พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต

Socail Like & Share

พระนามเดิม หม่อมเจ้าวิภาวดี รังสิต เป็นพระธิดา ในพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส) ต้นราชสกุลรัชนี ซึ่งวงการประพันธ์รู้จักกันในพระนามว่า “น.ม.ส.” และหม่อมเจ้าพรพิมลพรรณ (วรวรรณ) รัชนี ประสูติเมื่อวันเสาร์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๓ มีพระพระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิตอนุชาร่วมพระมารดาหนึ่งองค์ คือ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ทรงเริ่มการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนผดุงดรุณี ๑ ปี แล้วทรงย้ายไปศึกษาต่อที่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยไม่ถึง ๑ ปี จึงเสด็จเข้าเป็นนักเรียนโรงเรียนมาแตร์เดอี วิทยาลัย จนสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ ๘ และยังได้ทรงศึกษาเพิ่มเติม ณ โรงเรียนแห่งนี้ อีก ๓ ปี ในหลักสูตรพิเศษสำหรับนักเรียนที่ไม่ประสงค์จะเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย แต่สนใจเรียนรู้วิชาพื้นฐาน เพื่อประโยชน์ในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองต่อไป ทรงสำเร็จการศึกษาหลักสูตรนี้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕ ทรงแตกฉานในภาษาศาสตร์ทั้งไทยและอังกฤษ สามารถตรัสภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสได้อย่างคล่องแคล่ว

ต่อมาพระบิดาทรงมอบให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิตช่วยจัดหนังสือในห้องสมุดส่วนพระองค์ ที่ทรงสะสมหนังสือซึ่งมีคุณค่าและหายากไว้เป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากทรงเป็นผู้โปรดการอ่านหนังสืออย่างยิ่ง จึงสนพระทัยในการอ่านมากกว่าการจัดห้องสมุด พระบิดาจึงทรงมอบให้ทำหน้าที่เลขานุการส่วนพระองค์ เพื่อช่วยค้นหนังสือและจดตามรับสั่ง โดยเฉพาะเมื่อตอนที่พระเนตรของพระบิดาเป็นต้อ ได้ทรงเขียนคำประพันธ์ตามคำบอกไปลงพิมพ์ในหน้า ๕ ของหนังสือ ประมวญวัน รายวัน และประมวญสาร รายสัปดาห์ รวมทั้งทรงตรวจพิสูจน์อักษรแทนพระบิดาด้วย นอกจากนี้ยังได้ทรงจดกวีนิพนธ์ อันยิ่งใหญ่เรื่อง สามกรุง และคำประพันธ์เรื่องต่างๆ ที่พระบิดาทรงประพันธ์ขึ้นในขณะนั้นอีกหลายเรื่อง

เมื่อครั้งที่พระบิดาทรงตั้งวงสักวาขึ้นที่วังถนนประมวญ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ทรงช่วยจดบทสักวาอันไพเราะที่นักกลอนแต่งสดๆ เพื่อให้นักร้องขับร้องกับวงมโหรี ต่อมาเมื่อพระบิดาและ คณะเล่นสักวาไปรษณีย์ พระองค์ก็ทรงช่วยเปิดซอง และอ่านบทกลอนสักวาอย่างสนุกสนาน จึงกล่าวได้ว่า ทรงอยู่ในแวดวงของกวีมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ และเป็นช่วงเวลาที่ทรงได้รับใช้พระบิดาอย่างใกล้ชิด ทรงได้รับการถ่ายทอดพระคุณสมบัติและสรรพวิชาการทั้งปวงจากพระบิดาผู้ทรงเป็นจินตกวีชั้นเยี่ยม เป็นปราชญ์องค์หนึ่งของเมืองไทย ที่ทรงเชี่ยวชาญในวิทยาการหลายสาขา และทรงแตกฉานในอักขรสมัยทั้งไทยและต่างประเทศ ดังที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต รับสั่งอยู่เสมอ ว่า “ทรงสำเร็จการศึกษาจาก มหาวิทยาลัย น.ม.ส.” ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ถึงพระปรีชาสามารถด้านการประพันธ์ และพระกรณียกิจที่ทรงบำเพ็ญ เพื่อประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติในเวลาต่อมา

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ทรงเสกสมรสกับหม่อมเจ้าปิยะรังสิต รังสิต พระโอรสองค์ใหญ่ ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระชัยนาทนเรนทร ต้นราชสกุลรังสิต โดยได้รับพระราชทาน นํ้าพระมหาสังข์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ ทรงมีธิดา ๒ คน คือ หม่อมราชวงศ์วิภานันท์ รังสิต และหม่อมราชวงศ์ปรียนันทนา รังสิต ทรงปฏิบัติหน้าที่ ในฐานะพระชายาและพระมารดาได้อย่างบริบูรณ์

ในด้านพระจริยวัตรส่วนพระองค์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ทรงเป็นเจ้านายที่ไม่ถือพระองค์ ทรงเข้ากับคนได้ทุกชั้น ทุกเพศ ทุกวัย มีความเสมอต้นเสมอปลาย มีพระอารมณ์ขัน และพระนิสัยกล้าเสี่ยงมาแต่ทรงพระเยาว์ มีนํ้าพระทัยเปี่ยมด้วยพระเมตตากรุณา โปรดการช่วยเหลือผู้อื่น อาทิ ทรงช่วยเหลือและสนับสนุนทุนทรัพย์แก่ผู้ด้อยโอกาส ที่ใฝ่เรียนรู้ให้ได้รับการศึกษาสูงขึ้น และมีอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ ทรงประกอบกิจกรรมการกุศลต่างๆ เพื่อสงเคราะห์ราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดาร ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ยังทรงเป็นนักสำรวจทางโบราณคดีที่ยอดเยี่ยม ได้ทรงสละทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนในการขุดค้นหลักฐานทางโบราณคดี และเสด็จไปยังแหล่งขุดค้น เพื่อให้กำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน อีกทั้งประทานทุนให้แก่ข้าราชการของกรมศิลปากรไปฝึกงาน ณ ต่างประเทศในสาขาวิชาเกี่ยวกับโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์ เพื่อนำความรู้มาสร้างสรรค์ประโยชน์แก่ประเทศชาติ
ด้านพระปรีชาสามารถในการประพันธ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองศ์เจ้าวิภาวดีรังสิต ทรงเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงของไทย มีพระอัจฉริยภาพในการสร้างสรรค์งานวรรณกรรมหลากหลายประเภท ทั้งนี้เพราะทรงสืบสายพระโลหิตของนักประพันธ์ที่ยิ่งใหญ่สองพระองค์ คือ เป็นพระธิดาของ น.ม.ส. รัตนกวี และพระนัดดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ จึงโปรดการอ่านและการประพันธ์หนังสือ มาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทรงเชี่ยวชาญในศาสตร์ทั้งหลายโดยเฉพาะภาษาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี เมื่อรวมกับสรรพวิชาความรู้ที่ทรงได้รับการถ่ายทอดจากพระบิดา ตลอดจนแนวคิด ลีลาการเขียน และวิธีการประพันธ์ที่ทรงศึกษาในงานวรรณกรรมของพระบิดา รวมทั้งพระอารมณ์ขันส่วนพระองค์แล้ว จึงทำให้งานเขียนทุกเรื่องมีคุณค่า ให้ความรู้ ความบันเทิงและความเพลิดเพลินแก่ผู้อ่าน เป็นเสน่ห์ในงานประพันธ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของงานพระนิพนธ์
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ทรงเป็นนักเขียนที่มีแนวคิดสร้างสรรค์ ผลงานด้านการประพันธ์มีหลากเรื่อง หลายรส ทั้งเรื่องสั้นสำหรับเด็ก นวนิยาย สารคดี นวนิยายอิงประวัติศาสตร์บทความ เรื่องแปล ละครวิทยุ ทรงใช้พระนามจริงในงานเขียนประเภทสารคดี และทรงใช้นามปากกาว่า “ว. ณ ประมวล มารค” ในงานเขียนประเภทอื่นๆ

เรื่อง เด็กจอมแก่น เป็นงานเขียนเรื่องแรกที่ทรงนิพนธ์ เมื่อพระชันษา ๑๔ ปี ซึ่งได้รับความนิยมในหมู่นักอ่านวัยเยาว์สมัยนั้นเป็นอันมาก และเป็นกำลังใจให้ทรงนิพนธ์เรื่องอื่นๆ ในเวลาต่อมา ส่วนผลงานประเภทนวนิยายที่ได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ เรื่อง ปริศนา เจ้าสาวของอานนท์ รัตนาวดี งานเขียนที่โปรดมากที่สุด คือ นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ ทรงนิพนธ์ไว้ ๓ เรื่อง คือ เรื่อง พระราชินีนาถวิกตอเรีย คลั่งเพราะรัก และฤทธีราชินีสาว งานเขียนทุกเรื่องทรงสร้างสรรค์ขึ้นอย่างประณีต โดยเฉพาะนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ ทรงอุตสาหะ ทุ่มเทกำลังกายกำลังใจในการศึกษาค้นคว้ารวบรวมข้อมูลตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง มีหลักฐานอ้างอิงได้นำมาเรียบเรียงด้วยกลวิธีอันเหมาะสม เพื่อเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ให้ผู้อ่านได้อ่านอย่างเพลิดเพลิน จึงเป็นเรื่องที่ให้ทั้งความรู้ในกลวิธีการประพันธ์นวนิยาย และด้านวิชาการ

ด้านการบำเพ็ญพระกรณียกิจ เพื่อประเทศชาติและประชาชน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า วิภาวดีรังสิต ทรงเริ่มเข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในการโดยเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในจังหวัดต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักรมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๐ ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โดยเสด็จสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศหลายครั้งในฐานะนางสนองพระโอษฐ์ ได้โดยเสด็จเยือนประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป เอเชีย ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๓ – ๒๕๑๘ รวม ๗ ครั้ง ซึ่งรวมถึงใน พ.ศ. ๒๕๑๖ ที่โดยเสด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา ไปร่วมพิธีศพ
พระเจ้ากุสตาฟที่ ๖ อดอล์ฟ ณ ประเทศสวีเดนด้วย ทรงคุ้นเคยกับพระเจ้าแผ่นดิน พระราชินี และพระราชวงศ์ของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในทวีปยุโรป และทรงมีความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ขนบธรรมเนียม ประเพณีในราชสำนักของประเทศต่างๆ เหล่านั้นอย่างแตกฉานลึกซึ้ง

เมื่อมีแขกต่างประเทศมาเยือนประเทศไทยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองศ์เจ้าวิภาวดีรังสิต ทรงทำหน้าที่ดูแลรับรองทุกครั้ง พระปรีชาสามารถด้านการต่างประเทศ และพระอัธยาศัยอันน่าชื่นชม ทำให้นานาประเทศมีความเข้าใจประเทศไทยดีขึ้น จึงนับได้ว่า ทรงเป็นผู้มีส่วนช่วยเผยแพร่เกียรติภูมิของชาติอีกทางหนึ่งด้วย พระองค์ได้ทรงปฏิบัติราชกิจน้อยใหญ่ สนองพระเดชพระคุณด้วยความเรียบร้อยเป็นอย่างดีตลอดมา จึงเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง

การสนองพระเดชพระคุณด้านกิจการภายในประเทศ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ได้เสด็จไปปฏิบัติพระภารกิจแทนพระองค์ในการเยี่ยมเยียนทุกข์สุขของประชาชนทางภาคใต้ ในระยะ ๑๐ ปี สุดท้ายแห่งพระชนมชีพ กล่าวคือในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณา เล่าพระราชทานพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ถึงความยากลำบากขาดแคลนของข้าราชการ และประชาชนในอำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี พระองค์จึงกราบบังคมทูลรับอาสาที่จะเดินทางไปช่วยเหลือราษฎรที่อยู่ในท้องถิ่นดังกล่าวให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยเสด็จไปครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๐ เพื่อเยี่ยมเยียนหน่วยพระราชทานและราษฎรที่อำเภอพระแสง ทรงปฏิบัติภารกิจด้วยพระวิริยะอุตสาหะ โดยไม่ทรงคำนึงถึงความลำบาก ผลการปฏิบัติงานทำให้อำเภอพระแสงมีการพัฒนาทั้งด้านสาธารณูปโภค เส้นทางคมนาคม การศึกษา สุขอนามัย นอกจากนี้ได้ทรงขยายงานไปในอำเภอต่างๆ ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และต่อๆ ไปในทุกจังหวัดของภาคใต้ ทั้งเสด็จไปปีละครั้งมิได้ขาด ในคราวนํ้าท่วมใหญ่ภาคใต้ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ ก็ได้ทรงนำหน่วยพระราชทานเข้าไปช่วยเหลือด้วยนํ้าพระทัยอันเปี่ยมด้วยพระกรุณา บางครั้งแม้ต้องเสด็จไปในที่กันดารก็มิได้ทรงย่อท้อ หรือแสดงพระกิริยาเบื่อหน่าย หรือเหน็ดเหนื่อยแต่อย่างใด ทรงทุ่มเทเสียสละความสุขสบายส่วนพระองค์ เพื่อสงเคราะห์และอนุเคราะห์ราษฎรที่ทุกข์ยาก ให้มีคุณภาพชีวิตความที่ดีขึ้น เกิดกำลังใจและความอบอุ่นว่ามิได้ถูกทอดทิ้ง

ในการเสด็จทุกครั้งพระองค์ทรงนำสิ่งของพระราชทานไปประทานแก่ราษฎรที่ยากจนขัดสน อาทิ เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค อุปกรณ์การเรียนสำหรับนักเรียน และเครื่องใช้สอยต่างๆ รวมทั้งนำแพทย์ พยาบาลร่วมคณะไปด้วย เพื่อตรวจรักษาผู้เจ็บป่วย เมื่อแพทย์พยาบาลตรวจพบคนไข้ที่มีอาการหนัก หรือซับซ้อนเกินความสามารถที่จะบำบัดรักษา ณ ที่นั้นได้ ก็รับสั่งให้ส่งคนไข้รายนั้น ไปรับการพยาบาลรักษาที่โรงพยาบาลของจังหวัด ในฐานะคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ หรือบางรายก็รับสั่งให้เข้าไปรับการรักษา ณ โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ โดยเป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังทรงนำ นักการเกษตรไปแนะนำการเพาะปลูกพืช และทรงส่งเสริมอาชีพแก่ราษฎร ทรงฟื้นฟูหัตถกรรมพื้นบ้านของจังหวัดต่างๆ เพื่อให้ราษฎรใช้เวลาว่างประกอบเป็นอาชีพเสริม อันเป็นการเพิ่มพูนรายได้แก่ครอบครัว ในด้านการศึกษาได้ทรงจัดครูไปสอนนักเรียนในหมู่บ้านที่ห่างไกลการคมนาคม และประทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์สมทบเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงแก่ครูเหล่านั้นด้วย

นอกจากพระภารกิจในภาคใต้แล้ว พระองค์ยังทรงนำของพระราชทานไปแจกแก่ชาวเขาที่ตำบลบ่อหลวง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ และบนยอดดอยอมพาย อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน รวมทั้งชาวเขาที่บ้านแม่สาน จังหวัดสุโขทัย และเสด็จเข้าไปส่งเสริมการประกอบอาชีพแก่ราษฎร อีกทั้งเสด็จส่วนพระองค์ไปช่วยเหลือราษฎรที่ยากไร้ในท้องถิ่นต่างๆ อยู่เสมอ

ในระยะหลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต เสด็จไปประกอบพระภารกิจแทนพระองค์ในการบำรุงขวัญทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน ตำรวจภูธร พลเรือน ที่ปฏิบัติราชการชายแดนจังหวัดต่างๆ และในเขตที่มีผู้ก่อการร้าปฏิบัติการอย่างรุนแรง พระองค์จึงต้องเสด็จประทับในท้องที่ชนบทเกือบตลอดเวลา ทรงปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายด้วยความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว ไม่หวาดเกรงต่อความยากลำบากและภัยอันตรายต่อชีวิต พระภาระหน้าที่ครั้งสุดท้ายแห่งพระชนมซีพ คือ การเสด็จไปทรงเยี่ยมเยียน เพื่อบำรุงขวัญเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในการคุ้มกันการก่อสร้างบ้านพักพระราชทานในเขตคุกคามของผู้ก่อการร้ายที่หมู่บ้านเหนือคลอง ตำบลบ้านส้อง อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๐ ครั้นวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๐ ทรงถูกกระสุนปืนของผู้ก่อการร้ายที่ระดมยิงเฮลิคอปเตอร์ ระหว่างเสด็จไปทรงรับตำรวจตระเวนชายแดนที่ได้รับบาดเจ็บจากกับระเบิดของผู้ก่อการร้าย ถึงสิ้นพระชนม์บนเฮลิคอปเตอร์ที่นำเสด็จกลับมายังจังหวัดสุราษฎร์ธานี พระชันษา ๕๗ ปี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานน้ำสรงพระศพ พระราชทาน โกศมณฑปสูงสุดทรงพระศพ ณ พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทานจนถึงวันออกเมรุ ในโอกาสนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานพวงมาลาดอกไม้สด มีข้อความไว้อาลัยและสดุดีพระเกียรติคุณ ต่อมาวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระอิสริยศักดิ์ หม่อมเจ้าวิภาวดีรังลสิต ขึ้นเป็น “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต” พระราชทานเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก มหาปรมาภรณ์ช้างเผือกเป็นเกียรติยศ และพระราชทานเพลิงพระศพ ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ พร้อมกับตำรวจ ทหาร พลเรือนอาสาสมัคร ซึ่งเสียชีวิตด้วยการกระทำของผู้ก่อการร้าย

แม้ว่าพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิตได้สิ้นพระชนม์ไปแล้ว แต่พระกรณียกิจที่ทรงบำเพ็ญเพื่อสังคมและประเทศชาติอย่างยากที่จะหาผู้ใดเปรียบได้นั้น ยังคงตราตรึงอยู่ในดวงใจของชาวไทยเสมอ เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงคุณงามความดีของพระองศ์ ชาวสุราษฎร์ธานีได้กำหนดให้วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น “วันวิภาวดี” และผู้ก่อการร้าย ๗๕ คน กลับใจอุทิศส่วนกุศลถวายหม่อมเจ้าปิยะรังสิต รังสิต พระสวามีได้ก่อตั้ง “มูลนิธิวิภาวดี รังสิต” เพื่อทำหน้าที่สืบต่องานช่วยเหลือราษฎรผู้ประสบภัยและยากไร้ ขาดแคลนในท้องถิ่นทุรกันดาร หนังสือสตรีสารรายสัปดาห์ ซึ่งพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ประทานงานพระนิพนธ์ไปลงพิมพ์เสมอ ได้ตั้ง “ทุนอนุสรณ์ ว. ณ ประมวลมารค” เพื่อเก็บดอกผลให้เป็นรางวัลแก่เรื่องสั้นดีเยี่ยมในรอบปี สภาสตรีแห่งชาติตั้งทุนในพระนามพระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต สำหรับสตรีที่ปฏิบัติงานดำเนินรอยตามพระองค์ และหนังสือพิมพ์เดลินิวส์นำนวนิยายเรื่องปริศนา มาลงพิมพ์เป็นประจำทุกวัน นอกจากนี้รัฐบาลได้ตั้งชื่อถนนซูเปอร์ไฮเวย์ จากสามแยกดินแดงจนถึงสะพานรังสิตว่า “ถนนวิภาวดีรังสิต” เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ และกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยจัดสร้างพระอนุสาวรีย์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ประดิษฐาน ณ บริเวณหน้าโรงเรียนประชาบาล อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี นับเป็นสิ่งอนุสรณ์ที่จัดทำขึ้นเพื่อสดุดีและรำลึกถึงพระเกียรติคุณของพระองค์ที่ทรงบำเพ็ญ คุณประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนไว้นานัปการ

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย:พันธุ์อร จงประสิทธิ์