ศาสตราจารย์พิเศษ หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ

Socail Like & Share

หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาษาไทย และนักเขียนที่มีชื่อเสียง

หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ สกุลเดิม กุญชร เกิดเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ ที่บ้านคลองเตย ถนนสุนทรโกษา กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นบ้านพักนอกเมืองของบิดา ส่วนบ้านเดิมของตระกูลคือ บ้านเลขที่ ๑๒๘ ถนนอัษฎางค์ เขตหม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณพระนคร หรือที่เรียกกันว่า วังบ้านหม้อ เป็นธิดาของเจ้าพระยาเทเวศร วงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว. หลาน กุญชร) และหม่อมนวล พ.ศ. ๒๕๐๓ สมรสกับนายแพทย์ชม เทพยสุวรรณ ไม่มีบุตรและธิดา ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๔

หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ ได้รับการศึกษาตามลำดับดังนี้

พ.ศ. ๒๔๕๙ ระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์

พ.ศ. ๒๔๖๕ เรียนต่อที่ Convent of the Holy Infant Jesus ปีนัง ได้รับประกาศนียบัตร มัธยมศึกษาของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

พ.ศ. ๒๔๗๑ เมื่อกลับประเทศไทยได้เข้าเรียนในชั้นมัธยมปีที่ ๘ ที่โรงเรียนเซนต์แมรี่ส์หรือ S.P.G. ซึ่งเป็นคำย่อมาจาก Society for the Propagation of the Gospel เนื่องจากต้องการประกาศนียบัตรของกระทรวงธรรมการ

พ.ศ. ๒๔๗๖ – ๒๔๗๙ ศึกษาที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต (อ.บ.)

พ.ศ. ๒๔๘๐ ได้รับประกาศนียบัตรครูมัธยม

พ.ศ. ๒๔๙๑ – ๒๔๙๓ ศึกษาที่มหาวิทยาลัยมินเนโซต้า (University of Minnesota) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับปริญญาโททางการศึกษา M.A. (Ed.)

เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ ได้เริ่มชีวิตการทำงานดังต่อไปนี้

พ.ศ. ๒๔๘๑ เข้ารับราชการที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และช่วยสอนภาษาอังกฤษที่คณะอักษรศาสตร์

พ.ศ. ๒๔๘๘ ลาออกจากราชการ แต่ยังเป็นอาจารย์สอนพิเศษภาษาอังกฤษที่คณะอักษรศาสตร์ และสอนภาษาไทยที่โรงเรียนมาแตร์เดอี

พ.ศ. ๒๔๙๐ กลับเข้ารับราชการอีกครั้งหนึ่งที่แผนกครุศาสตร์ คณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๕ หลังจากสำเร็จการศึกษาปริญญาโททางการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมินเนโซต้า (University of Minnesota) ประเทศสหรัฐอเมริกา หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ ได้ย้ายไปดำรง ตำแหน่งสำคัญทางการศึกษาตามลำดับ คือ

-ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

-หัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ กรมวิสามัญศึกษา

-รักษาการในตำแหน่งรองอธิการวิทยาลัยวิชาการศึกษา บางแสน

-ช่วยราชการกองเผยแพร่ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

-คณบดีคณะอักษรศาสตร์ วิทยาเขตทับแก้ว มหาวิทยาลัยศิลปากร

วันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ ลาออกจากราชการ แต่ยังคงเป็นอาจารย์พิเศษที่คณะอักษรศาสตร์ วิทยาเขตทับแก้ว และมหาวิทยาลัยอื่นอีกหลายแห่ง

ตั้งแต่เริ่มเป็นครู ภาษาไทยเป็นวิชาที่หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ เห็นว่าเป็นวิชาที่สำคัญ ที่ต้องการสอนมากที่สุด เนื่องจากภาษาเป็นชีวิตและศูนย์รวมของชาติ เป็นวิถีทางที่จะนำไปสู่การพัฒนา บุคลิกภาพและการดำเนินชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ ครูมีโอกาสที่จะทำให้นักเรียนมีความคิดก้าวไกลได้มาก ในชั่วโมงภาษาไทย หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ เป็นครูที่รอบรู้ทั้งภาษาไทย วรรณคดี และวิธีสอน ได้คลุกคลีกับวรรณคดีไทยจากสิ่งแวดล้อมในครอบครัวมาตั้งแต่เยาว์วัย เมื่อเรียนหนังสือก็ได้ศึกษาวรรณคดีไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะวรรณคดีอังกฤษอย่างกว้างขวาง ทำให้มีความรู้แตกฉาน สามารถวิเคราะห์วิจารณ์และเปรียบเทียบวรรณคดีไทยกับวรรณคดีต่างประเทศได้อย่างชัดเจน นอกจากนั้น หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ ได้เป็นผู้นำภาษาศาสตร์มาเผยแพร่ในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๐ โดยเน้นหนักเรื่องการใช้ภาษาศาสตร์ ช่วยในการเรียนการสอน สำหรับวิธีสอนนั้นได้ศึกษาโดยตรงในระดับปริญญา และมีประสบการณ์จากการอบรม ประชุม รวมทั้งสัมมนา จนมีความเชี่ยวชาญ ซึ่งหม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ มีความเห็นว่าความบกพร่องในงานสอนภาษาไทยที่สำคัญที่สุดคือ การขาดความเอาใจใส่และความพยายามในอันที่จะค้นคว้าวิธีสอนที่ได้ผล รวมทั้งการผลิตวัสดุอุปกรณ์ที่ไม่ก้าวหน้า

หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ ได้เข้าร่วมการประชุม สัมมนาทางการสอน การศึกษา ทั้งในและต่างประเทศหลายครั้ง ดังตัวอย่าง

-ศึกษาอบรมเรื่องโรงเรียนมัธยมและวิทยาลัยอาชีวศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ พ.ศ. ๒๔๙๓

-ศึกษาและดูงานด้านการจัดโรงเรียนและร่วมประชุมกับนักการศึกษาจากกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

-ศึกษาและดูงานด้านการจัดโรงเรียนมัธยมที่เมืองเจนีวาและโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พ.ศ. ๒๔๙๙

-ร่วมสัมมนาเรื่องนักเรียนในภูมิภาคเอเชียใต้ ในฐานะที่ปรึกษาทางการศึกษา จัดสัมมนาโดย Society of Friends (Quakers) ณ กรุงเทพฯ ปอร์ต ดิคสัน ประเทศมาเลเซีย (Port Dickson, Malaysia) และจังหวัดเชียงใหม่ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๑ – ๒๕๐๙
ฯลฯ

และเนื่องจากเป็นผู้มีความรู้ความสามารถสูง หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ จึงได้รับเชิญให้ร่วมงานการศึกษาและสาธารณประโยชน์อยู่เสมอ ดังตัวอย่าง

-เป็นผู้ร่างหลักสูตรวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

-เป็นผู้ร่วมปรับปรุงหลักสูตรและแบบเรียนภาษาไทยชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย

-เป็นกรรมการประสานงานวิทยุและโทรทัศน์เพื่อการศึกษา

-เป็นนายกสตรีอุดมศึกษา

-เป็นกรรมการสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ

-เป็นประธานกรรมการและประสานงานการสอนภาษาอังกฤษระดับชาติ

-เป็นกรรมการองค์การภาษาอังกฤษซิมิโอ (Southeast Asia Minister Organization)

หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถและประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่แต่ละโครงการได้วางไว้ โดยมีหลักในการทำงานว่า “เมื่อได้รับมอบหมายให้ทำอะไรก็ตาม ต้องพยายามทำให้เต็มความสามารถ และทำใจให้ชอบให้สนุกกับสิ่งที่ต้องทำ”

เนื่องจากเป็นผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าว หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ จึงได้รับการยอมรับนับถือ ในวงการศึกษาอย่างกว้างขวาง เป็นผลให้ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์หลายสาขา คือ

ปริญญาอักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. ๒๕๑๗

ปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๒๐

ปริญญาครุศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๒๔

ปริญญาอักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๒๔

หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ ได้สร้างสรรค์ผลงานไว้เป็นจำนวนมาก อาจยกประเภทได้ดังนี้ คือ

ประเภทภาษาไทย
๑. ไขความบัญญัติศัพท์บางคำ
๒. ความรู้เบื้องต้นเรื่องวัฒนธรรมของชนชาติที่พูดภาษาไทย
๓. แนะแนวการศึกษาวิชาวรรณคดี
๔. ภาษาไทยวิชาที่ถูกลืม
๔. ตัวอย่างการวิจารณ์นวนิยาย

๖. วิเคราะห์รสวรรณคดีไทย
๗. วรรณคดี
๘. หนังสือเรียนภาษาไทยเพื่อกิจธุระ ท. ๓๓๑ ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ๙. สนทนาเรื่องพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ๑๐. การอภิปรายเรื่อง “นวนิยายของดอกไม้สด” เนื่องในวันดอกไม้สดรำลึก

ประเภทภาษาอังกฤษ
๑. ภาษาอังกฤษ (คู่มือครูประโยคมัธยมศึกษาตอนต้น วิชาภาษาอังกฤษ)
๒. ภาษาอังกฤษ
๓. รวมบทความเกี่ยวกับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ
๔. วัฒนธรรมของชนชาติที่พูดภาษาอังกฤษ
๕ รวบรวมเรื่องสั้นจากสหรัฐอเมริกา

ประเภทเกี่ยวกับชีวิต
๑. ความสุขของสัตว์
๒. ความสำเร็จและความล้มเหลว

ประเภทนวนิยาย
๑. คนถูกคนผิด
๒. ฉากหนึ่งในชีวิต
๓. ดร. ลูกทุ่ง
๔. ตกหลุมตกร่องแล้วใดใดก็ดี
๕. ทุติยะวิเศษ
๖. ศิลาอาถรรพณ์
๗. สะใภ้แหม่ม
๘. สุรัตนารี

ประเภทบทความจากวารสาร
๑. การใช้ศัพท์วิชาการศึกษา วารสารครุศาสตร์ ๓ (๕) : ๒๑ – ๒๘, สิงหาคม – กันยายน ๒๕๑๖

๒. การที่ครูจะเจริญรอยบาทพระศาสดา วารสารวิทยุศึกษา ๔ (๘) : ๓๒ – ๓๖, สิงหาคม ๒๕๐๐

๓. การปลูกฝังค่านิยมโรงเรียนวารสารคหเศรษฐศาสตร์ฉบับพิเศษ๑๘ : ๑๖๑-๑๖๖, ธันวาคม ๒๕๑๗

๔. การสอนภาษาไทยกับค่านิยมปัจจุบัน วิทยาสาร ๒๕ (๓๗) : ๑๘ – ๒๐, ๑๐ ธันวาคม ๒๕๑๗

๕. การอบรมศึกษากับค่านิยมที่พึงประสงค์ เอกลักษณ์ไทย ๑ (๑) : ๓๑- ๕๐ มกราคม ๒๕๒๐

๖. แก่นและกระพี้ของวัฒนธรรมไทย วารสารครุศาสตร์ ๑(๑) : ๓๒ – ๔๘ ธันวาคม ๒๕๑๓

๗. ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการประชุมสหพันธ์ องค์การอาชีพครูแห่งโลก ณ ศาลาสันติธรรม ศูนย์ศึกษา ๑๑ (๒) : ๖๑- ๖๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๗

๘. ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการศึกษาในปัจจุบัน วารสารสภาการศึกษาแห่งชาติ ๗ (๔) : ๔๑- ๕๒ กันยายน ๒๕๑๕

๙. ข้อสังเกตเกี่ยวกับความเป็นมาของละครไทยและการปรับปรุง วารสารธรรมศาสตร์ ๒ (ฉบับพิเศษ นาฏศิลป์และดนตรีไทย) : ๑๖๐ – ๑๘๙ ๒๕๑๖

๑๐. ข้อสังเกตเรื่องวรรณคดีไทย วารสารห้องสมุด ๑๑ (๔) : ๒๑๔ – ๒๑๕ กรกฎาคม – สิงหาคม ๒๕๑๐

๑๑. ความผิดหวังในการศึกษา จันทรเกษม ๙๗ : ๒๕ พฤศจิกายน – ธันวาคม ๒๕๑๓

๑๒. แนะแนวทางสอนอ่านนวนิยาย วารสารวิสามัญศึกษา ๔(๑) : ๗ -๑๑ พฤษภาคม ๔ (๒) : ๕ – ๑๗ มิถุนายน ๒๕๑๐

๑๓. ประเพณีไทยขัดขวางหรือสนับสนุนการพัฒนาประเทศ ปาจารยสาร ๓ (๙) : ๒๙ มกราคม – มีนาคม ๒๕๑๗

๑๔. เปลี่ยนแล้วจะเกิดอะไร วิทยาสาร ๒๔ (๑): ๖- ๑๑ ๑ มีนาคม ๒๕๑๖

๑๕. พันธกิจของแผนกวิชาภาษาไทยในมหาวิทยาลัย วารสารธรรมศาสตร์ ๒ (๒) : ๖๐ – ๗๑

๑๖. ภาษาฝรั่งที่มีอิทธิพลต่อภาษาไทย สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ๕ (๑): ๖๐ – ๖๙ มิถุนายน – สิงหาคม ๒๕๑๐

๑๗. วรรณกรรมการเมือง ภาษาและหนังสือ ๗ (๔) : ๑๐๖ – ๑๐๙ เมษายน ๒๕๑๔

๑๘. วรรณคดีกับการวิจัย วารสารมนุษยศาสตร์ปริทัศน์ ๒ (๒) : ประจำภาคเรื่องที่สอง ๒๕๒๓

๑๙. วิชาวรรณกรรมศึกษา : สิ่งที่สอนและวิธีสอน สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ๗ (๑๑) : ๒๑- ๒๗

๒๐. สาส์นศึกษา วารสารวิทยุศึกษา กุมภาพันธ์ – มีนาคม ๒๔๑๗ ๒๙ – ๓๔

๒๑. หัวอกครู จันทรเกษม (๑๐๖) : ๔ -๑๘ พฤษภาคม – มิถุนายน ๒๕๑๕

๒๒. หัวอกครู วารสารวิทยุศึกษา ๒๐ (๑): ๙- ๑๒ ๑ มกราคม ๒๕๑๖

นามปากกา
๑. บุญเหลือ เทพยสุวรรณ
๒. บุญเหลือ

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย:ทองเพียร สารมาศ