สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

Socail Like & Share

หรือที่ปวงชนชาวไทยขนานพระนามอย่างสามัญว่า “สมเด็จย่า” และที่บรรดาชาวไทยภูเขาถวายพระสมญานามว่า “แม่ฟ้าหลวง” มีพระนามเดิมว่า สังวาลย์ เสด็จพระราชสมภพที่นนทบุรี เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๓ (หรือปีชวด
คริสต์ศักราช ๑๙๐๐) ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงเป็นบุตรลำดับที่ ๓ ของพระชนกชู และพระชนนีคำ มีพระภคินีและพระเชษฐาร่วมพระอุทร ๒ คน ทว่าถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเยาว์ คงเหลือแต่คุณถมยา พระอนุชาเพียงคนเดียวที่มีวัยอ่อนกว่า ๒ ปี เมื่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงจำความได้นั้น ครอบครัวได้ย้ายบ้านมาประกอบอาชีพทำทองอยู่ที่ธนบุรี บริเวณซอยที่ปัจจุบันเป็นซอยวัดอนงค์ หรือวัดอนงคาราม ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากบ้านเดิมของพระชนกชูเท่าใดนัก ทั้งนี้นอกจากครอบครัวของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีแล้ว ยังมีญาติทางพระชนนีคำ ได้แก่ ท่านซ้วย ร่วมอาศัยอยู่ด้วย เมื่อพระชนกชูสิ้นแล้ว อาชีพการทำทองของครอบครัวก็ยุติลงโดยหันมารับจ้างและค้าขายเล็กน้อยแทนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเริ่มเรียนอักขรวิธี อ่านเขียนเบื้องต้น กับพระชนนีคำ ซึ่งมีพื้นฐานความรู้ด้านหนังสืออยู่บ้าง แล้วได้ทรงเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนวัดอนงคาราม ในแผนกเด็กนักเรียนหญิง ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม พุทฺธสโร) เจ้าอาวาสวัดอนงคาราม เวลานั้น เรียนได้ไม่ถึงปี โรงเรียนได้เลิกกิจการ จึงทรงย้ายเข้าเรียนต่อที่โรงเรียศึนารี ที่อยู่ในความอุปถัมภ์ของสมเด็จพระพุฒาจารย์เช่นกัน ทรงเรียนได้เพียงเดือนกว่าก็ต้องออกจากโรงเรียน เนื่องจากขาดแคลนทุนทรัพย์ เมื่อพระชนมายุได้ ๗ – ๘ พรรษา พระชนนีคำ อนุญาตให้ท่านรอด น้องของพระชนกชู พาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีไปฝากไว้กับคุณพระพี่เลี้ยงจันทร์ แสงชูโต และได้ขึ้นถวายตัวเป็นข้าหลวงรุ่นเด็กในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ (สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร) พระราช ธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (สมเด็จ พระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) และได้ปฏิบัติหน้าที่ขึ้นเฝ้าเฉพาะตอนเช้าและคํ่า จากนั้นได้ทรงเรียนหนังสือกับหม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาสน์ และได้ทรงเข้าโรงเรียนใกล้พระบรมมหาราชวัง สมเด็จฯ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร โปรดให้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนสตรีวิทยา (ตำบลตึกดิน ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับโรงเรียนสตรีวิทยาปัจจุบัน) ในระหว่างที่ทรงศึกษาที่โรงเรียนสตรีวิทยา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ทรงย้ายไปประทับอยู่กับคุณหวน หงสกุล ข้าหลวงสมเด็จฯ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ฯ ซึ่งมีบ้านอยู่ใกล้โรงเรียนจนพระชนมายุ ๙ พรรษา พระชนนีคำ ถึงแก่กรรม ดังนั้นจึงทรงอยู่ในพระอุปการะของสมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ และสมเด็จฯ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธรตลอดมา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ทรงย้ายไปพำนักที่บ้านพระยาดำรงแพทยาคุณ (ฮวด วีระไวทยะ) แพทย์ประจำพระองค์สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถฯ และแพทย์ใหญ่ทหารบก เพื่อรับการผ่าตัดเนื่องจากเข็มตำฝ่าพระหัตถ์ และได้ประทับเรื่อยมาจนกระทั่งทรงเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ จากโรงเรียนสตรีวิทยาใน พ.ศ. ๒๔๕๖ พระชนมายุ ๑๓ พรรษา จึงทรงเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาลแห่งศิริราช ซึ่งสังกัดกระทรวงธรรมการ ตามคำชักชวนของพระยาดำรงแพทยาคุณ ทรงเริ่มเข้ารับการศึกษาเมื่อวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๖ และทรงเป็นนักเรียนใหม่ที่มีอายุน้อยที่สุดในรุ่น การที่ทรงเลือกศึกษาวิชพยาบาลนี้ นับว่าถูกกับพระอุปนิสัย เนื่องจากทรงสุภาพอ่อนโยน มีพระเมตตาและขันติธรรม ทรงเอื้ออาทรต่อบุคคล ทั่วไป

สเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเป็นนักเรียนหลวง ดังนั้นจึงต้องทรงย้ายมาพำนักเป็นนักเรียนประจำของโรงเรียน ซึ่งตั้งอยู่ในเขตโรงพยาบาลศิริราช หลักสูตรการเรียนกำหนดไว้ ๓ ปี ปีแรก เรียนหลักวิชาการต่างๆ คือ ภาคทฤษฏี อาทิ วิชาสรีรวิทยา ผดุงครรภ์ สุขวิทยา การตรวจไข้ การพยาบาล และธรรมจริยา ปีที่สองและที่สามจึงฝึกหัดทำงานภายใต้การควบคุมของพยาบาล ทรงเรียนได้ดีและจบหลักสูตรได้รับประกาศนียบัตรในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ แล้วทรงทำงานต่อที่โรงพยาบาลศิริราช ตามข้อผูกพันของการเป็นนักเรียนหลวง

จากการที่ทรงเลือกศึกษาในวิชาชีพแขนงนี้ นับเป็นเหตุให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ในพระชนมชีพ เนื่องจากในเวลาต่อมาสมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ ได้พระราชทานทุนเล่าเรียน โดยได้คัดเลือก นักเรียนแพทย์และนักเรียนพยาบาล ส่งไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นการตระเตรียมครู ทั้งฝ่ายแพทย์และพยาบาลต่อไป ตามพระประสงค์ของพระราชโอรส คือ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ (หรือสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) ซึ่งทรงสนพระทัย และมุ่งส่งเสริมการศึกษาเพื่อปรับปรุงยกระดับการแพทย์และการสาธารณสุขของไทยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ขณะนั้นกำลังทรงศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มลรัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร (ต่อมาดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร) ผู้บัญชาการโรงเรียนราชแพทยาลัย ได้ทรงคัดเลือกนักเรียนแพทย์และนักเรียนพยาบาลประเภทละ ๒ ทุน สำหรับทุนนักเรียนพยาบาลนั้น ทรงเลือกสมเด็จ พระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ นางสาวสังวาลย์ ขณะนั้น และนางสาวอุบล ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา โดยมีเกณฑ์การพิจารณาจากความฉลาดหลักแหลมเป็นสำคัญ ก่อนที่จะเดินทางไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทรงเข้าชั้นเรียนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง ซึ่งมีแหม่มโคล (Miss Edna Sarah Cole) เป็น อาจารย์ใหญ่ อย่างไรก็ดี การเดินทางไปยังต่างประเทศจำเป็นต้องมีนามสกุลใช้ในหนังสือเดินทาง ดังนั้น จึงทรงขออนุญาตใช้นามสกุลของขุนสงขลานครินทร์ (หลี ตะละภัฎ) เจ้ากรมของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดล อดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ เกี่ยวกับเรื่องนามสกุลนี้ ภายหลังคุณถมยาได้ขอจดทะเบียนนามสกุลที่อำเภอว่า “ชูกระมล” ดังความที่ปรากฏในหนังสือ แม่เล่าให้ฟัง พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ตอนหนึ่งว่า

“ส่วนถมยาน้องชายของแม่ เมื่อเจริญวัยได้ไปขอจดทะเบียนที่อำเภอใช้นามสกุลว่า “ชูกระมล” ถึงแม้ว่าแม่ไม่เคยใช้นามสกุล ชูกระมล ก็อยากถือว่าแม่เกิดมาในสกุลนี้”

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้เสด็จฯ โดยทางเรือพร้อมคณะนักเรียนไทยและผู้ดูแลจากกรุงเทพฯ ถึงประเทศสหรัฐอเมริกาในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ พระองค์และนางสาวอุบล ได้พักอยู่กับครอบครัวอดัมเสน ที่เมืองเบอร์คลี มลรัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อเรียนภาษาอังกฤษและวัฒนธรรมอเมริกันเป็น เวลาประมาณ ๑ ปี จากนั้นได้เดินทางโดยรถไฟพร้อมคณะนักเรียนไทยอีกจำนวนหนึ่ง ไปยังเมืองบอลตัน และได้เฝ้าฯ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์เป็นครั้งแรก ที่สถานีรถไฟ เวลานั้นกำลังทรงศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แม้ว่าจะทรงดำรงพระอิสริยยศสูงศักดิ์ แต่กลับทรงดำเนินพระกิจวัตรอย่างเรียบง่าย ทรงใช้พระนามว่า มิสเตอร์ ม. สงขลา เนื่องจากมีพระชนมายุสูงกว่าบรรดานักเรียนไทย จึงทรงวางพระองค์ประดุจผู้ดูแลนักเรียนไทย ทรงรับเป็นพระธุระดูแล ให้คำแนะนำ ตลอดจนทรงช่วยเหลือในทุกๆ ด้าน ด้วยนํ้าพระทัยที่เปี่ยมด้วยพระเมตตาธรรมนี้ จึงก่อให้เกิดความรู้สึกเคารพรัก เลื่อมใสในหมู่ นักเรียนไทยและผู้ที่ได้เข้าเฝ้าฯ ทั้งนี้ได้โปรดให้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และนางสาวอุบล เดินทางจากเมืองบอสตันไปพำนักกับครอบครัวสตรองที่เมืองฮาร์ตฟอร์ด มลรัฐคอนเนตทิคัต เพื่อฝึกฝน ทักษะการพูด อ่าน เขียน ให้ชำนาญก่อนเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย และได้เสด็จเยี่ยมนักเรียนหญิงทั้งสองอยู่เนืองๆ

ใน พ.ศ. ๒๔๖๒ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดชฯ ได้มีลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลสมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ ขอพระราชานุญาตหมั้นสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และเมื่อ วันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๓ ได้มีพิธีอภิเษกสมรส ณ วังสระปทุม โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เป็นประธานในพิธี สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จึงมีฐานะในเวลานั้นเป็นหม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา หลังจากนั้น ทั้งสองพระองค์ได้กลับไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้ทรงศึกษาหลักสูตรเตรียมพยาบาลที่วิทยาลัยซิมมอนส์ หลักสูตร การสาธารณสุขเกี่ยวกับโรงเรียนที่สถาบัน เอ็ม.ไอ.ที. ต่อมาทรงเข้าศึกษาวิชาจิตวิทยา และคหกรรมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยซิมมอนส์ ตามลำดับ และมีพระราชโอรสธิดา ๓ พระองค์คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ทรงอบรมอภิบาลพระราชธิดาและพระราชโอรสด้วยพระองค์เองมาตลอด ทรงอนุสาสน์สั่งสอนทั้งความประพฤติ การปฏิบัติพระองค์ ตลอดจนการศึกษามาโดยลำดับ ทรงมีหลักสำคัญอยู่ ๒ ประการ คือ เด็กต้องมีสุขภาพอนามัยสมบูรณ์ และต้องอยู่ในระเบียบวินัย หลังจากสมเด็จพระบรมราชชนกสวรรคตใน พ.ศ. ๒๔๗๒ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ยังคงประทับอยู่ในกรุงเทพฯ จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๗๖ จึงได้ทรงพาพระราชธิดาและพระราชโอรสทั้งสามกลับไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาและพระอนามัยที่ดี ครั้นถึง วันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสละราชสมบัติ รัฐบาลได้กราบบังคมทูลอัญเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล (พระอิสริยยศขณะนั้น) ขึ้นครองสิริราชสมบัติ เฉลิมพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ในการนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขนานพระนามพระราชชนนีว่า พระราชชนนีศรีสังวาลย์ ตามคำประกาศ ณ วันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ และต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็นสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ และด้วยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ ยังมีพระชนมายุน้อยมาก ดังนั้นจึงตกเป็นพระภาระของสมเด็จพระราชชนนีที่จะต้องอภิบาลอบรมในเรื่องความรู้ต่างๆ พระราชกิจของพระเจ้าแผ่นดิน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นพระมหากษัตริย์ที่ดีในระบอบประชาธิปไตย พร้อมกันนั้นได้ทรงอบรมพระธิดาและพระโอรสพระองค์เล็ก ให้ทรงเป็นเจ้านายที่มุ่งสร้างประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองในอนาคตอีกด้วย แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลจะเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว แต่พระองค์ยังคงประทับเพื่อทรงศึกษา ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทั้งนี้ได้เสด็จนิวัตพระนครเพื่อทรงเยี่ยมพสกนิกร และทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ และได้เสด็จนิวัตพระนครอีกครั้งในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลง โดยได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ จวบจนเสด็จสวรรคต ในวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติสืบแทน เฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระราชชนนีทรงถวายการอภิบาลอยู่ระยะหนึ่งจนกระทั่ง พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ทรงบรรลุนิติภาวะ นอกจากนี้ เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จ พระราชดำเนินเยือนนานาประเทศอย่างเป็นทางการหลายครั้งหลายคราว นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๒ – ๒๕๑๐ ก็ได้ทรงรับพระราชภาระปฏิบัติราชการแผ่นดินในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาล เป็น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๑๓

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โปรดการดำรงชีวิตที่เรียบง่าย โปรดการทรงงานต่างๆ ด้วยพระองค์เอง ทรงใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์เสมอ มีพระราชดำริว่า “เวลาเป็นของมีค่า” งานอดิเรกที่ทรง มีหลายประเภท อาทิ งานปักผ้า งานดอกไม้แห้ง การปลูกต้นไม้ งานปั้น และเขียนลายกระเบื้องเคลือบ เป็นต้น ทรงใช้จ่ายอย่างประหยัด ทั้งนี้เพื่อนำพระราชทรัพย์ไปใช้ในกิจการกุศล โดยทรงคำนึงประโยชน์ ส่วนรวมเป็นหลัก นอกจากนี้ยังโปรดการเดินป่า ปีนเขา ทอดพระเนตรดอกไม้และทิวทัศน์ธรรมชาติ ทรงยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย ใฝ่รู้ในการศึกษาวิชาการ ตลอดจนศาสตร์ต่างๆ ที่แปลกใหม่ จากการที่ทรง เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง ทำให้ทรงสพระทัยศึกษาหลักธรรมคำสอน การฝึกสมาธิ ทรงดำเนินพระชนมชีพอยู่ในธรรม ไม่ทรงติดข้องอยู่กับลาภ ยศ สรรเสริญ

ตลอดพระชนมชีพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงยึดมั่นในการบำเพ็ญประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนชาวไทย นอกจากพระราชภารกิจที่สำคัญยิ่ง คือการอภิบาลพระราชโอรสทั้งสอง และพระราชธิดา ซึ่งต่อมาเป็นพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์ที่ทรงคุณธรรมอันประเสริฐ เป็นที่เคารพรักเทิดทูนของปวงพสกนิกรแล้ว ยังได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจอื่นๆ อีกเป็นอเนกประการ กล่าวคือ ได้พระราชทานพระราชานุเคราะห์แก่มูลนิธิและองค์การกุศลต่างๆ ตามกำลังพระราชทรัพย์และนับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๗ เป็นต้นมา ได้เสด็จฯ ออกเยี่ยมเยียนราษฎร ในท้องถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศ พระราชทานสิ่งของความช่วยเหลือ ทรงบำรุงขวัญกำลังใจแก่ราษฎร ข้าราชการ ตำรวจ ทหาร และพลเรือนเป็นประจำ จากการเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรนี้เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ทรงริเริ่มงานพัฒนาต่างๆ ดังนี้

ด้านการศึกษา
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์และเงินที่มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย สร้างโรงเรียนเล็กๆ ในถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนโครงการจัดตั้งโรงเรียนชาวเขาและ ประชาชนไกลคมนาคมของตำรวจตระเวนชายแดน และได้พระราชทานทุนการศึกษาแก่เยาวชนตามเกาะต่างๆ อนึ่ง ยังได้พระราชทานพระราชานุเคราะห์ผ่านมูลนิธิส่งเสริมผลผลิตชาวเขาไทยที่ทรงรับไว้ในพระราชูปถัมภ์ พัฒนาอบรมเด็กชาวเขาด้านสุขวิทยา การประกอบอาชีพ โดยส่งเสริมการศึกษาตามความสามารถของเด็ก นอกจากนี้ยังทรงส่งเสริมการเผยแพร่ธรรมะแก่เยาวชนและประชาชนทางหนังสือ และวิทยุ

ด้านการสาธารณสุข
ใน พ.ศ. ๒๕๐๒ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ทรงเริ่มจัดตั้งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เพื่อออกรักษาพยาบาลแก่ประชาชนตามเขตชายแดน และเขตทุรกันดารในวันหยุดราชการ หน่วยแพทย์นี้มีชื่อ เรียกว่า แพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) ผู้ปฏิบัติงานล้วนเป็นอาสาสมัคร เนื่องจากรัฐบาลตระหนักในประโยชน์ของโครงการนี้ จึงได้ให้เงินอุดหนุนจำนวนหนึ่งในแต่ละปี กิจการ พอ.สว. ยังมีบทบาทสำคัญในด้านทันตสาธารณสุข และการนำคนไข้ที่ป่วยเฉพาะโรคในที่ห่างไกลมารับการรักษาต่อไป และนับจาก พ.ศ. ๒๕๓๔ เป็นต้นมา พอ.สว. ได้เป็นหน่วยงานที่ช่วยเสริมงานสาธารณสุข มูลฐานของรัฐบาลด้วย

ด้านการฟื้นฟูปลูกป่าและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดอยตุง
โครงการพัฒนาดอยตุงนับเป็นโครงการพัฒนาสมบูรณ์แบบ ได้เริ่มดำเนินการตามแนวพระราชดำริ ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๑ มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ในอำเภอแม่จัน และอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ประมาณ ๙๐,๐๐๐ กว่าไร่ มีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ลำธาร ในบริเวณที่เสื่อมโทรมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้คนกับป่าอยู่ด้วยกันได้อย่างกลมกลืน

โครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยมีมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระราชูปถัมภ์เป็นผู้ประสานงานดูแลโครงการ ผลการดำเนินงานของโครงการในระยะ ๖ ปีแรก พื้นที่ประมาณร้อยละ ๘๐ ได้กลับคืนสู่สภาพป่าที่สมบูรณ์ นอกจากนั้นโครงการพัฒนาดอยตุง ยังได้ส่งเสริมการฝึกอาชีพต่างๆ ให้แก่ราษฎร ทำให้มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงพระประชวรพระโรคพระหทัยและได้เสด็จฯ เข้ารับการรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๘ และได้เสด็จสวรรคตเมื่อวันอังคาร ที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ เวลา ๒๑.๑๗ นาฬิกา สิริรวมพระชนมายุ ๙๔ พรรษา ปวงพสกนิกรต่างเชื่อมั่นว่า ด้วยอานุภาพแห่งกุศลธรรมที่ทรงบำเพ็ญเป็นอเนกอนันต์ พระผู้ทรงจากไปได้เสด็จสถิตในภพภูมิอันประเสริฐอันควรแก่พระคุณธรรมของพระองค์แล้ว ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สำนักพระราชวัง อัญเชิญพระบรมศพสมเด็จพระบรมราชชนนีขึ้นประดิษฐาน เหนือพระเบญจาทอง ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ตกแต่งที่ประดิษฐานพระโกศ ถวายพระเกียรติยศตามราชประเพณี แล้วบำเพ็ญพระราชกุศลทางพระพุทธศาสนาถวาย พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้พสกนิกรทุกหมู่เหล่า เข้าถวายบังคมพระบรมศพ ครั้นถึงวันอาทิตย์ที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ จึงได้จัดการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย:อิสรีย์ ธีรเดช