ความปรารถนาของฆราวาส

ฆราวาสมีความต้องการดังนี้
๑. ขอสมบัติจงมีแก่เราโดยชอบธรรม
๒. ขอยศจงมีแก่เรา และแก่พวกพ้องโดยชอบธรรม
๓. ขอเราจงมีอายุยืน
๔. เมื่อสิ้นชีพไปแล้วขอให้ไปสุคติ

พระพุทธเจ้าทรงแสดงเหตุให้ความต้องการนี้สำเร็จ เช่น
ความต้องการข้อที่ ๑ ให้กระทำเหตุ คือเหตุให้พ้นความจน มีขยันเป็นข้อแรก

ความต้องการข้อที่ ๒ ให้ทำเหตุคือ ขยันเรียน ขยันทำงาน ขยันหาทรัพย์ในทางสุจริต๑ มีสติสัมปชัญญะความสำนึกผิดถูก๑ มีการงานที่เป็นสุจริต๑ พิจารณาใคร่ครวญแล้วจึงทำ๑ ไม่ประมาทในวัยในชีวิต เป็นต้น มีความเตรียมตัวเพื่อเหตุการณ์นั้นๆ อยู่เสมอ๑ ประพฤติกุศลธรรม๑

ความต้องการข้อที่ ๓ ให้ทำเหตุคือ วิธีทำให้อายุยืน ด้วยทำความสงบกายใจแก่ตน เป็นต้น

ความต้องการข้อที่ ๔ ทรงให้ทำเหตุคือ เดินไปตามทางแห่งสุคติ มีสมบูรณ์ด้วยศีล เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีความปรารถนาเกี่ยวกับครอบครัว คือ มีผัว-เมียและลูกที่ดี มีเพื่อนดี ความปรารถนาเกี่ยวกับครอบครัว ทรงให้ทำตามหน้าที่ของผัว-เมีย ของพ่อแม่กับลูก และเรื่องกรรม เกี่ยวกับเพื่อนให้ดูคนที่จะคบเป็นเพื่อน

สังคม
สังคมมีปัญหาอยู่อย่างหนึ่งคือ ทำอย่างไรจึงจะไม่เป็นสังคมพิการ แต่เป็นสังคมที่มีความมั่นคง เจริญก้าวหน้า เกาะตัวกันอยู่ สมาชิกในสังคมนั้นๆ มีความร่วมมือ มีความสามัคคีกัน พูดกันรู้เรื่อง รับผิดชอบร่วมกัน ในเรื่องนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงวิธีการไว้หลายประการด้วยกัน เช่น

สังคหวัตถุ เรื่องช่วยเหลือกัน พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ดังนี้

๑. ทาน คือ ให้ความรู้ ให้ทรัพย์ เพื่อช่วยให้เขาช่วยตัวเองได้ เป็นต้น

๒. ปิยวาจา คือ พูดดี เช่น พูดแนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์ พูดให้เกิดกำลังใจ พูดให้เกิดความร่วมมือร่วมใจ เป็นต้น

๓. อัตถจริยา คือ ช่วยเหลือผู้อื่นในกิจการต่างๆ ไม่นิ่งดูดาย ไม่หวังค่าจ้าง แต่ทำด้วยน้ำใจ

๔. สมานัตตตา คือ เป็นคนเสมอต้นเสมอปลาย ทำตัวให้เข้ากับเขาได้

เมื่อปฏิบัติวิธีการทั้ง ๔ นี้ได้ ก็ย่อมเกิดความสามัคคี ร่วมมือร่วมใจกันในกลุ่มชนนั้นๆ แน่นอน และถ้าใครมีธรรมเหล่านี้ ผู้นั้นก็ย่อมเป็นที่รักของคนทั่วไป (บางท่านเรียกธรรมข้อนี้ว่า มนต์มหาเสน่ห์ เพราะทำให้ตนเข้าไปนั่งอยู่ในใจของผู้อื่นได้) วิธีการนี้จึงเป็นเครื่องแก้ปัญหาของสังคมที่พิการด้วย

นอกจากนี้พระพุทธเจ้ายังทรงแสดงวิธีอื่นอีก เช่น
สาราณียธรรม เป็นหลักสำหรับให้คำนึงถึงกัน ให้เกิดสามัคคีกัน พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้อีก ๖ ประการคือ

๑. ๒. ๓. ช่วยผู้อื่นทางกาย วาจา ใจ ด้วยความปรารถนาดีทั้งต่อหน้าและลับหลัง

๔. แบ่งปันสิ่งของที่ได้มาโดยชอบธรรมแก่ผู้อื่น ให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์จากทรัพย์สมบัติของตนบ้าง

๕. เป็นผู้มีความประพฤติดีเท่ากับคนอื่น ไม่เป็นที่รังเกียจทางความประพฤติสำหรับผู้อื่น

๖. มีความเห็นร่วมกับผู้อื่นในสังคมนั้น และไม่วิวาทกับใครเพราะมีความเห็นผิดกัน

เมื่อทำได้อย่างนี้ก็จะเป็นที่รักเคารพของผู้อื่น ไม่วิวาทกัน มีแต่สงเคราะห์อนุเคราะห์ มีแต่ความสามัคคีร่วมมือร่วมใจกัน สังคมที่มีบุคคลเช่นนี้ก็จะมีแต่ความเจริญก้าวหน้าเป็นปึกแผ่นมั่นคง ไม่พิการ

และพระองค์ยังทรงแสดงธรรมอื่นๆ อีก อันเป็นไปเพื่อความมั่นคงของสังคม เป็นต้นว่า

อปริหานิยธรรม หลักสำหรับความเจริญไม่เสื่อมของบุคคลและสังคม ข้อนี้พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ดังนี้

๑. หมั่นประชุมกันเสมอ
๒. พร้อมเพรียงกันประชุม เลิกประชุม และพร้อมเพรียงช่วยทำกิจของส่วนรวม เหล่านี้เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีวิธีการอื่นอีกมากที่ทรงแสดงไว้ เป็นต้นว่า
๑. คิดถึงกัน
๒. ทำความรักความปรารถนาดีในกันและกัน
๓. มีความนับถือกัน
๔. ช่วยเหลือกัน
๕. ไม่วิวาทแก่งแย่งกัน
๖. มีความสามัคคี ร่วมใจเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

คนในสังคมใดประกอบด้วยธรรมดังกล่าวนี้ สังคมนั้นก็ย่อมมีความเจริญมั่นคง ไม่พิการแน่นอน

วิธีการเหล่านี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้กว่า ๒๕๐๐ ปีมาแล้ว ในปัจจุบันนี้ก็ยังใช้ได้อยู่ แม้ในอนาคตก็เช่นเดียวกัน ขอให้เทียบกับวิธีการในปัจจุบันที่มีผู้ตั้งขึ้นเพื่อให้สังคมไม่พิการ ส่วนเหตุที่ทำให้เกิดทะเลาะวิวาท ทำให้สังคมพิการ นับตั้งแต่สังคมย่อย คือ ภายในครอบครัว จนถึงสังคมใหญ่ คือบ้านเมืองนั้น คือปฏิบัติตามวิธีการตรงกันข้ามจากวิธีการดังกล่าวแล้ว หรือปฏิบัติดังนี้ คือ

๑. โกรธ ผูกใจเจ็บ
๒. ลบหลู่ ตีเสมอไม่นับถือ
๓. ริษยา ตระหนี่
๔. โอ้อวด เจ้าเล่ห์
๕. ปรารถนาเลว
๖. ถือทิฏฐิ

เมื่อสรุปแล้วเหตุที่ทำให้ทะเลาะวิวาทผิดใจกันก็คือ ความอยาก(ตัณหา) กับทิฏฐิ ดังที่ท่านมหากัจจายนะเถระ กล่าวไว้ในทุกนิบาต อังคุตตรนิกาย ความไทยว่า ฆราวาสทะเลาะวิวาทกัน เพราะเหตุคือความอยาก บรรพชิตทะเลาะวิวาทกัน เพราะเหตุคือความเห็นไม่ตรงกัน(ทิฏฐิ) การทะเลาะกัน ผิดใจกัน ไม่ถูกกัน มีอยู่ที่ไหน ที่นั่นจะเกิดความปั่นป่วน เสียความมั่นคง ไม่เจริญก้าวหน้า

ความสำเร็จ
พูดถึงความสำเร็จในชีวิต ย่อมเป็นที่ปรารถนาของคนทั่วไป เรื่องนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงวีที่จะให้ประสบความสำเร็จไว้หลายวิธี เป็นต้นว่า

อิทธิบาท
เหตุให้ถึงความสำเร็จสมประสงค์(ที่ไม่เหลือวิสัย) พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ๔ ประการ คือ

๑. ฉันทะ คือ ความพอใจในสิ่งนั้นๆ ที่ตนจะต้องทำ
๒. วิริยะ คือ พากเพียรพยายามทำสิ่งที่พอใจนั้น
๓. จิตตะ คือ เอาใจใส่ในสิ่งที่ทำนั้น ไม่ทอดทิ้ง
๔. วิมังสา คือ หมั่นตริตรองพิจารณาค้นคว้าหาข้อมูลต่างๆ ในสิ่งที่ทำนั้น

เหตุ ๔ ประการนี้ เมื่อมีบริบูรณ์แล้ว ย่อมสามารถทำให้ผู้ทำถึงความสำเร็จได้ตามประสงค์ ในสิ่งที่ไม่เหลือวิสัย นอกจากนี้ยังมีวิธีอื่นอีก เช่น การใช้ความเพียร ๔ ประการ ซึ่งมีอยู่ในจตุกกนิบาต อังคุตตรนิกาย คือ

๑. เพียรระวังความไม่ดีความเสียหายไม่ให้เกิด
๒. เพียรละความไม่ดีความเสียหายที่เกิดแล้ว
๓. เพียรให้สิ่งดีงามที่ยังไม่เกิดให้เกิดมีขึ้น
๔. เพียรให้สิ่งดีงามที่เกิดมีแล้วเจริญยิ่งๆ ขึ้น เหล่านี้เป็นต้น

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

ลักษณะของคนดีคนชั่ว

ในสังคมจะต้องประกอบไปด้วยคนดีและคนเลวอยู่บ้าง นอกจากลักษณะของเพื่อนที่ได้กล่าวแล้ว พระพุทธองค์ยังทรงแสดงลักษณะของคนดีคนชั่วไว้อีกเป็นอันมาก ดังนี้

ลักษณะคนดี ๗ ประการ คือ
๑. รู้เหตุ

๒. รู้ผล

๓. รู้จักตนและหน้าที่ของตน

๔. รู้จักประมาณในการต่างๆ เช่น การพูด การเงิน การนอน การใช้จ่าย เป็นต้น

๕. รู้จักใช้กาลเวลาให้ถูกต้องแก่ภาวะนั้นๆ

๖. รู้จักสังคม เช่น สังคมนี้เป็นอย่างนี้ สังคมนั้นเป็นอย่างนั้น ต้องทำตัวอย่างนั้นๆ เพื่อให้เข้ากับเขาได้ ถ้าเป็นสังคมคนชั่วก็ไม่ไปเกี่ยวข้อง เป็นต้น

๗. รู้จักบุคคลว่า คนนี้ควรคบ คนนั้นไม่ควรคบ คนนี้เป็นเทพ คนนั้นเป็นสัตว์ เป็นต้น

ลักษณะคนชั่ว
ลักษณะของคนชั่วนั้นมีมาก นอกจากจะเป็นคนชั่วเพราะคิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่วแล้ว ยังมีที่ร้ายแรงกว่านั้นอีก คือ

๑. ฆ่าผู้หญิงได้
๒. ชอบเป็นชู้เขา
๓. ประทุษร้ายมิตร
๔. ฆ่าพระได้
๕. ตระหนี่เห็นแก่ตัวจัด

และคนอีกพวกหนึ่งที่คนดีไม่ควรคบ คือ
๑. ชอบพูดปด
๒. เย่อหยิ่ง
๓. พูดมาก
๔. ขี้โอ่อวดตัว
๕. ยกตนเอง
๖. มีใจไม่มั่นคง

หากไปคบคนเหล่านี้อาจต้องประสบกับภาวะดังนี้
๑. ต้องกลายเป็นนักเลงการพนัน
๒. เป็นนักเลงเจ้าชู้
๓. เป็นนักเลงสุรา ติดสิ่งเสพติด
๔. เป็นนักหลอกลวง
๕. เป็นคนเจ้าเล่ห์
๖. เป็นนักเลงอันธพาล และต้องประสบภัยอันตราย มีอุปสรรคในชีวิต เป็นต้น คนเลวเหล่านี้เลวยิ่งกว่าโจรที่ปล้นเขากินเสียอีก เพราะโจรในสมัยพระพุทธเจ้าจะมีธรรมประจำใจ คือ

๑. ไม่ฆ่าคนที่ยอมแพ้
๒. ไม่ถือเอาของเขาจนหมดสิ้น ยังเหลือไว้บ้าง
๓. ไม่ลักพาหญิง ไม่ทำร้ายหญิง
๔. ไม่ทำร้ายเด็ก
๕. ไม่ปล้นนักบวช
๖. ไม่ปล้นของแผ่นดิน
๗. ไม่ปล้นใกล้บ้านตน
๘. ฉลาดในการเก็บทรัพย์ที่ปล้นได้

ในสมัยนี้มีความเจริญทางวัตถุมาก แต่ทางด้านจิตใจแล้วยังต่ำกว่าคนสมัยก่อนมาก และโจนสมัยนี้ก็ไม่มีธรรมเหมือนโจรในสมัยก่อนด้วย และลักษณะของคนดีคนชั่วก็ยังมีอีกมาก

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

หลักปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนา

หลักปฏิบัติของคนในพระพุทธศาสนา สำหรับคนในครอบครัว ในสมาคม และในองค์การต่างๆ มีดังนี้

๑. ไฟในอย่านำออก(คือเรื่องไม่ดีภายในครอบครัว ในสมาคม หรือในองค์การ ไม่ควรนำไปพูดให้คนภายนอกรู้)

๒. ไฟนอกอย่านำเข้า(คือเรื่องไม่ดีงามภายนอก อย่านำมาสู่ครอบครัว สมาคม หรือองค์การ)

พระพุทธเจ้ามิได้แสดงแต่เฉพาะเหตุที่ทำให้ตั้งตัวได้เท่านั้น แต่ยังทรงแสดงเหตุแห่งความฉิบหาย ตั้งตัวไม่ได้ไว้ด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้หวังจะสร้างอนาคต หรือผู้ต้องการมีฐานะมั่นคงต้องละเว้น มีดังนี้

อบายมุข
ทางของความเสื่อมทรัพย์ เสื่อมเกียรติ เสื่อมการงาน เสื่อมชีวิต เสื่อมทางสังคม มีดังนี้

๑. เป็นนักเลงหญิง นักเลงเหล้า ติดของเสพติด เป็นนักเลงหัวไม้

๒. เป็นนักเที่ยวกลางคืน

๓. เป็นนักเที่ยวดูการเล่น เที่ยวสนุกจนเกินประมาณ

๔. เป็นนักเลงการพนัน

๕. คบคนชั่วเป็นเพื่อน

๖. เกียจคร้านในการเรียน ในการหาทรัพย์ ในการทำงาน

และพระพุทธองค์ทรงแสดงรายละเอียด เช่น คบคนชั่วเป็นเพื่อน ทำให้เกิดเรื่องเลวร้ายอย่างนั้นๆ รวมความว่า คบเพื่อนเลวเพียงอย่างเดียวก็ทำสิ่งไม่ดีอีก ๕ อย่างได้หมด

คนที่ประสบความเสื่อมในชีวิต เมื่อพิจารณาดูพฤติกรรมของเขาแล้ว ย่อมไม่พ้นไปจากอบายมุข โดยเฉพาะคบเพื่อนเลว นอกจากนี้ยังทรงแสดงไว้ในที่อื่นอีก เช่น ในอัฏฐกนิบาต อังคุตตรนิกาย เป็นต้น

ตระกูลที่เคยมั่งมีแต่กลับเสื่อม
ตระกูลที่เคยมั่งมีมาก่อน แต่ในภายหลังกลับเสื่อมลงนั้น พระพุทธองค์ตรัสว่าเป็นเพราะเหตุดังต่อไปนี้

๑. ไม่หาของหาย หายแล้วปล่อย ซื้อหาใหม่

๒. ไม่บูรณะของเก่า ที่พอบูรณะได้ ปล่อยทิ้ง แล้วซื้อหาใหม่

๓. ไม่รู้จักประมาณในการใช้จ่าย ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายอย่างไร้ความหมาย ใช้เงินใช้ของไม่เป็น

๔. ตั้งหญิง หรือชายเลวเป็นพ่อบ้านแม่บ้าน ตัวก็โง่กว่าเขา

ถ้าเป็นเช่นนี้จะมั่งมีเท่าไรก็ต้องหมด ตระกูลเก่าที่ยังรักษาฐานะไว้ได้ เพราะไม่ทำอย่างนี้

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

ความสุขความทุกข์ทางพระพุทธศาสนา

คนทุกคนย่อมต้องการความสุข ฆราวาสก็ต้องการอย่างหนึ่ง บรรพชิตก็ต้องการอย่างหนึ่ง ความสุขที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้มีดังนี้คือ

ความสุขของฆราวาส มีดังนี้
๑. สุขเกิดจากการมีทรัพย์
๒. สุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์
๓. สุขเกิดจากการไม่เป็นหนี้
๔. สุขเกิดจากการทำงานสุจริต

ความจนเป็นทุกข์ ความเป็นหนี้ก็เป็นทุกข์
พระพุทธองค์ทรงแสดงว่า ความจนเป็นทุกข์ในโลก ความเป็นหนี้ การเสียดอกเบี้ย การถูกทวง เป็นทุกข์ในโลก และพระองค์ได้ทรงแสดงเหตุแห่งการตั้งตัวได้ มีทรัพย์สมบัติ มีฐานะมั่นคง ไม่ยากจน มีความรู้ดี และมีความสุขในปัจจุบัน

ธรรมที่ให้ได้ประโยชน์สุขในปัจจุบัน และทำให้พ้นความจน(หัวใจเศรษฐี) มีดังนี้
๑. สมบูรณ์ด้วยความขยัน เช่น ขยันหาความรู้ ขยันหาทรัพย์ ขยันในการทำการงาน

๒. สมบูรณ์ด้วยการระวังรักษา เช่น รักษาสมบัติที่มีอยู่มิให้เสียหาย รักษาการงานมิให้เสียหาย รักษาความรู้เก่า และหาความรู้ใหม่เพิ่มเติม

๓. คบคนดีเป็นเพื่อน ไม่คบคนชั่ว

๔. เลี้ยงชีพโดยควรแก่รายได้ คือ ไม่เกินรายได้ อย่าให้ต้องมีหนี้

เมื่อทำได้ครบเช่นนี้แล้วก็ย่อมที่จะสามารถตั้งตัวได้ มีทรัพย์สมบัติ มีฐานะมั่นคง และมีความสุขในโลกนี้ ไม่ต้องทุกข์เพราะความยากจน เป็นลูกหนี้เขา เรื่องนี้เป็นวิธีแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วย และบางท่านเรียกว่า หัวใจเศรษฐี

เมื่อมีทรัพย์สมบัติแล้วก็ต้องใช้ทรัพย์ พระพุทธองค์ทรงแสดงวิธีใช้ทรัพย์ไว้ด้วยดังนี้

วิธีใช้ทรัพย์ ๕ ประการคือ
๑. ใช้เลี้ยงตัวและบุคคลใกล้เคียง เช่น พ่อแม่ ลูกเมีย ให้เป็นสุข

๒. ใช้เลี้ยงเพื่อนและผู้เกี่ยวข้องให้เป็นสุข

๓. ใช้ขจัดอันตราย เช่น ความเจ็บไข้ของตนและผู้อื่น เป็นต้น

๔. ใช้ทำพลี คือสงเคราะห์ญาติและพวกพ้อง ต้อนรับแขก ทำบุญอุทิศให้คนตาย ให้เป็นของหลวง เช่น การเสียภาษี เป็นต้น ใช้ช่วยบ้านเมือง

๕. ใช้บำรุงสมณะผู้ประพฤติดี และในทางที่ควรอื่นๆ เช่น เพื่อสาธารณประโยชน์ เป็นต้น

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

ลักษณะของเพื่อนที่ดีและคนดี

เพื่อน
มีความสำคัญต่อชีวิตของคนทั่วไป คนจะดีหรือชั่ว โดยมากมักเป็นเพราะเพื่อน เช่น คนสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เที่ยวเสเพล ก็เพราะเพื่อนพูดชักจูงให้เห็นว่าเป็นของดี เป็นการหาประสบการณ์ เพื่อกำไรของชีวิต การแนะนำเพื่อนให้เสียคนอย่างนี้ ไม่มีพ่อแม่ที่ไหนแนะนำ พระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่องความสำคัญของเพื่อนนี้ดี เมื่อพระอานนท์กราบทูลว่า เพื่อนเป็นครึ่งหนึ่งของชีวิต พระพุทธองค์จึงตรัสว่าเพื่อนเป็นทั้งหมดของชีวิต ดังนั้น พระองค์ทรงแสดงพระสูตรว่าด้วยสิ่งที่เป็นมงคล(มงคลสูตร) ๓๘ ประการ จึงทรงแสดงเรื่องการคบเพื่อนไว้ก่อนธรรมอื่นในพระสูตรนั้น และพระองค์ทรงแสดงเรื่องเพื่อนที่ดี เพื่อนเลว พร้อมทั้งวิธีดูคนว่าจะเป็นเพื่อนชนิดไหนไว้เป็นอันมาก เช่น

เพื่อนเทียมมีลักษณะดังนี้
๑. ปอกลอกหลอกลวง
๒. ดีแต่พูด
๓. คอยประจบ
๔. ชักชวนในทางเสียหาย

คนปอกลอกมีลักษณะดังนี้
๑. คิดเอาแต่ได้จากเพื่อนข้างเดียว
๒. เสียให้เพื่อนน้อย คิดเอาจากเพื่อนมาก
๓. เมื่อมีภัยมาถึงตัว จึงรับทำธุระของเพื่อน ไม่เช่นนั้นก็ไม่ทำ
๔. คบเพื่อนเพราะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว

คนดีแต่พูดมีลักษณะดังนี้
๑. นำเอาเรื่องที่ล่วงแล้วมาพูด
๒. อ้างเอาของที่ยังไม่มีมาพูด
๓. ให้เพื่อนด้วยของที่ไร้ประโยชน์ หรือที่ให้โทษ เช่น ให้เหล้าดื่ม ให้เงินเที่ยวเสเพล เป็นต้น
๔. พึ่งไม่ได้

คนประจบมีลักษณะดังนี้
๑. จะทำดีก็คล้อยตาม
๒. จะทำชั่วก็คล้อยตาม ไม่ห้ามปราม
๓. ต่อหน้าสรรเสริญ
๔. ลับหลังนินทา

คนชักชวนในทางเสียคนมีลักษณะดังนี้
๑. ชักชวนดื่มน้ำเมา เสพของเสพติด
๒. ชักชวนเที่ยวกลางคืน
๓. ชักชวนให้มัวเมาในการเล่นที่ไร้ประโยชน์
๔. ชักชวนให้เล่นการพนัน

เนื่องจากเพื่อนมีความสำคัญต่อชีวิต พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงเพื่อนที่ดีไว้ให้พิจารณาด้วยดังนี้

เพื่อนแท้ พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ ๔ ประเภทดังนี้
๑. ให้อุปการะ
๒. ร่วมสุขร่วมทุกข์
๓. แนะนำสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์
๔. มีความรัก

ลักษณะของเพื่อนมีอุปการะ มีดังนี้
๑. ป้องกันเพื่อนไม่ให้เกิดอันตราย
๒. ป้องกันทรัพย์สมบัติของเพื่อนไม่ให้มีอันตราย
๓. เมื่อมีภัย เป็นที่พึ่งอาศัยได้
๔. เมื่อเพื่อนมีธุระ ย่อมช่วยเหลือเป็นอย่างดีด้วยทรัพย์ ด้วยกำลัง ด้วยความคิด

ลักษณะของเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุข มีดังนี้
๑. เป็นคนเปิดเผย ไม่มีความลับกับเพื่อน
๒. ปกปิดความลับของเพื่อน
๓. ไม่ทิ้งในยามที่เพื่อนถึงความวิบัติ
๔. แม้ชีวิตก็อาจสละแทนได้

ลักษณะของเพื่อนแนะนำสิ่งที่มีประโยชน์ มีความปรารถนาดีต่อเพื่อน เป็นดังนี้
๑. ห้ามไม่ให้เพื่อนทำความชั่ว
๒. แนะนำชักจูงให้เพื่อนทำความดี
๓. ให้เพื่อนได้พบเห็นและฟังสิ่งที่ยังไม่เคยพบเห็น และไม่เคยฟัง
๔. แนะนำทางแห่งความสุขให้

ลักษณะของเพื่อนที่มีความรักเพื่อน เป็นดังนี้
๑. ทุกข์ก็ทุกข์ด้วย
๒. สุขก็สุขด้วย
๓. คัดค้านคนที่พูดติเตียนเพื่อน
๔. รับรองคนที่พูดสรรเสริญเพื่อน

พระพุทธเจ้าทรงแสดงวิธีดูคนที่จะคบเป็นเพื่อนว่าจะเป็นเพื่อนดีเลวไว้ให้พิจารณาอย่างนี้ และเพื่อไว้ดูคนอื่นและตัวเองด้วย นอกจากนี้พระองค์ยังทรงแสดงเรื่องลักษณะเพื่อนดีเลวไว้ในที่อื่นอีกเป็นอันมาก เช่น ในชาดกขุททกนิกาย เป็นต้น

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

หน้าที่ของคนในสังคม

คนเป็นสัตว์ที่ชอบอยู่เป็นกลุ่ม เริ่มตั้งแต่กลุ่มครอบครัวจนถึงเป็นชาติ พระพุทธองค์ทรงแสดงหน้าที่ของแต่ละคนในกลุ่มคน คือในสังคมนั้นๆ ที่พึงปฏิบัติต่อกัน เริ่มตั้งแต่คนในครอบครัว เช่น ในระหว่างพ่อแม่กับลูก จนถึงพระเจ้าแผ่นดินกับประชาชน หรือระหว่างประเทศหนึ่งกับอีกประเทศหนึ่ง เป็นต้น โดยทรงแสดงหน้าที่อันควรปฏิบัติต่อกัน เพื่อผลคือความสงบ และความอยู่เย็นเป็นสุข

หน้าที่ของพ่อแม่ที่ควรปฏิบัติต่อลูก ทรงแสดงไว้ดังนี้
๑. ไม่ให้ทำความชั่ว
๒. ให้ทำความดี
๓. ให้การศึกษา
๔. หาภรรยาที่ดีให้
๕. มอบมรดกให้เมื่อถึงเวลาอันสมควร

หน้าที่ของลูกที่ควรประพฤติต่อพ่อแม่ ทรงแสดงไว้ดังนี้
๑. เลี้ยงพ่อแม่ด้วยความกตัญญูกตเวที
๒. ช่วยทำธุรกิจของพ่อแม่
๓. สร้าง รักษาชื่อเสียง ทำให้เกิดความมั่นคงแก่วงศ์สกุล
๔. ประพฤติตัวดี ควรแก่การที่พ่อแม่จะมอบมรดกให้ด้วยความไว้วางใจ
๕. เมื่อพ่อแม่ตายไปแล้วก็ไม่ลืมบุญคุณ บำเพ็ญกุศลอุทิศส่วนบุญไปให้

หน้าที่ของครูอาจารย์ที่ควรปฏิบัติต่อศิษย์ มีดังนี้
๑. แนะนำศิษย์อย่างดี ด้วยมีเจตนาดี
๒. สอนอย่างดี ด้วยความตั้งใจดี
๓. สอนวิทยาการให้สิ้นเชิง ไม่ปิดบังด้วยความปรารถนาดี
๔. ยกย่องให้ปรากฏในเพื่อนฝูง
๕. ช่วยเหลืองศิษย์มิให้มีอันตรายและให้มีความสุข

หน้าที่ของศิษย์ที่ควรปฏิบัติต่อครูอาจารย์ มีดังนี้
๑. มีความเคารพนับถือครูอาจารย์
๒. ช่วยทำธุรกิจของครูอาจารย์
๓. เชื่อฟังครูอาจารย์
๔. มีความกตัญญูกตเวทีในครูอาจารย์
๕. เล่าเรียนด้วยความตั้งใจ

หน้าที่ดังกล่าว ไม่ได้กล่าวถึงความรักที่พ่อแม่มีต่อลูก ที่ครูอาจารย์มีต่อศิษย์ ทั้งนี้เพราะพ่อแม่ และครูอาจารย์ย่อมมีความรักต่อลูก และศิษย์เป็นธรรมดาอยู่แล้ว

ในระหว่างสามีกับภรรยา พระพุทธองค์ทรงแสดงหน้าที่อันพึงปฏิบัติต่อกันดังนี้

หน้าที่ของสามีที่ควรปฏิบัติต่อภรรยา มีดังนี้
๑. ยกย่องว่าเป็นภรรยา
๒. ไม่ดูหมิ่นเหยียดหยาม
๓. ไม่นอกใจ มีความซื่อสัตย์
๔. มอบความเป็นใหญ่ในบ้านให้
๕. ให้เครื่องประดับเครื่องแต่งตัว

หน้าที่ภรรยาที่ควรปฏิบัติต่อสามี มีดังนี้
๑. จัดงานในบ้านดี
๒. สงเคราะห์คนของสามีดี
๓. ไม่นอกใจสามี มีความซื่อสัตย์
๔. รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ไว้
๕. มีความขยัน

ตามธรรมดาคนต้องมีเพื่อน และเพื่อนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต พระพุทธเจ้าทรงแสดงหน้าที่ของเพื่อนที่ควรปฏิบัติต่อกันดังนี้

๑. ช่วยเหลือเพื่อน
๒. พูดดี
๓. ทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เพื่อน
๔. เป็นคนเสมอต้นเสมอปลายกับเพื่อน
๕. ซื่อสัตย์ต่อเพื่อน
๖. ป้องกันเพื่อนจากอันตราย
๗. ป้องกันทรัพย์ของเพื่อนจากอันตราย
๘. เป็นที่พึ่งของเพื่อนเมื่อเพื่อนมีอันตราย
๙. ไม่ทิ้งเพื่อนในคราวที่เพื่อนประสบความวิบัติ
๑๐. นับถือวงศ์ญาติของเพื่อนเหมือนญาติของตน

ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง พระพุทธองค์ก็ทรงแสดงหน้าที่อันควรปฏิบัติต่อกันไว้ดังนี้

หน้าที่ของนายจ้างที่ควรปฏิบัติต่อลูกจ้าง มีดังนี้
๑. ให้ลูกจ้างทำงานตามสมควรแก่กำลัง และความรู้ความสามารถ
๒. ให้อาหารและค่าจ้างรางวัลตามสมควร
๓. ให้การรักษาพยาบาลในยามเจ็บไข้
๔. ให้รางวัลพิเศษเมื่อทำงานดี
๕. ให้ลูกจ้างได้พักตามกาลอันสมควร

หน้าที่ของลูกจ้างที่ควรปฏิบัติต่อนายจ้าง มีดังนี้
๑. ขยันทำงานก่อนนายจ้าง
๒. เลิกทำงานภายหลังนายจ้าง
๓. ซื่อสัตย์ต่อนายจ้าง ไม่คดโกงลักของ
๔. ทำงานดี
๕. สรรเสริญนายจ้าง

ในระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อย ทรงแสดงหน้าที่อันสมควรปฏิบัติต่อกัน ดังนี้

หน้าที่ของผู้ใหญ่ที่ควรปฏิบัติต่อผู้น้อย มีดังนี้
เว้นอคติ คือ ความลำเอียง เพราะชอบ เพราะชัง เพราะหลง เพราะกลัวเกรง และ
๑. มีเมตตา
๒. มีกรุณา
๓. มีมุทิตา พลอยยินดีกับผู้น้อยเมื่อเขาได้ดี ไม่ริษยา
๔. มีอุเบกขาในผู้น้อย เมื่อไม่อาจแสดงความรู้สึกอย่างอื่นได้ ดังนี้เรียกว่า พรหมวิหาร

หน้าที่ของผู้น้อยที่ควรปฏิบัติต่อผู้ใหญ่ มีดังนี้
๑. มีความเคารพยำเกรง
๒. ไม่เย่อหยิ่งอวดดีดื้อรั้น
๓. รู้จักพอ
๔. มีความกตัญญูกตเวที
๕. มีความอดทน
๖. ว่าง่ายสอนง่าย พูดรู้เรื่องง่าย

เมื่อนายจ้างกับลูกจ้าง หรือผู้ใหญ่กับผู้น้อยปฏิบัติต่อกันอย่างนี้ ต่างฝ่ายก็จะมีความสงบสุข กิจการย่อมเจริญก้าวหน้า ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ตลอดไปจนถึงบ้านเมือง

หน้าที่ของพลเมือง มีดังนี้
๑. อัตตญญุตา ความเป็นผู้รู้จักฐานะหน้าที่ของตน แล้วทำตามฐานะหน้าที่ให้เหมาะสม
๒. ราชพลี ถวายหลวง เสียภาษีช่วยการแผ่นดิน

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

การทำความเข้าใจก่อนจะศึกษาธรรม

ก่อนที่จะศึกษาพุทธธรรม ควรจะได้ทำความเข้าใจในธรรมนั้นๆ ก่อน มิฉะนั้นอาจเข้าใจผิดได้ เพราะธรรมมีมากมายหลายประเภท บางอย่างเหมาะแก่คนทั่วไป เช่น ความไม่ประมาท หิริ โอตตัปปะ การพึ่งตนเอง ความขยัน เป็นต้น บางอย่างเหมาะสำหรับฆราวาส เช่น หน้าที่ของสามีภรรยาที่ควรปฏิบัติต่อกัน บางอย่างทรงสอนนักบวชแต่ก็เหมาะกับฆราวาสด้วย เช่น เสขิยวัตร บางอย่างเหมาะเฉพาะนักบวช เช่น ความมักน้อย บางอย่างเหมาะแก่ผู้ต้องการมนุษย์สมบัติ บางอย่างเหมาะสำหรับผู้ต้องการนิพพานสมบัติ บางอย่างเหมาะสำหรับผู้มีอุปนิสัยหรือญาณบารมียังอ่อนขั้นโลกิยะ บางอย่างเหมาะสำหรับผู้มีอุปนิสัยหรือญาณบารมีแก่กล้าขั้นโลกุตระ เหล่านี้เป็นต้น ดังนั้น ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาจึงต้องรู้เรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นจะทำให้เข้าใจไขว้เขว เช่น ยา ผู้ใช้จะต้องรู้ว่า ยาชนิดนี้ใช้แก้โรคอย่างนี้ ยาชนิดนั้นใช้แก้โรคอย่างนั้น หรือยาชนิดนี้เป็นยาบำรุงกำลังร่างกาย จะได้ไม่ใช้ยาอย่างผิดๆ

อีกอย่างคือ ผู้ที่จะศึกษาพระพุทธศาสนาต้องยอมรับก่อนว่า ตนมีความรู้ในพุทธศาสนามากน้อยเพียงไร มีความรู้ขั้นพื้นฐานหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อป้องกันความเข้าใจผิด เพราะมีบางคนพอเริ่มศึกษาก็ถามถึงพระนิพพานเลย พอฟังคำอธิบายไม่รู้เรื่องก็โทษคนอธิบาย โทษธรรม แทนที่จะโทษตัวเองว่ายังรู้น้อย บางคนเลยไม่ยอมศึกษาต่อ เพราะเข้าใจว่าพระพุทธศาสนาไม่น่าสนใจ

ธรรมที่เป็นภาษิตที่พระองค์ทรงแสดงนั้นก็มี เช่น อตฺตา หเว ชิตํ เสยํโย แปลว่า ชนะตนเองนั่นแลประเสริฐ เป็นการวางหลักปฏิบัติเป็นอย่างๆ ก็มี เช่น คุณธรรมของสัตบุรุษ ๗ ประการ มีรู้เหตุผล เป็นต้น และเป็นแบบอื่นก็มี

เมื่อทำความเข้าใจในประเภทของธรรมอย่างนี้แล้ว ก็ควรศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับธรรมต่อไป

รากฐานแห่งความดี
ทางพระพุทธศาสนาแสดงว่า สิ่งที่ทำให้คนเป็นคน ไม่เป็นสัตว์นั้น คือต้องเว้นจากการกระทำ เป็นต้นว่า เว้นการเบียดเบียน เว้นการทำลายผู้อื่นและตัวเองด้วย เว้นจากการฆ่าการทำร้ายกัน เว้นการลัก การปล้น การฉ้อโกงกัน เว้นการทำผิดทางเพศ โดยการละเมิดสิทธิของผู้เป็นเจ้าของ เว้นการพูดปดหลอกลวง ไม่มีความจริงต่อกัน เว้นการดื่มของมึนเมาเสพของเสพติด(ศีล๕) การเว้นดังกล่าว เรียกว่า ศีล ซึ่งแปลว่า ปกติธรรมดา และตามปกติธรรมดา คนทั่วไปก็ไม่ได้ฆ่าเขา ลักเขา เป็นต้น ตรงกันข้ามการฆ่าเขา ลักของเขา ที่เป็นการผิดปกติธรรมดา พระพุทธองค์ท่านทรงบัญญัติศีลไว้ก็เพื่อให้คนอยู่ในสภาวะปกติ คือเป็นคนตามปกติตามสภาวะเดิม ไม่ก่อกวนใคร ที่อาจทำให้เขาตลอดจนตัวเองต้องเดือดร้อน ผู้จะศึกษาพระพุทธศาสนา ต้องรู้จักรากฐานแห่งความดี อันทำให้คนเป็นคน คือ ศีล เรื่องศีลย่อมทำให้สังคมสงบ อยู่เย็นเป็นสุข เกื้อกูลแก่การเศรษฐกิจ หรืออย่างน้อยก็ทำให้รู้ว่าใครเป็นพ่อของเรา คนรักษาศีลแม้เพียงข้อเดียว เช่น เว้นการลัก การโกง เพียงเท่านี้ก็มีคุณค่าต่อสังคมมากแล้ว ถ้ารักษามากข้อจะมีคุณค่ามหาศาลเพียงไร และถ้าใครรักษาเพียงข้อเดียว ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่ามีศีลเหมือนกัน แต่ว่ายังน้อยเท่านั้น และถ้าใครคิดว่ามีศีลแล้วไม่ดี ทำให้บ้านเมืองไม่เจริญ ก็ขอให้คิดอีกในมุมกลับว่า ถ้าอย่างนั้นไร้ศีล คือ ฆ่ากัน ลักกัน โกงกัน ก็ต้องเป็นการดี ถ้าคนส่วนมากฆ่ากัน โกงกัน ขโมยกันแล้ว สังคมในโลกจะเป็นอย่างไร คิดได้อย่างนี้แล้วก็จะรู้สึกเอง ศีลมีหลายอย่าง เช่น ศีล๕ ศีล๘ ศีล๑๐ ศีล ๒๒๗ เป็นต้น ซึ่งรายละเอียดก็พอจะทราบกันอยู่แล้ว เมื่องดเว้นสิ่งที่ควรงด แล้วบำเพ็ญสิ่งที่ควร ก็เปรียบได้กับการเปลื้องเสื้อเหม็นๆ ออกมาแล้วสวมเสื้อที่ดีเข้าไปแทน สิ่งที่ควรบำเพ็ญอันดับแรก ได้แก่ ความเมตตา คือ มีความปรารถนาดีต่อผู้อื่น สัตว์อื่น ทาน คือให้ทรัพย์สิน ความรู้ กำลังกาย และอภัยแก่ผู้อื่น พอใจในคู่ครองของตน ไม่นอกใจ ความมีสัจจะและความไม่ประมาท สิ่งเหล่านี้เป็นรากฐานแห่งความดีขึ้นแรก

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

อาการที่พระพุทธเจ้าทรงสอน

พระองค์ทรงสอนอย่างผู้รู้จริง และรู้เอง จึงไม่ต้องอาศัยปากเทพเจ้าเป็นที่อ้างอิง ว่าเทพเจ้าท่านว่าอย่างนั้นๆ คือ ไม่ต้องอาศัยเขาว่า หรือท่านว่า อย่างคนไม่มีความมั่นใจในตัวเอง

คำสอนของพระพุทธศาสนานั้น มิได้ยึดปาฏิหาริย์เป็นหลักสำคัญ หรือนำสวรรค์มาล่อ นำนรกมาขู่ แต่เป็นไปโดยยึดเหตุผล และการกระทำของตนเป็นหลัก เพราะพระองค์ทรงเป็นคนและทรงสอนคน ทรงสอนประชาชนเพื่อให้รู้ให้เข้าใจ ทรงสอนมีเหตุผล ซึ่งผู้ฟังสามารถพิจารณาแล้วรู้ได้ ทรงสอนน่าอัศจรรย์ คือ ผู้ปฏิบัติตามย่อมได้ผลโดยควรแก่การปฏิบัติ ดังนั้น ในพระพุทธศาสนาแม้นำเรื่องปาฏิหาริย์ และนรกสวรรค์ออก ก็ไม่ทำให้กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแต่อย่างใด

ปาฏิหาริย์
แปลว่า นำออกซึ่งปฏิปักษ์ธรรม ได้แก่ การกระทำที่แปลกประหลาดน่าทึ่ง พระพุทธองค์ทรงแสดงเรื่องปาฏิหาริย์ไว้ ๓ ประเภท คือ อิทธิปาฏิหาริย์ อาเทสนาปาฏิหาริย์ และอนุสาสนีปาฏิหาริย์ อิทธิปาฏิหาริย์เป็นเรื่องแสดงฤทธิ์ด้วยใช้อำนาจจิต ส่วนอีก ๒ ประเภทนั้น เป็นวิธีที่พระพุทธองค์ทรงใช้ประกอบการสั่งสอนประชาชน และทรงแสดงว่าอิทธิปาฏิหาริย์นั้นสู้ ๒ ประเภทหลังไม่ได้ เพราะมักทำให้คนส่วนมากติด หลง ไม่เป็นไปเพื่อความหลุดพ้นจากกิเลส พระองค์ทรงห้ามมิให้พระสาวกแสดงอิทธิปาฏิหาริย์กันเอง(นอกจากทรงอนุญาต) (จากประวัติพระปิณโฑลภารทวาชะ) ส่วนอีก ๒ ประเภทนั้น ทำให้พ้นจากความติด ความหลงงมงาย และจากกิเลส

อิทธิปาฏิหาริย์นั้น พระพุทธองค์ทรงแสดงเองก็มี พระสาวกแสดงตามที่ทรงอนุญาตก็มี เพื่อประโยชน์แก่อาเทสนา และอนุสาสนีปาฏิหาริย์ดังกล่าว แต่บางสมัยในกาลต่อมา พระอาจารย์ผู้แต่งคัมภีร์ได้แต่งเรื่องนี้เพิ่มเติมไว้ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา โดยอนุโลมตามความนิยมในทางนี้ของคนในสมัยนั้นๆ เพื่อให้เขาเกิดศรัทธาในพุทธศาสนาและเพื่อรักษาสัจธรรมอันเป็นแก่นแท้ของพระศาสนาเอาไว้ ดุจสร้างกระพี้ไว้หุ้มรักษาแก่น ใครมีปัญญาก็เข้าถึงแก่นไม่ติดอยู่แค่กระพี้

เรื่องอิทธิปาฏิหาริย์นี้ เป็นผลพลอยได้จากสมาธิจิต ในพระพุทธศาสนาถือเป็นแต่เพียงเรื่องประกอบ แม้ไม่มีเรื่องนี้พระพุทธศาสนาก็ดำรงอยู่ได้

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

ความหมายเดิมของศัพท์ศาสนา

ศัพท์ศาสนาที่ควรทราบในความหมายเดิม
ขันธ คือ กอง กลุ่ม พวก ชนิด คนและสัตว์โลกนี้ประกอบไปด้วยขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ(เป็นสังขารในไตรลักษณะด้วย)

รูป ถ้าเป็นรูปในขันธ์ ๕ หมายถึง ร่างกาย แต่ถ้าเป็นรูปในอายตนะ หมายถึง สิ่งที่เห็นด้วยตา

เวทนา หมายถึง ความรู้สึกว่าสุขหรือทุกข์ ชอบใจหรือไม่ชอบ หรือเฉยๆ

สัญญา หมายถึง ความจำ

สังขาร ถ้าเป็นสังขารในขันธ์ ๕ หมายถึง ความนึกคิดในเรื่องต่างๆ แต่ถ้าเป็นสังขารในไตรลักษณะ หมายถึง สิ่งที่เกิดมีขึ้น เพราะการรวมกัน ประกอบกันของสิ่งต่างๆ หรือเพราะปัจจัย คือเหตุ เช่น ธรรมชาติและคน ปรุงแต่งสร้างสรรค์ทั้งที่มีชีวิต ไม่มีชีวิต ทั้งมีวิญญาณ ไร้วิญญาณ เช่น คน สัตว์ บ้านเรือน ภูเขา ต้นไม้ เป็นต้น และรวมทั้งความคิดนึกด้วย

วิญญาณ ในขันธ์ ๕ หมายถึง ความรู้ เช่น รู้ว่าเวทนาเป็นอย่างไร สัญญา สังขารเป็นอย่างไร

นาม หมายถึง ชื่อ และหมายถึง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในขันธ์ ๕ (ใน ๔ อย่างนี้ยังแบ่งได้อีกเป็น ๒ อย่างคือ เวทนา สัญญา สังขาร จัดเป็นเจตสิก คือ เกิดเนื่องกับใจ ส่วนวิญญาณเป็นใจหรือจิต) ขันธ์ ๕ แบ่งเป็นรูปกับนาม รูปก็คงเป็นรูป นอกนั้นเป็นนาม

อุปาทาน หมายถึง ความยึดมั่นถือมั่น เช่น ยึดว่า นั่นคือเรา นั่นของเรา เป็นต้น

เสพ หมายถึง ใช้ เช่น เสพจีวร เสพที่อยู่, หมายถึง กิน เช่น เสพสุรา เสพอาหาร เสพยา, หมายถึง สูบ เช่น เสพฝิ่น, หมายถึง คบ เช่น เสพสัตบุรุษ เป็นต้น

เสวย หมายถึง ได้รับ เช่น เสวยทุกข์ เสวยวิบาก

สัตว์ คือ ผู้ข้องอยู่ในวัฏฏะ โดยทั่วไปหมายถึงทั้งคน ทั้งสัตว์เดรัจฉาน ทั้งพวกที่มีวิญญาณที่มองด้วยตาไม่เห็น เพราะตามปกติไม่มีรูปร่างกายเป็นตัวตน

สังสาร ในภาษาไทยใช้ว่า สงสาร ในภาษาเดิม หมายถึง การเวียนตายเวียนเกิดในสังสารวัฏ หรือเป็นที่เวียนว่ายตายเกิดจนไม่รู้เบื้องต้นเบื้องปลาย

โมโห หมายถึง โมหะ ความหลงใหล

มานะ หมายถึง ความถือตัว

ทิฏฐิ หมายถึง ความเห็น เป็นคำกลางๆ เห็นถูกเรียกว่า สัมมาทิฏฐิ เห็นผิดเรียกว่า มิจฉาทิฏฐิ

ตัณหา หมายความว่า ทะยานอยาก คือ อยากอย่างแรง

ประมาท หมายถึง ความเลินเล่อ เผลอสติสะเพร่า นอนใจ ไม่ใช่เป็นความดูหมิ่นดูแคลน

อายตนะภายใน หมายถึง สิ่งที่สำหรับติดต่อ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คู่กับอายตนะภายนอก

อายตนะภายนอก หมายถึง สิ่งที่ติดต่อ หรือเป็นคู่กับอายตนะภายใน ได้แก่ รูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน กลิ่นที่ได้ดม รสที่ได้ลิ้ม สิ่งที่ถูกต้องสัมผัสได้ทางกาย และอารมณ์ คือสิ่งที่เกิดทางใจ หรือสิ่งที่ใจคิด อายตนะภายนอกนี้คู่กับอายตนะภายใน เช่น ตาคู่กับรูป เป็นต้น

อารมณ์ คือสิ่งที่ใจยึดหน่วง เช่น สิ่งที่เห็นและเสียง หรือที่ใจคิด เช่น พุทโธ อันเป็นอารมณ์ของสมาธิภาวนา หรือกามารมณ์ เป็นต้น

พระอริยเจ้า หมายถึง ผู้ประเสริฐ มี ๔ ระดับ คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ เมื่อสำเร็จแล้วก็ไม่เสื่อม พระโสดาบันยังมีครอบครัวได้ มีโกรธแต่ไม่ผูกใจเจ็บ โกรธแล้วก็แล้วกัน มีศีลประจำใจ แม้ตายก็ไม่ยอมล่วงละเมิด ละความเห็นว่ากายของตน ละความสงสัยในพระรัตนตรัย ละการถือ เอาการรักษาศีลและการประพฤติวัตรพิเศษ เช่น ไหว้พระทุกวัน เป็นต้น ถ้าใช้เป็นเครื่องมืออธิษฐานขอให้ได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ อันไม่เป็นไปเพื่อความหลุดพ้น(ตราบใดที่ยังอธิษฐานว่า เจ้าประคู้น ด้วยคุณศีล………ขอให้……เถิด ตราบนั้นอย่าเพิ่งหวังเป็นพระโสดาบัน) พระสกทาคามี เป็นอย่างพระโสดาบัน แต่มีกิเลสอื่นเบาบางกว่า และเกิดใหม่อีกชาติเดียวเท่านั้นก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ส่วนพระโสดาบันอาจเกิดใหม่อีกชาติเดียวหรือไม่เกิน ๗ ชาติ จึงจะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ พระอนาคามี ละราคะ โทสะได้เด็ดขาด พระอรหันต์ ละราคะ โทสะ โมหะ ได้หมดสิ้น

กรรม (กัมม) คือการกระทำ เป็นคำกลางๆ การคิดเรียกว่า มโนกรรม การพูดเรียกว่า วจีกรรม การทำ เช่น เดิน นั่ง เรียกว่า กายกรรม ทำดี เรียกว่า กุศลกรรม ทำชั่ว เรียกว่า อกุศลกรรม ทำไม่ดีไม่ชั่ว เรียกว่า อัพยากตกรรม

วิบาก ได้แก่ ผลของการกระทำ

ปัจจัย หมายถึง เหตุ เช่น เหตุปัจจัย(ปัจจัยคือเหตุ), หมายถึงเครื่องอาศัย เช่น ปัจจัย ๔ มีอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่ และยา

สันดาน หมายถึง สืบต่อ

ชาติ หมายถึง ความเกิด

พยาธิ หมายถึง ความเจ็บไข้

จิต หมายถึง ใจ

เจตสิก หมายถึง ความรู้สึกที่เกิดกับใจ หรืออาการของใจ เช่น ความรู้สึกทุกข์สุข(เวทนา) ความจำได้(สัญญา) ความนึกคิดต่างๆ(สังขาร)

ศูนย์ (สุญญ) หมายถึง ว่าง

อิจฉา หมายถึง ความอยาก

อิสสา (ริษยา) หมายถึง ไม่ต้องการให้เขาดีกว่าตัว

มูล หมายถึง โคน-ราก พื้น ต้นเหตุ อุจจาระ

นิวรณ์ ได้แก่ กิเลสเครื่องกันใจมิให้บรรลุความดี มี ๕ อย่างคือ

ความพอใจหรือรักในสิ่งที่ชอบใจ มีรูปที่ได้เห็น เรียกว่า กามฉันท์

การปองร้ายผู้อื่น เรียกว่า พยาบาท

ความที่ใจหดหู่และเคลิบเคลิ้มซึมง่วง เรียกว่า ถีนมิทธะ

ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ คิดพล่าน เรียกว่า อุทธัจจกุกกุจจะ

ความสงสัยลังเลใจ เรียกว่า วิจิกิจฉา

สมานสังวาส หมายถึง ทำสังฆกรรมร่วมกันได้ กับภิกษุอื่น

นานาสังวาส หมายถึง ทำสังฆกรรมร่วมกันไม่ได้กับภิกษุอื่น

อสังวาส หมายถึง อยู่ร่วมกับภิกษุอื่นไม่ได้ เพราะผู้ที่เป็นอย่างนั้นมิใช่ภิกษุ

วิตก หมายถึง การตรึก มิได้หมายถึง ความกังวลใจ

สันโดษ หมายถึง พอใจในสิ่งที่ได้มาโดยชอบธรรม จะเป็นเท่าไรก็ได้ มิได้หมายถึง ความมักน้อย ที่แปลมาจากคำว่า อัปปิจฉา หรือ อัปปิฉตา ความหมายของสันโดษอีกอย่างหนึ่ง คือ ความรู้จักพอ

จิต มนะ มนัส วิญญาณ หทัย หมายถึง ใจ คำว่าใจ เป็นคำไทยแท้ ใช้เรียกจิต เป็นคำบาลี แต่ไทยนำมาใช้เป็นคำไทย

ที่นำมากล่าวนี้เป็นแค่เพียงตัวอย่างเท่านั้น ถ้าจะให้ดีควรดูธรรมวิภาคในหนังสือนวโกวาทด้วย

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนากับคนไทย

นับตั้งแต่คนไทยรับนับถือพระพุทธศาสนาอย่างเป็นหลักฐาน ซึ่งรู้ได้ทางประวัติศาสตร์(ราว พ.ศ. ๖๑๒) ในสมัยอาณาจักรอ้ายลาว จนถึงปัจจุบัน คนไทยมิเคยทอดทิ้งพระพุทธศาสนาเลย ยังคงเคารพนับถือรักษาไว้ เป็นมรดกตกทอดมาจนบัดนี้ จนพระพุทธศาสนาแทรกซึมไปในส่วนต่างๆ ของชีวิต จนกลายเป็นโครงร่างของสังคมไทย พระพุทธศาสนาได้ให้ประโยชน์ต่อคนไทยเหลือประมาณ จนมีผู้รู้กล่าวว่า ถ้านำพระพุทธศาสนาออกจากคนไทยแล้ว คนไทยก็แทบไม่มีอะไรติดตัว คนไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาตั้งแต่ก่อนเกิดจนตาย เช่น ในการแต่งงานก็นิมนต์พระไปสวดมนต์ให้ศีลให้พร และสอนธรรมให้โอวาทแก่คู่บ่าวสาว เวลาตายก็นิมนต์พระไปสวดมนต์ และสอนธรรมให้แก่คนในครอบครัว ญาติ และเพื่อนของผู้ตาย ได้คลายความทุกข์ แม้ในคำไทยก็ปรากฏว่ามีภาทางศาสนาปะปนอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น คำว่า สุข ทุกข์ อาหาร ภาษา ชาตะ มตะ รสนิยม เป็นต้น จนบางคนไม่รู้ว่าคำนั้นๆ เป็นภาษาต่างประเทศ แต่นึกว่าเป็นคำไทยแท้

แต่เมื่อกล่าวโดยเฉพาะส่วน ด้วยถือหลักวัฒนธรรมไทยทั้งสี่ คือ ทางคติธรรม เนติธรรม สหธรรม และวัตถุธรรมแล้ว ก็พอสรุปได้ว่า พระพุทธศาสนาได้ให้สิ่งต่างๆ แก่คนไทยดังต่อไปนี้

ทางคติธรรม
พระพุทธศาสนาได้ทำให้คนไทยมีคติประจำใจในการพึ่งตนเองบ้าง ในการแก้ความผิดหวังบ้าง ในการแก้ทุกข์กายใจอย่างหนัก เมื่อหมดวิธีแก้อย่างอื่นบ้าง ด้วยให้ยอมรับความจริงของชีวิตและรู้จักคิด เช่น คิดว่าเราต้องพึ่งตนเอง ต้องยืนอยู่บนขาของตัวเอง(มาจากพุทธภาษิตว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเองเป็นที่พึ่งของตน) หรือว่าชีวิตไม่เที่ยงแท้แน่นอน ความรักคล้ายสายน้ำไหล ใดใดในโลกล้วน อนิจจัง(มาจากหลักไตรลักษณ์ คือ อนิจฺจํ ไม่เที่ยง ทุกฺขํ คงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ อนตฺตา เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจ เป็นต้น หรือหลักโลกธรรม ๘ ประการ มีความได้ความเสีย เป็นต้น อันเป็นธรรมดาของโลก หรือคิดว่านี่เป็นกรรมของเรา(มาจากหลักกรรมในพระพุทธศาสนา) เหล่านี้ เป็นต้น

การแก้ปัญหาชีวิตด้วยวิธีมีคติประจำใจดังกล่าวนี้ ทำให้คนไทยทั่วไปเป็นนักสู้ความจริง ยิ้มสู้อยู่เสมอ ที่นำมากล่าวนี้เป็นเพียงส่วนเล็กน้อยเท่านั้น ที่พระพุทธศาสนาได้ให้คติสำหรับคิดแก่คนไทย

ทางเนติธรรม
หลักการปกครอง หรือบริหารของไทยนั้น นักปกครองชาวไทยมีพระเจ้าแผ่นดิน เป็นต้น ย่อมประกอบด้วยธรรมหลายประการ เป็นต้นว่า ทศพิธราชธรรม ได้แก่

๑. ทาน คือให้การทะนุบำรุงให้ประชาราษฎร์มีความสุข เป็นต้น
๒. ศีล คือมีความประพฤติดี
๓. บริจาค คือเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อประชาราษฎร์
๔. อาชวะ คือ ซื่อตรงยุติธรรม
๕. มัทวะ คือสุภาพต่อประชาราษฎร์ เหมือนกับคนในครอบครัว
๖. ตปะ คือมีความบากบั่น
๗. อักโกธะ คือ ไม่ดุร้าย ไม่เจ้าอารมณ์
๘. อวิหิงสา คือ ไม่เบียดเบียนข่มเหง
๙. ขันติ คือความอดทน
๑๐. อวิโรธะ คือมั่นคงในธรรมสำหรับปกครอง

พระเจ้าแผ่นดินไทยนั้น ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะมีพระราชดำรัสแก่ประชาชนว่า “เราจักปกครองแผ่นดิน(ประชาชน) โดยธรรม”
และ จักรวรรดิวัตร ๑๐ ประการ คือ

๑. อันโตชน สงเคราะห์ชนภายใน
๒. พลกาย บำรุงกองทัพให้เจริญรุ่งเรือง
๓. ขัตติย สงเคราะห์ชนชั้นปกครองและนักรบ
๔. อนุยันต สงเคราะห์ข้าราชการ และเอื้อเฟื้อดูแลข้าราชบริพาร
๕. พราหมณคหปติก สงเคราะห์คฤหบดี
๖. เนคมชานปท สงเคราะห์ชาวนิคมและชาวชนบท คือประชาชน
๗. สมณพราหมณ อุปถัมภ์สมณชีพราหมณ์ คือ นักบวช
๘. มิคปักขี สงเคราะห์สัตว์
๙. มา อธมฺมกาโร ปวตฺติตฺถ ไม่ทำทุจริตผิดทำนองคลองธรรม
๑๐. ธนํ อนุปฺปทชฺเชยฺยาสิ จ่ายทรัพย์สงเคราะห์คนยากจน

และยังมี ราชสังคหธรรม ๔ ได้แก่
๑. สัสสเมธะ คือ ฉลาดในการเกษตรกรรม
๒. ปุริสเมธะ คือ ฉลาดในการปกครองทำนุบำรุงประชาราษฎร์ และรู้จักใช้คน
๓. สัมมาปาสะ คือ ฉลาดในการกระทำเพื่อยึดเหนี่ยวน้ำใจคน
๔. วาจาเปยยะ คือ เจรจาดีมีคุณค่า ให้เกิดความรักความสามัคคี เป็นต้น

หลักเว้นอคติ คือ ความลำเอียงเพราะชอบ ไม่ชอบ หลงไม่เข้าใจเรื่อง และเพราะกลัว

และหลัก นิคฺคยฺหิ นิคฺคยฺหารหํ เป็นอาทิ คือ ข่มลงโทษผู้ที่ควรข่มหรือลงโทษ ควรยกย่องผู้ที่ควรยกย่อง(อุ.ม.)

ไม่ว่าจะเป็นสมัยราชาธิปไตย หรือประชาธิปไตย ผู้ปกครองหรือผู้บริหารแผ่นดินไทยทุกท่าน ต่างใช้ธรรมดังกล่าวแล้วเป็นหลักปกครองบ้านเมือง และหลักธรรมดังกล่าวก็เป็นของพระพุทธศาสนา

ส่วนพื้นฐานแห่งกฎหมายนั้น ก็อาศัยธรรมดังกล่าวแล้ว และอาศัยศีล ๕(มีห้ามฆ่า ห้ามทำร้าย ห้ามลัก ห้ามโกง ห้ามทำผิดทางเพศ ห้ามปด ห้ามดื่มสุรายาเมา) เป็นหลัก

ทางสหธรรม
พระพุทธศาสนาทำให้คนไทยมีหลักสำหรับอยู่ร่วมกัน เช่น แสดงหน้าที่ของคนในสังคม ความสามัคคี และประเพณี เป็นต้นว่าประเพณีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือกัน ความมีน้ำใจต่อกัน ขอกันกินได้ มีความเกรงใจกัน ข้อนี้ก็มาจากสังคหวัตถุ(จตุ.อัง.) ความรู้บุญคุณคนก็มาจากเรื่องกตัญญูกตเวที(ทุก.อัง.) ประเพณีการทอดกฐินก็เนื่องด้วยพระพุทธศาสนาอีก(กฐิน.มหา.วิ.) และหน้าที่ของบุคคลในสังคมนั้นๆ ที่พึงปฏิบัติต่อกัน(ปาฏิ.ที.) เหล่านี้เป็นต้น แม้ประเพณีเผาศพก็ถือคติอย่างถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ

ทางวัตถุธรรม
วัตถุที่ได้มีขึ้นในประเทศไทยจากการสร้างของคน เพราะอิทธิพลของพระพุทธศาสนานั้นมีมากเหลือคณานับ เป็นต้นว่า

ด้านสถาปัตยกรรม เช่น การที่ชาติไทยมีโบสถ์ วิหาร ศาลา เรือสุพรรณหงส์ เจดีย์ เป็นต้น(เจดีย์ที่สูงที่สุดในโลกคือ พระปฐมเจดีย์ ซึ่งสูงประมาณ ๓๘๐ ฟุต) มีโบสถ์วัดพระแก้ว(บัดนี้ถือว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก)

ด้านประติมากรรม เช่น มีพระพุทธรูป เป็นต้น(พระพุทธรูปนั่งที่ใหญ่ที่สุดในไทย คือ พระพุทธรูปที่วัดจันทรนิมิต อ.เมือง จ.ลพบุรี และพระพุทธรูปที่วัดเทพพิทักษ์ปุณณาราม อ.ปากช่อง จ. นครราชสีมา สุงประมาณ ๑๔๕ ฟุต และพระพุทธรูปที่งามที่สุดในโลก คือ พระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก พระพุทธรูปยืนที่สูงที่สุดอยู่ที่จังหวัดร้อยเอ็ด สูงกว่า ๑๐๑ ศอก พระแก้วมรกตเป็นพระพุทธรูปที่มีค่ามากที่สุดในโลก เป็นต้น)

ด้านวรรณกรรม เช่น มีหนังสือมหาชาติ สามัคคีเภทคำฉันท์ ไตรภูมิพระร่วง ปฐมสมโพธิกถา จันทโครพ และสังข์ทอง เป็นต้น

ด้านสังคีตศิลปะ เช่น มีเพลงพระเจ้าลอยถาด เพลงตวงพระธาตุ เป็นต้น

ด้านนาฏศิลปะ เช่น มีรำพุทธบูชา

ด้านจิตรกรรม เช่น มีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระพุทธประวัติบ้าง ทศชาติบ้าง เหล่านี้ล้วนเกิดมีขึ้นเพราะพระพุทธศาสนา

นักการเมืองชั้นนำของอินเดียอย่าง นางวิชัยลักษมี บัณฑิต ได้มาเยี่ยมประเทศไทยเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๑ และได้ให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวว่า ประเทศไทยสามารถรักษาเอกราชไว้ได้ ในขณะที่ประเทศใกล้เคียงได้เสียอิสรภาพแก่ต่างชาติ ทั้งนี้เป็นเพราะมีพระพุทธศาสนาอยู่

และ ดร.โจฮันสฺ ยู. โคเบอรฺ ผู้เชี่ยวชาญทางอาชญากรเด็ก แห่งเมืองฟิลลาเดลเฟียในอเมริกา ซึ่งกรมประชาสงเคราะห์ไทยได้จ้างมาทำการวิจัยเรื่องอาชญากรเด็กของไทย ได้วิจัยเสนอท่านอธิบดี และรัฐมนตรีมหาดไทยของไทย เมื่อราวเดือนตุลาคม ๒๕๐๔ ได้ให้สัมภาษณ์แก่นักหนังสือพิมพ์ที่เมืองฟิลลาเดลเฟียว่า ต้องขอบคุณอย่างยิ่งต่อพระพุทธศาสนาที่สอนเน้นถึงการเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ จึงทำให้เมืองไทยมีอาชญากรเด็กต่ำกว่าในเมืองฟิลลาเดลเฟีย การเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่เป็นเหตุสำคัญเพื่อความมั่นคงของสังคมและเศรษฐกิจ

ดินดีที่ปลูกอะไรก็ขึ้นนั้นต้องเป็นดินปนทราย ถ้าเป็นดินแท้เช่นดินเหนียว หรือเป็นทรายแท้ย่อมไม่ดี ดังนั้น ทางวัดจึงจัดประเพณีขนทรายเข้าวัด ดินในวัดจึงเป็นดินปนทราย ที่ปลูกอะไรก็ขึ้น วัดให้ตัวอย่างสำหรับแก้ปัญหาเรื่องดินที่ปลูกอะไรไม่ค่อยขึ้นแก่ชาวบ้านอย่างนี้

การสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อสุขภาพนั้นก็ต้องดูทิศทางตะวันและลม ทางวัดมักสร้างโบสถ์หันหน้าไปทางตะวันออก หันหลังโบสถ์ไปทางตะวันตก หันข้างรับลมเหนือลมใต้ คนอยู่ในโบสถ์ย่อมเย็นสบาย วัดให้ตัวอย่างสำหรับสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อสุขภาพของคนอยู่อย่างนี้

และวัดเก่าแก่นั้นมักมีหอไตร(ไตรปิฎก) สร้างไว้ในสระน้ำ หอไตรนั้นคือห้องสมุด การสร้างหอไตรไว้ในน้ำนั้น คือวิธีรักษาหนังสือไม่ให้เกิดเสียหาย เช่น ถูกปลวกกิน มดขึ้น

กล่าวอย่างต่ำ ฐาน พระ(ส้วม) ตั้งแต่สมัยยังไม่มีส้วมซึมนั้น มีใต้ถุนสูง ลมอากาศถ่ายเทสะดวกจึงไม่ค่อยมีกลิ่น ที่ถ่ายก็ทำแยกช่องอุจจาระ จากท่อหรือรางสำหรับปัสสาวะ ไม่ให้รวมกัน(เพราะถ้ารวมกันแล้วกลิ่นแรงผิดปกติมาก) มีตุ่มน้ำสำหรับล้าง มีที่สำหรับเท้าเหยียบ วัดให้ตัวอย่างแก่บ้านแม้กระทั่งเรื่องส้วม

พระพุทธศาสนาได้ให้สิ่งต่างๆ แก่คนไทย กล่าวโดยสังเขปได้ดังนี้

คำสั่งสอนของพระพุทธศาสนาโดยย่อ
คำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา แม้จะมีมากถึง ๘๔,๐๐๐ อย่าง แบ่งตามลักษณะเป็น ๙ อย่าง มีพระสูตรเป็นต้น แต่เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วมีอยู่ ๓ ประการ คือ ละชั่วทั้งปวง ทำดีให้บริบูรณ์ ทำใจให้บริสุทธิ์มีวิมุติเป็นสาระสำคัญ แต่แบ่งได้อีกเป็น ศีล(หมายถึงวินัยด้วย) อันเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับมิให้ทำ กับธรรม คือคำสั่งสอนหรือข้อที่ควรทำ

ธรรมแม้มีมาก แต่ก็แบ่งได้เป็นสองคือ เป็นธรรมที่ควรละเว้น กับธรรมที่ควรบำเพ็ญ หรือเป็นธรรมที่ให้ผลทางโลกคือ ขั้นโลกียะ หรือขั้นพื้นฐานคือ ขั้นมนุษยสมบัติ และเทวะสมบัติแก่ผู้ปฏิบัติ ผู้มีภาวะอย่างคนทั่วๆ ไปในโลก กับให้ผลทางธรรม หรือขั้นสูง คือ โลกุตระ หรือนิพพานสมบัติ สำหรับผู้ต้องการพ้นจากภาวะอย่างคนทั่วๆ ไป

พระพุทธเจ้าทรงนำเรื่องที่รู้ๆ มาสอน
ได้กล่าวแล้วว่าพระพุทธเจ้าทรงนำเรื่องที่มีอยู่แล้วมาสอน บางคนเมื่อเริ่มศึกษาพระพุทธศาสนาเกิดความรู้สึกว่า พระพุทธเจ้าทรงนำเรื่องที่รู้ๆ กันอยู่มาสอน เลยไม่สนใจ เพราะนึกว่าตนรู้แล้วไม่อัศจรรย์อะไร คนอย่างนี้น่าจะได้รู้สึกว่า ยังมีเรื่องอื่นอีกมากที่ตนยังไม่รู้ที่พระพุทธเจ้าทรงนำมาสอน และที่ว่าตนรู้นั้นก็ได้แค่รู้ แต่ไม่ได้คิด หรือรู้ไม่จริง เช่น รู้ว่าฝนตกก็รู้เท่านี้ ไม่ได้คิดว่าจะมีหลักความคิดอะไรเกี่ยวกับฝนตก(ไม่เหมือนพระพุทธเจ้า เช่น ทรงแสดงเรื่องฝนไว้ ๔ ประเภท และทรงเปรียบเทียบกับพฤติกรรมของบุคคล ๔ ประเภท ดังในบาลีจตุกกนิบาต อังคุตตรนิกาย เป็นต้น) หรือรู้แต่ว่าคนเกิดแล้วตาย ก็แค่นั้น ไม่ได้คิด หรือคิดให้รู้จริงว่าก่อนตายควรทำอย่างไร หรือจะตายอย่างไรดี หรือจะมีวิธีแก้การตายอย่างไรบ้าง อย่างพระพุทธองค์ทรงคิด

และความรู้ในเรื่องนั้นๆ ที่ตนนึกว่ารู้แล้ว ก็มักเป็นความรู้ที่เกิดขึ้นภายหลังจากเริ่มการศึกษาพระพุทธศาสนาหรือเพิ่งคิดได้เมื่อศึกษาแล้ว แต่เรื่องนี้เมื่อได้ศึกษาไป ปฏิบัติไปมากๆ ความคิดว่าพระพุทธเจ้าไม่เท่าไรนั้น ก็จะค่อยหมดไป และจะยิ่งเกิดความอัศจรรย์ในพระพุทธเจ้ามากยิ่งขึ้น

ดังนั้น ผู้ศึกษาใหม่จะต้องระวังในเรื่องนี้อย่าให้ความฉลาดของตนทำลายตนเองจนกลายเป็นคนโง่ไป

ของจำเป็นสำหรับชีวิตทางพระพุทธศาสนา
ของจำเป็นสำหรับชีวิตมีมาก แต่ที่จำเป็นแท้ๆ นั้น คนในปัจจุบันนี้ได้กำหนดไว้ว่ามี ๕ อย่างคือ เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย ยาสำหรับบำบัดความเจ็บไข้ และการสืบพันธุ์ แต่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงว่า ของจำเป็นสำหรับชีวิตอย่างแท้จริง ถ้าไม่มีแล้วเป็นอยู่ไม่ได้ หรือเป็นอยู่ยากนั้นมี ๔ อย่างคือ เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย และยา สำหรับข้อที่ ๕ นั้นไม่จำเป็นอย่างแท้จริงเพื่อความมีชีวิตอยู่ เพราะเด็กเล็กและนักบวช แม้ไม่ต้องใช้ก็มีชีวิตอยู่ได้ แต่ถ้าจะกล่าวถึงแง่ความคงมีอยู่แห่งพลโลกแล้วก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ยาของพระพุทธศาสนา
ยาอย่างจำกัดที่สุด หาง่ายที่สุด ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ คือ ยาดองด้วยน้ำปัสสาวะ และอีก ๔ อย่าง คือ ปัสสาวะ อุจจาระ(เผา) เถ้า และดิน ของ ๔ อย่างนี้ใช้เป็นยาได้ ชื่อว่า ยามหาวิกัต ข้อนี้แสดงว่าพระพุทธองค์ทรงรู้วิชาการแพทย์เป็นอย่างดี แม้แต่ของต่ำๆ ๔ อย่างนี้ ก็ทรงทราบว่าทำยาแก้ไข้ได้(พระกัมมัฏฐานมักใช้ยาสมอดองด้วยน้ำปัสสาวะใช้แก้ไข้ หมอบางคนทำยาแก้ไข้ผสมด้วยอุจจาระเผาเป็นเถ้าถ่าน) เมื่อเป็นอย่างนี้ยาสูงๆ พระองค์ก็ย่อมทรงทราบแน่นอน และการที่ทรงแสดงเรื่องอาการ ๓๒ คือ อวัยวะในร่างกาย ๓๒ ส่วน เริ่มตั้งแต่อวัยวะภายนอก คือ ผม ขน เล็บ เป็นต้น ภายในมี กระดูก หัวใจ ปอด ม้าม เป็นต้น จนถึงอุจจาระเป็นที่สุด ข้อนี้แสดงว่าทรงทราบเรื่องสรีรวิทยา และยังมีเรื่องอื่นๆ อีกที่แสดงว่าทรงทราบเรื่องวิชาการแพทย์อย่างกว้างขวาง

ปัญหาของคนไทยผู้เริ่มศึกษาพระพุทธศาสนา
คนไทยผู้เริ่มศึกษาพระพุทธศาสนาและเริ่มฟังเทศน์ มักประสบปัญหาคือ ไม่ค่อยรู้เรื่อง ทั้งนี้เพราะเหตุหลายอย่าง โดยเฉพาะเหตุคือ ศัพท์ทางพระพุทธศาสนา ที่นำมาใช้ในภาษาไทย ที่แปรความหมายไปจากภาษาเดิม เช่นคำว่า

เวทนา ของเดิมเป็นภาษามคธ แปลว่า รู้สึกว่าทุกข์ รู้สึกว่าสุข เป็นต้น ในภาษาไทยนำมาใช้ แต่แปลความหมายใหม่เป็นความสงสาร

สัญญา ภาษาเดิมแปลว่า ความจำ แต่ในภาษาไทยนำมาใช้และแปลความหมายไปจากเดิมว่า ทำข้อตกลงกัน เมื่อพระเทศน์ในความหมายเดิมว่า สัญญา ไม่เที่ยง บังคับไม่ได้ ผู้ฟังคิดในความหมายใหม่ก็นึกค้านว่า ทำไมจะไม่เที่ยง ทำไมจะบังคับไม่ได้เมื่อผิดสัญญา สัญญาก็อยู่ในตู้กันภัย ไปคนละเรื่องอย่างนี้ จึงไม่รู้เรื่องกัน พระเทศน์ใช้คำว่าสัญญา ในความหมายเดิมของภาษามคธ แต่ผู้ฟังๆ ด้วยใช้ความหมายใหม่จะฟังด้วยความหมายเดิมก็ไม่มีความรู้ และไม่รู้ด้วยว่าความหมายเดิมเป็นอย่างไร

ดังนั้น ผู้เริ่มศึกษาพระพุทธศาสนา และเริ่มอยากฟังเทศน์ที่เป็นคนไทย จึงควรศึกษาเรื่องนี้ก่อน ให้มีความรู้เป็นพื้นฐาน เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาพระพุทธศาสนา และฟังเทศน์ให้รู้เรื่อง

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา