลกากร บริษัทเรือแดง เรือบรรทุกนํ้ามันของบริษัทเซลล์ ฯลฯ มารดาชื่อนางมัญชุวาที (แอ๋ว ชูโต) ข้าหลวงในสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง เป็นหลานปู่ และหลานย่าของพระยาอาหารบริรักษ์ (ผึ่ง ชูโต) ปลัดทูลฉลอง กระทรวงเกษตราธิการ ซึ่งเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ให้จัดการทำโฉนดที่ดิน กับคุณหญิงผาด (รามโกมุท) เป็นหลานตาและหลานยายของพระยารัตนโกษา (เล็ก สุจริตกุล) ราชเลขาธิการด้านภาษาต่างประเทศของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับคุณหญิงละออ (ณ บางช้าง) มีพี่สาวหนึ่งคนชื่อ นางสาวสีทอง ชูโต ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ของ องค์การสหประชาชาติ ประจำอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ครอบครัวของคุณไข่มุกด์ ชูโต อยู่บ้านเลขที่ ๖๑๑ หมู่ที่ ๑ ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เป็นบ้านไม้สักแบบโบราณ สวยงาม ย่านนั้นเรียกกันว่า บ้านขมิ้น

การศึกษาเบื้องต้นเริ่มเรียนที่โรงเรียน เริ่มศึกษา ซึ่งเป็นโรงเรียนที่อยู่ใกล้ๆ บ้านระยะหนึ่งแล้ว ย้ายไปเข้าโรงเรียนราชินีตั้งแต่อนุบาล ระหว่างเรียนที่โรงเรียนราชินี ก็ได้ร่วมกิจกรรมของโรงเรียนเสมอ เช่น เล่นละคร ขณะศึกษาอยู่ชั้นมัธยม ๘ ได้เขียนภาพวิจิตรแนวเดียวกับอาจารย์เหม เวชกร เรื่องพระนล ทั้งเรื่อง ขายให้กับสำนักพิมพ์เพลินจิต ได้ค่าเขียน ๓,๐๐๐ บาท เมื่อจบชั้นมัธยม ๘ จึงสอบเข้าดิกษ’าต่อ’ใน คณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร เหตุที่เข้าศึกษาต่อในคณะจิตรกรรมฯ ทั้งๆ ที่ชอบแต่งกาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ เคยได้รับรางวัลคำประพันธ์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระพันปี ขณะศึกษาอยู่ในชั้นมัธยม คงสืบเนื่องจากเมื่อเป็นเด็กชอบขีดเขียนและเกาะอยู่กับโต๊ะเขียนแบบในห้องทำงานของบิดา และเล่นอยู่ในห้องทำงานบิดาทั้งวัน บิดาก็สอนให้ เรียกได้ว่าบิดาเป็นครูสอนการวาดภาพ (drawing) คนแรก ระหว่างเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับเลือกให้เป็นนายกชุมนุมนิสิตหญิง เมื่อจบการศึกษา สาขาประติมากรรม ได้รับพระราชทานปริญญาเป็นรุ่นแรกที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานปริญญาบัตร

เมื่อจบการศึกษาเริ่มทำงานครั้งแรกที่แผนกศิลป องค์การยูซ่อม (USOM) ทำโปสเตอร์ จัดรูปเล่ม และทำหนังสือ ระหว่างทำงานที่ยูซ่อมก็รับทำงานปั้นและงานเขียนเป็นการส่วนตัวด้วย ทำงานยูซ่อม ๒ ปี ได้ลาออกไปทำงานที่บริษัทเกสเต็ตเนอร์ ในตำแหน่งหัวหน้าแผนกศิลปะ ๒ ปี คุณไข่มุกด์ ชูโต ต้องการเวลาทำงานด้านศิลปะให้เป็นส่วนตัวจริงๆ เพื่อสร้างงานฝีมือให้ดีที่สุด จึงลาออกมาเป็นช่างอิสระ รับงาน ด้านประติมากรรมอยู่กับบ้าน มีงานสร้างอนุสาวรีย์เล็กๆ ปั้นภาพเหมือนบุคคลและสัตว์ ตลอดจนเขียนภาพ แลนด์สเคป รับตกแต่งสวนภายในบ้าน ตกแต่งห้องจนเริ่มมีชื่อเสียง

พ.ศ. ๒๕๑๑ นายชูพาสน์ ชูโต ผู้เป็นญาติและรับราชการอยู่ในสำนักพระราชวัง ได้พาเข้าถวายตัวต่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อปฏิบัติงานด้านประติมากรรมถวาย ซึ่งคุณไข่มุกด์ ชูโต ได้ปฏิบัติงานถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาธินัดดามาตุ แรกเข้าทำงาน งานชิ้นแรกที่ทำถวายคือ รูปปั้นกินรีแม่ลูก ขนาดเท่าจริง จำนวน ๒ ชุด ตั้งไว้ที่สวนศิวาลัย ในพระบรมมหาราชวัง และอีกชุดหนึ่งตั้งไว้ที่หน้าพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่

ผลงานปั้นที่น้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ

-ปั้นรูปประดับผนังทั้ง ๔ ด้าน เรื่อง ทศชาติ หล่อด้วยพลาสเตอร์ ติดตั้งไว้ที่ท้องพระโรงห้องไทย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน จำนวน ๖ แผง

-พระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประทับบนพระเสลี่ยงกง เพื่อพระราชทานไว้ตามฐานทัพต่างๆ

-พระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงยืนหลั่งทักษิโณทก จากพระสุวรรณภิงคาร

-พระรูปสมเด็จพระสุริโยทัย ทรงยืน ทรงพระแสงของ้าว ทรงเครื่องศึก

-รูปสมเด็จพระสุริโยทัย ครึ่งพระองค์

-รูปเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต (พระยานรรัตนราชมานิต – ตรึก จินตยานนท์) พร้อมด้วยพระพุทธรูปประจำวันเกิดของท่าน ไว้ที่หอบรรจุอัฐิเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร

-ปั้นรูปกินนรและกินรี พ่อ แม่ ลูก และปั้นรูปสิงห์ ตั้งไว้ที่พระตำหนักสิริยาลัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

-พระพุทธรูปปางประทานพร สมัยคันธารราษฎร์

-พระพุทธรูปยืน สมัยคันธารราษฎร์

-พระพุทธบรมนาถเบญจสิริสุริโยทัย ขนาดหน้าตัก ๙.๙ นิ้ว

-พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะทรงผนวช ทรงยืน และประทับนั่ง

-ปั้นช้างศึก ประกอบด้วยเครื่องผูกและแต่ง ขนาด ๑๕ นิ้ว ตั้งแสดงที่พิพิธภัณฑ์พระที่นั่งวิมานเมฆ และห้องกาแฟ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

-พระรูปสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ขนาดครึ่งพระองค์

-พระรูปสมเด็จพระญาณสังวร (พระสมณศักดิ์ขณะนั้น) จำนวน ๒๕ องค์

-ปั้นต้นแบบสร้างเหรียญหลวงปู่แหวน รุ่นรวมใจ รุ่น ภ.ป.ร. รุ่น ส.ก. รุ่น ม.ว.ก. รุ่น สิรินธร และรุ่น จ.ภ.

-ปั้นต้นแบบสร้างเหรียญหลวงปู่ขาว

-ปั้นต้นแบบสร้างเหรียญพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และพระรูปสมเด็จพระสุริโยทัย

-ปั้นรูปจากวรรณคดีไทยตามพระราชเสาวนีย์ ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เช่น ไกรทอง ชาละวัน นางวิมาลา สุดสาครขี่ม้ามังกร มโนราห์กับพรานบุญ หนุมานกับนางสุพรรณมัจฉา พระรามตามกวาง ฯลฯ

-พระประธานขนาดเท่าจริง ตามพระราชเสาวนีย์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระพุทธรูปบูชา จำนวน ๑๐,๐๐๐ องค์ ถวายโดยเสด็จพระราชกุศล (กำลังดำเนินการค้างอยู่)

ผลงานปั้นที่น้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
-บรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ขนาด ๒ ฟุต ซึ่งจำลองจากแบบของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (ที่ประดิษฐานไว้ ณ บริเวณเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า)

-พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครึ่งพระองค์ขนาดเท่าจริง

-พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระอิริยาบถทรงยืน ขนาดเท่าครึ่งพระองค์จริง

ผลงานปั้นที่น้อมเกล้าฯ ถวายพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรราชาธินัดดามาตุ
-พระพุทธรูปปางประทานพร พระประธาน พร้อมด้วยพระอัครสาวก ณ อุโบสถวัดบางนํ้าขุ่น จังหวัดระยอง

-พระพุทธรูปบูชา ส.ส.

ผลงานด้านประติมากรรม ที่จัดทำถวายมีอีกเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญที่สุดคือ พระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระสุริโยทัย ที่ทุ่งมะขามหย่อง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งคณะรัฐบาลจัดสร้างน้อมเกล้าฯ ถวาย เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๖๐ พรรษา ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นอนุสาวรีย์ที่ยิ่งใหญ่ และมีองค์ประกอบเรื่องราวใหญ่ที่สุดในโลก ประกอบด้วยพระสุริโยทัยประทับอยู่บนคอพระคชาธาร มีกลางช้างนั่งบนสัปคับ ถือหางนกยูงโบกกำกับกองทัพ มีท้ายช้างและทหารจตุรังคบาทรักษาเท้าช้างอีก ๔ นาย ขนาดเท่าครึ่ง มีกลุ่มของข้าศึกพร้อมช้างเช่นเดียวกันกับองค์พระราชานุสาวรีย์อีก ๔ ชุด ขนาดเท่าจริงประกอบด้วยประชาชนจำนวน ๙ คน ขนาดเท่าจริง รวมจำนวนดังนี้

๑. ช้างขนาดเท่าครึ่ง จำนวน ๑ ช้าง
๒. ช้างขนาดเท่าจริง จำนวน ๔ ช้าง
๓. คนขนาดเท่าครึ่ง จำนวน ๗ คน
๔. คนขนาดเท่าจริง (ทหาร) จำนวน ๒๘ คน
๕. ประชาชนขนาดเท่าจริง จำนวน ๙ คน

นอกจากนี้ยังมีงานออกแบบศิลปะต่างๆ ที่ได้จัดทำถวาย แล้วแต่จะมีพระราชเสาวนีย์ เช่น ออกแบบ และสร้างของที่ระลึก เพื่อพระราชทานพระราชอาคันตุกะ ออกแบบตุ๊กตาชาววังพร้อมตู้บรรจุตุ๊กตา แสดงภาพชีวิตคนไทย ออกแบบลายปีกพระภูษา ออกแบบพระกระเป๋าย่านลิเภา เครื่องประดับ สร้างฉากละครอิงประวัติศาสตร์ เรื่องสมเด็จพระสุริโยทัย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระสุพรรณกัลยา ที่นายสมภพ จันทรประภา เขียนบท สร้างฉากในการแสดงแสงสีเสียงเรื่องวีรชนไทย และละครอื่นๆ อีกหลายเรื่อง เพื่อจัดแสดงถวายทอดพระเนตร ออกแบบงานต่างๆ ให้งานส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษในพระบรม ราชูปถัมภ์ ซึ่งมีการส่ง เสริมให้ราษฎรมีอาชีพเสริมนอกจากการทำนา คือ สอนเย็บปักถักร้อย ทอผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้ายก ผ้าตีนจก ผ้าไหมมัดหมี่ ทำดอกไม้ประดิษฐ์ จักสานด้วยหวาย ป่านศรนารายณ์ ไม้ไผ่ ย่านลิเภา ปั้นตุ๊กตาชาววัง ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การถนอมอาหาร สลักดุน เครื่องถมเงิน ถมทอง ช่างไม้ ช่างเงิน ช่างเขียน และช่างปั้นโดยเฉพาะการปั้นนั้นมีโครงการเครื่องปั้นดินเผาตั้งอยู่ที่บ้านกุดนาขาม อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร โครงการนี้เกิดขึ้นด้วยพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปทอดพระเนตรโครงการสวนป่ารักนํ้า ที่จังหวัดสกลนคร ราษฎรได้ทูลเกล้าฯ ถวายกานํ้าเป็นเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งทำขึ้นเองโดยใช้ดินของพื้นที่นั้น จึงมีพระราชดำริว่าสกลนคร เป็นดินแดนที่อยู่ใกล้บ้านเชียง พื้นเพดั้งเดิมแต่โบราณ คงมีการทำเครื่องปั้นดินเผากัน จึงโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงาน ไปทำการวิจัยดินแถบนั้นว่าสามารถทำเครื่องปั้นดินเผาได้หรือไม่ ข้อมูลที่วิจัยออกมาสามารถทำได้ ประกอบกับมีราษฎรชื่อ นายซื่อสัตย์ ยอดจำปา ได้ถวายที่ดินจำนวนมาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ที่ดินผืนนี้ เป็นที่ก่อสร้างโรงงานเครื่องปั้นดินเผา โดยมอบให้คุณไข่มุกด์ ชูโต เป็นคณะทำงาน ผู้ร่วมก่อตั้งโรงงานเครื่องปั้นดินเผา ศูนย์ศิลปาชีพกุดนาขาม และมีท่านผู้หญิง หม่อมราชวงศ์สุประภาดา เกษมสันต์ ราชเลขานุการในพระองค์ เป็นผู้อำนวยการความสะดวกต่างๆ คุณไข่มุกด์ ชูโต จึงได้เชิญอาจารย์ทวีไทย บริบูรณ์ เจ้าของบริษัทไทยเทอราเซรามิค เป็นผู้ไปวางโครงการ วางรูปแบบโรงงาน และเตาเผา โดยมีนาวาอากาศตรี สมพร พราหมณนันทน์ (ยศขณะนั้น) เป็นผู้ช่วย และเป็นครูสอน พร้อมด้วยช่างของอาจารย์ทวีไทย บริบูรณ์ อีก ๒ คน การก่อตั้งศูนย์ศิลปาชีพกุดนาขามนี้ ก่อตั้งเสร็จภายใน ๖๐ วัน คุณไข่มุกด์ ชูโต ได้วางแผนการ สอนจนกระทั่งหาครูมาสอนเป็นประจำได้ สำหรับคุณไข่มุกด์ จะสอนเรื่องรูปแบบ การออกแบบ การปั้นรูปสัตว์และคนให้รู้จักองค์ประกอบง่ายๆ โดยใช้ความรู้สึก และตาเป็นเกณฑ์ สอนการเขียนสีลงบนกระถาง หรือแจกัน ซึ่งคุณไข่มุกด์ จะเดินทางไปสอนและดูแลบ่อย และพักอยู่ที่จังหวัดสกลนครเป็นเดือนๆ จนผู้มาฝึกหัดสามารถผลิตงานได้จนเป็นอาชีพเสริมนอกเหนือจากการทำนา นอกจากนี้ยังเป็นอาจารย์ผู้ถ่ายทอดความรู้เรื่องประติมากรรม และเครื่องปั้นดินเผา ให้กับนักเรียนศิลปาชีพจังหวัดนราธิวาส และศูนย์ศิลปาชีพสวนจิตรลดากรุงเทพมหานคร ซึ่งงานในพระองค์ทั้งหลายเหล่านี้ คุณไข่มุกด์ ชูโต ได้ทุ่มเทอุทิศแรงกายแรงใจ ให้กับงานเหล่านี้ถวายจนเต็มกำลัง

เมื่อมีเวลาว่างจากงานในพระองค์ คุณไข่มุกด์ ชูโต ได้รับทำงานประติมากรรมให้แก่บุคคลภายนอก ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา เอกชน และบุคคลทั่วไป

ส่วนหนึ่งของผลงานที่ปั้น
-ปั้นประติมากรรมนูนตํ่า (bas – relief) รูปกินรีเล่นนํ้า มีพรานบุญถือบ่วงบาศ ประดับผนังสระว่ายนํ้า โรงแรมเฟิร์ส ซึ่งเป็นงานปั้นงานแรก

-ปั้นประติมากรรมนูนต่ำ (bas – relief) รูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ ประดับผนังโรงแรมนารายณ์ หล่อด้วยปูนพลาสเตอร์ ขนาด ๒.๐๐ X ๘.๐๐ เมตร เป็นงานปั้นเมื่อจบการศึกษาใหม่ๆ

-ปั้นพระพรหม โรงแรมเฟิร์ส รูปแรก (ต่อมาถูกขโมยไป)

-ปั้นประดับผนังโรงภาพยนตร์เอเธนส์ ขนาด ๒.๐๐ X ๘.๐๐ เมตร (โรงภาพยนตร์นี้ ปัจจุบันถูกรื้อถอนไปแล้ว)

-ปั้นประดับผนังโรงแรมสยามซิตี้ หล่อด้วยปูนพลาสเตอร์ ขนาด ๒.๐๐ X ๘.๐๐ เมตร

-ปั้นซุ้มสุโขทัย ลวดลายประดับสมัยสุโขทัย ศรีสัชนาลัย บริเวณสระว่ายนํ้าโรงแรมอินทรา

-ปั้นพระพรหม โรงแรมรามาทาวน์เวอร์ โอเรียนเต็ลโฮเต็ล และพัทยาพาเลซ

-ปั้นอัปสรสีห์ ในห้องรำไทย โรงแรมดุสิตธานี

-ปั้นกินนร – กินรี ๑ คู่ ขนาดเท่าจริง ให้ร้านอาหารไทนาน จังหวัดภูเก็ต

-ออกแบบและควบคุมการสร้างบุษบกไม้สักแกะสลักปิดทอง สูง ๗.๕๐ เมตร ที่ทางเข้าลอบบี้ หน้าบันไดขึ้นไปเมซานีนฟลอร์ โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน

-ออกแบบและปั้นหล่อหงส์ ติดตั้ง ณ ที่ทำการบริษัทการบินไทย – ปารีส ฝรั่งเศส จำกัด

-ออกแบบและปั้นหล่องานสมัยใหม่ แสดงเรื่องราวของการรักและเกื้อกูลในมวลมนุษย์ให้กับ สถาบันวิทยาศาสตร์ไทย – ญี่ปุ่น

-ออกแบบและปั้นหล่อพระประธาน พร้อมพระอัครสาวก และรูปเหมือนหลวงปูโต๊ะขนาดเท่าจริง วัดถ้ำสิงโตทอง จังหวัดราชบุรี ให้แก่ศาสตราจารย์อุกฤษ มงคลนาวิน เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวาย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ ๖๐ พรรษา

-ปั้นรูปเหมือน (portrait) ของบุคคลต่างๆ จำนวนมาก เช่น ปั้นรูปคุณสวัสดิ์ โอสถานุเคราะห์ คุณหญิงล้อม โอสถานุเคราะห์ ฯลฯ

-พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครึ่งพระองค์ ขนาดเท่าพระองค์จริง ประดิษฐาน ณ กรมราชองครักษ์ สวนจิตรลดา และปั้นหล่อพระบรมรูปเล็กให้ข้าราชบริพารอัญเชิญไปสักการบูชา จำนวน ๒๕๑๖ องค์ เพื่อนำรายได้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายโดยเสด็จพระราชกุศล ต่อมาพลเอกดำรง สิกขะมณฑล สมุหราชองครักษ์ สั่งหล่อเพิ่มอีก ๑๐,๐๐๐ องค์ เพื่อนำเงินรายได้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี

-พระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง ขนาดเท่าพระองค์จริง ประดิษฐาน ณ โรงเรียนราชินี ถนนมหาราช กรุงเทพมหานคร พระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง ขนาดเท่าพระองค์จริง ประดิษฐานบริเวณสนามภายใน วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา ถนนบ้านหม้อ กรุงเทพมหานคร

-พระบวรราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ขนาดเท่าครึ่งของพระองค์จริง ประดิษฐาน ณ กองพันทหารราบที่ ๗ กรมผสมนาวิกโยธิน ค่ายมหาสุรสิงหนาท อำเภอเมือง จังหวัดระยอง

-พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช และพระอนุสาวรีย์พญามังราย พญางำเมือง ขนาดเท่าครึ่งของพระองค์จริง ๓ รูป ประดิษฐานหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ (หลังเดิม) อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

-อนุสาวรีย์เจ้าพระยาสุลวะลือไชยสงคราม (เจ้าทิพย์ช้าง) ขนาดเท่าครึ่งของคนธรรมดา ประดิษฐานอำเภอเมือง จังหวัดลำปาง

-พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ขนาดเท่าครึ่งของพระองค์จริง ประดิษฐานหน้าตึกอานันทมหิดล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร

พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขนาดสองเท่าของพระองค์จริง ประดิษฐานหน้าอาคารกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ถนนพระราม ๖ พญาไท กรุงเทพมหานคร

-พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขนาดสองเท่าของพระองค์จริง ประดิษฐาน ณ บริเวณลานด้านหน้าเสาธง หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร

-พระรูปสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงฉลองพระองค์ครุย ของแพทย์ฮาร์เวิร์ด ขนาดเท่าพระองค์จริง ประดิษฐานภายในอาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า กับรูปปั้นประดับผนังนูนต่ำกึ่งนูนสูง (bas -relief, high – relief) หล่อด้วยหินอ่อนเทียมทั้งสองข้าง ขนาด ๑.๕ X ๗.๐๐ เมตร ด้านซ้ายของพระรูปแสดงวิวัฒนาการของอาคารมหาวิทยาลัย และตราประจำมหาวิทยาลัยที่เปลี่ยนไปแต่ละสมัย อีกด้านหนึ่งเป็นพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก เมื่อทรงโสกันต์และทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบนายทหารแห่งราชนาวี ประทับระหว่างสมเด็จพระบรมชนกนาถ (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) และพระราชชนนี (สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) ต่อมาเป็นพระรูปขณะทรงอุทิศพระองค์เพื่อการแพทย์และการสาธารณสุข สุดท้ายเป็นพระรูปขณะประทับกับพระชายา พระโอรส พระธิดาทั้งสามพระองค์ รูปปั้นนี้เป็นรูปปั้นประดับผนังแห่งแรกในประเทศไทย ที่เป็นพระรูปเหมือนของพระบรมราชวงศ์

-พระอนุสาวรีย์สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ขนาดเท่าพระองค์จริง ประดิษฐาน ณ โรงเรียนราชินีบน ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

-พระรูปสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ขนาดเท่าพระองค์จริง โรงแรมพลาซ่า แอทินี ถนนวิทยุ กรุงเทพมหานคร

-พระรูปหม่อมเจ้าอัจฉราฉวี เทวกุล ณ โรงเรียนราชินี ถนนมหาราช กรุงเทพมหานคร

-พระรูปหม่อมเจ้าวงศ์ทิพย์สุดา เทวกุล ณ โรงเรียนราชินีบน ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

-พระรูปกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ขนาดเท่าพระองค์จริง

นอกจากงานปั้น งานออกแบบศิลปะต่างๆ แล้ว ก็มีงานวาดภาพและเพ้นท์บ้าง เช่น ภาพกำเนิดพระลักษมี ห้องลักษมี โรงแรมนารายณ์ นอกจากนั้น คุณไข่มุกด์ ชูโต ยังมีความสามารถในการร้องเพลง ไทยเดิม เล่นละคร เล่นลิเก โดยการเป็นพระเอกลิเกสมัครเล่น ไม่ว่าจะมีงานสังสรรค์ครั้งใด มักชอบแสดงลิเกให้เพื่อนฝูงชม คุณไข่มุกด์ ชูโต เป็นคนช่างจดจำ ชอบแต่งกลอน แต่งสักวา และชอบเขียนหนังสือ จึงมีผลงานเขียนหนังสือลงในนิตยสารนะคะ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หนังสือพิมพ์แนวหน้าในคอลัมภ์คุยกันวันพุธ อีกอย่างหนึ่งด้วย

พ.ศ. ๒๕๓๗ ได้รับเชิญในฐานะศิลปินผู้มีชื่อเสียงของประเทศไทยไปเยือนประเทศกัมพูซา ซึ่งเป็นการไปเยือนประเทศกัมพูชาเป็นครั้งแรก โดยสถานทูตไทยประจำราชอาณาจักรกัมพูชาจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษา จัดการแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับงานของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในพระบรมราชินูปถัมภ์ ในงานนี้คุณไข่มุกด์ ชูโต ได้ช่วย ต้อนรับแขก และถวายคำอธิบายเกี่ยวกับงานของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ แก่เจ้าหญิงนโรดม มารี รณฤทธิ์ ด้วย หลังเลิกงานได้เล่นลิเก แต่งกลอนสดให้ฟังอย่างสนุกสนาน

วันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ คุณไข่มุกด์ ชูโต ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จุลจอมเกล้าชั้นที่ ๔ (จตุตถจุลจอมเกล้า) และในวันที่ ๒๗ สิงหาคม ปีเดียวกัน ยังได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เหรียญรัตนาภรณ์ชั้นที่ ๔ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อีกด้วย ต่อจากนั้นในวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ ก็ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ เลื่อนชั้นเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าจากชั้นที่ ๔ ขึ้นเป็น ชั้นที่ ๓ (ตติยจุลจอมเกล้า)

คุณไข่มุกด์ ชูโต มิได้สมรส แต่ได้ใช้ชีวิตอยู่กับงานประติมากรรมที่ตนเองรักอย่างมีความสุข สร้างสรรค์ประติมากรรมอันลํ้าค่าไว้เป็นจำนวนมาก จนตนเองจดจำและบันทึกไว้ไม่หมด มีผลงานเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย และเป็นที่ยกย่องของสาธารณชนอยู่เสมอมา จนเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๙ เวลาหนึ่งนาฬิกาเศษ หลังจากเดินทางกลับจากการตรวจดูงานหล่อพระพุทธรูปถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่โรงหล่อ ถนนพุทธมณฑลสาย ๔ ถึงบ้านที่บ้านขมิ้น คุณไข่มุกด์ ชูโต ก็เกิดอาการหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน ได้รับการปฐมพยาบาลที่โรงพยาบาลธนบุรี ซึ่งแพทย์ลงความเห็นว่ากล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และทำการนวดกล้ามเนื้อหัวใจด้วยไฟฟ้า แต่อาการยังไม่ดีขึ้น

เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงทรงพระกรุณา โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ไปรับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลศิริราช โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจที่ทรงรู้จักคุ้นเคย เป็นผู้ให้การรักษาอย่างใกล้ชิด แต่อาการไม่ดีขึ้นเท่าใดนัก หลังจากรับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชได้ ๔๒ วัน คุณไข่มุกด์ ชูโต ก็ถึงแก่กรรมด้วยอาการปอดบวม และระบบการหายใจล้มเหลว เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ รวมอายุได้ ๕๙ ปี ๖ เดือน๑๒ วัน

ประติมากรหญิงคนแรกของเมืองไทย ประติมากรประจำราชสำนัก นาฏยศิลปิน และนักอนุรักษ์ความเป็นไทย สุภาพสตรีผู้อุทิศชีวิตให้กับงานศิลป์ท่านนี้ได้จากไป แต่ผลงานของคุณไข่มุกด์ ชูโต ยังคงเป็น สมบัติลํ้าค่าของแผ่นดินสืบไป

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย:วัฒนา อุ่นทรัพย์